ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ฝันดิบ ฝันสุก

๒๕ ก.ย. ๒๕๕๔

 

ฝันดิบ ฝันสุก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปัญหานี่มันเป็นปัญหาคนภาวนาครั้งแรก คนภาวนาแรกๆ มันจะมีปัญหาแบบนี้ ปัญหาเริ่มต้นไงหญ้าปากคอก หลวงตาบอกว่า

“การภาวนายากที่สุด คือยากตอนเริ่มต้นกับขั้นสุดท้าย”

มีอยู่ ๒ ขั้น ขั้นที่เริ่มต้น เริ่มต้นนี่จับพลัดจับผลู จับต้นชนปลายไม่ถูก ตรงนี้ลำบาก ทีนี้ลำบากอย่างไร? การเริ่มต้นมันเหมือนกับคนเริ่มตั้งเนื้อตั้งตัว มันยากตอนตั้งเนื้อตั้งตัว พอมันขยับได้นะ พอเริ่มฐานดี คนๆ นั้นจะประสบความสำเร็จ แต่การตั้งเนื้อตั้งตัวเราก็ต้องอดทน

นี่อยู่ที่คำถามนี้ ข้อ ๖๒๖. เนาะ

ถาม : ๖๒๖. เรื่อง “เกี่ยวกับอารมณ์ครับ”

(เขาถามมานี่) ทุกครั้งที่อารมณ์ของผมถึงจุดๆ หนึ่ง ไฟฟ้าชอบดับ เป็นทุกครั้งเลยครับ ผมพยายามคิดว่าผมคิดไปเองหลายครั้งแล้ว แต่ก็ต้องคิดทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ รบกวนตอบคำถามด้วยครับ

หลวงพ่อ : คือว่าเวลานั่งสมาธิไป พออารมณ์เริ่มดีๆ นี่ไฟจะดับ ไฟฟ้าดับไง ไฟฟ้าดับ แล้วเป็นอย่างนี้ทุกทีเลย แล้วเป็นบ่อย เป็นบ่อยจนเขาคิดว่ามันมีผลกับการปฏิบัติไง

มันมีผลกับการปฏิบัติ.. นี่ประสาเรานะ ไม่ต้องประสาเราหรอก เป็นความจริงเลย คนเรานี่นะ ถ้ามันมีเวรมีกรรม มีเวรมีกรรมนี่เหตุการณ์มันเกิดแอคซิเดนส์ได้ อย่างเช่นไฟฟ้าดับ ไฟฟ้าติดมันมีของมันใช่ไหม? ไฟอ่อนก็ได้ ไฟเกิดลัดวงจรก็ได้ ไฟสิ่งใดก็ได้ นี่พูดถึงวิทยาศาสตร์ก่อน

ทีนี้พออารมณ์เรานี่ พอเรานั่งปฏิบัติเกิดไฟดับ เกิดไฟดับ เราก็เกิดความคิดว่ามันเป็นเพราะเราหรือเปล่า? ถ้ามันเป็นเพราะเราหรือเปล่า เราก็จะไปสร้าง.. เดี๋ยวนี้เขามีรีโมท กดดับ กดติดได้เลย เราไปกดอย่างนั้นให้จิตเราดีก็ได้ ถ้ามันมีผลกับจิตนะ นี่คือเราต้องมีปัญญาย้อนกลับไง ปัญญาย้อนกลับว่าตอนนี้นะพวกรีโมทต่างๆ เห็นไหม ดูสิในบ้านสมัยใหม่ไฟจะติดเอง ทุกอย่างจะติดเองด้วยเทคโนโลยีของเขาหมดเลย แล้วมันเป็นอะไรล่ะ? มันก็เป็นแค่วัตถุ เจ้าของก็อาศัยบ้านหลังนั้น

จิต! จิตอาศัยในร่างกายนี้ “เวลาภาวนาไปนี่เกิดไฟฟ้าดับ ถึงจุดๆ หนึ่งไฟฟ้าจะดับ แล้วเป็นทุกครั้งเลยครับ ผมพยายามคิดว่าผมคิดไปเอง” นี่เขาว่านะ พยายามคิดว่าผมคิดไปเอง แต่มันก็คิด แล้วก็ให้ตอบ.. ถ้าให้ตอบนี่เรื่องทางโลกเป็นเรื่องอย่างหนึ่ง เรื่องในการปฏิบัติเราจะต้องเอาความสงบของใจ แล้วถ้าใจมันสงบ เห็นไหม สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ

นี่เขาบอกว่าสติมันก็คือสติ สติมีมิจฉา มีสัมมาด้วยหรือ? ถ้ามันไม่มีมิจฉา ไม่มีสัมมา มรรคทำไมมันมีมิจฉา มีสัมมาล่ะ? นี่สัมมามรรค มิจฉามรรค มิจฉานะ ความเพียร ความต่างๆ มันเป็นมิจฉา ถ้าเป็นมิจฉา นี่อย่างเช่นกรณีที่ว่าหลวงตาท่านโต้กับหลวงปู่มั่น บอกว่า “ถ้าจิตเป็นสมาธิมันเป็นความถูกต้อง”

หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “จิตถ้าเป็นสัมมาสมาธิมันไม่มีสมุทัยร่วมมาด้วย”

ถ้ายังมีสมุทัยมันยังไม่สะอาดบริสุทธิ์ มันก็มีสมุทัยปนมาในสมาธินั้นน่ะ ถึงว่ามันก็ไม่ถูกต้อง มันก็ไม่สัมมา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ นี่พอสัมมา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเวลาจิตใจของเรา เวลาเราปฏิบัติ สตินี่มิจฉาหรือสัมมา ถ้าเป็นสัมมา เห็นไหม สัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมากัมมันโต งานชอบ เพียรชอบมันจะพัฒนาของมันเข้าไป

ฉะนั้น สิ่งที่เวลามันจะเป็นขึ้นไป เวลาเริ่มต้นนั่งสมาธิ พอเราทำความสงบของใจ เริ่มต้นนั่งสมาธิมันจะมีอุปสรรค หรือมันจะมีสิ่งใด เราจะต้องพิสูจน์ อย่างเช่นเวลาหลวงตาท่านพูดนะ แล้วอย่างเช่นเราบวชใหม่ๆ เวลาบวชใหม่ๆ ขึ้นมามันจับต้นชนปลายไม่ถูกหรอก มันก็เหมือนโยมนี่แหละ เหมือนกับเรานี่แหละไปบวชพระ

บวชพระก็คือเรานี่แหละ เราก็ปฏิบัติ แล้วมันจะเอาอะไรมาเป็นพื้นฐานล่ะ? พอไม่เป็นพื้นฐานปั๊บมันก็มีความ.. ประสาเราเลยว่ามันก็มีความหงุดหงิดในใจแล้ว เราก็พุทโธทั้งวันทั้งคืนเลย เพราะตอนนั้นอ่านปฏิปทาพระ บอกให้พุทโธทุกวินาที พุทโธทั้งวันทั้งคืน แล้วเราก็พยายามทำพุทโธ พุทโธ พุทโธ จะยืน จะเดิน จะกวาดลานวัดก็พุทโธ พุทโธ อยู่กับพุทโธ พยายามอยู่กับพุทโธทั้งวัน อยู่กับพุทโธให้ได้ทั้งวัน ถ้ามันเผลอไป มันออกนอกทางไปเดี๋ยวก็ดึงกลับมาอีก

นี่เราจะบอกว่า เวลาหลวงตาท่านบอกว่า “ให้อยู่กับพุทโธทั้งตลอดเวลา ทั้งวัน” แล้วเราก็เคยทำอย่างนั้น.. เราเคยทำอย่างนั้น หลวงตาท่านพูดว่าอะไรนี่ เพราะว่าปฏิปทาธุดงคกรรมฐาน ผู้ที่เขียนก็คือหลวงตาเป็นคนเขียน หลวงตาก็เอาประสบการณ์ที่ท่านปฏิบัติมานั่นแหละมาเขียน แล้วมาเขียน เวลาท่านประสบความสำเร็จมา ท่านทำของท่านมา ท่านเอานั่นล่ะมาเขียน แล้วเวลาเราทำเราก็พยายามทำแบบนั้น

เพราะตอนบวชใหม่ๆ นะ บวชพรรษาแรกมันไม่มีใครแนะนำ ปฏิปทาธุดงคกรรมฐานนี่อ่าน แล้วทำตามนั้น พยายามทำตามนั้น ฉันข้าวเสร็จแล้ว เวลากลับไปที่กุฏินี่อย่าขึ้นไป เพราะขึ้นไปมันจะมีอารมณ์ความรู้สึกว่านี่ให้พักก่อน ให้นั่งสักพักหนึ่ง พอนั่งสักพักหนึ่งก็นอนสักพักหนึ่ง พอนอนสักพักหนึ่งก็นอนทั้งวันก็ได้

ในปฏิปทาบอกว่าเวลาฉันเสร็จแล้ว กลับไปถึงที่พัก กลับไปถึงกุฏิให้ผึ่งผ้า เพราะผ้าเรา.. นี่พระทุกองค์นะ เวลาผ้ากลับไปต้องผึ่ง ผึ่งเพื่อให้พวกกลิ่น พวกอะไรให้มันออกก่อน ก่อนจะพับเก็บ บาตร เวลาล้างเสร็จแล้วต้องผึ่งแดดให้กลิ่น ให้ความอับมันหมดไป เสร็จแล้วค่อยเก็บบาตร เก็บผ้า ทีนี้พอพระเรากลับไปก็ไปผึ่งผ้า ทุกอย่างก็ผึ่งแดด แล้วก็เข้าทางจงกรมเลย เข้าทางจงกรม อย่าขึ้นไป ทำอยู่อย่างนั้นแหละ.. นี่เราเอาแบบนั้น

นี้พูดถึงเริ่มต้นไง การปฏิบัติเบื้องต้น ฉะนั้น พอเราบอกว่าจะต้องมีอุบายไหม? อุบายนี่มันเกิดขึ้นในปัจจุบันเลย ในปัจจุบันนะ ความนึกคิดนี่ เพราะถ้าเราปฏิบัติใช่ไหม? เราปฏิบัตินี่เวลามันตลอด พอตลอดมันต่อเนื่อง พอเวลามันต่อเนื่อง แล้วงานนี่มันเหมือนงานทางราชการ งานมันคงที่ เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาข้อวัตรปฏิบัติมันก็เหมือนกัน เวลาข้อวัตรปฏิบัติ เราจะแบ่งเวลาให้ถึงเวลาที่เขาทำกัน เราก็มาทำตามเขา แต่เวลาเสร็จแล้วเราก็จะต้องปฏิบัติของเราตลอดไป นี้ถ้าจิตมันมีหลักอย่างนี้ กับสิ่งที่บอกว่าเวลาอารมณ์เราไปจุดหนึ่งแล้วไฟฟ้ามันดับ นี่มันเป็นเรื่องข้างนอก เราอย่าไปสนใจมัน ถ้าไฟมันจะดับ ไฟมันจะไม่ดับเราก็ดูที่ทางร่วม ทางแยกสิ เวลาแสงมันไม่มีไฟมันก็ติดเอง ไฟมันก็ดับเอง ตามถนนหนทาง ไฟถนนนะมันติดเอง มันดับเองเหมือนกัน

ทีนี้หลวงพ่อพูดออกนอกเรื่องแล้ว ไม่ได้ถามเรื่องไฟถนน ถามเรื่องไฟเวลาปฏิบัติแล้วมันดับ (หัวเราะ) เราจะเปรียบเทียบให้เห็นไง เราไปกังวลเพราะมีเราใช่ไหม? ไฟถนนมันก็ดับเหมือนกัน มันก็ติดของมันเอง ดับของมันเอง แต่ไม่มีจิตไปยุ่งกับมัน แต่สาธารณะชนเขาได้แสงสว่างจากถนนหนทางนั้น นี่เขาก็เป็นประโยชน์กับสาธารณะ

แต่จิตของเราเป็นส่วนบุคคล จิตของเราเป็นเรื่องของเรา แล้วเวลาเรานั่งไปไฟมันดับทุกครั้งที่อารมณ์มันเป็นแบบนั้น เราจะพูดแบบว่าให้วางกังวลให้หมด ไม่ต้องไปยุ่งกับเรื่องไฟ ไม่ต้องไปยุ่งกับอะไร ไฟก็คือไฟ จิตก็คือจิต สมาธิก็คือสมาธิ ถ้ามันทำได้ ถ้าเราทำตรงนี้ ทีนี้เราจะทำสมาธิ แต่เราเอาสมาธิ เอาหัวใจของเราไปผูกพันกับไฟดับ ไฟไม่ดับ เห็นไหม นี่เราโง่หรือเราฉลาดล่ะ? แต่มันก็เป็นความกังวล กิเลสมันอ้างไง มันอ้างเรื่องนั้น อ้างเรื่องนี้

ฉะนั้น เรากลับมาที่เรา เราตั้งใจอะไร? เราปรารถนาอะไร? เราทำสิ่งนั้น แล้วทำถึงสุดความสามารถ สุดความสามารถ เพราะงานอย่างนี้ เราทำนะปฏิบัติบูชาได้บุญแล้ว โยมอย่าคิดว่าโยมทำแล้วไม่มีสิ่งใดเป็นผลตอบแทน

เวลาโยมตักบาตรโยมได้อะไรตอบแทน? เสียสละสิ่งนี้ออกไป นี่ใส่บาตรพระไป พระพุทธกิจได้ฉันภัตตาหารนั้น สิ่งนั้นเราว่าเป็นบุญกุศล แล้วเราปฏิบัติล่ะ? เราปฏิบัติ เห็นไหม ปฏิบัติบูชา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน บอกพระอานนท์นะ

“อานนท์ เธอบอกเขาเถิด นี่บูชาเราให้ปฏิบัติบูชาเถิด อย่าบูชาด้วยอามิสเลย”

สิ่งที่บูชาด้วยอามิส นี่ตั้งแต่ดอกไม้ ธูป เทียน บูชาด้วยอามิส ข้าวปลาอาหารนี่อามิสทั้งนั้นแหละ แต่ปฏิบัติบูชานี่โดยตรง ทีนี้ถ้าเราปฏิบัติบูชาเราว่าไม่ได้อะไรเลย มันได้จริตนิสัยนะ มันได้อำนาจวาสนานะ มันได้กับใจดวงนี้ ใจมันเคยทำ เวลาเราไม่เคยทำ เวลาเขาพูดเรื่องปฏิบัติ เขาพูดเรื่องนั่งสมาธิ เราก็นั่งฟังเราไม่รู้เรื่องนะ แต่ถ้าเราเคยทำใช่ไหม? เขาพูดเรื่องนั่งสมาธิ พูดเรื่องปฏิบัติธรรมนี่เรารู้หมดเลย

นี่ไงเราได้แล้ว นี่สิ่งนี้เราได้ แล้วถ้าจิตมันสงบนั่นมันสุดยอดเข้าไปอีก ถ้าจิตสงบนะ.. จิตสงบหมายถึงว่าเห็นเงาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

เห็นพุทธะ เห็นหัวใจของเรา ถ้าจิตสงบมันเห็นหัวใจของเราแล้ว แล้วถ้ามันฝึกหัดใช้ปัญญาขึ้นมาได้ มันเกิดโสดาปัตติมรรค แล้วถ้าผลของมันคือโสดาปัตติผล เมื่อเข้าสู่อริยมรรคแล้ว เข้าสู่นะ ถ้าเป็นโสดาบัน เห็นไหม นั่นล่ะเข้ากระแสนิพพานแล้ว เข้ากระแสนิพพาน จิตดวงนี้ต้องเข้าสู่นิพพาน คือจิตดวงนี้จะชำระล้างกิเลสทั้งหมด จิตดวงนี้จะไม่เกิดไม่ตาย จิตนี้จะพ้นจากวัฏฏะ นี่ก็เกิดจากผลตรงนี้

นี่วันนี้พูดยาว พูดยาวเพราะว่าต้องการให้เห็นเหตุเห็นผล วัตถุกับใจมันคนละเรื่องกัน ร่างกายนี้เป็นวัตถุนะ หัวใจนี่เป็นนามธรรม แต่ก็อาศัยร่างกาย เวลานั่งสมาธิเอาอะไรนั่ง ก็เอาร่างกายนั่ง เดินจงกรมก็เอาร่างกายนี้เดิน แต่เดินเพื่อหัวใจ เดินเพื่อให้ใจสงบ ไม่ใช่นั่งเพื่อเอาร่างกาย ฉะนั้น เวลาคนนั่ง จะเอนทางซ้าย จะเอนทางขวา จะเอนหน้า เอนหลังมันก็เป็น! มันก็เป็น

คนเราพอมันนั่งท่าใดท่าหนึ่งมันก็เมื่อยล้าเป็นธรรมดา แต่เรานั่งเพื่อเอาใจสงบ ถ้าจิตใจมันดี จิตใจมันเป็นไปได้ เห็นไหม นี่เราค่อยๆ ฝืนกลับมา แล้วค่อยๆ ทำให้ร่างกายนี้ตั้งตรงก็ได้ หรือถ้ามันไม่ตั้งตรง ถ้าจิตมันสงบ อ้าว.. จิตสงบ เอียงสงบดี หอเอียงนั่นน่ะคนไปดูเยอะแยะเลย นี่ก็เหมือนกัน ร่างกายเอียงจะเป็นอะไรไป นี่พูดถึงถ้าจิตใจเราสงบนะ เรารู้ได้

ฉะนั้น เวลาว่าวัตถุกับนามธรรม สิ่งที่ใจเป็นนามธรรม ความคิด เห็นไหม เวลาจิตสงบแล้ว ความคิดที่เป็นนามธรรมนี่เป็นวัตถุเลย รูปธรรมที่จับต้องได้เลย แล้วสิ่งที่เป็นจิตละเอียดกว่าอีก มันละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไป มันเห็น มันรู้ มันจับ มันต้อง มันพิจารณาของมัน พอการทำงานก็ได้ผลตอบแทน ถ้าคนไม่ทำงานก็ไม่ได้ผลตอบแทน

เวลาคนทำงาน ปัญญามันออกวิปัสสนา ผลตอบแทนของมัน มันก็ปล่อย มันก็วาง มันก็ชำระ มันก็ล้างของมัน เห็นไหม นี่ผลตอบแทนจากการทำงาน ฉะนั้น ถ้ามันออกวิปัสสนามันก็เป็นผลตอบแทนที่ละเอียดขึ้นไป

ฉะนั้น เวลาทำไปนี่หญ้าปากคอก เริ่มต้นทำงานอย่าไปวิตกกังวล ให้คิดว่าเป็นวัตถุ เรื่องของไฟฟ้า เรื่องของไฟดับ ไฟติดใช่ไหม? แล้วก็เรื่องของเรา จิตใจของเรา นี้ความรู้สึกเรานั่งอยู่ เห็นไหม ลมพัดมาผิวหนังรับรู้มันก็รู้สึก ฉะนั้น ถ้าเรารับรู้สึกแล้วเราก็วาง ไฟมันจะติด มันจะดับ รับรู้สึกแล้วก็วาง อย่าไปวิตกกังวล วิตกกังวลเป็นนิวรณธรรม

นิวรณ์คือความสงสัย ความฟุ้งซ่าน ความง่วงเหงาหาวนอน นิวรณธรรมเครื่องปิดบังจิตไม่ให้เข้าสู่สมาธิ นิวรณธรรมไง เราไปสงสัยเราก็สู่นิวรณ์ นี่เครื่องกางกั้นเลย นิวรณ์นี่คือเครื่องกางกั้น แล้วเราพยายามทำตรงนี้ ทำไอ้เครื่องกางกั้นนี้ออกไป แล้วเราทำของเราไป ผลเป็นวิทยาศาสตร์ ผลเป็นตามความเป็นจริง นี่เหตุและผลข้อเท็จจริงตามนั้น แล้วทำตามนั้นเราจะประสบความสำเร็จ ปล่อยวางมัน รับรู้แล้ววาง แล้วหน้าที่ของเราปฏิบัติต่อไป

ข้อ ๖๒๗. เนาะ มันใกล้เคียงกัน คำถามนี่มันจะแปลก เวลาถามมาจะถามใกล้ๆ กันมาเลยนะ

ถาม : ๖๒๗. เรื่อง “จิตปรุงแต่ง”

หนูอยากถามอาจารย์เรื่องจิตปรุงแต่ง ว่าในขณะนอนหลับแล้ว เราฝันถึงเรื่องราวต่างๆ บางครั้งฝันถึงคนที่ตายไปแล้วบ้าง เห็นวิญญาณ หรือแม้กระทั่งการนั่งสมาธิแล้วเห็นภาพต่างๆ เราจะแยกแยะได้อย่างไรว่าสิ่งที่เห็นคือสิ่งที่เป็นจริง หรือว่าเป็นสิ่งที่จิตใต้สำนึกปรุงแต่งขึ้นมาจากสิ่งที่เราสั่งสม หรือเราเพ่ง (นี่คำถามเรื่องจิตปรุงแต่ง)

หลวงพ่อ : จิตปรุงแต่งนี่สิ่งที่เห็นมันก็เกิดดับทั้งนั้น มันเป็นเหตุ เป็นปัจจัยของมันที่มันมี แต่เราจะไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดว่าเป็นจริงหรือไม่จริง เพราะสิ่งนี้เป็นมรรคหยาบ มรรคละเอียดไง เป็นสิ่งที่เราจะต้องผ่าน สิ่งที่เราต้องก้าวดำเนินไป ถ้ามันเห็นนะ เวลานอนหลับแล้วมันฝัน ฝันนี่หลวงตาจะใช้คำว่า “ฝันดิบ ฝันสุก”

เวลาฝันดิบๆ เวลาเรานั่งอยู่นี่เราคิดนั่นล่ะคือความฝัน ฝันนะ เราจินตนาการไป เราเพ้อฝัน เพ้อไปเลยนี่ฝันดิบ เวลามันสุก เห็นไหม นอนแล้วมันฝัน

“ฝันดิบ ฝันสุก”

ฝันดิบคือความคิด ฝันสุกคือนอนแล้วมันใช้ความคิด ใช้สังขารปรุงแต่ง แต่ขณะที่ปรุงแต่ง เวลาเราฝันไป มันไม่มีสติมันก็ฝันของมันไป แต่เวลาเราคิดเรามีสตินะ เรารับรู้ว่าเราคิดนะ เราคิดของเรา นี่ดิบๆ หลวงตาใช้คำว่า “ฝันดิบ ฝันสุก” นี่เวลาคนภาวนาเป็น คนภาวนามีหลักเกณฑ์ท่านพูดชัดเจนมาก แต่ท่านพูดสั้นๆ พูดกระชับไง แล้วถ้าเราฟังแล้วเราไปตีความชัดเจน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าฝันดิบ ฝันสุก เห็นไหม เวลาเราคิดมันก็เหมือนฝัน ทีนี้ระหว่างที่เราคิดกับนอนหลับมันแตกต่างกันตรงไหน? แต่ว่าเวลาที่มันฝัน เราฝันเห็นวิญญาณ เราฝันถึงเหตุการณ์ล่วงหน้า แล้วพออีก ๓ วัน ๗ วันเป็นแบบนั้นเปี๊ยบเลย เห็นไหม ทางวิทยาศาสตร์ เขาพูดถึงว่าเซ้นส์ของเรามันบอกก่อน นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่จิต นามธรรมนี่มันมีเวรมีกรรม มันสร้างของมันมา มันเกี่ยวพันกันมามันมีสิ่งที่รับรู้ได้

ฉะนั้น อนาคตังสญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาท่านมองไปอนาคต ท่านมองไปข้างหน้า ท่านเอาอะไรมอง ท่านรู้เลยว่าอนาคตวงศ์ต่อไปนี่ พระศรีอาริยเมตไตรยที่จะมาเกิดพระพุทธเจ้าก็พยากรณ์ไว้ แล้วต่อไปจะมีอนาคตวงศ์อีก ๑๐ องค์ พระพุทธเจ้าอีก ๑๐ องค์ข้างหน้านู่นน่ะ แล้วท่านเอาอะไรดู

เพราะว่าสิ่งที่เราบอกว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกอย่างมันไม่คงที่ แต่ทำไมอนาคตังสญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชัดเจนขนาดนั้นล่ะ? ชัดเจนแล้วมันเป็นความจริง ความจริงเพราะ! เพราะอย่างเช่นถ้าใครปรารถนาเป็นโพธิสัตว์ เห็นไหม ถ้าพระพุทธเจ้ายังไม่พยากรณ์นี่มันเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าพยากรณ์แล้ว..

คำว่าพยากรณ์แล้วนี่ความจริงมันมากขึ้น มันแน่นอน ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามองตรงนั้น ถ้ามองตรงนั้น ความจริงที่ได้พยากรณ์แล้ว เทียบตามความเป็นจริงแล้ว แต่มันยังเป็นของมันไปข้างหน้า ฉะนั้น อันนั้นส่วนหนึ่ง

ทีนี้สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง แต่ของเรานี่ ถ้าเราทำจิตใจของเราสงบนะ แล้วเราใช้ปัญญาชำระกิเลสนะ จิตใจของเราสิ้นกิเลสแล้วนะ เราก็รู้อย่างนั้นได้ แต่ในปัจจุบันนี้ความรู้อย่างหยาบ เห็นไหม ความรู้อย่างหยาบ.. ความจริง หรือความมั่นคง หรือความถูกต้องมันเป็นเรื่องกระแสสังคม กระแสโลกเลย

ทีนี้ความรู้ความเห็น ที่ว่าฝันไป ที่ว่าเห็นคนตายนี่เราไม่ต้องไปรับรู้ เราวางของเรา เราวางของเราเพื่อเราจะให้จิตสงบเข้ามา แล้วเราจะภาวนาของเราเข้ามา ถ้าภาวนาของเราเข้ามานะ ถ้าจิตเราเป็นจริงแล้ว ถึงจะฝันดิบ ฝันสุกมันก็เป็นความจริงหมดนะ เพราะอะไร? เพราะเวลาพระอรหันต์นี่มีสติตลอด พอมีสติตลอด ความรู้สึกนึกคิดมันมีสติ มันมีเหตุมีผลของมัน

นี่ถ้าพูดถึงดิบๆ นะ แต่ถ้าไปฝัน ฝันไม่มีกิเลส ไม่มีสิ่งเร้า พอมันออก มันออกตามความเป็นจริงของมัน ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเป็นหลักนะ เวลาท่านเกิดนิมิต เวลานั่งภาวนาท่านบอกว่าเมื่อคืนฝันว่ะ เมื่อคืนฝันอย่างนู้น ฝันอย่างนี้ เห็นไหม นี่ฝันของพระอรหันต์ กับนิมิต แล้วเกิดเวลาถ้าเราฝันของเราล่ะ?

ฉะนั้น เขาบอกว่า..

ถาม : เป็นจิตปรุงแต่งหรือเปล่า? แล้วถ้าเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งแล้ว เราจะแยกแยะได้อย่างไรว่าสิ่งใดจริงและสิ่งใดปลอม

หลวงพ่อ : เราไม่ต้องไปแยกแยะหรอก แม้แต่ร่างกายเรา นี่วัตถุที่จับต้องได้เรายังต้องทิ้งมันไปเลย ร่างกายนี่ถึงเวลาตายแล้วมันจริงหรือมันปลอมล่ะ? ตอนนี้จริง เราเป็นคนนี่จริงๆ แล้วเรามีร่างกายจริงๆ เวลาเราตายไปแล้วนะร่างกายจริงๆ ก็ทิ้งไว้นี่

ทีนี้เราจะแยกจริง แยกปลอมตรงนี้ มันเป็นประเด็นตรงนี้ใช่ไหม? ประเด็นที่ว่าเราฝัน จับประเด็นนี้แล้วมันจริงหรือปลอมล่ะ? ฉะนั้น ถ้าเราปล่อยตรงนี้ปั๊บ เราปล่อยที่ว่าจริงหรือปลอมใช่ไหม แล้วทำจิตสงบเข้ามา พอจิตสงบปั๊บมันเห็นตรงนั้นไร้สาระแล้ว ที่ว่าจะจริงจะปลอมนี่ไร้สาระแล้ว แต่ถ้าเราบอกว่าที่ฝันนี่จริงหรือปลอม จริงหรือปลอม สิ่งนี้จิตเราสงบเข้ามาไม่ได้ มันติดตรงนี้ไง

แต่ถ้าเราปล่อย เราปล่อยนะแล้วเราทำความสงบเข้าไป ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ สิ่งที่ว่าเราอยากรู้จริงหรือปลอมนี่มันไม่อยากรู้แล้ว เพราะจิตละเอียดเข้ามาแล้ว พอจิตละเอียดเข้ามาแล้ว เวลาจิตละเอียดเข้ามาแล้วมันเห็นของมัน มันวิปัสสนาของมันไปนะมันยิ่งเห็นจริงของมัน อ๋อ.. ความคิดเปลือก! ความคิดเปลือกคือขันธ์ข้างนอก ความคิดคืออารมณ์ใช่ไหม? กับความคิดจริง.. นี่ความคิดจริง แล้วความคิดเปลือกกับความคิดจริงมันแตกต่างกันอย่างไร?

ความคิดเปลือกก็ความคิดเรานี่แหละ ฝันดิบ ฝันสุกนี่แหละ แต่ถ้าความคิดจริงนะ พอจิตสงบแล้วเราฝึกใช้ปัญญา มันใช้ปัญญา มันเป็นความคิดจริง ความคิดจริงอันนั้นมันสามารถถอดถอน ถ้าสามารถถอดถอน มันถอดถอนของมันไปเรื่อยๆ ถอดถอนไปเรื่อยๆ จนมันขาด เห็นไหม นี่แล้วมันก็จะเห็นความคิดจริงลึกเข้าไป เป็นสกิทาคา ลึกเข้าไปเป็นอนาคา ลึกเข้าไปเป็นพระอรหันต์ ความคิดจริงอันนั้นมันถอดมันถอน..

ไอ้คำถามนี่กลายเป็นปุยนุ่นเลยล่ะ คำถามนี่เป็นปุยนุ่นเลย (หัวเราะ) ถ้าจะตอบคำถามนี้ เราจะมาวิเคราะห์กันเองว่าฝันนั้นเป็นจริงหรือปลอม นี่ถึงว่ามันไม่ใช่ประเด็นไง ฝันแล้ววางไว้ เพราะคนนะ ถ้าคนเคยฝันก็จะฝันมาก ไอ้คนไม่เคยฝันแปลกใจนะ เอ๊ะ.. เขาว่าฝันๆ มันเป็นอย่างไรไม่รู้ ไอ้คนไม่เคยฝันก็ว่าไอ้ที่ฝันๆ มันเป็นอย่างไรเพราะเขาไม่เคยฝัน แต่ไอ้คนฝันจะฝันมาก

อันนี้มันพันธุกรรมทางจิต ถ้าจิตมันมีนะ ถ้ามันฝันเราก็วางไว้ เพียงแต่ถ้าเราไม่ตื่นเต้นตกใจนะ ถ้าตื่นเต้นตกใจ หรือมันอย่างนั้นเราค่อย.. เพราะบางทีผลของมันนะ อย่างเช่นหลายคนมาก บอกว่าเวลาจิตนี่ นั่งสมาธิแล้วจะติเตียนพระมาก จะติเตียนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะติเตียนรัตนตรัย มันจะติเตียนรัตนตรัยไง ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่อยากทำ อันนี้มันมีผล ทีนี้ผลเราแก้ เราแก้ก็คือการขอขมากับพระรัตนตรัย แล้วเราพยายามฝืน แก้ไขไป

อันนี้มันอยู่ที่เราทำมาแต่ดั้งเดิม อันนั้นมันจะมีผลนะ แต่สิ่งใดถ้ามีผลเราวางซะ คือมันไม่ต้องไปแก้ ปล่อยไปแล้วเราทำของเราไป นี่เวลาจิตปรุงแต่ง

ถาม : แล้วแยกแยะอย่างใดว่าอันใดจริง อันใดปลอม

หลวงพ่อ : นี่เวลาฝันเห็นถึงคนตาย เวลาฝันเห็นคนตายนี่มันก็ฝันได้ ถ้าฝันเห็นคนตายโดยความเป็นจริงนะ อย่างเช่นหลวงปู่มั่นท่านเข้าสมาธิ ท่านเล่าให้หลวงตาฟัง แล้วหลวงตาก็มาเล่าให้ลูกศิษย์ฟัง เวลาท่านเข้าสมาธิ จิตท่านสงบแล้วท่านไปเห็นคนที่ตายแล้ว พอคนที่ตายแล้วก็บอก นี่มาหาหลวงปู่มั่น แล้วบอกให้หลวงปู่มั่นไปบอกให้ญาติพี่น้องของเขาทำบุญกุศล อุทิศให้เขาบ้าง อุทิศให้คนตายบ้าง

ทีนี้พอหลวงปู่มั่นท่านออกจากสมาธิมา ในหมู่บ้านใดก็แล้วแต่ ท่านก็จะไปถามชาวบ้านว่าครอบครัวนั้น ตระกูลนั้นยังอยู่ไหม? บางทีนะครอบครัวนั้นเคยมีอยู่นะ สิ่งที่หลวงปู่มั่นไปเห็นในโลกของวิญญาณ บอกให้ญาติพี่น้องทำบุญให้เขานี่ญาติพี่น้องตายหมดแล้ว กาลเวลามันแตกต่างกันไง ญาติพี่น้องที่จิตดวงนั้นบอกว่าให้ทำบุญให้เขานี่ตายไปหมดแล้ว แล้วจะไปบอกให้ใครล่ะ?

ฉะนั้น หลวงปู่มั่นท่านเคยประสบการณ์อย่างนั้น เวลาท่านออกจากสมาธิมาท่านไปบิณฑบาตกับชาวบ้าน จะถามว่าที่หมู่บ้านนี้มีตระกูลนั้นไหม? มีคนชื่ออย่างนี้ๆ ไหม? เขาบอกว่าเคยมีแต่ตายไปหมดแล้ว นี่กาลเวลาไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่นท่านไปเห็นจิตวิญญาณมา ท่านเห็นจิตวิญญาณเพราะหลวงปู่มั่นมีบารมีมาก เขาบอกว่าสั่งอย่างนั้นๆๆ หลวงปู่มั่นก็จะไปถามพวกชาวบ้านนะว่ามีครอบครัวนั้นไหม? มีคนชื่อนั้นไหม? เขาบอกมี บ้านอยู่ตรงนั้นๆๆ หลวงปู่มั่นก็ต้องใช้อุบาย ใช้อุบายไปบิณฑบาตที่บ้านนั้น ให้บ้านนั้นได้ทำบุญ แล้วก็เทียบเคียงนะว่าที่บ้านมีคนชื่อนั้นไหม? มีคนชื่อนี้ไหม? ให้อุทิศส่วนกุศลให้คนนั้น

นี่หลวงปู่มั่นท่านทำ ท่านทำอย่างนี้ ท่านเล่าให้หลวงตาฟัง หลวงตาก็มาเล่าให้เราฟัง นี่พูดถึงเวลามันเป็นจริงนะ เห็นไหม แม้แต่ฝันเห็นคนตาย การฝันเห็นคนตายมันก็เป็นแบบนั้น ถ้าพูดถึงว่ามันมีความสัมพันธ์กัน แล้วมันมีความสัมพันธ์กันนี่ฝันแล้วก็วาง เพราะเราไม่สามารถไปช่วยแบบหลวงปู่มั่นได้ เราไม่สามารถไปช่วยคนเป็นและคนตายได้ ฝันเห็นแล้วก็คือวางไว้ เพราะว่าวัฏฏะมันเป็นแบบนั้น ของมันมี แต่ของมันมีนี่ มีจริงหรือไม่มีจริงล่ะ?

เวลาบอกผลของวัฏฏะมันมีนรก มีสวรรค์ สิบแปดมงกุฎมันก็มีนรกสวรรค์เหมือนกัน มันก็เอานรก สวรรค์มาข่มขู่เรา นี่ว่าตกนรก ต้องไปสวรรค์ เราก็มีความหวาดกลัว เพราะเราไม่มีความมั่นคง เราก็เป็นเหยื่อเขา แต่ถ้าเรามีความมั่นคงของเรา สวรรค์ก็คือสวรรค์ นรกก็คือนรก เราทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แล้วเราทำของเราอยู่อย่างนี้แล้ว ใครจะมาเทียบเคียงพูดให้เราหวั่นไหว เราจะไม่ไปกับเขา

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราพูดนี่พูดเพื่อเป็นประโยชน์ พูดเพื่อให้เรามั่นคง พูดเพื่อให้เราเห็นว่าผลของวัฏฏะเป็นแบบนี้ แล้วถ้าจิตของเราเห็นอย่างนี้ เห็นไหม เราจะให้วางอีกแหละ รู้แล้วก็วาง เพราะนี่มันเป็นผลของวัฏฏะ ผลของการรับรู้ ถ้าผลของการรับรู้ แล้วเราจะเอาการรับรู้นั้นมาเป็นประโยชน์อะไรกับการปฏิบัติ ก็เท่านั้น! เอาการรับรู้มาเป็นประโยชน์อะไรกับการปฏิบัติ เอาการรับรู้แล้วก็วางไว้ๆ แล้วทำต่อไป

นี่พูดถึงเรื่อง “จิตปรุงแต่ง” เนาะ จบ

ข้อ ๖๒๘. ไม่มี

ข้อ ๖๒๙. นะ ข้อ ๖๒๙. นี่มันเป็นปัญหาที่ตลก.. เขาว่านะกราบเท้าหลวงพ่ออย่างสูง เขาเคยมาที่วัดแล้ว

ถาม : ๑. ญาติผมเขาไม่ได้สนใจธรรมะ เขารู้ว่าผมชอบไปที่วัดครูบาอาจารย์ กับวัดหลวงพ่อด้วย เขาสงสัยว่าทำไมคนถึงมาวัดเยอะ เช่นที่วัดหลวงตา ต่างกับวัดอื่นแถวบ้านเขาอย่างไร ถ้าวันหนึ่งเขาเกิดถามผมว่าจะขอตามมาวัดด้วย ผมควรทำตัวอย่างไร เพราะผมรู้ดีว่าเป้าหมายของเขา ก็จะมาสังเกตดูว่าวัดป่ากับวัดบ้านแถวบ้านแตกต่างกันอย่างใด จนอาจเกิดการจ้องจับผิด ผมกลัวตรงนี้ ถ้าสมมุติว่าผมไม่ให้เขามาด้วยผมจะบาปไหมครับ

หลวงพ่อ : นี่ญาติเขาเองนะ ทีนี้ไอ้อย่างนี้มันก็ต้องมีความสงสัยเป็นธรรมดา ไอ้อย่างนี้ก็อยู่ที่ว่าเราดูถึงความเหมาะสม

ถาม : เราจะบาปไหมครับ ถ้าเขามาแล้วเขามาจับผิด เขาจะเป็นบาปไหม

หลวงพ่อ : อันนี้ก็เป็นบุญเป็นกรรมของเขาเนาะ ไอ้นี่บางทีเรารู้ เพราะว่าเขาเป็นคนที่อยู่ข้างในด้วยกันเอง เขาจะวิตกกังวลกันไปเอง ฉะนั้น สิ่งที่เขาเห็นนี่เขาคงจะสนใจบ้าง เพราะเขาเห็นว่ามันแตกต่างกัน แล้วเขาไปไม่ได้เขาก็จะควรไป

อย่างเช่นคนไม่เคยเข้าวัดเลย ไปวัดแล้วมันเคอะเขินนะ เอ๊ะ.. จะไปทำอย่างไร? แล้วไปแล้วจะทำถูกต้อง ไม่ถูกต้อง มันเคอะมันเขินอยู่ แต่ถ้าคนเคยไปวัดแล้วเขาจะเข้าใจของเขา แล้วถ้าคนเคยไปวัดจนแก่วัด เขาก็ยึดว่าสิ่งที่เขาเห็นครั้งแรก เขาว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง ฉะนั้น พอเวลาเขามาเจอพระป่าเรา..

อย่างเช่นวัดเรานี่ วัดเรานะเราเห็นหมู่คณะเรามันปล่อยตัวกัน ฉะนั้น เวลาวัดเรานี่เราสังเกต เวลาเขามาวัดเราจะไม่มีพิธีกรรมอะไรทั้งสิ้น เพราะเราไปอยู่กับหลวงตาใหม่ๆ นะ หลวงตาบอกว่า.. เพราะหลวงตาท่านเรียนเป็นมหา คำว่าท่านเป็นมหานี่ท่านอยู่วัดบ้าน ท่านทำพิธีกรรมมาทั้งนั้นแหละ พิธีกรรมที่ทางวัดบ้านทำ หลวงตาท่านเคยเป็นพระนักศึกษามา ท่านทำอย่างนั้นหมดแหละ แต่เวลาท่านมาปฏิบัติแล้วท่านพูดอย่างนี้

ท่านบอกว่า “เวลาจะถวายทานกัน ก็มากล่าวคำถวายทาน ต้องเอาอาหารมาตั้งกว่าจะกล่าวถวายทาน ท่านบอกว่าแมลงวันมันบินมานะ มันก็มาเกาะ เกาะแล้วมันก็ไข่ ไข่แล้วก็มาฟักตัว ฟักตัวจนเป็นแมลงวันแล้วนะ มันยังกล่าวคำถวายไม่จบเลย”

หลวงตาพูดบ่อยตอนเราอยู่กับท่านนะ จนแมลงวันมันฟักเป็นตัวออกมานะ ยังกล่าวคำถวายทานไม่เสร็จ แล้วกว่าจะถวายทานเสร็จนะ กว่าจะได้ฉันนะเที่ยงวัน นี่ท่านพูดให้เห็นภาพชัดว่าพิธีกรรมสิ่งต่างๆ มันจะกลืนกินเวลาของพวกเราไปเยอะ แต่ถ้าเราตัดทอนพิธีกรรมออกไป แล้วเรามาเอาความจริง คือเราพยายามทำความสงบของใจ ไอ้นี่มันสำคัญกว่า

ฉะนั้น พอความสำคัญกว่า คนที่มีจิตใจที่เป็นหลัก ความสำคัญกว่าเขาเห็นว่า เออ.. นี่สำคัญ สำคัญคือหมายถึงว่าเราไม่ยึดไม่ติด แต่ถ้าคนมันยังไม่มีหลักนะมันเรรวน ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ไม่ได้บุญ ไม่ทำอย่างนั้นแล้วเกิดความไม่มั่นใจนะ ยิ่งเกิดความเรรวนเข้าไปใหญ่ เพราะตัวเองก็เรรวนอยู่แล้วใช่ไหม พอไม่มีหลักยึดมันก็เลยเรรวนไปใหญ่เลย แต่ถ้ามันมีหลักยึดแล้วนะ พอสิ่งที่เป็นพิธีกรรมเราปฏิเสธ เราวางไว้เลย แล้วเรามาทำจริงเลยมันจะมั่นคงขึ้นมา

ฉะนั้น พระป่าเป็นแบบนั้น ถ้ามันเป็นอย่างนั้นปั๊บ เวลาใครมา เรื่องพิธีกรรมเราพยายามจะไม่ทำ ถ้าไม่ทำแล้วมันจะได้บุญไหมล่ะ? มันเป็นที่เจตนา มันสมบูรณ์ที่เราตั้งใจแล้ว พิธีกรรมมันก็แบบว่าเพื่อคนที่มันไม่มีหลักมีเกณฑ์เข้ามาแล้วค่อยว่ากัน

นี่พูดถึงข้อที่ ๑. ให้ดูความเหมาะสม

ถาม : ๒. ผมเคยนั่งสมาธิโดยใช้ความคิดไล่ไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่นนึกภาพแขน ขา หัว แล้วลองผ่าหัวออกดู นั่งจินตนาการไปแบบนั้นอยู่นาน จากภาพที่นึกเอามันค่อยๆ กลายเป็นภาพจริงขึ้นมา แต่เป็นอยู่แป๊บเดียว ภาพนั้นเด่นชัดมาก ต่างจากภาพที่นึกเอาอย่างมาก อารมณ์ความรู้สึกตอนที่ได้เห็นก็ตื่นเต้นปนตกใจ ใจเต้นแรง แต่แป๊บเดียวภาพก็หายไปแล้ว ผมมั่นใจมากๆ ว่าภาพนี้คือนิมิต เพียงแต่สมาธิผมยังไม่ดีพอจึงทำให้เห็นแป๊บเดียว คำถามคือถ้าเป็นแบบนี้ ผมควรนึกหลักภาวนาในแบบนี้ต่อไปเลยหรือไม่ครับ ควรเปลี่ยนอย่างไรบ้างครับ เพราะตั้งแต่วันนั้นมา ผมพยายามแต่ไม่เหมือนเดิมอีกเลย

หลวงพ่อ : เวลานึกภาพ เห็นไหม ภาพแขน ขาต่างๆ ภาพโครงกระดูกนะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านสอน ท่านบอกว่า “ให้เรานึกถึงข้อกระดูก” ถ้าเรานึกถึงข้อกระดูก ความหมายของข้อกระดูก ถ้านึกข้อกระดูกชัดๆ นี่นะมันก็เหมือนพุทโธนี่แหละ

พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่เราเอาจิตเกาะไว้กับพุทโธ แต่ถ้าเรานึกถึงข้อกระดูก เห็นไหม แขน ขานี่หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่าให้นึกถึงข้อกระดูก กระดูกในร่างกายให้นึกถึงเป็นชิ้นๆๆ อยู่อย่างนี้ แล้วท่านบอกว่านึกได้ตลอดเวลา จิตมันไม่แฉลบ มันไม่แลบออก นึกอยู่อย่างนั้นแหละให้เป็นชั่วโมงๆ นะ ท่านบอกนั่นล่ะคือสมถะจนจิตมันสงบ พอจิตมันเป็นสมถะ จิตมันสงบนะให้นึกถึงข้อกระดูกอีก

การนึกถึงข้อกระดูกโดยที่จิตสงบแล้ว มันจะเห็นข้อกระดูกนี่เห็นเป็นภาพ เป็นนิมิตเลย ไม่ใช่นึกเอา.. พอจะนึกเอา นี่มันไม่ใช่นึกเอาใช่ไหม? มันเป็นภาพ ถ้าจิตสงบแล้วมันขยายส่วนได้ไง คือมันให้ข้อกระดูกแยกส่วน ขยายส่วนเป็นไตรลักษณ์ได้ แต่ถ้าเรานึกเอานี่เราแยกไม่ได้

เพราะเรานึกกระดูกใช่ไหม? ให้จิตนึกกระดูก แต่เราจะเปรียบให้เห็นผลของมันนะ ถ้าเรานึกนี่คือจิตมันไม่ไปข้างนอกใช่ไหม? จิตมันนึกถึงข้อกระดูก มันก็เอาข้อกระดูก เหมือนพุทโธคือคำบริกรรม จิตมันเกาะอยู่กับคำบริกรรม จิตนึกถึงข้อกระดูก จิตนึกถึงกระดูก มันก็นึกถึงข้อกระดูก มันก็เหมือนกับนึกพุทโธคือมีที่เกาะ จิตมันเกาะกระดูก เกาะโครงสร้างของร่างกายนี้ไว้ มันก็ไม่คิดออกนอกเรื่อง พอไม่คิดออกนอกเรื่อง จิตมันสงบ

นี่ไงเขาบอกว่า “เขาคิดถึงแขน คิดถึงขา คิดถึงผ่าหัวออกดู จนมันเห็นเป็นภาพความจริงแต่แป๊บเดียว ภาพนั้นเด่นชัดมาก”

นั่นล่ะจิตมันสงบมันถึงเด่นอย่างนั้น ฉะนั้น ให้ทำแบบนี้ ให้นึกถึงข้อกระดูก ให้นึกถึงแขน ให้นึกถึงขา ให้นึกถึงหัว นี่แล้วถ้าผ่าออกดู ทำไปอย่างนี้ซ้ำอีกๆ นี่เคยเป็นแป๊บเดียวแล้วไม่เป็นอีกเลย ไม่เป็นอีกเลยเพราะว่าจิตใต้สำนึกมันอยากได้ แต่บอกว่าเราไม่นึกหรอก เราทำไปอย่างนั้นเอง แต่มันเป็นสมาธินะ มันตื่นเต้นมากปนตกใจ ใจเต้นแรงมาก นี่มันฝังใจไง

เราหลอกตัวเองไม่ได้นะ เรานี่นะ พูดถึงสามัญสำนึก จิตใต้สำนึกที่มันสัมผัสแล้วนะ แล้วมันซับไว้ อันนั้นลึกกว่านี้อีก ฉะนั้น ให้ทำไปเรื่อยๆ ให้ทำไปมันจะเกิดนะ หลวงตาบอกว่าท่านกำหนดพุทโธ พุทโธนี่เรียนอยู่ ๗ ปี เป็นสมาธิอยู่ ๓ หน ลงรวมใหญ่ ๓ หน ๗ ปี ๓ หน แล้วคิดดูสิว่าเราทำนี่ เราตั้งใจจริงอย่างนั้นหรือเปล่า?

๗ ปีนะ เรียนอยู่แล้วพุทโธด้วยนี่เป็นอยู่ ๓ หน ฉะนั้น เวลาท่านเรียนจบแล้ว ท่านตั้งใจปรารถนาจะออกปฏิบัติ เวลาออกปฏิบัติมาท่านต่อสู้เต็มที่เลย แล้วมันก็เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ แล้วก็ตั้งตัวได้ แล้วก็วิปัสสนาผ่านพ้นมา ท่านทำของท่านมา ประสบการณ์ท่านมีของท่าน ท่านเทศน์ถึงแตกฉานมาก

ฉะนั้น เวลาของเรานี่เรานึกถึงโครงกระดูก นึกถึงแขน หัว ขา นี่นึกถึงขา นึกถึงแขน นึกถึงหัว นึกถึงต่างๆ ผ่าไปๆ แล้วดูไปมันจะเป็นอีก เพราะว่ามันเป็นตามข้อเท็จจริง ถ้าจิตมันสมควรของมันมันก็เป็นของมัน ฉะนั้น..

ถาม : ถ้าแบบนี้ผมควรยึดหลักภาวนาแบบนี้ต่อไปหรือไม่ครับ ควรเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นไหมครับ

หลวงพ่อ : เอาหลักนี้แหละ ถ้าเราทำได้เราทำของเราไป ถ้าเปลี่ยนแปลงไป จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรล่ะ? ไอ้นี้พอจิตมันลงได้ ถ้าเรายึดได้ เราทำได้.. เหนื่อยนะ ทำงานในใจเหนื่อยมาก กำหนดหรือตั้งสตินี่เหนื่อยมาก ยิ่งใช้ปัญญา ออกมานี่หอบเลยนะ เหนื่อยมาก เหนื่อยมาก ฉะนั้น เวลาทำงานลงทุนลงแรง มันอาบเหงื่อต่างน้ำนี่มันเหนื่อย เราเห็นใจนะ แต่! แต่มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นผลงานของใจดวงนั้น

ใจดวงใดพัฒนาใจดวงนั้น ตั้งสติ ทำความสงบของใจ ฝึกหัดใช้ปัญญา เหมือนนักกีฬาผู้ชำนาญการเทคนิค เขาต้องมีประสบการณ์มากเขาถึงมีความชำนาญการมาก จิตถ้ามันจะมาภาวนาเป็น มันต้องล้มลุกคลุกคลาน แล้วมันถึงตั้งตัวขึ้นมาได้ แล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา ใช้ก็ยังล้มลุกคลุกคลาน ทำจนจิตนี้สงบ จิตนี้ปล่อยวางจนถึงที่สุด เห็นไหม กิเลสมันจะขาดไปจากใจ มันต้องพัฒนาของมันไปเป็นชั้นเป็นตอน

เราต้องขยันหมั่นเพียร ใครจะพูดอย่างไรมันเรื่องของเขา เขาจะมั่งมีศรีสุขก็เรื่องของเขา เขาจะทุกข์ทนเข็ญใจมันก็เรื่องของเขา แต่ของเราล่ะ? ถ้าเรามั่งมีศรีสุขเราก็ประสบความสำเร็จของเรา ถ้าเราทุกข์ทนเข็ญใจเราก็ทุกข์ของเรา เราต้องดูใจของเรา แล้วเราแก้ไขใจของเรา เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นการปฏิบัติเพื่อตัวของเรา เอวัง