เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
โบราณของเรานะ เวลาเราอพยพนี่เสื่อผืนหมอนใบมาสำเภากัน แล้วกว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวกันขึ้นมา เดี๋ยวนี้นะเรียนกันว่าจะทำตามนั้น มีสิทธิ มีโอกาส.. มีสิทธิ มีโอกาสนี้มันเป็นเรื่องทางโลกนะ เพราะมันมีเรื่องบุญเรื่องกรรมแนบมาด้วย แต่เวลาประพฤติปฏิบัตินะมันต้องเอาชนะตนเอง การเอาชนะตนเองนะมันไม่มีการกระทบไง มันไม่มีการกระทบข้างนอก มันต้องทำของเราเอง เห็นไหม
ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน
ถ้ากาลเวลาพิสูจน์คน ถ้ามันเป็นจริงนะ ความเป็นจริงอันนั้นมันต้องมีหลักยืนของมัน มีหลักยืนของมันนะ มีหิริ มีโอตตัปปะ มันมีความละอาย มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่อบาป ดูสิเวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน เวลาความคิดของเรา เราก็ว่าความคิดเกิดดับ ความคิดเกิดดับ ทุกอย่างก็เกิดดับ ทุกอย่างเป็นธรรมะ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ มันจริงหรือเปล่าล่ะ? มันเกิดดับๆ มันส่งออกมาหมดแล้วแหละ เวลามันเกิดดับขึ้นมาแล้ว แล้วเกิดดับมันเหลืออะไรล่ะ? เกิดดับมันก็ตัดตอนไปหมดเลย
นี่เวลาเราศึกษาธรรมะ เราก็ศึกษากันอย่างนั้น แต่เวลามันมีความเกรงกลัว มีความละอายต่อบาปนะ เวลาประพฤติปฏิบัติไปนี่พอจิตมันสงบ จิตมันสงบมันสงบมาจากอะไรล่ะ? มันสงบจากของปรุงแต่ง สงบจากสังขาร มันสงบจากขันธ์ ๕ เห็นไหม ขันธ์ ๕ นี่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่มันเป็นเปลือก บอกว่ามันเป็นเปลือก ส้ม เปลือกส้มนี่ เขาบอกว่า โอ๋ย.. มันจะแบ่งแยกได้อย่างไร? มันเกี่ยวเนื่องกัน
ใช่ มันเกี่ยวเนื่องกัน แต่เวลาประพฤติปฏิบัติมันมีข้อเท็จจริงของมัน นี่วิธีการ เวลาทำมันทำของมันได้ ถ้ามันทำของมันได้ วิธีการที่เขาทำเขาแยกแยะอย่างไร? ฉะนั้น เวลาจิตมันพิจารณาของมันไปถึงที่สุดมันปล่อยวางหมด เวลามันปล่อยวางหมดมันเป็นอิสระได้ แต่ของเรานี่มันปล่อยวางแต่เป็นอิสระไม่ได้ เป็นอิสระไม่ได้เพราะอะไร? เพราะมันมีสังโยชน์เครื่องร้อยรัด มันมีตัณหาความทะยานอยาก มันเหมือนกับมันมีความสัมพันธ์กัน มันมีความสัมพันธ์ มันเกี่ยวเนื่องกัน ที่เราไม่สามารถจะปล่อยวางมันได้
เราไม่สามารถปล่อยวางมันได้ ที่เราจะปล่อยวางมันได้ด้วยความมีสติ ความมีสติขึ้นมา เราบริกรรมของเรา เห็นไหม บริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่บริกรรมพุทโธกับความคิดมันแตกต่างกันตรงไหน? มันไม่แตกต่างกันเลย พุทโธก็คือพุทโธ พุทโธคือพุทธานุสติ มันก็เป็นสัญญาอารมณ์เหมือนกัน มันเป็นสังขารปรุงแต่งเหมือนกัน.. เหมือนกันเลย แต่มีสติ มีสติแล้วมีกำลังที่พยายามจะยับยั้งมัน
ยับยั้งมัน เห็นไหม ยับยั้งมันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางแบบที่มันยังมีสังโยชน์ร้อยรัดอยู่ นี่เวลาเราพุทโธ พุทโธไปมันก็ความคิดอันนั้นแหละ ความคิดอันนั้นแต่เรากำหนดพุทโธ พุทโธ ความคิดเหมือนกันแต่เป็นพุทธานุสติ เป็นธรรมไง กุศล อกุศล นี่กุศลก็คือการทำบุญกุศล อกุศลก็คือการทำบาป ทำกรรมนั่นล่ะ ทำบาปคือทำอกุศล เวลาทำบุญก็ทำกุศล
นี่กุศล เห็นไหม เวลาของที่มันรู้ขึ้นมาก็คือปัญญา ปัญญาเพราะมันรู้ไง กุศลคือผลตอบรับที่ดี อกุศลคือผลตอบรับที่ไม่ดี นี่เวลามันใช้ปัญญา มันพิจารณาของมันไป มันปล่อยวางๆ ถ้าปล่อยวางแบบนี้ ปัญญาอบรมสมาธิมันจะเข้ามาสู่ใจ เกิดดับๆๆ เกิดดับมันก็ไฟฟ้าไง ดูไฟฟ้าสิ ดูบนถนนสิ เวลาแสงไม่มีมันก็ติด มันก็เกิด เวลาแสงสว่างมามันก็ดับ เกิดดับๆ อย่างนั้นแล้วมันเข้าสู่จิตไหม?
พอมันไม่เข้าสู่จิต นี้หนึ่งนะ.. แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราพุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่เราบอกว่าต้องพุทโธทำไม? พุทโธทำไม? เวลามีความคิดนี่ใครเป็นคนคิด เวลาพุทโธนี่ใครเป็นคนนึกพุทโธ เห็นไหม เวลาความคิดมันคิดไปแล้ว ความเจ็บปวดมันคือใคร? มันคือหัวใจ เวลาเรานึกพุทโธ พุทโธ มันก็ความคิดเหมือนกัน เวลาพุทโธมันดับ คำว่าพุทโธมันดับ คือมันพุทโธไม่ได้นะแต่ตัวมันไม่ดับ
พุทโธมันดับแต่ตัวมันไม่ดับนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่พุทโธมันเริ่มละเอียดลง ละเอียดลง แล้วจนมันพุทโธไม่ได้ คำว่าพุทโธไม่ได้นี่จิตมันเข้ามาสู่ตัวมันเอง ถ้าจิตมันเข้าสู่ตัวมันเอง เห็นไหม มันถึงมีสัมมาสมาธิ มันมีสัมมาสมาธิ
นี่เวลาที่มันเป็นสัมมาสมาธิ เกิดดับๆ มันเกิดจากคำบริกรรม มันปล่อยวางมา แต่มันมีจิตรับรู้นะ มันมีจิตรับรู้ แต่ว่าเกิดดับๆ เราเพ่งแต่เกิดดับๆ แล้วมันก็เกิดดับๆ มันก็หายไปหมดเลย หายไปเกี่ยวเนื่องอะไรไม่ได้ ต่อเนื่องอะไรไปได้ การทำงานจะต่อเนื่องขึ้นไปนี่มันไปไม่ได้ แต่ถ้ามันไปได้ เห็นไหม
นี่พูดถึงว่ากาลเวลาพิสูจน์คน การปฏิบัติมันจะพิสูจน์หลักความจริงอันนั้นล่ะ ถ้าหลักความจริงอันนั้น เห็นไหม พอมันปล่อยวาง ปล่อยวางมาแล้วออกใช้ปัญญา มันจะเห็นว่าการที่ใช้ภาวนามยปัญญานี้เป็นอย่างไร? ถ้าการใช้ภาวนามยปัญญา ไอ้ตัวภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธิมันจะมาตัดไง นี่ถ้ามันตัดอย่างนี้ปั๊บ เวลามันขาดแล้ว จิตมันมีความละอาย มีความเกรงกลัว พอมันจะคิด มันจะนึก มันมีสติรับรู้ไง พอมีสติรับรู้นี่สมควรหรือไม่สมควร
คำว่าสมควรหรือไม่สมควรนี่ไง นี่มีความเกรงกลัว มีความละอายต่อบาป ถ้ามีหิริ มีโอตตัปปะ มีความเกรงกลัว มีความละอาย การกระทำนี่มันเป็นสัญชาตญาณเลยนะ มันเป็นสัญชาตญาณว่าทำหรือไม่ทำ ดีหรือชั่วนี่จะทำหรือไม่ทำ.. แต่ถ้าเราไม่มีล่ะ? เราไม่มีความเกรงกลัวเลย แต่เราศึกษา เรามั่นใจของเรา เราทำประสาเรา มันก็เป็นสัญชาตญาณ มันก็เหมือนกับสัญญาอารมณ์ธรรมดานี่แหละ
ถ้าเหมือนสัญญาอารมณ์ธรรมดา นี่ศึกษาธรรมๆ เห็นไหม การพิสูจน์มันพิสูจน์จากการกระทำอันนั้น ถ้ามีการกระทำอันนั้นนะ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่ตื้อเวลาท่านจะใช้ยาแรงนะ เวลาท่านจะใช้ยาแรงกับใครนี่จะเฉพาะบุคคล บุคคลคนนั้น ถ้าได้ใช้ยาอย่างนั้นแล้วเขาจะฟื้นคืนมาจากความหลับใหล จากสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ท่านจะใช้ยาแรง แต่ถ้าไม่จำเป็นท่านไม่ใช้หรอก ท่านไม่ใช้ ไม่ทำอะไรให้มันกระเทือนใคร
เพราะความกระเทือนอันนั้น มันกระเทือนแล้วมันได้ผลบวกหรือผลลบ ถ้ามันได้ผลลบขึ้นมา ดูสิเวลาเราดูครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ความนิ่งเฉยอยู่ นิ่งเฉยอยู่ ท่านรู้ของท่าน ท่านรู้ในหัวใจของท่าน จำเป็นหรือไม่จำเป็นนะ เวลาถึงคราวควรจะใช้หรือไม่ควรจะใช้ นี่ความเกรงกลัว ความละอายต่อบาปเวลามันเสวยไง
มันเสวยนี่มันรู้ของมัน มันเห็นของมัน มันมีสติปัญญาของมัน แต่! แต่ถ้ามันไม่ขาด ถ้ามันไม่ขาด เวลามันไปนี่มันไหลไปเลย มันไหลไปแล้วจะยับยั้งอย่างไร? ผลการกระทำจนจบสิ้นแล้ว เรายังไม่รู้เลยว่าเราทำสิ่งใดไป เราทำสิ่งใดไป แต่! แต่ก็หาเหตุผลมารองรับว่าเราทำดี เราทำดี การทำดีอย่างนั้นมันก็ไหลไปนะ
ฉะนั้น ในการประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์เรา หลวงตาเวลาท่านพูดถึงพระนะ ถ้าอยู่ในวัดนะ ถ้าสติไม่ดีท่านบอกว่า ซากศพเดินได้ เหมือนซากศพ เดินไปโดยไม่มีสติปัญญาไง เหมือนคนไม่มีชีวิตจิตใจ นี้เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราต้องมีชีวิต มีจิตใจใช่ไหม? พอเรามีชีวิต มีจิตใจเราก็ต้องมีสติใช่ไหม? ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เห็นไหม สิ่งที่เรามีสติปัญญานี่เราไปคุ้นชินกับอะไร?
ความคุ้นชินนะ ความคุ้นชินมันเป็นอันตรายต่อการปฏิบัตินะ ฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านจะไม่ให้คุ้นชินกับสิ่งใด ท่านให้ตื่นตัวตลอดเวลา การตื่นตัวคือการมีสติ ถ้าการตื่นตัวคือการมีสตินะ พอมีสติขึ้นมานี่.. การกระทำสิ่งใดถ้าขาดสติ สิ่งนั้นมันเป็นสักแต่ว่าทำ มันเป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้นแหละ
แต่ถ้ามีสตินะ มีสติขึ้นมา แล้วสติ มหาสติ เวลาจิตมันละเอียดเข้าไปนะ สติอย่างนี้มันจับความรู้สึกนึกคิดได้อย่างนี้ แล้วความรู้สึกนึกคิดเวลามันปล่อยวางขึ้นมา เห็นไหม มันขาดช่วงกัน มันขาดตอนกัน พอมันขาดตอนกันนี่เราจะสืบต่อ สืบต่อไปเป็นโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค
เวลามรรคหยาบ มรรคละเอียด เวลาพูดออกมานี่รู้เลยว่าคนๆ นี้ จิตดวงนี้มันอยู่ในระดับไหนของมรรคอย่างใด? เพราะถ้าโสดาปัตติมรรค เวลาพูดขึ้นมา โสดาปัตติมรรค การพิจารณาสักกายทิฏฐิมันก็รู้ๆ กันอยู่นั่นล่ะ เวลาถ้ามันขาดไปแล้ว นี่มันจะสืบต่อเข้าไปสกิทาคามิมรรคอย่างไร? แล้วถ้าสืบต่อสกิทาคามิมรรค สืบต่อเข้าไปอนาคามิมรรค สืบต่อเข้าไปอรหัตตมรรค ถ้าความสืบต่อเกี่ยวเนื่องกันไป ตรงนี้! ตรงนี้ครูบาอาจารย์ท่านจะคอยชี้นำอยู่ ให้เรายกระดับขึ้นไป เป็นชั้นๆ ขึ้นไป
แล้วถ้าเป็นชั้นขึ้นไป เวลาปฏิบัติขึ้นไป เวลาพูดธรรมะกัน เห็นไหม นี่สักกายทิฏฐิ เวลาสักกายทิฏฐิ แล้วเวลาผู้ปฏิบัติใหม่ เวลาจิตมัน.. นี่ส่วนใหญ่แล้วโลกเราเกิดมา สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดคือสิ่งเพศตรงข้าม พอเพศตรงข้ามขึ้นมา พอจิตบอกว่านี่จะพิจารณาให้เป็นอสุภะ พิจารณาอสุภะ เป็นอสุภะนี่พิจารณาไปอย่างนั้น แต่ความจริงแล้วถ้ามันพิจารณาได้ มันสงบได้ มันก็เป็นพิจารณากาย
พิจารณากาย เห็นไหม พิจารณากายให้เป็นปฏิกูลโสโครก ปฏิกูลโสโครกนั้นอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นอสุภะนะ อสุภะมันจะเป็นขั้นอนาคามีนู่น เพราะมันจะไปละกามราคะ แต่สิ่งนี้พอมันเร้าเราขึ้นมา เราต้องพยายามหา ต้องหาเหตุหาผล คือปัญญาดูแลใจของเรา ไม่ให้ใจของเรามันกระเพื่อมออกไป ถ้ากระเพื่อมออกไป เห็นไหม มันเป็นกามฉันทะ
สิ่งที่เป็นฉันทะคือความพอใจ แล้วมันออกไปเป็นกามราคะ ถ้ากามราคะออกไป ถ้าสติปัญญาไม่มีมันก็จะเผาผลาญเราก่อน พอมันเผาผลาญเราก่อนนะ ถ้าเราทำตามสิ่งที่ใจเรียกร้องมันก็เป็นเรื่องโลกๆ ไปแล้ว แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เพราะเราต้องยับยั้งตรงนี้ให้ได้ก่อน ถ้าเรายับยั้งตรงนี้ได้ก่อนนะ จิตมันก็จะสงบตัวลง นี่พรหมจรรย์ของเรามันก็จะบริสุทธิ์ ถ้าพรหมจรรย์เราบริสุทธิ์ เห็นไหม ทุกอย่างบริสุทธิ์ ศีล สมาธิ ปัญญา
ถ้าศีลของเราบริสุทธิ์ เวลาทำสมาธิขึ้นมาก็เป็นสัมมาสมาธิ ศีลของเราปล่อยมันตามใจของมัน มีความเข้มแข็งของมัน เวลาทำความสงบของใจได้บ้างมันก็เป็นมิจฉา คือมันทำตามความพอใจของมัน แต่ถ้ามันมีศีลของมัน มันทำสิ่งนั้นไม่ได้ นี่ปาณาติปาตา การทำลายกัน การกล่าวร้ายกันนี่มันทำไม่ได้ ถ้าจะกล่าวร้ายก็ต้องกล่าวร้ายใจของเราเอง เพราะใจของเรามันมีปัญหาขึ้นมา
มันจะกล่าวร้ายใจของมันเอง คือมันตรวจสอบใจ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ โทษตัวเอง หาโทษตัวเองให้เจอ ถ้าหาโทษตัวเองให้เจอ ทำไมเราเป็นแบบนี้ ทำไมจิตใจเราเป็นแบบนี้ ทำไมมันดิ้นรนขนาดนี้ นี่หาโทษมันไม่เจอ ถ้าหาโทษมันไม่เจอเพราะกำลังเราไม่พอ นี่มันจะใช้อุบายแล้ว เริ่มตั้งแต่ผ่อนอาหาร เริ่มตั้งแต่ทรมานมัน นี่การทรมานตัวเองคือการทรมานกิเลส เพราะกิเลสมันอยู่กับใจเรา
ถ้าเราทรมานกิเลส การกระทำแบบนั้น ถ้าจิตใจของคนมีหลักมีเกณฑ์นะทำได้ เหมือนคนทำงาน ผลงานกำลังจะสำเร็จทุกคนจะทุ่มเทเต็มที่ จิตใจเราเวลาปฏิบัตินะ ถ้ามันได้ผลของมันนะมันทำได้ แต่ถ้าจิตใจเราหยาบ เราไม่เคยปฏิบัติเลย เราเห็นแล้วเราบอกทำไมมันต้องทำขนาดนั้น ทำไมเราเป็นขนาดนั้น?
หลวงปู่จวนนะ เวลาท่านพิจารณากามราคะที่ภูทอก ท่านเอากระดูกช้างผูกเชือกแขวนคอไว้ เดินจงกรมเอากระดูกช้าง ที่นั่นช้างเยอะ กระดูกช้าง ช้างมันตาย เอากระดูกช้างผูกคอไว้แล้วฉันหมาก แล้วบ้วนน้ำหมากออกมาให้มันเลอะตัว เวลาท่านภาวนาของท่าน มีคนเขาไปเห็น พอคนเขาไปเห็น เพราะหลวงปู่จวนนี่ หลวงปู่มั่นท่านฝากหลวงปู่จวนไว้กับหลวงปู่ขาว
ฉะนั้น พอมีคนไปเห็นเข้า ก็ไปฟ้องหลวงปู่ขาวที่ถ้ำกลองเพลว่าหลวงปู่จวนนี่จะบ้าแล้ว หลวงปู่ขาวท่านนั่งฟังคนมาฟ้องท่านนั่งหัวเราะนะ เพราะหลวงปู่ขาวท่านเป็นอาจารย์ของหลวงปู่จวน หลวงปู่ขาวเป็นคนแนะนำเอง หลวงปู่ขาวเป็นคนบอกเอง
นี่เราจะบอกว่า เวลาคนที่ผ่านวิกฤติมา แบบว่าเสื่อผืนหมอนใบ เขาผ่านทุกข์ผ่านยากมาขนาดไหนกว่าเขาจะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ หลวงปู่ขาวเป็นหลวงปู่ที่หลวงปู่มั่นท่านเคยพูดกับหมู่คณะว่า หลวงปู่ขาวได้สนทนาธรรมกับท่านแล้ว หลวงปู่ขาวมีหลักมีเกณฑ์ ให้เป็นที่พึ่งของหมู่คณะได้ เห็นไหม นี่ตรวจสอบกันมา
ฉะนั้น แล้วพอหลวงปู่จวนไปอยู่กับหลวงปู่ขาว เพราะอยู่ที่ภูทอก ตอนนั้นมันเป็นสีแดงมาก เขาไล่ก็ไปอยู่ถ้ำกลองเพล ออกจากถ้ำกลองเพลก็ขึ้นมาอยู่บนภูทอกอย่างเก่า ตอนไปอยู่ถ้ำกลองเพลนี่หลวงปู่ขาวท่านแนะนำๆ ฉะนั้นสิ่งที่เวลาเขาไปฟ้อง หลวงปู่ขาวท่านหัวเราะนะ ฉะนั้น เวลาคนที่ไม่ได้ปฏิบัติ เห็นคนกระทำนึกว่าเขาเป็นบ้านะ นึกว่าหลวงปู่จวนนี่บ้า แต่หลวงปู่ขาวท่านหัวเราะว่า
นี่คนกำลังจะพ้นจากกามราคะ คนกำลังต่อสู้กับกิเลสภายในของตัว แล้วใช้อุบายวิธีการ
นี่ไง ถ้าคนทำกับคนทำเขารู้กัน เขาเห็นกันว่าสิ่งนี้มันไม่ใช่อัตตกิลมถานุโยคหรอก มันไม่ใช่สิ่งที่เกินกว่าเหตุหรอก แต่มันอยู่ที่ขั้นตอนว่าคนๆ นั้นถึงระดับนั้นหรือยัง ถ้าถึงระดับนั้นมันก็ต่อสู้กันอย่างนั้น แล้วพอต่อสู้กันอย่างนั้นนะ เห็นไหม ดูสิเวลาพระโสณะเดินจนฝ่าเท้าแตก ฝ่าเท้าแตก นี่มันมีงานในหัวใจไง
คนเรากำลังจะได้เสีย คนเรากำลังต่อสู้กันนี่มันมีเหตุมีผลของมัน แล้วมันต่อสู้ทุ่มเทเต็มที่เพื่อเอามรรคเอาผลอันนั้น พอได้มรรคผลอันนั้นมานะ สิ่งที่เราทำ อริยทรัพย์ที่ได้มานี่มันเกินค่ากว่าความทุ่มเทของเรามหาศาลเลย ความทุ่มเทของเราก็คือความทุ่มเทของเรานะ แต่ค่าอันนั้นที่มันได้มา แล้วได้มานี่ได้มาจากไหนล่ะ?
ได้มาเป็นปัจจัตตัง ได้มาในหัวใจนั้น แล้วเวลาสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บอกว่าใช่ รู้กันแต่ผู้ที่ตามความเป็นจริง ผู้ที่รู้จริงตามความเป็นจริง รู้กันแต่ความเป็นจริง แต่ถ้าไม่รู้จริงก็ฟังไว้เป็นคติ เป็นธรรมะเท่านั้นแหละ
ฉะนั้น การกระทำแบบนี้ การกระทำเพื่อหัวใจของตัว เห็นไหม ถ้าเราไม่คุ้นชินกับสิ่งใด ถ้าไม่คุ้นชินกับสิ่งใดนะ เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่าได้มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย
ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนเราได้สัมผัส ได้เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เห็นไหม
เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด
สิ่งนี้เป็นธรรมะในหัวใจ เป็นอริยทรัพย์ เป็นสัจจะความจริง จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด ถ้ามีธรรมเป็นที่พึ่งในหัวใจแล้ว สิ่งนี้มีคุณค่ามากขนาดไหน? คำว่ามีคุณค่า แล้วรู้จำเพาะตน รู้จำเพาะตน แล้วครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงขึ้นมาท่านจะคอยชี้นำเรา คอยบอกเราว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก
แต่เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นธรรมท่านอยากให้เราโต้เถียงด้วย เพราะการโต้เถียงของเราคือเปิดหัวใจไง เปิดหัวใจสิ่งที่เรารู้ เราเห็น ถ้าสิ่งนั้นเรารู้เราเห็น ครูบาอาจารย์ท่านจะชี้แนะเองว่าถูกหรือผิด แล้วควรทำอย่างใด? แต่ถ้าเราเคารพจนเราไม่โต้ไม่เถียง เราไม่อะไร คำว่าโต้เถียงคือโต้เถียงตามความรู้ความเห็นนะ ไม่ใช่โต้เถียงเพื่อจะเอาชนะคะคานกัน
ความรู้ความเห็นของเรานี่ เราพูดออกไป ถ้าเป็นความจริงครูบาอาจารย์ท่านจะสาธุ ท่านจะอนุโมทนากับเราถ้าเป็นความจริง แต่ถ้าไม่เป็นความจริงท่านจะหาอุบายบอกทางเดินกับเรา ให้เรามีทางออกอย่างไร? เดินอย่างไรเข้าไปสู่ความจริงนั้น ฉะนั้น การโต้เถียงด้วยความเคารพบูชานะ การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง
ถ้าเราบอกว่าเราเคารพครูบาอาจารย์จนเราไม่กล้าพูดอะไรเลย อย่างนั้นก็ไม่ถูกต้อง เราต้องพูด เราต้องแสดงความเป็นจริงของเรา ถ้าความเป็นจริงของเรา ครูบาอาจารย์ท่านได้ยินแล้ว ท่านได้ฟังแล้วท่านวินิจฉัยของท่าน ท่านรู้ของท่านเองว่าจริงหรือไม่จริง ถ้ามันจริง จริงมีความจริงมากน้อยขนาดไหนกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วจะส่งเสริม จะทำอย่างไรให้มันเป็นความจริงขึ้นมาให้เป็นความจริงอันนั้น
ฉะนั้น เรามาวัดมาวา เห็นไหม นี่ทำบุญกุศลขึ้นมาให้จิตใจเราเป็นสาธารณะ จิตใจเราเปิดกว้าง แล้วจิตใจเราจะทำความมั่นคงของใจ เราจะมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด แต่ขณะที่เรายังไม่มีธรรมเป็นความจริง เราก็อาศัยครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำทางไป เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ พระอานนท์ร้องห่มร้องไห้นะ
ดวงตาของโลกดับแล้ว ดวงตาของโลกดับแล้ว
ฟังสิ ดวงตาของโลก.. ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านมีความจริงนะ เห็นไหม เป็นแสงส่องธรรม ส่องให้เราเดินไปข้างหน้าได้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์เป็นพระโสดาบันด้วย บอกว่าดวงตาของโลกดับแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ? พระอานนท์ก็ต้องขวนขวายเอง ทำเอง จนพระอานนท์เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน เป็นพระอรหันต์วันสังคายนา เห็นไหม
ฉะนั้น ถ้ามีครูบาอาจารย์ชี้นำนะ เราปฏิบัติให้ถึงท่าน แล้วจะพิสูจน์ท่านได้เลยว่าจริงหรือไม่จริง.. ถ้าเราของจริงนะ แล้วเรามีจริงนี่พิสูจน์ได้ รู้ได้ เห็นไหม สิ่งที่รู้ได้นี่ ในพุทธศาสนาของเรา เราถึงมีศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเครื่องดำเนิน แล้วเราทำของเรา แล้วเราจะมีธรรมเป็นที่พึ่งในหัวใจของเรา เอวัง