เทศน์บนศาลา

ยินดีในธรรม

๕ ต.ค. ๒๕๕๔

 

ยินดีในธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งสติ ทำใจให้ว่าง ปล่อยวาง แล้วฟังธรรม ธรรมะมันจะเข้ามาสู่ใจนะ

เรามีชีวิตมาจนถึงได้วันนี้มีคุณค่ามาก เรามีชีวิตมาถึงวันนี้นะ ดูสิ คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มีในวัฏฏะ มีโดยปกติ มีโดยธรรมชาติ เราเป็นคนๆ หนึ่ง แต่โดยเรายังมีอายุขัยมาจนถึงวันนี้ แล้วจะมีต่อไปถ้าเรามีสติปัญญา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจะปรินิพพาน

“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ถ้าเราไม่ประมาท ชีวิตเราจะมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าเราประมาทไปนะ เราประมาทในชีวิต เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์ “คุณค่าของความเป็นมนุษย์” เพราะคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นมนุษย์ ทุกคนเกิดมาแล้วว่าทุกข์ว่ายาก แต่ถ้าเกิดมานะ “มีสติ” สิ่งที่เป็นความทุกข์ทางโลก กับสิ่งที่ว่าเป็นสัจจะความจริง ถ้าเรามีคุณค่าขึ้นมาเราวางสิ่งนั้นได้ แต่โลกเขาวางกันไม่ได้

เพราะโลกเขาวางกันไม่ได้ เขาก็แบกดุ้นไฟไปคนละท่อน แล้วก็บอกว่า

“ร้อน ร้อน ร้อน”

ทุกคนในโลกนี้จะบ่นกันว่าร้อนนัก ทุกข์นัก ลำบากนัก แต่ก็ยินดีที่จะแบกไป ยินดีที่จะมีลาภสักการะ จะมีความสรรเสริญเยินยอกับทางโลกเขา ไม่ได้คิดถึงว่าสมบัติตามความเป็นจริงมันอยู่ที่ไหน ถ้าสมบัติตามความเป็นจริงนะ ก็อยู่ที่ในหัวใจของเรา

เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นเป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเรามีความจริงในตัวของเรา นี่ “ยินดีในธรรม”

ถ้าเรา “ยินดีในธรรม” ความยินดีของเรา เราจะเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ พอเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป อดอาหารนะ เวลาอดอาหารนี่ภาวนาดีมาก “อดอาหาร”

เวลาเราปฏิบัติกัน เราก็ว่าปฏิบัติแล้วได้ธรรมะๆ แต่ปฏิบัติแล้วมันไม่ได้ผล ไม่ได้สิ่งใด เราก็ยังจะปฏิบัติไปอย่างนั้นน่ะ ด้วยความเซ่อ ด้วยความไม่มีอุบาย ด้วยความไม่มีสติสัมปชัญญะ เลือกค้น ค้นคว้า ค้นหาความสะดวกในการประพฤติปฏิบัติ

แต่ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านเห็นไง ท่านเห็นถึงความทุกข์ ความยาก ความลำบาก แล้วทำไมมันยังไม่เจริญ ปฏิบัติไม่ดำเนินไปข้างหน้า เห็นไหม ท่านอดอาหารของท่าน ท่านผ่อนอาหารของท่าน เวลาท่านผ่อนอาหารของท่าน เวลาทุกข์ยากขึ้นมา ท่านยังเห็นคุณค่าของชีวิต ถ้ายังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ยังไม่อยากตาย ยังไม่อยากตาย ยังไม่อยากตายก็ออกมาฉันอาหาร หรือออกมาดำรงธาตุขันธ์ เพื่อให้ธาตุขันธ์มีชีวิตต่อไป

เพราะยังมีกิเลสอยู่น่ะ เห็นไหม ถ้าคนยินดีในธรรม มันยินดีในธรรมนะ

ถ้าไม่ยินดีในธรรมนะ เวลาเราทุกข์เรายากขึ้นมา เราประชดชีวิต เราถึงกับทำลายชีวิต เราฆ่าตัวตายทำลายชีวิตไป แล้วมันได้อะไรขึ้นมา ทำลายตัวเองมันมีสิ่งใดขึ้นมา เห็นไหม ถ้ายินร้าย ดูสิ เวลาเขาเห็นทางโลกเขา เขาทุกข์เขายากของเขา เขากระเสือกกระสนของเขา เขาเอารัดเอาเปรียบ เขาหาแต่ผลประโยชน์ของเขา นั่นน่ะ ทำสิ่งนั้นไปมันมีแต่บาปอกุศลทั้งนั้นน่ะ แต่เขาทำของเขาไปก็คิดว่าเขายินร้ายไง ยินร้ายในธรรม

เพราะธรรมะบอกว่า ให้มีศีล มีสัตย์ ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต ให้มีจิตใจเป็นสาธารณะ จิตใจเป็นสาธารณะแล้วมันลำบากลำบนขนาดนี้ มันทุกข์มันยากขนาดนี้ จะเป็นสาธารณะไปทำไม เห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์กับตัวเอง เพื่อความสุขความสบายของตัวเอง นี่เวลาทำไป

แต่สิ่งนี้มันตรงข้ามกับธรรมไง

ธรรมะให้เสียสละ “ผู้ใดเป็นผู้ให้ ดีกว่าผู้รับ” เราเป็นผู้ให้เขา ให้เขานะ แต่ทางโลกเขามองกันว่าเราเป็นผู้ที่ไม่ทันคน ไม่ทันคน ทันคน-ไม่ทันคนมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เราไม่ใช่ทันคนนะ เราทันหัวใจของเราเลยล่ะ

“ทันคน” เราคิดว่าทันเขา เอาเปรียบเขานี่มันส่งออกไปวิเคราะห์วิจัยเรื่องของคนอื่น เป็นเรื่องของการกระทำของเขา ว่ารู้ทันคน รู้ทันคน แต่โง่กับตัวเอง ตัวเองยังไม่เข้าใจตัวเอง แล้วออกไปรับรู้เรื่องคนอื่น แล้วปล่อยให้หัวใจเราว้าเหว่ ปล่อยให้หัวใจเราเร่ร่อน

แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ จะย้อนกลับมาถ้าเรายินดีในธรรม

แต่ถ้ายินดีในทางโลก โลกเขายินดีในทางโลกกัน เพราะเขาพอใจของเขา เขาอยู่ของเขา ทางโลกเขาว่ามีความสุข เขาไม่เชื่อ ไม่เชื่อว่าไปถือศีล อยู่จำวัดบำเพ็ญเพียรมันจะมีความสุขขึ้นมาได้อย่างไร เขาไม่เชื่อหรอก เขาอยู่ทางโลกของเขา อยู่สุขสบายของเขา อย่างนั้นหรือเขาถึงว่าเป็นความสุขของเขา แต่ความสุขอย่างนั้นมันเป็นความสุขหยาบๆ ความสุขทางโลกเขา แต่ถ้าความสุขความจริงล่ะ ถ้าความสุขความจริง เราจะต้องขวนขวายของเรา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ ถึงเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ไง “ความเป็นมนุษย์” เวลาใครนะมีโอกาส ใครมีโอกาส โอกาสของเขา คือเขาได้สร้างบุญวาสนาของเขามา เขามีโอกาสที่จะบรรลุธรรมได้ แล้วชีวิตเขาสั้น หรือชีวิตเขาจะเสียชีวิตไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปเอาคนนั้นก่อน เห็นคุณค่ามาก เพราะเขาตายไปจะตายเปล่า แต่ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปโปรดขึ้นมา เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เป็นพระอนาคาขึ้นมาต่างๆ เขาได้ประโยชน์ของเขา

แล้วย้อนกลับไปนะ ย้อนกลับไป เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเป็นพระเวสสันดร ๑๐ ชาติ มนุษย์ทั้งนั้นนะ ความเป็นมนุษย์ขึ้นมาเรามีโอกาสทำของเรา ในปัจจุบันนี้เราได้เป็นมนุษย์นี่มีคุณค่ามาก มีคุณค่าจริงๆ เพราะความเป็นมนุษย์มันมีปัญญาของมัน มันรู้ดีรู้ชั่ว มีสติสัมปชัญญะ เลือกทำสิ่งใดก็ได้ ถ้าเลือกทำสิ่งใดก็ได้ เรามีสติปัญญาของเรา ถ้าความเป็นมนุษย์ หน้าที่การงาน ถ้าทางโลกเราก็ทำหน้าที่การงานของเราไป

แต่ชีวิตนี้เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึง “ทาน ศีล ภาวนา”

เราจะทำบุญทำกุศลขนาดไหน ถึงที่สุดแล้วเราต้องภาวนาของเรา ถ้าเราจะภาวนาของเรา เราทำหน้าที่การงานของเราแล้ว ถ้ามีโอกาสเราก็ภาวนา ถ้าเราภาวนาจนเรามีสติปัญญาของเรานะ เราจะเห็นมีคุณธรรมในหัวใจ มีธรรมในหัวใจนะ ชีวิตความเป็นอยู่ของโลกเรามันจะไม่ทุกข์ร้อนเกินไป มันจะขาดแคลน อัตคัดขัดสน มันจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหน จิตใจเรามีหลัก มันไม่ตื่นไปกับเขา

“อยู่กับโลกโดยไม่ตื่นโลก”

แต่ถ้าไม่มีธรรมในหัวใจนะ เวลามันไปกับเขา มันไปกับเขาหมดนะ มันจะต้องเป็นอย่างนั้น นี่ผลตอบแทนต้องได้เท่านั้น ถ้าได้เท่านี้มันผลตอบแทนนี้มันถือว่าขาดทุน คือว่าทุกข์ไปหมดน่ะ มันจะขาดทุน-กำไรต่างๆ เราก็มีชีวิตอยู่

ชีวิตนี้ เพราะมีเรา เราถึงมีทรัพย์สมบัติ มีสถานะทางสังคม มีคนยกย่องสรรเสริญ เพราะมันมีเราน่ะ แล้วไอ้ขาดทุน-กำไรมันเป็นเพราะเราคิด เราวิตกวิจารณ์ คนนอกเขาบอกว่าเรากำไรมหาศาล เราเป็นคนที่มั่งมีศรีสุข...เขามองเรา เขาอิจฉาเรานะ แต่เราไม่เห็นคุณค่าของเรา เพราะอะไร เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรามันเหยียบย่ำหัวใจ เพราะเราขาดธรรม

แต่ถ้าเรามีธรรมนะ เราประพฤติปฏิบัติของเรา เราเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา เราก็ทำหน้าที่การงานของเรา เราก็ประพฤติปฏิบัติของเราด้วย ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเรา เรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เราก็มีธรรมในหัวใจของเรา

ใครจะพูดขนาดไหนก็แล้วแต่ “โลกธรรม ๘” สรรเสริญ นินทา มันมีอยู่ประจำโลก ใครจะติฉินนินทา ใครจะสรรเสริญแค่ไหนมันลมปากของคน มันไม่สามารถทำให้หัวใจเรามีความสุขหรือความทุกข์ขึ้นมาได้หรอก แต่เพราะเราโง่ เพราะเราโง่ เราถึงคล้อยตามเขาไป

เขาสรรเสริญเยินยอนะ ก็เหมือนลมปากเขา ลมพัดมาก็เย็นสบายดี เวลาเขาติฉินนินทานะ มันเหมือนกับเสาเข็มมันปักอยู่กลางหัวใจน่ะ เวลาเขาติฉินนินทามันเจ็บปวดเจ็บแสบนัก เวลาเขาชื่นชมขึ้นมาก็แค่ยิ้มๆ หน่อยเดียวเท่านั้นน่ะ นี่เพราะมันขาดสติ มันไม่มีธรรมในหัวใจ

ถ้ามีธรรมในหัวใจ เราประพฤติปฏิบัติของเรา

ถ้าเราอยู่ทางโลกนะ เราก็พยายามกระทำของเรา

แต่ถ้าเรายินดีในธรรม เราเสียสละมาบวชเป็นพระเป็นเจ้า เวลาเราบวชเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมา เรายินดีในธรรม เราเลือกบวช เราเลือกสถานที่ เราเลือกกรรมฐาน เลือกครูบาอาจารย์ของเราที่มีหลักมีเกณฑ์

เวลาเราบวชมาแล้ว เราบวชแล้วเราจะประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรายินดีในธรรมนะ ดูพระนะ ถ้าพระยินดีในธรรม ดูบริขารสิ “บริขาร” เรามีสติมีปัญญาของเรา เรารักษาบริขารของเรา แต่พระที่ไม่ยินดีในธรรมนะ บริขารเขาทิ้งๆ ขว้างๆ นะ เวลาพระทิ้งๆ ขว้างๆ เขาไม่สนใจหรอก ถ้าเขาไม่ยินดีคือเขาไม่ถนอมรักษา ไม่ถนอมรักษามันก็เป็นอาบัติ เห็นไหม ดูสิ ผ้าครอง บาตรต่างๆ ถ้าไม่เช็ด ไม่ล้าง ปล่อยไว้ให้มันมีกลิ่นอับต่างๆ เป็นอาบัติทั้งนั้นน่ะ มันเป็นอาบัติทุกกฎ สิ่งใดที่เป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม เป็นอาบัติทุกกฎ

อาบัติทุกกฎ คือความชั่วหยาบ

แต่ถ้าไม่เป็นอาบัติทุกกฎ เห็นไหม เช็ดบาตรแล้วเราต้องผึ่งแดด เพื่อให้ไม่มีกลิ่นต่างๆ เสร็จแล้วผึ่งนานก็ไม่ได้ เพราะผึ่งนานแล้วเหล็กมันร้อน เราต้องถึงผึ่งแล้ว พอมันหมดจากกลิ่นอับแล้วเราก็เก็บไว้ กลับที่พัก ผึ่งผ้าของเรา ผึ่งต่างๆ

เราเก็บ เรารักษา เราดูแลของเรา เพราะ “เรายินดี” เพราะเรายินดี เรามีการกระทำ

เราบวชมาในกรรมฐาน ครูบาอาจารย์ของเราฝึกฝนมา ข้อวัตรปฏิบัติมา เราทำมาเพื่ออะไรล่ะ...เป็นกุศล กุศลนะ เพราะเรายินดีในธรรม ถ้ายินดีในธรรม เรายินดีเราก็พอใจ พอใจเราทำ เราทำเพื่อสิ่งใด เราทำสิ่งนี้ เราดูแลบริขารของเรา ข้อวัตรปฏิบัติของเรา เราทำเพื่อสิ่งใด เราทำเพื่อฝึกสติ

ถ้าเรามีสติขึ้นมา “การทำ” เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน

“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ฉะนั้น เราจะเหยียด จะคู้ เราจะออกบิณฑบาต เราจะเช็ดบาตร เตรียมบาตร ออกบิณฑบาตกลับมาแล้วเราฉันอาหารของเรา เราฉันอาหารของเรา เราปฏิสังขาโยฯ เราพิจารณาอาหารแล้วเราได้ฉันอาหารของเรา ฉันอาหารเสร็จแล้ว ที่เหลือ เหลือเศษอาหารนั้นเราจะให้สัตว์ให้ต่างๆ เสร็จแล้วเราล้างบาตรของเรา เราทำความสะอาดของเรา เราเช็ดบาตรของเรา เราทำให้แห้ง เราผึ่งแดดของเรา เราทำ... นี่ไง มันมีสติ การเหยียด การคู้ การดำรงชีวิต การกระทำต่างๆ มันมีสติ พอมีสติ สิ่งต่างๆ มันก็ทำแล้วมันก็เป็นกุศล นี่ไง ถ้ายินดีในธรรม มันเป็นกุศลนะ

แต่ถ้าบอกว่า ถ้าไม่ยินดีในธรรม มันทิ้งๆ ขว้างๆ ทำปล่อยทิ้ง มันเป็นอาบัติทั้งนั้น ถ้าคำว่า “เป็นอาบัติ” แต่เขาก็ดำรงชีวิตของเขาอย่างนั้น เพราะเขาไม่ยินดีในธรรม

ถ้ายินดีใน “ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเธอ” ถ้ายินดีในธรรม จะไม่ก้าวล่วงธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วสิ่งที่กระทำนี่มันทำตามธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเก็บรักษา เราดูแลของเรา แล้วมันก็ฝึกสติของเรา

บริขารของเรานะ “บาตร” บาตรก็คือบาตร ผ้าก็คือผ้า แล้วไปดูแลผ้า ดูแลบาตร

แล้วมันได้อะไรขึ้นมา?...นี่เราดูแลเพื่อฝึกฝนไง

เวลาทางโลกเขาว่านะ “สิ่งนี้เป็นสมมุติ สิ่งต่างๆ เข้ามันก็เป็นสมมุติ เป็นทางโลก เราจะปฏิบัติเป็นปรมัตถ์ เราจะต้องใช้ปัญญาไปเลย”

แล้วปัญญามันอยู่ไหน?

การเริ่มต้นปฏิบัติ ถ้ายินดีในธรรมนะ แล้วเรามีครูบาอาจารย์เป็นแบบอย่างนะ ความยินดีของเรา เราจะมีกำลังใจ แล้วมีการกระทำ พอมีการกระทำขึ้นมา พอทำเป็นกุศล พอกุศล จิตมันก็มีความสุข มันก็มีแบบว่ามีความสุข มีความอิ่มเอมในหัวใจ ถ้ามันมีความอิ่มเอมในหัวใจ มันมีสติของมันขึ้นมา

ศีล...ศีล สมาธิ ปัญญา...เราจะฝึกสมาธิ เราจะทำคุณธรรมของเรา

ถ้า “ยินดี” ถ้ายินดีมันจะศึกษา ศึกษาแล้วฝึกฝน ฝึกฝนแล้วมีการกระทำ พอมีการกระทำ นั่นคือการฝึกทั้งนั้นน่ะ นี่ก็ว่า “ฝึกสติ กำหนดสติ ฝึกสติ สติจะมาเอง จะมา-ไม่มาเอง จะเกิดปัญญา...”

ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรานะ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ตรัสรู้ที่ไหน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ใครเป็นคนสอน ใครเป็นคนผู้ชี้แนะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษามาจากลัทธิต่างๆ สุดท้ายแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกมันหาทางออกไม่ได้ ถึงได้มากำหนดอานาปานสติ ตั้งแต่ปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม

เวลาสำเร็จเป็นศาสดาของเราแล้ว ธรรมวินัยมันเกิด เวลาเกิดขึ้นมามันเกิดที่ไหน แล้วเราศึกษา ศึกษาธรรมะๆ มันเป็นอะไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษาจากใคร แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติอย่างใด

ทีนี้ เราเกิดมาเป็นสาวก-สาวกะ เป็นผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าผู้ได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังเรื่องอะไร “ได้ยินได้ฟัง” ถ้าได้ยินได้ฟังเรื่องธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาเราฟังเทศน์ตามคัมภีร์ใบลาน นั่นมันอะไร? นั่นมันเหมือนถ้าเป็นปัจจุบันนี้มันก็เหมือนกรณีตัวอย่าง กรณีปฐมนิเทศว่าเราต้องทำอย่างไร ต้องทำอย่างไร แล้วศึกษามาแล้วก็ศึกษา แล้วได้ธรรมหรือยัง แต่เวลาเรายินดีในธรรม เราศึกษา

เวลาบวชมา อุปัชฌาย์ต้องให้กรรมฐานมาแล้ว เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เธอจงพิจารณาทั้งอนุโลม-ปฏิโลม ย้อนหน้าย้อนหลัง ทำให้มันทะลุให้ได้

แล้วทำอย่างไรล่ะ? แล้วเอากำลังมาจากไหน? เอาอะไรไปพิจารณาล่ะ?

เราก็คิด เราก็ตรึก มันก็เป็นเหมือนกับเด็กๆ ที่มันหัดทำงานของมัน แต่เวลาถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา...เด็กกับผู้ใหญ่ทำงานแตกต่างกันไหม? เด็กกับผู้ใหญ่ทำงานแตกต่างกันมาก จิตใจที่ยังไม่มีหลักมีเกณฑ์ เวลามันพิจารณาของมัน เวลาคิดของมัน มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของทางโลกๆ มาศึกษาธรรมะ แล้วศึกษาอย่างไรต่อไป

“มันเป็นปรมัตถ์ มันจะเป็นกิเลสไม่ได้ มันจะมีตัณหา ไปตรึกในธรรมไม่ได้ มันต้องเป็นปรมัตถ์ มันต้องรู้เท่าทัน แล้วกำหนดแล้ว...”

แล้วมันเป็นอย่างไรต่อไปล่ะ?

แต่ถ้ากรรมฐานเรา เรามีครูบาอาจารย์ของเรา

ดำรงชีวิตประจำวัน เริ่มต้นจะเหยียด จะคู้ จะบิณฑบาต จะทำข้อวัตร จะทำสิ่งต่างๆ ฝึกสติ ให้มีสติ พอมีสติขึ้นมา นี่พระเรานะ ตั้งแต่ ๕ พรรษาจะพ้นนิสัยถ้าเป็นผู้ฉลาด ถ้า ๕ พรรษาไม่เป็นผู้ฉลาด ไม่พ้นนิสัย แล้วพอพระพรรษามากขึ้น การเดิน การเหยียด การคู้ การกระทำ เขาจะรู้เหตุรู้ผลการกระทำ

แต่ถ้าเรายังบวชใหม่ “ภิกษุบวชใหม่ โทษของภิกษุบวชใหม่คือทนคำสั่งสอนได้ยาก”

โทษของภิกษุที่บวชใหม่ ทนคำสั่งสอนได้ยาก...ได้ยากเพราะสิ่งใด? ได้ยากเพราะเขาเป็นคฤหัสถ์มา

“ฆราวาสธรรม” ที่ว่าเราศึกษาเป็นปรมัตถ์ๆๆ นั่นฆราวาสธรรม ฆราวาสธรรมก็คือธรรมของฆราวาส พอฆราวาสเขา เขาอยู่สุขสบายอยู่ของเขา นี่สิทธิเสรีภาพ ใครจะมาข่มเหงได้ ใครจะมาทำสิ่งใดได้ ทุกคนก็รู้แล้ว ก็เหมือนกับเราอ้างประชาธิปไตยนี่แหละ สิทธิเสรีภาพเท่ากัน กฎหมายเท่ากัน...แล้วมันเท่ากันจริงไหม แล้วมันเท่ากันจริงไหมล่ะ ทำไมบางคนเขาทำแล้วเขาไม่ผิดล่ะ นี่พูดถึงกฎทางโลกเขา แต่ถ้าเราฆราวาสธรรม เราทำทางโลก มีค่าเท่ากันๆ

แต่เขาฝึกหัดฝึกฝนมา ๕ พรรษา ๑๐ พรรษา ๒๐ พรรษา สิ่งนี้เขาทำมา เขาทำมาทุกวัน เขาทำมาเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี แล้วเราบวชใหม่เราว่าเหมือนกัน บวชใหม่ สิทธิเสรีภาพ ศีล ๒๒๗ เท่ากัน ทำเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน

เวลาฉันอาหารเป็นภัตกิจ เวลาเป็นภัตกิจ ทางธรรมวินัยให้มองไปในบาตร อย่ามองออกไปข้างนอก ให้ปฏิสังขาโยฯ พิจารณาว่าอาหารมันเป็นอะไร อาหารมันบูดมันเน่าไหม อาหารที่เราฉันเข้าไปเพื่อดำรงสิ่งใด นี่สิ่งนั้นมีสติ มันทำของมัน มันทำของมันได้แล้วมันพิจารณา เขาชำนาญการนะ หลวงปู่มั่นท่านพิจารณาข้าวเมล็ดเป็นเหมือนตัวหนอนขยับได้เลย ยุบยิบๆ เลย แล้วพอพิจารณาขนาดนั้นน่ะจะฉันอาหารได้ไหม นี่การฉันอาหาร การพิจารณา

อาหาร เวลาฉันอาหารเป็นประโยชน์มาก เพราะการฉันอาหาร ตาได้เห็นอาหาร ลิ้นได้ลิ้มรส จมูกได้กลิ่น มันเปิดหมดนะตอนฉันอาหาร แต่ในถ้าครูบาอาจารย์เราที่ประพฤติปฏิบัติ เขาเรียก “ภัตกิจ” กิจที่จะต้องเติมพลัง เติมให้ร่างกายนี้มีพลังงานต่อไป เติมให้ชีวิตนี้สืบต่อ นี่มันเป็นกิจกรรมอย่างเดียวเท่านั้น มันไม่มีอะไรดีไปกว่านั้นหรอก

แต่ถ้าเป็นกิเลสนะ นี่มันกระทบเต็มที่เลย ฉะนั้น เวลาถ้าเราฝึกหัดมา เราปฏิบัติ ทำเหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกัน เห็นไหม ผู้ที่มีสติปัญญานะ แล้วถ้าครูบาอาจารย์ท่านที่ปฏิบัติมาถึงที่สุดแล้วนะ ธาตุขันธ์มันได้สมบุกสมบันมามาก ท่านจะต้องดูแลเพื่อเหตุใด ก็ดูแลเพื่อเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้คนอื่นนั่นน่ะ มันไม่มีอะไรหรอก แล้วเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมา ใครเป็นคนเจ็บไข้ได้ป่วยล่ะ ก็เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ผู้นั้นเป็นผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย

ฉะนั้น สิ่งที่เราเวลาทำภัตกิจ ถ้าเรามีสติปัญญา “ยินดีในธรรม” มันยินดีในความรับรู้ว่าสิ่งนี้เป็นของเน่าบูด ของที่พึ่งรังเกียจ พิจารณาปฏิสังขาโยฯ แล้วเราฉันเข้าไปทำไม เราฉันเข้าไปทำไม ถ้าเราฉันเข้าไป มันมีสติมีปัญญา ความรับรู้อันนี้หลังจากที่มันเกิดขึ้น มันมีคุณค่ากว่ารสของอาหารน่ะ รสของอาหารนะ สิ่งที่เป็นอาหารนะก็เข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกาย

เราพิจารณาบาตร เราดูแลบริขาร...บริขารไปดูแลมันทำไม? ดูแลแล้วได้อะไร?

ดูแลฝึกหัดแล้วมันได้สติไง บริขารมันก็เป็นบริขาร เหล็กก็เป็นเหล็ก ผ้าก็เป็นผ้า

แล้วดูแลแล้วได้อะไรขึ้นมาล่ะ?

ก็ได้จิตที่มันสงบ จิตที่มันดีขึ้น จิตที่มันพัฒนาขึ้น

“ยินดีในธรรม” ในธรรมมันอยู่ที่ไหน

ธรรมมันคือความรับรู้สึก ธรรมคือความทุกข์ความสุข ธรรมคือดีและชั่ว ถ้าเป็นไปธรรมอย่างหยาบๆ นะ แล้วธรรมละเอียดเข้าไป โสดาบัน สกิทาคา อนาคา ธรรมที่เป็นอกุปปธรรม อันนี้ละเอียดเข้าไปอีก

นี้เรายินดีในธรรม เราจะเอาอะไรไปหาธรรมล่ะ เราศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า เราก็ว่าเราเข้าใจหมดแล้ว เข้าใจหมดแล้ว แต่เวลาเรามาฝึกหัด มาวางพื้นฐาน เรามาฝึกหัดข้อวัตร เรามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราก็บอกว่า “สิ่งนี้มันเป็นวัตถุ ทำไมต้องไปดูแลมัน มันเป็นภาระ มันเป็นสิ่งที่ว่าใครๆ ก็ทำได้ เราปรมัตถธรรมดีกว่า”

แล้วปรมัตถ์แล้วก็ปล่อยบาตรให้มันสนิมขึ้นใช่ไหม เช้าขึ้นมาก็ฉกบาตรนั้นไปบิณฑบาต พอมาเทข้าวออก บาตรนั้นก็ครอบไว้ ไม่ล้างไม่อะไรให้สนิมขึ้น เราก็ไม่เอาบาตร จะเอาข้าวน่ะ แล้วทำอย่างไรต่อไป นี่ปล่อยให้จนเศร้าหมอง จิตใจจะเศร้าหมอง ความสมณะเพศมันก็เศร้าหมอง ความเศร้าหมอง แล้วมันจะไปประพฤติปฏิบัติให้มันผ่องใส นี่ว่ากันไป แต่เขาก็อยู่กันได้นะ เพราะการยินดีของเขา ยินดีในกิเลส ยินดีในตัวตนเป็นใหญ่

แต่ถ้าเรายินดีในธรรม ถ้าเรายินดีในธรรมนะ เราจะเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเคารพธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะฝึกหัด แล้วเรามีครูบาอาจารย์ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น วางธรรมวินัยไว้นี้ วางข้อวัตรปฏิบัติไว้นี้ให้เราได้ฝึกหัด มันจะดีมันจะชั่วมันอยู่ที่การฝึกหัด ถ้าจิตมันได้ฝึกหัด มันได้ฝึกฝนขึ้นมา เราฝึกหัดจากบริขารของเรา เราไม่ใช่ว่า เหล็ก ผ้า มันจะมีคุณค่าอะไร ที่ไหนมันก็มี

ผ้ามันมีคุณค่า แต่ไปดูในโกดัง ไปดูที่ร้านขายผ้าสิ ไปดูที่บ้านบาตรเขาตีเหล็ก บาตรเต็มไปหมดน่ะ ถ้าบาตรถ้าผ้ามันเป็นคุณธรรมนะ ไอ้ร้านตีเหล็ก ไอ้ร้านตีบาตรมันเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว ยิ่งร้านขายบริขารนี่ โอ้โฮ! เป็นพระอรหันต์หมดน่ะ...มันก็ไม่ใช่

แต่ถ้าเราไม่ฝึกหัด แล้วถ้าเราไม่ยินดีในธรรม เราไม่ฝึกหัด แล้วใครจะรู้ใครจะเห็นน่ะ นี่ไง ปรมัตถธรรมมาจากไหน? ปรมัตถธรรมมันก็ต้องมาจากการฝึกหัดนี่ มาจากฝึกหัด พอฝึกหัดดัดแปลงขึ้นมา เพราะเรายินดี เพราะเรายินดี หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นวางข้อวัตรปฏิบัติไว้ให้เราเริ่มต้นฝึกฝน มันต้องฝึกฝนกระทำ ฝึกหัดหัวใจของเรา พอฝึกหัดหัวใจของเรา เห็นคุณค่า

เวลาออกบิณฑบาตกลับมาแล้ว ได้อาหารมา จัดบาตรเสร็จ จัดบาตรคือจัดอาหารใส่บาตร นี่ถ้ามีสติปัญญาพิจารณานะ ถ้ามีสติปัญญาพิจารณาไปแล้ว ถ้าหลวงปู่มั่นท่านพิจารณาข้าวจนเป็นตัวหนอนเลย นี่เวลาจิตมันอัตตกิลมถานุโยค มันตกไปอีกฝั่งหนึ่งไง

เวลาถ้าเราได้มา เหนื่อยอ่อน ทุกข์ยาก หิวกระหาย ได้สิ่งใดมา ความอยากมันก็เป็นกิเลส มันมีในเราอยู่แล้ว เพราะเราเป็นปุถุชนมันก็ต้องอยากเป็นธรรมดา ถ้ามีสติสัมปชัญญะนะ หักห้าม อะไรที่มันดีวางไว้นี่ จะฉันตรงนี้ จะทำอย่างนั้น สิ่งนี้ถ้าเราบังคับตัวเราเองได้ เราชนะตัวเราเองขึ้นเป็นชั้นเป็นตอน

อาหาร เวลาฉันเข้าไปแล้วมันแค่ดำรงธาตุขันธ์ แต่ถ้าเรามีสติปัญญายับยั้ง พิจารณาของมัน เราได้ เรายินดีในธรรม “ธรรมะ” ธรรมะคือสติ ธรรมะคือปัญญาที่ใช้ปัญญานี้ไตร่ตรองใคร่ครวญในจิตใจของเราให้เห็น ให้เข้าใจ ให้มีกำลัง วางสิ่งนั้น วางสิ่งที่อยากได้ พอใจ แล้วไปจับต้องสิ่งที่ไม่อยากได้ ไม่พอใจ แล้วมาทบทวนดูแล นี่ถ้ามันฉันเข้าไปแล้ว

พอทำภัตกิจเสร็จแล้ว เราล้างบาตรเช็ดบาตรเสร็จแล้วนะ เราไปเดินจงกรมพิจารณาสิ พิจารณาว่าขณะที่เราฉันอยู่ เราใช้ปัญญา เราแพ้หรือเราชนะ ถ้าวันไหนเราแพ้ คือเวลาพิจารณาแล้วทำภัตกิจ ฉันตามแต่ความพอใจ เวลาเราบอกว่าเราไม่ต้องการสิ่งนั้น เราต้องการคุณธรรม เรายินดีในธรรม อยากได้ธรรม อยากได้ปัญญา อยากได้มีสติ อยากได้การชนะตัวเอง

ไปเดินจงกรมแล้วคอตกนะ “เมื่อกี้นี้ ก่อนที่เราจะมาเดินจงกรม ทำภัตกิจน่ะ ทำไมสติปัญญาเราอ่อนด้อย ทำไมเราไม่มีกำลังต่อสู้ได้” เวลาเข้ามาสู่ทางจงกรมนี่คิดได้หมดน่ะ “ไม่ควรทำอย่างนั้น ทำอย่างนั้นผิด ต้องทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้” เพราะขณะที่เผชิญกับในปัจจุบัน เผชิญกับสิ่งที่ตา หู ลิ้น จมูก มันเปิดหมด นี่สติปัญญาเราอ่อนแอ มันไม่ทัน

แต่พอมันผ่านเหตุการณ์นั้นไป เห็นไหม “ฟังเขาเล่าว่า” เขาบอกว่า “ไปเจอเสือ ไปเจอขโมย โอ๋ย! เขาต้องจับอย่างนั้น จับอย่างนั้น จับอย่างนั้นสิ เวลาเขาทำสงครามกัน ต้องทำอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้นสิ เวลาเขาเล่นกีฬากันก็ต้องเล่นอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้สิ” ถ้าวิจารณ์เขา เก่งทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาไปทำเองแพ้ทุกที ไปเจอเสือก็เสือคาบไปกิน ไปเจอขโมย ขโมยก็ปล้นจนหมดตัว เล่นกีฬาก็แพ้ ถ้าทำจริงน่ะแพ้ทุกที แต่เวลามาคิดเองนี่เก่งไปหมด

เวลาเราผึ่งบาตร เราเข้าทางจงกรม เดินจงกรม แล้วเวลามันคิด “นู่นก็ไม่ทัน นี่ก็ไม่ทัน” ฝึกสติ ตั้งสติ ตั้งสติไว้ แล้วพรุ่งนี้เอาใหม่ เอาใหม่ นี่คือการฝึกฝน ถ้าเรายินดี ยินดีในธรรมนะ สิ่งที่การดำรงชีวิตเรามันจะฝึกฝน ฝึกหัดสติ นี่ข้อวัตรปฏิบัติมันจะฝึกใจเรา ถ้าฝึกใจเรานะ เรามีสติ พอมีสติเราก็มีปัญญา พอมีปัญญา ปัญญาอย่างนี้ปัญญาเอาชนะตนเองเป็นครั้งเป็นคราวเข้ามา ถ้าปัญญาเอาชนะตนเองเป็นครั้งเป็นคราวเข้ามา

ถ้าเราชนะ ทำได้อย่างที่ปรารถนา ทำได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้ เวลาไปเดินจงกรมนะ วันนี้เราชนะ เรามีความภูมิใจ เรามีความภูมิใจนะ เราก็ทำให้มันมากขึ้น ละเอียดขึ้น ถ้า “ยินดี” ยินดีแล้วการกระทำสิ่งต่างๆ จะเป็นประโยชน์กับใจทั้งนั้นเลย

“มองข้าม” โลกมองข้ามเพราะสิ่งนี้เป็นสมมุติ สิ่งนี้มันเป็นวัตถุ...เป็นวัตถุเราก็ต้องอาศัย เพราะเราเป็นพระใช่ไหม เรามีบริขาร ๘ ใช่ไหม สมบัติของเรามีเท่านี้แหละ แล้วสมบัติ ถ้าเราทำให้มันชำรุดเสียหาย เราต้องรักษา ต้องปะ ต้องชุน ต้องซ่อมแซมทันที เราก็ซ่อมของเรา ซ่อมเพื่ออะไร? เพื่อวัดใจของเรา วัดใจของเรา วัดใจของเราแล้วเราก็ภาวนา พยายามทำใจเราให้มีความสงบระงับ ถ้ามีจิตมันสงบนะ พุทโธๆ เพราะจิตมันทำอะไรต่างๆ ทำการดำรงข้อวัตร การฝึกฝนของเรา ถ้ามันผ่านประสบความสำเร็จมา มันจะมีความภูมิใจ

“กุศล” เราทำกุศล เราทำกุศลความดีงามเพื่อใจเรา ถ้าเราทำกุศล บุญกุศลเพื่อหัวใจของเรา แล้วเวลาไปทำความสงบของใจ ใจมันจะสงบระงับขึ้น ใจสงบระงับขึ้น จนใจสงบระงับเราก็มีความร่มเย็นเป็นสุข ความร่มเย็นเป็นสุขอันนี้มันเป็นหลักประกันในหัวใจของเรา ถ้าใจเรามีหลักประกันแล้ว

มีครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “จิตสงบแล้ว ให้ฝึกหัดใช้ปัญญา”

เรา “ฝึกหัดใช้ปัญญา” ปัญญาที่เราใคร่ครวญ ปฏิสังขาโยฯ พิจารณาอาหาร มันเป็นการฝึกหัดโดยกรอบโดยการกระทำ นี่ความคิดกับจิต ถ้าความคิด ความคิดอยู่กับเรา เวลาเราโกรธ เรามีความโมโหโทโสขึ้นมา มันให้แต่ผลร้ายกับเราทั้งนั้นเลย เวลาเราฝึกหัดมันก็เป็นความคิดเหมือนกัน ความคิดเรื่องพิจารณาเรื่องอาหาร พิจารณาเรื่องความเป็นอยู่ พิจารณาถึงผ้าไตรจีวรในการห่ม ห่มเพื่ออะไร ทำเพื่อสิ่งใด...เรามีความคิดทั้งนั้นน่ะ เรามีความคิด แต่ความคิดคิดอย่างนี้เพื่อความสงบระงับให้ใจเป็นกุศล ให้ใจมีหลักมีเกณฑ์

แล้วเวลาเรามีศีล ศีลเป็นปกติ เวลาเรามาใช้คำบริกรรมพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ อย่างเช่นเราพิจารณาอาหาร มันก็เหมือนกับปัญญาอบรมสมาธิ เพราะมันรู้เท่ารู้ทัน รู้เท่ารู้ทันแล้วมันมีกำลังมากขึ้น มันปล่อยวางมากขึ้น พอปล่อยวางมากขึ้นน่ะ แล้วเวลาปฏิบัติ พอเวลามากำหนดพุทโธๆ หรือทำปัญญาอบรมสมาธิเพื่อให้จิตสงบ ถ้ามันสงบได้ง่าย สงบแล้วมีกำลังขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์กับเรา

แต่ถ้ามันสงบ พอสงบแล้ว พอจิตมันสงบบ้าง ไม่สงบบ้าง เวลามันสงบแล้วกิเลสมันรู้เท่ารู้ทันขึ้นมา กิเลสมันก็มีอุบายของมันเพื่อจะทำให้เราทำลำบากขึ้น เราลำบากขึ้น ทำลำบากขึ้น เราเคยพิจารณาแล้วมันเคยได้ แล้วทำไมมันไม่ได้ ถ้าไม่ได้เราก็ผ่อนอาหาร เราใช้ผ่อนอาหาร มันต้องมีอุบายพลิกแพลงต่อสู้กับมัน

ถ้าต่อสู้นะ ต่อสู้เพื่อสิ่งใด ต่อสู้เพราะว่าสิ่งที่เข้าไปดำรงชีวิต ถ้ามันอุดมสมบูรณ์เกินไป อุดมสมบูรณ์เกินไปมันก็กดธาตุขันธ์ เห็นไหม “ธาตุขันธ์ทับจิต” เวลาความคิดทับจิต เวลามันฟุ้งซ่าน เวลามีความทุกข์ เวลามันคิดเรื่องแผดเผาตัวเองมันก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง

ขันธ์ ๕ “ขันธ์ ๕ ทับจิต” ทับโดยไม่รู้ตัวเลย เวลาความคิด เวลามันพอใจนะ เราโกรธคนนู้น เราทำคนนี้ เราทำได้หมด มันพออกพอใจนะไปหมดเลย เห็นไหม แล้วเหลือไว้แต่กาก เหลือไว้แต่ซากเมือง คือความเร่าร้อน เหลือไว้แต่ความทุกข์ ฉะนั้น ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เป็นความคิดเหมือนกัน แต่ความคิดนี้มีสติมีปัญญา มีการฝึกฝนมาตั้งแต่ข้อวัตรปฏิบัติ มีการฝึกฝนมา เห็นประโยชน์มาตลอด เพราะข้อวัตรปฏิบัตินี้ ด้วยการฝึกฝนหัวใจนี้ หัวใจนี้ถึงมีพลังงาน ถึงมีตัวจิต พอมีตัวจิต พิจารณาแล้วมันสงบระงับ มันมีความสุขขึ้นมา เราใช้ปัญญาของเรา

แล้วเวลาทำไมปัจจุบันนี้ เวลามันเสื่อมถอย ทำไมมันไม่เป็นดั่งหวัง ถ้าไม่เป็นดั่งหวัง มันก็ต้องมีอุบาย คนเราจะมั่นคง ดูสิ การดำรงชีวิตของเราจะมั่นคง เราต้องมีความชำนาญของเรา เราต้องมีความชำนาญ เราต้องมีอุบาย เราต้องมีประสบการณ์ ประสบการณ์มันจะสอนนะ สอนหัวใจ เจริญ เวลาเจริญก็ดี เวลาเสื่อมนะ เวลาโลกเขาสรรเสริญเราก็ชอบ เขานินทาเราก็เสียใจ แต่เวลากิเลส เวลาปฏิบัติ

“ทเวเม ภิกขเว ภิกษุทั้งหลาย ทาง ๒ ส่วนเธอไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค”

จิตมันตกไปข้างหนึ่ง เห็นไหม เวลาตกไปกามสุขัลลิกานุโยค มีความสุขก็พอใจ ตกไปสู่อัตตกิลมถานุโยค ปฏิบัติแล้วมันเป็นความทุกข์ความยากก็ไม่พอใจ

“ทาง ๒ ส่วนเธอไม่ควรเสพ เธอควรมัชฌิมาปฏิปทา”

“มัชฌิมาปฏิปทา” ความดำรงอยู่ของเรา การขบการฉันของเรา ถ้ามันมีกำลังมากขึ้นไป มันมัชฌิมาปฏิปทาไหมล่ะ มันไม่มัชฌิมาปฏิปทาเพราะว่ามันมีกำลังเกินไป ถ้าเราก็ผ่อนของเรา เราก็ผ่อนของเรา ผ่อนของเราเพื่อหาความสมดุลของเรา ถ้าความสมดุลของเรา นี่กิเลสในเมื่อมันผ่อนอาหาร กิเลสก็ทุกข์ด้วย หิวมันก็หิวด้วย หิว อดอาหารนี่หิวมาก แต่หิวนี้ หิวนี้มันเป็นอะไร กระเพาะหิว? ลำไส้หิว? ปากหิว? หัวใจหิว? ใครหิว?

ถ้าปัญญามันไล่เข้าไปแล้วมันปล่อยหมด มันปล่อยหมด พอมันปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา เพราะว่าคำว่า “ปล่อย” เพราะเรามีสติ มีปัญญา เรามีสติปัญญา เพราะถ้าร่างกายมันทับจิตนะ เวลาเราฉันอุดมสมบูรณ์ของเรา คิดอะไรไม่ออกเลย มันอั้นตู้ไปหมดเลย สิ่งที่อั้นตู้ เวลาจิตเสื่อมนะ นี่ถึงเป็นอุบายไง

เราคิดว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา” เราก็ต้องทำสมาธิ เราก็ได้สมาธิ...สมาธิคือผลนะ แต่เวลากระทำน่ะ เวลาเราตั้งใจของเรา เราตั้งใจของเราเพื่ออะไร เห็นไหม ถ้าเรายินดีในธรรม เราจะมีความมั่นคง มีความกระทำ มีความพอใจ ถ้ามีความพอใจ สิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้าใจมันพอใจมันทำได้หมดเลย ถ้าใจมันไม่พอใจนะ มันทำไปนะ สักแต่ว่า “กากเมือง” สักแต่ว่าทำ ทำไปแล้วมันไม่เต็มไม้เต็มมือ

ถ้ามันพอใจทำของมัน พอมันพอใจ มันเห็นผล แล้วมันทำของมัน จิตเริ่มสงบนะ

พอจิตสงบ เราก็พิจารณาของเรา ออกหัดใช้ปัญญา ออกฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาในอะไร ถ้าปัญญามันเกิดนะ พอจิตสงบแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาอันนี้มันจะเป็นโลกุตตรปัญญา นี่ภาวนามยปัญญาเกิดตรงนี้

นี่ไง ที่บอกว่า “เป็นปรมัตถธรรม เป็นปัญญา เป็นวิปัสสนาๆ” มันจะเริ่มเกิดต่อเมื่อ... ความเป็นมนุษย์นี้มีคุณค่ามาก มนุษย์สมบัตินี้มีค่ามาก มนุษย์สมบัติเพราะมีสิ่งใด เพราะมีปฏิสนธิวิญญาณ อุบัติในไข่ พอเกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะมันมีจิตดวงนี้ จิตดวงนี้ จิตดวงที่รับรู้ จิตดวงนี้สำคัญมาก

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ๑๐ ชาติมาตั้งแต่พระเวสสันดรลงไป มันพร้อมมา พร้อมมา แล้วเวลาไปเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พอเกิดมาแล้ว เกิดที่สวนลุมพินี

“เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย”

ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ออกบวช ยังไม่ได้อะไรทั้งสิ้นเลย นี่อำนาจวาสนาบารมี เวลาออกบวชแล้วประพฤติปฏิบัติแล้วเป็นศาสดาของเรา

จิตเราก็เหมือนกัน จิตเรา เวลาปฏิสนธิจิตเกิดมาเป็นเรา พอเกิดมาเป็นเรา เราก็เป็นมนุษย์ มีกายกับใจ ร่างกายนี้ คนเกิดมาจะมั่งมีศรีสุข ทุกข์จนเข็ญใจ อาการ ๓๒ เหมือนกัน เกิดมานี้ ร่างกายนี้ เวลาตายไป ร่างกายนี้ก็เอาไปเผาเหมือนกัน แต่หัวใจไม่เหมือนกัน

ถ้าหัวใจไม่เหมือนกัน สิ่งที่ว่าจิตใจนี้ไม่เหมือนกัน จิตใจนี้มีคุณค่า เราเกิดมาด้วยมีคุณค่าที่นี่ ถ้ามีคุณค่าที่นี่ เวลาเราใช้ปัญญาของเรา “ปัญญาทางโลก” ปัญญาทางโลกมันหยาบมากนะ ปัญญาทางโลกคือสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง

“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง กับ สังขารร่างกาย ถ้าพิจารณาเข้าไปแล้วมันจะสงบระงับเข้ามา มันจะสงบระงับเข้ามาอย่างที่เราฝึกหัดตั้งแต่การดำรงชีวิตของเรา ฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติเข้าไป พิจารณาเข้าไป มันปล่อยวางเข้าไป ปล่อยวางเข้าไป จนมันเป็นความว่าง เป็นสิ่งที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นสัมมาสมาธิ

พอสัมมาสมาธิมันออกใช้ปัญญา นี่ภาวนามยปัญญาที่มันเกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นจากใจ

ใจที่มันทุกข์มันยาก ใจที่มันโดนความคิดครอบงำมันอยู่นี่ ความคิดครอบงำอยู่ ความคิดเป็นเปลือกของจิต ความคิดมันเป็นเปลือก เพราะขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ แต่มันอยู่อันเดียวกัน มันเกี่ยวเนื่องกัน ทีนี้ ขันธ์มันไม่ใช่จิต ขันธ์มันเกิด ขันธ์นี้เป็นขันธมาร ขันธ์นี้มันเป็นที่ออกหาเหยื่อ นี่กิเลสเวลาออกหาเหยื่อก็ออกทางความคิดนี่แหละ

ความคิดโดยตัณหาความทะยานอยาก ความคิดมาก คิดมาย คิดทุกข์ คิดยาก ก็ความคิดทั้งนั้นน่ะ “คิดแบบมาร” แต่พอเรามีสติปัญญาขึ้นมา เราใช้ความคิดย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิต่างๆ กิเลสเริ่มสงบตัวลงๆ

ความสงบตัวลง เวลาจิตมันสงบแล้ว จิตสงบแล้วออกใช้ ถ้าจับธรรมารมณ์ จับอารมณ์ความรู้สึก “ธรรมารมณ์” ถ้าจิตมันสงบแล้วถึงเป็นธรรมารมณ์ แต่ถ้าจิตมันไม่สงบนะ มันเป็น “ตัณหา” ความเป็นตัณหาความทะยานอยาก นี่มันจับไฟ

นี่ไง ถ้าเราพิจารณาไป เราปฏิบัติเข้าไป มันจะรู้จะเห็นของมันขึ้นไปโดยข้อเท็จจริง

ถ้าโดยข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงคืออะไร?

ข้อเท็จจริงคือประสบการณ์ของจิต จิตมันรู้ มันสัมผัส

ศึกษานะ เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นอย่างหนึ่ง เวลาปฏิบัติเข้าไป ศึกษามันเป็นชื่อ เป็นชื่อ เป็นแผนที่เครื่องดำเนิน เห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติขึ้นไป แผนที่ก็คือแผนที่ พอลงเข้าไปในพื้นที่ มันแตกต่างกับแผนที่มหาศาลเลย พอมันแตกต่างกับแผนที่ ถ้าจิตมันสงบ พอสงบเป็นอย่างนี้

แล้วถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ หรือว่าถ้ากิเลส...บารมีเราอ่อนด้อย พอจิตมันสงบนะ มันก็จะให้ค่ามากเลยว่า “โอ้โฮ! ธรรมะเป็นอย่างนั้น นิพพานเป็นอย่างนั้น” เราศึกษามาหมดแล้ว ศึกษาแต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาหมดแล้ว มันจะคาดหมายไปหมดล่ะ ฉะนั้น ถ้ามีครูบาอาจารย์ ถ้ายินดีในธรรม ถ้าอยู่กับครูบาอาจารย์ เวลาเราไปหาครูบาอาจารย์ เวลาครูบาอาจารย์ท่านคอยแนะนำเราน่ะ ทำไมเรามีความโต้แย้ง ทำไมคนที่ยินดี ยินดีในธรรมด้วยกัน ธรรมกับธรรมก็ต้องเป็นสิ่งที่คุณงามความดีด้วยกันสิ

แต่ขณะที่เราปฏิบัติ เราปฏิบัติ เรามีกิเลสอยู่ ฉะนั้น กิเลสนี่มันครอบงำจิตเราอยู่ พอจิตเราเข้ามาอยู่ เราปฏิบัติไป เวลาปฏิบัติไป เวลากิเลสมันบวกเข้ามา เวลามีตัณหาความทะยานอยากบวกเข้ามา มันมีสมมุติเจือปนเข้ามา ถ้ามีสมมุติ สมมุติในหัวใจของเรา แต่เราไม่รู้ เราไม่เข้าใจว่ากิเลสมันอนุสัยมันนอนเนื่องมากับจิตแล้ว แต่เราว่าเราคิดว่าเราใช้ปัญญาของเราอยู่ ถ้ามันรู้เรื่องสิ่งใด คำว่า “อนุสัย” มันรู้ของมันใช่ไหม ว่าสิ่งนี้เป็นความว่างสิ่งต่างๆ

แต่ครูบาอาจารย์บอกว่า “ว่างนี่สติไม่สมบูรณ์ มันว่าง มันไม่มีเจ้าของต่างๆ” เราก็คิดเรา เราก็งงนะ ฉะนั้น เวลาเราปรึกษาครูบาอาจารย์ ขณะที่เราพูดเราคุยกับครูบาอาจารย์ เราต้องพูด คำพูดนี้ การโต้แย้งนี้เป็นการโต้แย้งว่า ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ มันเป็นมงคลของการปฏิบัติเลยนะ มันเป็นมงคลชีวิตนะ การที่เราสนทนาธรรมกันเป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก เป็นสิ่งที่มันเป็นการจะชี้ ช่วยกลั่นกรองให้มันกระชับมากขึ้น ให้มันตรงต่อธรรม ให้มันมีความมั่นคง ให้มันมีความดีงาม ถ้ามีครูบาอาจารย์

ฉะนั้น การโต้แย้ง การสนทนาธรรม ไม่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ มันเป็น...ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมา ท่านจะรู้กรณีอย่างนี้ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจใช่ไหม เราก็บอกว่า ถ้าเป็นการโต้แย้ง เป็นอะไรต่างๆ มันก็จะไม่เป็นคุณธรรม เราก็จะไม่กล้าทำสิ่งใดเลย เราก็จะสะสมความเห็นผิด สะสมความนึกคิด สะสมสิ่งอันนั้นไว้ในหัวใจ แล้วเราก็จินตนาการว่าเป็นธรรม เป็นธรรม

แต่ถ้าเราเพื่อประโยชน์กับเรา เรามีครูบาอาจารย์ เราต้องถาม เราต้องตรวจสอบ การตรวจสอบนั้นมันเปิดใจเรา แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ท่านมีอนาคตังสญาณนะ ท่านรู้ของท่านหมดน่ะ แต่รู้ขนาดไหน เวลาพูดมามันเป็นโทษกับเรา เป็นโทษกับเรานะ โทษกับเราตรงไหน โทษกับเราว่าสิ่งนี้มันถนอม มันรักษา ทิฏฐิของเรา เวลาใครรู้ใครเห็นสิ่งใด ความรู้ความเห็นนั้นมันก็เป็นประสบการณ์ของจิตใช่ไหม...แน่นอน ที่ว่าโต้เถียง โต้เถียงตรงนี้แหละ

ประสบการณ์ของจิตเราพูดออกไป เราแสดงออกไป เพื่อให้ครูบาอาจารย์ท่านได้ตรวจสอบ แล้วให้ท่านได้กลั่นกรองให้เรา แต่ถ้าเรารักษาของเราไว้ ด้วยคิดว่าสิ่งนี้เป็นคุณธรรม แล้วถ้าครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการหรือกะเทาะสิ่งนี้ มันเกิดทิฏฐินะ เกิดทิฏฐิ ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านถึงจะต้องรอเวลา รอเวลาให้จิตที่มีความเห็น มีความยึดนี้ มีประสบการณ์ของจิตนี้ได้คลายตัว ถ้าได้คลายตัว ถึงเวลามันเหมาะสมแล้วนะ ครูบาอาจารย์จะบอกว่ามันเป็นอย่างนั้น มันควรอย่างนั้น มันน่าจะเป็นอย่างนั้น จิตดวงนี้จะไม่มีทิฏฐิ มันจะเปิดรับ แล้วมันจะทำให้จิตดวงนี้ก้าวเดินได้ง่ายขึ้น นี่เวลาภาวนาไป เพราะเรารู้เราเห็นน่ะ เรายินดีในธรรม

ถ้าเรายินดีในธรรม ทำไมเราโต้แย้งครูบาอาจารย์ ทำไมเราไม่เคารพบูชาท่าน?

เราเคารพบูชา แต่ของเราก็มีอยู่ใช่ไหม ในจิตใจเราเราก็รู้เราก็เห็น ถ้ารู้เห็น ในการรู้เห็นของเรา มันยังเจือไปด้วยมีอนุสัย มีต่างๆ มันเจือปนมา แต่เจือปนมาด้วยความไม่รู้ของเรา แต่ถ้าเรายินดีในธรรม เพราะธรรมะ การสนทนาธรรมเป็นมงคลของการปฏิบัติ

ครูบาอาจารย์บอกว่า “เวลาเทศนาว่าการในการปฏิบัติ การฟังธรรมนี่เป็นการปฏิบัติสุดยอด เพราะการแสดงธรรม แสดงออกมาจากใจ”

ถ้าแสดงออกมาจากใจ แล้วใจเราล่ะ?

ใจของครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านต้องมีประสบการณ์ของท่าน เห็นไหม มีประสบการณ์ มีข้อเท็จจริงมา ฉะนั้น เวลาแสดงธรรมจะมีข้อเท็จจริงออกมา ทีนี้ เวลาเราปฏิบัติ เราก็มีข้อเท็จจริงของเรา ถ้าเราไม่มีข้อเท็จจริงของเรา

เราจะมีสติ สติมีแต่ชื่อใช่ไหม ไม่มีตัวจริงเลยเหรอ

สมาธิ สมาธิก็มีแต่ชื่อ สมาธิในใจเราไม่มีเลยเหรอ

แล้วถ้าปัญญา ปัญญาก็คอมพิวเตอร์ไง แล้วปัญญาของเรามันมีไหมล่ะ

นี่ไง ถ้าปัญญาของเรามี ปัญญาของเรามันเป็นอย่างใด

มันตรวจสอบ การฟังธรรม ดึงขึ้นมา ดึงขึ้นมา แล้วเราจะปฏิบัติของเราไป ถ้ามันตรวจสอบ สิ่งนี้ ถ้าการตรวจสอบมันเป็นประโยชน์ เป็นผลดีทั้งนั้นนะ...ไม่เป็นผลเสีย เป็นผลดี ถ้าเป็นผลดีขึ้นมา เป็นผลดีแล้วมันก็กลั่นกรอง

ถ้าครูบาอาจารย์ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีสิ่งที่สูงกว่า จะแก้ทิฏฐิที่เราว่าสิ่งนี้เป็นจริง สิ่งนี้เป็นจริงได้อย่างใด แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นจริง เวลาท่านพูดออกมา “อื้ม! เรายังขาดตกบกพร่องสิ่งใด เราไม่สมบูรณ์ตรงไหน เอ๊ะ! ทำไมตรงนี้เรายังเข้าใจได้ไม่ได้ ทำไมท่านบอกว่าเป็นอย่างนี้ ทำไมของเราเข้าใจเราไม่ได้”

นี่ไง การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง ฉะนั้น ถ้ายินดีในธรรมแล้วนะ มันจะเปิดกว้าง แล้วมันทำสิ่งใดนะ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา แต่ถ้ามันยินร้าย ยินร้ายนะ เวลาการภาวนาไปมันมีติด เวลามันติดขึ้นไป มันติดขึ้นไป มันติดขึ้นมา ถ้ายึดของเขานะ ถ้าไม่มีวิบากกรรม สิ่งนั้นจะไม่ทำให้เสียหายมากนัก ถ้าติดก็ติดอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ถ้ามีวิบากกรรม ไปรู้ไปเห็นสิ่งใดแล้วมันสะเทือนใจ สะเทือนใจ อย่างนั้นมันต้องค่อยๆ แก้ไขกันไป...ในการปฏิบัติ มีบ้าง มีบ้าง แต่มีอย่างนี้มันก็ต้องอยู่ที่อำนาจวาสนา อยู่ที่จิต อยู่ที่พันธุกรรมของจิตที่สร้างมา สร้างมาอย่างไร

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ คุณค่าของมนุษย์มีคุณค่ามาก แล้วเราพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา เราจะต้องตรวจสอบ ต้องเอาสิ่งที่เป็นทรัพย์จากการประพฤติปฏิบัตินี่ไง ทรัพย์คือทรัพย์ของใจ ทรัพย์ของโลกเราแค่ดำรงชีวิตเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าเราทำของเรานะ เราตั้งสติไว้ แล้วทำของเรา พยายามทำของเรา

พอจิตมันสงบแล้วพิจารณา สิ่งใด ถ้าพิจารณากายนะ กายด้วยการใช้ปัญญา ใช้ปัญญาเทียบเคียงนะ ร่างกายของมนุษย์ประกอบไปด้วยสิ่งใด ถ้าจิตสงบแล้วนะ เวลาพิจารณาแล้วมันจะเกิดธรรมสังเวช ถ้าจิตยังไม่สงบนะ พิจารณากาย พิจารณาแล้วมันจะปล่อยวางเข้ามาเป็นสมถะ นี่การพิจารณากาย พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันมีกายนอก-กายใน-กายในกาย

พิจารณากายโดยกายนอก คือการไปเที่ยวป่าช้า ไปดูซากศพ ไปดูสิ่งต่างๆ ดูแล้วมันสะเทือนใจ นี่คือกายนอก กายนอก พอพิจารณาซากศพแล้วมันจะปล่อยเข้ามา ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ จิตสงบแล้วพิจารณา

เวลาจิตสงบ “จิตนี้เห็นกาย” เห็นเป็นร่างกาย เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เห็นจากภายใน ถ้าเห็นจากภายใน ถ้าพิจารณาอย่างนี้มันจะละสักกายทิฏฐิ ละสักกายทิฏฐิเพราะอะไร เพราะจิตเห็น จิตรู้ เห็นไหม จิต ปฏิสนธิจิต ถ้ามันพิจารณาโดยจิต เวลามันปล่อยวางเกิดธรรมสังเวช ก็สังเวชเข้ามา แต่เวลาพิจารณาจิต จิตเห็นกาย แล้วพิจารณากาย มันจะแปรสภาพเป็นไตรลักษณ์ให้จิตนี้เห็น พอจิตนี้เห็น มันเห็นนะ

โดยการติดนะ มนุษย์บอกว่าอยากมีเงินทองมาก ทุกคนก็อยากมีเงินทองมาก ทุกคนอยากมีสถานะมั่งมีศรีสุข แต่เวลาคนเจ็บคนป่วยขึ้นมา มันบอกว่าเงินทองไม่มีคุณค่าเท่าชีวิตเลย ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วยนะ เราหาเงินทองมหาศาลเลย แล้วเงินทองมันช่วยอะไรเราได้ ตอนนี้เราเจ็บไข้จนโคม่า เราจะถึงแก่ชีวิตแล้ว แล้วเงินทองทำไมไม่ช่วยเราบ้างเลยล่ะ เห็นไหม มันจะทิ้งเงินทองเข้ามาเป็นเรา มาถึงตัวเราเลย พอถึงตัวเรานะ มันก็อยากจะหายจากเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเงินทองนี้ให้เขาไปหมดเลย แล้วเราหายจากโรคภัยไข้เจ็บเราก็อยากให้ เราอยากหาย

ทีนี้ การพิจารณากาย ที่ว่า ละสักกายทิฏฐิ...ทำไมต้องละสักกายทิฏฐิ?

เพราะคำว่า “ละสักกายทิฏฐิ” เพราะว่าถ้าถึงที่สุดแล้ว เราจะรักตนเองที่สุด

เราจะเห็นคุณค่าของชีวิตที่สุด

แต่เพราะเราคิดว่าชีวิตเรายังอีกยาวไกล เพราะเราคิดว่าชีวิตนี้ยังยั่งยืนอีกมาก มันก็ลืมตัวเอง ลืมคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ไปเอาใจส่งออกไป เอาใจไปฝากไว้กับแก้วแหวนเงินทองทรัพย์สมบัติ คิดว่าทรัพย์สมบัติได้มาแล้วมันจะเป็นความสุข เห็นไหม มันเป็นสิ่งภายนอก ฉะนั้น สิ่งภายนอก เวลาถึงที่สุดแล้ว ถ้าชีวิตเรา เรามีโอกาสเลือก เราก็อยากเลือกสิ่งที่มีชีวิต เลือกที่เราไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

“จิต” จิตถ้ามันสงบเข้ามา สงบเข้ามาจนมันปล่อยเข้ามาสงบเข้ามา สงบเข้ามาคือมันสงบจากโลกไง สงบจากรูป รส กลิ่น เสียง สงบจากสิ่งที่จิตนี้มันออกไปหาเหยื่อ จิตที่มันออกไปรับรู้เรื่องคนอื่นทั้งหมด รู้เรื่องโลก รู้เรื่องสังคม รู้เรื่องทางวิทยาศาสตร์ รู้เรื่องทุกอย่างเลย...แต่ไม่รู้จักตัว

พอจิตสงบขึ้นมามันปล่อยทุกอย่างหมดเลย กลับมาอยู่ที่ตัวมัน กลับมาอยู่ที่จิต แล้วจิตนี้มันออกพิจารณา ออกพิจารณา พิจารณาสิ่งใดก็แล้วแต่มันเกิดธรรมสังเวช มันสะเทือนใจ สะเทือนใจ สะเทือนใจ ถ้ามันละสักกายทิฏฐิ มันก็บอกว่า เหมือนกับว่าเราเป็นโรคภัยไข้เจ็บมามหาศาลเลย ถ้าเราเสียสละสมบัติทั้งหมดแล้วเราหายจากโรคภัยไข้เจ็บ เราก็พอใจ

มันพิจารณากาย พิจารณากายจนมันละสักกายทิฏฐิ มันปล่อยกาย ปล่อยกาย ปล่อยกาย เพราะจิต ถ้ามันหลงตัวเองมันก็ไปยึดภายนอก ไปยึดทรัพย์สมบัติ พอมันเห็นคุณค่าของชีวิตมันก็ทิ้งทรัพย์สมบัติมาอยู่ที่ชีวิต ถ้าจิตมันสงบแล้ว มันพิจารณากาย พิจารณากาย พอพิจารณากายไปแล้วมันเกิดที่สังโยชน์ร้อยรัดไว้ สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดของกาย ถ้าพิจารณาไป พิจารณาไปมันก็ทิ้งกาย ทิ้งกายมันก็ปล่อยกาย พอมันปล่อยกายมันก็อยู่กับจิต จิตมันก็ปล่อยกายเข้ามาก็เป็นตัวมัน ถ้าเป็นตัวมัน ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ถ้าปล่อยก็มีความสุข ปล่อยก็มีความร่มเย็นเป็นสุข มันปล่อยวาง แบกรับภาระไว้สิ่งต่างๆ

เมื่อก่อนว่าเงินเป็นเรา เงินเป็นเรา ของของเรา ทรัพย์สมบัติของเราในธนาคารเรามีเงินอยู่มหาศาล มีความสุขๆ เลย พอมาเห็นความเจ็บไข้ได้ป่วยน่ะ เงินไม่มีค่าแล้ว อยากหายๆ

“จิต” จิตถ้ามันพิจารณากาย พิจารณากาย เวลามันปล่อย พิจารณากายแล้วมันปล่อย มีความสุขมาก มีความสุขมาก นี่จิตมันยังไม่สมุจเฉทฯ ไง ถ้าพิจารณาซ้ำๆๆๆๆ ซ้ำเข้ามา พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลามันสมุจเฉทปหาน เห็นไหม เวลาคนไข้ แล้วแก้วแหวนเงินทองมีคุณค่า แต่เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็อยากจะหาย พอหายแล้วก็จบ โอ้! ชีวิตเราพอหายแล้วนะ เราจะกลับไปมีเงินอีกก็ได้ ไม่มีเงินอีกเราก็ยังมีชีวิตอยู่เพื่อจะหาเงินต่อไป เพื่อเรามีชีวิตอยู่ สมบัติก็เป็นของเราใช่ไหม

“จิต” จิตพิจารณากายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลามันปล่อยขึ้นมา มันก็คือรักษาด้วยมรรคญาณ ด้วยการฝึกฝนของใจ เวลาพิจารณาถึงที่สุด เวลามันขาด พอมันขาดขึ้นมามันปล่อยหมด พอมันขาดแล้ว ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ กายไม่ใช่เรา กายไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่กาย ทุกอย่างปล่อยหมดเลย เหลือจิตไว้ จิตมันปล่อยเข้ามา

ถ้ายินดีในธรรม ธรรมจะละเอียดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปนะ “ยินดีในธรรม” ธรรมอย่างหยาบ ธรรมอย่างขั้นกลาง ขั้นละเอียด ขั้นละเอียดสุด มันมีการเจริญเติบโต มีการกระทำ จิตจะพัฒนาของมันมาเรื่อยๆ ถ้ายินดี มันก็ต้องมีความมุมานะ

เวลาพอผู้ที่ภาวนาเป็น พอพิจารณาจนละสักกายทิฏฐิขาด มันเริ่มภาวนาเป็นแล้ว เริ่มต้นได้ นี่เข้ากระแส พอเข้ากระแส คนทำงานได้ คนทำงานเป็นมันจะขวนขวายมาก ยิ่งคนขวนขวายมากเท่าไร ความรักษา ความบริสุทธิ์ของใจ เรื่องศีล เรื่องความมั่นคงของใจยิ่งถนอมรักษา ถนอมรักษาเพื่อจะทำคุณงามความดีขึ้นไป เห็นไหม เรายังยินดีในธรรมที่สูงขึ้นๆ ถ้ายินดีในธรรม มันจะมีการกระทำ

แต่ถ้าคนพอใจ คนพอใจแค่นั้นมันก็อยู่แค่นั้นใช่ไหม แล้วคนติดนะ ติดว่านี่คือนิพพานแล้ว มันไม่ก้าวเดินเลย เวลาติดนะ เวลาจิตที่มันติดแล้วมันขยับไม่ได้ ขยับได้ยากมาก ทิฏฐิมานะทุกอย่างมันฝังรากลึก ใครจะง้างขนาดไหน เอาอะไรคัดง้างขนาดไหนไปได้ยากมาก

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านมีอุบายของท่านนะ ท่านจะบอกอุบาย บอกเปรียบเทียบให้เราได้หยั่งคิด ให้เราได้สำนึก ได้มีความคิด ได้มีความสังเวชว่า ระยะทางก้าวเดินมันยังอีกตั้งไกล ทำไมเรามานอนจมอยู่ที่นี่ ทำไมเราไม่ก้าวเดินต่อไป ในเมื่อสมบัติ คุณธรรมที่สูงขึ้นมันยังมีอีกมหาศาลถ้าคิดได้นะ แต่ถ้ามีอำนาจวาสนามันอยากได้อยู่แล้ว ถ้าอยากได้อยู่แล้วจะขวนขวาย การขวนขวายก็ทำความสงบของใจให้มากขึ้น

พอจิตสงบมากขึ้น เพราะโสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค มรรคหยาบ มรรคละเอียดแตกต่าง ถ้ามรรคอย่างหยาบ ดูสิ ดูความเป็นมนุษย์ของเราสิ ความเป็นมนุษย์นะ เราต้องฝึกฝนของเรานะ พอสร้างสติขึ้นมาให้เหนือมนุษย์ พอเหนือมนุษย์ขึ้นมา สติมันดีขึ้น มันถึงสตินี้ถึงจะรักษาจิตของเราให้จิตของเรามีสมาธิ

การทำสมาธิมันต้องมีสตินะ เพราะการทำสมาธิ จิตมันสงบแตกต่างจากปุถุชน

ปุถุชน คือคนหนา คนหนา คือควบคุมอารมณ์ความรู้สึกตัวเองไม่ได้

กัลยาณปุถุชน คือคนเป็นปุถุชนเหมือนกัน แต่เป็นกัลยาชน เป็นผู้ที่แยกดีแยกชั่วได้ ถ้าคนที่แยกดีแยกชั่วได้ เขาจะรักษาจิตเขาได้ง่ายขึ้น ถ้าแยกดีแยกชั่วได้ขึ้นมา พอเราแยกดีแยกชั่วได้ พอจิตเริ่มมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เพราะมันเริ่มมีความสงบระงับ พอมีความสงบระงับ มันออกฝึกหัดใช้ปัญญา พอฝึกหัดออกใช้ปัญญา นี่โสดาปัตติมรรค

โสดาปัตติมรรค พิจารณากายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามันไม่ขาด มันไม่เป็นโสดาปัตติผล แต่ถ้าเวลามันขาดนะ เวลาพิจารณาจนมันขาด ขาดนั้นดั่งแขนขาด พอดั่งแขนขาด จิตนั้นจะรู้ชัดเจน นี่ไง สันทิฏฐิโก จิตนั้นรู้เอง โสดาบัน จิตนั้นเป็นผู้รู้ เป็นโสดาบัน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ ใครได้โสดาบัน นางวิสาขา พระอานนท์ ได้โสดาบันก็คือได้โสดาบัน ก็รู้ รู้เพราะพระอานนท์กับนางวิสาขา นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันตั้งแต่ ๗ ขวบ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รู้ แต่เขาพอใจของเขา นางวิสาขาพอใจของเขาแค่นั้น นี่เพราะเขาปรารถนามาอย่างนั้น ถ้าปรารถนามาอย่างนั้น เขาเป็นพระโสดาบันไป

แต่ทางที่จะก้าวเดินต่อไป สิ่งที่ว่าโสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค

ถ้าสกิทาคามรรค เราก็พยายามทำความสงบของใจให้มากขึ้น นี่เพราะเรายินดีในการเจริญเติบโต เรายินดีในสิ่งที่มีคุณธรรมมากขึ้น ถ้าเรายินดี แต่ถ้ามันไม่ยินดี หรือความหลงผิด ถ้าความหลงผิดมันก็ติด แต่ถ้ามันมีความยินดี มีความยินดีเป็นพื้นฐาน มีความยินดีจะมีขวนขวาย มีความยินดีจะมีการกระทำ มีความยินดีจะมีกำลังใจ จะทำสิ่งใดก็ทำได้ ถ้ามีความยินดีนะ ถ้ายินดีในธรรมด้วย

ถ้ายินดีในธรรม ธรรมคืออะไร?

ธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีศีล มีความปกติของใจ ถ้ามีสมาธิมากขึ้น สมาธิมากขึ้นมันความละเอียดขึ้น พอละเอียดขึ้นมันพิจารณาไป ถึงบอกว่า กายนอก-กายในก็กายเหมือนกัน ทำไมมีกายนอก-กายใน กายนี่มันกายนอก-กายใน-กายในกาย มันเป็นคนละระดับกัน

ถ้ากายนอก เหมือนกับผิวหนังกับเนื้อใต้ผิวหนัง เรามองคนเราก็เห็นแค่ผิวหนังเท่านั้นน่ะ แต่ถ้าคนๆ นั้นเกิดอุบัติเหตุ โดนไฟลวกอะไรต่างๆ ผิวหนังเขาลอกหมดเลย เราจะเห็นเนื้อเขาเลย นี่ก็เหมือนกัน เราพิจารณากายโดยธรรมชาติ มนุษย์มันก็เห็นผิวหนังทั้งนั้นน่ะ มันจะส่องเข้าไปใต้ผิวหนังได้อย่างไร เพียงแต่เราใช้ปัญญาตรึกว่า มนุษย์มีผิวหนัง ลอกผิวหนังออก ผิวหนังมันจะเป็นอย่างไร นี่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นะ

แต่ถ้ามันพิจารณากาย เวลาพิจารณาไปมันลอกได้ถ้าเป็นมรรคญาณ มรรคญาณ พอจิตมันเห็น จิตมีกำลัง จิตจะรำพึงไป รำพึงให้เป็นอย่างนั้น น้อมนำให้เป็นอย่างนั้นถ้ามีสมาธิ

ถ้าไม่มีสมาธิ...ไม่ไป รำพึงอย่างไร รำพึงจนตาย ตายแล้วเกิดใหม่มารำพึงก็ยังไม่ได้

แต่ถ้ามีสมาธินะ พอรำพึง พั๊บ พั๊บ พั๊บ พั๊บ พั๊บ...เป็นหมดเลย นี่ถ้าเป็นธรรมนะ เป็นธรรมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นโลกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทีนี้ เวลาเราพูดกับมนุษย์ ก็ต้องบอกเป็นโลก โลกคือวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น สิ่งที่ว่ากายนอก-กายใน ถ้านักภาวนา แหม! คำนี้ซึ้งมากนะ ถ้ากายใน โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค

สกิทาคามรรค ถ้าพิจารณากายมันก็เห็นกายของมัน ถ้าพิจารณากาย เราพิจารณาเป็นไตรลักษณ์นะ พิจารณา... สักกายทิฏฐิ... มันเป็นของพึงรังเกียจ มันจะเป็นไตรลักษณ์ มันจะแปรสภาพ แต่พอเราพิจารณาซ้ำเข้าไปกายใน เวลาพิจารณาไปแล้วมันจะสู่สถานะของเขา เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ มันสู่สถานะ มันจะคายตัวหมด ออกไปสู่ความปล่อยวาง ออกไปสู่สิ่งที่เป็นอากาศธาตุ สิ่งที่ว่างเปล่า

แล้วว่างเปล่าแล้วมันเหลืออะไร?

พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก...พิจารณาด้วยอะไร?

พิจารณาด้วยจิตที่มีพื้นฐาน คือซ้ำบ่อยครั้งเข้า เพราะมันเป็นอุปาทาน ความยึดของใจ พอใจมันยึด พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ขยันหมั่นเพียร แล้วมีสติ พอมีสติก็ใคร่ครวญ พอบ่อยครั้งเข้ามันก็ปล่อย พอปล่อย คำว่า “ปล่อย” เหมือนกับกลับมาพัก กลับมาพักเพราะมันปล่อยหมดแล้ว ทำงานอยู่ งานนั้นปล่อยวางหมด สำเร็จลุล่วงหมด ลุล่วงด้วยตทังคะ ลุล่วงด้วยการเสร็จวงจรการทำงานนั้น แต่ผลตอบรับยังไม่จบ ผลตอบรับไม่มี ผลตอบรับมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข แต่ผลตอบรับด้วยยินดีในธรรม ธรรมที่ขั้นสูงขึ้นไปมันยังไม่จบสิ้นกระบวนการของมัน

ถึงว่าเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอถ้าถึงสิ้นกระบวนการของมัน เวลามันรวมลง มันรวมลง มันปล่อยหมด นี่กายกับจิตแยกออกจากกัน มันรวมลงเลย มันว่างหมดเลย มันปล่อยนี้ โลกนี้ราบหมดเลย

ตทังคปหาน กับ สมุจเฉทปหาน เวลามันประหารขึ้นมา ถ้าธรรมที่มันเกิดขึ้น คุณธรรมในหัวใจของใครเกิดขึ้น ใจดวงนั้นรู้ สันทิฏฐิโก รู้ชัดเจนเลย ถ้าชัดเจนขึ้นมาอย่างนี้

นี่ไง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านวางข้อวัตรไว้ “วางข้อวัตร” หมายถึงว่า เหมือนกับวางแผนที่เครื่องดำเนิน นี่บอกระยะทางเลย แผนที่เลย “จากนั้นไปถึงนั้น เท่านั้น เท่านั้น” เราเดินตามนั้นไป แล้วถ้าเราทำนะ มันต้องเป็นอย่างนั้นเลย เพียงแต่ว่าคนที่ทำได้ง่าย ทำได้ยาก มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเท่านั้นเอง

ถ้าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ที่เดินนำหน้าเราไปแล้วนะ ถ้าเรามีความยินดี พอใจ เราจะมุ่งมั่นได้ แต่ถ้าเราไม่มีความยินดีพอใจนะ เราล้มลุกคลุกคลาน แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นไปแล้วมันยังมีกิเลส มันเป็นตัวต่อต้านเราอีก กิเลสในใจเรานี่ อวิชชาที่พาให้เราเกิด ความไม่รู้ ความหมักหมมของมันนี่แหละ มันมีพลังงาน แล้วพลังงานมันรู้ตัวมันเอง

พอเราทำสติขึ้นมา มีสติมีปัญญาขึ้นมา ทำความสงบของใจเข้ามา มันมีพลังงานแล้วมีสติ ถ้าออกใช้ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา พอปัญญามันสมบูรณ์ของมัน พอสมบูรณ์ของมัน มันเป็นมรรค ๘ มีงานชอบ เพียรชอบ...มันครบองค์ ๘ นี่องค์ ๘ มันหมุนรอบ เวียนรอบไปๆ พอเวียนรอบไป นี่ปัญญามันเกิด พอปัญญามันเกิด มันหมุนเวียนรอบไปมันก็เข้ามาชำระล้างใจของตัวเอง นี่ไง สิ่งที่ว่ามันมีพลังงาน สิ่งที่ว่ามาชำระล้าง มันเกิดจากภาวนามยปัญญาชัดเจนมากเลย พอชัดเจนมันก็มีผลเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา พอมีเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรานะ พอมันปล่อยวางหมด ว่างหมดเลย

การก้าวเดิน ก้าวเดินได้ยากนัก ถ้าจังหวะนี้ จังหวะต่อไปเราจะต้องมี ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ เราจะต้องค้นคว้า เราจะต้องตั้งตัวให้ดี ตั้งจิตให้ดี แต่ส่วนใหญ่แล้วพอมันว่าง มันบอกมันหมดแล้ว โลกนี้ราบหมด ไม่มีสิ่งใดเลย ไม่มีสิ่งใดเลย

กิเลสมันเป็นนามธรรม มันละเอียดมาก ถ้าเรามีสติ มรรคหยาบ-มรรคละเอียดไง อย่างที่เราจะผ่านขั้นตอนแต่ละขั้นตอน มันไม่ใช่อันเดียวกัน มรรคเหมือนกัน แต่หยาบ-ละเอียด ถ้ามันจะใช้การทำงานนี้ จะต้องตั้งสติให้ดี สติให้ดีมันพิจารณาของมันนะ “สติ” เราใช้กำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ รักษาจิตนี้ให้มีกำลังมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น มีสติมากขึ้น

พอมีสติมากขึ้น จาก “สติ” ตรงนี้จะเป็น “มหาสติ” แล้ว

มหาสติเพราะอะไร เพราะมันเร็ว จิตนี้จะเร็วขึ้น

ถึงว่า จิตมันเร็วๆๆๆ ที่ว่ามันความคิดมันเร็วมากๆ นี่เวลาจิตถ้ามันทัน เป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา มันจะรู้เลยว่าเร็วขนาดไหน แต่นี่มันจะเร็วเข้าไปมากกว่านั้นอีก ถ้าเร็วมากกว่านั้นอีก มันต้องเป็นมหาสติ เห็นไหม สติยับยั้งได้ทุกอย่าง สติยับยั้งความคิดได้ สติยับยั้งแล้ว แล้วทำความสงบของใจแล้วเกิดใช้ปัญญาได้ นี่สิ่งที่ก้าวเดินมาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา แต่เวลาสิ่งที่ละเอียดขึ้นไป

นี่ไง ถ้าพิจารณาเป็นกาย กายนอก-กายใน-กายในกาย มันชัดเจนมาก เพราะถ้ามันเป็นมหาสติมันจับได้ ถ้าจับได้ จับกายตรงนี้ได้มันก็เป็นอสุภะ สิ่งที่อสุภะมันก็กามราคะ กามราคะ มันเป็นกามฉันทะ ความพอใจของใจ ใจนี่นะ ถ้ามันทำสิ่งใด นอนเฉยๆ มันก็เป็นกาม นอนเฉยๆ เพราะมันเป็นกามฉันทะ มันพอใจตัวมัน ถ้ามันพอใจตัวมันมันก็ชุ่มอยู่ที่กามนั่นน่ะ แต่เราไม่รู้ไม่เห็นหรอก เราไม่รู้ไม่เห็น โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง ว่างหมด ไม่มีสิ่งใดเลย แต่มันชุ่มอยู่ในนั้นน่ะ มันเป็นกามราคะ มันพอใจในตัวมันเอง

“แค่พอใจในตัวมันเองนะ” มันยังไม่พลิกออกมา ถ้ามันพอใจในตัวมันเองปั๊บ พอมันออกมามันก็เป็นกามฉันทะ มันออกไปสู่โลกแล้ว ถ้าออกไปสู่โลก นี่ไง ทีนี้ ออกไปสู่โลก โลกเขาไม่รู้กัน เขาก็คิดว่ามันเป็นธรรมชาติ มนุษย์เป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์ก็ต้องมีกามเป็นธรรมดา

แต่เวลาปฏิบัติ แล้วเรายินดีในธรรม เราไม่พอใจ เราไม่พอใจเป็นธรรมดา เราไม่ต้องการธรรมดา เราต้องการข้อเท็จจริง ต้องการปฏิบัติ ต้องการมรรคญาณ ต้องการความละเอียดลึกซึ้งเข้าไป พอละเอียดลึกซึ้งเข้าไป พอเราตั้งสติให้ดีมันก็เป็นมหาสติ พอมหาสติ พอมันจับได้ จับได้ก็พิจารณา เวลาถ้าพิจารณาแล้วถึงเป็นอสุภะ อสุภะนะ มันจะเยิ้ม มันจะไหลย้อยขนาดไหน มันจะเป็นสิ่งที่ว่ามันสะเทือนหัวใจขนาดไหน พิจารณาซ้ำๆๆๆๆ พอพิจารณาซ้ำนะ

๑. ความชำนาญของมัน มันจะเร็วขึ้นไปเรื่อยๆ

พอเร็วขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วพิจารณาไปแล้วมันจะมีกิเลสคอยขัดขวาง คอยทำลาย คอยจะทำให้เราล้มลุกคลุกคลานน่ะ สิ่งที่ล้มลุกคลุกคลานเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ฝังจิตมา จิตนี้ไม่มีต้นไม่มีปลายการเกิด การเกิดของจิตไม่มีต้นไม่มีปลาย การฝังลึกของมัน การได้สะสมพลังงานของมัน การได้ฝังลึกเข้ามาเป็นนามธรรมหมดนะ เป็นความรู้สึกนึกคิด

สิ่งที่ว่าพิสูจน์ออกมาทางวิทยาศาสตร์ เราจะเอาอะไรมาพิสูจน์?

มันพิสูจน์ด้วยสติปัญญา ด้วยมรรคญาณ ด้วยจิตเห็นจิต ด้วยความรับรู้ของใจ

ถ้าใจรับรู้ด้วยมหาสติ-ด้วยมหาปัญญาที่พิจารณาใจอยู่นี่ ด้วยความนอนจมของมัน โดยกามฉันทะ ความนอนจมของมันที่เราจะจับมาแล้วมาพิจารณา พิจารณาให้มันเห็น แล้วมันผ่านอะไรล่ะ? มันผ่านอสุภะๆ เพราะกามฉันทะมันก็มีความพอใจ มันก็มีความปรารถนา มันก็มีความรำพึงในหัวใจของมัน

แต่ถ้าเราพิจารณาเป็นธรรม เป็นธรรมมันก็เป็นอสุภะ “อสุภะ” สิ่งคงที่ สิ่งสวยงาม สิ่งพอใจ...สิ่งที่นามธรรมอะไรมันก็ไม่มีอะไรคงที่ ของในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดคงที่ มันเคลื่อนที่หมด มันเป็นอนิจจังหมด มันเป็นไตรลักษณ์หมด ไม่มีสิ่งใดคงที่...ไม่มี!

แต่เพราะจิตเป็นสันตติ มันเกิดขึ้นมา ของมันคงที่ ของมันสวยงาม ของมันมั่นคง ของมันมันจะอยู่ตลอดชาติ มันจะอยู่ค้ำฟ้า มันจะครองโลก มันจะสร้างของมัน แต่ถ้าปัญญามันเข้าไป มันพิจารณาของมันแล้วมันตรงข้ามหมด แต่ตรงข้ามเพราะอะไร ตรงข้ามมันต้องมีมหาสติ-มหาปัญญามันถึงตรงข้าม ถ้าไม่มีมหาสติ-มหาปัญญา ตรงข้ามไม่ได้ เพราะสิ่งนี้ เพราะเราจะเข้าไปชำระล้างตัวเราเอง เราเอาอะไรไปชำระล้างมันถ้าปัญญาเรามันไม่ทัน

ถ้าเรามีสติ มีปัญญา มีการกระทำของมัน มันจะเข้าไปแล้วพิจารณาซ้ำๆๆๆๆ

การพิจารณามันจะมีสิ่งเร้า มันจะมีการบังเงา มันจะมีการสวมรอย นี่ร้อยแปดพันเก้า ในการต่อสู้ ในการปกป้องตัวมันเอง กิเลสมันจะปกป้องตัวมันเองนะ เวลากิเลสปกป้องตัวมันเอง มันไม่ต้องฝึกฝน มันเป็นสัญชาตญาณของมันเป็นแบบนั้น แต่ธรรมะ ธรรมที่เราสร้างขึ้นมา เรายินดีในธรรม เรามีธรรมะพื้นฐาน มีพื้นฐานในใจเราหลายขั้นตอน แต่เวลาขณะที่เราไปเจอสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งกว่า ที่มันมีกำลังมากกว่า เราก็ยังต้องต่อสู้ เรายังต้องมีมหาสติ-มหาปัญญาเข้าไปชำระล้าง เข้าไปต่อสู้ เข้าไปพิจารณาแก้ไขกัน ถ้าแก้ไขกัน

แล้วดูสิ เวลาภาวนา ถ้าขั้นตอนอย่างนี้เราจะอยู่กับใครไม่ได้เลยล่ะ เพราะมันต้องการเวลาตลอด แล้วไม่ต้องการให้ใครมา เหมือนงานอยู่กับมือ มือกำอยู่ที่งาน เราจะปล่อยวางไปทำอย่างอื่น มันได้อย่างไร จิต ถ้ามันจับของมัน พิจารณาของมันอยู่นะ มันไม่ต้องการให้ใครเข้ามาใกล้ ไม่ต้องการให้ใครเข้ามาคุยด้วย ไม่ต้องการให้ใครมาปรารถนา ไม่ต้องการให้ใครมาดูแลทั้งสิ้น มันจะพิจารณาของมัน มันจะทำของมัน

ถ้ามันจะรู้ของมัน จะเป็นจะตายก็หาข้าวมากินทีหนึ่ง แล้วพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่ถ้ามันเป็นจริงของมันนะ มันจะออกอาการอย่างนี้เลย มันจะต่อสู้ พิจารณาของมันซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงที่สุดนะ มันก็ไปขาดกัน เพราะพิจารณาแล้วปล่อยมาๆ มันขาด มันแยกออกจากกัน แต่คราวนี้ เวลาทำลาย มันทำลาย กลับไปทำลายที่ตัวมัน พอกลับไปทำลายที่ตัวมัน มันปล่อย มันก็ไม่มีอะไร ว่างหมดเลย ว่างหมดเลย

ขนาดว่างหมดเลยนะ ถ้ามีสติปัญญาพิจารณาซ้ำๆๆ มันจะมีเศษส่วนของมันอีก ๕ ชั้น เศษส่วนของมันชำระล้างออกไปจนหมดสิ้น หมดสิ้นเลย หมดสิ้นแล้วถึงจะเป็นตัวของมันแท้

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

ถึงตัวมันแท้นะ แล้วตัวมันแท้

ถ้าเรายินดี มีการกระทำ มันจะต่อเนื่อง ละเอียด ลึกซึ้ง เพราะเราทำนะ

เวลาเราปฏิบัติขึ้นมาด้วยข้อวัตรปฏิบัติเพื่อจะให้จิตใจมั่นคงขึ้นมาเพื่อจะให้ก้าวเดิน จากไม่มีสิ่งใดเลย จิตก็หาไม่เป็น จิตก็หาไม่ได้ เราก็อาศัยบริขาร เครื่องดำรงชีวิตของเรานี่แหละเป็นการหาตัวมัน เป็นการเริ่มต้นหยั่งตัวเอง ตั้งตน ตั้งจิตขึ้นมาให้มั่นคงขึ้นมา จากการดำรงชีวิต จากเครื่องอัฐบริขาร จากการบิณฑบาต การขบการฉัน เพื่อให้สติปัญญารวบรวม ให้จิตขึ้นมาเป็นสัมมาสมาธิ เป็นเอกภพ เป็นเอกภาพ เพื่อจะให้ทำงานพิจารณาของมัน

ถ้าพิจารณาของมัน พิจารณาแล้วมันก็จะเป็นประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง จิตมันมี จิต สิ่งที่มี แล้วเรารวบรวมขึ้นมา จากโลกๆ ที่เขาใช้กันน่ะมันส่งออก ส่งออกไป จิตมี จิตอยู่กับเรา แต่ส่งออกไปเรื่องข้างนอกหมดเลย แต่เวลาเรารวบรวมกลับมา จิตเรามันมี พอจิตเรามีมันออกวิปัสสนา มันก็ใช้จิตที่ออกทำเลย ไม่ใช่ใช้ขันธ์ออกทำ

พอจิตมันออกทำ มันพิจารณาซ้ำๆๆ เข้ามา จนพิจารณาบ่อยครั้งๆ เข้ามา เวลามันไม่มีเราก็หามา ต้องพยายามตั้งตัวเองขึ้นมาให้ได้ แล้วทำขึ้นมาจนมันปล่อยเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามานะ กายนอก-กายใน-กายในกาย ทิ้งมาหมดเลย แล้วตัวมันคืออะไร?

กายของจิต จิตนี้ถ้าเปรียบเทียบแล้วเป็นกายที่ละเอียด เป็นกายทิพย์ สิ่งที่มันมีของมัน สิ่งที่เป็นกายทิพย์ ที่ว่าขันธ์ ๔ ที่มันไม่มีรูป ไม่มีสิ่งใดเลย นี่ไง ถ้ามันพิจารณา ถ้ามันจับของมัน ถ้ามันจับได้ มันพิจารณาของมันได้ สิ่งนี้ถ้าจับได้

“อรหัตตมรรค” สิ่งที่เป็นอรหัตตมรรค ถ้าไม่ใช่อรหัตตมรรค จับไม่ได้

แล้วอรหัตตมรรค กับ อนาคามรรคแตกต่างกันอย่างใด?

“อนาคามรรค” ยังเป็นสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง เป็นมหาสติ-มหาปัญญา

ถ้า “อรหัตตมรรค” มันเป็นตัวมันเองกับตัวมันเอง มันไม่ใช่สิ่งอื่นแล้ว แล้วพอมันซึมซับเข้าไปจนถึงที่สุด มันพลิกฟ้าคว่ำดินจบสิ้นกระบวนการของมัน ถ้ากระบวนการของมัน

จากถ้าเรายินดีในธรรม มันก็จะเป็นธรรม ถ้ายินดีในโลก มันก็อยู่กับโลก

ถ้ายินร้ายในธรรม ชีวิตเรานี่นะ “สักแต่ว่า” เห็นไหม บริขาร เครื่องดำรงชีวิตก็ทิ้งๆ ขว้างๆ สิ่งใดไม่ดูแลไม่รักษา ดูแลรักษาก็บอกว่ามันของเล็กน้อย ไม่มีค่า แต่ถ้ายินดีในธรรมนะ ของเล็กน้อยเป็นการฝึกหัดให้คนๆ นั้นเป็นคนดี ให้คนๆ นั้นเป็นเครื่องแสดงออก แสดงออกของใจ ใจแสดงออก พฤติกรรมแสดงออกมา ถ้าพฤติกรรมแสดงออกมา ในการถนอมรักษา ในการดูแล จิตใจนั้นมีหลักมีเกณฑ์

เหมือนทางโลกเขา ทางโลกบอกว่า “กตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี”

“กตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี” ในทางโลกเขา

แต่ถ้าเป็นทางธรรมล่ะ สิ่งที่พฤติกรรมที่แสดงออกจากหัวใจ มันจะบอกถึงข้อเท็จจริงของใจว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าไม่มีข้อเท็จจริง มีการกระทำ มันจะเป็นความเป็นจริงขึ้นมาได้อย่างใด ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา เพราะเรามีความยินดี เรามีความเชื่อมั่น เรามีการกระทำ เราถึงจะมีธรรมในหัวใจ เอวัง