ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ถ้าเป็นจริง

๑๑ ก.ย. ๒๕๕๔

 

ถ้าเป็นจริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๖๐๑. กับ ๖๐๒. มันยกเลิกหมดเนาะ มันมาข้อ ๖๐๓.

ถาม : ๖๐๓. เรื่อง “ความรู้ที่เกิดจากการเพ่งดูจิตที่นึกพุทโธครับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ เวลานั่งสมาธิ เดินจงกรม ถ้าผมบังคับตัวเองให้นึกพุทโธชัดๆ นึกพุทโธหนักๆ แน่นๆ นึกไปจนกระทั่งมีจิตที่นึกพุทโธตั้งมั่นเป็นแท่งๆ นิ่งๆ อยู่ในใจ ตรงตำแหน่งที่ผมนึกพุทโธ พุทโธ แล้วผมก็เห็นว่าตัวเรานั่นแหละคือจิต สิ่งที่ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้รู้พุทโธและผู้นึกพุทโธในเวลาเดียวกันใช่ไหมครับ

เวลาที่ผมเห็นสิ่งต่างๆ หรือเวลาได้ยินเสียง หรือเวลาผมคิดเรื่องต่างๆ จิตที่นึกพุทโธ พุทโธก็จะส่งอาการยิบๆ ยับๆ ออกมา แล้วก็กลายเป็นอารมณ์ต่างๆ ฉะนั้น อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดจากจิตไม่ใช่เกิดจากร่างกาย แต่ว่าร่างกายเป็นเครื่องมือที่ทำงานร่วมกับจิตที่นึกพุทโธใช่ไหมครับ

เมื่อผมเพ่งดูจิตที่นึกพุทโธ พุทโธที่ตั้งมั่นเป็นแท่งๆ นิ่งๆ ในใจ ผมรู้สึกได้ว่ามีความสุข ขยับตัวเบาๆ ออกมาจากจิตที่นึกพุทโธ แสดงว่าการเพ่งดูจิตผู้รู้ ไม่ได้ทำให้จิตผู้รู้กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ แล้วมีจิตผู้รู้ดวงใหม่ทำหน้าที่แทนจิตผู้รู้ดวงเก่า กลายเป็นผู้รู้ซ้อนผู้รู้ ผู้รู้ซ้อนๆ ไปเป็นชั้นๆ ตามที่มีคนสอนอย่างนี้

ขณะที่ผมเพ่งดูจิตที่นึกพุทโธ ผมจะเห็นจิตและความรู้สึกของจิตได้ในเวลาเดียวกัน เพราะว่าความสุขของจิตเกิดมาจากตัวจิต ดังนั้น ถ้าผมเพ่งดูจิตเมื่อไหร่ ผมจะเห็นความสุขของจิตได้เมื่อนั้น แต่ทั้งสองอย่างนี้ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน คือจิตจะอยู่นิ่งๆ กับคำบริกรรมพุทโธ แต่ความสุขของจิตจะขยับตัวเบาๆ อยู่รอบๆ ตัวจิต ซึ่งผมไม่สามารถบังคับความสุขของจิตให้อยู่นิ่งๆ ได้ แต่ผมสามารถบังคับจิตให้อยู่นิ่งๆ กับคำบริกรรมพุทโธได้

ซึ่งก็แสดงว่าจิตที่นึกพุทโธไม่เกิดและไม่ดับ ผมจึงบังคับมันไม่ได้ แต่ความสุขของจิตเกิดดับ ผมจึงบังคับมันไม่ได้ แต่ถ้าผมภาวนาแล้วเห็นจิตและความสุขของจิตในแบบนี้ เวลาภาวนานานๆ ผมจะมีความปลอดโปร่งในใจ ไม่มีความเหน็ดเหนื่อย แต่ถ้าผมภาวนาไม่เห็นจิตและความสุขของจิต ในเวลาภาวนานานๆ ผมจะเหนื่อยมากครับ กราบเรียนถาม ขอให้หลวงพ่อพิจารณา

หลวงพ่อ : นี่เขาถามถึงผลการปฏิบัตินะ คือว่าเขากำหนดพุทโธ พุทโธ เห็นไหม เมื่อก่อนบอกกำหนดพุทโธ พุทโธไป แล้วจิตมันเห็นอาการยิบๆ ยับๆ แล้วจิตมันสงบไง เวลาจิตมันสงบเป็นแท่งๆ นิ่งๆ อันนี้มันเป็นจริตของผู้เห็นนะ เพราะว่าเขาเห็นของเขา สมมุติว่า.. ไม่ต้องสมมุติหรอก เราเห็นก้อนเมฆ เรามองบนก้อนเมฆ ลักษณะของก้อนเมฆ แต่ละคนเห็นมันจะรูปร่างแตกต่างกันไป แล้วแต่ผู้จินตนาการ เพราะก้อนเมฆมันเคลื่อนตัวตลอดเวลา เราเห็นก้อนเมฆใช่ไหมเราจะเห็นของมัน

ทีนี้เรากลับมาที่ว่าจิตถ้าใครสงบแล้วมันจับความรู้สึก เห็นไหม บางคนถึงบอกว่าเป็นแท่งๆ นิ่งๆ เราพูดอย่างนี้ออกมาให้ว่าถ้าคนดูก้อนเมฆแล้วเห็นภาพก้อนเมฆนั้น พยายามอธิบายว่าก้อนเมฆนั้นคือภาพอะไร นี้เรารู้เราเห็นใช่ไหม? เรารู้เราเห็นนี่เราเปรียบเทียบไง เปรียบเทียบเพราะก้อนเมฆมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพราะมันหมุนของมัน

จิต! จิตถ้าเราพุทโธ พุทโธ พอมันบอกว่าเป็นแท่งๆ นิ่งๆ ถ้าบอกว่ามันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เขาบอกอ๋อ.. จิตมันเป็นอย่างนั้นหรือ? จิตเป็นแท่งๆ หรือ? จิตเป็นนิ่งๆ หรือ? มันก็จะติดอีกใช่ไหม? แต่คนที่เขาเห็น เขาเห็นอาการแบบนี้ เขาเห็นแล้วเขาคาดหมายได้แบบนี้ แต่เขามีความรู้สึกอีกอันหนึ่งคือเขาจับต้อง เขารู้เขาเห็น แล้วเขาจะอธิบายความรู้ความเห็นออกมาให้เราเข้าใจ เขาต้องสมมุติว่ามันเป็นแท่งๆ นิ่งๆ

ถ้าบอกว่ามันเป็นแท่งๆ นิ่งๆ เพราะมันต้องระวังไง ระวังพวกที่บอกว่าพุทโธติดนิมิต พุทโธจะเห็นเป็นนิมิต.. พุทโธ พุทโธนี่เพื่อความสงบ ในเป้าหมายนะ เวลาครูบาอาจารย์สอนบอกว่าทำความสงบของใจให้ใจสงบก่อน ถ้าใจสงบแล้วให้ออกฝึกหัดใช้ปัญญา แต่ถ้าใจไม่สงบเราใช้ปัญญาไป มันใช้ปัญญาแบบสามัญสำนึก ใช้ปัญญาแบบโลกๆ เขาเรียกโลกกับธรรม แต่ถ้าเป็นธรรมนะต้องจิตสงบก่อน พอจิตสงบแล้ว พอจิตสงบมันสัมผัส มันสัมผัสมีความสุข เห็นไหม พอมีความสุขนี่อ๋อ.. จิตเป็นอย่างนี้เอง เป็นแท่งๆ นิ่งๆ

ทีนี้อันนี้มันเป็นคนที่สัมผัสแล้วเขาพยายามจะอุปมาอุปมัย บอกให้พวกเราเป็นสื่อที่จะคุยกัน ฉะนั้น ถึงบอกว่าถ้าจิตมันสงบ เห็นไหม เวลาพุทโธ พุทโธไปนี่จิตมันสงบ มันถึงว่าจิตสงบแล้วมันจะเห็น มันจะรู้ มันจะมีความสุขของมัน ถ้ามีความสุขของมัน แล้วเห็นอาการยิบๆ ยับๆ นี่สำคัญมากนะ อาการยิบๆ ยับๆ พอจิตมันสงบใช่ไหม? พออาการยิบๆ ยับๆ นี่มันจะเสวย มันจะขยับ มันจะออก เราสังเกตให้ดีนะ

การปฏิบัติสำคัญตรงนี้มาก เวลาเราทำจิตสงบ เราฝึกหัดใช้ปัญญา หลวงตาท่านบอกว่า

“ปัญญาจะเกิดเองไม่ได้ ปัญญาต้องฝึกหัด ต้องพยายามฝึกฝนตัวเองขึ้นมาให้ได้”

ทีนี้การฝึกฝน พอจิตเราสงบแล้วเราก็หัดฝึกฝนของเรา ฝึกฝนของเรา พอฝึกฝนของเรา นี่คนทำงานมีความชำนาญมากขึ้น มีความชำนาญมากขึ้น เห็นไหม พอมันชำนาญมากขึ้นมันก็ละเอียดมากขึ้น ละเอียดมากขึ้นจนเห็นเสวยอารมณ์ จิตเห็นอาการของจิต อาการยิบๆ ยับๆ นั่นล่ะตัวมันขยับ ถ้าตัวมันขยับนะเราจับให้ได้สิ เราจับอาการให้ได้ พอจับอาการให้ได้นี่วิปัสสนาเกิดตรงนี้นะ สติปัฏฐาน ๔ เกิดตรงนี้

อาการขยับนี่ใครขยับ? อาการขยับ เห็นไหม จิตผ่องใส จิตเศร้าหมอง จิตหดหู่ จิตผ่องใสนี่ แล้วถ้ามันขยับจิตเห็นจิตไง! ถึงบอกว่าจิตเห็นจิตเป็นอย่างไร? จิตเห็นอาการของจิตเป็นอย่างไร? จิตเห็นจิตมันจะรู้ ถ้าจิตไม่เคยเห็นจิตพูดไม่ถูกหรอก ไม่รู้ ไม่เห็น แต่ถ้าจิตเห็นจิต เห็นไหม

“ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นจิตแล้ววิปัสสนามัน วิปัสสนามัน”

นี่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนอย่างนี้! ท่านสอนว่าจิตมันขยับ จิตมันมีอาการมันจับต้องได้ นี่มันขยับ มันรู้จักขยับ ยิบๆ ยับๆ ถ้ามันขยับนะ แต่ถ้าเป็นสามัญสำนึกเป็นโลกนะ เวลาเรานั่งอยู่เราก็ขยับนะ เวลานั่งอยู่มันคันนู่น คันนี่ขยับไหม? นี่มันคันที่ร่างกาย เพราะว่าจะพูดอะไรก็แล้วแต่ คนที่เขาไม่เห็นด้วยเขาก็จะเสียดสี เขาจะเย้ยหยัน เขาจะไม่เห็นด้วยไง

โลกมันมีอยู่สองด้าน โลกมีอยู่อย่างนี้ คนที่ปฏิบัติ คนที่รู้เห็นเขาก็ซาบซึ้ง แต่คนที่ไม่รู้ไม่เห็น แล้วไม่เห็นด้วยก็เสียดสี นี่เสียดสี ดูแคลน แล้วไอ้พวกปฏิบัติเรานะก็ไม่รู้จะตอบโต้ หรือไม่รู้ว่าเราจะยืนอย่างไรนะ พอเขาดูแคลนเราก็ล้มลุกคลุกคลานไง แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ ใครจะดูแคลนมันเรื่องของเขา แต่เรื่องของเรา เห็นไหม นี่พอพุทโธไป อย่างที่ว่าพุทโธไปแล้วจิตมันหนักแน่น มันมีความสุข มันเห็นจริงของมัน

เราถึงบอกว่านี่พอจิตมันเป็นนิ่งๆ เป็นแท่งๆ จิตมันมีความหนักแน่น พอพุทโธ นี่ผมเห็นว่า “ตัวเรานั่นแหละคือจิต สิ่งที่ทำหน้าที่เป็นผู้รู้ และนึกถึงผู้รู้ในเวลาเดียวกัน”

พอเข้าไปถึงจิตนะ เข้าไปถึงฐีติจิต เข้าไปถึงตัวจิตมันจะเข้าใจ เห็นไหม นี่ตรงนี้เป็นความสงบ เป็นสมาธิ เป็นสมถกรรมฐาน เป็นฐานที่ตั้งแห่งการงาน ถ้างานไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่เริ่มต้น งานจะสร้างบนอะไร? นี่เราทำหน้าที่การงานกันมา เราทำงานเสร็จ งานจบแล้วเราก็รู้ของเรา แล้วถ้าเขาทำงานทางสาธารณะ เขาไม่มีใครเป็นผู้รับผลประโยชน์เลยล่ะ?

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราทำกันอยู่ในโลกนี้มันเป็นสมบัติของโลก แต่ถ้าเราเข้าถึงจิตนี่จิตมันจะรับรู้ของมัน มันจะทำของมัน.. อย่างที่เราทำ เห็นไหม ทำบุญกุศลใครเป็นคนทำ จิตเป็นคนนึกนะ มีความคิด มีความใฝ่ฝัน มีการอยากทำบุญ ทำบุญขึ้นมานี่ทำบุญเป็นวัตถุ สิ่งที่เป็นไทยทานเป็นวัตถุที่เราหามาทำบุญ แต่จิตมันนึกมันคิดมันก็รับได้ แต่รับได้อย่างนี้มันเป็นอามิส

นี่ถ้ามันฟุ้งซ่านนัก มันทุกข์ยากนักก็ทำบุญ พยายามทำบุญ สะเดาะเคราะห์ต่อชะตาก็ว่ากันไป นั้นมันก็ทำบุญเพื่อสัญญาอารมณ์กับสัญญาอารมณ์มันจูนใส่กัน แต่เวลาจิตมันสงบ เห็นไหม มันไม่ใช่สัญญาอารมณ์มันผ่านเข้าไปถึง.. นี่จิตเป็นผู้รู้ พอทำเข้าไปแล้วตัวเรานั่นแหละคือตัวจิต ตัวจิตไม่ใช่ผู้รู้ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกรู้ นี่มันไม่ใช่ทั้งหมดเลยตัวมัน พอเข้าถึงตัวมันนี่ต้นขั้ว นี่เข้าไปถึงสิ่งที่เป็นสัจจะความจริง นี่สมถกรรมฐาน

แล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญา หัดใช้ปัญญา ถ้าปัญญาเข้ามาถึงที่นี่ จากที่นี่มันก็มาชำระล้างกัน มาเป็นวิปัสสนาคือการแก้ไขถอดถอน ถ้าแก้ไขถอดถอน เห็นไหม นี่ถ้ามันสะอาดเข้าไป มันเป็นความจริงไป มันเห็นอาการของมันยิบๆ ยับๆ นี่จับตรงนี้ให้ได้ ถ้าจับได้จิตจับอาการของจิต

เขาบอกว่าจิตจับขันธ์ ๕ จิตจับรูป จิตจับอารมณ์ อารมณ์คือรูป ความรู้สึกนึกคิด ความสุข ความทุกข์นั้นคือรูป มันพร้อมแล้วมันถึงเป็นอารมณ์ แต่ถ้าพอจับแล้วมันแยกปั๊บ พอมันแยกออกจากกัน อารมณ์เดินไปไม่ได้ ความคิดเดินไปไม่ได้หรอก ความคิดความรู้สึกนี่ไปไม่ได้ ถ้าปัญญามันเข้าไปแยกปั๊บมันหยุดหมด พอมันหยุด เห็นไหม มันหยุดมันก็ปล่อยโล่ง มันก็มีความสุข.. ทำตรงนี้ ถ้าพูดถึงความก้าวเดินนะ

ถาม : เมื่อผมเพ่งดูพุทโธ พุทโธจนตั้งมั่น นี่มีความสุขตัวเบา พอขยับนึกพุทโธความเพ่งดูทำให้จิตรู้ว่าสิ่งที่ถูกรู้มันเป็นสิ่งที่รู้ ไม่ใช่จิตดวงเก่า ไม่มีจิตดวงใหม่ทำหน้าที่จิตดวงเก่า

หลวงพ่อ : นี่ความรู้สึก เห็นไหม ถ้าความจริงของเรามันจะไปลบล้างทฤษฎีที่เราเคยฟัง เคยจำมา ทฤษฎีที่เราซับมานี้เป็นทฤษฎี แต่พอถ้าเราปฏิบัติตามความจริงเข้าไป ความจริงเป็นแบบนี้มันจะไปลบล้างสิ่งที่เราตกค้างในสมองไง สิ่งที่เรารับรู้สิ่งใดมามันจะตกค้างอยู่ในสมอง แต่ถ้าเกิดมีความจริงขึ้นมามันจะไปลบล้างสิ่งที่เราฟังมา เราจำมา

ความจริงเป็นแบบนี้ ทีนี้ถ้าเป็นความจริงอย่างนี้ พอลบล้าง เห็นไหม สิ่งที่ลบล้างเอาอะไรไปลบล้าง สิ่งที่ลบล้างเอาความจริงที่เราไปสัมผัส สิ่งที่เวลาเราพุทโธ พุทโธจิตสงบเราก็รู้ว่าจิตสงบ ถ้าสงบแล้วนี่ สงบนะแล้วยังหัดใช้ปัญญาไม่เป็น หรือว่ามันยังจับงานไม่ได้ เวลากรรมฐานเรา ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า

“การขุดคุ้ยหากิเลสมันเป็นหน้าที่อันหนึ่ง มันเป็นงานส่วนหนึ่ง งานแผนกหนึ่ง ถ้าขุดคุ้ยจนหากิเลสเจอ งานวิปัสสนาในการชำระล้างนั้นเป็นงานอีกอันหนึ่ง”

แต่พวกเรามีความเข้าใจกันว่า จิตสงบแล้วจะเห็นกิเลส ทุกอย่างจะเห็นกิเลส มันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าจิตสงบขนาดไหนมันก็รู้ถึงความเครียด รู้ถึงความฟุ้งซ่าน รู้ถึงความไม่พอใจ พอมันพิจารณามันก็ปล่อยๆ มันปล่อยนี่เป็นสมถะหมดแหละ มันปล่อยมามันเป็นสมาธิทั้งนั้นแหละ พอมันปล่อยขึ้นมาแล้ว อย่างมือเรานี่เราจับของอยู่ เราปล่อยของมา ปล่อยทุกอย่างมาหมดเลยแล้วมันเหลืออะไรล่ะ? ก็เหลือมือไง

ทีนี้ตัวมือก็คือตัวจิต จิตมันปล่อยทุกอย่างเลย ปล่อยแล้วมันเหลืออะไร? มันปล่อยหมดแล้วมันจะเหลืออะไรล่ะ? มันปล่อยหมดแล้ว แต่ถ้าพอจิตนะ ถ้ามันปล่อยไปแล้วมันเป็นสมาธิ มันปล่อยหมดแล้ว นี่แล้วในตัวมันเราจับในมือนี้ มือนี่ถ้ามันกำมือมันมีความรู้สึกไหม? มี ความรู้สึกมันอยู่ไหนล่ะ? นี่มันจับความรู้สึกอันนี้ออกมาตีแผ่ได้อีก มันแยกแยะได้อีก

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาเราบอกว่าเราใช้ปัญญาแล้วมีความเครียด สิ่งต่างๆ ที่เป็นเรื่องความรกชัฏในหัวใจ พอเราปล่อยแล้วนี่สมถะทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น การขุดคุ้ยหากิเลส เห็นไหม จิตสงบแล้วมันขยับ จิตมันยิบยับ มันขยับออก เห็นอารมณ์ความรู้สึกนี่จับได้ พอจับได้นะมันเป็นความมหัศจรรย์เลยล่ะ

มันกระทบกัน.. จากมือๆ หนึ่ง เห็นไหม จิตหนึ่ง จิตหนึ่งกระทบอาการของมันมันเป็นมือระหว่างสองมือกระทบกัน มันจะมีงานขึ้นมาไง พอมันกระทบกันวิปัสสนาเกิดตรงนี้ ถ้าเกิดตรงนี้ วิปัสสนาไปนี่จิตจับอาการของจิต แล้วอาการของจิตมันก็แตกต่างหลากหลาย คนจะจับในแง่มุมไหน แต่ถ้าจับได้แล้วนะ ขุดคุ้ยหากิเลสเจอแล้วนะ สิ่งนั้นเป็นเริ่มต้น

นี่ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันลบล้างทุกๆ อย่าง แล้วมันเป็นความจริงของมันไป แต่ถ้าเป็นความจริงระดับนี้ แล้วเราคิดว่าความจริงอันนี้เป็นเป้าหมาย ติด! พอติดแล้วมันไม่ขยับ.. คำว่าติดนี่นะคือความเชื่อ จิตนี่นะถ้ามันเชื่อสิ่งใด มันพอใจสิ่งใด มันบอกว่าไม่มีทางเดินอีกแล้ว จนแค่นี้เป็นสิ่งที่จบกระบวนการแล้ว

แต่ถ้าจิตมันไม่ติดนะมันพิสูจน์ของมัน มันตรวจสอบของมัน พิสูจน์ของมัน พิสูจน์ของมัน พิสูจน์นะ มันจะละเอียดเข้าไป ลึกเข้าไป ละเอียดเข้าไป ลึกเข้าไป ทำของมันเข้าไปเรื่อยๆ พอถึงเรื่อยๆ นี่ตทังคปหานมันปล่อยของมันไปเรื่อยๆ ถึงเวลามันขาดนะ เวลามันขาดอันนั้นเป็นความจริง ถ้าความจริงเราจะบอกว่าสิ่งที่ทำมานี่ เพราะเวลาทำเข้าไปแล้วมันมีอาการ มันมีความรู้สึก แล้วมันเป็นสิ่งที่จิตเห็นอาการยิบๆ ยับๆ มันเป็นประโยชน์ไง มันเป็นประโยชน์ มันเป็นขั้นตอน

วิถีแห่งจิตนะ ความคิดมันเกิดมาได้อย่างไร? เราว่าความคิดนะมันก็เป็นเจตนา เป็นเจตสิกมันก็ว่ากันไปตามตำรานั่นแหละ อันนั้นตำราก็บอกไว้นะ แต่พอเราไปทำเอง เห็นเอง รู้เองมันทึ่งอีกต่างหากนะ มันทึ่ง เวลามันเคลื่อนออกไปอย่างไร? มันเสวยอารมณ์อย่างไร? มันเสวย เวลามันเสวย มันผลกระทบ แล้วเวลาถ้าปัญญาอบรมสมาธิปล่อยเข้ามานี่มันทึ่งนะ มันทึ่งว่ามันปล่อยได้อย่างไร? นี่มันทรงตัวอยู่ได้อย่างไร?

โดยธรรมชาติมันทรงตัวเองไม่ได้ อย่างเช่นชีวิตนี้มันต้องมีอาหารตลอดไป ชีวิตนี้ขาดอาหารไม่ได้ นี่มันดำรงชีวิตไว้ได้อย่างไร? แล้วจิตมันดำรงตัวมันอยู่ได้อย่างไร? ถ้าสติมันเข้าไปพร้อม นี่สัมมาสมาธิมันดำรงตัวอยู่ได้อย่างไร? มันเห็นแล้วมันทึ่ง มันทึ่งกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราปฏิบัติตามความเป็นจริงอันนั้นไป

นี้พูดถึงเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ที่ว่าเขาถามมาเป็นวรรคๆๆ ให้พิจารณาว่าถูกต้องไหม? ถูก.. แล้วที่ว่ามันไม่เป็นดวง นี่อันนั้นจบไป อันนี้มันเป็นทฤษฎี มันเป็นข้อมูลของทางทฤษฎีเขาว่ากันไป

ถาม : ขณะที่ผมเพ่งดูพุทโธอยู่นั้น เห็นจิตแล้วมีความสุขในจิตในเวลาเดียวกัน เพราะความสุขของจิตเกิดจากตัวจิต ดังนั้น ถ้าผมเพ่งดูจิตเรื่อยไป ผมก็จะเห็นแต่ความสุขของจิตในเมื่อนั้น แต่ทั้งสองอย่างนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

หลวงพ่อ : ความสุขเกิด เห็นไหม เวลาจิตสงบมันจะเกิดความสุข ความสุขเกิดจากจิตสงบ แต่เวลามันฟุ้งซ่านมันเกิดเป็นความทุกข์ ความทุกข์นี่เป็นอารมณ์ ความสุข ความทุกข์.. ทุกข์ควรกำหนด แล้วสุขควรกำหนดไหมล่ะ?

ถาม : ทีนี้กลับมาบริกรรมพุทโธ พุทโธ แต่ความสุขของจิตจะขยับตัวเบาๆ อยู่รอบๆ ตัวจิต ซึ่งผมไม่สามารถบังคับความสุขให้อยู่กับจิตนิ่งๆ ได้

หลวงพ่อ : สมาธินี่นะ สมาธิเป็นผล สมาธิไม่ใช่จิต จิตก็ไม่ใช่สมาธิ จิตก็เป็นจิต สมาธิก็เป็นสมาธิ ถ้าสมาธิเป็นจิต เวลาได้สมาธิแล้วสมาธิจะอยู่กับเรา แต่ถ้าเราได้สมาธิแล้ว สมาธินะมันเป็นอนิจจังใช่ไหม? เดี๋ยวก็เสื่อม เดี๋ยวก็เจริญ ทีนี้ถ้าเราทำแต่เหตุ ที่พระอัสสชิบอกพระสารีบุตร เห็นไหม

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไปดับที่เหตุนั้น”

ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเรามีสติเรากำหนดพุทโธรักษาจิตของเรา สมาธิก็จะอยู่กับเรา ถ้าอยู่กับเราสุขมันก็เกิดกับเรา.. สุขนี่เห็นไหม ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ สมุทัยคือตัณหาความทะยานอยาก ถ้าเราละตรงนี้หมดมันก็ไม่มีตัวทุกข์ ถ้าไม่มีตัวทุกข์นะเพราะเราละตัณหา ละความปรารถนา ความต้องการ เราละทุกอย่าง ถ้าละตรงนี้ปั๊บ สิ่งที่เป็นสุขเป็นทุกข์มันก็ไม่มี แต่ถ้าเราบอกว่านี่สุข เราอยากอยู่กับสุข สุขมันจะอยู่กับเราได้อย่างไร?

ฉะนั้น เราตั้งตรงนี้ ถ้าเราบังคับจิตเราไม่ได้ เขาบอกว่า

“เพราะผมไม่สามารถบังคับจิตให้อยู่นิ่งๆ ได้กับคำบริกรรมพุทโธ”

เราอยู่กับเหตุสิ เราอยู่กับพุทโธ พุทโธ พุทโธ เราระลึกรู้ ถ้าเราระลึกรู้ถึงที่สุดใช่ไหม? ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้ามันปล่อยหมดมันก็นิ่งของมัน ถ้ามันนิ่งของมันนี่เรามีสติ ถ้าเราระลึกไม่ได้ ระลึกพุทโธไม่ได้มันก็จะเป็นอัปปนาสมาธิ ถ้ามันนึกได้เราต้องนึกอยู่ตลอดไป.. อยู่ที่เหตุ ถ้าชำนาญตรงนี้แล้วนะ นี่ที่เขาว่าสุขที่รักษาไว้ไม่ได้ เดี๋ยวจะรักษาได้ รักษาของเราไว้

ถาม : ซึ่งก็แสดงว่าจิตที่นึกพุทโธไม่เกิดไม่ดับ ผมจึงบังคับมันไม่ได้ แต่ความสุขของจิตเกิดและดับ

หลวงพ่อ : ใช่.. ความสุขของจิต อาการทั้งหมดเกิดแล้วดับ แต่ตัวจิตไม่เคยดับ ถ้าตัวจิตไม่เคยดับ เห็นไหม ตัวจิตไม่เคยดับ ฉะนั้น เวลาจิตไม่เคยดับ ถึงที่สุดแล้วนะว่าจิตสะอาดๆ นี่ถ้ายังมีจิตก็มีภพ แต่ถ้าพ้นจากภพ พ้นจากทุกอย่างไปเป็นธรรมธาตุ

ไอ้อย่างนี้เราจะบอกว่า เรื่องเริ่มต้นจากการภาวนามันเป็นพื้นฐานอันหนึ่ง แล้วเวลาเป้าหมาย เวลาความเข้าใจ ถ้าเป็นเราอยู่ เราอยู่ตรงไหนก็คือเราทั้งหมด เราอยู่ในปุถุชน อยู่ในโสดาบัน อยู่ในสกิทาคามี อยู่ในอนาคามี อยู่ในพระอรหันต์ นี่เป็นเราทั้งหมด ทีนี้เราก็รู้ระดับของเรา แต่ขณะที่ปัจจุบันนี้เห็นไหมเขาบอกว่า

“ในเมื่อจิตมันดับไม่ได้ สิ่งที่เกิดดับคือคำบริกรรม คือความสุข”

นี่สิ่งนี้เราก็เป็นเรา เราก็เข้าใจของเรา สิ่งที่มันเกิดดับๆ มันเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวะที่เราจะต้องบุกบั่น ต้องพยายามของเราขึ้นไป พอถึงที่สุดแล้วนะมันพ้นจากสภาวะนี้ไป ที่ว่าสิ่งที่ดับไม่ได้ๆ มันรู้จริงของมัน มันละทิ้งของมันใช่ไหม

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันไม่ใช่เรา แต่! แต่พอไม่ใช่เรานี่มันละสังโยชน์ ละสิ่งที่มันร้อยรัด แต่ความคิดความเห็นมันก็ยังอยู่ แล้วชำระต่อไปมันก็จะเป็นต่อไป.. อันนี้ถ้าเป็นจริงมันเป็นแบบนี้ นี่พูดถึงเวลาเขาภาวนาได้ผลนะ

แล้วดูอันนี้ มันมีอีกอันหนึ่งเปรียบเทียบ คำถามนี้แปลกมาก มันจะคู่กันมาตลอดเลย

ข้อ ๖๐๔. นี่ยกเลิก ข้อ ๖๐๔. ข้อ ๖๐๕. ข้อ ๖๐๖. หมดเลย อันนี้ข้อ ๖๐๗. สิ่งที่ปฏิบัตินี่เขาถามถึงภาวนาพุทโธแล้วจิตมันมีความสุข จิตมันนิ่ง อันนี้นะข้อ ๖๐๗.

ถาม : ๖๐๗. เรื่อง “ภาวนานั่งสมาธิแล้วจะหลับ จะแก้อย่างไรดีครับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมหัดภาวนาอยู่ เวลานั่งสมาธิ ภาวนาตอนแรกๆ ก็จะเหมือนว่าดี สักพักมันจะเคลิ้มหลับไปเฉยๆ ผมแก้ด้วยการท่องอาการ ๓๒ ช่วยก็ยังไม่หาย ไปไม่ถึงครึ่งก็จะวูบไป บางครั้งก็ตบหน้าตัวเอง ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ล้างหน้าแต่ก็ยังไม่หาย ทั้งที่เราก็ตั้งไม่อยากนอน แต่พอเวลานั่งสมาธิก็เป็นแบบนี้ทุกครั้ง เป็นทั้งกลางวันและกลางคืน ตอนนี้ก็ลืมตานั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมช่วย หลวงพ่อช่วยแก้วิธีด้วยครับ

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงว่านั่งหลับ เวลานั่งเห็นไหม นี่พูดถึงเวลาปฏิบัติไปทุกคนปรารถนาอยากจะทำคุณงามความดีทั้งนั้นแหละ ความปรารถนาคือปัจจุบัน ปัจจุบันนี่เรามีศรัทธา เรามีความเชื่อ แล้วเราอยากจะเอาใจเราให้พ้นจากทุกข์ แต่เวลาไปปฏิบัติ คนเรานี่ปรารถนาดี เจตนาดี ทำดีต้องได้ดีสิ คนทำดี คนปรารถนาดีต้องมีการส่งเสริมให้เป็นความดีสิ แต่นี้พอเวลาปฏิบัติไปแล้วทำไมมันนั่งหลับล่ะ?

แล้วพอนั่งหลับแล้ว ตัวเองก็พยายามจะฝืนนะ ตัวเองก็พยายามจะหาทางออกอยู่ ทีนี้หาทางออกอยู่มันก็เหมือนกับหยาบ ละเอียด ถ้ามันไม่ลึกซึ้ง ไม่หนักหนาสาหัสสากรรจ์นะ เราแก้ไขของเรามันก็มีทางออก แต่นี่พยายามแล้วพยายามอีก พูดถึงว่าเราพยายามของเรานะ เราจะย้อนกลับไปดูจริตนิสัยว่านี่มันทำสิ่งใดมา อย่างเช่นนะ ในตำราครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าคนนี่นะนอนทั้งวันๆ พวกนี้ชาติที่แล้วเกิดเป็นงู งูมันกินแล้วก็นอน นอนแล้วก็กินอยู่อย่างนั้นแหละ

นี่เวลาครูบาอาจารย์ที่ในพระไตรปิฎก เห็นไหม ที่ว่าพิจารณาสงบเสงี่ยมมาก สันตกายๆ สันตกายนะ อยู่สงบนิ่งมากจนพระบอกว่า “พระองค์นี้เป็นพระอรหันต์” ก็ไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเรียกพระองค์นั้นมา บอกว่า

“นี่เขาว่าเธอเป็นพระอรหันต์ เป็นหรือเปล่า?”

“ไม่เป็น”

“แล้วทำไมเขาสงบเสงี่ยมได้ขนาดนั้น”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ในอดีตชาติเขาเกิดเป็นเสือ เป็นราชสีห์มา ๕๐๐ ชาติ” ฉะนั้น พอ ๕๐๐ ชาติ ราชสีห์เวลามันจะออกหากิน มันนอนนี่กว่ามันจะตื่นขึ้นมามันจะดูท่านอนของมัน ถ้ามันผิดพลาดมันจะนอนซ้ำอีก เห็นไหม นี่มันสงบเสงี่ยมมากไง เขาถึงบอกว่าเป็นพระอรหันต์ เขาบอกไม่ใช่

อยู่ที่ว่าจิตนี่มันเกิด จิตที่มันซับซ้อนมามันมีสิ่งใด แต่พอมาเกิดในปัจจุบันนี้ เห็นไหม เราอยาก เราอยากจะภาวนา นี่นั่งแล้วก็หลับ ทุกอย่างก็แก้ไข ทีนี้เพราะว่าถ้าเป็นสามัญสำนึก นี่มันเป็นผลของกรรม มันเป็นวิบากเราก็รู้ได้ แต่เวลาเราจะไปแก้ไข เราจะย้อนเข้าไปสู่ที่ใจ พอใจมันเคยสะสมอย่างนั้นมา คือเราจะบอกว่ามันเป็นกรรมของแต่ละคน ฉะนั้น เวลาพูดถึงธรรมะเราจะมองแบบโลก แบบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยทุกคนต้องมีสิทธิ์ทุกคน มันก็ใช่ ประชาธิปไตย

นี่ก็เหมือนกัน คนจะปฏิบัติทุกคนก็ประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิ์ปฏิบัติหมด แต่เวลาทำเข้าไปแล้วมันเป็นธรรมาธิปไตย คำว่าธรรมนี่ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใครทำกรรมสิ่งใดมา กรรมสิ่งนั้นมันก็ฝังกับใจดวงนั้นมา แล้วเราจะไปแก้นั่นน่ะ มันเป็นผลงานที่ละเอียดกว่าสามัญสำนึกเรานี่ไง สามัญสำนึกเราเป็นมนุษย์ใช่ไหม? เราหาอยู่หากินด้วยสามัญสำนึกใช่ไหม? แต่นี้เราจะไปแก้ภพชาติ แก้เรื่องในจิตที่มันลึกซึ้ง ทีนี้พอเข้าไปนี่มันมีสิ่งนั้นอีกชั้นหนึ่ง ในการที่ว่าเราจะสู้กับเรา เราจะแก้ไขเรา ถ้าเราแก้ไขเรานี่เราจะสู้ที่นั่น

นี่พูดถึงเรื่องของกรรมก่อน.. เรื่องของกรรม เรื่องของวิบากที่จิตมันสร้างมา ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปแล้วมันถึงขิปปาภิญญา ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ง่าย นี่มันมีผลอันนี้มันเป็นสมบัติส่วนตน แต่เวลาเรามองทางโลก เห็นไหม เรามองทางโลกแล้วเราก็มานั่งคอตกไงว่าเราก็ตั้งใจดี เราก็ปรารถนาดี เราก็จะทำคุณงามความดี แต่ทำไมมันเป็นแบบนี้ มันเป็นแบบนี้

นี่ถ้ามันเป็นแบบนี้ก็ย้อนกลับมาที่เรานี่แหละ ย้อนกลับมาว่าถ้าเป็นแบบนี้ก็คือ นี่ดูรูปลักษณะเราสิ บุญกุศลมันส่งเรามานะ เราทำนี่ ใครทำดี ใครทำบุญกุศลขนาดไหน เวลาเกิดมาสิ่งนี้มันจะส่งเรามา ฉะนั้น สิ่งที่เราทำอยู่นี่ เราเกิดมาเป็นผู้ที่ปฏิบัติ เห็นไหม ที่ว่าเราจะปฏิบัติแล้วมันง่วงเหงาหาวนอน ก็สิ่งที่เราทำมาเหมือนกัน มันส่งมาอย่างนี้เหมือนกัน ถ้ามันส่งมาอย่างนี้มันก็อยู่ที่ว่าใครที่จะทางสะดวก

หลวงตาท่านใช้คำว่า “เวลาเราจะขุดน้ำ บ่อน้ำตื้น บ่อน้ำลึก ถ้าบ่อน้ำลึกก็ต้องลงแรงมากกว่าเขา ถ้าบ่อน้ำตื้นเราขุดไปเราก็ต้องเจอน้ำ”

ขุดไปนี่เจอน้ำ แต่จะลึกตื้นขนาดไหนเท่านั้นเอง เพราะเจอน้ำก็คือตัวใจเราไง ความรู้สึกของเรานี่ไง แล้วเราจะมีความมุมานะแค่ไหนที่เราจะบากบั่นขุดลงไปสู่น้ำของเรา ถ้าขุดน้ำของเรานี่จะขุดไปสู่เพื่อเอาน้ำของเราขึ้นมาใช้ ฉะนั้น นี้พูดตรงนี้ให้เห็น ให้เป็นหลักก่อน แล้วบอกว่าเวลานั่งหลับๆ เห็นไหม

เพราะเดี๋ยวนี้.. นี่เราชาวพุทธใช่ไหม? เราศึกษามาแล้ว เวลาคำถามมานี่จะแบบว่าไม่ให้ตอบเลยล่ะ บอกว่าอาการ ๓๒ ก็ทำมาแล้ว เดินจงกรมก็ทำแล้ว ที่หลวงพ่อบอกทำทุกอย่างหมดแล้ว จะไม่ให้มีทางออกเลยนะ (หัวเราะ) ไอ้ที่หลวงพ่อสอนทำมาหมดทุกอย่างแล้ว แล้วจะให้ไปทางไหนล่ะ? ก็ดูในเว็บไซต์ก็ทำหมดแล้ว แล้วมันก็ยังง่วงอยู่อย่างนี้ ขนาดที่ว่าตบหน้าตัวเองก็ทำแล้ว ล้างหน้าก็แล้ว อะไรก็แล้ว

นี่ตรึกในธรรมไง คือว่าเราก็ต้องสู้น่ะ ถ้าเราสู้นะ แต่จริงๆ แล้วจะทำงานสิ่งใดก็ไม่รู้นะ ถ้าทำงานเราก็ทำงาน แต่เวลาเราจะปฏิบัตินี่อดอาหารเลยล่ะ ผ่อนอาหาร อดอาหารไป ถ้าผ่อนอาหาร อดอาหารมันแก้ได้นะ แก้ได้จริงๆ เวลาหิวนี่จะง่วงขนาดไหนลองดู ลองดูถ้ามันหิวขึ้นมาท้องนี่ร้องจ็อกๆๆ เลยล่ะ

ฉะนั้น การอดนอนผ่อนอาหารมันเป็นอุบายอันหนึ่ง ทีนี้เพียงแต่ว่าอุบายนี่เอามาใช้เป็นประโยชน์ แต่พวกเรากลับไปเห็นโทษไง เห็นโทษว่า อู้ฮู.. มันมีความจำเป็นนะ มันเป็นไปไม่ได้ คนเราต้องอยู่ด้วยอาหาร คนเราขาดอาหารจะอยู่ได้อย่างไร? มันมองข้ามไปว่าเป็นการเสียชีวิต การต้องสละชีวิตกันเลย แต่เวลาเราผ่อนเราไม่ได้มองถึงสละชีวิต แต่เราตัดบางส่วนที่มันเข้าไป นี่เรากินอาหารเข้าไปแล้ว ไขมัน พลังงานต่างๆ ที่มันเข้าไปในร่างกายให้มันเบาลงๆ

เพราะว่าโดยข้อเท็จจริงมืดแล้วก็ต้องสว่าง ใช่ไหม? กลางคืน กลางวันมันก็หมุนเวียนไปอย่างนี้ สิ่งที่ทำไม่ได้ ตรงกันข้ามมันก็คือได้ไง สิ่งที่ตรงข้ามกับการทำไม่ได้มันก็ต้องคือได้ แต่มันจะหนักหนาสาหัสสากรรจ์แค่ไหนเท่านั้นเอง ทำไม่ได้ก็ส่วนหนึ่ง ถ้ามันทำได้มันก็ได้ส่วนหนึ่ง ถ้าส่วนหนึ่งเราต้องแก้ไขตรงนั้น เราต้องจงใจของเรา ตั้งใจของเรา แล้วเราแก้ไข เพียงแต่มันอยู่ที่ความมั่นใจ เพราะว่ามันอยู่ที่ว่าคนเรามันมีความรับผิดชอบสิ่งใด แล้วเราก็ดูของเรา ถ้าจริงนะ อันนี้อันหนึ่ง

๒. การปฏิบัติเบื้องต้น หลวงตาบอกว่าการปฏิบัตินี่ที่ยากมีอยู่ ๒ วาระ วาระหนึ่งคือวาระเริ่มหัดใหม่ กับวาระสุดท้าย วาระสุดท้ายนี่เวลามันว่างหมด มันไปหมดแล้วมันหาอะไรไม่เจอเลย เห็นไหม กว่าจะหาเจอนี่ว่างไปหมด โลกก็ว่าง เราก็ว่าง ทุกอย่างว่าง คือว่างข้างนอก ว่างหมดเลยแต่ตัวมันไม่ว่าง นี่ระดับนั้นก็จะยากอันหนึ่ง แล้วก็ระดับเริ่มต้น

เพราะเริ่มต้นนี่นะมันเหมือนกับเราฝึกงานใหม่ เราแสวงหาทำงานใหม่ เรายังไม่รู้จักต้นสายปลายเหตุ แล้วเราพยายามกันอยู่ พยายามโดยที่ว่าจับต้นชนปลายไม่ได้มันก็ล้มลุกคลุกคลาน นี่มันยากมันยากตรงนี้ ถ้ามันยากตรงนี้ปั๊บมันก็เลยทำให้เราไม่มั่นใจ แล้วก็หาจริตของตัวไม่เจอ แล้วพอทำสิ่งใดแล้วมันก็จะล้มลุกคลุกคลาน

แต่ถ้าเราเริ่มทำงานเป็น ในวงกรรมฐานเขาเรียกภาวนาเป็น ถ้าภาวนาเป็นนะ พอทำใจสงบแล้ว แล้วพอมันใช้ปัญญาวิปัสสนา มันใคร่ครวญของเรานะ บางวันไปได้ พอภาวนาเป็นนี่มันไปได้แล้ว แต่ถ้าภาวนายังไม่เป็น เราพยายามหาทางของตัวอยู่ พยายามหาทางนี่เราก็ตรวจสอบของเรา ถ้ามันง่วงนัก นี่มันง่วงนักก็ลุกขึ้นเดิน ถ้าเดินจงกรมมันง่วงไม่ได้ บางทีนี่หลับในทางจงกรมนะ ถ้ามันหลับในทางจงกรมก็ต้องสู้กันแหละ

นี้พูดถึงจริตของตัว กรรมของตัว เพราะเราทำมาอย่างนี้นี่ เราจะบอกว่าไม่ให้ไปโทษใครเลยล่ะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่วนหนึ่ง เวลาสุข ทุกข์ในใจเราอีกส่วนหนึ่ง แล้วถ้าความจริงของเรา เราพยายามต่อสู้กับเรา เห็นไหม ต่อสู้กับเรา นี่เป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเราคือผลงานของเรา ทุกข์ก็ทุกข์ของเรา เรานั่งหลับก็คือเราหลับ ถ้าเรานั่งแล้วหู ตาสว่าง เรานั่งแล้วเป็นสมาธิก็คือสมบัติของเรา เป็นปัจจัตตัง เป็นสมบัติส่วนตน ถ้าเป็นสมบัติส่วนตน ตนก็ต้องสู้เพื่อตน ตนก็ต้องทำเพื่อตน

เรื่องของคนอื่น ใครปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ใครปฏิบัติแล้วเป็นพระอรหันต์ไปหมดเลยก็สาธุของเขา ของเรานี่เราทุกข์อยู่นี่ เราได้แค่ไหนเอาแค่นั้น แล้วเราทำของเรา สมบัติส่วนตนสำคัญกว่า ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกสำคัญมาก ฉะนั้น ตอนนี้ได้สมบัตินั่งหลับ ตอนนี้ได้สมบัติง่วง เราก็สู้ของเรา ตั้งใจของเรา สู้ของเรา ทำของเรา แล้วต้องไปให้ได้ ถ้าไปไม่ได้นะ..

“ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด”

เราต้องตายข้างหน้าแน่นอน แล้วข้างหน้าก็ไปเสี่ยงทายเอาข้างหน้า ไปเสี่ยงทายเอาว่าเราจะไปทางไหน ถ้าเราทำได้มันก็เป็นประโยชน์ของเรา ถ้าเราเสี่ยงทาย เราทำของเราไม่ได้ เสี่ยงทายไปตามบุญตามกรรม แต่ถ้าเป็นตามบุญตามกรรม เห็นไหม เรานั่งสมาธินี่เรามาปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่มันก็เท่ากับบูชาใจเรา เวลาใจเราเป็นเองนะ พุทธ ธรรม สงฆ์รวมลงที่ใจ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

ตอนนี้เห็นแต่ความง่วง ตอนนี้เห็นแต่ความทุกข์ ความยาก แต่ถ้ามันเห็นความจริงของเรา มันจะเป็นสมบัติของเรา เอวัง