ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ฟื้นฟูใจ

๒๕ ก.ย. ๒๕๕๔

 

ฟื้นฟูใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถ้ากรณีเกิดอุทกภัยมันเป็นการเตือนนะ เวลาโลกเขาบอกว่าต่อไปโลกจะแตก น้ำจะท่วม ทุกคนหนีหมดเลย แต่เขาไม่ได้คิดกันอย่างนี้ แต่เราคิดนะ เรามองในทางประวัติศาสตร์เมืองทั้งเมืองหายไปเลย เมืองทั้งเมืองนี่หายไปเลย ถึงเวลามันหายไปเพราะอะไร? เพราะคลื่นสึนามิมันกวาดไปหมด

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่ามันเกิด เกิดอุทกภัย เห็นไหมถ้าภัยอย่างนี้มันเกิดมาเป็นครั้งเป็นคราว พอเกิดเป็นครั้งเป็นคราวต่อไปเรื่อยๆ เขาว่าน้ำจะท่วมโลก มันจะเป็นอย่างนั้น ไอ้นั่นมันกาลเวลา มันต้องอาศัยกาลเวลา ความเป็นไป นี้เรื่องของโลก เรื่องของสิ่งที่เราเห็นให้มันเตือนเรา ถ้าเตือนเรา ดูสิการเดินทางของเรามันไม่สะดวกสบาย คำว่าไม่สะดวกสบายเพราะอะไร? เพราะคน เห็นไหม

นี่เวลาเขากันน้ำไว้ เขารักษาพื้นที่นี้ไว้ แล้วอีกพื้นที่หนึ่งล่ะ? ไอ้นี่มันเหมือนกับว่าคนเรามันรับผลไม่เท่ากัน แล้วเขาก็โต้เถียงกัน โต้เถียงกันว่าต้องให้เสมอภาค ต้องระบายออก ต้องระบายออก แต่ถ้ามองโดยผลประโยชน์ มองโดยเหตุผล เขาต้องกันเฉพาะพื้นที่นี้ไว้เพื่อให้ความปลอดภัย แต่สิ่งที่เราไม่ได้กันล่ะ? แล้วเราสร้างเวรสร้างกรรมแตกต่างกันมาอย่างไร?

น้ำท่วมครั้งเดียวกัน อีกฝ่ายหนึ่งได้รับการดูแลไว้ อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้รับการดูแล เห็นไหม ไม่ได้รับการดูแล แต่เขาดูแลโดยมุมมองของเขาไง มุมมองของเขาว่าสิ่งนี้ต้องดูแลไว้เพื่อมันเป็นผลประโยชน์สาธารณะ สิ่งนี้มันมีประโยชน์เหมือนกัน ถ้ามันท่วมแล้ว แต่ความเสียหายมันมากมันน้อย นี่มันมุมมองของเขา แต่ถ้าเราล่ะ? ถ้าเราเป็นคนที่ว่าเราอยู่นอกเขตคันกั้นน้ำ เราอยู่นอกต่างๆ เราจะเสียใจไหม?

ถ้าเราเสียใจ แต่ถ้าเราคิดของเราได้ เรามีสติปัญญาของเรา เราจะไม่เสียใจมากจนเกินไป ถ้าเสียใจมากจนเกินไป เราจะรักษาหัวใจของเราด้วยธรรม ถ้าเรารักษาหัวใจของเราด้วยธรรมนะ เช่นเราแสวงหากันอยู่นี่เหมือนคนตื่นนะ คนตื่นกับคนหลับใหล หลับใหลไปในกิเลสอย่างหนึ่ง หลับใหลไปในกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เห็นไหม นี่อย่างนี้ปลุกตื่นได้ยาก แต่คนนอนหลับ คนขี้เซา คนต่างๆ เรายังปลุกเขาตื่นได้ง่าย

ถ้าจิตใจเราตื่นตัวขึ้นมา เราพยายามแสวงหาของเรา เราทำที่พึ่งของเรา ถ้าเราทำที่พึ่งของเรา นี่เราแสวงหากัน ทำบุญกุศลของเรา มีหลักมีเกณฑ์ของเรา เรายืนอยู่ของเราได้ เวลามีผลกระทบนั่นน่ะมันทุกข์ไหม? มันก็ทุกข์ แต่พอมันทุกข์แล้วนี่มันมีธรรมะให้เราเป็นเครื่องปลอบใจไง ถ้ามีธรรมะเป็นเครื่องปลอบใจ เห็นไหม ถ้าธรรมะมันชโลมหัวใจเราให้หัวใจเราพอมีจุดยืน เราจะไม่ทุกข์ไปกับเขา

โลกมันเป็นแบบนี้.. โลกมันเป็นแบบนี้นะ เวลาเกิดภัยแล้งนี่ทุกข์ยากไปทั้งหมดเลย เวลาทุกข์ยากไปทั้งหมดเลย คนจะมีฐานะดี หรือฐานะต่ำต้อยขนาดไหน เวลาเราแสวงหาปัจจัยเครื่องอาศัย เวลามันขาดแคลนมันก็ต้องแบ่งสรรปันกันน่ะ ถ้ามันแบ่งสรรปันกัน เห็นไหม สิ่งนี้ถ้าเราทำใจได้ เรารักษาหัวใจของเรา นี่มันมีธรรมะเพื่อชโลมใจ มันจะไม่หลับใหลไปกับกิเลสนะ

ถ้าเรามองถึงคนที่เขาไม่สนใจ แล้วเขาใช้ชีวิตของเขา แล้วเขาว่ามีความสุข เรามาทบทวนดูว่ามันเป็นความสุขจริงหรือเปล่า? ถ้าเขาบอกเขามีความสุขของเขา แต่เราทบทวนดูแล้วนี่ สิ่งนั้นมันไม่ใช่ความสุขจริง แล้วไม่ใช่ความสุขจริง แต่เขาก็หลับใหลไปกับกิเลสของเขา เขาก็หลับใหลไปกับความพอใจของเขา

นี่ดูหนัง ดูละครแล้วย้อนดูตัว ถ้าเราไม่เป็นแบบเขา เห็นไหม เราภูมิใจไหม? ถ้าเราภูมิใจของเรา เวลาเรามาทำบุญกุศลของเรา เรามาเสียสละของเรา เราออกมาวิเวก ออกมาแสวงหา ถ้าแสวงหานะสิ่งนี้มันจะเป็นฐาน ฐานของเรานะ ทาน ศีล ภาวนา คนเราจะภาวนา เห็นไหม ทุกคนถามว่าเวลาภาวนาไปแล้วทำไมมันไม่ประสบความสำเร็จ

เวลาความสำเร็จ นี่พาหิยะฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์เลย แต่เบื้องหลังเขาภาวนาสละตายๆ เขาสละตายของเขาเลย แต่สละตายแล้วเขาก็ไม่ได้ถึงเป้าหมายของเขา เขาก็ยังเวียนเกิดเวียนตายอยู่ นั้นเป็นเพราะเขาทำของเขา เวลาเขามาฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียวเขาเป็นพระอรหันต์ เห็นไหม

นี่เราจะภาวนา เราจะฝึกใจของเรา การเสียสละจากภายนอก ถ้าการเสียสละจากภายนอกนะ การเสียสละจากทาน ศีล ภาวนา ถ้ามีการเสียสละของเราออกมา จิตใจของเรามันมีความเข้มแข็ง ถ้าจิตใจของเราเข้มแข็ง เวลานั่งภาวนามันก็นั่งภาวนาของมัน มีหลักเกณฑ์ของมัน แต่ถ้าจิตใจเราไม่เข้มแข็ง เราก็ปฏิบัติของเรา แต่มันโลเล ถ้ามันโลเลแล้วสิ่งใดจะมาเสริมล่ะ?

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น เราเท่านั้นจะต้องเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ”

แล้วเวลาจิตใจเราเข้มแข็ง จิตใจเราโลเล เราจะเอาอะไรเป็นเครื่องยืนยันล่ะ? เครื่องยืนยัน เห็นไหม ถ้าคนมันหลับใหล เวลามันโลเล เวลาที่มันไม่มีหลักมีเกณฑ์มันไหลตามไปเลย แล้วมันพอใจของมัน มันสะใจของมัน แต่ถ้าคนมีจิตใจที่เข้มแข็ง เขาจะมองว่าสิ่งที่โลเลนี่เราแพ้กิเลสแล้ว นี่ไงถ้าเราแพ้กิเลส เราไม่หลับใหลให้กิเลสมันครอบงำจิตใจของเรา เราเป็นคนตื่นตัวขึ้นมาเอง เราเป็นคนสลัดหน้า สลัดถึงความง่วงเหงาหาวนอน แล้วเราทำของเราเอง

สิ่งที่ทำของเราเองมันต้องมีจุดยืนของมันนะ จิตใจไม่มีกำลังทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้นไม่ได้ เวลาปฏิบัติไปนี่สักแต่ว่าทำ นี่ถ้าเรามีความเข้มแข็งทางโลก เราบอกเราทำได้ ครูบาอาจารย์ท่านนั่งภาวนาชั่วโมงหนึ่ง เราก็ชั่วโมงหนึ่งได้ มีคนปฏิบัติมากบอกว่านั่งตลอดรุ่งๆ เขาพยายามทนของเขานั่งตลอดรุ่งนะ แต่เวลาพิสูจน์กันแล้วเขานั่งหลับของเขา

เขานั่งนะมันก็ได้แค่กิริยาการกระทำ แต่หัวใจมันไม่เป็นไป เห็นไหม แต่ถ้าเราจะทนเอา สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าทำ.. สักแต่ว่าทำมันเป็นการฝึกหัด แต่ถ้าจิตใจมีสติ มีปัญญาขึ้นมานี่เราจะตื่นตัวขึ้นมา ตื่นตัวขึ้นมามันจะมีหลักมีเกณฑ์ของมันขึ้นมา ถ้าจิตสงบนะ พอจิตมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาเรามีความพอใจแล้ว

ถ้าจิตสงบขึ้นมา เห็นไหม ดูสินักศึกษาเวลาเขาเรียนเขาต้องมีอุปกรณ์เครื่องการเรียนของเขา เราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะต้องมีอุปกรณ์ของเรา เราจะต้องมีสติ เราต้องมีสมาธิ เราต้องมีปัญญาของเรา ถ้าเรามีสติของเรา เห็นไหม เราจะไม่ถามเลยว่าเวลาจิตมีสติขึ้นมาเป็นอย่างไร? เวลาจิตสงบแล้วเป็นอย่างไร?

จิตสงบเป็นอย่างไร ถ้าคนเคยสงบแล้วมันเข้าใจได้ แต่! แต่มันจะรักษาไว้ได้อย่างไร? ถ้ามันรักษาไว้นี่ สิ่งที่เรามาทำกันอยู่นี้มันเป็นผล มันจะเกี่ยวเนื่องมาตอนนี้แล้ว.. สิ่งที่เราทำกันอยู่นี้ เราทำเพื่อเสียสละอยู่นี้ เรามาทำบุญกุศลอยู่นี้ เวลาถ้ามันมีสติ แล้วเกิดเราจะรักษาของเรา นี่มันมีสิ่งนี้มารองรับ ความรองรับ เห็นไหม พันธุกรรมทางจิต

จิตของใครได้สร้างมาดี จิตของใครได้ขวนขวายมาดี เวลามีสิ่งใดกระทบกระเทือนจิตของเรา เราก็รักษาจิตของเราได้ง่าย จิตของเราเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันต้องการสถานะรองรับ สถานะเป็นพื้นฐานให้จิตใจเราเข้มแข็ง มันก็มีสิ่งนั้นเป็นสถานะรองรับ

เราทำงานแต่ทางโลกนะมันเป็นความดีไหม? มันเป็นความดี.. ถ้าเป็นความดีทางโลกมันก็เป็นความดีทางโลก แต่เราปฏิบัติบูชา คนเขามองนะ มองว่าคนที่ทำงานจะต้องขวนขวาย จะต้องทำสิ่งที่ประสบความสำเร็จของเขา แต่เวลาเราทำของเรา เวลาประสบความสำเร็จ สำเร็จที่ไหน? เราทำประสบความสำเร็จ งานนั้นเสร็จแล้ว แต่มันเป็นงานของใครล่ะ? แล้วเราภูมิใจไหม? แต่ถ้าเราทำสำเร็จแล้ว เป็นของส่วนตัวเรา แล้วใครจะดูแลรักษาให้เราล่ะ? เราต้องดูแลรักษาของเราเอง

วัดนี่เวลาปลูกสร้าง เวลาสร้างวัดกัน เห็นไหม ว่าจะต้องแสวงหาสิ่งนั้นมาสร้างเป็นถาวรวัตถุ สร้างเสร็จแล้วใครดูแลรักษา? เวลาสร้างก็ลำบากลำบนนะ เวลาพระนี่พูดกันมาก เวลามีการก่อสร้าง พยายามเรียกร้องศรัทธาของเขา ให้เขาเห็นด้วย ให้เขามีศรัทธามาสร้าง อันนี้เป็นงานที่ว่าเราต้องลงทุนลงแรงมากนะ แต่เวลาสร้างเสร็จแล้วใครดูแลรักษา? นี่การดูแลรักษานั้นมันก็เป็นงานอีกอันหนึ่ง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราประสบความสำเร็จขึ้นมาแล้ว เราจะดูแลรักษามันอย่างไร? นี่เวลาตีเมืองขึ้นนะ เวลาเขาตีเมืองกัน ตีเมืองนี้แสนยากเลย แต่ตีเสร็จแล้วเราจะปกครองดูแลอย่างใด? ถ้าเราปกครองดูแลได้เมืองนั้นจะเจริญ เมืองนั้นจะเป็นที่พึ่งอาศัยของคน สิ่งที่เข้ามาพึ่งพาอาศัยเป็นประโยชน์กับเขา จิตใจของเรา เห็นไหม ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา แล้วเราจะรักษาอย่างใด?

นี่ถ้ารักษาอย่างใด เบื้องหลัง ผู้ที่ขิปปาภิญญา ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ถ้าปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เห็นไหม นี่มันมีมาทั้งนั้นแหละ คนต้องทำมา คนใดไม่ทำมานะ ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ปฏิบัติง่ายๆ แต่รู้ได้ยาก ก็ต้องปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆ

ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติยากรู้ง่าย ปฏิบัติยากรู้ยาก.. ถ้าปฏิบัติยากรู้ง่ายก็ยังดี เพราะปฏิบัติยากแต่รู้ได้ง่ายๆ ง่ายๆ คือว่าช่วงมันสั้น ปฏิบัติยากรู้ยาก ปฏิบัติก็ยากอยู่แล้ว ยังต้องกว่าจะรู้ รู้ได้ยากเราต้องขวนขวายอย่างมากเลย

ต้นทุนมันมีนะ ต้นทุนของคน นี่จิตมันมีต้นทุนของมันมา ต้นทุนมันทำคุณงามความดีมา เห็นไหม นี้เราก็มีต้นทุน ถ้าเราไม่มีต้นทุนนะทำไมเรามีจิตใจฝักใฝ่ จิตใจต้องการ คนไปถามหลวงตามากว่าภาวนานี่ต้องมีอำนาจวาสนา ภาวนาอย่างใดถึงว่าอำนาจวาสนา มันถึงจะภาวนาได้ง่าย

หลวงตาบอกว่า “การที่เราจะภาวนานะ เรากำหนดพุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ หรือมรณานุสติแล้วมันโล่งโถง มันทำได้ง่าย นั้นคือทางของเรา”

แล้วเรามีอำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหน? ถ้าไม่มีอำนาจวาสนา เราจะมาประพฤติปฏิบัติหรือ? ถ้าไม่มีวาสนาเราจะคิดอย่างนี้หรือ? คิดเสียสละ เห็นไหม ความเสียสละ เราเสียสละแรงกาย เสียสละกำลังทรัพย์ เสียสละบุญกิริยาวัตถุ เสียสละความสะดวกสบายของเรา เพื่อมาบังคับให้จิตใจนี้นั่งสงบ เพื่อจะแสวงหาตัวจิตของเรา ถ้าเราแสวงหาตัวจิตของเราเจอ นี่เราแสวงหาของเรา เราต้องตั้งสติของเรา แล้วเรามีคำบริกรรมของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

พุทโธ พุทโธ พุทโธของเรา เห็นไหม บอกเหมือนนาโน นาโนสิ่งที่เล็กที่สุดเขาเอามาทำเป็นอุตสาหกรรมกัน จิตใจของเรานี่ถ้าเราไม่นึกพุทโธ เราไม่นึกพุทโธมันก็ไปประสามัน เพราะธรรมชาติรู้มันมีของมันอยู่แล้ว พอเรานึกพุทโธนี่มันเกาะ นี่คำบริกรรมจิตมันเกาะนี้ไว้ จิตมันเกาะนี้ไว้ เวลาเราทำงานข้างนอกว่าหนักหนาสาหัสสากรรจ์ แต่เวลางานนะ เราพักจากงานเราว่าสิ่งนี้เป็นการพักผ่อน

ฉะนั้น เวลาเรานั่งเฉยๆ เราไม่ได้ทำงานข้างนอกเลย มันก็เหมือนกับการพักผ่อนทางโลกเขา ทางโลกเขาถึงมองไง มองว่าคนที่ว่าทำงานหนักๆ นี่ไม่เห็นทำอะไร ทำงานหนักๆ ทำไมไม่มีผลงานเลย.. ผลงานทางโลก สร้างมาแล้วใครจะดูแลรักษา ผลงานทางธรรม เห็นไหม เวลาจิตสงบขึ้นมานี่จิตมีหลักมีเกณฑ์ของมัน จิตมีสติปัญญาของมัน

เวลาจิตมีสติปัญญานะ ดูสิเวลานักเรียน นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เห็นไหม เขาท่องบ่น เขาพยายามท่องบ่นของเขา เขาต้องเขียนเป็นเรียงความธรรมะต่างๆ ขึ้นมา เขาพยายามศึกษา พยายามทำความเข้าใจของเขา เขาศึกษา เขาทำความเข้าใจ เขาก็ว่าเขาศึกษาธรรมะนะ แต่เขาก็ได้แต่ทางวิชาการ แต่เรามาพุทโธ พุทโธของเรา ปัญญาอบรมสมาธิของเรา ถ้าจิตของเรา..

นี่สิ่งที่เขาแสวงหามา ดูพระนะ เวลาพระอยู่กับครูบาอาจารย์ เวลาตัดเย็บนะ นักธรรมโทเขามีตัดเย็บจีวร เห็นไหม ทำรังดุมอย่างใด? เป็นอนุวาต เป็นกุสิอย่างใด? นี่แต่ตัดเย็บเป็นไหมล่ะ? เวลาศึกษาจบแล้วนะ เวลาใช้ผ้าก็ไปซื้อเอาตามร้าน อย่างของเราครูบาอาจารย์ท่านฝึกมา มาเป็นปะขาวนี่ต้องท่องบ่นให้ได้ ต้องตัดเย็บจีวร ตัดเย็บต่างๆ ตัดเย็บของเราให้ได้

ถ้าตัดเย็บได้ เหมือนเรานี่ถ้าเราซ่อมบำรุงสิ่งของในบ้านเราได้ สิ่งใดเสียหายเราจะซ่อมบำรุงสิ่งของบ้านเรา สิ่งของในบ้านเรามาบำรุงรักษาไม่ได้ เวลาเสียหายขึ้นมาเราต้องไปจ้างวานเขา เวลาปลูกบ้านสร้างเรือน ไปจ้างใครก็จ้างได้ง่ายนะ แต่เวลาซ่อมรักษานี่ หาคนซ่อมรักษาได้ยากเพราะของมันเล็กน้อย แต่ถ้าเราซ่อมบำรุงรักษาของเราได้ เราจะมีความสบายใจขนาดไหน

นี่พระป่า พระปฏิบัติของเรา เห็นไหม อยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะฝึกสอนมา ให้ท่องบ่นสวดมนต์ ให้รู้จักที่สูง ที่ต่ำ ให้มีข้อวัตรไง เวลาเป็นปะขาวถือศีล ๘ ต้องอุปัฏฐาก อุปัฏฐากนั้นคือการศึกษาธรรมะ การศึกษาธรรมะที่เขาศึกษานักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก นี่เขาศึกษาทางวิชาการมา จบแล้วทำอะไรไม่เป็น แต่เวลาพระป่าของเรา เห็นไหม เราศึกษา ศึกษาโดยครูบาอาจารย์สั่งสอน ศึกษาโดยการอุปัฏฐาก ศึกษาโดยการกระทำ กะผ้า เย็บผ้า ย้อมผ้า เนาผ้า เราศึกษาขึ้นมา เราทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา

เราศึกษาด้วย แล้วเราเป็นด้วย แล้วเวลาเรามาประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน นี่เวลาปฏิบัติขึ้นมา เราศึกษาของเรา ด้วยจิตของเรา ถ้าจิตเราได้ศึกษา ได้มีการกระทำของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา มันเป็นข้อเท็จจริงไง ถ้าเป็นข้อเท็จจริงขึ้นมานี่สติก็เป็นสติ สมาธิก็เป็นสมาธิ ปัญญาก็เป็นปัญญา แล้วเราซ่อมบำรุงรักษาได้ด้วย ได้ด้วยเพราะอะไร? เพราะเราฝึกของเราขึ้นมาเอง เราฝึกของเราขึ้นมาเองนะ แต่เวลาเราศึกษามาทางวิชาการนะว่าอย่างนี้เป็นสติไหม? อย่างนี้เป็นสมาธิไหม? อย่างนี้เป็นปัญญาไหม?

ทั้งๆ ที่เราฝึกฝนอยู่นี่เราก็ลังเล แต่ถ้าจิตใจเรา เราทำของเราอยู่มันก็ลังเลนะ แต่เรามีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งไง เราเป็นปะขาว เราบวชขึ้นมาแล้วเราอยู่กับครูบาอาจารย์ เราทำของเราไป แล้วพอเวลาทำของเราไป พอมีปัญหานี่เราไต่ถามได้ เราตรวจสอบได้ ตรวจสอบกับครูบาอาจารย์ของเราได้ เราศึกษา เราประพฤติปฏิบัติมาโดยข้อเท็จจริง ถ้าโดยข้อเท็จจริงขึ้นมา เวลามันเป็นขึ้นมา เราเป็นขึ้นมามันรู้ มันเห็น มันเป็นรูปเลย

การทำงาน คนเราต้องมีผลงานใช่ไหม? เวลาจิตมันสงบมันรับรู้ของมัน มันรับรู้ของมัน เวลาเสื่อมมันรู้ว่าเสื่อมของมัน เหมือนบ้าน เหมือนเรือน เวลาเราสร้างเสร็จเรารู้ว่าเสร็จ เวลาเราใช้สอยไป มันชำรุดเสียหายเราก็รู้ว่าชำรุดเสียหาย ถ้าชำรุดเสียหายเราจะซ่อมอย่างไร? นี่ก็เหมือนกัน เวลามันเคลื่อนไหว จิตเรามันโลเล มันโลเลนี่โลเลเพราะอะไร? แล้วสิ่งที่เวลาทำความสงบของใจมันสงบเข้ามานี่ มันสงบมาได้อย่างไร? มันสงบมาได้อย่างไร? เห็นไหม

นี่มันมีพื้นฐานของมันมา มันล้มลุกคลุกคลานมา เพราะการปฏิบัติเริ่มต้นมันแสนยาก คำว่าแสนยากนะมันเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดไง ดูสิเวลาเขาเกณฑ์ทหาร ทหารใหม่เข้าไป เวลาฝึกทหารนี่ฝึกใจไม่เป็นเลย ยิ่งสมัยโบราณนะต้องเอาผ้าแดงผูกไว้มือซ้าย มือขวา ซ้ายขวายังไม่รู้เลย แต่ฝึกไปๆ มันยิงปืนเป็นนะ มันยิงปืนก็ได้ มันออกรบก็ได้

จิตใจของเรากว่าจะฝึกฝน เห็นไหม เราซ้าย ขวานี่เราไม่รู้เรื่องเลย แต่เราทำของเราไปนะ เราทำของเราไป เวลามันเป็นขึ้นมา มันดีขึ้นมา จิตใจเราดีขึ้นมา ถ้าดีขึ้นมานี่.. ทรัพย์สมบัติสิ่งใดในโลกนี้มันจะมีคุณค่ามากกว่านี้ล่ะ?

โลกเขาแสวงหาทรัพย์กัน เราแสวงหาธรรม ถ้าเราแสวงหาธรรมนะ เรามีความสุข เรามีความร่มเย็น สถานะทางโลกเราจะสูงส่งขนาดไหน ต่ำต้อยขนาดไหน นั้นมันเป็นเรื่องเวร เรื่องกรรม แต่ถ้าเรารักษาใจของเราได้ เราอยู่ได้นะ สูงส่งขนาดไหนก็มีความสุข ต่ำต้อยอย่างใดเราก็มีความสุข มีความสุขได้ เราไม่มีความน้อยเนื้อต่ำใจ

ดูเวลาพระเราสิ ดูครูบาอาจารย์ของเราสิท่านอยู่ของท่านนะ สมบัติที่มีอยู่นี้มันเป็นสมบัติสาธารณะ อาราม อารามิกเป็นที่อยู่ของผู้ที่ไม่มีเรือน แล้วผู้ที่ไม่มีเรือนนะบวชเป็นพระ เป็นเจ้าไม่มีเรือนก็มาอาศัยอยู่กับสิ่งนี้ แล้วซ่อมบำรุงรักษา เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะในธรรมวินัย.. ภิกษุเอาของสิ่งใดไปใช้ เวลาธุดงค์มา ตั่ง เตียงต่างๆ ของที่เอาไปใช้ เวลาจะจากไปไม่เก็บเองก็ดี ไม่ไหว้วานให้พระในวัดเก็บก็ดี เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ต้องดูแลรักษาทั้งนั้นแหละ

นี่เห็นไหม ทำไมเขาอยู่ได้ล่ะ? ต่ำต้อย เข็ญใจขนาดไหน สถานะของพระมันมีค่าเท่ากัน มนุษย์มีค่าเท่ากัน สิ่งที่เราต่ำต้อย สูงส่งนั้นเป็นสิ่งที่เวรกรรมทำมาอย่างนั้น ฉะนั้น เวรกรรมทำมาอย่างนั้นนี่เราทำของเราไป ถ้าจิตใจเรามีหลักมีเกณฑ์ เรามีสิ่งนี้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ถ้ามีหล่อเลี้ยงเรียกว่ามีธรรม นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ บอกว่า

“เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งใดเป็นทีพึ่งเลย”

สิ่งใดเป็นที่พึ่งไม่ได้ ข้าวปลาอาหารเราว่าเป็นที่พึ่ง เรากินเพื่อดำรงชีวิต แต่เวลาเราทุกข์เรายาก เรามีกินของเรา เราก็มีสมบูรณ์อยู่แล้วทำไมมันทุกข์ล่ะ? เวลาเราตายไป เราไม่ต้องการกินข้าวปลาอาหาร แล้วมันมีสิ่งใดเป็นที่พึ่งล่ะ?

ถ้าเรามีธรรมเป็นที่พึ่งนะ ข้าวปลาอาหารนั้นมันเป็นเรื่องของร่างกาย แต่เรามีธรรมเป็นที่พึ่งอยู่แล้ว เราจะใช้ประโยชน์ของเรา พอประมาณของเรา แล้วสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับโลกก็ได้ จะเก็บไว้มื้อต่อไปก็ได้ เครื่องใช้ไม้สอยเราก็ใช้ของเรา ประสาของเรา.. เราจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด ถ้ามีธรรมเป็นที่พึ่งแล้ว มันใช้สอยสิ่งใดมันเป็นประโยชน์กับทุกๆ คนไง แล้วมันเจือจานเขาก็ได้ด้วย เจือจานชีวิตเราก็ได้ด้วย มันเจือจานชีวิตเรานะ

ฉะนั้น พระเรานี่เวลาจะบวช เห็นไหม ครูบาอาจารย์เมื่อก่อนเขาให้เป็นปะขาวก่อน แล้วฝึกฝน ยิ่งหลวงปู่มั่นนะ ๓ ปี อย่างน้อย ๓ ปีกว่าจะได้บวช เว้นไว้แต่ผู้ที่บวชเป็นประเพณี ประเพณีหมายถึงว่าเขาเป็นข้าราชการ เขาลามาได้แค่นั้น ก็ให้บวชไปอย่างนั้น แต่ถ้าผู้ที่ตั้งใจบวช.. ดูสิในการศึกษาทางโลก ถ้าพื้นฐานดี เวลาปฏิบัติไปจะมั่นคงแข็งแรง

เวลาหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราวางพื้นฐานไว้ดี ผู้ที่เข้ามาบวช มาเรียน เห็นไหม พื้นฐานมีอยู่แล้ว เวลาบวชเข้ามานี่ พื้นฐานที่ดีก้าวเดินต่อเนื่องไปเลย แต่ในปัจจุบันนี้เวลามันน้อย ทุกอย่างมันน้อย แล้วเราก็เร่งบวชกัน ฉะนั้น สิ่งที่บวชมาแล้วนี่จริตนิสัย ขอนิสัยใคร ได้นิสัยใคร เวลานิสัยขึ้นมา เห็นไหม ทำทุกวันๆๆ เดินตามนั้น เดินตามนั้นจนมันได้นิสัย ถ้าได้นิสัยจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น

นี่การฝึกหัด ครูบาอาจารย์ของเราท่านมองนะ มองว่าถ้าจิตใจเข้มแข็ง จิตใจมีหลักมีเกณฑ์มันจะเป็นประโยชน์ แต่! แต่เรามองรูปธรรมไง ว่าต้องทำอย่างนั้นจะได้ประโยชน์อย่างนั้น จะได้ประโยชน์อย่างนั้น เห็นไหม

“เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด”

เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูด “คนที่มีพรรษามากแล้วไม่ต้องขึ้นมา ให้พระใหม่ๆ มันขึ้นมา มันจะได้มีข้อวัตรติดหัวมันไว้” เห็นไหม มันจะได้มีข้อวัตรติดหัวมันไป.. มีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด นี่มันมีข้อวัตร มีความรู้ติดไป จะทำสิ่งใดนี่เหมือนเราสวดมนต์นะ คนสวดมนต์ เคยทำบุญกุศล แล้วมันขาดสิ่งใดไปนี่มันเหมือนขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

เวลาเราเคยทำประจำ ข้อวัตรเราเคยทำของเราประจำ มันจะได้มีข้อวัตรติดหัวมันไป แต่พอมันไม่ทำสิ่งนั้น หรือยกเว้นสิ่งนั้นมันเหมือนขาดแคลนสิ่งใดไป เห็นไหม มันมีธรรมเป็นที่พึ่ง จิตใจมันมีหลักมีเกณฑ์ มีที่พึ่ง ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ มีที่พึ่งมันจะเป็นประโยชน์ หลักเกณฑ์อันนั้นจะเป็นประโยชน์อันนั้น เพื่อประโยชน์กับใจเรา

นี้ในการประพฤติปฏิบัติ เรามีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง เรามีครูบาอาจารย์เป็นหลัก ชีวิตที่ท่านดำรงชีวิตให้เราเห็นมันก็เป็นประโยชน์แล้ว ทำไมอยู่อย่างนั้นได้ ทำไมทำประโยชน์ได้ แล้วเราล่ะ? เราจะเอาอะไรเป็นประโยชน์ เราจะทำสิ่งใดเพื่อเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม นี้ถึงบอกว่าเราจะไม่หลับใหลไปกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว เวลาเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ สิ่งนี้นักกีฬาชนิดใดก็แล้วแต่ ผู้ที่เล่นกีฬานี่เขาหมดอายุใช้งานของเขา แต่จิตใจของเรามันไม่หมดอายุใช้งานนะ มันไม่เคยหมดอายุใช้งาน มันจะเวียนตายเวียนเกิดไปอย่างนี้ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม เราพยายามทำของเรา ถึงที่สุดนะ ถ้าสิ้นสุดแห่งทุกข์แล้วก็จบ ถ้าไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์เราต้องขวนขวายของเรา เพื่อประโยชน์กับเราในโลกนี้

นี้พูดถึงในการให้เห็นว่าถ้าเราไม่หลับใหล เราตื่นตัวตลอดเวลา ตื่นใจมันตื่นอยู่นี่มันจะเป็นประโยชน์กับจิต ถ้าเราหลับใหลนะ วันเวลา ๒๔ ชั่วโมงเท่ากัน คนเกิดมาอายุขัยของใคร อายุสั้น อายุยืนก็เรื่องของเขา แต่วันเวลามันเป็นประโยชน์กับใจทุกดวงใจนะ ตายแล้วหมดสิทธิ์ เวลาแก่ เฒ่า ชราขึ้นมา เห็นไหม นั่งก็โอย ลุกก็โอย เมื่อนั้นเราก็บอกว่าเวลาหนุ่มสาวเราก็ไม่ทำ แต่เวลาหนุ่มสาวเราก็บอกว่าตอนนี้ยังหนุ่มสาวอยู่ ให้แก่เฒ่าแล้วค่อยทำ

นี่กิเลสมันหลอกลวงอย่างนี้ หลอกลวงเราว่าแล้วค่อยทำ แล้วถึงจะเวลาทำมันก็จะสายเกินไป คือเราไม่กระฉับกระเฉง เราไม่สดชื่น ดูสิเวลาทางกีฬาเขาได้ความสด ความสดคือว่าเขาสดชื่นของเขา เขาได้ความสดของเขา แต่เทคนิคนะเราต้องฝึกฝนของเราไป.. นี้เพื่อเตือนสติ เตือนการกระทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ

จะตอบปัญหาแล้ว ถามเรื่องการปฏิบัติเนาะ

ถาม : เรื่องว่าอุบายธรรมที่โยมได้รับไปแล้วปฏิบัติต่อเนื่องมาเลยค่ะ จนเมื่อเดือนกว่านี้ทำวัตรเย็นแล้วนั่งภาวนา แล้วนอนไปก็สะดุ้งตื่น มันมีความอยากภาวนา โยมก็ตั้งใจภาวนาต่อ พุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ จนถึงจิตสงบแล้วเกิดสภาวะร่างกายโยมเหมือนแตกออกเป็นเสี่ยงๆ แล้วมันก็หดตัว แล้วมันก็แตกออกเห็นเนื้อแดงๆ ไม่มีหนังหุ้ม เห็นเลือด กลิ่นคาว โยมก็มองแล้วก็พิจารณาเลือดเนื้อ แล้วไม่ไหวรู้สึกกลัวโยมก็กลับมาพุทโธใหม่ มันก็กลับมาที่ร่างกายที่แตกเป็นเสี่ยงๆ อีก

แล้วที่เห็นนี้ ตั้งแต่ปอดครับ หัวใจมันเป็นเลือด โยมมองดูแล้วไม่ไหวรู้สึกกลัว เลยออกมาพุทโธใหม่แล้วพิจารณาหรือเดินจงกรม ออกจากภาวนาแล้วดูนาฬิกา.. (มันอ่านไปเรื่อยน่ะ) แล้วออกจากกาย แต่ที่เกิดขึ้นมาจริงกลับตกใจ

หลวงพ่อ : จะบอกว่าเวลาเขาอยากเห็นกายใช่ไหม? อยากเห็นกาย แต่เวลาพิจารณาไปแล้วทำไมกลับกลัว แล้วบอกว่า “การภาวนานี้คือส้มหล่นหรือไม่ที่เห็นกายเหมือนจริงๆ แล้วไม่ทันพิจารณา มันย่อยสลายกาย..”

คือเขียนหวัด อ่านไม่ค่อยเข้าใจ แต่เราจับประเด็นของเราเอง คือว่าเวลาภาวนาไปแล้วเห็นกาย เวลาเห็นกายนี่กลับกลัวใช่ไหม? ถ้ามันกลับกลัวมันก็อยู่ที่พื้นฐาน ส่วนใหญ่แล้วคนจะกลัว เพราะโดยความคิดของเรานี่ โดยความคิดของเรา เราคิดว่าการเห็นกาย เพราะเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันจะเป็นการฆ่ากิเลส ถ้าเป็นการฆ่ากิเลสมันจะเป็นประโยชน์กับเรา

แต่ตามความเป็นจริงพอเราไปเห็นเข้านะ พอไปเห็นเข้าแล้วมันสะเทือน ถ้ามันสะเทือนเพราะว่าจิตใจเรามันยังไม่มั่นคง ถ้ามั่นคงนะ ถ้าเห็นทางโลกเราเห็นเป็นเลือด เป็นเนื้อ เห็นแล้วมันจะเกิดอาการขย้อน นี่เขาเรียกว่ามันยังเป็นโลกอยู่ ถ้าเป็นโลกอยู่เรากลับมาทำความสงบของใจมากขึ้น ถ้าทำความสงบของใจมากขึ้นนะ แล้วเราไปพิจารณาใหม่ ถ้าการพิจารณาใหม่..

นี่มีครูบาอาจารย์ท่านเคยพูดไว้ ถ้าเราพิจารณาแล้วมันขย้อน มันต่างๆ แล้วมันเกิดอาเจียน เกิดอะไรต่างๆ เราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นวิปัสสนานะ แล้วคิดว่าสิ่งนั้นเป็นผล สิ่งนั้นเป็นผลแล้วเราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นผลที่สำเร็จแล้ว นี่เราว่าจิตใจเราก็ดี จิตใจเราต่างๆ เวลามันเสื่อมมันเสื่อมหมดเลย แต่ถ้าจิตใจมันเป็นธรรมนะ จิตใจเป็นธรรมนี่เวลาเห็นครั้งแรกมันจะเกิดอาการกระเทือนมาก เวลาอาการกระเทือนมาก ถ้าจิตมันไม่ไหวไง มันไม่ไหวเราก็ปล่อยไว้ ปล่อยไว้

นี่มันเกิดอาการวูบ มันก็เหมือนเราไปเห็นสิ่งที่มันแทงหัวใจ สิ่งที่มันผิดปกติมันก็ต้องมีอาการหวั่นไหว แค่เห็นเงินนี่ เห็นเงินกองโตๆ ใจมันก็ฟูแล้ว เวลาใจมันไปเห็นอะไร ใจมันจะฟู ใจมันจะยุบของมัน ฉะนั้น ถ้าเราเห็นสิ่งนั้น จิตใจเรายังไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราก็วางไว้ก่อน ขนาดวางไว้ก่อนมันก็ยังสั่นไหวขนาดนั้นนะ แล้วเรากลับมาพุทโธ พุทโธ ถ้าจิตมีกำลังเราก็พิจารณาของเราใหม่ พิจารณาของเราใหม่ แล้วมันพิจารณา เวลามันเกิดสิ่งใด สิ่งนี้มันคาดการณ์ไม่ได้

ฉะนั้น เขาบอกว่า “สิ่งนี้เป็นส้มหล่นหรือเปล่า?” มันก็ใช่ คำว่าส้มหล่นหรือเปล่า มันก็เหมือนกับวาสนาของคน ถ้าวาสนาของคนนะ ดูสิอยู่ที่จริต จริตถ้าเราชอบสิ่งนี้ สิ่งนี้เราเห็นสภาพอย่างนี้ สิ่งนั้นมันก็ถูกใจเรา ถ้าเราไม่ชอบมันก็ไม่ถูกใจเรา แต่ถ้าคนที่เขาไม่รู้สึกอย่างนั้น สิ่งนั้นไม่กระเทือนอารมณ์เขา ฉะนั้น สิ่งที่เห็นแล้วนี่มันสะเทือนไหม? มันสะเทือน แล้วถ้าว่ามันเป็นส้มหล่นไหม? ถ้าเป็นส้มหล่น

คำว่าส้มหล่นของเรานี่นะ ให้เห็นว่าคนเราเวลาปฏิบัติแล้วมันมีมา มันมาด้วยอำนาจวาสนาของเวรของกรรม อันนี้อันหนึ่ง แต่เวลาคนเรา เห็นไหม ดูสิคนทุกข์ คนยาก แล้วสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนมีฐานะมั่นคง นี่เขาผ่านประสบการณ์มาแค่ไหน? จิตใจของเรานี่นะ เวลามันล้มลุกคลุกคลานเหมือนคนทุกข์ คนยาก แล้วเวลามันทำความสงบของใจ แล้วมันรักษาใจของเราได้ มันเหมือนกับเราคนทุกข์ คนยาก แต่เราทำหน้าที่การงานจนมันมั่นคง พอมั่นคงมันต่างกับส้มหล่น

ฉะนั้น เวลามันต่างกับส้มหล่น.. เงิน แบงก์นี่นะ แบงก์ใบหนึ่งมันก็เหมือนกับแบงก์ใบหนึ่ง แบงก์ ๑๐๐ ใบมันก็เหมือนกัน แต่! แต่ที่มาของแบงก์ คนทำงานนี่คนเราหน้าที่แตกต่างกัน อย่างเช่นเรานี่เราก็ได้มาอีกอย่างหนึ่ง คนอื่นก็ได้มาอีกอย่างหนึ่ง มันได้มาไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เวลามันเห็นกาย เห็นไหม เห็นกายนี่ ถ้าเป็นลูกใช่ไหมเราก็ขอจากพ่อแม่มา แต่ถ้าเราทำงาน เราทำตามหน้าที่การงานเราก็ได้ของเรามา

ฉะนั้น เวลาที่เราบอกว่าส้มหล่น นี่เห็นกายเหมือนกัน แบงก์เหมือนกัน แต่ได้อย่างไรมา ถ้าได้อย่างไรมาเราถึงบอกว่ามันเกิดด้วยธรรมไง เวลาธรรมผุด ธรรมผุดนี่ มันก็เหมือนกันเวลาธรรมผุด แต่นี้เราปฏิบัติอยู่ ปฏิบัติอยู่แต่เวลามันเกิดขึ้นมานี่เกิดเป็นเลือดแดงๆ ไปหมดเลย

คำว่าเลือดแดงๆ นี่นะมันยังอยู่กึ่งโลกมากเกินไป แต่ถ้าพอจิตมันสงบนะมันเห็นเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่เลือดแดงๆ แบบกึ่งโลกไง ถ้าจิตมั่นคงนะมันจะเห็นเป็นโครงสร้างที่ใส ใสแจ๋วเลย เหมือนเห็นเป็นเพชรเลย อย่างนั้นสมาธิแรงเกินไป สมาธิแรงเกินไปมันจะเห็นอย่างนั้นเลย มันเป็นเลือดไหมล่ะ? มันไม่เป็น แต่ถ้าสมาธิเราอ่อนนะ มันเห็นอย่างนั้นปั๊บมันขย้อน ถ้ามันขย้อนปั๊บมันทำให้เราเสียวสันหลัง แล้วมันจะไม่กล้าทำอีกต่อไป

วางไว้ กลับมาพุทโธนี่ถูกแล้วล่ะ กลับมาพุทโธ พุทโธ แล้วถ้ามันเห็นหรือไม่เห็นเรารำพึงไป ถ้าสมาธิมันดีเรารำพึงไปนะ มันเห็นกายเหมือนกัน แต่เห็นอีกสถานะหนึ่ง เห็นอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าเห็นอีกรูปแบบหนึ่งมันจะเป็นประโยชน์กับเราแล้ว แล้วถ้ามันเป็นส้มหล่นหรือเปล่า?

มันเป็นส้มหล่นหรือไม่เป็นส้มหล่นมันผ่านไปแล้ว เราไม่ต้องวิตกกังวลกับมัน เราทำของเรา นี่เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ทำของเราดีมันก็เป็นความดี ถ้าทำของเรามันยังขาดตกบกพร่อง เราก็เสริมให้มันดีขึ้นมาให้ได้

ถาม : กระผมรักษาศีล สวดมนต์ เจริญสติมา ๒๐-๓๐ ปี ยังเข้าไม่ถึงเอกัคคตารมณ์เลย เข้าเพียงขณิกสมาธิเท่านั้น จะต้องศึกษา จะต้องรักษา จะต้องหมั่นเพียรต่อไปอย่างไร?

หลวงพ่อ : เราจะพูดอย่างนี้นะ นี่เวลา ๒๐ ปี ๓๐ ปีเรายังเข้าไม่ถึงเอกัคคตารมณ์เลย เวลารวมใหญ่นี่หลวงตาท่านบอกว่า “คนไม่รวมใหญ่ไม่รู้” แล้วคนที่รวมใหญ่นี่มันเป็นบางครั้งบางคราว เว้นไว้แต่คนที่สร้างอำนาจวาสนาบารมีมามาก เขาเข้าจนเป็นความปกติของเขา ถ้าเข้าเป็นความปกติของเขา เขาจะรู้เรื่องอะไรแปลกๆ ได้ดีกว่าคนอื่น

คำว่าแปลกๆ มันแปลกโลกนะแต่ไม่แปลกเขา ไม่แปลกกับจิตดวงนั้น แต่ถ้าของเรานี่ เราไม่เคยเข้าเอกัคคตารมณ์เลยมันก็ไม่จำเป็น อย่างเช่นเขาบอกว่าต้องมีเงิน ๑ ล้านแล้วเขาถึงใช้สอยได้ แต่เราไม่เคยมีเงินล้านเลย เราหาเงินมานี่ห้าร้อย พันหนึ่ง หมื่นหนึ่ง กี่หมื่นก็แล้วแต่เราก็ใช้สอยชีวิตได้

เราจะบอกว่ามันไม่จำเป็นถึงรวมใหญ่ ถึงจะวิปัสสนาได้ไง แต่ถ้าพูดถึงเราอยากจะมีประสบการณ์ว่าถ้าเอกัคคตารมณ์ จิตที่มันรวมลงไปมันมีความสุขอย่างใด นั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง มันมีความสุขแตกต่างกับขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธินี่มันแตกต่างกัน มันแตกต่างกันจนผู้ที่ทำได้เขาจะวัดภูมิได้ คนที่มาถามว่ามีความสูง ต่ำอย่างใด แล้วคำว่าสูง ต่ำอย่างนี้มันไม่ใช่หลักตายตัวว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ ระดับอย่างนี้

เพราะ! เพราะเวลาพูดถึงมรรคนะ ถ้าเป็นทางวิทยาศาสตร์จะบอกว่า มรรคสามัคคี มรรคสามัคคี ต้องใช้สมาธิเท่าไร? ต้องใช้ปัญญาเท่าไร? จะต้องใช้งานชอบเท่าไร? แล้วจะให้มันรวมลงสามัคคีเพื่อให้มันเป็นมรรคญาณนี่เป็นเท่าไร? นี่ความคิดทางโลก

ถ้าความคิดทางโลก นี่ก็เหมือนกันว่าต้องเป็นเอกัคคตารมณ์ เอกัคคตารมณ์แล้วจะออกวิปัสสนา ถ้าเขาเอกัคคตารมณ์มันก็วิปัสสนาไม่ได้ ถ้าอัปปนาสมาธิมันก็วิปัสสนาไม่ได้ มันก็เข้าไปพัก เห็นไหม มันเข้าไปพักนี่มันลึกกว่าที่เราจะอุปจารสมาธิที่ใช้วิปัสสนาอยู่นี้ ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ๒๐ ปี ๓๐ ปี ถ้าเรามีเป้าหมายอย่างนี้ เราก็มีเป้าหมายที่จะต้องดั้นด้นไปให้ถึงที่นี่ แต่ถ้าเราว่าสิ่งนี้ สิ่งนี้ถ้ามันทำได้เราก็ทำ ถ้ามันทำไม่ได้ เราทำความสงบแล้วเราก็ใช้ปัญญาของเราได้ ถ้าใช้ปัญญาได้เราก็มาตรึกในธรรมนี่แหละ

เราก็มาใช้ปัญญาในธรรมนะ ในธรรมคืออะไร? ในธรรมก็คือนี่ ๒๐ ปีแล้วล่ะ ๓๐ ปีแล้วล่ะ แล้วชีวิตเรานี่ ๒๐ ปี ๓๐ ปีแสดงว่าอายุเราไปมากแล้ว แล้วข้างหน้าจะเป็นอย่างใด นี่ให้มันคิดถึงตรงนี้ไง ถ้าคิดถึงตรงนี้นะจิตมันจะไม่ออกไปคิดเรื่องข้างนอก แต่ถ้าเราไม่คิดเรื่องอย่างนี้นะ จิตเรานี่มันคิดออกไปข้างนอก คิดไปเรื่องต่างๆ ถ้าคิดไปเรื่องต่างๆ มันส่งออก

นี่รักษาจิตไว้ พระนะ วินัยของพระ เวลาบิณฑบาตเขาให้ทอดสายตาแค่ ๓ ก้าว ไม่ให้ดูเรื่องอื่นเลย นี่เสขิยวัตร เสขิยวัตรเวลาออกบิณฑบาต เวลาหลวงตาท่านบอก เวลาฉันข้าวให้มองในบาตร ให้มองในบาตร อย่าเถ่อมองข้างนอก หลวงตาเวลาอัดพระว่าอย่าเถ่อมองออกไปข้างนอก ให้มองในบาตร ให้มองในบาตร

เวลาบิณฑบาต ถ้าโดยหลัก เวลาบิณฑบาตนะให้มองจากเท้าเราไปแค่ ๓ ก้าว นี่เพื่ออะไรล่ะ? แต่นี้ในปาติโมกข์นะ ในเสขิยวัตร แต่เวลาพระนี่ถ้ามีสติได้ หลวงตาท่านบอกว่า เวลาบิณฑบาตให้เหมือนกับเดินจงกรมไป ให้เหมือนเราเดินจงกรมไปตลอด ถ้าเราเดินจงกรมไปสติมันพร้อมใช่ไหม? นี่เดินจงกรมไปเราก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาก็หมุนอยู่ในร่างกายของเรา

อันนี้ก็เหมือนกัน เรารักษาศีล เราสวดมนต์ เราเจริญสติมาตลอดเวลา ๒๐ ปี ๓๐ ปี.. ๒๐ ปี ๓๐ ปีนะ ถ้าเรามาคิดถึงวันนี้ สติมันพร้อมเดี๋ยวนี้ก็คือพร้อมเดี๋ยวนี้ ๒๐ ปี ๓๐ ปีมันก็ผ่านมาแล้ว เราบอกว่าวันเวลามันเคลื่อน มันหมุนของมันไป คนเกิดใหม่เป็นทารกแรกเกิด นี่เวลาความคิด ความรู้สึก เราโตมาเป็นวัยรุ่นหรืออายุเข้ากลางคนนี่ความคิดอย่างหนึ่ง เวลาคนเรา เราอายุสัก ๖๐-๗๐ ปี เห็นไหม เราเป็นช่วงปลายของชีวิต ความคิดเราก็เป็นอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้ามันมีสติ มีปัญญาอย่างนี้มันก็จะทำให้เราย้อนกลับมา นี้ย้อนกลับมา คำถามบอกว่า “แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป เราจะแยกแยะได้อย่างไรว่าธาตุขันธ์ได้”

แยกแยะได้ ปัญญานี่มันแยกแยะไป ขณิกสมาธิเราใช้ปัญญาอย่างที่เราพูด มันจะทำให้จิตใจทำสมาธิได้ง่าย พอจิตใจทำสมาธิ เหมือนเราทำงานมาเมื่อกี้นี้ อาบน้ำทำไม? อาบน้ำแล้วสดชื่นหมดเลย อาบน้ำแล้วถูตัวสะอาดหมด เวลาเราใช้ปัญญา ใช้ปัญญากับตัวเราเอง มันก็เหมือนกับทำให้จิตใจนี้สะอาด ถ้าเราไม่อาบน้ำใช่ไหม? เราก็มีเหงื่อไคล เราก็มีโคลน มีดิน มีตมติดตัวเรามาด้วย เราอาบน้ำแล้วดินโคลนก็ออกไปหมดเลย

เราใช้ปัญญาใคร่ครวญในตัวเรา เห็นไหม พอจิตใจมันใคร่ครวญขึ้นมามันก็ไม่ติดพันกับอารมณ์นั้น มันก็ไม่ติดพันกับความน้อยใจนั้น มันก็เหมือนเราอาบน้ำนี่แหละ พอจิตใจมันได้ใช้ปัญญาใคร่ครวญของมัน ใคร่ครวญของมันมันก็เข้ามา แต่นี่ไม่อย่างนั้น จะรอเอกัคคตารมณ์ จะวิปัสสนา.. ไม่ต้อง ไม่ต้อง

นี่พูดถึงนะ เราจะพูดถึงให้คนปฏิบัติไม่น้อยใจ ไม่เสียใจ เวลาเราปฏิบัตินะ ใครทำอย่างไรนะเราก็ฟัง แล้วเราก็พยายามทำของเรา แล้วเราทำของเรานะแข่งดี เขาเดินจงกรมกี่ชั่วโมง เราก็จะพยายามเดินจงกรมอย่างนั้นบ้าง เขาทำอย่างไรนะ นี่ฟังข่าวครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างใด เราก็จะขยันหมั่นเพียรอย่างนั้นบ้าง โดยธรรมชาติของคนหลงป่า มีใครบอกทางเรา จูงทางเราให้ออกจากป่า เราจะเห็นคุณคนๆ นั้น

เวลาจิตของเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม นี่เราฟังข่าว คนนั้นปฏิบัติอย่างนั้น คนนั้นปฏิบัติอย่างนั้น เราก็เอาสิ่งนี้เป็นการชี้นำให้จิตใจเราออกจากป่า ออกจากป่ารกชัฏที่มันเสียใจ น้อยใจอยู่นี่ไง ออกจากป่ารกชัฏในจิตใจของเรา จิตใจของเรามันคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไปไง

นี่ใช้ปัญญาอย่างนี้ทำได้ ปัญญาใคร่ครวญในการกระทำของเรา ใคร่ครวญอารมณ์ความรู้สึก ไม่ต้องไปใคร่ครวญเรื่องอื่น ทำไมคิดอย่างนั้น? ทำไมติดอย่างนั้น? แล้ว ๒๐ ปีนี่ ๒๐ ปีอย่างไร? ๓๐ ปีอย่างไร? รักษาศีลๆ สตินี่ฝึกไว้.. สติก็คือสติ เวลารักษาศีลก็รักษาศีล แต่ถ้ามันมีสติขึ้นมา จิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมา เหมือนกรอบ เหมือนกรอบขึ้นมามันมีเนื้อหาสาระ พอมีเนื้อหาสาระมันก็ใช้ปัญญาได้

นี้พูดถึงว่าเมื่อไหร่จะแยกแยะขันธ์ เมื่อไหร่จะภาวนาได้.. ภาวนาได้หมด ถ้ารอตรงนั้นก็รอ เขาบอกเลยนะถ้าไม่มีเงินล้านห้ามใช้จ่ายนะ เราก็จะสะสมให้ได้ล้าน ทุกข์ตายเลย มีล้านหนึ่งก็ดี ไม่มีก็ใช้จ่ายได้ หาได้ก็ใช้ได้ ฝึกได้ก็ใช้ปัญญาได้ ทำได้หมดแหละ แล้วมันออกไปแล้ว เวลาไปนี่เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ แม้แต่เจโตวิมุตติก็มีหยาบ มีละเอียด เวลาภาวนาแล้วสิ้นกิเลสไปเฉยๆ ก็มี สิ้นกิเลสแล้วนี่มีอภิญญาก็มี แล้วเราจะเอาตรงไหนล่ะ? เราทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา

ถาม : โยมอยากถามหลวงพ่อว่า คนที่อยากจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ โดยไปบนบานขอจากพระจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นเช่นนั้น ให้ช่วยเหลือ จะช่วยได้หรือไม่ครับ และต้องพึ่งตนเองอย่างใด

หลวงพ่อ : มันมีอธิษฐานบารมีนะ เรานี่ลูกศิษย์หลวงตา พูดอะไรก็อ้างแต่หลวงตาประจำ หลวงตาจะออกปฏิบัติครั้งแรก สัญญากับตัวเองเลย ถ้าออกปฏิบัติแล้วได้ผล ขอให้นั่งสมาธิแล้วให้มีนิมิตบอก ถ้านิมิตไม่ได้ นอนฝันก็ได้ ถ้านั่งภาวนาแล้วไม่มี พอนอนหลับไปฝันว่าลอยไปในเมืองใหญ่ ๓ รอบ ตื่นเช้าขึ้นมา อืม.. ออกคราวนี้ได้ผล

นี่ถ้าเป็นอธิษฐานบารมีบอกอย่างนั้น เราไม่ได้เสี่ยงทาย แล้วยึดว่าสิ่งนั้นต้องเป็น ถ้าเสี่ยงทายแล้วเป็นอย่างนั้นแต่เราไม่ทำมันจะได้ไหม? เราต้องทำ ฉะนั้น บอกว่าเราจะอ้อนวอนขอ เราจะให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ช่วยเหลือ ถ้าช่วยเหลือแล้วเราไม่ทำล่ะ? ความช่วยเหลือมันเป็นเรื่องทางโลกนะ เวลาโลกเขาแก้บนกัน เขาไปบนบานศาลกล่าว แล้วเขาประสบความสำเร็จ เขาไปแก้บนกัน อันนั้นมันเป็นเรื่องโลกๆ เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ถ้าเป็นทางโลกเขาบอกว่ามันเป็นเรื่องโลก แต่ถ้าในการปฏิบัติธรรมมันจะอ้อนวอนใครไม่ได้ อย่างเราปฏิบัติ ให้คนนี้ปฏิบัติแทน ให้คนนี้ตรัสรู้มันเป็นไปไม่ได้ คนไหนปฏิบัติคนนั้นก็ต้องรู้ ฉะนั้น เราไปขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นิพพานไปแล้ว จบไปแล้วมันก็จบ แสดงว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังอยู่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จบหรือยังล่ะ? มันไม่จบ มันไม่จบนะ

ฉะนั้น ว่าอธิษฐานบารมีนะ ถ้ามันไม่มีอธิษฐานบารมีคือเป้าหมาย ถ้าเราตั้งเป้าหมายแล้วเราพยายามจะเดินให้ถึงเป้าหมายนั้น ถ้าพยายามถึงเป้าหมายนั้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปแล้วไม่เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เลย ไม่เชื่ออะไรเลย เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้เชื่ออะไรเลย ให้เชื่อประสบการณ์ ให้เชื่อความจริง ให้เชื่อสิ่งที่เราปฏิบัติขึ้นมา

ฉะนั้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรศักดิ์สิทธิ์ล่ะ? พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ศักดิ์สิทธิ์ไหม? ครูบาอาจารย์ศักดิ์สิทธิ์ไหม? นี่ก็อธิษฐานเอา เห็นไหม เวลาบอกว่าครูบาอาจารย์ขอให้ปฏิบัติได้ผล ได้ผลนะเราก็กราบไหว้เอา ฉะนั้น เวลาคนเขามาหานะ เขาจะให้ช่วยสิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ เราให้เขาอธิษฐานเอา เวลากับเรานี่เราให้อธิษฐานเอาเลย ให้อธิษฐานเอา เพราะเราเชื่อว่า ในเมื่อเราทำความดีขนาดนี้ แต่ให้เขาอธิษฐานของเขา ถ้าอำนาจวาสนาของเขามี เขาเป็นไปได้ อย่างนี้ใช่ขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหม?

เพราะโลกเขาเป็นอย่างนั้น จิตใจของคน นี่จิตใจของคนต้องการเครื่องประกัน ต้องการความมั่นคง ต้องการความมั่นใจ ถ้าต้องการความมั่นใจอย่างนี้ ให้เขาอธิษฐานเอาแล้วเขาจะมีความมั่นใจ มั่นใจในตัวเขา เราจะบอกว่าสิ่งนี้มันเป็นการเริ่มต้น

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปแล้ว พอเราเริ่มเติบโตขึ้นมาเราจะรู้เลย พอจิตเรามีสติ จิตเราเป็นสมาธิ แล้วถ้ามันเสื่อม มันไม่เสื่อม เราจะแก้ไขอย่างไรนี่อธิษฐานแล้วตั้งใจอย่างไรจะทำได้ แล้วพอมันก้าวเดินทางปัญญาไปนะ มันจะรู้ของมัน มันจะเห็นของมัน แล้วมันจะทะลุอย่างไร? เวลามรรคญาณมันเกิดขึ้น มันจะทะลุนี่มันจะทะลุด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือมันจะทะลุด้วยการกระทำของเรา เราทำเอง เรากระทำเอง แล้วมันจะประสบความสำเร็จของเราเอง

ฉะนั้น เราจะบอกไม่ให้มีเลย แล้วอธิษฐานบารมีทำอย่างไร? อธิษฐานบารมี มันเป็นบารมีสิบทัศนะ มันเป็นทางก้าวเดิน ในพระไตรปิฎกว่ามันเป็นวิธีการเวลาการก้าวเดินไป วิธีการทั้งหมด เวลาผลว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น.. เป็นอย่างนั้นเดี๋ยวเราจะเป็นของเราเอง เดี๋ยวจิตเราจะรู้ของเราเอง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่.. บางคนเขาพูดอย่างนี้ บางคนเขาบอกว่าเขาจะถือให้ แบบว่าไตรสรณคมน์ให้ชัดเจน ฉะนั้น หน้าที่การงานของเขา เวลาเขาไปเขาต้องกราบไหว้รูปนั้นๆ ในสังคมของเขา แล้วเขาไม่อยากจะกราบไหว้เขาทำอย่างไร?

นี่เวลาคนเขาต้องการไตรสรณคมน์ชัดเจนของเขา เขาก็ไม่อยากเคารพรูปเคารพสิ่งใดๆ เลย นั่นเขาพัฒนาของเขาไปอีกชั้นหนึ่ง แต่ของเรานี่เราบอกว่าเราจะต้องการอย่างนั้น ต้องการอย่างนั้น.. ต้องการอย่างนั้นนะ เราก็จะต้องติดตามเขาไปอย่างนั้น ถ้าเราไม่ติดตามเขาไปอย่างนั้นล่ะ? เราทำของเราเอง

นี่พุทธศาสนาสอนที่นี่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วถ้ามีปัญญาขึ้นมา ตนนั้นแหละจะชำระตนให้สะอาด ตนนั้นแหละจะรู้ว่าอะไรเป็นกิเลส แล้วถ้ารู้กิเลสนะ ดูสิ ดูหลวงปู่มั่นสิ หลวงปู่มั่นอยู่ในป่านะ อยู่เชียงใหม่บอก ๔ ทุ่มมาแล้ว เทวดามาแล้ว อินทร์ พรหมมาแล้ว มาฟังเทศน์ทุกคืนๆ ศักดิ์สิทธิ์ไหม? ถ้าเราทำของเรานี่ใครศักดิ์สิทธิ์กว่าใคร? เราศักดิ์สิทธิ์กว่าเขานะ แต่ตอนนี้เรายังไม่ศักดิ์สิทธิ์เราก็ขอพึ่งเขาไปก่อน

ขอพึ่งนะ เพราะเราพูดถึงเวลาพระนาคิตะ เห็นไหม ฟังเทศน์ เวลาเดินจงกรมอยู่นี่เขาไปเที่ยวเสียใจมาก คนอื่นเขามีความสุข เรามีความทุกข์ เทวดามายับยั้งกลางอากาศ ไอ้พวกที่เขาไปเที่ยว ไปเล่นกัน เขาจะวนอยู่ในวัฏฏะนะ ท่านต่างหากเป็นผู้ประเสริฐ ท่านต่างหาก แต่ถ้าเทียบทางโลก เขาไปดูการละเล่นเขามีความสุข เราเดินจงกรมอยู่ในป่ามันทุกข์แน่ๆ แต่เวลาเทวดาเขามาเตือน เห็นไหม

เขาต่างหาก เขายังวนอยู่ในวัฏฏะ ท่านต่างหาก ไอ้ที่อยู่ในป่า อยู่ในที่วิเวก นั่นต่างหาก คนนี้จะพ้นจากทุกข์ คืนนั้นสิ้นกิเลส คืนนั้นเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่เป็นเทวดาเขายังมาเตือน มาบอก นี่เขาส่งเสริม ถ้าเทวดา เห็นไหม ดูเวลาครูบาอาจารย์ของเราอยู่ในป่า ไอ้เสือตัวเท่ากับรถสิบล้อมันไม่มีหรอก ไอ้เสือตัวใหญ่ๆ นี่ไม่มี ไอ้เสือพวกนี้เสือเทพทั้งนั้น เสือเทพคือใคร? เทพคือใคร?

นี่ไงเขามาส่งเสริมไหม? นี่เขามาส่งเสริม ฉะนั้น เวลาส่งเสริมมันต้องมีบุญมาด้วยกันไง คำว่ามีบุญมาด้วยกัน อย่างเช่นที่ว่าพาหิยะๆ นี่เรือแตกมาใช่ไหม? เรือแตกมา แล้วก็ขึ้นจากฝั่งมานี่นุ่งใบไม้ โอ้โฮ.. เขาเห็นเขานึกว่าเป็นพระอรหันต์ ทุกคนมากราบ มาไหว้ มาบูชาเขา โอ้โฮ.. ลาภสักการะเต็มไปหมดเลย

พระที่เคยบวชด้วยกันแล้วตายไป เป็นพระอนาคามีก็มี ที่ไม่สิ้นกิเลสอยู่บนสวรรค์ก็มี มาเตือนน่ะ นี่เขาทำบุญมาด้วยกัน เขาเป็นเพื่อนปฏิบัติมาด้วยกัน เขามาเตือนเลย “ท่านไม่ใช่พระอรหันต์หรอก ตอนนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว อยู่ที่เมืองนั้นๆ ต้องไปฟังธรรม”

พาหิยะนี่อายเลยนะ เพื่อนกัน แต่เพื่อนไปเกิดเป็นเทวดา ตัวเองมาเป็นพระแล้วหลงตัวเอง มาเตือน พอเตือนเสร็จแล้วนะ ละทิฐิไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปขอฟังเทศน์ พระพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาตอยู่ไปขอฟังเทศน์

“เรากำลังบิณฑบาตอยู่ไม่มีเวลา”

เขาบอกว่า “ชีวิตนี้สั้นนัก ขอให้เทศน์เถิด” พระพุทธเจ้าเทศน์ตรงนั้น ฟังเทศน์เป็นพระอรหันต์เลย

นี่สิ่งที่พระนาคิตะเทวดามาเตือน นี่บุญนี้ ที่เราสร้างกันมานี้ แต่มันเกิดอยู่คนละมิติ แล้วมันจะมาบอกกล่าวกัน สิ่งนี้มันต้องมีที่มาที่ไปไง ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราไม่ทำอะไรเลย อยากได้ อยากดี อยากให้เทวดามาเตือน เทวดาไม่เคยมาเตือนสักที มีแต่เทวดามาหลอก เพราะเราไม่ได้สร้างมาด้วยกัน แต่ถ้าพอสร้างมาด้วยกันเขาจะเป็นอย่างนั้นนะ

นี่พูดถึงว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราต้องทำเพื่อเราด้วย

ถาม : หนูทราบมาว่ามีพระอาจารย์รูปหนึ่งอยู่ที่เชียงใหม่ ท่านพรมน้ำมนต์แล้วกลายเป็นพระธาตุ มีผู้นำไปบูชา และมีพระธาตุเสด็จเพิ่ม เหตุการณ์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : ถ้าเขาทำของเขาได้มันเป็นเรื่องของเขานะ แต่ถ้าเรานะเราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อว่าจริง น้ำ น้ำมนต์เป็นพระธาตุได้อย่างไร? น้ำมนต์จะเป็นพระธาตุหรือ?

ฉะนั้น คำว่าพระธาตุๆ แต่เดิมเรื่องมรรค เรื่องผล พวกเราก็ไม่เชื่อกัน แต่เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราทำมา เห็นไหม ทำมาจนมั่นคง จนมั่นคง จนคนมั่นใจ พอคนมั่นใจว่าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว พอเวลาหลวงปู่มั่นท่านนิพพานไปแล้ว นี่ได้ประชุมเพลิงไปแล้ว เวลาคนเก็บไว้นี่บางคนก็เป็นเร็ว บางคนก็เป็นช้า เวลาเป็นขึ้นมาแล้ว ถ้าเป็นขึ้นมาแล้วเป็นการยืนยัน แต่ก่อนนั้นมันยัง..

ดูสิเวลาสมัยล่าอาณานิคม เห็นไหม เวลาอังกฤษเขาไปยึดครองอินเดีย เวลาเขาไปขุด เขาชอบโบราณวัตถุ เขาไปเจอพระบรมสารีริกธาตุ เขาให้ใครล่ะ? เขาให้พระจุลจอมเกล้าฯ เรา ที่เอาไว้ที่วัดสระเกตุ นี่สิ่งนี้มันมีมา แต่ใครจะทำได้ มันไม่ได้พิสูจน์กัน มันไม่ได้ตรวจสอบกัน สังคมมันก็เลยหลับใหล แต่เวลาหลวงปู่มั่นท่านนิพพานไป เวลาเขาเผาขึ้นมาแล้วกระดูกเป็นพระธาตุ อ้าว.. อ้าว.. มันยืนยันกันน่ะ มันชนกับของจริง มันเป็นปัจจุบันไง

นี่ตื่นตัวกันขึ้นมา ตื่นตัวกันขึ้นมา แล้วครูบาอาจารย์เราทำได้จริง ทำได้จริงขึ้นมา นี่มันตื่นตัวขึ้นมา แต่มันเป็นจริงๆ แต่บอกว่าเอาน้ำมนต์มาพรมแล้วเป็นพระธาตุ เราได้ข่าวมากกว่านี้นะ มีพระหลายองค์มาก หยิบจับเอามาแจกกันเลยล่ะ.. มี เดี๋ยวพูดหลังไมค์

หยิบจับมาแล้วมาแจกกัน ตอนนี้! นี่ภาษาเขานะ แต่ถ้าภาษากรรมฐานเรานี่มันเป็นประโยชน์กับการปฏิบัติไหม? มันเป็นประโยชน์กับการเจริญสติ ทำสมาธิ ภาวนาของเราไหม? เราดูแล้ว สิ่งที่หลวงปู่มั่น ที่ท่านนิพพานไปแล้ว แล้วท่านประชุมเพลิงไปแล้ว แล้วเป็นพระธาตุ หลวงตาท่านเอามายืนยันๆ ดูสิหลวงตาที่เราพิมพ์แจกกัน เห็นไหม

“เชื่อเราเถิด นรกมี สวรรค์มี นี่เชื่อเราเถิดมรรคผลมี”

นี่ยืนยันกัน ยืนยันกันให้คนมั่นใจขึ้นมา นี่มันทำเพื่ออะไร? ทำเพื่อผลของความมั่นใจ ผลของการสร้างสติ ผลของการทำสมาธิ ผลของการเกิดปัญญาใช่ไหม? นี่พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุทำขึ้นมาเรากราบไหว้ไหม? เรากราบไหว้ แต่ผลของมันเพื่ออะไร? เพื่อให้พวกเราเจริญศรัทธา เจริญความมั่นคงของเราใช่ไหม? แล้วนี่ขึ้นมา บอกว่ามาแล้วนี่เสด็จมาเพิ่ม เสด็จมาเพิ่ม

เฮ้อ! นี่มันเรื่องของเขานะ มันเรื่องของเขา แต่ถ้าพรมน้ำมนต์แล้วเป็นเราไม่เชื่อเลย เราไม่เชื่อ แต่ถ้าประวัติหลวงปู่ลีวัดอโศการาม เวลาท่านไม่ต้องมีสิ่งใดเลย ก่อนที่ท่านบอกว่าสมัยเริ่มต้นท่านก็ไม่เชื่อเรื่องพระธาตุเท่าไร แต่ท่านก็ประพฤติปฏิบัติมาเยอะ แล้วบอกว่าในประวัติหลวงปู่ลีวัดอโศการาม บอกว่าถ้าท่านจะได้สร้างประโยชน์ ในกึ่งกลางพุทธศาสนา ๒,๕๐๐ ท่านบอกว่าท่านไปนั่งที่ลพบุรีไง นั่งในถ้ำ ถ้าพระบรมสารีริกธาตุมีจริง ขอให้เสด็จมาคืนนี้ แล้วท่านนั่งภาวนานะ ตกมาอยู่ในถาด ในพานรองข้างหน้านั่นน่ะ

อันนั้นไม่มีน้ำมนต์ ไม่มีอะไร วัดบารมีกัน วัดบารมีของหลวงปู่ลีเลย วัดอโศฯ ท่านอธิษฐานของท่าน แล้วท่านนั่งของท่าน นั้นมันจำเพาะของท่าน แต่นี่เอาน้ำมนต์สาดแล้วมันอื้อฮือ.. มันยังไงอยู่เราไม่เชื่อ แต่ถ้าใครจะเชื่อนั่นมันเรื่องของเขานะ เรื่องของเขา

ถาม : กรณีน้ำท่วมพระบิณฑบาตไม่ได้ จะหุงข้าวฉันเองได้หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : ถ้าพูดถึงนะ ถ้าพูดถึงกรรมฐานเรา กรรมฐานเราอย่างไรก็ไม่ทำ กรรมฐานเราอย่างไรก็ไม่ทำ กรรมฐานหมายถึงว่าพวกเรานี่ปฏิบัติกันมา พอปฏิบัติกันมาเรารู้ไงว่าภิกษุนี่ทำอาหารให้สุกเองเป็นอาบัติปาจิตตีย์ พอเป็นอาบัติปาจิตตีย์นี่เราจะไม่ทำ แล้วจะไม่ทำแล้วทำอย่างไรล่ะ?

ดูพระพุทธเจ้านะ เวลาอัตคัดขาดแคลน ตอนที่พราหมณ์นิมนต์ไว้ แล้วมันไม่มีอาหารใช่ไหมเขาก็ให้ข้าวกล้อง เพราะเขาไม่ใช่ศาสนาพุทธ เขาเป็นพ่อค้าต่างเขาเลี้ยงม้า เขาให้ม้ากินเท่าไรเขาก็ให้พระเท่านั้น นี่พระอานนท์เอามานะ เอามาเสร็จแล้วมันหุงหาไม่ได้ พระอานนท์ก็มาบด บดให้มันเป็นแป้ง พอบดเสร็จแล้วเอาน้ำพรมให้พระพุทธเจ้าฉันอย่างนั้น พระพุทธเจ้าฉันอย่างนั้น เพราะทำให้สุกเองไม่ได้

ภิกษุทำให้อาหารสุกเองไม่ได้ แต่ภิกษุปรุงรสได้ ทำมาแล้วเราจับรวมๆ กันนี่ได้ แต่ถ้าสุกเองมันแบบว่า เราคิดว่าพระพุทธเจ้าคงจะแบบว่าไม่ให้พระติดในเรื่องอย่างนี้ ฉะนั้น กรรมฐานเรา ถ้าพูดถึงกรรมฐานนะเราคงไม่ทำ ถ้าคงไม่ทำแล้วน้ำท่วมทำอย่างไรล่ะ? น้ำท่วมทำอย่างไร? น้ำท่วมไม่มีอะไรฉันทำอย่างไร?

น้ำท่วมไม่มีอะไรฉัน ประสาเราปัญญานี่มันแก้ไขได้ ปัญญาแก้ไขสิ่งนี้ได้ ฉะนั้น เพียงแต่ว่าอยู่ที่อุดมคติ อุดมคติหมายถึงว่าโลกทัศน์นี่บวชมาเพื่ออะไร? บวชมาเพื่อจะพ้น เวลาเราปฏิบัตินะ เหมือนกับเราเข้าโรงพยาบาล เราไปรักษาไข้ เราไม่อยากติดเชื้อเลย ถ้าเราไปรักษาไข้ แล้วเราติดเชื้อด้วย เราจะเสียชีวิตเร็วมากขึ้น

ทีนี้เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่ เราพยายามจะทำจิตให้มันเป็นสมาธิ เราพยายามใช้ปัญญาของเรา สิ่งใดที่มันจะมาตัดทอนเรื่องสมาธิ เรื่องปัญญาของเรานี่เราจะไม่ทำ ฉะนั้น เวลาผิดศีลนี่ เวลาผิดศีลขึ้นมามันทำให้เรากังวลใจ เห็นไหม พอเรากังวลใจเราจะทำสมาธิได้ง่ายไหม? ฉะนั้น เราจะเอาสัจจะ เอาความจริงของเรา หรือเราจะเห็นแก่ชีวิตของเราด้วยการว่าบิณฑบาตไม่ได้ แล้วเราจะทำของเราเอง มันต้องคิดนะถ้าคนเขามีสัจจะ

ดูหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบที่ว่าเขาส่งมาจากพม่า เห็นไหม นี่เวลาปกติเทวดาก็มาปฏิสันถารกันตลอด เวลานี้อดอาหารมา ๓ วันแล้ว กำลังจะตายแล้ว ไม่เห็นเทวดาสักที พอเดินไปๆ เห็นคนรอใส่บาตรเลย คนรอใส่บาตร เวลาใส่บาตรแล้วมาจากไหน? บ้านอยู่ไหน? นู่น..

นี่เวลาจริง ถ้าจริงแล้วเป็นแบบนั้น ฉะนั้น เราจะบอกว่านี่พูดถึงกรรมฐาน เราพูดเฉพาะกรรมฐานนะ แล้วถ้ากรรมฐานเวลาเขาทำกันล่ะ? ทำกันหมายถึงว่า ถ้าในสังคมๆ หนึ่ง เราอยู่กับสังคมนั้น เพื่อไม่ให้บาดหมางกันนี่เราจะทำอย่างใด? แต่ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เห็นไหม เราจะใช้อุบาย เราเคยเข้าสังคมอย่างนี้มาเยอะ เวลาเข้าสังคมไปนี่เขาจะฉันกัน เขาจะทำอย่างไรกันเราก็รับไว้ เราก็รับไว้ แต่! แต่เราดื่มน้ำ เราฉันน้ำแต่เราไม่ฉันอาหารอย่างนี้ เราไม่ฉันอาหารอย่างนี้เราก็ไม่เห็นตาย

เราเคยประสบการณ์ ธุดงค์ผ่านเรื่องอย่างนี้มาเยอะ ผ่านอย่างนี้เราจะรักษาน้ำใจกับพระที่เราไปอาศัยเขา รักษาน้ำใจเขาไม่ให้เราผิดอย่างไร ผ่านมานี่รับทั้งนั้นแหละ ฉันหลอกๆ ฉันหลอกๆ คือว่าไม่ได้เอาอาหารเข้าปากเลย เขาฉันเราก็นั่งกับเขา เราก็จิบน้ำ เพราะน้ำนี่ไม่ผิด น้ำนี่ไม่ผิด เพราะน้ำถ้าประเคนแล้วฉันได้ น้ำนี่ เพราะมันเว้นไว้แต่น้ำกับไม้สีฟันที่ไม่ต้องประเคนก็ได้ถ้าเรากรองของเรามาเอง แต่น้ำจำกัดส่วนควรเคน

อย่างที่ว่าน้ำขวดนี่ เพราะน้ำขวดที่เราซื้อกันนี่ราคามันเกินบาท เราไปหยิบเอาไม่ได้ แต่ถ้าเป็นน้ำสาธารณะเราสามารถกรองได้เลย เพราะในน้ำมีตัวสัตว์ ภิกษุใช้น้ำที่มีตัวสัตว์เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ฉะนั้น เวลาเราจะใช้น้ำเราต้องกรอง เรากรองของเราเอง ถ้าเราจะฉันนะ แต่ถ้าเราจะสรงน้ำอะไรนี่เราได้ เพราะเราไม่ทำให้ชีวิตสัตว์ได้ตกร่วง

นี้เวลาเราออกธุดงค์ไป เพราะกรณีอย่างนี้เวลาปฏิบัติจริงๆ นะ หลวงปู่มั่นท่านจะขึ้นถ้ำสาริกาครั้งแรก แล้วพวกชาวบ้านไม่อยากให้ขึ้น ไม่อยากให้ขึ้น บอกว่ามีพระตายมาหลายองค์แล้ว ถ้าไปแล้วจะตายอีกเป็นภาระชาวบ้านต้องไปหามศพลงมา หลวงปู่มั่นก็บอกว่า เออ.. ก็ขอขึ้นไปดูเฉยๆ ก็ได้ ชาวบ้านก็พาขึ้นไปส่ง พอพาขึ้นไปส่งท่านก็ทำเป็นอุบายว่าจะอยู่ที่นั่นแหละ

พออุบายอยู่ที่นั่นปั๊บ เสร็จแล้วเขาก็กลับ หลวงปู่ก็มั่นอดอาหาร พอนานๆ วันเข้าก็ว่าหลวงปู่มั่นคงจะเสียชีวิตแล้ว ขึ้นไปดูหลวงปู่มั่นยังนั่งภาวนาอยู่เลย แล้วหลวงปู่มั่นท่านก็กำหนดดูนะ นั่งภาวนาของท่าน หลวงปู่มั่นท่านสร้างบารมีมามาก ท่านกำหนดดูว่าพระที่มาอยู่ที่นั่นเสียชีวิตเพราะอะไร?

พระที่มาอยู่ที่นั่นเสียชีวิตเพราะว่าสมัยนั้นถ้ำสาริกากับหมู่บ้านมันห่างไกล ไปบิณฑบาตกลับมาแล้ว เห็นไหม ฉันมื้อนี้แล้ว ฉันวันนี้แล้ว อาหารที่มันตากแห้งได้ ตากแห้งไว้ฉันพรุ่งนี้ นี่ภิกษุฉันอาหารแรมคืนเป็นนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ ผิดแค่นี้! ผิดแค่นี้ พระที่ตายนี่ผิดแค่นี้ พอผิดแค่นี้ถึงเวลาก็เสียชีวิตเลย แต่นี่หลวงปู่มั่นท่านดูไปมากกว่านี้ ครูบาอาจารย์ท่านเล่าไปมากกว่านี้

นี่เสียชีวิตอย่างนี้พระ ๒ องค์ นี่ไงเพราะเราเห็นแก่ของเล็กน้อย เพราะอะไร? เพราะวินัยมันถึงกันหมดไง มันถึงกันหมด แค่นี้ที่ถ้ำสาริกา นี่อะไร? มันก็เหมือนกับหุงหาอาหารนี่นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ อันนี้ทำอาหารให้สุกเองก็เป็นปาจิตตีย์ นี่เราพูดถึงธรรมวินัยที่ศึกษากันมา ศึกษากันมาอย่างนี้ แต่ปัจจุบันนี้สังคมอนุโลมกัน อนุโลมกัน แต่ธรรมวินัยยังอยู่ไง เหมือนกฎหมายยังอยู่แต่สังคมอนุโลมมา อนุโลมมา.. อนุโลมมาให้ทำกันได้ ถือว่าไม่ผิด

ถือว่านี่คือสังคมถือว่านะ แต่ความจริงผิดไหมล่ะ? ความจริงผิด แต่สังคมอนุโลมกันมา ถ้าโยมไม่บวชมันยังไม่เข้าใจนะ อย่างเช่นโยมไปถากหญ้ากันมา ทำไมพระขี้เกียจ พระไม่ทำล่ะ? พระทำไมขี้เกียจนะ เพราะภิกษุพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ที่พระเขาทำกันนี่เขาทำกันเพราะอะไร? เพราะว่าผู้ใหญ่ทางฝ่ายนั้นเขาอนุโลม เขาอนุโลมแต่กฎหมายมันยังมีอยู่ มันก็เลยกลายเป็นถือวินัยแตกต่างกัน พอแตกต่างกันมันก็แตกเป็นนิกายไง พอมันแตกเป็นนิกายมันก็เป็นนิกายมา

ฉะนั้น เวลาพูดนี่ถึงบอกว่า ไอ้นี่เวลาเอามาให้ตอบ ไอ้ทางนู้นก็บอกโอ้โฮ.. อวดเคร่งกว่าฉันอีกแล้วนี่ ที่มีปัญหากันอยู่นี่ว่าอวดเคร่งกว่าฉันอีกแล้ว อวดดีกว่าฉันอีกแล้ว มันไม่ใช่ นี่ไงที่พระจอมเกล้าฯ ท่านมาศึกษาแล้ว ไปอ่านพระไตรปิฎก อืม.. พระไตรปิฎกนี่ธรรมวินัยก็พูดไปอย่างหนึ่ง แล้วพระในปัจจุบันนี้ก็ทำตัวไปอย่างหนึ่ง ท่านก็พยายามจะฟื้นฟูตรงนี้ ฟื้นฟูตรงนี้ขึ้นมาให้ทำตามนั้น ให้ทำตามที่ท่านศึกษา พอทำตามนี้ขึ้นไปมันก็เป็นที่รังเกียจ พอรังเกียจมันก็เลยกลายเป็นคณะขึ้นมา แล้วมันก็มาจนเดี๋ยวนี้

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านบวชกับสายนี้ ก่อนเราบวชนี่นะเราก็เลือกเราจะไปทางไหน ถ้าไปทางนู้น มวลชนก็ใหญ่ คือพระมากกว่า แต่ถ้ามาทางนี้น้อยกว่า แต่! แต่เรามีครูบาอาจารย์ เราเลือกตรงนี้ไงตรงที่มีครูบาอาจารย์สอนเรา เราเลยเลือกมาทางนี้ แต่ก่อนเราบวชเราเลือกนะ เพราะที่บ้านเราไม่มีธรรมยุต เราเลือกเอง แล้วเราก็เลือกว่าเราจะไปทางไหน?

เพราะก่อนบวชเราไปวัดท่าซุง ไปนอนอยู่นั่น แล้วก็บอกว่าทั้งศาลานี่บวชแล้วสำเร็จหมด สำเร็จหมด เราก็แหม.. ใจนี่อย่างกับภูเขาเลย แต่พอศึกษาไป ศึกษาไปนี่มันจะไปได้อย่างไร? มันจะไปได้อย่างไร? นี่เฉพาะความรู้สึกเรานะ ทีนี้พอมาเจอประวัติหลวงปู่มั่น เออ.. อันนี้ไปได้ ไปได้ นี่เราถึงบอกว่าเราเลือกทางนี้เพราะทางนี้มีครูบาอาจารย์ คือมีคนบอก คนสอน เราถึงมาทางนี้

แล้วเวลาเราปฏิบัติ เราพูดกับโยมบ่อย เห็นไหม เวลาปฏิบัติไปมันเหมือนกับคนไข้หนักมาก จวนตาย จวนอยู่ตลอด แล้วหมอรักษาเรานี่รักษาเราหายทุกที แหม.. มันซึ้งมากนะ เหมือนเวลาเราปฏิบัติไปจวนตาย จวนอยู่ คือว่าเราลังเลมาก เราวิตกกังวลไปหมดเลย เราสับสนไปหมดเลย แต่หลวงตานี่สอนได้ ครูบาอาจารย์สอนได้ พอสอนขึ้นมามันก็เป็นมาอย่างนี้ไง เราถึงระลึกถึงคุณของครูบาอาจารย์มาก

คุณของครูบาอาจารย์ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ เรายังเป็นคนบ้าอยู่ ตอนนี้ก็ยังบ้า บ้าเป็นหมาบ้ากัดเขาทั่วนี่ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ปั๊บท่านจะฉีดพิษบ้า คลายพิษบ้า ทีนี้นี่ไงมันถึงซึ้งใจมาก ไม่มีใครบอกได้ พูดถึงเวลาเราคิดถึงหลวงตา หลวงตาท่านบอกว่าเวลาท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น เวลาท่านภาวนาของท่านไปท่านเห็นของท่าน ท่านบอกไปหาหลวงปู่มั่นเราไม่มีทิฐิ เราไม่เคยว่าจะโต้แย้งท่าน แต่เรามีของเรา คือเราไปรู้ไปเห็น

อย่างเช่นเลือดแดงๆ นี่ เห็นเลือดแดงๆ มา เห็นกายมา เห็นทุกอย่างมา ก็เห็นเองทั้งนั้น แล้วขึ้นไปหาอาจารย์นี่เราไม่บอกมันก็คาใจใช่ไหม? เราเป็นคนเห็นเอง แล้วเราไปบอกอาจารย์บอกว่าอาจารย์เป็นอย่างไร? อาจารย์พูดอะไรก็เชื่อ เอ็งซื่อบื้อหรือ? เราเห็นอย่างไรเราก็ต้องเถียง เถียงเพื่อหาเหตุหาผล แล้วถ้าอาจารย์เป็นนะ เถียงมาเถอะเดี๋ยวกูจะเขกหัวมึง เพราะอย่างนี้กูก็เป็นมาแล้ว แต่ถ้าเราไม่เป็น ไม่มีครูบาอาจารย์นะ..

นี่ไงที่ว่าเรามีครูบาอาจารย์ เราเคยขึ้นไปโต้แย้ง โต้เถียงกับครูบาอาจารย์เยอะมาก แล้วถ้าไม่มีความรู้ ไม่มีความจริงนี่ท่านชี้นำเราไม่ได้หรอก สิ่งที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นไง นี่หลวงตาท่านพูดตรงนี้บ่อย แล้วเราฟังแล้วเราซึ้งมาก ว่าที่ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นไม่ได้เถียงด้วยทิฐิมานะนะ แต่มีของเราอยู่ คือเราประสบมา เราเห็นมา มันข้องใจ แล้วไม่พูดออกไปให้ท่านเคลียร์มันก็เป็นไปไม่ได้ มันก็จะข้องใจตลอดไป

ฉะนั้น มีเท่าไรก็เปิดหมดเหมือนกัน ชนเต็มที่ ทางนู้นก็ชนกันเต็มที่ สุดท้ายแล้วหัวแตกท่านพูดประจำ เออ.. ใช่ นี่เรามีครูมีอาจารย์ เลือกทางนี้เพราะทางนี้มีครูมีอาจารย์สอนเรา แล้วพอมาบวชปฏิบัติแล้วมันไม่ผิดหวัง ไม่ผิดหวัง ตั้งแต่หลวงปู่จวน พอหลวงปู่จวนจบเราก็เข้ามาหาหลวงตา แล้วพอมาหาหลวงตาแล้ว สุดท้ายแล้วพอวัดหลวงปู่เจี๊ยะท่านสร้างใหม่ ท่านขอพระปาติโมกข์ ไม่มีใครกล้ามา เราก็มา

แล้วพอมาอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ แหม.. มันก็ซัดกันเต็มที่เลย เพราะมันอยู่กันตัวต่อตัว ทุกคืน ใส่กันทุกคืน มันถึงโอ้โฮ.. กูผิด! กูผิด! กูผิด! ถ้าไม่อย่างนั้นนะกูเถียงชนะหมด ใครก็สู้กูไม่ได้ กูเก่ง กูเก่ง พอมาเจอครูบาอาจารย์นะ เออ.. กูผิด! กูผิด! พอกูผิดมันก็เริ่มเออ.. น่าจะหันกลับมาแล้วมาแก้ไข อย่างที่ว่านี่ลึกซึ้งมาก ความรู้เห็นจากภายในลึกซึ้งมาก

ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านพูดนะ พระมีศีลธรรมเป็นสมบัติ โยมมีแก้ว แหวน เงิน ทองเป็นสมบัติ แล้วศีลธรรมในใจมันมีจริงหรือเปล่า? ถ้ามีจริงหลวงตาท่านพูดบ่อยนะ ท่านยืนยันกับพวกลูกศิษย์ บอกว่า

“ถามมา! ถามมา! มีอะไรให้ถามมา ดูซิมันจะติดไหม ให้ถามมา”

หลวงตาท่านท้าประจำ แล้วเวลาท่านไปแก้พระผู้ใหญ่ที่ไม่เชื่อเรื่องมรรค ผล ที่คุ้นเคยมากท่านว่า “ถามมาสิ! ถามมาสิ! ถามมา ถามมา” ถามมากี่ข้อก็แก้ได้หมดเลย เออ.. ไอ้ที่ถามก็งงเหมือนกันนะ เอ๊ะ.. ไปเอาความรู้มาจากไหน? ไปเอาความรู้มาจากไหน? เพราะพระไตรปิฎกนี่ ผู้ที่ถามเขา ๙ ประโยคหมด ผู้ที่ถามเขาเรียนจบในพุทธศาสนาหมดแล้ว แต่เขาไม่เชื่อ เขาไม่เชื่อว่ามรรค ผลมีจริง

ทีนี้หลวงตาท่านเป็นหมู่คณะกันไง ท่านก็อยากจะสงเคราะห์ ท่านก็มาหาพระองค์นั้น แล้วก็ว่า “ถามมา! ถามมา!” ทางนู้นก็ถาม ถามเต็มที่ ถามจนยอมรับ จนยอมว่ามรรคผลมี ทิฐิของผู้ที่จบการศึกษาสูงๆ แล้วมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตนี่โอ้โฮ.. แก้ยากมาก นี่หลวงตาไปแก้มา แล้วท่านจะพูดคำนี้บ่อย “ให้ถามมา ให้ถามมา” แล้วถ้าพวกเราไม่จริงไม่กล้าหรอก

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ว่าให้ถามมา ให้ถามมา นั่นล่ะท่านบอกเลย ท่านไม่มีอะไรในหัวใจ รู้รอบ นี่ที่เราเลือกทางนี้เพราะว่ามีครูบาอาจารย์ แล้วก็ไม่ผิดหวัง เอวัง