เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑ ต.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมะนะ เวลาธรรมนี่เราคิดว่าธรรมะคือข้อปฏิบัติ เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เราอ่านเราศึกษา เราคิดว่านี่เป็นธรรมะ เราไปเรียนนักธรรมโท นักธรรมตรี นักธรรมเอก นี่เราศึกษาธรรมะ แต่เวลาเราฟังธรรม ธรรมที่มันสะเทือนหัวใจเรา สิ่งที่เป็นสัจธรรม ถ้าสะเทือนหัวใจเรานั่นล่ะคือธรรม เวลาฟังธรรมนะขนพองเลย ขนลุกหมดเลย นั่นล่ะธรรมมันเข้าไปชำระกิเลส

มันเข้าไปเตือนนะ มันไปเคาะให้กิเลสตื่นขึ้นมา ถ้ากิเลสตื่นขึ้นมาแล้วนะเราพยายามทำความสงบของใจ ถ้ากิเลสมันไม่ตื่นนะ กิเลสมันนอนอยู่ เราศึกษาธรรมเท่าไหร่ ศึกษาธรรมเท่าไหร่เราก็ศึกษาของเรา เวลากิเลสมันตื่นขึ้นมานะลืมหมดเลย ที่ศึกษาไว้ ศึกษาไว้มันหายไปไหนก็ไม่รู้ เพราะกิเลสมันนอนหลับเราก็สามารถทำอะไรสะดวกสบาย พอกิเลสมันตื่นขึ้นมานะ..

แต่พอเวลาเราฟังธรรม เห็นไหม นี่ธรรมะเข้าไปกระทบในใจของเรา ขนพองสยองเกล้านะ พอขนพองสยองเกล้านี่เพราะอะไร? เพราะเราต้องให้กิเลสมันรับรู้ เพราะกิเลสว่านี่สิ่งที่เอ็งคิดเอ็งทำมันไม่ดี แต่สิ่งที่ดีเราทำไม่ได้ สิ่งที่เราคิดเราทำไม่ได้เพราะเหตุใดล่ะ? เพราะว่าสิ่งนี้กิเลสมันไม่มีเหตุผล แต่ธรรมะมีเหตุผลนะ เวลาธรรมะมีเหตุผลใช่ไหม? เราก็มีเหตุผลของเรา สิ่งนั้นไม่ดี สิ่งนั้นไม่ดี.. พอสิ่งนั้นไม่ดี เออ.. ก็ใช่ ไม่ดีก็ไม่ทำ พอมันซ้ำๆ ซากๆ ไป สิ่งนั้นไม่ดีๆ ไม่ดีก็จะทำ

คือเวลาเราใช้ปัญญานี่นะ ปัญญาพอใช้บ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า กิเลสมันรวบเอามากินหมดเลย แต่ถ้าพอกิเลสมันแก่กล้าขึ้น กิเลสมันอยู่แค่นั้นที่ไหน กิเลส เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านพูดบอกว่า เรื่องกิเลส เรื่องตัณหาความทะยานอยากเหมือนสวะ สวะมันอยู่ในน้ำนะ เวลาน้ำมันลดนะสวะมันก็ลดลงไปตาม พอน้ำมันขึ้นสวะมันก็ขึ้นตาม

กิเลสนะพอเราศึกษาธรรมะมาก เรารู้เรื่องมาก นี่กิเลสมันก็อยู่บนธรรมะนั่นล่ะ อยู่บนที่เราศึกษานั่นล่ะ นี่เราจะรู้มากขนาดไหนกิเลสมันก็ขี่คออยู่นั่นล่ะ มันขี่คออยู่นั่นล่ะ มันเป็นไปกับเราตลอดเวลา เห็นไหม แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราจะคว่ำมัน เราจะแก้ไขมัน เราจะทำลายมัน

นี่ไงฟังธรรมๆ เวลาพระปฏิบัติฟังธรรมนี่สำคัญมาก เพราะธรรมมันทิ่มเข้าไปในหัวใจเลย เวลาฟังธรรมเราขนพองสยองเกล้านะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดถึง มันเป็นเรื่องของเรานี่แหละ เห็นไหม เวลาหลวงปู่ขาวกับหลวงปู่แหวนท่านจะไปหาหลวงปู่มั่น ท่านเดินไปด้วยกัน ท่านคุยกัน “เอ๊ะ.. เราไปนี่อาจารย์ท่านจะรู้เรื่องของเราหรือเปล่าหนอ? เรื่องของเรานี่อาจารย์จะแก้ไขหรือเปล่าหนอ?”

เวลาหลวงปู่ขาวท่านเข้าไปถึงหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านเทศน์นะ

“เรื่องของตัวน่ะตัวไม่สนใจ เรื่องของตัวน่ะตัวไม่รู้ เรื่องของตัวก็อยากให้คนอื่นรู้”

นี่เพราะเราคิดไงว่าอาจารย์จะช่วยเหลือเรา ทุกคนจะช่วยเหลือเรา เราก็คิดว่าคนอื่นจะโอบอุ้มเรา คนอื่นจะยกเราขึ้นเลย แล้วจริงๆ มันคือใครล่ะ? จริงๆ มันคือเรานะ ถ้าเราไม่แก้ไขเรานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเป็นคนชี้แนะเท่านั้น แต่มันเป็นวาสนาของครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา แล้วมีอนาคตังสญาณของท่าน ท่านมีอำนาจวาสนาบารมี ท่านก็รู้ ท่านก็เห็น รู้เห็นขึ้นมาก็เหมือนเราเห็นเด็กๆ นี่แหละ เด็กๆ มันทำผิด เราบอกว่ามันทำผิดๆ เด็กมันยอมรับไหม? เด็กมันต่อต้านด้วยว่าไปจับผิดมันนะ ว่าไปจับผิดมัน ทั้งๆ ที่มันผิดหรือเปล่าล่ะ?

นี่ก็เหมือนกัน นี่พอบอกว่าให้ครูบาอาจารย์ช่วยเหลือเรา ครูบาอาจารย์ช่วยเหลือเรา แล้วครูบาอาจารย์บอกก็ว่า อืม.. ลำเอียง รักคนนู้น ไม่รักเรา ทั้งๆ ที่ท่านบอกถึงขุมทรัพย์นะ แต่ถ้าพอเราเข้าไปเห็นเจอนะ เราเข้าไปพิจารณาของเรา อืม.. นี่ไงอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เราก็ว่าเราปฏิบัติแล้ว เราต้องปฏิบัติได้ นี่ใครมาวัดแล้ว ใครมาปฏิบัติแล้ว ๕ วันกลับไปก็ต้องมีความสงบเท่ากัน ๕ วัน ไอ้คนมา ๑๐ วัน กลับไปก็ต้องมีความสงบ ๑๐ วัน บางคนมา ๒๐ วัน กลับไปทำไมมันหงุดหงิดล่ะ?

เวลาชาวประมงเขาออกหาปลานะ เวลาเรือเขาออกไปหาปลา บางลำก็ได้ปลามาเต็มลำเลย บางลำก็ได้ปลามาเล็กน้อย บางลำแทบจะไม่ได้ปลากลับมาเลย เห็นไหม ทำไมเขาออกไปทำประมงเหมือนกัน ทำไมเวลาเรือเข้าเทียบท่า ทำไมปลาในเรือมันไม่เท่ากันล่ะ? ทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ เห็นไหม เขาก็บอกว่าเขาเก่งไง เขาดูกระแสน้ำไง เขารู้ทางปลามาจากไหนไง อันนั้นก็เป็นวาสนาอันหนึ่งนะ

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาเราออกไปนะ เวลาชาวประมงเขาไปทำประมงของเขา กลับมานี่ปลาเขาเต็มลำเรือเลย เวลาเราปฏิบัติ ๕ วัน ถ้าจิตมันสงบ จิตมันดี อืม.. วันนี้ได้ปลามาเต็มลำเลย เวลาไปปฏิบัติ ๕ วัน ๑๐ วัน วันนี้ไม่ได้ปลาเลย วันนี้ไม่ได้ปลาเลย ทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ? ทำไมมันเป็นอย่างนั้น

นี่ไงเวลาปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ กิเลสนะมันเป็นนามธรรม แล้วเวลามันแก่กล้า เวลามันหลับใหล กิเลสนะเวลามันผ่อนให้เราไง นี่กิเลสนี้มันฉลาดมาก มันจะผ่อนให้เราได้หายใจ เห็นไหม เวลาเราอยู่บ้านทำมาหากินเราก็ อืม.. เราเป็นคนที่หยาบ เราต้องประพฤติปฏิบัติ แล้วพอไปปฏิบัติหน่อย พอไปวัดไปจิ่มหน่อย อืม.. เรามาปฏิบัติแล้ว เราเป็นคนดีแล้ว เราก็กลับ

นี่กิเลสมันจะให้หายใจอย่างนี้ หายใจมันจะผ่อนให้ๆ ผ่อนให้เราได้หายใจ ผ่อนให้หายใจเพื่ออยู่ในอำนาจของมันไง แต่เวลาจะเอาจริงเอาจังขึ้นมานะมันต่อต้าน มันทำให้ล้มลุกคลุกคลาน เวลาจะนั่งสมาธิขึ้นมานะ ถ้านั่งเล่นๆ นั่งคุยกันนะ อู้ฮู.. สมาธิมันจะลงนะ โอ้โฮ.. จิตดี๊ดีนะ เอาจริงเอาจังเข้านี่ล้มเลย ไม่ได้เรื่องเลย ทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ?

เพราะถ้าเราซ้อม นักกีฬาเวลาเขาซ้อม เห็นไหม เวลาเขาซ้อมนี่นะ แหม.. เทคนิคทุกอย่างดีไปหมดเลย ลงแข่งคราวนี้ชนะแน่นอน พอลงไปมันเจอคู่ต่อสู้ มันเจอฝ่ายตรงข้าม มันทำให้ล้มลุกคลุกคลาน เพราะคู่ต่อสู้เขาก็ซ้อมมาเหมือนกัน นี่เวลาซ้อมเป็นแชมป์ เวลาลงแข่งแพ้ทุกที จะลงแข่งขึ้นไปมันก็ไปเจอกิเลสไง

เวลาเอาจริงเอาจังขึ้นมานี่เจอมันแล้ว เวลาทำเล่นนะ เวลาทำพอเป็นพิธี เห็นเขาทำก็ทำตาม อืม.. ดีเนาะ โอ้.. ดี อย่างนี้เป็นพระอรหันต์แน่นอน อย่างนี้ตั้งใจปฏิบัติเลยนะ ไปสละสมบัตินั้นโอนให้คนอื่นหมดเลยนะ พอจะมาปฏิบัตินะกลิ้งเลยล่ะ มันกลัวนะกลับไปไม่มีข้าวจะกิน ออกไปแล้วจะไปนอนที่ไหน? แน่ะ.. แต่เวลามันดีขึ้นมานะมันคิดได้หมดแหละ แต่พอเวลามาปฏิบัติแล้ว พอมันล้ม พอกิเลสมันตื่นขึ้นมานะ เพราะเวลาเอาจริงขึ้นมากิเลสมันจะต่อต้าน

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติมา เราจะพูดบ่อยมากว่าอาจารย์ของเรามีประสบการณ์ อาจารย์ของเรามีประสบการณ์ ประสบการณ์อันนั้นสำคัญมาก เวลากิเลสมันหลับใหล เวลาภาวนาดีก็รู้ เวลากิเลสมันขัดขืนก็รู้ เวลากิเลสมันขุดหลุมพรางก็รู้ เวลากิเลสมันต่อต้านก็รู้ แล้วเวลาต่อสู้กับมันนะ ทอนกำลังของกิเลสให้กิเลสมันอ่อนตัวลงก็รู้ แล้วเวลาจะเริ่มตัดแขนตัดขาของกิเลสก็รู้ แล้วเวลาฆ่ากิเลสก็รู้

นี่ครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาจะตัดแขนตัดขามันไง เวลาเราอดนอนผ่อนอาหารนะ เออ.. โทษนะ ถ้ากูตายมึงก็ตายด้วย ถ้าเราอดอาหารตาย กิเลสก็ต้องตายด้วย เห็นไหม นี่ตัดแขนตัดขามัน ถ้ามันจะไปไม่ไป จะนั่งสมาธิ เราจะทำของเรา เราเริ่มตัดแขนตัดขาของมันนะ ตัดที่มันพอใจไง มันจะทำให้เราเสียหาย มันจะทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน นี่ตัดแขนตัดขามัน

เวลาสมาธิเราดีขึ้นมา ปัญญาเราดีขึ้นมา เราจับตัวมันได้ เห็นไหม เวลาพิจารณาไปตทังค-ปหาน มันปล่อยวางชั่วคราวก็รู้ กิเลสมันเริ่มพ่ายแพ้ก็รู้ แล้วรุกๆๆ รุกจนกว่ากิเลสมันจะตาย กิเลสมันตายคือสังโยชน์มันขาด กิเลสตายเวลามันสมุจเฉทปหานนะ ตทังคปหานนี่ชั่วคราวๆๆ นั่นแหละจะทำให้กิเลสมันอ่อนตัวลง อ่อนตัวลงนะ แต่ถ้าเป็นขิปปาภิญญา ผู้ที่สร้างบารมีมามาก เขาผลัวะ! ขาดเลย แต่กว่าที่เขาขาด เขาต้องสร้างบารมีของเขามามาก

คนที่จะหาปลา เห็นไหม เขาออกร่องน้ำ เขามีเครื่องมือหาปลา จังหวะอำนาจวาสนาของเขา เขาวางอวนทีไรปลาเต็มทุกที วางอวนทีไรปลาเต็มทุกที นั่นเขาสร้างอำนาจวาสนาของเขามา ขิปปาภิญญา ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย คนที่จะปฏิบัติง่ายรู้ง่ายเขาต้องมีพื้นฐานของเขามา เขาต้องทำบุญกุศลของเขามา ไอ้เรานี่ลุ่มๆ ดอนๆ ตอนนี้ยังคิดได้ คิดไม่ได้อยู่ เรือออกไปนะ เรือมันรั่ว นึกว่าเอามืออุดไว้นะจะไปจับปลา จะไปจับปลานะ น้ำมันเข้าเรืออยู่ เรือมันคว่ำจะไปจับปลา

นี่ก็เหมือนกัน เราต้องตั้งสติของเรา เราต้องทำของเรา นี่เวลามันเริ่มยุบยอบลง ตทังค-ปหานคือพิจารณาแล้วมันปล่อยวางๆ ปล่อยวางขนาดไหนก็แล้วแต่ นั่นล่ะกิเลสมันเริ่มเบาลงๆ พอเบาลงนะ คนปฏิบัติขนาดเริ่มตทังคปหาน ขนาดทำสมาธิมันก็มีความสุขแล้วแหละ มันมีความสงบร่มเย็น มันมีความพอใจของมัน ยิ่งพิจารณาแล้วมันปล่อยวางนะ ตัวนี่เบา คิดอะไรดีไปหมด จะทำอะไรถูกต้องดีงามไปหมดเลย อย่าเผลอนะ ถ้าเผลอนะกิเลสมันพลิกกลับมานะเสื่อมหมด

เพราะถ้ายังไม่ตทังคปหาน กิเลสนะเวลามันแพ้เรามันจะกลับไปซ่องสุ่มกำลัง แล้วมันก็จะไปวางแผน พอกลับมานะ เออ.. อย่างนี้ดีใช่ไหม? อย่างนี้ดีใช่ไหม? แล้วมันก็บอกดีอย่างนี้ๆ มันชักจูงเราไปนะ แล้วมันก็ไปพลิกกลับ แล้วเราก็ล้มคว่ำ.. เป็นอย่างนี้จริงๆ! นี่แล้วบอกว่าเวลาเราเรียนธรรมะ ธรรมะก็คือธรรมะไง อ้าว.. กิเลสชี้อย่างนี้ กิเลสชี้อย่างนี้ พอเอาขึ้นพิพากษาแล้วมันก็ต้องติดคุก มันก็ต้องโดนประหารชีวิต

นี่ไปอ่านแต่ชื่อมัน นี่ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นสิ่งไม่ดีทุกคนก็รู้ ทุกคนไม่ต้องการทั้งนั้นแหละ เราจะทำลายมันทั้งนั้นแหละ นี่เจอไอ้นี่ต้องฆ่ามัน เจอนี่ต้องฆ่ามัน เวลาไปเจอมันจริงๆ งงนะ ไปเจอมันเป็นพวกเราไง พอไปเจอมันเป็นความรู้สึกของเรา เอาอะไรไปฆ่ามัน โอ้โฮ.. มันเอาผลประโยชน์ยื่นให้หน่อยเดียวนี่ยอมมันเลย พอยอมมันเสร็จ เดี๋ยวก็เรียบร้อย

นี่ถ้าคนไม่มีประสบการณ์มันจะรู้เรื่องนี้ได้อย่างไร? แล้วเวลาเห็นกายๆ พูดถึงคนเห็นกายๆ เห็นกายเราก็เอาภาพกายมาปะไว้นี่ กูก็เห็น หมอมันผ่าตัดทุกวันมันก็เห็น ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมันยังเปลี่ยนเลย มันผ่าหัวใจแล้วเปลี่ยนหัวใจให้ด้วย อ้าว.. มันก็เห็น แล้วหมอมันเป็นอะไรล่ะ? ตังค์มา หมอเอาตังค์มาสิ แล้วเราบอกว่านี่เห็นกายๆ เห็นกายเห็นอย่างไร? พอจิตสงบมันเห็นกายนี่เห็นกายอย่างไร?

ถ้ามันเห็นกายของมัน ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเห็นกายนะ พอเห็นกายนี่ขนพองสยองเกล้าเลย แค่เราเห็นกาย แค่เราสำนึกตัวว่าเราผิดนะ เราทำสิ่งใดในชีวิตเราก็ทำของเรามาตลอดเลย เราไม่รู้ว่าถูกหรือผิด แล้วเราทำของเราเป็นความเคยชิน แต่วันไหนเราสำนึกได้นะ โอ้โฮ.. ทำผิดมาตั้งแต่ต้น ทำผิดมาทั้งชีวิตเลยนี่ น้ำตาคลอนะ เราทำผิดมาทั้งชีวิตเลยหรือนี่ เราไม่รู้ตัวเลย

เวลาจิตมันไปเห็นกายนะ พอมันเห็นกายขึ้นมา พอเห็นกายใช่ไหม? เรื่องของเรานี่แหละ โอ้โฮ.. เห็นอย่างนี้ขนพองสยองเกล้าเลยนะ พอขนพองสยองเกล้านี่ของจริงแล้ว ถ้าของจริง เห็นไหม พอตำราไปบอกไว้อย่างนั้น นี่เห็นกิเลส เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงนะมันสะเทือนใจมาก

ดูสิอย่างเวทนานี่ สุขเวทนาก็ชอบ ทุกขเวทนาก็ผลักไส นี่เวลาจิตมันสงบแล้วจับเวทนาได้แล้วพิจารณาของมันตามความเป็นจริงนะ แล้วมันปล่อย นี่เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่เวทนา แล้วมันไปไหนล่ะ? อ้าว.. ก็เวทนามันทุกข์ มันทุกข์แสนสาหัส แต่เวลาพิจารณาแล้วมันปล่อยวางแล้ว นี่มันเป็นสมบัติเลยนะ มันเป็นสิ่งที่ให้เราเอามาเป็นประโยชน์นะ

เราซื้อขายแลกเปลี่ยน ถ้าเราส่งสินค้าไปเราก็ได้เงินมา เราพิจารณาจนเวทนามันปล่อยแล้วเราก็ได้ธรรมมา แต่เวลาเราเกิดทุกข์นี่ไม่ต้องการๆๆ แต่ถ้าเราจับทุกข์มาพิจารณา แล้วเราพิจารณาของเรา ได้ประโยชน์ของเรา เห็นไหม ก็ทุกข์นั่นแหละ มันเป็นวิบาก มันเป็นผล มันเป็นการให้เราได้กระทำ มันเป็นการให้เราวิปัสสนา มันทำให้เราได้มีผลงาน มันทำให้เราได้ประโยชน์ ก็ทุกข์นั่นล่ะ!

นี่ไงทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์ แต่นี้ไม่เห็นทุกข์ไง หลวงตาบอกว่ากิเลสมันมานะ มันมาอยู่บนหัวใจของเรา แล้วมันก็ขี้รดไว้ แล้วมันก็ไปนอนสบายเลยนะ ไอ้เราตื่นขึ้นมาได้กลิ่นขี้ไง พอได้กลิ่นขี้ก็ว่าโอ๋ย.. นี่มันเหม็นๆ นะ โอ๋ย.. ทุกข์ ทุกข์แล้ว มันขี้ทิ้งไว้นะ กิเลสคือตัณหาความทะยานอยากมันปรุงแต่งของมัน พอปรุงแต่งจบแล้วเราได้ผลวิบากของมันไง แล้วเราว่าเราเห็นทุกข์ๆ

นี่วิบากนะ นี่กิเลสมันสร้างผลงานทิ้งเอาไว้แล้วนะ หลวงตาท่านพูดชัดมาก กิเลสมันตื่นขึ้นมานะ แล้วมันก็ถ่ายใส่หัวใจเรา แล้วมันก็ไปแล้ว เราตื่นนอนขึ้นมานะ โอ๋ย.. นี่มันขี้ใคร? ขี้กิเลสไง พอขี้กิเลสนะโอ๋ย.. ทุกข์ ทุกข์ แล้วเราเห็นไหม? เรารู้เหตุผลไหม? เราไม่รู้ แต่ถ้าจิตสงบนะมันจับได้ อ๋อ! ทุกข์เพราะตรงนี้ไง กาย เวทนา จิต ธรรม

เพราะกายใช่ไหม? เพราะมีกาย มีฐาน มีที่ให้มันขี้ พอเราจับต้องได้ อ๋อ.. มันขี้ตรงนี้ มันพิจารณาตรงนี้ เห็นไหม สมุทัยควรละ นี่ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ควรละคืออะไร? ตัณหาความทะยานอยากที่มันมาขี้ กิเลสมาขี้ก็ตีขามันสิ กิเลสมาขี้ก็บอกทำไมมึงไม่ไปขี้ที่ของมึง เห็นไหม ปัญญามันเกิดพิจารณาได้

นี่ไงทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ.. เวลาการศึกษาเราก็ศึกษา ปริยัตินี่ต้องศึกษานะ พระพุทธเจ้าเป็นผู้สอนเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนสอนเอง ปริยัติ เห็นไหม นี่โปฐิละๆ ใบลานเปล่าๆ พอไปปฏิบัติมันก็สิ้นเป็นพระอรหันต์ ถ้าโปฐิละๆ ก็ยังศึกษาอยู่ นี่เทศนาว่าการลูกศิษย์ ๕๐๐-๖๐๐ ธรรมะนี่แตกฉานมาก พูดได้ทุกข้อทุกกระทง พูดได้หมดเลย โอ้โฮ.. คนฟังแล้วชื่นใจมากเลย แต่ใบลานเปล่า

ปริยัติ ปฏิบัติ เวลาโปฐิละไปปฏิบัติกับสามเณร สามเณรน้อยพาไปปฏิบัติ จนไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ปริยัติ ปฏิบัติ.. ปฏิบัติก็คือปฏิบัติ ปริยัติไม่ใช่ปฏิบัติ แล้วตอนนี้ปริยัติ ปฏิบัติมันมาปนเปกัน อ้าว.. เวลาจะปฏิบัติก็ต้องให้ตรงตามพุทธพจน์ ต้องตรงตามตลอดเลย เด็กก็บอกให้เป็นผู้ใหญ่เลย เด็กนี่ต้องให้เรียบร้อยหมดเลย มันเรียบร้อยไหม? เดี๋ยวมันไปมันก็ออกประสาเด็ก ผู้ใหญ่ก็ไปประสาผู้ใหญ่ เด็กก็ไปประสาเด็ก

จิตที่ไม่เคยฝึกหัด กับจิตที่เคยฝึกหัดแตกต่างกัน จิตที่ยังไม่เคยฝึกหัดมันก็เหมือนเด็กๆ แล้วเราจะฝึกหัดจิตที่เด็กๆ ขึ้นมาให้เป็นผู้ใหญ่ เราบอกว่าโตขึ้นมาต้องเป็นผู้ใหญ่เลย โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่เลย มาปฏิบัติต้องรู้หมดเลย ปฏิบัติต้องรู้หมดเลย พุทธพจน์ๆ โอ๋ย.. เป็นปรมัตถ์ๆ งงว่ะ งง

เด็กก็ต้องฝึกขึ้นมามันจะเป็นผู้ใหญ่ จิตที่ไม่เคยปฏิบัติเลยก็พยายามฝึกขึ้นมาให้เป็นผู้ใหญ่ พอเป็นผู้ใหญ่แล้วมันพิจารณาของมันไป เดี๋ยวแก้ไขของมันไป เดี๋ยวมันจะรู้ของมัน นี่ไงถ้าไม่เอามาผสมปนเปกันนะ ให้มันเป็นจริงขึ้นมา ให้เป็นจริงขึ้นมา พอมันเป็นจริงขึ้นมาพวกเราจะซาบซึ้งมาก

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

เราอยากจะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปอินเดียกันนะ นี่ไปกราบไหว้นะ ต้นโพธิ์ไปกราบกันตลอดเลย แต่ไม่เห็นพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเราทำจิตเราสงบ เราพิจารณาของเรานะ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เราจะได้เฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะในหัวใจของเรา

นี่ไงปฏิบัติธรรมๆ นี่เรามาวัดมาวา เรามาปฏิบัติ เราพยายามทำของเรา มันจะทุกข์ มันจะยากแน่นอน งานทางโลกมันยังทุกข์ยังยากเลย เห็นไหม เราเปรียบเหมือนหาปลา นี่เวลาหาปลา คนหาปลาได้ก็มี คนหาปลาปานกลางก็มี แต่เราก็ต้องหา หลวงปู่มั่นท่านพูดนะ นี่ปลาในสุ่ม ปลาในสุ่ม เอาสุ่มครอบไว้ แล้วจับยังจับไม่ได้เลย

นี่ร่างกายเราอยู่นี่ จิตใจอยู่ในร่างกายนี้ นี่ปลาในสุ่ม แล้วทำไมจับปลาไม่ได้ มันอยู่ในร่างกายเรานี่แหละ ทำไมเราจับปลาในสุ่มเราไม่ได้ ทำไมเราทำไม่ได้ นี่ไงเราก็ต้องมีความเข้มแข็ง มีการกระทำของเรา แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ

อริยทรัพย์ ทรัพย์ที่เราสร้างขึ้นมา ไม่มีการซื้อการขาย ศีล สมาธิ ปัญญา ซื้อขายที่ไหนไม่มี ศีลเราก็ต้องวิรัติเอาขึ้นมา สมาธิเราก็ต้องปฏิบัติเอาขึ้นมา ปัญญาเกิดจากการฝึกฝน ฝึกฝนขึ้นมา ไม่มีใครซื้อใครขาย ไม่มีร้านไหนขายปัญญา ไม่มีร้านไหนขายสมาธิ ไม่มี เราต้องฝึกหัดทั้งนั้น เราต้องทำทั้งนั้น เราถึงทำให้จริงให้จัง แล้วจะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง