ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

มารผจญ

๑ ต.ค. ๒๕๕๔

 

มารผจญ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขามาภาวนาที่วัด แล้วเขาทิ้งคำถามไว้ เขาทิ้งคำถามไว้นะ เดี๋ยวเสร็จแล้วค่อยมาเอาไปเนาะ นี่เวลาเขามาภาวนาแล้ว เห็นไหม เขามีผลของเขา แล้วเขากลับไปแล้ว แล้วเขาบอกให้ตอบ นี่เราจะตอบแล้วเนาะ

ถาม : กระผมขอถามปัญหา กระผมมีคำถาม ๔ ข้อ

๑. ขอคำชี้แนะในการปฏิบัติครับ ผมมี ๒ เหตุการณ์ภาวนาที่แปลกในการปฏิบัติช่วงแรกๆ เหตุการณ์ที่ ๑ ผมภาวนาพุทโธตามแนวทางของหลวงพ่อในเว็บไซต์จนสงบ แล้วมาดูที่ร่างกายตัวเอง ตัวจะชาไปทั้งตัว ขาหาย แขนหาย แล้วร่างกายเหมือนเป็นหิน ที่ใครก็ไม่รู้บังคับให้หมุนซ้าย หมุนขวาโดยผมฝืนไม่ได้เลย

๒. ผมภาวนาพุทโธจนสงบเหมือนเหตุการณ์แรก แต่กระดูก ๒ ท่อนเคลื่อนไหวบนกองน้ำยืดๆ ข้างๆ มีพระที่ศีรษะเห็นเปิดกะโหลกแล้วหัวก็หล่นกลิ้งลงมา คำถามคือทั้ง ๒ เหตุการณ์นี้มีความแปลก ผมตกใจและพยายามขยับตัวให้ได้ และลืมตากับมาภาวนาพุทโธต่อ ผมปฏิบัติผิดถูกอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : เห็นไหม ข้อที่ ๑. เวลาภาวนาไปจิตถ้ามันสงบ จิตสงบหรือจิตมีการเปลี่ยนแปลง เราจะเปรียบนี้บ่อยเหมือนกับรถเคลื่อนที่ พอรถเคลื่อนที่ พอล้อหมุนเข็มไมล์มันก็จะกระดิก จิตใจของคนนะ พอปฏิบัติถ้าเราปกติเราก็สามัญสำนึกอย่างนี้ อย่างเช่นถ้าเราเป็นคนตาลาย เราเป็นคนที่ไม่สะดวก เห็นภาพมันจะเคลื่อนไหว อย่างนี้คือคนผิดปกติ

คนปกติจะเห็นภาพปกติ เห็นภาพเป็นสิ่งที่เราเห็นเป็นความปกติ แต่เวลาจิตมันสงบ เห็นไหม จิตสงบเห็นภาพเป็นเห็นอย่างนั้น นี่ที่ว่าเวลาเห็นไปตัวมันเริ่มชา แขนเริ่มหาย ความเริ่มหายนะมันเริ่มหายไป ความผิดปกติมันทำให้เราสะเทือน พอเราสะเทือนปั๊บ จิตที่มันจะดีขึ้นไปเราก็ดีขึ้นไปไม่ได้แล้ว นี่มันขัดแย้งในตัวมันเองไง ตัวมันเองหนึ่ง คือจิตถ้ามันเปลี่ยนแปลงคือจิตที่มันปกติใช่ไหม?

ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ทำความสงบของใจ ใจมันสงบเข้ามา ถ้าใจสงบเข้ามาโดยทั่วไป ถ้าจิตโดยทั่วไปนะ สงบก็สงบเข้ามาเฉยๆ แต่ถ้าคนมีเหตุการณ์อย่างนี้ เวลาจะสงบเข้ามามันจะรู้ มันจะเห็น มันจะรู้สิ่งต่างๆ ไป นี่พันธุกรรมของจิตแตกต่างกัน ถ้าพันธุกรรมของจิตแตกต่างกัน แล้วคนไม่มีจะให้มีก็ไม่ได้ อย่างเช่นเรานี่ เราพุทโธไป หรือทำความสงบของใจ ใจเราสงบไปเฉยๆ เราก็บอกว่าทำไมเราสงบเฉยๆ ทำไมเราไม่รู้เห็นแบบเขา ทำไมเราไม่เป็นแบบนั้น ทำไมเราไม่เป็นแบบนี้?

มันเป็นไม่ได้ คนไม่เป็นมันก็คือไม่เป็น คนไม่เป็น ไม่เห็นแต่สงบเฉยๆ แต่ถ้าคนมันเห็นนะ เห็นอาการแตกต่าง เห็นอาการวูบวาบต่างๆ มันก็ต้องเห็น ทีนี้มันต้องเห็น มันก็เหมือนกับคนเรานี่คนถนัดซ้าย ถนัดขวา เห็นไหม คนถนัดซ้ายก็เขียนมือซ้าย คนถนัดขวาก็เขียนมือขวา จิตใจถ้ามันลงไป ถ้ามันมีเหตุการณ์ผิดปกติ คำว่าผิดปกติมันเห็นของมัน ก็คือมันสร้างของมันมา

เราไม่ต้องไปตื่นเต้นกับสิ่งนี้ เราพยายามพุทโธของเราไว้ ตั้งแต่ก่อนเห็น เริ่มเห็น แล้วระหว่างเห็น พุทโธไปเฉยๆ นั่นล่ะ เห็นหรือไม่เห็น.. เห็นคือจิตมันออกรู้ออกเห็น แต่ถ้าจิตมันไม่สงบไปอย่างนี้ มันก็ไม่รู้ไม่เห็นอย่างนี้ มันก็รู้เห็นเป็นความปกติ แล้วนี่อย่างเรานั่งไปๆ เห็นไหม พุทโธ พุทโธ ขามันเริ่มหายไป ความรู้สึกของขาหายไป แขนหายไป จิตมันก็เป็นจิต มันไม่รับรู้ มันหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามา เราก็ตกใจ พอตกใจก็กระเพื่อมก็ออกอีก

เรานั่งเราต้องการความสงบ แต่พอมันจะสงบเราก็สงสัย ที่มันขัดแย้งมันขัดแย้งตรงนี้ไง เรานั่งเพื่อจะสงบ พอมันจะสงบก็สงสัย พอสงสัยมันก็กลับเป็นดิบๆ เหมือนเดิม แล้วก็นั่งอีก ก็พุทโธ พุทโธเข้าไปอีก มันก็จะสงบอีก มันก็เห็นอีก เห็นอีกก็สงสัยอีก สงสัยก็ออกอีก ฉะนั้น จะเอาอย่างไรล่ะ? ฉะนั้น ถ้ามันเข้าใจ..

ถาม : ๒ เหตุการณ์นี้มีความแปลกทำให้ผมตกใจ และพยายามขยับตัวให้ลืมตากลับมาพุทโธต่อ

หลวงพ่อ : เราจะบอกว่าเพราะว่าเราพุทโธ จิตมันจะเริ่ม.. ถ้าพูดถึงตะกอนในน้ำมันเริ่มทิ้งตัว เริ่มจะไปสู่ก้นภาชนะ เห็นไหม น้ำก็ใสขึ้นมา พอน้ำใสเราก็เห็นอะไรต่างๆ พอเห็นต่างๆ มันก็ไปกวนตะกอนให้ขุ่นขึ้นมาอีก แล้วก็พยายามพุทโธ พุทโธให้ตะกอนมันนอนก้นอีก แล้วพอน้ำมันใสจะเห็นอะไรก็กวนมันขุ่นขึ้นมาอีก

ฉะนั้น เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะทำความมั่นใจว่า เราพยายามบอกว่าถ้าเห็นสิ่งใดเราก็วาง วางด้วยความมีสติ วางด้วยสติบอกว่าเราพุทโธไปเรื่อยๆ มันจะรู้จะเห็น.. เห็นก็คือเห็น เห็นแล้วก็วาง เห็นแล้ววาง ไม่ตื่นเต้น ไม่กวนให้น้ำขุ่น เราทำของเราเป็นปกติ นี่มันจะผ่านสิ่งนี้ไป สิ่งนี้มันต้องผ่านไป คือมันเป็นจริตของจิต จิตบางดวงเห็นก็คือเห็น ถ้ามันเห็นมันก็คือเห็นนะ แต่พอเห็นแล้วถ้าเราตั้งใจ เราตั้งใจให้ไม่เห็นได้

อย่างของเรา เมื่อก่อนเราปฏิบัติใหม่ๆ เห็นตลอด แล้วเห็นมากด้วย แต่เห็นแล้วก็มาพิจารณาของตัวเองว่ามันไม่ใช่ คือมันผิดไง เห็นแล้วเราจดไว้เลย เรามานั่งใหม่ๆ จะเกิดนิมิตมาก นิมิตนี่จะจดไว้เลย วันเวลาเท่านั้นๆ แล้วพิสูจน์แล้วไม่ใช่สักทีแสดงว่าผิด พอแสดงว่าผิดแล้ววางเลย ไม่เอา

ก่อนนั่งบอกว่าไม่ต้องการสิ่งใด? ต้องการความสงบ ขณะนั่ง ขณะเห็น ไม่เอาๆ พุทโธอย่างเดียว พุทโธอย่างเดียว แล้วมันก็สงบลงไปได้ สงบลงไปได้แล้วภาวนาไป ถึงเห็นโทษของมันไง เห็นโทษของมันว่าถ้าเราไปติดอยู่ตรงนั้นเราจะสงบเข้ามาไม่ได้ แล้วถ้ามันติดตรงนั้น ถ้าเราไม่เคยแก้มา เขาบอกว่า อ้าว.. ก็มันเห็น มันปฏิเสธไม่ได้

ได้ ได้ เอ็งเข้มแข็งจริงหรือเปล่า? เพราะเราปฏิเสธมาแล้ว เราปฏิเสธการเห็น ถึงเห็นก็วางไว้ เห็นแล้วก็สักแต่ว่าเห็น เห็นแล้วทำไมล่ะ? เห็นแล้วจิตมันไม่ไหวตามจะทำไม? เห็นก็เห็น เห็นแล้วเราไม่รับรู้.. เห็น ไม่รับรู้ เฉย เห็นแล้วพุทโธเฉยไปเรื่อยๆ แล้วดีไปเรื่อยๆ พอไปเรื่อยๆ ก็ภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วพอภาวนาไปเรื่อยๆ พอถึงที่สุดนะเห็นแท้ เห็นแท้ คือจิตมันลงลึกเต็มที่ถึงข้อมูลเดิม

เห็นแท้ เห็นแท้ๆ นี่คือเห็นข้อมูลเดิมเลย เห็นข้อมูลเดิมของจิตที่เคยเป็นสิ่งใดมาแต่ชาติไหนๆ เห็นแท้ๆ เลย แล้วเห็นตอนนั้นจะรู้ เห็นจากเปลือก แล้วไปเห็นแท้ๆ จะเห็นอย่างไร? พอเห็นแท้ๆ ขึ้นมานี่ เอ๊อะ! เอ๊อะ! เลยนะ อ๋อ! มันถึงบอกว่า เราถึงพูดไว้บ่อยมากว่า จะเห็นสิ่งใดแล้ววางไว้ๆ

เหมือนเงินเรานี่ เราสะสมเงินไว้ เราไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เงินมันไปไหน? เงินมันก็อยู่ในกระเป๋าเรานั่นแหละ พอจิตใจเราดีขึ้นมา เงินที่กระเป๋าเรานี่เราใช้จ่ายได้ดีมากเลย แต่ถ้าเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือย พอมีเงินก็ใช้ มีเงินก็ใช้ คือเห็นนิมิตก็ตามนิมิต รู้เรื่องนั้น รู้เรื่องนี้ มันก็อยู่แค่นั้นแหละ มันเข้าไปลึกไม่ได้ แล้วมันก็ทำให้เราเสื่อมถอย คือเราเจริญก้าวหน้าไม่ได้

ฉะนั้น เห็นก็คือเห็น นิมิตนี่แก้ได้ ถ้าจิตใจเราเข้มแข็ง เข้มแข็งนี่เพราะของๆ เรา ของๆ เราโดยเราไม่ใช้มันต้องอยู่กับเราตลอดไป ของๆ เรา เราใช้ไปมันจะเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ แล้วถึงเวลานั้นก็ล้มลุกคลุกคลานเลย

ฉะนั้น เห็นแล้ววาง แล้วขณะเห็นก็ปฏิเสธไปเรื่อยๆ เพื่อต้องการหลักก่อน คือจะเห็น จะรู้อย่างไรก็แล้วแต่ ต้องการความมั่นคงของใจก่อน ถ้าใจมั่นคงแล้วนะ แล้วภาวนาของเราไปเรื่อยๆ ถึงเวลาจะใช้ประโยชน์นะมันจะได้ประโยชน์ทันทีเลย เพราะเวลาจิตสงบแล้ว เวลาออกมาเห็นกายมันก็เห็นอย่างนี้แหละ แต่เห็นด้วยที่ว่าเราบริหารจัดการได้

ฉะนั้น ให้มั่นคงไป แต่ตอนนี้มันยังโลเลอยู่ เพราะมันไม่เข้าใจ

ถาม : ๒. เคยได้ยินเรื่องเพื่อนกัลยาณมิตรเคยมาเตือน เพื่อนที่ปฏิบัติธรรมหลงทางอยู่ แล้วเข้าใจผิดในการปฏิบัติอยู่ ผมมีเหตุการณ์หนึ่งที่ประหลาดใจมาก คือมาปฏิบัติที่วัดตอนประมาณตี ๕ ครึ่ง ฟ้ากำลังใกล้สว่าง ผมก็นั่งภาวนาแบบไม่หลับตา มองดูความมืดกำลังเปลี่ยนเป็นความสว่าง

มองด้วยตาเนื้อ ไม่นานนักเห็นพระสงฆ์ (ห่มดิบ) เดินอยู่บนถนนเร็วมาก เร็วขนาดคนปกติเดินตามไม่ทัน ผมมองตามท่านเดินจนลับสายตา แล้วผมคิดขึ้นมาว่าเราปฏิบัติผิดหรือเปล่า? หรือด้วยเหตุผลอื่น หรือยังไม่เห็น หรือยังไม่มีอะไรเลย ขอเมตตาหลวงพ่อโปรดชี้แนะด้วย

หลวงพ่อ : เห็นเหมือนกัน ถ้าเรามองไปนี่เห็นพระสงฆ์ เห็นอะไรนี่มันเป็นความหมายได้ พอเราปฏิบัติไป จิตสงบนี่เห็นพระพุทธรูปได้ อย่างจิตสงบนะ พอจิตสงบไปเห็นพระพุทธรูปนี่ใส เห็นไหม ใส ถ้าจิตมันสงบมากขึ้นไป เห็นพระพุทธรูปใสเป็นแก้วเลย เป็นทองคำ เป็นแก้วสีทองเลย มันใส ใสขนาดนั้น

นี่มันวัดได้ไง คำว่าเห็นความสว่างๆ สว่างระดับนี้ สว่างยิ่งกว่านี้ สว่างจนพูดไม่ถูก เห็นไหม นี่มันอยู่ที่คุณภาพของจิต ถ้าจิตสงบมากขนาดไหนนะ สิ่งที่เห็นมันก็เห็น แต่! แต่มันก็ขึ้นๆ ลงๆ ไง จิตสงบมาก สงบน้อย กระเพื่อม มันก็แตกต่างกันไป

ทีนี้เป้าหมายของเรานะ ศีล สมาธิ ปัญญา.. ฌานสมาบัตินี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปฝึกกับอาฬารดาบสก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ แต่พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนี่ไม่ใช่ศีล ฌาน ปัญญา.. ศีล ฌาน ปัญญาไม่ใช่ พระพุทธเจ้าบอกศีล สมาธิ ปัญญา นี้พอสมาธินี่เราควบคุมได้

ฌาน เห็นไหมปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่มันขับเคลื่อน มันต่อเนื่องกันไป ฌานสมาบัติ ฉะนั้น เวลาเราต้องการความสงบ เราปฏิบัติเพื่อความสงบ นี้พอความสงบ มันสงบมาก สงบน้อย แล้วเรามีหลักของเรา แล้วเราค่อยออกรู้ นี้พูดถึงว่าการออกรู้

นี่เขาว่าให้ช่วยชี้แนะ ชี้แนะก็เหมือนเดิม คือทำความสงบของใจให้มากขึ้น แล้วเราไม่ต้องไปรู้สิ่งใด ถ้ารู้ มันรู้เห็นไหม ธาตุรู้นี่ความรู้สึกเรารู้ในสมาธิ นี่ทำสมาธิเรารู้ตัวชัดเจนมาก รู้อย่างนี้มีคุณค่ามากกว่า ไปรู้ข้างนอกมันรู้อะไร? นี่เรานั่งสงบ เห็นไหม เราก็รู้ว่าเราสงบ เรามีความร่มเย็นเป็นสุข เราก็รู้ว่าความร่มเย็นเป็นสุข เรามีกำลัง เราก็รู้ว่าเรามีกำลัง แล้วทำงานเป็นหรือเปล่า? ทำงานเป็นก็ออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ออกฝึกหัดใช้ปัญญา

ปัญญาในขณะฝึกหัด ขณะก้าวเดิน ขณะที่ปัญญาเข้มแข็ง ปัญญาแก่กล้า มันจะรู้เป็นระดับๆ ไป ถ้าปัญญาแก่กล้านะจ่อเข้าไปเลย พอใช้ปัญญาปุ๊บ พั่บ! พั่บ! พั่บ! ขาดหมด คิดเรื่องอะไร เรื่องนั้นจะไม่มีมาตกค้างในใจเลย พอปัญญาแก่กล้า สมาธิดี จะคิดเรื่องอะไรนะทะลุๆๆ ทะลุหมดเลย จะไม่มีอะไรสงสัยเลย แล้วปลอดโปร่งมาก แต่ถ้าปัญญามันยังเริ่มฝึกหัดนะ เออ.. ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เริ่มต้นผิด เริ่มต้นถูก มันจะเป็นอย่างนี้ ฝึกหัดใช้ปัญญาจนคล่อง จนชำนาญ นั้นเวลาเราปฏิบัตินะ

ฉะนั้น ว่าผิดถูกอย่างไร? สิ่งที่เห็นเรากลับมาทำพื้นฐานใจให้ดี

ถาม : ๓. ที่ทำงานของผมมีจัดทัวร์ธรรมะ จะพากลุ่มคนไปทำบุญกับพระ แล้วเป็นการปฏิบัตินี้มีอยู่ ๒ แนวทาง

แนวทาง ๑. เข้าคอร์สเรียนการภาวนาเบื้องต้น แล้วภาวนาจริง

แนวทาง ๒. ให้ลงปฏิบัติจริงเลย แล้วค่อยมาเปิดตำราทีหลัง

หลวงพ่อมีความเห็นอย่างใด

หลวงพ่อ : คนน่ะ ตอนนี้แนวทางมี ๒ แนวทาง พูดว่าชมแนวทางไหน อีกแนวทางหนึ่งก็ว่าลำเอียง นี่ถ้าเข้าคอร์สเรียนก่อน เข้าคอร์สเรียนก่อนมันก็เรื่องของเขา แต่ถ้ากรรมฐานเรานี่เราให้ปฏิบัติเลย ปฏิบัติเลย ปฏิบัติเสร็จแล้วนะแล้วค่อยเปิดตำรา ถ้าจะเปิดตำรา แล้วถ้าปฏิบัติไปแล้วนะ ถ้ามันเป็นความจริงนะ เปิดตำราแล้วแบบว่ามันส่งเสริมกันนะ พออ่านในตำราแล้วมันจะเข้าใจมากขึ้น แล้วมันถูกต้องดีงามไปหมด

ตำรามันเป็นความจริงอยู่แล้ว ในตำรานะ แต่ตำรานี่เฉพาะพระไตรปิฎก ฎีกา อรรถกถา นี่เชื่อได้ อันอื่นแล้วเราไม่ค่อยเชื่อ เราไม่เชื่อเลย เว้นไว้แต่ของครูบาอาจารย์เรา อย่างเช่นประวัติหลวงปู่มั่น แล้วของหลวงปู่มั่นนะ ของหลวงปู่ขาว ของหลวงตา ของหลวงปู่ชอบ ต้องดูด้วยว่าใครเป็นคนเรียบเรียง เพราะว่าหลวงปู่ชอบท่านเป็นความจริง แต่คนเรียบเรียงเป็นใคร? คนเรียบเรียงฟังมานี่ “นกก้าวขา” นกก้าวขาก็ว่านกมี ๙ ขา ไม่ใช่นกมันก้าวขาเดิน

นี่หลวงตาบอกว่า “ไม่รู้พูดไม่ได้”

นกก้าวขาก็ไปเขียนเลยนะ “หลวงปู่ชอบท่านไปนั่งอยู่ที่นั่น ท่านเห็นนกมี ๙ ขา”

อู๋ย.. นก ๙ ขา นกมหัศจรรย์นะ ไม่ใช่หรอก ท่านบอกว่า

“ท่านนั่งอยู่นั่น พอดีนกมันก้าวขาเดิน เห็นมันเดินอยู่”

ถ้าคนไม่เข้าใจปั๊บเขียนมันจะเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น หลวงตาบอกว่า “ไม่รู้เขียนไม่ได้” ถ้าเขียนนี่ เพราะว่าความหมาย ผู้พูดพูดถึงความหมายหนึ่ง ไอ้คนเขียนมันไปเขียนอีกอย่างหนึ่ง แล้วอธิบายเป็นคุ้ง เป็นแควไปเลยนะ โอ้โฮ.. เป็นความมหัศจรรย์นะ แล้วคนที่มันต่อไปล่ะ

นี้พูดถึงตำรานะ เราบอกว่าตำราผิดมันน่าสงสาร มีอยู่ทีหนึ่งเด็กมันมาถามปัญหานี่แหละ แล้วเราก็พูดกับเขาแรง เราบอกว่ามันผิด นี่เขาอ่านตำรามา เขาบอกว่าตำรามันเขียนอย่างนี้ เราก็บอก โอ้โฮ.. เราใส่เลยนะ ตำราใครเขียน? เราถามเลย “ตำราใครเขียน?”

มันมีพระอยู่หลายองค์นะเขาเทศน์ เทศน์เสร็จแล้วเขาแปลเป็นภาษาอังกฤษ พอแปลเป็นภาษาอังกฤษไปใช่ไหม? พอแปลเป็นภาษาอังกฤษไปก็ไปอยู่ที่เมืองนอก แล้วเขาก็เขียนหนังสือของเขา แล้วเขาก็บอกว่านี่มันตรงกันพอดีเลย.. ก็ของเขาเอง! เดี๋ยวนี้มีอย่างนี้ พอเทศน์เสร็จปั๊บแปลเป็นภาษาอังกฤษไปก่อนใช่ไหม? แล้วเราก็เทศน์ซ้ำ แล้วบอกว่าเทศน์ของเขากับฝรั่งเห็นตรงกันเลย เห็นตรงกันเลย อย่างนี้ก็มี แล้วเอ็งรู้ไหมล่ะ?

เอ็งว่าตำราเขียน ตำราเขียน.. ใช่ ด้วยความสัตย์ซื่อของเราว่าครูบาอาจารย์ของเราเป็นพระ ทำอะไรนี่ท่านมีศีล มีธรรม เราก็คิดว่ามันจะอยู่ในร่องในรอย แต่ความจริงนั่นล่ะตัวดีเลยล่ะ นั่นล่ะตัวดี แล้วเรากล้าวิเคราะห์ เรากล้าวิจัยท่านไหม? เราก็ไม่กล้า เออ.. อาจารย์ของเรา เราศรัทธา เราเชื่อถือ มารู้อีกทีนะเหลือแต่ซี่โครง ตับ ไต ไส้พุงเกลี้ยงเลย เขาเอาไปกินหมดแล้วเหลือแต่ซี่โครงเดินได้ อย่างนี้ก็มี

นี่พูดถึงว่าตำรา.. จะดูตำราก่อน หรือว่าปฏิบัติก่อนค่อยดูตำรา? ถ้าปฏิบัติก่อนค่อยดูตำรานะ พอตำรานี่เขาเขียนไว้แล้ว เขาดูแล้ว แล้วเขาบอกยึดตำราๆ เพราะเราเชื่อไง พวกเราเชื่อว่าตำราต้องเป็นจริง ตามเอกสารมันต้องเป็นของจริง แต่เอกสารนี่ของปลอมเยอะมาก จนเราไม่ยอมรับหนังสือใครเลยล่ะ หนังสือใครก็แล้วแต่เอามาแจกในนี้ไม่ได้

เมื่อก่อนนะถ้าหนังสือหลวงตานี่รับหมด แต่ตอนนี้ไม่แล้ว หนังสือหลวงตารับต้นฉบับ แต่ถ้าเรียบเรียงใหม่ไม่รับ ใครเรียบเรียงดัดแปลงใหม่มานะ ของหลวงตานะขอวางไว้ก่อน ไม่รับ เพราะเรียบเรียงดัดแปลงก็คือเอาความเห็นเราใส่เข้าไปไง หลวงตาชมว่าเราเป็นเทวดา หลวงตาชมว่าเราเป็นยอดคน หลวงตาชม โอ้โฮ.. เวลากรรม เวรกรรมเลยล่ะ เวรกรรม ฉะนั้น ไม่เอา

คนดีก็คือดีนะ เพชรนะ มันตกอยู่ในขี้ตมนะ ตกในมูตร ในคูถมันก็คือเพชร เพชรจะไปตกอยู่ที่ไหนมันก็คือเพชร ไม่ต้องเอามาเชิดชูหรอก หลวงตาบอกว่า ครูบาอาจารย์ของเราถ้าเป็นความจริง อยู่ในป่าเขาแค่ไหนก็แล้วแต่เขาจะดั้นด้นเข้าไปหา แต่ไอ้ที่ไม่จริงๆ นี่โฆษณาชวนเชื่อขนาดไหนมันก็เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ น่ารังเกียจมาก

ถาม : ๔. ผมมีความตั้งใจในการปฏิบัติภาวนาตามแนวทางหลวงปู่มั่นเป็นที่สุด แต่ถ้า ณ ช่วงเวลาหนึ่งที่มีเหตุให้ต้องปฏิบัติในเวลาสั้นๆ ในแบบจิตส่งออกไปดูนรก สวรรค์ ผมต้องปฏิบัติตามแนวทางครูบาอาจารย์แบบนั้นเต็มที่ใช่ไหมครับ แล้วพอผ่านเหตุการณ์นั้นแล้วเราค่อยมาปฏิบัติตามแนวทางเดิม

หลวงพ่อ : นี่เวลาอยู่ในสังคม ด้วยความเกรงใจ เวลาเขาดึงไปไหนก็ต้องไปกับเขา แลกเปลี่ยนไง กลัวเขาไม่มาทางเรา ก็ต้องแลกเปลี่ยนไปกับเขาก่อน (หัวเราะ) พอไปกับเขาก่อนแล้วเขาพาไปนรก สวรรค์ แล้วทำอย่างไร?

เราเคยสอนไว้นะ มีคนมาหาเยอะ บอกว่าเวลาไปสำนักอื่นชอบบรรยากาศมาก แต่ไม่ชอบแนวทางคำสอนเขา เราบอกว่าเอ็งก็ไปปฏิบัตินั่นแหละ ถ้าเอ็งชอบบรรยากาศ ชอบสถานที่นะ แต่เอ็งก็พุทโธของเอ็งไป เรารับประกันได้ว่าเขาไม่รู้ว่าเอ็งทำอะไรหรอก เขาไม่รู้หรอก เขาจะสอนอย่างไรก็เรื่องของเขา เอ็งก็ไปใช้บรรยากาศของเขา แล้วก็พุทโธไปเถอะ เขาไม่รู้หรอก เขาไม่รู้ รับประกันได้ไอ้ที่ว่ารู้วาระจิตๆ อย่ามาโม้ เอ็งพุทโธไปเลย ถ้าเขารู้เขาจะบอกว่า แน่ะๆๆ พุทโธทำไม? เขาจะรู้เลย แต่นี่เขาไม่รู้หรอก แต่เอ็งไปกลัวก่อนไง

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาเราไปกับเขา แต่นี้เพียงแต่ว่าถ้าไปดูนรก สวรรค์มันไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าไปดูนรก สวรรค์นะ คำสอนของเขา เขาจะบอกว่าให้กำหนดเห็นสวรรค์ แล้วถ้าไม่เห็นเขาก็จะย้ำว่าเห็นหรือยัง? เห็นหรือยัง? ไอ้อย่างนี้หลบยากอยู่ (หัวเราะ) เราจะไปโกหกเขาอย่างไรว่าเห็นสวรรค์แล้ว เพราะยังไม่เห็น ถ้ายังไม่เห็นจะไปบอกว่าเห็นได้อย่างไรล่ะ?

ฉะนั้น เราก็ต้องพุทโธของเราไว้ ถ้าพอบอกว่าเราไม่เห็นก็บอกว่าคนนี้ไม่มีวาสนาเลย ให้ไปสวรรค์ก็ไปไม่ได้ ให้ดูอย่างไรก็ดูไม่ได้ แต่ถ้าบอกว่าเห็นแล้วนะ เออ.. ใช่ แต่เห็นอะไรล่ะ? ถ้าเห็นสวรรค์ ไปสวรรค์แล้วกูไม่กลับ กูอยู่นั่นเลยล่ะ กูจะไม่กลับมาอีกแล้ว ยิ่งไปนิพพานด้วย ถ้าไปเสร็จแล้วปิดประตูเลยไม่กลับแล้ว จะอยู่นิพพานนี่แหละ แล้วมันได้ไหมล่ะ? มันก็ไม่ได้

นี่มันเป็นความเชื่อนะ.. ถ้าเรามีหลัก เราปฏิบัติมา เราเคยพิสูจน์เรื่องอย่างนี้ แล้วมันไม่จริงหรอก แต่ถ้ามันจริงนะ อย่างเช่นถ้าครูบาอาจารย์ของเราท่านไปนะ ท่านไปของท่านเอง แล้วท่านไปนี่ ท่านไปมาเพื่ออะไร? ไปมาเพื่อให้ดูว่านรก สวรรค์มีจริง ทุกอย่างมีจริง แต่สวรรค์ก็คือสวรรค์ ทำไมต้องไปเที่ยวสวรรค์ ทำไมต้องไปสวรรค์?

ชีวิตเราก็ทุกข์ยากขนาดนี้แล้ว ชีวิตทั้งชีวิต ศึกษาเรื่องชีวิตเราก็ปวดหัวตายอยู่แล้ว ยังต้องไปเอาสวรรค์มาแบกไว้อีก ยังต้องไปรับรู้เรื่องสวรรค์อีก ยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่เลย เอาชีวิตเราให้จบนี่แหละสุดยอด นรก สวรรค์ นี่หลวงตาท่านพูดอยู่

“ให้เชื่อว่านรกมี สวรรค์มี ทุกอย่างมีจริงอยู่ ถ้ามีจริงอยู่ทำให้เราเชื่อมั่นในบุญ ในกรรม”

ไม่ใช่ว่าไปเที่ยวสวรรค์มา ไปเที่ยวสวรรค์มาไปเที่ยวทำไม? โฮ้.. เดี๋ยวนี้ไปเที่ยวนะ สถานที่ท่องเที่ยวเขาสร้างขึ้นมา ตอนนี้เงินทองเขาทุ่มกันเต็มที่ เพราะธุรกิจบริการมันกำลังมาแรง เขากำลังจะสร้างบ่อนกันอยู่นี่ มันจะให้เขย่าไฮโลกันอยู่ แล้วยังจะไปนรก สวรรค์อีกหรือ? เอาชีวิตเรานี่แหละ

นี่พูดถึงว่าเวลาเขาชวนกันไป นี่พูดถึงว่าถ้าถึงนรก สวรรค์มันยากอยู่นิดหนึ่ง ยากตรงที่เขาจะตรวจสอบไง แต่ถ้าเขาไม่ได้ตรวจสอบนะ เราพุทโธไปไม่มีใครรู้เรื่องกับเราหรอก ถ้ารู้เขาก็รู้ตั้งแต่เราเข้าไปลงทะเบียนแล้ว บอกว่าไอ้คนนี้มันคงภาวนาไม่ได้หรอก มันกำหนดพุทโธ เขาก็ไม่รู้เขาให้ลงทะเบียน เราก็ภาวนากับเขา แล้วเราพุทโธไปมันจะไปเสียหายตรงไหนล่ะ?

คือว่าถ้าเรามีจุดยืนของเรานะ เรื่องแนวทางการปฏิบัติ วิธีการนี่ จะแนวทางไหนเราก็ลองมาหมดแล้วแหละ เราลองกับเขามา ไปลอง แล้วลองจริงๆ นะ ทีนี้พอลองเสร็จแล้วรู้ว่ามันไปแค่ไหน? มันทำได้แค่ไหน? มันจะลิมิตมันสุดแค่ไหน? แล้วมันไปได้อีกหรือไม่ได้ ก็เท่านั้นเอง แต่ถ้ามาสมถะวิปัสสนา มันจะไปของมันจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ แล้วที่สุดแห่งทุกข์มันจะรู้ของมัน ไอ้นี่กรณีหนึ่ง

ฉะนั้น เวลาเรามันอยู่ในสังคม ถ้าเรามีจุดยืนสักนิดหนึ่ง ไอ้นี่เราก็กลัวว่าเขาจะไม่นับหน้าถือตาเรา เราก็ต้องยอมเขาไปหมดเลย หน้าตาก็หน้าตานะเว้ย ความจริงก็คือความจริงนะ เราเอาความจริงของเราไว้ก่อนเนาะ

ฉะนั้น มาอันนี้ อันนี้น่าสงสาร คำถามนี่ข้อ ๖๓๐.

ถาม : ๖๓๐. เรื่อง “ผจญมาร แก้อย่างไรดีคะ”

หลวงพ่อ : ผจญมาร แล้วมารมันอยู่ที่ไหนล่ะ? อยู่ที่ใจของตัว.. อ่านไม่จบนะ ต้องอ่านข้ามๆ

ถาม : ขอสอบถามอาจารย์ค่ะ หนูปฏิบัติมา ๓ ปี เริ่มเห็นกิเลสหลายอย่างขึ้นมา จากที่เคยเห็นตัวเองเป็นคนดี ตอนนี้ก็รู้แล้วล่ะว่าไม่ดี ก็ค่อยสงบลงไปเรื่อยๆ แต่ปัญหาคือช่วงนี้หนูไปปฏิบัติธรรมที่อาจารย์ที่น่าเคารพ อยู่ดีๆ จิตก็ไปคิดลามกกับท่าน แล้วก็ไปปรึกษากับเพื่อนฝูง เขาก็บอกให้พิจารณาหักห้ามมัน แล้วพิจารณาเป็นไตรลักษณ์ไป

เขาก็สู้มาเต็มที่แล้วมันทุกข์มาก หนูกลุ้มใจ กลัวตกนรก แต่จะปล่อยให้ว่ามันไม่ใช่เรา แล้วปล่อยให้ไปคิดเรื่อยๆ จนเป็นเอง (เห็นไหม เขาว่า) หนูก็ทนไม่ไหว เพราะคิดแต่สิ่งที่มันแรงมาก น่าอายที่สุด หนูควรจะทำอย่างไรดีคะ แล้วที่วัดนั้นก็เป็นวัดที่...

หนูกลุ้มใจมากไม่กล้าไปวัดอีก ทั้งๆ ที่สถานที่ปฏิบัติธรรมที่ถูกจริตนิสัยมาก หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านก็ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หนูจะทำอย่างไรดีคะ

หลวงพ่อ : เวรกรรมของคน เห็นไหม ไปเจอสถานที่ดี ไปเจอพระดี ไปเจอทุกอย่างดีหมดเลย แต่จิตใจกลับมาคิดอย่างนี้ มีอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งก็คือเรื่องของกิเลส อีกอย่างหนึ่งก็เรื่องเวรกรรม คำว่าเวรกรรมนะ ถ้ากรรมของคนมันมีเวรมีกรรมต่อกัน ถึงเวลาแล้วมันจะออกผล อันนั้นเราต้องให้ห่างไว้

เพราะเรื่องของกรรมนี่สู้กันยากนะ เพราะพระเรา เห็นไหม อย่างเช่นหลวงปู่มั่นที่ตอนอยู่ทางมูเซอ มีพระมาปฏิบัติด้วย แล้วปฏิบัติอยู่ในป่าในเขามันจะมีใคร? วันนั้นไปสรงน้ำ ไปเจอพวกมูเซอผู้หญิงทีเดียวเท่านั้นแหละ ไม่เคยเจอกันเลย เจอทีเดียว หลวงปู่มั่นท่านรู้นะ ท่านบอกว่าไม่ต้องไปบิณฑบาตแล้วนะ ให้ภาวนาเลย

ทีนี้ในลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ก็รู้ว่าถ้าหลวงปู่มั่นพูดอย่างนี้แสดงว่าพระองค์นั้นต้องมีอะไรพิเศษ ทุกคนก็ว่าพระองค์นี้กำลังจะเป็นพระอรหันต์ไง ต้องภาวนาเก่งมาก อู๋ย.. สุดยอดเลย ก็ไปแอบถามพระองค์นั้นว่า

“ท่านภาวนาอย่างไร? ดีขนาดไหน?”

“ดีอะไร? กำลังจะตายอยู่นี่”

“ทำไมจะตายล่ะ?”

“อ้าว.. ก็ไปอาบน้ำเมื่อวาน ไม่ได้ไปด้วยกันหรือ?”

“ไป”

“เห็นผู้หญิงเดินผ่านมาไหม?”

“เห็น”

“เห็นทีเดียวนั่นล่ะภาวนาไม่ลงเลย”

จนสุดท้ายหลวงปู่มั่นท่านรู้ว่าแรงมาก แรงมากท่านบอกว่าให้กลับซะ คือให้ลงกลับมาเมือง เดินจากภูเขาลงมา นี่กรรมมันให้ผลแปลกมาก เขาบอกว่าธรรมดาของพวกชนเผ่า พวกผู้หญิงเขาไม่ค่อยให้ไปไหน เพราะว่าธรรมดาพวกนี้เขาจะรักษาดูแลของเขา ฉะนั้น วันนั้นมันก็บังเอิญ ผู้หญิงนี่ก็ลาจากที่หมู่บ้านเขาลงไปเยี่ยมญาติข้างล่างเหมือนกัน ไปเจอกันพอดี สึกไปเลยน่ะ

นี่ไงพูดถึงเรื่องของกรรม เรื่องของกิเลสนะ ถ้าเรื่องของกิเลสที่เพื่อนแนะนำนี่ถูก ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสใช่ไหม? เราก็ต้องดูสิว่ามันไม่ใช่เรา มันสักแต่ว่า ความคิดนี่มันไม่ใช่เรา เอาปัญญาสู้มัน เออ.. ถ้าอย่างนี้เรื่องของกิเลส แต่ถ้ามันเรื่องกรรมนะห่างๆ เลย เราห่างของเราไว้ เราห่างของเราไว้ก่อน ถ้าเป็นเรื่องกรรมนะ

ถ้าเป็นเรื่องกรรมมันก็เป็นความเผาไหม้ในใจเรา ท่านจะรู้กับเราหรือไม่รู้กับเรา ท่านเป็นอาจารย์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แล้ววัดท่านนี่ ถ้าท่านไประดับนั้นแล้ว ท่านก็ต้องใช้ชีวิตของท่านไปอย่างนั้น แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องกรรมของเรามันก็จะเผาไหม้ใจของเรา ท่านรู้กับเราไหม? ท่านไม่รู้กับเรานะ มันเผาไหม้ใจเรานะ ถ้ามันเผาไหม้ใจเรานี่เราห่างๆ ไว้ ดับไฟในใจเราก่อน ดับไฟในใจเราให้ได้

ถ้าเรื่องของกรรมนะ เรื่องของกรรมมันเป็นกรรมเก่าคืออดีตชาติมา แต่ในปัจจุบันนี้ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ท่านเป็นที่พึ่งของสังคม เราก็ไม่ควรจะไปทำอย่างนั้น ก็ปล่อยท่านไป แต่เราต้องรักษาใจเราไง ต้องรักษาใจเรา ถ้ารักษาใจเรานี่เราจะรักษาใจอย่างไร? รักษาใจก็ต้องทรมานมัน ทรมานมัน เพราะว่ากรณีอย่างนี้..

นี่เราพูดด้วยความเคารพ เราเคารพครูบาอาจารย์เราจริงๆ นะ เราไม่เคยลบหลู่ครูบาอาจารย์เราเลยแหละ แต่ทีนี้มันเป็นคติธรรม อย่างเช่นหลวงปู่ฝั้น เห็นไหม ที่ท่านเล่าหลวงปู่ฝั้นที่ว่าปี ๒๔๗๕ ท่านลงมาฉลองกรุง ๑๕๐ ปี พระมหาปิ่นกับหลวงปู่สิงห์ แล้วหลวงปู่ฝั้นท่านเป็นพระอันดับสุดท้าย ท่านบอกว่าท่านมาล้างบาตร มาฉันที่วัดบวรฯ ท่านจะมีบาตร ๓ ใบ บาตรของหลวงปู่สิงห์ บาตรของพระมหาปิ่น แล้วบาตรของท่าน

เวลาออกบิณฑบาตท่านจะคล้องบาตร ๓ ใบ แล้วพอออกไปแล้วท่านจะเอาบาตรให้หลวงปู่สิงห์ ให้พระมหาปิ่นแล้วท่านเดินท้าย แล้วกลับมาท่านก็มาฉัน ฉันแล้วท่านเป็นคนล้างบาตร วันนั้นเอาบาตร ๓ บาตรจะไปล้างบาตร ไปเจอสวนกันในวัดบวรฯ ปิ๊ง! ทีนี้หลวงปู่สิงห์ท่านเป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หลวงปู่สิงห์ท่านบอกว่าให้เข้าวัดบวรฯ

นี่ครูบาอาจารย์เล่ากันมานะ ท่านเข้าวัดบวรฯ เข้าไปในโบสถ์แล้วปิดโบสถ์เลย อดอาหาร “รักไหม?” “รัก” ไม่กิน วันที่ ๑ นะ

วันที่ ๒ “รักไหม?” “รัก” ไม่กิน

วันที่ ๓ “รัก” ก็ไม่กิน

วันที่ ๔ “รัก” ก็ไม่กิน

พอเข้าวันที่ ๗ นะ “รักไหม?” “ไม่รักน่ะ”

๗ วันไม่ได้กินข้าว ๗ วันรักไม่ไหวแล้ว มันหมดอาลัยตายอยากแล้ว ท่านแก้ของท่าน เห็นไหม มันไม่มีเหตุมีผลนะ ไม่เคยเจอกัน หลวงปู่ฝั้นท่านอยู่พนานิคม แล้วท่านมากรุงเทพฯ นี่คนมันเคยเจอหน้ากันที่ไหน? มาจากไหนก็ไม่รู้ มาเดินสวนกันที่วัดบวรฯ ทีเดียวเอง ไม่เคยรู้จักกัน ไม่เคยเห็นหน้ากันเลย แต่ปิ๊ง! เดียวฟ้ามันผ่ากลางหัวใจ แต่นี้เพราะหลวงปู่สิงห์กับพระมหาปิ่นท่านฉลาดใช่ไหม ท่านก็ให้เข้าโบสถ์แล้วปิดโบสถ์เลย รักไหม? รักไม่กิน รักไม่กินอยู่อย่างนั้นแหละ จนไม่กินก็ไม่ไหว

นี่พูดถึงกรรมเก่ามันก็มีของมันนะ เราก็ต้องแก้ของเรา กรรมเก่าคือมันฝังมาในใจ มันถูกต้อง ชอบธรรม ดีงามไปหมดเลย แล้วใครพูดก็ไม่เชื่อ ใครสอน ใครบอกก็ไม่เชื่อนะ นี่ถ้ากรณีอย่างนี้มันก็.. พูดถึงคุณธรรม ศีลธรรมมันก็ผิด ถูก ผิดทั้งนั้นแหละ ท่านเป็นพระ คิดอะไรก็ผิดไปหมดแหละ แล้วบอกมันเชื่อไหมล่ะ? บอกมันสิ บอกมัน บอกหัวใจตัวเอง บอกว่าเราคิดผิด มันเชื่อไหม? มันเชื่อหรือเปล่า? (หัวเราะ)

นี่เรื่องของกรรม.. เราก็รู้กันอยู่ ศีลธรรมมันก็ผิดทั้งนั้นแหละ แต่มันเชื่อไหมล่ะ? มันไม่เชื่อ มันไม่เชื่อก็แก้ไป นี่เรื่องของกรรมนะ ถ้าเรื่องของกรรมนี่แก้เอา ทีนี้เขาบอกว่าเขาก็หวังดี ให้หลวงพ่อช่วยที โอ้โฮ.. หลวงพ่อนี่ต้องแบกรับภาระไปหมดเลยเนาะ เขาบอกว่า “หนูทำอย่างไรดีคะ ให้หลวงพ่อช่วยเมตตา” เห็นไหม

ถาม : ถ้าหลวงพ่อท่านสามารถอ่านใจหนูได้ ท่านจะให้อภัยหนูไหม?

หลวงพ่อ : เราค่อยๆ แก้ไขไป เราแก้ไขของเราไปเนาะ แก้ไขนะ เพราะคนเรามันมีที่มาที่ไปของคนแตกต่างกันเยอะมาก

ขออีกข้อหนึ่ง ข้อ ๖๓๑. นะ

ถาม : ๖๓๑. เรื่อง “สอนผิดหรือถูก”

หลวงพ่อ : อันนี้ถ้าใครมีปัญหาช่วยพูดด้วยนะ ช่วยพูดด้วยเพราะเราไม่รู้เรื่อง นี่สังคมเราไม่รู้

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยจิตคารวะครับ กระผมได้ดูรายการทีวีรายการหนึ่ง คนที่พูดคือฆราวาสคนหนึ่ง ประมาณว่าสอนวิปัสสนา เขาเรียกว่า “ฝึกสิ้นความคิด” ฝึกของเขาคือการย้ายฐานความคิดก่อน มีบ้าน ๓ หลัง บ้านความคิด บ้านใจ บ้านร่างกาย ตอนนี้บ้านความคิดกับบ้านใจทับซ้อนกัน แล้วเราชอบอยู่บ้านไหน? อยู่บ้านความคิด ทำอย่างไรถึงจะเห็นคู่นี้ได้ก็จะต้องออกจากบ้านนี้ก่อน ถ้าคุณขับรถสปอร์ต คุณไม่เคยเห็นรถสปอร์ตเลย คุณจะต้องออกมาจาก แล้วคุณจะเห็นตัวเอง แต่มันก็ยากนะ

ทีนี้ถ้าอยากเห็นความคิดกับจิตของตัวเอง คืออารมณ์นะ.. จิตคืออารมณ์ อธิบายง่ายๆ ก็ไม่ค่อยถูกเท่าไร จิตกับความคิดนี้ที่อยากเห็นต้องออกมาอยู่ที่บ้านกาย พอเห็นคู่นี้น่าจะหมายถึงความคิดกับบ้านใจ คุณจะสปีดให้มันแยกของมันได้ แค่นี้แหละนิพพานก็จบแล้ว ง่ายๆ แค่นี้

หลวงพ่อ : ในรายการทีวีมีไหม? ใครดูบ้างเนี่ย? นี่เขาดูทีวีมาแล้วมาถาม เพราะเขาสอนทางทีวี

ถาม : เด็กวิศวะฯ ทำไมถึงปั่นปากกา ถ้าทำข้อสอบไม่ได้เขาก็ปั่นปากกากัน เอาดินสอมาใส่มือแล้วหมุนๆๆ เพื่ออะไร? เพื่อให้ความวุ่นวายอยู่กับกาย กายคือเนื้อหนัง รู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับกาย พอกายมันรู้กับกายปั๊บ ไอ้ความคิดมันก็จะผ่อนคลาย

พิธีกรถามว่า “นี่คือการกัดฟันเวลาเจ็บหรือเปล่า?”

ตอบว่า “ถูกต้อง นี่ย้ายที่ไง เพราะฉะนั้นการเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิไม่ใช่นั่งพุทโธ พุทโธ โง่ตายห่าสิ หลวงตาบัวท่านก็พูดอย่างนี้ การพุทโธ พุทโธเพื่ออะไร? เพื่อให้อยู่กับกาย กายคือจมูก พอรู้ว่ากายมากๆ เมื่อมีความคิดก็แว็บเข้ามาก่อนใช่ไหม?”

กระผมมีข้อสงสัยว่าเขาสอนถูกหรือสอนผิดตามอริยสัจ ความจริงเป็นความจริงหรือเปล่า ขอหลวงพ่อเมตตาช่วยแก้ไขด้วยครับ นิพพานอะไรง่ายอย่างนั้น (เขาเขียนไว้นะ)

หลวงพ่อ : ในรายการทีวี โอ้โฮ.. เราก็ไม่รู้เรื่องเนาะ แต่ถ้าเราฟังทีแรก เราฟังอย่างนี้ปั๊บเราไม่สนใจเลย เป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ที่ว่านี่บ้านกาย บ้านความคิด เห็นไหม แล้วก็บอกว่าความคิดกับอารมณ์ พอมันหมุน มันสปีด มันเหมือนกัน พอเหมือนกันปั๊บมันก็ฟรีหมด มันก็นิพพาน.. ถ้ามันเป็นสมาธิมันจะเป็นนิพพานไหม? ถ้าเป็นสมาธิก็เป็นสมาธิ แล้วนี่มันเป็นอะไร?

นี่ตอนนี้นะ เวลาการปฏิบัติมันเฟื่องฟู พอเฟื่องฟู คนนี่มันมีตรรกะ มันคิดอย่างไรมันก็ว่าของมันไป มันว่าเพราะอะไรล่ะ? อย่างเช่นเด็กๆ เห็นไหม ทำอะไรถูกใจ โอ้โฮ.. เด็กมันจะกระโดดเต้นตัวลอยเลย เด็กนี่เต้นตัวลอยเลย

นี่ก็เหมือนกัน พอเรามีความคิดอะไร พอความคิดมันปิ๊งหน่อยเดียวมันก็สบาย แล้วเขาก็บอกว่านี่คือนิพพาน นิพพานสิก็เป็นความสุขไง พอเอ็งมีความสุขเอ็งก็นิพพานไง ก็กูสปีดความคิดให้มันเท่ากัน พอเสมอกันแล้วมันก็ดีใจใช่ไหม? พอดีใจมันก็เหมือนเด็ก เด็กนี่พอมันทำอะไรถูกใจมันก็โอ้โฮ.. กระโดดตัวลอย ตัวลอยเลย มันมีความสุขมาก

นี่นิพพานของเด็กๆ ไง นิพพานของเด็กมันกระโดดตัวลอย โธ่.. ไร้สาระ มันไร้สาระมาก เพราะว่าสามเณร ๗ ขวบ สามเณรในสมัยพุทธกาล สามเณร ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ พระไตรปิฎกเขียนไว้ชัดเจนเลย สามเณร ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์เพราะเหตุใด? สามเณร ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์เพราะสามเณรตามพระสารีบุตรไปบิณฑบาต พอบิณฑบาตปั๊บมันก็เหมือนกับโปฐิละๆ เนี่ย

โปฐิละนี่ไปหาสามเณร สามเณรบอกว่าอยากได้น้ำ อยากได้ไม้ อยากได้ไม้ไผ่ ให้ไปเอาไม้ไผ่ก็จะไป อยากได้น้ำ พอลงไป แล้วห่มผ้าไป บอกว่าไม่เอาแล้วเราเปลี่ยนแล้ว แล้วก็บอกว่า ฟังนะ! “เหมือนกับร่างกายนี่มันเหมือนจอมปลวก จอมปลวกมีเหี้ยอยู่ตัวหนึ่ง ให้ปิดรูทั้ง ๕ เหลือไว้รูหนึ่งคือรูหัวใจ แล้วคอยจับเหี้ยตัวนั้น จับเหี้ยนั้น แล้วเอาเหี้ยตัวนั้นมาพิจารณา”

สามเณร ๗ ขวบจะเป็นพระอรหันต์ เดินตามพระสารีบุตรไปบิณฑบาต เดินตามพระสารีบุตร นี่ปัญญามันเหมือนเหี้ยตัวหนึ่ง จับเหี้ยตัวหนึ่งแล้วปัญญามันจะหมุน แบบว่าสามเณรนี่ได้การฝึกฝนมาจากพระสารีบุตร ทีนี้พอไปบิณฑบาตเห็นนายช่างเขาดัดคันศร สามเณรก็ถามพระสารีบุตร

“คันศรมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต”

“ไม่มี”

สามเณรก็คิดต่อ เห็นไหม ปัญญามันจะหมุนนะ โอ้โฮ.. มันไม่มีชีวิตนะเขายังดัดให้ตรงได้ แล้วจิตเราทำไมมันดัดตรงไม่ได้ นี่ไง มันจะเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็นพระอรหันต์มันต้องมีเหตุผล มันต้องมีปัญญา

แล้วมีอีกองค์หนึ่งตามพระสารีบุตรไปบิณฑบาตเหมือนกัน นี่พอบิณฑบาตเห็นเขาชักน้ำเข้านา ถามพระสารีบุตรว่า

“ชักน้ำเข้านา น้ำมีชีวิตไหม? น้ำมีชีวิตไหม?”

เด็กไม่รู้ เด็กนะมันถามว่า “น้ำมีชีวิตไหม?”

“ไม่มี”

น้ำไม่มีชีวิตเขายังชักเข้านาได้ เขายังเอาน้ำมาเป็นประโยชน์ได้ แล้วใจเราทำไมเอาเป็นประโยชน์ไม่ได้ มันต้องมีปัญญา ปัญญานี่มันจะเกิดนะ อย่างเช่นโปฐิละนี่ปิดนะ ปิดรูจอมปลวกนี่ปิดให้หมด เหลือไว้รูหนึ่งเพื่อจับเหี้ยตัวนั้น จับเหี้ยคือจับจิต จับจิตแล้ววิปัสสนา จับเหี้ยแล้วมาพิจารณา

นี่มันเหมือนกับในพระไตรปิฎกที่พระไปถามพระพุทธเจ้า ปัญญากำลังหมุนเต็มที่เลย พอไปถึงพระพุทธเจ้าฝนตก เห็นไหม พอฝนตกน้ำก็เจ่อนองไปหมดเลย พอเจ่อนองนี่ น้ำจากหลังคามันตกลงไปมันก็เป็นต่อม เป็นฟอง เป็นฟองแล้วมันก็แตก นี่ไตรลักษณ์ไง พั่บ! พั่บ!

เราเห็นฝนตกทุกวัน ฝนตกทุกวันมึงไปเพ่งฝนเลย เพ่งเลย เพ่งให้เป็นพระอรหันต์ มึงไปเพ่งกัน มึงไปนั่งดูนะ ฝนตกมึงไปนั่ง ถ้าฝนตกมึงจะเป็นพระอรหันต์หมดเลย ไปนั่งดูให้ดี นั่งดูให้ดี แล้วมันเป็นไหมล่ะ? ไม่เป็น

ความพร้อมของใจเราไม่มี ความพร้อมของใจ มรรคญาณที่มันหมุนนี่เรายังไม่เกิด ความพร้อมของใจเราต้องมีสมาธิ พอเกิดสมาธิแล้วเกิดปัญญา นี้ปัญญากับสมาธิมันกำลังใคร่ครวญ มันกำลังต่อสู้กัน พอต่อสู้นี่มันเกิดความอัดอั้นตันใจ อู้ฮู.. ต่อสู้เต็มที่เลยแล้วมันทุกข์มาก ใครช่วยทีก็จะไปหาครูบาอาจารย์แก้ ทีนี้พอไปหาครูบาอาจารย์แก้ จิตนี่มันแบบว่าสัมปยุตกันเต็มที่แล้ว มรรคญาณมันต่อสู้กันเต็มที่แล้ว ต่อสู้กันจนเราสู้ไม่ไหว เราสู้ได้เต็มที่ไง อยากหาพี่เลี้ยง อยากหาคนช่วย พอไปหาคนช่วยก็ไปถามพระพุทธเจ้า ใจมันไปถามพระพุทธเจ้าใช่ไหม? แต่พอเต็มที่มันเห็นจุดและต่อม พั่บๆๆๆ นี่ปิ๊ง! เป็นพระอรหันต์ ไม่ขึ้น กลับเลย

นี่สามเณร ๗ ขวบ โปฐิละ นี่มันต้องมีครูบาอาจารย์แบบว่าตรวจสอบแล้วควบคุม ดูแล ฝึกฝน อุ้มชูมา ครูบาอาจารย์อุ้มชูมานะ ดูแล ตรวจสอบแล้วอุ้มชูมา อุ้มชูมาแต่มันยังไปไม่ได้ มันยังไม่ถึงที่สุด แต่พอไปเจอเหตุการณ์กระทบ ปิ๊ง! ผลัวะเลย พอผลัวะก็พระอรหันต์ไง

เขาบอกว่า “จากบ้านหลังหนึ่ง ไปอีกบ้านหลังหนึ่ง แล้วสปีดให้มันทันกัน” โอ้โฮ.. กูปวดหัว กูก็เลยปวดหัว ไร้สาระน่ะ สอนผิด สอนถูก เราไปคิดเอาเอง ถ้ามันเป็นความจริงเขาจะรู้นะ เขาจะรู้ถึงการปฏิบัติ เขาจะรู้ แล้วเขาจะเห็นถึงประโยชน์ไง

ถ้าคนปฏิบัติเป็นนี่เหมือนหมอ หมอนี่นะ เวลาเขาไปไหน อาหารการกินของเขา เขาจะเลือก เขารู้ว่าอาหารประเภทนี้กินเข้าไปแล้วจะเกิดโรคนั้น พวกหมอจะกินอะไรนี่แหม.. ระวังเต็มที่เลย มันจะให้โทษทั้งนั้นแหละ ไม่กล้ากินทั้งนั้นเลย เพราะเขารู้ เขารู้ว่านี่มันจะให้ผลไม่ดีกับร่างกายอย่างนั้นๆๆ กินอาหารอย่างนี้จะเป็นโทษอย่างนั้นๆๆ

พระที่ปฏิบัติเป็น เขาจะรู้ว่าศีล สมาธิ ปัญญามันมีคุณค่าแค่ไหน คุณค่าของศีลเพื่อความปกติของใจ เพื่อพื้นฐาน เพื่อหลักของการภาวนา เห็นไหม ดูสิหลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่น ว่าหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ เก็บเล็กผสมน้อย ไม่ยอมนะอะไรผิดเล็กผิดน้อยนี่ไม่ได้ ไม่ได้เลย แล้วท่านเป็นใคร?

หลวงปู่มั่นเป็นอะไร? เป็นพระอรหันต์ ทำไมท่านเก็บเล็กผสมน้อย นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ ใครไปอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นต้องคอยควบคุม ไปอยู่กับหลวงตานี่ผิดก็หงายท้องน่ะ หงายท้องเลย เพราะอะไร? นี่ไงเหมือนหมอ มันผิดน่ะ พอมันผิดทุกวันๆ ผิดซ้ำ ผิดซาก แล้วจะไปไหนกันล่ะ? จะปฏิบัติอะไรกัน แต่ถ้าเราทำให้เราดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้น เห็นไหม นี่ครูบาอาจารย์เราเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์เขาจะเข้าใจเรื่องนี้ ถึงครูบาอาจารย์ท่านสิ้นแล้ว ก็ท่านสิ้นแล้วก็จบ เป็นสติวินัย ไม่มีความผิด ไม่มีสิ่งใดเลย แต่ท่านเป็นอาจารย์ของเรา ท่านจะสอนพวกเรา ท่านจะสอนผู้ฝึกหัดใหม่ ท่านจะเป็นคติ เป็นแบบอย่าง ให้พวกเราถือท่านเป็นแบบอย่าง แล้วพัฒนาขึ้นไปเพื่อประโยชน์กับเราไง

นี่ไงเวลาพระพุทธเจ้าถามพระกัสสปะ “กัสสปะเอย เธอก็เป็นพระอรหันต์ อายุก็ปานเรา ๘๐ ปีแล้ว ทำไมยังต้องถือธุดงควัตรอีก”

พระกัสสปะบอกว่า “ข้าพเจ้าถือเพื่อเป็นคติให้กับอนุชนรุ่นหลัง”

อนุชนรุ่นหลังก็พวกเรานี่ไง ได้มีคติ ได้มีแบบอย่าง ท่านไม่ได้ทำเพื่อท่าน ท่านเป็นพระอรหันต์ แต่ท่านเสียสละเพื่ออนุชนรุ่นหลัง ให้พวกเรานี่แหละ

หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ท่านทำเพื่อใคร? ท่านทำเพื่อพวกเรานี่แหละ แต่เราก็บอกว่าท่านลำเอียง ท่านไม่รัก เออ.. เวรกรรมเนาะ แต่ถ้าเราเข้าใจถึงหัวใจของท่าน เข้าใจถึงความเมตตาของท่าน หาคนอย่างนี้จะหาที่ไหน? การได้เกิดร่วมสมัยกับครูบาอาจารย์นี่บุญกุศลมหาศาลแล้ว สมัยพุทธกาลนะ ไอ้พวกที่เขาไม่เชื่อเขาเดินสวนพระพุทธเจ้า ถามว่า

“ไปเรียนกับใครมา?”

“เราสยมภูตรัสรู้เองโดยชอบ”

เขาส่ายหน้า บรื๊อ.. ในปัจจุบันนี้เราเกิดร่วมครูบาอาจารย์น่ะ แล้วเราทำอะไรกันอยู่? มันก็เหมือนกับที่เดินสวนพระพุทธเจ้าแล้วก็ บรื๊อ.. นั่นแหละ

เราเกิดมาแล้วเราจะได้ประโยชน์อะไร? นี่คิดอย่างนี้แล้วนะ ย้อนถึงว่าชีวิตเรามีคุณค่าไหม? ย้อนกลับมาชีวิตเรานี่ เราเกิดมา เราได้พบคุณความดีอย่างนี้แล้วเราจะเอาหรือไม่เอา นี่คิดอย่างนี้แล้วมันก็คิดมาถึงหัวใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง