ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ดั่งแขนขาด

๒๘ ส.ค. ๒๕๕๔

 

ดั่งแขนขาด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๕๘๙. เรื่อง “กราบเรียนถวายไง”

เขาบอกว่าเขาเคยมาที่นี่นานแล้วแหละ แล้วเขาก็ห่างเหินไป แล้วตอนนี้นะ..

ถาม : หลังจากนั้นเกิดความเข้าใจใหม่ว่า ความเชื่อเดิมที่ดูจิตนั้นไม่มีทางจะเห็นจิตได้ เห็นแต่ความคิดเท่านั้น กว่า ๑๐ ปีที่ผมได้ปฏิบัติแนวนั้น เหมือนจะรู้อะไร แต่จริงๆ แล้วไม่ได้อะไรเลย เสียใจอย่างสุดซึ้ง เลยกลับมาหาแนวทางของหลวงตา แต่กระผมจะเน้นในแนวทางของปัญญาอบรมสมาธิ พอเน้นมีสติให้มากตลอดทั้งวัน ผ่านความรู้การเคลื่อนไหวของกาย แล้วใช้สติตัดความคิดที่เกิดขึ้นทันที ทำอย่างนี้ซ้ำๆ

นอกจากนั้นแล้วผมได้ไปค้นธรรมะของหลวงตาในเว็บไซต์ เพื่อดูคำตอบที่องค์หลวงตาเคยเมตตาตอบไว้ เรื่อง “การเน้นให้มีสติที่กาย” จะเคลื่อนไหวไปในทางอย่างไรก็ให้มีสติรับรู้ในทุกอาการ ทั้งยังสั่งนักหนาว่า “ไม่ให้เอาดูจิตเด็ดขาด” พอองค์หลวงตาละขันธ์นิพพานไปเสีย กระผมก็เหมือนหมดสิ้นหนทาง ได้แต่จำคำของหลวงพ่อที่เคยสนทนาในรถคราวนั้นว่า มีพระองค์หนึ่งเป็นพระที่ดีมาก เคยแนะนำว่า “คิดปุ๊บตัดปั๊บ” ผมก็เอาตามนั้น

อีกทั้งองค์หลวงตามหาบัวก็เคยแนะนำเรื่องการมีสติที่กาย ไม่ให้ดูจิต ผมจึงปรับเอาสองแนวทางมาร่วมกัน จึงมีสติที่การเคลื่อนไหว และมีสติดับความคิดได้เร็วที่สุด ตัดไปๆ ทีละน้อย สติก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นมา

ผลจากการปฏิบัติ ผมเกิดความเข้าใจขึ้นว่า จิตกับความคิดเป็นคนละอันกัน เสมือนจิตที่มีบ้านอยู่ต่างหากไปเลย แยกกันคนละส่วน แยกจากกันอย่างแปลกประหลาดมหัศจรรย์ เหมือนไม่ใช่คนเดิมไปเลย การบริกรรมที่แต่เดิมทำไม่ค่อยได้ กลับทำได้ง่ายดาย จิตไม่เป็นกังวลกับกายมากเหมือนแต่เดิม เหมือนแยกกันอยู่คนละชั้น จิตเปลี่ยนแปลงอย่างน่ามหัศจรรย์

ชีวิตที่มีความทุกข์บีบคั้นมาก ส่วนใหญ่ก็มาจากความยึดถือ ความโง่ของตนเองเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ผมกล้ายืนยันว่า ที่ผ่านมาปฏิบัติด้วยการดูจิตอย่างเอาจริงเอาจังกว่า ๑๐ ปี ทางนั้นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์แน่ๆ ผมกล้ายืนยัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ใครจะว่าอย่างไรก็ตามเถิด ผมยืนยันของผมอย่างนี้ และยืนยันได้เลยว่าที่องค์หลวงตา หลวงพ่อสอนไว้ ไม่คลาดเคลื่อนแม้ประการเดียว กราบกรุณาหลวงพ่ออย่างมากที่ไม่ให้ผมหลงทางไป

หลวงพ่อ : เขาเคยบอกว่าเขาเคยมาที่นี่ตั้งแต่สร้างวัด เขารำพันมาตั้งแต่ต้น เราไม่อ่าน เรามาอ่านที่เขาบอกว่าเขาเคยมาที่นี่แล้วแหละ มาแล้วนี่ ๑๐ กว่าปีนะ แล้วไปดูจิตไง ไปดูจิตเสร็จแล้วเขาเขียนมาเพื่อ “กราบเรียนถวาย” ระบุชื่อทุกอย่างมาพร้อมหมด นี้เพียงแต่ว่าพอเขามาปฏิบัติแล้ว มายืนยันว่าเขาเสียใจมาก

“เกิดความเสียใจที่เห็นผิดไปกว่า ๑๐ ปีในแนวทางปฏิบัตินั้น”

เขาเสียใจของเขามาก แต่เสียใจมากมันก็เป็นประสบการณ์ ดีแล้วนั่นน่ะ พอเสียใจแล้วนี่มันมีโอกาสได้กลับมาไง ถ้ามันไม่มีโอกาสได้กลับมานะยุ่งมากเลย ยุ่งมากเพราะถ้าเราเชื่อของเรานะ มันอยู่ที่ความเชื่อ เห็นไหม ความเชื่อของเรา นี่เราเชื่อของเรา พอความเชื่อของเรามีขึ้นมามันมีเหตุผล อย่างที่เขาพูดกันนั่นล่ะ เขาพูดบอกว่า

“พุทธศาสนานี่พอไม่เชื่อพระพุทธเจ้าก็บาป ไม่เชื่อศาสนาพุทธก็บาป”

ไม่หรอก พระพุทธเจ้าบอกไม่ให้เชื่อนะ กาลามสูตรบอกไม่ให้เชื่อเลย ไม่ให้เชื่อพระพุทธเจ้าพูดเลย ไม่ให้เชื่อใครพูด ไม่ให้เชื่ออาจารย์ของตัว ไม่ให้เชื่อแม้แต่การเข้า.. นี่อนุมานได้ เทียบเคียงได้ ทุกอย่างได้ ไม่ให้เชื่อหมดเลย พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อ ทีนี้บอกไม่ให้เชื่อบาปที่ไหน? ไม่บาปหรอก แต่! แต่คนไม่เชื่อแล้วติเตียนพระอริยเจ้านี่บาป พอคนไม่เชื่อมันหนาเหตุผล

ไอ้นี่พูดถึงมุมกลับ มุมกลับนี่ถ้าเชื่อ เห็นไหม เขาบอกเขาเชื่อมั่นของเขา เขาเคยมาที่นี่ แล้วเขาบอกเขาฟังเราพูดแล้วแหละ เขาก็เก็บไว้ในใจไง เขาไม่โต้แย้ง แล้วเขาก็ไปลองของเขามา แล้วก็พูดด้วย ต่อเมื่อตอนที่เกิดเรื่องเขากลับมารื้อค้นใหม่ นี่เขาบอกเขาเคยมาที่นี่ แล้วเขาเขียนมาสารภาพ “ขอบคุณมาก ขอบคุณๆ ถ้าไม่อย่างนั้นผมจะต้องหลงทางไปอีก” หลงทางไป นี่เสียใจมากที่หลงทางไป

นี้เพียงแต่ว่าถ้าเขาเชื่อ ถ้าเขายังเชื่ออย่างนั้นอยู่ เขาจะหาเหตุผลรองรับ ถ้าหาเหตุผลรองรับ เวลาพูดไปมันจะเถียงกันตรงนี้ไง เราก็ต้องมีเหตุผลของเราใช่ไหมว่าเขาไม่ถูกอย่างใด เขาก็ต้องมีเหตุผลของเขาว่าเขาถูกอย่างใด นี้พอมันมีเหตุผลมันโต้แย้งกันตรงนี้ พอมันโต้แย้งกันตรงนี้ นี่กรรมมันจะเกิดตรงนี้แหละ

ถ้าไม่เชื่อนี่ไม่ใช่บาปนะ แต่เวลาโต้แย้ง เห็นไหม เวลาโต้แย้งเราต้องหาจุดบกพร่อง หาจุดบกพร่องเราก็บอกว่าตรงนั้นผิดอย่างนั้น.. ตรงนั้นผิดอย่างนั้น.. ตรงนั้นแหละ แล้วว่าผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนั้น เพราะความเชื่อของเราไม่ใช่ความจริง ทีนี้ไม่ใช่ความจริงแล้วเราก็ไปชี้ใช่ไหม? เราก็ไปเปิดแผลเขา ไปเปิดแผลเขาว่าผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนั้น นั่นล่ะ อันนั้นที่มันบาป มันบาปตรงนั้นแหละ ติเตียนไง

การเปิดแผลกัน การชี้ให้เหตุผลว่ามันผิดอย่างใด ทีนี้ชาวพุทธเราไม่คิดอย่างนั้นสิ อื๊อ.. ไม่เชื่อก็บาป อะไรก็บาป.. ไม่เชื่อนี่ไม่บาป แต่เวลาหาเหตุผลหักล้าง เวลาหาเหตุผลมันเป็นการเปิดแผล คือการรื้อค้น อันนั้นล่ะ อันนั้นคือเราไปทำลายไง เราไปทำอันนั้นถึงจะเป็นบาป แต่ถ้าไม่เชื่อไม่ใช่เป็นบาป พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อ

เพราะการไม่ให้เชื่อนี่ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเหมือนกับทางยุโรป เห็นไหม เขาไม่ค่อยเชื่อ เขาไม่เชื่อเขาต้องหาเหตุผล สังคมของเขาเลยเป็นสังคมของเหตุผล ไอ้สังคมของเรามันสังคมไม่ใช่เหตุผล สังคมของเรานี่ว่าเดินตามผู้ใหญ่แล้วหมาไม่กัด แล้วอย่างไรถึงหมาไม่กัดล่ะ? เวลาผู้ใหญ่เดินเร็ว เราเดินตามหลัง หมาก็ยังกัดอยู่ ผู้ใหญ่เดินผ่านไปแล้ว เราเดินไม่ทันหมาก็ยังกัด

นี่ว่าเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด เขาเป็นการอุปมาอุปมัย ว่าคนที่ผ่านโลกมาเขาจะมีเหตุผลของเขา เราต้องฟังตรงนั้นไง อย่างกรณีสังคมไทย เห็นไหม “น้ำขึ้นให้รีบตัก” โอ้โฮ.. สังคมนี้สอนให้คนเอารัดเอาเปรียบกันหรือ? นี่เพราะมันคนละวัฒนธรรมไง ใครไปอยู่แถวชายทะเลสิ เวลาน้ำลงมีแต่เลนทั้งนั้นแหละ เวลาน้ำขึ้นมาทำไมไม่ตัก

น้ำขึ้นให้รีบตักคือให้ขยันนะ น้ำขึ้น เวลาหน้าน้ำ น้ำขึ้นนะ ดูสิเราอยู่ริมคลอง เวลาน้ำขึ้น น้ำนี่เราตักได้เลย เวลาน้ำลงไม่มีเลยนะ น้ำขึ้นให้รีบตัก คือว่าถึงเวลาควรทำแล้วต้องทำ ทีนี้คนเราก็ความหมายเปลี่ยนไปแล้ว น้ำขึ้นให้รีบตัก ถ้าฉันมีโอกาสฉันจะฉกฉวยเลย ฉันจะทำ ฉันจะเอาแต่ประโยชน์ของฉัน.. ไม่ใช่ น้ำขึ้นให้รีบตักคือให้ขยันหมั่นเพียร

นี้ก็เหมือนกัน ถ้ามีความเชื่อ เห็นไหม นี่เขาบอกว่าถ้าเวลาเขาหาเหตุผลแล้วเขาถึงปล่อยอันนั้นมา แล้วเขามารื้อค้น มาค้นคว้า ค้นคว้าเสร็จแล้วเขาถึงเห็นว่า

“ถ้าขาดคำบริกรรมไม่ได้ ถ้าขาดคำบริกรรมแล้วมันจะทำตัวมันเองไม่ได้”

อันนี้ถูกต้อง อันนี้ถูกต้อง ฉะนั้น เขาเขียนมาเพื่อเป็นการยืนยันไง ยืนยันว่าเขา.. เหมือนไม่มีคำถาม แต่ถามมาว่าถูกต้องไหม? ถูกต้อง.. ไม่มีคำถาม เป็นการยืนยันมาบอกว่า

“กราบขอบพระคุณความเมตตาของหลวงพ่อมาก”

เขาเขียนมาด้วยนะ ตอนที่มีปัญหาเราจะโดนแรงมาก เราจะโดนแรงมาก คำว่าโดนแรงเพราะอะไร? เพราะสังคมเขาเชื่อไปในทางเดียว มันไม่มีข่าว มันไม่มีเหตุผลอีกข้างหนึ่ง ฉะนั้น สังคมเขาเชื่ออยู่ข้างเดียว แล้วมีคนมาเสนอเหตุผลอีกข้างหนึ่ง โอ้โฮ.. กว่าจะให้สังคมเชื่อได้ กว่าจะให้สังคมยอมรับ ให้หัดฟังเหตุผลนะ ก็ต้องใช้เวลา

หนึ่งต้องใช้เวลา แล้วจะต้องมีหลักด้วย มีหลักอธิบายว่าผิดอย่างไร ถูกอย่างไร อธิบายหมดเลยว่าผิดอย่างไร? ถูกอย่างไร? แต่เวลาอธิบายไปแล้ว ด้วยเหตุผลใช่ไหม? แต่เหตุผลของเขามันไม่มีเหตุผล เห็นไหม

ศรัทธาความเชื่อ.. ศรัทธาแก้กิเลสไม่ได้ ศรัทธาความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ สิ่งที่แก้กิเลสมันต้องมีเหตุมีผล มันต้องมีมรรค มันต้องมีปัญญา ทีนี้พอมีปัญญา ปัญญานี่พอเหตุผล เหตุผลนี่นะ มันจะโดนปัญญาแยกแยะ แผดเผาขนาดไหนนะ เหตุผลจะเด่นชัดมาก เหตุผลถ้ามีปัญญาเข้าไปแยกแยะนะมันยิ่งเด่นชัดมาก แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริงนะ พอใช้ปัญญาเข้าไปมันไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร พอไม่มีอะไรเป็นแก่นสารแล้วทำอย่างไรต่อไป?

ทีนี้พอทำอย่างไรต่อไป ถ้าพูดกันด้วยเหตุผลอย่างนี้มันคุยกันได้ แต่นี้เขาไม่พูดด้วยเหตุผลอย่างนั้น เขาคุยแต่ความเชื่อไง ความเชื่อว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น นี่ธรรมวินัยเป็นอย่างนั้น.. ธรรมวินัยมันเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ แต่ความจริงมันเป็นอีกอย่างหนึ่งนะ ความจริงเวลาเราทำ ความจริง เห็นไหม ทีนี้พอใครไปเจอความจริงนี่พูดออกมายาก

เวลาหลวงตาท่านไปสำเร็จที่ดอยธรรมเจดีย์ เห็นไหม นี่ทำให้ขวนขวายน้อยเลย เราจะพูดกับใครได้อย่างไร? ถ้าไปพูดกับเขานะ เขาก็หาว่าเราบ้า ฉะนั้น เราอยู่ของเราเฉยๆ ดีกว่า สุดท้ายแล้วปัญญามันเกิดไง แล้วเรารู้ได้อย่างไร เรามาได้อย่างไร? เรารู้ได้ก็ต้องมีข้อวัตร มีปฏิปทาเครื่องดำเนิน เหมือนรถก็ต้องวิ่งไปบนถนน ถ้ามีถนนหนทาง

นี้พอข้อวัตรเป็นเครื่องดำเนิน คนไปรังเกียจมันได้อย่างไร? อย่างเช่นมาวัด มาวัดนี่ข้อวัตร เห็นไหม วัดคืออะไร? เราก็มองแต่วัดนี่เป็นวัตถุก่อสร้างใช่ไหม? ต้องมีโบสถ์ มีวิหารใช่ไหม? แต่วัดในภาคปฏิบัติ วัดคือข้อวัตร ข้อวัตรคือกติกา ข้อวัตรที่พระทำ การบิณฑบาตเป็นวัตร มีวัตรในโรงฉัน มีวัจจกุฎีวัตร วัตรในห้องส้วมก็มี เย็นขึ้นมาพระต้องทำความสะอาด ต้องล้าง นั่นล่ะวัดมันอยู่ที่นั่น

วัดมันอยู่ที่ข้อวัตร ข้อวัตรปฏิบัตินั่นล่ะคือวัตร แต่วัตถุก่อสร้าง เดี๋ยวนี้ร้านอาหารมันสร้างดีกว่าวัดอีก ร้านอาหารมันสร้างสวยกว่าวัดด้วย นั่นเราไปติดกันตรงนั้นไงว่าวัดคืออะไร? ฉะนั้น ถ้าวัดคืออะไร? วัดคือเรือนว่าง วัดคืออารามิก ผู้ที่ไม่มีเรือน พระเป็นผู้ที่ไม่มีเรือน โยมเป็นผู้มีเรือน ครองเรือน ต้องมีบ้านมีเรือนที่อาศัย

อารามิกชน ไม่มีบ้าน ไม่มีเรือน ไปอยู่ในอาราม แล้วเราก็ไปมองว่าอารามก็เป็นวัดขึ้นมาเป็นอย่างนั้นเลย แต่ไม่มองหรอกว่าในอารามนั้น ผู้อยู่ในเรือนนั้นมีข้อวัตรหรือเปล่า? หลวงตาถึงบอก วัดเป็นส้วมเป็นฐาน ผู้อยู่เป็นผี เป็นเปรต แต่ถ้ามันมีข้อวัตรขึ้นมามันจะสะอาดของมันขึ้นมา อันนั้นเป็นมุมมองของโลก เป็นความจริงขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริง ปัญญามันจะใช้ตรงนี้ขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์

อันนี้พูดถึงเขาว่า “เรียนกราบถวาย” เฉยๆ เนาะ

ข้อ ๕๙๐. นี่ ข้อ ๕๙๐. ก็ผ่านเนาะ เขาบอกว่า “ให้หลวงพ่อเข้าใจ”

เราบอก เราเข้าใจแล้ว เราเข้าใจ จบเนาะ เราเข้าใจ

ฉะนั้น อันนี้มันเป็นประสบการณ์ของการปฏิบัตินะ นี่เขาถามมาเหมือนกัน อันนี้ยาวนิดหนึ่ง เพราะเขาจะอธิบายถึงที่เขาประสบการณ์ของเขา แล้วเราค่อยๆ ฟังนะ

ถาม : ๕๙๑. เรื่อง “กิเลสตัวที่สั่นคลอนภพไหวๆ ให้เกิดทุกข์ ไม่มีนิมิตกายให้พิจารณาหรือครับ”

หลวงพ่อ : คือเขาพิจารณาเข้าไปแล้ว เขาไปไม่รอด เขาติดไงเขาถึงถามมา แล้วเขาอธิบายถึงการภาวนาของเขานะ

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ผมคือคนที่เคยส่งคำถามมาคุยกับหลวงพ่อช่วงสงกรานต์ว่า “ผมโหมพิจารณากาย แล้วก็ภูมิใจว่าภพของผมมันขาวสะอาดแล้ว ถ้ามีอะไรมาทำให้ภพหมองไป มันก็มีแนวทางทำให้ภพสะอาดขึ้นมาได้ ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้วนั้น

(นี่คำถามอันสุดท้าย) หลวงพ่อครับ ที่กระผมได้ส่งคำถามมารบกวนหลวงพ่อ เนื่องด้วยผมพอพิจารณาด้วยตนเองต่อไปได้ กล่าวคือเรื่องการทำสมาธิที่ผมเน้นมาก โดยหากว่างจากภารกิจทางสมมุติบัญญัติผมก็จะบริกรรม หรือตามลมที่ปลายจมูก พอสงบก็จะมีกำลัง แล้วก็พิจารณากายเข้าไปในกายเนื้อเลย ไล่วนพิจารณาอยู่ในกายอย่างนั้น

วันหนึ่งผมมีเวลาว่างจากภาระหน้าที่ ผมก็พิจารณาแบบเดิมคือลืมตาเนื้อนะครับ แต่หลวงพ่อเชื่อไหมครับว่าภาพที่ตาจิตเห็น เห็นรั้ว เห็นถนน เห็นต้นไม้ เห็นกายเราหยุดให้ผมพิจารณาได้หมด ผมสามารถพิจารณากำหนดให้ไปข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร? กำหนดให้เห็นไปข้างหลังว่ามันก่อเกิดขึ้นมาจากสิ่งใด จิตเห็นอนิจจัง อนัตตาแบบเต็มๆ คาตาของจิตเลยนะครับ (เหมือนตอนที่นั่งสมาธิแล้วปรากฏภาพกายเต็มตัว) มันจะเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วย แต่ภาพเป็นสีเทาๆ เว้นที่ตัวเรา อยากจะดูสิ่งใดเป็นพิเศษ ก็จะมีสีสันให้ชัดเจนแจ่มไร้ข้อกังขานั่นแหละครับ

แล้วจิตนี่นะครับ ทราบเลยว่าทุกคนก็มีคนละภพ คนละภพ แล้วอะไรที่เข้ามาร้อยจิตด้วยภาระพันธนาการ เช่นสมมุติบัญญัติมันเป็นแค่เปลือกนะครับ เปลือกที่ต้องมีเพื่อกำหนดการทำหน้าที่ของมนุษย์ ให้สังคมมนุษย์มันพอเดินไปได้แบบสงบสุขและสะดวก แต่อย่างไรๆ มันก็แค่เปลือก แก่นของมันอยู่ที่สิ่งนี้ สิ่งที่อยู่ระหว่างกระดูกหน้าอกที่เชื่อมซี่โครงซ้ายขวา อยู่ที่เหนือลิ้นปี่เล็กน้อย สิ่งนี้คือภพ และสิ่งนี้คือตัวให้เกิดชาติ หากจิตทิ้งสิ่งทั้งสิ้นที่เป็นเปลือกๆ แล้วจิตจะมาอยู่ที่ตรงนี้

ในตอนนั้นผมทราบว่า ภพและชาติเป็นทุกข์นะครับ เพราะจิตเมื่อมันออกมาจากบริเวณกระดูกหน้าอกเหนือลิ้นปี่ ออกมาเกิน ๑ ศอกไป เราจะคุมไม่อยู่แล้ว มันจะเกิดนิมิตเป็นชาติขึ้นมาเลย หากคนไม่มีประสบการณ์ชาติอันเป็นนิมิตนี้ ซึ่งมีกายของเรานี้เป็นเหมือนเหยื่อล่อให้จิตไปติด แล้วบาปอกุศลทั้งหลายก็จะเกิดเพราะการยึดติดนี่เอง แต่ผมนั้นประจักษ์ว่ารูปกายมันไม่ใช่ผม มันประกอบขึ้นจากดิน ผ่านอาหารที่เรารับประทาน สร้างขึ้นมาเป็นรูปกาย ดังนั้นเวลานิมิตกายจะเกิดขึ้น เพราะเหตุที่จิตออกจากบริเวณกระดูกเหนือลิ้นปี่ ผมจะทันเลยครับ และผมว่าเวลามันออกมันไร้สาระด้วยซ้ำ

ขอเรียนหลวงพ่อเพิ่มเติมสักนิดว่า เวลาที่จิตออกจากบริเวณเหนือลิ้นปี่ ถ้ามันออกเองด้วยกำลังขับของกิเลส เป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด มันจะทำให้ภพหมอง แต่เวลามันออก จะอธิบายเป็นเรื่องของกาย ก็เป็นแบบที่ผมอธิบายให้หลวงพ่อฟัง แต่ถ้าอธิบายแบบเวทนาหรือจิตก็ได้ เนื่องจากมาจากสาเหตุสิ่งเดียวกัน แต่ถ้าเป็นเวทนา ผมจะรู้ว่าผมมันไหว เกิดความรู้สึกได้เวลามันออก แต่ถ้าเป็นจิตจะเห็นเป็นอาการที่ตัวมันเคลื่อนย้ายออกไป แต่ถ้าเป็นธรรมผมอธิบายไม่เป็นครับ

แต่ปัญหาของผมคือ ผมรู้ว่ามันจะออกมันมีอาการครับ เช่นไหวๆ จะดันออกจากอก แต่จิตเคลื่อนออกมา หรือเริ่มสร้างนิมิตมา รู้ทันว่ามันไม่ดี แต่จิตมันจะไม่ไปยึดติด แล้วมันก็จะกลับไปอยู่ที่หน้าอกเหมือนอย่างเดิมที่ว่า

คำถาม!

๑. ตัวพลังงานอาจเรียกว่าจิตก็ได้ หรือภพก็ได้ ที่มันเคลื่อนไหวไปมา สร้างนิมิตกายได้ ผมคิดว่าตัวนี้มันมีเจ้าของ หลวงพ่อว่ามีเจ้าของหรือไม่ครับ เพราะผมสังเกตหลายครั้งแล้วว่าตอนที่เรากำลังทำสมาธิได้ดีๆ พิจารณากายเข้าไปมันก็ไม่เห็นจะมีค่าว่าเป็นเรา ลองพิจารณาสิ่งต่างๆ รอบกาย คุณค่าของมันไม่มีอะไรแตกต่าง แต่พอย้อนมาพิจารณาถึงตัวพลังงานตัวนี้กลับรู้สึกว่ามันมีการคุ้มค่า ที่ผมรู้เพราะมันเกิดน้ำหนักที่แตกต่างบนจิต

๒. เมื่อผมรู้ทันการก่อนิมิตพอสมควร แล้วภพจะตั้งอยู่บนหน้าอก แต่ผมกลับรู้สึกว่ามีตัวที่รับรู้ความชอบ ความไม่ชอบอยู่บนภพนั้น รับรู้โดยตัวของมันเอง โดยไม่ต้องสร้างนิมิตกายมาล่อให้จิตไปติด สิ่งนี้ก่อให้เกิดนะครับ เพราะภพมันจะสั่นคลอนไหวตลอด เป็นทุกข์ที่ไม่มีกำลังรุนแรงเหมือนคนทั่วไป แต่ความถี่ของความเกิดก็เกิดตลอด ถือเป็นทุกข์อีกนะครับ ปัญหาใหญ่คือ ผมไม่รู้ตัวว่าตัวนี้มันเป็นอะไร นิมิตมันก็ไม่มี ไม่เห็น ไม่ทราบว่าจะเข้าไปได้อย่างไร?

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงประสบการณ์ทั้งหมดนะ

ถาม : กิเลสตัวที่สั่นคลอนภพไหวๆ เกิดทุกข์ ไม่มีนิมิตกายให้พิจารณาหรือครับ

หลวงพ่อ : นี่คำถามนะ ทีนี้เราจะย้อนกลับมาตอบประสบการณ์เขาก่อน ประสบการณ์ที่บอกว่า เวลาจิตมันสงบเข้ามา ตัวจิต ตัวภพมันอยู่ที่หน้าอก อยู่ที่ลิ้นปี่ เวลาจิตมันสงบเข้ามานี่ฐานของมันก็อยู่จริงๆ อยู่บนหน้าอกนี่แหละ แต่! แต่มันเป็นนามธรรม ถ้าจิตส่งออกไป ๑ ศอก แล้วมันส่งทุกข์ออกไป แล้วถ้าจิตมันส่งออกไปข้างหลัง ๑ ศอกเป็นอย่างไรล่ะ? แล้วจิตส่งออกไปข้างซ้าย ข้างขวา ๑ ศอกมันส่งไปทางไหนล่ะ?

จิตมันไปได้หมดแหละ จิตมันรับรู้ทางศีรษะขึ้นไปก็ได้ จากปลายเท้าก็ได้ จากข้างตัวก็ได้ มันไปได้หมดแหละ ทีนี้บอกว่าถ้าจิตส่งออก ส่งออกจากร่างกายไปประมาณ ๑ ศอก นี่อธิบายตรงนี้ก่อนไง เพราะอะไร? เพราะเราอ่านทั้งหมดใช่ไหม? พอเราอ่านทั้งหมดไปเสร็จแล้ว ถ้าพูดถึงเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ก็บอกว่า โอ้โฮ.. หลวงพ่อรับประกันเรื่องอย่างนี้หรือ? หลวงพ่อรับรองเรื่องอย่างนี้หรือ?

เรื่องอย่างนี้เราไม่ได้รับประกัน และรับรองทั้งสิ้น แต่มันเป็นประสบการณ์ของจิต จิตแต่ละดวงเวลาปฏิบัติไปเหมือนคนไข้ คนไข้เวลาเขาไปหาหมอ คนไข้แต่ละคนเป็นโรคไม่เหมือนกัน คนไข้แต่ละคนเจ็บไข้ได้ป่วยไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เวลาหมอวินิจฉัย ก็วินิจฉัยโรคไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เวลาจิตดวงนี้ ที่ว่าเวลาออกไป ๑ ศอกเขามีอาการแบบนี้ เขามีอาการแบบนี้ก็เหมือนคนไข้ที่มีโรคแบบนี้ ก็ต้องรักษาแบบนี้ไป แต่ถ้าคนไข้เป็นโรคแบบนี้ปั๊บ แล้วคนอื่นจะเป็นโรคอย่างนี้ทุกคนเลยหรือ? ไม่ใช่ คนอื่นเป็นโรคคนละอย่าง โรคไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันก็เป็นกรณีเฉพาะบุคคล ทีนี้เฉพาะบุคคล ถ้าเขาบอกว่าจิตส่งออกไปแล้วมันมีอาการรับรู้ต่างๆ อันนี้เฉพาะบุคคลนะ นี้เพียงแต่เวลาเป็นธรรมะไปแล้ว ใครฟังแล้วได้ประโยชน์ เก็บเอาที่ประโยชน์ไง แต่ถ้ามันไม่ตรงกับจริตเรา ไม่ตรงกับความรู้สึกของเรา สิ่งนี้วางไว้ เพราะเราไม่ได้ทำแบบนี้ เราไม่ได้ทำสิ่งนี้ สิ่งนี้เราถึงไม่จำเป็นจะต้องไปเอา

เราไม่ได้เป็นโรคภัยไข้เจ็บชนิดนี้ เราไม่ต้องไปกินยา เราไม่ได้มีลิ่มเลือด ไม่ได้มีอะไรในหัวใจ ต้องไปกินยาละลายไขมันในเลือดหรือ? ไม่ต้อง แต่ใครที่มีลิ่มเลือด ใครมีความดันสูง ต้องกินยาละลาย เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำสิ่งใด อย่างพาราฯ นี่พื้นฐานเลย ใครเป็นอะไรก็พาราฯ พาราฯ ถ้าโดยพื้นฐานใครเจ็บไข้ได้ป่วยมา เห็นไหม ตั้งสติ ทำสมาธิ นี่พื้นฐาน แต่พอมันละเอียดเข้าไปปั๊บเราจะต้องมีเฉพาะแล้ว เฉพาะโรคแล้ว โรคนี้โรคอะไร จะแก้อย่างไร? ฉะนั้น เราจะบอกก่อน

นี่เขาบอกว่า “ในภพ ในชาตินี่ จิตนี้มันออกจากบริเวณกระดูกหน้าอกลิ้นปี่ไป ๑ ศอก” นี้เพราะประสบการณ์ของเขา ถ้าอย่างนั้นปั๊บ ถ้าเอาเป็นสูตรตายตัว จิตของคนมันไม่เหมือนกัน คำว่าไม่เหมือนกันนะ ความถนัดของคนไม่เหมือนกัน นี่ความถนัด ความต้องการของคนไม่เหมือนกัน พอไม่เหมือนกันมันจะแตกต่างกัน

ความแตกต่างกันนะ เห็นไหม วิธีการแตกต่างแต่ผลอันเดียวกัน อริยสัจมีหนึ่งเดียว ฉะนั้น ผลแตกต่าง ถ้าคนจับหลักได้ ไอ้วิธีแตกต่าง ถ้าคนทำถูกมานี่ถูกหมดแหละ แล้วเวลาผลตอบสนองมีหนึ่งเดียว มีหนึ่งเดียวต้องเหมือนกัน คำว่าเหมือนกัน นี่เป็นโสดาบันเหมือนกัน เป็นสกิทาคามี อนาคามีเหมือนกันหมด แต่วิธีการ.. แล้วถ้าคนมีเหตุมีผลด้วยปัญญา ฟังนี่เข้าใจได้หมด

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “เป็นลิ้นปี่ เวลามันหดเข้ามามันสั้น”

ถ้าจิตเราตั้งฐานเราอยู่ที่นี่เราก็รักษาของเราไว้ เวลามันออก ถ้าสติทันมันก็พอ แล้วอย่างเช่นที่ว่านี่ เวลาโดยปกติที่จิตมันเห็นโดยตาเนื้อ ตาเนื้อที่เห็นนี่มันเป็นได้ มันเป็นได้เป็นครั้งเป็นคราว แต่ถ้าเป็นเอตทัคคะนะ ในสมัยพุทธกาลผู้ที่มีความชำนาญ เห็นไหม พระอนุรุทธะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอุบาลีเป็นพระอรหันต์นะ พระอุบาลีกับพระอานนท์ เป็นผู้ทรงจำวินัยกับผู้ทรงจำพระสูตร

พระอุบาลีเป็นผู้ทรงจำวินัย ธรรมวินัยที่เราได้ศึกษากันอยู่นี้ พระอุบาลีเป็นคนจำมา แล้วมาสังคายนา นี่พระอุบาลีเป็นคนถามขึ้นมา ขนาดที่คนมีคุณกับศาสนาขนาดนี้นะ เวลาพระพุทธเจ้ากำลังปรินิพพาน พระอุบาลีเป็นคนถามขึ้นมาว่า

“พระพุทธเจ้าไม่นิพพานแล้วหรือ?”

เห็นไหม พระพุทธเจ้าไม่นิพพานแล้วหรือ? แสดงว่าพระอุบาลีไม่รู้

พระอนุรุทธะนั่งอยู่ข้างๆ บอกว่า “ยัง ตอนนี้พระพุทธเจ้ากำลังเข้าสมาบัติ”

ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ ขึ้นแล้วลงมาระหว่าง แล้วพอพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน นี่พระพุทธเจ้าอยู่ระหว่างรูปฌาน อรูปฌาน แล้วพระพุทธเจ้านิพพานตรงนี้ ขณะที่พระอนุรุทธะอธิบายอยู่มันเป็นเรื่องปกติไหม? เป็นเรื่องสิ่งที่ว่าเรานั่งอยู่นี่เรามองเห็นไหม? นี่ตาเนื้อๆ นี่แหละ นี่รับรู้อย่างนี้ ถ้าเอตทัคคะจะชำนาญมาก จะรู้โดยธรรมชาติเลย สัญชาตญาณเลย แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์นะ ถ้าอยากรู้นะต้องเข้าสมาบัติ ต้องอะไร พูดถึงถ้าไม่ชำนาญ

ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นได้ มันเป็นได้ถ้าเห็นได้ ถ้าเห็นแล้วมันก็ย้อนกลับไง ย้อนกลับมาสิ่งที่ว่าทำไมเราไปเห็นอย่างนั้น แล้วทำไมมันสั่นไหวไปหมด การสั่นไหวมันรับรู้ได้ ฉะนั้น ที่เขาบอกว่าจิตเวลามันออกไปจากหน้าอก เห็นไหม มันออกไปรับรู้.. นั้นพูดถึงประสบการณ์ที่มันเป็น มันเป็นได้หมดแหละ สิ่งที่เป็นได้

แต่ถ้านักปฏิบัตินะ ดูสิเวลาหลวงตาท่านมาโพธาราม ท่านจะบอกว่า อาจารย์อะไรที่ว่าเวลากำหนดให้จิตมันลง เห็นไหม คิดถึงเสือ ให้เสือเดินมา พอเสือมาจริงๆ นะก็นึกถึงเสือเดินมา แล้วให้เสือมากัดคอเลย พอกัดคอแล้วจิตก็ลงวูบเลย พอลงวูบนั่นล่ะรวมใหญ่ นี่อัปปนาสมาธิ นั่นล่ะคืออัปปนา อัปปนาสมาธินี่วูบ! นิ่ง สักแต่ว่ารู้เลย พอมันคลายตัวออกมาท่านบอกนู่น ๑๐ โมงเช้า นี่เวลามันลง เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันออกรู้ นี่มันออกรู้ เวลามันเข้ามา นี่พระกรรมฐานเขาฟังเขาจะรู้เลยว่าจิตทำอย่างไร? วุฒิภาวะของจิต สมาธิมันได้แค่ไหน? แล้วพอมีสมาธิแล้วมีกำลังอย่างนี้ เหมือนเรานี่ เราเป็นเซลล์ขายรถนะ เราจะเอารถมาขายพวกโยม เราจะมองเลยว่าคนนี้มีสตางค์หรือเปล่า คนมีสตางค์เราจะคุยด้วยนะ คนไม่มีสตางค์เราไม่มองหรอก เพราะพูดไปแล้วเหนื่อยเปล่า เขาไม่ซื้อของเราหรอก

จิต! จิตถ้ามีกำลัง คนมีสตางค์ คนมีสตางค์ จิตไม่มีกำลัง คนๆ นี้ไม่มีสตางค์ เราจะขายของให้เขา เราไม่พูดกับเขาหรอก เพราะคนนี้ไม่มีความสามารถซื้อสินค้าเราได้ เราจะไปพูดกับเขาให้เสียเวลาทำไม แต่ถ้าคนมีสตางค์เราจะวิ่งเข้าไปหาเขาเลย ของเราดีอย่างนั้น ของเราดีอย่างนี้ น่าสนใจอย่างนี้

นี่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนามาท่านจะรู้อย่างนี้ คนนี้มีสตางค์ คนนี้ไม่มีสตางค์ คนนี้มีกำลัง คนนี้ไม่มีกำลัง นี่ไงหลวงปู่มั่นถึงรู้หมด ลูกศิษย์ของท่านจิตอยู่แค่ไหน.. จิตอยู่แค่ไหน จิตควรเป็นอย่างใด แล้วควรจะสอนใครก่อน มันเป็นอย่างนี้แหละ

ฉะนั้น เราจะบอกว่าเวลาที่เขาบอกว่า “ปกติก็นั่งเฉยๆ นี่แหละ พอมองออกไปทำไมเห็นเลยนะ เห็นไปหมดเลย เห็นไปข้างหน้า เห็นรั้ว เห็นถนน เห็นทุกอย่างมันไหวไปหมดเลย”

อ้าว.. เวลาเห็นมันก็คือเห็น แต่เห็นแล้วมันเป็นอะไรต่อไปล่ะ? เห็นแล้วจิตเวลามันดีมันก็ดี จิตเวลามันร้ายมันก็ร้าย เวลาดีเห็นแล้วเราก็วาง ตอนนี้ดี เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ร้าย

นี้ย้อนกลับมา เห็นไหม เราก็ตั้งจิตของเรา มันไม่แปลกประหลาดหรอก ถ้าคนภาวนาเป็นแล้ว เหมือนกับเศรษฐีเขามีเงินอยู่พันล้าน เราหาเงินมาได้ล้านหนึ่ง เรามีเงินล้านเราก็อยากจะอวดกับพันล้านไง ฉันมีเงินล้าน ฉันมีเงินล้าน ไอ้เงินพันล้านเขานั่งเฉย ไอ้เราก็อยากจะอวดนะ ฉันมีเงินนะ ฉันมีเงินนะ แต่ไอ้คนที่มีเงินเป็นพันล้าน หมื่นล้าน ไอ้เงินล้านนั้นมันเศษเงิน แต่เราหามาได้ไง

นี้เราพูดถึงผู้ปฏิบัติใหม่ เวลาเราปฏิบัติแล้วเรามีเงินมีทอง เราก็ดีใจเป็นธรรมดา จิตของคนเวลามันลง ทุกคนก็มีความสุข แล้วก็หลงตัวเองว่าตัวเองมีเงินทองมหาศาล แล้วจะเอาเงินทองนี่ไปเสนอกับผู้ที่มีเงินทองที่มากกว่าจนล้นฟ้า เขามองเป็นเรื่องเล็กน้อย

นี่เราจะบอกว่าครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นพระอรหันต์นะ จิตของท่านนี่เงินทองมันล้นเหลืออยู่แล้ว ฉะนั้น รูปแบบอย่างนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา ทีนี้พอธรรมดาให้เราวางไว้ไง มันเสียหายอะไรไหม? ไม่เสียหาย แต่มันเป็นอนิจจัง เกิดขั้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป คือมันมีแล้ว มันผ่านไปแล้ว เราก็กลับมาทำความดีของเราดีกว่า กลับมาเพื่อแก้ไขกิเลสของเราดีกว่า กลับมาที่ว่า..

ถาม : ๑. ตัวพลังงานอาจเรียกว่าจิตก็ได้ หรือภพก็ได้ ที่มันเคลื่อนไหวไปมา มันสร้างนิมิตในกาย ผมคิดว่าตัวนี้มันมีเจ้าของ หลวงพ่อว่ามีเจ้าของหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : มี.. มีเจ้าของคือเราไง คือสติไง สติคือตัวเรา ภพก็คือเรา จิตก็คือเรา ทุกอย่างมีเจ้าของ ทีนี้พอมีเจ้าของก็เป็นอัตตา พอเป็นอัตตามันก็เป็นสมาธิไม่ได้ พอเราพุทโธ พุทโธ ความเป็นเจ้าของมันปล่อย พอปล่อยแล้ว พอจิตเป็นสมาธิ สมาธิคือสากล จะลัทธิ ศาสดาใดก็เป็นสากล เป็นสมาธิ แต่! แต่เขาไม่เป็นสัมมาสมาธิ เพราะไม่สัมปยุตด้วยปัญญา

พุทธศาสนานี่เป็นสัมมาสมาธิ คือมีสมาธิแล้วสัมปยุตด้วยปัญญา ปัญญาที่รื้อค้นกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรานี่แหละ ถ้าสัมปยุตด้วยปัญญา มันเป็นสมาธิที่มีกำลังที่ย้อนกลับ ไม่ใช่สมาธิทั่วๆ ไป เป็นสมาธิก็คือสมาธิก็คือมีเงินไง มีเงินก็คือเงิน เงินกินไม่ได้นะ เงินต้องไปซื้ออาหารนะ อ้าว.. ใครกินแบงก์ล่ะ? เขากินอาหารเขาไม่กินแบงก์ แต่แบงก์ซื้อได้นะ

สมาธิก็คือสมาธิไง สัมปยุตด้วยปัญญา สัมปยุตด้วยปัญญาก็คือมีสมาธิด้วย เอาไปซื้ออาหารได้ด้วย นี่สัมปยุตด้วยปัญญา ฉะนั้นว่ามันมีเจ้าของไหม? มี แต่การมีเจ้าของนี่ มันมีเจ้าของในสถานะของปุถุชน มันก็เป็นตัณหา มันเป็นตัวตน พอมีตัวตนนี่ทิฐิสูง สมาธิมันไม่มี พอเราพุทโธ พุทโธจนทิฐิมันยุบตัวลง ยุบตัวลงมันเป็นสากล มันเป็นสมาธิ

มีสมาธิยังมีสติอีกนะ มีสติรับรู้เป็นสัมมาสมาธิ สัมปยุตด้วยปัญญาเพราะมีรู้ มีเรา ไม่ใช่มีสมาธิก็ปล่อยมันเร่ร่อน มีสมาธิก็เป็นเราอีก ฉะนั้น บอกว่ามีเจ้าของไหม? มี ทีนี้คำว่ามีเจ้าของนี่ใครเป็นเจ้าของ ชาวนาเขาเป็นเจ้าของโค เจ้าของควาย เขาเอาไว้ไถนา นี่ผู้ที่ทำปศุสัตว์เขาก็มีโค มีของเขาเหมือนกัน เห็นไหม ใครเป็นเจ้าของ?

เราจะบอกว่า “สติ มหาสติ” เจ้าของ ถ้ามันละเอียดลึกซึ้ง มันจะสามารถทำให้นี่เป็นคุณสมบัติ เป็นคุณงามความดีได้มากขึ้น เจ้าของนี่สำคัญมากนะ เจ้าของมีสติ มหาสติ สติอัตโนมัติ มันฝึกขึ้นไปมันจะพัฒนาเป็นชั้นๆ ขึ้นไป

ฉะนั้น “หลวงพ่อว่ามีเจ้าของไหม?”

มี! ฉะนั้น พอมีขึ้นมา นี่ที่พูดมานี้พูดละเอียดนิดหนึ่ง เพราะเดี๋ยวถ้าพูดว่ามีเจ้าของก็เป็นอัตตาสิ เพราะคนจะแย้งมันแย้งได้หมดแหละ พูดคำไหนมันก็แย้งได้ ฉะนั้น..

ถาม : มีเจ้าของหรือไม่? (มีครับ) ผมสังเกตว่าหลายครั้งที่ทำสมาธิดีๆ พิจารณากายไปแล้วมันจะมีค่า การพิจารณาจะมีคุณค่ามาก จะมีความรู้มาก

หลวงพ่อ : ถูกต้อง ถ้าจิตมันดีนะ จิตเป็นสมาธิ พิจารณาสิ่งใดก็เป็นประโยชน์

“ศีล สมาธิ ปัญญา”

ปัญญาเกิดจากสมาธิสัมปยุตด้วยปัญญา มันจะเป็นโลกุตตรปัญญา มันเป็นปัญญาที่ฆ่ากิเลส ปัญญาที่เราใช้กันอยู่นี้เป็นปัญญาของกิเลส ปัญญาที่เราใช้วิชาชีพเป็นปัญญาของกิเลสเพราะอะไร? เพราะเราศึกษามาทางวิชาการ เรามีอวิชชาที่นอนเนื่องอยู่ในใจ อวิชชาคืออวิชชาที่อยู่ในใจ อยู่ที่ภวาสวะ อยู่ที่ภพ มันใช้วิชาชีพ

ฉะนั้น วิชาชีพมันก็แสวงหาเพื่อหน้าที่การงาน เพื่อความสำเร็จในการประกอบสัมมาอาชีวะ ในการหาปัจจัยเครื่องอาศัย มันถึงเป็นปัญญาของกิเลส พอเป็นปัญญาของกิเลส เราใช้มาก ใช้ไปนี่เราจะเครียด จะทุกข์ จะยาก จะเหนื่อย แต่ถ้าเรารู้จักปล่อย รู้จักวาง มันก็จะใช้สิ่งนั้นเพื่อดำรงชีวิตไป

นี่คือการครองเรือน การอยู่ในโลก แต่ถ้าเป็นปัญญาในโลกุตตรปัญญา ปัญญาโลกุตตรปัญญาคือปัญญาเหนือโลก โลกุตตรธรรม นี่มันจะชำระมันต้องมีสมาธิขึ้นมา แล้วปัญญาอย่างนี้จะละเอียด ลึกซึ้ง พอมีสมาธิแล้วมันจะละเอียด แล้วมันจะไปถอดถอนนะ เวลาพิจารณาไปแล้วมันจะทำให้หัวใจนี้โล่ง โปร่ง มันจะมีความมหัศจรรย์มาก

ทีนี้ความมหัศจรรย์นี่ใครก็มหัศจรรย์ มหัศจรรย์มันก็เลยกลายเป็นผงซักฟอกมหัศจรรย์ไง ไอ้นั่นมันยี่ห้อเอาไว้ขาย มหัศจรรย์ๆ เป็นปัจจัตตังเฉพาะตน ทีนี้ถ้าจิตละเอียดเข้ามามันจะเป็นอย่างนี้ เพราะเขาบอกว่าจิตมันจะละเอียดเข้ามา ทำสมาธิแล้วเกิดปัญญามันจะย้อนเข้ามา

ที่เราเน้นตรงนี้ เราจะเน้นให้เห็นว่าตัวพลังงานที่ตัวรู้มันจะมีคุณค่า ถ้าจิตมันพิจารณาแล้วนี่ เพราะมันถอดถอนตัวมันเอง พอมันถอดถอนตัวมันเอง โลกุตตรธรรมมันถอดถอนตัวจิต ตัวภวาสวะ ตัวภพ ตัวปฏิสนธิวิญญาณ ตัวใจ ตัวจิตมันเป็นคนสัมผัสธรรม สัมผัสความจริง

ไอ้สมอง ไอ้ที่จำมันเป็นสัญญาทั้งนั้นแหละ มันเป็นโลกียะ มันเป็นโลกหมดเลย แล้วโลกอันนี้มันจะเกิดตายๆ ไป จิตนี้ต้องตาย ทุกอย่างต้องตาย ตายแล้วไปเกิดใหม่มันก็ได้บุญกุศล บาปอกุศลตามไป แต่ถ้าเป็นโลกุตตรธรรมมันฟอกให้สะอาดเลย มันทำให้ดีเลย อันนี้มันถึงมีคุณค่า ถึงบอกว่า

“ตัวพลังงานนี่รู้สึกว่ามีคุณค่ามาก ที่ผมรู้เพราะมันเกิดมีน้ำหนักมันแตกต่างกัน”

นี่รู้ถูกต้อง แล้วมันจะรู้ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ นี้ให้ขยันหมั่นเพียร นี่ข้อ ๑.

ถาม : ๒. เมื่อผมรู้ทันการก่อเกิดนิมิต แม้ภพจะตั้งอยู่บนหน้าอก แต่ผมกลับรู้สึกว่าที่ตัวเรามีความรู้สึก มีความชอบ ความไม่ชอบอยู่ในภพ รับรู้โดยตัวของมันเอง โดยที่ไม่ต้องสร้างนิมิตจากกายมาล่อให้จิตมันติด สิ่งนี้ก่อให้เกิดทุกข์นะครับ เพราะภพมันจะสั่นไหว สั่นคลอน เป็นทุกข์ที่ไม่มีกำลังรุนแรงเหมือนคนทั่วไป แต่มีความถี่ในการเกิด เป็นทุกข์อีกแบบหนึ่ง ปัญหาใหญ่คือผมไม่รู้ตัวนี้ครับ

หลวงพ่อ : เวลาเราพิจารณาทุกอย่างนะ พิจารณากาย พิจารณาต่างๆ เวลาปล่อยเข้ามาแล้วมันปล่อยเข้ามาเป็นตัวมัน แต่ปล่อยเข้ามาเป็นตัวมันแล้วมันปล่อย เขาเรียก “ตทังคปหาน” คือปล่อยชั่วคราว พอปล่อยชั่วคราวกิเลสมันก็หลบอยู่ที่นี่ พอหลบอยู่ที่นี่มันก็บอกว่ามันไม่มีสิ่งใด ไม่มีอะไร คือทุกคนบอกว่าเราเป็นคนดี ดี ดีทุกอย่างเลย ดีก็ติดดีไง ดีก็ต้องตายไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันปล่อยสิ่งต่างๆ เข้ามาแล้วนี่สังเกตตัวเรา สังเกตที่ผู้รู้ สังเกตที่นั่น ตรงนี้สำคัญนะ เวลาสังเกตแล้วมันขยับออก ขยับออกเราก็จับให้ได้ ถ้าเราจับได้ เราจับได้เราก็พิจารณาได้ เวลาเราพิจารณา เห็นไหม เช่นเราอาบน้ำทำความสะอาดหมดเลย ออกจากห้องมานี่เราว่าเราสกปรกไหมล่ะ? เราก็ว่าเราสะอาดนะ ทุกคนชำระร่างกายมาจากอาบน้ำนี่สกปรกไหม? สะอาดแจ๋วเลย แต่สกปรก ตัวเรานี่สกปรกอยู่ จะให้สะอาดแค่ไหน ให้ลอกหนังก็สกปรก

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาแล้วมันปล่อยๆ แล้ว มันไม่มีสิ่งใดเลย นี่วางหมดเลย ไม่มีอะไรเลย เพราะคำถามเขาถึงถามมาไงว่า “กิเลสที่สั่นไหวภพ” คือว่าเขาจับไม่ได้ไง มันไม่มีภพ ตัวภพนี่ แล้วจะจับอย่างไร? จะจับอย่างไร? พิจารณาอย่างไร?

สติให้ดีๆ สมาธิให้นิ่งๆ สมาธินี่ให้นิ่งๆ แล้วต้องใช้สติ เห็นไหม สติ มหาสติ.. นี่ที่ว่ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด เวลางานหยาบๆ ทุกคนก็รู้นะ เวลาทุกข์หยาบๆ ทุกคนก็รู้หมดแหละ ไม่มีทุกข์เลย เราทำไม่มีทุกข์เลย แต่ก็เหงานะ นั่งอยู่คนเดียวนี่เหงา ไม่มีเพื่อน มันไม่รู้จะไปอยู่กับใคร เหงา แล้วแก้อย่างไรล่ะ? นี่แก้อย่างไร? เวลามันปล่อยเข้ามาหมดแล้วแก้อย่างไร?

อยู่บ้านเงินก็มี ทุกอย่างมีพร้อมหมดเลย มีความสุขหมดเลย ทุกอย่างพร้อมหมดเลยแต่เหงา ไม่มีเพื่อนนะ เหงา นี่เวลาปล่อยหมดแล้วมันจะเป็นอย่างนี้ ปล่อยเข้ามาแล้ว แล้วตัวมันเองจะปล่อยอย่างไร? นี่ตั้งสติดีๆ แล้วดูไง นี่ให้เทียบเป็นกายก็ได้ ถ้าเวลาเราเทียบได้เทียบเป็นกาย ถ้าเทียบไม่ได้เราสังเกตไว้ สังเกตไว้ ต้องหาเจอ ถ้ามีผู้ทำผิด คนทำผิดมี เราต้องหาคนทำผิดนั้นได้

ในทางอาชญากรรม เห็นไหม เขาบอกว่าในการทำอาชญากรรม ผู้ทำต้องทิ้งร่องรอยไว้เด็ดขาด ถ้าเราหมั่นพิสูจน์นะ เราพยายามค้นคว้า คนทำอาชญากรรมมันต้องทิ้งร่องรอยไว้ แต่เพราะพวกเรามันหยาบเกินไป หาร่องรอยนั้นไม่เจอ ถ้าหาร่องรอยนั้นเจอนะอยู่นี่เอง พอเจอรอยปั๊บสืบสวนสอบสวนเข้าไป ค้นคว้าเข้าไปเดี๋ยวต้องจับได้

นี่ก็เหมือนกัน มี! มี! แต่การบอกกันมันจะบอกอย่างไรล่ะ? นี่บอกแค่วิธีการ เห็นไหม ธรรมและวินัยของพระพุทธเจ้าก็เป็นอย่างนี้แหละ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมวินัยชี้เข้ามาที่ใจ แล้วเราต้องฝึกฝนค้นคว้าเอง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านถึงค้นคว้าขึ้นมาถึงสุดยอดไง ไอ้เราจำทฤษฎีมาแล้วว่าสุดยอดๆ จำทฤษฎีมามันข้างนอกหมดแหละ ไม่มีทางหรอก ฉะนั้น เวลามันเข้ามาแล้วเราต้องแก้ไขของเรา แล้วดู

มันมี นี่เขาก็รู้ว่ามี เพียงแต่ถามมาว่า “แล้วจะจับอย่างไรล่ะ? นี่จะจับอย่างไร? เอามาพิจารณาจะจับอย่างไร?”

สังเกต หมั่นสังเกต ความสังเกตของเรา แล้วเราพิจารณาของเรา ถ้ามันจับได้นะ มันทิ้งจากหยาบมามันก็มาหลบซ่อนอยู่ เพราะกิเลส นี่แก่นของกิเลสเหนียวแน่นนัก แก่นของกิเลสนี่เอาชนะตนเองไง พุทธศาสนาคือเอาชนะตนเอง ชนะใครก็แล้วแต่สร้างเวรสร้างกรรมหมด ถ้าเอาชนะใจเราได้แล้วนะ เอาชนะใจเราได้แล้วจบ

นี่การจะเอาชนะใจเรา นี้ใจเราเป็นคนที่จะทำลายตัวมันเองใครจะยอม นี่มันไม่ยอมหรอก กิเลสมันไม่ยอมหรอก ทีนี้มันจะหลบซ่อน หลบซ่อนจนวางเข้ามาหมดแล้ว ผู้มีอิทธิพลไงฆ่าเขาหมดเลย แล้วตัวเองเป็นผู้ทรงอิทธิพลอยู่ในใจนั่นแหละ

ค่อยๆ จับ จับให้ได้แล้วจะเห็น แล้วค่อยคลี่คลายตามสติปัฏฐาน ๔ แล้วจะเห็นว่าการพิจารณานี่พิจารณาอย่างไร แล้วสิ้นสุดกระบวนการอย่างไร ถ้าไม่มีกระบวนการสิ้นสุด ไม่มีขณะจิต เป็นพระโสดาบันเป็นอย่างไร แต่เวลามันขาดนะ นั่นแหละจบ

เวลามันขาดนี่ “ดั่งแขนขาด” ตัดแขนตัวเองขาด ใครไม่รู้ว่าแขนตัวเองขาดคนนั้นคนบ้า แต่ถ้าเวลาโสดาบันเราตัดแขนขาด นี่ดั่งแขนขาดเลย นั่นล่ะสมุจเฉทปหาน แล้วจะเห็นคุณค่าของศาสนา เอวัง