เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๔ ก.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ไปวัด เขาสนุกครึกครื้นนะเวลาไปวัด ถ้าสนุกครึกครื้นมันเป็นสัญญาอารมณ์ แต่ถ้าเราไปวัดด้วยความสดชื่นแจ่มใสนะ ถ้าจิตใจสดชื่น จิตใจแจ่มใส นั่นแหละมันเป็นความรื่นเริงภายใน แต่ความรื่นเริงเปลือกๆ เห็นไหม เขามีมหรสพสมโภช พอไปวัดมีมหรสพสมโภช เขาไปเล่น เขาไปสนุก ไปครึกครื้นกัน นั่นเป็นการผิวเผิน ผลของมันคือการอ่อนเพลีย ผลของมันคือการต้องไปพักผ่อน

แต่ถ้าเราไปวัดนะ ถ้ามันสดชื่นแจ่มใสมาจากหัวใจ มันมีความสงบร่มเย็น ถ้ามีความสงบร่มเย็นมันเป็นคนละชั้นกันนะ เป็นคนละระดับกัน แต่ถ้าเป็นทางโลก ถ้ามีมหรสพสมโภช ที่ไหนมีมหรสพสมโภช ที่ไหนมีการละเล่นฟ้อนรำนี่เขาเรียกนักเลง นักเลงการพนัน นักเลงเที่ยวเล่น นี่นักเลง

นี่ก็เหมือนกัน แต่ถ้าเราไปด้วยความสงบระงับ นี่มันแตกต่างกัน ถ้ามันแตกต่าง เห็นไหม เห็นอยู่เฉยๆ อยู่เฉยๆ แต่งานภายในมันมหาศาลนะ อยู่เฉยๆ ความคิดมันฟุ้งซ่านมาก ความคิดมันแสดงตัวออก มันส่งออก ความส่งออกไปนี่พลังงานต้องเป็นอย่างนั้น เริ่มต้นตั้งสติ สติยับยั้งสิ่งนี้ให้ได้ แต่กายวิเวก.. นี่สถานที่วิเวก กายวิเวก จิตวิเวก ถ้าจิตมันวิเวกได้มันมีความสงบแจ่มใสจากภายใน

ถ้าจิตมันวิเวกไม่ได้ กายวิเวกแต่จิตมันเดือดร้อน มันดิ้นรน แต่ถ้าเป็นมหรสพสมโภชมันมีสิ่งกระทบ มันมีสิ่งที่ว่าส่งออกแล้วมันไปยึดมั่นถือมั่น มันเป็นความพอใจ นั่นล่ะมันส่งออกไปมันก็มีความพอใจของมัน พอความพอใจนี่ได้ดู ได้ลิ้มรส ได้ดมกลิ่น ได้ทำความพอใจ เห็นไหม นี่มันก็เป็นความสุขของมัน แต่ความสุขอย่างนั้นเป็นความสุขของโลก โลกเขาเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เป็นมหรสพสมโภชเป็นความสุขของโลก แต่ผลของมันให้แต่ความทุกข์ไง

นี่เวลาหลวงตาท่านพูด เห็นไหม เวลาอ่านหนังสือธรรมะแล้วมันร่มเย็น อ่านหนังสือสัญญาอารมณ์ สัญญาทางโลก เรื่องประโลมโลก เราเศร้าโศก เสียใจ ดีใจ เขาเศร้าก็เศร้าไปกับเขา เขาดีใจเราก็ดีใจไปกับเขา เขามีความทุกข์ความร้อนก็ทุกข์ไปกับเขา เขามีความสุข ความสำเร็จก็ดีใจไปกับเขา ดีใจเสียใจไปกับเขา แต่ถ้าเป็นหนังสือธรรมะเราอ่านแล้วมันย้อนกลับ มันทวนกระแส

สิ่งนั้นก็เป็นโทษ สิ่งนี้ก็เป็นโทษ สิ่งที่เป็นโทษ เป็นโทษเพราะอะไร? เป็นโทษเพราะเราไม่รู้ เป็นโทษเพราะเราไม่เข้าใจ เราก็ไปจับ ไปยึดมั่นถือมั่นมัน ไปจับมัน ไปจับไปต้องมัน แล้วมันก็ร้อน แล้วมันจะไม่จับได้อย่างไรล่ะ? ก็มันเกิดจากจิต มันอยู่กับเรา เห็นไหม ดูสิเงาก็อยู่กับร่างกายนี้แหละ ร่างกายไปที่ไหนก็มีแต่เงา เงามันก็เกิดจากร่างกายนี้แหละ ความคิดมันเกิดจากจิต แล้วไม่จับได้อย่างไรล่ะ? ไม่จับได้อย่างไร เห็นไหม

นี่ถึงบอกพุทธานุสติ ปัญญาอบรมสมาธิเราจะปล่อยวาง แล้วปล่อยวางแบบมีคนปล่อยวางด้วย ปล่อยวางแบบมีความเข้าใจตามความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่ปล่อยวางแบบแกล้งลืมไง เออ.. เราจะปล่อยวางนะ พอปล่อยวางก็นี่วางยาสลบนะ ปล่อยหมดเลย วางหมดเลย ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย เห็นไหม นี่วางไง ว่างข้างนอก นี่มันส่งออกไปว่าง วางหมดเลย แล้วใครเป็นคนปล่อยวาง.. ไม่รู้

แต่ถ้ามีสติ มีพุทธานุสติ พุทโธ พุทโธ เวลามันละเอียดเราก็รู้ว่าละเอียด เวลามันละเอียดนะ คือว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธ บางคนบอกว่าพุทโธแล้วมันหายไปเลย เห็นไหม พุทโธ พุทโธนี่ พอเวลามันจะจับมันก็จับไม่ได้ เวลามันจับพุทโธ พุทโธนี่มันจับไม่ได้ มันจับไม่ได้ เวลามันไปจับรูป รส กลิ่น เสียง ไปจับเรื่องมหรสพสมโภชมันจับได้ มันพอใจของมัน แต่เวลาบังคับให้มันจับพุทโธมันไม่ยอมจับ มันจับแล้วนู่นก็เลือนไป นี่ก็หายไป จับสิ่งใดไม่ได้เลย แล้วก็จับต้นชนปลายไม่ถูกเลย

แต่ถ้าเราจับได้ เราฝึกหัดของเรา เห็นไหม นี่เวลามันพุทโธ พุทโธ เวลามันละเอียดขึ้นมามันรู้ของมัน มันรู้นะ เวลาพุทโธ พุทโธ มันละเอียดเข้ามา คำว่าละเอียด เราดูนะ เราดูตะกอนในน้ำ เวลาตะกอนมันเริ่มนอนก้น ระดับของน้ำที่มันขุ่น กับน้ำที่มันใสมันแตกต่างกันอย่างใด?

จิต! จิตที่มันจับพุทโธ พุทโธ มันเริ่มนอนก้นไง นี่มันเริ่มนอนก้น ความส่งออกมันเริ่ม พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่เหมือนน้ำเราแกว่งสารส้ม พอตะกอนมันเริ่มนอนก้น นี่ระดับของน้ำความใส ความข้นมันแตกต่างกัน จิตพุทโธ พุทโธนี่ พุทโธที่มันพุทโธโดยยึดมั่นถือมั่นอย่างหนึ่ง พุทโธ พุทโธโดยมันกลมกลืนกันอย่างหนึ่ง แล้วกลมกลืนแล้วมันหลุดมือไป

ตะกอนในน้ำนะ ถ้ามันอยู่ในภาชนะนั้นน่ะมันต้องนอนก้นภาชนะนั้นแน่นอน แต่จิตเวลามันพุทโธ พุทโธ เวลามันพุทโธไป กิเลสมันเริ่มสงบ เริ่มยุบยอบลงทำไมมันไม่นอนก้นล่ะ? ทำไมมันไพล่ไปจนหายไปล่ะ? มันไพล่ไปจนจับอะไรไม่ได้ล่ะ? ทำไมมันไพล่ไปมันไม่นอนก้นล่ะ? นี่เพราะอะไร? เพราะว่าตะกอนมันเป็นตะกอน มันเป็นสสารอยู่กับน้ำ ตะกอนกับน้ำไม่ใช่อันเดียวกัน อยู่ด้วยกัน เวลามันนอนก้นมันก็ต้องอยู่ในก้นภาชนะ เพราะมีภาชนะนั้นรองรับ

จิต! จิตมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันมีสิ่งเร้ามัน เวลามันพุทโธ พุทโธ เพื่อจะให้มันสงบ มันสงบมันแฉลบออก มันเบี่ยงเบนออก มันทำลายโอกาส ทำลายทุกอย่าง นี่กิเลสมันเป็นแบบนั้นไง พอมันละเอียดมันจะรู้ มันจะเห็นของมัน เห็นไหม นี่ถึงบอกว่าถ้าพุทโธ พุทโธ จนละเอียดขนาดไหนนะ พุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้เลยนี่มันชัดเจนมาก.. ไอ้นี่บอกว่าพุทโธมันหายไปเลย ไม่มีอะไรเลย แล้วก็จับต้องอะไรไม่ได้เลย ไม่มีอะไรเลย เห็นไหม

นี่เวลาภาวนาไปมันจะมีอุปสรรคอย่างนี้เหมือนกับคนทำงาน ถ้าคนทำงานยังไม่เข้าใจ ทำงานสิ่งใดไม่ได้มันก็มีความผิดพลาดเป็นธรรมดา แล้วคนที่ทำงานถ้ามันไม่มีความผิดพลาดเลย จะไม่ให้มันพัฒนาขึ้นมาเลย คนทำงานนั้นจะทำงานขึ้นมาได้อย่างไร? คนทำงานนั้นก็ต้องผิดพลาดมาเป็นธรรมดา

เรื่องการทำงาน เรื่องภาวนามันก็ต้องผิดพลาดเป็นธรรมดา ถ้าผิดพลาดเป็นธรรมดา แต่ผิดพลาดแล้วเราพยายามจับหลัก เราพยายามแก้ไขของเรา เพื่อเราต้องการให้มีความสำเร็จกับงานนั้น ถ้าเราต้องการมีความประสบสำเร็จกับหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรานะ ถ้ามันสงบระงับเข้ามา เป็นความจริงเข้ามา เห็นไหม แล้วมันจำเป็นต้องสงบระงับขนาดนั้นเชียวหรือ?

มันก็ไม่มีความจำเป็นสงบระงับระดับนั้น แต่ในความสงบของใจ เห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ.. อัปปนาสมาธิคือการสงบสักแต่ว่า แต่ส่วนใหญ่แล้วนี่มันสงบพอมีกำลัง เขาใช้ประโยชน์ของเขาได้แล้ว เพราะเราสงบขนาดนั้นมันจะได้ซักกี่หนใช่ไหม?

ฉะนั้น เพียงแต่ระดับของมัน นี่ถ้าเป็นสมาธิมันเป็นแบบนั้น แล้วการใช้ปัญญามันก็ต้องฝึกหัดใช้ปัญญาของมัน เพื่อประโยชน์กับเรา เห็นไหม ถ้าเราใช้ปัญญาเพื่อประโยชน์กับเรา พอเวลาปัญญาเกิดจากความสงบแล้ว ถ้ามันใช้ปัญญากับเรามันจะเกิดประโยชน์มากนะ พอมันเกิดประโยชน์มากขึ้นมานี่ ประโยชน์ที่มีคุณค่า เห็นไหม สมบัติของใคร?

ดูสิเราศึกษาทางวิชาการขนาดไหน มันเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จแล้วเขาเขียนทางวิชาการไว้ให้เราศึกษา ดูสินักบริหารนะ เขาบริหารประสบความสำเร็จแล้วเขาอยากจะไปสั่งสอน อยากจะเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย เพราะว่าเขาได้ประสบความสำเร็จในชีวิตของเขาแล้ว ความประสบความสำเร็จในชีวิตนี่มันไม่อยากทิ้งให้สูญหายไป เขาก็อยากจะมาสั่งสอนเด็กใช่ไหม? ผู้ที่ประสบความสำเร็จทางโลก ส่วนใหญ่แล้วเขาจะเป็นอาจารย์พิเศษไปสอนตามมหาวิทยาลัย เขาเสียดายความรู้เขา เขาเสียดายความรู้ว่าสิ่งที่เขาประสบความสำเร็จมานี่ อยากจะให้คนได้ทางวิชาการนี้ไปเพื่อจะต่อยอด เพื่อให้ทางสังคมเขาได้วิชาการนี้เก็บไว้ เพื่อให้ประสบความสำเร็จของเขา ฉะนั้น สิ่งที่ว่าประสบความสำเร็จ นี่เป็นประโยชน์ของเรา แล้วเราอยากจะให้วิชาการนี้อยู่กับโลก เห็นไหม

ในการประพฤติปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราประสบความสำเร็จของเรา เรารู้ของเรา เรามีประสบการณ์ของเรา เราบอกเขาได้นะ เราบอกเขาได้ แต่ถ้าเราไม่ประสบความสำเร็จของเรา เราศึกษาทางโลกกันอยู่ เราก็ศึกษาทางวิชาการ เห็นไหม นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางเป็นธรรมและวินัยไว้ ฉะนั้น เวลาเข้าไปนี่ ผู้ที่ประสบความสำเร็จเขาจะมองออกนะว่าถ้าเริ่มต้นอย่างนี้ ท่ามกลางอย่างนี้ ที่สุดอย่างนี้ ผลจะเป็นแบบใด?

ถ้าเริ่มต้นแบบนี้ นี่เริ่มต้นมีพื้นฐานที่ดี ท่ามกลางมีการกระทำ ท่ามกลางจิตใจมันได้ใช้ปัญญาของมัน นี่ไงคำว่าภาวนามยปัญญา ปัญญาในพุทธศาสนาที่เรากระทำกันอยู่นี้ ถ้ามันกระทำกันมันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม เริ่มต้น ท่ามกลาง และที่สุด.. ที่สุดมันจะมีผลไง ที่สุดมันจะมีผล เห็นไหม อย่างเช่นถ้ามันปล่อยวางขึ้นมามันรู้ชัดรู้เจนของมัน แล้วมันมีความสดชื่น มีกำลังของมัน

นี่ความสุขสงบ ที่ว่าสุขสงบ ที่จิตมันสงบมีความสุขอย่างยิ่ง อย่างยิ่งอย่างนี้ แต่ที่ว่าเขามีความพอใจของเขา มีความพอใจของเขามันเป็นประเพณีวัฒนธรรม แต่ต้องอาศัยสิ่งนั้นนะ เพราะว่าสิ่งต่างๆ มันอาศัยอยู่ด้วยกัน สังคมที่เขาอาศัยอยู่ด้วยกัน แต่ในสังคมนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ นี่ทอดธุระเลย ทอดธุระเลย แต่สุดท้ายเล็งญาณรื้อสัตว์ขนสัตว์เอาตามที่จะได้ๆ

นี่สังคมเขาเป็นแบบนั้น ถ้าสังคมเป็นแบบนั้นเราต้องย้อนกลับมาแก้ไขที่เราให้ได้ก่อน ถ้าแก้ไขที่เราได้นะ แก้ไขที่เราได้ ๑. เราจะเข้าใจสังคม ๒. เราจะเห็นว่าผู้ที่มีจริตนิสัย ผู้ที่มีความมั่นคงที่เขาจะพยายามทำของเขามันมีประโยชน์แค่ไหน ประโยชน์กับเขาไง ถ้าประโยชน์กับเขานะ เพราะ! เพราะในการกระทำนะ สมบัติของใครสมบัติของมันนะ เวลาปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ในหัวใจของผู้ปฏิบัติ เป็นสมบัติของใจดวงนั้น นี่เราจะแสดงออกก็ได้ ไม่แสดงออกก็ได้ มันพอของมัน

ถ้ามันแสดงออกไปไม่ได้ อย่างเช่นเวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วย เห็นไหม นี่ถ้าเราแสดงออกไปผลข้างเคียงมันมีมากกว่า ผลข้างเคียงเราไม่เป็นประโยชน์ เราเก็บของเราไว้ แต่ถ้าคนที่เขาเจ็บไข้ได้ป่วยเราช่วยเหลือเขานะ ผลข้างเคียงมันน้อย แต่ผลประโยชน์ได้มากกว่าเราก็ทำ นี่ทำด้วยอย่างไร?

ดูสิเวลาฤทธิ์ของในพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “การบันลือสีหนาท” บันลือสีหนาทคือการเทศนาว่าการ เราจะช่วยเหลือเขาก็ช่วยเหลือด้วยการบอกแนะวิธีการ แล้วถ้าเขาเอาวิธีการนี้ไปไตร่ตรอง ไปพิจารณาของเขา ความป่วยไข้ของเขามันจะเจือจานลง เจือจานลงด้วยการกระทำของเขา เห็นไหม

ศาสนามันเป็นแบบนี้! นี่สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง มันเป็นใจดวงนั้นแก้ใจดวงนั้นไง ฉะนั้น ถ้าใจดวงนั้นแก้ใจดวงนั้น เห็นไหม พอเราเป็นไข้ เราเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วเรารักษาจิตใจเราดีขึ้น จิตใจเราดีขึ้น มันรักษาหัวใจนี้นะ มันจะไม่ให้จิตใจนี้ไปคลุกคลีกับสิ่งที่มันเป็นโทษไง

สิ่งที่เป็นโทษนะ เป็นสมบัติ เป็นคุณงามความดีของโลก แต่เป็นโทษในการประพฤติปฏิบัติ.. ในการประพฤติปฏิบัตินี่ทำไมเราต้องสงบระงับ เราต้องหาสถานที่วิเวก เพราะสถานที่วิเวกมันไม่ทับถม ไม่สืบต่อ นี่ถ้าเราอยู่ในสังคมนะเรื่องมันไม่จบ ถ้าเรื่องไม่จบ เรื่องก็คือเรื่อง คือแผลนี่ แผลถ้าเราขุดคุ้ยอยู่ แผลมันก็อยู่อย่างนั้นแหละ รักษาแผล ขุดคุ้ยแผล รักษาแผล ขุดคุ้ยแผล มันก็วนเวียนอยู่อย่างนั้นแหละ

แต่พอเราเข้าไปในที่สงบสงัด เห็นไหม รักษาแผล แล้วไม่ได้ขุดคุ้ยมัน พอรักษาแผลจะหายหรือไม่หาย แผลนั้นจะลุกลามหรือจะสงบลง ถ้าเรารักษาแผล แผลมันลุกลามขึ้นเพราะเชื้อมันเป็นบาดทะยัก มันเป็นต่างๆ เวลาไปอยู่ในที่สงบระงับนะ ความคิดมันฟุ้งซ่าน อยู่คนเดียวความคิดมันยิ่งรุนแรง นี่เราจะทำอย่างไร? เราจะทำอย่างไร?

เราก็ต้องหาอุบายเพื่อจะรักษาแผลนั้นให้สงบได้ แต่ถ้าเราเข้าไปที่สงบระงับ แผลนั้นไม่ลุกลาม เห็นไหม เรามีสติปัญญาของเรา เราแก้ไขของเรา นี่มันเป็นผลของเราไง แต่ถ้าเราคลุกคลีอยู่ นี่รักษาแผล ดูแลแผล แล้วก็ขุดคุ้ยแผลอยู่อย่างนั้นแหละ.. นี่สังคมที่ปฏิบัติกัน เราถึงต้องเข้าสู่ที่วิเวก แต่ถ้าแผลหายแล้วสิ แผลหายแล้วเราจะคลุกคลีขนาดไหนแผลมันก็ไม่มี แผลมันหายแล้วมันไม่เป็น

จิตถ้ามันสิ้นสุดแห่งทุกข์แล้ว จะคลุกคลีจะไม่คลุกคลีมันเป็นเรื่องโลกๆ แล้ว มันไม่เกี่ยวกับจิตดวงนั้นเลย จิตดวงนั้นยืนได้อยู่ตลอดเวลา แต่ของเรานี่เรากำลังดูแลรักษาของเราอยู่ เราเข้าสู่ที่สงบระงับ นี่โลกเขาก็ติเตียนนะ ถ้าปฏิบัติจริงก็ต้องคลุกคลี ก็ต้องปฏิบัติได้ อยู่ในโลกก็ต้องทำได้ ทุกอย่างก็ทำได้

นี่เวลาคิดแบบกิเลส แล้วเราก็เชื่อเขา เราก็จะคล้อยตามเขา อืม.. จริงเนาะ ทำไมเราไปที่สงบระงับ เราต้องไปอยู่คนเดียว ถ้าไปอยู่คนเดียวมันเอ็กซเรย์ตัวเองนะ มันเห็นตัวเองนะ มันแก้ไขตัวเอง แต่ถ้าเราอยู่ในสังคมเราจะเอ็กซเรย์ได้อย่างไร? พอตั้งกล้องคนนั้นก็เดินมาชนล้ม พอจะทำอะไรนี่เอ็กซเรย์ตัวเองไม่ได้เลย เพราะมีคนมาคอยทำให้เราไม่ได้เอ็กซเรย์ตัวเอง เห็นไหม แต่ถ้าเราไปอยู่ในที่สงบระงับ เราได้เอ็กซเรย์ตัวเราเอง เราจะแก้ไขตัวเราเองนี่มันผิดไปไหน?

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสละราชบัลลังก์ออกมานี่ทิ้งมาหมดเลย สุดท้ายพอเอ็กซเรย์ตัวเอง ทำตัวเองสำเร็จเรียบร้อยแล้วนะ กลับไปเอาทั้งพ่อ ทั้งแม่ ทั้งภรรยา ทั้งบุตร เป็นพระอรหันต์หมดเลย นี่เอาได้หมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เราต้องเอาตัวเรา เอาตัวเราก็บอกว่าเอาตัวรอด ทุกคนว่าเห็นแก่ตัว เอาตัวรอด... ถ้าไม่เห็นแก่ตัวก็กอดคอกันจมน้ำตายหมด แต่ถ้าเอาตัวรอดได้นะเราจะช่วยเหลือคนจมน้ำได้มหาศาลเลย แต่ถ้าเราไม่เห็นแก่ตัวใช่ไหม? คำว่าเห็นแก่ตัวนี่เห็นแก่ทุกข์ มันไม่ได้เห็นแก่ตัว มันต้องฝึกหัดตัวให้เป็นก่อน ฝึกหัดตัวให้ว่ายน้ำให้เป็นก่อน แล้วเราจะไปช่วยเหลือคนจมน้ำ

บอกว่าเห็นแก่ตัวๆ ไม่ต้องไปฝึกหัดว่ายน้ำ กอดคอกัน แล้วก็ช่วยกันถีบ ช่วยกันตะกายน้ำเพื่อจะให้มันรอดให้ได้ แล้วตายหมดเลย.. แต่ถ้าไปฝึกหัดมา แล้วเราว่ายน้ำเป็นขึ้นมา แล้วเราจะช่วยคนจมน้ำขึ้นมานี่เห็นแก่ตัวไหม?

เวลาเราไปฝึกหัดนะ เวลาจิตทุกคนมีกิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสละราชบัลลังก์มานะ คนที่เป็นสุภาพบุรุษ เห็นไหม เสียสละมานี่หัวใจมันทุกข์ยากขนาดไหน? แต่ถ้าคนทิ้งมามันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่เสียสละมานะไม่ได้มีปัญหา แต่เสียสละออกมาเพราะสร้างบุญกุศลมาแบบนี้ แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดเราเอากลับไปได้หมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน โลกเขาบอกว่าเห็นแก่ตัวๆ เราก็ขาอ่อนเลย.. ไม่ใช่เห็นแก่ตัว ออกไปด้วยความทุกข์ช้ำ ออกไปด้วยหัวใจที่กัดหนองนะ แต่เราจะต้องพยายามสร้างบุญกุศล ทำให้หัวใจเราเป็นปกติให้ได้ แล้วเราจะกลับมาช่วยเหลือเขา กลับมาเจือจานเขา ถ้าคิดได้อย่างนี้ เห็นไหม คนๆ นั้นก็จะเอาตัวรอดได้ คนๆ นั้นก็จะมีหลักมีเกณฑ์ ถ้ามีหลักมีเกณฑ์แล้วเรากลับมาช่วยเหลือเขา แต่ถ้าเรายังมีหลักมีเกณฑ์ไม่ได้ เราก็ว่ายน้ำไม่ได้ เขาก็ว่ายน้ำไม่ได้ แล้วก็รักกันมาก แล้วก็จะกอดคอกันจมน้ำตาย เอวัง