เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑o ก.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเจออุทกภัย เห็นไหม ทุกคนเวลาเดือดร้อนนี่ทุกข์ยากมาก เวลาทุกข์ยากมากมันเหตุการณ์เฉพาะหน้า ถ้าเหตุการณ์เฉพาะหน้าคนจะแบกทุกข์ แต่ถ้าเรามีสตินะ เรามีสติ เหตุการณ์เฉพาะหน้ามันรับแล้วรับอีก มันล้าเหลือเกิน ทีนี้คนเราถ้ามีน้ำใจต่อกัน ถ้าเรามีน้ำใจต่อกัน เห็นไหม สิ่งนั้นมันจะพอแก้ไขไปได้ ปะทังไปได้ แต่ถ้าไม่มีน้ำใจต่อกันนะ มันแบบว่าปัญหายิ่งเรื้อรัง

ปัญหาอุทกภัยหนึ่ง ปัญหาของคนที่เบียดเบียนกัน แต่ถ้าสิ่งใดจิตใจเราพอประมาณ เราพอประมาณ โลกเป็นแบบนี้ เราเป็นญาติกันโดยธรรมนะ นี่สิ่งที่เกิดมามันเป็นวิบากกรรม เป็นวิบากเพราะคนเราต้องเกิด จิตนี้ต้องเกิด เกิดในสถานะก็แล้วแต่ จิตนี้ต้องเกิดเพราะมันมีแรงขับของมัน พอมีแรงขับของมัน เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เห็นไหม เราเกิดมาเป็นมนุษย์เรามีสิทธิเสมอภาคกัน ทุกอย่างเสมอกัน แต่จิตใจมันไม่เหมือนกัน

ถ้าจิตใจไม่เหมือนกัน เห็นไหม ดูสิคนร่างกายแข็งแรง จิตใจแข็งแรง ร่างกายแข็งแรง จิตใจอ่อนแอ นี่ถ้าร่างกายอ่อนแอ จิตใจแข็งแรงนะเขายังสู้โลกได้ การสู้โลกนี่มันสู้โลกเพราะความตั้งใจ ความตั้งใจว่าจะอยู่ ถ้าความตั้งใจจะอยู่ เห็นไหม ดูเวลาคนไข้สิ เวลาคนไข้จิตใจอ่อนแอ นี่ว่าไม่ไหวๆ นะช็อกตายเลย แต่คนไข้ร่างกายขนาดไหนนะ จิตใจเข้มแข็งนะเราจะอยู่ เราต้องอยู่ได้ เราจะอยู่

จิตใจเข้มแข็ง นี่เวลามีการรักษามันไปให้ผลกับร่างกายนั้นด้วย ถ้าร่างกายอ่อนแอ มันเหมือนทางโลก เห็นไหม ร่างกายของคนจะเข้มแข็งได้ต้องมีการออกกำลังกาย ต้องดูแลรักษาร่างกายของเรา อันนี้เป็นเรื่องปัจจุบันที่เราดูแลรักษานะ แต่เวลาคนพิการนะ เวลาคนพิการบอกว่าเป็นเรื่องกรรมๆ มันกรรมอะไร? คนเหมือนกันกรรมอะไร? มันมีกรรมอะไร?

คำว่ากรรม เห็นไหม อุบัติเหตุคือกรรม สิ่งที่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมันก็เป็นกรรมทั้งนั้นแหละ สิ่งที่เป็นกรรมนะ กรรมนี่ทำไมมันเกิดเฉพาะล่ะ? ทำไมมันไม่ไปเกิดกับคนอื่นล่ะ? ทำไมมันเกิดสภาพแบบนี้ล่ะ? แต่ถ้ากรรมเกิดขึ้น เห็นไหม สิ่งนั้นผ่านไปแล้ว ปัจจุบันนี้เราจะแก้ไขของเรา จะดูแลของเรา

นี่พูดถึงว่าอุบัติเหตุ พูดถึงในร่างกายที่มันพิการ แต่ถ้าเราไม่พิการ หรือเราพิการก็แล้วแต่เราต้องฟื้นฟูของเรา การฟื้นฟู เห็นไหม ร่างกายมันจะเข้มแข็งขึ้นมาได้ด้วยการดูแลรักษามัน ดูคนเจ็บไข้ได้ป่วยเขากายภาพบำบัดกันเพื่อให้ร่างกายมันฟื้นฟูขึ้นมา ถ้ามันฟื้นฟูขึ้นมามันก็แข็งแรงขึ้นมาได้ ในเรื่องของจิตใจก็เหมือนกัน เราจะปล่อยไว้อย่างนี้หรือ? จิตใจของเรานี่เราจะปล่อยไว้อย่างนี้หรือ?

นี่เวลาความทุกข์ความยากเป็นของคนอื่นเราไม่เอา เราจะเอาของเราทั้งนั้นแหละ ถ้าเป็นความทุกข์ความยาก เห็นไหม ความสุขเราต้องการเป็นของเรา ความทุกข์ความยากเราก็ไม่ปรารถนา นี่แล้วเป็นความสุขความดีงามของคนอื่นนะ มันก็เป็นเรื่องของคนอื่นใช่ไหม? ถ้าเป็นความสุขความดีงามของเรา มันก็ต้องเป็นเรื่องของเรา ถ้าเป็นเรื่องของเรา นี่ฟื้นฟูมันอย่างนี้ไง

ถ้าฟื้นฟูมัน ดูแลรักษามัน ทำไมมันคิดอย่างนี้? ทำไมมันเป็นอย่างนี้? ทำไมมันอ่อนแออย่างนี้? เราพิจารณาสิ มันไม่มีสิ่งใดที่มันจะลอยมาเองหรอก อย่างเช่นว่าเวลาเราพิการ เราสิ่งต่างๆ ขึ้นมา คำว่าพิการนะมันเรื่องสุดวิสัย มันไม่ใช่ว่าเป็นลัทธิยอมจำนนนะ เราต่อสู้ทั้งนั้น เห็นไหม เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“ความเพียรชอบ”

ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะของเราต่างหากล่ะมันถึงจะให้เราพ้นวิกฤติไปได้ ถ้าเรายอมจำนน การยอมจำนนมันเป็นเรื่องการยอมแพ้ไง เราต้องไม่ยอมจำนน เราต้องมีความเข้มแข็ง ต้องผ่านวิกฤติอันนี้ไป แต่เมื่อมันเกิดสภาวะแบบนี้แล้ว ถ้าเรายิ่งอ่อนแอ เห็นไหม ทีนี้พอเรื่องกรรม คำว่าเรื่องกรรมนี่เรายอมรับสภาพ แต่เราจะฟื้นฟูของเรา เราจะแก้ไขของเรา แต่ถ้าจิตใจมันอ่อนแอนะ พออย่างนี้ปั๊บมันไม่ยอมรับไง

พอไม่ยอมรับนะ เวลาสิ่งใดให้ผลแล้วเราจะยอมรับหรือไม่ยอมรับมันเป็นสภาวะแบบนั้น ดูสภาวะโลกสิ โลกสภาวะแบบนี้ เห็นไหม นี่มันเกิดมาจากสิ่งใดล่ะ? ก็เกิดมาจากน้ำมือมนุษย์ทั้งนั้นแหละ เกิดจากน้ำมือของการกระทำของพวกเราทั้งนั้นแหละ ถ้าน้ำมือการกระทำของเรานี่ แล้วคนมีความรู้สึกนึกคิดมากน้อยแค่ไหนล่ะ?

ถ้าความรู้สึกนึกคิด เห็นไหม เราทำแล้วเราไม่ได้ประโยชน์ เราไม่ได้ประโยชน์แต่มันเป็นประโยชน์สาธารณะ มันเป็นประโยชน์สำหรับสภาวะแวดล้อมทั้งหมด นี่เราทำของเรา ใครจะเห็นแก่ตัว ใครจะเบียดเบียน ใครจะทำอะไร..

คำว่าสุดวิสัยนะ เหรียญมีสองด้าน คนเรามีคิดดีและคิดชั่วทั้งนั้นแหละ ทีนี้คำว่าคิดชั่วนะ กุศล อกุศล เห็นไหม ดูสิเวลานายแม่นธนูที่เทวทัตจ้างให้ไปยิงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เขาไปด้วยอกุศลนะ จะไปฆ่านะ แต่ไปฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตใจนี่เปลี่ยนแปลงหมดเลย ขอบวชนะ ขอบวชแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ด้วย

สิ่งนั้นมันเป็นอกุศลนะ จะไปฆ่าไปทำลาย แต่เวลาไปฟังธรรมแล้วมันเปลี่ยนแปลงได้ เห็นไหม จิตใจของเรานี่เราใฝ่ดีของเรา เราทำดีของเราเพื่อประโยชน์ ถึงสังคมใครจะเห็นดีหรือไม่เห็นดีเรื่องของเขานะ เพราะมันเป็นคุณงามความดีของเรา นี่เวลาทุกข์เวลายาก เวลามีความร่มเย็นเป็นสุขในหัวใจของเรา มันก็เรื่องของเราทั้งนั้นแหละ แต่เรื่องของเรามันก็เกิดจากการฝึกฝน เกิดจากการกระทำ

เกิดจากการฝึกนะ! ถ้ามีการฝึก เห็นไหม ดูสิหลวงตาท่านบอกว่า

“เราทำบุญกุศลมากขนาดไหน มีศักยภาพขนาดไหน ถึงที่สุดถ้าไม่ได้ภาวนามันก็เวียนตายเวียนเกิด มันต้องมาลงกันตรงนี้ไง”

นี่ลงตรงนี้เหมือนกับการฝึกๆ ไง เราฝึกของเรา เราฝึกสติ เรามีสมาธิของเรา เราเกิดปัญญาของเรา แล้วถ้าเกิดปัญญาของเรามันจะซาบซึ้งนะ มันจะซาบซึ้งว่ากว่ามันจะเกิด กว่าเราจะเลี้ยงดู กว่าเราจะกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูนะ กว่าจะฟื้นฟูมานะ เวลาฟื้นฟูมานะ เวลาจิตเราดีขึ้นมา เรามีปัญญาขึ้นมา แหม.. มันสุดยอดๆ

นี่เราฟื้นฟูมาขนาดนี้ แต่เวลามันเจริญงอกงามของมันไปเรื่อยๆ เห็นไหม มรรคหยาบกับมรรคละเอียดมันจะละเอียดของมันไปเรื่อยๆ พอละเอียดของมันไปด้วยความถูกต้องนะ ด้วยความถูกต้องสัมมาทิฏฐิ ด้วยความถูกต้อง ด้วยมรรคญาณ ถ้ามันละเอียดเข้าไปมันจะปล่อยวางไปเป็นชั้นๆ ของมันจนกว่ามันสมุจเฉทปหาน พอมันสมุจเฉทปหานนะ อ๋อ! เห็นไหม ถ้ายังไม่สมุจเฉทปหาน เราไม่มีสิ่งใดเทียบเคียงว่าอะไรมันเจริญพัฒนา มันจะฟื้นฟูอย่างไร? มันจะไปถึงที่สุดอย่างไร?

ถ้ามันถึงที่สุดขึ้นมา พอถึงที่สุดมันสมุจเฉท สมุจเฉทมันขาดเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป เราจะเห็นเลยว่า นี่กว่าจะล้มลุกคลุกคลานมา กว่าจะเลี้ยงดูมา กว่าจะทะนุถนอมมา กว่าจิตใจมันจะเข้มแข็งมา เราจะรู้จะเห็นของเรานะ ถ้ารู้ถ้าเห็นแล้วนี่ปัจจัตตัง ความเป็นปัจจัตตัง ความรู้เกิดจากภายในมันสะเทือนใจ พอมันสะเทือนใจขึ้นมา เห็นไหม สิ่งที่สะเทือนใจขึ้นมา นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการที่นี่ ต้องการการกระทำ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักร พอพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม นี่เปล่งอุทาน “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ รู้แล้วหนอ” นี่ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้วมันเป็นความจริงของเขาไง มันเป็นความจริงของเขา มันเป็นสมบัติของเขา ไม่ต้องไปบอกไปสอนอีกเลยล่ะ มันยืนยันเลยล่ะ แต่ถ้ามันเหมือนนกกับปลายังคุยกันอยู่นะ มันเป็นโลกกับธรรมไง

ความเป็นโลกเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นสสาร เป็นทฤษฎี เป็นกฎ เป็นสิ่งที่เป็นกรอบ แต่ถ้าเป็นธรรมะนะ ธรรมะมันละเอียดลึกซึ้ง ดูสิเวลามันมีเหลือบมุมในหัวใจ กิเลสอยู่ตรงนั้นแหละ นี่ใช้ปัญญาไป พิจารณาไปมันปล่อย ปล่อยขนาดนั้นมันไม่ขาด มันอยู่ใต้พรมนั่นล่ะ มันอยู่ใต้จิตใต้สำนึกนั่นล่ะ มันอยู่ตรงนั้นน่ะ! จะทำอย่างไรมันก็อยู่ตรงนั้น แต่ถ้าพิจารณาไปเรื่อยๆ จนพลิกฟ้าคว่ำดินเลย มันสะอาดบริสุทธิ์ทั้งหัวใจไง พอมันสมุจเฉทปหานมันขาด

ความแตกต่าง เห็นไหม การตทังคปหานกับสมุจเฉทปหาน การปล่อยวางชั่วคราว การปล่อยวางนี่ปล่อยวางได้จริงๆ แต่ปล่อยวางขนาดไหน แต่มันไม่จบสิ้นกระบวนการมันมีของมัน เดี๋ยวมันก็ฟื้นฟู มันพลิกกลับ มันพลิกกลับ เห็นไหม เวลามันเสื่อมถอย.. การกระทำทุกอย่างนะ มันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ในแม้แต่ทุกๆ ชนิด แม้แต่ร่างกายของมนุษย์ แม้แต่นักกีฬาเขาหมดอายุการใช้งานในอาชีพของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ในศีล สมาธิ ปัญญา นี่เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันอยู่อย่างนั้นถ้าไม่ถึงที่สุด แต่ถ้าถึงที่สุดพั่บ! เรื่องเสื่อมเป็นไปไม่ได้ ความเป็นไปไม่ได้เพราะเป็นอกุปปธรรม อฐานะ อฐานะที่ใครจะไปทำสิ่งนี้ให้มันแปรปรวนอย่างอื่นเป็นไปไม่ได้ นี่ที่ว่ามันเหนือโลกมันเหนือโลกอย่างนี้ไง แต่ถ้ามันอยู่ในโลก สภาพทุกอย่างมันไม่มีสิ่งใดคงที่

โลกนี้สัพเพ ธัมมา อนัตตา นี่ถูก สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา.. นี่ธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายไง แต่อกุปปธรรมล่ะ? อกุปปธรรมล่ะ? ธรรมทั้งหลายคือกุปปธรรม อกุปปธรรม ทีนี้อกุปปธรรมมันจะรู้ชัด รู้แจ้งก็ต่อเมื่อจิตดวงนั้นเข้าไปเป็น ถ้าจิตดวงนั้นมันไม่เข้าไปเป็น เราก็ยังเทียบเคียงกันไป เห็นไหม พอเทียบเคียงก็ทบทวนตรวจสอบอยู่อย่างนี้ แล้วถ้าอยู่อย่างนี้เราก็ทำของเรา

นี่พูดถึงจิตใจมันเข้มแข็ง จิตใจเข้มแข็งมันพัฒนาการของมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แล้วเรามองย้อนกลับมาสิ เหมือนผู้ใหญ่ดูเด็กๆ นะ เด็กๆ นี่ดูพัฒนาการของมัน เห็นไหม ดูลูกของเราสิ โอ้โฮ.. เวลามันเจริญเติบโตเรามีความสุขมากนะ เดินได้แล้ว วิ่งได้แล้ว โตแล้ว โอ้โฮ.. มีความสุขมาก นี่พัฒนาการของเด็ก พัฒนาการมันต้องโตมาแน่นอน แล้วถ้าเรามาดูพัฒนาการของใจล่ะ? นี่ถ้ามันพัฒนาการของมันขึ้นมานะ ถ้าไม่รู้ไม่เห็นพูดไม่ได้ ถ้าพูดไม่ได้ปั๊บมันก็อยู่ในกรอบไง ต้องพูดโดยกรอบ โดยพุทธพจน์ๆ

สาธุนะ พุทธพจน์ก็เคารพบูชา แต่อันนี้มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ววางเป็นกรอบไว้ไง วางเป็นกรอบไว้ให้เราก้าวเดิน ว่าปูนหมายป้ายทางคือถนน ถ้าไม่มีถนนหนทางเราจะบุกเบิกไปไม่ไหวเลย แต่ถนนนี่เราใช้ถนนสาธารณะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสาธารณะ แต่เวลามันจะเอากันจริงๆ นี่นะมันต้องเป็นถนนส่วนบุคคลไง เราต้องตัดถนนของเราเข้าไปในใจของเราเองไง มันจะลึกลับ มันจะซับซ้อนเข้าไป

มันต้องเป็นการกระทำของเรา ถ้าเป็นสาธารณะมันก็เป็นธรรมะสาธารณะ นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมสาธารณะ ที่เราเข้าใจกันนี่มันเป็นสาธารณะ แต่ถ้ามันเป็นของเราล่ะ? เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน

“อานนท์ เราเอาแต่ของเราไปนะ เราไม่ได้เอาของใครไปเลย”

นี่เห็นไหม เวลาพระอานนท์บอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว มันจะหมดยุคหมดคราวเมื่อไหร่? ธรรมะนี่มันจะหมดยุคหมดคราว คือหมดโอกาสเมื่อไหร่? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยนะ

“อานนท์ ถ้าเมื่อใดมีผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

คำว่าสมควร.. สมควรคือทำตามความเป็นจริงไง แต่ถ้าเราทำโดยกรอบมันเกร็งนะ กลัวผิด กลัวพลาด ต้องอยู่อย่างนั้นนะ ดูสิเราเข้าไปในถ้ำ ถ้ำของบางคนถ้ำเล็ก ถ้ำใหญ่ ในถ้ำใหญ่มันต้องกว้างขวางมากกว่า กว้างขวางมากกว่าก็ต้องจุของได้มากกว่า ถ้ำที่เล็กกว่าก็ต้องบรรจุของได้น้อยกว่า

จิตใจของคนมันคับแคบ กว้างขวางแตกต่าง แล้วมันเข้าไปนี่มันจะวัดโดยอะไรล่ะ? ดูสิเวลามรรคญาณ มรรคสามัคคี มันต้องใช้สมาธิเท่าไหร่? ปัญญาเท่าไหร่? น้ำหนักเท่าไหร่? มันสมควรเท่าไหร่? ก็ถ้ำเล็ก ถ้ำใหญ่ พอถ้ำเล็ก ถ้ำใหญ่ เวลาสำเร็จแล้วนะ ถ้ำเล็กมันก็สำเร็จโดยถ้ำเล็ก ถ้ำใหญ่มันก็สำเร็จด้วยความถ้ำใหญ่ จิตใจที่กว้างขวางเวลาสำเร็จแล้วมันก็แตกฉาน มันเป็นประโยชน์มหาศาล เพราะว่าคนมันกว้างขวาง ทุกคนจะเข้าไปอาศัยได้มาก ถ้าถ้ำเล็ก ถ้ำเล็กมันก็สำเร็จด้วยความถ้ำเล็กนั้น มันก็เหมือนกัน คือถ้าสำเร็จก็คือสำเร็จเหมือนกัน นี่ความรู้เหมือนกัน

แต่ถ้ำเล็ก เห็นไหม ถ้ำเล็กมันก็เป็นถ้ำเล็ก ถ้ำใหญ่มันก็เป็นถ้ำใหญ่ นี้แต่ละถ้ำ แต่ละบุคคลต้องแตกต่างหมดเลย ความแตกต่างหมดเลย คือว่ามันต้องเป็นการกระทำของใจดวงนั้น ฉะนั้นกติกาหรือขอบเขตระบบของมัน เราก็ศึกษาแล้วเราทำของเรา พอเป็นของเราแล้วเราก็อ๋อ! อ๋อมันก็เป็นความจริงขึ้นมา

ฉะนั้น สิ่งนี้ค่าของน้ำใจถึงว่าสำคัญ ถ้าค่าของน้ำใจนะ ดูสิเวลามีค่าของน้ำใจเราจะเป็นผู้นำ แล้วเราจะรวบรวม เกิดภัยพิบัติ เกิดสิ่งต่างๆ นี่ผู้นำ เห็นไหม ผู้นำจะรวบรวมสิ่งที่ว่าไม่ให้แตกตื่น แล้วเรารวมกันแก้ไข รวมกันปกป้องดูแล ถึงภัยมามันก็ดูแลกันได้ แต่ถ้าภัยมา เห็นไหม ผู้นำก็ไม่มี ต่างคนต่างแตกกระสานซ่านเซ็น มีแต่ความตรอมใจ มีแต่ความทุกข์ เอาความทุกข์กับความทุกข์มาเจือจานกัน

แต่ถ้าเราจิตใจเป็นธรรม เห็นไหม ถึงจะเกิดภัย เกิดต่างๆ เขาก็ช่วยเหลือเจือจานกัน ทุกข์นั้นทุกคนทุกข์ร่วมกัน มันก็วางไว้ พอมันปล่อยวางได้ จิตใจมันก็พอมีความสดชื่น พอดำรงชีวิตได้ แต่ถ้าจิตใจอ่อนแอนะ เวลาทุกข์มาบีบคั้นเราก็ทุกข์ ทุกคนก็มีแต่ความทุกข์โถมใส่กัน มันก็มีแต่ความทุกข์กับความทุกข์

แต่เวลาจิตใจเราเข้มแข็ง จิตใจเราเป็นธรรมนี่มีความทุกข์ไหม? ทุกข์.. นี่ทุกข์เพราะว่าอะไร? เพราะร่างกายมันต้องการอาหาร มันเหนื่อยล้า มันทั้งนั้นแหละ มันมีของมัน แต่จิตใจเราเข้าใจ เห็นไหม เข้าใจแบบผู้ใหญ่ว่าสิ่งนี้มันเป็นการเสื่อมสลายไป เราเข้าใจได้ แต่จิตใจของเด็กมันไม่ยอมรับ มันต้องการให้สดชื่น ให้เข้มแข็งอย่างนี้ตลอดไป

ถ้าจิตใจเข้มแข็ง เกิดภัยพิบัติ เกิดต่างๆ นี่ทุกข์ไหม? ทุกข์ ร่างกายเสื่อมสภาพมันทุกข์ไหม? ปวดเมื่อยลำบากไหม? ทุกข์ แต่เรารู้ตามความเป็นจริง เรารู้ตามความเป็นจริง เราเข้าใจได้ พอเข้าใจได้นะ เห็นไหม เราเจือจานกัน เราดูแลกัน แล้วเรารักษากัน นี่ค่าน้ำใจไง

ค่าน้ำใจ ถึงจะทุกข์ก็ยิ้มแย้มแจ่มใสทุกข์ด้วยกัน ยิ้มแย้มแจ่มใสนะ มันเห็นถึงคราวของมันอย่างนี้ เราอยู่กับโลก โลกเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเวลาเราใช้ประโยชน์กับโลกล่ะ? โลกนี้ก็มาเป็นอาหาร เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่เราจะบำรุงดูแลเราเพื่อประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้หัวใจได้ฝึกฝนไง

หัวใจเราได้ฝึกฝน เอาหัวใจเราให้ได้ ถ้าเรามีบุญกุศล อย่างเช่นเรามาทำบุญกุศลกันนี้ เห็นไหม ถึงจะเกิดอีก เกิดต่างๆ เราก็มีเครื่องบรรเทา เครื่องทำให้เราอยู่ของเราได้โดยที่ไม่ต้องหวั่นไหวจนเกินไป แต่ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ก็จบใช่ไหม?

แต่ถ้ามันไม่มีสิ่งใดเลย ถ้าคนจิตใจเข้มแข็งเขาไม่กลัวสิ่งใด ไม่กลัวสิ่งใด โลกนี้ไม่มี ตายก็จบ นั่นมันก็เรื่องของเขา เพราะว่าอะไร? เพราะสิ่งที่มีอยู่เขาไม่ขวนขวาย เห็นไหม เหมือนของเรานี่ สิ่งที่มีอยู่เราขวนขวาย ถ้าเราเกิดสิ่งใดมา สิ่งที่เราขวนขวายมานี้มันช่วยบรรเทาเราได้ แต่เขาไม่ขวนขวาย ถึงเวลาแล้วเขาไม่มีสิ่งใดบรรเทาเขา เขาตามแต่เขา เขาเชื่อหรือไม่เชื่อก็เรื่องของเขา

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็เหมือนกัน แต่ของเราเชื่อด้วย เห็นไหม ดูสิเวลาเราถือไตรสรณคมน์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัจธรรม เวลาเป็นเทวดาขึ้นมานี่สัจธรรมเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง เทวดานี่เปลี่ยนแปลง สูงขึ้นๆ ได้ เพราะอะไร? เพราะเราเข้าใจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึก

นี่ก็เหมือนกัน เราทำบุญกุศลแล้วเราทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อความเข้าใจของเรา ให้จิตใจเข้มแข็ง! จิตใจเข้มแข็ง จิตใจมีจุดยืนขึ้นมาแล้ว มันจะทำให้ชีวิตเรามีหลักมีเกณฑ์ ไม่ต้องไหลไปตามโลก ถ้าจิตใจเราอ่อนแอ สิ่งใดมาเราก็ไหลตามมันไป ถ้าเข้มแข็ง เราจะดำรงชีวิตของเราเพื่อประโยชน์กับเรา แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติเป็นความจริงได้ จะเป็นประโยชน์กับชีวิตของเรา จิตใจของเราให้มีหลักมีเกณฑ์ เอวัง