ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ภูมิสมาธิ

๓ ก.ย. ๒๕๕๔

 

ภูมิสมาธิ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๕๙๒. เนาะ

ถาม : ๕๙๒. เรื่อง “หนังสือจิตส่งออก”

ผมต้องการหนังสือไปแจกทาน ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร? ราคาเล่มละเท่าไร? แพงหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : ฉะนั้น หนังสือนี่เราพิมพ์แจก เพราะว่าเราอยู่กับครูบาอาจารย์มา ท่านบอกว่า

“ถ้าเราเป็นธรรม ของอย่างนี้ให้กันไม่ได้หรือ? ทำไมต้องมีการซื้อ การขาย”

ถ้าการซื้อ การขายมันก็แบบว่าเป็นทางโลก แล้วพอการซื้อ การขายไป พอเคยชินเข้าไปแล้วมันก็ต้องต่อให้ยาวขึ้น มันก็ยิ่งยุ่งกันไปใหญ่ แต่ถ้าเป็นหนังสือแจก เราพิมพ์มาแล้วแจกเท่าไร หมดแล้วก็หมดกัน แต่มันได้บุญ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไง คือเราทำด้วยความขาวสะอาด เราพิมพ์มา ๕ เล่มก็แจก ๕ เล่ม แต่เราบอกว่าเราพิมพ์มา ๕ เล่ม ๑๐ เล่มแล้วเราก็จะหมุนเวียน เราก็ต้องหาความหมุนเวียนไป นี่มันเป็นภาระไปหมด.. บุญก็ได้ การเสียสละคือได้บุญทั้งนั้นแหละ แต่มากน้อยแค่ไหนไง

ฉะนั้น หนังสือนี่ เขาบอกว่าเรื่อง “จิตส่งออก” นี่เราแจกอยู่แล้ว ถ้ามีความต้องการ ก็ให้โทรไปที่สำนักงานก็พอ แล้วเขาจะให้ได้มากได้น้อยแค่ไหนมันเป็นหนังสือแจกไง คือเรื่องของทาน เรื่องของธรรมนี่นะ รักยาวให้ตัด รักสั้นให้ต่อ คือแค่ไหนก็แค่นั้น มีความสามารถช่วยได้แค่ไหนก็แค่นั้น ไม่ต้องลากกันให้ยาวนะ ช่วยได้แค่ไหน อันนี้จะช่วยได้แค่นู้น ก็ไปกู้หนี้ยืมสิน ก็ไปเที่ยวลากคนนู้นลากคนนี้มา วุ่นวายกันไปหมดเลย

จะทำบุญนะ.. บอกว่า “ทำบุญนะ ให้ธรรมเป็นทานชนะซึ่งทั้งปวงนะ เราจะให้ธรรมเป็นทานทำไมขัดขวางกันนะ อู๋ย.. ทำดีๆ ขนาดนี้ทำไมขัดขวางกัน?”

เรามีกำลังแค่ไหนทำแล้วก็จบนะ แล้วอย่างว่านี่ ถ้าอย่างนี้บอกว่าเราต้องมีบารมี เราต้องชักนำให้คนเข้ามาทำก็ทำ.. นี่พูดถึงเรื่อง “จิตส่งออกนะ” เดี๋ยวมีอีกเล่มหนึ่ง ขอมาอื้อเลย เล่มนี้เขาบอกว่าเขาจะไปแจก ลองคุยไปที่สำนักงาน เขาให้กันอยู่ แต่ให้แบบทิ้งเหวแล้วก็จบกันไป

แล้วข้อต่อไปนี่ยกเลิก ไม่เอา เขาเขียนมาแล้วมีปัญหา

ข้อ ๕๙๔. ไม่มี

ข้อ ๕๙๕. ก็ยกเลิก

ข้อ ๕๙๖. นะ

ถาม : ๕๙๖. เรื่อง “กราบขอหนังสือ เจโตวิมุตติ กับธรรมะเก็บตก ไปแจกเป็นธรรมทาน”

(แล้วก็ระบุมาเลยนะว่าที่นั่นๆๆ)

หลวงพ่อ : ฮึ.. ไม่ เพราะว่าแจกหนังสือนี่แจกเป็นธรรม แจกเป็นธรรมคือว่าเราก็แจกกันอยู่แล้ว พอใครมาก็ให้ ใครมาก็ให้ แต่ถ้าจะให้ส่งนี่ ให้ส่งก็เป็นเฉพาะบุคคลที่ห่างไกล แต่อย่างนี้ส่งไปแล้วนี่มันเหมือนกับว่าถ้าการแจก การแจกนี่เพื่อประโยชน์ นี่เขาก็ว่าเพื่อประโยชน์ แต่คนขอไม่ใช่คนอยากได้

ขอแล้วบอกว่าให้แจกคนนู้น นี่ลิสต์รายชื่อมาเต็มไปหมดเลย.. ไม่เอา เพราะว่าพอลิสต์รายชื่อมาแล้วส่งไป ถ้าเขาไม่เข้าใจ เขาก็หาว่าคนส่งหนังสือไปนี่อยากโฆษณาตัวเอง อยากให้เขารู้จัก หลวงตาถือเรื่องนี้มาก ท่านพูดนะ เวลาอยู่กับท่าน ท่านบอกว่าจะไปไหนก็แล้วแต่ แล้วถ้ามีใครมาให้ท่านเป็นพิเศษท่านบอกไม่เอา

ท่านพูดกับพระนะ เวลาเทศน์กับพระท่านบอกไม่เอาหรอก เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเวลาเราได้สิทธิพิเศษผ่านไปแล้ว คนที่อยู่ที่นั่นเขาก็ไม่พอใจ พอผ่านไปแล้วเขาก็ถุยน้ำลายรดหลัง คืออยู่ในใจเขาไง แต่ที่เขาให้เราไปก่อน เพราะ! เพราะว่ามีคนมาขอ หรือด้วยอิทธิพลเขาก็ต้องหลีกให้ แต่ถ้าเป็นธรรมนะ ใครเดือดร้อน หรือว่าไปด้วยกันใช่ไหม? เขาไปได้เราก็ไปได้ เขาติดเราก็ติดไปด้วยกัน นี่ไปด้วยกัน

นี่ก็เหมือนกัน ขอไปแจกคนนู้น คนนี้ ขอไปแจก แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเขาต้องการหรือเขาไม่ต้องการ นี่โดยเจตนา เวลาเขาเจตนาดีใช่ไหม? หนังสือนี้ดี จะเอาไปแจกคนนู้น คนนี้ แต่เวลาโยมเขามาที่นี่ แล้วเขาถือไปแจกกัน หรือเขาถือไปฝากกันเราไม่เคยหวงเลย ใครจะเอาไปแจกกันด้วยที่เขาคุ้นเคยกัน อะไรกัน แต่นี้บอกว่าให้เราส่งไปนู่น ส่งไปนี่ ไม่ส่ง!

หนังสือแจก เห็นไหม นี่คำว่ามัชฌิมาปฏิปทา ความเป็นธรรม.. ความเป็นธรรมมันอยู่แค่ไหน? ความเป็นธรรมนะ แต่ว่าพอความเป็นธรรมนี่ โอ้โฮ.. ตอนนี้น้ำท่วมทั่วประเทศเลย ตอนนี้น้ำท่วมทั่วโลกเลย เราจะต้องไปบริหารจัดการหมดเลย แอฟริกานะเขาอดตายเป็นค่อนๆ ประเทศ แล้วเราก็ต้องไปแบกรับหมดเลย

“เกิดในประเทศอันสมควรเป็นมงคลชีวิตนะ”

เกิดในประเทศอันสมควร เกิดกับพ่อกับแม่ เกิดกับพ่อแม่ เกิดในประเทศอันสมควร พ่อแม่ที่ดี หมู่คณะที่ดี สังคมที่ดี นี่เกิดในประเทศอันสมควร ฉะนั้น เขาเกิดแล้วเขาเกิดในที่ไหน? เกิดในภูมิประเทศอะไร? เกิดต่างๆ นี่คือกรรมทั้งนั้นแหละ แล้วพอกรรมมันให้ผลแล้วนี่ เราก็ไปบอกว่าไม่ให้มีๆ เราต้องให้เสมอภาค ประชาธิปไตยเว้ยต้องเสมอภาค ต้องมีสิทธิเท่ากันเว้ย.. อันนี้ประชาธิปไตยมนุษย์คิดขึ้น แต่กรรม กรรมจัดสรร กรรมมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น เรื่องแจกหนังสือนี่เราให้เป็นธรรม เป็นธรรมคือแจกตามธรรม แต่ไม่ใช่ว่า อู้ฮู.. จะต้องแบกรับภาระแจกกันไปทั่วโลก จะต้องรับผิดชอบกันไป.. นี่เวลาคิดคิดกันได้นะ เวลาฝ่ายทำงานนะก็อยากจะทำให้มันทั่วถึง ทั่วถึงก็คือทั่วถึง แต่ว่าเวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกเลยนะ เมตตาเขาก็ต้องเมตตาตนเองด้วย ไม่ใช่เมตตาเขาจนลืมตัวเอง

นี่ก็เหมือนกัน จะแบกรับภาระโลกจนเดือดร้อนกันไปหมด แล้วคนแจกหนังสือก็มาทะเลาะกัน ให้แจกอย่างนี้ก็ไปแจกอย่างนู้น ไม่มีประโยชน์หรอก ไม่มีประโยชน์ เราทำที่เรามีความสามารถทำได้ ฉะนั้น ไม่ให้! จบ

อันนี้อันหนึ่งนะ นี่เวลาภาวนาไปแล้วมีปัญหา พอมีปัญหาขึ้นไปนี่ พูดเหมือนกันแต่ไม่ลงรายละเอียด พอลงรายละเอียดแล้วมันจะยุ่ง

ถาม : ๕๙๗. เรื่อง “กราบขออุบายในการพิจารณาเวทนา และการต่อสู้กับเวทนา”

หลวงพ่อ : อันนี้คือเจตนาดี แต่คำถามมันคาบเกี่ยวกับครูบาอาจารย์เขา อันนี้เราไม่สมควร แต่ถ้าเป็นอุบายภาวนาเราเห็นด้วยนะ นี่อ่านไปก่อนนะ แล้วเดี๋ยวตอบทีหลัง

ถาม : ๑. เมื่อปฏิบัติสมาธิภาวนาไปจนเกิดเวทนา เราจะพิจารณาเวทนาอย่างไร? และจะต่อสู้กับเวทนาได้อย่างไร จึงจะทำให้จิตปล่อยวางเวทนาได้

๒. อยากขอให้ท่านอธิบายขยายความเกี่ยวกับเรื่องมานะ ๙ ของพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี

๓. การที่มีครูบาอาจารย์ระดับสิ้นกิเลสแล้ว แล้วบอกกับลูกศิษย์ว่า “ดวงจิตของโยมขาวสะอาด ให้พยายามเร่งทำความเพียรให้มาก ปฏิบัติให้มาก ให้สม่ำเสมอ” อย่างนี้หมายความว่าท่านส่งจิตมาดูเรา และท่านสามารถมองเห็นจิตเราด้วยใช่ไหมคะ (ข้อนี้จะไม่ตอบ)

๔. กรณีอาจารย์กับลูกศิษย์ ที่ยังไม่ค่อยแน่ชัดในคุณธรรมแต่ละระดับว่าเป็นอย่างไร หลังจากท่านสมาธิแล้วท่านก็ว่าท่านสำเร็จ อย่างนี้ท่านมีเจตนาจะบอกให้ลูกศิษย์ หรือท่านบอกอะไรกับลูกศิษย์ หรือให้ลูกศิษย์ศรัทธาในตัวท่าน

๕. ขออาจารย์โปรดอธิบายสภาวะสมาธิทั้ง ๓ ระดับ ขณิกะ อุปจาระ อัปปนา แต่ละขั้นมีคุณสมบัติอย่างใด

๖. การปฏิบัติสมาธิไปจนถึงจิตสงบนิ่งเด่นชัด มีความระลึกรู้อยู่ภายใน เราจะสังเกตอย่างไรว่าเราเกิดสัมมาสมาธิแล้ว

๗. พระอาจารย์เคยเคารพสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดียหรือเปล่า กรณีที่มีคำกล่าวว่า “ถ้าพุทธศาสนิกชนได้ไปกราบไหว้สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ประเทศอินเดีย จะสามารถปิดประตูอบายภูมิได้” จริงหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : จบเนาะ.. นี่เอาข้อที่ ๑. ก่อน นี่พูดถึงเวลาตอบ อะไรที่เป็นประโยชน์ใช่ไหม อย่างเรื่องการภาวนาเราจะตอบ แต่เรื่องครูบาอาจารย์เราไม่อยากเข้าไปยุ่งด้วย เรื่องครูบาอาจารย์ส่วนครูบาอาจารย์นะ แล้วถ้าเป็นครูบาอาจารย์นี่มันอยู่ที่วุฒิภาวะของเรา

อย่างเช่นหลวงตา ท่านจะออกปฏิบัติท่านอธิษฐานเลยนะ เวลาท่านเรียนมา ๗ ปีจนได้เป็นมหาแล้วก็ว่าจะออกปฏิบัติ จะออกปฏิบัติแล้วมันก็เกิดความลังเลสงสัย พอเกิดความลังเลสงสัย แล้วถ้าใครแก้ความลังเลสงสัยได้ เห็นไหม เราจะถือว่าองค์นั้น อริยะอาจารย์องค์นั้นเป็นผู้ชี้นำเราไป นี่ท่านก็ระลึกถึงหลวงปู่มั่น แล้วท่านก็ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นแก้ท่านได้หมดเลย นี่เวลาที่ว่าท่านอธิษฐานของท่าน เห็นไหม พอออกปฏิบัติ จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จท่านก็อธิษฐานของท่าน

ฉะนั้น เวลาเป็นลูกศิษย์ ลูกศิษย์จะไปหาครูบาอาจารย์มันต้องเลือก แล้วเลือกแล้วนี่ สิ่งใดที่มันทะแม่งๆ มันก็แปลกนะ ทะแม่งๆ เว้นไว้แต่คำว่าทะแม่งๆ ของครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม เราคิดไม่ถึง เราคิดไม่ได้นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามันทะแม่งๆ ชัดๆ ทะแม่งๆ แปลกๆ อืม.. มันไม่ใช่หรอก นี่เราเลือกของเราเอง ทีนี้มันเป็นเรื่องของลูกศิษย์กับอาจารย์ ถ้าพูดถึงมีวุฒิภาวะ มีสติปัญญาเสียหน่อยหนึ่ง เรื่องอย่างนี้มันรับรู้ได้ มันเข้าใจได้

ฉะนั้น เอาแต่เรื่องประโยชน์ดีกว่า คือ..

ถาม : ข้อ ๑. เมื่อปฏิบัติสมาธิภาวนาไปจนเกิดเวทนา เราจะพิจารณาเวทนาอย่างไร? และเราจะอยู่กับเวทนาได้อย่างไร จึงจะทำให้จิตปล่อยวางเวทนาได้

หลวงพ่อ : นี่เราเป็นการคาดหวัง เราเป็นการคาดหวังว่าเราจะต้องชนะเวทนา เราจะชนะเวทนา เราจะปล่อยเวทนาได้ นี่คือเป้าหมายที่เราอยากจะได้ นี้พออยากจะได้เราก็คิด เห็นไหม เหมือนเช่นเราทำมาหากิน เราก็อยากเป็นเศรษฐี อยากประสบความสำเร็จทั้งนั้นแหละ แต่เวลาทำไปแล้วมันประสบความสำเร็จไหม? เวลาเราทำธุรกิจต่างๆ เราก็ต้องมีตลาด มีลูกค้าที่ดี เราบริการเขา เรามีความซื่อสัตย์ เรามีอะไรนี่ มันมีอะไรเกี่ยวเนื่องกันเยอะมาก

ฉะนั้น “เวลาที่เราปฏิบัติภาวนาจนเกิดเวทนา แล้วเราจะพิจารณาเวทนาอย่างใด?”

เราทำธุรกิจ เราเกิดประสบปัญหา ปัญหาทางไหน? ปัญหาวัตถุดิบ ปัญหาในคน ปัญหาในทุน ปัญหาทางกฎหมาย ปัญหาเยอะแยะไปหมดเลย เราจะแก้ปัญหาอย่างไร? แล้วปัญหามันมาทีละปัญหา หรือมาทีหนึ่ง ๔-๕ ปัญหา ในการหัดฝึกปฏิบัติ เห็นไหม เวลาปฏิบัติไปแล้ว เราพิจารณาไปเราไปเจอเวทนา แล้วเราจะต่อสู้กับเวทนาอย่างไร? นี่เวลาว่าต่อสู้กับเวทนาอย่างไร? แล้วเราเอาอะไรไปต่อสู้ล่ะ?

คือแบบว่าเราไปวางเป้าหมายไว้ นี่กรอบ แล้วเราก็ติดกรอบเราเอง เห็นไหม เวลาปฏิบัติไปแล้วจะต้องเจอเวทนา ต้องเจอกาย ต้องเจอจิต เราก็คิดของเราไป จินตนาการของเราไป จนมีคนปฏิบัติมากบอกไม่อยากพิจารณากาย เพราะพิจารณากายแล้วกลัวผี นี่ถ้าพิจารณากายไปแล้วเดี๋ยวผีจะมาหักคอ นี่จินตนาการ มันยำกันเรื่องปฏิบัติบ้าง เรื่องความรู้สึกนึกคิดบ้าง เรื่องประเพณีวัฒนธรรม เอามามั่วกันไปหมดเลย มันไม่เป็นความจริงสักอย่าง จิตใจเรามันไม่มีหลักมีเกณฑ์ไง

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์เราสอนนะ สอนว่า “อย่างน้อยต้องทำให้จิตมันสงบก่อน” ถ้าจิตมันสงบก่อนแล้วนี่ เวลามันเจอเวทนา เวลามันเจอสิ่งใดมันจะพิจารณาได้ มันจะมีกำลังของมัน ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติสมาธิ เห็นไหม เราทำภาวนาของเราจนเกิดเวทนา

ทีนี้เวลาทำความสงบเกิดเวทนาไหม? มันก็เกิด.. ถ้าเกิดเวทนา เห็นไหม ถ้าเราอดทนเอา เขาเรียก “ขันติ” ขันติมันยังไม่ได้สู้อะไรกับเวทนาเลย พอมีขันติ พอเจอเวทนาสู้ได้บ้าง สู้ไม่ได้บ้าง บางทีจิตเราสงบก่อน อย่างเช่นเวลาทำธุรกิจบางอย่างเราส่งสินค้าไปนี่ ยังไม่ทันส่งสินค้าไปเขาก็ให้ตังค์ก่อนแล้ว เขาให้ตังค์ก่อนเพราะเขาอยากได้ของเขา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพุทโธ พุทโธไป แล้วจิตเราสงบก่อนมันไม่เจอเวทนา เห็นไหม มันก็ประสบความสำเร็จ มีความสุข มีความสงบ แล้วคนอย่างนี้เราเจอบ่อยๆ ไหมล่ะ? เจอที่ว่าเขาสั่งของแล้วเขาให้ตังค์ก่อนเราจะเจอสักกี่คน แต่สั่งของไปแล้ว ส่งของแล้วเขาไม่จ่ายตังค์เยอะแยะไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตถ้ามันสงบก่อน มันก็ไม่เจอเวทนา แต่ถ้าจิตมันยังไม่สงบมันเจอเวทนาก่อน นี่เจอเวทนาก่อนอย่างนี้เราจะสู้อย่างไร? ถ้าเราสู้อย่างไร นี่เราจะสู้กับเวทนาก็ได้ ถ้าจิตมันพิจารณาของมัน นี่เจ็บปวดนัก เวลาเจ็บปวดทำไมมันถึงเจ็บปวดเร็วนัก ทำไมคนอื่นเขาไม่เจ็บปวดเหมือนเรา นี่เรามีปัญญาสู้ได้ สู้ด้วยปัญญา ถ้ามีปัญญามันจะแก้ไขได้

ถ้าไม่มีปัญญานะ เวลาเวทนามันเกิดนี่น้อยเนื้อต่ำใจ ภาวนาก็ภาวนาขนาดนี้ ทำดีก็ทำดีทุกอย่างเลย โอ้โฮ.. คอตกนะ เวลาจิตใจมันอ่อนแอ เหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เหตุผลมันจะเหยียบย่ำหัวใจทั้งหมดเลย แต่ถ้าจิตใจเรามีปัญญาขึ้นมา นี่เวทนาก็คือเวทนา เวลาสุขขึ้นมาเราไม่คิดถึงมันเลย

เวลาพอใจขึ้นมามันก็เวทนาเหมือนกัน ทำไมเรามีความพอใจ มีความสุข มีความระงับ มีความพอใจไปหมดเลย เวลามันไม่พอใจนี่เราลำเอียง เวลาดีขึ้นมานี่ชอบ เวลาร้ายไม่เอา.. เวลาดีขึ้นมานี่ชอบนะ เวลาดีๆ ขึ้นมานี่แหม.. แต่ไม่ได้คิดว่าดีนั้นคือเวทนา เวลาดีชอบ เวลาไม่ดีไม่ชอบ

ฉะนั้น ที่ว่า “เมื่อเจอเวทนาแล้วจะต่อสู้กับเวทนาอย่างใด?”

ถ้าต่อสู้กับเวทนา เห็นไหม ถ้าเราเริ่มต้นใหม่ๆ ใช่ไหม? เราใช้ขันติก็ได้ ขันติความอดทน ต้องมีขันติก่อน อย่างเช่นหลวงตาท่านบอกว่า “สมาธิจับ ปัญญาตัด” สมาธิจับ.. มันมีสมาธิ เห็นไหม มันมีสมาธินี่จับไว้ แล้วตัดด้วยปัญญา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามีสติ เห็นไหม จับเวทนาไว้ จับเวทนาไว้แล้วตัดด้วยปัญญา ถ้าเราตัดด้วยปัญญา ทีนี้เวทนามานี่ไม่ได้จับ สู้ไม่ไหว นี่เวลาไม่ได้จับเลย เราไม่ได้จับ ไม่ได้จับต้องสิ่งใดเลย เวลาเราจะฟันสิ่งใด อย่างเช่นฟันไม้ เราจับให้มั่นแล้วเราฟันอาจจะขาดก็ได้ ไม่ขาดก็ได้ แต่ถ้าเราไม่ได้จับอะไรไว้เลย เราเอามีดฟันนี่ฟันอะไร? ฟันอากาศ

นี่ก็เหมือนกัน เวทนาๆ จะสู้กับเวทนา เวทนามันอยู่ไหนก็ไม่รู้ แล้วก็พิจารณาของเราไป เห็นไหม มันไม่จับใช่ไหม? ถ้าจิตสงบแล้วมันจับ ถ้าจิตสงบ เราพุทโธใช้ขันติไปก่อน นี่หลบไปก่อน ให้มันเข้มแข็งขึ้นมาได้แล้วจับได้

การต่อสู้กับเวทนานี่มันต้องเป็นปัจจุบัน มันเป็นปัจจุบัน อยู่ที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาทางไหน? ถ้าครูบาอาจารย์ท่านผ่านเวทนามา ท่านก็จะบอกว่าเวทนานี่เป็นของเล็กน้อย แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านผ่านกายมา เห็นไหม ท่านพิจารณากายของท่าน พิจารณาจิต พิจารณาธรรม นี่มันอยู่ที่การพิจารณาแต่ละขั้นตอน คนผ่านไง เป็นโสดาบันด้วยเวทนา ด้วยกาย ด้วยจิต ด้วยธรรม

นี่พิจารณากายจนเป็นพระโสดาบัน พิจารณาเวทนาจนเป็นพระโสดาบัน พิจารณาจิตจนเป็นพระโสดาบัน เป็นโสดาบันเหมือนกัน แต่วิธีการทำงานแตกต่างกัน ทีนี้วิธีการแตกต่างกัน นี้เราพิจารณาเวทนาเหมือนกันก็แล้วแต่ เวทนาแต่ละขั้นตอนมันไม่เหมือนกัน

เวทนาไม่เหมือนกัน เห็นไหม เช่นเวลาเราพิจารณาคราวนี้ ปวดคราวนี้เราของเล็กน้อยนักถ้าจิตใจมันเข้มแข็ง พอคราวหน้าเจอเวทนาอีก เพราะจิตใจมันเข้มแข็ง มันใช้ต่อสู้กับเวทนาไปแล้ว จิตใจมันเริ่มใช้พลังงานไปแล้ว มันเริ่มอ่อนแอลง มันเริ่มไม่ค่อยมีกำลัง พอเจอเวทนาเล็กน้อยมันก็หนัก มันก็สู้ไม่ไหว เห็นไหม มันเป็นปัจจุบัน

ฉะนั้น การต่อสู้กับเวทนามันต้องวัดกำลัง กำลังว่าจิตเรามีกำลังพอหรือไม่พอ ถ้าไม่พอนี่เราพุทโธไปก่อน หลบไปก่อน หลบไปก่อน ถ้ากำลังมีพอแล้วเราก็สู้.. สู้หมายความว่าจับเวทนา เวทนานี่มันมีตัวตนจริงหรือ? ความรู้สึกนี่มันมีตัวตนจริงหรือ? ทุกอย่างไม่มีตัวตนทั้งนั้นเลย แล้วทำไมมันเจ็บนักล่ะ? ทำไมเจ็บปวดนัก ทำไมเจ็บปวดนัก?

เจ็บปวดนักเพราะว่าสติเราไม่มี สติปัญญาเราไม่ทัน แต่ถ้าสติปัญญาเราทันนะ เราพิจารณาของเราไปนะ เวลามันปล่อยขึ้นมานี่ เอ๊ะ.. แล้วเวทนามันหายไปไหนหมดล่ะ? ปวดๆ นี่นะมันปล่อยหมดเลย ว่างหมดเลย แล้วมีความสุขด้วย กลับมีความสุข อย่างเช่น! เช่นเสียใจๆ นี่ เสียใจเพราะอะไร? เสียใจเพราะมีเหตุผลร้อยแปดเลย นู่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี ไม่ดีไปหมดเลย แต่พอมีสติปัญญาไล่ต้อนเข้าไปนะ อะไรไม่ดีบ้างล่ะ? เอ็งเข้าใจผิด ไม่มีอะไรไม่ดีเลย มันปล่อยหมดเลยนะ สิ่งที่ไม่ดีๆ ไม่เห็นมีเลย มันไปไหนหมดล่ะ?

มันเป็นความยึดติดของใจ เห็นไหม เวทนานี่มันเป็นความยึดติดของใจ เว้นไว้แต่! เว้นไว้แต่เวลาร่างกายชำรุดทรุดโทรม ไอ้นี่มันแก้ไขไม่ได้ ความเจ็บปวดนั้นมันมีความเจ็บปวดตลอดไป แต่! แต่ถ้าคนมีกำลังใจนะมันก็วางได้ วางเจ็บปวดได้ เพราะร่างกายมันชำรุดทรุดโทรม ไอ้ของที่มันชำรุดแล้วมันก็มีความรู้สึก ถ้ามันชำรุดแล้วไม่มีความรู้สึก เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันชำรุดล่ะ? อย่างเช่นคนเราเป็นโรคภัยไข้เจ็บ อันนี้อีกเรื่องหนึ่ง

นี่พูดถึงว่าการสู้กับเวทนานะ.. นี่การสู้แบบพื้นฐาน นี่เขาบอกเขาขอวิธี

ถาม : ๒. อยากขอให้ท่านอธิบายถึงเรื่องมานะ ๙ ของพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี

หลวงพ่อ : มานะ ๙ มานะตัวหัวใจมันเลย มานะ ๙ เป็นสังโยชน์เบื้องบน สังโยชน์เบื้องบนจะละได้ต่อเมื่อพระอรหันต์ ในเมื่อพระอนาคามียังไม่ถึงตรงนั้น

คำว่ามานะ.. มานะหมายถึงว่าถือตัวถือตน มานะนี่ถือตัวถือตนนะ เราเสมอเขา สำคัญว่าเสมอเขา เห็นไหม เสมอเขาแท้ๆ นี่แหละ เราต่ำกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา เราต่ำกว่าเขาเราก็ไม่สำคัญ เราต่ำกว่าเขา นี้มันเป็นเวรเป็นกรรมใช่ไหม? แต่เราก็อยู่ในสถานะนั้น เราไม่เอามาเป็นทิฐิมานะ เราสูงกว่าเขา เราก็ไม่สำคัญตนว่าสูงกว่าเขา

นี่มานะ ๙ ต่ำกว่าเขา.. เราสำคัญว่าต่ำกว่าเขา เราสำคัญว่าเสมอเขา สำคัญว่าสูงกว่าเขา

เสมอเขา.. สำคัญว่าต่ำกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา สำคัญว่าสูงกว่าเขา

สูงกว่าเขา.. สำคัญว่าสูงกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา

สำคัญตน มันสำคัญผิดไปผิดมา ฉะนั้น มานะ ๙ นี่มันอยู่ในสังโยชน์เบื้องบน ฉะนั้น ว่าให้อธิบายเรื่องมานะ ๙ ของพระโสดาบัน พระโสดาบันทิฐิมานะในตัวมี ตัวตน เห็นไหม แต่ไปละความเห็นผิด ละสักกายทิฏฐิ นี่สักกายทิฏฐิ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ความเจ็บปวดเป็นเราหรือไม่เป็นเรา ถ้ามันละมันขาด พระโสดาบันละตรงนั้น

พระสกิทาคามีนี่กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง พระอนาคามี กามราคะ ปฏิฆะขาดไป แต่เวลาพระอรหันต์นะ นี่รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา.. รูปราคะ อรูปราคะ มานะ ๙ มันอยู่ตรงนั้น มานะถือตัวกับใคร? ถือตัวกับตัวเองไง ตัวตนนั่นล่ะสำคัญที่สุดเลย เวลาถ้ามันทำลายตัวตน พระอรหันต์คือทำลายตัวตน ทำลายภวาสวะ ทำลายตัวภพ นี่ทำลายตัวจิต เห็นไหม ถึงบอกว่าพระอรหันต์ไม่มีจิตๆ ไง

ถ้าพระอรหันต์มีจิตคือพระอรหันต์มีภพ ถ้าพระอรหันต์มีจิต พระอรหันต์ก็มีมานะ ๙ มีมานะ มานะทิฐินั่นล่ะคือตัวจิต จิตอยู่ที่นั่น ภพอยู่ที่นั่น มานะอยู่ที่นั่น ฉะนั้น พระอรหันต์ไม่มีจิต ถ้าทำลายจิตแล้ว ทำลายหมดแล้ว นี่ทำลายมานะ ทำลายตัวตน ทำลายทิฐิมานะตรงนั้นหมดแล้ว นี่คือพระอรหันต์

ฉะนั้น “ให้อธิบายว่ามานะของพระโสดาบัน”

พระโสดาบันก็มานะในความเห็นผิดในกายไง ถ้าพระสกิทาคามีก็มานะในอุปาทาน ถ้าเป็นพระอนาคามีก็มานะในปฏิฆะ รูปราคะ นี่แล้วพระอรหันต์อีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น ไม่รู้ว่าอาจารย์ไหนสอนเนาะ ให้มานะของพระโสดาบัน มานะ ๙ ของโสดาบัน.. โสดาบัน การละสักกายทิฏฐิมันเป็นสังโยชน์ ถ้าละสังโยชน์นะ

นี่ข้อ ๓. เรื่องครูบาอาจารย์ ถ้าเรื่องครูบาอาจารย์เราไม่พูดถึง เพราะถ้าพูดไปก็อย่างที่ว่าอาจารย์จริงหรืออาจารย์ปลอม นี่ลูกศิษย์จิตใจขาวผ่อง จิตใจอะไรนี่ยกไปไม่เกี่ยว เพราะว่าการพูดอย่างนี้มันดาบสองคม ยิ่งข้อ ๔. ด้วยนี่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าท่านได้ขั้นนู้น ขั้นนี้ อันนี้ยกไปเลย ยกไปเลย

เพราะว่าถ้ามันเป็นวงในนะ อย่างเช่นหลวงตา เช่นครูบาอาจารย์เรา หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศน์สอน ท่านเทศน์สอนเวลาใครมีปัญหาขึ้นมาท่านถาม เห็นไหม อย่างเช่นหลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาขึ้นไปถาม ท่านบอก “เออ.. เหมือนเราเลยที่ถ้ำสาริกา”

หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็บอกว่า “นี่เหมือนเราที่ถ้ำสาลิกา พอที่ถ้ำสาริกาเรารวมลงแล้วนี่มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นหนเดียว มันขาดก็ขาดหนเดียว”

เวลาลูกศิษย์กับอาจารย์ที่ท่านพูดกันเพื่อต้องการความมั่นใจ หลวงปู่มั่นท่านจะบอก

“นี่ไง อย่างนี้! อย่างนี้! เราเคยเป็นอย่างนี้! อย่างนี้!”

ถ้าการยืนยันอย่างนั้น เป็นการยืนยันให้ลูกศิษย์ลูกหามั่นคง แต่ยืนยันอย่างนี้มันยืนยันแบบว่าแปลกๆ นะ แปลกๆ อันนี้ยกไม่พูด

ถาม : ข้อ ๕. ขออาจารย์โปรดอธิบายสภาวะสมาธิทั้ง ๓ ระดับ ขณิกะ อุปจาระ อัปปนา แต่ละขั้นมีคุณสมบัติอย่างใด

หลวงพ่อ : ในขั้นของสมาธินี่ ครูบาอาจารย์ท่านบอกให้ทำความสงบของใจ พวกเราต้องทำความสงบของใจก่อน ถ้าทำความสงบของใจ ก็เหมือนเรานี่ให้พักผ่อน เห็นไหม ดูนักกีฬาสิ เวลาจะลงสนามเขาต้องวอร์มก่อน อบอุ่นร่างกายก่อน แล้วลงไปก็ได้แข่งเลย

นี่ก็เหมือนกัน การทำความสงบของใจ ให้ใจมันสงบก่อน ถ้าใจมันสงบแล้วนี่เราค่อยฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญาแล้วมันจะเป็นโลกุตตรปัญญา มันจะเป็นปัญญาชำระกิเลส.. ฉะนั้น ความสงบระดับไหนล่ะ? ความสงบระดับไหน? ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

ทีนี้คำว่าทำสมาธิ บางคนทำสมาธิได้ง่าย บางคนทำสมาธิได้ยาก บางคนทำสมาธิแทบไม่ได้เลย ถ้าแทบไม่ได้เลยนี่ แต่อยากภาวนา เห็นไหม มันก็ต้องใช้ปัญญา พอใช้ปัญญาไปแล้วมันจะเป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติมันจะใช้ปัญญาไปเรื่อยๆ ปัญญาจะละเอียดไปเรื่อยๆ จับเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต สติปัฏฐาน ๔ มันจับของมันได้ ถ้าจับของมันได้นี่รู้! รู้!

จะทำวิธีใดก็แล้วแต่อริยสัจมีหนึ่งเดียว ถ้ารู้แล้วนี่ พอพิจารณาไปแล้วเวลามันขาด มันไปขาดพร้อมกัน พอขาดพร้อมกันมันก็เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามีเหมือนกัน แต่ทีนี้บอกว่าขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ นี่มันเป็นทฤษฎี เป็นทางวิชาการของฝ่ายปฏิบัติไง ปฏิบัติ เห็นไหม เวลาปฏิบัติเขาพูดถึงขณิกะ อุปจาระ อัปปนา

นี่ปฏิบัติหมายถึงว่า เวลาปฏิบัติไปแล้วเหมือนกับทางเทคนิค ทางเทคนิคเขาจะบอกว่าความสูง ความต่ำ ระดับไง มาตรวัดมันควรเป็นเท่าไร? มาตรวัดมันเป็นเท่าไร? นี้ในมาตรวัดมันควรเท่าไรนี่เขาทำงานอะไร?

ขณิกสมาธิ เป็นขณิกสมาธินี่สมาธิระดับนี้เขาเรียกขณิกะ ในขณิกสมาธิมันก็มีกว้างขวาง เห็นไหม อย่างเช่นปีติ ปีตินี่บางคนไม่มีเลยนะ ปีตินี่ว่างไปเฉยๆ สงบไปเฉยๆ แต่บางคนพอจิตมันลง ปีติขนพองสยองเกล้า บางคนขนลุกเลย บางคนรู้วาระจิตเลย บางคนไปสวรรค์ได้เลยนะ นี่ปีติของคนก็แตกต่างกัน ปีตินี้มหาศาลเลย

ขณิกสมาธิก็เหมือนกัน.. ขณิกสมาธิ อุปจาระ อัปปนา ทีนี้ขณิกะแล้วคนบารมีใหญ่นะ เวลามันสงบเล็กน้อยมันจะรู้อะไรไปมากมายมหาศาลเลย ยิ่งอุปจาระยิ่งไปเลย เขาเรียก “จิตคึกคะนอง” พอจิตมันลงปั๊บ เห็นตัวเองไปนั่งอยู่บนก้อนเมฆ เห็นตัวเองเดินจงกรมอยู่บนอากาศ อย่างนี้ก็มี พอจิตสงบปั๊บเห็นแผ่นดินนี่เปิดเลย แผ่นดินนี่เปิดเลยนะ เห็นนรกเลยอย่างนี้ก็มี

(หัวเราะ) พูดไปมันเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าวะเนี่ย โกหกหรือเปล่า? โกหกหรือเปล่า? ฉะนั้น ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันเป็นทฤษฎี มันเป็นปริยัติของปฏิบัติ

ฉะนั้น บอกว่า “ขณิกสมาธิระดับไหน?”

ขณิกสมาธิ เห็นไหม ในขณิกสมาธิมันก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด คือขณิกสมาธิก็มีกลุ่มหนึ่งระดับนี้ อุปจาระมันก็มีอีก มีอย่างกลาง มีอย่างหยาบ มีอย่างละเอียด นี่อัปปนาสมาธิไง เขาถึงบอกว่าให้บอกมาว่าอย่างใดเป็นอย่างใด อย่างใดเป็นอย่างใด นี่ไงบอกว่าถ้าเราปฏิบัติกันด้วยปัญญาชน เห็นไหม เราจะปฏิบัติเป็นโลก เป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เป็นกรอบว่าต้องเป็นอย่างนี้.. ต้องเป็นอย่างนี้.. ต้องเป็นอย่างนี้.. แล้วเวลาไปศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าต้องเป็นอย่างนี้หรือ?

ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่เราไปศึกษานี่ไม่ได้ ๕ เปอร์เซ็นต์ของพระพุทธเจ้าหรอก ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่เราไปศึกษา จำมาจากพระไตรปิฎกหมดเลย ก็ไม่มีความรู้เหมือนพระพุทธเจ้า ไม่มีทางเลย เพราะพระพุทธเจ้าท่านรู้จริงออกมา ท่านวางทฤษฎีไว้ แล้วเราไปศึกษาทฤษฎี แล้วเอาทฤษฎีมาเถียงกัน แต่ความจริง จริงๆ ไม่รู้อะไรเลย

ในนี้ก็เหมือนกัน ทฤษฎีนี่ ทางวิทยาศาสตร์ทฤษฎีต้องเป็นอย่างนี้ ต้องทดสอบเป็นอย่างนี้ ทีนี้ทางวิทยาศาสตร์เขาทดสอบให้ค่าใช่ไหม? การทดสอบให้ค่าเป็นอย่างนั้น แต่จิตของคนล่ะ? วันนี้อารมณ์ดี ทำสงบได้ง่าย วันนี้อารมณ์ไม่ดี ทำเกือบตายไม่สงบ ทำเหมือนกัน ในเวลามากกว่าด้วย ทำไมจิตมันไม่ลง ทำไมมันทำไม่ได้

นี่เพราะมันมีตัวเร้า มันมีกิเลส มันเป็นสิ่งมีชีวิตไง.. มันมีชีวิตนะ มีชีวิตมันก็มีแง่งอนนะ มันมีแง่ มีงอน มีอะไรของมัน เห็นไหม นี่เราแก้ไขมัน เราดูแลด้วยการสำรวมระวังอินทรีย์ ด้วยการสำรวมระวังทั้งหมดไม่ให้จิตมันแง่งอน ไม่ให้กิเลสมันออกมา ออกมากระทุ้ง ออกมาเขย่า ให้จิตนี้มันเข้าได้ยาก เข้าได้ง่าย นี่ศึกษาตรงนั้น

ทีนี้พอศึกษาตรงนั้นปั๊บ นี่ขณิกสมาธิ! ขณิกสมาธิโดยประมาณ โดยประมาณ นี่พอจิตมันเริ่มสงบ เห็นไหม มันเริ่มสงบเรารับรู้ นี่ขณิกสมาธิ.. โดยปกติสามัญสำนึกเราก็มีสมาธิกันอยู่แล้ว อย่างเช่นเราดูหนังสือ หรือเรานั่งเฉยๆ กัน หรือสมาธิที่ดีๆ

ปุถุชนนะ สมาธิของปุถุชน สมาธิของพื้นบ้าน สมาธิของมนุษย์ เราสมาธิดีๆ เราทำใจสงบ นั่นคือสมาธิของปุถุชน.. แต่ถ้าเราพุทโธ เห็นไหม เรารวมความรู้สึกนึกคิดเราให้มากขึ้น ให้มากขึ้นนี่เรารู้เลยว่าสิ่งที่เรามีสมาธิของเราปุถุชน เราอารมณ์ดีเรารักษาของเราได้ แต่ถ้าเราพุทโธ เราใช้ปัญญาเข้าไป เข้าขณิกสมาธิ

ขณิกสมาธินี่จิตมันจะละเอียดเข้า ละเอียดเข้าไป จิตละเอียดเข้าไปเรารู้ตัวนะ เรายังรับรู้สิ่งใดๆ ได้ มันแตกต่างกับอารมณ์ความรู้สึกปกติของปุถุชนนั่นล่ะ นี่สมาธิ.. เพราะว่าสมาธินี่นะมันอยู่ในปาราชิก ๔ ไง ปาราชิก ๔ เห็นไหม อวดอุตริมนุษยธรรม ผู้ใดเข้าฌานสมาบัติ แล้วไปคุยอวดเขาว่าเข้าฌานสมาบัติ อวดอุตริมนุษยธรรมนี่ตั้งแต่ฌานสมาบัติมาเลย แล้วยิ่งโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ที่ว่าได้มรรค ได้ผล นี่ในสมาธิก็มี เห็นไหม

เราจะให้เห็นว่า “อุตริมนุษยธรรม” มันเหนือมนุษย์ไง เหนือปุถุชนไง ปุถุชนคือสามัญสำนึกใช่ไหม? แต่พอเป็นขณิกสมาธิมันต้องลึกกว่า มันต้องแตกต่าง ถ้ามันไม่แตกต่างทำไมอุตริมนุษย์ล่ะ? อุตริมนุษยธรรม ธรรมที่เหนือมนุษย์ไง ธรรมที่เหนือปุถุชนไง นี่ไงถึงว่าขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แตกต่างกับความสามัญสำนึกนี้

พอมันลงขณิกสมาธินี่มันเข้าไป จิตมันสงบของมัน จิตสงบของมัน แต่มันเข้าไปแล้วมันยังออกทำงานไปยังไม่ได้ มันสงบ แล้วสักพักก็คลายออก แล้วก็เข้า แล้วก็ออก ถ้าเราทำของเราอยู่แค่นี้นะ แต่ถ้าเราตั้งสติของเรามากขึ้น เราทำของเรามากขึ้น ใช้บังคับมัน บังคับให้จิตมันอยู่ในคำบริกรรมมากขึ้น มากขึ้นจากขณิกะจะเข้าอุปจาระ พอเข้าอุปจาระ..

นี่เราอยู่นอกห้อง เราอยู่นอกห้องนะ แล้วพอเข้าอุปจาระนี่เราเข้าไปในห้อง ของในห้องนั้น เราเห็นของในห้องนั้นไหม? ถ้าเราเข้าไปในห้อง อย่างเช่นเราไม่ได้เข้าไปในห้องใดก็แล้วแต่ เราอยู่นอกเรือน เราจะไม่รู้ว่าในเรือนนั้นมีอะไรเลย แต่เราเข้าไปในเรือนนั้น เรามองไปในเรือนนั้นสิ ในเรือนนั้นมีเฟอร์นิเจอร์อะไรบ้าง มีสิ่งประดับอะไรบ้าง เห็นไหม

พอเราเข้าอุปจารสมาธิมันจะเห็นกายไง พอจิตนี้มันออกรับรู้กายได้ ออกรู้สัมผัสสิ่งใดๆ ได้ ถ้าออกแล้วสัมผัสสิ่งใดได้ นี่วิปัสสนาเกิดตรงนี้! วิปัสสนาเกิดตรงนี้แหละ เกิดตรงที่จิตมันรู้มันเห็น แล้วจิตมันจับแยกแยะ วิปัสสนาคือพิสูจน์ได้ว่าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้มันคืออะไร? กายมันคืออะไร? จิตมันคืออะไร? เวทนามันคืออะไร? คือจิตมันจับต้องได้ไง นี่อุปจารสมาธิ

นี้เปรียบเทียบของเขาในห้องนะ แต่โดยศัพท์อุปจารสมาธิคือระเบียง คือห้องแล้วระเบียงห้อง คือรอบตัวจิต รอบตัวจิตคือจิตนี้สัมผัสได้ จิตนี้จับต้องได้ ถึงเป็นอุปจารสมาธิ คือสิ่งตรงที่จิตมันใช้กำลัง ใช้วิปัสสนาญาณเกิดตรงนี้

อัปปนาสมาธิ พุทโธเข้าไป ใช้บังคับเข้าไปอีก จากขณิกสมาธิเป็นอุปจารสมาธิ พอมันเข้าอัปปนาสมาธิ พอเราเข้าไปในห้องแล้วปิดหมดเลย เงียบ มืด ปิดหมด ปิดห้องหมด ในห้องนั้นไม่มีสิ่งใดเลย อยู่อย่างนั้นแหละมันก็จับต้องสิ่งใดไม่ได้ เพราะเข้าไปแล้วมันสักแต่ว่า พอมันสักแต่ว่ามันต้องคลายออกมา เหมือนกับว่านี่คือตัวห้อง นี่คือตัวเรือน นี่คือระเบียงรอบที่มันเกี่ยวเนื่องกัน นี่เป็นอุปจาระ

แต่ถ้าเป็นอัปปนาไม่มีสิ่งใดเลย สักแต่ว่าจิต พอสักแต่ว่าจิต พออัปปนาสมาธิมันสามารถปล่อยร่างกายได้ มันปล่อยเข้ามาเป็นตัวมันเองเลย จิตนี้ปล่อยกายได้เลยโดยไม่ใช้ปัญญา แต่! แต่มันปล่อยโดยจิตมันไม่รับ มันหดตัวเข้ามา มันไม่รับรู้เรื่องกายเลย พอไม่รับรู้เรื่องกาย อย่างนี้ไม่ใช่วิปัสสนา อย่างนี้เป็นขั้นของสมถะ มันก็ยังปล่อยกายกับจิตแยกออกจากกันได้

นี้พูดถึงเขาบอกว่า “ให้บอกถึงสภาวะของขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ”

ในอัปปนาสมาธิ! ในอัปปนาสมาธินี่คนที่หยาบ ที่ละเอียดนะ เวลาเข้าถึงอัปปนานี่ วับ! หลายๆ ชั่วโมง หลายๆ ชั่วโมง อย่างเช่นเขาเข้าสมาบัติ เห็นไหม ที่บอกว่าเข้า ๗ วัน ๗ วัน แต่อัปปนามันรวมใหญ่.. แล้วจะว่าไม่เหมือนกัน แต่! แต่ถ้ามันเข้าอัปปนา มันสักแต่ว่าอยู่อย่างนั้นนานมาก แล้วพอมันคลายตัวออกมา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าในอัปปนาก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด พออัปปนาแล้วมันจะรู้อะไรแปลกๆ มากนะ มีกำลังโดยฐีติจิต โดยข้อมูลเดิม โดยที่ว่าจริตนิสัยคนที่ว่าทำอะไรสิ่งใดก็ได้ ทำอะไรสิ่งใดก็ไม่ได้ เห็นไหม ถึงให้เข้าไปถึงอัปปนา ไปรู้ข้อมูลเลย หมายถึงว่าเหมือนกับเราตรวจโรค เช็คร่างกายนี้หมดเลยว่ามันเป็นหรือไม่เป็น มันมีสิ่งใด ร่างกายมันมีโรคหรือไม่มีโรค

จิตก็เหมือนกัน เวลาเข้าถึงอัปปนานี่ไปดูว่ามันจะทำอย่างไร? ทำไมพิจารณากายก็ไม่ได้ ทำไมพิจารณานู่นก็ไม่เห็น ทำไมทำอะไรก็ไม่เห็นเลย นี่เข้าอัปปนามันจะไปรื้อค้นไง เหมือนที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเข้า เห็นไหม คืนที่ว่าวิชชา ๓ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ นั่นล่ะเข้าไปถึงข้อมูล แต่เข้าไปด้วยสมาธิไง แต่เวลาใช้ปัญญาอาสวักขยญาณ เห็นไหม ชำระกิเลสหมดเลย

นี้พูดถึง “สมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้” เหมือนที่พระพุทธเจ้าเข้าไปถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ ก็อันนี้แหละ อัปปนาสมาธินี่แหละ แต่ไม่ได้เข้าแบบนี้ มันมีวิธีการอีกเยอะแยะเลย แต่นี้พูดถึงโดยว่าเป็นเรื่องของสมาธิไง ถ้าสมาธิ.. สมาธิก็คือสมาธิ นี่โยงไปข้อที่ ๑.

ข้อที่ ๑. นี่เวลาเป็นเวทนาทำไมไม่มีพื้นฐานนี้จับเวทนาล่ะ? เวลาเวทนาเกิดขึ้นมานี่แก้เวทนาอย่างไร? เวทนาเป็นอย่างใด? ทำไมไม่เข้าใจเรื่องสมาธิ ถ้าเข้าใจเรื่องสมาธิจะเข้าใจเรื่องเวทนานี่เลย นี่เวลาเวทนาข้อที่ ๑. ไม่เข้าใจเลย แต่ข้อที่ ๕. มาถามเรื่องสมาธิ ฉะนั้น สมาธิก็คือสมาธิ จบ

ถาม : ข้อ ๖. การปฏิบัติสมาธิไปจนถึงจิตสงบนิ่งเด่นชัด มีความระลึกรู้อยู่ภายใน เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเราเกิดสัมมาสมาธิ

หลวงพ่อ : ถ้าเราปฏิบัติสมาธิไปจนจิตสงบนิ่งเด่นชัด นั่นล่ะตัวมัน.. มีความรู้สึกอยู่ภายใน เราจะสังเกตได้อย่างไร? เรารู้ไง นี่ไงพอเรารู้ เห็นไหม เหมือนคนฝัน ถ้าฝันนะ เช้าขึ้นมานี่เล่าแจ้วๆๆ เลย นี่ฝันนั้นไม่จริง แต่เวลาเราฝันนะ นึกไม่ได้ บอกไม่ถูก นั่นคืออะไร?

จิตเวลาสงบนี่นะ ตัวมันสงบมันอธิบายแทบไม่ได้เลย แต่ถ้าออกมานะ ว่างๆ ว่างๆ มันไม่จริงหรอก มันเหมือนฝันไง เห็นไปหมด รู้ไปหมดเลย แต่ไม่รู้อะไรนะ

“หลวงพ่อ ฝันนี้แปลว่าอะไร? ฝันนี้ฝันอย่างไร?”

ก็เอ็งฝันเองจะมาถามทำไม? ก็เอ็งเป็นคนฝัน ข้าไม่ได้ฝันนะ แต่เอ็งทำไมต้องมาถามข้าด้วยล่ะ? เออ.. เอ็งก็ฝันเองแล้วมาถาม ถามคนไม่ฝันด้วย ไอ้คนฝันมาถามคนไม่ฝัน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเข้าไปเป็นสมาธินะ มันเด่นชัด มีความระลึกรู้อยู่ภายใน เราจะสังเกตได้อย่างไร? ถ้าเรารู้จริงเราไม่ต้องสังเกต มันเป็นโดยตัวมันเอง แต่ถ้าเราสังเกต สังเกตอะไร? สังเกตอะไร? สังเกตก็ตะครุบแต่เงา ไม่เคยเห็นตัวจริงเลย กลัวนักกลัวหนา กลัวตัวเองจะผิด พยายามจะจำสัญญานั้นให้ได้แล้วจะมาคุยกัน

เข้าไปแล้วจะจำให้ได้เลยนะ กลัวเดี๋ยวเข้าไม่ได้นะ เดี๋ยวจะเข้าผิดนะ ก็เลยเข้าไม่ได้ ถ้ามันเข้าไปแล้วนะไม่ต้องไปกลัวสิ่งใดเลย แล้วมันออกมามันจะเป็นอย่างนั้นเลย

ถาม : การปฏิบัติสมาธิไปจนถึงจิตสงบเด่นชัด มีความระลึกรู้อยู่ภายใน เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเราเกิดสัมมาสมาธิ

หลวงพ่อ : เกิดสัมมาสมาธินะ สัมมาสมาธินี่มันเกิด แล้วถ้าพูดถึงเวลาเกิดแล้ว ถ้าเราเข้าถึงไม่ได้ขนาดไหนเราก็ฝึกหัดใช้ปัญญา ไม่ใช่ว่าจำเป็นจะต้องเกิด ต้องเกิด อย่างเช่นเราต้องมีเงินก่อนใช่ไหม เราถึงจับจ่ายใช้สอย แต่ถ้าเราไม่มีเงิน แต่เรามีความจำเป็น เราจะหยิบยืมวิสาสะได้ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน จิตเวลามันไม่ถึงที่สุด มันยังเข้าไม่ได้ เราใช้ปัญญาไป ใช้ปัญญา ถ้ามันใช้ได้นะเดี๋ยวทำให้จิตมันสงบได้.. ถ้าวิสาสะมาก่อน พอเราวิสาสะมา เราใช้ประโยชน์ของเรานี่ แล้วกลับไปหาเงินไปคืนเขา เรากลับไปหาเงินเพื่อประโยชน์กับเรามันจะพัฒนาขึ้น อย่าถืออะไรเถรตรงว่าต้องเป็นสติ ต้องเป็นสมาธิ ต้องเป็นปัญญา ไม่เกิดสมาธิจะไม่ใช้ปัญญา ไม่เกิดสมาธิจะไม่ทำสิ่งใดเลย

ไม่เกิดสมาธิก็ฝึกหัด ฝึกหัดใช้ปัญญา แล้วพอฝึกหัดใช้ปัญญา นี่เขาเรียกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา” แล้วก็ทำสมาธิได้ง่ายขึ้น แล้วพอทำไปนะ จิตได้สัมผัสต่างๆ แล้วมันจะเข้าใจของมัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “เราจะสังเกตได้อย่างไร?”

ไม่ต้องสังเกต เราสังเกตแต่เรื่องเหตุ เห็นไหม เหตุกับผลเราสังเกตตรงนี้ แล้วไม่ต้องสังเกตว่ามันจะเป็นอย่างไร? จะเป็นอย่างไร? เพราะเราไปหวังอย่างนั้น เรากลัวอย่างนั้น เราถึงจะไม่ได้สิ่งใดๆ เลย เราไม่ต้องไปกลัวอย่างนั้น ทำไป ผิดก็คือผิด คนเราทำงานต้องหัด มีผิด มีถูกธรรมดา ไม่ต้องไปกลัวผิด กลัวผิดจนไม่กล้าทำอะไรเลย ว่าผิดแล้วก็เดี๋ยวจะเป็นโทษประหารเลย

เวลามันเถลไถล มันไม่ทำอะไรเลย ไม่เคยบอกว่าสิ่งนั้นไม่ดีเลย เวลาปฏิบัติขึ้นไปนี่ว่านู่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี.. ไม่ดีไปไม่ดีมามันก็เลิก มันจะไม่ดีให้เลิก ทำไปก็ติดขัดไปหมดเลย เลิกดีกว่า จบ มีเท่านั้นเอง

ถาม : ข้อ ๗. ท่านอาจารย์เคยไปสังเวชนียสถานหรือเปล่า คนที่เขาไปมาเขาว่าปิดอบายภูมิ

หลวงพ่อ : กรณีอย่างนี้นะ เหมือนกับกรณีของพราหมณ์ เวลาพราหมณ์เขาบอกเลยว่า เวลาเขาไปอาบน้ำล้างบาปแล้วเขาจะไม่ตกนรก แล้วมันจริงหรือเปล่าล่ะ? ถ้ามันไปล้างบาปแล้วไม่ตกนรกนะ ไอ้ปลาที่อยู่ในนั้นมันไปสวรรค์หมดเลย เพราะปลามันอยู่ในแม่น้ำ

นี่ก็เหมือนกัน พอไปสังเวชนียสถานต่างๆ แล้วไม่ตกอบายภูมิ แล้วคนที่อยู่ที่นั่นมันตกอบายภูมิหรือเปล่าล่ะ? การไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ พระพุทธเจ้าพูดถึงกับพระอานนท์ พระอานนท์บอกว่า “เวลาพวกเรานี่ เวลาชาวพุทธ เวลาคิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากระลึกถึงให้ทำอย่างไร?”

ท่านบอกว่า “ถ้าระลึกถึงก็ให้ไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔”

คือว่าไปที่เกิด ที่ตรัสรู้ ที่เทศนาว่าการ และที่ปรินิพพาน ให้ไปเห็น ไปยืนยันว่าพระพุทธเจ้ามีจริงแค่นั้นแหละ พอพระพุทธเจ้ามีจริงมันก็มีหลักมีเกณฑ์ไง ไม่ใช่ปิดอบายภูมิ ไม่เกี่ยวกันเลย ถ้าเกี่ยวกัน ดูเทวทัตสิ เทวทัตเป็นญาติกับพระพุทธเจ้า แล้วได้ฌานสมาบัติด้วย แปลงกายได้ด้วย แล้วบวชเป็นพระด้วย ทำไมตกนรกอเวจีล่ะ?

นี่เป็นญาติกันด้วยนะ เทวทัตเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระพุทธเจ้า แล้วบวชเป็นพระด้วย แล้วปฏิบัติด้วย ทำไมลงนรกอเวจีเลย แล้วบอกว่าไปแล้วมันจะปิดอบายภูมิ.. อบายภูมิมันปิดด้วยศีล อบายภูมิปิดด้วยการประพฤติปฏิบัติ อบายภูมิไม่ได้บอกว่าไปที่ไหนมาแล้วไม่ตกอบายภูมิ อย่างนั้นเราก็ไปมาเหมือนกัน เราไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ เลย กลับมาแล้วเราก็จี้ ปล้นของเราเลย เราไม่ตกอบายภูมิไหม?

มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันอยู่ที่พฤติกรรมความดีของเรา นี่เราไม่ได้คัดค้านเรื่องไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ นะ เราไม่ได้คัดค้าน แต่ที่บอกว่าถ้าไปแล้วปิดอบายภูมินี่มันไม่ใช่ แต่ถ้าจิตใจเราดี จิตใจเราอยู่ในศีล ในธรรม นั่นล่ะปิดอบายภูมิ ปิดอบายภูมิอยู่ที่ศีลธรรม อยู่ที่หัวใจของเรา มันไม่ใช่อยู่ที่ไปที่ไหนมาแล้วมันจะได้หรือไม่ได้หรอก

เวลาไปนี่มันดี มันดีสำหรับว่าคนไปแล้วมันชื่นใจ ไปแล้วอุ่นใจ ไปแล้วอบอุ่น ไปแล้วปลื้มใจ อันนั้นก็เป็นบุญของเขา แต่บอกว่าถ้ากรณีอย่างนี้มันก็เหมือนกับกินเนื้อสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์แหละเนาะ ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์เป็นคนดี ไอ้คนกินเนื้อสัตว์ไม่เป็นคนดี เอาละ ไอ้นี่ใครไปสังเวชนียสถานมาเป็นคนดี ไอ้คนไม่เคยไปไม่ดี

เราไม่เคยไปเลย เขาบอกว่าหลวงพ่อเคยไปไหม? ไม่เคยไป เพราะเราอยู่กับหลวงตา หลวงตาบอกว่า “ให้เฝ้าสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ในหัวใจของเรา”

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจ ถ้าเรารักษาใจที่นี่ รักษาใจที่นี่ หลวงตาท่านก็ไม่เคยไป หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็ไม่เคยไป เราก็ไม่เคยไป เราไม่เคยไปเลย เราเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ที่พุทโธเนี่ย.. พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่แหละ เราจะเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นี่ เราค้นหาพระพุทธเจ้าของเรา เราไม่ต้องขึ้นเครื่องบินไปหาพระพุทธเจ้า เราจะหาพระพุทธเจ้าที่นี่เลย

ฉะนั้น ไม่เคยไป.. แต่นี้เพียงแต่ถ้าใครไปแล้ว เพราะมีคนไปเขามาเล่าให้ฟังเยอะ โอ้โฮ.. ไปแล้วน้ำตาไหลเลย มันปลาบปลื้ม นี่สาธุ.. ถ้าใครไปแล้วมีความสุขเนาะ แต่ถ้าพูดถึงว่าคนอย่างเรา มันคนอย่างที่หลวงตาท่านพูดบ่อยว่า “คนวาสนาน้อย” เราไม่มีวาสนา เราไม่มีปัญญาจะไป เราก็เฝ้าของเราที่นี่ ไม่อย่างนั้นทุกคนก็ต้องขวนขวายไปจนได้

แต่เวลาคนปฏิบัติแล้วทุกคนก็อยากจะไปสัมผัสสักทีหนึ่ง แต่เราไม่เคยไปเลยนะ แล้วก็ไม่คิดว่าจะไปด้วย ไม่เคยคิด เพราะ! เพราะเราไปดูของเก่าเยอะ ตามวัดตามวา เวลาพวกช่างศิลป์เขาทำนี่สวยงามมาก แต่เขาต้องบำรุงรักษาตลอดนะ อย่างเช่นต้นโพธิ์ที่พุทธคยาใช่ไหม? ต้นโพธิ์ที่อินเดีย ต้นนี้เป็นต้นที่ ๔ นะ ต้นแรกก็ล้มไปแล้ว เพราะ ๒,๐๐๐ กว่าปี ต้นนี้เขาว่า ๑,๐๐๐ กว่าปีแน่ะ

ฉะนั้น แม้แต่ต้นไม้ แม้แต่สิ่งใด ต้นโพธิ์ที่ลังกาเขารดด้วยนมสดนะ ชาวลังกาเขาเคารพมาก เขาใช้น้ำนมนะ เขาไม่รดด้วยน้ำนะ เขารดด้วยน้ำนม เขาถนอมรักษานะ เขากราบ เขาไหว้ เขากั้นเขตไม่ให้คนเข้า เขาบูชาของเขา

นี่พูดถึงเวลาคนเขาศรัทธานะ ฉะนั้น สิ่งอย่างนี้มันต้องดูแลรักษาไง สิ่งที่เป็นวัตถุเราต้องดูแล ต้องรักษา แล้วคิดดูสิต้นไม้ต้นหนึ่ง ๑,๐๐๐ กว่าปี มนุษย์นี่ ๑๐๐ กว่าปี แล้วเราก็จะตายแล้ว เราจะดูแลรักษาใจของเรา เราจะดูแลใจของเรา เราพยายาม.. อย่างที่หลวงตาท่านบอก

“พุทธ ธรรม สงฆ์รวมลงอยู่ที่ใจ”

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์รวมอยู่ที่ในใจของเรา เราแก้ไขที่นี่ เรารักษาที่นี่ แล้วเรื่องอบายภูมิ ฉะนั้น พูดถึงถ้าเขาเข้าใจผิด ถ้าคนเข้าใจผิดนะเขาโปรโมชั่น เวลาโฆษณาให้คนบอกถ้าไปแล้วจะปิดอบายภูมิ อันนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นความจริงนี่ไม่มี เป็นความจริงไม่มีทาง ไปแล้วปิดอบายภูมิเป็นไปไม่ได้ ในการปฏิบัติก็ไม่ได้

ถ้าปิดอบายภูมิ โดยจริงๆ แล้วคือพระโสดาบันปิดอบายภูมิแน่นอน แต่ถ้าเราเป็นปุถุชนนะ เราอยู่ในศีล ในธรรม ศีล ๕ นี่ปิดอบายภูมิ เราไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดกาเมสุมิจฉาจารของใคร เราไม่มุสา เรารักษาใจของเรา นี่ปิดอบายภูมิ.. ศีล ๕ เป็นมนุษย์สมบัติ นี่เกิดเป็นมนุษย์ไม่ตกอบายภูมิอยู่แล้ว แล้วถ้าเรามีสิ่งนี้โดยมั่นคง

นี้เพียงแต่ว่าที่มันไม่เด็ดขาด มันไม่เด็ดขาดคือคนเรานี่มันมีเวรมีกรรม ถึงเวลากรรมมันเกิดขึ้นตอนนั้น คำว่ากรรมนะ มันทำไปโดยเวรโดยกรรม โดยที่ว่าขาดสติ นั่นล่ะอันนั้นล่ะ เพราะคนไม่เคยทำ พอคนไม่เคยทำสิ่งใดที่มันเป็นบาปเป็นกรรม นี่มันจะฝังใจมาก แล้วก็คิดแต่ตรงนั้นแหละ คิดแต่ตรงนั้นมันก็ไปเกิดตรงนั้นไง

นี่อบายภูมิไปอย่างนั้นแหละ แต่ถ้าตรงนี้เรารักษาได้นะ อบายภูมินี่ปิดเลย แต่ปิดไม่เด็ดขาด แต่ปิดเด็ดขาดต้องโสดาบัน พระโสดาบันเท่านั้นปิดอบายภูมิเด็ดขาด! เด็ดขาด! เพราะอะไร? เพราะพอถึงเวลาแล้ว เวลาจิตจะออกจากร่างนี่มันสะเทือน เวลาสะเทือนสติมันมาพร้อม มาพร้อมมันก็คิดถึงคุณธรรมนั้นแหละ มันไม่ตกหรอก มันไปแต่ดีๆ ทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น อบายภูมิ.. “ถ้าไปสังเวชนียสถานสามารถปิดอบายภูมิ”

ไม่จริง! ไม่จริงเด็ดขาด แต่ถ้าเราจะปิดของเรา เราทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ ฉะนั้น ใครจะไป.. นี่เพราะมันอยู่ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์ เพราะพระอานนท์เป็นคนถามเอง บอกว่า “ถ้าพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว บริษัท ๔ เวลาระลึกถึงพระพุทธเจ้าให้ระลึกถึงอย่างไร?”

พระพุทธเจ้าบอกเอง บอกว่า “ถ้าระลึกถึงเราให้ไปในสังเวชนียสถานทั้ง ๔ นี้”

แล้วเดี๋ยวนี้มีหลายวัดมาก เขาสร้างครบ ๔ อย่างอยู่ในวัดเลย หลายวัดเลยนะ สร้างสังเวชนียสถานทั้ง ๔ อยู่ในวัดเลย เราก็ไปที่นั่น ก็ไปเหมือนกัน แต่ก็เถียงอีกแหละมันไม่จริง เดี๋ยวนี้หลายวัดมากเขาสร้างอย่างนี้ เราเห็นอยู่ เขาสร้างสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ไว้ในวัดเลย แล้วใครไปก็ได้ไปกราบไปไหว้ ก็เท่ากับไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกันเนาะ

เอาแค่นี้ก่อนดีกว่า เอวัง