เทศน์บนศาลา

ธรรมะจัดตั้ง

๑๓ มี.ค. ๒๕๔๕

 

ธรรมะจัดตั้ง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ.. ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะเป็นความสำคัญอย่างมาก ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กว่าจะได้มา กว่าจะมีมา วางมาถึงพวกเรานี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหามาด้วยชีวิต สลบถึง ๓ หนนะ คนสลบแล้วฟื้น มันก็เหมือนกับตายแล้วฟื้นถึง ๓ ครั้ง สลบแล้วฟื้นถึง ๓ หนกว่าจะได้ธรรมะมา

กาฬเทวิล เวลาเจ้าชายสิทธัตถะเกิดมา ให้พระเจ้าสุทโธทนะเข็นให้ลูกออกมาดู กาฬเทวิลเข้าสมาบัติได้ แถมระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ นี่เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหัวเราะ ทั้งร้องไห้ เหตุที่หัวเราะเพราะอะไร? เพราะเจ้าชายสิทธัตถะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน เพราะเขาเรียนไตรเพทมา ของเขาศึกษาเรื่องร่างกาย สรีระมนุษย์ อาการ ๓๒ มา พระพุทธเจ้าลักษณะเป็นอย่างนี้ พุทธลักษณะแน่นอน

เสร็จแล้วจะเสียใจ เสียใจเพราะอะไร? เสียใจเพราะว่าตัวเองจะต้องตายก่อน ตัวเองจะต้องตายไป ตายไปก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เขาจะได้ธรรมะ จะได้ปฏิบัติธรรมอันนั้น ธรรมอันนั้นถึงประเสริฐสุด ธรรมอันนั้นเป็นสุดยอด เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก เราปรารถนาธรรมกัน ธรรมะนี้ประเสริฐมาก

ถ้าเราปฏิบัติธรรม เราสมควรแก่ธรรม มันจะได้ธรรมขึ้นมา แต่ปัจจุบันนี้ เราปฏิบัติธรรม มันได้ธรรมจัดตั้ง ธรรมะจัดตั้งนะ จัดตั้งโดยกิเลส กิเลสมันจัดตั้งธรรมะให้เรา แล้วเราก็เชื่อธรรมะจัดตั้งของเราไป

ถ้าเราเชื่อธรรมะจัดตั้งแล้ว เราจะไม่ได้สมความปรารถนา มันจะเป็นความจัดตั้งของกิเลส เพราะกิเลสมันคาดมันหมาย มันทำให้เราเห็นตามสภาวะอย่างนั้น ถ้าตามสภาวะอย่างนั้น เป็นธรรมะจัดตั้ง จัดตั้งโดยกิเลส ไม่มีใครจัดตั้ง การจัดตั้งของโลกเขา องค์กรอย่างใดเขาจัดตั้งของเขา องค์นั้นจะเข้มแข็ง ไม่เข้มแข็ง การจัดตั้งเข้มแข็งหรือไม่เข้มแข็ง นั้นมันอยู่ที่การจัดตั้งของเขา อยู่ที่ประสิทธิภาพของเขา

แต่กิเลสนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด กิเลสนี้อยู่ในหัวใจของมนุษย์ กิเลสนี้พาจิตนี้เกิดตาย เกิดตายมาตลอด มันฝังอยู่ มันอยู่ลึกลับซับซ้อนยิ่งกว่าองค์การใดๆ ทั้งสิ้น วัฏวนนี้มันมีอำนาจเหนือวัฏวน เหนือวัฏฏะทั้งหมด วัฏวนเป็นวัฏฏะนี้ หมุนไปตลอด วัฏวนนี้เป็นที่อยู่ของจิต การเกิดการตายของใจอยู่ในวัฏฏะนี้เท่านั้น นี่มีอำนาจเหนือขนาดนั้น กิเลสมีอำนาจเหนือขนาดนั้น

แล้วเวลาเรามาปฏิบัติธรรม มันก็มาจัดตั้งธรรมให้เรา ความคาดความหมายของมัน ความคาดความหมายของกิเลส ทำให้เราไม่สมความปรารถนา เราประพฤติปฏิบัติขนาดไหนแล้ว เราไม่สมความปรารถนาเรา นั่นล่ะไม่สมปรารถนา แล้วยังให้ผลหลอกลวงด้วยนะ มันจะหลอกลวงใจของเราให้หมุนเวียนไป ให้เชื่อตามออกไป

ความสงบของใจ ใจเคยสงบมาครั้งสองครั้ง จะติดใจดวงนั้น จะฝังใจดวงนั้น แล้วมันก็คาดมันหมาย นี่มันจัดตั้งอย่างนี้ จัดตั้งให้มีการคาดการหมาย แล้วเราก็คาดการหมายออกไป พอความคาดความหมายนั้นเป็นความอยาก มันเป็นความอยากเห็นไหม มันเป็นความปิดกั้นจิต ให้จิตนี้ไม่สามารถเข้าถึงความสงบของใจได้

ถ้าใจมันไม่เข้าถึงความสงบ มันก็มีความฟุ้งซ่านอยู่อย่างนั้น ถ้าใจฟุ้งซ่าน มันหมุนไปในหัวใจ ใจฟุ้งซ่านไป ไม่มีความสงบของใจเข้ามา มันก็เร่าร้อน ถ้าใจเร่าร้อน เราถึงว่าปฏิบัติธรรมแล้วทำไมมันมีความทุกข์ยาก ถ้าปฏิบัติธรรมมันต้องมีความสุขของใจ เข้าไปตลอดไป นั้นเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง

ประพฤติปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง นั้นเป็นธรรม ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้นั้นแน่นอน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติถูกต้อง แต่การประพฤติปฏิบัติของเราไม่ถูกต้อง เพราะกิเลสมันขัดมันขวาง การที่กิเลสมันขัดมันขวางในหัวใจ นี่โทษของมัน

โทษของมันมีอำนาจเหนือเรานะ ทั้งๆ ที่มันอยู่กับเรา อยู่ในหัวใจของเรา เราอยากจะกำจัดสิ่งนี้ออกไปจากใจ มันอยู่ในหัวใจแล้วมันก็พาเวียนตายเวียนเกิดมา แล้วจะฆ่ามัน แล้วทำไมมันมีอำนาจวาสนาเหนือเราอย่างนั้น

นี่มันมีอำนาจวาสนาเหนือเราจริงๆ มันถึงเป็นสิ่งที่ร้ายกาจมาก เรื่องของกิเลสนี้เป็นสิ่งที่ร้ายกาจมาก อยู่ในหัวใจของมนุษย์นี่ จะผู้ดี จะยาจกขนาดไหน มีเหมือนกัน สิ่งนี้อยู่ในหัวใจของสัตว์โลกเหมือนกัน ไม่มีสัตว์โลกตัวใดเลย ที่จะพ้นจากเรื่องของอำนาจกิเลสไปได้ มันมีอำนาจเหนือขนาดนั้น มันถึงเป็นสิ่งที่เราต้องกำจัดมันให้ได้ ต้องทำความสงบของใจเข้ามา

ถ้าใจสงบเข้ามา มันจะมีโอกาส ถ้าใจไม่สงบ เป็นการคาดหมาย เป็นการคิดจินตนาการไป จัดตั้งหยาบๆ นะ จัดตั้งมันจะละเอียดเข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป เหมือนกับกิเลสนี่แหละ กิเลสมีอย่างกลาง อย่างหยาบ อย่างละเอียดในหัวใจเข้าไป เป็นชั้นๆ ที่เราตัดถอนมันเข้าไป เราจะชำระสะสางเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ต้องเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

ถ้าไม่เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันหลบซ่อนอยู่ในหัวใจ แล้วอาศัยหัวใจนี้เป็นที่อยู่อาศัย แล้วไม่ให้ความสุขเรา ถ้าคนทุกข์ยากจนจะเป็นจะตาย มันก็ปล่อยวางซะหน่อยนะ เวลาเราทุกข์เราโศกขนาดไหน สักพักหนึ่งแล้วเราก็จะหายไป นี่ได้ระบายแล้ว ความทุกข์ความโศกได้ระบายไป ความสุขมันก็พอประทังตัวเองไป นั่นล่ะมันจะไม่ให้เราตายคามือมัน ให้เรามีชีวิตอยู่เพื่อดำรงเป็นทาสของมันไปตลอดไป

ถ้าเรามีชีวิตอยู่ เรามีการดำรงชีวิตอยู่ เราจะต้องแสวงหาเพื่อปากเพื่อท้อง ก็เพื่อใคร? ก็เพื่อความมีชีวิตอยู่ ดำรงอยู่ กิเลสมันก็อาศัยสิ่งนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของมันไป มันเป็นอย่างนั้น เป็นตลอดไป แล้วเราก็เดินตามมันต้อยๆ ไป เราเดินตามมันตลอดไป เดินตามสิ่งนี้ตลอดไป เราไม่ขัดขวาง ไม่มีการไตร่ตรองไง

การไตร่ตรองคือการย้อนถามตัวเอง เราเกิดมาเพื่ออะไร? สิ่งที่เกิดมานี่ เกิดมาเพื่ออะไร? ทั้งๆ ที่เกิดมามีอำนาจวาสนามาก เกิดมาพบพุทธศาสนา จนเชื่อพุทธศาสนา ออกประพฤติปฏิบัติธรรม มันต้องเห็นโทษไง ถ้าคนเราเห็นโทษ มันจะปล่อยวางสิ่งนั้น คนเราไม่ปล่อยวางเพราะมันไม่เห็นโทษ ไม่เห็นสิ่งนั้นเป็นโทษ อยู่กับสิ่งที่เป็นโทษ อยู่ด้วยความคิดว่าเป็นคุณ แล้วอาศัยกันอยู่ตลอดไป

สิ่งที่อาศัยว่าเป็นคุณ นั่นล่ะมันอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วจะเสียใจ จะพิลาปรำพันเวลามันจะพลัดพรากจาก ไม่มีของสิ่งใดจะมั่นคงตลอดไปหรอก มันต้องพลัดพรากจากกันโดยธรรมชาติของมัน

ธรรมชาติของมันต้องพลัดพรากจากกัน แต่มันอาศัยกันอยู่ชั่วคราว แม้แต่สวะในน้ำมันลอยไป มันก็มาบรรจบมาอยู่ด้วยกัน พอมันลอยไปเจอคลื่นหรือว่าเจอสิ่งกระทบ มันก็ต้องแยกออกจากกัน มันต้องพลัดพรากออกจากกัน เป็นไปไม่ได้หรอก ที่มันจะอยู่อย่างนั้นคงที่ไป สิ่งใดก็ไม่มี ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน ชีวิตของเรามันต้องมีพลัดพรากจากกันแน่นอน

พลัดพรากจากคนอื่น ยังพลัดพรากนะ นี้หัวใจมันพลัดพรากจากร่างน่ะ หัวใจมันต้องสละทิ้งร่างกายนี้ไป มันต้องตายแล้วต้องไปเกิดใหม่ เห็นไหมมันต้องตายแน่นอน แล้วต้องไปเกิดใหม่ เกิดมาในสภาวะอย่างใด ก็รับทุกข์สภาวะนั้น บาปบุญกุศลมันเป็นอย่างนั้น เราถึงสะสมบุญกุศลของเราเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ ถึงจะเป็นชั่วคราวก็ยังดี ที่พออยู่อาศัยไป เพื่ออยู่อาศัย เพื่อประพฤติปฏิบัติ

ประพฤติปฏิบัติเพราะได้พบพุทธศาสนานะ ถ้าเกิดมาไม่พบพุทธศาสนา เราจะเอาอะไรไปประพฤติปฏิบัติ กาฬเทวิลยังต้องร้องไห้ ร้องไห้เพราะเขาไม่มีโอกาสได้พบพุทธศาสนา แต่เราอยู่ในช่วงท่ามกลางศาสนา เราจะไปร้องเรียกอะไร? เราก็ต้องร้องเรียกหัวใจของเรา ร้องเรียกความเข้มแข็งของเรา ร้องเรียกความจริงจังของเรา ร้องเรียกให้เห็นสิ่งนั้นมีคุณค่าไง ร้องเรียกให้มันกระตือรือร้นไง

กระตือรือร้นมาเพื่อจะออกจากความมืดบอดของใจ กระตือรือร้นมาเพื่อจะออกจากความทุกข์ยากอันนี้ ถ้าเราไม่กระตือรือร้นขึ้นมา ความประพฤติปฏิบัติของเราก็วันคืนล่วงไปๆ ทำประสามันเป็นไป ตามประสาที่ว่าสักแต่ว่าทำไง สักแต่ว่าทำไปวันคืนล่วงไปๆ อย่างนั้น แล้วก็ทำไป ไม่จริงจัง ไม่จริงใจกับความเป็นไปของเรา

ความไม่จริงจัง ไม่จริงใจอย่างนั้น มันก็ทำประสาอย่างนั้นไป เพราะเราไม่เห็นโทษด้วยความน่ากลัว ไม่เห็นโทษจากความเป็นจริง เราคิดของเราเห็นไหม นี่มันหยาบๆอย่างนี้ ธรรมะมันหยาบ มันหยาบตรงนี้ไง

ถ้าเราคิด แล้วเราจริงจังต่อเราเอง เราต้องทำได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ พระอัครสาวกต่างๆ ก็เป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่พ้นไปจากกิเลสได้ มนุษย์เท่านั้นพ้นจากกิเลสไปได้ เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง แล้วเราพบพุทธศาสนา พยายามมีความจงใจ มีความจริงจัง มีความตั้งใจทำ ถ้ามีความตั้งใจทำ มันก็ต้องทำได้สิ สิ่งนี้ทำได้ นี่มรรคผลมีอยู่

สิ่งที่มีอยู่ เราถึงว่าเราทำแล้วถึงเป้าหมายไง ถ้าเป้าหมายมีที่เราเดินอยู่ เราจะเดินไปถึง มีเป้าหมาย แต่เราเดินพ้นออกจากเป้าหมายไปเอง สร้างภาพ สร้างสถานการณ์ขึ้นมาต่างๆ ความสร้างภาพ สร้างจินตนาการออกมา นั่นล่ะกิเลสมันหลอก กิเลสมันหลอกมันก็จัดตั้งออกไป มันจัดตั้งให้เราเชื่อ เชื่อสิ่งที่เราคิดไป สิ่งนี้หรือเป็นธรรม? สิ่งนี้หรือเป็นความประพฤติปฏิบัติ? สิ่งนี้เป็นความเข้าใจเห็นไหม

ถ้าเป็นความเข้าใจ มันเป็นความเข้าใจจากภายใน มันเป็นความเข้าใจแล้วเราพอใจ ธรรมมันเกิดได้ เวลาเราอยู่ในป่านะ เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในป่า เวลาจิตมันสงบขึ้นมาธรรมมันเกิด สิ่งที่ธรรมมันเกิด มันผุดความรู้ขึ้นมา สิ่งที่เป็นความรู้มันตอบปัญหากัน สิ่งที่เราข้องใจ สิ่งต่างๆ มันจะตอบปัญหา สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น มันจะตอบเป็นปัญหาออกมาเลย นี่ธรรมมันเกิด

ธรรมมันเกิด มันก็เป็นอาการของใจเท่านั้น อาการของใจกับใจมันยังไม่เข้าถึงตัวของใจ อาการของใจเกิดขึ้นมา เราก็รับรู้ เรารับรู้ แต่เราไม่หลงไปกับความเป็นที่ว่า องค์กรของการจัดตั้งในใจนั้น ถ้าเราหลงไปในองค์การนั้น เราก็ต้องออกไปข้างนอก ออกไปความคิดนั้น เงาเห็นไหม

อาการของใจคือเงาของใจ เงาของใจ แล้วเราก็คิดอยู่อาการของใจ มันก็เข้าไม่ถึงตัวใจ เราไม่ปล่อย เราจับสิ่งใดแล้วมันเป็นความที่ไม่เคยเห็น เราไม่เคยเห็นสิ่งใดๆเกิดขึ้นในหัวใจ เราก็ตื่นเต้น เราก็จับต้อง แล้วเราก็มีความตื่นเต้น มีความปรารถนาอยากได้สิ่งนั้น แล้วก็หลงไปกับมัน

พอหลงไปกับมัน มันก็เป็นความติดข้องไปกับใจอันหนึ่ง นี่ถ้ามันปล่อยได้ มันปล่อยสิ่งนั้น สิ่งที่เกิดมานี้มันเป็นอดีตไปแล้ว มันเคยเกิดขึ้นมาชั้นตอนหนึ่ง ก็เกิดขึ้นมา แล้วข้างหน้ามันก็เกิดอีกถ้ามันจะเกิด เราเดินไป เดินไปในทางใดก็แล้วแต่ เราจะผ่านร้านค้า ร้านรวงต่างๆ ไปตลอดทาง อันนี้ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติเราก้าวเดินไป มันจะมีอุปสรรคไปมหาศาลนะ มันมีขวากหนามที่จะปิดกั้นทางเดินของเราอีกมหาศาลเลย ที่เราจะไม่เข้าใจสิ่งที่มันหลอกลวงเราในหัวใจ นั้นกิเลสของเราทั้งนั้น

กิเลสของเราทั้งนั้นที่มันจะสร้างขวากสร้างหนามขึ้นมาหลอกลวงเรา ปิดกั้นทางเดินของเรา เพราะมันไม่ต้องการไป กิเลสมันมีอำนาจเหนือเรา มันมีอำนาจเหนือเราอย่างนั้น มันมีอำนาจเหนือเราแล้วข่มขี่เราตลอดไป ไม่มีทางที่เราจะพ้นออกไป หรือเป็นอิสระกับเราชั่วครั้งชั่วคราว ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้เลย เพราะกิเลสเห็นไหม อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา กิเลสมันอยู่ที่ก้นบึ้งของใจ

สิ่งต่างๆ ที่คิดขึ้นมา ที่เราแสวงหาขึ้นมานี้ มันเป็นสิ่งที่เจือไปด้วยกิเลสทั้งหมด บุคคล สัตว์โลกนี้เป็นสิ่งที่มีกิเลสอยู่ในหัวใจ ความคิดต่างๆ ของสัตว์โลกนี้ มันเป็นเรื่องของกิเลสเจือไปทั้งหมดเลย มันเป็นเรื่องกิเลสเจือไป มันคิดแล้วมันถึงคิดไม่ได้เหมือนกับผู้ที่หัวใจเป็นธรรม

หัวใจเป็นธรรม เป็นธรรมล้วนๆ มันไม่มีสิ่งที่กิเลสในหัวใจมันคิด คิดเรื่องของโลกเขา มันก็เป็นเรื่องของโลกเขา แต่มันไม่มีสิ่งที่ว่าดึงไปให้เป็นอดีต อนาคต มันไปพอดีๆ พอดีกับสิ่งนั้นๆ เป็นไป แต่เราคิด เรามีการคาดการหมาย มันจะผลักดันไปสิ่งอดีต อนาคต มันจะเทียบเคียงไป นั่นล่ะมันไม่เป็นปัจจุบันธรรม มันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ ใจผู้ที่พ้นแล้ว เขาคิดอย่างหนึ่ง เพราะพ้นแล้วไม่มีกิเลส ใจของเรามันมีกิเลสอยู่ มันถึงไม่สามารถชำระกิเลสไง

จิตผู้ที่พ้นจากกิเลสไปแล้ว เขาคิดของเขา เขามีความสุขของเขา เขาคิดของเขาเพราะมันเป็นสิ่งที่ว่า มันเป็นงานเป็นการ สิ่งที่คิดเป็นงานเป็นการเพื่อประโยชน์ของโลก ก็คิดไป บริหารความคิดนั้นไป นั้นล่ะเป็นภาระเท่านั้น ขันธ์ ๕ ในจิตที่บริสุทธิ์อันนั้น “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” เป็นขันธ์ เป็นภาระ เป็นที่แบกหามไป ขนาดแบกหามนะ เรื่องของธาตุของขันธ์ต้องแบกหามไป เพราะว่ามันเป็นภาระ แต่ไม่มีตัวกิเลส มันก็ยังต้องบริหารร่างกายไป นั้นเป็นสิ่งที่ว่า เป็นปัจจุบันธรรม

แต่เพราะมีกิเลสอยู่ มันไม่เป็นปัจจุบันธรรม มันถึงชำระกิเลสไม่ได้ ถ้าการชำระกิเลสได้มันต้องชำระกิเลสแล้ว มันจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นเหมือนกันหมด ธรรมะถ้ามีใครเข้าถึงแล้วเห็นไหม จะถึงที่เดียวกันหมด

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมเป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกต่างๆ รู้ธรรมขึ้นมาก็อันเดียวกัน ความเสมอภาคเหมือนกันในความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ในการปล่อยกิเลสได้เหมือนกัน ใจของเราก็เหมือนกัน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ ใจนี้มันสามารถชำระได้ มันสามารถปลดเปลื้องความข้องใจของใจเราออกได้หมด มันสามารถชำระได้หมด มันถึงมีโอกาสไง ใจนี้ถึงสำคัญไง

ใจของเรานี้สำคัญมาก สำคัญที่ว่าเพราะมันเป็นตัวรับรู้สึกความสุข มันเป็นตัวรับรู้สึกความทุกข์ เป็นเป็นตัวรับรู้สิ่งต่างๆ สะสมไว้ในใจ แล้วมันก็จะปลดเปลื้องออกไปจากใจ ถ้าเราทำนี้สมควรแก่ธรรม มัชฌิมาปฏิปทา สร้างรากฐานของใจขึ้นมา พยายามสร้างรากฐานของใจขึ้นมา ทำได้ด้วยการทำความสงบของใจ

ต้องความความสงบของใจ ถ้าใจนี้ไม่สงบ มันเป็นการจัดตั้งของกิเลส กิเลสจัดตั้งแล้วหมุนออกไปตามความเห็นของเขา แน่นอน.. เป็นการคาดการหมาย ธรรมะเราศึกษามาขนาดไหน เราก็ศึกษามานะ กิเลสมันก็ศึกษากับเราเหมือนกัน ไม่ใช่เราศึกษาธรรมะ เราศึกษาไปแล้ว เราจะฆ่ากิเลสไปโดยที่การคาดการหมาย มันเป็นไปไม่ได้เลย เพราะกิเลสอยู่กับเรา มันคาดมันหมายธรรมเห็นไหม

มันก็คาดหมายธรรมเป็นส่วนหนึ่งๆ ของธรรมไปอย่างนั้น มันไม่ได้เป็นความเป็นจริง เพราะใจมันยังไม่เป็นความจริง ถ้าใจเป็นความเป็นจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วประทานธรรมไว้ เราก็ต้องเข้าใจตามธรรมสิ่งนั้นสิ ทำไมเราฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรางงหมดล่ะ บางทีธรรมพูดออกมาเราจะงงไม่เข้าใจสิ่งนั้น งงไปประสาเรา

ความงงเห็นไหม มันคนละมิติกัน มันคนละความคิดกัน ผู้ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นธรรม ใจเป็นธรรมแล้ว ก็ต้องการปรารถนาสิ่งหนึ่ง แต่เรามีกิเลสอยู่ กิเลสมันตัวมืดบอด ความมืดบอดของใจ ใจมันมืดบอด มันคาดหมายไป มันก็ต้องคิดจินตนาการว่าท่านว่าอย่างใด? ท่านคิดอย่างใด? มันก็จินตนาการคาดหมายไปอย่างนั้น

การคาดหมายของใจไปมันก็ไม่สมกับความเป็นจริง นั่นล่ะมันถึงต้องทำความงบของใจ เน้นทำความสงบของใจ ใจนี้ต้องสงบก่อน “ศีล สมาธิ ปัญญา” ถ้าไม่มีศีลจะเอาความสงบมาจากใจมาจากไหน ไม่มีศีลมันก็จินตนาการของมันไป มันทำของมันตามความคิดของมัน คิดว่าตัวเองคิดในที่ลับ ในใจของตัว ความเห็นของตัวอยู่ในใจของตัว คิดของเราเองนี่ คิดว่าไม่มีใครรู้

สิ่งที่ไม่มีใครรู้ มันเป็นความลับของเราเอง เราคิดอย่างไรก็ได้ เห็นไหมศีลบริสุทธิ์ตรงไหน? ถ้าศีลมันบริสุทธิ์ นี่มโนกรรม กรรมคือความเห็นของใจ ความคิดของใจมันไม่กล้าคิดหรอก อธิศีล ศีลเกิดจากภายใน

ถ้าศีลเกิดจากภายใน ความคิดมันก็เริ่มเป็นประโยชน์ เป็นคุณกับตัว ถ้าความคิดจากในหัวใจเป็นคุณประโยชน์กับตัว มันไม่ให้ตัวเองคิดออกไปข้างนอก ไม่ให้ตัวคิดเบียดเบียนตนเอง คิดให้โทษกับตัวนะ สิ่งที่คิดให้โทษกับตัว คิดเรื่องต่างๆ เพียงแต่ว่าขณะเราประพฤติปฏิบัติ เราต้องการทำความสงบ ต้องการปล่อยวางหมด มันคิดถึงหน้าที่การงานนี้ ก็คิดไม่เป็นปัจจุบันแล้ว นี่มันให้โทษกับตัวเห็นไหม

หน้าที่การงาน ถ้าเราคิดถึงเวลาเราทำงานอยู่ หน้าที่การงานของเรา เราทำงานของเรา มันผิดตรงไหน? มันไม่ผิดหรอก ก็หน้าที่การงานของเรา เราต้องทำ เราก็ต้องคิด ต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองไป แต่ขณะเราจะทำความสงบของใจ หน้าที่การงานมันเป็นที่ว่ายังไม่ถึงเวลาที่เราจะต้องทำ ทำไมเราไปคิดถึงมันล่ะ? ความคิดอันนี้มันก็คิดผิดไปแล้ว พอมันคิดผิดออกไป มันก็ไม่เข้าใจสิ่งนั้น ไม่เป็นปัจจุบันไง นี่มันให้โทษกับตัวเอง

ตัวเองจะเอาความสงบของใจ ต้องการให้ใจนี้สงบ แต่มันไม่สงบ เพราะมันหมุนออกไป มันหมุนออกไปในหน้าที่การงาน ในความคิดของเรา นี่มันให้โทษกับเราอย่างนี้ ให้โทษกับเรา มันไม่ใช่ว่า ถึงเวลาส่วนที่ว่าเราเป็นงาน ต้องเป็นงาน งานเราทำงานก็เป็นงานของเรา เรามีหน้าที่ทำงาน เราก็ทำถึงที่สุด ทำด้วยความเข้มแข็ง ถึงเวลาปล่อยวางแล้วต้องปล่อยวาง ถึงเราวางไว้ งานยังไม่จบ ต้องจบ ใจต้องจบ

ใจจบมันก็กลับเข้ามา ถ้าใจมันจบ นี้มันจบไม่ได้เพราะสิ่งที่เป็นกิเลสของใจไง นี่กิเลสในหัวใจมันเป็นอย่างนั้น มันขุดคุ้ย มันเผาลนใจตลอด มันไม่ให้ใจสงบหรอก มันต้องขุดคุ้ยอย่างนั้น นี่คือหน้าที่ของเขา เป็นธรรมชาติของกิเลส ที่มันจะต้องขุดคุ้ยให้ใจฟุ้งซ่านโดยธรรมชาติของมันอย่างนั้น นั่นคือหน้าที่การงานของเขา แล้วเราจะทำอย่างไร ข่มใจให้ใจสงบเข้ามาให้ได้? คำบริกรรมสำคัญ

ถ้ามันไม่สงบ คำบริกรรมมีประโยชน์ ต้องใช้ขึ้นไป แล้วมีความอุตสาหะ มีความเพียร ตั้งใจทำ นี่พุทโธ... พุทโธ... กำหนดใจพุทโธเข้าไปเลย ถ้ามันสงบเข้าไปได้ มันต้องสงบได้โดยธรรมชาติ โดยธรรมนะ ไฟถ้ามีเชื้อ มันจะติดไฟขึ้นมาได้ ถ้าไฟหมดเชื้อ มันจะต้องดับลงโดยธรรมชาติของมัน อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเอาน้ำเข้าไปดับ พุทโธ... พุทโธ... พุทธานุสติ บริกรรมคำว่าพุทโธ

พุทโธ... พุทโธ... ให้อยู่กับพุทโธ พุทโธเป็นสิ่งที่ไม่มีโทษกับใจ ถ้าจิตมันมีคำบริกรรมเข้าไปบ่อยๆ เข้า มันจะเผลอไปบ้าง มันจะหลุดไปบ้าง อันนี้มันเป็นธรรมชาติของกิเลสมันเป็นอย่างนั้น หน้าที่ของเขาคือเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แล้วเราพยายามทำความสงบของใจเข้ามา เราก็กำหนดพุทโธขึ้นมา มันจะหลุดไปบ้าง มันจะพลาดพลั้งไปบ้าง นี่คือการต่อสู้ไง นี่คือการต่อสู้เริ่มต้นนะ เราปรับพื้นที่ ขณะเราปรับฐานปรับพื้นที่ เพื่อจะหาที่ยืนให้จิตนี้ยืนทรงตัวขึ้นมาได้

ถ้าจิตยืนทรงตัวขึ้นมาได้ จิตนั้นเป็นผู้ที่ทำงาน สัมมาสมาธิจะเกิดขึ้น ถ้าเราปรับพื้นฐานของเราได้ ถ้าเราปรับพื้นฐานของเราไม่ได้ จิตใจมืดบอด จิตใจยังมืดบอดอยู่ จิตใจยังหลงไปในอารมณ์ต่างๆ เห็นไหม ในความคิดต่างๆ ในความฟุ้งซ่านของใจ ในการคาดการหมายออกไป นั่นล่ะมันเป็นอย่างนั้น

มันจะเป็นอย่างนั้น นี้ธรรมชาติของเขาเป็นอย่างนั้น นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม แล้วถึงเห็นหน้าของกิเลส แล้วถึงได้บอกกิเลสไว้ให้พวกเราเข้าใจไง แล้วสิ่งนี้มันเกิดกับใจของเรา เราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร มันฟุ้งซ่าน มันคิดอยู่ในหัวใจ มันคืออะไร? แล้วเราจะหักห้ามมัน ก็หักห้ามมันไม่ได้ แล้วเวลาศึกษาธรรม นี่กิเลสมันศึกษาพร้อมไปด้วย

ศีล สมาธิ ปัญญา โพชฌงค์สามารถชำระกิเลส โพชฌงค์ ๗ ธรรมวิจัย อินทรีย์สังวร ต่างๆ ย้อนกลับมาเข้ามาหัวใจ นั่นล่ะมันก็ศึกษาไป กิเลสมันก็รับรู้ไป สังวรก็ให้สังวรพักหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ฟุ้งขึ้นมาอีกแล้ว นั่นล่ะมันเป็นอย่างนั้นไปตลอด มันถึงต้องพยายาม มีความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

ความสำเร็จของใจจะหมุนเข้ามา หมุนเข้ามา นั่นล่ะพยายามของเราขึ้นมา เป็นไปได้ ต้องทำได้ สิ่งที่ทำได้ เราต้องทำได้ คนอื่นทำได้เราก็ต้องทำได้ สิ่งที่ทำได้ สิ่งที่เป็นไป เพราะมันมีใจ ใจรับรู้อยู่ สิ่งนี้คือการสะสมลงที่ใจ

การทำความสงบของเราก็เหมือนกัน มันสะสมลงที่ใจ เราจะทำขนาดไหนมันสะสมลงมาที่ใจ ถ้าใจมันได้รับพุทธานุสติเข้าไปตลอด มันต้องสงบลงสักวันหนึ่ง หน้าที่ของเราคือกำหนด แล้วมีสติสัมปชัญญะ สติสำคัญที่สุด เห็นไหมสัมมาสติ สตินี้เป็นมรรคตัวหนึ่งนะ เป็นมรรคถึงตัวหนึ่ง มรรค ๘ มีสติด้วย มีสัมมาสมาธิ ความเห็นชอบ ความเพียรชอบ การงานชอบ มันชอบด้วยความเป็นสมถกรรมฐาน

สิ่งที่เป็นสมถกรรมฐาน ในวงจรไหนก็แล้วแต่ สิ้นสุดของมันคือความสงบของใจ ในการทำคำบริกรรม กำหนดพุทโธ ทำสมถกรรมฐาน หรือการใช้ปัญญาใคร่ครวญขนาดไหนก็แล้วแต่ สิ้นสุดความคิดของมันคือการปล่อยวางทั้งหมด

การปล่อยวางแล้วมันจะสงบขนาดไหนนั้น มันเป็นที่อำนาจวาสนาของจิตแต่ละดวง ถ้าจิตที่มีอำนาจวาสนามาก มันจะเวิ้งว้างมาก มันจะปล่อยวางมาก ความปล่อยวางนั้นเห็นไหม นี่ถ้ากำหนดพุทโธเข้าไป มันก็จะปล่อยวาง แล้วออกรู้ด้วย ถ้ากำหนดพุทโธ... พุทโธ... เข้าไป จิตมันสงบขึ้นมา มันจะออกไปถึงอุปปจารสมาธิ ออกรู้สิ่งต่างๆ

ถ้าออกรู้สิ่งต่างๆ ก็รับรู้ แล้วปล่อยวางไว้ อย่าไปตามรู้ไป สิ่งนั้นมันต้องเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของใจ ถ้าใจเคยเป็นอย่างนั้น ใจมีอำนาจวาสนาอย่างนั้น จะเห็นสภาวะแบบนั้น จะเห็นสภาวะของนิมิตต่างๆ เห็นเป็นภาพต่างๆ ความเห็นอันนั้น เห็นแล้ววางไว้ แต่คนที่เห็นแล้วมันต้องมีความตื่นเต้นทุกคน จิตดวงที่เห็นนั้นจะมีความรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่เห็นนี้ เพราะสิ่งที่เห็นนี้มันเป็นของที่ไม่เคยเห็น ของที่แปลกประหลาด แล้วมันเป็นเห็นจากภายใน มันจะตื่นเต้นมาก ถ้ายึดนะ นี่มันจัดตั้งตรงนี้!

ถ้ายึดมาเป็นธรรม เพราะมันไม่เคยเห็น ยึดว่าเป็นธรรม ยึดว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ความเวิ้งว้าง ความปล่อยวางนี้เป็นธรรม มันจะเป็นธรรมไปไหน? ในเมื่อมันยังไม่มีการใคร่ครวญเลย งานชอบ ชอบอย่างไร? นี่มัชฌิมาปฏิปทา งานชอบ ชอบในส่วนหนึ่ง ชอบในหน้าที่หนึ่ง งานชอบเห็นไหม

งานชอบของเด็กๆ ต้องศึกษาเล่าเรียน งานชอบของคนหนุ่มคนสาวนั้น ต้องทำงานทำการ งานชอบของผู้เฒ่าผู้แก่ บริหารครอบครัวให้มีความสุขเห็นไหม ชอบของใคร? นี่ก็เหมือนกัน งานชอบในวงไหน? ในวงของสัมมาสมาธิ ในวงของการทำความสงบของใจ ใจมันสงบขึ้นมานั้นคือผลงานที่ทำถูกต้อง ถ้าใจมันไม่สงบขึ้นมา นั้นงานไม่ถูกต้อง แล้วมันสงบขึ้นมา มันมีความเวิ้งว้างขึ้นมา เกิดจากใจ มันก็เป็นความสงบ ปัญญาใคร่ครวญขึ้นมาเพื่อความสงบเท่านั้น เพื่อสัมมาสมาธิเท่านั้น มันต้องยกขึ้นวิปัสสนา ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาได้ มันก็จะเป็นงานชอบ ถ้าไม่ยกขึ้นวิปัสสนา มันเป็นงานชอบในวงของสมถะ มันไม่เป็นงานชอบในมัชฌิมาปฏิปทา

อาฬารดาบส อุทกดาบส สอนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็สอนเรื่องสัมมาสมาธิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียนกับอาฬารดาบสมาก่อน เรียนเรื่องสัมมาสมาธิ เรื่องทำสมาบัติ ได้เหมือนกัน แล้วมันชำระอะไรได้? ถ้ามันชำระไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นความสงบของใจ มันเป็นขั้นตอนหนึ่ง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรม มรรคอริยสัจจังยังไม่เกิด ยังไม่มีมรรคในโลกนี้

มรรคในโลกนี้ ต่อเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศธรรมจักรนั้น นี่จักรได้เคลื่อนแล้วไง ประกาศธรรมจักร จักรของธรรมได้เคลื่อนออกไปแล้ว ได้ขน ได้รื้อสัตว์ขนสัตว์ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ใน ๓ แดนโลกธาตุนี้พ้นออกไปจากกิเลสด้วยธรรมจักร ด้วยจักรของธรรมไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงมาตรัสรู้ธรรมก่อน นี่ก็เหมือนกัน ในการทำความสงบของใจ ถ้าเราทำความสงบขนาดไหน มันก็ต้องเป็นวงของสมถะใช่ไหม เป็นวงของสัมมาสมาธิ

แต่มันก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมหาศาล ถ้าไม่มีศีล สมาธิ แล้วปัญญามันจะเกิดได้อย่างไร ปัญญาจะไม่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ปัญญานี้ต้องการฝึกฝน ถ้าปัญญาจะเกิดเองตามธรรมชาติ อาฬารดาบสต้องตรัสรู้ธรรมไปแล้วเหมือนกัน แต่ไม่เกิดเป็นธรรมชาติ เรื่องของวงสมาธิเห็นไหม มันจะแค่เรื่องน้ำเต็มแก้ว

สิ่งที่เป็นความสงบขนาดไหน มันเป็นความสงบขณะนั้น แต่ต้องอาศัยความสงบนั้น มันถึงย้อนมาศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาอย่างนี้ถึงจะเป็นปัญญาชำระกิเลสไง ปัญญาที่เกิดขึ้นจากสมาธิเป็นพื้นฐาน ปัญญาไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐานนี้ มันเป็นปัญญาของนักวิทยาศาสตร์

นักวิทยาศาสตร์ นักประพันธ์ต่างๆ เขาก็มีปัญญาของเขา เขาจินตนาการเรื่องขนาดไหน เขาก็จินตนาการของเขาได้ แต่มันไม่ย้อนกลับเข้ามาวงใน ไม่ย้อนกลับเข้ามาชำระกิเลสจากภายในหัวใจ มันส่งออกไปข้างนอก ส่งออกไปเทียบคุณค่าของวิทยาศาสตร์ ของโลกเขา เทียบค่าอย่างนั้นออกไปข้างนอก มันก็เทียบค่าไป มันไม่วนกลับมา ถ้ายังวนกลับมาสิ วนกลับมา ถึงจะต้องวนกลับมา นี่ถ้าวนกลับมาได้

วนกลับมาในอะไร? ในการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าค้นนะ ถ้าจับต้องได้ จับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมได้ นั้นเป็นงานชอบ งานชอบในวงของศาสนา คือการวิปัสสนาญาณ การชำระกิเลสต้องเกิดจากวิปัสสนาเท่านั้น ถ้าวิปัสสนายังไม่เกิดนั้น มันเป็นธรรมจัดตั้งของกิเลส มันจะเวิ้งว้างขนาดไหน มันจะปล่อยวางขนาดไหน จะว่างขนาดไหน นั้นมันเป็นความคิดของเขา เป็นการจัดตั้ง แล้วกิเลสมันหลอก หลอกให้เชื่อสิ่งนั้นไง

ถ้ากิเลสหลอกให้เชื่อนะ ความเนิ่นช้า ถ้าเราหลงไป มันมีความเนิ่นช้า แต่ถ้าเราไม่มีความอุตสาหะ ไม่มีความพยายามนะ มันจะเชื่อสิ่งนั้นไป แล้วเอาสิ่งนั้นเป็นเครื่องอยู่เลยนะ ว่าความสงบอันนี้ ความปล่อยวางอันนี้ เป็นมรรคผลนิพพาน แล้วก็จะติดตรงนี้ไป ถ้าติดโดยความเผลอ อันนั้นเป็นโทษ เป็นการให้เนิ่นช้า

แต่ถ้าติดโดยกิเลส มันไม่ติด มันเชื่อเลย แล้วมันคิดว่าสิ่งนั้นเป็นผลของมัน ผลของการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นผลของการประพฤติปฏิบัติมันก็จะไม่ก้าวเดินอีก ใจจะไม่ก้าวเดินต่อไป ก็จะไม่มีผล ไม่มีอริยผลในหัวใจเลย ภูมิของใจเป็นภูมิปุถุชนล้วนๆ ภูมิของใจไม่เป็นอริยภูมิที่จะพ้นไปจากกิเลสขึ้นมาเลย ถ้าจะพ้นจากภูมิของปุถุชนขึ้นมา มันต้องจับสติปัฏฐาน ๔ นี้

ถ้าจับสติปัฏฐาน ๔ ได้ กายภายใน ถ้าพิจารณากาย กายนอกก็ได้ กายในก็ได้ ก็ว่าเราพิจารณากายมาแล้ว ใช่... เราเห็นกายมาแล้ว เราพิจารณากาย เราปล่อยวางเข้ามา นั่นเราพิจารณากายมาแล้ว เราปล่อยวางเข้ามา เป็นผลสิ ก็ผลของการทำความสงบของใจ

แต่ถ้ามันเกิดจากภายใน กายที่จะจัดตั้งภายใน มันจับจากภายใน มันจะเห็นจากตาธรรม มันจะตื่นเต้น มันจะขนพองสยองเกล้า มันจะสะเทือนถึงหัวใจ การเห็นจากภายนอกมันเห็นจากเปลือกของใจ เห็นแล้วสลดสังเวช ความพิจารณากายนอก นี่สลดสังเวช ความปล่อยวางขึ้นมา พิจารณาแล้วมันจะมีความขนลุกขนพอง

มันปล่อยวางเข้ามาขนาดนั้น มันเกิดจากอาการของใจ แล้วพอสงบขึ้นมา มันก็เป็นตัวใจ ถ้าเป็นตัวใจ ตัวใจนี้ก็เป็นตัวที่เห็นกาย พอเห็นกายตัวนี้มันสะเทือน สะเทือนเลื่อนลั่น สะเทือนถึงใจเลย พอสะเทือนถึงใจ จับต้องได้ แล้วพยายามทรงไว้ไง ถ้าเราผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ เห็นสภาวะแบบนี้แล้วมันจะหลุดมือไป

หลุดมือคือจิตมันตื่นเต้น ภาพนั้นจะหายไป ต้องพยายามทำความสงบของใจขึ้นมาใหม่ แล้วตั้งภาพนั้นขึ้นมาให้ได้ เราเคยทำได้ เราตั้งภาพได้ เราจะตั้งได้ เพราะเราเคยทำอย่างนั้นได้อยู่แล้ว เราทำได้เห็นไหม นี่ความอุตสาหะของเรา ความผิดพลาดนี้เป็นครูนะ ความผิดพลาด การประพฤติปฏิบัติที่ผิดพลาดเป็นครูสอนเรา มันจะมีความผิดพลาดไป ก็ฟังสิคำว่ากิเลสมันเคยใจ มันพยายามขัดขวางเรา มันขัดขวางเรา ไม่ให้เราทำความถูกต้องอยู่แล้ว

ถ้าทำความถูกต้อง สมควรแก่ธรรม... “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” ธรรมะจะให้ผลกับใจดวงนั้น เราปฏิบัติธรรม เราคาดเราหมาย เราปฏิบัติธรรม เราอยากได้ผลมาก เราอยากได้ผลเพราะอะไร? เพราะเราทุกข์ยาก เราทำด้วยความอุตสาหะ ทำด้วยหัวใจของเราทั้งหมด แต่เราทุกข์เรายาก เราพยายามทำขนาดไหน มันก็มีความลำบากลำบน แล้วอยากได้ไว นั้นล่ะความอยากได้ไว ความอยากได้ให้มันเป็นไป

ความอยากนั้นเป็นอะไรล่ะ? ความอยากนั้นเป็นตัณหา สิ่งที่เป็นตัณหาเป็นสมุทัย สมุทัยนี้เป็นตัวหลอกทั้งหมดเลย สิ่งที่เราทุกข์อยู่นี้ก็เพราะสมุทัย ความคาดความหมายเห็นไหม ความอยากให้เป็นไป ไม่อยากให้เป็นไป นี่ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ

มันละกันที่สมุทัย ละกันที่ความอยาก ความอยากไม่ต้องอยาก ไม่อยากมัน เราอยากในเหตุ ความอยากในผล มันอยากแล้วทำให้เราจินตนาการไป เราจะได้ธรรมะจัดตั้ง เพราะเราอยาก แล้วเราคิด เราจินตนาการไป จัดตั้งขึ้นมาเลย กิเลสมันจัดตั้งให้เสร็จ เป็นอย่างนั้น แล้วก็หลงใหลไปกับมัน แต่ถ้าเราอยากในเหตุ

เหตุในการประพฤติปฏิบัติ เหตุในการเดินจงกรม เหตุในการนั่งสมาธิภาวนา เหตุในการบริกรรมเพื่อความสงบของใจ เหตุในการยกขึ้นวิปัสสนา เหตุขั้นไหนมันก็อยู่ในผลขั้นนั้น ถ้าเหตุเราพร้อมขั้นไหน มันก็เป็นผลเข้าไป เราพยายามสร้างเหตุ เราอยากในเหตุ เราก็มีกำลังใจทำ ถ้าเราไม่อยากในเหตุ กำลังใจเรามันไม่มี กำลังใจไม่มีเราก็อ่อนด้อย

ความอ่อนด้อย สุขเอาเผากิน ถ้าสุขเอาเผากิน มันก็ลูบๆ คลำไปกับความเป็นไปของใจอยู่อย่างนั้น นั่นล่ะกิเลสมันจัดตั้งอย่างนั้น จัดตั้งให้เราอยู่ตรงนั้น จัดตั้งให้เราอยู่กับใจตรงนั้น จัดตั้งให้เราก้าวเดินไปไม่ได้ แล้วเราก็ต้องพ่ายแพ้ตลอดไป

ความพ่ายแพ้นี่ เราก็ปล่อยไป... ปล่อยไป... ถอยกลับมาทำความสงบ ฟังตรงนี้ให้ดีนะ ถ้าจิตมันพิจารณากายแล้ว กายมันหลุดมือไป หรือภาพมันไม่มี เพราะสมาธิไม่พอ ถ้าสมาธิพอ ภาพต้องชัดเจนครบบริบูรณ์ ให้เราเห็นได้ แล้วพยายามทำปฏิภาคะ

ทำปฏิภาคะคือการแยกส่วน แบ่งส่วนของกายให้ได้ ทำปฏิภาคะของใจ ทำใจนี้พิจารณาปฏิภาคะของร่างกาย ปฏิภาคะคือแยกส่วน แบ่งส่วนออกไป แยกส่วน แบ่งส่วน ให้มันเป็นไตรลักษณะ มันเป็นโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เห็นไหมคนเราเกิดมาต้องตายทั้งหมด สิ่งใดๆ มีสภาวะมาต้องแปรสภาพทั้งหมด มันเป็นใดยธรรมชาติของมัน แต่เพราะกิเลสมันบังใจไว้ กิเลสมันต้องการให้เราอยู่ในอำนาจของมัน ว่าสิ่งนั้นมันเป็นธรรมชาติของมัน เราก็รู้แล้ว

มันรู้โดยสัญญา รู้โดยความจำได้หมายรู้ แต่กิเลสที่หัวใจ ตัวรู้มันไม่รู้จริง ถ้าตัวรู้มันรู้จริงนะ มันเห็นสภาวะของไตรลักษณะจริง มันจะปล่อยวาง สมุจเฉทปหาน ปล่อยวางกิเลสขาดออกไปจากใจเลย แต่นี้มันไม่รู้จริง มันถึงบอกกิเลสมันบังไว้ ถ้ารู้จริงกิเลสต้องตาย ถ้ารู้ไม่จริงกิเลสมันหัวเราะเยาะ กิเลสมันอยู่ในใจนั้น แล้วมันคร่อมใจไว้ มันนั่งอยู่บนหัวใจ แล้วมันก็จัดตั้งให้เราอยู่ในอำนาจของมัน “สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม” สิ่งนี้ที่ว่าเราพิจารณาแล้วถูกต้องตามความหมาย มันว่าของมันไปอย่างนั้น แต่มันไม่จริงโดยธรรม

ถ้าจริงโดยธรรม มันเป็นไตรลักษณะ จิตสงบแล้วตั้งขึ้นมา ตั้งขึ้นมาวิปัสสนาไป วิปัสสนาไปให้มันเป็นลักษณะ มันจะเป็นต่อหน้าเรา เห็นความแปรสภาพไป พอมันแปรสภาพไป มันไม่มีสิ่งใดเกาะเกี่ยวได้ ใจมันต้องหลุดออกมา

พอใจหลุดออกมามันจะเวิ้งว้าง เห็นไหมนี่มันก็เวิ้งว้าง นี่มันลึกซึ้งกว่าเวิ้งว้างอันความสงบอันนั้นอีก ความสงบนั้นมันเป็นความสงบเฉยๆ แต่กิเลสมันซุกอยู่ใต้พรม อยู่ในหัวใจ กิเลสมันซุกใจอยู่ แต่การวิปัสสนาแล้วมันปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนไป มันก็เวิ้งว้างกว่า แล้วมันลึกซึ้งกว่า เพราะอะไร? เพราะมันเวิ้งว้างพร้อมกับความสะอาดขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอน

สะอาดเป็นชั้นเป็นตอนจนถึง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีแพ้บ้าง มีชนะบ้าง ถ้าแพ้เราก็กลับมาทำความสงบของใจ แล้วกลับไปสู้ใหม่ ถ้าชนะขึ้นมา เราก็เสวยสุขเอาความสงบของใจนั้น แล้วพอพิจารณาไปแล้วต้องซ้ำ มันยังจับต้องได้ ใจจับต้องได้ วิปัสสนาไปถึงขั้นของที่ว่าวิปัสสนาแล้ว ใจจะจับสิ่งนี้ได้ จับความเห็นของความเกาะเกี่ยวของใจ

เห็นไหม เวลาเราทำงานทำการ เรามีความกังวล เรามีความเกี่ยวเนื่องของใจ นั่นล่ะคือตัวกิเลส สิ่งที่กังวล สิ่งที่เกาะเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ นั้น มันเป็นเรื่องของตัวกิเลส อันนี้ก็เหมือนกัน เราจับต้องแล้ว เราวิปัสสนาไป เมื่อมันยังจับต้องได้ มันยังเกาะเกี่ยวได้ วิปัสสนาต้องซ้ำ ซ้ำไปบ่อยครั้ง บ่อยครั้ง จนมันขาด สิ่งนี้ต้องขาดออกไปจากใจ

นี่ขันธ์กับใจไม่ใช่อันเดียวกัน ขันธ์หยาบๆ นะ ขันธ์กับใจไม่ใช่อันเดียวกัน มันเกาะเกี่ยวมา มันเกิดมาเพราะเราได้มนุษยสมบัติ มันถึงมีขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ กับใจนี้อยู่ด้วยกัน อยู่ด้วยกันเพราะมนุย์สมบัติ แล้วเอามนุษยสมบัตินี้มาวิปัสสนา มาใคร่ครวญใจของตัวเอง มาทำเรื่องของตัวเอง ทำเรื่องของเรา ผู้ที่รักตน ผู้ที่ต้องการให้ตนพ้นออกจากกิเลส ให้ตนพ้นออกจาความทุกข์

พ้นจากกิเลสคือพ้นจากความทุกข์ใจ ความปักเสียบใจ ความทุกข์ของใจที่มันปักเสียบ แสบร้อนอยู่ในหัวใจ วิปัสสนาเพื่อจะให้มันผ่อนคลายสิ่งนี้ไง สิ่งนี้ผ่อนคลายออกไปจากใจ ผ่อนคลายออกไปจากใจส่วนหนึ่ง เวลามันขาดขึ้นมา สังโยชน์มันขาด

ความลังเลสงสัย แต่เดิม เราลังเลสงสัยไปทุกอย่าง ทั้งเรื่องของธรรม เรื่องของเหตุ และเรื่องของผล จะลังเลสงสัยว่ามันจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง วิปัสสนาจนเห็นไตรลักษณะ เห็นกายเป็นไตรลักษณะ แล้วปล่อยวางไป มันจะขาดออกไป ความขาดออกไปนี่ความสงสัยไม่มี ความลูบคลำในการประพฤติปฏิบัติ นี่สีลัพพตปรามาส ความลูบคลำในศีล ในศีลด้วย ในการประพฤติพรหมจรรย์ด้วย แล้วขันธ์ก็ขาดไปโดยธรรมชาติ สักกายทิฏฐิ ๒๐ ขาดออกไป นั่นมันจะเวิ้งว้างขนาดไหน มันจะเป็นความสุขขนาดไหน นี่ความจริงส่วนหนึ่ง

ความจริงของใจ มันจะเป็นความจริงส่วนหนึ่งของใจที่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมา เราก็เป็นสมบัติของเราขึ้นมา นี่สมบัติของเรา ไม่ใช่ธรรมะจัดตั้ง! อันนี้เป็นธรรมะจริงๆ เป็นธรรมะโดยสมบูรณ์ เป็นธรรมของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเป็นอริยภูมิขึ้นมาชั้นหนึ่ง

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ... สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับแปรสภาพไปเป็นธรรมดา” เห็นการเกิดการดับของใจเป็นธรรมดา สิ่งที่ใจเกาะเกี่ยวกับร่างกายนี้ เป็นเรื่องธรรมดาที่เกาะเกี่ยวกัน แล้วแปรสภาพออกไปเป็นธรรมดา ปล่อยสลัดออกไปจากใจ นั่นล่ะมันทิ้งออกไปอย่างนั้น พ้นออกไปจากใจ แต่ความที่ว่ากิเลสอย่างที่ละเอียดอยู่ มันก็ยังอยู่ในหัวใจ

อยู่ในหัวใจ เพราะเรายังทำไม่ถึงจุดของมัน เราพยายามยกขึ้นวิปัสสนาต่อไป ความสงบของใจต้องสืบต่อ ความสืบต่อความสงบของใจ ถ้าใจมันมีความสงบของใจมันมีพลังงาน ถ้าใจไม่สงบ พลังงานของใจไม่พอ มันก็เดินตามกิเลสไปสิ ถ้าความสงบของใจไม่มี เดินตามกิเลส เดินตามความคาดหมาย เดินตามความเห็นไง ความเห็นของเราถ้าเป็นไป เรายับยั้งสิ่งนั้น สิ่งนั้นปล่อยไป ความว่างเป็นความว่าง ความว่างในหัวใจเป็นพื้นฐานส่วนหนึ่ง

ความสงบของใจ ที่จะต่อสูงขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่ง มรรค ๔ ผล ๔ มรรคที่หนึ่งเราใช้สัมปยุตเข้าไป กลมกลืนเข้าไปกับหัวใจ หัวใจกับมรรครวมตัวเข้าไป แล้วสมุจเฉทปหาน วิปยุตคลายออกมา นี่มรรคส่วนหนึ่งได้ทำลายไปแล้ว ได้ใช้ไปแล้ว เราต้องสร้างมรรคต่อไป ผลของมันที่จะเกิดขึ้นมา ทำความสงบของใจขึ้นมา สัมมาสมาธิ สัมมาสติพร้อมขึ้นไป ยกขึ้นวิปัสสนา

ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมเหมือนกัน ถ้าพิจารณากายขึ้นไป จับกายจะเป็นกระดูกก็ได้ จะเป็นไขข้อก็ได้ จะเป็นส่วนใดก็ได้ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” จับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันสามารถจับต้องได้

เห็นไหม น้ำสกปรกก็มี น้ำสะอาดก็มี น้ำที่เขากลั่นจนไม่มีจุลินทรีย์เลยก็มี แม้แต่น้ำมันยังมีระดับที่ว่าความสะอาดของน้ำต่างกัน นี่ก็เหมือนกัน ความสะอาดของใจ มันจะละเอียดอ่อนเข้าไป ถ้าเราพยายามยกขึ้น ถ้าความละเอียดอ่อนมันเข้าไปถึงใจ มันละเอียดอ่อนเข้าไป มันก็มีความสงบมากขึ้น มันก็ย้อนกลับเข้ามา จับเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจที่ว่าเป็นเปลือกๆ นี่แหละ วิปัสสนา จับเลย ถ้าใจจับได้ จับ แล้ววิปัสสนาไป

วิปัสสนาไป ถ้าผลของมันเกิดขึ้น มันจะแปรสภาพ ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ จากที่เห็นเป็นไตรลักษณะ ส่วนที่เห็นเริ่มแรกเป็นไตรลักษณะ เห็นเป็นธาตุก็ได้ เห็นกลับเป็นสภาวะเดิมของเขา ถ้าเราพิจารณาอย่างนั้น นั่นล่ะสมาธิพอ

สมาธิพอ ปัญญาหมุนไป พอปัญญาหมุนไป หมุนไปในความเห็นของธรรม ไม่ใช่ความเห็นของกิเลส ความเห็นของกิเลสว่าสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่เกาะเกี่ยว สิ่งนั้นเป็นสมบัติของตน นั้นเป็นความเห็นของกิเลส ความเห็นของกิเลสมันอยู่กับใจ

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ใจนี้เป็นธาตุรู้เฉยๆ แต่โดนกิเลสหลอกอีกชั้นหนึ่ง โดนกิเลสควบคุมหลอกอยู่ แล้วถึงหมุนออกไปโดยธรรมชาติของเขา นี่ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาให้เห็นสภาวะตามความเป็นจริง

ถ้าเห็นสภาวะตามเป็นจริงที่ว่า เขาแปรสภาพของเขา โดยธรรมชาติของเขา เขาต้องกลับคืนไปสู้ธาตุเดิมของเขา ถ้าเราตายไปก็เหมือนกัน เราตายไป ถ้าซากศพฝังไว้ในดิน น้ำจะซึมซาบไปในดิน ทุกอย่างต้องกลับไปสภาพเดิม เหมือนกัน อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราแปรสภาพเดิม แต่เห็นในการประพฤติปฏิบัติ เห็นในสภาวธรรม เห็นนี้เป็นการวิปัสสนา เป็นการสอนใจ เป็นการวิปัสสนาเพื่อให้ใจเห็นสภาวะ สละร่างกาย สละธาตุ ๔ ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่

ถ้าสละออกไป ใจนี้ก็จะสะอาดขึ้นมา ถ้าใจสะอาดขึ้นมา กิเลสมันก็ต้องหลุดลอยออกไป ถ้าใจไม่สะอาดขึ้นมา มันมีความเข้าใจเฉยๆ ก็ต้องซ้ำเข้าไป วิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หมั่นคราดหมั่นไถ จนกว่าใจนี้ไม่มีวัชพืช จึงควรแก่การหว่านเมล็ดพืชเมล็ดพันธุ์ขึ้นไป เพื่อให้ต้นกล้าเจริญงอกงามขึ้นมา นี้ก็เหมือนกัน เราต้องหมั่นคราดหมั่นไถ

การหมั่นคราดหมั่นไถนี้ มันเป็นประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นมาแล้ว ถ้าเราเริ่มต้นวิปัสสนามา คนวิปัสสนาผ่านขั้นตอนมา มีภูมิในหัวใจ มันจะเข้าใจตรงนี้ไง เพราะอันแรกเราก็เคยคราด เราก็เคยไถ เพราะเราเคยทำแล้ว เราคิดว่ามันหมดแล้ว ปล่อยไว้ ต้นวัชพืชมันก็งอกงามขึ้นมา โดยธรรมชาติของมัน นี้ก็เหมือนกัน เคยวิปัสสนามาครั้ง ๒ ครั้ง แล้วมันเวิ้งว้างไป เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นผล แล้วมันก็ต้องเสื่อมไปโดยธรรมดา

มันเสื่อมไปโดยธรรมดา ออกมาแล้วกระทบอารมณ์ต่างๆ มันจะเกิดความรู้สึกติดข้องไปกับความเห็นของโลกเขา มันก็ต้องเป็นผลกับใจดวงนั้นว่า “สิ่งนี้ไม่ใช่ทาง สิ่งนี้ยังมีเชื้อไฟอยู่ ยังมีเชื้อของกิเลสอยู่” ต้องกลับขึ้นมาวิปัสสนาต่อ เคยทำสิ่งนั้นมา มันเคยผ่านมาขั้นตอนหนึ่งแล้ว ขั้นตอนที่ ๒ จะเข้าใจตรงนี้ แล้วจะคราดไถบ่อยๆ

แต่ธรรมะจัดตั้งของกิเลสไง กิเลสมันจะจัดตั้งว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ถ้าจะหลง หลงตรงนี้ หลงตรงที่ว่าเวลามันปล่อยวางไปแล้วมันเป็นสภาวะเวิ้งว้าง เข้าใจว่าอันนี้เป็นธรรม มันปล่อยวางสิ่งต่างๆ ปล่อยวางสิ่งที่เป็นภาระรุงรังในใจ ปล่อย แฟ่บ ออกไป แล้วเข้าใจว่าเป็นธรรม มันไม่ใช่! มันจะเป็นธรรมต่อเมื่อ มันมีส่วนที่สุดของการชำระที่มันจะขาดออกไป

สิ่งที่ขาดออกไป สิ่งที่สละออกไปโดยสมุจเฉทปหาน อันนั้นต่างหากมันถึงจะเป็นธรรมจริง นั่นล่ะธรรมะจัดตั้งของกิเลสที่มันจะละเอียดอ่อนมาก มันจะหลอกให้เราติดอยู่ตรงนั้น มันถึงต้องคราดต้องไถ หมั่นคราดหมั่นไถตรงนี้เข้าไป คราดไถเข้าไป จนกว่ามันจะเป็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง มันสมุจเฉทปหานขาดออก กายเป็นกาย จิตเป็นจิต กายจะเวิ้งว้างออกไป จิตมันจะเวิ้งเวิ้งออกไป สละกายทิ้ง ธาตุนี้ทิ้งออกไปเลย

ทิ้งธาตุ ๔ ไว้ แล้วจิตนี้หลุดออกไป เวิ้งว้าง กายเป็นกาย จิตเป็นจิต รวมใหญ่ออกไปจากโลกธาตุนี้ นั่นล่ะสภาวะของใจ สิ่งนี้ต่างหากเป็นธรรมะโดยสมบูรณ์ในหัวใจ ธรรมะในหัวใจสมบูรณ์ขึ้นมา มันจะเวิ้งว้างมาก แล้วจะติดอยู่ตรงนี้ ตรงนี้จะติด แล้วจะเข้าใจได้ยาก เพราะจิตมันจะสงบ แล้วมันจะเกิดธรรมะจัดตั้งมหาศาลตรงนี้ เพราะมันเข้าไปจับดูใจแล้ว พิจารณาเข้าไปข้างใน มันจะเกิดสิ่งตอบสนองไง

กิเลสในหัวใจ กามราคะนี่มันรุนแรงมาก ตอบสนอง มันจะสร้างสถานะให้เราเห็น สร้างสภาวะการประพฤติปฏิบัติ สภาวะความเป็นจริงของใจ สภาวะตามความเป็นจริงที่กิเลสมันสะสมขึ้นมา กิเลสมันจะหลอกขึ้นมาว่าสภาวะเป็นอย่างนั้น ความว่างเป็นอย่างนั้น แล้วได้ชำระกิเลสเป็นอย่างนั้น แล้วมันก็จะอยู่ตรงนั้น ต้องพยายามทำความสงบของใจ แล้วย้อนกลับมาจับต้องให้ได้ ย้อนกลับมา

ถ้าจับต้องได้ เป็นงานอันมหาศาล ถ้าจับต้องไม่ได้ คือจะไม่เห็นตรงนั้น มันจะเวิ้งว้างอยู่อย่างนั้น ต้องพยายาม อสุภะ อสุภัง ถ้าจับกายได้จะเป็นอสุภะ อสุภังจากหัวใจ อสุภะ อสุภังอยู่ตรงนี้ กามราคะอยู่ตรงนี้ ถ้าจับต้องได้ มันจะเกิดผลงานของใจนั้น

การจับต้องเห็นไหม ข้าราชการตำรวจจับขโมย จับโจรผู้ร้ายที่ปล้นฆ่า โจรผู้ร้ายมันจะหลบซ่อนตัวอย่างมหาศาลเลย กว่าจะจับต้องได้ การไล่จับต้อง ไล่จับฆาตกร มันเป็นการเสี่ยงภัยไหม? อันนี้ก็เหมือนกัน ในการจับต้องกิเลสที่จะจับต้องได้ พยายามค้นคว้านี่ มันเป็นงานส่วนหนึ่ง แล้วเป็นงานมหาศาล เป็นงานตั้งแต่ต้นเริ่มแรก

ถ้างานเราจับตรงนี้ไม่ได้ มันไม่เป็นงานชอบ มันเป็นงานจัดตั้งของกิเลสเขา แต่ถ้าเราจับต้องได้ เป็นงานของธรรม งานของธรรมเพราะอะไร? เพราะมันเกิดวิปัสสนาไง ถ้าเป็นงานของธรรม เกิดวิปัสสนา ถ้ามีเหตุการณ์วิปัสสนาเข้าไปแล้ว มันจะเป็นผลขึ้นมา ถ้าเหตุวิปัสสนาไม่เกิดขึ้น ผลมาจากไหน? ผลเป็นการจัดตั้ง เป็นการหลอกลวงทั้งหมดเลย จิตนี้จะหลอกลวงหัวใจให้เชื่อ ให้หลงใหล ให้เคลิ้ม ไปกับความเห็นของเรา

ความเห็นของกิเลส กิเลสเป็นเรา เราเป็นกิเลส มันเป็นภวาสวะ เป็นภพเดียวกัน อยู่ด้วยกัน มันจะเคลื่อนไปด้วยกัน จิตหมุนขนาดไหนมันจะไปด้วยกัน ถึงต้องทำความสงบให้มันละเอียดอ่อนเข้าไป แล้วจับต้องได้ นั้นเป็นผลงานของเรา เราวิปัสสนาแยกออกมา พยายามแยกออก

วิปัสสนาหมายถึงว่าถ้าพิจารณากาย สิ่งนี้เป็นความสกปรกโสมม สิ่งนี้เป็นอสุภะ อสุภัง ร่างกายของสัตว์ทุกตัวไป มันเป็นสิ่งที่ว่าขี้เหงื่อ ขี้ไคล ขี้ทุกอย่างอยู่ในร่างกายนี้ แต่ตอนที่มันอยู่ในร่างกาย มันเป็นสภาวะส่วนที่สืบต่อกัน เซลล์ในร่างกายแต่ละเซลล์ มันอยู่ในร่างกายนี่ มันก็สร้างตัวใหม่ขึ้นมา มันเกิดตายมาตั้งแต่เด็ก จนเป็นผู้ใหญ่ จนเป็นคนแก่ มันก็เกิดตายมาตลอด แล้วมันก็เปลี่ยนสิ่งมีชีวิต หมุนเวียนกันในชีวิตของเรา แล้วมันออกมาข้างนอก

ตามหลักวิทยาศาสตร์ก็คิดได้ นี่ธรรมะจัดตั้ง! คิดอย่างนี้มันมีความเห็น มันก็เข้าใจ เข้าใจแล้วปล่อยกิเลสได้ไหม? ความเข้าใจมันไม่ปล่อยกิเลส เพราะความเข้าใจมันก็รู้ซึ้ง รู้แล้วก็แล้วกันไป แต่การวิปัสสนาสิ วิปัสสนาเห็นไหม สิ่งที่เป็นอสุภะ มันไม่สวย มันแปรสภาพโดยธรรมชาติของมัน จับมันตั้งขึ้นมา แล้วดูความสกปรกโสมมของมัน สิ่งนี้มันทำให้เรายินดีกับมันไปได้อย่างไร

เหมือนกับเรา มันเป็นความสกปรกโสมม เราไม่ได้อาบน้ำ ไม่ได้ชำระร่างกายหลายๆ วัน เราจะอยู่ได้ไหม? มันอยู่ไม่ได้เพราะอะไร? เพราะมันติดอยู่กับเรา อันนี้ก็เหมือนกัน มันติดอยู่กับใจ อสุภะ อสุภัง กามราคะ มันติดอยู่กับใจ เพราะใจมันหลงผิด

ใจมันหลงผิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ชำระล้างร่างกายกัน สวยๆ งามๆขึ้นมา แล้วมันก็ว่าสิ่งนั้นสวยงาม แต่ความจริงสวยงามเพราะการชำระล้างนิ มันไม่ได้สวยงามโดยตัวของมัน อันนี้ก็เหมือนกัน มันหลงผิดไปอย่างนั้น มันถึงมีความพอใจ เพราะมีความพอใจถึงยึด เพราะความยึดมันถึงทำให้ใจนี้ต้องหมุนเวียนตายเวียนเกิด มันต้องเกิดอยู่ในวงของวัฏฏะ อยู่ในวงของการตายการเกิด นี่มันติดตรงนี้ไง มันถึงต้องจับตรงนี้ตั้งขึ้นมา แล้ววิปัสสนาไป

วิปัสสนาไปขนาดไหนนี่ ความหลอกของกิเลส มันจะหลอกมหาศาลเลยนะ พลิกแพลงทุกวิธีการ ต้องต่อสู้อย่างรุนแรง รุนแรงเพราะมันเป็นน้ำป่า สิ่งที่เป็นน้ำป่านี่ มันไหลมาด้วยความรวดเร็ว นี่ก็เหมือนกัน เราตั้งตัวไม่ทัน บางทีเรายกขึ้นวิปัสสนา เหตุผลมันมาก่อนแล้ว เหตุผลของกิเลสมันชนะเราแล้ว เราล้มไปก่อนเลย พอเราล้มไปเราสู้ไม่ไหว ปล่อยมันไว้ แล้วเราพยายามตั้งตัวใหม่ ทำความสงบของใจ ตั้งสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ แล้วเข้าไปต่อสู้ซึ่งๆ หน้า

ต่อสู้ไหว สู้ สู้ไม่ไหวกลับมาทำความสงบของใจ ถอยกลับมาทำความสงบของใจ แล้วย้อนกลับเข้าไปสู้ใหม่ ต้องสู้! ถ้าไม่สู้ ผ่านไปไม่ได้! ต้องชำระกิเลส ต้องแยกแยะกิเลส ถ้าแยกแยะกิเลสได้ เราจะสามารถผ่านกิเลสไป ถ้าเราไม่แยกแยะกิเลส เราจะไม่สามารถผ่านกิเลสไป เราจะต้องเป็นผู้แพ้อยู่ตลอดไป ถ้าเป็นผู้แพ้ก็ยังดี

ถ้าเป็นผู้แพ้โดยที่ไม่เข้าใจว่าเป็นผู้แพ้สิ นั้นล่ะถ้ากิเลสมันจัดตั้งขึ้นมา สิ่งนี้เป็นเป็นความเข้าใจแล้ว สิ่งนี้เป็นการปล่อยวางแล้ว แล้วก็สุมกินกันอยู่นั่น สุมให้ใจอยู่นั่น แล้วใจมันจะไม่ไปไหน ใจจะเวิ้งว้างขนาดไหนก็เวิ้งว้าง ช่วงนี้ใจมันจะเวิ้งว้างโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว มันเวิ้งว้างโดยธรรมชาติของมันเพราะ มันปล่อยวางกิเลสมามหาศาล

แต่ความพอใจของใจมันยึดใจ มันไม่สามารถปล่อยใจได้ เพราะตรงนี้มันสมานไว้ให้ขันธ์อันละเอียดกับจิตอยู่เป็นอันเดียวกัน มันถึงสามารถเป็นปฏิฆะ เป็นกามราคะได้ไง ความปฏิฆะคือความพอใจ สิ่งที่พอใจใครทำ ใครขัดแย้งในความพอใจของเรา มันจะไม่พอใจ มันจะมีความเดือดร้อนตรงนั้น

สิ่งที่ความพอใจ สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่น เราเห็นว่าถูกต้อง ใครขัดใจไม่ได้เลย ใครสะกิดหน่อยเดียวจะมีอารมณ์ออกมา ความรู้สึกออกมา มันสงวนตัวมันขนาดนั้น สงวนของมันไว้ สงวนกิเลสไว้ กิเลสมันสงวนกิเลสเพื่อจะให้ดำรงชีวิตของมันไว้ เราก็พยายามต่อสู้ พยายามแยกแยะออกไป พยายามเข้าไปแยกแยะ ค้นคว้า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แพ้บ้างชนะบ้าง ต้องเป็นอย่างนั้นโดยธรรมชาติ ส่วนใหญ่เริ่มต้นจะเป็นแพ้ส่วนใหญ่

แพ้ส่วนใหญ่ จนกว่าเราจะยืนตัวได้ แพ้จนชำนาญ ฟังสิ! แพ้จนชำนาญ แพ้จนรู้ว่าแพ้ แพ้ขนาดไหนก็สู้ ฝืนสู้ไปเรื่อยๆ สู้ไปจนกว่าเราจะยับยั้งได้ เริ่มจากแพ้มาแล้วก็ยับยั้งพอเสมอกัน แล้วถ้าเราสะสม พลังของธรรม สัมมาสมาธิ สัมมาวิปัสสนา สมถะวิปัสสนาในหัวใจ เราสะสมขึ้นไป เราต่อสู้ขึ้นไป มันพลิกแพลงขึ้นไป เราทำบ่อยครั้งเข้า มันจะละเอียดอ่อนเข้าไป

คราวนี้แพ้ท่านี้ก็เอาท่าใหม่ เอาท่าใหม่เข้าไป ชำระท่าใหม่เข้าไป เข้าทางซ้ายผิด เข้าทางขวา เข้าทางหน้า เข้าทางหลัง เข้าได้ตลอด เข้าไปต่อสู้กับใจ เข้าไปต่อสู้กับความคิด เข้าไปต่อสู้กับความยึดมั่นถือมั่นของใจ เข้าไปต่อสู้กับความเห็นผิดของใจนั้น จนกว่ามันยับยั้งกันได้ แล้วมันก็เริ่มชนะ เริ่มชนะมันก็เริ่มเวิ้งว้าง เริ่มปล่อยวาง

เริ่มชนะคือเริ่มถูกต้อง ถ้ามันผิดนะ มันจะหลอกไปตลอด มันจะหลอก มันจะสร้างสถานการณ์ แล้วมันจะให้เราวนออกไป ถ้าเราวนออกไป ออกไปถึงข้างนอก มันก็มีความยึดติดของใจ มันเทียบเคียงได้ เทียบเคียงได้ว่าเรามีอารมณ์ความรู้สึกไหม? ถ้าเรามีอารมณ์ความรู้สึก อันนั้นมันยังเป็นกามราคะ มันยังเทียบเคียงกับอารมณ์ความรู้สึกของเรานี้แหละ

แล้วความรู้สึกของเรา ตากระทบรูป ความเห็นต่างๆ ระหว่างฝ่ายตรงข้ามกระทบรูปต่อๆ กัน มันสืบต่อได้ ถ้าไม่กระทบรูป แม้แต่ความคิดในหัวใจ มันก็มีอารมณ์ของมันอยู่แล้ว มันตรวจสอบได้อย่างนั้น มันถึงตรวจสอบแล้วพยายามต่อสู้กัน

ต่อสู้กันไป จนกว่ามันจะชนะไง มันขาดออกไปจากใจ ขันธ์ ๕ อันละเอียดขาดออกไปจากใจ ใจนี้เป็นอิสระไป ไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์นี้เป็นสิ่งที่แสวงหาเรื่องโทษ เรื่องกรรม เข้ามาสะสมใจทั้งหมดเลย ขาดออกไป ครืนออกไปจากใจนะ ใจนี้สะเทือนเลื่อนลั่นเพราะอะไร? เพราะกามภพไม่เกิดอีกแล้ว ใจนี้จะไม่มาเกิดในภพนี้อีกแล้ว ในกามภพ ตั้งแต่เทวดาลงมา ใจนี้ไปเกิดบนพรหมอย่างเดียว

เกิดบนพรหม รู้ในหัวใจนั้น เกิดบนพรหมอย่างเดียว แล้วก็ต้องแสวงหา แล้วพิจารณาซ้ำเข้าไป ตรงนี้มันมีส่วนสืบต่อมาก ความขาดของใจ กามราคะขาดไป แล้วมันก็ต้องฝึกฝนสิ่งที่ต่อสู้กับขันธ์อันละเอียดที่มันขาดไปแล้ว มันยังมีแว็บๆในหัวใจ ถ้าวิปัสสนาเข้าไป ตรงนี้ซ้ำเข้าไปตรงนี้ มันจะซ้ำเข้าไปอีกทีหนึ่ง

ถ้าซ้ำเข้าไปอีกทีหนึ่ง ซ้ำแล้วฝึกฝนใจเข้าไปบ่อยๆ จนมันเวิ้งว้างหมด จนมันจับต้องสิ่งใดๆ ไม่ได้ การจับต้องนี้มันต้องเป็นฝ่ายตรงข้ามกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจับต้องกัน การกระเทือนกันต้องมี ๒ สิ่ง ๒ อย่างกระเทือนกัน

ความจับต้องสิ่งที่สะเทือนกัน มันต้องมีซ้ายและขวา บวกลบสะเทือนกันมันถึงจะจับต้องกันได้ นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อขันธ์กับใจมันฝึกฝนไปตลอดไป มันจะสะเทือนกันไป จนกว่ามันหมดเลย พอมันหมดไป มันก็เวิ้งว้างไปหมด เวิ้งว้างไปไหน? เวิ้งว้างไปเป็นตอของจิตไง จิตนี้จะเป็นหนึ่งเดียวไม่มีการกระทบกระเทือนกับสิ่งใด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ลึกลับมาก ตรงนี้มันจะเป็นธรรมะจัดตั้งของทุกๆ ผู้ที่ปฏิบัติ

ผู้ที่ปฏิบัติจะเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ธรรมที่พ้นแล้วจะเป็นสิ่งนี้พ้นออกไป เพราะมันเวิ้งว้างไปหมด แต่ความจริงนั้นคือว่าเรือนว่างแต่มีคนอยู่ เรือนว่างเห็นไหม คนที่เข้าไปเห็นเรือนว่าง คนนั้นยืนขวางอยู่ในเรือนว่างนั้น แล้วเข้าไปในเรือนนี้ ว่างหมดเลย ไม่มีใครอยู่เลย แต่เรายืนอยู่คนเดียว มันก็ไม่เข้าใจตัวของมัน พอไม่เข้าใจเพราะมันจับไม่เห็นตัวมันเอง

สิ่งที่ไม่เห็นตัวมันเอง มันก็ต้องไม่เข้าใจ เวิ้งว้างขนาดไหนก็เป็นอย่างนั้น ต้องติดพันไปอยู่อย่างนี้พักใหญ่ จนถึงสุดท้าย ส่วนหนึ่งจะเข้ามาเห็นความผ่องใส ความเศร้าหมองของใจ ใจมันจะเศร้าหมองนะ เวิ้งว้างขนาดไหนมันก็มีความรู้สึก รู้สึกว่ามันหงุดหงิดในหัวใจ มันมีสิ่งใดไปขวางใจอยู่ มันไม่พอใจตัวเอง

สิ่งที่ไม่พอใจตัวเอง เพราะมันเองตัวคืออวิชชา ตัวอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขาราคือตัวรู้เฉยๆ ไม่ใช่รู้สืบต่อขันธ์ ไอ้ที่เรารู้กันอยู่นี่มันรู้สืบต่อขันธ์ ตากระทบรูป ใจรับรู้ เวลาตาเรามองรูป แล้วใจไม่รับรู้ มันไม่ออกมา ไม่กระทบขันธ์ ขันธ์ ๕ ไม่ทำงาน ถ้าขันธ์ ๕ กับจิตมันปล่อยกัน มันจะไม่รับรู้ อันนี้มันไม่ผ่านขันธ์ มันเป็นตัวของมัน แล้วจะเอาอะไรเข้าไปจับมัน

ถ้ามันเห็นความเศร้าหมอง เห็นความผ่องใสของมัน มันจะย้อนกลับเข้าไป ถ้าย้อนกลับเข้าไป เริ่มจากความเอะใจ หรือว่ามันจะมีสิ่งใดอยู่ ยังไม่ถึงที่สิ้นสุดกระบวนการ มันยังมีสิ่งใดอยู่ในหัวใจของเราไหม? ถ้ามันมีสิ่งใดในหัวใจของเรา เราต้องย้อนกลับเข้ามาดูสิ่งนั้นใช่ไหม? ถ้ามันเข้าใจสิ่งนั้น เพราะความละเอียดอ่อนขนาดไหนนะ ใจเราผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าไป จากธรรมะอย่างหยาบๆ อย่างกลาง อย่างละเอียดเข้าไป ใจมันจะพัฒนาขึ้นมาเอง

ใจมันพัฒนาขึ้นมา จนกว่ามันมีความละเอียดอ่อน มหาสติมหาปัญญา จนเป็นสติปัญญาญาณที่จะเข้าไปจับต้องสิ่งนี้ได้ ย้อนกลับเข้าไป ด้วยปัญญา ด้วยความใคร่ครวญของเรา ด้วยความพยายามย้อนกลับ ทวนกระแส สิ่งที่ย้อนกลับเข้าไปคือย้อนกลับเข้าไปตัวภพตัวชาติ ถ้าไม่ย้อนกลับเข้าไปตัวภพตัวชาติ ตัวภพตัวชาติคือตัวของจิต คือตัวเริ่มต้น คือจุดและต่อมที่มันเริ่มออกไปจากภายนอก

ถ้าจุดนี้มีอยู่มันจะแสวงหา มันจะพุ่งออกไปข้างนอก แล้วเราก็วิ่งออกไปข้างนอกไปจับข้างนอก จะไม่เจอผู้เป็นภัย ถ้าจะเจอผู้เป็นภัยนี้ต้องย้อนกลับอย่างเดียว ถ้าย้อนกลับ แล้วสิ่งใดย้อนกลับล่ะ? เพราะมันย้อนกลับไปแล้ว มันจับสิ่งใดๆ ไม่ได้ มันไม่มีให้จับ แล้วจะเอาสิ่งใดๆ จับ นั้นมันเป็นการอ้างของใจ นั้นมันเป็นการอ้างของตัวอวิชชา มันต้องย้อนจับได้ ตัวที่ว่ามันเป็นตัวอวิชชา มันจะจับตัวมันเอง ย้อนกลับเข้าไปจะจับตัวมันเองได้

ถ้าจับตัวมันเองได้ นั้นคือตัวของใจ สิ่งนั้นเป็นตัวที่ว่า เป็นตัวที่รุนแรงที่สุด สิ่งนั้นเป็นตัวที่ควบคุมทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้น เจ้าวัฏจักรคือตัวสิ่งนี้ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะตัวธาตุที่ไม่รู้ตัว รู้ตัวเองแต่ไม่รู้ตัวคนอื่น นี่ธาตุรู้ อวิชชาตัวนี้ ตัวพาเกิดพาตาย ตัวนี้ถ้าฆ่าตัวนี้ไม่ได้ก็ต้องเกิดบนพรหม ถ้าฆ่าตัวนี้ได้มันก็จะหมดสิ้นจากกิเลสทั้งหมด นั้นล่ะย้อนกลับเข้าไป แล้วตัวนี้มันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน ถ้าเราไม่เข้าใจ มันก็จะใช้ปัญญาอย่างหยาบเข้าไปวิปัสสนา

ถ้าใช้ปัญญาอย่างหยาบวิปัสสนา มันทำให้เคลื่อนไหว มันทำให้กระเพื่อม มันไม่ได้ มันต้องใช้ปัญญาอันละเอียดอ่อน สิ่งที่ละเอียดอ่อนคือการเฝ้าดู การฝ้าดู การวิปัสสนาจากการเฝ้าดู การให้ดูความแปรไป ให้มันขยับตัว พอขยับตัวเข้ามันจะเห็น พอเห็นมันก็ชำระ ขาด! แฟ้บ ขาดออกไปจากใจ จากอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา กลายเป็นวิชชา สิ่งที่เป็นวิชชาคือความรู้แจ้ง สิ่งที่ความรู้แจ้งในหัวใจดวงนั้น นี้คือธรรมะจริง

ธรรมะจริงเกิดจากใจดวงนี้ ไม่ใช่ธรรมะจัดตั้ง ถ้าธรรมะจัดตั้งนั้นกิเลสจัดตั้งขึ้นมา แล้วให้หลงไป ให้ใคร่ครวญไป ให้ลูบคลำไปกับธรรม ปฏิบัติธรรมมาแล้วลูบคลำกับธรรมไป โดยไม่เข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม ไม่เข้าใจนะ ลูบคลำกับกิเลสอยู่ อยู่กับกิเลส นอนอยู่กับกิเลส จับกิเลสอยู่กับเรา แล้วว่ากิเลสเป็นธรรมไง

สิ่งที่ว่ากิเลสนั้นเป็นธรรม เพราะกิเลสมันหลอกเอา นั่นคือธรรมจัดตั้ง ถ้าธรรมะตามความเป็นจริง มันจะไม่จัดตั้ง มันจะเห็นความสมุจเฉทปหาน การทำลายกิเลสออกเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แล้วมันชำระลอกออกไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แล้วจิตมันจะพัฒนาเข้าไปสูงขึ้นไป แล้วมันจะสืบต่อจับต้องสิ่งที่เหนือกว่าได้

กิเลสที่มันละเอียดขึ้นไป มันจะเอาอะไรไปจับต้องมัน? ถ้าอยู่เสมอกัน มันจะเอาอะไรไปจับต้อง? มันต้องสูงกว่าใช่ไหม? เพราะมันละเอียดอ่อนขึ้นไป นั่นล่ะจิตมันพัฒนาขึ้นไปโดยธรรมชาติของมัน มันพัฒนาขึ้นไป แล้วมันก็ไปจับต้องกิเลสที่เหนือกว่า แล้ววิปัสสนาเข้าไป ชำระเข้าไป จนหมดสิ้นไปจากใจ นั้นเป็นธรรมโดยธรรมชาติ

ธรรมะตามความเป็นจริง จริงในหัวใจดวงนั้น เกิดขึ้นจากใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เกิดขึ้นจากผู้ที่ล้มลุกคลุกคลาน ต้องล้มลุกคลุกคลานทุกดวงใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปีนะ ไปศึกษากับลัทธิต่างๆ น่าสงสาร... ถ้าคิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วน่าสงสารมาก จากกษัตริย์นะ จากความเป็นอยู่ที่เลอเลิศ ออกมาเป็นนักบวช ที่ยังไม่มีศาสนา เป็นผู้ที่ไม่มีศาสนาไหนรองรับ เป็นนักบวชที่ว่าไม่มีสังกัดต่างๆ ต้องพเนจรไป เที่ยวขอเขากิน นั้นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกข์ยากขนาดนั้น เพื่อจะรู้ธรรมดวงนี้ไง

แต่พอรู้ขึ้นมาแล้ว “พุทธวิสัย” วิสัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ถึงธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ในหัวใจนั้นประเสริฐที่สุด แล้วยังวางธรรมไว้ด้วย แล้วถ้าใครเกิดทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเข้าใจ อยากประพฤติปฏิบัติ บารมีแก่กล้าพอ พอควรแก่การจะพ้นไปได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกทีเดียว ชี้ทีเดียว เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ถึงจริตนิสัย

แต่สาวกะ ความสะอาดของใจเหมือนกัน แต่สาวก สาวกะ ผู้ได้ยินได้ฟังเหมือนกัน จากเรื่องจริตนิสัย มันทำไม่ได้ มันรู้ได้ไม่ทั่วถึง พอรู้ได้ไม่ทั่วถึง เราถึงว่าเสียโอกาสตรงนั้นไป โอกาสที่เราจะรู้ คนชี้นำทางที่ละเอียดกว่า เราไม่ได้โอกาส แต่เราเกิดพบพุทธศาสนา ศาสนากำลังเจริญรุ่งเรืองในกึ่งพุทธกาลนี้ ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา เรายึดธรรมและวินัยเป็นศาสดา เราก็ต้องก้าวเดินของเราไป

ถ้าเราก้าวเดินของเราไป เราก็ต้องถึงธรรมนั้นได้ ทุกดวงใจต้องถึงธรรมได้ สิทธิเสรีภาพไม่มีใครปิดกั้นกันได้ เรื่องของความคิด เรื่องของเสรีภาพทางใจ ใจนี่ขังตัวเองได้ ติดคุกติดตะราง ติดได้แต่ร่างกาย หัวใจขังไม่ได้หรอก ขังไว้ไหนมันก็คิดจินตนาการได้ นี้ก็เหมือนกัน ความคิดเสรีภาพของใจ ที่จะพ้นออกไปจากกิเลสอีกชั้นหนึ่ง

เสรีภาพของความคิด คิดในเรื่องของกิเลส มีแต่ความทุกข์ยาก เสรีภาพของใจที่พ้นจากกิเลส คิดแล้วมีแต่ความสุขในหัวใจ ความสุขในหัวใจเพราะมันจะไม่ต้องไปเกิดอีก มันไม่มีเบื้องต้นไม่เบื้องปลายอีกแล้ว จะไม่มีสิ่งใดไปให้ค่าและด้อยค่ากับใจดวงนั้น

ใจดวงนั้นมันถึงเป็นอิสระไง อิสรเสรีภาพสมบูรณ์แบบ ที่จะต้องไม่มีการไปตกในที่ภพใดชาติใด จะไปเกิดในสภาวะใดไม่มี มันไม่มีโดยธรรมชาติของมัน มันไม่มี ไม่ใช่โดยการกล่าวอ้างอิง บอกว่าไม่มีแล้วกลบเกลื่อนสิ่งนั้นไว้ในหัวใจ มันก็เป็นความหลอกลวงกัน

สิ่งที่มันไม่มีคือว่ามันจุดประกายไม่ได้ มันติดข้องกับสิ่งใดไม่ได้ มันไม่มีโดยธรรมชาติของมัน แล้วมันจะไม่เป็นโทษกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นถึงจะมีความสุข ถ้าใจดวงนั้นยังมีสิ่งที่ว่าเกาะเกี่ยวอยู่ ยังมีสิ่งที่ว่าต้องไปตกอยู่ในสภาวะใด ความคิดที่ตกผลึกในหัวใจยังมีอยู่ ภพของใจ ภวาสวะ ภพของใจนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดที่สุด เห็นไหมภพน้อย ภพใหญ่ ในวัฏฏะงสาร เรื่องของภพ เรื่องของวัฏฏะสงสาร เรื่องของกามภพ รูปภพ อรูปภพ นี่เป็นภพที่เกิดที่หมู่กายของสัตว์

แล้วภพของใจ มันก็อันเดียวกัน มันถึงสัมพันธ์กันไง สัมพันธ์ซ้อนกันเข้าไปได้ เป็นเนื้อเดียวกันได้ เพราะภพของใจมีตัวภพตัวนี้ มีภวาสวะตัวพื้นฐานของใจ มันตกแล้วมันถึงไปค้างในภพต่างๆ แล้วทำลายตรงนี้หมด ภวาสวะไม่มี ภพของใจไม่มี เวิ้งว้างไปหมด มันไม่มีสิ่งใดที่จะไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งใด ไม่มีสิ่งใดจะกระทบกับสิ่งนี้ได้ มันเวิ้งว้าง มันทะลุไปหมด

ภพของใจไม่มีเพราะด้วยอำนาจของอรหัตตมรรค ที่ใคร่ครวญการกระเพื่อมของใจ แล้วพลิกใจออกไป พลิกใจนี้เป็นวิชชาขึ้นมา จากอวิชชาคือความไม่รู้ มันก็มีธาตุรู้ที่รู้สึกตัวอยู่ กับวิชชาที่ผู้รู้มันก็มีสิ่งที่รู้สึกตัวอยู่ สิ่งนี้มันถึงมีอยู่ไง มีอยู่เพราะใจดวงนี้รู้ ใจดวงที่พ้นจากกิเลสมันก็รู้สภาวะพ้นจากกิเลส

ใจที่มีกิเลสอยู่ กลับไม่รู้ว่ามีกิเลสนะ ใจของคนที่มีกิเลสจะปฏิเสธเรื่องของกิเลส แล้วจะหมักหมมไปกับกิเลส ไม่รู้เรื่องของกิเลส เพราะมันมีอวิชชาปิดอยู่ กิเลสปิดอยู่มันถึงไม่รู้ แต่ใจของผู้รู้ต่างหาก ใจของผู้รู้ถึงรู้ รู้แล้วว่าไม่มีกิเลส มันถึงว่าสิ่งนี้มันมีอยู่ไง มันถึงว่ามรรคผลนิพพานมีอยู่ให้เราถึงได้ มรรคผลนิพพานให้เราเข้าไปจับต้องได้ ใจดวงนี้ถึงมีเสรีภาพ

ใจของผู้ที่มีเสรีภาพในหัวใจแล้ว มันควรจะภูมิใจ ควรจะมีกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว มันจะสมกับความคิดของเรา ถ้าคิดขึ้นมาขนาดไหนมันจะพ้นไปจากกิเลสได้ เอวัง