ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ระลึกถึงพระ

๑o ก.ย. ๒๕๕๔

 

ระลึกถึงพระ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอาอันนี้ก่อนเลยเนาะ อันนี้ของเก่า ถามนะ คำถาม..

ถาม : เมื่อผมฟังเทศน์วันที่ ๔ กันยายน เรื่อง “สติกับความคิด” ทางอินเตอร์เน็ต ตอนกลางคืนนำไปภาวนา และเดินจงกรม และนั่งสมาธิ ใช้คำบริกรรมพุทโธ พอเกิดความคิด เอาสติไปจับความคิดก็หายไป ความคิดเกิดอีก ก็เอาสติไปจับอีกก็หายเร็วมาก จึงรู้สึกสนุกและวางความคิดได้ไว จึงวางความคิดต่างๆ ได้รวดเร็ว และรู้สึกสงบมากขึ้น เหมือนที่เคยบริกรรมพุทโธมา ต่างตรงที่รู้สึกสนุกกว่า แต่เป็นวันนั้นวันเดียว

หลวงพ่อ : เป็นวันนั้นวันเดียวเพราะมันเป็นปัจจุบัน พอวันต่อไปเราจะทำอย่างนั้นอีก พอทำอย่างนั้นอีกนี่กิเลสมันรู้ทัน ถ้ากิเลสมันรู้ทัน มันทำสิ่งใดอยู่ นี่ถ้ากิเลสมันแทรกเข้ามางานเสียหมด แต่ถ้ากิเลสมันตื่นตัวไม่ทันไง ขณะที่เราเปลี่ยนอุบาย เราเคยทำอย่างนี้อยู่ใช่ไหม? พอเราเปลี่ยนอุบายไปทำอย่างอื่น กิเลสมันนึกไม่ถึงไงว่าเราจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น

โอ้โฮ.. วันนั้นภาวนาดีนะ พอภาวนาดีปั๊บมันก็รู้ใช่ไหม? พอกิเลสมันรู้ไม่ทัน โอ้โฮ.. กิเลสมันเสียท่า พอรุ่งขึ้นมา โอ้โฮ.. เมื่อวานภาวนาดีนะจะภาวนาอย่างนี้อีกนะ ทีนี้กิเลสมันรู้ทันแล้วใช่ไหม? มันก็เข้ามาร่วมด้วย โอ้โฮ.. ล้มลุกคลุกคลานเลย นี่อุบายมันจะพลิกไปอย่างนี้ ภาวนาอย่างนี้ เออ.. พอมันเปลี่ยนไปกิเลสมันยังไม่ทัน เราก็เปลี่ยนอุบายไปภาวนาอย่างอื่น นี่มันก็ดีมากเลย โอ้โฮ.. พอดีมากก็ติดใจ ติดใจพรุ่งนี้จะเอาอีกไง กิเลสมันตามทันแล้วนี่ เพราะว่าเมื่อวานกิเลสมันเสียท่าใช่ไหม? วันนี้กิเลสมันก็ไปตามทัน โอ้โฮ.. วันนี้ไม่ดีเลย วันนี้ล้มลุกคลุกคลานน่าดูเลย

คนภาวนาอาชีพมันจะรู้เรื่องอย่างนี้ เพราะมันจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป เพราะกิเลสมันอยู่กับเรา กิเลสมันอยู่กับจิต แล้วจิตขยับไปไหนมันก็ตามทันตลอด แต่การที่เราเปลี่ยนอุบายนี่กิเลสมันคิดไม่ถึง พอกิเลสคิดไม่ถึงนี่หลวงตาบอกกิเลสมันหลับอยู่ เราก็สะดวกสบายมากเลย พอกิเลสมันงัวเงียมาเราก็ล้มลุกคลุกคลานแล้ว แล้วถ้ากิเลสมันตื่นขึ้นมานะ โอ้โฮ.. ยิ่งไปเลยล่ะ

ฉะนั้น แล้วกิเลสเป็นใครล่ะ? กิเลสมันก็เป็นอกุศล มันเป็นสิ่งที่มาอยู่กับจิตใจเรานี่แหละ มันทำให้เรามาเกิดนี่แหละ ทีนี้พอเรามาเกิดแล้วเราจะทำให้มันสะอาด ทำให้มันสะอาดคือทำให้หมดจากกิเลส เราก็ต้องกลับไปสู้กับมัน พอกลับไปสู้กับมันเราต้องเข้มแข็ง เพราะเราก็ทำเพื่อเรานี่แหละ กิเลสมันเป็นธรรมชาติอย่างนี้

แต่ถ้าเป็นพุทธศาสนานะ พุทธศาสนาไม่สอนเข้ามาที่นี่ เห็นไหม เขาก็บอกนี่ที่เขาทำกัน ลัทธิอื่นๆ เขาไม่ได้ทำนะ เขาบอกว่าพระเจ้าเป็นผู้ตัดสิน นี่วันสิ้นโลกพระเจ้าเป็นคนตัดสิน ทุกอย่างมันตัดสิน ก็ไม่ต้องทำอะไรเลยให้เขาตัดสิน แต่ถ้าเป็นของเรานี่เราไม่ใช่ตัดสิน เราทำความสะอาดเรา ไม่มีใครตัดสิน ธรรมะตัดสิน ความเป็นจริงในหัวใจเรามันจะตัดสิน พอมันตัดสินเราก็ต้องเข้มแข็งของเรา ไม่ต้องให้ใครมาตัดสิน เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน รู้ขึ้นมาของเราเอง ไม่ต้องให้ใครมาตัดสิน

ฉะนั้น พอไม่ให้ใครตัดสินปั๊บ เวลาทำนี่กิเลสมันอยู่กับเราอยู่แล้ว มันถึงบอกว่า เวลาเราเทียบไงว่าศาสนาอื่นเขาก็มีภาวนาเหมือนกัน ศาสนาอื่นเขาก็ทำความสงบเหมือนกัน.. ทำสงบนั่นน่ะทำตามกิเลสไง กิเลสบอกว่าถ้ามันสงบแล้วมันก็มีความสุข นี่มันก็มีความสุข แล้วกิเลสมันก็ว่า เออ.. แค่นี้แหละ มันก็เหมือนเรานี่แหละ มาวัดแล้วก็กลับบ้าน

มาวัดนะ เขาบอกว่านี่เป็นคนดีหมดเลยทำไมต้องไปวัด อู้ฮู.. เป็นคนดี๊ดี เห็นไหม กิเลสมันให้แค่นี้ มันให้แค่เป็นคนดี แต่คนดีมันก็ติดดี คนดียังไม่ได้ค่าความดี ถ้าได้ค่าความดีคือการฆ่ากิเลส พอฆ่ากิเลส ทีนี้ศาสนาอื่นเขามีภาวนา เวลาเขาเถียงไงว่าลัทธิอื่นเขาก็มีภาวนา ทุกอย่างก็มีเหมือนกัน ศาสนสัมพันธ์ดีไปหมดเลย แต่เขาคิดไม่ถึงไงว่าภาวนานี่ภาวนาเป็นพิธี ภาวนาก็ภาวนาก๊อปปี้มา เห็นที่อื่นเขามี เราก็ต้องมีให้ครบเหมือนเขา แต่ไม่รู้ว่าภาวนาทำอะไรกัน ภาวนาเพื่ออะไร? นี่พูดถึงถ้าเรามีสติปัญญาสักนิดหนึ่งเราจะเข้าใจเรื่องนี้ไง

ฉะนั้น นี่คือว่าคำอุปมาอุปมัยนะ ทีนี้คำถาม..

ถาม : ๑. ที่ผมภาวนาเป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือเปล่า

หลวงพ่อ : เป็น เป็นได้ เพราะว่าถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สติมันทันนี่นะมันหยุด พอมันหยุดนะเดี๋ยวก็คิดอีก ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ คือว่าถ้ามีสติ แล้วเวลาเราใช้ปัญญาทางโลก ปัญญาที่หลงไปกับกิเลสไม่มีสติหรือ? สตินี่ โดยสติถ้ามันเริ่มขยับนี่นะมันสมบูรณ์ของมัน

อย่างเช่นเราสับคัตเอ้าท์ไปนี่ไฟมันไปไหม? เวลาเราดึงคัตเอ้าท์ออก หรือเราปิดสวิตซ์นี่ไฟมันก็ไปไม่ได้ แต่พอเราสับคัตเอ้าท์ไฟมันก็วิ่งไป ฉะนั้น พอบอกว่าเวลาจิตมันส่งออก มันเหมือนไฟที่เวลามันจะออกไปรับรู้ นี่พลังงานที่ออกไปรับรู้ คือออกไปความคิดนี่แหละ แล้วมันคิดเรื่องอะไรล่ะ? คิดเรื่องโลกๆ มันก็มีพลังงานนี้ไป สตินี่สติอ่อนๆ ไง สติแบบสามัญชนไง แต่เวลาเราจะทำให้มันดีขึ้น เราจะทำให้มันดี พอสติมันแก่กล้ากว่า พอมันแก่กล้ากว่ามันสำนึกไง เฮ๊อะ! เอ็งคิดอะไร? เห็นไหม

สติถ้ามันแก่กล้ากว่ามันจะมีความสำนึก สำนึกว่าเราทำอะไร? เราคิดอะไร? หยุดเลยนะ นี่ยังไม่เกิดปัญญานะ สติมันทำให้หยุดได้ สติทำให้หยุดได้ แต่สติทำให้หยุดได้มันก็ปิดๆ ดับๆ อยู่อย่างนี้ เพราะมันเป็นหนึ่งในมรรค ๘ เห็นไหม มันต้องมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ต้องสัมมาหมด ทีนี้พอสัมมาอันหนึ่งสัมมา อันหนึ่งยังไม่สัมมา นี่มรรคมันก็ยังไม่สามัคคี คือมันไม่สมดุลของมัน ก็ต้องฝึกฝนๆๆ ฝึกฝนไป

นี้พูดถึงว่ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิไหม? ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินี่ เวลาปัญญามันทันมันหยุดนะ มันหยุดของมัน พอหยุดแล้วเราใช้ปัญญา นี่คำว่าปัญญาอบรมสมาธิ ไม่ใช่สติอบรมสมาธิ สติหยุดยั้ง แต่ปัญญามันใคร่ครวญ พอใคร่ครวญมันเห็นโทษ พอเห็นโทษมันเหมือนกับเรารู้ถูกรู้ผิด พอรู้ถูกรู้ผิด เห็นไหม นี่มือไปจับก็ร้อน มือปล่อยก็เย็น มือไปจับก็ร้อน เอ็งคิดเมื่อไหร่เอ็งก็ทุกข์เมื่อนั้นแหละ เอ็งคิดเมื่อไหร่เอ็งก็ทุกข์เมื่อนั้น

แต่ทีนี้ไม่ให้คิดมันก็คิด เพราะมันไหลไปตามนั้น อ้าว.. ถ้าคิด คิดก็คิดเรื่องดีๆ สิ อ้าว.. คิดก็ตรึกในธรรมะสิ พอตรึกในธรรมะ เห็นไหม พอคิดไปนะ พอตรึกในธรรมะแล้วจิตมันดีขึ้นน้ำตาไหลนะ เวลาใครคิดเรื่องธรรมะนะ คิดเรื่องสัจธรรมนะ เพราะมันเกิดความสังเวช ถ้าจิตสงบนะมันจะมีความสังเวช มันสะเทือนใจนะ สะอึกสะอื้นจากข้างในเลย แต่ถ้ามันไม่มีสติ ไม่มีสมาธินะ มันคิดแล้วมันจืดๆ คิดแล้วก็เออ.. ยิ่งคิดทางโลกด้วยยิ่งมันใหญ่เลย อื้อฮือ.. ปัญญาดีมาก นี่คิดไป

แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธินี่มันหยุดแล้วมันสังเวช มันสังเวชเลยนะ สังเวชกับชีวิต สังเวชกับความเป็นไป สังเวชทุกอย่าง สังเวชแล้วทำอย่างไรล่ะ? สังเวชแล้วไปไหนไม่รอด สังเวชแล้วก็ต้องทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้วใช้ปัญญาใคร่ครวญสติปัฏฐาน ใคร่ครวญจะรื้อจะถอน สังเวชแล้วนะ สังเวชแล้วเหมือนกับสำนึกรู้ผิด สำนึกผิดในอะไร? สำนึกผิดในสัจธรรม ในสัจจะ ในธรรมชาติ ในการเกิด ในการเวียนว่ายตายเกิด ในภวาสวะ ในภพที่มันหมุนไปตามธรรมชาตินี้ นี่วิบากกรรมมันเป็นอย่างนี้ มันมีของมันอยู่ไง

จิตนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม จิตนี้มีอยู่ มีสิ่งนี้ขับไสอยู่ มีอวิชชา มีตัณหาขับดันมันอยู่ มันไปอย่างนี้แหละไม่มีวันจบหรอก แต่มันจะจบได้ด้วยอริยสัจ ด้วยสัจจะความจริง ด้วยมรรคญาณที่เราจะใช้ปัญญากันอยู่นี่ไง ถ้าเราใช้ปัญญากันอยู่นี่ แล้วเราทำไปมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือเปล่า?

เป็น.. เป็นปัญญา แล้วอย่างที่ว่าเขาใช้ปัญญากัน ปัญญากัน ที่เราบอกว่าสติปัฏฐานจริง สติปัฏฐานปลอมก็นี่แหละ ถ้าปลอมหมายถึงว่ามันเป็นตรรกะ มันเป็นปรัชญานั่นคือปลอม ปลอมคือว่ามันคิดโดยวิทยาศาสตร์ คิดโดยทฤษฎีใช่ไหม? วงรอบของวิทยาศาสตร์ ดูสิทฤษฎีอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราทำให้กระบวนการจบก็คือเสร็จ เพราะเขาคิดให้เสร็จแล้ว ทางวิทยาศาสตร์นี่ ทฤษฎีต่างๆ เขาพิสูจน์ไว้เสร็จแล้ว เราทดสอบอย่างนั้นมันก็ออกค่ามาอย่างนั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน สัจธรรมพระพุทธเจ้าบอกไว้อย่างนี้ แล้วเราก็คิดตามนั้น นี่คิดตามนั้นแหละ คิดตามนั้น มันตามนั้นออกมามันก็เป็นอย่างนั้น มันมีผลตามธรรมอันนั้น เห็นไหม นี่ถึงบอกว่ามันเป็นทฤษฎี มันเป็นตรรกะ ความคิดอย่างนี้ถึงบอกว่าเป็นสติปัฏฐานปลอม ปลอมเพราะอะไร? ปลอมเพราะว่าเราคิดตามทฤษฎี ตามความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ แต่พอจิตมันสงบขึ้นมา เราทำความสงบของใจ เจอใจ ใจมันสงบแล้ว

ถ้าใจนะ จิตที่มันสงบแล้ว จิตมันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ทำไมมันถึงเห็นล่ะ? ทำไมมันถึงเห็น นี่ไงที่ว่าจิตเห็นอาการของจิต เขาบอกว่า อ้าว.. จิตกับอาการของจิตมันแตกต่างกันได้อย่างไร? จิตก็คือจิตมันต้องร่วมกัน.. จิตเห็นอาการของจิต พอมันเห็นอาการของจิต เห็นไหม ในเมื่อมือสองข้างมันตบกัน มือสองข้างตบก็มีเสียงดัง มือข้างเดียวตบมันจะเสียงดังตรงไหน? มือข้างเดียวเสียงดังตรงไหน?

คิดอยู่อย่างเดียว คิดโดยสามัญสำนึก คิดโดยสภาพของปุถุชน คิดโดยสามัญสำนึกของมนุษย์ มันก็ตบอยู่มือข้างเดียว แต่มันไปคิดในเรื่องธรรมะของพระพุทธเจ้า มันก็คิดตามสูตร มันก็ให้ผลสบาย โล่ง แล้วอย่างไรต่อไปล่ะ? นี่ไงมันไม่มีผลลัพธ์ไง แต่ถ้าจิตมันสงบ เห็นไหม เห็นอาการของจิต เรารู้เราเห็นของเราเองนะ เรารู้เราเห็นของเราเอง แต่เวลาทำแล้วก็ทำตามสูตร ทำตามทฤษฎีที่พระพุทธเจ้าว่าไว้นั่นแหละ แต่เรารู้เราเห็นของเรา

มันมีจิต มันมีผู้กระทำ ผู้กระทำทำอย่างไร? จิตเห็นอาการของจิต เพราะมันเห็นอาการ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม พอเห็นมันก็วิปัสสนา มันแยกแยะ มันวิปัสสนา มันพิจารณา พิสูจน์ตรวจสอบของมัน พอพิสูจน์ตรวจสอบของมัน มันรู้มันเห็นของมัน พอรู้เห็นนะ อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ พอถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธินี่มันเกิดธรรมสังเวช แล้วสังเวชทำอย่างไรต่อล่ะ? สังเวชแล้วทำอย่างไรต่อ? สังเวชแล้วก็คือสังเวช สังเวชแล้วคอตกไง สังเวชแล้วไม่มีทางออก ถ้ายังไม่มีธรรมของพระพุทธเจ้า

ทีนี้เราสังเวชแล้วเราทำต่อเนื่อง พอต่อเนื่องจิตมันสงบเข้าไปอีกมันไปเห็นอาการของมัน เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่ไงสติปัฏฐานจริง สติปัฏฐาน ๔ จริง! จริงเพราะจิตมันจับได้ จิตมันตรวจสอบ จริงเพราะเรามีเงินในกระเป๋าจริงๆ เราไม่ใช่เห็นเงินทั่วไป เงินในท้องตลาดก็เป็นเงินเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เงินของเรา แต่ถ้าเงินในกระเป๋าเราจริงๆ นี่เงินของเรา

จิตมันรู้มันเห็นของมันจริงๆ มันมีผลลัพธ์ของมันจริงๆ สติปัฏฐาน ๔ จริงไง ถ้าสติปัฏฐาน ๔ ปลอมเราถึงว่า.. (หัวเราะ) มันจะปลอมมาจากไหนล่ะ? มันธรรมของพระพุทธเจ้าถูกต้องหมดไม่ปลอม ใช่ไม่ปลอม แต่ใจเรามันปลอม มันปลอมที่ใจเรานั่นแหละ

“นี่พูดถึงว่าปัญญาอบรมสมาธิใช่ไหม?”

ใช่ แล้วทำความสงบไป

ถาม : ๒. ระหว่างการกำหนดเรื่องให้มันคิด พอสติมันไม่อยู่กับเรื่องที่เรากำหนดค่อยบริกรรมพุทโธ หรือบริกรรมพุทโธ พอเกิดความคิดจึงค่อยเอาสติมาจับความคิด ควรทำแบบไหนดีครับ

หลวงพ่อ : ถ้าเราใช้ความคิดนะ ปัญญาอบรมสมาธินี่ เวลาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ.. คือปัญญานี่นะ ถ้ามันใช้ไป เป็นปัญญาเหมือนที่ว่าไฟมันวิ่งออกไปคือสามัญสำนึก มันคิดโดยสามัญสำนึกไปหมดเลย แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันมีจิต มันพิจารณาของมัน พิจารณาความรู้สึกนึกคิดแล้วมันปล่อย มันปล่อย เห็นไหม พอมันปล่อยแล้วทำอย่างไรต่อไป?

พอมันปล่อยแล้วมันก็หยุด ถ้าหยุดแล้วมันไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป พุทโธตรงนี้ไง พุทโธ พุทโธ พุทโธต่อเนื่อง แต่พอพุทโธต่อเนื่อง พอพุทโธปั๊บพอมันเกิดความคิด เราจับความคิดได้แล้วเราใช้ปัญญาต่อไป นี่เวลาใช้ความคิดไป พอมันสุดไง สุดคือพอมันหยุด แล้วทำอย่างไรต่อ? ทำอย่างไรต่อ?

บางคนรักษาตรงนี้ไม่ได้ รักษาใจเราให้มันมั่นคงไม่ได้ ถ้ามันหยุดปั๊บ ถ้ามันหยุดใช่ไหมเรายังนึกได้อยู่ เราพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธถ้ามันเป็นอัปปนานะ ถ้ามันลงลึกๆ นะมันนึกอะไรไม่ได้เลย แต่มันรู้อยู่ รู้อยู่ นี่คือข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงคือมีความรู้สึกนึกคิดตลอดเวลา

นี้พูดถึงว่า “ถ้าอย่างนั้นทำอย่างไรต่อไป”

ถ้าพูดถึงว่าถ้ามันไม่คิดใช่ไหม? แล้วเราใช้พุทโธตอนไหน? เราใช้พุทโธ ต่อมา.. แบบว่าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ แล้วมันต่อเนื่อง ต่อเนื่องที่ให้มันลึกซึ้งมากกว่านั้นเราก็ใช้พุทโธ นี่เราสับเปลี่ยนกันได้

ถาม : ๓. ตอนเดินจงกรมได้ยินเสียงจึงหยุดเดินเพื่อเอาสติไปจับ หรือต้องหยุดครับ ลองหยุดจับได้อาการคิด แต่จับจิตไม่ได้ คิดว่าจับได้เลย เพราะเคยจำมาว่าหูได้ยินเสียงเกิดจิต

หลวงพ่อ : อันนี้พูดถึงว่าถ้าได้ยินเสียง มันอยู่ที่เราไง มันอยู่ที่ว่าผู้ใหญ่ทำงานนี่ไม่ค่อยพลาด เด็กถ้าไม่รู้สิ่งใด มันไม่รู้ว่าไฟจับไปก็ร้อนนะ ไม่รู้ว่ามีดไปจับมีดมันก็บาดมือนะ จิตถ้าเป็นผู้ใหญ่นะ มันรู้ว่าไฟนี่เขาเก็บไว้ที่ปลอดภัย ถ้ามีดก็เก็บไว้เพื่อเป็นประโยชน์

จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันได้ยินเสียงเราต้องดูภาพของจิต จิตได้ยินเสียง ถ้ามันว่าเสียงสักแต่ว่าเสียง ถ้าไม่มีประโยชน์เราวางหมดเลย วางหมด ไม่ต้องไปตื่นเต้น แต่นี้มันเหมือนเด็กไง เด็กเวลาปฏิบัติไปกลัวจะไม่รู้ อะไรมาจะจับหมดเลย อยากรู้หมด เสียงก็อยากรู้ว่าอะไร นี่ก็อยากรู้ว่าอะไร อยากไปหมดเลย มันไม่มีประโยชน์ไง

ขณะที่มันไม่มีประโยชน์ มันเป็นปัจจุบันรู้แล้ววาง รู้แล้ววาง ไม่ต้องไปตาม รับรู้แล้ววางเพื่อความมั่นคงของใจก่อน ถ้าใจมั่นคง ใจสงบแล้วนี่ไปทำอะไรเหมือนผู้ใหญ่แล้ว พอใจมันสงบ นี่ใจสงบเป็นสมาธิ มีกำลัง ใจมีหลักมีเกณฑ์ นี่จากเด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่นี่นะจะรู้เหตุรู้ผล รู้ผิดชอบชั่วดี ถ้ามันออกไปรู้แล้วค่อยว่ากันตรงนั้น เด็กไม่จำเป็นต้องรู้นี่ ไม่จำเป็น เสียงก็สักแต่ว่าเสียง หยุดได้ แล้วเดี๋ยวจะรู้ของมันขึ้นมาเอง เพราะเสียงก็คือเสียง ไม่มีประโยชน์อะไร

ทีนี้ข้อ ๔.

ถาม : ๔. ผมทานวันละ ๑ มื้อตั้งแต่เข้าพรรษา โดยไม่ได้อธิษฐาน รู้สึกว่าภาวนาดี ไม่เคยตกภวังค์ บางวันมีงานสังคมก็ทานมื้ออื่นได้หรือควรทานมื้อเดียวแต่ปรับเวลาให้ตรงกันครับ

หลวงพ่อ : ไอ้นี่มันอยู่ที่เรา อยู่ที่เราจะบริหารของเรานะ อย่างเช่น อย่างที่ว่าเรากินมื้อเดียว เวลาไปงานถ้าเราไปกับเขา บางคนเขาไม่กินเนื้อสัตว์ เวลาไปสังคมทำอย่างไร? ไอ้อย่างนี้เราต้องมีอุบายของเราไง ถ้าเราจะกินมื้อเดียว แล้วถ้าไปสังคมเราก็บอกว่าวันนี้เราไม่ค่อยสบาย เรากินอะไรไม่ได้ เราก็กินน้ำกินท่าไป คือพยายามทำตัวเองให้มันกลมกลืนไปกับเขา ถ้ากลมกลืนไปกับเขาแล้วมันปลอดภัยไง ถ้าไม่กลมกลืนกับเขานะ อืม.. ไอ้นี่มันจะไปนิพพานแล้วล่ะ มันจะโดนแซวไง เพราะเพื่อนฝูงมันแซวกันได้หมด

ทีนี้เพื่อนฝูงเวลาเราทำความดีอะไรนี่ บางอย่างเราไม่ต้องบอกเขาก็ได้ แต่ถ้าเป็นเพื่อนที่สนิท เพื่อนที่คุ้นเคยกันนะ พอทำความดี เขาเห็นความจริงจังของเรานะ เพื่อนรักนี่เขาจะส่งเสริมกัน เพื่อนแท้ ถ้าเพื่อนผิดพลาด เพื่อนมีอุปสรรค เพื่อนจะแก้ให้ เพื่อนจะช่วยเหลือ เพื่อนแท้นะ เพื่อนไม่อยู่ แล้วเพื่อนทิ้งภาระไว้ เพื่อนแท้จะแก้ไข จะดูแลให้หมดเลย เพื่อนเทียม อยู่ด้วยกันมันยังหลอกมึงเลย

เพื่อนเทียมนี่คนเทียมมิตรไง พระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว คนเทียมมิตรคือมิตรเทียม มิตรเทียมนี่มิตรหาแต่ผลประโยชน์จากเรา มิตรแท้! มิตรแท้นะ เราผิดพลาด เราพลาดพลั้งเขาดูแลนะ เขาดูแลเรา ฉะนั้น เพื่อนแท้นี่หายาก แต่ถ้ามีนะ จะบอกว่ามันไม่มีคนดีเลยมันไม่ใช่ แต่ถ้าส่วนใหญ่แล้วเพื่อนนี่มันพูดเล่นพูดหัวได้ ไอ้พูดเล่นพูดหัวมันจะแซวเอา ฉะนั้น เราก็ต้องหาทางหลบของเราเอง

นี่พูดถึงปัญหานี้เนาะ ทีนี้มาอันนี้ อันนี้นะ..

ถาม : ข้อ ๖๐๐. เรื่อง “คุณค่าของพุทโธ”

หลวงพ่อ : มันไม่ใช่ปัญหาเลย เขาไม่ได้ถามปัญหามา แต่เขาเขียนมาเพื่อระบายความรู้สึกเขานะ

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพ เมื่อก่อนโยมก็สงสัยเหมือนกับหลายๆ ท่าน ที่เขียนมาถามเกี่ยวกับคำบริกรรมพุทโธว่าจะมีประโยชน์จริงหรือ แต่เดี๋ยวนี้โยมไม่สงสัยอีกแล้ว โยมคิดว่าการกระทำทุกอย่างที่เราทำ มันอาจจะไม่เห็นผลในเร็ววัน แต่เมื่อถูกบันทึกลงไปในจิตแล้ว เมื่อถึงเวลาอันสมควร เราจะได้รับรู้ถึงคุณค่านั้น

จากประสบการณ์ช่วงหนึ่งของโยม ที่ปฏิบัติโดยการพิจารณาความตาย เพื่อจะไม่ให้ตัวเองประมาทในชีวิต โยมจะน้อมไปถึงความตายหลายๆ ลักษณะ สุดท้ายก็คือการพิจารณาถึงลมหายใจที่ค่อยๆ ขาดลง โดยยังมีคำบริกรรมพุทโธอยู่ในชีวิตประจำวัน วันหนึ่งขณะที่โยมใกล้จะเคลิ้มหลับ โยมรู้สึกตัวว่าตัวเองหายใจไม่ออก เหมือนลมหายใจจะหมดลง

นาทีนั้นโยมรู้สึกถึงใจที่วูบไหว เมื่อคิดว่าตัวเองกำลังจะตาย ในทันใดนั้นคำบริกรรมพุทโธก็ผุดขึ้นมาอย่างที่ไม่ได้ตั้งใจนึกถึงเลย และใจโยมก็เป็นหนึ่งกับพุทโธ ไม่มีความหวั่นไหว ไม่แส่ส่ายไปในเรื่องอื่น อยู่กับพุทโธอย่างสงบจนค่อยๆ จางหายไปด้วยกัน เมื่อโยมลืมตาขึ้นมา มันไม่เหมือนกับการหลับเลย เพราะมีสติรู้ทุกอย่าง และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เอง ทำให้โยมศรัทธาและมั่นใจว่า ถึงแม้โยมจะไม่พ้นจากทุกข์ แต่พุทโธก็จะช่วยให้จิตสุดท้ายของโยมไปในที่สุขคติ หลวงพ่อคิดว่ามันเป็นไปได้หรือเปล่าเจ้าคะ

และเมื่อถึงเวลาที่จะตายจริงๆ จิตจะจดจำสภาวะอย่างนี้ได้หรือไม่ ถ้าได้ ความตายไม่น่ากลัวเลย ที่โยมเขียนมานี้อาจจะไม่มีอะไรเป็นสาระ รบกวนเวลาผู้อื่น แต่ยืนยันมาเฉยๆ

หลวงพ่อ : นี่เขาว่า “เมื่อก่อนโยมก็สงสัยเหมือนกับหลายๆ ท่านที่เขียนมาถามคำบริกรรมพุทโธ” เขาฟังเว็บไซต์อยู่ตลอดไง แล้วไอ้พุทโธนี่เขียนมาเยอะมาก พุทโธจริงหรือ? พุทโธได้หรือ? พุทโธทำได้หรือ? ทุกคนสงสัยหมดแหละ ความสงสัยนี่เพราะว่าสังคมไง เวลาสังคมบอกว่ามรรคผลต้องใช้ปัญญา มรรคผลนี่เป็นวิปัสสนา ก็ว่ากันไป.. แต่ถ้ามันไม่มีความสงบ วิปัสสนามันเกิดได้อย่างไร?

อย่างเช่นเราจะหาทรัพย์สิน ถ้าเรามีชีวิตเรา เราถึงเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ทรัพย์สินมันมีอยู่ในท้องตลาด เห็นไหม ถ้าไม่มีเราทรัพย์สินนั้นก็เป็นสาธารณะ ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะสาธารณะ เป็นแบบว่าพระพุทธเจ้านี่เผยแผ่ธรรม วางธรรมไว้ในสังคม แล้วเราก็อาศัยความเป็นสาธารณะ อาศัยสิ่งที่เป็นสาธารณะ แต่ตัวเองไม่มีอะไรเลย แต่ถ้าจิตมันสงบนี่สงบด้วยอะไรล่ะ?

นี่ทุกคนจะรังเกียจไง ทุกคนบอกว่าเป็นสมถะจะไม่มี.. สมถะนี่ขอให้มีความร่มเย็นเป็นสุขเถอะ นี่พูดถึงในการกระทำนะ สมถะขอให้มันมีเถอะ แล้วถ้ามันมีความจริงขึ้นมา เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบนี่เพราะอะไร? เพราะพุทโธ พุทโธอยู่ แล้วพิจารณาความตาย พิจารณาความตาย สิ่งที่มันลงอยู่ ที่เวลาจิตมันลง นี่ที่เขาว่า “จนหายใจจะขาด คิดถึงหายใจจะขาด” เห็นไหม แล้วเวลาหายใจจะขาดมันมีความเปลี่ยนแปลง นี่แล้วเวลามันจะตาย..

เราจะบอกว่า เวลาจิตมันบริกรรมพุทโธ พุทโธ เห็นไหม สิ่งที่พุทโธไป พอพิจารณาไปมันมีหลักของมันแล้ว หลักของมันคือว่าจิตมันมีฐาน พอมีฐาน นี่กรรมฐานๆ ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ฐานที่ตั้งก็เหมือนบริษัท เหมือนเจ้าของบัญชี เหมือนกับเจ้าของผลงาน นี่เจ้าของผู้ที่กระทำผลมันตกที่นั่นไง ตกที่ใจนี้ไง ถ้าใจนี้สงบ ใจนี้มันก็มีฐาน นี่คือสมถกรรมฐาน

พอสมถกรรมฐาน เวลามันใคร่ครวญ เห็นไหม ใคร่ครวญถึงความตายๆ นี้เวลาใคร่ครวญถึงความตาย ทุกคนมันก็สลดสังเวช พอสลดสังเวช แล้วเวลามันปล่อย มันละนี่มันลง พุทโธมันผุดขึ้นมา ความรู้มันผุดขึ้น มันผุดขึ้นมา.. นี้พูดถึงนี่ธรรมมันเกิด แล้วความรู้สึกมันเกิด พอมันมีความสงบนี่ใจมันไม่ใช่แส่ส่าย ใจมันมีความสงบ มีความระงับ จนมันมั่นใจว่าถ้าตายตอนนี้สุขคติเป็นที่ไป ตัวเองมั่นใจเลย มั่นใจมาก

ถ้าจิตสงบแล้ว ทำสิ่งใดมันไม่ใช่สาธารณะ จิตนั้นเป็นผู้รับรู้ มันมีผลงาน มันมีผลประโยชน์กับเรา เราเป็นคนทำ ฉะนั้น ความสงบของใจนี่ทำเข้ามาบ่อยๆ บ่อยๆ มันจะเจาะจงเข้ามาสู่จิตของเราไง ถ้าไม่อย่างนั้นนะมันเป็นสาธารณะนะ นี่สิ่งต่างๆ ที่ศึกษากันเป็นสาธารณะ สาธารณะประโยชน์ ทุกคนก็ศึกษาได้ ทุกคนก็รู้ได้ นี่ไงเหมือนกัน เราก็รู้เหมือนกัน ทุกอย่างเหมือนกัน แต่เวลาภาวนาไม่เป็นอย่างนั้น

ลายนิ้วมือ ใครปั๊มลายนิ้วมือ ใครเข้าโรงจำนำต้องปั๊มตลอดไอ้นิ้วมือนี่ แล้วมันเหมือนกันไหมล่ะ? คนนี่มีลายนิ้วมือเหมือนกันไหม? กรรมของจิตไม่มีเหมือนกันเลย แล้วมันจะทำให้เหมือนกันมันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก นี้ว่าต้องให้เหมือนกัน ต้องให้เป็นอย่างนั้น ต้องให้เป็นอย่างนั้น.. นี่เราถึงบอกว่ามันเป็นทางโลกไง ถ้าเป็นทางธรรมนะ

“ผู้ใดปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม”

สมควรแก่ธรรม! มันจะเกิดขึ้น นี่พอเกิดขึ้นแล้วมันเป็นประโยชน์ เห็นไหม

นี่เขาว่า “เมื่อก่อนทุกคนสงสัย” ทุกคนสงสัย เราก็สงสัย ทุกคนสงสัยทั้งนั้นแหละ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ท่านบอกท่านเรียนจบมหา โดยตั้งสัจจะไว้ว่าถ้าจบมหาแล้วจะออกปฏิบัติ นี้เวลาจะออกปฏิบัติมันก็เกิดความสงสัย นี่เรียนถึงนิพพานนะ เรียนทุกอย่างเลย มันก็เกิดความสงสัยว่า อื้อฮือ.. แล้วมันมีจริงหรือเปล่าล่ะ? มันมีจริงหรือเปล่า?

มหาจะออกปฏิบัติยังสงสัย แล้วใครไม่สงสัย ทุกคนสงสัย ทุกคนสงสัยเพราะอะไร? เพราะทุกคนมีกิเลส ทุกคน คนมีกิเลสสงสัยหมด ต้องสงสัย! แต่นี้ด้วยมรรยาทว่าไม่สงสัย เชื่อมั่น เชื่อมั่น.. เชื่อมั่นน่ะแต่จิตก็สงสัย สงสัยแน่นอน

ไอ้เรื่องสงสัยคือเรื่องของกิเลส แล้วคนมีกิเลสไม่สงสัยมันเป็นไปไม่ได้หรอก สงสัยทั้งนั้นแหละ สงสัยทุกคน! มากหรือน้อย มากหรือน้อย ไอ้ที่ไม่สงสัยอย่ามาพูด อย่าโม้ โกหก อย่างที่ว่าไม่กลัวผีๆ ใครบ้างไม่กลัวผี กลัวผีทุกคนแหละ กลัวมาก กลัวน้อยเท่านั้นแหละ ไอ้เราก็ไม่กลัวผี เรานี่คนกล้าหาญไม่กลัวผีนะ แต่ก็เสียวสันหลังเหมือนกันนะ นิดๆ หนึ่ง นิดๆ หนึ่ง

นี่สัญชาตญาณมันมีทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าสงสัยนี่สงสัยทั้งนั้นแหละ เพราะอะไร? เพราะเราไม่รู้จริงนี่สงสัย เป็นไปไม่ได้หรอกที่บอกว่าไม่สงสัย เป็นไปไม่ได้! ไม่สงสัยต้องพระอรหันต์เท่านั้น พระอรหันต์เท่านั้น.. ฉะนั้น ถ้ามันสงสัย นี่คนเขียนมาสงสัย เราก็สงสัย แต่สงสัยพอทำไปแล้วนี่ปัจจัตตัง มันเหมือนกับเราถมเองไง ทะเลถมไม่เต็มหรอก แต่ในหัวใจเราถมด้วยประสบการณ์ของเรา นี่เรารู้เองเห็นเองเราจะจริง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่านึกพุทโธ มันเหมือนโบราณนะเขาให้ระลึกถึงพระ เห็นไหม เวลาคนใกล้ตาย หรือคนจวนตายเขาจะบอกว่า “นึกถึงพระนะ นึกถึงพระนะ ให้นึกถึงพระ” ให้นึกถึงพระ เพราะมันพูดอะไรไม่ได้แล้ว ดูเวลาคนเจ็บคนป่วย เวลาจะตายนี่ญาติพี่น้องเขาจะบอกว่า “นึกถึงพระนะ นึกถึงพระนะ”

ถ้านึกถึงพระก็นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันจะมีสิ่งใดที่ดีไปกว่านี้ มันจะมีสิ่งใดที่เราระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ดูสิเวลาคนตายแล้ว เห็นไหม เขายังต้องเอาดอกไม้ สังข์ แล้วให้ไปกราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้ไปกราบพระ ให้ไปกราบพระ

นี่ก็เหมือนกัน นี่เวลาประเพณีวัฒนธรรมเขาให้ระลึกถึงพระ แต่เราระลึกถึงพุทโธคือนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ระลึกถึงพระ ระลึกถึงใจมันก็ร่มเย็น ใจมันก็หนักแน่น ใจมันก็ดีขึ้น ถ้า! ถ้าบริกรรมจริงๆ อย่าสักแต่ว่าทำ ถ้าสักแต่ว่าทำนี่ พุทโธ พุทโธ พุทโธเดี๋ยวก็มีแต่ปาก ใจคิดอะไรก็ไม่รู้ ไอ้นี่ปากก็ยังท่องอยู่นะ แต่ใจยังคิดไปเรื่องเรื่อยเปื่อยเลย เห็นไหม นี่มันทำไม่จริงไม่จัง

คิดดูสิ เราก็ท่องไปเรื่อย แต่ความคิดมันไปอีกคนละเรื่อง มันแยกเป็นแม่น้ำสองสายไปแล้ว ออกไปนอกเรื่องเลย แต่ถ้าระลึกถึงพระนี่มันรวมเข้ามาเป็นหนึ่ง รวมมาเป็นหนึ่งนี่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าจริงนะ ขยันหมั่นเพียร ถ้าทำแล้วมันจะเกิดผลอย่างนี้.. เกิดผล เห็นไหม เพราะว่าเวลาเราระลึกถึงความตายแล้วมันวูบ มันไปนี่ เพราะเนื้อของใจคือสัจจะข้อเท็จจริง

นี่เห็นไหม ที่ว่า “มันเป็นธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะส่วนบุคคล” ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่วมันเป็นของส่วนบุคคล มันเป็นของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นทำก็ใจดวงนั้นได้ แล้วนี่พอจิตมันลงมันเป็นส่วนบุคคล แล้วเวลามันลง..

นี่ขนาดว่าเขาเขียนมาบ่อย คุณค่าของพุทโธนี่เขียนมาแล้วแบบว่าเป็นลูกศิษย์หลวงตาด้วย เพราะเขาเคยบอกว่าเขาเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน ครูบาอาจารย์ แล้วเวลามันลงเอง เห็นไหม นี่ลงซะทีหนึ่ง เวลาลงทีหนึ่งผลมันเป็นอย่างนี้แหละ ผลมันโอ้โฮ.. สุขคติเป็นที่ไป มั่นใจตัวเองขนาดนี้เลยนะ ถ้าตายตอนนี้สุขคติเป็นที่ไป ไม่กลัวอะไรเลย สุขคติเลย นี่แค่มีที่พึ่ง แล้วเราทำของเราต่อเนื่องไป

ให้ระลึกถึงพระ ให้ระลึกถึงคุณงามความดีของเรา ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติกันเราก็บอกว่าเราต้องศึกษา ศึกษา ศึกษา.. ศึกษานี่มันเป็นปริยัติ ศึกษามาเป็นแนวทาง เวลาฝึกปฏิบัติมา เห็นไหม นี่เราพูดบ่อยมากจนเขารำคาญแล้ว บอกว่าไอ้ปริยัติกับปฏิบัติมันจะขัดมันจะแย้งกัน ที่หลวงปู่มั่นว่านั่นล่ะ หลวงปู่มั่นบอกเลยนะ บอกกับหลวงตา

“ถ้าเราเอาปฏิบัติกับปริยัติไปพร้อมกัน มันจะเตะ มันจะถีบ มันจะขัดแย้งกัน”

มันขัดแย้งกันหมายถึงว่าเราคาดหมายไง เราคาดหมาย พอภาวนาไปเป็นสมาธิ เออ.. นี่เป็นสมาธิแล้ว เออ.. เป็นสมาธิหรือยัง? อ๋อ.. ปัญญาจะเกิดอย่างนี้ มันเหมือนมันมีอุปาทานร่วมไปด้วยตลอด มันไม่เกิดประโยชน์ไง ท่านถึงบอกว่าให้ใส่ในลิ้นชักไว้ แล้วล็อคกุญแจมันไว้ก่อน แล้วเราปฏิบัติไป ปฏิบัติไปถึงที่สุดแล้วนะมันเป็นอันเดียวกัน

อันเดียวกัน เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เอง แต่เวลาวิธีเข้าไปรู้นี่ วิธีจะเข้าไปรู้เราไปเอาเป้าหมายมาคำนวณก่อนไง เราไปเอาเป้าหมายว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น แต่กูยังไม่ได้เข้านะ เข้าไปนี่ตัวเองเข้าไม่ได้เลย แล้วบอกว่าเข้าไปแล้วจะเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น แต่ตัวเองยังคาอยู่นี่ยังเข้าไม่ได้เลย แต่ถ้าเราทำตัวเราจนเข้าไปถึงจุดนั้นแล้วนะ เออ! อันเดียวกัน

แต่ขณะทำมันมีปัญหา ขณะทำนี่มีปัญหา แล้วเถียงกันก็เถียงกันตรงนี้ ถึงบอกว่ามันเป็นวิธีการ.. เป้าหมายอันเดียว แต่วิธีการนี่หลากหลาย แต่เป้าหมายอันเดียวกัน ฉะนั้น ถ้าเป้าหมายถูกก็คือถูก แต่วิธีการนี่หลากหลายมาก หลากหลายเพราะเป็นจริตนิสัย หลากหลายเพราะว่ามันเป็นจริตนิสัย มันเป็นเวรเป็นกรรมของคน

ฉะนั้น ระลึกถึงพระนี่ เห็นไหม คุณค่าของพุทโธมีค่ามาก เมื่อก่อนสงสัยมาก แล้วเขาฟังเว็บไซต์นะ นี่เขาถึงเขียนมา มีคนมาถามเยอะมาก ทุกคนก็สงสัย โยมก็สงสัยด้วย แต่คราวนี้ไม่สงสัย ไม่สงสัยได้เพราะว่าเราทำของเรา ไม่สงสัยได้เพราะว่า “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” สมควรมากมันก็ได้มาก สมควรน้อยมันก็ได้น้อย นี่ความสมควรมันก็อยู่ที่เราทำของเราเอง

งานหน้าที่นะ โลกก็คือโลก ชีวิตนี้ก็คือชีวิตนี้ เกิดมา เห็นไหม เขาบอกว่าคนเกิดมามีหน้าที่การงาน งานนี่เป็นการพิสูจน์คนว่าคนนั้นมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน นี่แค่ว่างานนะ แล้วถ้าคนมีคุณภาพมากในทางโลก ถ้าเขามีคุณภาพมากเขาจะมีวินัยกับตัวเอง เวลามาปฏิบัติ เพราะวินัยกับตัวเองเขาเข้มแข็งอยู่แล้ว.. เพราะวินัยอันนี้ เพราะวินัยกับตัวเองมันถึงจะมีการปฏิบัติสม่ำเสมอ

คนที่ภาวนาแล้วไม่ค่อยได้ผลเพราะปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ ลุ่มๆ ดอนๆ เห็นไหม เวลามุมานะก็เต็มที่เลย เดี๋ยวก็ท้อถอย เดี๋ยวก็ทดท้อ แต่ถ้าเรามุมานะของเราเต็มที่ มีวินัยกับตัวเอง มันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เวลากิริยานี่เหมือนกัน เดินจงกรมเหมือนกัน นั่งสมาธิเหมือนกัน บางทีก็ได้ บางทีก็ไม่ได้ ได้หรือไม่ได้มันเป็นนามธรรม มันเป็นความรู้สึก แต่กิริยาของเรา วินัยของเราเรามีตลอดเวลา เรามีโอกาส เห็นไหม

เวลาทางโลกเขาเรียกร้องโอกาสกัน ขอโอกาสๆ แต่เรานี่ไม่ให้โอกาสตัวเองไง เวลาท้อถอย ทดท้อนี่หยุดเลย นี่เสียโอกาสแล้ว ปิดโอกาสตัวเองไปเลย แต่ถ้าเรามีวินัยกับตัวเอง เห็นไหม ถึงมันจะท้อถอย นี่เวลาจิตมันเสื่อมนะ แต่เราไม่เสื่อมกับมัน วินัยของเรา ความเพียรของเราไม่เสื่อมกับมัน เราทรงตัวไว้

นี่โอกาสมันมีอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าจิตนะ จิตมันเสื่อมขนาดไหน แต่ความเพียรมันมีนี่มันรั้งไว้ ฉุดไว้ กระชากไว้ รักษาใจไว้ รักษาใจไว้ มันจะเสื่อมขนาดไหนเรารักษาใจเราไว้ รักษาใจเราไว้ ถึงเวลาความเพียรมันสมควรแก่มัน มันก็กลับมาเจริญเหมือนเดิม แล้วมันก็ต่อเนื่องไป เห็นไหม นี่การปฏิบัติสม่ำเสมอ

ในพระไตรปิฎกบอกว่าการที่เราไม่ได้ผลกันนี่เพราะเราปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ ถ้าการปฏิบัติสม่ำเสมอโดยการตั้งสติ การทำสมาธิ การนั่งภาวนาของเรา ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีอย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี ๗ ปี! ๗ ปี อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี.. แต่นี้เราไม่สม่ำเสมอ ๒๐ ปีก็ปฏิบัติบ้าง ไม่ปฏิบัติบ้าง ปฏิบัติ ๒ วันเลิก ๕ วัน ๕ วัน ๒ วัน ๔ วัน ๘ วัน อยู่อย่างนั้นแหละมันไม่ครบสักปีหนึ่ง ปีหนึ่งก็นับไม่ได้เพราะมันไม่ต่อเนื่อง ฉะนั้น ให้มันต่อเนื่อง ๗ ปีดันไปเลย ๗ ปี

นี่อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าทำต่อเนื่องนี่ ๗ ปี ถ้าเรามีวินัยต่อเรา เห็นไหม ถ้าหน้าที่การงานของเรา ทุกคนบอกว่าเราทำงาน เรามีหน้าที่การงานของเราอยู่แล้ว แล้วเวลาปฏิบัติล่ะ? เวลาปฏิบัติถ้าเราเป็นคนที่มีวินัยกับตัวเองตั้งแต่โลก มาปฏิบัติมันก็จะสมควร ถ้าเราไม่มีวินัยกับเรา ทางโลกเราก็ปล่อยเหลวไหลไป แล้วมาปฏิบัติก็จับพลัดจับผลู แต่ก็มีสติปัญญาที่ยังพยายามจะหาทางออกกันอยู่นะ ถ้าเราไม่มีทางออกเราจะไปทางไหนกัน

ถ้าเรามีทางออก เห็นไหม ชีวิตนี้ยังมีทางออก เราต้องสู้เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง