ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ผู้นำเป็นสัปปายะ

๒ ต.ค. ๒๕๕๔

 

ผู้นำเป็นสัปปายะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๖๓๒. ไม่มีใช่ไหม มันข้อ ๖๓๓.

ถาม : ๖๓๓. เรื่อง “จิตยากแท้หยั่งถึง”

หลวงพ่อ : คำถามเขานะ ชื่อเขาตั้งมาเอง “จิตยากแท้หยั่งถึง” เขาถามเลย..

ถาม : ๑. จิตที่ไม่มีความผูกพันกับบุคคล สถานที่ สิ่งของ ถือว่าเป็นจิตที่ฝึกมาแล้วหรือเปล่าคะ หรือเป็นแค่เพราะเป็นบุคคลนั้น สถานที่นั้น สิ่งของนั้น จิตนั้นจึงไม่มีความผูกพัน

๒. ตอนนี้ทางโลกเขามีศาสตร์ที่ให้เราคิดๆๆๆ บอกกับตัวเองว่า

“ไม่ต้องการอะไร ต้องการเป็นอะไร และเราอยากได้อย่างไร”

หนูอ่านมาเยอะแล้ว ในความรู้สึกของหนู เขายังไม่รู้จักกระบวนการการทำงานของจิตอย่างแท้จริง (หนูไม่รู้จริง แต่อ่านแล้วเรารู้ว่ามันขัดกับคำสอนของครูบาอาจารย์และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) แล้วถ้าเราต้องการสร้างความสำเร็จในการทำงาน นอกจากอิทธิบาท ๔ และความเพียรแล้ว เรามีวิธีจะใช้พลังงานของจิตในการสร้างความสำเร็จในหน้าที่การงานไหมคะ

หนูก็พิจารณาดูใจตัวเองตลอด ก็เห็นความรู้สึกอยู่ แต่ก็มีสิ่งที่ไม่เข้าใจการทำงานของมัน รู้ว่ามันต้องรู้สึกบางอย่างอยู่อาการจึงออกมาอย่างนี้ บางทีก็รู้ว่ามันรู้สึกอย่างนี้ แต่ก็อ้าง ทำไมล่ะ? ก็ค้นคว้ารู้บ้าง ไม่รู้บ้าง อย่างนี้ถือว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือเปล่าคะ ขอความกรุณาหลวงพ่อตอบด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงข้ออิทธิบาท ๔ นี่ก็หน้าที่การงาน การทำงาน อิทธิบาท ๔ นี่เป็นหลักของการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม จิตตะ วิมังสา มีความพอใจ มีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ ผู้ใดมีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็ได้ แต่เป็นอิทธิบาท ๔ ของพระอรหันต์ แต่เรามีอิทธิบาท ๔ ของเรา มันเอาไปใช้ในหน้าที่การงาน มันยังมีความผูกพันอยู่

ฉะนั้น นี่คือความสงสัย แต่เริ่มต้นจากตรงนี้ก่อน ข้อที่ ๑.

ถาม : ๑. จิตที่ไม่มีความผูกพันกับบุคคล สถานที่ สิ่งของ ถือว่าเป็นจิตที่ฝึกมาดีแล้วหรือเปล่าคะ หรือเป็นแค่เพราะเป็นบุคคลคนนั้น สถานที่นั้น

หลวงพ่อ : นี่เวลาพูด ถ้าเป็นอภิธรรมนะ อภิธรรมเขาเถียงกันอยู่ เขาเถียงว่าสิ่งเกี่ยวเนื่องเป็นปรมัตถ์ คำว่าปรมัตถ์ของเขา คำว่าปรมัตถ์คือสิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่มันสะอาดบริสุทธิ์คือว่าเป็นปรมัตถ์ แต่อารมณ์ความรู้สึกมันเป็นปรมัตถ์หรือเปล่าล่ะ? อารมณ์ความรู้สึกนี่นะมันมีกิเลสทั้งนั้นแหละถ้ามันเป็นปุถุชน

นี่มันเป็นกิเลส ถ้าเป็นปุถุชนมันเป็นอารมณ์ความรู้สึก มันเป็นการแสดงออก มันเป็นอนุสัย เป็นเครื่องให้กิเลสมันใช้สิ่งนี้ออกไปบีบบี้สีไฟใจเรา แล้วบอกว่าเป็นปรมัตถ์ๆ นี่ในภาคปริยัติ ปฏิบัติไง ถ้าปริยัติเขาศึกษาแล้วว่าเป็นปรมัตถ์ เห็นไหม สิ่งที่อารมณ์ความรู้สึก ขันธ์ สิ่งที่เป็นบัญญัติ ขันธ์ ๕ ทุกอย่างเป็นปรมัตถ์ เขาว่าอย่างนั้นนะ แล้วมันเป็นปรมัตถ์แล้ว เวลาพูดแล้วต้องพูดปรมัตถ์ ต้องพูดเป็นโลกไม่ได้ แล้วเราบอกเป็นสมมุติ เขาบอกสมมุติไม่ได้เลย ถ้าสมมุตินี่มันมีปัญหาขึ้นมาเลย

มันเป็นสมมุติ สมมุติบัญญัติ พอสมมุติบัญญัติ คำว่าสมมุติมันไม่จริงแท้ แล้วขันธ์ ๕ เป็นจริงแท้ไหม? เขาว่าจริงแท้ สัญญาคือสัญญา ทุกอย่างเป็นสัญญา เห็นไหม ฉะนั้น พอแยกขาด เขาบอกแยกขาดไม่ได้ แยกขาดมันยิ่งขาดไป แล้วขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่มันแยกหรือไม่แยกล่ะ?

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ เปลือกไข่กับไข่เป็นอันเดียวกันหรือเปล่าล่ะ? เปลือกไข่กับไข่นี่เป็นชิ้นเดียวกันไหม? นี่มันก็ไม่ใช่ มันไม่ใช่หรอก เปลือกก็คือเปลือก ไข่ก็คือไข่ แต่มันก็มาในไข่นั่นล่ะ ความคิดกับจิตมันก็ไม่ใช่อันเดียวกัน แต่มันเกี่ยวเนื่องกัน มันก็เหมือนเปลือกไข่ ถ้าไข่ไม่มีเปลือกมันจะเป็นไข่ไหมล่ะ? ไข่ก็ต้องมีเปลือก

นี่ก็เหมือนกัน นี่ถ้าไม่มีความคิด จิตมันแสดงออกอย่างไร? ถ้าเราไม่มีความรู้สึก เราจะรับรู้สึกตัวเราได้อย่างไร? มันก็ต้องมีความรู้สึก ทีนี้ความรู้สึกเขาบอกว่าความรู้สึกมันเป็นปรมัตถ์ อ้าว! งงเลย แล้วพอพูดอย่างนั้นไป แล้วมันแบบว่าเวลาปริยัติ ก็ยอมรับว่าปริยัติพูดอย่างนั้นจริงๆ เพราะว่านี่มันอยู่ในตำรา ใครเถียงไม่ได้หรอก ตำราก็คือตำรา แต่ตำรา เห็นไหม

นี่เวลาเราปฏิบัติ ถ้าเราไม่มีความรู้ ไม่มีปัญญาที่เราแยกแยะสิ่งนั้นได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือเนื้อหาสาระ นี่คือข้อเท็จจริง ตำราเป็นทฤษฎี แต่เวลาข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น ถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นเราเห็นไง เราเห็น เรารู้ เห็นไหม พอเราเห็น เรารู้มันเกี่ยวเนื่องกัน แต่เวลามันเกิดดับมันเหมือนกับควันไฟกับไฟ ควันไฟมันขึ้นจากเปลวไฟ พอมันเป็นควันขึ้นมาก็ลอยขึ้นไป ไฟก็คือไฟ ควันไฟกับไฟ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าถ้ามันเป็นอย่างนั้น ความคิดอย่างนั้น อย่างเช่นเมื่อวานที่บอกว่า

“ความรู้สึก ความนึกคิดนี่สปีดให้มันเท่ากัน มันก็เป็นนิพพาน ก็จบแค่นั้นเอง”

สปีดไม่เท่ากันแล้วมันเหลืออะไรต่อล่ะ? ถ้าสปีดไม่เท่ากันนะ เราคิดในแง่บวกนะ ถ้าสปีดความรู้สึก ความนึกคิดไปเสมอกัน มันก็สมาธิไง ถ้าสปีดไปเท่ากันก็คือว่าง คือปล่อย ถ้าสมาธิแก้กิเลสได้ไหม? ไม่ได้.. สมาธิแก้กิเลสไม่ได้หรอก แต่พอมันสปีดไปว่างปั๊บนี่มันเป็นปัจจุบันแล้ว แบบว่ามันไม่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งใด เห็นไหม พอไม่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งใด แล้วจะออกรู้เป็นปัญญาอย่างไร? ออกรู้มันก็ใช้ปัญญาออกไปอีก มันก็ออกจากความสปีดนั้นไป

นี่เพราะคำว่าถ้าเราไม่ผูกพันในบุคคล เราไม่ผูกพันในสิ่งใด มันก็เป็นวัตถุหรือ? มันเป็นวัตถุ เป็นแร่ธาตุใช่ไหม? เราบอกว่าเช่นตอนนี้เราไม่ผูกพัน สักพักหนึ่งพอมันเสียดายขึ้นมามันผูกพันแล้ว มันเป็นจริงไหมล่ะ? อ้าว! สมมุติเราเข้าใจว่าคนนี้ไม่ใช่ญาติเรา เราก็ปกติ พอบอกคนนี้เขาเป็นญาติเรานะ เขาเป็นลูกเรานะ หา! โอ้โฮ.. ความผูกพันเกิดแล้ว มันเกิดแล้ว เห็นไหม

ความผูกพันอันนี้มันเป็นนามธรรม ฉะนั้น สิ่งที่เป็นวัตถุ เป็นแร่ธาตุมันตั้งของมันอยู่นะ วางซ้อนกันมันยังไม่รับรู้กันเลย ฉะนั้น เวลาสิ่งที่มันวางทับกัน มันซ้อนกัน มันก็ไม่รับรู้กัน แต่จิตเรานะ เวลาที่มันไม่รู้นี่อวิชชา เห็นไหม อวิชชาความไม่รู้ไม่รู้เรื่องธรรมะเลย แต่รู้ในทุกข์ รู้ในตัวมันเอง รู้ในรสไง รสของทุกข์

“รสของธรรม ชนะซึ่งรสทั้งปวง”

รสของสมาธิธรรม รสของปัญญา รสของวิมุตติเวลามันปล่อยมันวาง รสของมันต้องชนะ มันเหนือกว่า มันมีรสชาติดีกว่ามันถึงเปลี่ยนไป แต่รสของความว่าเราไม่ผูกพัน นี่มันมีรสชาติอะไร? แล้วทุกคนจะบอกว่าเป็นอุเบกขา ถ้าคนปฏิบัติใหม่บอกอุเบกขานี่จะเป็นวิมุตติเลยนะ อุเบกขานี้จะสำคัญมาก.. อุเบกขาคือใจมันหัดสั้นเข้ามา เดี๋ยวมันจะเอียง มันจะออกไปนะ

เราจะบอกว่า นี่เขาถามว่า..

ถาม : จิตที่ไม่ผูกพันกับบุคคล สถานที่ ถือว่าเป็นจิตที่ฝึกมาดีแล้วหรือ?

หลวงพ่อ : นี่คำถามมันอยู่ตรงนี้ เราจะตอบตรงนี้ไงตรงที่ว่า “จิตที่ไม่ผูกพันกับบุคคล สถานที่” ถ้าไม่ผูกพันนะ พอเราอยู่กับพ่อแม่มาใช่ไหม? พอเราโตมาเราก็ไม่รู้จักพ่อแม่เรา เพราะเราไม่ผูกพัน เป็นคนดีหรือคนไม่ดี

นี่ก็เหมือนกัน ความผูกพัน ไม่ผูกพันมันเป็นอันหนึ่ง แต่คุณธรรมมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ นี่ความผูกพัน คนผูกพันด้วยความไม่รับรู้ก็ได้.. นี่ถ้าจิตที่ฝึกมาแล้ว ถ้าฝึกมาแล้วนะดูสิพระในสมัยปัจจุบันนี้ จิตที่ฝึกมาแล้วนะ ไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าเลย ทำไมเคารพพระพุทธเจ้าล่ะ?

หลวงตาท่านพูดว่า นี่เวลาท่านคิดถึงหลวงปู่มั่น ท่านบอกท่านเห็นภาพหลวงปู่มั่นไม่ได้เลย มันผูกพันมาก จะยกมือไหว้ เดินมานะ พอเจอรูปหลวงปู่มั่นจะแบบว่าสลดเลย สลดทันที แล้วเวลาจะกราบไหว้นะ ถ้าไม่มีรูปของท่านนะ ท่านบอกท่านนึกเอาแล้วกราบเลย อย่างนี้เป็นความผูกพันไหม?

มันไม่ใช่เป็นความผูกพัน มันเป็นความกตัญญูรู้คุณ เห็นไหม อย่างเช่นในปัจจุบันเราไม่เคยเจอพระพุทธเจ้าเลย เราไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว แต่ทำไมพวกเราเคารพบูชากันล่ะ? อย่างนี้ถือว่าเป็นการติดไหม? ถือว่าเป็นการผูกพันไหม? ผูกพัน ผูกพันในทางที่ดีมันเสียหายตรงไหนล่ะ? ผูกพันในสิ่งที่ดี แต่ถ้าปล่อยวางนี่ปล่อยวางอย่างไร? ปล่อยวาง ถ้าไม่ผูกพันนี่ปล่อยวางอย่างไร? ปล่อยวางมันต้องมีเหตุผลสิ

พ่อแม่ของเราใช่ไหม? นี่พ่อแม่ของเรา เรารักพ่อแม่เราไหม? เรามีความกตัญญูกับพ่อแม่เราไหม? เราก็ต้องดูแลพ่อแม่เราใช่ไหม? เจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ดูแล เราก็รักษา เราก็เลี้ยงดูเขาไปทุกอย่าง ถึงที่สุดพ่อแม่เราต้องจากกันไป นี่เรามีสติปัญญาพร้อมใช่ไหม? เรารับรู้ได้ไง เรารับรู้ได้ เราเข้าใจได้ว่าสิ่งนี้มันต้องพลัดพรากจากกัน

ถ้าพลัดพรากจากกันนี่ เห็นไหม ถ้าไม่ผูกพันเลยก็ไม่รับผิดชอบ ถ้ารับผิดชอบก็จะยึดให้เป็นของเรา มันก็ไม่ใช่ เราต้องรับผิดชอบดูแลของเรา เพราะเรามีโอกาส เพราะพ่อแม่ยังอยู่กับเรา เราทำเต็มที่เลย แต่เวลาพ่อแม่ท่านถึงเวลาท่านต้องหมดอายุขัยไป เราก็ได้ทำหน้าที่เราแล้ว เราก็ไม่ต้องเสียใจจนเกินกว่าเหตุ แต่ว่าเสียใจไหม? เสียใจ ของรักของหวงจากไปใครไม่เสียใจ แต่เราเสียใจ เราฝึกของเรา เราก็มีคุณธรรมของเรา เราเข้าใจได้

เขาถามว่า “ถ้าไม่ผูกพันกับบุคคล สถานที่ ถือว่าเป็นจิตที่ฝึกมาแล้วใช่ไหม?”

โอ้โฮ จะบอกว่าอย่างนั้นเราก็ฝึกมาแล้ว ซื่อบื้อนี่ไม่ผูกพันกับใครเลย อยู่เฉยๆ นี่จิตที่ฝึกมาแล้วนะ เราจะซื่อบื้ออยู่อย่างนี้ ใครก็ไม่รู้จัก ใครก็ไม่รับรู้ อย่างนี้ฝึกมาดีแล้วหรือ? มันก็ไม่ใช่ เห็นไหม นี่ธรรมะมันต้องเข้าใจ เพราะถ้าคำถามอย่างนี้มันถามมา นี่เราบอกอย่างนี้เรื่องโลก โลกคือวิทยาศาสตร์ มองเห็นมุมเดียว หน้าเดียว ต้องพิสูจน์ตรวจสอบอย่างนี้ถึงจะเป็นธรรม แล้วก็ทำให้มันสมบูรณ์ ทำให้มันครบ แล้วก็บอกว่าตัวเองบรรลุธรรมกัน

แต่มันไม่ใช่ เพราะธรรมะนี่มันเหนือโลก นี่มันจะไม่ผูกพัน อย่างเช่นนะ อย่างเช่นคนๆ นี้เป็นคนที่ทำลายสังคมมากเลย แต่เวลาเขาจะเป็นจะตายขึ้นมา เขาต้องการอาหาร เราจะให้อาหารเขาไหม? เราก็ต้องให้อาหารเขา เหมือนหมอเลย หมอนี่นะรักษาทั้งโจร รักษาทั้งคนที่ดีงาม หน้าที่ของหมอนะ จรรยาบรรณของแพทย์ต้องรักษาทุกคน คนเจ็บ คนป่วยจะมาจากไหนก็ต้องรักษา

นี่ก็เหมือนกัน การดำรงชีวิตอยู่ การดำรงชีวิตต้องมีอาหาร ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย เขาจะทุกข์จะยาก เขาจะเป็นคนดีหรือคนเลว ถ้าเขาเกิดทุกข์ยากต่อหน้าเรานี่เราจะเจือจานเขาไหม? เราก็ต้องเจือจานเขา เจือจานเขาแต่เรารู้ว่าคนนี้เป็นโจร คนนี้เป็นคนทำลายคน เราเจือจานเขาแต่เราก็ไม่ชอบเขา ไม่ชอบ ไม่ชอบเขาหรอก เพราะเขาทำลายคนอื่น เขาทำเสียหายไปหมดเลย แต่เราก็ต้องให้อาหารเขา

นี่พูดถึงว่าความผูกพันไง เราบอกว่าถ้าความผูกพัน คนๆ นี้เป็นคนที่ไม่ดี เห็นไหม เราจะไม่ให้อะไรเขาเลยมันก็ไม่ได้ เราไม่ให้ ถ้าพูดถึงให้สิ่งที่ว่ามันเกินเลยก็ไม่ให้ แต่ถ้ามันเป็นความจำเป็น ขาดแคลนในการดำรงชีวิต ไอ้อย่างนี้มันก็เรื่องหนึ่ง

เราจะบอกว่าสิ่งนี้มันยึดเป็นมาตรฐานไม่ได้ ถ้ายึดเป็นมาตรฐานว่านี่ไม่ผูกพันสิ่งใด คนไม่ผูกพันนี่มันหลายเรื่องนะ ไม่ผูกพันโดยที่ว่าวุฒิภาวะของเขารับรู้ได้แค่ไหน? หยาบหรือละเอียด แต่ถ้ายิ่งละเอียดนะ เขาเหมือนไม่ผูกพันแต่ผูกพัน แต่เขาผูกพันแบบไม่ผูกพัน เพราะว่าเขารับรู้ได้ว่าดี ชั่ว แต่เวลาธรรมะมาแสดงตัว เวลาวัฏฏะมันหมุนไป สรรพสิ่งมันเปลี่ยนไป โลกนี้มันพร่องอยู่เป็นนิจ นี่มันรับรู้ได้ แล้วมันปล่อยวางได้ตามความเป็นจริงนั้น แต่ผูกพันไหม? ผูกพัน

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาสะเทือนใจท่านถึงบอกว่า “ธรรมสังเวช” มันเป็นธรรม มันเป็นสภาวธรรม แล้วมันสะเทือนหัวใจ มันสังเวช โลกเป็นแบบนี้ เราอยู่ในสถานะแบบนี้ แล้วเราต้องเปลี่ยนไปตามอย่างนี้ นี่มันสังเวชไง แล้วมันสังเวชไปธรรมะไง ไม่ใช่ว่าโอ๋ย พอคนนี้มีธรรมะในหัวใจแล้ว ทุกอย่างจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลย มันจะคงที่ มันคงที่ที่หัวใจดวงนั้นนะ แต่ผลของวัฏฏะมันจะเปลี่ยนแปลงของมันไป ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงของมันไปไม่มีอะไรคงที่หรอก

ฉะนั้น สิ่งนี้มันต้องดูกันก่อน เพราะว่าบางทีนะเราเห็นอยู่ ครูบาอาจารย์บางองค์มีคนไปเคารพบูชามาก ทำไมล่ะ? ท่านปล่อยวางได้หมด เราก็เคยไปอยู่ด้วยนะ เราไปอยู่ด้วย ในมุมมองของเรานะท่านไม่รู้อะไรเลย แล้วท่านก็ไม่รับรู้อะไรเลย แต่โลกดูว่าปล่อยวางไง อย่างนี้ก็มี เราเจอมาอยู่

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์นี่ต้อง ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ อย่างเช่นหลวงปู่บัว เห็นไหม เวลาท่านเจอหลวงตา หลวงตามหาบัวนี่ เวลาท่านคุยกัน

“อ้าว! พูดมาเลย”

“ขั้นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓” พอที่ ๓ ปั๊บ

“พูดต่อสิ”

“แค่นี้แหละ เข้าใจว่านี่นิพพานแล้ว”

หลวงตาท่านบอก “ว๊าว!” แล้วท่านอธิบายต่อเลย อธิบายต่อ “แล้วคืนนี้ไม่ต้องไปสวดมนต์นะ คืนนี้ให้พิจารณาเลย” ท่านไปสวดมนต์อยู่ พอกลับมาจากสวดมนต์ท่านก็มาพัก พอตี ๔ หลวงปู่บัวมาแล้ว กุกกักๆ ขึ้นมาหา จะมาเปิดกุฏิของท่าน

“ใครน่ะ”

“กระผม ข้าน้อย”

“อ้าว! ว่าอย่างไรล่ะ?”

“โอ้โฮ! พอเมื่อคืนตอนหัวค่ำท่านอาจารย์บอกผม ว่าผมต้องพิจารณาเลย พิจารณาซ้ำไป”

ทั้งๆ ที่คิดว่านี่นิพพานแล้วนะ อ้าว! ขั้นที่ ๑ ผ่าน ถูกต้อง ขั้นที่ ๒ ผ่าน ถูกต้อง ขั้นที่ ๓ ผ่าน ถูกต้อง แต่พูดขั้นที่ ๓ บอก นี่ขั้นที่ ๓ คือนิพพานไง ฮู้! ขึ้นเลยนะ

“ให้พิจารณาอย่างนี้นะ จับให้ได้นะแล้วพิจารณาต่อ”

“เออ.. รู้แล้วๆๆ”

“คืนนี้ไม่ต้องไปสวดมนต์นะ” คืนนี้ไม่ต้องไปสวดมนต์ แล้วท่านจะรับผิดชอบเอง

พอท่านก็ไปสวดมนต์ ครบงานทำบุญ ๑๐๐ วันแม่ของอาจารย์สิงห์ทองที่วัดป่าแก้วชุมพล นั่นก็พิจารณาไป พิจารณาไป พอพิจารณาซ้ำไป ท่านบอกเวลามันลงนะ เพราะติดมานาน ท่านบอกว่าเหมือนกับกุฏิมันยุบตัวลงเลย วูบ! ลงเลย กุฏิมันยุบตัวลง แล้วความรู้สึกนี่บอกว่าขางคานของกุฏิมันขาดลง

ท่านมาอธิบายให้หลวงตาฟัง หลวงตาบอกว่าไม่ใช่หรอก มันเป็นคานของกิเลสที่มันคาไว้ที่ในหัวใจ มันคามาอยู่นาน พอพิจารณาถูกต้องปั๊บมันหักคานของกิเลสทั้งหมด อวิชชาทั้งหมดยุบตัวลง วูบลง วูบลงเลย.. นี่เขาเรียกว่า “ขณะจิต” ที่เวลาหลวงตาว่าขณะใหญ่ ขณะเล็ก ถ้าขณะใหญ่มันสะเทือนรุนแรง ถ้าขณะเล็กนะมันก็ไปปานกลาง ถ้าบางทีมันไปเรียบๆ คือว่ามันไปรับรู้เฉยๆ ไป หายไป นี่เวลาทำลายภพ

นี่ถ้าจะรู้ เห็นไหม ถ้ามีอย่างนั้นน่ะ เออ จิตที่ฝึกมาแล้วเขาจะเป็นอย่างนั้น ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ มันต้องมีเหตุมีผลของมัน ไม่ใช่ว่าซื่อบื้อก็เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์คือไม่รับรู้อะไรเลย ไม่ผูกพันบุคคล ไม่ผูกพันอะไร ก้อนหินก็เป็นพระอรหันต์ ทุกอย่างเป็นพระอรหันต์หมดเลย กราบไหว้ได้หมดเลย มันไม่ผูกพันกับอะไรเลย

ฮึ! ที่พูดนี่พูดเพื่อเป็นหลักไว้ ไม่ให้ไปเชื่อสิ่งใดง่ายๆ ครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นจริง ใครเป็นครูบาอาจารย์ของเรา เป็นพระอริยบุคคล เป็นพระที่แท้จริงเราก็เคารพนับถือ แต่ครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเราท่านจะต้องแก้ไข อย่างเช่นหมอ เวลาคนไข้มา ต้องวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องว่าคนไข้คนนั้นเป็นอะไร? ครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเราติดขัด เราภาวนาแล้วติดขัด ไปหาครูบาอาจารย์เรา ครูบาอาจารย์ควรจะแก้ไขเรา ถ้าแก้ไขเรานั้นคือครูบาอาจารย์ของเรา

เราเอาตรงนั้น เอาตรงที่เวลาครูบาอาจารย์ท่านอธิบายถึงการกระทำ เวลาท่านให้ยาเรา ท่านให้ยา ท่านให้ทุกอย่างให้เราแก้ไข เอาตรงนั้น ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เราก็เคารพ เราก็บูชา เพราะครูบาอาจารย์ของเรามีบุญคุณกับทุกคน เพราะครูบาอาจารย์ของเราเป็นคนเปิดตาเรา ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอนธรรมะเรานี่ เราจะไม่มาศึกษาธรรมะ เราจะไม่เข้าใจเรื่องศาสนา เราจะไม่มาผูกพันกับศาสนา

นี้ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านฝึกเรา ท่านสอนเรา ท่านดึงเราเข้ามาในศาสนา ท่านมีคุณกับเราอยู่แล้วแน่นอน ไม่ต้องไปวิตกวิจารณ์หรอก นี่เราก็ไม่ติดในบุคคล เห็นไหม ไม่ต้องวิตก วิจารณ์ว่าครูบาอาจารย์เราจะดีหรือไม่ดี ท่านดึงเราเข้ามาในศาสนา ท่านมีคุณกับเราอยู่แล้ว นี้ตามข้อเท็จจริงสิ

แต่ว่าจิตที่ฝึกมาแล้ว จิตที่ฝึกมาแล้วนี่ต้องบอกเราได้ จิตที่ฝึกมาแล้วต้องบอกถูก ผิดเราได้ เราปฏิบัติอย่างนี้ผิด อย่างนี้ถูกท่านจะบอกเรา ถึงจะเป็นจิตที่ฝึกมาได้ ที่ฝึกมาดีแล้ว ถ้าเราปฏิบัติผิด ครูบาอาจารย์ก็ซื่อบื้อ เราปฏิบัติถูก ครูบาอาจารย์ก็ซื่อบื้อ อย่างนี้เป็นจิตที่ฝึกมาแล้วไหม?

นี่เอาตรงนี้ เวลาหาครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านแก้ไขเรา ท่านเปลี่ยนแปลงเรา เอาตรงนี้ เอาตรงนี้ แต่ท่านมีคุณกับเราไหม? มี เพราะเราเคารพบูชาท่าน เพราะเราไปทำบุญกับท่าน แล้วท่านดึงเราเข้ามาในศาสนา อันนี้เป็นคุณกับเราไหม? เป็น แต่จิตที่ฝึกมาแล้วจะต้องบอกได้ กล่าวได้ ทำให้เราเจริญได้ พัฒนาเราได้ เอาตรงนี้ นี่พูดแค่นี้

ไม่ใช่บอกว่า “โอ๋ย ถ้าไม่ผูกพันอะไรแล้ว มันได้ฝึกมาแล้ว” มันกำปั้นทุบดินเกินไปนะ แล้วถ้าเกิดเรามีปัญหาอะไรขึ้นมา เราจะดีขึ้น หรือเราจะเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะติด แล้วเราจะยึดมั่น เออ.. ก็เป็นอย่างนี้ อาจารย์ก็เป็นแบบนี้ อาจารย์อยู่โคนไม้ เราก็ต้องอยู่โคนไม้ แล้วเวลาเขาอยู่บนยอดไม้ เขาจะดึงเราขึ้นไปยอดไม้เราไม่ยอมไป เราจะอยู่กับอาจารย์เราที่โคนไม้ เออ ก็แปลกนะ

โคนไม้ใช่ไหม? เขาอยู่บนยอดไม้ เขาจะดึงเราขึ้นยอดไม้ เราก็ไปยอดไม้ ถ้าดึงเราสูงไปเราไปแล้ว เราไม่อยู่หรอกโคนไม้ ใครอยู่ก็อยู่ไปเถอะ เราไปก่อน เพื่อตรงนี้

ถาม : ๒. ตอนนี้ทางโลกเขามีศาสตร์ๆ หนึ่ง เขาให้คิดๆๆ แล้วบอกว่า “ต้องการสิ่งใด ไม่ต้องการสิ่งใด”

หลวงพ่อ : ไอ้นี่เป็นความคิด ฉะนั้น มันเป็นความคิด นี่เป็นความคิดของเขา ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินี่ เรามีความคิดสิ่งใด เรามีสติตามไป ตามความคิดเราไป.. ความคิดนี่ ถ้าเราไม่มีความคิด มันก็ไม่มีเครื่องแสดงออกของจิต จิตมันแสดงออกมันเสวยอารมณ์กับเสวยรูป เสวยความรู้สึกนึกคิด แล้วถ้าเรามีสติปัญญา เราก็มีสติปัญญาตามมันไป ตามมันไปนะให้เห็นคุณ เห็นโทษ พอเรามีปัญญาแล้วนะ คิดอย่างนี้ คิดอย่างนี้

แม้แต่ความคิดมันก็เป็นพลังงานแล้ว พลังงานเวลามันเคลื่อนไปมันก็ส่งออกแล้ว เวลามันส่งออกพลังงานก็ใช้ไปแล้ว แล้วเราบอกว่าเราจะสะสมพลังงาน สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุด แล้วมันหยุดนิ่ง ความหยุดนิ่งของมัน เห็นไหม นี่ว่านาโนๆ คิดๆๆๆ ความรู้สึกมันซ้ำๆๆ นาโนมันจะดีขึ้น ถ้ามันดีขึ้นเราพิจารณาขึ้นมานี่ปัญญาอบรมสมาธิ คือว่าคิดแล้วเห็นโทษมันก็ไม่ไปไกล

เราคิดถึงอเมริกาสิ นี่มันกี่กิโลล่ะ? เราคิดถึงกรุงเทพฯ สิ เราคิดนี่มันไปไกลเท่าไร? ถ้าเราคิดถึง แต่ปัจจุบันเราไม่ไป เราไม่ไป เราคิดถึง พุทโธ พุทโธ พุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิคิดอยู่ที่นี่ นี่ปัญญาอบรมสมาธิอย่างนี้

นี่เขาบอกว่า “เขาให้ใช้ความคิดๆๆ คิดอะไรก็ได้ ต้องการสิ่งใดก็ได้” นั่นเขาก็ว่าของเขาไป คิดอะไรก็ได้ ต้องการสิ่งใดก็ได้ ก็เราอยากรวยๆๆๆ มันไม่เห็นรวยสักที มันเป็นไปไม่ได้หรอก ทีนี้ว่าเราคิดอย่างไรได้อย่างนั้น คิดกันจนบ้านะ คิดกันจนเข้าโรงพยาบาล แต่เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เรามีสติปัญญาใช่ไหม? เราก็วางความคิดเรา พอเราวางความคิดเรา สิ่งที่เหลือ

ฟังตรงนี้นะ ที่เขาบอกว่าว่างๆ ว่างๆ มันไม่มีสิ่งที่เหลือ สิ่งที่เหลือคือตัวพลังงานที่มันรับรู้ นี่คือตัวสมาธิ นี่ที่เขาบอกว่าว่างๆ ว่างๆ พิจารณานามรูปไปแล้วรู้ไปหมดเลย วิปัสสนาไปหมดเลย แล้วรู้อะไร? ไม่รู้ เวลาจิตมันดีก็ดีมาก เวลามันหายนี่หายหมดเลย เพราะมันไม่มีหลักตรงนี้ แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมเข้ามา ปัญญาอบรมมันแยกแยะแล้วมันปล่อยเข้ามา แล้วมันมีไง

คือเราไม่ปฏิเสธความมีอยู่ เราไม่ปฏิเสธความรู้สึกเรานะ ความรู้สึกคือพลังงาน คือจิตมันมีอยู่ ถ้าไม่มีอยู่คือคนตาย แต่ตอนนี้เรามีชีวิตอยู่เราไม่ปฏิเสธความมีอยู่ ถ้าเราไม่ปฏิเสธความมีอยู่ เราพิจารณามาเพื่อค้นหาสิ่งที่มีอยู่ เพราะสิ่งที่มีอยู่ เห็นไหม พอปล่อยเข้ามา ปัญญาอบรมสมาธิมันปล่อยเข้ามาถึงมัน เหลืออะไรนี่? ก็เหลือ เอ๊อะ! เอ๊อะ! เอ๊อะ! นี่ไง

นี่สิ่งที่มีอยู่ พอสิ่งที่มีอยู่มันก็มีสติ พอมีสตินี่ อ๋อ มันปล่อยอย่างนี้เนาะ เวลามันคิดมันเหมือนกับแบกของหนัก เวลามันปล่อยแล้วมันเหมือนกับวางของหนักเนาะ ของหนักนี่เป็นของนะ แต่เวลาคิดมันไม่ใช่แล้ว เราแบกเอง ความแบกก็เป็นเรา ทุกอย่างก็เป็นเราหมดเลย คิดไปหมดเลย

เราเป็นความคิด เราเป็นความรู้สึกนึกคิด แต่เวลามันปล่อยขึ้นมาแล้วนี่ ความคิดไม่ใช่เรา แล้วเราปล่อย เออ นี่มันจะทันขึ้น เร็วขึ้น ทันขึ้น เร็วขึ้น อันนี้แหละ แล้วพอจิตมันสงบแล้ว เวลาเราจะใช้ปัญญา มันก็ต้องใช้ปัญญาตอนที่เวลามันคิดนี่แหละ เวลามันคิด เห็นไหม เวลามันคิด มันคิดไปอย่างไร? มันเสวยอารมณ์อย่างไร?

จิต อาการของจิต จิตกับความคิดมันคนละอัน ส้มกับเปลือกส้ม ผลไม้ เปลือกไข่กับไข่ นี่เปลือกไข่ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“เราเป็นไก่ตัวแรก เราเป็นไข่ฟองแรกที่กะเทาะเปลือกฟองอวิชชาออกมา”

จิตมันกะเทาะความรู้สึกนึกคิดของมัน กะเทาะออกหมด มันกะเทาะเปลือกไข่ออกมาเป็นอิสระ แล้วความคิดอยู่กับมัน เวลามันเสวยอารมณ์ความรู้สึกนี่ เห็นไหม เราคิดว่าความรู้สึกเรามันเหมือนกับเนื้อไข่สิ ไข่แดง ไข่ขาวนี่ แล้วเปลือกมันน่ะ เปลือกมันคืออารมณ์ นี่เราลองนึกดูสิ แล้วพอจิตมันสงบแล้ว

อย่างไข่มันก็ไม่มีชีวิต เห็นไหม แต่ถ้าจิตเรามีชีวิต ความรู้สึกเรามีชีวิต เวลามันกระทบนี่ ถ้ามันจับตรงนี้ได้มันรู้ได้นะ เนื้อไข่มันรู้จักเปลือกไข่ จิตมันรู้จักอาการของจิต นี่มันจับตรงนี้ได้มันก็เป็นวิปัสสนาไง พอมันจับได้มันก็แยกแยะไง ถ้าจับได้ คนจับได้นี่อารมณ์เป็นวัตถุอันหนึ่งจับวัตถุได้เลย จับเปลือกไข่ เปลือกไข่นี้มันเป็นเปลือกเลย มันจับได้เลย มันมีรูปที่กระทบได้เลย จิตมันกระทบได้ เห็นไหม

นี่ถ้าจิตมันสงบแล้วพิจารณาไป ไม่ใช่คิดๆๆๆ คิดจนไม่รู้อะไร มันคิดอะไรล่ะ? แต่นี้เราใช้ปัญญาใคร่ครวญ ใคร่ครวญแล้วก็ปล่อย ใคร่ครวญแล้วก็ปล่อย ปล่อยจนมันมีกำลังของมัน มันมั่นคงของมัน แล้วมันก็ออกไปจับได้ ออกกระทบได้ นั่นพูดถึงไง

ถาม : นอกจากอิทธิบาท ๔ ถ้าเป็นความเพียรแล้ว วิธีการที่จะใช้พลังงานของจิตในการสร้างความสำเร็จในการทำงาน

หลวงพ่อ : ในการสร้างความสำเร็จในการทำงานก็คือหน้าที่การงาน หน้าที่รับผิดชอบ เห็นไหม คนที่รับผิดชอบ คนที่ทำงานด้วยสิ่งที่ว่ามีน้ำใจ หน้าที่การงานเราจะสำเร็จได้เราก็มีน้ำใจกับผู้ร่วมงาน เรามีน้ำใจกับทุกอย่าง มีน้ำใจไปแล้วเขาก็กระเทือนเราเต็มที่เลย มีน้ำใจแล้วเขาก็ยังทำให้เรากระทบกระเทือน เรามีน้ำใจของเรา

“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

เราทำความดีของเรา มีคนบ่นมาก ทำความดีแล้วนี่เจ้านายรังแก เจ้านายต่างๆ อันนั้นมันก็เป็นเวรเป็นกรรม มันเป็นเวรเป็นกรรม ถ้าเจ้านายรังแกเรา เราทำดียังโดนเจ้านายรังแก แล้วทำไม่ดีเจ้านายไม่ไล่ออกเลยหรือ? เราทำดีขนาดนี้เจ้านายยังรังแกเลย แล้วถ้าทำไม่ดีล่ะ? ทำดีก็ต้องได้ผลดีมากกว่าอยู่ดี แต่เจ้านายรังแกหรือไม่รังแกนี่มันอยู่ที่เจ้านาย

นิสัยเขาเป็นแบบนั้น กรรมของเราเป็นแบบนั้น สังคมเราไปเจอคนแบบนั้น ถ้าเจอคนแบบนั้นเราก็ต้องอยู่กับสังคมแบบนั้น เราก็รักษาใจเรา แต่ถ้าเราไปเจอเจ้านายเราดีล่ะ? ถ้าเราทำคุณงามความดีเจ้านายจะโอ้โฮ.. คนนี้นะ เราหาคนอย่างนี้มานานแล้ว คนๆ นี้ดีมาก นี่มันก็มีความผูกพันกันไป เราทำความดีไว้ก่อน แล้วเราไปเจอสิ่งใดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

นี่เขาถามมาว่า..

ถาม : นอกจากอิทธิบาท ๔ แล้วจะทำอย่างไรจะให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

หลวงพ่อ : หน้าที่การงานเราก็ทำของเรา มันมีกรรมเก่า กรรมใหม่ ถ้ากรรมมันดีนะ ถ้าทำมาดี แล้วกรรมของเรามันไม่ใช่ว่ามันจะมีแค่นี้หรอก มันจะไปข้างหน้าอีก ฉะนั้น สิ่งใดถ้าทำแล้วเรามีปัจจัยเครื่องอาศัยพอดำรงชีวิต ไม่เดือดเนื้อร้อนใจเกินไปนัก แค่นี้เราก็ดำรงชีวิตได้แล้ว เพราะมันเป็นของสมมุติ คำว่าสมมุตินะได้มาก็ใช้ไป นี่เราใช้สอยอย่างนี้ แต่ถ้าหัวใจของเรานี่เราทำความสงบของใจได้ แล้วเราใช้ปัญญาของเราได้ แม้แต่ครั้งหนึ่ง มันจะฝังใจไปตลอดชีวิตนะ

คนเคยทำความสงบได้หนหนึ่ง แล้วยังไม่เคยทำได้อีกเลย เวลาชีวิตเรามีอุบัติเหตุต่างๆ มันจะคิดถึงตรงนี้ แล้วมันจะได้ประโยชน์ตรงนั้น สิ่งนี้มันเป็นอริยทรัพย์ มันไปกับใจเรา มันเป็นนามธรรมกับนามธรรมไปด้วยกัน วัตถุ เวลาเราไปแล้วมันทิ้งไว้แค่นั้นแหละ

นี่เราจะบอกว่าการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทุกคนก็ปรารถนา ทุกคนก็อยากมี อยากเป็น แต่สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นเรื่องของโลก อย่างเช่นทำธุรกิจมันก็ต้องมีลูกค้า มีสินค้า มีตลาด มีอะไรนี่ มันต้องเกี่ยวเนื่องกับคนอื่น แต่ในการประพฤติปฏิบัติของเรามันเกี่ยวเนื่องกับเรา เห็นไหม เราดูแลใจเราเอง เราตั้งสติของเราเอง มีความเข้มแข็งของเราเอง

มันเป็นแบบว่าเราไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใครเลย เราใช้เรารักษาใจของเรา ทำกับเราคนเดียวนี่แหละเราจะได้ประโยชน์มากกว่า คือเราทำเองได้ แต่ถ้าในหน้าที่การงานมันต้องเกี่ยวเนื่องกับผู้อื่น เห็นไหม เวรกรรมนี่มันวงกว้างออกไป วงกว้างออกไปมันถึงควบคุมได้ยาก แต่เราต้องอาศัยเขาอยู่ เราก็อยู่กับโลก แต่เวลาสมบัติของเรานี่เราเอาตรงนี้มาบาลานซ์กัน

คือว่าความจริงของเรา หัวใจของเรา เรารักษาได้ นี้เป็นอันหนึ่ง แต่พอหัวใจเรารักษาได้แล้ว พอไปเรื่องทางโลกนี่ผลกระทบมันก็จะน้อยลง ผลกระทบนี่เราเป็นควบคุมเกมส์ อย่างเช่นเจ้านายรังแกเรา เราเป็นคนมีสติเรารู้เลย เรายืนยิ้มได้เลย เจ้านายจะว่าอย่างไรนี่เหมือนเราคุมเกมส์เลย แต่ถ้าใจเราไม่ดี พอเราเจออะไรกระทบเราก็ไปหมดเลย เห็นไหม

นี่เขากระทบเรา เราก็กระทบเขา เพราะอะไร? เพราะจิตใจเราไม่มีหลักเกณฑ์ ฉะนั้น เราเอาทรัพย์สมบัติอันนี้ นี่เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นนักปฏิบัติ เราต้องมีทรัพย์สมบัติอันนี้เพื่อจะไปเผชิญกับโลกไง

นี่พูดถึงว่า “แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ? ความเพียรเว้นจากอิทธิบาทแล้วนี่”

ฉะนั้น มันก็ทำสุดความสามารถของเรา อยู่ที่เวรที่กรรม อยู่ที่เวรที่กรรมไม่ใช่งอมืองอเท้านะ เพราะเราเป็นพระ เราเป็นคนปฏิบัติ นักปฏิบัตินี่เราปฏิบัติตลอดชีวิต เราปฏิบัติทั้งวันทั้งคืน ไม่เคยงอมืองอเท้าเลย จะลงไม่ลง จะเป็นสมาธิไม่เป็นสมาธิ ไม่รู้ เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน ไม่รู้ ไม่รู้ อะไรจะเกิดไม่เกิดไม่รู้ ซัดอย่างเดียว นี่เราทำของเรามาอย่างนี้ตลอด

ฉะนั้น บอกว่าจะเป็น “ลัทธิยอมจำนน” ไม่ใช่! ไม่ใช่! เราชนะตัวเราเอง

ข้อ ๖๓๔. ไม่มี

ข้อ ๖๓๕. ไม่มี

ข้อ ๖๓๖. นะ นี่พระถามมา พระถามมานะ นี่ตอบมาอีกอย่างหนึ่ง

ถาม : ข้อ ๖๓๖. กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ผมบวชมา ๔ ปี ผมได้ติดตามฟังเทศน์หลวงพ่อแล้วลงใจมาก ใจมันรู้สึกฮึดสู้ขึ้นมา ถนัดใจมากครับ ผมบวชอยู่สายวัดป่าแห่งหนึ่งที่อุบลฯ แต่การปฏิบัติของที่นี่ไม่เข้มข้นเท่าที่ควร ผมอยากจะปฏิบัติให้พ้นทุกข์ครับ และบางทีก็ท้อถอย แล้วผมควรจะทำอย่างไร (นี่คำถามของเขานะ)

แล้วถ้าเราทำจริงๆ เอาชีวิตนี้ทิ้งไว้กับพุทธศาสนา เราจะสามารถบรรลุธรรมในชาตินี้ได้ไหมครับ ผมภาวนามา ผมเคยประสบอาการทางจิตอยู่อย่างหนึ่ง คือผมทำมาเรื่อยๆ ในช่วงนั้นหนักหน่อย มีการภาวนาติดต่อกัน ๗-๘ วัน วันสุดท้ายเห็นกายหลุดออกไป เห็นกายวูบออกไป แล้วลุกกลับมาเห็นตัวเองนอนอยู่ แล้วอย่างนี้ผมพยายามจะลุกหนี มันถูกหรือไม่ถูกครับ

หลวงพ่อ : นี่เขาถามมานะ เรื่องที่ ๑ ก่อน แต่ถ้าที่ไหนปฏิบัติไม่เข้มข้น เราหาทางของเราเองได้ เพราะว่าเรื่องอย่างนี้ เรื่องหมู่คณะเป็นสัปปายะมันหาได้ยากนะ แล้วคิดว่าครูบาอาจารย์เนี่ย อย่างเช่นหลวงปู่มั่น ทุกคนก็อยากเจอหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นนี่ทุกคนพูดเพราะหลวงตาท่านเขียนประวัติ หลวงตาท่านมาเชิดชูครูบาอาจารย์ท่าน หลวงตาท่านเอาชีวิตหลวงปู่มั่น เอาสิ่งที่หลวงปู่มั่นปฏิบัติมานี่ให้สังคมรับรู้ ให้สังคมเป็นคติเป็นตัวอย่าง ทุกคนก็อยากไปเจอหลวงปู่มั่น ลองไปเจอหลวงปู่มั่นสิ ยังไม่เข้าไปในวัดเลย โดนทีเดียววิ่งออกจากวัดเลย

หลวงตาไปวันแรก

“ชื่ออะไร?”

“ผมชื่อบัว”

ผมๆๆๆ ท่านซัดเอาหงายท้องเลย

นี่ก็เหมือนกัน เขาบอกว่าที่วัดเขาไม่ปฏิบัติเข้มข้น เราก็คิดว่าปฏิบัติเข้มข้นแล้วจะเป็นความเห็นของเรา นี่หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ทุกคนก็อยากเจอ เข้าไปแล้วกระเด็นทั้งนั้นแหละ เพราะอะไร? เพราะมันเสร่ออย่างนี้เข้าไปนี่เสร็จหมดแหละ เข้าไปต้องมีสติพร้อม เข้าไปต้องพร้อมนะ การเคลื่อนไหว การรับรู้ ท่านพูดอะไรต้องตีความออก คนจะเข้าไปหาครูบาอาจารย์มันต้องพร้อม พอพร้อมอย่างนั้นปั๊บเราก็บอก โอ้โฮ.. ดุเกินไป เข้มข้นเกินไปไม่เอาอีกแล้ว

ไอ้ที่ว่าเราอยู่ในสถานที่ไม่เข้มข้นเพราะเราอยากปฏิบัติ พอเวลาเราปฏิบัติแล้ว เราคิดว่าไปปฏิบัติในสถานที่เข้มข้นแล้วเขาก็จะเออออกับเรา มันไม่ใช่ ยิ่งเข้มข้นเขายิ่งดูความผิดพลาดของเรา ยิ่งเข้มข้น การเคลื่อนไหวของเรา สติของเรา

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านเห็นลูกศิษย์เดินนะ ท่านบอกว่านี่ศพเดินได้ ศพมันเดินไปเดินมา เพราะมันไม่มีสติไง ศพมันเดินไปเดินมา ไอ้เราก็ว่า แหม นักปฏิบัตินะ อู้ฮู เก่งมากเลย แต่ครูบาอาจารย์ว่านี่ศพ ศพตรงไหน? ศพตรงตามันเถ่ออย่างนี้ เดินไปมันขาดสติ เหม่อลอย ท่านบอกว่าศพเดินได้

นี่เราก็อยากไปเข้มข้น ฉะนั้น ตรงนี้มันอยู่ที่มุมมองไง ขณะที่เราปฏิบัติ เห็นคนอื่นที่ปฏิบัติต่ำต้อยกว่าเรา เราก็ว่าที่นั่นไม่ดีเลยเราจะปฏิบัติเข้มข้น เวลาไปเจอที่เขาปฏิบัติเข้มข้นกว่า เขาปฏิบัติกันเข้มงวดนะ เราไปแล้ว เราสู้เขาไม่ไหวก็ว่า โอ้โฮ ที่นี่ดุมากเลย ที่นี่ไม่เห็นอะลุ่มอล่วยกันเลย ไหนว่าปฏิบัติ ไม่เห็นช่วยเหลือเจือจานเลย ทั้งๆ ที่บอกความผิดเรานะ

จิตใจเรามันเป็นอย่างนี้ เวลาเจอสิ่งที่เราปรารถนาขึ้นมาก็ว่าที่นั่นอ่อนแอ พอไปเจอที่ดีเขาเข้มงวดขึ้นมาก็บอก โอ้โฮ ที่นี่เข้มงวดเกินไป ฉะนั้น ปฏิบัติที่นั่นแหละ เราอยากปฏิบัติใช่ไหม? เราก็เต็มที่ของเรา ถ้าที่ไม่เข้มข้น ไม่เข้มข้นเราก็หลบหลีกเอา แล้วถ้าเราหลบหลีกเอา เรามีโอกาสของเรา เราทำของเราได้ ดูใจของเรานี่ก่อน

ถาม : แล้วถ้าผมทำจริงๆ แล้วเอาชีวิตทิ้งไว้กับพุทธศาสนา จะบรรลุธรรมในชาตินี้ไหมครับ

หลวงพ่อ : อืม มันต้องไปหาคนการันตีเนาะ ถ้าคนการันตีต้องทำให้เป็นพระอรหันต์ให้ได้ มันมีพระบางที่เขาจะบอกเลย ไปอยู่กับเขาจะได้เป็นพระอรหันต์ กี่เดือนเป็นพระอรหันต์ มันเป็นไปไม่ได้หรอก พระพุทธเจ้ายังทำให้ไม่ได้เลย

นี่เขาว่าบวชมาเลยนะคนนี้จะเป็นพระอรหันต์ บวชมา ๕ ปีจะเป็นพระอรหันต์ กี่ปีเป็นพระอรหันต์ บ้า! มันเป็นไปได้อย่างไร? พระพุทธเจ้านะ อย่างพระพุทธเจ้าท่านดู เห็นไหม เล็งญาณ แล้วยังจะต้องรอ รอเวลานะ ต้องรอเวลา

นี่อย่างเช่นที่ว่าเวลาหลวงตาท่านมาพูดใช่ไหม? ท่านบอกท่านติดสมาธิอยู่ ๕ ปี แล้วคิดดูสิ ว่าท่านติดสมาธิท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น นี่ก็อยู่กับหลวงปู่มั่น

“มหา จิตดีไหม?”

“ดีครับ”

“มหา จิตดีไหม?”

“ดีครับ”

นี่ก็อยู่ด้วยกัน ทำไมปล่อยตั้ง ๕ ปีล่ะ? โอ้โฮ โอกาสนะ เวลานะที่จะภาวนา มันมีพื้นฐานที่จะพร้อมนะ ไอ้เรานี่ทุกคนเรียนจบแล้ว อยากเป็นพระอรหันต์หมดเลย จะรับใบประกาศไง จะเดินเข้าไปแล้วก็ถอนสายบัวแล้วก็รับอรหันต์ มันไม่มีหรอก มันไม่มี มันต้องทำเองไง

นี้เขาบอกว่า “ถ้าเขาสละชีวิตแล้วเขาจะเป็นพระอรหันต์ไหม?”

เราจะพูดอย่างนี้ นี้เราพูดไว้ก่อนไง เพราะเราคิดกันอย่างนี้ เราคิดกันอย่างนี้ มันเลยมีพระเยอะมากตอนนี้ บอกว่าเขาเป็นนักสร้างพระอรหันต์ แล้วพระอรหันต์จะไปอยู่กับเขา แล้วใครเป็นพระอรหันต์ กูเห็นแต่พระอรหันต์ตาลอย พระอรหันต์ตาลอยไปลอยมาทั้งนั้นเลย

ครูบาอาจารย์ที่จะเป็นนะ หลวงปู่มั่นท่านสมบุกสมบันมาแค่ไหน? หลวงตาเวลาท่านพูดถึงท่านนะ ท่านสมบุกสมบันมาแค่ไหน? การสมบุกสมบันมาท่านถึงได้ผลจริงมา ถ้าคนสมบุกสมบันมา เราเห็นนะ เราเห็นครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม เวลาท่านทำอะไรเราซึ้งใจมากนะ อย่างเช่นหลวงตา เมื่อก่อนเราอยู่กับท่านนะ โอ้โฮ ดุ ดุมาก! ทำอะไรนี่ผิดไปทั้งนั้นเลยนะ

แล้วช่วงท้ายๆ นี่ตอนท่านโครงการช่วยชาติ แล้วเราดูท่านเทศน์ตอนเช้า ท่านเทศน์ตอนเช้าตอนท่านยังมีกำลัง เห็นไหม ท่านจะตักอาหารใส่ถ้วยเล็กๆ แล้วก็บอกไปให้พระองค์นั้น ให้พระที่อดอาหาร ท่านห่วงมาก ท่านบอกท่านเคยอดมา ท่านรู้ว่ามันทุกข์ขนาดไหน ท่านจะตักอาหารใส่ถ้วยเล็กๆ นะ แล้วก็บอกว่าให้เอาไปให้พระองค์นั้น ไปให้พระองค์นั้น

ดูความห่วงใยของท่านสิ เรานั่งดูในทีวีนะ โอ้โฮ มันสะเทือนใจน่ะ มันสะเทือนใจ ท่านรักของท่าน แต่ถ้าจะบอกว่า เฮ้ย กูรักมึงนะ กูโอ๋มึงนะ ก็ไม่ได้ ไอ้นั่นมันตายเลย ภาวนามันไม่เดินเลย ท่านจะรักขนาดไหนนะ ท่านก็ทำเป็นโกรธนะ จะกินเลือดเลยนะ ฮึ่ม! ฮึ่ม! ฮึ่ม! เพราะว่าไม่ให้คนที่โดนรักมันเหลิง ไม่ให้กิเลสมันพองตัว ต้องข่มกิเลสมันไว้

ทั้งๆ ที่ท่านเป็นห่วงนะ แต่ก็ต้องข่มกิเลสมันไว้ ทำลายกิเลสมันไว้ ไม่ให้กิเลสรังแกมัน โอ้โฮ เราดูท่านทำนะ เพราะเราเคยอยู่กับท่าน เราโดนด่ามาวันหนึ่ง ๓ รอบ ๔ รอบ โดนด่าทั้งวันทั้งคืน โดนด่าตลอด แล้วไปเจอเวลาท่านทำกับคนอื่น โอ้โฮ มันขนาดนั้นนะ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ากว่าจะได้พระอรหันต์แต่ละองค์นี่นะ เขาจะต้องผ่านวิกฤติของเขามา เขาจะต้องทำใจเขาให้สงบ แล้วใจเขาต้องออกพิจารณาเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี จนกว่าจะจิตสงบสุดยอด จนพิจารณาจนเป็นพระอรหันต์ แล้ววิกฤติการทำอย่างนี้คนทำมามันจะรู้ มันจะทุกข์ยาก ถึงบอกว่าถ้าครูบาอาจารย์เป็นที่ดีไหม? ดี แต่ท่านมีวิธีบอกเราไหม? เวลาเราติดขัดขึ้นมาท่านจะบอกเราได้ไหม? บอกเราแต่ละชั้นแต่ละตอนขึ้นมาอย่างไร?

ฉะนั้น ถามว่า “ถ้าทุ่มเททั้งชีวิต ชาตินี้จะเป็นพระอรหันต์ไหม?”

ทุ่มเททั้งชีวิตนี่ได้ แต่ถ้าทุ่มเทในทางที่ผิดนะ ชีวิตนี้ก็สูญเปล่า ทุ่มเททั้งชีวิต ชีวิตนี้ก็ตายเปล่า ทุ่มเททั้งชีวิตด้วย ต้องสัมมาทิฏฐิ ทุ่มเททั้งชีวิตต้องถูกต้องดีงามด้วย ทุ่มเททั้งชีวิต เออ จะเป็นพระอรหันต์ทุ่มเททั้งชีวิตเลย ซื่อบื้อมันก็ตายทั้งชีวิตนั่นล่ะ ไม่ได้อะไรติดมาหรอก

ทุ่มเทแล้วต้องถูกต้องด้วย แล้วทุ่มเทต้องมีครูบาอาจารย์ด้วย แล้วทุ่มเทถ้าเราได้จริงนะ มี มีหลายองค์มาก ทุ่มเทมากๆ เลย มีอยู่องค์หนึ่งอยู่ที่บ้านตาด ทุ่มเทเดินจงกรมจนช็อกเลยล่ะ ส่งโรงพยาบาล เพราะอดอาหาร พออดอาหารมันก็เต็มที่ พอช็อก เวลากลับมานึกว่าจะได้รับคำชมนะ นึกว่าจะได้รับคำชมจากหลวงตานะ ท่านด่าเช็ดเลย

“จะอดอาหารก็ต้องรู้กำลังของตัว นักปฏิบัติมันก็ต้องมีสติปัญญา แค่กำลังของตัวยังคำนวณไม่ได้เลย แล้วจะไปสู้กับกิเลสได้อย่างใด?”

กำลังเรารู้นี่ว่าเรามีกำลังแค่ไหน? เรามีความอดทนได้มากน้อยแค่ไหน? เราก็ควรจะแค่นั้น แล้วดูแลรักษาเรา ไม่ใช่ทำเหมือนประชดชีวิต อดจนช็อกไปเลย ช็อกก็คือสลบนั่นล่ะ ตายนะนั่นน่ะ อดอาหารจนตายเลยหรือ? ไม่ใช่อยู่แอฟริกาไม่มีจะกินเว้ย มีแต่ไม่กิน นี่นึกว่าจะได้รับคำชมนะ ท่านเตือนสตินะ บอกจะทำอะไรเราก็ต้องรู้กำลังของเรา รู้จักกำลังของเรา มีมากมีน้อยแค่ไหน?

ฉะนั้น ที่บอกว่าถ้าทุ่มเททั้งชีวิตมันต้องถูกต้องดีงามด้วย ถ้าทุ่มเททั้งชีวิตต้องทุ่มด้วยทิฐิมานะ ด้วยความเห็นผิด ด้วยความว่าจะคว้าเอาๆ แล้วอดอาหารนี่พระพุทธเจ้าห้ามอด แล้วทุ่มเทอย่างนั้นมันไม่ผิดหรือ? อ้าว! เวลาปฏิบัติมันจะเข้าด้ายเข้าเข็มใช่ไหม? นั่งนี่สัปหงกโงกง่วง เวลาปัญญาจะเกิดขึ้นมาอย่างกับเรือเกลือ เข็นเท่าไรก็ไม่เดิน ถ้าผ่อนอาหารแล้วมันดี เห็นไหม มันเป็นอุบาย

คนเรานะเวลาภาวนาไป ปัญญากำลังเดินอยู่ แล้วเหมือนกับเรือเกลือเลยนี่มันไปไม่รอดเลย ถ้าเราผ่อนอาหารแล้วมันปลอดโปร่ง อู้ฮู มันก็เหมือนเรือหางยาวเลย มันเหมือนกับเรือยอร์ช โอ๋ย มันพุ่งไปเลยนี่ คนจะอยากอดไหม? คนอดอาหารเขารู้ เขารู้ว่าเขาอดอาหารแล้วนี่เขาได้ประโยชน์อะไรจากการอดอาหาร เขาทำของเขาแล้วเขาได้เทียบเคียงของเขา ถ้าไม่ได้อด ไม่ได้ผ่อนนี่ อู้ฮู มันอย่างกับเรือเกลือเลย รถนี่ทั้งยางแบนนะ ทั้งเพลาก็หลุดนะ เคลื่อนไปไม่ไหวเลย พอเริ่มอดอาหารนะ พอซ่อมรถมันดี ทีนี้อู้ฮู.. มันวิ่งฉิวเลย

นี่เหตุที่เขาอดอาหารกันเขาต้องรู้ผล เขารู้กำลังของเขา เขาว่าเป็นของเขา เห็นไหม แล้วบอกว่ามันผิดไหมล่ะ? นี่ไงบางคนถ้าไม่ปฏิบัตินะ พอเห็นคนที่เข้มข้นปฏิบัติเขาตกใจนะ อู้ฮู อู้ฮู แต่ไอ้คนที่ปฏิบัติเข้มข้น แหม กำลังพอดี กำลังสุดยอดเลย มันไปของมันนะ ไอ้คนที่มาใหม่นะ โอ้โฮ โอ้โฮ

นี่วุฒิภาวะของใจมันแตกต่าง ฉะนั้น ถ้าครูบาอาจารย์ท่านจะรู้เลยว่าระดับนี้จะเป็นอย่างนี้ ระดับนี้จะเป็นอย่างนี้ ระดับที่สูงไปมันจะทุ่มเทขนาดไหน เหมือนของที่มันกำลังจะได้ โอ้โฮ มันกำลังจะหยิบเอา โอ๋ย มันทุ่มเททั้งชีวิต ถ้าครูบาอาจารย์ไม่ปฏิบัติมา ไม่รู้อย่างนี้งงตายนะ เวลาจะเริ่มต้นนี่มันไม่เดินหรอก มันไปไม่ไหวหรอก จะล่ออย่างไรมันก็ไม่ขยับ แต่พอมันไปแล้วนะ มันไปแล้วมันไปเต็มที่เลย

ฉะนั้น จะทุ่มเททั้งชีวิตมันก็ต้องมีหลักนิดหนึ่ง ไม่ใช่ว่าทุ่มเททั้งชีวิต พอบอกว่าการทุ่มเททั้งชีวิตแล้วเราจะได้บรรลุธรรม ถ้าทุ่มเททั้งชีวิตมันก็ต้องจริงด้วย นี่พูดถึงนะ

ถาม : ผมภาวนาแล้วเคยมีประสบการณ์อันหนึ่ง พอนั่งมากแล้วมันเหมือนจิตจะหลุด

หลวงพ่อ : คำว่าจิตจะหลุด จิตที่มันออกนี่นะ ออกจากร่างมันเป็นบุคคล มีพระบางองค์มาหา พอถึงเวลาปั๊บมันจะออกเลย แล้วออกเลยจะไปรู้เรื่องอะไรแปลกๆ อันนี้มันเป็นอำนาจวาสนาบารมีของเขา แต่ถ้ามันใช้ไปๆ มันก็จะเสื่อมไปเรื่อยๆ ใช้ไปหมายถึงว่ามันออกอยู่อย่างนั้นแหละ ออกอยู่อย่างนั้นแหละ มันจะไม่เจริญก้าวหน้า เพราะการออกอยู่อย่างนั้นมันไม่ใช่อริยสัจ มันเป็นบารมี มันเป็นอำนาจวาสนาบารมีของจิตแต่ละดวง

ฉะนั้น เวลาจิตถ้ามันจะหลุด มันจะออก ถ้าเรามีสติเราก็ไม่ให้ออก เราก็พุทโธไว้ ดึงไว้ เพราะเราไม่ต้องการให้จิตออก เราต้องการให้จิตสงบ เราต้องการให้จิตมีกำลัง ถ้าจิตสงบมีกำลังแล้ว ถ้าเรารำพึงไปหาสติปัฏฐาน ๔ ถ้าเรารำพึงไปหาสติปัฏฐาน ๔ มันจะเป็นประโยชน์ในการวิปัสสนา มันจะเป็นประโยชน์ในการเดินมรรค

มรรคไง งานชอบ เพียรชอบ งานชอบ งานในการขุดคุ้ยค้นคว้าหากิเลส งานในการชำระกิเลส ไม่ใช่งานแบบว่าเห็น อยากรู้ฤกษ์พานาที จิตออกมันจะรู้นะ ไปรู้อะไรแปลกๆ ไปรู้ล่วงหน้า รู้ก่อนหน้า แล้วเราก็จะมาบอกคนนู้นคนนี้ว่าเรารู้สิ่งใด นี่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย มันเป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นเรื่องของโลกเขา เดี๋ยวนี้คอมพิวเตอร์มันคำนวณดีกว่ามึงอีก ไม่ต้องไปยุ่งกับคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์เขาทำได้ เราเอาความสงบของใจ เราทำตรงนั้น

เพราะมีพระหลายองค์มาถามตรงนี้ บอกว่าพอมันเป็นแล้วนี่เขาบอกเขาแก้ไม่ได้ ไปหาพระองค์ไหนก็แก้ไม่ได้ไง แก้ไม่ได้คือว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ออก จะทำอย่างไรไม่ให้ออก ถ้าทำอย่างไรไม่ให้ออกนี่สติเราดีๆ นะ แล้วเรานึกพุทโธไว้ เราไม่ให้ออกก็ได้ ไม่ให้ออกๆ บังคับไว้ไม่ให้ออก อยู่อย่างนั้นแหละ อยู่กับพุทโธไว้ แล้วถ้ามันสงบมันสงบไปเลย

พอสงบเลย ออกนี่มันคือกำลัง แล้วถ้ามันไม่ให้ออกกำลังมันจะมากขึ้น พอกำลังมากขึ้นมันน้อมไปเห็นกายมันจะชัดเจน มันจะมีกำลัง เหมือนเรานี่ คนนี้ไบร์ทมากเลย ปัญญามีมากเลย แต่ไม่ใช้ความคิด ไอ้ความไบร์ทก็เก็บไว้ในหัวนี่ไง แต่พอมันมีกำลังแล้ว พอมันใช้ความคิด โอ้โฮ คนนี้ไบร์ทมากเลย มีความคิดดีมากเลย มีคนมาเสนองานนะ ให้คิดเรื่องนี้ คิดเรื่องนี้ พอมันคิดเรื่องนี้เอาสิ่งนั้นมาคำนวณนะ มันจะคำนวณได้ อู้ฮู ออกมาเป็นผลงานมหาศาลเลย

จิต จิตที่มันเคยออกๆ มันมีกำลังของมัน แต่มันใช้งานไม่ถูกไง นี่ดึงมันไว้ๆ ให้มันอยู่กับเรา แล้วพอจิตมันมีกำลังขึ้นมาแล้ว พอมันไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ มันใช้การคำนวณ ใช้การพิจารณานะ พิจารณาในกาย พิจารณาในเวทนา พิจารณาในจิต พิจารณาในธรรม มันก็ใช้ปัญญาของมัน ปัญญาที่มีสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิคือมีตัวจิต มีตัวพลังงานสิ่งที่มี ถ้าสัมมาสมาธิมีตัวพลังงานสิ่งที่มี ตรงนี้มันมีอวิชชา มันมีกิเลส พอพิจารณาไปแล้ว พิจารณานี่เห็นไหม สิ่งที่มีมันจะเข้ามาชำระจิต เข้ามาชำระสิ่งที่มีกิเลส กิเลสมันจะเบาลงๆ จนเป็นพระโสดาบันขึ้นมาเลย

นี่ถ้าทำอย่างนี้ได้นี่ ถูก เห็นไหม แล้วถ้าทุ่มทั้งชีวิตแล้วจะได้หรือไม่ได้ สิ่งนี้ถ้าครูบาอาจารย์แนะนำวิธีดี มันจะทำของมันได้ แล้วมันจะประสบความสำเร็จนะ มันจะเป็นไป

โอ้ ขออีกข้อหนึ่ง อยากให้มันจบตรงนี้เพราะของมันเยอะ

ถาม : ข้อ ๖๓๗ เรื่อง “หนูจะทำอย่างไร?”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง ขอเมตตาหลวงพ่อค่ะ เดือนนี้ไม่มีวันหยุดก็เลยไม่ได้ไปกราบหลวงพ่อ อาการในการปฏิบัติ หนูออกพิจารณากาย อวัยวะภายใน หรือบางครั้งก็พิจารณาถึงความตายของตนเอง และของคนอื่นๆ ตามแต่ความคิดหรือจิตที่มันพาไป ซึ่งจิตได้รับคำตอบว่าสิ้นสุดการพิจารณาในขณะนั้นก็จะเกิดอาการปีติ และจิตก็จะถอนจากสมาธิและเริ่มต้นกำหนดต่อไปใหม่จนกว่าจะเลิกปฏิบัติ

แต่ระยะหลังนี้จิตมันไม่ออกไปพิจารณาค่ะ พอจิตสงบในระดับหนึ่งแล้วมันจะเฉยๆ หรือถ้ามันจะทำงานก็จะมีสติคอยคุม พอจิตมันจะออกไปพิจารณา สติเห็นตัดปั๊บทันที สติกับจิตมันคุมอยู่อย่างนี้ค่ะ ต่อมาสักระยะหนึ่งยังมีอาการอย่างหนึ่งแทรกเข้ามา คืออาการของชัยชนะและการหัวเราะ

คำถาม อาการที่เกิดขึ้นนี้หนูจะแก้อย่างไรคะ ถ้าสติกับจิตมันคุมอยู่อย่างนี้โดยไม่ออกพิจารณา หรือการฆ่ากิเลสหนูจะทำอย่างไร?

หลวงพ่อ : จะทำอย่างไรนะ เวลาจิตที่มันพิจารณานี่มันพิจารณาของมัน เวลาจิตออกพิจารณานะ แต่เวลาจิตมันไม่ออกพิจารณา มันไม่ทำนี่เห็นไหม เราตั้งให้มันสงบแล้วเรารำพึง เราค่อยแก้ไขของเรา

เราจะบอกว่าในการปฏิบัตินี่ มันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ บางคนเสื่อมในขั้นของสมาธิ บางคนไปเสื่อมในขั้นของปัญญา ถ้าเสื่อมในขั้นของสมาธิ เคยทำสมาธิได้ง่าย เคยทำสมาธิได้สะดวกสบาย ทำไมตอนนี้ทำไม่ได้? ทำไมตอนนี้ทำไม่ได้? ถ้าทำไม่ได้เราต้องหาเหตุผล มึงจะทำไม่ได้นะ

นี่เวลานักปฏิบัติทุกคนคิดว่าตัวเองทำได้ มันเหมือนในหนังสือ เราเรียนมาแล้ว เราส่งกี่หน่วยกิตๆ เราส่งต่อไปแล้วจึงจะจบ สมาธิไม่เป็นอย่างนั้นหรอก เวลาเสื่อมหมดเลย ศูนย์ เริ่มต้นก็เริ่มต้นจากหน่วยกิตที่ ๑ ใหม่ นี่ต่อมาเรื่อยๆ เวลาสมาธิมันเสื่อมใช่ไหม? มันเสื่อมนะเราก็ทิ้งมันไปเลย เราก็ทิ้งไปเลย สิ่งที่รับรู้ทิ้งหมดเลย แล้วพุทโธใหม่ พุทโธใหม่ ถ้ามันชำนาญแล้วมันก็จะกลับมาอีก เพราะมันไว เพราะกลับมามันก็มีมากกว่าเดิม

นี่พูดถึงเวลาทำสมาธิแล้วเสื่อมจากสมาธิใช่ไหม? นี่เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ถ้าเวลามันใช้ปัญญานี่ เวลามันใช้ปัญญาๆ ไปแล้วมันเสื่อม มันเสื่อม พอเราใช้ปัญญาๆ ไปด้วยตัวเองนี่ไม่มีความสุขุม ไม่มีการดูแลรักษา ใช้ปัญญาๆ ปัญญานี่มันจะเกิดจากสมาธิ ถ้ามีสมาธิมันออกใช้ปัญญา มันก็จะ โอ้โฮ มีปีติ มีความว่าง มีอะไร เพราะว่ามันมีฐานของสมาธิ มันใช้ปัญญาภาวนามยปัญญามันจะคิดดีมาก แต่เวลาใช้ไปบ่อยๆ เข้า

นี่ทุกอย่างใช้แล้วมันต้องเป็นอนิจจัง มันต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา เราก็ต้องกลับมาทำพุทโธ กลับมาตั้งสติขึ้นมา ให้มีกำลังขึ้นมาแล้วใช้ปัญญาใหม่ นี้เราใช้ปัญญามาก พอมันเสื่อมนะ ปัญญาก็คิดไม่ได้ สมาธิก็ไม่มี ฐานก็ไม่มี นี่ล้มลุกคลุกคลานหมดเลย ถ้าล้มลุกคลุกคลานนะเราก็วางให้หมดเลย

นี่ขณะเสื่อมในขั้นของปัญญา ขณะเสื่อมในขั้นของสมาธิมันมีเสื่อมของมัน ทีนี้ใช้ปัญญาเราก็ปล่อย เรากลับมาทำพุทโธ กลับมาทำสมาธิ ถ้าสมาธิมันแน่นนะ ถ้ามันใช้ปัญญาได้นะมันออกใช้เลย ถ้ามันไม่ยอมใช้ แน่ะ มันไม่ยอมใช้ เห็นไหม ไม่ยอมใช้ก็ต้องหาทาง บางทีนี่เวลากิเลสมันรู้นะ ว่าถ้าเรามีสมาธิขึ้นมา แล้วมันใช้ปัญญาไปแล้วนี่มันจะเข้าไปชำระกิเลส กิเลสมันต่อรอง กิเลสมันเอาธรรมะมาอ้างเลย บอกว่าพิจารณาแล้ว ปล่อยวางหมดแล้ว ตอนนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว

อู้ฮู พระอรหันต์เป็นอย่างนี้ ว่างๆ อย่างนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว นี่ตอนนี้รู้ไปหมดเลย เข้าใจไปหมดเลย ตาย! พอรู้แค่นี้ปั๊บมันก็อยู่ในตัวมันเอง เดี๋ยวก็เสื่อมหมด พอมันเสื่อมหมด เพราะมัน สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายก็เป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นอนัตตาหมด มันเปลี่ยนแปลงมันตลอดเวลา แต่ถ้าเราชำนาญในวสี เราชำนาญในการแก้ไข นี่เราแก้ไขของเรา แล้วถ้าเกิดอาการต่างๆ นี่มันล่อทั้งนั้นแหละ

กิเลส อุปกิเลส! กิเลสคือกิเลสที่มันต่อต้านเรา อุปกิเลสคือความว่าง ความผ่องใส นี่อุปกิเลส กิเลสละเอียดมันชักนำไปหมดเลย

ค่อยๆ แก้ไข คำว่าแก้ไขจะแก้ไขอย่างไรนะ นี่สิ่งใดเสื่อม ถ้ามันไม่ยอมใช้ปัญญาเราก็พักไว้ บางทีเราบอกว่าต้องใช้ปัญญาอย่างนั้นๆ มันเป็นสูตรสำเร็จมันก็ไม่ยอมทำ นี่แล้วถ้าไม่ยอมทำเราก็เปลี่ยนสิ เปลี่ยนถ้าเราพิจารณากายเราก็พิจารณาเวทนา พิจารณาเวทนา หรือพิจารณาสิ่งใด ถ้าพิจารณาได้นะ ถ้าพิจารณาไม่ได้เราก็กลับมาทำความสงบของใจ

นักกีฬาเวลาเขาทำแต้มไม่ได้นี่ เขาจะทำอย่างไรเพื่อจะให้คู่ต่อสู้มีความผิดพลาด แล้วเราจะได้ชัยชนะ ต่อสู้กับกิเลส กิเลสกับธรรมมันต่อสู้กัน ในเมื่อธรรมมันต่อสู้กิเลสไม่ได้ กิเลสนี่เวลาธรรมมันชนะ เห็นไหม นักกีฬาฝ่ายตรงข้ามนี่ ความฝึกซ้อม หรือว่าความสามารถเขาด้อยกว่าเรา เราชนะตลอดเลย แต่นักกีฬามันจะแพ้เราตลอดไปหรือ? มันกลับไปฝึกมาดีมากขึ้น พอดีมากขึ้น กำลังเขาดีมากกว่า กิเลสมันมีกำลังมากกว่า ปัญญาที่เคยชนะๆ นี่แพ้หมดเลย

นี่มันแก้ไขอย่างนั้น ถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องกลับมาฝึกเราใหม่ กลับมาตั้งสติเราใหม่ ให้เราเข้มแข็งขึ้นมาใหม่ แล้วค่อยแก้ไขไป อันนี้ของอย่างนี้นะมันเป็นแค่ข้างใดมีกำลังมากกว่าเท่านั้นแหละ แล้วไปข้างหน้านะ กิเลสจะหลอกกว่านี้อีกเยอะแยะเลย ไปข้างหน้านะ กิเลสมันจะหลอกกว่านี้ จะล้มลุกคลุกคลานอีก

ฉะนั้น ให้เห็นว่ามันเป็นทางผ่าน อย่าไปซีเรียส อย่าไปเสียใจ อย่าไปยึดว่าทำแค่นี้มันไปไม่ได้แล้ว เราก็จะน้อยเนื้อต่ำใจ จะไม่ทำสิ่งใดเลย นี่เราจะต้องเดินทางอีกไกล เราจะต้องต่อสู้กับเรื่องกิเลสอีกมากมายนัก ถึงเวลาสิ่งใดเป็นอุปสรรค เราก็ฝึกฝนฝึกหัดของเราไป เพื่อประโยชน์กับเราในการภาวนา เอวัง