ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ตามจริต

๒๗ ส.ค. ๒๕๕๔

 

ตามจริต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๕๘๔. นี่วันนี้คำถาม ๒ คำถาม มันจะขัดแย้งกันเอง คำถามแรกกับคำถามหลังตรงข้ามกันเลย ฟังคำถามแรกนะ

ถาม : เรื่อง “ผลจากการปฏิบัติสมาธิ”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ หนูมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิภาวนา แต่ไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลดีหรือผลเสียต่อตนเองหรือไม่ หรือทำวิธีผิด และควรแก้ไขอย่างไร? จึงขอความกรุณาหลวงพ่อโปรดชี้ทางด้วยค่ะ

๑. หนูสวดมนต์นั่งสมาธิก่อนนอน โดยใช้วิธีอานาปานสติควบคู่กับพุทโธมานาน ซึ่งหลังจากได้ฟังหลวงพ่อตอบปัญหาว่า “เป็นกรรมฐานคนละห้อง” เลยลองเปลี่ยนมาพุทโธอย่างเดียว พบว่าเมื่อท่องพุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าตัวเองไม่ยอมหายใจเข้าออก มีอาการเหมือนกลั้นหายใจอยู่ ต้องกลับมาดูลมตามเดิม และสังเกตว่า เมื่อท่องพุทโธอย่างเดียวใจไม่ค่อยสงบเป็นสมาธิ เหมือนพุทโธเบาๆ ไม่ชัดเจน แต่ถ้าดูลมหายใจเพียงอย่างเดียว ใจก็กลับท่องพุทโธ พุทโธโดยอัตโนมัติ หนูเลยไม่สามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ขอคำแนะนำจากหลวงพ่อด้วยค่ะ

๒. ในช่วงไหนที่เร่งความเพียรมากสม่ำเสมอ พบว่าเวลาเดินไปตามถนน อยู่ๆ จิตก็จะรวมลงเป็นสมาธิ เดินต่อไปไม่ได้ ทั้งที่รู้ตัวตลอดเวลา เนื่องจากอยู่ตามถนนเกรงว่าจะได้รับอันตราย จึงต้องหยุดแล้วค่อยๆ ถอนจิตออกมา หรือในบางครั้ง เดินอยู่ก็รู้สึกเหมือนแผ่นดินไหว หรือพื้นอ่อนยวบลงไปเฉยๆ สังเกตคนรอบข้างก็ไม่มีใครผิดปกติ หนูไม่แน่ใจว่าอาการเหล่านี้เกิดจากทำสมาธิภาวนาหรือไม่ และมีวิธีแก้ไขอย่างไร? หลวงพ่อช่วยกรุณาชี้แนะด้วย

๓. หนูพบว่า ตนเองมักรู้เหตุการณ์ล่วงหน้ามาตั้งแต่เด็ก แต่คิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญ ตอนหลังพบว่า ในช่วงไหนที่ทำสมาธิสม่ำเสมอจะรู้ล่วงหน้าบ่อยและชัดเจนขึ้น เช่น รู้ว่ามีคนมาหา รู้ว่าโทรศัพท์จะดัง หรือนึกถึงใครมากๆ จะมีเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นกับคนนั้น หรือคนนั้นจะมาหา รู้ว่าร้านอาหารที่กำลังจะไปกินปิด อยู่ๆ ก็รู้ขึ้นมาเองในใจ ซึ่งหนูรู้สึกว่ารำคาญมากกว่าที่จะยินดีรู้ จะจัดการอาการแบบนี้อย่างไรคะ

หนูสงสัยว่า ทำไมพอนั่งสมาธิในห้องพระ ซึ่งมีพระพุทธรูป เหรียญพระรูปหลวงตาอยู่ จิตจึงไม่สงบเป็นสมาธิเลย รู้สึกฟุ้งซ่านมากทุกครั้ง แต่พอย้ายมานั่งสมาธิบนเตียงในห้องนอน จิตจะรวมลงเป็นสมาธิได้ง่ายกว่า เบา สบาย สงบ ตั้งแต่ย้ายบ้านใหม่เป็นอย่างนี้ตลอด หนูทำอะไรผิดหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : อันนี้เป็นปัญหาหนึ่ง เดี๋ยวปัญหาข้างหลังนะมันจะย้อนกลับอันนี้เลย แต่ตอบอันนี้ก่อน เขาเคยนั่งสมาธิ เขาเคยทำสมาธิ

ถาม : ข้อ ๑. หนูสวดมนต์นั่งสมาธิก่อนนอน โดยวิธีอานาปานสติควบคู่กับพุทโธมานาน ซึ่งหลังจากได้ฟังหลวงพ่อบอกว่า “เป็นกรรมฐานคนละห้อง” ก็เลยลองเปลี่ยนมาพุทโธอย่างเดียว พบว่าท่องพุทโธไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าตัวเองไม่ยอมหายใจ

หลวงพ่อ : คือมันไม่สะดวกไง.. เราจะบอกว่าไอ้พุทโธกับลมหายใจเข้าออก โดยกรรมฐาน หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ก็สอนแบบนี้ สอนบอกว่าให้ลมหายใจเข้านึก “พุท” ให้ลมหายใจออกนึก “โธ” ไอ้กรณีอย่างนี้เราสอนคนฝึกหัดใหม่

ทีนี้เวลาเราบอกว่า “กรรมฐานคนละห้อง” เห็นไหม แบบว่าเวลาภาวนาไปคนเรามันจะพัฒนาขึ้น มันจะดีขึ้น คำว่าดีขึ้นมันก็ไม่มีปัญหาสิ่งใด ถ้าดีขึ้นโดยสัมมาทิฏฐินะ แต่ถ้าดีขึ้นโดยมิจฉา ดีขึ้นเราคิดว่าดีขึ้น มันดีขึ้น ทุกอย่างมันดีขึ้น แต่! แต่มันไม่มีผล พอคำว่าไม่มีผลมันจะแช่อยู่อย่างนั้นแหละ มันไม่มีอะไรคืบหน้าไง

เวลาเราทำไปมันก็อยู่อย่างนั้นแหละ เออ.. สบายๆ อย่างนั้นแหละ แต่มันไม่คืบหน้า ถ้าไม่คืบหน้าแล้วเราก็ทำอยู่อย่างนั้นแหละ พุทโธพร้อมลมหายใจเข้าออก เห็นไหม หายใจเข้านึก “พุท” หายใจออกนึก “โธ” มันก็ว่างๆ แล้วมันก็ไม่ก้าวหน้า ไม่ก้าวหน้า แล้วทำอย่างไรต่อไป?

ถ้าทำอย่างไรต่อไป เห็นไหม ถึงบอกว่า ถ้ามันไม่ก้าวหน้า หรือว่าเราทำสิ่งใด มันต้องมีเหตุสิ่งใดมันผิดปกติ ถ้ามันผิดปกติใช่ไหม? ถ้ามันก้าวหน้าด้วยความสัมมาทิฏฐิ คือว่าพุทโธพร้อมกับลมหายใจเข้าออกแล้วสงบดี รู้ดี สรรพสิ่งดี สิ่งนั้นถูกต้อง.. แต่ส่วนใหญ่แล้วถ้ามันดี ดีมันต้องพัฒนาสิ

พอดีใช่ไหม? พอจิตสงบแล้วนี่ จิตสงบมันตื่นตัว มันรู้ตัวตลอดเวลา คนรู้ตัวตลอดเวลา จะรู้เฉยๆ อยู่ตลอดเวลานี่รำคาญไหม? พอเรารู้ตลอดเวลา เราก็ต้องทำอย่างอื่นต่อเนื่องขึ้นไปใช่ไหม? มันต้องพัฒนาขึ้นไป ถ้าพัฒนาขึ้นไป อย่างนั้นนั่นล่ะสัมมาทิฏฐิ แต่เราบอกว่าพุทโธไปแล้วก็เฉย เฉย.. เฉยแล้วเฉยเล่ามันไม่ก้าวหน้า นี่ถึงบอกว่ามันเป็นกรรมฐานคนละห้องแล้ว

ถ้าเมื่อไม่ปฏิบัติ เราไม่ปฏิบัตินี่นะ เราไม่ปฏิบัติสิ่งใดเลยมันก็ไม่มีปัญหาสิ่งใดเลย แต่พอเราจะปฏิบัติขึ้นมาให้มันดีขึ้น เห็นไหม นี่มันมีการโต้แย้ง มันมีการขัดแย้งในใจแล้ว ฉะนั้น เวลาเราบอกว่าให้ผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติเลย ให้หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันชัดๆ นี่ถูกต้อง พอมันถูกต้องมันเริ่มเปลี่ยนแปลง ความแตกต่างจากจิตปกติ จิตมันจะเริ่มมีอาการต่างๆ

นี่มีอาการต่างๆ เดี๋ยวมันจะไปข้อสุดท้ายว่าทำไมมันยวบ ทำไมมันไหว ทำไมมันต่างๆ เห็นไหม พอจิตมันมีการเปลี่ยนแปลง ถ้ามันเปลี่ยนแปลงดีมันก็ถูกต้อง ถ้ามันไม่ดีล่ะ? มันไม่ดีแล้วมันไม่ก้าวหน้า ถ้าไม่ก้าวหน้าปั๊บนี่เราจับปลาหลายมือไง ทั้งหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ แต่เราทิ้งอันใดอันหนึ่ง พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ท่องพุทธานุสติ ลมหายใจชัดๆ

คำว่าชัดๆ เห็นไหม จับสิ่งนั้น แล้วจิตมันทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จากที่ว่าภาวนามาแล้วไม่ก้าวหน้า มันก็ซ้ำซากอยู่อย่างนั้นแหละ นี่ถ้าจับสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มันชัดเจน จิตมันทำงานหน้าที่เดียวมันจะดีขึ้น นี่มันถึงบอกว่า “หลวงพ่อบอกว่าพุทโธมันเป็นกรรมฐานคนละห้องก็เลยลองทำ พอลองทำแล้วนี่หายใจก็ไม่ได้ ทุกอย่างก็ไม่ได้”

ถ้ามันไม่ได้ หรือหายใจแล้วมันติดขัด เหมือนไม่หายใจ เหมือนอะไรนี่ ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์กับเราให้เราทำวิธีการอื่น มันเปลี่ยนไง มันปล่อย หรือถ้าทำของเดิมอยู่มันดีอยู่แล้ว มันก็ดีอยู่แล้ว ถ้าของเดิมดีอยู่ เป็นสัมมาทิฏฐิเราไม่ต้องแก้ไขเลย หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ถ้ามันไปเรื่อยๆ แล้วทำเข้าไปเรื่อยๆ มีสติเข้าไปเรื่อยๆ มันรู้เข้าไปเรื่อยๆ เห็นไหม รู้ชัดเจน พอรู้ชัดเจน พออยู่ในสมาธิ ถ้ามันรู้สึกมีความรำพึงได้ คิดได้ให้ใช้ปัญญาไปเลย

อันนี้พูดถึงว่าถ้ามันเบา เห็นไหม เขาบอกว่า “มันขัดแย้ง มันทำไม่ได้ ฉะนั้น เอาลมหายใจหรือพุทโธอย่างเดียว ทำอะไรไม่ได้ เวลาท่องพุทโธมันก็อยากหายใจ พอลมหายใจก็อยากพุทโธ จนเขาทำที่เขาได้ผลนะ เลยต้องมาพุทโธเบาๆ ไม่ชัดเจน”

พุทโธเบาๆ ไม่ชัดเจนนี่นะ เบาๆ เห็นไหม เบาๆ แต่ถ้ามีสตินะมันก็เป็นประโยชน์ได้ เหมือนคนที่ทำอะไรนุ่มนวล แต่คนทำอะไรที่เข้มแข็ง ทำอะไรที่กระด้างมันก็ไปอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเบาๆ แล้วชัดเจน เบาหรือกระด้างมันก็อยู่ที่นิสัย แล้วถ้ามันชัดเจน.. เบาๆ ไม่ชัดเจน แล้วมันลงได้นะ แต่มันแปลก มันแปลกที่ว่ามันเบา มันไม่หายไปเลยหรือ?

ฉะนั้น เบาๆ ถ้าทำได้ผล อันนี้ข้อที่ ๑. ข้อที่ ๑. หมายถึงว่า ถ้าทำสิ่งใดได้ประโยชน์เอาสิ่งนั้นก่อน แล้วนี่พอทำแล้วมันขัดแย้งไง หนึ่งพอพุทโธอย่างเดียว หรือลมหายใจอย่างเดียวมันหายใจไม่ออก มันเหมือนกลั้นลมหายใจ มันทำอะไรไม่สะดวกเลย แต่เวลามันพุทโธอัตโนมัติ อันนี้มันต้องหาทางของตัว ต้องหาทางของตัว ต้องหาช่องทาง หาสิ่งที่มันสะดวก สิ่งที่มันทำแล้วมันได้ประโยชน์

อันนี้ข้อที่ ๑. นี้มาข้อที่ ๒.

ถาม : ข้อ ๒. ช่วงเวลาเร่งความเพียร (นี่มันจะเกี่ยวเนื่องกันมา) ช่วงที่เร่งความเพียรมากสม่ำเสมอ เวลาเดินบนถนนแล้วจิตมันจะลง จิตมันจะยวบ

หลวงพ่อ : นี่มันเป็นมาก่อนที่ว่าเราเอากรรมฐานคนละห้อง หรือกรรมฐานห้องเดียวกันล่ะ? ถ้าเมื่อก่อนเราพุทโธพร้อมลมหายใจ แล้วมันมีอาการอย่างนี้ไหมล่ะ? จิตมันจะบอกถึงผลไง คนเราปฏิบัติ เห็นไหม นี่วัดผล เราจะวัดผลของเรา ปัจจัตตังมันจะวัดผล วัดผลว่าจิตเรามันดีขึ้นหรือเลวลง ถ้ามันเลวลง นี่ภาวนาปั๊บมันจะดีอยู่พักหนึ่ง เสร็จแล้วมันจะเสื่อม พอเสื่อมปั๊บเราจะถูไถของมันตลอดไป มันจะหาทางออกของมัน

แต่ถ้าเวลามันดีขึ้นนะ มันดีขึ้น เห็นไหม อย่างเช่นเวลาเดินไปเหมือนแผ่นดินไหว เหมือนถนนยวบลง อันนี้ถ้าจิตมันมีอาการของมันนะ ถ้าจิตมันคึกคะนอง จิตที่มันมีความรับรู้แปลกๆ เราต้องสังเกต แล้วเราจะรู้ของเราเอง.. เรารู้ของเราเอง มันจะอย่างไรนี่ถอนมาถูกต้องแล้ว ถ้ามันอยู่ในชุมชนเราจะลงไม่ได้ ลงไม่ได้ให้รั้งไว้ มีสติรั้งไว้มันไปไหนไม่ได้หรอก

ให้เรามีสติรั้งไว้ แล้วเรารู้ของเราคนเดียว เราพยายามหาทางหลบไปที่ไม่มีคน แล้วถ้ามันออกเป็นปกติเราก็กลับบ้าน เราไปทำงานของเรา เพราะขณะปัจจุบันนี้มันไม่ใช่เวลาภาวนา ในปัจจุบันนี้เราเดินอยู่บนถนน เห็นไหม ยิ่งอันตรายใหญ่ถ้าขับรถ ขับรถแล้วพุทโธ ถ้าเราฟุ้งซ่านเราขับรถพุทโธได้ แต่ถ้าจิตมันจะลงล่ะ? จิตมันจะลงทำอย่างไร?

ถ้าจิตมันลงโดยถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ โดยมีสตินะ เขาบริหารได้ เขาจัดการได้ เราดูแลจิตเราได้ คนที่เป็นสัมมาทิฏฐินะ แต่ถ้ามันเป็นมิจฉา เป็นสิ่งที่เราบริหารจิตใจไม่ได้เลย มันวูบวาบไป.. จะบอกว่าภาวนานี่มันไม่ให้โทษกับใครหรอก แต่พอภาวนาไปแล้วให้โทษ หรือว่ามีความผิดพลาดมันออกไปทางที่เป็นผิด ฉะนั้น เราจะต้องแก้ไขของเราไปเรื่อยๆ พูดถึงถ้าจิตมันผิดปกตินะ

นี่เวลามันยวบออกไป มันยวบ มันไหว เหมือนถ้าเวลาจิตจะเข้าสมาธิ เวลาจิตเราจะเข้าสมาธิมันจะมีการเปลี่ยนแปลงของมัน แต่จิตจะเข้าสมาธิมันควรเข้าสมาธิขณะที่เรานั่งภาวนา แต่ขณะที่เราไปเดินบนถนน เราไปอะไรนี่เราก็รักษาจิตของเราไป ควบคุมดูแลจิตของเราไปให้มันเป็นปกติ แต่ไม่ต้องให้มันสร้างปัญหาให้เรา นี้ข้อที่ ๒.

ทีนี้ข้อที่ ๓.

ถาม : หนูพบว่า จะรู้เหตุ รู้สิ่งใดล่วงหน้ามาตั้งแต่เด็กๆ แล้วสิ่งที่บังเอิญให้เห็น

หลวงพ่อ : เซ้นส์ของคนมันมี ถ้าพูดถึงว่าเซ้นส์ของคน หรือว่าจริตนิสัยของคน จิตบางคนนะ ถ้าไปพูดถึงเรื่องการนอนฝัน เรื่องสิ่งต่างๆ เขาดูถูกเหยียดหยาม เขาบอกว่าเหมือนกับจิตหลงผิด ถ้าจิตหลงผิดนี่ไปอย่างหนึ่งนะ อย่างเช่นเรา ถ้าเราปฏิบัติแล้วนะ เราปฏิบัติของเรามา แล้วจิตของเราผิดปกติ พอจิตของเราผิดปกติมันมีอาการป้ำๆ เป๋อๆ จิตเรามีอาการป้ำๆ เป๋อๆ นะ เราจะรู้อะไรที่ว่ามันป้ำๆ เป๋อๆ

คำว่าป้ำๆ เป๋อๆ เพราะอะไร? ป้ำๆ เป๋อๆ เพราะจิตเราขาดสติ สติเราไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถควบคุมจิตเราได้ มันจะรู้เห็นอะไร รู้เห็นไปด้วยอุปาทาน รู้เห็นไปด้วยความรู้สึกนึกคิดของเรา นี่พูดถึงว่าจิตที่มันผิดปกติ แต่ถ้าจิตมันมีอำนาจวาสนา จิตมีอำนาจวาสนานะ เวลานั่งสมาธิหรือทำอะไรไปนี่มันจะรู้

คำว่าเซ้นส์คือว่ารู้อะไรล่วงหน้า จิตอย่างนี้มี ถ้าจิตอย่างนี้มีปั๊บ ตั้งสมาธิไปมันจะเกิดความรู้ ความเห็นของเขา จิตประเภทนี้หลวงตาจะบอกว่า “๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มันจะมีอยู่ประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์” คนที่จิตรู้อะไรล่วงหน้า รู้อะไรต่างๆ แต่มันก็เป็นผิดปกติเขา อย่างเช่นเด็กอัจฉริยะมันจะมีน้อย เด็กทั่วๆ ไปมันจะมีมาก

จิตก็เหมือนกัน จิตที่มันพิเศษๆ มันมีไม่มากหรอก มีไม่มาก เหมือนจำนวน ๑๐๐ จะมี ๕ เปอร์เซ็นต์ ทีนี้มี ๕ เปอร์เซ็นต์มันจะไม่เหมือนชาวบ้านเขาทั่วไป แต่ต้องเป็นจิตที่ว่าเป็นอัจฉริยะนะ ไม่ใช่ป้ำๆ เป๋อๆ นะ ถ้าอย่างของเรานี่ เราภาวนาไปแล้วเรามีการตกใจ เรามีอาการอะไรต่างๆ แล้วเรามีเวรกรรมของเรา พอมันไปเห็นแล้วมันสะเทือนใจ มันจะเกิดอาการป้ำๆ เป๋อๆ

พอป้ำๆ เป๋อๆ นี่วิธีแก้! วิธีแก้ก็ต้องกลับมารักษาจิต ตั้งสติไว้รักษาจิตของเรา แล้วพยายามกราบไหว้ครูบาอาจารย์ให้มันมีที่พึ่ง ให้คำว่าป้ำๆ เป๋อๆ ของจิตเราให้กลับมาเป็นปกติ ถ้ากลับมาปกติแล้ว พอกลับมาปกติแล้วค่อยมาภาวนา ถ้าภาวนามีสติดี รักษาตรงนี้ให้เป็นปกติ อย่างเช่น! เช่นเราจะสร้างบ้าน เราปรับพื้นที่ดินเพื่อจะสร้างบ้าน เขาต้องปรับพื้นที่ให้เสมอใช่ไหม? แล้วถ้าพื้นที่เป็นหลุมเป็นบ่อเขาจะสร้างบ้านได้อย่างไร? พอสร้างบ้านไปแล้วมันก็ต้องไม่มีพื้นฐานของมัน

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันป้ำๆ เป๋อๆ มันก็เป็นสภาพแบบนั้นแหละ เราต้องปรับจิตของเราให้เป็นปกติ ปรับจิตของเราให้ดี เห็นไหม ปรับจิตให้เป็นปกติ ทีนี้เป็นปกติ พื้นที่มันเป็นที่ลุ่มที่ราบ เวลาเราเอาดินถมไปแล้วมันจะทรุดตัวไหม? มันทรุดตัวนะตรงนั้นน่ะเพราะดินใหม่ มันจะทรุดตัวลง มันจะไม่เสมอหรอก

จิตป้ำๆ เป๋อๆ เวลากลับมาให้เป็นปกติแล้วมันต้องรักษาตัวไปพักหนึ่งนะ เพื่อจะให้ดินมันอยู่ตัว ให้ทุกอย่างมันลงเสมอกัน พอทุกอย่างลงเสมอกันแล้วค่อยมาภาวนา เพราะภาวนาไปนี่ฐานมันดี พอฐานมันเรียบ พื้นฐานมันดี นี่อาการป้ำๆ เป๋อๆ มันหายไป การจะไปเห็นสิ่งใดมันก็เห็นเพื่อจะแก้ไข

เวลาตอบปัญหา มันตอบปัญหาเป็นวงกว้าง ถ้าตอบปัญหาในวงกว้าง ในปัจจุบันโลกเครียดในสังคมมันเยอะ สังคมเรามีโรคเครียด สังคมเรา จิตของพวกเราประชาชน ส่วนใหญ่แล้วมันแบกรับอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ มันมีของมัน แต่ถ้าเวลาจิตที่มันมีอำนาจวาสนา มีบารมีของมัน เวลาภาวนาไป หรือว่ามันมีความรู้แบบที่ว่าเด็กรู้อะไรล่วงหน้าๆ นี่มันมีของมัน

ฉะนั้น เวลาผู้ที่จะวินิจฉัยตรงนี้มันต้องวินิจฉัยเฉพาะบุคคลไง บุคคลคนนี้เป็นอย่างใด บุคคลคนนี้บวกหรือลบ บุคคลคนนี้โดยพื้นฐานสภาพโดยปกติ.. เพราะว่าเวลาพูดไปในวงกว้าง จะบอกว่าถ้ามันรู้ล่วงหน้า บังเอิญอย่างนั้น มันจะถูก มันจะดี แล้วถ้าเกิดจิตป้ำๆ เป๋อๆ เขาบอกว่าเขาก็ดีน่ะสิ โอ้.. หลวงพ่อพูดรับประกันเลย รับรองสิ่งนี้เหมือนกันหมดเลย

ฉะนั้น เวลาตอบปัญหานี่มันเป็นเฉพาะ เฉพาะผู้ที่เป็น แล้วเป็นแล้วนี่เป็นมากเป็นน้อยแค่ไหน ฉะนั้น สิ่งที่รู้ล่วงหน้านี่ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอจิตมันสงบลงไปแล้วนี่รู้อดีตชาติ แล้วพอดึงกลับมามัชฌิมยามรู้อนาคต

นี่เวลารู้อดีตชาติมันรู้ของเก่า รู้ของเก่าหมายถึงว่าสิ่งที่จิตนี้ผ่านมา แล้วมันซับสมเป็นพื้นฐาน เป็นข้อมูลในปฏิสนธิจิตมันมีมา เพราะเป็นพระโพธิสัตว์ นี่รู้ข้อมูลเดิม แต่เวลามัชฌิมารู้ว่าถ้าจิตมันไม่สิ้นมันจะไป นี่จะบอกว่าขณะที่พระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ เห็นไหม เพราะจิตทุกดวงใจมันมีอย่างนี้ ทุกดวงจิตเรามีอดีต มีอนาคตกันมา เรามีอดีตชาติ เราเกิดตายมามันมีของมัน

ฉะนั้น เวลาไปรู้นี่ ถ้ารู้อดีต อนาคต พระพุทธเจ้ายังไม่สำเร็จ ฉะนั้น ความรู้อย่างนี้รู้ได้ ความรู้อย่างนี้ สิ่งต่างๆ รู้ได้ แต่ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้หมดเลย แล้วดึงจิตกลับมาเป็นปกติ แล้วพอมัชฌิมยาม ถึงเวลาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาอรุณขึ้น

ฉะนั้น สิ่งที่รู้ ที่เห็น ถ้าจิตมันรู้ เรารู้แล้วเราก็วาง รับรู้ไว้แล้ววาง

“นี่แล้วมันเป็นอย่างไรหลวงพ่อช่วยชี้แนะด้วย มันจะแก้ไขอย่างไร?”

มันแก้ไขอย่างไรนี่ ถ้าเรากำหนดพุทโธ หรือกำหนดลมหายใจชัดๆ ไว้ สิ่งที่รู้สิ่งใดเราก็รั้งไว้ รั้งไว้ รับรู้แล้วผ่าน จะบอกไม่รับรู้เลยไม่ได้ เพราะมันผ่านเข้ามาในจักษุ มันผ่านเข้ามาในความรู้สึก รับรู้แล้ววาง คือเราไม่ตื่นเต้น

เราไม่ตื่นเต้น เราไม่ยึดติด เรารู้ของเรา แล้วเราก็วางของเรา แล้วเราก็เป็นปกติของเรา แล้วเราพุทโธของเราต่อไป ถ้าจิตมันสงบลึกเข้าไปกว่านั้นมันมีกำลังมากขึ้น เหมือนคน เห็นไหม ถ้าใครนอนหลับสนิท คนนั้นตื่นขึ้นมาแล้วสดชื่น คนนอนนะฝัน นอนแล้วก็รู้สึกต่างๆ ตื่นขึ้นมานี่ก็นอนเหมือนกัน นอนเวลาเท่ากัน แต่นอนแล้วเหมือนไม่ได้นอน

จิตถ้ามันพิจารณาขึ้นมา พอมันสงบแล้ว พอมันพุทโธจนผ่านความรับรู้ต่างๆ เห็นไหม รับรู้จิตออกรู้ พอจิตสงบแล้วออกรู้ แต่พอมันพิจารณาต่อไป มันภาวนาต่อไปมันปล่อยหมดเลย เข้ามาพักมีกำลังขึ้นมา แล้วออกมาใช้ปัญญามันจะดีขึ้นๆ พอดีขึ้นมันจะเข้าใจเรื่องนี้ แล้วผ่านเรื่องนี้เข้าไปเลย พอผ่านเรื่องนี้เข้าไปก็จบ นี้พูดถึงข้อที่ ๓.

ถาม : ข้อที่ ๔. หนูสงสัยว่า ทำไมเวลานั่งสมาธิในห้องพระที่มีพระพุทธรูป มีรูปครูบาอาจารย์ทำไมจิตมันไม่สงบ

หลวงพ่อ : เราว่าค่อยๆ ทำไป เพราะคำพูดนี่มันขัดแย้ง มันขัดแย้งตรงที่ว่าเวลาเข้าไปในห้องพระมันไม่สงบ แล้วเวลามานั่งในห้องนอนแล้วมันสงบ อ้าว.. แล้วห้องพระ ห้องนอนอยู่ในบ้านหลังเดียวกันหรือเปล่า? มันก็อยู่ในบ้านหลังเดียวกันนั่นแหละ(หัวเราะ) เออ.. มันก็อยู่ในที่เดียวกันนั่นแหละ เออ.. เวลาอยู่ในห้องพระนี่ไม่สงบ เวลาย้ายไปห้องนอนแล้วมันสงบ เห็นไหม มันเป็นความที่เรายึดติดอะไรบ้างหรือเปล่า ฉะนั้น เรากำหนดต่อไป

ถ้าพูดถึงอยู่ในห้องพระไม่สงบ แล้วไปอยู่ในห้องนอนแล้วจิตมันสงบ เราก็ไปภาวนาที่ห้องนอนก็ไม่มีปัญหา แล้วพอมันจิตสงบแล้ว มันดีแล้ว.. เพราะว่านะ เวลาเราจะเริ่มภาวนา ถ้าเราไม่กลืนน้ำลายก็ไม่มีน้ำลายนะ พอเราภาวนานี่กลืนน้ำลาย อึก! เดี๋ยวน้ำลายก็มาอีกแล้ว ต้องกลืน อึก! อยู่อย่างนั้นแหละ นี่แค่นี้มันยังติดเลย ไอ้แค่กลืนน้ำลาย ไม่กลืนน้ำลาย เวลาภาวนายังเป็นปัญหาเลย แล้วนี่ห้องพระกับห้องนอนนะ ถ้าจิตมันติดแล้วมันก็คือติด จิตนี้ นี่เวลามันติดนะ

ฉะนั้น เราจะพูดว่า ถ้าห้องนอนมันสงบได้ ห้องพระก็ต้องสงบได้ แล้วห้องพระสงบดีกว่าด้วย เพียงแต่เวลานั่งห้องพระแล้วจิตมันดิ้นรนของมัน เวลามานั่งห้องนอนมันบอกว่า เออ.. นั่งเสร็จเดี๋ยวก็ได้นอนแล้ว มันสบายใจ พอนั่งห้องนอน ที่นอนมันรออยู่ไง ไปนั่งห้องพระ พอลุกแล้วต้องเดินกลับไปห้องนอนมันไกลไปหน่อยหนึ่ง ใจมันก็เลยติด แค่นี้มันก็กังวลแล้ว เออ.. นั่งห้องพระไม่สงบ ไปนั่งห้องนอนแล้ว แหม.. จิตดีมากเลย มันภาวนาเสร็จมันจะได้นอนไง

อันนี้เราคิดว่าห้องพระกับห้องนอนไม่มีปัญหาหรอก มันมีปัญหาก็คือตัวเรา แล้ววางใจเป็นกลาง ค่อยๆ ทำไปนะ ถ้าภาวนาแล้วนี่ เห็นไหม ถ้าก่อนหน้านั้นภาวนาลมหายใจเข้าออกพุทโธ เวลามาฟังเว็บไซต์บอกว่ามันเป็นกรรมฐานคนละห้อง แล้วเอาอันใดอันหนึ่ง แล้วเราว่าเราขัดแย้งไปหมดเลย แต่เวลาข้อที่ ๒. เห็นไหม เวลาไปแล้วทำไมแผ่นดินมันไหว นี่มันรับรู้

ถ้าจิตของเรามันมีวาสนาอยู่ แล้วจิตเริ่มสงบมันยิ่งแสดงตัวได้มากใหญ่ แต่อะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่รับรู้มันส่งออกหมด ส่งออกหมด แม้แต่เวลาใช้ปัญญานี่ก็ส่งออก เวลาใช้ปัญญา เพราะจิตออกมาพิจารณา ถ้าจิตไม่ออกมาพิจารณามันจะเข้าไปอยู่ในสมาธิ

นี้การส่งออก ถ้าเราใช้มัน เราบริหารมันเป็น มันส่งออกในทางที่ดี ส่งออกเพื่อเอาผลประโยชน์ไง แต่ถ้าเราไม่มีสติปัญญา เวลาส่งออก มันออกรับรู้คือมันส่งออก ถ้ามันส่งออก เวลาเราสงบเข้าไป ส่งออกมันก็คือออกมาทำ ออกมาฝึก ออกมาหัด ถ้ามันเป็น มันถูก มันก็ถูกต้อง ถ้ามันไม่เป็น มันผิด ก็แก้ไขๆ

เราก็มีเท่านี้แหละ เห็นไหม สมถะวิปัสสนา คือว่าทำให้จิตสงบแล้วแล้วออกใช้ปัญญาของเรา ถ้ามันทำได้ก็ได้ ถ้าทำไม่ได้เราก็ฝึกหัด ไม่มีทางอื่น ทำไปเถอะ ใครว่าทางลัด ทางตรง ทางอ้อม ทางโค้ง เอาเลยตามสบาย ถ้ามันมรรคก็คือมรรคอันเดียวกันนั่นแหละ จะมาทางอ้อม ทางโค้ง จะยิงลูกโค้ง ลูกวิด เอามาเถอะ ยิงมาเถอะ ถ้ามันพูดผิดมันก็คือผิดนั่นแหละ

ข้อ ๕๘๖. เนาะ อันนี้เขาพูดเรื่องส่วนตัว ผ่าน ข้อ ๕๘๖.

นี่อันนี้เห็นไหม อันนั้นบอกว่าพุทโธเบาๆ แล้วดี อันนี้เขาบอกพุทโธชัดๆ แล้วดี (หัวเราะ)

ถาม : เรื่อง “ขอกราบเรียนสิ่งที่ผมเห็นในองค์ภาวนาครับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ความขบขันที่ผมเห็นตนเองตอนทำตามความอยาก ตามอารมณ์ ตามที่ผมเคยเล่าให้ฟังในครั้งที่แล้ว เวลานี้ความขบขันนั้นได้เจือจางลงไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่หลวงพ่อพูดเอาไว้ครับ แต่ในความโล่งสบายใจที่รู้ธรรม ผมไม่จำเป็นต้องทำตามความอยากของอารมณ์เหมือนเมื่อก่อน ความโล่งสบายใจนี้มันยังคงมีอยู่ครับ ผมอยากกราบเรียนหลวงพ่อในสิ่งที่ผมทำมาดังนี้

๑. เวลาที่ผมภาวนาพุทโธชัดๆ (นี่เห็นไหม) ตามรู้ลมหายใจชัดๆ ผมจะเห็นจิตที่นึกพุทโธ พุทโธ ตั้งมั่นขึ้นมาในใจ แล้วผมก็เห็นอารมณ์ในใจเคลื่อนพลิ้วไปพลิ้วมา เมื่อผมเห็นแบบนี้บ่อยๆ ผมก็ค้นพบว่า เวลาที่ผมมองเห็นสิ่งต่างๆ หรือเวลาที่ผมได้ยินเสียงต่างๆ หรือเวลาที่ผมคิดเรื่องต่างๆ อารมณ์ในใจมันจะเคลื่อนไหวพลิ้วไปมาตามสิ่งที่ผมเห็น หรือเคลื่อนไหวตามสิ่งที่ผมได้ยิน หรือเคลื่อนไหวไปตามเรื่องที่ผมคิด ผมจึงเกิดความเข้าใจว่า ถ้ามันเป็นแบบนี้ก็แสดงว่า อารมณ์ในใจมันเกิดตามการทำงานของร่างกายของเราเอง หรือความจริงมันไม่มีตัวตนถูกต้องไหมครับ แต่ถ้าผมไม่มีจิตที่นึกพุทโธ พุทโธที่ตั้งมั่นอยู่ในใจ ผมจะไม่เห็นความจริงตามที่เล่ามานี้เลยครับ (นี่ข้อ ๑.)

๒. ผมเห็นว่า จิตที่นึกพุทโธ พุทโธที่ตั้งมั่นอยู่ในใจนี้มันเป็นตัวของเรา ทั้งเราจะต้องสร้างขึ้นมา และรักษามันเอาไว้ ถ้ามันหายไป เราต้องนึกพุทโธชัดๆ และตามรู้ลมหายใจชัดๆ เพื่อให้มันตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้ เพราะว่าถ้าไม่มีจิตที่นึกพุทโธตั้งมั่นขึ้นมาในใจ เวลาเราพิจารณาธรรมใดๆ ก็ตาม มันจะไม่มีผลใดๆ เกิดขึ้นมาในใจของเราเลยถูกไหมครับ

๓. ผมเห็นว่าจิตที่นึกพุทโธ พุทโธที่ตั้งมั่นอยู่ในใจนี้ ผมสามารถเอามันมาใช้ค้นคว้าหาความรู้ได้โดยที่ผมไม่ต้องอ่านหนังสือ แต่ว่าหนังสือ เราเอาไว้ใช้เปรียบเทียบผลจากการปฏิบัติถูกต้องไหมครับ

๔. ถ้าผมมีความชำนาญในการเห็นจิตที่นึกพุทโธ พุทโธที่ตั้งมั่นอยู่ในใจมากกว่านี้ ผมจะมีความรู้มากกว่านี้ถูกต้องไหมครับ

หลวงพ่อ : ข้อที่ ๑. เวลาภาวนาไป ปัญญาของคนมันแตกต่างหลากหลาย ข้อ ๑. เขาบอกว่า

“เวลาผมพุทโธชัดๆ ตามความรู้ไป ผมจะเห็นความเคลื่อนไหวของจิตไปต่างๆ ตามที่ผมเห็นการเคลื่อนไหว สิ่งที่ผมเห็นการเคลื่อนไหวตามความคิดเห็น ผมนึกว่า..” เห็นไหม

สิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นมาจากร่างกายของเราเอง ความคิดมันไม่ใช่เรื่องของร่างกายนะ ความคิดมันไม่ใช่เรื่องของร่างกาย แต่ถ้าเวลาเราเห็นกาย นั่นล่ะเห็นกาย.. เห็นกาย จิตเห็นกาย เห็นกายเป็นนิมิต แต่ถ้าเห็นความคิด ความคิดนี่เป็นนามธรรม นามธรรมมันเกิดที่กายหรือ?

กาย เห็นไหม นี่เวลาเวทนาเกิดขึ้น เวทนานี่เป็นนามธรรมนะ เวลาเรานั่งอยู่นี่ เวทนานี้เป็นนามธรรม แต่เวทนามันเกิดบนอะไรล่ะ? เวทนามันเกิดบนร่างกายเราใช่ไหม? เวทนาเกิดบนร่างกายเรา แต่ถ้ามันเกิดความเสียใจล่ะ? ความเสียใจนี่เวทนาเกิดจากจิต เวทนาเกิดจากกาย ถ้าเวทนาเกิดจากกาย เห็นไหม นี่เวลาหิวเวทนาเกิดจากกาย เพราะกระเพาะไม่มีอาหาร แต่เวลาเราพิจารณาของเราให้ทันเรื่องของธาตุ ร่างกายมันหิวเป็นไหม? กระเพาะหิวอาหารเป็นไหม? ความจริงก็คือหัวใจนี่แหละมันวิตกกังวล

นี่ก็เหมือนกัน ความที่เวลาเห็นกายมันพลิ้วไป มันเกิดจากกาย เกิดจากกาย นี่มันเกิดที่กาย มันเกิดที่กาย แต่ความจริงมันเกิดจากใจ.. นี่พูดถึงปัญญาที่มันละเอียดเข้าไปนะ แต่ถ้าปัญญาเราได้แค่นี้ก็ได้แค่นี้ไง นี่เราจะชี้ให้เห็นว่า ถ้าปัญญามันละเอียดขึ้นไปมันจะเห็นไง เห็นว่าสิ่งที่เป็นตรรกะ เป็นความคิดสามัญสำนึก มันให้อารมณ์ความรู้สึกอันหนึ่ง

ถ้าจิตสงบเข้ามาแล้ว ถ้ามันสงบเข้ามา เห็นไหม เวลามีปัญญาขึ้นมา พอจิตสงบมันมีฐานของมัน มันสลดสังเวชมากกว่านั้น สลดสังเวชแล้วนะ ถ้าใครมีปัญญาสลดสังเวชนะ ส่วนใหญ่จะอุทานว่า “ทำไมเราโง่อย่างนี้ ทำไมเราโง่อย่างนี้” แต่โดยปัญญาทางโลกนะ จะบอกว่า “เราฉลาดยอดเยี่ยม เราฉลาดยอดเยี่ยม”

พอเราคิดสิ่งใดนี่ “แหม.. ไบร์ทมากเลย แหม.. ยอดๆๆ” แต่ถ้าเป็นปัญญาทางธรรมนะ พอคิดสิ่งใดได้นะ “ทำไมเราโง่ขนาดนี้ ทำไมเราโง่ขนาดนี้” มันสังเวชไง สังเวชว่าทำไมเราโง่กับตัวเองขนาดนี้ ทำไมเราไปติดข้องเรื่องอย่างนี้

นี่พูดถึงถ้าเป็นธรรม แต่ถ้าเป็นโลกนะ โอ๋ย.. เรายอดเยี่ยม ต้องส่งเรื่องนี้ไปประกวด เวลาปัญญามันเกิดนะ โอ้โฮ.. สุดยอดๆ แต่ถ้าเป็นธรรมนะมันสลดเลยล่ะ คอตกเลยนะ เรื่องพื้นๆ อย่างนี้ เรื่องตัวเราเองทั้งนั้นแหละทำไมเราไม่รู้ ทำไมเราไม่รู้ มันสังเวชมากนะ นี้ถ้าปัญญามันลึกซึ้งขึ้นไป

ฉะนั้น ให้ทำไปเรื่อยๆ ให้ทำไปเรื่อยๆ เพราะเราติดคำว่า “สรรพสิ่งมันเกิดจากกายไง” นี่อันนี้มันทำให้คิดว่า ถ้าเราปักใจอย่างนั้นแล้วมันจะมองประเด็นเดียวไง อย่ามองประเด็นเดียว มันเกิดที่กาย แต่ให้ปัญญามันละเอียดกว่านั้น แล้วมันจะรู้ของมัน ถ้ารู้ของมันนี่เป็นปัจจัตตัง รู้ด้วยตัวเองประเสริฐที่สุด

ถาม : ข้อ ๒. ผมเห็นว่าจิตที่ตั้งมั่นอยู่ในใจมันเป็นตัวของเรา ซึ่งเราต้องสร้างมันขึ้นมา

หลวงพ่อ : ถ้ารักษาเอาไว้ ถ้ามันหายไปเราก็พุทโธชัดๆ แล้วตามลมหายใจชัดๆ ให้มันตั้งขึ้นมาให้ได้ ถ้ามันตั้งพุทโธไม่ได้ ในใจเราไม่ได้ การพิจารณาธรรมต่างๆ ก็ไม่มีผล

ความเป็นมัชฌิมาปฏิปทานะ เวลาเราพุทโธของเรา ถ้ามีสติ มีปัญญา.. มีสติ มีสมาธิขึ้นมาแล้วเราใช้ปัญญาได้ แต่ถ้าเราเป็นโลก เป็นโลกคือว่าเป็นตัวตน เป็นวัตถุ เป็นการกระทำแบบต้องเป็นรูปแบบเลย เห็นไหม นี่เขาพิจารณาแบบโลก

ไอ้การปฏิบัติเราเห็นด้วยหมดนะ แต่! แต่เวลาเราทำขึ้นไป เห็นไหม ถ้าเราต้องเป็นรูปแบบแบบโลกเขาเรียกว่าสัญญา อย่างเช่นเราเคยภาวนาไว้ครั้งที่แล้ว มันมีความฝังใจมาก มีความดีมาก เวลาภาวนาต่อไปต้องให้เป็นปัจจุบัน อย่าไปเอาสิ่งนั้นมาเป็นรูปแบบแล้วต้องทำสิ่งนั้น ถ้าทำให้เหมือนสิ่งนั้นตลอดนะ

๑. ถ้าได้ผล ก็ได้ผลแค่นั้น มันไม่ละเอียดเข้าไป

๒. ถ้าไม่ได้ผล มันก็จะว่าสิ่งนั้นมันจะเป็นสัญญา เป็นตัณหาซ้อนตัณหา คืออยากให้ได้รูปแบบนั้น ถ้าได้ก็ได้เท่าเก่า ถ้าไม่ได้ ไม่ได้มันก็เสื่อม แต่ถ้าเราบอกว่าได้หรือไม่ได้ ถ้ามันได้อย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าได้ละเอียดกว่า ได้ที่ลึกซึ้งกว่า ได้ที่ดีกว่า เราจะต้องผ่านความละเอียดลึกซึ้งเข้าไปไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “เราต้องสร้างขึ้นใช่ไหม? ถ้าเราไม่พุทโธชัดๆ ไม่กำหนดลมหายใจชัดๆ มันก็จะไม่ตั้งมั่น”

เพียงแต่เวลาเราออกมาเราใช้พุทโธชัดๆ พอพุทโธแล้วมันดีขึ้นเราก็ใช้ปัญญา พอใช้ปัญญาค้นคว้าแล้ว พอมันฟั่นเฟือน พอปัญญามันไม่ทะลุทะลวงเรากลับมาพุทโธอีก นี่เราขยันทำของเราไป เราขยันทำของเราไป เพราะว่ามันจะมีสิ่งที่ละเอียดมากไปกว่านี้เรื่อยๆ

นี่พุทโธชัดๆ แล้วได้ผลนะ ไอ้นั่นมันพุทโธเบาๆ ถึงได้ผล ชัดๆ ไม่ได้ผล เห็นไหม มันเป็นที่ตามนิสัย ตามจริตนิสัยของคน อันนี้ถ้าได้ผลแล้วเราสาธุด้วยหมดนะ เพียงแต่ว่าทำแล้วนี่รับรู้ไว้ เขาเรียกว่า “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด”

มีคนถามบ่อยว่า “หลวงพ่อ ไอ้ที่ว่ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดมันเป็นอย่างไร?”

มรรคหยาบหมายถึงว่า ปัญญาที่เรารู้เราคิดว่ามันละเอียดแล้ว เราก็ยึดของเรา พอยึดปั๊บมันไม่พัฒนาไง มรรคหยาบไง คือเรารู้อะไรปั๊บนี่เราจะยึดความรู้เรา แต่เราไม่ศึกษาเพิ่ม ถ้าเราศึกษาเพิ่มปั๊บเราจะทิ้งความรู้นี่ ความรู้นี่เราเคยรู้มาแล้วใช่ไหม? เราก็ผ่านเข้าไปไง นี่มรรคหยาบ! มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด คือว่าถ้าเรายึดว่าความรู้เราแล้วเราไม่ศึกษาต่อไป ความรู้ที่จะมากกว่านี้มันไม่เกิด มันฆ่าความรู้อันที่จะเกิดขึ้นใหม่ไม่ให้เกิด

“มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด”

ฉะนั้น พอเราศึกษา เรารู้สิ่งใดแล้วนี่มรรคหยาบ แต่ตอนที่รู้นั่นละเอียดมากเลยนะ แต่ถ้ามันภาวนาไปแล้วมันจะรู้ว่ามันหยาบ พอมันหยาบนะ พอเรารู้แล้วเราก็วางไว้ แล้วเราก็ศึกษาเพิ่มเติม ฝึกหัดเพิ่มเติม ละเอียดเข้าไป เห็นไหม ความหยาบก็อยู่ในใจเรา ความละเอียดเราก็รู้เพิ่มขึ้นๆ มรรคหยาบไม่ฆ่ามรรคละเอียด มรรคหยาบส่งเสริมให้เกิดมรรคละเอียด ให้เกิดความรู้ความเห็นดีๆ ขึ้นไป นี่มรรคละเอียด แต่ถ้ามันฆ่านะ เรารู้แล้ว เราเข้าใจแล้ว มันไม่พัฒนา นี่มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด

ย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับมาที่ว่าเราจะต้องให้ชัดเจนอย่างนั้น ชัดเจนอย่างนั้น แต่มันจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปยึดมัน ทำของเราไปนะ

ถาม : ข้อ ๓. ผมเห็นว่า จิตที่นึกพุทโธที่ตั้งมั่นอยู่ในใจนี้ สามารถเอามันมาใช้ค้นคว้าหาความรู้ได้โดยที่ผมไม่ต้องอ่านหนังสือ แต่ว่าหนังสือเอาไว้เปรียบเทียบใช่ไหม?

หลวงพ่อ : อ่านหนังสือนี่เป็นปริยัติ หนังสือพระไตรปิฎก ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านี่สาธุ เห็นไหม เป็นศาสดาของเรา เราศึกษาแล้ววางไว้ ตรงนี้เราจะทำให้สมดุลแค่ไหน? เราจะทำให้สมดุลตรงนี้ลำบากนิดหนึ่ง ถ้าเราศึกษาแล้วเราก็จะเกร็ง ถ้าปฏิบัติแล้วนี่จะผิดอย่างนั้น จะผิดอย่างนั้น ระบบไง มันมีระบบ ระบอบอยู่ แล้วเราก็ต้อง อู้ฮู.. เดินเกร็งเข้าไปเลย มันเป็นได้ยาก

ฉะนั้น เราศึกษามาแล้วนะเป็นระบบแล้ววางไว้ แล้วฝึกหัดเข้าไป มันจะแถ มันจะผิดนิดหน่อยเราก็ฝึกหัดของเรา จากที่เราศึกษาระบบไว้นะ แล้วเรามาทำของเรานะ มันก็เป็นระบบอันเดียวกันนั่นแหละ แต่ถ้าเราทำตามระบบเลยนี่ ข้อ ๑. เราทำงานไม่สะดวก ข้อ ๒. ที่หลวงปู่มั่นท่านพูดกับหลวงตาไว้ บอกว่า

“ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่นะสาธุ เทิดใส่หัวไว้ แล้วเก็บไว้ก่อน ถ้าเราเอามาปฏิบัติ เอามาคลุกเคล้ากัน มันจะขัดแย้งกันไง”

มันจะขัดแย้งทฤษฎีว่าเป็นอย่างนั้น สมาธิเป็นอย่างนั้น แต่ทำไมเราไม่เป็นล่ะ? เอ๊ะ.. จิตเรานี่เป็นสมาธิแล้วนะ เวลามันสงสัยว่ามันไม่เป็นนะ นี่สมาธิเป็นอย่างนั้น เราจะเป็นสมาธิไหมหนึ่ง? เอ๊ะ.. พอมันจะเป็นแล้ว มันจะเป็นเหมือนกันหรือเปล่า? เห็นไหม มันจะขัดแย้งกันไปเรื่อย มันจะเหลื่อมกัน มันจะปีนเกลียวกันตลอดเลย มันก็เลยทำให้เราปฏิบัติยากขึ้น

แต่ถ้าเราวางไว้ก่อน เราวางไว้ก่อนเลย แล้วเราทำไปนะ เอ๊ะ.. สมาธิหรือไม่เป็นสมาธินะ เรารู้เองใช่ไหม? เรามาทดสอบเอาตอนที่เราออกจากสมาธิมาแล้ว ออกจากการปฏิบัติมาแล้ว นี้ครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนี้

ฉะนั้น เขาบอกว่า “ผมไม่ต้องอ่านหนังสือเลยใช่ไหม? หนังสือนี่เอาไว้เปรียบเทียบ”

ถ้าบอกว่าใช่มันก็เหมือนกับว่าเราก็สุดโต่งไปข้างหนึ่ง นี่เวลาสุดโต่งไปข้างหนึ่ง แต่ถ้าความเห็นนะ เราก็เห็นอย่างนี้แหละ แต่! แต่เราไม่เห็นโดยที่ว่ายกแบบว่าถอนรากถอนโคนไง ปริยัติเป็นปริยัติ ในวงการวิชาการ ในหนังสือเราก็เห็นด้วย การศึกษาเห็นด้วย แต่เวลาปฏิบัติแล้วนี่เราต้องวางไว้ก่อน เพื่อจะไม่ให้มันถ่วง ไม่ให้มันทำให้การปฏิบัติของเรามีปัญหา แต่พอเรารู้จริงแล้ว เห็นไหม เราจะเขียนหนังสือเลย เขียนหนังสือกี่เล่มก็ได้ แล้วเทียบเคียงก็ได้

ฉะนั้น ถ้าเอาจิตมาค้นคว้าแล้วโดยไม่ต้องอ่านหนังสือ ถ้าค้นคว้าแล้วมันรู้จริงไง อย่างเช่นหนังสือนี่เราเรียนทางวิชาการมาแล้ว แล้วภาคปฏิบัติเราทำไม่เป็นตามนั้น ดูสิเวลาทางธุรกิจเดี๋ยวนี้เขาทำวิจัยหมดแหละ ค้นคว้าเต็มที่เลย แล้วต้องทำให้ได้แบบนั้น ทำให้ได้แบบนั้น ถ้าได้แบบนั้นมันก็เข้าเป้า

การปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติเข้าเป้าแล้วนะ เขาเองต่างหากจะเชิญให้ไปสอนเลยนะ ผู้ที่ประสบความสำเร็จแล้วเขาจะเชิญไปให้เป็นอาจารย์สอนหนังสือด้วย ถ้าเราทำได้จริง ถ้าเราทำได้จริง นี่พูดได้จริงทุกอย่าง ฉะนั้น ภาคปฏิบัติมันเป็นแบบนั้น

ฉะนั้น เขาบอกว่า “พุทโธ พุทโธ เวลาจิตผมนึกพุทโธตั้งมั่นแล้ว”

จิตตั้งมั่นแล้วเราศึกษา เพราะนี่ปัจจัตตัง รู้เอง เห็นเอง มีความเข้าใจเอง แล้วเราจะบอกใครไม่ได้ นี่ที่เขาบอกว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้าสอนไม่ได้ พระปัจเจกพุทธเจ้าสอนไม่ได้” เราไม่เชื่อ พระปัจเจกพุทธเจ้าต้องสอนได้ สอนได้ สอนแบบพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางทฤษฎี วางหลักการไว้ แต่พระปัจเจกพุทธเจ้านี่รู้ แต่ไม่ใช่วางหลักการไว้เท่านั้นเอง ไม่อย่างนั้นจะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร?

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้ทำไมเราจะทำไม่ได้ แต่อย่างพวกเรารู้มันก็คล้ายๆ นั่นแหละ คือว่าพวกเราไม่แตกฉานเหมือนพระพุทธเจ้าหรอก แต่เรารู้ได้ แล้วก็บอกได้ด้วย

ถาม : ข้อ ๔. ถ้าผมมีความชำนาญในการเห็นจิตที่นึกพุทโธ ที่ตั้งมั่นอยู่ในใจได้มากกว่านี้ ผมจะมีความรู้มากกว่านี้ถูกต้องไหมครับ

หลวงพ่อ : ถูกต้อง! ถูกต้อง ถ้ามีความชำนาญมากกว่านี้ พอมีความชำนาญ เราจะมีความรู้มากกว่านี้ มีความเข้าใจมากกว่านี้ แล้วเราจะเป็นประโยชน์กับเรา แล้วเราจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย เอวัง