เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๒ ต.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราตั้งต้นทำความดีมาตั้งแต่วันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษานี่ประเพณีไทย.. ประเพณีชาวพุทธ อย่าว่าประเพณีไทย เป็นประเพณีชาวพุทธ เขาจะอธิษฐานพรรษาของเขา เขาจะตั้งใจเร่งความเพียรของเขา เขาตั้งใจเพื่อในพรรษานี้ให้เข้มแข็ง ฉะนั้น พอเข้าพรรษานี่กระฉับกระเฉงกันมาก เห็นไหม เวลาออกไปเที่ยว เวลาไปอย่างกับไก่บิน เวลากลับเหมือนห่าจะกินไง เวลาไปอย่างกับไก่บิน มันคึกคัก เวลาเราไปเที่ยวมหรสพ เวลางานมันเลิกจะกลับนี่โผเผกลับมากันเลย

เวลาเข้าพรรษาเราก็คึกคัก เรามีความตั้งใจ มีลูกศิษย์มากมาคุยกับเรานะ

“หลวงพ่อ เวลาผมบวชนะผมตั้งใจเลยนะ ผมบวชแล้วผมจะจริงจัง ผมอยากจะเป็นพระอรหันต์ ผมจะมีเป้าหมายนะ”

ทุกคนพูดกันอย่างนั้น แต่พอไปพรรษา ๒ พรรษา ๓ แล้วนะเริ่มเรรวนแล้ว เริ่มเรรวนเพราะอะไร? เพราะความตั้งใจของเรา เห็นไหม เวลาความตั้งใจของเรา เจตนาของเราดีมาก เวลาอธิษฐานพรรษาทุกคนตั้งใจมาก

นี่วันนี้ครบพรรษาแล้ว ๓ เดือน ในพรรษาเราจะมีความเข้มแข็งแค่ไหน? เวลาเรากระทบสิ่งใด ถ้าเรามีสติยับยั้งนะ นี่เวลามันออกพรรษา หรือเราไปอยู่ด้วยกันที่ไหนก็แล้วแต่ เวลาเราจะจากกัน มันจะจากกันด้วยความคิดถึง ระลึกถึงกัน แต่เวลามันกระทบกระเทือนกัน แล้วเราทำสิ่งใดที่บาดหมาง เวลามันจากกันมันอยากจะจากกันไวๆ แล้วไม่อยากจะหันหน้ากลับมาหากัน

เวลาตั้งใจนี่เวลาเข้าพรรษา-ออกพรรษา แต่เป็นความคุ้นชินของชาวพุทธ เพราะเข้าพรรษา-ออกพรรษากันทุกปี นี่เป็นประเพณีของชาวพุทธ แต่เวลาเป็นพระกรรมฐานนะ เข้าพรรษา-ออกพรรษาแทบจะมีค่าเท่ากันเลย เวลานอกพรรษาก็เร่งความเพียรภาวนากัน ในพรรษายิ่งเข้มข้นขึ้นไปอีก เวลาออกพรรษาแล้ว เห็นไหม นี่เก็บบริขารเข้าป่าเข้าเขาไป ไปทำไม? ก็ไปเพื่อหาตัวเรานี่แหละ

นี่เวลาออกพรรษานะ เข้าพรรษาแล้วออกพรรษา.. ออกพรรษา วินัยนี่เวลาออกพรรษาทำคุณงามความดี เราอยู่กัน เวลาออกพรรษาแล้วต่างคนต่างไป นี่แล้วต่างคนต่างไปก็อยู่ด้วยตัวเอง อยู่ด้วยธรรมวินัย อยู่ด้วยสิ่งที่บังคับตัวเอง แต่เราอยู่ในพรรษามันเป็นหมู่คณะ ต้องสังฆะ ต้องสงฆ์ เห็นไหม มีสังฆะขึ้นมาถ้าอยู่คนเดียวก็ได้ ถ้าอยู่คนเดียวนะ บุคคลอุโบสถ คณะอุโบสถ สังฆอุโบสถ.. อุโบสถคือสังฆกรรม

อยู่คนเดียวเราก็เป็นบุคคลอุโบสถ เราก็ทำของเรา เราอธิษฐานของเราว่าเราจะจำพรรษาที่นี่ เราจะไม่ออกจากที่นี่ภายใน ๓ เดือน เราก็อยู่คนเดียว เราก็ดูแลเรา คณะอุโบสถนะ เราอยู่กัน ๓ องค์ขึ้นไปเป็นคณะ เห็นไหม เราก็ต้องทำญัตติจตุตถกรรมเวลาจะลงอุโบสถ นี่มันก็มีหมู่คณะขึ้นไป เวลาสังฆอุโบสถนี่สงฆ์มากขึ้น พอสงฆ์มากขึ้นการอยู่ด้วยกันมันก็มีนิวรณ์ มีสิ่งแบบว่ามีการกระทบกระเทือนกัน มีการกระทบกระทั่งกัน

สิ่งนี้ เห็นไหม อยู่คนเดียวก็ได้ อยู่กับหมู่คณะก็ได้ แต่อยู่กับหมู่คณะ นี่เวลาอยู่กับหมู่คณะขึ้นมาสิ่งนี้มันกระเทือน แบบว่ามันเป็นความกังวล มันเป็นความพะวงถึงกัน ถ้าพะวงถึงกันนี่เราต้องดูแลรักษาใจเรา เวลาเราดูแลรักษาใจเรา เห็นไหม เราเร่งความเพียรของเรา เราอยู่ของเรา อยู่คนเดียวก็ได้ อยู่กับหมู่คณะก็ได้ เวลาจิตใจของเราลงสมาธิก็เหมือนอยู่คนเดียว เพราะจิตสงบระงับของมัน เวลามันคบความคิด เวลาความคิดมันโหมรุนแรงขึ้นมา นั่นน่ะมันกระพือใส่ใจเราเลย ถ้าใจเรามีสติปัญญาแค่ไหน เราจะแก้ไขของเรา เราจะควบคุมใจของเรา

ถ้าควบคุมใจของเรา เห็นไหม นี่สิ่งที่เวลาค้นหา พระกรรมฐานถึงจะในพรรษา-นอกพรรษามันมีค่าเท่ากัน คือพยายามจะทำเหมือนกัน แต่ว่าถ้าเป็นประเพณีของชาวพุทธเรา เวลาจำพรรษาแล้วนี่ เพราะอยู่คนเดียวเป็นบุคคลอุโบสถ คณะอุโบสถ สังฆอุโบสถ พอสังฆอุโบสถมันกระทบกระเทือนกัน มีกรรมสิ่งต่างๆ ต่อกัน

ฉะนั้น อานิสงส์ของการจำพรรษา นี่จะไปไหนโดยไม่ได้บอกลา เห็นไหม เขาเรียกถือนิสัย เวลาฆราวาสนะเราก็ทำคุณงามความดีของเรา แต่พระเวลาบวชขึ้นมาเหมือนเด็กอ่อน เราเลี้ยงดูลูกของเรา ลูกเรานี่เลี้ยงตัวเองไม่ได้ เราต้องดูแล ถ้าเด็กอ่อน เราไม่เลี้ยงดูแล เด็กคนนั้นตายไปไหนไม่รอดหรอก พ่อแม่ต้องดูแล

พระ! พระเวลาไม่ได้นิสัยนะ ยังไม่ครบ ๕ พรรษาขึ้นไป ผู้ฉลาดถึงพ้นจากนิสัย ถ้าไม่พ้นจากนิสัย ไปอยู่ไหนต้องขอนิสัยครูบาอาจารย์ ถ้าไม่ขอนิสัยครูบาอาจารย์ ล่วงราตรีวันที่ ๘ เห็นไหม ๗ วันขึ้นไปแล้วล่วงราตรีที่ ๘ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ทันทีเลย ต้องขอนิสัย

คำว่าขอนิสัย ขอนิสัยแล้วนี่จะไปไหนต้องบอกลาอาจารย์ ถ้าไม่บอกลาอาจารย์เขาเรียกว่า “รัตติเฉท” เห็นไหม ขาดราตรี ขาดราตรีคือไปไหนไม่ได้บอกลานี่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ถ้าจำพรรษา ๑ พรรษานะ นี่ได้อานิสงส์ ๑ เดือน คือจะไปไหนโดยไม่ต้องบอกลาก็ได้ ไม่ได้บอกลานะ จะไปเองก็ได้ แต่ถ้าขอนิสัยไปไหนต้องบอกลานะ ถ้าไม่บอกลาขาดนิสัย ถ้าขาดนิสัยไปแล้วนี่จะต่อนิสัยกันไม่ได้

นี่หลวงปู่มั่นท่านควบคุมพระ ท่านควบคุมมาอย่างนั้น ฉะนั้น เวลาจำพรรษาได้อานิสงส์ เพราะความอยู่เป็นหมู่เป็นคณะมันจะกระทบกระเทือนกัน มันจะมีการบาดหมางกัน มันจะมีการกระเทือนกัน นี่มันได้หล่อหลอมหัวใจ เห็นไหม แล้วอานิสงส์ของพรรษาวินัยยกเว้น ยกเว้นนี่ ออกพรรษาแล้วไปไหนโดยไม่ได้บอกลาได้ ๑ เดือน ถ้าเวลารับกฐินเป็นสังฆอุโบสถ เป็นสงฆ์ขึ้นมา ได้รับอานิสงส์ของกฐิน ไปไหนไม่ได้บอกลาได้ ๔ เดือน ๔ เดือนนะ คือว่าถ้าจะไปไหนเราต้องบอก

อย่างเช่นเราอยู่บ้าน จะไปไหนเราต้องบอกพ่อบอกแม่ว่าเราจะไปนั่น จะไปนี่ นี่พ่อแม่อนุญาตก็ไปได้ พ่อแม่ไม่อนุญาตก็ไปไม่ได้ เป็นพระก็เหมือนกัน เวลาจะไปไหนต้องบอกลาอาจารย์ ต้องบอกลาอาจารย์นะ แต่ถ้าอยู่คนเดียวล่ะจะบอกลาใคร? นี่เวลาอยู่คนเดียว เห็นไหม ต้องขอนิสัย ถ้าไม่ขอนิสัยนะอยู่ในบุพพสิกขา นี่เราอยากขอนิสัยมาก แต่ไม่มีพระจะให้ขอนิสัย ฉะนั้น การบวชมานี่ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการให้พ้นจากทุกข์นะ

ฉะนั้น ในบุพพสิกขา บุพพสิกขาก็บาลีแปลมาจากพระไตรปิฎกนั่นแหละ เขาบอกว่าเชื่อไม่ได้ เชื่อไม่ได้ ต้องพระไตรปิฎกเท่านั้น ฎีกา อรรถกถาเชื่อไม่ได้.. นี่เขาว่าของเขาไป แต่ถ้ามันเป็นความดีเชื่อได้ไหม? นี่พระไตรปิฎกบัญญัติไว้ แต่ถ้าอรรถกถาอธิบายให้ครอบคลุม แล้วทำให้ดีขึ้นเชื่อได้ไหม? เชื่อได้!

ถ้าเชื่อได้ เห็นไหม เวลาอยู่คนเดียว นี่ในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าเราไปอยู่ที่ไหนองค์เดียว แม้แต่จะพรรษาไม่ถึงพรรษา ๕ ก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราภาวนาดีนะ เราไปอยู่ที่ไหนก็ว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่ดีมาก เป็นสถานที่สงบร่มรื่นมาก พอภาวนาแล้วจิตสงบตลอด จิตมีความดีตลอดเลย แต่แหม.. มันน่าเสียดายไม่มีอาจารย์ ถ้ามันอยู่ไปมันจะเป็นอาบัติ

นี่ในบุพพสิกขาบอกว่า “ให้ตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่าถ้าใครมีพรรษามากกว่ามาจะขอนิสัย ถ้ามีใครพรรษามากกว่าจะขอนิสัยทันที” นี่อย่างนี้ไม่ขาดนิสัย คือว่าให้ตั้งใจภาวนาได้ เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเน้นที่นี่ เราทำทาน ศีล เราจะภาวนา แล้วทาน ศีล นี่ศีล สมาธิ พอเราอยากได้สมาธิกัน เราอยากได้คุณงามความดีกัน แล้วเราภาวนาแล้วเราได้สมาธิดี สิ่งที่ดี เราไปกังวลทำไมอยู่ไม่ได้ อยู่ไม่ได้ ต้องขอนิสัย ต้องขอนิสัย

การขอนิสัยเป็นประเพณี เป็นธรรมวินัย ต้องขอนิสัยถ้าเราอยู่โดยปกติ แต่ถ้าเราไปอยู่ที่ไม่มีครูบาอาจารย์ แต่เป็นสถานที่ภาวนาดี เป็นสถานที่ดี เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาตรงนี้ไง ถ้าภาวนาดี สมาธิดี ปัญญาดี นี่ดีเพราะอะไร? ดีเพราะเราทำความถูกต้อง ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันเป็นความเห็นผิดมันจะไปลงสมาธิไม่ได้ มันจะเกิดความฟุ้งซ่าน

เวลาเราไปอยู่ที่ไหนองค์เดียว เห็นไหม นี่ภาวนาแล้วนะนิสัยก็ยังไม่ได้ขอ มันคิดไปร้อยแปดพันเก้า เป็นสมาธิไหม? มันไม่เป็น แต่ถ้ามันเป็นสมาธิ มันเป็นสมาธิเพราะอะไร? เป็นสมาธิเพราะว่าศีล สมาธิ มันถูกต้องไง ศีลมันถูกต้อง การบริกรรมมันถูกต้อง ทุกอย่างมันถูกต้อง มันถูกต้องชอบธรรม ความถูกต้องชอบธรรม ลงสมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่ชอบธรรม

ความชอบธรรม ความถูกต้องชอบธรรมต่างหากมันถึงจะเข้าไปได้ นี้ความถูกต้องชอบธรรมมันถูกต้องชอบธรรมมาแล้ว แต่มันบอกว่าไม่มีการขอนิสัย เราไปกังวลกันไง ถ้าเราทำได้..นี้พูดถึงอานิสงส์นะ แต่พระกรรมฐานนี่อานิสงส์ เห็นไหม อานิสงส์หมายถึงว่าให้ผ่อนได้ อย่างเช่นผ้าครองนี่ให้ละได้ผืนหนึ่ง ถือไว้ ๒ ผืน แต่เราอยู่กับครูบาอาจารย์มา ปกตินี่จะออกพรรษา เข้าพรรษา ไม่พรรษา ปฏิบัติปกติตลอด

เพราะ! เพราะเราเห็นภัยในวัฏสงสาร ในพรรษามันเป็นประเพณีวัฒนธรรมส่งเสริมให้เรามีโอกาสมากขึ้น ให้เรามีความเข้มข้นมากขึ้น ถ้าออกพรรษาแล้ว เห็นไหม พระออกพรรษาแล้ว ความสนใจของผู้ที่ส่งเสริมเขาก็ไม่สนใจเราเท่าไหร่ เราก็ต้องเข้มแข็งของเราเอง เราต้องแสวงหาของเราเอง แต่ถ้าในพรรษาเขาพร้อมกัน ดูสิเขาส่งเสริม เขาดูแล เพราะต้องการได้บุญกุศลจากพระ นี้พระต้องเข้มแข็ง เห็นไหม

นี่พูดถึงว่าในพรรษา นอกพรรษา เราจะไปนอกพรรษาแล้วเราก็บอกว่า เออ.. วันนี้ออกพรรษาแล้วนะ แหม.. กลับไปก็จะตีแปลงเลยนะ จะอยู่สุขสบาย อันนั้นเราประมาทนะ ในพรรษาเพื่อจะให้เราเข้มข้น ในประเพณีของชาวพุทธ ชาวพุทธต้องเข้มข้นของเรา เพื่อปฏิบัติของเรา ถ้าออกพรรษาแล้วนี่ธรรมวินัยเป็นอย่างนั้น มันผ่อนคลาย ผ่อนคลายให้เราขยับขยายไปที่ไหนก็ได้ เราจะปฏิบัติที่ไหนก็ได้ แต่การจะปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติเราก็ต้องจริงจังของเรา

เพราะ! ดูสิเรากินข้าวทุกวัน เราหายใจตลอดเวลา นี่จิตใจก็เหมือนกัน มันต้องการสิ่งที่พึ่งตลอดเวลา มันต้องการที่พึ่งของมัน เพื่อประโยชน์กับมันนะ สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับพระอานนท์ เวลาจะปรินิพพานมีคนเขามากราบไหว้บูชามหาศาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์

“อานนท์ เธอบอกเขานะให้ปฏิบัติบูชาเถิด ให้ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด อย่าบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยอามิสเลย”

แต่เรานี่ เราปฏิบัติบูชาเราก็อยากปฏิบัติ แต่ในเมื่อเราปฏิบัติเพื่อฐาน เราจะบูชาด้วยอามิส สิ่งที่เราทำบุญกุศลเราก็ทำของเรา แต่ถ้าสิ่งที่ดีที่สุด เห็นไหม การนั่งกำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เข้านึกพุท ออกนึกโธ.. ทำไมต้องนึกโธด้วย ทำไมอยู่เฉยๆ ไม่ได้หรือ? ใช้ปัญญาไปเลยไม่ได้หรือ?

ใช้ปัญญาไปนี่ อย่างมากที่สุด สูงที่สุดของการภาวนาอันนั้นมันก็คือจินตมยปัญญา มันเป็นจินตนาการทั้งหมด! แต่ถ้าลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ พุทโธ พุทโธ จนจิตเข้าไปสู่สัมมาสมาธิ ฐีติจิต เวลามันเกิดปัญญามันจะเกิดภาวนามยปัญญา ไม่ใช่จินตมยปัญญา เห็นไหม

ภาวนามยปัญญานี่สิ่งที่คาดหมายไม่ได้ สิ่งที่ตักตวง สิ่งที่หยิบฉวยเอาไม่ได้ มันเกิดจากการภาวนา มันเกิดจากสัจธรรม มันเกิดจากข้อเท็จจริง มันเกิดจากความจริง แต่ถ้าบอกเราใช้ปัญญาไปเลย ปัญญาไปเลย.. ปัญญาเกิดจากอะไร? เกิดจากภพ เกิดจากตั้งใจคิด เกิดจากความเป็นไปของเรา นี่อย่างสูงสุดของมันเป็นได้แค่จินตมยปัญญา

คนจินตนาการธรรมะมันก็มีความสุขเนาะ มันก็มีความว่างเนาะ มันก็คิดว่าพ้นได้เนาะ พ้นได้ด้วยการกวาดทุกอย่างไปซ่อนเอาไว้ใต้ฐีติจิต แล้วตัวเองก็ว่าว่างๆ มีความสุขมาก เมื่อก่อนเป็นคนขี้โกรธมาก เมื่อก่อนเป็นคนกินเหล้าเมายา เดี๋ยวนี้ไม่กินเลย เดี๋ยวนี้ดีไปหมด.. เรื่องโลกๆ ดีหรือไม่ดีมันต้องถอนสักกายทิฏฐิ ถอนศรที่ปักในใจ ศรที่ปักในใจนั้นใครจะรู้ดีกว่าเรา

นี่สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง มันจะเข้าไปถอนศรที่ปักในใจ ถ้าศรที่ปักในใจนั้นมันได้ถอนแล้ว ไม่ต้องบอกใคร ไม่ต้องให้ใครรู้ด้วย สิ่งนี้เป็นความจริง แล้วถอน ถอนอย่างใด? คนถอนไม่ได้ หาศรไม่เจอ ไม่รู้มันปักอยู่ที่ไหน แต่ถ้าใครเจอฐีติจิต ใครเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ เห็นไหม นี่ใสไปหมดเลย แล้วไม่มีสิ่งใดเลยมันจะไปถอนที่ไหน? แต่ถ้ามันออกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม ของมัน แล้ววิปัสสนาของมัน นั่นล่ะภาวนามยปัญญา

สิ่งที่ตรึกกันอยู่นี้ สิ่งที่ใช้ปัญญากันอยู่นี้ มันเป็นจินตมยปัญญาเท่านั้น สูงสุดของการปฏิบัติทางโลก.. จินตมยปัญญา จินตนาการล้วนๆ แต่จินตนาการจากจิต จินตนาการแบบเวิ้งว้าง จินตนาการแบบกว้างไกล จินตนาการแบบไม่มีขอบเขตไง จินตนาการแบบเอานิพพานเป็นตัวตั้งนะ ว่างไปหมดเลย สูงสุดได้เท่านั้น!

แต่ถ้าเราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เขาบอกว่ามันไม่ใช้ปัญญาแล้วมันจะไปไหนรอดล่ะ? ไม่ใช้ปัญญานี่มันจะเข้าไปสู่ฐีติจิต มันจะไปหาศรเล่มนั้น มันจะไปถอนศรในใจนั้นถ้ามันเข้าไปถูกทาง แต่ถ้ามันเข้าไม่ถูกทางนะ แล้วไม่เข้าไปสู่ภวาสวะ สู่ภพ สู่ฐีติจิต สู่สัมมาสมาธิ สู่ต้นขั้ว จะไปถอนกันที่ไหน? จะไปถอนกันที่ไหน? ไปถอนของคนอื่นก็บอกว่างๆ ว่างๆ เขาไม่ต้องการให้ไปถอนให้เขา เขาไม่ต้องให้ไปดูแลเขา เรายังไม่ดูแลตัวเรา ถ้าเราดูแลตัวเรามันจะย้อนกลับมา

ธรรมะที่ตรึกนั้นเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด ธรรมะที่เกิดจากเรา ธรรมะที่เกิดจากการภาวนามยปัญญา ธรรมะอันนี้สูงสุด เห็นไหม นี่ออกพรรษาแล้ว เพราะเราคิดของเราเองว่าออกพรรษาแล้วพวกเราจะนอนใจ พวกเราจะสะดวกว่าออกพรรษาแล้วพ้นภาระการภาวนาแล้ว.. ไม่ใช่! การออกพรรษาก็เป็นธรรมวินัย เป็นกาลเวลา กาลเทศะ แต่จริงๆ แล้วเรามีชีวิต เรามีหัวใจ เรามีร่างกายและจิตใจ เราจะหาสมบัติของเรา

สมบัติทางโลก เห็นไหม ปัจจัยเครื่องอาศัย พระนี่บอกว่าไม่เอาๆ พระก็ยังบิณฑบาตทุกวันนะ ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยของชีวิต ชีวิตต้องอาศัยปัจจัย ๔ เพื่อดำรงชีวิตไป ดำรงชีวิตไว้เพื่อหาอริยทรัพย์ ดำรงชีวิตไว้เพื่อหาความเป็นจริงในใจ

ทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายใน.. ทรัพย์ภายนอกเราหามาเพื่อดำรงชีวิต ทรัพย์ภายในหามาเพื่อถอดถอน ถอดถอนศรในใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง