เทศน์พระ

แก้จิต

๒๘ ส.ค. ๒๕๕๔

 

แก้จิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

อากาศอ้าวมาก อากาศอ้าว เห็นไหม อากาศ ภูมิอากาศ ภพน้อย-ภพใหญ่ เราเกิดมาเป็นคน เห็นภัยในวัฏสงสาร เราถึงออกมาประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อสิ่งใด

“ปฏิบัติ” ในการปฏิบัติ ถ้าการปฏิบัติในรูปแบบ ในการเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา ดูพระพุทธรูปสิ พระพุทธรูปนั่งอยู่อย่างนั้นทั้งปีทั้งชาติ หุ่นยนต์ หุ่นปั้น เวลาเขาปั้นรูปตุ๊กตาไว้ ทางศิลปะ เขามีของเขาตลอดเวลาน่ะ หลายร้อยหลายพันปีมันอยู่ของมันอย่างนั้น แล้วมันได้อะไรล่ะ? แล้วเราจะทำอย่างนั้นไหม เวลาเราทำขึ้นมา เราทำแบบหุ่นยนต์ไหม เราทำแบบสิ่งที่เป็นรูปศิลปะที่เขาทำกันไหม สิ่งที่เป็นศิลปะนะ คนเขาไปดู จิตใจเขายังอ่อนโยน ศิลปะเขาไปดูกันเพื่อความอ่อนโยนของใจเขา ให้จิตใจมันมีศิลปะ ด้วยความนุ่มนวลของเขา ไม่ให้แข็งกระด้าง มันยังมีประโยชน์นะ

แต่ร่างกายของคน นั่งสมาธิภาวนา ถ้าทำสักแต่ว่าทำ การถ้าไม่ทำสักแต่ว่าทำ มันต้องมีรสชาติสิ คำว่า “มีรสชาติ” ใช่ไหม เราเห็นสุข-เห็นทุกข์ขึ้นมา เราถึงมาไง เราเสียสละนะ โลกเขา เขาบอกว่าเขาได้เสพสุขของเขา เขาได้ใช้ชีวิตของเขา เขาว่ามีความสุข แล้วคนมีความสุขจริงไหมล่ะ เวลาธุรกิจบริการ ทุกคนต้องบริการให้ดีที่สุด ทุกคนต้องบริการให้แปลกประหลาดมหัศจรรย์ที่สุด ทุกคนก็จะปฏิเสธสิ่งนั้น ปฏิเสธสิ่งนั้นกลับไปก็ไปคอตกอยู่ที่บ้าน ยิ่งเสพสิ่งใดก็แล้วแต่ ดูสิ ดูธุรกิจบริการเขา เขาทำของเขา แล้วมันจะจบลงที่ไหน มันจะแข่งขันกันอย่างนั้น มันจบลงที่ไหน

แต่ถ้าการดับทุกข์ การตัดมันออก ถ้าการตัดมันออก ดูสิ เวลาจะดับไฟต้องชักฟืนชักไฟ ต้องทำเชื้อไฟนั้นให้หมด ไฟนั้นถึงจะดับได้ แต่โลกเขาทำกันน่ะ เขาเสริมไฟเข้าไป เขาใส่ฟืนเข้าไป เขาเสริมไฟก็ให้ไฟมันลุกโชติช่วงชัชวาล เขาว่าสิ่งนั้นเป็นความสุข นี่ความเห็นต่าง พอความเห็นต่าง เราเห็นโทษของมัน เราถึงได้เสียสละความที่ว่าโลกเขาว่าเป็นความสุข

ทุกคนเขาจะแปลกใจ ทำไมต้องฉันมื้อเดียว ทำไมต้องถือธุดงควัตร ทำไมต้องถือความลำบาก อวดเขาหรือเปล่า อยากจะอวดเขาว่าตัวเองเคร่งครัดหรือเปล่า แล้วอวดเขาหรือเปล่าล่ะ? ความอวดเป็นกิเลสนะ อย่างเช่น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาอดอาหาร ๔๙ วัน ขนาดว่าขนนี่เน่า ขนนี่หลุดหมด หลุดหมดเพราะอะไร เพราะปัญญานะ ปัญญาว่ากิเลสมันอยู่ที่ไหนก็ค้นหากิเลส ต่อสู้กับกิเลส แล้วกิเลสอยู่ที่เรา อยู่ที่ตัวเราต่างๆ ก็อดอาหารไปต่างๆ ค้นคว้ากันไป ขนาดที่ว่าย้อนกลับมาฉันอาหารของนางสุชาดา ปัญจวัคคีย์ทิ้งไปเลย “นี่กลับมามักมาก” ปัญจวัคคีย์ทิ้งไปเลยนะ เสียใจมาก อุปัฏฐากมา ๖ ปี ก็ต่างคนต่างหวังรอ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหันกลับมาฉันอาหารของนางสุชาดา ทิ้งไปเลยนะ เสียใจมาก เสียใจมาก

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาสงบสงัดแล้วไม่มีใครยุ่งกวนแล้ว ย้อนกลับมา เราทำมา ๖ ปี ทำมาวิกฤตขนาดไหนก็ทำมา แล้วมันไม่ประสบความสำเร็จสักที ไม่ประสบความสำเร็จสักที.. อยากพ้นจากทุกข์ อยากพ้นจากทุกข์ เวลากลั้นลมหายใจสลบไปถึง ๓ หน อดอาหารจนขนเน่านะ ขนหลุด นี่การกระทำวิกฤตขนาดนั้น มันไม่ประสบความสำเร็จ แล้วเรายังมาทำสิ่งนั้นกันอยู่อีกหรือ เราจะมาอดอาหารกัน จะมาอดนอนผ่อนอาหารกันเพื่อความทุกข์อย่างนั้น มันจะมีประโยชน์สิ่งใดล่ะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นนักปราชญ์ เป็นศาสดา เป็นครูเอกของเรานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทดสอบมาแล้ว ทดสอบมาด้วยตัวเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็หาทางออกอยู่ หาทางออกอยู่ แต่หาทางออกยังไม่เจอ ก็คิดได้แค่นั้น คิดได้โดยสามัญสำนึก คิดได้ว่า “กิเลสมันอยู่ที่ไหน จะหากิเลส จะฆ่ากิเลส” แต่ยังไม่เจอกิเลส กิเลสเป็นอย่างไร ไม่เคยเห็น

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันอาหารของนางสุชาดา บุพเพนิวาสานุสติญาณ คืนนั้น บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ แล้วเวลาชำระกิเลส อาสวักขยญาณไปแล้ว เสวยวิมุตติสุข คราวนี้สุขจริงๆ คราวนี้จิตใจพ้นจากกิเลสทั้งหมด เสวยวิมุตติสุขอยู่ “สุขนี้สุขหนอ สุขนี้สุขหนอ” สุขหนอเพราะอะไร? สุขหนอเพราะมันไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง มันสงบระงับของมัน มันสงบระงับอยู่โดยสันติธรรมของจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นมีความสุข มีความสุขของธรรมธาตุอันนั้น มีความสุขมาก ความสุขมากนั้นมาจากไหน? มันต้องมีเหตุสิ เหตุที่ทำให้สิ่งใดมันสุขน่ะ

ทีนี้ก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาการกระทำ ย้อนกลับมาการกระทำหมายถึงว่า วางธรรมวินัยไว้สอนพวกเรา เวลาจะสอนพวกเรา บอกว่า “ถ้าใครอดอาหารเพื่ออวด ใครอดอาหาร ใครทำเพื่ออวดแอ็กเขา อยากให้เขาศรัทธา อยากให้เขาเชื่อ.. ปรับอาบัติหมด!” ที่เราทำกันนี่เราไม่ทำอวดเขา เราทำข่มกิเลสเรา เราทำเพื่อหัวใจของเรา เราพยายามสร้างคุณประโยชน์กับใจของเรา แต่มันไม่มีใครรู้น่ะ ในเมื่อมีการกระทำ มันต้องทำน่ะ

แล้วบอกว่า คนพอจะทำดีเขาบอก “นั่นก็อวด อันนั้นก็อยากดัง อันนั้นก็อยากเด่น”

ถ้าทำเพื่อฆ่ากิเลสน่ะ “มันจะดัง-ไม่ดัง กูจะฆ่ากิเลสอยู่นี่ กูทุกข์อยู่นี่ กิเลสกูมันขี่หัว มันจะตายอยู่นี่ กำลังต่อสู้อยู่นี่” อันนี้ไม่ได้อวด แต่ถ้าทำแล้วโฆษณาชวนเชื่ออวดเขา นั่นน่ะ...อวด! ฉะนั้น การทำมันไม่ได้อวดเพราะอะไร เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านดำเนินการมาก่อนแล้ว หลวงปู่เสาร์ท่านอดนอนผ่อนอาหารของท่านมา ท่านต่อสู้กับกิเลสของท่านมา มันเป็นอุบาย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาทบทวนขึ้นไปถึงที่ว่า ๖ ปีนั้นน่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า “นี่เราทำของเรามา ถ้าใครอดอาหาร ใครอดนอนเพื่ออวด ปรับอาบัติทุกกฎ ทุกกิริยาที่การแสดงออก” กิริยาคือคำพูด ๑ คำก็อาบัติตัวหนึ่ง กิริยาที่แสดงออกขนาดไหนน่ะ แอ๊กขนาดไหน นั่นน่ะ ปรับอาบัติทั้งนั้นน่ะ! ปรับอาบัติหมด

“แต่! แต่ใคร ถ้าอดนอนผ่อนอาหารเพื่อเป็นอุบายวิธีการเพื่อจะชำระกิเลส เราตถาคตอนุญาต” เพราะเวลาอดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้น่ะ อดไปเฉยๆ อดไปโดยไม่มีปัญญา อดไปโดยไม่มีเหตุมีผล แต่ขณะที่มีปัญญาขึ้นมาแล้วนะ การอดอาหารก็เท่ากับเราก็หิวด้วย กิเลสมันก็เป็นเรา สรรพสิ่งมันก็เป็นเรา ถ้าเราหิว เราหิว เรากระหายด้วย เราก็ทุกข์ยากไปด้วย นี่อดนอนผ่อนอาหารเพื่อการชำระกิเลส การขัดเกลา การทำให้กิเลสยุบยอบอ่อนตัวลง มันไม่ใช่การชำระกิเลส แต่ก็ทำให้กิเลสมันเบาลง ให้เรามีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ ให้โอกาสเรา จิตใจเราให้เข้มแข็งขึ้นมา ถ้าจิตใจเรามันได้เข้มแข็ง มันไม่ได้มีการกระทำเลย.. แล้วล้มลุกคลุกคลาน กลิ้งกันไปอยู่อย่างนั้นน่ะ กระเสือกกระสนกันไปจนไม่มีทางออกกันเลย มันจะไปไหนกันน่ะ

ทีนี้ถ้ามันจะเอาความจริงขึ้นมา เพราะเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราถึงมาบวช บวชแล้วเราเป็นนักรบ เราต้องเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเราใช่ไหม ถ้าเอาใจไว้ในอำนาจของเรา นี่การแก้จิต.. การแก้จิตแก้ยากมากนะ

เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดประจำ “แก้จิตนี้แก้ยากมากนะ ให้ปฏิบัติมา ให้พยายาม เราทำขึ้นมาให้มีเหตุมีผลขึ้นมา ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ.. การแก้จิตนี้แก้ยากมากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ” แล้วแก้อย่างไร? แล้วแก้อย่างไร? จะแก้จิต จะแก้กิเลสหรือจะเพิ่มกิเลส ถ้าแก้กิเลส เราก็ต้องชนะใจเรา เราจะต้องดูแลใจเรา

เราแก้จิต.. เราแก้จิต.. เราไม่ใช่ให้กิเลสมันมาแก้ ถ้ากิเลสมันมาแก้ กิเลสมันก็เปิดหมดน่ะ สิ่งใดที่เป็นข้อวัตรปฏิบัติ มันบอกว่า “สิ่งนั้นไม่จำเป็นๆ”...มันเปิดหมด! พอมันเปิดหมดมันไปไหน? มันก็เปิดช่องทางให้มันออกหมดน่ะ

แต่ถ้าแก้จิตล่ะ ถ้าแก้จิต เราก็ต้องมีข้อวัตรปฏิบัติของเรา เราต้องมีกติกาของเรา อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ แล้วทำแล้วทำให้กิเลสมันจองหองพองขน กิเลสมันตัวอ้วนๆ ขึ้นมา เราจะบั่นทอนมันอย่างไร นี่การแก้จิต

การแก้จิตแก้ยาก ทีนี้การแก้ยาก ดูสิ แล้วจิตเรามาจากไหน เอาอะไรไปแก้มัน เวลาจะจับเสือ เวลาจะไปดูเสือก็ไปดูเสือที่เขาดิน “โอ้.. นี่ก็เสือโคร่ง นู่นก็เสือดาว อ้าว.. ก็เสือมันอยู่ในกรง” เสืออยู่ในกรงมันเสือของใคร? เสืออยู่ในกรงมันก็เสือของทางรัฐบาลเขา แล้วกิเลสของเราล่ะ แล้วเสือของเราล่ะ เวลาจะไปดูเสือก็ไปดูเสือในกรง เวลาจะศึกษาธรรมะก็ “นั่นก็กิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นกิเลส” ไปดูเสือในกรงน่ะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจับเสือขังไว้ให้เอ็งดูว่า “นี่เห็นไหม กิเลสเป็นอย่างนี้.. อย่างนี้.. อย่างนี้.. อย่างนี้” เราก็ไปดูเสือในกรงกันไง “อ้อ.. นั่นก็กิเลส นี่ก็กิเลส แต่เวลามันเกิดในใจนี่ไม่เห็นน่ะ” เวลาเสือในป่าไม่รู้จักมัน หามันไม่เจอ แต่เวลาไปดูเสือ ไปดูเสือในกรงกันนะ เปิดตู้พระไตรปิฎก “นู่นก็กิเลส นี่ก็กิเลส ทำอย่างนั้นก็ผิด ทำอย่างนั้นก็ไม่ดี”...แต่ทำ.. ทำ..

นี่ไง การแก้จิต เราต้องแก้ของเรา ถ้าเราไม่ได้แก้ของเรานะ กิเลสมันพาเราแก้ เราก็แก้ทุกแก้ยากกันไปอย่างนั้นน่ะ.. ยิ่งทำนะ.. เวลาเป็นโรคภัยไข้เจ็บ เขาห่วงนักห่วงหนา การติดเชื้อน่ะ ไอ้นี่เชื้อโรคน่ะ ถมเข้าไป “นู่นก็ไม่เป็นไร นี่ก็ไม่เป็นไร” ถมเข้าไป.. ถมเข้าไป.. นี่ถ้ามันเป็นเชื้อโรคนะ ถึงเวลาแล้ว ถ้ามันติดเชื้อมันก็ตายหมดน่ะ

แต่จิตนี้มันไม่เคยตายไง กิเลสมันยังบีบบี้สีไฟ มันจะเหยียบย่ำขนาดไหนมันก็ทุกข์ยากของมัน ทุกข์ยากขนาดไหนมันก็ไม่เคยตาย ถึงที่สุดนะ คอตกขนาดไหน เดี๋ยวก็ฟื้นขึ้นมา เดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ร้าย อยู่อย่างนั้น มันไม่เคยตาย แต่คำว่าไม่เคยตายนี่ตัวจิตนะ แต่ตัวกรรมล่ะ ตัววิบากล่ะ สิ่งที่สร้างมาก็ทำให้มันเศร้าหมองไป ทำให้มันทุกข์ยากไป แล้วเราก็พยายามจะทำให้มันใสสะอาดอยู่นี่ พยายามจะต่อสู้กับมัน นี่การแก้จิต

การแก้จิตมันก็ต้องมีข้อวัตรของมัน มันต้องมีความขยันหมั่นเพียรของมัน การแก้จิตแก้ยากนะ การแก้ยาก จิตนี้มาจากไหนเราก็ไม่รู้จักมัน “มืดแปดด้าน” เกิดมาเป็นเรา เป็นเราก็เพราะพ่อแม่ตั้งให้ มันก็อยู่ที่ทะเบียนบ้าน ทะเบียนบ้านก็ชื่อนายนั้นๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ แต่มันมาจากไหน นี่มันเป็นสมมุติบัญญัตินะ ถ้าไม่เป็นสมมุติบัญญัติขึ้นมาก็ไม่รู้ พ่อแม่ไม่บอกว่าเกิดวันไหนก็ไม่รู้ นี่ไง เวลาเด็กอนาถานะ ไม่มีใบเกิด ไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่มีสิทธิเป็นชนชาติใดๆ เลย เห็นไหม ไม่มีสัญชาติ นี่พ่อแม่ไม่มี พอพ่อแม่ไม่มี เริ่มต้นจากไม่มีมา มันก็เร่ร่อนมาตลอดเลย แล้วทุกข์ยากมาก นี่ของเราพ่อแม่มี พ่อแม่เราเป็นคนบอกมา พ่อแม่เป็นคนจดทะเบียนไว้ให้ เกิดเมื่อไร พ่อแม่ทำให้หมดเลย เราไม่รู้หรอก

จิตก็เหมือนกัน มันมาจากไหน มันมาอยู่นี่มันมาจากไหน แต่มันมาขนาดไหน มันก็มีวาสนาของมัน เราได้บวชนะ คน เห็นไหม ดูสิ มีคนเยอะมากที่ว่าอยากบวชๆ แล้วเขาไม่ได้บวช เขาอยากบวชเขาไม่ได้บวช เพราะเขามีความจำเป็นของเขา เราได้บวช จะได้บวชได้มากได้น้อยก็แล้วแต่ นี่เป็นโอกาสของเรา เราเกิดมา ดูสิ เวลาประเพณีของคนจีนเขานะ เขาเรียกเทียมเต็ง คือว่าเติมน้ำมันตะเกียงไง น้ำมันตะเกียงเขาจุดไฟ เขาจะไปเติมน้ำมันตลอด ใครไปเติมน้ำมัน คนนั้นก็ทำบุญๆ นั่นก็ความเชื่อของเขา เขาเติมน้ำมันขึ้นมา น้ำมันมันก็มีไฟตลอดไปนะ นี่มันจุดไฟตลอด เขาเติมน้ำมันของเขาที่ศาลเจ้า เขาไปเติมตลอดน่ะ

ไอ้นี่จิตของเราก็เหมือนกัน เราได้มาทำบุญกุศลของเรา เราได้เติม! เติมคุณงามความดีให้มัน เติมความดีให้จิตของเรา ทั้งๆ ที่กิเลสออกมาจากจิตนี่แหละ จิตเป็นคนคิดขึ้นมา จิตเป็นคนแรงปรารถนาขึ้นมา แล้วทำบุญกุศลขึ้นมาก็ทำเพื่อมันนั่นแหละ พอมันได้ทำขึ้นมา ได้สร้างบุญกุศลขึ้นมา ให้มันเกิดก็เกิดพอมีลมหายใจ มีความสะดวกสบายบ้าง

ถ้ามีความสะดวกสบายบ้างนะ คำว่า “สะดวกสบายบ้าง” เพราะมันไม่มีความสบายจริง ไม่มีความสบายจริงนะ ดูสิ คนเฒ่าคนแก่ ลุกก็โอย ปวดก็โอย เรายังไม่เจ็บไข้ได้ป่วย คนแก่ๆ นี่นะ เขาอยากตาย เขาอยากตายเพราะเขาบอกว่าเขาเบื่อ.. ก็มันไปหน้าก็ไม่ได้ ไปหลังก็ไม่ได้ มันเซ็ง มันอยากไปๆ สักที แล้วก็ไม่เห็นตายสักทีน่ะ เวลาคนที่เขาเบื่อหน่ายนะ คนแก่คนเฒ่าเขาก็เบื่อหน่ายของเขา

แต่ถ้าคนเขามีสตินะ นี่การเบื่อหน่าย ทำไมถึงเบื่อหน่ายล่ะ เบื่อหน่ายเพราะเขาไม่ได้แก้จิตของเขา เขาไม่รู้จักจิตของเขา เขาไม่มีต้นสายปลายเหตุ แต่ถ้าเราเป็นนักปฏิบัตินะ จะคนเฒ่าคนแก่ใช่ไหม เราก็นึกพุทโธ นึกพุทโธของเรา นึกพุทโธไปเรื่อยๆ พอจิตมัน.. พอพุทโธๆๆ ไป ถ้าจิตมันเริ่มสงบลงนะ คนแก่ก็มีคุณค่านะ คนแก่ก็มีคุณค่า คุณค่าเพราะอะไร เพราะจิตมันสงบ พอจิตสงบ มันรู้มันเห็นน่ะ ไม่ต้องบอก

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบอก “เวลาเราเป็นอะไรขึ้นมา ถ้ามันจวนเจียนขึ้นมา ไม่ต้องมีใครมาจับตัวเรานะ ไม่ต้องมีใครมาบอกพุทโธกับเรา ไม่ต้องให้มีใครมาเตือนนะ ไม่ต้องเข้ามาใกล้ เราจะไปของเราเอง เราจะไปของเรา ใครอย่ามายุ่งกับเรานะ ใครอย่ามายุ่งกับเรานะ”

ดูสิ เวลาคนที่เขารู้หลักรู้เกณฑ์ของเขา เขารู้อยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร แต่เวลาคนเฒ่าคนแก่ เวลาจิตของเขา เขาไม่มีหลักมีเกณฑ์ของเขา เขาก็เบื่อหน่าย เขาก็ไปหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่เป็น เบื่อหน่ายมาก! เบื่อหน่ายมาก! เบื่อหน่ายก็ไปไม่ได้ เบื่อหน่ายก็คือเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายก็อยู่กับเบื่อหน่ายนั่นน่ะ แต่ถ้ามันพุทโธๆๆ ขึ้นมา ถ้าจิตมันเริ่มนะ มันเริ่ม มันมีปัญญาของมัน มันมีความสดชื่นของมัน มันจะเห็นคุณค่าของใจขึ้นมาทันทีเลย คุณค่าที่ว่าเบื่อหน่ายๆ อยู่นี่

เวลามันสลัดความเบื่อหน่ายออกไป ทำไมจิตใจมันโล่งมันโถงนะ โอ้โฮ! คือว่าความสุขไปหาที่อื่นไม่ได้ ความสุข ความพอใจ นี่ทั้งชีวิตนะ ชีวิตมีชีวิตหนึ่ง เราทำหน้าที่การงานมาจนแก่จนเฒ่า พอคนแก่เฒ่าขึ้นมา เราก็อยากจะมีที่พึ่ง เราก็ศึกษาธรรมวินัย ศึกษามาทั้งหมด ไปดูเสือในกรงทั้งนั้นน่ะ เสือของคนอื่น ไปดูสัตว์ในกรง ไปดูสัตว์ของคนอื่น.. ศีล สมาธิ ปัญญา กิเลสตัณหาทะยานอยาก โลกอะไรต่างๆ มันอยู่ในกรง มันอยู่ในสวนสัตว์ทั้งนั้นน่ะ มันอยู่ในพระไตรปิฎก

แต่ของเรามันไม่เคยเห็นมันก็ไม่รู้รสชาตินะ แล้วพอพุทโธๆ พอจิตมันสงบ มันมีรสชาติขึ้นมาใช่ไหม โอ้โฮ.. พอรสชาติขึ้นมาน่ะ คอตกนะ ทำไมชีวิตเราทั้งชีวิต ปล่อยให้มันสูญเปล่ามาขนาดนี้ เกิดมาจนจะแก่จะเฒ่า จะสิ้นชีวิตอยู่แล้ว ยังมาเบื่อหน่ายอยู่นี่ ถ้ามันพุทโธๆ จนจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมานะ โอ๋ย.. มันมีความสุข.. ชีวิตทั้งชีวิตที่ทำมานี่ มันก็มีรสชาติของมัน เห็นไหม ประสบความสำเร็จทำต่างๆ ขึ้นมาในโลกเขา เขาประกอบสัมมาอาชีวะกัน เขาก็มีสุขมีทุกข์ของเขานั่นแหละ มันก็รสชาติหนึ่ง

เวลาจิตมันสงบขึ้นมา มันเป็นอีกรสชาติหนึ่ง “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” นี่แก้จิต ถ้าคนฉลาดเขาแก้ของเขา เขาทำของเขาได้ พอจิตมันมีเหตุมีผลขึ้นมา มันก็รู้จริงของมันขึ้นมา พอรู้จริงขึ้นมา นี่ไง ปัจจัตตัง ใครจะบอก? ใครจะมาบอก? เวลาเบื่อหน่ายๆ จิตเบื่อหน่ายมันก็หัวทิ่มบ่ออยู่นี่ เวลามันสงบระงับขึ้นมา มันใสกระจ่างมันขึ้นมานี่ ใครบอก? พอใครบอกขึ้นมามันก็เป็นความจริงของมันขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา นี่ไง นี่แก้จิตๆ นี่ใครเป็นคนแก้? ก็จิตมันแก้ของมัน ถ้าจิตมันจะแก้ของมัน แล้วจิตเอาอะไรมาแก้มัน? มันก็สติปัญญา มันมีสติของมัน สติปัญญามันตั้งขึ้นมา มันรวมตัวขึ้นมา

อากาศ เห็นไหม ดูสิ อากาศ สุญญากาศต่างๆ เขาใช้ประโยชน์อะไรมัน จิตของเรามันมีคุณค่าของมัน แต่เราไม่รู้จักมัน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้จัก นี่ไง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นี่พอตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เสวยวิมุตติสุข..

เพราะถ้าตรัสรู้ ไม่มีเหตุมีผล มันตรัสรู้ได้อย่างไร? คนจะตรัสรู้มันต้องมีเหตุสิ!

เหตุน่ะ ศีล สมาธิ ปัญญา ทำอย่างไรมันถึงตรัสรู้ แล้วพอตรัสรู้แล้ว ด้วยเหตุ-วิธีการอันนั้นน่ะ ที่มาสอนพวกเราอยู่นี่ ว่าเหตุ-วิธีการที่เราทำกันอยู่นี่ไง แล้วคนเบื่อหน่าย คนสิ้นหวังน่ะ มันสิ้นหวัง มันคอตก แล้วมีสติปัญญาขึ้นมา มันพุทโธๆ โดยสิ้นหวัง มันสิ้นหวังแล้ว ไม่รู้มันจะไปไหนแล้ว ก็พุทโธมันเถอะ เพราะมันไม่มีทางไปแล้วพุทโธๆๆ แล้วพุทโธแล้วมันสงบ พอสงบเข้ามา นี่มันสิ้นหวังไง พอสิ้นหวัง แต่มันเป็นจริงขึ้นมา พอเป็นจริงขึ้นมา นี่มันเป็นอะไรขึ้นมาล่ะ

สิ้นหวังหรือสมหวัง นี่สมุทัย ตัณหา-วิภวตัณหา ความอยากให้เป็นก็ไม่เป็น ไม่อยากให้เป็นมันก็จะเป็น เอ้อ.. ไม่อยากให้เป็นมันก็เป็นอย่างนั้น เวลาอยากให้มันเป็นมันก็ไม่เป็นน่ะ นี่ทำเพราะความอยากและความไม่อยาก มันก็ทุกข์อยู่อย่างนั้นน่ะ แต่คนมันสิ้นหวัง มันปล่อยหมดไง พอปล่อยหมด พุทโธโดยสัจจะ โดยข้อเท็จจริง ถ้ามันสงบเข้ามานะ.. นี่แก้จิต

พอจิตมันรู้มันเห็นนะ มันมหัศจรรย์ของมันนะ จิตมหัศจรรย์ของมัน สิ่งที่มหัศจรรย์นะ สิ่งนี้เป็นสัจจะ สิ่งนี้เป็นความจริง ความจริงมันจะเกิดจากความจริงขึ้นมา ถ้าจิตเป็นความจริงขึ้นมามันก็สงบระงับมันขึ้นมา พอจิตสงบระงับขึ้นมา มันแก้ไขของมัน จิตที่มาที่ไปเราก็ไม่รู้มันว่า “จิตมันมาจากไหน?” เวลามันเป็นจริงขึ้นมา เราถึงรู้ว่าเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งที่เรารู้เราเห็นกันอยู่ในสมมุติบัญญัตินี้ มันมาจากการบริหารจัดการของโลกเขา

โลกเขา ดูสิ ทะเบียนต่างๆ การบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร เขาจัดการของเขา เขามีข้อมูลข่าวสารไว้บริหารจัดการ มนุษย์เป็นทรัพยากรมนุษย์ ก็เป็นส่วนหนึ่งให้เขาจัดการบริหาร ทีนี้เขาจัดการบริหาร เวลาเกิดขึ้นมาก็จดทะเบียน เวลาตายขึ้นมาก็จำหน่ายออกไป ก็บริหารก็แค่นั้น แต่เราบริหารใจของเรา สิทธิของเรา เขาบริหาร เขาคุมที่ทะเบียน เขาคุมที่ข้อมูลข่าวสาร เขาไม่ได้คุมตัวเรา เขาคุมตัวเราไม่ได้ เขาแก้ไขให้เราดี-เราชั่วไม่ได้ แต่เขาเอาข้อมูลของเราไปหาประโยชน์ได้ นี่เราจะแก้ไขของเรา เราก็ต้องแก้ไขตัวเราเอง ถ้าแก้ไขตัวเราเอง สิ่งที่เราแก้ไขตัวเราเอง มันก็ต้องตั้งสติขึ้นมา นี่แก้จิตๆ พอแก้จิต นี่ภาคปฏิบัติเขาแก้กันอย่างนี้ เขาแก้กันที่จิตนั้นเลย นี่จิตแก้จิต

ถ้าแก้จิต มันแก้ด้วยอะไร? แก้ด้วยวิธีการ วิธีการ.. ตั้งสติขึ้นมา พอตั้งขึ้นมา กำหนดพุทโธขึ้นมา ถ้าไม่มีวิธีการแล้วจะแก้อย่างไร มันจะเริ่มต้นกันอย่างไร นี่พอเริ่มต้น เขาบอกสิ่งนี้เป็นความทุกข์ แล้วเวลาเกิดเป็นทุกข์ทำไมไม่พูด เวลาเกิดมาเป็นทุกข์ เวลาบวชนี่ก็เป็นทุกข์ นั่งอยู่นี่ก็เป็นทุกข์ นั่งอยู่นี่ เดี๋ยวลุกก็จะทุกข์อีกแล้ว ไปไหนก็ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ในเมื่อมันมีมันอยู่มันจะไม่ทุกข์ได้อย่างไร ในเมื่อชีวิตนี้มีอยู่ สรรพสิ่งนั้นมีอยู่ ของมันมีอยู่ สิ่งที่มีอยู่..

เรามีหูมีตานะ เราสู้ อยู่กับความจริง จริงตามสมมุติ เราเกิดมามันต้องมีความจริงสิ มันต้องมีที่มาที่ไปสิ สิ่งใดก็แล้วแต่ มันต้องมีที่มาที่ไป เหตุและผลรวมลงเป็นธรรม ธรรมมันต้องมีเริ่มต้น ท่ามกลาง และที่สุด เวลาแสดงธรรม แสดงทั้งเริ่มต้น ท่ามกลาง และที่สุด ไม่เสียดสี ไม่ดูหมิ่นดูแคลนใคร ไม่เสียดสีใคร แต่เสียดสีกิเลส กิเลสในหัวใจของคนน่ะ ไม่ได้ว่าคน...ว่ากิเลสของคน กิเลสไง เพราะกิเลสมันหน้าหนา มันบังเงา มันหาอยู่หากินบนใจของสัตว์โลก

เวลาเริ่มต้น ท่ามกลาง และที่สุด พอที่สุดขึ้นมา เรารื้อค้นของเรา นี่เริ่มต้น ท่ามกลาง และที่สุด เวลาเกิดมันผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะคือผลของกรรม ผลของวิบาก มันเป็นไปด้วยวิบาก เรารับรู้ที่ปลายเหตุหมดเลย ทีนี้พอเราจะแก้ไขของเรา เราจะแก้จิตของเรา เราจะเริ่มต้นเข้าไปสู่ที่ต้นเหตุ ถ้าเข้าไปสู่ที่ต้นเหตุ เราก็ทำความสงบของใจของเราเข้ามาด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ ด้วยวิธีการหลากหลายที่คนมีความสามารถที่จะทำได้ นี่มีความสามารถทำได้

สัทธาจริต พุทธจริต จริตของคนมันแตกต่างกัน ถ้าพุทธจริต คือจริตที่มีปัญญา เราแก้ไขของเรา ทีนี้พุทธจริตคือปัญญาชน ปัญญาชนเราจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราแก้ไขของเราอย่างไร ถ้าเราแก้ไขของเรา เรามีปัญญาของเรา เราไล่เข้ามาด้วยสติปัญญาของเรา ถึงที่สุดของความรู้สึกนึกคิด มันก็จะสงบลงไปเป็นธรรมดา ทีนี้ธรรมดา คำว่า “สงบแล้ว” สงบมาก-สงบน้อย คำว่า “สงบ” นะ ไม่ใช่ว่า “สบายๆ สงบๆ” สบายๆ สงบๆ จริงๆ แต่สงบแล้วรากฐานมันพอไหม

การทำงาน การทำสิ่งต่างๆ มันต้องมีพื้นฐาน พื้นฐานของคนนี่นะ มันไม่มีเลย พื้นฐานของคนนี่ว่างเปล่า กลวงอย่างนี้ แล้วพอเปรียบเทียบโดยพื้นฐานของโลก มันเพราะคนเรามันมีหมวกอยู่ ๒ ใบ ใบหนึ่งคือเกิดมาโดยสามัญสำนึก โดยเกิดมาเป็นมนุษย์ มันมีของมันอยู่แล้ว เวลามันทุกข์ มันก็ทุกข์เจียนเป็นเจียนตาย เวลามันสุขมันก็สุขแบบโลก คึกคะนองอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่เวลามันเป็นหมวกอีกใบหนึ่งคือธรรม ธรรมนี่นะ ถ้าพูดถึง ถ้าสมาธิ.. ศีล สมาธิ ปัญญา มันเกิดขึ้นสมดุลของมัน มันจะเกิดปัญญาของมัน ถ้ามันไม่เกิดปัญญาของมัน เพราะศีล สมาธิ ปัญญาของมัน ศีล สมาธิ ไม่สมดุลของมัน ปัญญามันไม่เกิด มันเกิดแต่ปัญญาโลกๆ

ฉะนั้น หมวกใบหนึ่งที่เราเป็นสามัญสำนึกที่เป็นมนุษย์ มันมีของมันอยู่แล้ว ฉะนั้น เวลาปัญญามันเกิด ปัญญาที่เราว่าเราเกิด เห็นไหม นี่มันไม่ใช่การแก้จิต นี่มันทับถมจิต มันทับถมด้วยสามัญสำนึก ด้วยปัญญาของเรา ด้วยโลกียปัญญา แต่ด้วย.. เขาบอกว่า “ไม่รู้จักเสือ”

“โอ้.. ชอบ.. เพิ่งไปดูมาเมื่อกี้นี่ ในสวนสัตว์น่ะ แหม.. เสือโคร่งเขี้ยวเบ้อเริ่มเลย”

“ไม่รู้จักเสือ”

“เสือดาว.. โอ๋ย.. เสือดาวก็เห็นมาเมื่อกี้ อยู่ในสวนสัตว์น่ะ ยิ่งช้าง โอ้โฮ.. งานี่งอนเลย”

นี่ไง เพราะอะไร เพราะมันอยู่ในพระไตรปิฎกไง

“ไม่รู้จักเสือ”

“โธ่.. ก็เพิ่งดูมาเมื่อกี้”

นี่บอก “ไม่ใช้ปัญญา”

“อ้าว.. ไม่ปัญญา.. อ้าว.. คิดมาเมื่อกี้นี้เอง เมื่อกี้ปัญญาตั้งกี่รอบ โอ้โฮ.. คิด แหม.. เพริดแพร้วเลย ว่าง โอ้โฮ.. มีความสุขมาก”

ไปดูเสือสวนสัตว์มา.. ไอ้เสือในใจ ความโลภ ความโกรธ ความหลงน่ะ นันทิราคะมันขี่หัวอยู่ เราไม่เห็น พอไม่เห็นขึ้นมา เอาอะไรไปสู้มันน่ะ สิ่งที่เอาอะไรไปสู้มัน มันยังไม่รู้จักมันเลย ในเมื่อมันยังขี่หัวอยู่ ยังเห็นตัวมันไม่ได้ แต่เวลาเห็นเสือก็ไปเห็นเสือในสวนสัตว์นะ โอ้โฮ.. เขาขังไว้เป็นกรงๆๆ เลย “แหม.. พระไตรปิฎก แหม.. สุดยอดเลย พระไตรปิฎกนั้นน่ะ นู่นก็เป็นกิเลส อันนู้นก็เป็นกิเลส โอ้.. ตอนนี้เป็นความว่าง”

นี่ไง หมวก ๒ ใบ ใบหนึ่งคือสามัญสำนึก คือความเป็นสมมุติบัญญัติ เราอยู่กับสมมุติบัญญัติเพราะเราเกิดมาเป็นคน พอมาเกิดเป็นคนขึ้นมา เราก็ศึกษามา พอศึกษามา โอ้โฮ.. เป็นหมดเลย “นี่เสือโคร่ง ไอ้นี่เสือดาว โอ้.. ไอ้นี่ช้าง”

รู้ไปหมด! แต่ไม่เคยเห็นจริงเลย นี่อย่างนี้ ถ้าอย่างนี้ นี่โดยสามัญสำนึก หมวกอีกใบหนึ่ง มันเลยบังไว้ไง แล้วเราจะแก้จิตของเราน่ะ.. การแก้จิตแก้ยากมากนะ จะพูดอย่างไรให้เข้าใจได้ว่าอันหนึ่ง ปัญญานี่มันมีอยู่แล้ว ปัญญานี่มันมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไปกระตุ้นมัน มันก็ออกมา แต่ภาวนามยปัญญา มันมีอยู่แล้วได้อย่างใด ถ้าสมาธิมันไม่มี ปัญญาที่จะเกิดขึ้นมา ที่มันจะทะลุทะลวงกิเลสน่ะ มันเอามาจากไหน ฉะนั้น มันไม่มีกิเลสที่มันทะลุทะลวงทำลายสมุทัย มันจะเกิดความจริงขึ้นมาได้อย่างใด เพราะพอมันไม่เกิดความจริงขึ้นมา มันเป็นการแก้จิตไหมล่ะ มันไม่เป็นการแก้จิตไง นี่แก้จิตมันแก้ยาก แก้ยากอย่างนี้ไง

แก้ยากที่ว่ามันไม่ใช่แก้อย่างที่เรารู้สึกนึกคิดกันนี่หรอก มันไม่ได้แก้ด้วยที่ว่าเราคิดว่าเราจะแก้กันนี่หรอก เราคิดว่าเราจะแก้น่ะ ไม่ได้แก้เลย เราคิดว่าจะแก้ เราทับถม เราย่ำยีมันทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเราจะแก้นะ เราต้องมีครูบาอาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์ท่านได้ผ่านมา การผ่านมานะ นี่สมาธิ ดูสิ มันเปรียบเหมือนน้ำ น้ำ สภาวะน้ำเสีย น้ำที่เวลาเขาบำบัดแล้วปานกลาง ที่มันยังใช้การไม่ได้ กับน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ มันแตกต่างกันอย่างใด

จิต.. จิตเวลาเข้าสมาธิน่ะ สมาธิมาก-สมาธิน้อย มันพูดมันก็รู้ได้ ทีนี้คำว่า “สมาธิ” คือการพักผ่อน น้ำ.. มันเป็นต้นทุนนะ คนเรานะ อดอาหารนี่ไม่ตาย กี่วันน่ะ ๗ วัน ๘ วัน อยู่ได้ อดน้ำนี่วันหนึ่งอยู่รอดไหม น้ำนะ อดน้ำไม่ได้ เวลาเขาอดอาหารกันน่ะ อดอาหาร แต่เขาไม่ได้อดน้ำหรอก นี่เหมือนกัน สิ่งต่างๆ อย่างนี้ สิ่งที่มันมีน้ำขึ้นมาก็เพื่อดำรงเท่านั้นเอง ดำรงชีวิตเพื่อเอามาเป็นประโยชน์กับการดำรงชีวิตอยู่ ถ้าการดำรงชีวิตอยู่ แล้วถ้าจิตมันเป็นสมาธิ สมาธิมันเป็นอย่างใด

สมาธิมันต้องมีของมัน มันต้องมีความสงบระงับของมัน ถ้าสมาธิมันสงบระงับขึ้นมา มันจะมีความสุข ความสุขพออยู่พอกิน คำว่า “พออยู่พอกิน” คือ.. ดูสิ เครื่องยนต์ เราดูแต่น้ำมัน แต่เราไม่ได้ดูว่าน้ำมันหล่อลื่น เราดูแต่น้ำมันที่ใช้พลังงานของมัน เห็นไหม ดีเซล น้ำมันเบนซินต่างๆ น้ำมันหมดเราก็เติมน้ำมันๆ กัน แต่ถ้าน้ำมันเครื่องเราไม่ได้ดูน่ะ.. หมดนะ ฉะนั้น สิ่งที่หล่อลื่น หล่อลื่นอยู่ในตัวของเรา ความสุข-ความสงบระงับ มันหล่อลื่นให้หัวใจเรามันอยู่สุขอยู่สบายของมัน นี่อยู่สบายของมันเท่านั้น ถ้าเครื่องยนต์มันเคลื่อนไหวไปมา เครื่องยนต์ที่มันมีน้ำมันหล่อลื่นอยู่แล้ว เราเติมน้ำมันสิ่งใดเข้าไป เราใช้ประโยชน์กับมัน

นี่ก็เหมือนกัน จิต ถ้ามันมีสมาธิของมัน เครื่องยนต์ของเราไม่ขัดข้อง เครื่องยนต์ของเรามันสะดวกสบายของมัน ถ้ามันใช้ปัญญาล่ะ นี่การใช้ปัญญา ปัญญาเพื่อชำระกิเลส เราจะทึ่งนะ เราจะตื่นเต้น เราจะเห็นคุณงามความดีของเรา

โลกเขา เขาหาทรัพย์สมบัติของเขามาเพื่อดำรงชีวิตของเขา ครอบครัวของใคร ผู้นำครอบครัวใด เขาจะหาทรัพย์สมบัติของเขา เพื่อให้ครอบครัวเขามั่นคง

หัวใจของเรา เราเป็นพระ เราเป็นนักบวช เราจะมีสมบัติของเราคือศีลธรรม เราจะมีสติ เราจะมีสมาธิ เราจะมีปัญญาของเรา ถ้าเราจะมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาของเรานะ ชีวิตของเราจะไม่เร่ร่อน จะมีหลักมีเกณฑ์ของเรา นี่เราเป็นพระ เราเป็นนักบวช ถ้าเราเป็นนักบวช ดูสิ สังคมเขาต้องการบุญกุศลจากเรา เขาต้องการบุญกุศลจากนักรบ เราจะต้องมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์นะ เราพยายามแก้ไขใจของเรา

จิตนี้เราจะแก้ ถ้าเราจะแก้จิตนะ งานแก้จิตน่ะ มันอาศัยสภาวะแวดล้อม อาศัยเรื่องข้อวัตร เพราะว่าข้อวัตรนี่มันเป็นกติกาสังคม เห็นไหม วัตรปฏิบัติ ถ้าเรามีวัตรปฏิบัตินะ..

เขาว่า “แก้จิตๆ ไปแก้กันที่ไหน?”

“ถ้าแก้จิต เอ็งก็แก้จิต ข้าก็แก้จิต” แต่ต่างคนต่างแก้นะ พอต่างคนต่างแก้ ต่างคนต่างพอใจนะ ต่างคนก็ต่างทำ.. ลงเรือลำเดียวกันนะ แต่พายไปคนละทาง แล้วเรือมันจะไปไหม ลงเรือลำเดียวกัน นั่งหันหลังชนกัน แล้วก็พายไปคนละทาง แล้วเรือมันจะไปอย่างไร แต่ถ้าเรานั่งไปทางเดียวกัน เราพายเรือลำเดียวกัน เรือนั้น ด้วยฝีพาย.. สังฆะ พระสงฆ์ในวัดนั้นช่วยกันจ้ำ ช่วยกันพาย เห็นไหม ข้อวัตรปฏิบัติมันก็จะไปถึงเป้าหมาย ถึงฝั่งได้ไว

คำว่า “ถึงเป้าหมาย” คือทำข้อวัตรปฏิบัติให้จบไปวันหนึ่งๆ พอจบแล้ว เราก็มีเวลาของเรา นี่เราพายเรือไปถึงเป้าหมายแล้ว เราขึ้นจากเรือ เราก็หาที่สงบระงับของเรา เราทำข้อวัตรเสร็จแล้วเราก็กลับกุฏิของเรา เราก็ภาวนาของเรา เห็นไหม ข้อวัตรมันก็เป็นการวัดใจเรา วัดใจเราให้เราอยู่ในสังคมนั้นด้วยความร่มรื่น พอความร่มรื่น เราพายเรือไปทางเดียวกัน ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็ไปภาวนา มันก็สงบระงับ

เราพายเรือกันคนละข้าง อีกข้างหนึ่ง ทั้งหัวเรือทั้ง ๒ ฝั่ง ต่างคนต่างพาย มันก็ขัดแย้งกัน พอมันขัดแย้งกันเสร็จแล้วนะ พอกลับไปภาวนานะ พอขัดแย้งมันก็ถูลู่ถูกังไปใช่ไหม พอเรือไปถึงฝั่ง ถึงเป้าหมายแล้วนะ อ้าว.. ก็ไปภาวนา ต่างคนต่างก็ไปวิตกวิจารณ์นะ โอ๋ย.. ไปฟูในที่ภาวนานะ หัวใจมันเต้นอย่างกับกลองน่ะ โอ้โฮ.. ตุบตับๆ นะ มันซีเรียสไปหมดน่ะ เพราะอะไร? นี่ไม่แก้ใจ

เราแก้จิต เราแก้ใจ แก้จิตของเรา ถ้าเราแก้จิตของเรา มันฝืนทนนะ “เขาทำไมพายเรืออย่างนั้นน่ะ ทำไมเขาพายเรือ ทำไมขวางน้ำไปหมดเลยน่ะ เขาพายเรือก็ต้องพายเรือไปตามน้ำน่ะ ทำไมต้องพายเรือทวนน้ำด้วยล่ะ โอย.. พายเรือไปเลย มันต้องตัดน้ำไปสิ มันจะได้เข้าฝั่งได้ไวน่ะ ทำไมพายเรือฝ่าคลื่นไปอย่างนี้ล่ะ”

นี่เวลาทำข้อวัตรไง “นู่นก็ไม่ดี นู่นก็ไม่ดี นู่นก็ผิด นั่นก็ไม่ได้เรื่อง..” เสร็จแล้วก็ไปนั่งวิตกวิจารณ์น่ะ พอทำข้อวัตรเสร็จแล้วก็ไปนั่งปวดหัวอยู่คนเดียวน่ะ นี่ไง เราพายเรือไปคนละทางไง นี่ไง แก้จิต ถ้าเราแก้จิตนะ ถ้าหางเสือ ผู้นำเขาบังคับเรือ เรือนั้นจะผ่าคลื่นลมแรงขนาดไหน ก็จะพาเรือนั้นเข้าฝั่งได้ สภาพน้ำราบเรียบ พายเรือสะดวก เราก็จะพายเข้าฝั่งได้

พอเราเข้าฝั่งไปแล้ว นี่ฝั่ง เรือลำนั้น.. สังฆะ สังคม ความเป็นอยู่ของเรา เราอยู่ร่วมกัน นี่แก้จิตๆ คือมันดัดแปลงมาตั้งแต่เราตลอดน่ะ ไม่ได้ดั่งใจหรอก “อยากทำอย่างนั้นก่อน อยากทำอย่างนี้ก่อน ไอ้นี่ก็ทำอย่างนู้น ไอ้นี่ก็ทำอย่างนี้” นี่มันก็พายเรือกันคนละทางๆ แต่ถ้าเรือ.. มันก็มี เรือชนิดใด เขาใช้คนมากน้อยแค่ไหน นี่ก็เหมือนกัน วัด เห็นไหม เวลาพระเยอะ-พระน้อย เวลาสิ่งนั้นมีมาก-มีน้อย เราทำ นี่แก้จิต ถ้าเรายินดีแก้ มันก็จะแก้ ถ้าเราไม่ยินดีแก้ นี่พูดถึงแก้โดยที่รู้สึกสำนึกนะ

แล้วเวลาหลวงปู่มั่นท่านบอก “แก้จิตมันแก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ”

เวลาภาวนาเข้าไปนะ ปวดหัวนะ เวลาภาวนาเข้าไปแล้ว นี่ครูบาอาจารย์ท่านพูดทุกองค์ นึกว่าภาวนาแล้วนะ มันจะราบรื่น เวลาธรรมะมันเกิดขึ้นมา สมาธิเกิดขึ้นมา ปัญญาเกิดขึ้นมานะ มันจะส่งเสริม มันจะไปได้ไวเลยนะ เวลาเข้าไปจริงๆ นะ “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” เวลาความคิดเกิดขึ้นมาแล้วน่ะ มันก็แช่อยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วมันจะละเอียดเข้าไปน่ะ มันก็ไม่กล้าไป

“อ้าว.. นี่ก็เป็นปัญญาแล้ว นี่ก็เป็นสมาธิ มีความสุข สงบระงับ มันจะเอาไปไหนกันอีกล่ะ ทำมาก็เพื่อความสุข นี่ก็มีความสุขแล้ว มันก็ปล่อยวาง มันก็เป็นความว่างหมดแล้วน่ะ มันก็สมบูรณ์หมดน่ะ มรรค ๘ สมบูรณ์เต็มที่เลยน่ะ โอ้โฮ.. ดียอดเยี่ยมไปหมดเลยน่ะ แล้วทำไงต่อ?”

ก็แช่กิเลสอยู่นั่นไง กิเลสมันบังเงาอยู่ มันหลอกอยู่ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์มาคอยกระตุ้น มาคอยบอกว่า “สิ่งนั้นเป็นความผิด” เราเชื่อไหม?

“อ้าว.. ก็ศีล สมาธิ ปัญญา มันพร้อมหมดน่ะ มันมีความสุขน่ะ แล้วมันจะแก้.. โอ้.. อาจารย์นี่สงสัยสติไม่ดีแล้ว โอ้โฮ.. เขาทำมาดีขนาดนี้ อาจารย์ยังบอกว่าผิดๆๆ เป็นไปได้อย่างไร”

นี่แก้จิตมันแก้ยากอย่างนี้ เวลามันติดนะ เวลาไปรู้ไปเห็นแล้วมันติดอะไรขึ้นมา มันก็ว่าของมันยอดเยี่ยมทั้งนั้นน่ะ นี่กิเลสมันขี่หัวน่ะ มันจะไปแก้ที่ไหน แต่ถ้ากาลเวลามันถึงเวลานะ จิตนี้ต้องเสื่อมแน่นอน ถึงเวลาแล้วจิตนี้ต้องเสื่อมแน่นอน ถ้ายังมีกิเลสอยู่นี่ เวลาจิตมันเริ่มเสื่อม มันแสดงตัวออกมา เราจะเข้าใจทันทีเลยนะ แล้วเราจะซาบซึ้งๆ คำว่า “ซาบซึ้ง” แล้วเราก็จะหาครูบาอาจารย์อย่างนั้น แต่ครูบาอาจารย์อย่างนั้น ในวงการปฏิบัติ เราเคารพรักกัน แต่! แต่ใจหนึ่งก็กลัว เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจไง กิเลสมันก็กลัว กิเลสมันก็โต้แย้งกันไปตลอด

นี่เวลาแก้ด้วยข้อวัตรปฏิบัติ มันแก้ด้วยความเป็นอยู่ในสังคม ถ้าสังคมมันไปด้วยกัน สังคมมันไปในทางเดียวกัน สังคม.. สัปปายะ ๔ ถ้าสัปปายะในการเกื้อหนุน มีการส่งเสริมกันในการภาวนานะ เวลาไปเข้าทางจงกรมแล้วมันไม่ค่อยมีอะไรไปขัดแย้ง เวลาขัดแย้ง ไม่ได้ขัดแย้งที่ทางจงกรมนะ มันขัดแย้งในหัวน่ะ เวลาเข้าทางจงกรมมันออกมาหมดน่ะ เรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องนี้เรื่องนั้น.. มันฟุ้งไปหมดเลย! นี่เพราะอะไร เพราะว่าไม่ได้แก้จิตไง เอาจิตจะไปแก้เขาไง เวลาถึงเวลาก็ขวางเขาไปหมดเลยน่ะ “ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนั้นน่ะ” แล้วก็ไม่ได้ดั่งใจเลยนะ แล้วใจมันก็ทุกข์ๆๆ นะ ไปทางจงกรมนะ มันก็แทบระเบิดเลย

แต่ถ้าแก้ นี่ข้อวัตรปฏิบัติ นี่ธรรมและวินัยวางไว้แล้ว มันแก้ไขแล้วมันจะดัดสันดานเราแล้ว ถ้าดัดสันดานเราน่ะ เราก็ทำตามนั้น.. ทำตามนั้น.. ทำตามนั้น.. ดัดสันดาน มันไม่พอใจหรอก! “โอ้.. อย่างนี้ต้องดีกว่า.. อย่างนี้ต้องดีกว่า” แต่ถ้าทำตามนั้นๆ ดัดมัน! ดัดมัน! มันจะเห็น “เอ้อ ไอ้ที่ดีกว่าน่ะ มันดีกิเลส มันดีเรา มันไม่ได้ดีสังฆะ ไม่ได้ดีในวัดทั้งหมดน่ะ ถ้าในวัดทั้งหมดมันดี มันจะไปพร้อมกันหมด นี่ถ้ามันพร้อมกันหมด มันดีหมด” นี่แก้จิตๆ มันดัดแปลงมันก่อน มันแก้ไขมันก่อน ข่มขี่มันไว้ก่อน

พอมันทำไปจนเป็นจริตนิสัยนะ นิสัยมันก็เป็นนิสัยของสังฆะ นิสัยของสังคม นิสัยของส่วนรวม มันก็เข้ากันได้หมด เวลาเสร็จแล้วไปเข้าทางจงกรมนะ “เอ้อ.. นู่นก็เรียบร้อยหมดแล้ว ไม่มีอะไรมากวนใจเลย เดินจงกรม” มันก็ราบรื่นง่ายไป ถ้ามันไม่มีอะไรไปกระทุ้ง ไปฟูอยู่ในทางจงกรม ทางจงกรมไม่ได้ไปทำให้ใครเดือดร้อนหรอก หัวใจน่ะมันทำให้เดือดร้อน ภาวนาไม่ได้ทำให้เดือดร้อน แล้วว่าเดือดร้อน มันคืออะไรล่ะ?

นั่นน่ะ เสือของเรา มันไม่ใช่เสือในกรงนะ เวลาดูเสือล่ะไปดูเสือในกรง โอ้โฮ.. เสือโคร่ง เสือดาวในกรงเต็มเลย เวลาเข้าทางจงกรมน่ะ เสือมันจะกินหัว มันยังไม่เห็นน่ะ เสือมันขี่หัวอยู่น่ะ เสือมันขี้รดอยู่น่ะ.. เราต้องทำของเราเอง เราต้องดูเสือของเรา จับเสือของเรานะ ให้เห็นเสือของเรา เสือที่สวนสัตว์ก็เสือของสวนสัตว์ เสือขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง กิเลสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสในธรรมวินัย ชี้บ่ง ชี้ถึงชื่อมัน แต่เราจะหาเสือของเรา เราจะหากิเลสของเรา เราจะแก้ไขกิเลสของเรา เราต้องทำของเราขึ้นมา เพื่อประโยชน์กับเรานะ

นี่พูดถึงว่าการแก้จิต แก้จิตนี่แก้ยาก แก้ยากมันต้องมีตัวอย่างไง เราเห็นแต่ทางวิชาการ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านก็นิพพานไปหมดแล้ว ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงท่านก็นิพพานไปหมดแล้ว เราเห็นแต่กิเลสกับกิเลส มันไม่ยอมรับกันหรอก กิเลส-กิเลสมันก็ชนกันอยู่แล้ว ฉะนั้น เราจะต้องแก้ไขเรา ถ้ามันไม่มีที่พึ่ง มันหมดที่พึ่ง เราต้องพึ่งเราเอง เอวัง