เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๗ ก.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มีคนมาถามปัญหาเยอะมาก เวลาภาวนาไปแล้ว เวลามันภาวนาดีทำไมมันรู้ไปหมด เข้าใจทุกสรรพสิ่ง เข้าใจสัจจะ เข้าใจความสุข ความทุกข์ มันมีความเข้าใจ มีความสุข ทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ? แล้วพอเวลามันเสื่อมมานี่บอกว่า หลวงพ่อ เหมือนไม่รู้อะไรเลย เหมือนกับเราปฏิบัติมานี่มันเหมือนกับไม่ได้ปฏิบัติ

นี่เหตุผลของมัน เห็นไหม เราบอกว่านี่ปฏิบัติแบบโลกๆ เวลาปฏิบัติแบบโลกๆ ก็เอาความรู้สึก ความนึกคิดของเรา เอาตรรกะนี่มาศึกษาธรรมะ เข้าใจไหม? เข้าใจ รู้ไหม? รู้ แต่มันเป็นสัญญา มันเป็นเรื่องโลก พอเรื่องโลกปั๊บเวลามันลืมไป เห็นไหม ฉะนั้น คนศึกษาธรรมะแล้วนี่ต้องทบทวนๆ นะ ท่องแล้วท่องอีก ท่องแล้วท่องอีก กลัวมันจะลืมไง แต่ถ้ามันเป็นธรรมนะ ต้นทางแห่งการประพฤติปฏิบัติเรานี่ครูบาอาจารย์บอกเลย

“ต้องทำความสงบของใจก่อน”

ทำความสงบของใจก่อนคือการสิ้นสุดของโลกไง สิ้นสุดของความรู้สึกนึกคิดไง ถ้าจิตมันสิ้นสุดความรู้สึกนึกคิดมันก็สงบไง ถ้ามันสงบแล้วมันเป็นที่สุดแห่งความคิด ที่สุดแห่งความคิด พอมันสงบแล้วเราใช้ปัญญาของเรา ฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา เห็นไหม สิ้นสุดของโลกมันก็จะเป็นธรรม

แต่นี้เอาเรื่องโลกๆ ปฏิบัติกัน กลัวจะไม่รู้ กลัวจะไม่เห็น กลัวตัวเองจะผิด ผิด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ยิ่งกลัวก็ผิด ไม่กลัวก็ผิด คนปฏิบัติไม่ผิดเลยไม่มี แต่ผิดแล้วเรารู้ว่าผิดใช่ไหม? ถ้าเราไม่รู้ว่าผิดเราจะรู้ว่าถูกได้อย่างไร? เวลาปฏิบัติ เห็นไหม เดี๋ยวก็สงบ เดี๋ยวก็ไม่สงบ วันนี้สงบง่าย วันนี้สงบยาก พอสงบแล้วนะ สงบแล้วรักษาความสงบไว้ไม่เป็น มันจะเป็นอย่างนี้แหละ มันจะฝึกหัดให้จิตดวงนั้นหัดยืนให้เป็น

เหมือนเด็กๆ เด็กๆ นี่นะโดยธรรมชาติของมัน โตขึ้นมันต้องยืนได้ วิ่งได้เป็นธรรมดา แต่จิตนี่เราไม่เคยยืนได้เลย ล้มลุกคลุกคลาน คลุกขี้อยู่นั่นแหละ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง จิตเรามันคลุกอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วก็อวดรู้ อวดรู้ธรรมะ รู้ไปหมด เข้าใจไปหมด แต่รู้โดยตรรกะ รู้โดยโลก

สิ้นสุดของโลกคือความสงบของใจ ทีนี้ใจมันสงบมาก สงบน้อย สิ้นสุดของโลกมาก สิ้นสุดของโลกน้อย ดูสิโลก เห็นไหม เวลาสมัยโบราณสภาวะแวดล้อมจะดีมาก เดี๋ยวนี้สภาวะแวดล้อมเสียหายไปหมดเลย นี่สภาวะแวดล้อมนะ ภูมิอากาศต่างๆ นี่เรื่องหนึ่ง แล้วเรื่องของใจก็อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของใจ เห็นไหม ปรับสภาพ ถ้ามันปรับสภาพนี่สภาพแวดล้อมมันดี จิตมันสงบแล้วดี นี่มีความสุข มีความชุ่มชื่น จิตสงบบ้างไม่สงบบ้างมันจะฝึกของมัน

นี่ที่สุดของโลก ที่สุดของโลกนะเราฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาต้องฝึกหัดใช้ จิตสงบแล้วเกิดปัญญาเอง เห็นไหม เวลามันจิตสงบแล้วนะมันก็คลายตัวออกมา คลายตัวออกมา แล้วเวลาคนปฏิบัตินะ โดยความเข้าใจว่าจิตนี่น้ำใสจะเห็นตัวปลา ก็ทำให้น้ำมันใส เดี๋ยวปลามันจะวิ่งมาชน มันไม่มีปลาโง่ตัวไหนหรอกมันวิ่งไปให้คนจับ ปลาที่ไหนมันจะวิ่งไปให้คนเอามาเป็นอาหาร ไม่มีหรอก ปลาที่ไหนก็รักชีวิต ปลาที่ไหนมันก็ต้องหาแหล่งน้ำที่มันอยู่สะดวกสบายของมัน

กิเลสนะมันอยู่ในใจของเรา มันหลบมันหลีกนะ มันจะไม่ให้ใครเห็นตัวมันหรอก เพราะไม่มีใครเห็นตัวมัน เห็นไหม มันกับเราก็เลยเป็นเรา กิเลสเป็นเรา เราเป็นกิเลส กิเลสเป็นความพอใจ กิเลสศึกษาธรรม ความเข้าใจธรรมว่าเราเข้าใจๆ

เราไง เราคือตัวตน เราคือโลก แต่เวลาจิตมันสงบนะ พอจิตสงบนี่มันเวิ้งว้าง พอเวิ้งว้างแล้วนะมันมีหลักมีเกณฑ์ มีความชื่นใจ มีความสุขใจ มีกำลังของมัน พอมันใช้ปัญญานะ พอมันใช้ปัญญาไป นี่มันพิจารณาไปโอ้โฮ.. มันลึกลับมหัศจรรย์นะ พอมันปล่อย เห็นไหม แล้วใครรู้ล่ะ? เหมือนไม่รู้แต่รู้ ไอ้รู้ชัดๆ ไอ้รู้ของเรานี่รู้ไปหมดเลย กลัวจะไม่รู้ นี่ไม่รู้ แต่เวลามันเหมือนกับจะไม่รู้เลย แต่รู้ รู้เพราะอะไร? เพราะมันชำระสะสางของมันไป เรารู้ถึงเราสะอาดบริสุทธิ์ เรารู้ถึงความสกปรกโสมมของหัวใจ แล้วมันดีขึ้นๆ เรารู้ไหม? เรารู้ไหม?

แล้วมันไม่เหมือนกับว่าเวลาเราปฏิบัติของเราโดยสัญญา อู้ฮู.. มันรู้ไปหมดเลยนะ อู้ฮู.. เข้าใจธรรมะไปหมดเลยนะ เวลามันเสื่อมนะเหมือนไม่รู้อะไรเลย แล้วทุกข์ยากมาก เหมือนคนมีฐานะแล้วหมดเนื้อหมดตัว แล้วก็ต้องมาขึ้นต้นใหม่ แต่เวลาจิตมันพิจารณาของมันไปนะ เวลามันรู้ขึ้นมานะ นี่เงินของเรา ทรัพย์สินของเรา เราเก็บไว้ในเซฟของเรา ในที่เก็บของเรา มันปลอดภัย มันรู้ของมัน มีความสุขของมัน เห็นไหม นี่ธรรมกับโลก

เราปฏิบัตินะมันจะทุกข์จะยาก เราก็ต้องเข้มแข็งของเรา นี่สิ้นสุดของโลกมันจะเป็นดินแดนแห่งธรรม สิ้นสุดของโลก สิ้นสุดของความฟุ้งซ่าน สิ้นสุดของความรู้สึกนึกคิด สิ้นสุดของตรรกะ สิ้นสุดของการกระทำของเรามันจะเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมขึ้นมา เห็นไหม ธรรมเราจะตักตวงมันขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับเรา

นี่เราประพฤติปฏิบัติต้องเป็นแบบนั้น ถ้าเราปฏิบัติเป็นแบบนั้นนะ แต่โลกเดี๋ยวนี้เจริญ พอเจริญขึ้นมานี่เราว่ามีปัญญาๆ นะ แม้แต่อาวุธนะ เวลาใช้ไป เวลาหมดกระสุน หมดต่างๆ อาวุธนั้นก็เป็นเศษเหล็กนะ อาวุธนั้นเป็นเศษเหล็ก ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมาวุธๆ นี่สิ่งที่เป็นคุณธรรมๆ

นี่เราเป็นกิเลส เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นสัญญา เราใช้มันๆ แล้วเราส่งเสริมสิ่งใดบ้างล่ะ? แม้แต่อาวุธนะเขายังต้องบำรุงรักษา แม้แต่อาวุธนะเขายังต้องมีสำรอง มีกระสุนสำรองของเขา เวลาใช้หมดแล้วเขาจะมีกระสุนสำรองของเขา เขารู้จักการกระทำของเขา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราผลิตอาวุธได้ เราทำกระสุนได้ เราทำสิ่งต่างๆ ได้

เวลาปัญญามันพิจารณาไปแล้วนะ มันพิจารณาของมันไป มันแก้ไขของมันไป มันทำของมันไป นี่พอเวลามันใช้มากมันร้อน เราหยุดพัก หยุดพักกลับมาทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบนะเราพิจารณาของเราใหม่ เราทำของเราใหม่ เราภาวนาของเราไป เห็นไหม กระสุนนะ เวลาอาวุธถ้ามันมีกระสุนนะ เรายิงมันจะมีแรงสั่นสะเทือน มันจะมีกระสุนพุ่งออกไปจากปืนนั้น เวลาเราใช้ปัญญาของเรามันจะมีกำลังของมัน มีปัญญาของมัน แต่ถ้าอาวุธมันไม่มีกระสุนนะ เรายิงนี่ไม่มีกระสุน มันสับไกแต่ไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์เลย

ถ้ามันเป็นสัญญา เห็นไหม มันใช้อยู่ มันทำอยู่ มันซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้นแหละ มันเป็นประโยชน์ไหม? ถ้าไม่เป็นประโยชน์เราต้องกลับมาทำความสงบของใจทันที เราต้องกลับมานะ บอกว่านี่ที่สุดของโลกมันจะเป็นธรรม แล้วธรรมมันมาจากไหนล่ะ? ธรรมมันเกิดจากโลกนี่แหละ ธรรมมันเกิดจากเรานี่แหละ

เราเกิดมาเรามีพ่อ มีแม่ มีปู่ มีย่า เรามีพ่อมีแม่เลี้ยงดูเรามา เวลาเราโตขึ้นมาเราต้องเลี้ยงตัวเราเอง เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่เรามีครูมีอาจารย์ เราปฏิบัติมาเรามีธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็มีตัวตนของเรา เราเกิดมามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราจะมาแก้ไขของเราอยู่นี่ไง

เราทำบุญกุศลอยู่นี่เพื่อเปิดหัวใจนะ ถ้าหัวใจมันเปิด นี่เรามีการเสียสละ เจตนาทำสิ่งที่ดีๆ มันเปิดหัวใจของเรา เราจะรับฟังสิ่งต่างๆ เห็นไหม มันเป็นจิตใจที่เป็นสาธารณะ เรารับฟังเขาได้ ตอนที่มีปัญหาอยู่นี้เรามีแต่ทิฏฐิมานะของเรา แต่เราไม่ฟังใครเลย ไม่ฟังใครเลย แต่ถ้าเรามีปัญญาขึ้นมาเราฟัง เราฟังแล้วเราแยกแยะว่านี้เป็นปัญญา นี้เป็นสัญญา นี้เป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก นี้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน นี้คือการอ้างอิง

นี่ถ้าเรามีปัญญานะเราแยกแยะได้ แล้วเรารู้ทันของเขาได้ แล้วเราก็วางไว้ แล้วงานของเราเราทำของเราได้ เราทำของเราได้ เรารักษาดูแลของเราได้ เพื่อประโยชน์กับสังคม เห็นไหม ถ้าจิตใจเป็นสาธารณะ นี่เราทำบุญกุศลกันเพื่อเหตุนี้ ถ้าจิตใจเป็นสาธารณะ จิตใจคิดถึงนะ คิดถึงความเป็นส่วนรวม คิดถึงสังคมโลก เพราะเราอยู่กับโลกนะ

นี่ถ้าสังคมสงบระงับ สังคมร่มเย็น สมณะ ชี พราหมณ์ จะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติ ถ้าสังคมมีแต่ความขัดแย้ง สังคมมีแต่ความทุกข์ยาก สมณะ ชี พราหมณ์ ที่ไหนจะมีเวลามาประพฤติปฏิบัติ สมณะ ชี พราหมณ์ เห็นไหม ผู้ปฏิบัติมันก็อยู่กับโลกนี่แหละ แต่อยู่กับโลก ถ้าโลกมันเป็นสิ่งที่ดี.. คิดดูสิ คนเราเห็นไหมหลวงตาจะบอกว่า

“ขนโคกับเขาโค คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก”

ถ้าคนมันโง่มาก เราจะแบกรับภาระสิ่งนั้นไม่ได้ นี่ถ้าคนโง่มากนะ หนึ่งตัวอย่างดีกว่าร้อยคำสั่ง เราทำชีวิตของเรา ดูสิเวลาเราอยู่กับหลวงตานะ หลวงตาเวลาพระนี่ท่านบอก พระนี่นะ เวลาท่านให้โอกาสบอกพระให้เตือนกัน ให้บอกกัน ให้สอนกัน

นี่ให้เตือนกันเพราะแบ่งเบาภาระท่าน แต่ถ้ามีปัญหามองในภาพลบ ท่านบอกหมู่คณะอย่ามองกัน เพราะทุกคนมีกิเลส มองเข้าไปมันก็เห็นแต่กิเลส ให้มองผม คือให้มองท่าน ท่านบอกว่าให้มองท่านเป็นตัวอย่าง ให้มองท่านเป็นตัวอย่าง เราเอาท่านเป็นตัวอย่าง เห็นไหม แต่เราไม่เอาสิ่งที่คนโง่ๆ พระปฏิบัติที่มีกิเลสอยู่เป็นตัวอย่าง

เขาทำของเขา เขาก็มีทิฏฐิมานะของเขา เขาก็ทำด้วยมุมมองของเขา มุมมองของเขา เขาก็มีกิเลสอยู่มันมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา แต่ครูบาอาจารย์ของเราเวลาท่านทำ ท่านสะอาดบริสุทธิ์ของท่าน ท่านทำกับเรานี่นะท่านเป็นอุบาย เป็นอุบายนะจะให้เราละทิ้งความยึดมั่นถือมั่น เรารู้อะไรเราก็ว่าสิ่งนั้นถูกต้องๆ

ความถูกต้อง เห็นไหม ดูสิเราได้ข้าวสารมา เราว่าข้าวสารเป็นอาหาร แล้วเวลาถ้าไม่หุงให้มันสุกขึ้นมาข้าวสารจะกินได้ไหม? เราไปรู้สิ่งใดมาเราบอกนี่เป็นอาหารๆ มันกินได้หรือยัง? มันกินไม่ได้หรอก ข้าวสารมานี่นะ เขาต้องมีภาชนะหุงหามันนะ ถ้าหุงหามันสุกแล้วมันถึงจะหอมหวานเป็นอาหารที่ดีกับเรานะ

นี่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรารู้สิ่งใดเราก็ยึดของเราใช่ไหม? ท่านก็ต้องมีอุบายบอกเราว่าที่เอ็งรู้ๆ นั่นมันยังไม่ได้หุงให้สุกนะ มันกินเข้าไปเดี๋ยวติดคอตายนะ ท่านจะมีอุบายสอนเรา สอนเรานะ แต่ถ้าคนปัญญาไม่ทันมันไม่รู้ว่า เอ๊ะ.. นู่นก็ผิด นี่ก็ผิด ผิดทั้งนั้นแหละ เพราะเวลาเราสวดมนต์ เห็นไหม ความดีที่ยิ่งกว่านี้ยังมีอยู่ ความดีที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ เราจะดีขนาดไหนนะมันจะมีความดีมากกว่านี้ แล้วถ้าครูบาอาจารย์ท่านดีกว่าเรา จิตที่สูงกว่าจะดึงจิตที่ต่ำกว่าขึ้นมา

เราจะผิดตลอดไป ถูกมาอย่างหยาบๆ มันยังผิดอย่างละเอียด ถึงผิดอย่างละเอียด เอ็งไม่ยอมทิ้งละเอียด เอ็งจะติดละเอียดอยู่ ถ้าเอ็งอย่างหยาบมาเอ็งต้องทิ้งอย่างหยาบมา ทิ้งความเห็นของเรา ดูสิความเห็นของเรานี่ เราปฏิบัติมา เราทิ้งมาๆ พอทิ้งมา พอมือมันทิ้งมามือมันว่าง พอมือมันว่างมันจับสิ่งอื่นต่อไปได้ จับสิ่งอื่นต่อไปได้

ถ้าเราไม่ทิ้งเลย มือเรามีแต่ของเต็มมือเลย เห็นข้างหน้าก็อยากได้ นู่นก็อยากได้ นี่ก็อยากได้ แต่หยิบอะไรไม่ได้เลยเพราะมือมันไม่มีจะหยิบอะไรได้เลย เห็นไหม หยิบเสร็จแล้วเราก็วางๆ เรารู้แล้ว เราเข้าใจแล้ว เราหยิบแล้ว เรายกมาเอง เราหามาเองแล้วเราวางไว้

วัตถุที่วางไว้แล้วคนจะหยิบฉวยไป ปัญญาไม่มีใครหยิบฉวยไป ยิ่งมรรค ยิ่งผลนะ ใครจะหยิบของเราไปไม่ได้ ไม่มีใครหยิบของใครไปได้ ฉะนั้น เรายิ่งวางเรายิ่งจะรู้มาก แต่พอเรายึดของเราไว้ นี่บอกว่าเราก็ถูก นี่เราถูกนะ อาจารย์ไม่ถูก อาจารย์ลำเอียง อาจารย์เข้าข้างคนอื่น เราถูก เราถูก เห็นไหน มันไม่วางของมัน พอมันวางของมันปั๊บ เออ.. เราผิด เราผิด ผิดตรงไหน? ผิดที่ยังไม่วางไว้ไง ผิดที่แบกไว้นี่ไง พอผิดเสร็จแล้ว พอวางปั๊บมันว่างแล้ว มันมีสิ่งที่เราจะบรรจุต่อไป

เหมือนสามเณรราหุลนะ สามเณรราหุลเป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ไม่มีทิฏฐิมานะเลย นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมไป กระบวนการของพระก็ตามไปๆ ฉะนั้น เวลาพระไปนี่พระต้องได้ที่พักก่อน เณรต้องมาทีหลัง เณรพระอรหันต์นะ จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระสารีบุตร

“สารีบุตร สัทธิวิหาริกของเธอนอนที่ไหนรู้ไหม?”

พระสารีบุตรบอก “ไม่รู้” พระสารีบุตรก็ตามไปดู สามเณรราหุลไปนอนอยู่ในห้องส้วม เพราะมันเต็มหมดไม่มีที่พัก ไปนอนอยู่ในห้องส้วม นี่เป็นลูก เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บวชมาเป็นพระอรหันต์ แต่เป็นสามเณรไม่มีทิฏฐิมานะเลย ไปนอนอยู่ในห้องส้วมนะ ฉะนั้น พระสารีบุตรไปเปิดดูถึงได้เห็น

นี่ไม่มีทิฏฐิมานะเพราะว่าโดยธรรมวินัย ภิกษุ สามเณร นี่เวลาที่พักมันเป็นไปตามนั้น แต่ท่านก็ไม่มีอะไรในหัวใจนะ แต่! แต่สามเณรราหุลเช้าขึ้นมาจะหยิบทรายกำหนึ่ง แล้วให้ทรายนี่ไหลออกจากมือ แล้วอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าอยากได้ความรู้วันละเท่านี้” เปรียบกับเม็ดทราย

เป็นคนที่ขวนขวายหาความรู้ ขยันหมั่นเพียร สามเณรราหุลนะ นี่พูดถึงถ้าคนมีคุณธรรมมันทำแต่ประโยชน์ทั้งนั้น ไม่มีสิ่งที่เป็นโทษ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งหมดเลย แต่กิเลสของเรานี่เราทำอะไร? มีแต่เรารู้มากๆ สามเณรราหุลเป็นพระอรหันต์นะ หยิบทรายขึ้นมากำหนึ่ง แล้วให้ทรายร่วงออกจากมือแล้วอธิษฐานนะ

“วันนี้ขอให้ได้ปัญญา ขอให้ได้ความรู้ดั่งเม็ดทรายที่ร่วงจากมือของเรา”

หาอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ทิฏฐิของเรานะว่าเรารู้ๆ ลำเอียง นี่ลำเอียง ว่ากันไป แต่เราไม่ได้ดูปัญญาของเรา ไม่ได้ดูทิฏฐิมานะของเรา นี่พูดถึงทิฏฐิมานะนะ เวลาปฏิบัติไปมันจะเห็นอย่างนี้ เห็นอย่างนี้จริงๆ เห็นอย่างนี้เพราะเหตุใด? เห็นอย่างนี้เพราะอะไร? เพราะปุถุชนนี่คนหนา ถ้าจิตมันไม่สงบ ไม่ระงับ ไม่มีหลักนะ ไม่ใช่กัลยาณปุถุชน

กัลยาณปุถุชนคือคนที่มีสติปัญญา ตัดรูป รส กลิ่น เสียง ขาดไปจากใจเป็นกัลยาณปุถุชน รักษาสมาธิได้ง่าย แล้วรักษาสมาธิได้มีกำลังมาก กัลยาณปุถุชนจะพิจารณาเห็นกาย พิจารณาน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี้คือโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติมรรคถ้ามันสำเร็จเป็นโสดาปัตติผล แล้วพอเป็นโสดาปัตติผลก็จบกระบวนการของมันแล้ว แล้วต้องทำความสงบของใจให้มากขึ้นเพื่อดำเนินการเป็นสกิทาคามิมรรค

สกิทาคามิมรรคนี่ถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันถึงเป็นสกิทาคามิมรรค ถ้าไม่เห็นกายมันเป็นมิจฉา มิจฉาเพราะอะไร? เพราะมันไม่เห็นตามความเป็นจริง ไม่ใช่งานชอบ เพียรชอบ.. ถ้างานชอบ เพียรชอบ สมาธิชอบ มันถึงเป็นมรรค ถ้าเป็นมรรคเป็นสกิทาคามิมรรค ผลของสกิทาคามิมรรคถ้าพิจารณาถึงที่สุดเป็นสกิทาคามิผล แล้วทำความสงบของใจให้มากขึ้น ถ้ามากขึ้นพอจิตสงบแล้วไปเห็นกามราคะ ถ้าเห็นกามราคะจะเป็นอนาคามิมรรค อนาคามิมรรคผลเป็นอนาคามิผล พออนาคามิผลมันจะว่างหมด อนาคามิผลจะว่างหมดไม่มีสิ่งใดเลย เพราะจิตมันว่างมา เพราะมันเป็นความว่างมา แล้วว่างมา แล้วจิตเดิมแท้นี้ผ่องใสมันอยู่ที่ไหน? ถ้าไปจับจิตเดิมแท้ที่ผ่องใสได้จะเป็นอรหัตตมรรค ถ้าอรหัตตมรรคเสร็จแล้วพอกระบวนการสิ้นสุดมันจะเป็นอรหัตตผล

ดูกระบวนการของปัญญาที่มันก้าวเดินสิ กระบวนการของปัญญาที่มันก้าวเดินไป แล้วเรารู้ตรงไหน? เรารู้ตรงไหน? เราเห็นตรงไหน? เรายึดมั่นตรงไหน? แล้วครูบาอาจารย์มันพยายามดึงเราขึ้นไป ดึงเราขึ้นไปนี่ลำเอียงไหม? ลำเอียงไหม? ใครว่าลำเอียง ลำเอียงเพราะกิเลสทิฏฐิมานะทั้งนั้น.. นี้พูดถึงว่าถ้าเราทำของเรา

นี่ธรรมนะ เราดูธรรมของเรา เรารักษาของเรา โลกเป็นแบบนี้ เราเกิดมาอยู่นะ เราเกิดมา เห็นไหม ดูสิสังคม เราเกิดมาในสังคมที่ประพฤติปฏิบัติ เราเกิดมาในสังคมของครูบาอาจารย์ของเรา เราอยู่ในสังคม เราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสังคม นี่มันให้ความอบอุ่น ความมั่นคงกับเรา แต่เวลาถึงที่สุดแล้วนะ ใจของใครก็ใจของคนนั้น ใจของใครผู้นั้นจะประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์นะ

“อานนท์ เราเอาแต่ธรรมะของเราไปนะ เราไม่เคยเอาของใครไปเลย เมื่อใดผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย” เอวัง