ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ขัดแย้งกัน

๙ ต.ค. ๒๕๕๔

 

ขัดแย้งกัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันมีคนถามมาเยอะ แล้วถามมาแล้วก็ยกเลิกคำถามก็เยอะ บอกว่าคำถามมันใกล้เคียงกัน เวลาคนถามนะ คำถามใกล้เคียงกัน แล้วเขาถามแล้วนี่เขาฟังอันอื่นแล้วมันเข้าใจได้ ยกเลิกๆ ทีนี้เราจะบอกว่าคำถามนี่มันก็เหมือนคนที่ปฏิบัติใหม่ คนที่ปฏิบัติใหม่ก็เป็นอย่างนี้ เริ่มต้นจากว่าขาดสติ ภาวนาแล้วไม่ลง เคยเป็นสมาธิแล้วไม่เป็น ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ ฉะนั้น เวลาปัญหามานี่เราจะตอบ เราตอบก็โดยพื้นฐาน โดยหลัก

แล้วอย่างเช่นเมื่อวานคนเขามาถามอีกบอกว่า

“หลวงพ่อทำไมเป็นอย่างนั้น คำเทศน์ของหลวงพ่อเป็นอย่างนี้ บอกให้ตั้งสติอย่างนี้ แล้วเวลาไปตอบอีกเรื่องหนึ่งก็บอกว่าสตินี่ถ้ามันตั้งไว้แล้วมันต้องมีพุทโธด้วย อะไรด้วย แล้วผมจะเอาอย่างไร?”

เราก็บอกว่าคำถามนี่ต้องดูที่มาที่ไปก่อน สิ่งที่ว่าที่มาที่ไป คนถามเขามีปัญหาอย่างใด? ฉะนั้น จะเอาคำตอบของเรา ไปหักล้างกับคำตอบของเรามันไม่ถูกต้อง คำตอบของเรานี่เราตอบเฉพาะกรณีนี้ ที่ว่าเขามีปัญหาอย่างนี้ แล้วคำตอบต่อไปมันมีปัญหาอย่างอื่น แต่ถ้าเราใช้เป็นประโยชน์นะ ประโยชน์อย่างนี้ประโยชน์ต่อเนื่องไป แต่บอกใช้คำตอบนี้เพื่อมาเป็นการปฏิบัติ พอปฏิบัติไปแล้วมันเริ่มรวนแล้ว รวนก็บอกว่าคำตอบอันนั้น คำตอบอีกปัญหาหนึ่งจะมาลบล้างคำตอบอันนี้

เราบอกว่าครั้งแรกก็รวนแล้วนะ พอเอาคำถามนั้นมาเดี๋ยวมันจะรวนกันไปใหญ่ไง พอมันรวนกันไปใหญ่ บอกว่าเวลาตอบนี่ตอบเฉพาะบุคคล เห็นไหม อย่างเช่นคนถนัดซ้ายก็บอกเขียนมือซ้ายเป็นอย่างนี้ คนถนัดขวาก็บอกเขียนมือขวาเป็นอย่างนี้ อยู่ที่ความถนัด ถ้าเขามีความถนัดอย่างนั้น พอถนัดอย่างนั้นปั๊บเราก็ต้องส่งเสริม คนถนัดซ้ายก็เขียนมือซ้าย เขียนให้ดี ทำให้ดี คนเขียนมือซ้ายมันก็ทำงานประสบความสำเร็จได้ คนถนัดขวาก็ทำให้ดี ทำตัวเองให้ดีมันก็ประสบความสำเร็จได้

ฉะนั้น เวลาปัญหาแต่ละปัญหานี่ไม่ให้ลบล้างกัน มันอยู่ที่ที่มา คือว่าคำถามนี่ประเด็นมันแตกต่างกัน แต่เวลาเราปฏิบัติไปแล้วทำไมตอบอย่างนี้? ทำไมคราวหน้าจะไปตอบอย่างนั้น? ก็ถามมามันพื้นฐานที่มาไม่เหมือนกันว่าอย่างนั้นเลย ฉะนั้น ว่าใกล้เคียงกัน ใกล้เคียงกัน

ฉะนั้น อันนี้ก็เหมือนกัน ข้อ ๖๕๐. เนาะ

ถาม : ๖๕๐. เรื่อง “สมาธิหรือขาดสติ”

กราบพระอาจารย์ครับ มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นขณะที่ผมนั่งภาวนาตามปกติ ซึ่งลักษณะแบบนี้เป็นมานานแล้ว แต่เพิ่งจะจับได้ชัดเจนเมื่อไม่กี่วันนี้ครับ คือระหว่างนั่งภาวนาพุทโธ พุทโธอยู่ รู้อยู่ว่านั่งตรงนี้ นั่งที่นี่ แต่พอกำหนดพุทโธ พุทโธไป มันลืมไปเลยว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ยืนอยู่หรือนั่งอยู่ แล้วอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้มีแต่พุทโธ

พอเริ่มคิดความรู้สึกมันค่อยๆ มีขึ้นๆ จนรู้ว่า “โธ่เอ้ย! ก็เราก็นั่งอยู่ตรงนี้แหละ ที่เดิมนี่แหละ” สุดท้ายมันก็ออกมาจากพุทโธจนได้ครับ พอออกจากสมาธิ มีความสงสัยขึ้นมาทันทีว่าที่สัญญาอารมณ์ของเราหายไปชั่วขณะนั้น เป็นเพราะเราขาดสติหรือว่ามันเป็นกำลังของสมาธิกันแน่

สิ่งที่สงสัยก็เพราะว่าแต่เดิมเข้าใจมาตลอดว่าต้องมีสติตลอดเวลา ตนเองจะทำอะไรอยู่ นั่งภาวนาอยู่ อยู่ตรงนี้ ที่นี่ พะวงว่าต้องมีสติสตังแบบนี้ตลอด พอนั่งภาวนาไปๆ จู่ๆ อารมณ์นั้นก็หายไป เราก็ตกใจทุกที เข้าใจว่าขาดสติอีกแล้ว ก็มันกลัวและพะวงว่าตัวเองจะขาดสติไปครับ มันก็เลยคิดคาอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งไม่นานมานี้สามารถจับอารมณ์ขณะที่สัญญาอารมณ์แบบนั้นมันหายไป ชั่วขณะที่นั่งภาวนาพุทโธ คราวนี้มันมั่นใจว่าสติเราดีอยู่ แต่ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ครับ? งง สงสัยครับ

เบื้องต้นต้องพยายามหาเหตุผลด้วยตนเองก่อนว่า มันเป็นผลของการขาดสติหรือเปล่า ยอมรับครับว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ลังเล อีก ๗๐ เปอร์เซ็นต์เชื่อมั่นว่ามันสงบดีแล้ว มันถูกต้องแล้ว อย่าไปสนใจมัน ให้พุทโธต่อไปเลย เดินหน้าต่อไปเลย แต่ไอ้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ตัวดีมันยังเป็นพิษเป็นภัยอยู่ครับ มันยังทำให้ผมคาใจติดอยู่ ใคร่ขอกราบพระอาจารย์ช่วยเมตตาฟันธงด้วยครับ ถ้ามันถูกต้องผมจะได้ไม่ต้องพะวงหน้า พะวงหลัง กำหนดพุทโธลูกเดียว ไม่สนใจว่าอารมณ์ความรู้สึกเป็นอย่างใด

คำถามต่อไป ถ้าถูกต้องแล้ว ผมสามารถใช้วิธีนี้ในการถอนออกจากสมาธิหรือเปล่าครับ เพราะปกติเวลานั่งสมาธิก็ถอนออกตูมเลย แต่ถ้าต่อไปต้องมีการถอนจากสมาธิผมก็ค่อยคิดว่าตัวเองภาวนาพุทโธอยู่ที่ไหน แล้วค้นหาตัวเองไป (นี่พูดถึงนะ)

หลวงพ่อ : คำถามว่าตัวเองทำอยู่นี่มั่นใจมาก แต่ก่อนมั่นใจมาก มั่นใจว่าเวลามันหายไป นี่พุทโธ พุทโธ ตัวเองหายไป ถ้าพุทโธ พุทโธอยู่ พุทโธชัดเจนก็ไม่มีปัญหา ถ้าพุทโธอยู่ พุทโธชัดเจนนะ สิ่งใดจะหายไป สิ่งใดจะมีอยู่นี่ไม่ใช่ปัญหาหรอก อย่างเช่นเวลาพุทโธ พุทโธ เห็นไหม จนพุทโธสักแต่ว่าพุทโธ ไม่รับรู้สิ่งใดเลยก็มี ถ้ามันเป็นสมาธิจริงนะ แต่นี้เพราะเกิดความลังเลสงสัยใช่ไหม?

นี่ถ้าเกิดความลังเลสงสัย ความสงสัยนั้นต้องยกให้กิเลสหมดเลยคือว่าไม่ใช่ เพราะกรณีอย่างนี้มันเหมือนกรณีของหลวงตาท่านอยู่ที่หนองผือ เห็นไหม จิตสงบแล้วมันก็ออกรู้ แล้วมันก็ปล่อย จับมันก็ปล่อย พอจับมันก็ปล่อย ตอนนั้นท่านเป็นโรคเสียดอกแล้วท่านทิ้งมาแล้ว พอมันจับแล้วก็ปล่อย

เอ๊ะ.. ปล่อยอย่างนี้ไม่ใช่สิ้นกิเลสแล้วหรือ? ปล่อยอย่างนี้ไม่ใช่สิ้นกิเลสแล้วหรือ? เพราะมันปล่อยมันก็หมดเลย พอบอกว่าถ้าปล่อยอย่างนี้ก็ไม่ใช่สิ้นกิเลสแล้วหรือ ท่านบอกอย่างนี้ไม่เอา เพราะมันสงสัยแล้ว ถ้ามีความสงสัยอยู่ นี่ท่านยกเรื่องนี้บอก “ไม่ได้เลย ไม่ได้เลย ฉะนั้น เราต้องไม่สงสัย”

แต่นี้มันขั้นของทำสมาธินะ มันก็มีความสงสัยเป็นธรรมดา ถ้ามีความสงสัยนะ เรามั่นใจของเรา แล้วเราพุทโธไปด้วย เวลามันขาดสตินะ เวลาพุทโธ พุทโธไปนี่ สิ่งใดบางทีมันวูบ มันหายไป เห็นไหม เราพุทโธอยู่ พุทโธก็สักแต่ว่าพุทโธ ถ้าพุทโธสักแต่ว่าพุทโธต้องหาวิธีใหม่เลย นี่ทำใหม่ ต้องพุทโธให้มันชัดเจน ให้มันฟื้นใหม่

เวลาทำไปๆ เห็นไหม เราคุ้นชินกับมัน เป็นวัตถุของที่จับต้องได้ วางไว้บางทีเรายังลืมได้นะ แล้วนี่เขาพุทโธ พุทโธ พุทโธมันเป็นความคุ้นชิน เราว่าเรานึกพุทโธแต่มันไม่ได้นึก แต่เราว่าเรานึกอยู่ เวลาภาวนาไป พอจิตสงบขึ้นมาจะได้ยินเสียง ได้ยินต่างๆ นี่มันซ้อนมาๆ จิตนี้มันหลอกลวง มันปลิ้นปล้อน ว่าอย่างนั้นเลย จิตของคนมันปลิ้นปล้อนนะ ฉะนั้น ที่เราทำอยู่นี่เราก็ต้องการความจริงไง พิสูจน์กันไป

นี่พุทธานุสติพิสูจน์ความจริงกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธพิสูจน์ความจริง ให้มันสงบมาให้ได้ ถ้ามันสงบมาไม่ได้มันมีปัญหาอะไร? นี่มันต้องหาปัญหานั้น

นี้พูดถึงว่า “ขาดสติไหม?” ใช่!

ทีนี้กลับมาตรงนี้แล้ว กลับมาที่ว่า “มันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง” ตอนนี้ ถ้ามันเป็นจริงนะมันจะสติสมบูรณ์ จะรู้ตัวชัดเจน แต่ถ้าแบบว่ามันหายไปเลย แต่เราเข้าใจว่าเรารู้อยู่ เราเข้าใจว่า เห็นไหม เรามั่นใจว่ามันเป็นอยู่ นี่มันไม่มีสิ่งใดเลย แต่เราเข้าใจว่ามันพุทโธอยู่

การภาวนานี่เราเข้าข้างตัวเอง แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าพุทโธแล้วนี่ หนึ่งออกมาแล้วโล่งโถงสบายดี ทุกอย่างจะสดชื่น แล้วถ้าวันไหนภาวนาแล้ว ออกมาแล้วมันหงุดหงิด มันขัดข้อง อันนั้นก็บอกว่าวันนั้นภาวนาแล้วไม่เป็นผล ก็ไม่เป็นไร

ไม่เป็นไรหมายถึงว่าเราตั้งใจทำของเราไป แต่! แต่เวลาถ้ามันเป็นผลประโยชน์ คือว่าทำแล้วประสบความสำเร็จมันก็พอใจ ดีใจมาก แต่ถ้ามันไม่ประสบความสำเร็จเราก็หงุดหงิด แล้วเราก็คิดต่อเนื่องกันไปว่าจะไม่ทำ จะอย่างนู้น อย่างนี้ มันเป็นไปมาก ฉะนั้น สิ่งนี้มันต้องมีสติพอสมควรนะ

ถ้าบอกว่า “ขาดสติไหม?” ใช่! บอกขาดสติเลย

พอขาดสติไปเลย แต่ทำไมมันนึกพุทโธอยู่ล่ะ?

มันนึกจริงหรือเปล่า? เพราะเรามีหลักฐานนะ ลูกศิษย์คนหนึ่ง เขาบอกว่าเขานั่งตลอดรุ่ง นั่งตลอดรุ่ง ถ้านั่งตลอดรุ่งเราบอกให้ใช้ปัญญาได้เลย เขาบอกใช้ปัญญาไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ สุดท้ายต้องพิสูจน์กัน ให้เขานั่งแล้วเอาเพื่อนไปนั่งด้วยอยู่ ๒ คน พอเริ่มเที่ยงคืนไป ตี ๑ ตี ๒ นี่กรนเลย กรนเลยนะ พอกรนเลย แล้วพอเช้าขึ้นมาก็ถามกันเขาบอกเขานั่งตลอดรุ่ง เป็นสมาธิตลอด

ทีนี้เพื่อน ๒ คนนั่งเป็นพยานบอกว่า “หลวงพ่อ เขานั่งกรนเลย นั่งหลับจนกรน” จนมีพยาน ๒ คนเขาก็ยังว่าเขานั่งตลอดรุ่ง เขานั่งได้ นี่ความเข้าใจของเรา เพราะจิตเวลามันหลับไปแล้ว หรือจิตที่มันขนาดกรนนี่นะมันหลับสนิทมาก หลับสนิทจนกรน แต่เขาก็เข้าใจว่าเขานั่งสมาธิได้ตลอดรุ่ง ทีแรกเราก็งง เรางงว่า เอ๊ะ คนนั่งสมาธิได้ตลอดรุ่งนี่นะ จิตใจต้องมีกำลังมาก จะต้องน้อมไปพิจารณาได้

เราก็บอกว่าให้พิจารณาไปเลย เขาบอกทำไม่ได้ อย่างไรก็ทำไม่ได้ แล้วให้พยายามจะฝืน ให้ฟื้นฟูสมาธิขึ้นมา เขาบอกสมาธิเขาแจ๋วมาก นั่งได้ตลอดรุ่งหมด เอ๊ะ อย่างนี้ต้องพิสูจน์ พอพิสูจน์ก็ให้เขาไปนั่งอีก แล้วก็เอาเพื่อนไปนั่งอีก ๒ คน ไม่ใช่คนเดียวนะ ๒ คนเพื่อเป็นพยานต่อกัน เป็น ๓ ผู้นั่งปฏิบัติด้วย แล้วเพื่อนอีก ๒ คน เพื่อน ๒ คนบอกว่ากรนสนั่นเลย ๒ คนเขาเป็นพยาน แต่เขาก็ว่าเขานั่งได้สมาธิ

นี้เหตุการณ์อย่างนี้เราเคยพิสูจน์กันมาแล้ว นี่พูดถึงการพิสูจน์นี้ พิสูจน์เพื่อความจริง เรานักหาความจริง หลวงตาท่านบอกว่า

“เราเป็นนักค้นคว้าหาความจริง เราต้องพูดความจริงกัน”

แต่ขณะที่เรานั่งอยู่คนเดียวนี่เราเข้าใจว่าเราเป็นหมดแหละ แต่มันเป็นความจริงหรือเปล่าล่ะ? ถ้าเป็นความจริงผลมันต้องมี พอผลมันมีขึ้นมานี่มันจะเป็นของมัน

ฉะนั้น เราจะพูดเพราะว่าคำถามถามว่า เพราะเขาเข้าใจ เขามั่นใจว่าเป็นสมาธิ เขาเข้าใจ เขามั่นใจ แต่มั่นใจนี่ ถ้าเป็นสมาธินะ แต่คำถามนี่เราดูตั้งแต่ตอนต้น เราดีใจ เราอ่านแล้วเราดีใจ เพราะว่านี่ย่อหน้าที่ ๒ เห็นไหม บอกว่า

ถาม : พอเริ่มคิดความรู้สึกมันค่อยๆ มีขึ้นๆ จนรู้ว่า มีขึ้นจนรู้ว่า “โธ่เอ้ย! เราก็นั่งอยู่นี่”

หลวงพ่อ : นี่ไอ้ที่มันสะท้อนอย่างนี้ขึ้นมา พอเวลามันรู้จริงขึ้นมามันจะเป็นอย่างนี้ นี่มันสะเทือนใจไง โธ่เอ้ย! มันก็อยู่นี่ แต่ทำไมเมื่อก่อนมันไม่เห็น ทำไมพุทโธสักแต่ว่าไป ถ้าอย่างนี้ขึ้นมานี่มันชัดมาก มันชัดเพราะอะไร? เพราะนี่รู้เอง แต่! แต่ยังเข้าใจว่ามันเป็นสมาธิ หรือมันขาดสติอะไรนี่ ทำใหม่หมดเลย พอทำใหม่หมดเลย แล้วไอ้ที่ว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์นี่โดยธรรมชาติเป็นอย่างนี้ หลวงตาท่านก็บอกอยู่ ท่านเรียนจบมหานะ เรียนถึงนิพพาน เรียนหมดเลยแต่ก็สงสัย ลึกๆ นี่สงสัย

โดยธรรมชาติของกิเลสเป็นอย่างนี้ นี่ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ๓๐ เปอร์เซ็นต์มันอยู่ใต้จิตสำนึก มันมีอยู่แล้ว โดยธรรมชาติมันมีของมันอยู่แล้ว แต่ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน ในความศรัทธา ในความเจตนา ในความตั้งมั่นนี่เรา ๗๐ เปอร์เซ็นต์แน่นอนอยู่แล้ว นี้มันเป็นภพชาติปัจจุบัน แต่ไอ้อวิชชาที่มันอยู่จิตใต้สำนึก ไอ้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์มันเป็นอย่างนี้มาตลอด จะมีการศึกษา จะมีสิ่งต่างๆ ไอ้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์นี้มันทำให้เราลังเลสงสัย แล้วทำให้เราไม่มั่นใจ ถ้าไม่มั่นใจเพราะอะไร? เพราะมันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น

ฉะนั้น ไอ้อย่างนี้วางไว้ วางไว้แล้วเราทำ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ให้เต็ม ๑๐๐ ทำ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ตั้งสติเต็มที่ ภาวนาเต็มที่ ทุกอย่างเต็มที่ ไอ้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ช่างหัวมัน เพราะเราไม่สามารถไปควบคุมมันได้ ที่เราภาวนากันอยู่นี่ เราก็ต้องการจะไปลบล้าง ๓๐ เปอร์เซ็นต์นี้ ถ้าลบล้าง ๓๐ เปอร์เซ็นต์

เพราะ ๗๐ เปอร์เซ็นต์เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา แล้วเรามั่นใจในศาสนา เรามั่นใจในการประพฤติปฏิบัติ เรามั่นใจของเรา แต่ไอ้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์นี่กิเลสมันไม่มีเหตุมีผล ตัณหาความทะยานอยากของคนมันไม่มีเหตุมีผล แล้วมันครอบคลุมหัวใจมันอยู่ ไอ้ตัวนี้ ไอ้ตัวนี้ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน เราภาวนาของเราไป เราทำของเราไป

เวลาจะไปฆ่ากันนะ เวลาจะไปทำลายมัน ถ้าจิตมันสงบแล้วออกวิปัสสนา เห็นไหม ไอ้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์นี่มันแสดงออกมาทางความคิด ออกมาทางกาย นี่ความคิดไง สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งมันออกทางนี้ กิเลสอาศัยใช้ขันธ์ ๕ ออกไปหาเหยื่อ พอจิตสงบเข้ามาแล้วเราก็จะไปต่อสู้กับสิ่งนี้ เราจะไปลบล้างสิ่งนี้ ถ้าลบล้างสิ่งนี้ เห็นไหม พระโสดาบันไม่สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบคลำ ไม่ลูบคลำในศีล ไม่ลังเลสงสัย นี่ไอ้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์มันก็ตายไป นี่มันจะตายไปๆ ตอนเราวิปัสสนาข้างหน้า

เราทำวิปัสสนาข้างหน้าของเราไปเลย ไม่ต้องไปห่วง ไอ้นี่เราเอาจิตใจเรา เอาความรู้สึกของเรามาวิเคราะห์วิจัย วิเคราะห์วิจัยแล้วทำอย่างไรต่อไป วิเคราะห์วิจัยให้เราสงสัย วิเคราะห์วิจัยให้เราบอก อืม มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ถ้าวิเคราะห์วิจัยก็วางไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว รับรู้ เข้าใจสิ่งนี้หมดแล้ว แล้ววางไว้ เราไม่ต้องไปวิเคราะห์วิจัย เราทำความจริงของเราเลย

นี่ย่อหน้าต่อมา บอกว่า

ถาม : ถ้ามันถูกต้องจริง ผมจะได้ไม่ต้องพะวงหน้า พะวงหลัง

หลวงพ่อ : ถ้ามันถูกต้องจริง ถูกต้องในพุทธานุสตินะ ถูกต้องในการกระทำของเรา ถูกต้องจริง ไอ้ถูกต้องใน ๗๐ เปอร์เซ็นต์เนี่ย ไอ้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์นี่ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน แล้วทำเต็มที่ไปเลย

ถาม : ผมจะได้กำหนดพุทโธลูกเดียว ไม่สนใจว่าอารมณ์ความรู้สึกอย่างใดจะเกิดขึ้นมา

หลวงพ่อ : ไม่ต้องไปสนใจมัน เพราะถ้าจิตมันสงบแล้ว พอไปเห็นตัวจริงเข้า เห็นตัวจริงขึ้นมาจริงๆ นะ จิตสงบจริงๆ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมจริงๆ สติปัฏฐาน ๔ ตัวจริงจะเกิดขึ้น วิปัสสนาจะเกิดขึ้น แต่ตอนนี้มันเป็นการฝึกงาน เป็นการทดสอบ เป็นการลองงาน เราทำของเราไปก่อน ยังลองงานกันอยู่ ยังปฏิบัติงาน ยังไม่ได้บรรจุเต็มที่ เราทำเต็มที่เข้าไปเลย เดี๋ยวถ้าเป็นความจริงขึ้นมาแล้วมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น คำถามต่อไปว่า

ถาม : ถ้าถูกต้องแล้วผมสามารถใช้วิธีนี้ถอนจากสมาธิ

หลวงพ่อ : ไอ้ถอนจากสมาธินี่ สมาธิมันอยู่ที่นี่ มันอยู่ที่ความชำนาญของคน แล้วคนเข้าสมาธิอย่างไร? อย่างเช่นพุทโธ พุทโธเข้าสมาธิ นี่สมาธิอบรมปัญญา เข้าสมาธิแล้วจะมีความร่มเย็นเป็นสุข แล้วเวลาคลายตัวออกมาวิปัสสนานั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ นี่พอใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอลงสมาธินั่นล่ะคือความสุข ความสุขพักหนึ่งเดี๋ยวมันก็ออกรู้อีกแล้ว นี่เราก็ใช้ปัญญาไล่เข้ามา

มันไม่ใช่เข้าออกโดยสมาธิอบรมปัญญา สมาธิอบรมปัญญานี่เข้าสมาธิเพียวๆ สมาธิเข้าไปแล้วพักผ่อน แล้วถอนตัวออกมา ปัญญาอบรมสมาธิมันใช้ปัญญาแหวก กำจัด ทำสิ่งที่เป็นความกังวลในใจ สิ่งที่เป็นภาระ มันทำความสะอาดของมัน พอเข้าไปถึงสมาธิก็พักแล้วก็คลายตัวออก มันชัดเจนกว่ากัน ชัดเจนกว่ากัน แต่ผลคือรสของสมาธิแตกต่างกัน

เราทำของเราไป แล้วพิจารณาของเราไป ถ้ามันสงสัย สงสัยนี่ถ้ามันถูกต้อง ถูกต้อง! ถูกต้องหมด ทีนี้คำว่าถูกต้องหมด แล้วขาดสติล่ะ? ถูกต้องหมด แต่เวลาทำไปแล้วมันได้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วมันวูบหายไป เห็นไหม เริ่มทำสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจาระมันไม่ไป มันวูบ มันหายไป ปัดโธ่เอ้ย! นี่มันย้อนกลับแล้ว มันรู้ตัวมันแล้ว แล้วค่อยๆ จับอันนั้นไป ค่อยๆ แก้ไขอันนี้ไป

นี่เรื่องของสมาธินะ เรื่องของคำว่า “ขาดสติใช่ไหม?” ใช่! ขาดสติ

อันนี้ข้อ ๖๕๑. เขาขอยกเลิก เขาเขียนมาแล้ว แล้วก็เขาขอยกเลิกไป

ข้อ ๖๕๒. ไม่มี

ข้อ ๖๕๓. เห็นไหม เขาบอกว่า “กระแสสังคม” เขาถามนี่กระแสสังคมกำลังแรงมาก แล้วอันนี้คำถามนะ

ถาม : ๖๕๓. ผมรู้ว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ไร้สาระมาก (กระแสสังคมนี่ไง) แต่ผมเห็นว่าพระอาจารย์คือที่พึ่งเพียงหนึ่งเดียวจริงๆ ครับ ที่จะชี้ทางสว่างให้ได้จริงๆ ตอนนี้ผมงงไปหมดแล้ว เรื่องที่อยากถาม ในปัจจุบันนี้สร้างกระแสกันขึ้นมา

หลวงพ่อ : อันนี้เขาบอกว่าเขาก็ไม่เชื่อ แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ลังเลสงสัยเอง เห็นไหม นี่กาลามสูตร เพราะบางคนบอกว่าเป็นอย่างนั้น บางคนบอกว่าเป็นอย่างนี้ บางคนบอก แต่จริงหรือเปล่าล่ะ? บางคนบอก แต่ถ้าของเราเราเข้าใจแล้วเนี่ย

แล้วเขาบอกว่า

ถาม : ถ้าหลวงพ่อบอกว่าไม่ใช่ หรือว่ามันเสื่อมไปแล้วนี่ผมจะได้สบายใจ

หลวงพ่อ : ใช่! มันเสื่อมไปแล้ว มันไม่ใช่เสื่อมไปแล้วนะ คำว่าเสื่อมไปแล้ว คำว่าเสื่อมไปมันก็มีอีกอย่างหนึ่งนะ แต่กรณีอย่างนี้เราไม่ได้บอกว่าเสื่อมไปแล้วหรอก เราบอกว่ามันไม่มีมาตั้งแต่ต้น คนไม่มีมามันจะเสื่อมได้อย่างไร? คนถ้ามีมามันยังเสื่อมนะ อย่างคนเราเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ การภาวนาแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ไอ้นี่มันไม่มีเลย มันไม่มีตั้งแต่ต้น ถ้าไม่มีมาตั้งแต่ต้นมันจะเอาอะไรมาเสื่อม?

ถ้ามันมีมา นี่เจริญแล้วเสื่อม เออ ว่าไปอย่าง ไอ้นี่มันไม่มีมาตั้งแต่ต้น ไม่มีมาตั้งแต่ต้นมันก็เลยออกนอกลู่นอกทางไป ถ้ามันมีมาตั้งแต่ต้นมันไม่ออกนอกลู่นอกทางหรอก นอกลู่นอกทางไปไหน? ธรรมวินัยอันเดียวกัน นี่ถ้าอย่างนี้มันเสื่อมไปแล้วไหม? เสื่อม มันไม่ใช่เสื่อมไปแล้วหรอก มันไม่มีมาตั้งแต่ต้นเลย

ถ้ามีมาตั้งแต่ต้นนะ แม้แต่ลูกหลาน เห็นไหม พ่อแม่นี่ยังเป็นพ่อแม่ของเรา อย่างไรก็แล้วแต่มันต้องมีความกตัญญู ความกตัญญู มันจะทำสิ่งใดมันทำไม่ลงหรอก มันทำไม่ลงหรอก ถึงจะผิด จะถูกนะ เพราะในพระไตรปิฎกว่าไว้อย่างนี้

“ถึงจะเป็นความจริง แต่มันพูดไปแล้วไม่เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์”

พระพุทธเจ้าพยากรณ์สิ่งใดต้องเป็นประโยชน์นะ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ท่านไม่พยากรณ์หรอก ถึงจะเป็นความจริง แล้วนี่เป็นความจริงหรือเปล่าล่ะ? มันไม่เป็นความจริง มันไม่เป็นความจริงด้วย แล้วก็นี่กระแสมันก็ไปตามอย่างนั้นแหละ

ฉะนั้น เขาบอกว่านี่

ถาม : ผมรู้ว่าปัญหามันไร้สาระ แต่ผมเห็นว่าท่านอาจารย์เป็นที่พึ่งหนึ่งเดียวจริงๆ ที่จะให้แสงสว่างได้ เพราะตอนนี้ผมงงไปหมดเลย

หลวงพ่อ : อ้าว ทีแรกก็บอกว่าเขาไม่มีอยู่แล้ว แล้วไปงงอะไรอีกล่ะ? ไอ้ของอย่างนี้มันแล้วแต่เขาหรอก ฉะนั้น กรณีนี้มันยังเป็นสิ่งที่เป็นกระแสสังคม ฉะนั้น ถ้าเราพูดอะไรไป มันก็เหมือนกับว่าพระสงบนี่อยากจะเกาะกระแสไง (หัวเราะ) อยากจะเกาะกระแสเขาไปด้วย

นี่เพราะเมื่อวานพูดเรื่องพระไตรปิฎกใน พระไตรปิฎกนอก เพราะอันนั้นเขาก็ถามมา เขาถามเป็นข้อๆ น่าสนใจมาก ฉะนั้น กระแสอันนี้ยกเลิก จบ

ข้อ ๖๕๔. ไม่มี

ข้อ ๖๕๕. เขาก็ยกเลิกข้างหน้านั้น

แล้วทีนี้ข้อ ๖๕๖. นี่เขาถามมาเป็นข้อๆ เลย อันนี้ข้อ ๖๕๖. นะ

ถาม : ๖๕๖. เรื่อง “ดูจิตที่นึกพุทโธ พร้อมกับดูอาการของจิตโดยไม่หยุดพักได้ไหมครับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ เวลาผมนึกถึงพุทโธชัดๆ จนมีจิตที่นึกพุทโธตั้งมั่นในใจ แล้วผมแบ่งจิตบางส่วนเข้าไปสัมผัสกับอาการของจิตที่ยิบๆ ยับๆ ทำให้ผมรู้ว่าอาการยิบๆ ยับๆ นั้นมีลักษณะเด่นชัดคือการบังคับควบคุมไม่ได้ เมื่อผมเห็นว่าการบังคับควบคุมไม่ได้ อาการอื่นๆ คืออาการของขันธ์ ๕ ผมก็เห็นได้ด้วยครับ คือว่าครั้งแรกผมเห็นอาการที่ชัดที่สุดเป็นเพียงอาการเดียวขึ้นมาก่อน แล้วอาการอื่นๆ ผมก็จะเห็นได้เอง

ความเป็นขันธ์ ๕ ของจิตที่ยิบๆ ยับๆ คือ

๑. ความเป็นรูปคือตัวที่ขยับยิบๆ ยับๆ มีรูปร่างคล้ายเมฆหมอกขนาดใหญ่ คือการเคลื่อนไหว

๒. ความเป็นเวทนาคือตัวที่ขยับยิบๆ ยับๆ มีความพอใจ หรือไม่พอใจขยับยิบๆ ยับๆ

๓. ความเป็นสัญญาคือตัวที่ขยับยิบๆ ยับๆ เป็นเรื่องในอดีต แล้วเรื่องนี้ผุดมานิดหนึ่งยิบๆ ยับๆ

๔. ความเป็นสังขารคือตัวที่ขยับยิบๆ ยับๆ เป็นภาพนิมิตหรือเสียงเพลงปรากฏขึ้นมา

๕. ความเป็นวิญญาณคือตัวที่ขยับยิบๆ ยับๆ คือการเกิดและดับอย่างรวดเร็วมากจนเป็นอาการยิบๆ ยับๆ

อาการทั้ง ๕ อย่างนี้ผมเห็นได้ทีละอย่าง หมายความว่าบางทีผมเห็นจิตที่ยิบๆ ยับๆ ในความเป็นรูป บางทีเห็นในความเป็นเวทนา บางทีเห็นเป็นความสัญญา แต่ไม่ใช่เห็นอาการขันธ์ ๕ พร้อมกันนะครับ ผลของการติดตามดูอาการขันธ์ ๕ ทำให้ผมเห็นว่า จิตที่นึกพุทโธไม่ใช่อาการยิบๆ ยับๆ อาการยิบๆ ยับๆ ไม่ใช่จิตที่นึกพุทโธ แล้วถ้าผมติดตามดูไปนานๆ ผมก็เห็นความแตกต่างของ ๒ อย่างนี้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ

หลวงพ่อครับ หลวงพ่อบอกว่าเวลาจิตสงบแล้วให้ออกเจริญปัญญา โดยเอาจิตทั้งหมดใช้เจริญปัญญาทุ่มไปทั้งตัว เมื่อใช้ปัญญาจนอ่อนแรงแล้ว ให้หยุดพักกลับมาทำความสงบใจให้เต็มที่ ผมขอกราบเรียนถามว่า ถ้าผมดูจิตที่นึกพุทโธ แล้วแบ่งจิตอีกส่วนหนึ่งมาดูอาการยิบๆ ยับๆ คือดูทั้งจิตที่นึกพุทโธ และดูที่จิตยิบๆ ยับๆ ทั้ง ๒ อย่างควบคู่ไปโดยไม่ต้องหยุดพักเพื่อทำความสงบจะได้ไหมครับ

เพราะว่ายิ่งผมเห็นความแตกต่างของจิตที่นึกพุทโธ กับการยิบๆ ยับๆ ได้มากเท่าไร ผมมีความเบาสบายมากขึ้นเท่านั้น ผมภาวนาแบบนี้นานๆ ก็ไม่มีความเหน็ดเหนื่อย แต่ถ้าผมทำความสงบนึกพุทโธอย่างเดียว หรือใช้ปัญญาดูขันธ์ ๕ อย่างเดียว ของอาการยิบๆ ยับๆ เพียงอย่างเดียว แบบนี้ผมเหนื่อยมากครับ ผมภาวนาได้เพียงนิดเดียวก็ไม่ไหวแล้วครับ

หลวงพ่อ : คำถามนี่พอบอกว่าจิตสงบ แล้วจิตมันนิ่งเป็นแท่ง เห็นไหม นิ่งเป็นแท่ง แล้วเห็นอาการยิบๆ ยับๆ เราก็คิดว่าการภาวนามันเดินก้าวหน้าไปแล้ว ถ้าการภาวนาของคนที่เดินก้าวหน้าไปแล้วนี่นะ พอเราทำความสงบของใจ โดยความสงบของใจมันเป็นสิ่งที่เหนือโลก โดยปกติเราอยู่ในอารมณ์สัญญาของเรา เราอยู่ในความนึกคิดของเรา มันอยู่ในสามัญสำนึกของมนุษย์ มันเป็นเรื่องปกติ แต่พอเราจะทำให้เกิดความสงบ เกิดสิ่งที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ในศาสนา มันเป็นความเหนือมนุษย์ พอเป็นความเหนือมนุษย์ พอทำไปแล้วมันก็เกิดสิ่งที่เราจะต้องลงทุนลงแรง เราจะต้องเหนื่อยมาก

ฉะนั้น เวลาทำอย่างนั้นไปปั๊บนี่เราถึงบอกว่า ถ้าใช้ปัญญาของเราโดยสามัญสำนึกเขาเรียกว่า “โลกียปัญญา” พอจิตสงบแล้วเราออกใช้วิปัสสนาเขาจะเรียกว่า “โลกุตตรปัญญา” ทีนี้พอใช้โลกุตตรปัญญาเราลงทุนลงแรงมากนะ ฉะนั้น หลวงตาท่านบอกว่า นี่พวกที่ว่าทำงานทุกข์ยากมาก ทุกคนบอกทำงานทุกข์ยากมาก ท่านบอกเลยนะ

“ลองมาบวชดู ลองมาบวชดูแล้วมาภาวนาดู มันจะทุกข์ยากขนาดไหน?”

ที่ว่านี่ใครๆ ก็บอกว่าทุกข์ยากๆ ท่านบอกว่าการทำงานของโลกไม่เคยเห็นเสียสละชีวิตกันเลย แต่เวลาปฏิบัตินี่บางทีต้องทุ่มทั้งชีวิต ต้องเสียสละชีวิตเอากันเลย เสียสละชีวิตเพื่อเอาชนะตนเอง ฉะนั้น สิ่งที่ทำอย่างนั้นมันถึงเป็นความจริง

ทีนี้โลกในสมัยปัจจุบัน เราบอกเรามีการศึกษา เรามีปัญญากัน เราศึกษาธรรมะกัน เราว่าสิ่งนั้นเรารู้ สิ่งนั้นเรารู้ ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่าเราดูจิต เราใช้จิตเราดู เราพุทโธด้วย แล้วเราแบ่งจิตไปด้วย ทำแล้วสบายๆ เราฟังๆ แล้วมันจะเหมือนกับมันเป็นเรื่องของปัญญาทางโลกียะหมดเลย ถ้าเป็นปัญญาโลกียะนี่ตรึกในธรรม

เราตรึกในธรรมก็ได้ ถ้าบอกว่าทำแล้วสบายลองทำไปเรื่อยๆ ถ้าทำไปแล้วสบายนะ แต่ที่เราพูดอย่างนี้เพราะเราเห็นว่าถ้าจิตมันนึกพุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันเป็นแท่งๆ มันเป็นนิ่งๆ เราก็คิดว่าแท่งๆ นิ่งๆ นี่เราก็ว่าจิตมันสงบพอแล้ว ถ้าจิตสงบพอแล้ว แล้วพอเราพิจารณาไป เห็นไหม จิตก็ไปเห็นอีก เห็นอาการความคิดเป็นยิบๆ ยับๆ นี่ถ้าจับอาการของมันนะ แล้วเอาสิ่งนี้มาพิจารณาแยกแยะไป

แต่ทีนี้เราไปติดไง คนเรานี่นะไปติดโดยหลักการ ไปติดในทฤษฎี ถ้าติดทฤษฎีนี่ ติดในทฤษฎีตรงไหน? ติดในทฤษฎีตรงที่ว่า

ถาม : ๑. ความเป็นรูปคืออาการยิบๆ ยับๆ ที่คล้ายเมฆหมอก

๒. ความเป็นเวทนามีอาการยิบๆ ยับๆ ที่เป็นความพอใจ

๓. ความเป็นสัญญา

หลวงพ่อ : ไอ้นี่มันเป็นทฤษฎีไง นี่ว่าความเป็นสัญญาต้องเป็นอย่างนี้

ถาม : ๔. ความเป็นสังขารมันเป็นภาพ เป็นเสียง เป็นปกติ

หลวงพ่อ : ความเป็นสังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง เสียง เสียงเป็นเสียงที่มากระทบ ถ้ากระทบนี่เสียงนั้นคืออะไร? สังขารนะ ถ้าเสียง เสียงคือเสียงอะไร? เสียงหญิง เสียงชาย เสียงลม เสียงสัตว์ เสียงต่างๆ ถ้าเสียงสัตว์ เสียงสัตว์มีความหมายอย่างนี้ เสียงหญิง เสียงชายมีความหมายอย่างนี้ ความหมายอย่างนี้นี่มันปรุงแต่ง มันปรุงแต่ง สังขารเป็นแบบนี้ ถ้ามันเป็นนิมิต นิมิตคือมันเป็นภาพ ความเป็นวิญญาณ เห็นไหม วิญญาณคือการรับรู้ การรับรู้ เกิดดับรับรู้นั่นล่ะ

ถ้าเราจับอารมณ์หนึ่ง แล้วเราพิจารณาของเราไปมันจะเป็นอย่างนี้ไป แต่ที่ว่าเรียง ๑ ๒ ๓ ๔ นี่จับทีละขั้นตอนๆ เพราะว่าเห็นขันธ์เดียว ไอ้นี้มันจะเป็นปริยัติในภาคปฏิบัติไง นี่เพราะเรามีการศึกษามา เรามีข้อมูล เรามีสัญญาในใจของเรา เวลาจิตเราสงบไปแล้วเห็นอะไรยิบๆ ยับๆ เราก็จับอย่างนั้น มันก็เหมือนกับเราศึกษาจบมานะ เราก็กางตำราตลอด ต้องทำงานตามนั้นๆ แต่ถ้าเป็นความจริงแล้วมันไม่เป็นแบบนั้น ถ้าไม่เป็นแบบนั้นนั่นคือภาคปฏิบัติไง ภาคปฏิบัตินี่เกิดตามความเป็นจริง

ฉะนั้น ถ้าภาคปฏิบัติเกิดตามความเป็นจริงมันจะเกิดแบบนี้ เกิดที่ว่าอาการยิบๆ ยับๆ แล้วมันจะเหนื่อยมาก เพราะมันต้องใช้กำลังมาก พอใช้กำลังของมันนะ ใช้กำลังมันจะเหนื่อย มันจะหอบ เราถึงกลับมาทำความสงบของใจ

ฉะนั้น พอบอกว่าถ้าเรากำหนดดูพุทโธด้วย แล้วก็ดูยิบๆ ยับๆ ไปด้วยพร้อมกัน เห็นไหม แล้วมันไม่เหนื่อย มันไม่สบาย มันจะเป็นสัญญาอารมณ์ไปหมดเลย นี่ถ้าอย่างนั้นมันเป็นสัญญาอารมณ์ไปหมดนะ แต่ถ้าทำแล้วสบาย นี่เขาบอกว่าเขาทำแล้วสบาย ถ้าทำอย่างเขาทำนี่ทำแล้วสบายมาก แต่ถ้าหลวงพ่อบอกว่า

“พอจิตสงบแล้วให้ไปทั้งตัว คือขณะใช้ปัญญานี่เราก็ใช้ปัญญาทั้งหมดเลย”

เราไม่ต้องกำหนดดูจิตพุทโธด้วย ใช้ปัญญาด้วย มันทำงาน ๒ อย่าง ๓ อย่าง แล้วมันแบบว่าความเจริญก้าวหน้ามันจะไม่มี แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเราก็ทำเต็มที่เลย พอมันยิบๆ ยับๆ ยิบๆ ยับๆ นี่คืออาการของมัน มันขยับตัวแล้วจับ พอจับแล้วเราพิจารณาไปเลย พิจารณาไปเลยว่าในยิบๆ ยับๆ มันเกิดจากอะไร? มันขยับตัวมาอย่างไร? มันขยับตัวนี่ขยับตัวอย่างไร?

นี่จิตเห็นอาการของจิตอย่างไร? อาการยิบๆ ยับๆ คืออาการของใจ ใจคือตัวพลังงาน พลังงานนี่เวลามันคิด คิดอย่างไร? ถ้าจับอาการของมัน อาการนี้มันคิดอย่างไร? มือของเราไปจับสิ่งของ มือไปจับอะไร? ถ้าคลายมือมันก็หมด ถ้ากลับมาที่พุทโธมันก็ปล่อย ถ้ามันยิบๆ ยับๆ แสดงว่ามันไม่มีพุทโธแล้วมันถึงจับได้ แต่นี้เขาบอกว่าดูพุทโธอยู่ มือก็เป็นมือนะ จับของอยู่ก็เป็นของนะ แล้วรู้ ๒ อย่าง แล้วบอกสบาย

อืม มันจะเป็นทฤษฎีมากไปนิดหนึ่ง แต่ถ้าคนเราแบบว่ามันชัดเจน เราสร้างมาอย่างนี้ ถ้าเป็นทฤษฎีที่ชัดๆ แล้วถ้ามันได้ผลเราอยากพิสูจน์ ตอนนี้เราอยากพิสูจน์นะ เพราะการที่ใครปฏิบัติได้หรือไม่ได้มันเป็นสมบัติของคนๆ นั้น

ฉะนั้น ผู้ถามนี่เวลาถามมา ถามมาว่าถ้าจิตเป็นอย่างนี้ ทำแล้วสบายให้ทำไป ทำเลย แล้วต่อไปดูกาลเวลามันจะพิสูจน์เอง ถ้าเราทำงานเป็นผลงานมันจะมีผลงานลงสู่ใจ นี่ทำไปเลย แต่ที่เราพูดนี่โดยหลัก จิตสงบมันก็ทำงานของสมถะ ฉะนั้น เวลาเขาบอกว่าให้ใช้ปัญญาไปเลย ปัญญาไปเลย สมาธิไม่สำคัญ สมาธิไม่เกิดปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญามันเกิด มันเกิดสัญญาทั้งนั้นแหละ

นี่สัญญาๆ สัญญาที่ว่าข้อ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ มันเป็นสัญญาทั้งนั้นแหละ เพราะข้อมูลเรารู้อยู่แล้ว ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ทุกอย่างไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราเป็นอย่างไรล่ะ? ไม่ใช่เราแล้วเป็นอย่างไร? ไม่ใช่เราแต่จับให้มันเห็น ให้มันรู้ว่าเราได้ทำ ให้มันครบองค์ประกอบของมัน ได้ครบสูตร ไปทำตามสูตร พอครบสูตรแล้วก็จบ แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ? เห็นไหม เราพิจารณาไปแล้วเราปล่อยวาง ครบแล้ว ครบสูตร ปล่อยวาง แล้วทำอย่างไรต่อหลวงพ่อ?

ซ้ำไง ซ้ำเข้าไปอีก พอซ้ำแล้วเอามาพิจารณาอีก ซ้ำเข้าไปอีกให้มันละเอียดขึ้นไป ให้มันชัดเจนขึ้นไป นี่มันจะเห็นความชัดเจนของมัน มันจะลึกซึ้งเข้าไป แล้วมันจะเข้าไปสู่ตัวตนจริงๆ แต่เริ่มต้นก็เป็นเงา เป็นอาการก่อน เป็นปลายเหตุก่อน ถึงจะเป็นปลายเหตุก็ต้องจับให้ได้ก่อน แล้วเราสาวไปเรื่อยๆ

จากปลายเหตุไประหว่าง ไปถึงต้นเหตุ ไปถึงที่มา แล้วไปทำลายกันที่นั่น ถ้าทำลายที่นั่น นี่มันต้องพิจารณาซ้ำๆๆ เข้าไปอย่างนี้ ละเอียดเข้าไป สาวเข้าไป พยายามเอาปัญญาเข้าไปสู่จิต ถ้ามันเป็นอย่างนั้นมันเป็นการปฏิบัติตามความเป็นจริง แต่ถ้าเราคิดว่ามันมีอยู่แล้ว มันก็เป็นปลายเหตุ เป็นปลายเหตุ ก็ยังดียังจับได้นะ ยังจับได้

ทีนี้การปฏิบัติ พอมันจับได้แล้ว พอมันเริ่มทำไปแล้ว นี่ระหว่างที่เราจะเข้าสู่จิตมันจะมีการต่อต้าน มีต่างๆ ร้อยแปด แต่ถ้าโดยหลัก เรายังยืนยันของเรานะ เวลาทำความสงบของใจให้ทำใจให้สงบ ถ้าใจสงบแล้วให้ออกใช้ปัญญา ขณะใช้ปัญญาต้องไปใช้ปัญญาเต็มที่เลย

แต่นี่ที่บอกว่าออกดูยิบๆ ยับๆ ด้วย แล้วอยู่กับพุทโธด้วย มันขัดแย้งกับความเป็นจริงนะ มันขัดแย้งกัน มันขัดแย้งว่าถ้าเราอยู่กับพุทโธด้วย พุทโธนี่คือคำบริกรรมให้มันสงบ แล้วเราใช้ปัญญาไปด้วย นี่ไงที่เมื่อก่อนที่ว่าจิต ๒ ดวงน่ะ จิต ๒ ดวงจนเขาโกรธ จนเขา ประสาเรานะ เราชักสะพาน เราไม่อยากยุ่งกับเขา เพราะเขาจะดึงลงไปสู่ตรงนั้นไง ไอ้จิต ๒ ดวง

ไอ้นี่มันจะเข้าสู่จิต ๒ ดวงไง ดวงหนึ่งก็ไปพุทโธ อีกดวงหนึ่งมันก็ใช้ปัญญา แล้วบอกจิต ๒ ดวงแล้วมันดีไง เขามีจิตดวงเดียว ฉันมี ๒ ดวงนะ มีทั้งดวงซ้ายและดวงขวา นี่มันขัดแย้งกับความเป็นจริง เพราะจิตๆ หนึ่ง จิตไม่มี ๒ ดวง จิตมีหนึ่งเดียว ถ้าจิตหนึ่งคือสัมมาสมาธิ แล้วจิตหนึ่งออกทำอะไร? จิตหนึ่งเข้าสู่ความสงบ จิตหนึ่งออกสู่วิปัสสนา แล้วจิตหนึ่งไปไหน?

แล้วจิตแยกเป็น ๒ พอจิตแยกเป็น ๒ เหมือนกับโจรวิ่งมาคนเดียวแล้วมันแยกเป็น ๒ คน ไอ้คนตามจับโจรงงเลยนะ เอ๊ะ จะไปเอาคนไหนดี ไอ้ ๒ คนนี้จะเอาคนไหนดี มันไปได้ยาก แต่ถ้าโจรมันมาคนเดียว มันไปทางซ้าย ไปทางขวา มันไปไหนมันไปคนเดียว เราก็ตามไปคนเดียว ตามไปๆ แต่ถ้ามันมาคนเดียวแบ่งเป็น ๒ คน

นี้พูดโดยหลักไง ถ้าพูดโดยหลักก็อยากจะพูดให้เคลียร์เหมือนกัน เพราะว่าถ้าเราเรียนมา เรียนมานี่แล้วเรารู้ตำรามา แล้วเราปฏิบัติไป เห็นไหม นี่เวลาเราพูด ทุกคนถ้าคนที่ศึกษามานะ จะหาว่ากรรมฐานดูถูกธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่ความจริงมันไม่ใช่ แต่ความจริงที่เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดกับหลวงตา แล้วผู้ที่มีการศึกษามาปฏิบัตินะ นี่ถ้าเป็นมหานะก็หลวงตามหาบัว แล้วก็ ๙ ประโยค หลวงปู่มหาเขียน แล้วก็หลวงปู่มหาปิ่น ที่เราเห็นๆ กันก็เท่านั้นล่ะ ที่มหาๆ มาปฏิบัติ โจรจะมี ๒ คน ๓ คนนะ จิตจะมี ๑๐ ดวงนู่นน่ะ มันแยกไปหมดเพราะมีปัญญาอยู่แล้ว

นี่ถ้าในสังคม ใครลูกศิษย์ใครอาจารย์ใคร ที่เราเคารพศรัทธา เราก็เคารพศรัทธานะ เพราะธรรมวินัยคือว่าผู้ที่อาวุโส ผู้ที่มีพรรษาแก่กว่า ผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ของเรา เราต้องกราบไหว้ตามธรรมวินัย อันนี้เราเคารพนะ แต่เวลาพูดถึงว่าผู้ที่มีการศึกษา แล้วปฏิบัติแล้วได้ผลจริงๆ ในความเชื่อของเราคนเดียว คนอื่นไม่เกี่ยว

ในความเชื่อของเรา เราเชื่อหลวงปู่มหาเขียน เราเชื่อหลวงตา เราเชื่อหลวงปู่มหาปิ่นเท่านั้น องค์อื่นเราไม่เชื่อ ไม่เชื่อเพราะอะไร? เพราะคำสอนมันจะมีผู้ร้ายหลายคน มันไม่ใช่คนเดียว ถ้าคนเดียวนะ ฉะนั้นเวลาที่บอกว่ากรรมฐานแบบว่าไม่ยอมรับธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ใช่! แต่มันเป็นเพราะว่าหลวงปู่มั่นท่านสอนหลวงตา เห็นไหม นี่ถ้ามีการศึกษามา

“มหา ท่านเรียนมาจนเป็นมหานะ เรียนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสูงส่งจนได้เป็นถึงขั้นมหานะ ท่านเรียนธรรมของพระพุทธเจ้ามาเยอะมาก ฉะนั้น เวลาปฏิบัติแล้วนี่มันจะเตะ มันจะถีบกัน” นี่ไงมันจะเตะ มันจะถีบกัน

“ฉะนั้น เอาสิ่งที่ศึกษามา เอาธรรมของพระพุทธเจ้าใส่ลิ้นชักไว้ก่อน แล้วลั่นกุญแจมันไว้ อย่าไปคิดถึงมันนะแล้วปฏิบัติไป ปฏิบัติไปถ้าถึงที่สุดแล้วนี่มันจะเป็นอันเดียวกันเลย”

มันจะเป็นอันเดียวกัน คือว่ารู้เหมือนกัน เป็นความจริงเลย แต่ถ้าขณะที่ปฏิบัติมันจะเตะ มันจะถีบกันอย่างนี้ไง เห็นไหม พุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปแล้วจิตมันจะแบ่งส่วนหนึ่งไปดูยิบๆ ยับๆ ส่วนหนึ่งมันจะไปพุทโธ นี่ถ้ามันแบ่งไปแล้วจิตมันไม่เป็นเอกภาพ จิตไม่เป็นเอกภาพแล้วมันจะเป็นประโยชน์ได้อย่างไร?

แต่จิตมันไม่เป็นเอกภาพ แต่ก็ยังเห็นนี่

๑. ความเป็นรูปมันยิบๆ ยับๆ อย่างนั้น

๒. ความเป็นเวทนา

๓. ความเป็นสัญญา

๔. ความเป็นสังขาร

๕. ความเป็นวิญญาณ

๑ ๒ ๓ ๔ เรียงมา เรียงมาอย่างนี้มันก็เหมือนกับข้อสอบไง จะทำข้อสอบส่งครูไง เห็นไหม นี่ทำสมาธิก็ต้องทำข้อสอบส่ง ข้อสอบกับสมาธิมันคนละเรื่องนะมึง ปัญญากับความจริงก็คนละเรื่อง ไอ้นี่มันทำข้อสอบ พอทำข้อสอบแล้วมันก็ลงสู่ปริยัติ

“ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ”

นี่มันเป็นหลักเลย หลักปริยัติคือการศึกษาก่อน ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ แต่ศึกษามานี่ศึกษามาเป็นหลักเลย แล้วพอปฏิบัติไปมันยึดหลักเลย เห็นไหม ยึดปริยัติ แล้วมันเข้าไปในปฏิบัติมันก็ขัดแย้ง นี่ที่หลวงปู่มั่นบอกมันจะเตะ มันจะถีบกัน

มันจะเตะ มันจะถีบหมายความว่าเรามีทฤษฎีมาก คนมีวิชาการมากทำงานไม่เป็น ทำงานเงอะๆ งะๆ แต่คนที่วิชาการพอสมควร ทำงานก็เก่ง ประสบความสำเร็จ มันก็เกิดปฏิเวธ ทีนี้วิชาการเราดีมากเลย แต่เวลาไปทำงานนะเหลียวซ้ายเหลียวขวาเลย นู่นก็จะผิด นี่ก็จะผิด

นี่ที่หลวงปู่มั่นท่านพูด ท่านพูดถึงตรงนี้ พอเราจะทำอะไรเราก็เกร็งไปหมดเลย ทำอย่างนั้นก็จะผิด ทำอย่างนี้ก็จะผิด ทำอย่างนู้นก็ทำไม่ได้ มันจะไปมันก็กลับไม่ไป มันจะเตะ มันจะถีบกันอยู่อย่างนั้นแหละ แต่! แต่ถ้าใครมีความมั่นคง มีความจริงจังนะ นี่เอาจริงเอาจังวางไว้ให้ได้ แล้วทำไปได้ หรือทำพร้อมกันไปก็ได้ แต่ต้องกระเสือกกระสนเต็มที่เลย

คิดดูสิทางวิชาการนะ วางหินอย่างนี้ก็ไม่ได้ วางหินอย่างนี้ก็ไม่ได้ เออ ถ้าไม่ได้แล้วกูจะวางอย่างไรล่ะ? แต่ถ้าคนเขาเคยทำมาแล้วนะ เออ วางอย่างนี้ใช้ได้ ถ้าวางอย่างนี้แล้วนะมันมั่นคง เพราะเขาสร้างบ้านมามาก เขาได้วางพื้นฐานมามาก เขาจะรู้ของเขานะว่าดินอย่างนี้ควรทำอย่างไร

สมัยโบราณเขาไม่วางกันหรอก เขาใช้ท่อนซุง เพราะสมัยก่อนเทคโนโลยียังไม่เจริญ สร้างสิ่งปลูกสร้างเขาเอาซุงวางหมดเลย แล้วไปดูเมืองจีนสิเขาวางไหนะ เขาใช้ไหคว่ำลงเป็นเข็ม นี่มันอยู่ที่พื้นที่ ทีนี้พอเรามีวิชาการมาก โอ้โฮ ไหนี่มันแตกง่าย แล้วไปวางไว้นี่มันจะไปวางได้อย่างไร? นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ ไม่ได้ไปดูสิ่งปลูกสร้างโบราณเขาวางด้วยขอนไม้ทั้งนั้นแหละ สมัยนั้นเทคโนโลยีมันเป็นอย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันทำไปแล้วประสบความสำเร็จ มันทำได้มันก็ไปได้ นี่มันไม่เตะ ไม่ถีบกัน แต่ถ้ามันเตะ มันถีบกันคือมันขัดแย้งกัน ไอ้เราก็ทำเหมือนกัน ทำเหมือนกันแต่มันทำด้วยความสงสัย แต่ถ้าทำจริงๆ นะมันไปอีกเรื่องหนึ่ง นี้พูดถึงว่าถ้าปริยัตินะ

เราจะบอกว่าถ้ามันยิบๆ ยับๆ แล้วไปดูพุทโธด้วย ทำแล้วสบายใจก็ลองกันพักหนึ่ง คำว่าลองกันพักหนึ่งนี่มันไม่ก้าวหน้าหรอก มันซ้ำรอยอยู่อย่างนั้นแหละ มันย่ำอยู่กับที่ แต่ถ้ามันต่อเนื่องกันไป เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าปัญญามันก้าวไปนะ เราออกใช้ปัญญาไปเต็มที่เลย ขณะใช้ปัญญาออกไปทำงานเต็มที่เลย กลับจากงานแล้วงานไม่เอาเข้าบ้านนะเว้ย นอนเต็มที่เลย

ทำงานเสร็จกลับมาทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจเสร็จแล้วกลับมาพักผ่อน พอมาพักผ่อนนี่ไม่ต้องเอางานเข้ามา พักผ่อนให้สบายใจเลย พักผ่อนเสร็จออกไปทำงานเต็มที่เลย ไอ้นี่เอางานเข้ามาทำในบ้าน เวลาออกจากบ้านก็อยากจะนอน จะเอาที่นอนไปนอนที่ทำงาน เดี๋ยวก็โดนไล่ออก เดี๋ยวก็เสร็จ

นี่ทำสมาธิก็ทำเต็มที่เลย เวลาเข้ามาพักผ่อนนะ กลับบ้านก็ไม่ต้องเอางานเข้ามา พักผ่อนเต็มที่เลย เสร็จงานในบ้านเรียบร้อยแล้วออกไปทำงาน เรื่องบ้านไม่เกี่ยวแล้ว ทำงานเต็มที่เลย ไม่ใช่เอาที่นอนไปไว้ที่ทำงานด้วย เอาที่นอนไว้ที่ทำงานด้วย ทำงานเสร็จแล้วก็จะนอนตรงนั้นเลย ทำไปพร้อมกันไง

นี้พูดถึงโดยหลักนะ แต่ถ้าคนทำแล้วก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าเขาเขียนถามมาบ่อยไง วันนี้พูดอย่างนี้ไปคนถามจะบอก โอ้โฮ หลวงพ่อ ทำไมวันนี้หลวงพ่อเล่นแรง ไม่ได้แรงนะ เพราะว่านี่ หลวงปู่มั่นเวลาท่านแก้ลูกศิษย์ เวลาถ้าจิตมันติด จิตมันไม่ยอมฟังใคร จะต้องช็อตทีเดียวให้ตาสว่างเลย

นี่การแก้จิตมันแก้ยากอย่างนี้ เวลาพูดมามันเหมือนกันหมด เห็นไหม เพราะคำถามนี่ถามมาบ่อย แล้วเราเห็นว่าเขาตั้งใจดี ทำดี แต่ตอนนี้ วันนี้มันชัด มันชัดตรงไหน? ชัดตรง ๑ ๒ ๓ ๔ ไอ้นี่มันปริยัติล้วนๆ ๑.รูปเป็นอย่างนั้น ๒. ๓. ๔.. แล้วเห็นทีละตัวด้วยนะ (หัวเราะ)

นี่มันชัดมากเลย ชัดที่ว่าปริยัติกับปฏิบัติมันจะเตะ มันจะถีบกัน ที่หลวงปู่มั่นพูด เราชอบคำที่หลวงปู่มั่นพูด มันชัดมาก แต่ถ้าโอกาสมันยังไม่เป็น มันยังไม่เห็นมันก็คิดว่า เอ๊ะ หลวงปู่มั่นจะรู้อะไร? หลวงปู่มั่นไม่ได้เรียนจบ ๙ ประโยค แล้วหลวงปู่มั่นจะรู้เรื่องการศึกษาได้อย่างไร? นี่ไอ้คนเวลาคิดมันคิดอย่างนั้น แต่นี่มันชัดมากเลย เพราะว่าไม่ได้เรียน ๙ ประโยค แต่เรียนธรรมะจบ จบธรรมะในหัวใจของหลวงปู่มั่น

ท่านจบในธรรมของตัวเอง ท่านชัดเจนกว่าเราเยอะนัก พอท่านชัดเจนกว่าเราเยอะนักท่านถึงเห็นความลำบาก ในการก้าวเดินมันลำบากลำบนขนาดไหน ท่านถึงได้เมตตา ท่านถึงได้สงสาร ท่านถึงได้บอกทางเรา ไอ้เรายังบอกว่าหลวงปู่มั่นรู้ได้อย่างไร? เรานี่ ๙ ประโยคเราต้องรู้ดีกว่า เอ็งรู้ ๙ ประโยคแต่เอ็งไม่รู้รอบธรรมะหรอก แต่หลวงปู่มั่นท่านไม่รู้ ๙ ประโยค แต่ท่านรู้ธรรมหมดเลย

นี่มันแตกต่างกัน พอมันแตกต่างกันแล้วท่านเมตตา ท่านพูดไว้เป็นหลัก ทีนี้เพียงแต่ว่า “คนจะเชื่อหรือไม่เชื่อ” ถ้าไม่เชื่อมันก็กรรมของสัตว์ ก็แล้วแต่สัตว์เถอะ แต่ถ้าเราลูกศิษย์กรรมฐาน เราลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านทำมาขนาดนี้ แล้วประสบความสำเร็จมาขนาดนี้ เราเชื่อมั่นมาก! เราเชื่อมั่นมาก! เราถึงกล้าพูดด้วยเสียงดังฟังชัด ว่าถ้าเอามาปฏิบัติร่วมกันมันจะเตะ มันจะถีบกัน ให้วางไว้ก่อน

ถ้าจะเรียนนะ มีพระอยู่กับเรา บางองค์อยากจะเรียน เราบอกเราจะส่งไปมหามกุฏฯ เลย ถ้าเรียนก็เรียนให้จริงจังเลย เรียนให้จบ แต่ถ้าปฏิบัติก็ปฏิบัติให้จริงจังเลย อยู่กับเรานี่เวลาปฏิบัติเราดูแลเต็มที่ แต่ถ้าจะเรียนนะเดี๋ยวจะส่งไปเลย ส่งไปมหามกุฏฯ เลย เรียนเลย เรียนให้จริงจังเลย ถ้าเราเรียนก็เรียนเต็มที่เลย เวลาปฏิบัติเราก็ปฏิบัติเต็มที่เลย แล้วให้มันได้ทั้ง ๒ อย่าง เรียนก็เรียนจนได้ใบประกาศ ปฏิบัติก็ปฏิบัติจนรู้ธรรมจริง เอาให้ชัดเจน แล้วมันได้จริงๆ เลย แต่ถ้ามันเอามาทำมั่วกันนี่มันจะเตะ มันจะถีบกัน

ฉะนั้น อยู่ที่ว่าเขาเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าเราเชื่อเราพอใจเนาะ เอวัง