ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สติกับความคิด

๔ ก.ย. ๒๕๕๔

 

สติกับความคิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

วันนี้คำถามมันเปรียบเทียบได้ชัดเจนมากนะ มันข้อ ๕๙๙.

ถาม : ๕๙๙. เรื่อง “เรียนถามเรื่องความคิดและขันธ์ครับ”

กราบนมัสการ (เขาบอกว่าคำถามดังนี้) ระหว่างความคิด สติ สมาธิ และขันธ์ ๕ กระผมมีความสับสนอยู่เกี่ยวข้องกันอย่างไร? เช่น..

๑. ถ้ามีความคิดแปลว่าขาดสติ จริงหรือเท็จครับ

๒. จากข้อที่ ๑. ถ้าเท็จ อยากเรียนถามว่าความคิดอย่างใดคือยังมีสติ แล้วความคิดอย่างใดคือไม่มีสติครับ เราแบ่งแยกได้ไหมครับ

๓. ความคิดจัดเป็นขันธ์ ๕ ในขันธ์ ๕ จริงหรือเท็จครับ หรือว่าความคิดเป็นผลมาจากขันธ์ ๕ ทำงานร่วมกันครับ ถ้าเปลือกของจิตคือความคิด แล้วขันธ์ ๕ อยู่ในลักษณะไหน รบกวนอาจารย์อุปมาอุปมัยด้วยครับ

๔. การละความคิดทั้งหมดในชีวิต เช่นถ้าเผลอคิดก็ต้องหยุดคิด แบบนี้คือเจริญสติหรือไม่ครับ

๕. เคยได้ยินธรรมะที่ว่า “ให้ทิ้งขันธ์ ๕” แต่ขันธ์ ๕ ประกอบด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ คำว่าให้ทิ้งนี้หมายถึงการทิ้งสังขาร นั้นหมายถึงการพยายามไม่คิด หรือปรุงความคิด หรือหยุดความคิดปรุงแต่งทั้งปวง จริงไหมครับ ถ้าไม่จริง การปฏิบัติต่อขันธ์ ๕ อย่างถูกวิธีคืออย่างไรครับ เช่นรูป เวทนา และวิญญาณ คือกระบวนการการรับรู้ ให้รับรู้เฉยๆ โดยไม่ปรุงแต่ง ถ้ามีสัญญาก็หักห้ามไม่ให้นำความรู้สึกเดิมๆ หรือความจำมาใช้ แล้วก็พยายามไม่ใช้ความคิดปรุงแต่งต่อไปอย่างนั้นหรือครับ

สำหรับพระอริยะที่ท่านทิ้งขันธ์ ๕ ได้ ปกติท่านมีมุมมองต่อขันธ์ทั้ง ๕ อย่างไรบ้างครับ แล้วควรปฏิบัติต่อไปอย่างไรต่อความรู้สึกและความคิดต่างๆ

หลวงพ่อ : เพราะว่านี่เขาฟังจากเว็บไซต์บ้าง เขาถึงถามกลับมา เห็นไหม ที่บอกว่า “ความคิด ขันธ์ ๕ เป็นเปลือกของจิต” เปลือกของจิต นี่เราเป็นคนพูดเปลือกของจิตเองไง เขาบอกขันธ์ ๕ ถ้ามันเป็นเปลือกของจิต แล้วมันเป็นกันอย่างไร?

ไอ้อย่างนี้ถ้ามันปฏิบัติแล้วมันจะรู้ ถ้ายังไม่ปฏิบัติก็นี่แหละ ขันธ์ ๕ กับจิตมันอันเดียวกันหรือคนละอัน.. แล้วเราบอกว่าขันธ์ ๕ เป็นเปลือกของจิต เหมือนเปลือกส้มโอ เหมือนมะพร้าวมันยิ่งงงไปใหญ่เลย เพราะจิตกับมะพร้าวมันเกี่ยวอะไรกัน จิตกับส้มโอมันเกี่ยวอะไรกัน จิตก็คือจิต ส้มโอก็คือส้มโอ แล้วจิตอะไรเกี่ยวกับส้มโอ ยิ่งเปรียบเป็นส้มโอ ก็เอาส้มโอเป็นตัวตั้งเลย เขาอุปมาอุปมัยเฉยๆ นี่เอาเริ่มต้นเลยใช่ไหม?

ถาม : ถ้ามีความคิดแปลว่าขาดสติจริงหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : ไม่จริง ไม่จริง เพราะในพระไตรปิฎก แล้วหลวงตาท่านพูดประจำ

“เราต้องการสติในทุกเมื่อ ในทุกสถาน ในการทำงานทุกอย่าง แม้แต่งานทางโลก นักเรียนมีการศึกษาก็ต้องใช้สติ ต้องปรารถนามีสติ ถ้ามีสติ งานทุกอย่างมันจะเป็นงานที่ประสบความสำเร็จ ถ้าขาดสติงานนั้นจะเสียหาย”

ฉะนั้น ถ้ามีความคิดแปลว่าขาดสตินี่ไม่จริง ไม่จริง เพราะสติก็คือสติ สมาธิก็สมาธิ มันคนละเรื่องกัน มันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน สติคือความระลึกรู้ คือมีสติพร้อมสมบูรณ์ มีความตั้งสติ เห็นไหม เราจะเตรียมพร้อมทุกอย่างทำให้ได้ชัดเจนมาก แล้วสติพอตั้งแล้วมันก็เริ่มอ่อนลง เราเพ่ง เราดูอะไรสักพักหนึ่งมันจะล้า แล้วมันก็จะจางลงเป็นธรรมดา นี่คือเรื่องของสติล้วนๆ

ความคิด! ความคิดก็เป็นความคิด ความคิดถ้าเผลอ ถ้าเผลอคิด เห็นไหม สติไม่ดีความคิดก็มี แต่ความคิดเผลอนั้นเป็นความคิดที่ขาดสติ ความคิดที่มีสติ สติดีมาก ความคิดดีมาก ความคิดนั้นแจ่มชัดมาก.. นี่ความคิดส่วนความคิด สติส่วนสติ แต่ถ้าความคิดบวกด้วยสติ ความคิดนั้นจะชัดเจนมาก ถ้าความคิดนั้นไม่บวกด้วยสติ ความคิดนั้นเผลอ ความเผอเรอ นี้ความคิดมันก็คิดได้ตลอดเวลา

ฉะนั้น “ถ้ามีความคิดแล้วขาดสติจริงไหม?”

ไม่จริง สติก็เป็นสติ ความคิดก็เป็นความคิด เพราะสติเป็นสติ ไม่ใช่ทำสมาธิไง ถ้าทำสมาธิแล้วมันฟุ้งซ่านสิ เราบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธนะ พุทโธก็คือความคิด เพราะพุทโธ เห็นไหม วิตก วิจาร พุทโธนี่คิดขึ้น

สติคือการระลึกรู้ ที่เราบอกว่าพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ คำว่าพุทโธชัดๆ มันมีสติพร้อม ถ้าไม่มีสติชัดไม่ได้ ถ้าไม่มีสติมันเผลอ มันตกภวังค์ มันหายไป แต่ถ้าชัดๆ พุทโธชัดๆ สติมันพร้อมชัดๆ แล้วความคิด เห็นไหม พุทโธ พุทโธก็คือความคิดนั่นแหละ นี่มีทั้งสติ มีทั้งความคิด มีทั้งความรับรู้ มีทั้งต่างๆ นี่ชัดเจน ความชัดเจนอย่างนี้ในการฝึกหัดของเรา

ฉะนั้น บอกว่า “ถ้ามีความคิดแปลว่าขาดสติ”

ไม่ใช่ นั้นคือความเข้าใจไง นี่เราจับประเด็นของเรานะ พูดถึงเราจับประเด็นว่าคนถามนี่เข้าใจว่า เข้าใจว่าสติก็คือสติ สมาธิก็คือสมาธิ เราจะบอกว่าอย่างนี้นะ เราจะบอกว่าใช่ สติ.. ตามปริยัตินี่สติ สมาธิ ปัญญามันแยกชัดเจน แต่เวลาทำงาน เห็นไหม อย่างเช่นแกงนี่ แกงมีอะไรบ้างล่ะ? มีมะเขือ มีกะทิ มีน้ำ มีผงชูรส จะแกงไก่ แกงหมู จะแกงเนื้อ แกงอะไรล่ะ? เครื่องแกงกับทุกอย่าง พอมันผสมเป็นแกงขึ้นมาแล้วมันสำเร็จไง

ฉะนั้น ความคิด เวลาเราคิดขึ้นมา ถ้าความคิดที่มีสติปัญญา เห็นไหม มันมีสติ มันมีสมาธิ มันมีรูป มันมีเวทนา มันมีสัญญา มันมีสังขาร มันมีวิญญาณ มันครบกระบวนการของมัน พอครบกระบวนการของมัน มันถึงออกมาเป็นความรู้สึก มาเป็นความคิดไง

ฉะนั้น พอเป็นความคิดแล้วเราจะไปแยก พวกนี้แยกไม่ถูก เราแยกไม่เป็นหรอก แยกไม่ถูกด้วย แล้วแยกไม่เป็นด้วย แล้วไม่เข้าใจด้วย เพราะอะไร? เพราะไม่เคยทำความสงบของใจ ไม่เคยรู้ตามความเป็นจริงไง แต่ถ้ารู้ตามความเป็นจริงแล้วนี่มันจะเข้าใจเรื่องนี้ อย่างเช่นเราจะสอนทำครัว ทำครัวมันต้องมีวัตถุดิบทั้งหมด วัตถุดิบนั่นแหละคือศีล สมาธิ ปัญญา แต่เวลาเราผสม เวลาเป็นไป เห็นไหม เดี๋ยวจะพูดไปข้างหน้า ข้อที่ ๕. เวลามันเป็นไป มันเป็นไปอย่างไร?

ฉะนั้น เราจะแยกออกมาให้ชัดเจน นี่ชัดเจนก็ชัดเจนของเรา แต่เวลาทำไปมันมีส่วนผสม มันแบบว่าเกี่ยวเนื่องกันไป

ฉะนั้น “ถ้ามีความคิดแปลว่าขาดสติใช่ไหม?”

ไม่ใช่ ไม่ใช่.. เพียงแต่ว่าถ้ามีความคิด ถ้าสติพร้อม ความคิดชัดเจน แต่ถ้ามันเป็นความฟุ้งซ่าน เห็นไหม เวลาเราฟุ้งซ่าน เราเดือดร้อน เราทุกข์ยากนี่เราต้องการความสงบ เราต้องการการดับความรู้สึกนึกคิดให้จิตมันลงสู่สมาธิ ให้มันปล่อยวางให้หมด การปล่อยวางนั่นน่ะ อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

นี่เขาว่า “ถ้ามีความคิด” ความคิดอะไรล่ะ? คิดดี คิดชั่ว คิดกลางๆ คิดอะไรล่ะ? คิดบวก คิดลบ ถ้าคิดลบนี่ทุกข์มากเลย คิดบวกล่ะ? แล้วถ้าคิดเป็นธรรมล่ะ? แต่ถ้ามีสติล่ะ? ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วปัญญาอบรมสมาธิมันเกิดได้อย่างไร? ความคิดนี่คิดให้สงบก็ได้ นี่มีความคิดเขาเรียกปัญญาอบรมสมาธิ มีสติพร้อมเข้าไป ไล่เข้าไป มันคิดเห็นโทษมันก็ปล่อย คิดเห็นโทษมันก็ปล่อย ปล่อย ปล่อย เห็นไหม นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ความคิดมันคิดให้ปล่อยก็ได้

ฉะนั้น บอกว่า “ถ้ามีความคิดแปลว่าขาดสติ”

ไม่.. สติเป็นสติ สมาธิเป็นสมาธิไม่เกี่ยวกัน นี่ข้อที่ ๑.

ถาม : ข้อ ๒. จากข้อที่ ๑. ถ้าเท็จแล้ว..

หลวงพ่อ : ข้อที่ ๑. เขาว่า “ถ้ามีความคิดแล้วแปลว่าขาดสติจริงหรือเท็จ” เห็นไหม ถ้าอย่างนี้แปลว่าเท็จ ทีนี้พอข้อ ๒.

ถาม : ๒. ถ้าเท็จ! ถ้าเท็จนะ.. อยากเรียนถามว่าความคิดอย่างใดคือมีสติ ความคิดอย่างใดคือไม่มีสติ แบ่งแยกอย่างใด?

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) โอ้โฮ.. มันก็เหมือนกับเด็กๆ เมื่อกี้ที่กลับไปเลย อย่างไรคือร้องไห้ถูก อย่างไรคือร้องไห้ผิด ถ้าร้องไห้เรียกร้องนี่ผิด ถ้าร้องไห้อยากกินข้าวนี่ถูก

เขาบอกว่า “ถ้าเท็จ ความคิดอย่างใดถึงเป็นความคิดที่ผิด อยากถามว่าความคิดที่มีสติแล้วเป็นอย่างใด แล้วความคิดที่ขาดสติ”

ความคิดที่มีสติคือเราระลึกรู้ แล้วเราสามัญสำนึกรู้หมด ความคิดนี่มีสติ จับต้องสิ่งใดชัดเจนมาก คนมีสติทำอะไรก็ถูกต้อง จะผิดพลาดน้อยมาก ผิดพลาดน้อยมาก แต่ถ้าคนขาดสติ เห็นไหม สักแต่ว่าคิด คิดเหมือนกัน คิดไป ทำไปเหมือนกับทำด้วยสัญชาตญาณ นั่นล่ะขาดสติ แต่ถ้ามีสติ เราสังเกตสิ เวลาเราคิดอะไรอยู่ ถ้าสติพร้อมนี่ชัดเจนมากเลย แล้วคิดๆๆ ไปนี่ก็คิดไป แล้วก็ เออ.. ลืม กลับมาคิดใหม่ชัดเจนขึ้นมา

นี่สติเป็นสติ ความคิดเป็นความคิด แต่ร่องสมองเราคิดจนเคยชิน งานในวิชาชีพใครก็วิชาชีพเขา วิชาชีพใคร เราทำบ่อยครั้งเข้านี่คล่องตัวเลย พอเริ่มต้นกระบวนการมันไปถึงจบเลย นี่แล้วทำบ่อยครั้งเข้ามันเป็นอัตโนมัติเลย แต่ถ้ามีสตินะ พอความคิดชัดเจนขึ้นมา โอ้โฮ.. ยิ่งเห็นชัดเจนเข้าไปใหญ่

ฉะนั้น “สิ่งใดเป็นเท็จ”

คำว่าเท็จนี่นะ ความคิดมันเป็นความคิด เพราะความคิดนะ เดี๋ยวถ้าถึงจะละขันธ์ ๕ แล้ว ความคิดกับขันธ์ ๕ มันคนละเรื่องเลย แต่! แต่มันต้องทำให้จบนะถึงเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเรายังเป็นปุถุชนอยู่มันไม่เป็นหรอก อย่างเช่นธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า

ธรรมและวินัย เห็นไหม ธรรมวินัยมันเป็นกิริยาของจิต พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป นี่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นิพพานไปพร้อมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่เหลือคือกิริยา คือวิธีการ พอคือวิธีการปั๊บเราก็ศึกษาวิธีการกัน แล้วเราก็วิจัยวิธีการกัน แต่เรายังไม่รู้อะไรเลย แต่พอเรารู้ปั๊บเราก็จะเข้าใจวิธีการอันนั้นหมดเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะฟังแล้วให้เข้าใจนี่ยากมาก แล้วจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าปฏิบัติไปแล้วนะ อ๋อ! พออ๋อขึ้นมาปั๊บปล่อยหมดเลย แล้วรู้จริงเลย พอรู้จริง เห็นไหม นี่ภาคปฏิบัติมันจะเป็นแบบนั้น ฉะนั้น..

ถาม : ข้อ ๒. จากข้อที่ ๑. ถ้าเท็จ อยากเรียนถามว่าความคิดอย่างใดคือยังมีสติ แล้วความคิดอย่างใดที่ขาดสติ

หลวงพ่อ : ความคิดก็คือความคิด ถ้ามีสติมันก็พร้อมหมดแหละ.. สตินะ เดี๋ยวเวลาปฏิบัติไปมันจะมีมหาสติอีกนะ มหาสติมันทันความคิดอย่างละเอียดนะ ความคิดโดยปกตินี่ความคิดหยาบๆ นะ ความคิดอย่างหยาบคือขันธ์อย่างหยาบไง เดี๋ยวจะละเอียดเข้าไปนะ

แล้วอย่างเช่นความคิดอย่างละเอียดสุด เวลากามราคะมันจะเกิดขึ้น กามราคะนะ เราไปมองกันว่าที่นู่นเป็นกาม ที่นี่เป็นกาม เราไม่ได้มองหรอกว่ามันไหวในใจนี่เป็นกาม ถ้าใจมันไหวนี่มันรู้ทันหมดนะ อย่างเช่นครูบาอาจารย์ เห็นไหม พอความคิดมันจะขยับ แน่ะ! แน่ะ! แน่ะ! เขาเรียกเสวยอารมณ์ไง นี่มันไม่เสวยคือใจมันไม่คิด พลังงานคือตัวจิตมันไม่คิด ความคิดกับจิตมันอยู่ด้วยกันแต่มันไม่คิดไง

ฉะนั้น ต่อไป..

ถาม : ข้อ ๓. ความคิดจัดเป็นสังขารในขันธ์ ๕ จริงหรือเท็จครับ หรือว่าความคิดเป็นผลมาจากขันธ์ ๕ ทำงานร่วมกันครับ ถ้าเปลือกของจิตคือความคิด แล้วขันธ์ ๕ อยู่ในลักษณะไหน รบกวนท่านอาจารย์อุปมาอุปมัยด้วย

หลวงพ่อ : เราเห็นภาพนะ เวลาเราเห็นภาพนี่ แล้วเราไม่เข้าใจภาพนั้น เราเคยเห็นไหม เราเคยเห็นภาพ เห็นอะไร เราเห็นอยู่ แต่เราไม่รู้ว่าคืออะไร? ทุกคนเคยเป็นอย่างนี้ไหม? เวลาเห็นอะไร หรือได้ยินเสียง ได้ยินเสียงนี่รู้ว่าเสียงนะ แต่ไม่รู้ว่าเสียงอะไร? แต่ถ้าเรามีสติปั๊บเสียงนี่ชัดเจนมากเลย เห็นไหม เสียงคือเสียงอะไร? เสียงดี เสียงชั่ว เสียงเขาติฉินนินทา เสียงเขาส่งเสริมเราจะรู้เลย ภาพก็เหมือนกัน นี่สิ่งนี้ขันธ์ ๕ ถ้ามันสักแต่ว่า เห็นภาพไหม? เห็น แต่ไม่รู้ ไม่รู้ว่าภาพอะไร

นี่ไงเขาบอกว่า ถ้าขันธ์ ๕ กระบวนการไง ให้อุปมาอุปมัยว่าถ้าขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ แล้วความคิดมันคืออะไร? ความคิดคือขันธ์ ๕ มันสมบูรณ์ สมบูรณ์นะ รูป.. รูปคือพลังงานมันแสดงตัว เวทนาใช่ไหม? รูป เวทนา.. เวทนามันมีรสชาติ นี่เวทนาคือสุข ทุกข์เฉยๆ เวทนาคือรสชาติ นี่สัญญารสชาติอะไร? สัญญารสชาติอะไร? สังขารพอรู้อะไรปั๊บมันก็ปรุง ปรุงวิญญาณรับรู้มันเป็นกระบวนการ นี่ขันธ์ ๕ มันจะหมุนไป

พอขันธ์ ๕ หมุนรอบหนึ่งก็มีความคิดอันหนึ่ง นี่รูปของจิต.. แล้วขันธ์ ๕ นี่พอรูปของจิตมันเกิดขึ้นมาใช่ไหม? มันก็ส่งต่อ เกี่ยวเนื่อง เห็นไหม รูปอะไร? เรื่องอะไร? เสียงอะไร? มันก็เกี่ยวเนื่องกันไป นี่อุปมาอุปมัยว่าขันธ์ ๕ มันเป็นแบบนี้

ฉะนั้น เวลาจิตสงบแล้วนี่ เขาจับได้ถึงแยกได้ไง แยกว่านี่เป็นรูป นี่เป็นเวทนา นี่เป็นสัญญา นี่เป็นสังขาร นี่เป็นวิญญาณ พอแยกออกความคิดมันก็ไม่ไป แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันใช้ปัญญาไล่เข้าไปมันหยุดๆๆ หยุดนี้มันไม่มีเหตุผลไง หยุดนี่ใช้ปัญญา ปัญญามันก็เป็นเหตุผลจากข้างนอก เหตุผลว่าคิดเรื่องอะไร? คิดเรื่องไร้สาระ คิดเรื่องไม่เป็นเรื่อง มันก็หยุด มันก็หยุด มันก็หยุด เห็นไหม หยุดเฉยๆ แต่มันยังจับตัวไม่ได้

พอมันหยุดบ่อยๆ นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ พอสมาธิมันตั้งมั่นๆ ปั๊บ พอมันจะแสดงออก มันจะเสวยอารมณ์มันก็จับได้ พอจับได้ นั่นล่ะคือจิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตสงบแล้วนะเห็นความคิด นี่เห็นความคิด ไอ้นี่ความคิดเป็นเราไง เริ่มต้นนี่ความคิดเป็นเรานะ เพราะเรายังทำอะไรไม่เป็น ความคิดแบบว่าจิตยังไม่สงบ ถ้าจิตมันสงบนะ สงบจากความคิดไง

นี่ความคิดเป็นเรา แต่มันสงบจากความคิด เพราะความคิดมันปล่อยขันธ์ ๕ พอปล่อยขันธ์ ๕ มันเข้ามาสู่พลังงาน มาสู่จิต พอมาสู่จิตมันก็ปล่อยขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ถึงไม่ใช่จิต จิตถึงไม่ใช่ขันธ์ ๕ จิตถึงเป็นเปลือกของจิตไง

เปลือกของจิตๆ คือตัวจิตเป็นตัวพลังงาน ตัวความคิดคือการกระทำงานของมัน พอมันปล่อยเข้ามามันก็เป็นขันธ์ ๕ มันก็เป็นจิต จิตมันก็ปล่อยขันธ์ ๕ พอปล่อยขันธ์ ๕ มันสงบของมันบ่อยครั้งเข้า พอมันจะเสวยอารมณ์มันจับได้ มันรู้ไงว่ามือเราจับของสิ่งใด จิตมันเสวยอารมณ์มันก็จับสิ่งนั้น พอจับสิ่งนั้นปั๊บนี่จิตเห็นอาการของจิต.. คือจิตจับสิ่งใด จิตเห็นสิ่งนั้น พอเห็นสิ่งนั้นมันก็พิจารณาของมันไป นี่ไงมันถึงทิ้งขันธ์ ๕ ได้ มันถึงว่าเปลือกของจิต เปลือกของจิต เปลือกของจิตแน่นอน

ทีนี้พอมันจะมีปัญหา มีปัญหาว่า อ้าว.. ก็ในปริยัติบอกว่า... ก็นั่นมันตำราไง แต่ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม

นี่เขาว่า “อุปมาอุปมัยว่าถ้าเปลือกของจิตเป็นความคิด แล้วขันธ์ ๕ อยู่ในลักษณะใด”

นี่ถ้าเปลือกของจิต.. เปลือกของจิตก็คืออารมณ์นี่แหละ แต่เวลาเราจับเปลือกใช่ไหม อย่างเช่นเราจับส้ม หยิบส้มนี่ ส้มที่เราซื้อมาใหม่ๆ ยังไม่ได้แกะเปลือก เราหยิบส้มนี่เราหยิบอะไร? เราก็หยิบส้มทั้งใบใช่ไหม? หยิบส้มทั้งใบ มันก็หยิบที่เปลือกใช่ไหม? เปลือกของจิตมันก็คือเปลือกใช่ไหม? แต่ในเปลือกนั้นมีเนื้อส้มอยู่ข้างในไหม? นี่คำว่าเปลือกของจิตมันก็หุ้มจิตอยู่

ฉะนั้น พอขันธ์ ๕ เราจะปฏิเสธว่าไม่มีจิตไม่ได้หรอก เพราะมันหุ้มจิตอยู่ มันหุ้มจิตอยู่ แต่เวลาเราพิจารณาเข้าไปมันจะลึกเข้าไป แล้วมันลึกเข้าไป มันผ่านจากขันธ์เข้าไปมันเป็นจิต แล้วมันปล่อยจิตได้ มันปล่อยขันธ์ ๕ ได้ไง มันถึงว่าเปลือกของจิต

คนที่ทำได้ คนที่ทำได้นะ.. ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติเรื่องนี้ละเอียดมาก กรณีอย่างนี้ส่วนใหญ่จะเป็นปัญญาวิมุตติ แต่ถ้าเป็นเจโต เจโตนี่จิตมันเห็นภาพ เห็นไหม ที่ว่าเห็นภาพแล้ววิภาคะขยายส่วนแยกส่วน อันนี้มันคนละแนวทางกัน

ฉะนั้น อุปมาอุปมัยก็บอกว่า “เหมือนกับส้มกับเปลือกส้ม” แต่ส้มกับเปลือกส้ม ส้มนี้เป็นอุปมาอุปมัยนะ แต่เวลาจิตนี่มันพร้อมมาหมด มันพร้อมมาหมด แต่เพราะตัวจิตมันจะแก้ตัวจิตเอง มันถึงหดสั้นเข้ามา หดเข้ามาจนมันเป็นสมาธิ.. สมาธิไม่ใช่ขันธ์นะ ขันธ์เป็นขันธ์ ขันธ์ ๕ นี่เป็นขันธ์ เวลาสมาธิมันลึกกว่าขันธ์เข้าไป มันถึงปล่อยขันธ์ได้ มันปล่อยขันธ์สู่ตัว เพราะมันสงบ มันปล่อยหมด

ฉะนั้น สมาธิถ้ายังเป็นขณิกะ อุปจาระนี่ยังคิดอยู่ ยังมีความคิดอยู่ ถ้าเป็นอัปปนานี่ปล่อยหมดเลย สักแต่ว่าเลย พลังงานเฉยๆ เลย พลังงานเฉยๆ ถึงทำอะไรไม่ได้ไง เพราะมันไม่มีจิต เห็นไหม มันไม่มีขันธ์ ๕ ไง มันจับต้องกันไม่ได้ไง พอมันคลายตัวออกมามันถึงจับขันธ์ ๕ นี่ไงที่ว่าระหว่างเปลือกของจิตกับจิตมันต่างกันอย่างไร? นี่พูดถึงว่าอุปมาอุปมัย เห็นไหม

ถาม : ข้อ ๔. การละความคิดทั้งหมดในชีวิต เช่นถ้าเผลอคิดก็ต้องหยุดคิด แบบนี้คือการเจริญสติหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : ไม่เลย.. ไม่เลย เห็นไหม นี่เขาบอกว่า “ถ้าเผลอคิดต้องหยุดคิด” เผลอคิดมันก็เผลอไง ความคิดมันก็คือความคิด

“นี่ถ้ามีสติต้องหยุดคิดใช่ไหมถึงเป็นการเจริญสติ”

ถ้าหยุดคิดหยุดอย่างไรล่ะ? แต่ถ้ามันมีสติ สติมันฟื้นกลับมา เผลอก็คือเผลอ คิดก็คือคิดมันคนละเรื่องกัน ความคิดก็คือความคิด สติก็คือสติ แต่การทำสมาธิมันต้องจิตนี่ การฝึกสติมันระลึกรู้ใช่ไหม คิดเรื่องสิ่งใด แล้วพอมันจางไปเราก็ฝึกของเรา เราเกาะได้ เห็นไหม พอเกาะได้เหมือนกับเขาเพาะกาย เขาเพาะกายเขาจะฟื้นฟูร่างกายของเขา แล้วเวลากล้ามเนื้อมันเกิดขึ้นมา มันมีกล้ามขึ้นมา มีต่างๆ ขึ้นมา มันแข็งแรงขึ้นมาเพราะอะไรล่ะ? เพราะเขาออกกำลังกาย

นี่ฝึกสติ! ฝึกสติ! ฝึกสติ! นี่เราฝึกซ้ำๆๆๆ จิตมันก็เหมือนกับร่างกายมันเข้มแข็งขึ้นมา สติมันเข้มแข็งขึ้นมา พอเข้มแข็งขึ้นมานี่มันเกี่ยวอะไรกันล่ะ? ความคิดก็คือความคิด ความคิดมันเป็นขันธ์ มันเป็นสังขารขันธ์ สติก็คือสติ สมาธิก็คือสมาธิ มันคนละเรื่องหมดเลย แต่เวลาฝึกหัดมันต้องอาศัยกันไง ถ้าไม่อาศัยกันจิตมันทำงานอย่างไร?

อย่างเช่นคนบ้า คนบ้าเขาขาดสติ เห็นไหม เขาจะมีสติเหมือนเราได้ไหม? เขาจะมีความคิดเหมือนเรา เขาจะควบคุมตัวเขาได้ไหม? ไม่ได้ เพราะเขาขาดสติไป นี่เขามีจิตเหมือนกันแต่มันขาดช่วงกันไป แต่เราไม่ใช่คนบ้า เรามีสติ เห็นไหม นี่มันเผลอ.. มันเผลอก็แล้วไป เผลอก็ฝึกใหม่ เผลอก็ฝึกใหม่ แต่มันเหมือนคนเพาะกายที่ร่างกายเขาเข้มแข็งมาก เขาประกวดการเพาะกายของเขา

จิตของเรา ถ้าเราฝึกหัดจนเป็นอย่างนั้นนะ เรื่องเผลอนี่มันค่อยๆ จางไปจนหายไป มันจะชัดเจนของมัน มันไม่เกี่ยวกัน ไอ้หยุดคิดหรือไม่หยุดคิด ไอ้หยุดคิดนี่มันเป็นโวหาร เพราะว่าความหยุดคิด.. นี่เซนมันเป็นอย่างนี้ ถ้าหยุดคิดนี่มันก็ยกหลวงปู่ดูลย์อีกแหละ หลวงปู่ดูลย์บอก

“คิดเท่าไรก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด แต่ก็ต้องใช้ความคิด”

นี่เวลาหยุดคิด แต่ก็ต้องใช้ความคิด เห็นไหม เพราะความคิด ปัญญานี่ตัดทิ้งไม่ได้ ความคิดนี่ความคิดในระดับใด ความคิดของเด็กมันก็คิดในมุมมองของเด็ก เด็กมันจะคิดเรื่องอะไรล่ะ? มันก็คิดแต่เรื่องรวมหัวกันไปหลอกพ่อแม่แอบไปเที่ยว ก็เท่านั้นแหละเด็กคิด ถ้าผู้ใหญ่คิด ผู้ใหญ่คิดมันก็ต้องสร้างเนื้อสร้างตัว ถ้าปู่ ย่า ตา ยายคิด ก็บอกว่าครอบครัวของเราก็อยากให้เข้มแข็ง ดูแลตั้งแต่ลูกตั้งแต่หลาน นี่ความคิดของใครล่ะ?

ฉะนั้น ถึงว่า “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด แต่การหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด”

ฉะนั้น พอต้องใช้ความคิด ความคิดมันอยู่ในขั้นตอนไหน? อยู่ในระดับไหน? นี่ขั้นของโสดาบัน.. โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค ความคิดนี่ ๔ ชั้นไม่เหมือนกัน แตกต่างกันทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น บอกว่าหยุดคิดแล้วไม่คิดอะไรเลย นี่ไม่คิดขั้นโสดาบัน แล้วสกิทาคามี ขั้นอนาคามี ขั้นอรหันต์ล่ะ?

ไม่คิดขั้นโสดาบัน โสดาบันก็ไม่มี มันต้องมีคิดขั้นโสดาบัน แล้วถ้าคิดขั้นโสดาบันจบแล้วนะ มันก็แค่โสดาบันน่ะ มันไปไหนไม่รอดหรอก มันต้องคิดขั้นของสกิทาคามีอีกต่างหาก แล้วมันก็ไปคิดขั้นของอนาคามี แล้วมันก็ไปคิดขั้นของอรหันต์ แล้วความคิดนี้เป็นความคิดอย่างไรล่ะ?

ความคิดนี้มันเป็นมรรคญาณ มรรคญาณเพราะความคิดเฉยๆ มันไม่มีหรอก ความคิดมันเกิดจากจิต ถ้าจิตไม่สงบนะมันก็คิดเป็นโลกียะ แต่ถ้าจิตสงบมันคิดเป็นโลกุตตระ ถ้าคิดเป็นโลกุตตระนี่สังขารปรุงแต่ง มันมีสมาธิรองรับ ฉะนั้น พอมันคิดเป็นมรรค เป็นมรรคเพราะอะไร? เพราะงานชอบ เพียรชอบ มันชอบธรรมของมัน ถ้าชอบธรรมของมันแล้ว พอกระบวนการมันชอบธรรมแล้ว พอเข้าไปแล้วนี่มันจะรู้ของมัน

ฉะนั้น บอกว่า “การละความคิดทั้งหมดในชีวิต ถ้าเผลอคิดต้องหยุดคิด”

นี่คำถามนะ.. “แบบนี้คือการเจริญสติหรือไม่”

ไม่ทั้งนั้นแหละ.. ฉะนั้น ถ้าสงสัยแล้วให้วาง ทำความสงบของใจ โดยปัญญาอบรมสมาธิ หรือสมาธิอบรมปัญญา แล้วพอปัญญามันเกิดขึ้นมา นี่คำถามที่ถามๆ มาจะเข้าใจหมดเลย เพราะมันเป็นไปโดยข้อเท็จจริงในใจ ถ้าใจมันเป็นความจริงแล้วนะ ไอ้คำถามนี้มันเลยไม่สงสัยไง

นี้พูดถึงว่า “การละความคิดทั้งหมดในชีวิต ถ้าเผลอสติต้องหยุดคิด แบบนี้เป็นการเจริญสติหรือไม่”

ไม่! ความคิดก็คือความคิด ระลึกรู้ต่างหากคือการเจริญสติ ระลึกรู้ๆ พอมันเผลอปั๊บสติมา พอสติมาปั๊บมันก็มีสติพร้อม แล้วมันก็เจริญสติไป ถ้าหยุดคิดเลยมันก็เหมือนกับหักพร้าด้วยเข่า คือเลิกทำ แล้วมันได้อะไรต่อไป

ถาม : ข้อ ๕. เคยได้ยินธรรมะที่ว่า “ให้ทิ้งขันธ์ ๕” แต่ขันธ์ ๕ ประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คำว่าทิ้งนี้หมายถึงการทิ้งสังขาร นั้นหมายถึงการพยายามไม่คิด หรือหยุดความคิดปรุงแต่งทั้งปวงจริงไหมครับ ถ้าไม่จริงแล้ว การปฏิบัติต่อขันธ์ ๕ อย่างถูกวิธีคืออย่างไรครับ เช่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กระบวนการการรับรู้ ให้รับรู้เฉยๆ ไม่ปรุงแต่ง ถ้ามีสัญญาก็หักห้ามไม่ให้นำมาความรู้สึกเดิม

หลวงพ่อ : นี่คือการเห็นเขามีตังค์ไง นี่ความคิดอย่างนี้วิทยาศาสตร์นะ เห็นโยมมีตังค์ใช่ไหม เราก็อยากมีตังค์ เราก็จะพิมพ์แบงก์มาให้เหมือนโยม เห็นโยมมีตังค์ เราก็ซื้อกระดาษมาเลยนะ เราจะพิมพ์แบงก์ เขามีล้านหนึ่ง กูจะพิมพ์ล้านหนึ่ง เขามีสองล้านกูจะพิมพ์สองล้าน แล้วมันเป็นแบงก์ได้ไหมล่ะ? เราพิมพ์เองนี่เป็นแบงก์ปลอมหมดเลย

นี้การทิ้งขันธ์ ๕ เห็นไหม นี่การทิ้งขันธ์ ๕ ในคำนิยามหมายถึงอย่างไร? แล้วทิ้งอย่างไร? นี่เขาบอกว่าปรุงแต่งแล้วเราก็ไม่ปรุงแต่งใช่ไหม? เราไม่ปรุงแต่ง เวทนาก็คือเวทนาใช่ไหม? พอถึงเวลาเราก็ไม่คิด เราก็หยุดคิด

นี่คิดแบบวิทยาศาสตร์ไง คิดแบบวิทยาศาสตร์ เห็นไหม แต่ถ้าคิดแบบธรรม.. คิดแบบธรรมนี่ใช่ กว่าจะทิ้งขันธ์ ๕ ได้ เรามีขันธ์ ๕ เต็มตัว เรามีความคิดอยู่เต็มตัว เรามีสัญชาตญาณอยู่เต็มความรู้สึก สัญชาตญาณของเรานี่เป็นโลกียปัญญา คือความรู้สึกนึกคิดของเราเป็นสามัญสำนึกทั้งหมดเลย แล้วเราต้องเริ่มกระบวนการของมันด้วยการทำความสงบของใจ ใจเริ่มสงบของมันเข้ามา

เหมือนกับเราเห็นเขามีเงิน มีแบงก์ เราอยากมีแบงก์เราก็ต้องทำงานของเรา เราอยากจะมีแบงก์เราก็ต้องทำธุรกิจของเรา ทำธุรกิจของเรา มันได้ผลตอบแทนมาเขาให้มาเป็นแบงก์ เขาให้มาเป็นแบงก์ นี่ก็เหมือนกัน เราอยากจะทิ้งขันธ์ ๕ เราต้องทำความสงบของใจเข้ามา ไม่ใช่ว่าอยากทิ้งขันธ์ ๕ ก็ไปทิ้งขันธ์ ๕ แล้วเอาอะไรไปทิ้งล่ะ? ทิ้งตรงไหนล่ะ เอาอะไรไปทิ้ง?

นี่ก็เหมือนกัน เห็นเขามีตังค์ ก็จะพิมพ์ตังค์กับเขาเลย เขามีตังค์เพราะเขาทำงาน เขาทำธุรกิจของเขา เขาทำหน้าที่การงานเขาถึงได้ตังค์มา อยากทิ้งขันธ์ ๕ ก็ต้องมาทำความสงบของใจ กลับมาทำความสงบของใจ พอใจสงบแล้ว จากที่สามัญสำนึกนี่ ขันธ์ ๕ เป็นเรา ทุกอย่างเป็นขันธ์ ๕ หมด พอสงบเข้ามาก็ปล่อยขันธ์ ๕ พอปล่อยขันธ์ ๕ เสร็จแล้ว พอปล่อยขันธ์ ๕ แล้วมันก็เป็นสมาธิ

สมาธิ นี่สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ เราบอกเราจะทำงาน เราฟิตเต็มที่เลยนะ อู้ฮู.. แข็งแรงเต็มที่เลยจะทำงานๆ แต่ไม่มีงานทำก็ไม่มีแบงก์เหมือนกัน โอ้โฮ.. ฟื้นฟูตัวเองนะ โอ้โฮ.. ตัวเองนี่แข็งแรงมาก มีปัญญามาก ทุกคนถ้าทำธุรกิจต้องร่ำรวยมาก แต่ไม่ได้ทำ ไม่ได้ทำก็ไม่ได้

จิตสงบขนาดไหน จิตพิจารณาโดยปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญาก็ได้มันปล่อยเข้ามา แต่ถ้ามันยังไม่เสวยอารมณ์ ถ้ามันยังจับกาย เวทนา จิต ธรรมไม่ได้ นี่ถ้ามันจับกาย เวทนา จิต ธรรมนะ จับจิต จิตคืออะไร? จิตก็คือขันธ์ ๕ จิตธรรมารมณ์ เห็นไหม จิต.. เวทนา นี่เวทนาก็มีรูป มีเวทนา มีสัญญา สังขาร วิญญาณของมัน มันก็มีขันธ์ ๕

นี่พิจารณามัน พิจารณามัน เห็นไหม เวลาจิตเห็นอาการของจิต เห็นอาการคือเห็นจับความคิดได้ จับความคิดได้ต้องวิปัสสนามัน คือแยกแยะมัน อะไรเป็นเวทนา? เวทนาเกิดขึ้นมานั่นล่ะคือรูป รูปพร้อมแล้ว ความปวดนั่นคือรูป รูปของความปวด แล้วในความปวดคืออะไร? ปวดคือความทุกข์ คือทุกขเวทนา ทุกขเวทนามันเป็นอย่างไร? ทุกขเวทนาเพราะเรารู้ว่าปวดอย่างนี้นี่สัญญา

ปวดๆ อย่างนี้เขาเรียกสัญญา เพราะไม่มีสัญญามันจะปวดๆ อย่างนี้ไม่ได้ พอปวดๆ อย่างนี้ปั๊บ ทำไมถึงปวดล่ะ? ปวดเพราะสังขารมันก็ปรุง มันปวดเพราะนั่น.. เพราะนั่น.. เพราะนั่น.. มันยิ่งปวดเข้าไปใหญ่เลยเพราะสังขารมันปรุง สังขารปรุงเสร็จแล้ววิญญาณก็รับรู้ใช่ไหม? มันปวดเพราะเหตุนั้นๆ เห็นไหม นี่มันก็คือขันธ์ ๕

ถ้าเราพิจารณาเวทนาจนมันปล่อย ปล่อยเวทนา เห็นไหม ปล่อยขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่ไงทิ้งขันธ์ ๕ นี่ทิ้งขันธ์ ๕ มันปล่อยๆๆ ปล่อยสมุจเฉทจนมันขาด ขาดมันก็ทิ้ง พอทิ้งไปแล้ว พอมันขาดบ่อยครั้งเข้ามันตทังคปหาน แล้วมันสมุจเฉทปหาน นี้การทิ้งขันธ์ ๕ ไง

การทิ้ง การปล่อยขันธ์ ๕ มันต้องปล่อยโดยข้อเท็จจริง ปล่อยโดยวิปัสสนาญาณ นี่ถ้าจิตสงบเข้ามา สมถะคือทำจิตสงบเข้ามา อันนี้คือทำสมถะ.. ถ้าไม่มีสมถะ ไม่มีตัวตน ไม่มีจิต มันจะไปวิปัสสนาของใคร? เพราะการทำนี่มันต้องเป็นการชนะตนเอง เห็นไหม ถ้าตนเองไม่ชนะตนเอง ตนเองไม่มีผู้วิปัสสนา มันจะเอาอะไรมาวิปัสสนา

นี่พอจิตมันสงบแล้ว พอมันจับได้ พอมันวิปัสสนา เห็นไหม มันปล่อย ปล่อย ปล่อย.. จนถึงเวลาที่สุดมันขาดนะ นี่เวลามันขาดไป ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่ไงขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ เพราะเวลามันปล่อยแล้วมันหายไป ไม่มีเลย จิตเด่นชัดมาก

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันไม่ปวด.. มันไม่ใช่ไม่ปวด มันไม่ใช่ไม่พอใจ มันไม่มีสิ่งใดเลย เห็นไหม นี่ไม่ใช่ทุกข์มันก็ปล่อยหมด พอปล่อยหมด มันปล่อยบ่อยครั้งมันถึงขาด พอขาดมันก็ทิ้งขันธ์ ๕ ได้สมบูรณ์.. นี่วิธีการไง วิธีการทำที่ถูกต้องนะ แต่ความเข้าใจของผู้ถาม เห็นไหม เขาบอกว่า

“ถ้ามันเกิดขึ้นก็พยายามไม่คิด หรือการหยุดคิดปรุงแต่งทั้งปวงจริงไหมครับ ถ้าไม่จริง..”

หยุดคิด หยุดปรุงแต่ง คิดเท่าไรก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด หยุดคิดก็เป็นโสดาบัน.. อย่างนั้นเรานั่งเฉยๆ เราก็เป็นโสดาบัน พยายามไม่คิดมัน พยายามไม่คิด.. ไม่ใช่ ต้องเข้าเผชิญหน้ากับมัน ต้องเข้าเผชิญหน้า ถ้าจิตสงบแล้วต้องเข้าเผชิญหน้ากับมัน พอเผชิญหน้าจนมรรคญาณมันต่อสู้ เห็นไหม ระหว่างกิเลสกับธรรมมันต่อสู้กัน จนแพ้ชนะกันแล้ว พอมันขาดไปแล้วนะหลวงตาท่านใช้คำนี้ เวลาเวทนามันขาดไปแล้วท่านบอกว่า

“แล้วต่อไปนี้มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราอีกวะ”

เวทนาวิกฤติขนาดไหนเราก็ได้ผ่านมันมาแล้ว มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอก เห็นไหม เวลามันขาดไปแล้วมันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกอีก มันไม่มีแล้ว นี่พอสิ่งใดมามันทันหมด มันก็จบ

นี่พูดถึงเขาบอกว่า “วิธีการให้ทิ้งขันธ์ ๕ ทิ้งอย่างใด?”

ไม่ได้ทิ้ง ขันธ์ ๕ นี่ความจริงคำว่าทิ้งมันเป็นเวลาคำสอนไง เวลาลูกศิษย์กำลังประพฤติปฏิบัติกัน แล้วไปดีใจ บางทีพอพิจารณาไปแล้วไปยึดติด ไปพอใจ ไปนอนจม นี่ครูบาอาจารย์บอก “ต้องทิ้งมัน ต้องฆ่ามัน ต้องทำลายมัน” นั่นน่ะมันเป็นระดับ ระดับของผู้ที่ภาวนามาระดับนั้น แล้วเวลาไปถามครูบาอาจารย์นะ มันก็อย่างเช่นพวกเด็กๆ มานะ ไม่ใช่ทิ้งนะ ต้องหามันให้เจอก่อนนะ

เริ่มต้นเราต้องทำความสงบของใจ แล้วหามันให้เจอ พอหามันเจอแล้วเอามันมาไต่สวนพิจารณา พอพิจารณาถึงที่สุดแล้วมันต้องทำลายมันคือการทิ้ง การทิ้ง แต่เวลาพอเราไปพิจารณามันใช่ไหม? พอเราได้ผลงานใช่ไหม? เราว่านี่เป็นผลงานของเรา เราก็กอดไว้เลย เห็นไหม

ตามธรรมเขาบอกว่า “ถ้ารู้แล้วให้ปล่อย ให้วาง รู้แล้วไปติดความรู้ของตัวเอง” พอเวลาไปติดความรู้ไง พอเรารู้มาก เราเข้าใจมาก กลัวถ้าทิ้งแล้วเดี๋ยวจะไม่เข้าใจ เดี๋ยวจะไม่มีอะไรไปสอนลูกศิษย์ มันห่วงหน้าพะวงหลัง แต่ถ้ามันทิ้ง มันปล่อย..

ฉะนั้น คำว่าทิ้งมันเป็นระดับหนึ่ง แต่เริ่มต้นเราต้องแสวงหาก่อน เราแสวงหาให้เจอความจริง แต่นี้เราไม่เจอความจริงสิ เราไปเจอแต่ความจำ ไปเจอแต่ความเข้าใจ แล้วเราไปเจอแต่ความเข้าใจว่าเป็นแบบนั้นก็ดีอยู่พักหนึ่ง พอเดี๋ยวบอก เออ.. ไม่ใช่ นี่ทุกข์อีกแล้ว พอใช้ปัญญาไปมันก็ไปเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง เออ.. เจอความจริงอีกแล้ว พอใช้ปัญญาบ่อยครั้งเข้ามันเห็นข้อบกพร่อง เออ.. ไม่ใช่ พอไม่ใช่ก็คอตกอีกแล้ว ก็พิจารณาไป ลึกเข้าไปอีก เออ.. เป็นความจริงอันนั้นแล้ว

อันนี้เป็นความจริงแล้ว พิจารณาเข้าไปว่าเป็นความจริง พอปัญญามันไล่ไปเรื่อยๆ นะ พอถึงที่สุดมันต้องไปจนกระบวนการมันจบสิ้น พอถึงที่สุดจบสิ้น เวลามันขาด เออ.. ไอ้ที่ว่ามันจริงอย่างนี้ จริงอย่างนี้ พอมันใช้ปัญญาไตร่ตรอง ตรวจสอบบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันละเอียดกว่ามันก็ซ่อนตัวอยู่ พอมันแสดงตัว มันก็แสดงตัวออกมาหยาบๆ มันก็สู้เต็มที่ พิจารณาเข้าไปอีก เข้าไปถึงที่สุดเวลามันขาดนะ จบ ทีนี้ไม่มีอีกแล้ว พอไม่มีนั่นล่ะทิ้งขันธ์ ๕ ได้ตามความเป็นจริง

ถาม : สำหรับพระอริยเจ้าที่ทิ้งขันธ์ ๕ ได้ ปกติท่านมีมุมมองต่อขันธ์ ๕ อย่างไรบ้างครับ แล้วควรปฏิบัติอย่างใด

หลวงพ่อ : ท่านมีมุมมองต่อขันธ์ ๕ ด้วยความเห็นคุณ เห็นคุณของขันธ์ ๕ ไง ดูสิเวลาขันธ์ ๕ เห็นไหม เวลาใช้บ่อยครั้งเข้า อย่างเช่นความคิด ความปรุง ความแต่งมันเสื่อมไปนะ เวลาจำไม่ได้ใช่ไหมขันธ์มันเริ่มชราภาพลง เวลาขันธ์ชราภาพลงท่านก็ยังต้องดูแลรักษา ท่านถึงบอกว่าท่านเห็นคุณของขันธ์ ๕ นะ เห็นคุณของการเกิดเป็นมนุษย์ เห็นคุณทั้งหมดเลย

มันเป็นคุณนะ แต่เริ่มต้นที่เราเห็นโทษของมัน เห็นโทษเพราะเรามีกิเลส เรามีอวิชชา อวิชชาใช้ขันธ์ ๕ ไปทำดี ทำชั่ว ทำต่างๆ แต่เราก็ใช้สติปัญญาไตร่ตรองใคร่ครวญในขันธ์ ๕ จนขันธ์ ๕ มันสะอาดบริสุทธิ์ เพราะ! เพราะขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่กิเลส แต่ตัณหาความทะยานอยากมันก็ใช้ขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ นี่นะ เวลากิเลสมันใช้ มันก็ใช้ความคิดนี่ไปคดไปโกง ไปทำลายคนอื่น แต่เวลาธรรมมันใช้นะ มันก็ใช้ขันธ์ ๕ นี่แหละ เอาขันธ์ ๕ นี่ไปทำคุณงามความดี เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ท่านก็เทศน์ผ่านขันธ์ ๕ นี่แหละ ถ้าไม่เอาขันธ์ ๕ ดูสิเวลาหลวงตาท่านเทศน์ท่านบอกว่า

“เดี๋ยวนี้รถมันชราภาพแล้ว ธาตุขันธ์มันเสื่อมสภาพ”

ขันธ์ ๕ มันเสื่อมสภาพ ความจำมันก็จำได้น้อยลง ความรู้สึกนึกคิดมันหดสั้นลง หดสั้นลง จนจิตมันไม่อยากคิด จนจิตมันไม่อยากแสดงออก ถ้าจิตมันไม่แสดงออก ครูบาอาจารย์จะเทศน์ได้อย่างไร? ครูบาอาจารย์จะเอาอะไรมาสอนเรา เวลาภาษาสมมุติก็ภาษาผ่านขันธ์นี่แหละ ผ่านมาเป็นภาษา แต่ตัวภาษามันไม่ใช่โทษ แต่ตัณหาความทะยานอยาก การใช้ภาษาหลอกลวงเขาคือตัวโทษ

กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันใช้ขันธ์ ๕ ออกไปสื่อเพื่อไปหาผลประโยชน์ นี่คือกิเลส คือตัวโทษ แล้วเราพิจารณาจนมันปล่อย จนชำระกิเลส กิเลสมันขาดไป ขันธ์มันก็คือขันธ์อย่างเดิม ขันธ์มันก็คือขันธ์อย่างเดิม เวลาพระอรหันต์นะ ภาราหะเว ปัญจักขันธา ขันธ์นี้เป็นภาระ เป็นการบำรุงรักษา ขันธ์ ๕ ไม่ให้โทษใคร ขันธ์ ๕ไม่ได้ให้คุณ ให้โทษใคร แต่กิเลสตัณหาต่างหากมันให้โทษไง

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาพระอริยเจ้าท่านเห็นขันธ์ ๕ เห็นไหม ท่านถึงดูแลรักษา เพราะอะไร? เวลาท่านเจ็บไข้ได้ป่วย ขันธ์ ๕ นี่ก็ทับ ภาราหะเว ปัญจักขันธา.. แต่ของพวกที่เรามีกิเลสนะ ขันธมาร ขันธ์ ๕ เหมือนกัน แต่กิเลสมันใช้ มันเป็นมาร มันเป็นนางพญามาร มันเป็นจ้าวยุทธจักร แล้วครอบครอง แล้วเอาเราอยู่ในอำนาจของมัน เห็นไหม มันแตกต่างกันตรงนี้ไง ไอ้ตัวขันธ์ไม่ใช่โทษ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส! รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส! ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหากมันเป็นกิเลส”

รูปอันวิจิตรมันก็เป็นรูปเก้อๆ เขินๆ อยู่อย่างนั้นแหละ แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเราอยากได้มัน อยากได้มัน อยากสัมผัสมัน อยากเป็นเจ้าของมัน เห็นไหม อันนี้แหละเป็นกิเลส

รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหากมันคือกิเลส ขันธ์ก็ไม่ใช่กิเลส ขันธ์มันเป็นสัญชาตญาณ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่เพราะมนุษย์มีกิเลสต่างหาก มันถึงใช้ขันธ์นี้ไปทำลายกัน แต่ครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นพระอรหันต์ ท่านก็ใช้ขันธ์นี่เทศนาว่าการ เพื่อชักนำคนให้ไปทำคุณงามความดี ท่านก็ใช้ขันธ์เหมือนกัน แต่จิตใจท่านสะอาดบริสุทธิ์ จิตใจท่านไม่มีกิเลสเหมือนพวกเรา ฉะนั้น ขันธ์ถึงเป็นขันธ์

นี่เขาว่า “มุมมองของพระอริยเจ้าต่อขันธ์ ๕ ไง”

ขันธ์ ๕ มันไม่ใช่โทษหรอก แต่ถ้าเป็นปุถุชนนี่โทษนะ ถ้าไม่ใช่โทษเดี๋ยวมันจะพานอน เออ.. คิดว่านอนก็ไม่ใช่โทษ คิดว่าขี้เกียจก็ไม่ใช่โทษ เออ.. คิดอะไรก็ไม่ใช่โทษ มันเป็นโทษหมดเลย แต่ถ้าสะอาดแล้วมันไม่ใช่โทษ.. นี่พูดถึงมุมมองของพระอริยเจ้า พูดถึงขันธ์นะ

ฉะนั้น นี่คำถามของเขาไง ถามเรื่อง “ความคิดและขันธ์” ฉะนั้น ถ้ามุมมองทางวิทยาศาสตร์ ทางโลกมันเป็นอย่างนี้ นี่เขาเรียกว่ามุมมองแบบปุถุชน มุมมองแบบวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเป็นธรรมแล้วมันจะมองไปอีกคนละมุม เห็นไหม เวลาเรื่องของปัญญาถึงมีสุตมยปัญญา คือการศึกษาเล่าเรียน จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา นี่เกิดจากการภาวนาล้วนๆ

เกิดจากปัญญาของจิตไม่ใช่ปัญญาสมอง ไม่ใช่สถิติ ไม่ใช่วิชาการ ไม่ใช่การกระทำค้นคว้านะ แต่เวลามันเกิดความเป็นจริงขึ้นมามันเป็นภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นนี่มันถึงจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้ กระบวนการของมันทั้งหมด แล้วจะซาบซึ้งมากว่าของนี้มีคุณค่ามาก แต่เวลาบอกว่าให้เขียนมาเป็นวิชาการ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเขียนได้ละเอียดที่สุดแล้ว ธรรมและวินัยนั่นน่ะ นี่สิ่งนั้นละเอียดที่สุด เป็นกรอบที่เราก้าวเดินตาม แต่พอไปรู้เข้าไปแล้ว..

นี่ครูบาอาจารย์บอกว่า “สิ่งที่ไม่มีในพระไตรปิฎกอีกมากมายเลย”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกว่า “พระไตรปิฎกนี่เหมือนใบไม้ในกำมือ แต่เวลาความจริงเหมือนใบไม้ในป่า” ความจริงที่มันละเอียดลึกซึ้งกว่านี้ยังอีกมหาศาลเลย ทีนี้พอเรารู้จริงเข้าไปแล้วจะเห็นตามความเป็นจริงอันนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นโลกก็เป็นโลก ฉะนั้น มันถึงมีปริยัติกับปฏิบัติไง ถ้าปฏิบัติแล้วมันต้องรู้จริง แล้วเห็นจริงตามความเป็นจริงนั้น แล้วมันจะเป็นสมบัติของบุคคลคนนั้น เอวัง