เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๘ ก.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ใจนี้สำคัญนัก เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เวลาดีนะดีสุดๆ มันดีจนถึงสิ้นกิเลสได้นะ เวลามันร้าย เห็นไหม มันทำลายทุกอย่างเลยนี่ใจของคน ทีนี้ใจของคนจะแก้ไขอย่างไร? เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าเลี้ยงได้แต่ร่างกาย เลี้ยงจิตใจมันได้ไหมล่ะ? จิตใจนี้เลี้ยงไม่ได้ แต่ธรรมะเลี้ยงได้ อาหารของกาย เราหาปัจจัยเครื่องอาศัยเพื่อร่างกายของเรา แต่จิตใจนี่เราต้องเข้าศึกษา ต้องควบคุมดูแล

จิตใจของคน เห็นไหม เวลาดีนี่ดีมหาศาลนะ ดีจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้เลยล่ะ เวลาถึงที่สุดแห่งทุกข์ทำไมว่าไม่ดีเหมือนทางโลกล่ะ? ดีทางโลกเขานะ เขาเสียสละ เขาเป็นผู้นำ เขาทำประโยชน์กับสังคมมหาศาลเลย ดีอย่างนั้นมันดีผลของวัฏฏะไง มันไม่พ้นไปจากทุกข์ได้ แต่เวลาดี เห็นไหม ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียสละราชบัลลังก์ เสียสละมาเลย

ถ้าเป็นกษัตริย์ เห็นไหม เป็นคนดี เป็นกษัตริย์ เป็นผู้นำมันดีมหาศาลเลยล่ะ นี่เพราะว่าทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข แต่ขนาดสังคมร่มเย็นเป็นสุข มันก็เป็นผลของสังคมใช่ไหม? เป็นผลของโลกใช่ไหม? แต่ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ล่ะ? นี่เราทำอย่างไรให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์.. ถ้าสิ้นสุดแห่งทุกข์ ดูสิประเพณีวัฒนธรรม นี่เวลาจิตใจมันจะดี มันดีได้ด้วยการขัดเกลา ขัดเกลาด้วยสิ่งใด? ขัดเกลาด้วยประเพณีวัฒนธรรม

วัฒนธรรม เห็นไหม วัฒนธรรมในปัจจุบันนี้วัฒนธรรมบริโภคนิยม ถ้าใครได้อยู่ได้กิน ได้สิ่งที่ทางโลกเขาชื่นชมคนนั้นมีวัฒนธรรม ไอ้เราก็อยู่ป่าอยู่เขา คนอยู่ในป่าในเขาเขาใช้ใบตองนะ เขามีสิ่งใดเขาก็หาอยู่หากินของเขาโดยธรรมชาติของเขา เขามีวัฒนธรรมของเขา เขาเจือจานกัน เขาดูแลกัน เขาเอื้ออาทรต่อกัน อันนั้นวัฒนธรรมเขาน่ารังเกียจหรือ? วัฒนธรรมเขาไม่น่ารังเกียจหรอก นั่นวัฒนธรรมของเขา เห็นไหม

เราจะบอกว่าวัฒนธรรมแตกต่างหลากหลาย แม้แต่ภาษาพูด ภาษาพูดมันก็เป็นเครื่องแสดงออกของวัฒนธรรมนั่นแหละ มันเป็นการสื่อวัฒนธรรมของเขา ภาษาพูดมีมหาศาลเลย แต่! แต่ก็จะเริ่มจางหายไป จางหายไป เพราะคนไม่กล้าพูด คนจะพูดแล้วนี่ถ้าพูดยาก พูดต่างๆ มันจะมีภาษาหลักๆ ไม่กี่ภาษาเอง

ฉะนั้น เวลาในสังคมโลก เวลากฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายเป็นสัญญาระหว่างโลก นั่นเพราะอะไรล่ะ? สิ่งนี้มันเป็นกฎกติกา แล้วนี่เราทำตามวัฒนธรรมประเพณีเรา เราผิดกฎหมายมันน่าเศร้าไหม? เราทำตามของเรานี่แหละแต่มันผิดกฎหมาย กฎหมายเขียนมาทำไม? นี่พูดถึงทางโลกนะ

จะย้อนกลับมาเรื่องภาวนา ถ้าย้อนกลับมาเรื่องภาวนา เห็นไหม คนเรามันแตกต่างวัฒนธรรมกัน มุมมอง นิสัยใจคอมันก็แตกต่างกัน นี่พูดถึงแต่ละวัฒนธรรมนะ เวลาภาวนาไป วัฒนธรรมสิ่งใดเขาก็เชื่อมั่นของเขาสิ่งนั้น เวลาทำความสงบของใจเข้าไปเขาจะไปพบเห็นสิ่งใดล่ะ? ก็ตามวัฒนธรรมของเขา นี่วัฒนธรรมนะ แล้วจริตนิสัยล่ะ? แล้วเวรกรรมของใจล่ะ? นี่มันแตกต่างขนาดนั้น ฉะนั้นเวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา วัฒนธรรมประเพณีมันเป็นการหล่อหลอม เป็นการทำให้เรามีความเชื่อมั่น ให้เรามีความศรัทธา ทีนี้พอศรัทธาแล้วนี่ เวลาเราปฏิบัติไปแล้วมันต้องตามความเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริงมันต้องปล่อยไปตามความเป็นจริง แต่ต้องมีสตินะ

เวลาบอกตามความเป็นจริง วิธีการการเข้าไปสู่ความจริงมันมีหลากหลาย แต่ความจริงนี้มีหนึ่งเดียว อริยสัจมีหนึ่งเดียว เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนาคตกาลก็จะมาตรัสรู้อริยสัจนี่แหละ ธรรมะนี่จะเข้าไป มรรคญาณจะเข้าไปชำระจิตใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อๆ ไป มันก็เป็นอริยสัจอันเดียวกันนี่แหละ ทีนี้อันเดียวกัน นี่พูดถึงเป้าหมายนะ แต่วิธีการที่จะเข้าไปนี่แตกต่างวัฒนธรรม แตกต่างจริตนิสัย มันเข้าไปแล้วมันจะแตกต่างกัน

ทีนี้ความแตกต่างกัน เห็นไหม ถ้าเราไม่รู้ล่ะ? แม้แต่ความรู้ความเห็นเวลาจะเข้าสมาธิ จิตเวลาจะเข้าสู่จิตเดิม เข้าไปสู่สมาธิ ถ้าเข้าไปสู่ความเป็นจริง ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ในปัจจุบันนี้เราทำตามวัฒนธรรมประเพณี เราบอกว่าสมาธิไม่จำเป็น สมาธินี่เราเข้าไปแล้วมันจะรู้ไปเอง มันจะมีมาเองต่อเมื่อมีการประพฤติปฏิบัติ มันจะมีมาเอง มีมาเอง มันก็เป็นสิ่งที่เราคาดหมาย ผู้ใดปฏิบัติธรรม ด้นเดาธรรม เห็นไหม

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” ความสมควรของมัน ความสมดุลของมัน ถ้าความสมดุลของมัน เห็นไหม ถ้าเราทำความสงบของใจ แล้วบอกว่าเวลาวัฒนธรรมมันแตกต่างหลากหลาย การปฏิบัติต้องมีแตกต่างหลากหลาย ทำไมพระป่าต้องพุทโธ พุทโธ พุทโธล่ะ? ทำไมมีหนึ่งเดียว ทำไมไม่แตกต่างหลากหลายล่ะ?

มันแตกต่างหลากหลายนะ คำบริกรรมพุทโธมันเป็นหลักใช่ไหม? พอคำว่าเป็นหลักนี่พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เพียงแต่สิ่งใดก็ได้ ๔๐ ห้อง ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา สิ่งที่เป็นความสงบของใจเราทำเพื่อประโยชน์ ทำเพื่อให้จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าจิตมีหลักมีเกณฑ์เข้าไปแล้วมันจะเกิดปัญญาขึ้นมา เห็นไหม

นี่วัฒนธรรมประเพณีทั้งหมด เวลาทำขึ้นมาถึงที่สุดคือสมถะ คือความปล่อยวางของใจ พอความปล่อยวางของใจนี่ก้าวเดินปัญญาไม่เป็น ก้าวเดินปัญญาขึ้นไปกันไม่ได้ ถ้าก้าวเดินปัญญาขึ้นไปไม่ได้ จะทำอย่างไรให้มันเป็นปัญญาขึ้นมาล่ะ? จะทำอย่างไรให้มันเป็นมรรคญาณ

ดูเวลามรรคญาณนะ นี่เวลามรรค ๘ สมาธิชอบ ความเพียรชอบ งานชอบต่างๆ ความชอบธรรม.. ทีนี้ความชอบธรรมในแต่ละสมาธิ สมาธิก็ความสมดุลของสมาธิ ความสมดุลของสติ ความสมดุลของการกระทำ ความเพียรไง ความเพียร ความสมดุลของมัน คนทำงาน เวลาที่มันสำเร็จมันสำเร็จอย่างไร?

นี่มรรค ๘ ระหว่างเวลามรรคนี่เอกเทศของมัน มันก็ต้องมีความสมดุลของมัน แล้วมรรค ๘ มันต้องมรรคสามัคคีอีก ความสมดุลของมรรค ๘ ที่มันจะมรรคสามัคคีเข้ามาเพื่อชำระกิเลส มันก็เป็นอีกสเต็ปหนึ่ง ในการภาวนาของเรา เห็นไหม นี่พูดถึงว่าการภาวนาของเรา เวลาทำไปเราอย่าไปวิตกกังวล อย่าไปลังเลสงสัย

สิ่งใดที่เราประสบเราพบเห็น มันก็มาจากข้อมูลเดิมของเราทั้งนั้นแหละ ข้อมูลของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าข้อมูลของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรามีสติแล้วเรากำหนดคำบริกรรมสิ่งใดก็ได้ พุทโธ ธัมโม สังโฆ มรณานุสติ นึกถึงความตาย นึกถึงอัฐิ นึกถึงกระดูก นึกถึงสิ่งใด นึกถึงนี่จิตมันเกาะ จิตมันเกาะ จิตมันมีที่หมายของมัน อย่างเช่นเราออกไปเร่ร่อนอยู่ตามถนนหนทางนี่เราเดือดร้อนไหม? ถ้าเราอยู่ในบ้านของเรา อยู่ในถ้ำของเรา อยู่ในคูหาของเรานี่เราร่มเย็นเป็นสุขไหม?

จิตมันมีคำบริกรรมของมัน มันเกาะของมันไว้ มันมีที่ร่มเย็นของมัน เห็นไหม ทีนี้คำว่าบ้านกับเราเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า? ไม่ใช่.. ถ้ำกับเราก็ไม่ใช่อันเดียวกัน แต่เราอาศัยถ้ำเพื่อหลบร้อน นี่เราอาศัยถ้ำเพื่อหลบร้อน มันอาศัยหลบร้อนใช่ไหม? นี่เราก็อาศัยคำบริกรรมให้จิตมันเกาะไว้ ดีกว่าให้มันไปคิดเพ่นพ่านของมัน ถ้าเราปล่อยปั๊บ เห็นไหม จิตนี้ดีก็ดีมหาศาล เลวก็เลวจนที่สุดนะ ฉะนั้น เราก็ไม่ให้มันไปตามอำนาจของมัน เราก็มาเกาะสิ่งใดไว้ เกาะคำบริกรรมไว้

คำบริกรรม เห็นไหม คำบริกรรมไม่ใช่เรา คำบริกรรมเป็นสมมุติ ทุกอย่างเป็นสมมุติหมดเลย แต่ต้องอาศัยกัน บ้านเป็นของเราหรือเปล่า? นี่ตามทะเบียนบ้านเป็นของเรา ชื่อบ้านโอนเป็นของเราหมดเลย แล้วจริงๆ มันเป็นของเราหรือเปล่า? เราอาศัยมันนอน เรานอนอยู่กับมันใช่ไหม? นี่อาศัยมัน เห็นไหม เวลาเราตายไปบ้านเป็นของใครล่ะ? คำบริกรรมก็เหมือนกัน

ทีนี้เราบอกว่า เขาจะโต้แย้งไง เวลาบอกว่า “ปฏิบัติเป็นพิธี ปฏิบัติเป็นสูตรสำเร็จ เวลาพุทโธมันสำเร็จหรือเปล่าล่ะ?” ไม่ได้สำเร็จ ไม่ได้สำเร็จ แต่อาศัยสิ่งนี้ เห็นไหม บ้านไม่ใช่ของเรา สมบัติไม่ใช่ของเรา แต่โลกสมมุติว่าเป็นของเรา นี่ไง พุทโธนี้ไม่ใช่ของเรา แต่เรานึกเอาขึ้นมา นึกขึ้นมา

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ไม่ใช่ของเรา นี่พุทโธ พุทโธ แต่เวลาพุทโธจนละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป จนพุทโธไม่ได้ จนพุทโธกับเราเป็นอันเดียวกัน อ้าว.. เป็นของเราหรือเปล่า? เป็นของเราหรือเปล่า? นี่แล้วละทิ้งเข้าจนมาเป็นเรา เห็นไหม บ้านเป็นของเราหรือเปล่า? บ้านเป็นของเราหรือเปล่า? แต่ถ้าเราเข้าใจแล้ว บ้านนี่เราอาศัย แต่เรารักษาใจของเรา มันละเอียดเข้ามา เป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา มันละเอียดเข้ามาได้ เห็นไหม

เพราะว่าเมื่อวานคนมาเยอะ มาถามปัญหาเยอะมาก ร้อยแปดพันเก้า นี่มันแตกต่างหลากหลายไปหมดเลย คนหนึ่งก็ไปอย่างหนึ่ง คนหนึ่งก็ไปอย่างหนึ่ง นี่ไงเราถึงมาสะท้อนใจ เห็นไหม สะท้อนใจว่าถ้ามันเป็นทฤษฎี มันเป็นสูตรสำเร็จ มันเป็นอันเดียว แล้วต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ทุกคนต้องบอกให้เป็นอย่างนี้เลย

มันก็เหมือนกับอาหารขยะเลย ทั่วโลกรสชาติเดียวกัน แล้วอาหารตามพื้นถิ่นของเขามีอาหารที่มีประโยชน์มหาศาลเลย ลบทิ้งหมดเลย ไอ้คนพื้นที่ก็ไม่กล้ากินนะ ไม่ทันสมัย ก็ไปกินอาหารขยะ

วัฒนธรรมประเพณีของเรา ความรู้สึกของเรา ความจริงของ นี่เป็นของเรา ไม่ต้องไปตื่นเต้นกับมัน สิ่งใดที่ประสบกับเรา เราประสบความเป็นจริงนั้นแล้วตั้งสติไว้ ตั้งสติไว้ พอตั้งสติไว้นะมันสงบ มันละเอียดเข้าไปมันจะวางสิ่งนี้เองไง ทุกคนจะต้องวางข้อมูลที่เราทำมา เวรกรรมเราต้องวางเข้ามา เพื่อเข้าไปสู่ฐีติจิต เพื่อเข้าไปสู่ความสงบ ทุกคนต้องวางสิ่งที่เป็นสัญญาอารมณ์ สิ่งที่สัมผัสมา ทุกคนต้องวางหมด แล้วการจะวางเข้าไป ถ้าเรามีคำบริกรรม เราเกาะสิ่งนี้เข้าไปมันจะเข้าไปสู่ความสงบของใจได้ เห็นไหม

ฉะนั้น สิ่งทุกอย่างมันเป็นสมมุติหมด สมมุติขึ้นมาให้จิตเกาะ ให้จิตเกาะ เกาะไปเรื่อยๆ เกาะไปเรื่อยๆ เกาะไปเรื่อยๆ ดีกว่าที่ให้มันกระจายไป ธาตุรู้มันกระจายไปหมดเลย นี่เราคิดถึงอเมริกาสิ คิดถึงดวงจันทร์สิ มันไปกลับมาแล้ว นั่งอยู่นี่มันไปมา ๕ รอบ นี่มันไปหมดเลย แต่เราบังคับไม่ให้ไป พุทโธ พุทโธ บังคับ.. มรณานุสติคิดถึงความตายไม่ให้มันไป คิดถึงไว้ คิดถึงไว้ คิดถึงไว้ มันเกาะไว้ไง มันเกาะไว้ แล้วเกาะไว้เหนื่อยไหม? เหนื่อย อู๋ย.. ภาวนาแล้วมันลำบากลำบนไปหมดเลยนะ อู๋ย.. ถ้ามันปล่อยตามสบายอย่างนี้ดีกว่านะ

สบายๆ มันเป็นเรื่องของความมักง่าย คนเรานี่มักง่าย แล้วก็เข้าใจว่าธรรมะคือความว่าง ธรรมะคือความสบาย ธรรมะคือความสะดวกสบาย นี่มักง่ายจะได้ยาก คนมีความเพียรชอบ เพราะพระพุทธเจ้าบอกให้มีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ เห็นไหม คนเราเข้าไปศึกษาธรรมะด้วยกึ่งๆ ด้วยความรู้ของสังคม บอกว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าให้มักน้อย ให้สันโดษ สิ่งนั้นไม่ดีเลย

มักน้อยสันโดษทำไมเดินจงกรมทีหนึ่ง ๕ วัน ๖ วัน มักน้อยสันโดษนั่งสมาธิทีหนึ่งค่อนคืนๆ มักน้อยหรือ? มักน้อยก็นั่ง ๒ นาทีก็พอ นั่งปั๊บก็ลุกแล้วมักน้อย ทำมากเกินไปเดี๋ยวมันเป็นอัตตกิลมถานุโยค เห็นไหม เราไปคิดกันเองไง ว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวางๆ เราก็ปล่อยวางแล้ว.. นี่ปล่อยวางแล้ว ก้อนหินมันก็ปล่อยวางแล้ว สสารมันก็ปล่อยวางแล้ว มันไม่มีอะไรเลย

ไอ้ปล่อยวางอย่างนี้มันปล่อยวางแบบเราคิดไง แต่เวลาจิตใจเรามันมีตัณหาความทะยานอยาก เวลามันไปยึดติดแล้วให้มันปล่อยวางมันไม่ปล่อย แล้วบอกให้มันแกล้งปล่อย บอกว่าไม่รับรู้ มันแกล้งปล่อย พอมันแกล้งปล่อยกิเลสมันยิ่งบวกเข้าไป ๒ ชั้นไง ติดดี เราว่าเราเป็นคนดี ทุกคนบอกว่าเราเป็นคนดีแล้วทำไมต้องไปวัด เราเป็นคนดีแล้วทำไมต้องเสียสละ เราเป็นคนดีอยู่แล้ว

ดีอย่างนี้ เห็นไหม ดีและชั่ว แต่เวลาธรรมะนี่ข้ามพ้นดีและชั่ว ไม่ติดในดีและชั่ว แต่ต้องอาศัยความดี อาศัยคุณงามความดีนี้ก้าวเดินต่อไป อาศัยความดีก้าวเดินไปสู่สัจจะความจริง ทีนี้ก้าวสู่ความเป็นจริง เห็นไหม เขาจะบอกว่ามันเป็นความว่างๆ มันเป็นการคาดหมายทั้งนั้นแหละ ถ้าความว่างๆ มันไม่มีสิ่งใดตกผลึกในใจเลยนะ คำว่าตกผลึกหมายถึงปัจจัตตัง

จิตใจใครสงบ จิตใจใครมีปัญญามันจะมีสติของมัน มันจะรู้ของมัน รู้ของมันนี่ไม่ต้องมีใครบอก ไม่ต้องมีใครบอกมันรู้ของมันเลย แล้วรู้แล้วอันนี้ฝังใจเลย.. นี่ถ้าจิตใจใครเป็นสมาธินะ เวลามันมีความทุกข์ความยากนะ จิตใจมันจะวิ่งเข้ามาที่สมาธิ เฮ้อ! มันวิ่งเข้ามาได้นะ แต่ถ้าคนเราพอมันกระทบกระเทือนสิ่งใดนี่มันเข้ามาไม่ได้หรอก เพราะว่ายิ่งเข้ามามันยึดของมัน มันยึดของมัน แต่ถ้ามันปล่อยวางเข้ามามันจะเข้ามาละเอียดได้ ถ้ามันไม่ปล่อยวางเข้ามามันเข้ามาละเอียดไม่ได้

ถ้าละเอียดไม่ได้แล้วนี่ว่างอะไรกันล่ะ? บอกว่านู่นก็ว่าง นี่ก็ว่าง ว่างอะไร? ว่างเป็นสสารไง ว่าง แต่ตัวเราไม่ว่าง เราสมมุติว่าว่าง แต่ตัวเองมันซ่อนอยู่ พอบอกคิดว่าว่างมันก็ว่ามันว่างเพราะมันหลบไง กิเลสนี้มันหลบนะ นี่พูดถึงเวลาปฏิบัติ กิเลสนี่นะเวลามันอ้างธรรมะ เวลาพูดธรรมะพระพุทธเจ้านี่อู๋ย.. ว่านิพพานหมดเลย แต่ตัวมันอย่างกับขี้ แต่ถ้าเราทำความเป็นจริงขึ้นมาเราจะทำความสงบของใจเข้ามา แล้วเราไล่ต้อนของเราเข้ามา เพื่อความเป็นจริงของเรา เห็นไหม

ถ้าเป็นความจริงของเรานี่เราจะบอกว่า เรื่องโลกเป็นเรื่องโลก เรื่องธรรมก็เป็นเรื่องธรรม เรื่องโลกไม่ใช่ธรรมหรอก แต่เรื่องโลก เห็นไหม สุตมยปัญญา การศึกษา การค้นคว้านี่โลกทั้งนั้นแหละ ค้นคว้ามาจากภวาสวะ ค้นคว้ามาจากใจ แต่เวลาทำสมาธิต้องทิ้งหมดเลย ต้องทิ้งหมดเลย ถ้าไม่ทิ้งก็สงบมาไม่ได้ มือกำของอะไรอยู่มันว่างไม่ได้ ถ้ามือมันแบออกหมด ไม่มีอะไรในมือมันเลยมันจะว่างของมัน

ถ้ามันทิ้งมันทิ้งอย่างไร? มันก็ทิ้งไม่ได้อีก เพราะว่าจะทิ้งมันก็แกล้งทิ้ง ทุกอย่างแกล้งหมดเลย ทุกอย่างทำให้ครบสูตร ทุกอย่างทำให้เหมือน แต่ไม่ใช่ แต่ถ้ามันใช่ขึ้นมานะ เอ๊อะ! นั่นล่ะใช่ ถ้าใช่ขึ้นมา เห็นไหม นี่ภาคปฏิบัติ.. ถ้าใช่ขึ้นมา ถ้ามันหัดฝึกใช้ปัญญาให้มันออกรู้อีกทีหนึ่ง

เวลากาย เวทนา จิต ธรรม เราก็บอกว่ากาย เวทนา จิต ธรรม นี่ของพื้นๆ ของที่เรารู้อยู่แล้ว ของพื้นๆ กาย เวทนา จิต ธรรม ใครก็รู้ แล้วเวลาทำอย่างนี้มันก็กาย เวทนา จิต ธรรม แต่กาย เวทนา จิต ธรรม โดยสามัญสำนึกที่เราคิดกันขึ้นมา เวลากาย เวทนา จิต ธรรม ขึ้นมา ถ้าจิตมันไม่สงบมันเห็นไม่ได้ ถ้าจิตมันสงบไม่พอไปเห็นมันก็หลุดไม้หลุดมือไป มันจะแวบหายเลย แล้วถ้ามันไม่ดีจริง จิตมันไม่ดีมันก็ไหว มันไม่ชัดเจนหรอก แต่ถ้าจิตมันสงบขึ้นมามันจะชัดเจนขึ้น ดีขึ้น ถ้าชัดเจนขึ้น ดีขึ้น ถ้ามันหลุดไม้หลุดมือไปก็ต้องกลับมาทำความสงบ

หลุดไม้หลุดมือก็จะตามไปตะครุบ จะตามไปเอานะ ไม่มีสิทธิ์ เพราะมันเป็นนามธรรมจะไปตะครุบ จะไปเอาที่ไหน? มันต้องกลับมาที่ฐานของจิต ทำให้จิตสงบก่อน เพราะมันเกิดจากจิต จิตเป็นผู้รู้ จิตพุทโธ เห็นไหม เราอยู่ในคูหา พุทโธเราคิดขึ้นมา คิดขึ้นมาจนจิตมันสงบ ไอ้นี้จิตออกรู้ๆ ออกรู้ด้วยธรรม กำลังไม่พอมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ แล้วกำลังไม่พอก็ตะครุบมัน วิ่งจะไปจับมัน จะไปยึดมันมาเป็นของเรา ไม่มีสิทธิ์หรอก!

นี่ไง เพราะมันต้องกลับมาที่สติ กลับมาที่จิต กลับมาที่พุทโธ พุทโธ ให้มันมีพื้นฐาน พื้นฐานนี่น้อมไป น้อมไปนะ ถ้าเกิดกิเลสมันรู้แล้วนะมันก็ไม่ให้เห็น มันก็ทำให้เคลื่อนไหว แต่ถ้าพอเราฝึกหัดบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

หลวงตาจะบอก.. เวลาใครถามว่า “ปฏิบัติถูกไหม?”

“ถูก”

“แล้วทำอย่างไรต่อไป?”

“ให้ซ้ำ ให้ซ้ำ”

นี่ไง ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ซ้ำคือฝึกฝน คือมีความชำนาญ ให้มันมีความชำนาญขึ้นมา เดี๋ยวมันตั้งขึ้นมาบ่อยๆ เข้า บ่อยๆ เข้า มันจะชำนาญของมันขึ้นมา แล้วใช้ปัญญาแยกแยะไป แยกแยะไป นี่ออกวิปัสสนาแล้ว สติปัฏฐาน ๔ เกิดที่นี่ นี่ที่ว่ากาย เวทนา จิต ธรรม ของพื้นๆ นี่แหละ

พื้นๆ แต่ถ้าทำได้จริงนะรสชาติมันมหาศาลเลย พื้นๆ เราก็หลอกตัวเองอีกนะ นึกขึ้นมา สร้างขึ้นมา เอ๊ะ.. เวลากาย เวทนา จิต ธรรม ก็เห็นทุกที ก็จับต้องอยู่นี่ทำไมมันไม่เห็นเป็นความจริงเลย พระพุทธเจ้าสอนมาไม่มีรสชาติสิ่งใดเลย นี่พระกรรมฐานถึงได้ติดครูบาอาจารย์

การติดครูบาอาจารย์ คือครูบาอาจารย์ท่านผ่านสิ่งนี้มาแล้ว เห็นไหม ดูสิเวลาเขามาถามนี่ร้อยแปดพันเก้า ตามแต่วัฒนธรรม ตามแต่เวรกรรมของจิต ตามแต่พันธุกรรมที่มันสร้างมา ถ้าพันธุกรรมใครสร้างมาอย่างไรมันก็แสดงออกอย่างนั้นแหละ จิตของใครสร้างสิ่งใดมา เวลาปฏิบัติก็แสดงออกอย่างนั้นแหละ

การแสดงออกอย่างนั้น แล้วครูบาอาจารย์จะต้องพยายามให้ตั้งสติ แล้วพยายามกระทำของตนให้ผ่านอุปสรรค ให้ผ่านสิ่งที่สร้างมาอย่างนั้นเข้าไปสู่จิต เข้าไปสู่จิตคือเข้าไปสู่สัมมาสมาธิ ถ้าสู่สัมมาสมาธิปั๊บมันก็นี่สมาธิเป็นพื้นฐาน

สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ถ้าไม่มีฐานที่ตั้งแห่งการงาน ทำงานไม่มีใครเป็นเจ้าของสิ่งที่เป็นสมบัติของเรา พอเข้าสู่ฐานแล้ว ฐานนี่ออกวิปัสสนาแก้ไขของมันไป เห็นไหม พอเวลามันปล่อยวางๆ นี่ไงมันเข้าไปนี่ตทังคปหานปล่อยวางชั่วคราวๆ จนสมุจเฉทปหานดั่งแขนขาด กิเลสขาดจากใจ! กิเลสขาด สังโยชน์ขาด ขาดจากใจไปเลย

นี่สิ่งนี้มีเห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่บอกกล่าวกันมา ธรรมและวินัยนี่เราท่องบ่นกันมา มันก็จะเป็นประเพณีวัฒนธรรม แล้วยิ่งปฏิบัติไป อู๋ย.. ไปทำบุญแล้วต้องร่ำรวยมหาศาล นี่พอคิดไปแล้วมันก็เป็นไสยศาสตร์เลย เป็นการอ้อนวอน เป็นการขอไปหมดเลย แต่ถ้าปฏิบัติแล้วนี่ร่ำรวยบุญกุศลในหัวใจ ร่ำรวยอริยทรัพย์ ร่ำรวยจิตนี้มันเต็ม มันอิ่มเต็มของมัน

ของๆ โลกนี่ของอาศัยทั้งนั้นแหละ ของชั่วคราวไม่มีอะไรจริงจังเลย แต่จิตพอมันเป็นธรรมแล้ว อืม.. ความจริงมันอยู่ที่นี่ แล้วใครจะกลับไปเอาความปลอม ถ้าจิตมันเป็นความจริงแล้วใครจะกลับไปเอาความปลอม ตอนนี้จิตเราก็ปลอม ของโลกก็ปลอม ของปลอมกับของปลอมอยู่ด้วยกัน แล้วเราก็พยายามจะสร้างจิตเราให้เป็นความจริง ถ้าสร้างให้จิตเราเป็นความจริงเราต้องมีความมุมานะ มีความอดทน แล้วนี่มีครูบาอาจารย์ตรวจสอบนะ มีครูบาอาจารย์ตรวจสอบ เห็นไหม

ที่เราติดครูบาอาจารย์กัน เวลามีปัญหาท่านจะชี้เอา ชี้นำบอก ไม่อย่างนั้นเราหมุนเหมือนลูกข่างเลย หันซ้ายก็ไม่รู้ หันขวาก็ไม่รู้ ยิ่งหัน ยิ่งค้นคว้า ยิ่งเปิดคอมพิวเตอร์ ยิ่งคีย์ใหญ่เลย ยิ่งดูใหญ่เลย ยิ่งดูก็ยิ่งงง ยิ่งงงก็ยิ่งทำ ยิ่งทำก็ยิ่งเหลว แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์บอกทีเดียวก็จบ พอจบแล้วเราได้ก้าวเดินต่อไป นี่ถึงบอกว่าพระกรรมฐานติดครูติดอาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์จะคอยชี้นำ คอยชี้นำความจริง คอยชี้ถูกผิด แล้วเราก็จะเถียง

เมื่อวานมาเยอะมาก เราบอกว่าอย่าเชื่อแม้แต่คนพูดนะ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกาลามสูตร ให้กลับไปแล้วไปพิสูจน์ อย่าเชื่อ! อย่าเชื่อ! ไม่ต้องเชื่อนะ ห้ามเชื่อ แล้วกลับไปพิสูจน์ กลับไปพิสูจน์แล้วมาหาเราใหม่ เอวัง