เทศน์เช้า วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เราตั้งใจ เราปรารถนาดี ความดีทางไหนล่ะ? ความดีทางโลกนะ เห็นไหม พ่อแม่อยากให้ลูกมั่นคง พ่อแม่ปรารถนา พ่อแม่นี่นะไม่ต้องการสิ่งใดจากลูกเลย ต้องการให้ลูกยืนอยู่ในสังคมได้ ให้ลูกเราอยู่กับโลกได้นี่พ่อแม่พอใจ พอใจเท่านี้ แต่ถ้าลูกเราล้มลุกคลุกคลานพ่อแม่ทุกข์มากนะ ฉะนั้น คำว่า ล้มลุกคลุกคลาน กับ ยืนมั่นคงในสังคม มันก็มีเวรมีกรรมเหมือนกัน เวรกรรมมันมาตัดรอนก็ได้ แต่เราก็พยายามถึงที่สุด ถ้าถึงที่สุดนะ ถ้าเขามีความเห็น มีความคิดที่ดีพ่อแม่ก็มีความสบายใจ
นี่หัวใจของคน เห็นไหม ดูสิเหล็ก หิน ไฟ นี่เหล็ก หิน ไฟ จะมีไฟต่อเมื่อเราตี เหล็ก หิน ไฟ เขาตีออกมาเพื่ออะไร? เพื่อจะจุดไฟของเขา หัวใจของพวกเรามันมีความรู้สึกของมันอยู่ แล้วนี่ปล่อยให้มันจมไง ปล่อยให้มันจมอยู่ นอนจมอยู่กับความรู้สึกนึกคิดของตัว แล้วความรู้สึกนึกคิดอันนั้นมันมีตัณหาความทะยานอยาก มันมีอวิชชาครอบงำมันอยู่
เวลาไปศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า เห็นไหม ดูสิเวลาเราผ่านไปโรงพยาบาล ผ่านไปร้านขายยา ยาทุกอย่างรักษาโรคทุกอย่างหมดเลย ยามหาศาลเลยเราเดินผ่านไปเฉยๆ เวลาเราไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็เป็นยาไง พระไตรปิฎกนี่ตู้ยาตู้ใหญ่เลย เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่โตมากเลย แต่เราได้รักษาตัวเราไหม? เวลาไปศึกษานะ ศึกษาแต่ตำรายา แต่เราไม่ได้ใช้ยา เราไม่ได้ทำให้มันรักษาตัวเราเลย
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรามีความรู้สึกนึกคิด เห็นไหม เหล็ก หิน ไฟ เขาต้องการไฟเขาต้องตีนะ พอตีแล้วนี่มันจะเกิดประกาย พอเกิดประกายมันจะไปติดเชื้อ ติดเชื้อแล้วเขาก็จะไปจุดไฟ จุดไฟแล้วเขาก็เอาไว้ใช้เพื่อประโยชน์ของเขา หัวใจเราเหมือนเหล็ก หิน ไฟ
จิต! จิตมีธาตุรู้ของมัน ธาตุรู้ของมัน เห็นไหม มันติดไฟของมัน มันติดความรู้สึกนึกคิดของมัน มันเผาลนของมันอยู่ แต่เราไม่ได้คิดถึงเรื่องธรรมะ ถ้าเราคิดเรื่องธรรมะนี่ เหมือนกับเหล็ก หิน ไฟ ต้องตีมัน ต้องตีมัน ตีมันแล้วมันเกิดประกายไฟ ประกายไฟนี่สู่เชื้อไฟ เราตั้งสติของเรา บังคับตัวเรา นี่เอาแล้ว พอเริ่มตั้งสติ เริ่มบังคับแล้ว
ไหนว่าธรรมะมีความสุขไง โอ้โฮ.. ปฏิบัติธรรมแล้วมันมีแต่ความสุข โอ้โฮ.. ทำไมมันเครียดไปหมดเลยล่ะ? ตั้งสติขึ้นมาก็ล้มลุกคลุกคลาน ทำไมต้องบังคับตัวเอง ปฏิบัติต้องมีความสุขสิ เขาอยู่ทางโลกกัน เขาอยู่กันสุขสบาย เขาอยู่กันด้วยรูป รส กลิ่น เสียง ไอ้นี่ก็มาห้ามหมดเลย ไอ้พวกนี้ทุกข์นิยม ทุกข์นิยม
นี่พอไปพูดอย่างนั้นปั๊บนะเราก็เท้าอ่อนหมด ทุกอย่างก็ขาอ่อนทำสิ่งใดไม่ได้เลย จะทุกข์นิยมหรือไม่ทุกข์นิยมไม่เกี่ยว มันเป็นสัจจะนิยม มันเป็นความจริง! สิ่งที่บอกว่าเขามีความสุขๆ กันนี่ ความสุขที่ไหน? ความสุขอยู่ที่ไหน? เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้นะ
มนุษย์สำคัญตนว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ แต่มนุษย์โง่กว่าสัตว์
มนุษย์โง่กว่าสัตว์นี้ธรรมะพระพุทธเจ้านะ! มนุษย์นี้โง่กว่าสัตว์ เพราะมนุษย์เขียนกติกาขึ้นมา แล้วก็ติดกติกาของตัวเอง เอาโซ่ตรวนรัดคอตัว เอาโซ่ตรวนผูกขา ผูกแขน ผูกไว้ แล้วมนุษย์ก็ร้องว่าทุกข์! ทุกข์! ทุกข์!
สัตว์! สัตว์มันอยู่ตามธรรมชาติของมัน นก กา เวลามันต้องการมันบินไปอิสรภาพของมัน มันอยู่ตามอิสรภาพของมันนะ นี่ตามธรรมชาติของมัน เห็นไหม มันไม่มีกติกากับใครทั้งนั้นแหละ มนุษย์นี่เอากติกาไปครอบมัน ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น มันไม่รับรู้ มันอยู่ตามสัญชาตญาณของมัน สัญชาตญาณของมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นสัตว์ เราก็ว่าสัตว์มันเป็นอบายภูมิ ตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานลงไปเป็นภพชาติที่ต่ำ ใช่ มันเป็นภพชาติที่ต่ำ มันเป็นวาระของเขา
วาระเวลาการเกิด เห็นไหม นี่เวลากรรมพาเกิดนะ เวลาเรานึกถึงสิ่งใด วันนี้มาวัดเพราะเหตุใด? เพราะตั้งใจมาวัดก็มาวัด นี่ถ้าตั้งใจว่าไปบ้านก็ไปบ้าน ตั้งใจว่าไปเที่ยวก็ไปเที่ยว เวลาจิตมันจะตายมันคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นน่ะชักนำมันไป ถ้ามันทำบุญกุศล เราเสียสละ เราฝึกใจของเราไว้ เหล็ก หิน ไฟ ได้ตีมัน ได้ดูแลมัน เวลามันจะออกจากร่างนี้ไปมันคิดแต่ความดีของมัน เห็นไหม มันจะไปไหนล่ะ? มันจะไปไหน? แต่เวลาไม่เคยทำสิ่งใดเลย เหล็ก หิน ไฟ ทิ้งมันไว้ สนิมเกรอะกรัง แล้วบอกว่านี่เป็นความดี เป็นความดี เวลาตายไปมันก็ไปอยู่กับพวกสนิม พวกเศษเหล็กไง
นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตออกจากร่าง ถ้าเรามีสติปัญญา เห็นไหม เวลาเขาเกิดนี่อบายภูมิมันเป็น นี่เป็นทั้งนั้นแหละ จิตนี้เกิดตายๆ เกิดมาทุกอย่าง เกิดมานี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า
จิตหนึ่ง ถ้าเอาการเกิดการตายของจิตนั้น เช่น เป็นร่างมนุษย์ ร่างสัตว์ ร่างต่างๆ มากองไว้นี่ล้นโลกนี้
คนเดียวนะ! จิตเดียวนะ! แล้วปัจจุบันนี้มัน ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ ล้านต่อโลกนี้ มันเกิดตายเท่าไหร่? นี่การเกิด การตาย แต่การเกิดการตายอย่างนี้ นี่ผลของวัฏฏะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อวางไว้ เราดูใจเรา เรารักษาใจเรา ถ้ารักษาใจเรานี่เราเริ่มกติกาของเราแล้ว เรามีศีลของเรา เรามีสติของเรา เรารักษาของเรา ถ้ามีสติ มีศีล เห็นไหม มันจะดูแลใจเรา
นี่เหล็ก หิน ไฟนี้ได้ดูแลรักษา ตีมัน รักษามัน ตีมันเพื่อประโยชน์ไง ตีมันเพื่อความรับรู้ไง ตีมันเพื่อเกิดปัญญาไง ถ้าไม่เกิดปัญญาขึ้นมานี่มันจะรู้ได้อย่างไร? เหล็ก หิน ไฟ มันไม่มีชีวิต มันเป็นสสาร มันเป็นวัตถุ แต่จิตใจเป็นสสาร เป็นวัตถุเหมือนกันนะ แต่เป็นสสารที่มีชีวิต สันตติ เกิดๆๆๆ เขาว่าเกิดดับๆ ดวงๆๆๆ เขาว่ากันไปนั่นน่ะ เขาไม่เคยเห็นหรอก มันเกิดๆ นี่มันก็เป็นปัจจยาการไง
อวิชชาปัจจยา สังขารา สังขารปัจจยา วิญญาณัง เห็นไหม ปัจจยาการของมัน การเกิดที่เกี่ยวเนื่องกันไป นี่สสารอย่างนี้มันมีของมันอยู่ ถ้าเกิดมันไม่มีกระบวนการความคิด พลังงานนี้ก็มีของมัน พลังงานนี้คือตัวจิต ตัวภพ ตัวภพนี้มันไม่รู้ตัวมันเอง มันเป็นอวิชชาเพราะมันไม่รู้ตัวมันเอง นี่ถ้าเราศึกษามีปัญญาขึ้นไปเราจะย้อนกลับ ถ้าเราย้อนกลับขึ้นไป สิ่งที่ย้อนกลับมาจากไหนล่ะ?
แต่นี้เวลาเราพูดถึงธรรมะกัน เราก็พูดถึงฉลากยา พุทธพจน์ว่าอย่างนั้น พุทธพจน์ว่าอย่างนั้น ศึกษาหมดเลย หมอคนนี้รักษาคนไข้ไม่ได้ หมอคนนี้ไม่มียารักษาคนไข้ หมอคนนี้มีแต่ฉลากยา มีแต่ใบสั่งยา แต่ไม่มีตัวยาจ่ายให้คนไข้ มีแต่ฉลากยา เขียนใบเสร็จนะรับตังค์ๆๆ แต่ไม่มีตัวยา แต่ของเรานะ นี่เราศึกษามา เราเข้าใจมา เห็นไหม
ดูสิในปกติของเรา เราก็เข้าใจได้ สิ่งที่เป็นยุทธปัจจัย อย่างเกลือ อย่างต่างๆ ยุทธปัจจัยมันห้ามเลือดได้ สิ่งต่างๆ ได้ เราก็รู้ของเราได้ ถ้ารู้ของเราได้แล้วเราหาได้ไหมล่ะ? นี่เราหาได้ไหม? ถ้าเราหาขึ้นมาได้มันก็เป็นประโยชน์ของเรา ถ้าเป็นประโยชน์ของเรา สิ่งที่เรามีสติปัญญาของเรา สติมันจะควบคุมใจ เวลาพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่รวบรวมไว้ นี่ตีมันไว้ให้มันเกิดพลังงานของมัน ถ้าพลังงานมันเกิดขึ้นมาแล้วนะ นี่หัวใจนี้มีค่ามาก ถ้าหัวใจนี้มีค่ามากนะเราจะเห็นคุณค่า
ใช่ ทรัพย์สมบัติใครก็หวง ความเป็นอยู่ทุกคนก็รักษา สิ่งที่เราได้มานี่มันได้มาด้วยอะไร? น้ำพักน้ำแรงเราทั้งนั้นแหละ เราใช้น้ำพักน้ำแรงเราหามานะ เป็นของของเราไหม? เป็น.. แล้วเราเสียสละทำไมล่ะ? เราเสียสละเพราะเราเห็นคุณค่าไง ถ้าจิตใจเรา เหล็ก หิน ไฟนี้ไม่ได้ตี ไม่ได้ดูแลมัน เห็นไหม เจตนาการเสียสละนี่วัตถุมันออกไป แต่ความรู้สึกนะ คนที่ไม่เคยทำบุญกุศล เวลาจะสละไปมันละล้าละลังนะ แต่คนทำแล้วทำเล่า ทำแล้วทำเล่า มันเคยของมันนะ
แล้วจิตใจอย่างนี้ จิตใจเป็นสาธารณะพูดกันรู้เรื่องนะ คนที่มีจิตใจเป็นสาธารณะ เวลาพูดกันด้วยเหตุด้วยผลนะ ยอมรับกันด้วยเหตุด้วยผล สังคมก็ร่มเย็นเป็นสุข คนที่จิตใจไม่เป็นสาธารณะ นี่ยึดมั่นถือมั่น เห็นไหม พูดไม่รู้เรื่อง ใครจะเป็นใครจะตายอย่างไรไม่เกี่ยว ขอให้เราได้ประโยชน์ ให้เราได้ประโยชน์ แล้วมันคุยกันได้ไหม? แล้วสังคมนั้นมันจะขัดแย้งไหม? แล้วความเป็นอยู่ในสังคมนั้นมันจะดูแลกันอย่างไร?
นี่ไงถ้าสังคม นี่เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม.. เรื่องเวรเรื่องกรรมคือจิตมันฝึกมาอย่างนั้น พอจิตฝึกมาอย่างนั้น มันก็ยึดของมันอย่างนั้น ถ้าจิตของมันฝึกมาอย่างนั้นนะ ถ้าจิตมันฝึกมา มันได้ซับซ้อนมา แต่จิตเราล่ะ? จิตเราถ้ามันจะฝึก เห็นไหม อารมณ์ เห็นใบไม้ไหม? เห็นฝุ่นไหม? ฝุ่นละออง ใบไม นี่มันตกลงที่ไหน? มันตกลงพื้นดิน
ความรู้สึกนึกคิดเราตกสู่ที่ไหน? เวลาเราคิดขึ้นมา เราบอกความคิดไม่มี มันเกิดดับๆ เวลาเราคิดขึ้นมา เราโกรธขึ้นมา เรามีความเห็นขึ้นมานี่มันตกลงที่ไหน? ความคิดรอบหนึ่งนะมันก็ตกลงสู่ใจ ตกลงสู่ใจ ใบไม้มันตกลงสู่พื้นดิน ความรู้สึกนึกคิดเรามันตกลงที่ใจ ตกลงที่ภวาสวะ เพราะมันคิดออกมาจากใจ แล้วมันก็ตกลงกลับไปที่ใจ
คิดบ่อย คิดซ้ำเข้าไป คิดแล้วคิดเล่ากลายเป็นนิสัย กลายเป็นจริต จริตนิสัยเกิดตรงนี้ไง ทีนี้เกิดตรงนี้ ทีนี้เราก็จะแก้ไขไง เราจะแก้ไขของเรา สิ่งที่คิดๆ นี่เราพยายามจะรักษา เห็นไหม รักษาของเรา ฉะนั้น เวลาภาวนามันถึงลำบากตรงนี้ไง ลำบากว่าทำไมทำอย่างนี้ก็ไม่ได้ ทำอย่างนี้ก็ไม่ได้ ทำไมใบไม้เวลามันตกมันต้องตกลงพื้นล่ะ? นี่ความคิดมันตกลงพื้น แล้วพุทโธ พุทโธทำไมไม่ตกลงพื้นล่ะ?
พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้ามันตกลงพื้นนะ พื้นนั้นก็ต้องแน่นหนา ใบไม้ตกมากขึ้นๆ นี่มันจะทำให้พื้นดินนั้นมันมีสารอาหาร มันจะมีการสะสม พื้นดินมันจะสูงขึ้นๆ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ไม่สูงขึ้นเลย ยิ่งพุทโธยิ่งหายนะ เวลาใบไม้มันตกลงดิน เวลาพุทโธมันตกลงสู่ใจ นี่หายไปเกลี้ยงเลย แต่ถ้าความโกรธนะ ความที่ไม่พอใจนะ เวลาตกลงไปแล้วนะเดี๋ยวก็คิด เดี๋ยวก็คิด เดี๋ยวก็ตอกย้ำ สิ่งใดที่คิดกวนใจมันจะตอกย้ำๆ แต่สิ่งคิดดีๆ ทำไมมันไม่ตอกย้ำล่ะ? เห็นไหม
มันไม่เป็นธรรมกับเรา จิตใจเราเองไม่เป็นธรรมกับเรา กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันเบี่ยงเบน เราต้องตั้งสติของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์ตรงนี้ได้นะเรารักษาของเรา เราจะทุกข์ทนเข็ญใจขนาดไหน เราขอความเจือจานจากสังคม จากมนุษย์ เขาต้องเจือจานเรา ถ้าเราทุกข์ทนเข็ญใจขนาดไหนนะเราคุยกันได้
คน เห็นไหม ดูสิคนที่เขาอยากทำบุญกุศลนี่เยอะ แต่! แต่สังคมไว้ใจกันไม่ได้ สังคมเป็นสิ่งที่เชื่อใจไม่ได้ เพราะสิ่งที่เชื่อใจไม่ได้เขาถึงทำไม่ได้ ฉะนั้น มนุษย์นี่ มองหน้าเห็นหน้าแต่ไม่รู้ใจ ความรู้สึกนึกคิดของเขาเราไม่เข้าใจได้ เพื่อนกัน เห็นแก่ผลประโยชน์มันยังหลอกลวงกัน มันยังทำร้ายกัน มันยังฆ่ากัน แต่ถ้าเป็นเพื่อนที่ดี เป็นมิตรแท้ เราอยู่ที่ไหน เราผิดพลาดขนาดไหน เขายังส่งข่าวมาเตือนนะ
ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า มิตรแท้ มิตรที่ประเสริฐที่สุดคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่นะ ท่านบอกว่า
มิตรที่ดีที่สุด คบที่ดีที่สุดคือคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยให้โทษใคร ไม่เคยทำร้ายใคร ให้แต่ประโยชน์ใคร เพียงแต่ว่าประโยชน์มาก ประโยชน์น้อย
ประโยชน์มากของเรา เห็นไหม เราก็อยากได้ประโยชน์ทางวัตถุ ได้ประโยชน์ทางชื่อเสียง ทางเกียรติศัพท์ เกียรติคุณ แต่เราไม่คิดเลยว่าเราควรจะได้ประโยชน์จากอริยทรัพย์ สิ่งที่มันหมักหมมในใจ สิ่งที่มันขวางหัวใจเราอยู่ ทำอย่างไรจะเอามันออก ทำอย่างไรจะให้มันไม่มี ทำอย่างไรจะให้หัวใจนี้โล่งโถง ทำอย่างไรให้เกิดปัญญาที่ชำระล้างมัน โล่งโถงนะมันมีตะกอนสิ่งใดอยู่ในหัวใจ ถ้าเราล้างสิ่งนี้ได้นะ..
นี่เวลาหลวงตาท่านกราบพระ เวลาท่านอยู่ที่ดอยธรรมเจดีย์ เห็นไหม เวลาถึงขณะจิตที่มันสิ้นไปแล้ว นี่ลุกขึ้นกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า มันกราบอะไรล่ะ? มันกราบถึงบุญถึงคุณ กราบถึงสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางธรรมวินัยนี้ไว้ เหมือนถนนหนทาง เราไปเจอถนนหนทางที่มันราบเรียบ กว้างขวางนี่ใครมาสร้างไว้ เราเดินไปแสนทุกข์แสนยาก แล้วเราไปเจอถนนหนทางที่เขาทำให้เราเดินสะดวกสบาย เราไปนี่เราเห็นคุณของคนสร้างไหม?
นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตใจมันเป็นขึ้นไปนะ ถึงที่สุดนะกราบแล้วกราบเล่า เห็นไหม นี่ ๒,๐๐๐ กว่าปีนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานมาแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปี พวกเราไม่เคยเห็นองค์จริงของท่าน แต่เราได้เห็นตู้พระไตรปิฎก เราได้เห็นธรรมวินัยอันนี้ เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า กราบในบุญกุศล กราบในบุญคุณของท่าน กราบในบุญคุณของท่านที่วางธรรมวินัย
เราชาวพุทธนะ ประเพณีวัฒนธรรมของเรานี่ทำให้สมาน ทำให้มนุษย์อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข แต่! แต่เราก็บอกว่าเวลามีปัญหาขึ้นมานะ สังคมพุทธ ศีล ๕ ไม่ทำร้ายกัน ทำไมมันฉกชิงวิ่งราวกันขนาดนี้ สังคมพุทธเป็นสังคมที่ใช้ไม่ได้
สังคมพุทธนี่เป็นสังคมที่ใช้ได้ เป็นสิ่งที่ดีงาม เพราะศีลธรรมห้ามไว้หมดแล้ว เป็นเพราะบุคคลคนนั้น จิตใจคนนั้นมันหยาบช้าต่างหากล่ะ เป็นเพราะบุคคลคนนั้น อย่าโทษธรรมวินัย อย่าโทษพุทธศาสนา อย่าโทษสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ต้องโทษคนที่มันทำ! คนที่มันทำ จิตใจมันทำเอง แต่นี่สิ่งที่ดีมีดีอยู่ แต่เราพยายามแก้ไขเราอยู่นี่ไง เราพยายามดัดแปลงของเรานี่ไง เราดัดแปลงใจให้เราเข้าถึงศาสนา เข้าถึงคุณงามความดี เราดัดแปลงที่นี่เราก็ได้อริยทรัพย์
นี่ไงที่ว่าโลกเขาต้องการทรัพย์ เห็นไหม ทรัพย์จากวัตถุ ทรัพย์จากชื่อเสียง แต่เราต้องการทรัพย์จากภายใน จากภายในก็เกิดจากการกระทำนี่แหละ มันต้องเกิดจากการกระทำ เกิดจากสมมุติ เกิดจากตัวตนของเรา เกิดจากเจตนาเราเสียสละ แล้วเรากำหนดพุทโธของเรา เราต้องการอริยทรัพย์จากภายใน ถ้าภายในขึ้นมานะเราจะซาบซึ้ง
นี่เวลาคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้คุณประโยชน์ที่ไหน? ได้ประโยชน์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากน้อยแค่ใด? เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ สั่งพระอานนท์ไว้
อานนท์ เธอบอกเขานะอย่าได้บูชาเราด้วยอามิสบูชาเลย
เห็นไหม วัตถุสิ่งของนี่เป็นอามิสบูชา
อย่าบูชาเราด้วยอามิสเลย บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติเถิด
เราถึงมานั่งสมาธิภาวนากัน นี่เราจะบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะบูชาหัวใจของเรา แล้วถ้าใจของเราเป็นจริงขึ้นมานะ
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต! เอวัง