เทศน์พระ

รักดี

๑๒ ก.ย. ๒๕๕๔

 

รักดี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว ตั้งใจฟังธรรม วันนี้วันอุโบสถ เรานี่บวชแล้ว อายุเราจะมากขึ้นๆ พรรษาจะมากขึ้นๆ เห็นไหม ถ้าทางโลกเขาว่า “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” เราจะต้องแก่ขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าแก่ขึ้นไปเรื่อยๆ เราจะต้องมีวุฒิภาวะ เราจะต้องมีหลักมีเกณฑ์ของเรา

ทางโลกเขานะ เป็นภาษาพังเพยน่ะ “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” นี่ก็ต้องหามเหมือนกันน่ะ

“รักดีหามจั่ว” เห็นไหมว่าจั่วมันเบากว่า มันเป็นประโยชน์กว่า แต่เสาก็มีประโยชน์น่ะ ถ้าไม่มีเสามันจะสร้างบ้านสร้างเรือนได้อย่างใด “รักชั่วหามเสา” เห็นไหม “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” ความหามเสามันก็ต้องขวนขวาย ต้องมีการกระทำ ถ้าหามเสา ปักเสาก่อน แล้วเราประกอบเป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมา สุดท้ายเราก็มีจั่วมีหลังคาขึ้นไป ฉะนั้นพูดถึงก็ต้องมีการกระทำทั้งนั้น เพียงแต่ว่ากระทำมากกระทำน้อย มันต้องขวนขวาย มันต้องมีความพยายามไง ถ้ามีความพยายาม เห็นไหม ความพยายามของเรา คือขวนขวายของเรา ทำเพื่อประโยชน์กับเราน่ะ

เราบวชเราเรียนมา เราก็มีครูบาอาจารย์เหมือนกัน เราก็มีครูมีอาจารย์เป็นตัวอย่างของเรา แล้วครูบาอาจารย์ของเราก็ต้องแก่เฒ่าไปข้างหน้าเหมือนกัน ถ้าแก่เฒ่าไปข้างหน้า เราขอนิสัย ได้นิสัย เราได้นิสัย เราต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพราะเราจะเป็นผู้ใหญ่ไปข้างหน้า ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ไปข้างหน้านะ เพื่อประโยชน์กับสังคมนะ เพื่อประโยชน์กับโลก แต่กว่าจะเป็นประโยชน์กับโลก เราต้องเป็นประโยชน์กับเราได้ก่อน ถ้าเป็นประโยชน์กับเราได้ก่อน เห็นไหม เราต้องมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ นี่ฟังธรรม ฟังธรรม เวลาทางโลกเขา เขารับราชการใหม่ เขาต้องสัมมนา ต้องปาฐกถา เพื่อให้รู้กฎระเบียบของการเข้าไปอยู่ในองค์กรนั้นๆ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราบวชเป็นพระบวชเป็นเจ้าขึ้นมา นี่อุโบสถสังฆกรรม เพราะว่าความสะอาดบริสุทธิ์ของพวกเรานี่ไง เวลาเรามีความสะอาดบริสุทธิ์ของพวกเรา ในสังฆกรรมนั้น ไม่เป็นโมฆะ ไม่เป็นโมฆียะ มันจะเป็นประโยชน์หมด ถ้าเป็นโมฆะ เป็นโมฆียะ ทำแล้วสักแต่ว่า มันจะไม่ได้ประโยชน์สิ่งใดเลย นี่พูดถึงในการอุโบสถสังฆกรรมนะ

แต่ในหัวใจของเราล่ะ เรารู้สิ่งใดบ้าง “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” ถ้ารักดีขึ้นมา เห็นไหม เสาก็ต้องเสาตรงๆ นะ ในปัจจุบันนี้เขาเรียกว่าศิลปะ เสาคด เสางอ เขามาสร้างบ้านสร้างเรือนเป็นศิลปะ เขาก็ว่าสวยว่างาม แต่โดยหลักการก่อสร้าง ถ้าเสาก็ต้องได้เหลี่ยมได้มุมของมัน ต้องได้ฉากของมัน มันจะเป็นประโยชน์ของมันนะ ถ้า “เสา” ก็ต้องเป็นเสาที่ดี “จั่ว” จั่วก็ต้องเข้าไม้แล้ว เข้าต่างๆ แล้ว มันก็ต้องเข้าแล้วมันเรียบร้อย มันดูแล้วสวยงาม ดูแล้วมั่นคงแข็งแรง นี่ “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” แต่ทั้งจั่ว ทั้งเสา นั้นมันก็ต้องเป็นจั่วและเสาที่ดีด้วย เป็นประโยชน์กับบ้านหลังนั้นด้วย

บ้านคืออะไร? นี่เราจะกลับสู่บ้านเดิมของเรา แล้วเรากลับสู่บ้านเดิมของเรา เวลาคนจะหมดอายุขัย เวลามันจะตายขึ้นไป จิตมันจะหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามาสู่ตัวจิต นี่ปฏิสนธิวิญญาณ เวลาปฏิสนธิขึ้นมาในไข่ ในครรภ์ ในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ ปฏิสนธิจิตนี่จะไปเกิด เวลาเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นเรา เราเป็นสถานะของมนุษย์ สิ่งที่ว่าหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามาเพื่อหัวใจเข้ามา นี่กลับสู่ฐีติจิต กลับสู่ความเป็นจริงของหัวใจนั้น ถ้ากลับสู่ความเป็นจริงของหัวใจนั้น นี้คือการหมดอายุขัยของเขา เขาต้องหมดอายุขัย ต้องจากร่างกายนี้ไป จากภพชาตินี้ไปเพื่อไปตามเวรตามกรรมของเขา

แต่เวลาเราจะมีหลักมีเกณฑ์ เรารักดีของเรา เพราะเรารักดี “รักดี” แล้วดีสิ่งใดมันจะมีประโยชน์เท่ากับความสุขสงบ จิตสงบที่มีความสุขนี้ “สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” นี่เรารักดีของเรา ถ้าเรารักดีของเรา เรารักตัวของเราเอง ความเป็นอยู่ เครื่องอยู่อาศัย ดูสิ ดูบริขารของเรา ดูจีวรของเรา จีวรของเรานี่ต้องถือครอง ถ้าผ้าขาดทะลุแม้แต่เมล็ดถั่วเขียว แม้แต่หลังตัวเรือด เห็นไหม อรุณขึ้นเป็นนิสัคคีย์ปาจิตตีย์ นี่สิ่งที่ปัจจัยเครื่องอาศัยยังทะนุถนอม ต้องรักษา ต้องดูแล ต้องชุน ต้องปะ เพื่อให้เรามีนิสัย มีการประหยัดมัธยัสถ์ มีการรักษา แม้แต่ปัจจัยยังต้องดูแลรักษามัน แม้แต่บริขาร ๘ ก็ต้องดูแลรักษา เห็นไหม ดูแลบริขาร ๘

บริขาร ๘ มีไว้ทำไม? เวลาจะนุ่งห่มใช้สอย ปฏิสังขาโย มีสติใช้สอยมัน มีสติใช้สอยเพื่อกันความอาย เพื่อกันเหลือบ กันยุง กันริ้น กันไร ป้องกันความหนาว ความละอายแก่ใจ นี่เราใช้ประโยชน์ สิ่งที่ใช้ประโยชน์เราต้องดูแลรักษา นี่คือปัจจัยเครื่องอาศัย บริขารนะ แล้วเราก็ย้อนกลับมาดูแลจิตใจ ดูแลร่างกายของเรา เจ็บไข้ได้ป่วย

ดูสิ หิวกระหาย เวลาว่าอดอาหารได้ อดน้ำไม่ได้ การอดอาหารกี่วันนะ เราอดอาหารเพื่ออะไร เพื่อเร่งความเพียรของเรา เราอดอาหารเพื่อประโยชน์กับเรา เห็นไหม อดน้ำไม่ได้ น้ำเราต้องเจือจานกับชีวิตนี้ นี่เราดูแลรักษาของเรา

ถ้าดูแลรักษาบริขาร ปัจจัย ๔ ดูแลปัจจัยเครื่องอาศัยของเรา แล้วก็มาดูร่างกายของเรา ดูแลรักษาร่างกายของเรา เพื่อให้ร่างกายของเราแข็งแรงขึ้นมา อย่าเจ็บไข้ได้ป่วย ออดๆ แอดๆ เพื่อให้เราต้องไปพะวงกับมัน นี่ดูแลร่างกายของเรา ร่างกายมันมีสิ่งใดอยู่ในร่างกายนั้น ก็มีหัวใจ ถ้าหัวใจ เราจะดูแลหัวใจของเราอย่างไร ดูแลหัวใจของเรา

“รักดี” ถ้ามันรักดี มันจะทวนกระแสกลับมาที่ใจ ถ้ากลับมาที่ใจ เรามีสติ ความสงบระงับ ถ้ามีความสงบระงับ มันจะย้อนกลับมาสู่ฐีติจิต สู่ความมั่นคงของใจ ถ้ามั่นคงของใจ เราเห็นไง ดูสิ ทางโลก เราบวชมา ในภาคปริยัติของกรรมฐานเรา “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” เวลาอุปัชฌาย์ให้กรรมฐาน ให้อยู่รุกขมูลเสนาสนัง ให้ถือนิสัย กรณียกิจ ๔ สิ่งที่เป็นกิจของสงฆ์ นี่เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา

เราเรียนมา อุปัชฌาย์อาจารย์ให้กรรมฐาน เวลาเราบวชเรียนมาแล้ว ถ้าเราจะศึกษา เราศึกษาเป็นภาคปริยัติ ปริยัติเพื่ออะไร ปริยัติเพื่อความเข้าใจ เพราะกิเลสนี่มันสงสัยไปหมด ถ้ามันสงสัยไปหมดมันก็ต้องมีการศึกษา ศึกษามาเพื่ออะไร เพื่อให้มันรู้เพิ่ม ไม่ให้มันสงสัย แล้วมันสงสัยไหม มันก็ยังสงสัยต่อไป มันสงสัยน่ะ...มันเป็นแนวทางไง มันเป็นแนวทางเห็นไหม ดูสิ เวลาเขาศึกษากันทางโลก เขาจบทางวิชาการมาแล้ว เขาศึกษาจบแล้วเขาก็ต้องมาฝึกงานของเขา เขาจะทำหน้าที่สิ่งใด เขาต้องฝึกงาน ฝึกงานเพื่อให้เขาทำงานเป็น พอทำงานเป็นเขาจะต่อยอดขึ้นไป บางคนมีทัศนวิสัย คือมีมุมมองที่ดี เขาต่อยอด เห็นไหม ทางวิชาการนั้นเป็นเรื่องที่ว่าทุกคนต้องมาดูงาน มาศึกษาน่ะ นั่นเพราะเหตุใดล่ะ? เพราะเขาใคร่ครวญของเขา เขาทำของเขา เขามีประสบการณ์ของเขา เขาต่อยอดของเขาขึ้นไป

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดยอดแล้ว พุทธวิสัยเป็นอจินไตยเลย ไม่มีใครจะมีปัญญาเหนือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเลย แต่เวลาภาคปฏิบัติมันเป็นอย่างนั้นไหมล่ะ เวลาปริยัติถึงปฏิบัติไง เราศึกษามา ศึกษาจากอุปัชฌาย์อาจารย์มา นี่กรรมฐาน ๕

พูดถึงเรากรรมฐาน เราเป็นฝ่ายปฏิบัติ พอฝ่ายปฏิบัตินี่มันต้องลงสู่ความเป็นจริงไง ลงสู่ความจริงนะ

“รักชั่วหามเสา” หามเสาน่ะ อยู่คนละหัวคนละท้าย ไปคนละด้าน แล้วเสามันจะไปได้ไหม นี่เดินไปคนละข้าง หัวกับท้ายหันหน้าออกจากกันแล้วจะหามเสา แล้วไปทางไหนล่ะ จะหามเสาไปทางไหน มันต้องไปในทางเดียวกัน ถ้าไปทางเดียวกันมันก็จะหามเสาไปถึงเป้าหมายได้ แล้วรักจั่วคนละด้านจะเป็นอย่างไร นี่เวลาลงไปปฏิบัติแล้วมันต้องพร้อมเพรียงกัน นี่ของหนักนะ เวลาของหนัก เราแบกเราหามอยู่ ของมันหนัก มันทับเรานะ ถ้าเราไม่ไปทางเดียวกัน ไม่ไปต่างๆ มันจะหล่นทับเรา มีอาการบาดเจ็บถึงกับเสียชีวิตได้เลย

ในภาคปฏิบัติ ฉะนั้นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกไว้เป็นวิธีการ แล้วเวลาทำเป็นจริงขึ้นไปนี่ข้อเท็จจริงมันหลากหลาย ถ้าข้อเท็จจริงมันหลากหลาย เห็นไหม เทคนิคในการกระทำ แล้วใครจะมี ดูสมัยโบราณนะ ของหนักเขาใช้ลูกกลิ้ง เขาจะใช้ลูกกลิ้งกลิ้งของเขาไป นี่ในสมัยปัจจุบันนี้เขาไม่ใช้กันแล้ว เขาใช้รถเครนยกน่ะ เทคโนโลยีมันมีขึ้นมา เห็นไหม สมัยโบราณเขาใช้ลูกกลิ้ง เขาต้องใช้คานงัด เขาต้องมีแรงโน้มถ่วง เขาจะเอาขึ้นที่สูง เขาทำของเขาไป นั่นสมัยโบราณ เพราะเทคโนโลยีมันยังไม่เจริญ แต่เดี๋ยวนี้เจริญนะ เขานัดรถเครนมายกทีเดียวน่ะ จะสูงเท่าไร ตั้งเท่าไร เขาทำได้ทั้งนั้นน่ะ นี่พูดถึงเทคนิค เวลาเทคนิค เวลาหน้าที่การงานในทางก่อสร้างเขาก็มีของเขา

ทีนี้เทคนิคในการปฏิบัติล่ะ เวลาเขาใช้ลูกกลิ้งกลิ้งไป กลิ้งไปเป็นวัตถุนะ แต่หัวใจของเราล่ะ หัวใจของเราที่เราจะทำให้ไปสู่เป้าหมาย เราจะแบกจะหามไปอย่างใด ถ้าเราจะแบกจะหามหัวใจของเราไป แบกหามนะ ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด เวลาจะคิด เสวยอารมณ์ มันเหมือนแบกเหมือนหามเลย เวลามันปล่อยเข้ามานะ ปล่อยมาเป็นอิสรภาพขึ้นมา มันเห็นความสุขของมัน ถ้ามีความสุขของมัน เวลาจะออกคิด เสวยอารมณ์ มันเหมือนกับไปหามจั่วหามเสานะ มันหนัก ไม่อยากคิด ไม่อยากปรุงน่ะ ไม่อยากคิด ไม่อยากปรุง เพราะมันเป็นภาระ แต่ของเรานี่มันไม่คิด ไม่ปรุงได้ไหม

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกเลย ขันธ์ ๕ มันเป็นเจตนา เป็นเจตสิก มันจะส่งออก มันจะเป็น นี่เป็นทฤษฎีหมดเลย แล้วบอกทฤษฎีเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น แต่เวลากิเลสมันท่วมหัวนี่ มันคิดไปแล้ว ๕ รอบ ๑๐ รอบ

คำว่า “ทฤษฎี” จิตมันเป็นหมดแล้วล่ะ ถ้าจิตมันไม่มีพลังงาน ไม่มีการกระทำ อ่านหนังสือไม่รู้เรื่องหรอก อ่านหนังสือหรือเวลาเราคิดขึ้นมา เราท่องจนชินปาก ทุกอย่างต้องให้คล่อง เรารู้หมด เราจะท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองได้หมดเลย แล้วเวลาอารมณ์ความรู้สึกมันเป็นไป มันทันไหมล่ะ มันทันไหม มันจริงไหม? มันไม่จริงหรอก มันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เพราะสิ่งที่เราท่องออกมามันออกมาจากอาการของใจทั้งนั้น สิ่งที่เราท่องเราจำมา ที่เราพูดออกมา มันออกมาจากความรู้สึกเราทั้งนั้นน่ะ

แล้วความรู้สึกออกมา ออกมาเป็นอารมณ์ไปแล้ว แล้วบอกนี่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปรมัตถ์ เป็นสิ่งที่คงที่ มีจริง...คงที่ มีจริงมันก็เป็นนามธรรมไปแล้ว มันเป็นอากาศธาตุไปแล้ว มันเป็นอดีตอนาคตไปแล้ว

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา จิตเราสงบเข้ามา พุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ สิ่งที่เขาดูถูกเหยียดหยามว่าเขาหลับหูหลับตาจะรู้สิ่งใด ไอ้พวกหลับหูหลับตานี่มันจะพาออกนอกลู่นอกทาง พวกหลับหูหลับตานี่ไม่มีการศึกษา ไม่มีการศึกษา

ศึกษาอยู่นี่ อุปัชฌาย์บอกมา ไม่ศึกษามันเป็นพระมาได้อย่างไร ไม่ศึกษามาจะขอไตรสรณคมน์กับคู่สวดได้อย่างไร ขอไตรสรณคมน์มาก่อนแล้วก็บรรพชาเป็นสามเณร แล้วก็ขอบวชเป็นพระ นี่ศึกษามาท่องมา แล้วศึกษามา ขอมา สงฆ์ยกเข้าหมู่มา “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” แล้วก็มาอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านคอยบอก คอยแนะ คอยชี้ คอยนำ นี่ให้ย้อนกลับมาๆ

ดูสิ รถเครนเวลามันยกของ มันยกมา มันยกตั้งๆ เลย แต่หัวใจเรา มันเร็วกว่านั้นน่ะ แล้วเราจะปิดกั้นมันอย่างไร เห็นไหม ดูสิ สมัยโบราณเขาใช้ลูกกลิ้ง เขาใช้การงัดการหาม การงัด แรงโน้มถ่วง เอาขึ้นไปสู่ฐานของเขา ตั้งเป็นสิ่งปลูกสร้างของเขา แล้วหัวใจของเราล่ะ หัวใจของเรา ถ้าเรารักดีของเรา เราจะมีจุดยืนตรงนี้ ถ้าเราไม่รักดีของเรามันจะส่งออกหมด มันจะละทิ้งฐาน มันทิ้งฐานของความคิด มันทิ้งฐานตัวเรา แล้วก็ไปรู้เรื่องของคนอื่น ไปรู้เรื่องธรรมวินัย ไปรู้เรื่องสิ่งที่เป็น...

ในเมื่อเป็นปริยัติ ปริยัติ ปฏิบัตินี่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว สมัยพุทธกาลนะ ธรรมกถึก-วินัยธร วินัยธรนี่ปริยัติ ศึกษามาเป็นพวกวินัยธร ดูสิ เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน “อานนท์ เราปรินิพพานไปแล้ว ๓ เดือนข้างหน้าเขาจะมีสังคายนา เธอจะเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น” เวลาสังคายนาธรรมและวินัย นี่ธรรมและวินัย

วินัย เห็นไหม วินัยธร

ธรรม ธรรมและวินัย ธรรมกถึก

นี่ไง คันถธุระ วิปัสสนาธุระ คันถธุระนี่วินัยธร เพราะศึกษามาเพื่อองค์กรนั่นล่ะ เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ เพื่อความสืบทอดศาสนามา ก็ถูกต้อง ก็ถูกต้อง แต่มันเป็นปริยัติ แล้วธรรมกถึก ดู โปฐิละสิ ศึกษามาเป็นวินัยธร รู้หมด สั่งสอนได้หมด มีบริษัทบริวาร เวลาไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “โปฐิละใบลานเปล่ามาแล้วหรือ ใบลานเปล่าไปแล้วหรือ ใบลานเปล่าๆ” นี่วินัยธร ศึกษามา เหมือนกับเรารักษา เห็นไหม มดแดงรักษาพวงมะม่วง รักษาผลมะม่วงนั้นไว้ แล้วมีบุรุษที่ฉลาดมาเอาผลมะม่วงนั้นไปกิน นี่รักษาไว้

นี่ไง ที่ว่าเรามาบวช บวชคนละ ๑ พรรษา ๒ พรรษา นี่จรรโลงศาสนา นี่ค้ำโพธิ์ๆ ประเพณีค้ำโพธิ์เพื่อศาสนายั่งยืน เราก็บวชมาสืบทอดมา สืบทอดมา สืบทอดมา ก็เป็นมดแดงเฝ้ามะม่วง ก็มาเฝ้ามะม่วงอยู่นี่

ก็ธรรมวินัยนี่ไง บวชเป็นพระใช่ไหม นี่เราทำข้อวัตรใช่ไหม เราทำความสะอาด นี่กิจของสงฆ์ ๑๐ อย่าง กวาดลานเจดีย์ กวาดต่างๆ ทำความสะอาดพระพุทธรูป ทำความสะอาดต่างๆ กิจของสงฆ์นี่ไง นี่มดแดงเฝ้าผลมะม่วง นี่ปริยัติ ศึกษาปริยัติก็ศึกษามาแล้ว นี่ปริยัติ แล้วปฏิบัติล่ะ ปฏิบัติให้มันเป็นความจริงขึ้นมา

ถ้าปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมา “โปฐิละ เธอมาแล้วหรือ เธอไปแล้วหรือ” เวลาโปฐิละน่ะ มีอำนาจวาสนานะ “โอ๊ย ศึกษามาขนาดนี้ รู้ขนาดนี้ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ชมเชยเราเลย” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “โปฐิละมาแล้วหรือ ใบลานเปล่าไปแล้วหรือ ใบลานเปล่ามาแล้วหรือ” นี่มันได้คิด พอได้คิดนี่ทิ้งปริยัติ ทฤษฎี ความเป็นจริง ทุกๆ อย่างถูกต้องตามเป็นจริง เพราะมีความรักดี รักดีใคร รักดีก็รักตัวเองไง เพราะมีความรักดีอยู่ มีความศรัทธา มีความมั่นคงในหัวใจ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ใบลานเปล่ามาแล้วหรือ ใบลานเปล่าไปแล้วหรือ” มันสะกิดใจ มันเตือนใจ เพราะมันมีฐาน รักดี รักตัวเอง ยังสะกิดใจ เพราะมีอำนาจวาสนา “ถ้าเป็นอย่างนั้นจะลองปฏิบัติ” ทิ้งเลย แล้วไปฝ่ายปฏิบัติ เวลาฝ่ายปฏิบัติไปขอเรียน ในเมื่อก็มีลูกศิษย์ลูกหา ๕๐๐ ก็ท่องได้หมด ก็รู้หมดน่ะ รู้หมดแล้วตัวต้องไปเรียนอะไรอีกล่ะ ก็รู้หมดแล้ว นี่ไง ปริยัติ ภาคทฤษฎี

คันถธุระ วิปัสสนาธุระ ถ้าเวลาคันถธุระนี่วินัยธร รู้หมดเข้าใจหมด แล้วอย่างไรต่อ อย่างไรต่อ...พอไปขอเรียนกับนักปฏิบัติฝ่ายธรรมกถึก นี่วิปัสสนาธุระ วิปัสสนาธุระ พอไปถึงวิปัสสนาธุระ “โอ้! ข้าพเจ้าจะไปสอนอย่างไร โปฐิละนี่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นผู้ที่เข้าใจ สังคมเข้าใจสื่อสารกันได้หมด คันถธุระ วินัยธร นี่กฎหมาย ธรรมและวินัยเข้าใจได้ พูดได้หมดทุกๆ อย่างเลย แล้วจะสอนอะไรอีกล่ะ ข้าพเจ้าสอนไม่ได้หรอก ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ขนาดนั้น” นี่ธรรมกถึก นี่พระอรหันต์นะ

“ถ้าข้าพเจ้าอยากศึกษามาก”

“ถ้าอย่างนั้นก็ให้องค์ต่อไปเถอะ”

ต่อไปเรื่อยจนถึงสามเณร เห็นไหม สามเณรน้อย พอสามเณรน้อยบอกว่า “เอ้า ถ้าจะศึกษา ถ้าเข้าใจว่าจะทำก็ทำกัน อย่างนั้นเริ่มต้นเลย” เริ่มต้น เห็นไหม ถ้าคนมีความรู้ความเห็น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประโยชน์มาก แต่เพราะเรารู้ เราเห็น เราเข้าใจ แล้วกิเลสมันอยู่กับใจของเรา มันก็ว่าเรารู้เราเห็นน่ะ กิเลสมันบังเงา มันสวมรอยว่าเราเข้าใจ เรารู้ แต่ความจริงมันไม่รู้อะไรเลย เพราะมันรู้โดยสัญญา ถ้ารู้โดยสัญญา สามเณรน้อยบอก “จะจัดการ จะเริ่มปฏิบัติกัน”

“จะเชื่อว่าเป็นอาจารย์ไหม”

“เชื่อ”

“ถ้าเชื่อนะ เราต้องการกอไผ่ ให้ไปเอากอไผ่นั้น ให้ห่มผ้าเข้าไป” นี่ทิฏฐิ ถ้ายังมีตัวอยู่ มันมีว่าเรารู้ เราเห็น เราเป็นอยู่ มันมีทิฏฐิของมัน ถ้ายังไม่วางทิฏฐิว่าเรารู้เราเห็นเราเป็นไป มันจะไม่เข้าสู่ฐานของมัน นี่ไง เวลาพุทโธๆ ปัญญาอบรมสมาธิเพราะเหตุนี้ไง พุทโธๆ ปัญญาอบรมสมาธิ ก็เพื่อจิตใจเข้ามาสู่ใจของมัน

“รักตนๆ” รักดี ดีของใคร ก็ดีของภวาสวะ ดีของจิต ดีของจิตใต้สำนึก ดีของเรา ไม่ใช่ดีของใคร ดีทั่วๆ ไป เห็นไหม ดูสิ เราบอกว่า “ทุกคนต้องดีๆ จะเอาความดีไปยื่นให้คนอื่นเลย” แต่ของเรามันไม่ดี ถ้าของเรามันไม่ดี เราเข้าใจว่าความดี แล้วเอาความดีไปยื่นให้คนอื่น มันเป็นของไม่ดี มันจะขึ้นมาได้อย่างไร แต่ถ้ามันจะดี ต้องดีจากเราก่อน ดีจากภายในของเรามาก่อน ถ้าภายในมันดีขึ้นมา รักดีต้องดีจริง ถ้ารักดีมันมีดีของมัน แล้วจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ คน ถ้ารักดีมันแยกได้ถูกว่าดีจริงหรือดีปลอม

ถ้าดีปลอม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีไหม? ดี

ประเพณีวัฒนธรรมดีไหม? ดี

ประเพณีวัฒนธรรม เห็นไหม ดูสิคนไปวัดไปวา ไปเพื่อประโยชน์ ไปทำบุญกุศล เพื่อสิ่งนี้เป็นอามิส เป็นสิ่งที่สืบต่อ เป็นที่ดำรงชีวิต เพื่อชีวิตมีความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าทำประโยชน์สาธารณะดีไหม? ดี นี่ประเพณีวัฒนธรรม สิ่งนี้ดีทั้งนั้นน่ะ แต่ดีแล้วมันสิ้นสุดไหมล่ะ นี่เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีธรรมที่ดี ความดีที่ลึกซึ้ง ความดีถึงที่สุด เห็นไหม ข้ามพ้นดีและชั่ว ถ้าข้ามพ้นดีและชั่ว สิ่งที่ว่าถ้ายังยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นผู้รู้ ถ้าเป็นผู้รู้ จิตมันไม่ปล่อย มันรู้ของมัน มันรู้ธรรมและวินัย มันรู้หมดแล้ว มันรู้หมดแล้วทำอย่างไรต่อ รู้หมดแล้วมันก็อมไว้หมดไง อมพะนำไว้ ทั้งกิเลสทั้งธรรมอยู่ในปากนั้นไง อยู่ในฐีติจิต อยู่ในฐีติจิต มันไม่สำรอก มันไม่คายสิ่งใดมาเลย

นี่ไง จะเอากอไผ่ ก็ให้ห่มผ้าเข้าไปเอา พอเข้าไปถึงที่สุด เพราะว่าละ คายทิฏฐิ

พอถึงเวลาที่ว่า “ไม่เอาแล้ว เปลี่ยนแล้ว จะให้ตักน้ำ ให้ห่มผ้าลงไปตักน้ำ” เอ้า ลงไป เห็นไหม คายทิฏฐิ คายทิฏฐิ เอ้า ก็ลงไปอย่างนั้น นี้เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเห็นถึงจริตนิสัย “โปฐิละใบลานเปล่ามาแล้วหรือ โปฐิละใบลานเปล่าไปแล้วหรือ” ใบลานเปล่าเพราะรู้เห็นนี่ มันก็เปล่าๆ ทั้งนั้นน่ะ เพราะมันรู้ทั้งกิเลสตัณหาความทะยานอยาก รู้แล้วสงสัย รู้แล้วแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้ามันละ มันปล่อย มันวาง เพราะปล่อยวาง เชื่อว่าปล่อยวาง จะทดสอบกัน สามเณรจะว่าอย่างไรก็ยอมทั้งหมด...อ้าว ยอมทั้งหมด สุดท้ายแล้วพอยอมทั้งหมด...เรียนมาหมดแล้ว ธรรมและวินัยรู้หมด สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา ๕๐๐ ไปไหนไปด้วยกันหมดน่ะ แล้วได้อะไรขึ้นมาล่ะ

ฉะนั้น เวลากรรมฐาน “คันถธุระ-วิปัสสนาธุระ” เวลาวิปัสสนาธุระ ดูสิ เราบวชมาเป็นพระกรรมฐานนะ เราเป็นพระป่านักปฏิบัติกัน เวลาอุปัชฌาย์อาจารย์ให้มา “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” ให้พิจารณาย้อนหน้าย้อนหลัง ให้พิจารณาเพิกถอน ให้พิจารณาพลิกแพลง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่ตีให้แตก

สามเณรน้อยสอนพระโปฐิละ ให้เปรียบว่าร่างกายเรานี่เหมือนจอมปลวก มันมีรูอยู่ ๖ รู ให้ปิดรูทั้ง ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วเหลือใจไว้รูหนึ่ง แล้วตั้งใจสติไว้รอจับเหี้ยตัวนั้น เห็นไหม ดูสิ เวลาโปฐิละใบลานเปล่า “ใบลานเปล่าไปแล้วหรือ ใบลานเปล่ามาแล้วหรือ” นี่ใบลานเปล่า เป็นอาจารย์นะ ลูกศิษย์ลูกหาสังคมยอมรับนับถือ เวลามาฝากตัวกับพระกรรมฐาน ฝ่ายธรรมกถึก อาจารย์ใหญ่ยังบอกว่า “โอ้โฮ จะสอนได้หรือ ประชาชนเขาร่ำลือ ลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเมือง แล้วจะไปสอนได้อย่างไร ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจวาสนาหรอก ข้าพเจ้าไม่มีสิ่งใดที่สังคมเขายอมรับนับถือ ให้องค์ต่อไปเถอะ ให้องค์ต่อไปเถอะ”

จนถึงสามเณรน้อย สังคมร่ำลือถือหน้าถือตาขนาดนั้น ใครจะไปสั่งไปสอนได้ ทีนี้เวลาสามเณรน้อย เห็นไหม คายทิฏฐิ จะเอาไม้ในกอไผ่ ถ้าเข้าไปนะมันก็เกี่ยว ถ้าทางวิทยาศาสตร์ทางโลก ถ้าเข้าไปเอาไม้ในกอไผ่ ให้ห่มผ้าเข้าไปด้วย ถ้าห่มผ้าเข้าไปแล้วหนามไผ่มันเกี่ยวอยู่แล้ว ผ้านั้นขาดแน่นอน นี่ถ้าทิฏฐิด้วยทางโลก “ก็ไม่เข้า เข้าไปได้อย่างไร คนสั่งนะมีสติปัญญาพอหรือนี่ ห่มผ้าเข้าไป พอผ้ามันขาดขึ้นมาแล้ว อรุณขึ้นมันก็เป็นนิสัคคีย์ปาจิตตีย์ แล้วผ้านี่เป็นสิ่งที่หามาได้ยากมาก แล้วจะให้ห่มผ้าเข้าไปให้กอไผ่มันเกี่ยวให้ผ้าขาด คนสั่งนี่คงจะไม่มีสติ คนสั่งนี่คงจะไม่สมบูรณ์” นี่ถ้าพูดถึงความรู้ทางโลกไง มันก็ต้องคิดอย่างนั้นน่ะ นี่เพราะมันรู้หมด มันรู้มาทุกอย่าง รู้หมดแล้ว ธรรมวินัยนี่สั่งสอนได้หมด

แต่นี่พอคายทิฏฐิ สั่งอย่างไรก็เอาอย่างนั้น เข้าก็เข้า ขาดก็ขาด ให้มันเป็นไป ดูสิมันจะเป็นจริงไหม พอเข้าไปถึงใกล้ๆ จะเป็นอย่างนั้น ท่านก็บอก “ไม่เอาแล้วล่ะ เลิกแล้วล่ะ” เพราะความดีก็คือความดี

แต่ดีที่มีทิฏฐิและดีไม่มีทิฏฐิ

ดีที่มีความยึดมั่นและดีที่ไม่มีความยึดมั่น

พอจิตใจมันผ่อนคลายแล้ว “ไม่เอาแล้ว จะเอาน้ำ ให้ห่มผ้าลงไปในน้ำ ไปตักน้ำ”

พอไปถึง “ไม่เอาแล้วล่ะ” นี่พอไม่เอา มันผ่อนมาเรื่อย ผ่อนมาเรื่อย สุดท้ายแล้ว...ดูสิ เรากรรมฐานนะ เวลาบวช เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เวลาพุทโธๆ ปัญญาอบรมสมาธิ เพื่อให้เกิดวิปัสสนาญาณ ให้เกิดความเป็นจริง ในการประพฤติปฏิบัติให้มันรู้จริงขึ้นมา ไม่มีใครรู้อะไรกับเรานะ สังคมจะไม่รู้อะไรกับเราเลย ไอ้พวกหลับหูหลับตาอยู่แต่โคนไม้มันจะรู้ได้สิ่งใด บวชมาแล้วไม่ศึกษา แต่ความจริงเราศึกษาของเรา

ทีนี้พอศึกษาของเราปฏิบัติของเรามันถึงที่สุดไหม ระหว่างที่การปฏิบัติมันก็ล้มลุกคลุกคลาน มันก็ต้องมีปัญหาแน่นอน นี่วิปัสสนาธุระต้องแก้ไข ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงก็ต้องแก้ไขสิ่งนี้ขึ้นมา ทีนี้สิ่งนี้ขึ้นมา เวลาปฏิบัติขึ้นมามันก็มีปัญหาของมันขึ้นมา ปัญหาก็ต้องครูบาอาจารย์ที่รู้จริง ถ้าไม่รู้จริงมันจะมีประสบการณ์แก้ไขวาระจิต จิตที่มันปฏิสนธิ จิตที่มันมีปัญหาขึ้นมาได้อย่างไร

ฉะนั้น เวลาถึงที่สุดแล้วบอกว่า “อ้าว ถ้าตั้งใจจะประพฤติปฏิบัติ ละจากคันถธุระมาแล้วจะเป็นวิปัสสนาธุระ” วิปัสสนาธุระ ธุระในการรื้อถอน ธุระในการชำระสะสาง ธุระในการทำลายกิเลสในหัวใจของตัว นี่ให้เปรียบร่างกายนี้ ดูสิ เรียนมามหาศาล เรียนมารู้หมด ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่สอนเทศนาว่าการจนสังคมเขานับถือเลอเลิศ นับถือเยินยอ นับถือจนมีลูกศิษย์เต็มบ้านเต็มเมือง

แต่เวลาจะปฏิบัติ เห็นไหม “ให้เปรียบร่างกายนี้เหมือนกับจอมปลวก มันมีรูอยู่ ๖ รู ปิดรูทั้ง ๕ นั้นซะ เหลือไว้รูหนึ่ง คอยรอจับเหี้ยตัวนั้น”

“เหี้ยตัวนั้น” อวิชชา พญามารในหัวใจนั้น มันอยู่ในหัวใจทุกๆ ดวงใจ จะมั่งมีศรีสุข จะสูงส่งขนาดไหน มันมีกิเลสทั้งนั้น มันมีอวิชชา มีพญามาร มีเหี้ยอยู่ในใจทั้งนั้น

ฉะนั้น ให้สังเกตตรงนี้ ให้สังเกตไว้ สังเกตไว้ พอสังเกต ถ้าสังเกตแล้วให้จิตสงบ ทำความสงบของใจ ความระลึกถึงใจ รอตะครุบเหี้ยตัวนั้น ถ้าจับเหี้ยตัวนั้นมา นี่เหี้ยตัวนั้นมันออกที่ไหนล่ะ เวลาเราสังเกต ดูสิ มันแลบทางหู แลบทางตา แลบทางจมูก แลบทางลิ้น แลบทางกาย เห็นไหม มันแลบตลอด มันแลบ มันอยากรู้อยากเห็นอยากเป็นอยากไป สังเกต เราดูแลรักษามัน

ปิดมัน ถ้าปิดมัน เวลาปิดมันเพื่อจับมันให้ได้ ถ้าจับมันได้ “จิต เห็นอาการของจิต” ถ้าจับได้ จิตมันสงบ จิตมันสู่สงบระงับแล้วกำลังจะจับได้ แต่ที่มันจับไม่ได้ จับไม่ได้เพราะมันแตกไง มันออกไปอีกทาง ๕ รูไง ๕ รู ๖ รูนี่มันออกหมด จับไว้รูหนึ่ง อีก ๕ รูว่าปิดแล้วมันก็ดันจนทะลุออกมา เดี๋ยวออกทางนู้น เดี๋ยวออกทางนี้ แล้วเราก็อ่อนแอไง “อือ เราก็ต้องกิน เราก็ต้องอยู่ เราก็ต้องนอน” มันก็เป็นไปน่ะ เราจะมีความจำเป็นทั้งนั้นน่ะ มีความจำเป็น ถ้ามีสติอยู่

เวลาเราปฏิบัติ เราพระธุดงค์กรรมฐานกัน เวลาเข้าพรรษาเราอธิษฐานพรรษากัน เราอธิษฐานพรรษา เราจะเดินธุดงค์กี่ข้อ ถ้าเราได้ธุดงค์ขึ้นมา เราจะมีความภูมิใจของเราว่าเรามีสัจจะ เรามีความจริงกับเรา “ธุดงควัตร” ไม่ถือธุดงค์ก็ไม่ปรับอาบัติ แต่ถ้าศีลขาดปรับอาบัติ ทีนี้ศีล โดยศีล เราบวชมา เพราะทุกคนปฏิญาณว่าเป็นภิกษุ ยอมรับนับถือในศีล ๒๒๗ นี้ กับ ๒๑,๐๐๐ ข้อ เรายอมรับนับถือทั้งนั้นน่ะ ถ้ายอมรับนับถือ ถ้าผิด ถ้าพลาด เราก็ปลงอาบัติ ถ้าเวลาผิดพลาด ถ้าเป็นจริงขึ้นมา ถ้ามันมีสติขึ้นมา ตามความเป็นจริงของเรา เราก็ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อความอบอุ่นของใจ

ถ้าใจมันอบอุ่นขึ้นมา เวลามันปฏิบัติขึ้นมา เรากำหนดพุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ เพื่อให้เป็นสัมมา การทำความสงบของใจ เห็นไหม ดูสิ เรียนมาขนาดไหน จนเป็นที่นับหน้าถือตา เวลาปฏิบัติขึ้นมาจริงๆ มันก็แค่เปรียบร่างกายนี้เหมือนจอมปลวก แล้วคอยระวัง แล้วเราพุทโธๆๆ ของเรา

เราศึกษานะ เราศึกษาโดยความเป็นจริง เวลาจิตมันสงบนี่มันแสนยาก ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ ดูสิ ท่องกันปากเปียกปากแฉะ รู้ไปหมด อาการอย่างนี้จะเป็นสมาธิระดับนั้น ความสงบอย่างนี้ สงบแล้ว เวลามันเสวยอารมณ์ มันมีเจตสิก มันมีเจตนา มันออกรู้อะไร นี่ว่ากันไป นี่นกแก้วนกขุนทอง มันก็เหมือนกับเราตามหนี้ เราตามหนี้ ลูกหนี้หายไปก็ไปตามหนี้ที่นู่น ตามหนี้ที่นี่ ตามหนี้ไปเรื่อย ไอ้ลูกหนี้มันก็วิ่งหนีไปเรื่อย แล้วลูกหนี้มันโกง มันต่างๆ มันไปนะ ไอ้คนตามหนี้ยังปวดหัวตาย

แต่นี้เราตามจิตของเรา แล้วจิตของเรามันแฉลบมันแลบไปตลอด แล้วก็รู้ไปหมด รู้ทุกอย่างน่ะ แล้วบอกว่าไอ้พวกหลับหูหลับตานี่มันจะศึกษาที่ไหน? ก็ศึกษาตามข้อเท็จจริง เอ็งตามลูกหนี้ไม่เจอนะเว้ย ไอ้ของเรานี่พยายามตามจิตของเรา พุทโธๆ จนเจอฐีติจิต จนเป็นสัมมาสมาธิ จนเป็นกรรมฐาน เป็นสมถะ เราเจอสถานที่อยู่ของลูกหนี้ เห็นไหม เราเจอที่อยู่ เราจะใช้หนี้มัน

ดูสิ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาถึงที่สุดแห่งทุกข์ เหมือนผู้ที่เป็นหนี้พ้นจากหนี้ เราพ้นจากการเป็นหนี้นะ เป็นหนี้ชีวิต หนี้กรรม เป็นหนี้ทุกอย่างเลย สิ่งนี้มันจะเกิดได้เพราะเหตุใดล่ะ มันจะเกิดได้เพราะความรักตนนะ ถ้าเราไม่รักตน เราไม่เข้มแข็งกับตน เราไม่มีความวิริยะอุตสาหะของเรา เราจะทำอย่างไร งานข้างนอกเขาอาบเหงื่อต่างน้ำ เขายังมีแก่ใจจะทำ เขายังมีความตั้งใจทำ...ไอ้เราจะพ้นจากทุกข์นะ

ดูสิ ดูเงินสิ เงินใบละ ๑,๐๐๐ ใบละ ๕๐๐ ใบละบาท เห็นไหม กระดาษเหมือนกัน แต่ราคามันแตกต่างกัน นี่ก็เหมือนกัน เวลาสิ่งที่เป็นวัตถุ เพชร นิล จินดา จะมีค่ามากกว่ากรวดกว่าหิน แต่หัวใจล่ะ หัวใจที่มีคุณค่าขึ้นมา ดูสิ ทรัพย์สมบัติที่เขาหามาน่ะ สิ่งที่เป็นสมบัติทางโลก สิ่งที่เป็นสมบัติทางธรรม นี่เวลาจิตใจอย่างกับเพชรน่ะ เพชรที่ไหน มันแวววาวอย่างไร แล้วใครจะพิสูจน์ว่าเพชรหรือไม่เพชร

ถ้ามันจะเป็นเพชรขึ้นมา เรารักษาของเรา เราดูแลของเรา เราทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา

ถ้าประโยชน์กับเรา การกระทำอย่างนี้มันจะเป็นความจริงของเรานะ

เวลาเข้าพรรษามา เราก็ตั้งจิตอธิษฐานกันว่าเราจะถือธุดงควัตร เราจะจริงจังกับเรา เราจะพ้นจากทุกข์ อย่างไรก็มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นไปเพื่อชีวิตนี้ เพื่อชีวิตนี้ให้มีหลักมีเกณฑ์ ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ ในวงกรรมฐาน ท่านบอกว่า “คนนั้นภาวนาเป็นแล้ว” ถ้าภาวนาเป็นน่ะคือได้หลักแล้ว ถ้าได้เป็น เห็นไหม คนที่ได้เป็น ดูสิ เวลาเขาเลี้ยงสัตว์นะ เขาเลี้ยงวัว เขาต้องให้มันกินน้ำ ๑ หน วันละ ๑ หนเป็นอย่างน้อย ถ้ามันไม่กินน้ำวันละ ๑ หนนะ มันจะหิวน้ำมาก นี่เหมือนกัน จิตใจของเราเหมือนวัวตัวนั้น ถ้ามันได้ดื่มน้ำนะ วันละครั้ง นี่มันกินอาหารของมัน มันกินหญ้าของมัน หาอาหารกินของมัน แล้วมันต้องได้ดื่มน้ำวันละครั้ง เพื่อความดับกระหายของมัน

จิตใจของเราไม่เคยได้ดื่มกินรสของธรรม ถ้าใครมีความสงบระงับ ใครมีจิตที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เหมือนวัวตัวนั้นมันได้ดื่มน้ำ มันมีความสดชื่น มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน จิตใจที่ภาวนาเป็นมันมีสติปัญญา แล้วมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันพอผ่อนคลายหัวใจนี้ไง ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ หรือเราไม่ได้สนใจกับเรื่องหัวใจเลย...ดูทางโลกเขาสิ เขาอาบเหงื่อต่างน้ำ เขาดิ้นรนของเขา เพื่อความสงบ ความมั่นคงในชีวิตของเขา สุดท้ายเขาเหลือสิ่งใดไว้ล่ะ ถึงเป็นชาวพุทธ ทำบุญกุศลมหาศาลขนาดไหน เวลาเขาตายไปแล้วเขาก็เกิดตามบุญกุศลที่เขาได้สร้างของเขา แล้วพอหมดบุญกุศลก็เวียนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้

แต่ของเรา เรามีหูตาสว่างมากกว่าเขา ดูสิ เวลาเขาทำบุญกัน เขาทำบุญกุศลกันมหาศาล เราก็ไม่มีโอกาสได้ทำกับเขาเลย เขาทำบุญกุศลขนาดนั้น เขาจะมีความสุขขนาดไหนไม่รู้เนาะ เราเป็นพระเป็นเจ้า เราก็มีบริขาร ๘ เราก็ดำรงชีวิตของเรา แล้วเราไม่ได้ทำบุญแบบเขา แล้วเราจะได้บุญกับเขาบ้างไหม แต่ทาน ศีล ภาวนา เขาทำระดับของทาน ทานแล้วเขาก็ต้องมีศีลเป็นความสงบระงับในจิตของเขาให้เป็นปกติ แล้วเขาก็ต้องภาวนา

แล้วเราทำอะไรอยู่? เราเป็นนักบวชใช่ไหม เราภาวนาอยู่ใช่ไหม เขาทาน ศีล เขาภาวนา เขาทำทาน ทำศีลขึ้นมา เพื่อประโยชน์ในการภาวนา แล้วเราภาวนาอยู่นี่ แล้วเราจะมาน้อยเนื้อต่ำใจว่าเราไม่มีโอกาสเหมือนเขา เขาทำบุญกุศล เขาได้บุญกุศล แล้วเราไม่ได้ทำอะไรแล้วเราจะได้บุญกุศลไหม...ก็เราภาวนาอยู่นี่ แล้วภาวนาอยู่ทำไมมันร้อนขนาดนี้ ภาวนาอยู่นี่ ทำไมมันไม่เห็นร่มเย็นเลย นี่มันไม่ร่มเย็นเพราะเราอยากเย็น มันก็ไม่เย็น

แต่ถ้าเราอยากพุทโธ เรามีสติปัญญา เราอยากอยู่กับคำบริกรรม จิต ถ้ามันร้อนอยู่นี่ ไม่ให้มันไปกำความร้อนนั้น ให้มันมากำอยู่กับพุทธานุสติ ดูสิ โปฐิละ “กายนี้เหมือนจอมปลวก เหลือไว้ช่องหนึ่ง ไว้จับเหี้ยตัวนั้น” ช่องหนึ่งๆ นี่เหมือนกัน พุทโธๆๆๆ นี่ช่องหนึ่ง นี่ไม่ออกไปทางไหนเลย ปัญญาอบรมสมาธิก็ลงไปสู่จิต ปัญญาอบรมสมาธิพยายามไล่เข้ามาๆ ถ้าอยู่ช่องหนึ่ง นี่จับตรงนี้ให้ได้ ถ้าจิตมันสงบแล้วมันจับได้ นี่จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ จิตเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยข้อเท็จจริง ถ้าจิตเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยข้อเท็จจริง เกิดวิปัสสนาญาณ วิปัสสนา เริ่มชำระล้าง

ดูสิ เวลาเราหิวกระหาย เหมือนวัวตัวนั้น วัวตัวนั้นไม่ได้เคยดื่มกินสิ่งใดๆ เลย มันจะหิวกระหาย พอมันดื่มน้ำ ได้กินหญ้าของมัน มันเจริญเติบโตขึ้นมา ได้น้ำ ได้หญ้าขึ้นมา เพื่อความเข้มแข็งของวัวตัวนั้น จิตมีสติปัญญาขึ้นมา มีคำบริกรรมของมันขึ้นมา มีปัญญาอบรมสมาธิของมันขึ้นมา จิตมันสงบ มีความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา ได้กินน้ำวันละมื้อ กินน้ำวันละหนน่ะมีความร่มเย็นเป็นสุข แล้วมันก็เข้มแข็งขึ้น เข้มแข็งขึ้น เพราะมันทำบ่อยครั้งขึ้น มันมีความชำนาญมากขึ้น พอมันชำนาญมากขึ้น เห็นไหม วัว ถ้ามันโตขึ้นมา ฝึกมัน ใช้งานมัน มันจะเป็นประโยชน์ ใช้งาน ใช้เทียมเกวียน ใช้หว่าน ใช้ไถ ใช้เพื่อประโยชน์ขึ้นมา เขาจะได้วัวตัวนั้นเพื่อมาเป็นแรงงานให้กับครอบครัวนั้น เพราะเขามีวัวตัวนั้น

“จิต” ถ้าเรารักษาของมัน จิตมันสงบร่มเย็นขึ้นมาด้วยปัญญาอบรมสมาธิ ด้วยพุทโธ ด้วยคำบริกรรม ถ้ามันสงบระงับเข้ามา สงบระงับเข้ามา มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โดยความเป็นจริง เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ด้วยความเป็นจริง มันใช้วิปัสสนาญาณของมันขึ้นมา จิตดวงนั้น “โปฐิละใบลานเปล่า” ศึกษามา ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจนสังคมร่ำลือ สังคมยอมรับ แต่เวลาไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ใบลานเปล่าๆ”

เวลาสามเณรน้อยฝึกฝนโปฐิละนั้น ให้พิจารณาร่างกายนี้เปรียบเหมือนจอมปลวก คอยจับเหี้ยตัวนั้น พอจับเหี้ยตัวนั้นได้ ให้พิจารณาว่าเหี้ยตัวนั้นมันออกมายึดมั่นถือมั่นสิ่งใด ออกมาหาอะไรเพื่อเป็นเหยื่อของมัน พอจับได้ สามเณรน้อยพาโปฐิละไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่เป็นปริยัติ ตอนสอนคันถธุระ “โปฐิละใบลานเปล่ามาแล้วหรือ โปฐิละใบลานเปล่าไปแล้วหรือ” เวลาสามเณรน้อยพาโปฐิละไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “สามเณรน้อย โปฐิละเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายไหม แล้วโปฐิละมีความรู้สึกอย่างไร”

นี่ไง เวลาไปพิจารณาร่างกายเหมือนจอมปลวก พยายามจับเหี้ยตัวนั้น เวลาสามเณรน้อยพาโปฐิละไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ติโปฐิละนั้นเลย ยังถามถึงความขยันหมั่นเพียร ถามถึงสิ่งที่ว่าโปฐิละนั้นทำแล้วได้ประโยชน์สิ่งใดขึ้นมา จิตใจนั้นมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาไหม ถ้าจิตใจมีหลักมีเกณฑ์ไหม นั่นเป็นเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ พระโปฐิละเป็นพระอรหันต์เลย

ศึกษาธรรมวินัยมามีชื่อเสียงร่ำลือจนสังคมยอมรับ ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “โปฐิละมาแล้วหรือ ใบลานเปล่ามาแล้วหรือ ใบลานเปล่าไปแล้วหรือ” เวลาไปเฝ้าด้วยการฝึกฝนจากสามเณรน้อย “ร่างกายนี้เหมือนจอมปลวก” เหมือนเราพระกรรมฐาน เวลาบวชกับอุปัชฌาย์อาจารย์มา “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” ให้พิจารณาย้อนหน้าย้อนหลัง

สามเณรน้อยสอนโปฐิละ “ร่างกายนี้เปรียบเหมือนจอมปลวก ให้พยายามจับเหี้ยตัวนั้น พอจับเหี้ยตัวนั้นได้ พิจารณาเหี้ยตัวนั้นได้” นี่ไง แล้วพาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “ฝึกอย่างไรมา ทำอย่างไรมา” ไม่ได้ว่า “ใบลานเปล่าๆ” ไม่มีสิ่งใดตกค้างในใจ ไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์กับจิตดวงนั้นเลย เห็นไหม

เพราะความ “รักดี” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ใบลานเปล่า” แล้วพระโปฐิละสำนึกได้

เพราะความ “รักดี” เพราะความ “รักดี” ในตัวเราเอง เพราะความ “รักดี” กับชีวิตของเราเอง ถึงได้ฝึกหัด ถึงได้ประพฤติปฏิบัติมา จากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ใบลานเปล่า” ว่างเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์ สิ่งที่ว่ารู้เปล่าๆ ไม่เข้าใจสิ่งใดเลย แต่เวลาไปศึกษาไปปฏิบัติจากวิปัสสนาธุระ เห็นไหม ไม่ได้ติ ไม่ได้เตียน ทั้งถามว่าปฏิบัติยากง่ายอย่างใด ถึงที่สุดแล้ว สามเณรน้อยพูดถึงชมเชยให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ปฏิบัติดี ปฏิบัติเข้าถึง” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่งเสริมถึงที่สุด นี่การรักดี

ถ้าทางโลกเขาบอกว่า “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” จะจั่ว จะเสา ก็ต้องหามเหมือนกัน...จะเป็นฝ่ายปริยัติก็ต้องศึกษา ต้องเข้าใจ แต่เข้าใจมาแล้วเราจะก่อเป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมาไหม หามมาแล้วจะประกอบเป็นบ้านเป็นเรือน เข้าสู่บ้าน สร้างบ้านสร้างเรือนของเราขึ้นมาให้เป็นประโยชน์ของเราไหม

หามจั่ว หามเสา มันเป็นอุปกรณ์ มันเป็นสิ่งที่เราจะมาสร้างบ้าน แล้วมีจั่ว มีเสา ให้หามหรือเปล่า มันมีแต่ตำรา “เสา” ก็คิดว่าเป็นตัวอักษร เป็นตัวหนังสือ แต่ “เสา” ที่มีข้อเท็จจริง “เสา” ที่มันเป็นเสาที่มีน้ำหนัก ที่เราจะมาสร้างบ้านสร้างเรือน มันอยู่ที่ไหน ได้แบกได้หามบ้างหรือเปล่า ถ้ามันแบกมันหามขึ้นมา มันจะมีข้อเท็จจริง มันจะมีการกระทำของมันมา มันจะเป็นประโยชน์กับการกระทำขึ้นมา

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลาบอกว่า “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” ร่างกายนี้เปรียบเหมือนจอมปลวก แต่วิธีการปฏิบัติมันยังแตกต่างหลากหลาย ต้นขั้วของมันก็มีเท่านี้แหละ แต่วิธีการ เทคนิคของมันนะ เวลามันเป็นไปอีกมหาศาลเลย แล้วทำถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เห็นไหม วิปัสสนาธุระ มันต้องมีครูบาอาจารย์ที่รู้จริง แล้วเป็นสิ่งที่ว่าพวกเรายอมรับ ยอมรับหมายถึงว่า ชี้เป็นชี้ตายในความเห็นของเราได้ถูกต้อง ชี้เป็นชี้ตายเวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันเป็นความจริง แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา นี้คือครูบาอาจารย์ของเรา นี้สายกรรมฐาน เราถึงเชื่อมั่นในหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้สั่งสอนเรา เพราะความรู้ของเราน่ะ ไปเรียนถามท่าน ท่านจะชี้ได้หมด ท่านจะบอกได้หมด เราไม่รู้ไม่เห็น ท่านรู้ก่อน เพราะท่านประพฤติปฏิบัติมาได้ผลก่อน

ฉะนั้น ความรักดีของเรามันจะเป็นประโยชน์กับเรา นี่สมบัติของครูบาอาจารย์ สมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมบัติของใครก็เป็นสมบัติของท่าน สมบัติของเราต้องมี ถ้าเราไม่รักดี เราก็จะปล่อยตัวเรา แล้วเราจะไม่ได้สิ่งใดเป็นสมบัติในใจนี้ เพราะเรารักดี เราถึงรักษาตัวเรา แล้วเอาตัวเราพิสูจน์ตรวจสอบ แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนเป็นสมบัติของเรา เอวัง