เทศน์บนศาลา

ธรรมะไร้ราก

๒๗ ก.ย. ๒๕๕๔

 

ธรรมะไร้ราก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะนะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รากเหง้าของธรรมคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม มีราก มีฐาน มั่นคงแข็งแรงจนมาถึงปัจจุบันนี้ มาถึงเราไง นี้เรามา เราจะมาประพฤติปฏิบัติธรรมกัน ประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยความเป็นธรรม ไม่ใช่ประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยความเป็นโลก

ถ้าความเป็นโลกนะ ห่วงหน้าพะวงหลังเป็นเรื่องโลกไง ในครอบครัว ในโลก ในความเป็นอยู่ นั้นคือโลก ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติธรรมต้องประพฤติปฏิบัติธรรมให้ตามความเป็นจริง มันจะเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมขึ้นมา แต่ของเราเห็นไหม วัตถุดิบ ไม้ที่ดิบจุดไฟติดได้ยาก ไม้เราตากให้แห้งก่อน เวลาจุดไฟติดมันจะติดได้ง่าย นั้นในการประพฤติปฏิบัติของเราต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา ศีลคือความปกติของใจ ถ้าศีลคือความปกติของใจเห็นไหม

“เขาว่าเอานะ เขาบอกว่าพระป่ากรรมฐานไม่สอนเรื่องศีล เล่าเรื่องทำสมาธิแล้วปฏิบัติไปเลย มันเลยทำให้เรรวนกันไปหมด เพราะข้ามขั้นตอนไป”

แต่โดยปกติของครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่นครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา เพราะเราชาวพุทธต้องมีศีลเป็นพื้นฐาน คนเรามีศีลอยู่แล้ว ศีล ๕ เป็นพื้นฐาน แต่! แต่โดยปัจจุบันนี้เห็นไหม โลกเป็นบริโภคนิยม เขานิยมกัน เขาทำการแข่งขันกัน ทำธุรกิจการค้ากัน เขาเลยบอกว่าสิ่งที่ทำให้เขาสะดวกสบายที่สุด สิ่งที่ทำให้เขาดำเนินการได้ง่ายที่สุด สิ่งนั้นคือความสะดวกสบายของเขา เขาเลยเห็นว่า ศีล ๕ หรือศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี้เป็นขวากหนาม เป็นการขวางกั้นความเจริญของเขา เขาเลยมองข้ามสิ่งนี้ไป โดยความที่ว่าไม่เห็นสิ่งนี้เป็นพื้นฐาน เป็นสายเลือดของชาวพุทธ

ถ้าชาวพุทธมีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ แล้วแต่คนจะเลือกถือโอกาสที่เราจะถือศีลของเรา ศีลของเราโดยสามัญสำนึกศีล ๕ นี่ขาดไม่ได้ ศีล ๕ นี่เป็นพื้นฐานเลย เพียงแต่ว่าวันไหนวันอุโบสถเราจะถือศีล ๘ ถือศีล ๑๐ แต่เวลาพระเรา ๒๒๗ เป็นพื้นฐาน ฉะนั้น ศีลนี้เป็นพื้นฐานโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ทีนี้โดยพื้นฐานเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เหมือนกับเราชาวพุทธจะถามว่า

“เรานับถือศาสนาอะไร” เราก็บอกว่า “นับถือศาสนาพุทธ นับถือศาสนาพุทธ”

ศาสนาพุทธมีอะไรเป็นพื้นฐาน เราก็รู้กันอยู่แล้วเป็นอยู่ในสายเลือด นี้โดยสายเลือดใช่ไหม เวลาครูบาอาจารย์เราพูด เราพูดถึงเรื่องสมาธิ เรื่องการประพฤติปฏิบัติไปเลย

“ฉะนั้นเขาบอกว่าไม่พูดถึงศีลก่อน”

แต่ศีลเป็นสายเลือด เราชาวพุทธมันเข้าอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว เรื่องของศีล เราเข้าใจกันได้หมด แต่! แต่เพราะเรามองข้ามกันไปเอง เพราะเราทิ้งของเราไปเอง เราเห็นโลกเป็นใหญ่ไง เราเห็นโลกเป็นใหญ่ว่าความเป็นอยู่ของเราสำคัญ ทุกอย่างมันสำคัญเห็นไหม

“รักษาหน้าแต่ไม่รักษาใจ” รักษาหน้านะ รักษาหน้าว่าเราเป็นคนดี เราเป็นชาวพุทธ เราพฤติปฏิบัติความดีของเรา แต่ศีลยังลืมเลย ศีลไม่เข้าใจ

“มันก็เลยบอกว่าต้องพูดถึงเรื่องศีลก่อน”

ต้องมาตอกย้ำกันเหรอ?

ฉะนั้น เวลาตอกย้ำนี่เป็นประเพณีวัฒนธรรม เราจะทำบุญกุศลเราก็ต้องขอศีล ต้องถวายทานแล้วก็...ถึงเวลาแล้วพาหุงฯ เพื่อจะได้เป็นกิจกรรมให้มันครบ จนเป็นประเพณี ทำจนเคยชิน ทำจนไม่เข้าถึงใจ

“แล้วบอกว่าถึงเวลาปฏิบัติต้องพูดเรื่องศีลก่อน ก็ตอกย้ำกันที่ศีล นี่เขาพูดกันนะ”

เพราะว่าเราเลื่อนลอยกันไป เพราะเราไร้ราก เราลืม...ลืมถึงประเพณีวัฒนธรรมของเราไปหมดแล้ว แล้วเราบอกเราเป็นชาวพุทธๆ กัน ชาวพุทธจะแข่งขันกับโลกนะ โลกเดี๋ยวนี้เจริญมาก โลกเป็นวิทยาศาสตร์ เรื่องเทคโนโลยีเขาไปไกลมาก ศาสนาพุทธจะแข่งกับเขาให้ได้เลย การแข่งของเขา แข่งไปเรื่องโลก แข่งออกไปแล้ว มันเป็นการส่งออกหมดเลย

แต่พุทธศาสนาไม่ได้สอนกันที่นั่น!

พระพุทธศาสนาสอนกลับมาในหัวใจ ทวนกระแสกลับมา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ตรัสรู้ในเรื่องสิ่งใด? สิ่งที่ธรรมะ สัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นรากเป็นฐาน แต่ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้นะ พระโพธิสัตว์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันวิสาขบูชานั่งตั้งแต่ปฐมยาม “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” ดู ๑๐ ชาติกลับไปตั้งแต่พระเวสสันดร ต่างๆ เห็นไหม นั้นคือราก คือสาแหรกในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์สร้างบุญกุศลมาพร้อมที่จะตรัสรู้

“ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” เวลาเกิดที่สวนลุมพินี “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” นี่เพิ่งเกิด “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” เพราะด้วยความสร้างสมบุญญาธิการมาสมบูรณ์ พอมีความสมบูรณ์ขึ้นมาถึงมีหลักมีเกณฑ์

คำว่ามี “มีหลักมีเกณฑ์” เห็นไหม ดูสิ เวลาอยู่ในราชวัง พระเจ้าสุทโธทนะพยายามทุกวิถีทางด้วยความรักด้วยความหวงแหน ด้วยว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะเป็นพระจักรพรรดิ จะเป็นผู้ปกครอง จะเป็นผู้รวบรวมแว่นแคว้นในชมพูทวีปให้เป็นผืนเดียวกัน จะเป็นจักรพรรดิ ด้วยพราหมณ์พยากรณ์ไว้ ด้วยความผูกพันของพ่อก็ต้องเป็นอย่างนั้นแหละ พยายามสร้างสมทุกอย่างให้อยู่ในสถานะ จะให้ขึ้นไปถึงพระจักรพรรดิให้ได้

แต่ด้วยที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการมาเห็นไหม มีรากเหง้า มีแก่นสาร มีสติปัญญา ทั้งๆ ที่ว่าทุกอย่างสมบูรณ์หมด นางพิมพาก็มี แล้ววันที่จะออกบวชสามเณรราหุลก็เกิดแล้ว ทุกอย่างพร้อมหมด ครอบครัวสมบูรณ์แบบทุกอย่าง มีทุกอย่างพร้อมหมดเลย แต่เพราะด้วยการสร้างบุญญาธิการมา นี่ไง รากเหง้าของคุณงามความดี รากเหง้าของการสร้างสมบุญญาธิการมา

จิตใจเวลามีผลการกระทบ เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย

“เราต้องเป็นอย่างนี้หรือ? สิ่งที่เราจะครองเป็นจักรพรรดิ เราจะได้สมบัติ เราจะได้ทุกอย่างพร้อมหมดเลย แต่เราก็ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตายไปโดยวัฏกะ ผลของวัฏฏะ”

ฉะนั้น สมัยนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรม สิ่งนี้ว่าวัฏฏะ ไม่วัฏฏะ ยังไม่เข้าใจกันได้ แต่รากเหง้าในหัวใจเห็นไหม นี่ธรรมะมีราก มีแก่นมีสาร มีความสมบูรณ์ มีการกระทำ โดยสัจธรรมเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว จะตรัสรู้-ไม่ตรัสรู้ ความจริงก็คือความจริงวันยังค่ำ

แต่พวกเรา เราสาวก-สาวกะไม่มีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะรื้อค้นของเรา เราต้องลงทุนลงแรงมหาศาลขนาดนั้น เรายังอ่อนแอ เรายังปฏิบัติกันแบบโลกๆ ปฏิบัติกันแบบความพอใจของเรา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้นะ จะออกบวช จะออกจากราชวัง มีความคิด มีความมั่นคง พระเจ้าสุทโธทนะจะสร้าง จะปรนเปรอ จะดูแลอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องการให้เป็นจักรพรรดิ แต่เพราะว่าบุญญาธิการ นี่การสร้างสม ทาน ศีล ภาวนา การเสียสละต่างๆ มันสร้างขึ้นมา พระโพธิสัตว์ได้สร้างขึ้นมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย พร้อมสมบูรณ์แล้วที่จะตรัสรู้

เวลาออกบวชมาแล้วไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ จะสำนักไหน จะมีชื่อเสียง จะสิ่งต่างๆ ที่ทางโลกเขายอมรับกัน ไปศึกษากับเขาหมด คำว่า “สำนักไหน” แสดงว่าเขาเป็นศาสดา สำนักไหนเขาเป็นเจ้าสำนัก เขาต้องมีวิชาการของเขา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่เป็นราชกุมาร ไปศึกษามา ศึกษาวิชาการมา ๑๘ แขนง เป็นวิชาการทางโลกมาทั้งนั้น จะเป็นการบริหารจัดการต่างๆ เพราะจะเป็นจักรพรรดิ มีความพร้อมหมดแล้ว นี้คือปัญญาทางโลก ว่าจะไม่มีปัญญาเลย...ก็มี มีปัญญาโลก โลกียปัญญา

แต่เวลาไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาปฏิบัติกัน เขาทำความสงบของใจ เขาทำสมาธิกัน เขาระลึกอดีตชาติกัน เขาทำ...นี่ไสยศาสตร์เขาทำกันหมด เพราะวุฒิภาวะ

ดูสมัยปัจจุบันนี้ ดูความอ่อนแอของพวกเราสิ ถ้าพระที่ไหนเขาพูดก็เชื่อ ถ้าพระที่ไหนเขาชักนำอย่างไรก็เชื่อ เขาสร้างกระแสอย่างไรก็เชื่อ ความอ่อนแอของเราเห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ ก็เหมือนเรานี่แหละ แต่ทำไมไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ทำไมไม่เชื่อล่ะ ทำไมใช้เหตุใช้ผลไตร่ตรอง เห็นไหม “อย่างนี้ไม่ใช่” ลาแล้วไป ค้นหา ค้นคว้าอยู่ต่างๆ

คนที่มีรากเหง้า แก่นสารที่มาดี มีหลักมีเกณฑ์ จะพิจารณาแยกแยะ สิ่งใดผิดสิ่งใดถูก จริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ ท่านแสวงหามาเรื่อย แสวงหามาถึงที่สุด แสวงหามาแล้ว จนถึงที่สุดมันก็ไม่มีอะไรเป็นความจริงสักอย่าง สุดท้ายแล้ว

“เราต้องคิดของเราเอง เราต้องค้นคว้าด้วยตัวเอง”

ถึงได้กลับมาฉันอาหารของนางสุชาดา พิจารณาแล้ว ปลงใจแล้วว่าการอดอาหาร การกลั้นลมหายใจ การที่ทำทุกรกิริยามาทุกอย่าง มันทำมาทุกอย่างสมบูรณ์หมดแล้ว เต็มที่ในทางโลกที่เขาทำกันอยู่แล้ว มันเป็นไปไม่ได้

ถ้าเป็นสมัยเรา ในปัจจุบันนี้เวลาเราปฏิบัติ ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีอยู่แล้ว แล้วเราปฏิบัติก็ยังคอตกอยู่นี่ ทั้งๆ ที่มีอริยสัจ มีสัจจะความจริง มีธรรมวินัยที่ศาสนา

มีราก มีเหง้า มีแก่นสารสมบูรณ์บริบูรณ์ทุกอย่าง แล้วเราปฏิบัติเราก็ยังล้มลุกคลุกคลาน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มี แต่ด้วยเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์สร้างสมบุญญาธิการมา อันนั้นก็ต้องยอมรับ ยอมรับว่าเพราะการสร้างมา การกระทำมา ถึงทำให้จิตใจเข้มแข็ง จิตใจมีเหตุมีผล จิตใจไม่เชื่อสิ่งใดโดยไร้เหตุผล จิตใจจะเชื่อสิ่งใดต้องพิสูจน์ตรวจสอบ

ทีนี้ พิสูจน์ตรวจสอบไปแล้ว มันที่ไหนมันก็ใช้ไม่ได้หมด แล้วมันจะไปทางไหน?

ก็ย้อนกลับมา “เราได้ทำมาทุกอย่างหมดแล้ว” วางหมดเลย แล้วปลงใจแล้วว่าจะมาฟื้นฟูร่างกายเห็นไหม ด้วยบุญกุศล นางสุชาดาก็กำลังจะแก้บน จะเอาอาหารไปถวายเทวดาที่ได้บนไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปลงใจว่าจะมาฟื้นฟูร่างกาย นางสุชาดามาถวายอาหารนะ ถึงรับอาหารของนางสุชาดา ฉันอาหารนั้นแล้วเสี่ยงทายนะ เสี่ยงทาย

“ถ้าเราทำได้ เรามีเป็นไปได้ ลอยถาดทองคำนั้นขึ้นไป”

ถาดทองคำลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป อันนี้เป็นอำนาจวาสนานะ เป็นอำนาจวาสนา คนที่มีบุญกุศล การเสี่ยงทาย เสี่ยงทายเพราะว่าสมบุกสมบันมามากแล้ว ทดสอบมาทุกลัทธิ ทุกศาสนาแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ ถึงเวลาเสี่ยงทายแล้ว ถาดทองคำลอยขึ้นไป ทำให้มีกำลังใจมากขึ้นนะ เตรียมพร้อมแล้ว ได้หญ้าคาของพราหมณ์แล้ว ได้ปูแล้ว ได้นั่ง

“ถ้าคืนนี้นั่งแล้วไม่ตรัสรู้จะยอมตาย”

นี่เป็นเอกภาพ จิตใจมุ่งมั่นไปในทางเดียว จะต้องทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ให้ได้ เห็นไหม ความมุ่งมั่น ความมั่นคงของใจ อยู่ที่การกระทำ สิ่งที่ได้ทำมา สิ่งที่ได้สร้างบุญกุศลมา สิ่งนั้นทำให้มั่นคงแล้วมีความเข้มแข็ง มีสติปัญญา แล้วนั่งคืนนั้น ปฐมยาม บุพเพนิวาสานุสติญาณ มัชฌิมยาม จุตูปปาตญาณ ยามสุดท้าย อาสวักขยญาณ ทำลายซึ่งกิเลสในหัวใจทั้งหมด

เวลารากเหง้า ธรรมะ รากฐานของธรรม ถ้ามันธรรมเกิดขึ้น เกิดขึ้นจากความจริง เกิดขึ้นจากหัวใจ แต่ถ้าหัวใจมันเร่ร่อน หัวใจมันไม่มีความจริงนะ มีรากฐาน มีหลักฐานแล้วเราก็ยังไม่จริงไม่จังของเรา ถ้าเราไม่จริงไม่จังของเรานะ ในการประพฤติปฏิบัติจะประพฤติปฏิบัติได้ด้วยวิธีใด เราคิดกันเอาเอง เราหาหนทางกันเอง เพื่อหาหนทาง เพื่อความที่เราปฏิบัติด้วยความมักง่าย ด้วยวุฒิภาวะของใจที่อ่อนแอ ความอ่อนแอ สุกเอาเผากิน อยากจะได้ตามความเป็นจริง

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เวลาเผยแผ่ธรรมนะ เวลาผู้ที่เกิดสหชาติ ดูอย่างพระโมคคัลลานะ เวลาพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรฟังธรรมของพระอัสสชิ พระอัสสชิสอนขึ้นมา

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ปฏิบัติแล้วเป็นพระโสดาบันทั้งหมด

เวลามาประพฤติปฏิบัติ ไปนั่งอยู่ สัปหงกโงกง่วงอยู่ ความว่าสัปหงกโงกง่วงนะ เป็นพระโสดาบันยังสัปหงกโงกง่วงอยู่ ทั้งๆ ที่เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา เวลาพระโมคคัลลานะ นั่งสัปหงกอยู่นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปโดยฤทธิ์ เหมือนกับเราคลาย...โดยเราดึงมือเข้ามา กับยื่นแขนออกไปโดยฤทธิ์ แค่เราคลายมือออกไป ไปถึงแล้วนะ ไปถึงเห็นไหม

“โมคคัลลานะ เธอสัปหงกโงกง่วงหรือ?”

“ให้เธอตรึกในธรรมนะ ให้เอานำลูบหน้า...”

ไปสอนพระโมคคัลลานะเห็นไหม

เราจะบอกว่า เวลาสมัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงชีวิตอยู่นะ เวลาพวกเราประพฤติปฏิบัติ เวลาจิตใจของเรากำลังจะได้เหตุได้ผล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดูแลอยู่ด้วยอนาคตังสญาณว่าใครจะได้หรือใครจะไม่ได้ แล้วจะไปช่วยเหลือเจือจานอยู่ตลอดเวลาเห็นไหม ไปโดยฤทธิ์ โดยการคู้แขนเข้ามา เหยียดแขนออกไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแล้ว ถึงหมดแล้ว ดูแลปกครองรักษาเพื่อความมั่นคงของศาสนา

นี่มันเป็นความจริงมาจากไหนล่ะ?

ความจริงมาจากการประพฤติปฏิบัติ มาจากการรื้อค้นขึ้นมาในหัวใจ

เวลาปฏิบัติตามความเป็นจริง ความเป็นจริงเห็นไหม เราวางทุกอย่างให้หมด แล้วเราตั้งกำหนดของเรา เราทำความสงบของใจเราเข้ามา แล้วนี่ความเป็นจริงถ้าใจมันสงบเข้ามามันรู้เหตุรู้ผลของมัน เวลาจิตสงบขึ้นมา มันมีที่พึ่งที่อาศัยนะ ถ้ามีที่พึ่งที่อาศัย จิตใจร่มเย็นเป็นสุข ถ้าจิตใจร่มเย็นเป็นสุข เราปฏิบัติของเราไป

แต่จิตใจของคนเห็นไหม ดูสิ จิตใจของคนมันแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างหลากหลาย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ ดูสิ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง วิธีการทำความสงบของใจ ๔๐ วิธีการ ๔๐ วิธีการเพราะอะไร เพราะรอเปิดกว้างให้กับจิตใจของพวกเรา จิตใจของพวกเราได้สร้างบุญกุศล พันธุกรรมของจิตแตกต่างหลากหลายกันมา แต่เวลาแตกต่างหลากหลายกันมา เวลาทำความสงบของใจเพื่ออะไร? เพี่อความสงบระงับ

รากเหง้าของมัน รากเหง้าของจิตนะ ถ้าจิตไม่มีรากเหง้านะ

ถ้าจิตไม่มีรากเหง้า เราจะทำสิ่งใดกัน

ในปัจจุบันนี้เวลาเราศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นภาคปริยัตินะ ศึกษามาเป็นความรู้ นี้เป็นความจำทั้งหมด นี้เป็นเรื่องโลกทั้งนั้น แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาด้วยความรู้ด้วยความเข้าใจของเรา ถ้าด้วยความรู้ความเข้าใจของเรา เราต้องปฏิบัติของเรา เราเปรียบเทียบด้วยปัญญาของเราได้

ดูสิ เวลาเขาทำการเกษตรกัน เขาอยากได้เร็ว เขาทาบกิ่ง เขาสวมตอ เขาทาบกิ่งของเขา เวลาเขาทาบกิ่งของเขา ต้นไม้มันเจริญได้ไหม มันก็เจริญของมันได้ มันก็เติบโตของมันได้ มันให้ผลไหม มันให้ผลมา แต่เวลามันเกิดพายุ เกิดลมแรง เกิดต่างๆ นะ มันหักโค่นของมันได้

ดูสิ เราประพฤติปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน เราประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าเราไม่ทำความสงบของใจเข้าไป มันไม่ถึงรากเหง้าของมัน มันไม่ถึงหัวใจของเรา ถ้าไม่ถึงหัวใจของเรานะ การศึกษาการประพฤติปฏิบัติกันอยู่ปัจจุบันนี้ เราศึกษาประพฤติปฏิบัติโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง

กิเลสอยู่ที่ไหน? กิเลสนะ อวิชชามันมาจากไหน?

อวิชชามันอยู่ที่ปฏิสนธิจิต เพราะจิตนี้การเกิดและการตาย จิตเวียนตายเวียนเกิด

เวียนตายเวียนเกิดเพราะอะไร? เพราะมันมีอวิชชาใช่ไหม ภวาสวะ-ภพ

ถ้าภพมันมีอวิชชาอยู่ ความมีอวิชชา อวิชชาคืออะไร?

อวิชชาคือความไม่รู้จักตัวมันเอง

แล้วมันไปศึกษาธรรมะ ธรรมะของใคร?

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาวางธรรมวินัยไว้ด้วยความรากเหง้าของธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้จนเป็นปึกแผ่นมั่นคงมา เป็นศาสนา เป็นประเพณีวัฒนธรรมมาให้เราได้ศึกษา เราศึกษามาเพื่ออะไร

ปริยัติศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ศึกษาปริยัติศึกษามาเพื่อปฏิบัตินะ แต่เราไปศึกษาปริยัติศึกษามาแล้วก็เป็นความรู้ของเรา ความรู้ของเรา เวลาปฏิบัติเราก็เข้าใจของเรา เข้าใจว่าเราปฏิบัติ เข้าใจว่าปฏิบัตินะ กำหนดนามรูป กำหนดทุกอย่างพร้อม...มันตัดแปะ! มันทาบกิ่ง!

ทาบกิ่งอย่างไร? ทาบกิ่งคือว่า ดูสิ ทาบกิ่ง เราทาบกิ่งเพราะว่าอะไร ตอ เราทาบกิ่งต้องมีตอถึงจะทาบกิ่งได้ใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน อวิชชามันอยู่ที่ภวาสวะ มันอยู่ที่ภพ ถ้าจิตใจเรายังไม่สงบร่มเย็นขึ้นมา มันทาบกิ่ง ทาบอะไร มันก็ทาบกดอวิชชาไว้ไง มันทาบพญามารไว้ พญามาร ดูสิ ตอของมัน

ดูสิ ไม้ป่า ไม้พื้นเมือง ไม้พื้นเมืองมันเจริญเติบโตในสถานที่ได้มั่นคง ดูสิ เวลากิ่งพันธุ์ที่เราต้องการมันอ่อนแอ พอมันอ่อนแอ เราก็ทาบกิ่งเอา เราทาบกิ่ง สวมตอเอาเพื่อความมั่นคงแข็งแรง ด้วยเพราะว่าไม้พื้นถิ่นมันป้องกันโรคดี มันเจริญเติบโตได้ดี

จิตใจของเรามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก การศึกษา “ธรรมะของพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้า” มันทาบกิ่ง แล้วทาบกิ่งมา เวลามันหักโค่นไปแล้วมันเหลือสิ่งใดล่ะ นี่เวลาประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เราว่าเราประพฤติปฏิบัติของเรา แต่ถ้าเราปลูกไม้ เราเพาะตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ขึ้นมา มันมีรากของมัน มีความเข้มแข็งของมัน เวลาปลูกขึ้นมามันช้ากว่าไหม? ช้า แต่เวลามันเติบโตขึ้นมามันมั่นคงแข็งแรงกว่าไหม? มั่นคงแข็งแรง แล้วมันเป็นจริงของมันด้วย

แต่เราไปทาบกิ่ง เราไปสวมตอ เราไปสวมตอกับอะไรล่ะ เราสวมตอกับกิเลสเราใช่ไหม

ฉะนั้น ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าจิตใจมันสงบเข้ามา ถ้าเราพยายามทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบได้ นี่ไง มันถึงเมล็ดพันธุ์มันนะ นี่พันธุกรรมของจิต ถ้าจิตมันเข้าถึงความสงบ ความสงบ แม้แต่ความสงบนะ เรากำหนดพุทโธๆ หรือปัญญาอบรมสมาธิ เวลาเราใช้ปัญญาเข้าไป เวลาปัญญาอบรมสมาธิ

ทำไมต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิด้วยล่ะ ทำไมไม่ใช้สมาธิอบรมปัญญา?

โดยหลักมันใช้สมาธินี่อบรมปัญญา มีศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล สมาธิ ปัญญา... เรามีศีลโดยพื้นฐาน โดยสายเลือดอยู่แล้ว ยิ่งพระไม่ต้องพูดเรื่องศีลเลย ศีลทุกคนต้องมีโดยธรรมชาติเลย นี้โดยธรรมชาติแล้วนี่เราจะมีความมั่นคงแค่ไหน เราจะขวนขวายแค่ไหน เราจะรักษาหัวใจได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเรารักษาหัวใจเรามั่นคง แล้วรักษาหัวใจเราได้เข้มแข็งขึ้นมา เวลาปฏิบัติ เวลาทำความสงบของใจมันก็ง่ายขึ้น เพราะอะไร เพราะมันส่งต่อเนื่องกัน มันส่ง มันเกี่ยวเนื่องกัน

ถ้าจิตใจสงบ ถ้าจิตใจระงับ จิตใจที่ไม่มีสิ่งใดที่รบกวนหัวใจ เวลากำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันจะทำงานง่ายขึ้น จิตใจที่พะรุงพะรัง จิตใจที่มีแต่อารมณ์ขุ่นมัว จิตใจที่มีแต่ความวิตกกังวล เวลาพุทโธๆ เห็นไหม ทาบกิ่ง กดลงไป มันก็ไม่ลง

ฉะนั้น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขาถึงถนอมรักษาไง เรื่องศีลทุกคนจะต้องบริสุทธิ์ ถ้าไม่บริสุทธิ์นะ มันหลอกตัวเอง ถ้าหลอกตัวเองขึ้นมา พระเราถึงต้องปลงอาบัติเห็นไหม ถ้าใครมีความผิดพลาดพลั้งเผลอไปโดยทุกคนมีกิเลสอยู่ก็ปลงอาบัติ ปลงอาบัติเพื่อเวลาจะนั่งสมาธิแล้ว เวลานั่งภาวนาขึ้นมาแล้ว มันจะได้กิเลสไม่หาที่ช่องออกนั้น

ถ้าเราไม่ปลงอาบัตินะ มันวิตกกังวลไปหมด นิวรณธรรมกางกั้นการทำสมาธิ ความเป็นสมาธิ นิวรณ์มันปิดกั้นหมดเลย แต่ถ้าเราปลดเปลื้องให้หมด มีสิ่งใดที่มีอกุศล สิ่งใดที่เป็นสิ่งที่มันเศร้าหมองในหัวใจ เราทำให้สะอาดบริสุทธิ์เห็นไหม แล้วเรานั่ง เราทำความสงบของใจเข้ามา

ทำไมต้องทำความสงบของใจ?

ทำความสงบของใจเพื่อรากเหง้าของมันไง ทำความสงบของใจเพื่อเข้าถึงหัวใจไง ถ้าเข้าถึงหัวใจนะ เราพุทโธๆ เพราะเราต้องทำความสงบของใจให้จิตใจเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าจิตใจเริ่มเข้มแข็งขึ้นมา เวลาเริ่มจะสงบ เริ่มจะสงบระงับเข้ามา มันก็มีความรับรู้ มีสิ่งที่จิตของมันจะดิ้นรนของมันแตกต่างกันไป จิตที่ดิ้นรนนะ

เด็ก เวลาเราจะให้มันทำงาน เราจะพยายามฝึกสอน เด็กเขาก็ต้องมีแรงต้านของเขา เด็กเขาจะรับรู้ของเขา เด็กเขาจะทำความเป็นจริงของเขา จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ถ้าเด็กนิสัยเย็น นิสัยไม่ก้าวร้าว เขาก็แสดงออกอย่างหนึ่ง เด็กถ้านิสัยก้าวร้าว เขาก็แสดงออกอย่างหนึ่ง จิตใจที่มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เวลากำหนดพุทโธๆๆ เข้าไปเพื่อเข้าไปสู่รากเหง้า

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจะมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พร้อมสมบูรณ์มาด้วย...เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฐมยามนะ บุพเพนิวาสานุสติญาณ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เวลาท่านพูดถึงอดีตชาติของท่านให้ฟังว่าท่านมาอย่างใด ท่านมาอย่างใด

จิตใจของเรา เราเกิดมาเป็นเรา มันก็มีจิตใจ เหมือนเด็ก เด็กก้าวร้าว เด็กร่มเย็น เด็กสงบเสงี่ยม เด็กต่างๆ “จิตใจ” จิตใจที่มันเป็นนิสัยของใจ นิสัยของใจพันธุกรรมของมัน สิ่งใดมันกระทบ มันรุนแรง มันต่างๆ เวลาที่ก้าวร้าว เวลาพุทโธๆ ไปเห็นไหม มันต่อต้าน มันมีแรงขับดันของมัน ถ้าแรงขับดันของมัน...

“แล้วทำไมต้องทำ ถ้ามันแรงขับดันของมัน เราก็หลบ เราไม่ต้องไปทำมันก็จบเรื่อง”

“ความจบเรื่อง” เราก็จะเวียนตายเวียนเกิดในโลกนี้ เราจะไม่ได้ประโยชน์สิ่งใดในหัวใจของเรา

เราศึกษาธรรมะ เราเกิดเป็นชาวพุทธ พบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเห็นไหม พระพุทธศาสนา ถ้าถือศาสนาเป็นทะเบียนบ้าน เรามีทะเบียนบ้านเพื่อไว้กรอกทะเบียนว่าเราเป็นชาวพุทธ แต่พอเรามีศรัทธา เรามีความเชื่อ เรามีบุญกุศลขึ้นมา เราจะเริ่มศึกษา เริ่มค้นคว้าเรื่องของศาสนา

ศาสนาคือสอนเรื่องตอบโจทย์ เรื่องชีวิต ชีวิตเกิดมาจากไหน ชีวิตมาดำรงอยู่นี่ เวลาถ้ามีศาสนาในหัวใจ คนที่ดำรงชีวิตในโลกนี้มันก็จะไม่เดือดร้อนจนเกินไปนัก เพราะมันมีเหตุผลคอยตอบสนองชีวิตของเราว่าชีวิตของเราทำไมล้มลุกคลุกคลาน ทำไมชีวิตของเราร่มเย็นเป็นสุข ทำไมชีวิตของเราลุ่มๆ ดอนๆ นี่มันก็มีศาสนา มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคอยชโลมหัวใจ

เราศึกษาธรรมขึ้นมา พอเราเห็นว่ามีศาสนาชโลมหัวใจของเรา “อืม! ชีวิตของเรามันก็ไม่แห้งแล้ง ไม่แห้งแล้งเหมือนกับทางโลกเขา เหมือนกับที่เป็นชาวพุทธทางทะเบียนบ้าน” พอเราศึกษาเข้ามา มันเข้าใจ แล้วเราเริ่มมีความสดชื่น เริ่มมีสิ่งที่ว่าดำรงชีวิต

เราศึกษามากขึ้น “เอ๊ะ! เราก็ทำได้ เราก็ประพฤติปฏิบัติธรรมได้ เราบำเพ็ญเพียรของเราได้”

ถ้าเราทำของเราขึ้นมาได้ เราจะมีความสุขร่มเย็นมากขึ้นๆ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “สุขสิ่งใดเท่าจิตสงบไม่มี”

“ถ้าจิตสงบ ถ้าจิตมันเริ่มสงบระงับขึ้นมา มันทำของมันเห็นไหม มันมีผลกระทบอย่างใด ที่ว่าในเมื่อมันมีสิ่งที่กระทบ เราก็หลบหลีกซะ เราก็ไม่ต้องทำซะ ไม่ต้องทำซะ เพราะต้องหลบหลีก มันเป็นธุระ มันเป็นภาระ มันเป็นสิ่งที่กังวลใจ ไม่ต้องทำอยู่เฉยๆ มันก็สบายดีแล้ว”

ความคิดอย่างนั้นเป็นความคิดของกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันล้วงตับ ล้วงไส้ ล้วงพุง ให้เราล้มลุกคลุกคลานไง แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม สติปัญญามันช่วยเหลือใครล่ะ มันก็ช่วยเหลือจิตดวงนี้ ถ้ามันช่วยเหลือจิตดวงนี้... ที่ว่าจิตดวงนี้เกิดมาก็เป็นคน เป็นคนทำมาหากินก็ประสบความสำเร็จพอสมควร แล้วถ้าอยู่ดำรงชีวิตมันก็ตายไป ตายไปก็ไปเกิดเป็นคนอีกล่ะ เกิดเป็นคนก็จะมาดำรงชีวิตอยู่อย่างนี้อีก แล้วถ้าเกิดมาแล้วเกิดทำพลั้งพลาดไปแล้ว เกิดมาแล้วถ้ามันตายไป มันเกิดในนรกอเวจีล่ะ

ถ้ามันได้คิดอย่างนี้ “แล้วถ้ามันไม่เกิดล่ะ?”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเที่ยวสวน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย

“เราต้องเป็นเช่นนี้หรือ?”

ท่านยังหาทางออกได้ แล้วขณะนั้นยังไม่มีใครเป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งนั้นเป็นความจริงหรือเปล่า แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วโดยบุพเพนิวานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ มันยืนยันชัดเจน ชัดเจนว่ามันเป็นอย่างนั้นแน่นอน ถ้าเป็นอย่างนั้นแน่นอน แล้วเราจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

ถ้าจิตใจเรายังไม่มีความมั่นคง เราก็เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้างเห็นไหม มีความเชื่ออยู่ ก็มีความไม่เชื่ออยู่บ้าง มรรค ผล นิพพานเขาว่ามีความร่มเย็นเป็นสุข ก็มีความเชื่ออยู่ แต่ก็ยังห่วงหาอาลัยอาวรณ์ความดำรงชีวิตอยู่ ความเป็นโลกอยู่ ยังมีความสุขรื่นเริงในชีวิตอยู่...มันยังไม่ตาย

พอมันจะตายขึ้นมา มันคอตกทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ยังทุกข์มาก เราก็ชีวิตของเรา ถ้าดำรงชีวิตอย่างนี้มันก็ต้องตายไป มันก็ต้องหมุนเวียนไป แต่เรา ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วถ้ามันไม่ตายมันทำอย่างไร เกิด แก่ เจ็บ ตาย กับเกิดมาชาติสุดท้ายแล้ว มันไม่เกิดอีก มันไม่ตายอีก มันจะทำอย่างไรล่ะ ถ้ามันทำอย่างไร มันก็มีแก่ใจที่...ในเมื่อมันต่อต้าน ในเมื่อมันก้าวร้าว ทำไมมันพุทโธแล้วมันไม่ยอมพุทโธ เราก็เลิกซะ กับถ้าเรามีสติปัญญา เราไม่เลิก เราไม่เลิกซะ เราจะพิสูจน์ของเราล่ะ

ถ้าเราพิสูจน์ของเรา ถ้ามันมีรากของมันนะ มีรากมีเหง้าของมัน เวลามันสงบร่มเย็นมา สิ่งที่ศึกษานั้นเป็นทางวิชาการ สิ่งที่ศึกษานั้นเป็นชื่อของมัน ชี้เข้ามาสู่ผลอันนี้ สติเห็นไหม สติเกิด สติดับ สติต่างๆ มันก็ชี้ผลของความรับรู้ ระลึกรู้อยู่กับสติ เวลาจิตมันสงบขึ้นมา นี่ชื่อของมันที่เราศึกษามาทั้งหมดก็ชี้เข้ามาสู่ความเป็นสมาธิ

พอความเป็นสมาธิขึ้นมา พอจิตเป็นสมาธิเห็นไหม ชื่อของมันกับผลของมันแตกต่างกัน ถ้าผลของมันแตกต่างกัน นี่ไง มันมีหลักมีเกณฑ์แล้ว มันมีเหตุมีผลของมันแล้ว ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ มีเหตุมีผลของมัน มันมีความสงบร่มเย็นมากขึ้น มันก็มีความชุ่มชื่นของใจ เราปฏิบัติแล้วมันไม่เร่าร้อนไง

ถึงว่าคนปฏิบัติต้องมีความร่มเย็นเป็นสุข แต่ทำไมเราปฏิบัติแล้วมันมีแต่ความเร่าร้อน

ความเร่าร้อนนะ...ชีวิตหนึ่งใช้ไปทางโลกมันก็เป็นโลกนะ

ชีวิตหนึ่งจะให้เป็นทางธรรมก็เป็นทางธรรม

“ใช้เป็นทางธรรม” ดูสิ เราก็เป็นห่วงวิตกกังวลนะ ถ้าเราปฏิบัติธรรมแล้วเราจะไม่มีอยู่มีกิน มีอะไร...พระเวลามีความมั่นคงของใจ เสียสละมา บิณฑบาตมันมีอยู่มีกินอยู่แล้วล่ะ เพราะเราเกิดมาท่ามกลางพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา เพราะเราหวังพึ่งกันไง เราหวังพึ่ง เราอยากทำบุญกุศล เราอยากมีเนื้อนาบุญของโลก แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเขาดัดแปลงใจของเขาเป็นเนื้อนาบุญของเราได้ เขาส่งเสริม ทุกคนเขาส่งเสริมเพื่อต้องการผู้ที่ชี้นำทาง

ฉะนั้น เราไม่ต้องห่วงเลย ถ้าเราทำดีของเรา เราปฏิบัติของเรา

“เราอยู่แล้วเราจะไม่มีปัจจัยเครื่องอาศัย เราจะอยู่กับโลกเขาไม่ได้”

นี่ความวิตกกังวลคิดไปหมดน่ะ มันทำอะไรก็ไม่ได้เลย

แต่ถ้ามันทำได้ของมัน มันมีความมั่นคงของมัน มันทำของมัน เราบวชแล้ว เราเรียนแล้ว เราออกจากเรือนมาอยู่วัดอยู่วาแล้ว เราปฏิบัติของเรานะ ปฏิบัติงานของใจแล้ว ถ้าใจมีรากมีเหง้านะ นี่รากเหง้าของใจ

“ธรรมะมีแก่นสาร” ถ้าธรรมะมีแก่นสาร จิตสงบแล้วนะ เวลามันเกิดปัญญา มันจะเกิดความมหัศจรรย์ มหัศจรรย์จริงๆ นะ เวลาจิตสงบนะ เวลาตรึกในธรรม ทำไมมันเกิดธรรมสังเวชขนาดนั้น ทำไมมันเกิดความน้ำหูน้ำตาไหล ทำไมมันซาบซึ้งใจขนาดนั้น ก็คิดเรื่องเดียวกัน ถ้าคิดเรื่องเดียวกันนะ ถ้าจิตใจเป็นปกติ มันคิดแล้ว มันก็คิดก็คือคิดน่ะ

แต่ถ้าจิตใจมันเป็นสมาธิ พอจิตใจเป็นสมาธิ มันไม่มีสัญญาอารมณ์โลกมาแบ่งบัน เวลามันคิดเรื่องเดียวกัน เรื่องการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันสังเวชชีวิต มันสังเวชชีวิตมาก เห็นไหม แค่จิตสงบเวลามันคิดถึงเรื่องนี้มันยังกระเทือนหัวใจได้ แล้วถ้าจิตมันสงบมากกว่านี้ แล้วจิตมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมโดยข้อเท็จจริง มันจะมีรสชาติขนาดไหน มันก็ทำให้เราขวนขวายอยากกระทำ

ถ้ามันทำให้ขวนขวายอยากกระทำนะ พออยากกระทำ งานที่เราไม่เคยทำ สิ่งใดที่เราไม่เคยทำมันก็ล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้น งานที่เราไม่เคยทำนะ พอเราเห็นผล หวังผล พอหวังผล เราก็ตั้งสู่เป้าหมายนั้น แต่เราลืมไป เราลืมไปอย่างหนึ่งว่า เราเป็นปุถุชน เรามีกิเลสอยู่ พอกิเลสนี่...

“มารเอย เธอจะเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดจากดวงใจของเราไม่ได้เลย”

นี้คือการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ยมาร

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา”

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา จิตใจเราสงบ จิตใจเราร่มเย็น เราก็ว่าเราหวังผล เราอยากได้ของเรา พอหวังผลอยากได้ “มารเอยเธอเกิดจากความดำริของเรา” เราหวังผล นี่มันเข้าทางมารหมดเลย เข้าทางกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง พอมันเข้าทางกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราไม่รู้ตัว เราไม่รู้ตัวเลยนะ เราว่าเราก็ทำดี เราปฏิบัติมีแต่จิตใจสงบร่มเย็น โอ๋ย! มันก็อยากได้ ต้องทำอย่างนี้อีกนะ ตั้งใจนะ นี่มันก็เข้าทางกิเลสหมด

พอเข้าทางกิเลสหมดนะ ทำอย่างนี้ก็ไม่ได้ผล ทำอย่างนี้ก็ไม่ได้ผล ทำอย่างนี้ก็ไม่ได้ผลนะ อัดอั้นตันใจไปหมดเลย พออัดอั้นตันใจไป ตีอกชกตัวแล้วมันจะไปทางไหนถูก ไปก็ไม่ถูก มาก็ไม่ถูก เดินหน้าก็ไม่ไป ถอยหลังก็ไม่ได้ แล้วทำอย่างไร ทำอย่างไร

เพราะเราความไม่เคย เพราะความไม่รู้เห็นไหม เวลากิเลสมันหลอกอย่างนี้ เราก็ดิ้นรนกระวนกระวายหาทางออก แต่ถ้าเพียงแค่เราตั้งสติ เราตั้งสติเท่านั้นแหละ ทุกอย่างก็จบแล้ว แต่พอเราตั้งสติแล้ว “มันทำไมมันเป็นอย่างไร ทำไมมันหาที่ไหน...” มันจะไปอีกนะ

พอตั้งสติทุกอย่างก็จบ พอทุกอย่างจบนะ อย่าเสียใจ อย่าน้อยใจ ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญไป ถ้าเราใช้กำหนดคำบริกรรม เราก็คำบริกรรมไป แล้วพอคำบริกรรมไป สิ่งที่เป็นกิเลสนะ ถ้ากิเลสมันยังมีกำลังเหนือเรานะ พอเรากำหนดพุทโธ หรือเราใช้คำบริกรรม เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็แล้วแต่ มันก็จะสอดแทรกเข้ามา มันจะสอดแทรกเข้ามา อันนี้มันอยู่ที่ว่า เวลาพระโพธิสัตว์สร้างสมบุญญาธิการมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย อันนี้มันก็เหมือนกับเราสร้างบุญกุศลมามากหรือน้อย

ถ้าเราสร้างกุศลมาน้อย แล้วสิ่งที่เวลาเกิดขึ้นมา กิเลสเราเข้มแข็ง แต่ความเพียร ความแก่กล้าของจิตเราอ่อนแอ เราจะไม่มีสติยับยั้ง แล้วเราจะไม่ทันอารมณ์ของเรา ถ้าเราไม่ทันอารมณ์ของเรา เวลาอารมณ์ของเรามันเบียดเบียนเรา เราก็ล้มลุกคลุกคลาน ตีอกชกตัวอยู่อย่างนั้น

แต่ถ้าเราตั้งสติของเรา เราได้สร้างสมบุญญาธิการมาอย่างนี้ เราได้ทำบุญกุศลมาอย่างนี้ เราจะต้องกัดฟันทน กัดฟันแล้วต่อสู้ แต่ถ้าคนที่มีสติปัญญา หรือได้สร้างบุญกุศลมาดีเห็นไหม พอเขาตั้งสติทุกอย่างก็ดับหมด ทุกอย่างก็หยุดหมด พอเรากำหนดคำบริกรรม มันก็ชัดเจนขึ้นมา เวลาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันก็ก้าวเดินต่อไปได้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าต้นทุนของคนมันไม่เหมือนกัน ในเมื่อต้นทุนของคนไม่เหมือนกัน การกระทำนี้โดยหลัก “กรรมฐาน ๔๐ ห้อง” “ศีล สมาธิ ปัญญา” ถ้าศีลโดยปกติ ศีลของเราบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่แล้ว เราทำความสงบของใจ ใจมันต้องสงบลงได้ ถ้าใจมันสงบลงได้ ถ้าเราออกฝึกหัดใช้ปัญญา แค่จิตสงบ เราตรึกในธรรม มันยังสลดสังเวชขนาดนั้น

พอมันสลดสังเวชขนาดนั้น เราทำความสงบของใจให้มั่นคงขึ้นมา แล้วน้อมไป ถ้าจิตมันมั่นคงแล้วมันน้อมไปได้ มันน้อมไปจะเห็นกาย ถ้าจิตมันพิจารณาอยู่ เวลามันเกิดเวทนาขึ้นมา นี่จิตสงบแล้วเกิดเวทนาขึ้นมา มันจับเวทนาได้ แต่ถ้าจิตมันไม่สงบมันเกิดเวทนาขึ้นมา มันทำให้จิตสงบไม่ได้ เพราะเวลาจิตมันใช้คำบริกรรม ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แต่เวทนามันกล้าขึ้นมาก่อน ปัญญาของเรามันไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ปัญญาของเราไม่ชัดเจน มันไปห่วงอาลัยอาวรณ์ ไปรับรู้แต่เวทนา เห็นไหม เวทนาเข้ามาสอดแทรกตลอด จิตมันไม่สงบ... จิตมันไม่สงบ มันก็จับเวทนาไม่ได้เต็มไม้เต็มมือ

แต่เวทนามันเป็นเรา เวทนามันมาทำลายบัลลังก์ของเรา เวทนามาทำลายการนั่งสมาธิ มันทำลายการเดินจงกรมของเรา มันทำลายให้เราเสียใจ ทำให้เราล้มลุกคลุกคลานเห็นไหม เพราะจิตเราไม่สงบ ฉะนั้น เราก็ปล่อยวางเวทนา กลับมาคำบริกรรม หรือใช้ปัญญาของเราก็ได้ ถ้าจิตมันสงบไปแล้ว พอจิตมันสงบ สงบจากอะไร ก็สงบจากเวทนานั่นน่ะ

เวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา

ถ้าอุเบกขาเวทนา ความรับรู้ของใจมันก็ลากเราไปเห็นไหม

“รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

รวมทั้งเวทนาด้วย เพราะรูป รส กลิ่น เสียงมันก็มีผล มีค่าของสุขและทุกข์ ถ้าวิญญาณมารับรู้มันก็ลากหัวใจนี้ไป ถ้าลากหัวใจนี้ไปมันก็ออกมาสู่สามัญสำนึก ออกมาสู่โลกนี่ไง ปฏิบัติโดยโลกนี่ไง แต่ถ้าเราทำความสงบของใจมากขึ้น เรามีสติปัญญาของเรา เราพิจารณาแยกแยะของเราขึ้นมา มันปล่อยเข้ามาเรื่อย... ปล่อยเข้ามาเรื่อย... พอมันสงบเข้ามาเรื่อย

มันสงบมาจากอะไร? มันสงบมาจากเวทนาเข้ามา

พอนั่งไป จิตมีความสงบ มีความร่มเย็น ถ้าจิตมีความสงบ มีความร่มเย็น เพราะเรานั่งไปแล้ว โดยธรรมชาติ โดยความเป็นจริง ในเมื่อเรานั่งอยู่นาน เวทนามันต้องเกิดแน่นอน ถ้าเวทนานี้เกิด ถ้าจิตเราสงบ มันเห็นเวทนา แล้วมันจับเวทนาได้เห็นไหม เพราะมันเห็นเวทนามันจับเวทนา ตอนนี้จิตจับเวทนา ไม่ใช่เวทนาเป็นเรา

ถ้าเวทนาเป็นเรา จิตมันสงบ มันไม่สงบ... อย่างมากก็กึ่งๆ อย่างมากก็ทำสิ่งใดไม่ได้ อย่างมากก็แค่ได้ต้านทานกันไว้ แต่ถ้าจิตสงบเข้ามาแล้วมันจับเวทนาของมันได้ ถ้าจับเวทนาได้ เวทนามันมาจากไหน? เวทนามันมาจากฟ้าเหรอ ถ้าเวทนามันอยู่กับเราตลอดไป เราลุกไปไหน เราอยู่ที่ไหนเวทนามันต้องอยู่กับเราตลอดไปสิ เวทนานี่มันก็เหมือนแผลเป็น ต้องติดกับหนังเราไปสิ นี้มันต้องติดกับหนัง ติดกับกระดูกของเราไป

ไอ้นี่พอเราลุกก็หายแล้ว พอเราขยับขามันก็หายแล้ว เวทนาเป็นอะไร? เวทนาเป็นนามธรรม ถ้าเวทนาเป็นนามธรรม...กระดูกก็ไม่ใช่เวทนา เนื้อก็ไม่ใช่เวทนา หนังก็ไม่ใช่เวทนา ไม่มีสิ่งใดเป็นเวทนาเลย แต่เวทนามันเกิดขึ้นมาเพราะความรับรู้โดยธรรมชาติที่จิตมันอ่อนแอ ที่จิตมันรับรู้ของมัน ถ้าจิตมันเข้มแข็งขึ้นมา เวทนานี้ก็กลายเป็นประโยชน์

กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสติปัฏฐาน ๔ ให้จิตที่สงบแล้วได้วิปัสสนา

ถ้าวิปัสสนาขึ้นมา วิปัสสนาเพื่อสิ่งใด?

วิปัสสนาเพื่อให้แยกแยะของมัน แยกแยะให้เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ความรู้สึก เป็นความยึดมั่นของใจ ถ้ายิ่งใจยิ่งยึดมั่นมันยิ่งเจ็บปวดมาก ถ้าเวทนามันเกิดขึ้น ถ้ามันมีความยึดมาก มันก็เจ็บปวดมาก ยิ่งอยากให้หายมันยิ่งเจ็บปวด ๒ ชั้น ๓ ชั้น เวทนาเป็นเวทนาวางไว้ จิตเป็นจิต แล้วเราใช้ปัญญาแยกแยะมันเห็นไหม ใช้แยกแยะมัน อะไรเป็นเวทนา เป็นนามธรรม “อารมณ์ความรู้สึกเป็นวัตถุอันหนึ่ง” ถ้าจับได้นะ จับเวทนาก็ได้ จับจิตก็ได้

ถ้าจิตก็เป็นอย่างนี้ จิตก็เป็นขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหมือนกัน

ถ้าจับธรรมารมณ์ “ธรรมารมณ์” อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในกระบวนการของมัน ถ้ามันวิปัสสนามันแยกแยะของมัน โดยฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญามันมาจากไหนล่ะ? ปัญญามันเกิดจากการฝึกหัด เกิดจากการตรวจสอบ เกิดจากการทดลองของมัน ถ้าเกิดจากการตรวจสอบทดลองของมัน มันพิจารณาไป พิจารณาไป กาย เวทนา จิต ธรรม

กิเลสมันอาศัยกาย เวทนา จิต ธรรม ออกมาแสดงตัว ออกแสดงตัวแล้วมันก็กลับมาครอบงำหัวใจของเรา เพราะหัวใจของเรา ครอบครองหัวใจเพราะอะไร เพราะความรู้สึกความนึกคิด ชีวิตนี้ออกมาจากชีวะ ออกมาจากภวาสวะ ออกมาจากภพทั้งหมดเลย ภพนี้ สิ่งที่มีคุณค่าเห็นไหม ดูสิ สิ่งที่มีคุณค่าคือหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเราประพฤติปฏิบัติเข้าไป มันแยกแยะของมันขึ้นมา มันเห็นเหตุเห็นผล มันก็ปล่อยวาง

เวลาปล่อยวางเวทนา มันปล่อยวางเวทนา เวทนาไปไหน เวลามันปล่อยปั๊บมันลงนะ เวทนาเป็นเวทนา จิตเป็นจิต แล้วมันรวมลง พอรวมลงจิตมีความร่มเย็นเป็นสุขนะ

เวลาทำความสงบของใจ เราต้องการให้ใจเราสงบใช่ไหม เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือเราใช้คำบริกรรม เวลามันสงบลง ถ้ามันสงบลง ความสุขอันหนึ่ง ความสุขจากจิตสงบ จิตเป็นสมาธิก็มีความสุข มีความสงบ มีความระงับ มันก็มีความสุข

“สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

แต่มันเป็นสมถะ มันเป็นความสงบของใจ เราออกฝึกหัดใช้ปัญญา เพราะมันมีความสงบของใจ มันเป็นสมถะ มันมีฐานที่ตั้ง แต่ถ้าเป็นการตัดกิ่ง ทาบกิ่งเห็นไหม ตัดกิ่งทาบกิ่งก็ใช้ปัญญา ใช้นึกคิดขึ้นมา พอมันหายมันก็หายไปเลย... ความรู้เท่า เกิดดับ ดับซ้อน... จับแล้วดับไปไหนล่ะ? จับแล้วมันเหลืออะไรล่ะ?

แต่ถ้ามันมีสติ มันมีคำบริกรรม มันมีปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ เวลาความรู้สึกนึกคิดมาจากไหน ความรู้สึกนึกคิดมันเกิดจากจิต แล้วเวลาเราใช้สติปัญญาจับอารมณ์ความรู้สึก จับความทุกข์ความยาก จับสิ่งที่มันฝังใจอยู่นี่ แล้วแยกแยะมัน

ฝังใจ...อะไรฝังใจ?

ฝังใจก็เพราะเราอยากคิดน่ะสิ

เราคิด...เราคิดเพราะอะไร?

เพราะคิดแล้วมันมีอารมณ์ความรู้สึกน่ะสิ

แล้วความรู้สึกเกิดมา...เกิดมาทำไม?

ก็เกิดมากวนหัวใจน่ะสิ

แล้วเกิดมากวนหัวใจแล้วคิดทำไมล่ะ?

ก็มันโง่น่ะสิ

นี่พอมันไล่ต้อนเข้ามา เพราะมันโง่ แล้วใครเป็นคนโง่ล่ะ? ใครมีความรู้สึกล่ะ?

ถ้าปัญญาอบรมสมาธินี้มันใช้ปัญญาฝึกหัดหัวใจ แล้วฝึกหัดหัวใจนี้ตัวจิตมันฝึกหัด มันก็ปล่อยวางเข้ามาๆ ปล่อยวางเข้ามามันก็เป็นตัวมัน มันมีเห็นไหม มันไม่ใช่ทาบกิ่ง มันมีจริงๆ มันมีมันรู้ของมัน มันไม่ทาบกิ่ง มันไม่ตัดตอน มันไม่หายไป

ดูสิ เวลาเราตรึกของเราโดยปัญญานะ โดยธรรม ถ้าจิตมันสงบ โอ้โฮ! รู้ไปหมด เห็นไปหมด ดีไปหมดเลย แต่เวลามันเสื่อมนะ เหมือนไม่รู้อะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ไอ้ที่รู้ๆ ไปไหนหมดล่ะ สัญญาที่จำมามันไม่เป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริงนะ จิตสงบก็รู้ว่าสงบ แล้วสงบด้วยวิธีการอย่างใด ถ้าฝึกหัดบ่อยๆ เข้า ชำนาญในวสี ชำนาญในการรักษา เวลาทุกคนห่วงมากว่าจิตสงบ เวลาจิตเป็นสมาธิแล้วมันจะเสื่อมจากสมาธิ เสื่อมจากสมาธิเพราะไม่มีสติ ไม่รู้จักรักษา

ดูสิ เวลาคนเขาทำธุรกิจการค้าเขาต้องมีทุนของเขา ทุนของเขานี่เขาต้องคำนวณว่าทุนของเขาสายป่านยาวเห็นไหม ธุรกิจของเขาเขาจะบริหารของเขาด้วยความสะดวกสบายใจ ถ้าทุนของเขาสายป่านเขาสั้น ทุนเขาน้อย เขาต้องรีบบริหาร เขาต้องรีบจัดการของเขา

“จิต” จิตถ้ามันมีความสงบร่มเย็นเป็นสุข ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เรารักษาของเรา มันจะพัฒนาของมันไปเรื่อยๆ ถ้าพัฒนาไป ดูสิ ดูในวงกรรมฐานเรา พระจะไม่คลุกคลี ไม่พูดพร่ำเพรื่อ เพราะการพูดพร่ำเพรื่อนั่นล่ะ นั่นล่ะมันจะทำลายสมาธิ

ถ้าคนมีความชำนาญเห็นไหม ชำนาญในวสี ๑ แล้วเวลาผู้ปฏิบัติเขาสังเกตกัน เขาสังเกตกัน ผู้ที่สงบระงับ ผู้ที่รักษาใจของตัว ถ้าเรามีสติปัญญารักษา สมาธิมันก็ต้องเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าสมาธิมันเสื่อม มันเสื่อมโดยจริตนิสัย นิสัยเป็นอย่างนี้ ๑ แต่ถ้ามันเสื่อมด้วยความไม่แน่ใจของเรา เราก็ตรวจสอบของเรา แต่ถ้ามันเสื่อมไป คำว่า “มันเสื่อม”...มันต้องเสื่อม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นมากับเจ้าลัทธิต่างๆ มหาศาลเลย ไปทำฌานสมาบัติ ไปทำอะไรมาพร้อมหมดเลย แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาจริงเอาจังขึ้นมา “อานาปานสติ” ความสงบของใจเข้ามา ศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว สมาธิคือตัวเราใช่ไหม แต่ถ้ามันเป็นสมาบัติมันออกรู้ มันออกรู้มันมีกำลังของมัน มันจะเป็นทางโลกไป ฌานโลกีย์มันก็ออกเรื่องโลกๆ ไป ออกโลกไปมันก็ไปเรื่องโลก มันไม่เกิดปัญญา มันเกิดสนองกิเลส เกิดสนองกิเลสเพราะมันเรื่องโลก โลกก็คือตัณหาความทะยานอยาก โลกมันก็คือภวาสวะ โลกมันก็คืออวิชชา โลกที่มันครอบงำกันอยู่ มันก็หมุนเวียนกันอยู่นั่นน่ะ

แต่ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา พอใจมันสงบที่ว่าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้คำบริกรรมต่างๆ เวลามันสงบเข้ามา สงบเข้ามา สงบเข้ามาคือกิเลสมันสงบตัวนะ ถ้ากิเลสไม่สงบตัวนี่จิตสงบไม่ได้ พอมันสงบขึ้นมา เห็นไหม นี่มันถึงไม่ใช่ตัดตอน มันถึงมีสมถกรรมฐาน มันถึงมีจิตที่ออกฝึกหัด ออกค้นคว้าออกใช้ปัญญา แล้วมันตั้งแต่ “ศีล สมาธิ ปัญญา” ปัญญามันเกิดต่อเนื่อง ปัญญามันเกิดต่อเนื่องนะ ต่อเนื่องจากจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ พอมันเกิดต่อเนื่อง ที่ว่าพิจารณาเวทนา พิจารณาต่างๆ มันพิจารณาได้

ถ้าเราศึกษาทางปริยัติมา เราศึกษามาเราก็รู้ทุกคน “โดยธรรมชาติคนเกิดมาต้องตายหมดธรรมะคือความว่างๆ นิพพานคือไม่มีสิ่งใดเลย นิพพานคือวิมุตติ” รู้ไปหมดเลย แต่เร่ร่อน ไม่มีสิ่งใดเป็นรากฐาน ไม่มีรากฐานในหัวใจเลย

แต่ถ้าพอจิตมันสงบเข้ามา มันมีรากฐานของมันนะ พอมีรากฐานของมัน ใช้วิปัสสนาไป เราใช้ปัญญาของเราไปเพื่อประโยชน์กับใจดวงนั้น ถ้าเพื่อประโยชน์กับใจดวงนั้น พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เวลาใช้ปัญญา เวลาจิตสงบมันมีความสงบร่มเย็นอย่างหนึ่ง มีความร่มเย็นเป็นสุขนะ แล้วรู้จักถนอมรักษา ถ้าจิตสงบ ถ้าคนไม่ฝึกหัดใช้ปัญญาหรือใช้ปัญญาไม่เป็น เข้าใจว่าอันนั้นเป็นได้นะ เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นนิพพาน ทั้งๆ ที่ว่ามันไม่เป็นความจริงอะไรเลย

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ของเราที่ปฏิบัติมาเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมานะ เราปฏิบัติสิ่งใดไป เวลามันใช้ตรรกะอย่างนี้ มันเวิ้งว้างไปหมดเหมือนกันนะ พอเวิ้งว้างไปหมด เราก็ตีค่าว่าสิ่งนี้ควรเป็นธรรมะ ถ้าวุฒิภาวะมันอ่อนแอ เวลามันเสื่อมแล้วมันไม่มีสิ่งใดเลย ฉะนั้น พอเรามีความเข้มแข็งของเรา ตั้งใจของเรา ทำของเราได้เป็นตามความเป็นจริงนะ

“พิจารณา” ออกใช้พิจารณา เวลาปัญญามันเกิด มันแยก มันแยะ...ความรับรู้ ความรู้สึกนะ ความรับรู้ ความรู้สึก มันมีความสงบของใจด้วย แล้วมันปล่อยวางด้วย มันเบากาย เบาใจนะ ถ้าพิจารณาแล้วเหมือนกับเรานี่มันเบาไปหมด สิ่งโดยปกตินะ เวลานั่งก็ทุกข์ ยืนก็ทุกข์ ทำสิ่งใดก็ทุกข์ หนักหน่วงถ่วงใจตลอดนะ แต่เวลาจิตมันพิจารณาของมัน เวลามันมีความสงบของใจ มันก็สงบโดยที่มีความสุข มีความอบอุ่น มีความมั่นคงในใจ

แต่ถ้าใช้ปัญญาแล้วมันถอดมันถอน มันเบา มันมีความชื่นใจ แล้วมันก็ติด ติดเพราะอยากได้อย่างนั้น อยากได้อย่างนั้น มันจะซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนี้ แล้วมันต้องฝึกหัดจนใจดวงนั้นใจความสมดุลของใจดวงนั้นเป็นตามความเป็นจริงอย่างนั้น ตามใจดวงนั้นเพราะว่าจริตของคนไม่เหมือนกัน บางคนพิจารณากายแล้วมันปล่อยกาย “กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย” พิจารณากายจนถึงที่สุดขาดที่กายเห็นไหม ก็เป็นพระโสดาบัน

“พิจารณาเวทนา” พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม...พิจารณาเวทนา “เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา” เวลามันขาดเห็นไหม “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕” มันก็เป็นพระโสดาบันเหมือนกัน

“พิจารณาจิต” เวลามันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงเวลามันขาดนะ เวลามันขาด เวลามันขาดเห็นไหม “จิตไม่ใช่เรา เราไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่จิต” มันก็เหมือนกับสักกายทิฏฐิ เหมือนกับ “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕” เห็นไหม

เวลาพิจารณาธรรมก็เหมือนกัน “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” สิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่เวลาพิจารณาของเรา พิจารณากายก็ได้ พอพิจารณากายแล้ว ถ้าเราพิจารณากายด้วยความดิบๆ พิจารณากายมันฝึกหัดใหม่ พิจารณากายไปมันก็จะเป็นไตรลักษณ์ มันก็จะแปรสภาพให้เราดู ถ้าพิจารณาซ้ำพิจารณาซาก พิจารณาไปแล้วกิเลสมันรู้ทัน มันก็เข้ามาสอดตลอดไป ฉะนั้น พิจารณากายก็ได้

แต่พอจิตสงบมันปล่อยวางแล้ว มันปล่อยวาง พอมันปล่อยวางแล้วเราก็อยู่กับความสุข พอความสุขนะ พอมันคลายตัวออกมา มันสิ่งใดมันเกิดเวทนา ก็จับเวทนา จับเวทนา พิจารณาเวทนา ถ้ามันปล่อยเวทนา ถ้ามันพิจารณาไป บางทีมันเห็นจิตผ่องใส จิตเศร้าหมอง พิจารณาจิตก็ได้

“ก็ได้” อันใดอันหนึ่ง

ขณะที่เป็นปัจจุบัน ปัจจุบันสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเดียว แล้วให้ชัดเจนแยกแยะให้รู้จริง พอรู้จริงขึ้นมา พอรู้จริง เวลามันขาด นี่ไง เวลามันขาดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปนะ พอมันขาดมันปล่อย พอมันขาดนี่รู้เลย ดั่งแขนขาด ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕

แล้วมันเหลือสิ่งใดล่ะ? มันก็เหลือหัวใจ ที่ว่าเข้ากระแส

พอเข้ากระแส เราต้องทำความสงบของใจให้มากขึ้น พอมากขึ้นก็ออกค้นคว้าในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้าในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม พิจารณาซ้ำนะ จับได้แล้วพิจารณาของเรา ด้วยกำลังของเรา

“การทำงาน” งานอันหนึ่งงานในการทำความสงบของใจ สมถะต้องมีตลอดไป พุทโธๆ ถ้าคำบริกรรมมีตลอดไป คำว่า “พุทโธๆ” เรากำหนดทำความสงบของใจ เพื่อให้จิตใจเป็นพื้นฐาน ไม่ใช่การทาบกิ่ง ไม่ใช่การทับซ้อน เราต้องทำหัวใจของเราให้เปิดกว้าง แล้วให้หัวใจได้ทำความสะอาดของใจ ได้พิจารณา ได้แยกแยะ แล้วแยกแยะ ใจอาศัยสิ่งใด ก็อาศัย กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งนี้อาศัยสิ่งนี้ แต่มันเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

ถ้ามันเป็นโสดาบัน มันก็เป็นสามัญสำนึกที่เราพิจารณาของเรา เวลาสิ่งนี้มันขาดไป มันก็ลึกซึ้งลงไป นี่โสดาปัตติมรรค

“สกิทาคามิมรรค” ถ้าสกิทาคามรรคมันก็จับต้องเข้าไป จับต้องสิ่งนั้นขึ้นมาแยกแยะ แยกแยะเห็นไหม “แยะแยะ” พอขณะที่แยกแยะ เทคนิคของการทำปฏิบัติ ถ้าสติเราไม่มั่นคง สมาธิเราไม่มั่นคง ทำสิ่งใดนะ มันฝืดเคืองไปหมด ทำสิ่งใดก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าเราเป็นคนงก เราเป็นคนอยากได้ผล เราเป็นคนอยากได้สิ่งตอบแทน เราทำไปมันจะไม่ได้ผล ไม่ได้ผลหมายถึงว่า มันก็อยู่อย่างนั้นน่ะ

มันจนกว่าถ้ามันปฏิบัติแล้วเกิดถ้ามันดื้อด้าน พอมันดื้อด้านนะ จิตมันดื้อ จิตมันด้านแล้วมันจะไม่ทำเลยล่ะ มันเบื่อหน่ายแล้วมันจะหาทางออก แล้วมันก็จะบอกว่าสิ่งนี้พอแล้ว สิ่งนี้ทำแล้ว แล้วมันก็จะคาอยู่อย่างนั้น ฉะนั้น ครูบาอาจารย์บางองค์จะต้องพยายามแนะนำ พยายามส่งเสริม ถ้าส่งเสริมขึ้นไป

“สิ่งที่ควรทำ” ถ้าจิตมันพิจารณาแล้ว หรือทำแล้วมันไม่ได้ผล ไม่ได้ผลต้องกลับมาทำความสงบของใจอย่างเดียว ต้องกลับมาสู่ปัญญาอบรมสมาธิ หรือคำบริกรรมอย่างเดียว พอจิตสงบแล้ว มีกำลังให้สดชื่นแจ่มใส แล้วมันเข้าทำงานทันที พอเข้าทำงานทันที มันแตกต่างเลย สิ่งที่คมกล้า สิ่งที่มีกำลัง นี่มันจะหักสิ่งใดก็ได้ มันจะแก้ไขสิ่งใดก็ได้

ถ้าปัญญา พอแก้ไขสิ่งใดมันก็ปล่อย มันก็มีกำลังของมัน มันก็สดชื่นของมัน ทำแล้วจะประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จมันก็ปล่อยแล้วปล่อยเล่า เพียงแต่กิเลสมันละเอียดขึ้น ความหลอกลวงของมันต้องชัดเจนขึ้น พอชัดเจนขึ้น เราต้องมีสติมากขึ้น แล้วเราแยกแยะของเรามากขึ้น ถ้าถึงที่สุดนะ เวลามันขาด “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” มันขาด โลกนี้ราบหมดเลย

มันรู้มาจากไหนล่ะ?

ดูสิ ในทางวิชาการเขามีหมดล่ะ เวลารวมใหญ่มันจะเป็นอย่างนั้น มันจะปล่อยวางอย่างนั้น แล้วเวลามันขาดออกไป โลกนี้ราบหมดนี่มันเป็นอย่างไร แล้วมันมีความสุขแค่ไหน จิตมันปล่อยหมดมันมีความสุข โอ๋ย! มันมีความสุข มันมีความสดชื่น มันมหัศจรรย์

แล้วถ้าจิตที่มันมีกำลัง จิตที่ได้สร้างบุญญาธิการมา พอจิตมันสงบแล้วมันยังออกรู้สิ่งต่างๆ อีกนะ ออกรู้ออกเห็น ดูสิ ดูกามภพ รูปภพ อรูปภพ สิ่งที่วัฏฏะที่มันซ้อนกันอยู่นี่ โลกที่มันซ้อนๆๆ กันอยู่ จิตวิญญาณระหว่างภพที่มันซ้อนกันอยู่นี่ ใครเป็นคนรู้ ใครเป็นคนเห็น

ถ้าจิตมันได้ปลดปล่อยของมัน มันได้ทำสิ่งที่เศร้าหมองในหัวใจ สิ่งที่ปิดกั้นของมัน มันจะรู้ มันจะเห็นของมันนะ แล้วถ้าได้สร้างบุญกุศลขึ้นมา ได้มีญาติวงศ์ต่างๆ ที่ได้เกิดในวัฏฏะนี้ เขาจะมาอนุโมทนาว่า “จิตดวงนี้มีพัฒนาการสูงขึ้น สูงขึ้น”

โลกนี้ราบหมด มีความสุข มีความสงบระงับในหัวใจ มีความสุขระงับมาก แล้วถ้าทำความสงบของใจให้มากขึ้น เวลาออกจับได้ ออกจับนะ ถ้าไม่ออกจับ กิเลสจะไม่วิ่งมาชนเราหรอก จิตของเรา จิตของเราก็คือนามธรรม กิเลสมันก็เป็นนามธรรม แล้วกิเลสมันจะโง่ บ้า เซ่อ วิ่งเข้ามาให้เราจับมันแล้วมาพิจารณา...มันเป็นไปไม่ได้หรอก

จิตเราพอมันมีความสุข มันสงบระงับแล้ว ถ้ากำหนดพุทโธหรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิมากขึ้น คำว่า “มากขึ้นไป” จิตของเราเริ่มถ้าเข้าไปแล้วมันจะเป็นมหาสติ-มหาปัญญาแล้ว

สิ่งที่เป็นมหาสติเห็นไหม ดูสิ “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” ระหว่างครึ่งกึ่งกลาง มันเกี่ยวเนื่องมาเราเกิดเป็นมนุษย์ แล้วสิ่งต่างๆ มันเป็นสามัญสำนึก เวลาสามัญสำนึกขาดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันละเอียดลึกซึ้งเข้าไป ถ้าละเอียดลึกซึ้งเข้าไป สิ่งที่ว่าจะเอาจิตเข้าไปจับ จิตไปรับรู้ มันตัดตอนกันไปเลย พอตัดตอนกันไปเลย เราต้องทำความสงบของใจให้มากขึ้น มันจะเป็นมหาสติ

คำว่า “มหาสติ” สติมันจะชัดเจนมาก สิ่งนี้สติชัดเจน แล้ว “มหาปัญญา” มหาปัญญามันออกรู้ออกเห็น ถ้ามันจับกาย เวทนา จิต ธรรมได้มันจะเป็นกามราคะ มันจะเป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะ อสุภะเพราะอะไร อสุภะเพราะว่าการเวียนตายเวียนเกิด จิตที่เวียนตายเวียนเกิด สิ่งที่เวียนตายเวียนเกิดเพราะมันมีอวิชชา อวิชชามันเป็นจักรพรรดิ แล้วสิ่งที่จักรพรรดิเขาดูแลของเขา เขาปกครองดินแดนของเขา เขาต้องมีอะไร เขาก็ต้องมีแม่ทัพของเขา มันต้องมีแม่ทัพนายกองเพื่อประโยชน์ในการกระทำของเขา

ถ้าจิตมันเวียนตายเวียนเกิด มันเวียนตายเวียนเกิดมันสะสมทับซ้อนมา ทับซ้อนมาเห็นไหม มันมีเวรมีกรรมของมัน ถ้ามันมีเวรมีกรรมของมัน นี่กามฉันทะความพอใจของมัน สิ่งที่ตามความพอใจ เวลามันจับได้ มันถึงเข้าว่าเป็นกามราคะ กามราคะสิ่งที่จะแก้กามราคะมันอะไร มันก็อสุภะ เพราะกามราคะสิ่งที่จะเกิดกามราคะได้มันต้องเกิดความพอใจใช่ไหม

กามฉันทะ ความพอใจ พอใจในอะไร?

พอใจในความประสงค์ของตัว ถ้าพอใจในความประสงค์ของตัว มันจะเกิดเป็นสิ่งที่พึงเกลียดเป็นไปได้ไหม มันก็เป็นไปไม่ได้...มันต้องเกิดด้วยความสวยงาม ความถนอมรักษา ความพอใจของตัว มันจะเป็นเรื่องสุภะ สุภะคือความจินตนาการ จิตมันพอใจอย่างนั้นโดยรากฐานของจิต

แต่เวลาเราพิจารณา พอจิตมันเข้าถึง...เหมือนคนเป็นไข้ คนเป็นไข้รักษาอาการตามอาการเข้าไปจนอาการดีขึ้น อาการดีขึ้นเข้าไปแต่มันมีเชื้อไขของมัน เขาต้องจับเชื้อไขนั้นให้ได้ นี่ก็เหมือนกันเวลาปฏิบัติ เวลาจิตมันหดสั้นเข้าไป เวลามันปล่อยวางเข้ามาเรื่องสามัญสำนึกเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป สิ่งที่จะเป็นอนาคามรรค มันจะเข้าไปจับสิ่งที่ว่าความพอใจ กามฉันทะ สิ่งที่เป็นนามธรรม พอสิ่งที่เป็นนามธรรม แล้วเวลาเราแยกแยะขึ้นไป แยกแยะว่าจับได้แล้วพิจารณาไป เพราะมีมหาสติ-มีมหาปัญญา มันถึงเป็นอสุภะ อสุภะเพราะมันเป็นความจริง ความจริงเป็นแบบนั้น

ในโลกนี้สิ่งที่คงที่ สิ่งที่สวยงาม สิ่งที่ไม่มีการแปรปรวน...ไม่มี

ทีนี้ จิตใจมันแปรปรวนมันชอบไหม เพราะแปรปรวน การแปรปรวนต่างๆ ไป มันเรื่องของไตรลักษณ์เห็นไหม มันไม่คงที่มันแปรสภาพ แล้วของสวยของงามอะไรที่มันจะคงที่ของมันบ้างล่ะ ถ้ามันไม่คงที่ พอมันแปรสภาพมันจะสวยงามไหมล่ะ มันก็ไม่สวยงามเป็นธรรมดา เพราะของมันเละ ของมันเน่าบูด ของมันเสียหาย มันจะสวยงามได้อย่างไร ความสวยงามความจริงมันไม่มี แต่จิตใจมันต้องการของมัน

ในนามธรรมเห็นไหม ดูสิ เวลาเราทำบุญกุศลกัน เวลาทำบุญกุศล สิ่งที่ว่าเป็นบุญกุศล เป็นทิพย์ เป็นทิพย์ เป็นทิพย์อะไร เพราะสิ่งที่เสียสละไปมันคือวัตถุธาตุ วัตถุธาตุมันแปรสภาพ เราเห็นชัดเจนมากเลย แต่เวลามันเป็นทิพย์ขึ้นมา มันเป็นทิพย์ หัวใจของเรา วัตถุธาตุนั้นแสดงออกไป แต่ใจที่เป็นผู้ที่เสียสละนั้นมันเป็นนามธรรม มันเห็นภาพนั้น ภาพนั้นก็เป็นทิพย์ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม มันรับเสวยผลบุญอันนั้น พอเสวยผลบุญอันนั้น เวลาที่จิตมันสงบเข้าไป สิ่งที่ว่าเป็นทิพย์ๆ

สิ่งที่ว่าเป็นนามธรรม “นามธรรม” สิ่งที่เป็นนามธรรมเห็นไหม มันก็ว่าสิ่งนั้นเป็นความสวยงาม สิ่งนั้นเป็นความต้องการ แต่ความเป็นจริง เวลาจิตมันสงบเข้าไปแล้วพอมันจับต้องสิ่งนั้นได้ มันจะเป็นอย่างนั้นไหม มันจะคงที่แล้วมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงไหม...มันเป็นไปไม่ได้ คำว่า “เป็นทิพย์” เป็นทิพย์ก็เป็นนามธรรม เป็นวิญญาณาหาร เป็นสิ่งที่ว่าเทวดา อินทร์ พรหม เขาใช้อันนี้เป็นเครื่องอยู่ของเขา

ทีนี้ พอจิตมันเข้าไปถึงสภาวะแบบนั้น มันจับสิ่งนั้นได้ มันพิจารณาแยกแยะของมัน แยกแยะของมัน โดยไตรลักษณ์ๆ เข้าไป มันจะแปรสภาพของมันไหม ถ้ามันแปรสภาพของมันนี่คืออสุภะ อสุภะคือความไม่เป็นจริงไง อสุภะคือความคงที่ไม่ได้ มันต้องแปรสภาพของมัน มันเป็นไตรลักษณ์ของมันไง ถ้าเป็นไตรลักษณ์ของมัน ถ้าจับกายก็ได้ จิตก็ได้ เวทนาก็ได้ แล้วแต่ว่าเรามีอำนาจวาสนา พันธุกรรมของจิตมันสร้างมาอย่างใด

ถ้าพันธุกรรมของจิตมันสร้างมา ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติพิจารณาโดยขันธ์ ๕...ขันธ์ ๕ คืออะไร คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร คือความเป็นจริง ขันธ์อันละเอียดนะ ขันธ์สัญญาที่ละเอียดลึกซึ้งอยู่ในหัวใจนี้

แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ จิตเข้าไปมันจะเห็นสิ่งที่ว่าเป็นภาพกายที่ละเอียดลึกซึ้ง แล้วมันแปรสภาพของมันอย่างใด มันเปลี่ยนแปลงของมันอย่างไร มันผุพัง มันเป็นอสุภะที่มันเยิ้มจนที่ว่าเห็นแล้วมันจะสำรอกออกมาอย่างไร ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันต้องขยันหมั่นเพียร

ความขยันหมั่นเพียรเห็นไหม เพราะระยะห่างที่ว่าเวลาจิตมันส่งออกมา มันก็ส่งออกเพื่อไปรับรูปภาพนั้น ส่งออกไปเพื่อความพอใจอย่างนั้น ส่งออกไป ส่งออกคือรับรู้ จิตมันต้องรับรู้ จิตคือพลังงาน จิตคือจักรพรรดิ จักรพรรดิคือเจ้าวัฏจักร แต่แม่ทัพนายกองที่ออกไปหาผลประโยชน์มาให้กับจิตนั้น จิตมันส่งออกมา พอจิตมันส่งออกมา มันมีการรับรู้ มันมีระยะห่างของมัน ระยะห่างของมัน มันออกไปเพราะมันป้องกันจักรพรรดิไว้ มันป้องกันตัวเองไว้ไม่ให้มันเข้าไปสู่ตัวของมัน

เราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเห็นไหม ระยะห่างมันจะสั้นเข้าไปเพราะมีความชำนาญขึ้น มีความชำนาญขึ้นมันจะปล่อยได้เร็วขึ้น อย่างเราพิจารณากาย สักกายทิฏฐิ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันจะมีความชำนาญของมัน มีความชำนาญของมัน

นี่ไง พอชำนาญ... อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ถ้าทำแล้วสมประโยชน์และไม่สมประโยชน์ แต่ถ้ามันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มันก็ปล่อย มัชฌิมาปฏิปทามันสมดุลของมัน มันก็ปล่อย นี่มรรคสามัคคีมันตัดเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา

เวลาเราพิจารณาเข้ามาจนเป็นอสุภะ มันยิ่งพิจารณายิ่งละเอียดลึกซึ้ง มันต้องเป็นมหาสติ-มหาปัญญา จนผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะอยู่กับใครไม่ค่อยได้ จะแยกตัวเองออกไปอยู่เอกเทศ เพราะว่ามันเกิดตลอดเวลา

ความรู้สึกนึกคิด ดูสิ เวลาปฏิบัติกันอยู่นี่ เราอยากเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เราล้มลุกคลุกคลาน เราจับสิ่งใดไม่ได้เลย แต่นี่ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เวลาเขาปฏิบัติขึ้นไป ผลของปัญญาที่มันรุนแรง

หลวงตาท่านบอกว่า

“ถ้าเป็นระดับนี้มันเป็นน้ำป่า มันจะเป็นน้ำที่กระโจนออกมาจากหน้าผา”

ความรุนแรงของกามราคะ ความรุนแรงของแม่ทัพ ความรุนแรงของความโลภ ความโกรธ ความหลง มันจะรุนแรงมาก ความรุนแรงมันต้องมีมหาสติ-มหาปัญญาเข้าไปยับยั้ง แล้วมันแก้ไขแล้วมันแยกแยะของมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ความละเอียดลึกซึ้ง หมุนแล้วหมุนเล่า พอมันยิ่งปล่อย มันยิ่งละเอียดลึกซึ้งเข้าไป จากระยะที่ว่ามันปกป้องเจ้าวัฏจักรไว้เห็นไหม จนมันเข้าไปสู่เจ้าวัฏจักร เพราะการใช้ปัญญาต้อนเข้าไป ใช้ปัญญาแยกแยะเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถึงที่สุดแล้วเวลามันขาดนะ มันกระเทือนเลื่อนลั่นเพราะอะไร เพราะมันคว่ำกามภพไง มันจะไม่เกิดในกามภพอีกแล้ว ถ้ามันไม่เกิดในกามภพมันไม่เกิดอย่างไร? มันมีเหตุผล

เวลามันทำลายมันทำลายที่ไหน? มันทำลายที่ตัวจิตของมัน ถ้าทำลายที่ตัวจิตของมัน ทำลายแล้ว พอมันทำลายขึ้นมา มันครืน! ในหัวใจ มีสติ มีปัญญา แล้วพยายามใคร่ครวญแยกแยะ ใคร่ครวญแยกแยะ สิ่งที่มันขาดไปแล้วแต่มันก็ยังมีเศษ ยังมีความหลงเหลืออยู่ในหัวใจ นี่ตรวจสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปล่อยแล้วปล่อยอีก ปล่อยแล้วปล่อยอีก จนถึงที่สุดมันจะปล่อยจนไม่มีสิ่งใดในหัวใจเลย...แต่มี

“แต่มี” เพราะอะไร?

ดูสิ ในเมื่อความโลภ ความโกรธ ความหลง นางราคะ นางตัณหา นางอรดีเห็นไหม ลูกของพญามาร เวลาลูกของพญามารนี่นะ มันทำลาย ทำลายสังคมโลก ทำลายทุกๆ อย่าง เพราะสังคมโลกที่เป็นอยู่กับโลก อยู่กับวัฏฏะ มันก็อยู่กันตรงนี้ แต่เวลามันทำลายที่สุดออกไปแล้ว มันเหลืออะไรล่ะ

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” แล้วมันผ่องใสอยู่ไหน ผ่องใสเพราะตัวที่ประพฤติปฏิบัตินี่ไง พอมันปฏิบัติขึ้นมา มันทำลายหมดแล้ว ทำลายทุกอย่างหมดเลย แล้วไม่มีอะไรอีกเลย เพราะการทำลายใช่ไหม ใครเป็นคนทำลาย

นี่ไง ถึงบอกว่ามันไม่ได้ทาบกิ่ง มันไม่ตัดตอน พอมันไม่ตัดตอน จิตมันซ้ำเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา มันพิจารณาของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมาจนมันปล่อยเข้ามาหมดแล้ว ปล่อยเข้ามาทุกอย่างเลย มันทำลายตั้งแต่หลานของมัน ทำลายลูกของมัน แล้วทำลายพ่อมัน แม่มัน แม่ทัพนายกอง ฆ่ามันหมดเลย ทำลายหมดแล้วมันเหลือใคร? เหลือใคร?

เพราะถ้าไม่มีจิตมันจะทำลายใครได้ ไม่มีจิตมันทำลายสิ่งใด เพราะมันมีจิต มันมีการกระทำ มันมีสัมมาสมาธิ มันถึงได้ทำลายสิ่งต่างๆ ขึ้นมา จนทำลายถึงตัวของมัน พอถึงตัวของมัน มันมีสิ่งใดอยู่ มันมีสิ่งใดอยู่?

ความละเอียดอ่อนนะ ถ้าเราไม่มีครูมีอาจารย์ มันจะล้มลุกคลุกคลาน ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดเห็นไหม เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางรากฐานจนเข้มแข็งมาเป็นชั้นเป็นตอนนะ แล้ววางรากฐานมาจนเราสาวก-สาวกะมีการประพฤติปฏิบัติมา แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา มันมีแก่นมีสาร ธรรมะมันไม่ไร้ราก ธรรมะมันมีรากมีแก่นมีสาร

พอมีแก่นมีสารขึ้นมา พอจิตมันสงบ จิตเวลาเข้าเห็นไหม โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค แล้วอรหัตตมรรคเป็นอย่างไร? อรหัตตมรรคมันทำอย่างไร?

อรหัตตมรรคนะ ถ้าอรหัตตมรรค มันจะเข้าไปสู่จิตเดิมแท้ ถ้าเข้าไปสู่จิตเดิมแท้โดยการกระทำของเรา ดูสิ เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาตั้งแต่ขั้นของแม่ทัพนายกอง เราเข้าสัมปยุต เราเข้าต่อสู้ เราเข้าใช้ปัญญาด้วยความมั่นคงของเรา สัมปยุตกันมาเต็มที่เลย ในเมื่อเราปฏิบัติขึ้นมา แล้วพอแม่ทัพนายกองตายหมด มันยังเหลือพวกม้าใช้ เหลือเศษของสัญญา เศษส่วนมันยังมีอยู่ พิจารณาซ้ำๆๆ เข้าไปเห็นไหม อนาคา ๕ ชั้นมันต้องลบล้างหมด

พอลบล้างหมดแล้วไม่มีสิ่งใดเลย ไม่มีสิ่งใดเลย แต่พอไม่มีสิ่งใดเลย ฆ่าเขาหมดเลย ว่างหมด ปล่อยวางทุกคนมาหมด แต่ยังไม่ปล่อยวางตัวเอง แล้วหาตัวเองไม่เจอ นี่รากเหง้าของมัน

ธรรมะมีราก รากแก่นรากสารของธรรม แก่นสารของใจ แก่นสารของศาสนา แก่นสารของความจริง ถ้ามันเข้าไปถึงแก่นสารนะ “อารมณ์ความรู้สึกของเธอก็เป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง” อารมณ์ไกลๆ เลย อารมณ์หยาบๆ เลย แล้วมันปล่อยอารมณ์ ฆ่าทำลายมา ขันธ์ ๕ อย่างหยาบ ขันธ์ ๕ อย่างกลาง ขันธ์ ๕ อย่างละเอียดทำลายมาหมดเลย แล้วมันเหลืออะไร?

พอมันเหลืออะไร ถ้าจิตมีครูบาอาจารย์ จะย้อนกลับนะ

มันจะผ่องใส จะสว่างไสวขนาดไหน มันคือพลังงาน มันต้องมีที่เกิดที่ดับ มันจะต้องมีตัวตนของมัน ตัวตนที่ละเอียดมาก “อุปกิเลส” เห็นไหม ความผ่องใส ความว่าง ความสะอาดบริสุทธิ์ ความสะอาดบริสุทธิ์โดยความคาดหมายไง เพราะมันผ่องใส สะอาดบริสุทธิ์ว่างหมด ทำไมไม่สะอาดล่ะ แต่มันสะอาดแบบอวิชชา มันสะอาดแบบมีตัวตน มันสะอาดเห็นไหม

แต่ถ้ามันมีสติสมบูรณ์พร้อม มันย้อนมันทวนกระแสกลับไป

นี่ไง ความสว่างไสวมันผ่องใสขนาดไหน “มันเกิดจากจุดและต่อม”

มันมีที่เกิดที่ดับ มันต้องมีที่ มันต้องมีสถานที่ มันต้องมีวิญญาณปฏิสนธิ มันมีปฏิสนธิ มันมีการดำรงอยู่ ถ้ามีการดำรงอยู่ พระอนาคายังเกิดอีก เกิดบนพรหม เกิดบนพรหม ละเอียดลึกซึ้งขนาดไหน มันก็ต้องเกิด มันมีอวิชชาครอบงำมันอยู่

ถ้าเรามีความพร้อม มีความพร้อม มีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ถ้าไปปรึกษาครูบาอาจารย์ท่านจะให้อุบาย ให้อุบายเราทวนกระแสกลับ

คราวนี้ว่าทวนกระแสมาตลอดแล้ว แต่กระแสที่เรารับรู้ได้ เราเห็นได้โดยสามัญสำนึก

แต่กระแสอย่างนี้มันพ้นวิสัยของมนุษย์ทั้งนั้น! มันพ้นวิสัยของคนมักง่าย มันพ้นวิสัยของคนไม่มีอำนาจวาสนา แต่ถ้ามีอำนาจวาสนา เวลาขึ้นมาจับถึงจิตเดิมแท้นี้ได้ แล้วใช้ปัญญา เวลาใช้ปัญญาจับได้ก็ตื่นเต้น

“การจับได้” การขุดคุ้ยหากิเลสแต่ละชั้นแต่ละตอน มันจะเป็นประสบการณ์

ถ้าเราจับกิเลสได้อย่างนี้ เราลงทุนเราลงแรงขนาดนี้ จะได้กิเลสอย่างนี้ เวลาละเอียดเข้าไป พอเราจับ โอ้! มันต่างกันแล้ว โอ๋ย! ละเอียดกว่า แล้วมันกว่าจะได้ตัวมา แล้ววิปัสสนามายิ่งละเอียดกว่า ยิ่งเข้าไปจับกามราคะยิ่งละเอียดกว่า โอ๋ย! มันยิ่งละเอียดเข้าไปใหญ่เลย โอ๋ย! เพราะมันจะคว่ำวัฏจักร มันไม่เกิดในกามภพอีกแล้ว

แล้วถ้ามันจะคว่ำทั้งหมดกามภพ รูปภพ อรูปภพ มันยิ่งละเอียดกว่าเขาเข้าไปอีก เวลาไปจับมันถึงตื่นเต้น พอไปจับได้มันช็อกเลยนะ จิตนั้นจะช็อกจิตของดวงนั้นเอง พอเราบอก “จุดและต่อม” อึ๊ก! ช็อกเลย “จิตจับจิต จิตรู้จิต”

แล้วการวิปัสสนา ทำอย่างอื่น ทำอย่างที่เคยทำไม่ได้ สิ่งที่เคยทำนี้เป็นขันธ์ ๕ เป็นปัญญาโดยสังขาร เป็นปัญญาโดยความรู้สึกนึกคิด แต่ถ้าเป็น “จิตจับจิต จิตแก้จิต” มันจะเป็นปัญญาแบบซึมซับ ปัญญาที่ละเอียดลึกซึ้งนุ่มนวล แล้วเข้าไปทำลายกันด้วยความเป็นมัธยัสถ์สมดุลของจิต แล้วทำลายจิตดวงนั้น

นี่ไง ทำลายจิตดวงนั้น รากเหง้าของอวิชชา ได้ถอนขึ้นจากภพนั้นแล้ว ถ้าได้ถอนรากเหง้าจากอวิชชานี้แล้ว รากเหง้าไม่มี ไม่มีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย แต่จะเกิดรากเหง้าของธรรม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ววางธรรมและวินัยไว้นี้ เป็นความมั่นคง แข็งแรง เข้มแข็ง ด้วยความรับรู้สึกของใจ ใจที่รับรู้สึกเป็นนามธรรม ไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่สิ่งใดเลยที่จะส่งสืบต่อศาสนานี้มา สิ่งที่ศาสนานี้มา สืบต่อด้วยหัวใจ สืบต่อด้วยธรรม สืบต่อด้วยนามธรรมในหัวใจ

แต่นามธรรมนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม ต้องอาศัยมนุษย์ มนุษย์มีร่างกายและจิตใจ เพราะมนุษย์มีร่างกาย มนุษย์ก็พูดสิ่งที่เป็นธรรมนี้ออกมาได้ มนุษย์ก็ต้องอาศัยสิ่งดำรงชีวิต ก็ต้องมีวัด มีวา มีอาวาสเห็นไหม ต้องมีธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม มันก็สืบต่อไป ธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม วิชาการทั้งหมดห่อหุ้มธรรมะนี้ไว้ให้มั่นคงแข็งแรง

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบต่อธรรมมา เวลาถอนอวิชชา ถอนรากเหง้าของกิเลสแล้ว มันจะเกิดรากเหง้าแห่งธรรมที่มั่นคงและแข็งแรง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ววางธรรมและวินัยไว้นี้ให้เป็นศาสดา ให้เป็นผู้ชี้นำเรามา แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนเป็นความจริงขึ้นมาในหัวใจของเรา มันมีรากเหง้านะ

ธรรมะมีราก ไม่ใช่ธรรมะไร้ราก

ถ้าธรรมะไร้ราก เวลาพูดมันล่องลอยแล้วไม่มีเหตุมีผล ก็อปปี้มา ทำมา พูดได้เดี๋ยวก็ลืม ลืมแล้วก็ทบทวน ทบทวนแล้วก็พูด พูดแล้วก็ทบทวน แล้วก็วนอยู่อย่างนั้น...มันไม่เข้าสู่ใจ

แต่ถ้าการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันถอด มันถอน มันดึง มันทำลายรากเหง้าของอวิชชา รากเหง้าของอวิชชาได้ถอนแล้ว ได้ดึง ได้ทำลายรากเหง้าของอวิชชาแล้ว แล้วพลิกกลับเป็นรากเหง้าของธรรม รากเหง้าของธรรมมันมั่นคง มีราก มีแก่น มีที่มา มีการอธิบาย มีการแยกแยะ กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด กิเลสอย่างละเอียดสุด มันมีวิธีการทำ วิธีการชำระล้างแตกต่างกันอย่างใด วิธีการที่เราจะพัฒนาจากจิตที่สกปรก จิตที่เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะแล้วมันพัฒนามาเป็นชั้นเป็นตอน แล้วมันทำลายกิเลสออกไป

นี่ไง รากแห่งธรรมมันจะมีข้อเท็จจริง

รากแห่งธรรมมันจะมีความรับรู้จริงแล้วอธิบายแล้วสั่งสอนลูกศิษย์

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย” เอวัง