เทศน์พระ

ไม่ผูกเวร

๑๒ ต.ค. ๒๕๕๔

 

ไม่ผูกเวร
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ เราเป็นพระนะ พอเป็นโยมก็เป็นฆราวาส บริษัท ๔ เขายังขวนขวาย ดูโยมสิ เขายังขวนขวายหาทางออก เรานี่มาบวชเป็นพระ เราเป็นนักรบ ถ้าเราเป็นพระ เป็นนักรบ

หลวงตาบอกว่า “พระไม่ทรงธรรมทรงวินัย แล้วใครจะทรง”

“ทรงศีล-ทรงธรรม” พระเราต้องทรง ฉะนั้น ถ้าเราเป็นพระต้องทรง เราต้องพยายามขวนขวาย พยายามทำของเรา แล้วถ้าพยายามตั้งใจลงใจทำ มันเครียด มันไม่ได้ผลหรอก มันไม่ได้ผลเพราะตัณหาซ้อนตัณหา โดยธรรมชาติของมนุษย์ เวลามนุษย์เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นไหม ออกบวชเป็นนักพรต เป็นผู้ที่จะหาทางพ้นจากวัฏสงสาร พอเรามาบวชปั๊บ มันก็บีบบังคับเรามา

เวลาเป็นฆราวาส เห็นภัยในวัฏสงสารก็อยากบวช เป็นนักรบ เป็นผู้ที่จะหาช่องทางออกให้ได้ เวลาจากเพศฆราวาสมาบวชเป็นพระ มันทำได้โดยประเพณีวัฒนธรรม โดยธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาเราบวชเป็นพระแล้ว เวลาเข้าพรรษา ตั้งแต่วันเข้าพรรษามาเราตั้งใจอธิษฐานพรรษา เราจะนั่งสมาธิ เราจะภาวนา เราตั้งใจจงใจของเรา แต่นี่ ๓ เดือนผ่านไปแล้ว พอ ๓ เดือนผ่านไปแล้ว พอเวลาเราทำขึ้นมา ผลประโยชน์ที่ได้รับมันได้รับขนาดไหน มันก็ได้รับประสบการณ์ ประสบการณ์ที่เราทำนี่ เราตั้งใจ เราเห็นภัยในวัฏสงสารมาบวชเป็นพระ แล้วจะออกจากวัฏฏะให้ได้ พอออกจากวัฏฏะให้ได้ เราก็ตั้งใจจงใจ “จงใจ” มันก็ทำแบบโลก ทำแบบโลกคือจงใจตั้งใจ ตั้งใจทำแบบโลก แต่ต้องให้เป็นธรรม

“เป็นธรรม” หมายความว่าเราตั้งใจจงใจ เราทำของเรา ผลมันจะเกิดไม่เกิดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เวลาเราตั้งใจจงใจแล้ว นั่นตัณหาซ้อนตัณหา เราตั้งใจจงใจแล้วก็หวังผล พอหวังผลน่ะ “ทำไมสมาธิมันไม่เป็น ทำไมปัญญามันไม่เกิด เวลาเกิดปัญญาขึ้นมาแล้วทำไมไม่สมความปรารถนา”...เราไปตอบโจทย์เอาไว้หมดแล้ว เอาโจทย์ไปตอบไว้เลย “เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราจะบวชเป็นพระ เป็นนักรบ พอบวชเสร็จแล้วประพฤติปฏิบัติแล้วจะสิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์”

ทีนี้เวลาเราตั้งใจ ตามธรรมวินัย การศึกษา...ใช่ ถูกต้องตามธรรมวินัย การศึกษาเราศึกษามา “ธรรมและวินัย” ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเครื่องหมาย เป็นปูนหมายป้ายทาง เป็นแผนที่เครื่องดำเนินที่เราจะดำเนินไป ทีนี้พอดำเนินไป เราบวชขึ้นมาแล้วเราจะเดินตามให้ได้ ทีนี้พอเดินตามให้ได้ เราก็พยายามจะทำความสงบของใจให้ได้ ทำสมาธิให้ได้ เกิดปัญญาให้ได้ พอเกิดปัญญาให้ได้

“ตัณหาซ้อนตัณหา” หมายความว่าเราตอบโจทย์ เรารู้โจทย์แล้ว

“เรารู้โจทย์” หมายถึงว่า “เราต้องสิ้นกิเลส เราต้องเป็นพระอรหันต์”...แต่เวลาทำไปมันเป็นไปไหม มันเป็นไปตามนั้นไหม มันเป็นไปตามนั้น ดูสิ ตอนนี้น้ำท่วม มีเกษตรกรมหาศาลเลยบอกว่า เขาทำสวน ทำการเกษตรต่างๆ กำลังจะได้เก็บเกี่ยว นี่เขาทำไร่กล้วย กล้วยกำลังจะออกเครือ กำลังจะเก็บเกี่ยว น้ำมาแล้ว เขาจะทำอะไร เลี้ยงปลา ปลากำลังจะขายได้ น้ำมาแล้ว พอน้ำมาปลาช็อกน้ำตายหมดเลย ๒ รอบ ๓ รอบ ๔ รอบ ๕ รอบ จนหมดเนื้อหมดตัว นี่มันจะได้ๆ น่ะมันไม่ได้ มันจะได้ๆ น่ะมันไม่ได้

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติเรารู้โจทย์อยู่แล้ว โดยปูนหมายป้ายทาง โดยทางทฤษฎี “เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราก็บวชเป็นพระ พอบวชเป็นพระแล้วเราจะพ้นจากกิเลส ทำแล้วมันจะเกิดศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญามันจะเกิด...”

เหมือนกับการคาดการหมายของเกษตรกรที่เขาคาดหมายน่ะ เขาทำแล้ว ๔๐ วัน อายุของมัน ๔๐ วันมันจะออกรวง ถ้าข้าวหนัก-ข้าวเบา ข้าวหนักก็อายุ ๖๐ วัน ๙๐ วัน นี่เขารู้ผล เขารู้คำตอบหมด แต่จริงๆ แล้วมันได้ผลตามจริงนั้นไหม มันเกิดโรคระบาด มันเกิดแมลง โอ๊ย ต้องป้องกันเต็มที่เลย

ในการปฏิบัติ เห็นไหม ตามธรรมวินัยมันเป็นทฤษฎี เป็นอย่างนั้นแหละ แต่ตามความเป็นจริงนะ ดูสิ เวลาทางเกษตรเขา เขามียาป้องกัน เวลาเขาเกิดขึ้นมา เขากำจัดของเขา ถ้ากำจัดไม่ได้เขาก็ร่วมมือกันเพื่อกำจัดแมลงที่ลงมากินพืชไร่ของเขา แต่เวลาเราทำสมาธิภาวนาของเรา เวลามันเกิดกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ตัวไหนเป็นกิเลสก็ไม่รู้ แต่ไอ้นิพพานนี่อยากได้ แล้วอันไหนมันเป็นกิเลสล่ะ? แล้วอันไหนมันมาทำให้สวมรอยให้เราทำแล้วไม่ได้ผลล่ะ?

นี่พอไม่ได้ผลขึ้นมา สิ่งที่กระทำขึ้นมามันมี มันมีอำนาจวาสนา มันมีสิ่งที่ว่าบุญญาธิการที่เราสร้างสมมา ถ้าเราไม่สร้างสมมา เราไม่มาเป็นนักบวช เราไม่บวชหรอก นี่โดยทางโลกเขาบอกเลยนะ “เขาอยู่ทางโลกเขา เขามีความสุขความอุดมสมบูรณ์ของเขา ทำไมต้องมาอัตคัดขาดแคลน บวชแล้วทำไมต้องมาทรมานตน ไอ้นี่มันอัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบากเปล่า”...แต่เขาไม่ได้บอกว่า เวลาทำให้กิเลสมันลำบากนั่นไม่พูดเลยนะ เวลากิเลสมันกินอิ่มนอนอุ่นน่ะ อู้หูย! อยู่ด้วยความสุขอยู่สบาย กิเลสมันตัวใหญ่มหาศาลเลย

ฉะนั้น เวลาเราบวช เราบวชเรียนแล้วเราก็มีความปรารถนา มีเป้าหมายของเรา แต่ความเป้าหมายของเรา ดูนักกีฬาสิ เวลาเขาจะเป็นนักกีฬาอาชีพที่มีชื่อเสียง กิตติศัพท์กิตติคุณ เขาต้องมีประสบการณ์ของเขาแค่ไหน ขนาดเขามีชื่อเสียงขนาดไหนนะ แต่ประสบการณ์ของเขา กระดูกเขายังไม่แข็งแกร่ง กระดูกมันคนละเบอร์เลยนะ มีพรสวรรค์มีความดีไปหมดน่ะ แต่กระดูกมันคนละชั้น

ลงไปนี่มันแพ้กันด้วยไหวพริบนิดเดียว เวลากีฬาเขาจะแพ้-ชนะกันน่ะ แค่แต้ม สองแต้มนี่เขาชนะแล้ว แค่กิริยา จังหวะ ชิงจังหวะ จังหวะที่เขาถึงก่อน จังหวะที่เขาได้ทำคะแนน เราเข้าไม่ทันน่ะ ออกไปด้วยกันแต่จังหวะเราไม่ได้ จังหวะเราไม่ได้เพราะอะไร เพราะประสบการณ์เราน้อย ประสบการณ์เราไม่มี นี่พูดถึงกีฬาเขายังต้องมีประสบการณ์ของเขา

แล้วเรานักปฏิบัติ เราจะเอาใจเราพ้นจากกิเลสนะ ฉะนั้นสิ่งที่ทำมา เราทำมาเพื่อเป็นความดีเราแล้ว เราทำมาเป็นประสบการณ์เราแล้ว ล้มลุกคลุกคลานนะ นี่ครูบาอาจารย์ของเราล้มลุกคลุกคลาน “ปรารถนา” ความปรารถนาไว้มหาศาลเลย แต่มันไม่สมความปรารถนาก็กัดฟันทน กัดฟันทนนะ สู้ หาทางออก ไม่ท้อถอย ไม่ย่อท้อ ห้ามย่อท้อ

ย่อท้อยอมจำนนมันได้อะไรขึ้นมา...มันก็จมน่ะ มันจมไปกับกิเลส เห็นไหม

เวลาเกิดตายๆ เราก็เห็นโทษของมัน เกิดในวัฏสงสาร เพราะเราเห็นโทษ เราถึงออกมาเป็นนักรบ นี่ชาวพุทธ พระพุทธศาสนาสอนไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ บริษัท ๔...อุบาสก-อุบาสิกา เขาก็มีโอกาสของเขา เขาปฏิบัติของเขา แต่ทำไมเราเห็นว่าโอกาสปฏิบัติอย่างนั้นมันจับปลา ๒ มือ เพราะปฏิบัติอย่างนั้นมันก็ต้องมีหน้าที่การงาน มันต้องอยู่กับสังคมโลก

ศีลเราถือให้บริสุทธิ์ เราจะถือสิ่งใดที่เป็นธุดงควัตร โลกเขาก็มองแปลกๆ เรามาเป็นนักบวชซะ เราเป็นนักรบซะ แล้วเป็นนักรบ เห็นไหม เราดำรงชีวิตได้ เราดำรงชีพได้ด้วยความเป็นสมณะ “โดยสมณะ” เรามีบาตรใบหนึ่ง เราอยู่ได้เพราะธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ ชาวพุทธ เห็นไหม เราออกบิณฑบาต ออกต่างๆ มีคนคอยเกื้อหนุนจุนเจือ มีคนคอยส่งเสริมมหาศาลเลย เว้นแต่ “เราเอาจริง-ไม่เอาจริง”

ถ้าเอาจริง ชีวิตนี้ไม่ต้องไปทุกข์ยากเลย ชีวิตนี้เราดำรงชีวิตได้แล้ว ถ้าเรารักษาใจเราได้ ถ้าเรารักษาใจเราได้นะ ปัจจัยเครื่องอาศัยนี่เราอยู่ได้...ชีวิตมีอยู่แค่นี้เอง ชีวิตมันก็ต้องการปัจจัยเครื่องอาศัย แล้วปัจจัยเครื่องอาศัยมันก็พร้อมอยู่แล้ว แล้วพร้อมแล้วเราจะดิ้นรนไปไหน

พูดถึงว่าวันนี้วันออกพรรษา ฉะนั้น วันออกพรรษา วันนี้จะเป็นวันมหาปวารณา ต่อไปเราจะปวารณาต่อกัน การปวารณาต่อกัน เห็นไหม ดูสิ เวลาเราต่อสู้กับกิเลส กิเลสนี่เราก็ไม่เห็นหน้ามัน กิเลสเราก็ไม่รู้จักมัน กิเลสมันอยู่ที่ไหนเราก็หาไม่เจอ แต่เวลาเราพุทโธๆ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่เราทำทั้งนั้นเลย แต่กิเลสมันอยู่ที่ไหน เราหากิเลสไม่เจอ เพราะเราไม่เจอกิเลส เราขุดคุ้ยหาไม่เจอ แล้วเราจะไปชำระสะสางมันได้อย่างไร

ฉะนั้นความเป็นอยู่ของเรา เวลาเราอยู่ด้วยกันเราเป็นสังคมของสงฆ์ สงฆ์อยู่ด้วยกัน เวลามันกระทบกระเทือน “วิสาสะ” ในวินัยนะ อทินนาทาน ของที่เขาไม่ได้ให้ หยิบไปนี่ถ้าเป็นทางโลกขาดศีล ๕ ใช่ไหม อทินนาทาน แต่ถ้าเป็นพระนะ ของที่มีค่ามากกว่าบาทหนึ่ง เป็นปาราชิกแล้ว

แต่ขณะเราเป็นหมู่คณะกัน เขาถือว่า “วิสาสะ” วิสาสะหยิบเอาได้ เราคุ้นเคยกัน เราวิสาสะ เราจุนเจือกันน่ะเราทำได้ แต่ถ้าพอมีความบาดหมางกันน่ะ จะมากล่าวโทษว่า “สิ่งนั้น เอาของฉันไป” นั้นไม่ได้ มันเป็นอดีต-อนาคต มันจะเอามาตัดสินกันไม่ได้ เพราะตอนที่เราคุ้นเคยกัน เราจุนเจือกัน เราถือว่าวิสาสะกัน

เราเป็นสหธรรมิก เราเป็นหมู่คณะกัน เราก็จะบอกว่า “ของๆ ใคร ของเราทุกคนก็ใช้ได้ ใครหยิบเอาก็ใช้ได้ นี่ของๆ เราก็เหมือนของหมู่คณะ ของหมู่คณะก็เหมือนของเราหยิบเอาใช้เอา” ถ้าเป็นของของสงฆ์ เราก็เก็บไว้เป็นของของสงฆ์ เวลาของสงฆ์เราแจกกัน แล้วมีผู้แจก อันนี้ของของสงฆ์

แต่คำว่า “วิสาสะ” นี่เป็นของบุคคล เราเป็นบุคคลกัน ใครจะหยิบเอาใช้เอา นี่ถ้าเป็นวิสาสะมันพ้นจากอาบัตินะ แต่ถ้ามันไม่ถือวิสาสะล่ะ ถือเป็นเจ้าเข้าเจ้าของขึ้นมามันก็ต้องตัดสินตามธรรมวินัย ถ้าตัดสินตามธรรมวินัยมันก็ต้องมีการกระทบกระเทือนกัน ทีนี้การกระทบกระเทือนกัน การอยู่ด้วยกัน ลิ้นกับฟันเป็นเรื่องธรรมดา ที่ไหนบ้างที่อยู่ด้วยกันแล้วไม่มีกระทบกระเทือนกัน...มีกระทบกระเทือนกันธรรมดา

ทีนี้ถ้ากระทบกระเทือนกันธรรมดา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันนี้วันมหาปวารณา ถ้าวันมหาปวารณา...ด้วยศักดิ์ศรี ด้วยทิฏฐิมานะ...พูดไม่ได้ พูดไม่ออก มันไม่พูดหรอก คนเรานี่ความจริงมันรู้ผิด-รู้ถูกอยู่นะ จริงๆ นี่นะ จิตมันเรื่องมหัศจรรย์มาก ความถูก-ความผิดมันรู้ แต่มันไม่กล้าพูดออกมา ถ้ามันไม่กล้าพูดออกมา ฉะนั้นไม่กล้าพูดออกมา ถ้าเราจิตใจเป็นธรรม เราให้อภัยกันจากภายใน แล้วเราอยู่ด้วยกัน สิ่งที่กระทบกระเทือนกันมาเราจะไม่ผูกเวรต่อกัน ถ้าเราไม่ผูกเวรต่อกัน จิตใจเรานี่ปลอดโปร่งมากนะ

แต่ถ้ามันผูกเวรต่อกัน คำว่า “ผูกเวร” แล้วมันจะมีเวรมีกรรมต่อไป ทีนี้เราจะไม่ผูกเวรนะ เราจะปล่อยให้ไปตามกรรมของสัตว์โลก นี่สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม กรรมของเขา เราไม่ผูกเวรกับใครทั้งสิ้น ฉะนั้นความเป็นอยู่ของเรา วันนี้วันมหาปวารณา เราให้อภัยกันมาตั้งแต่หัวใจอยู่แล้ว เริ่มต้นน่ะใจเรามันก็เปิดให้อภัยกันอยู่แล้ว

เพราะมันไม่มี มันไม่มี โลกนี้สิ่งนี้สมมุติ เราเกิดความจริงตามสมมุติ

เกิดมามีชีวิตจริงไหม?...จริง

เป็นคนจริงไหม?...จริง

เป็นพระจริงไหม?...จริง

เป็นพระจริง จริงตามธรรมวินัย จริงตามสมมุตินะ ถ้ามันจริงตามสมมุติ เราทำไมมีใบสุทธิกันล่ะ ใบสุทธิ เห็นไหม กรมการปกครอง ดูสิ ทะเบียนบ้านเขาต้องมีอยู่แล้ว เวลาเขาคัดออกมา เป็นพระแล้วเขาคัดออกจากการปกครองทางโลก ให้มาปกครองทางพระ นี่มันมีที่มาที่ไป นี่จริงตามสมมุติ เราเป็นพระนี่พระจริงๆ โลกเกิดมาก็เกิดมาจริงๆ นี่จริงตามสมมุติ มันมีจริงของมัน

พอมีจริงของมัน นี่มันยึดไหม ความไปยึดมั่นถือมั่น ความยึดตามนั้นมันมีอะไรจริงตามสมมุติ ถ้าจริงตามสมมุติ มันก็เกิดที่เราจะต้องทำปวารณากันอยู่นี่ ทำปวารณากัน ในเมื่อยึดมั่นถือมั่น มันก็จะบอกถูก-ผิด ทำอย่างนั้นถูก ทำอย่างนี้ผิด ก็เหมือนตีความกฎหมายน่ะ ถ้าตีความกฎหมาย กฎหมายในข้อเดียวกันแต่ตีความคนละมุมกันน่ะ มันก็กระทบกระเทือนกัน ถ้ากฎหมายข้อนั้น กฎหมายข้อนั้นเพื่ออะไร เพื่อความเป็นอยู่ของสังคมสงฆ์

ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อข่มขี่คนหน้าด้าน เพื่อส่งเสริมคนที่หน้าบาง “เพื่อส่งเสริมคนที่หน้าบาง” ที่ว่าเห็นสิ่งใดผิด-ถูก เพื่อความอยู่สงบร่มเย็น เพื่อคนที่ยังไม่ศรัทธาให้ศรัทธา ให้มาศรัทธาในพุทธศาสนา เพื่อคนที่ศรัทธาแล้วให้มีความมั่นคง เพื่อความอยู่ดีกินดี เพื่อความอยู่แล้วมีความสุขของผู้ที่มีความละอาย นี่ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข้อ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นมาเพื่ออะไร

ฉะนั้น เพื่ออย่างนั้นแล้ว เพื่อความอยู่มั่นคง เพื่อความเป็นความดี

แต่คนเราเวลาบวชเข้ามาต่ำกว่า ๕ พรรษาต้องขอนิสัย คนเราในเมื่อประสบการณ์ อย่างที่ว่าประสบการณ์ วัฒนธรรม เรายังไม่รู้วัฒนธรรมในการอยู่ของสงฆ์ “สงฆ์” เห็นไหม สงฆ์เพราะอะไร เพราะว่าสิ่งที่มันละเอียดลึกซึ้ง

เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด หลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่น ท่านจะพูดทีเล่นทีจริง เวลาพูดทีเล่น เห็นไหม ท่านพูดทีเล่นนะ ดูถึงนิสัย ดูถึงความเป็นไป เราจะรู้กันอย่างไร นิสัยคนจะเป็นอย่างไร ท่านจะพูดทีเล่นทีจริง แต่เราจริงทุกคำ

หลวงตาท่านพูดอย่างนั้นว่า หลวงปู่มั่นท่านจะพูดทีเล่นทีจริง แต่ท่านจริงหมด เพราะคำพูดเล่นของท่านมันก็มีธรรมออกมา เพราะใจท่านเป็นธรรม ใจหลวงปู่มั่นท่านเป็นธรรมนะ พูดทีเล่นก็มีธรรมเจือปนมา พูดเป็นธรรม พูดจริง นั่นยิ่ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ใหญ่

แต่ถ้าคนมีทิฏฐิมานะ ว่า “ทำไมลำเอียง ทำไมคนอื่นไม่เห็นติเตียน ทำไมติเตียนแต่เรา”...ไม่ติเตียน เพราะถ้าเขาผิด ถ้าเขาผิดนะ ผู้ที่บวชใหม่มีทำความผิด มันน่าสงสาร ถ้าคนเขาเจตนาเขาดี เขาตั้งใจทำความดี เขาทำของเขา แล้วเจตนานั้นมันกระทบกระเทือนคนอื่น แต่มันผิด แต่ถ้าผิดไหม ถ้าเขาเจตนาดี เขาตั้งใจดี เขาปรารถนาดี แต่เขาผิดแล้ว ถ้าเขาทำผิดแล้ว เขาก็เสียใจของเขา แล้วเราจะไปตอกย้ำความผิดของเขาให้เขาเศร้าใจ ให้เขาชอกช้ำทำไม ฉะนั้นถ้าเขาสำนึกผิดแล้ว ท่านก็ดูด้วยความธรรมสังเวช

แต่ถ้าเรามันเกิดทิฏฐิมานะ เราทำของเราด้วยคิดว่าเราได้ทำความถูกต้อง เราด้วยความยึดมั่นถือมั่นของเรา เราก็ทำของเรานะ เหยียบย่ำเขาไปหมดเลย พอเหยียบย่ำคนโน้นไปเหยียบย่ำคนนี้ไป เวลาท่านติมา “อ้าว! ก็ตั้งใจดีเหมือนกัน ก็ตั้งใจ ก็ทำเพื่อความดีน่ะ ทำไมครูบาอาจารย์ต้องติเตียนด้วยล่ะ ทำไมครูบาอาจารย์ต้องคอยเคาะคอยบอกล่ะ”...

ก็มันเหยียบย่ำเขา ก็มันเหยียบย่ำทำลายคนอื่นเขา เจตนาอันอื่นเขาทำเพราะความไม่เข้าใจ เขาทำเพราะความปรารถนาดี แต่เขาทำแล้วนี่มันผิดพลาดของเขา เขาไม่เข้าใจของเขา แต่อีกดวงใจหนึ่งทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นของตัว เขาตั้งใจดีเหมือนกัน ทำดีเหมือนกัน แต่ทำแล้วมันเหยียบย่ำเขา นี่ครูบาอาจารย์ก็ต้องบอกต้องชี้ เพราะอะไร เพราะสังคมสงฆ์ ความเป็นอยู่ของสังคมมันกระทบกระเทือนกัน ท่านก็ต้องคอยบอก เพื่อความอยู่สงบร่มเย็นของสังคมสงฆ์ นี่ผู้นำต้องรับผิดชอบ ถ้าผู้นำไม่รับผิดชอบน่ะ เป็นผู้นำทำไม ถ้าเป็นผู้นำต้องรับผิดชอบ ต้องดูแลหมู่คณะ ถ้าหมู่คณะเป็นไป

แล้วถ้าพูดถึง เรามีความคิดของเรา นี่ไงมันก่อกรรมก่อเวร ถ้าก่อกรรมก่อเวร เพราะอะไร เพราะเราตั้งใจว่าดี พอดีแล้วทำของเราไปเลย ทำต้องเป็นความดี ใครจะขวางไม่ได้ ขวางต้องระเนระนาดไปหมดเลย เห็นไหม มันก็ไม่ใช่

“ความดี” ความดีอย่างหยาบ ความดีอย่างกลาง ความดีอย่างละเอียด นี่ความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูความดีของครูบาอาจารย์สิ ท่านนั่งเฉยๆ ท่านเทศนาว่าการน่ะ ทำอะไรนั่นน่ะ เวลาธรรมมันออกมา พูดแสดงธรรมออกมา

อันนั้นหลวงตาท่านบอกว่า เวลาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ขึ้นมานี่นะ นิพพานหยิบเอาเลย หยิบจับเอาได้หมด เห็นไหม เวลาหลวงปู่มั่นแสดงธรรม นี่แสดงธรรมถึงเหตุและผล

การทำตั้งสติขึ้นมามันจะมีประโยชน์เพื่อการยับยั้งหัวใจ ยับยั้งสิ่งที่เกิดจากใจ ที่มันคิดให้หัวใจนั้นฟุ้งซ่านไป ถ้ามีสตินะ ถ้ามีคำบริกรรมขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบนะ ถ้าสงบแล้วมันออกใช้ปัญญานะ ออกใช้ปัญญาด้วยการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมนะ

ที่ว่า “เราเกิดมาแล้วไม่เห็นหน้ากิเลส แล้วเราจะฆ่ากิเลส แต่กิเลสเราอยู่ที่ไหน เราหาไม่เจอ”

ถ้าจิตมันสงบแล้วมันแยกแยะ มันแยกแยะ มันค้นคว้าของมัน มันเห็นกาย “อ้าว! กายทำไมไม่เป็นผลการปรารถนาล่ะ กายทำไมไม่เป็น...” นั่นน่ะ กิเลสมันอาศัยตรงนั้นน่ะ ที่ว่าอยากเห็นกิเลส เราจะฆ่ากิเลส แต่ไม่รู้จักกิเลสอยู่ไหนแล้วจะไปฆ่ากันที่ไหน การจะฆ่ากิเลสมันต้องรู้จักว่ากิเลสมันอยู่ที่ไหน แล้วพอกิเลสขึ้นมา พอมันจับได้แล้วมันจะฟูเข้ามาที่ใจ ใจมันจะฟูอย่างไร เวลาพิจารณาแล้วมันปล่อยวางอย่างไร

มันปล่อยวาง มันจะปลอดโปร่ง มันจะโล่งโถง เพราะกิเลสมันโดนชำระล้างออกไป มันเริ่มเจือจางออกไป ถ้ามันเจือจางออกไป นี่มีการกระทำ มันเป็นไปเป็นขั้นเป็นตอนของมันขึ้นไป ถ้าเป็นขั้นเป็นตอนของมันขึ้นไป มันพิจารณาของมันไป มันทำแล้วมันได้ประโยชน์ มันเป็นผลของใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นมันพิจาณาของมันไป นี่มันเกิดประโยชน์ เกิดการกระทำ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด แล้วมันฟังธรรม ฟังธรรม ธรรมอันนั้นมันมีเหตุมีผล เหมือนเวลาท่านแสดงธรรมนี่จับเอานะ จับเอา คว้าเอาจะได้หมดเลย แต่เวลาท่านแสดงธรรมจบน่ะ ฟ้านี่ปิดหมดเลย ทำสิ่งใดไม่ได้เลย เห็นไหม

เราบอกว่า “ครูบาอาจารย์ท่านไม่ทำอะไรเลย แล้วบอกว่าดูแลหมู่คณะ แล้วหมู่คณะมันจะร่มเย็นเป็นสุขน่ะ ถ้าร่มเย็นเป็นสุขมันก็ต้องมาหามจั่วหามเสาด้วยกันนี่สิ จะต้องมาแบกหามด้วยกัน มันจะร่มเย็นเป็นสุข วัดนั้นมันจะอยู่ดี”

ผู้นำที่ไม่เป็นผู้นำ แต่ถ้าผู้นำที่เป็นผู้นำนะ สิ่งใด...

หลวงตาท่านพูดบ่อย ท่านบอกว่าท่านเป็นพระผู้น้อยมาก่อน

การเป็นพระผู้น้อยมาก่อน ได้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ถ้าเราไม่เป็นพระผู้น้อยมาก่อน เราจะ ไม่รู้หรอกว่าผู้น้อยคิดอย่างใด แล้วผู้น้อยเวลาคิดอย่างไร เพราะผู้น้อยมันไม่มีประสบการณ์ นี่ประสบการณ์ นี่วัฒนธรรมในองค์กร

วัฒนธรรมในกรรมฐานของเรา ในเมื่อครูบาอาจารย์ท่านมีอาวุโส ท่านบวชก่อนเรา นี่ให้ถือให้เคารพธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงเราไม่เคารพท่าน แต่เราก็เคารพธรรมวินัย เพราะท่านอาวุโสใช่ไหม เราก็ต้องเคารพท่าน เคารพท่านเพราะเราเชื่อฟัง เราเชื่อมั่นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกให้เคารพบูชากัน...องค์กรนี้ ในสังคมนี้มันถึงจะได้มีวัฒนธรรม

คำว่า “วัฒนธรรม” มันก็ดูสวยงาม ดอกไม้ที่เอามาร้อยกันเป็นพวงมาลัย หลากสี แตกต่างกัน ดอกไม้คนละชนิดสีแตกต่างกัน ชนิดแตกต่างกันมาร้อยเป็นพวงมาลัย มันจะเป็นสิ่งที่สวยงาม

“วัฒนธรรมในองค์กร” จริตนิสัยของคน ความเป็นไป ความเห็นของจิตใจมันแตกต่างหลากหลายกัน พอเราเข้ามาในองค์กรของเรา วัฒนธรรมของครูบาอาจารย์ของเรา ให้มีข้อวัตรปฏิบัติ ให้เชื่อให้ฟังกัน ถึงเชื่อฟังแล้วมันจะค้านอยู่ในใจ เห็นไหม ค้านอยู่ในใจแล้วมันตอกย้ำไหม นี่ไง ถึงบอกว่าถ้าเราไม่ผูกโกรธนะ เราเอาสิ่งนั้นจับไว้ พอจับไว้ เราไปเดินจงกรมนั่งสมาธิของเรา พอเราเข้าใจนะ โอ้โฮ! มันสะเทือนใจมากนะ

ดูสิ ดูความเจริญ ดูประเทศที่พัฒนาแล้วกับยังไม่พัฒนา ที่แตกต่างกันด้วยการพัฒนา ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาพัฒนาเพราะอะไรล่ะ เพราะเขาได้ประสบการณ์ เขาได้ปกครองตนเอง เขาได้ประสบการณ์ของเขา เขาเลือกผู้นำของเขาขึ้นมา เลือกกลั่นกรองจนเป็นวัฒนธรรมของเขา แต่ประเทศที่ยังไม่มีวัฒนธรรม ประเทศที่ว่ายังไม่มีการกลั่นกรอง เห็นไหม มันแตกต่างกัน

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตใจของเรา เวลาเราเข้ามาแล้วเราพัฒนาของเรา จิตใจของเรามันมีวัฒนธรรมในองค์กรนั้น มันเชื่อในองค์กรนั้น ถ้าเชื่อในองค์กรนั้น มันรู้มันเห็นนะ นี่เราก็อยู่ในเรื่องในใจของเราสิ เพราะเราเคารพธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในองค์กรนั้น ให้เชื่อฟังตามๆ กันมา ให้เชื่อฟังตามๆ กันมานะ

แล้วเราบอก “กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อ”

การว่าเชื่อตามๆ กันมา มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม วัฒนธรรมในองค์กร ประเพณีวัฒนธรรม เพราะสิ่งที่เป็นองค์กรขึ้นมา เพราะว่าเราเป็นสังคมสงฆ์ใช่ไหม เราบวชมาต่างพ่อต่างแม่ใช่ไหม เราบวชมาอยู่ในองค์กรเดียวกัน มันก็ต้องมีวัฒนธรรมเป็นเครื่องอยู่

แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลาปฏิบัติไปแล้วมันอยู่ที่ความเป็นจริงนะ ถ้าสติมันเกิดขึ้นมา สมาธิมันเกิดขึ้นมา ปัญญามันเกิดขึ้นมา มันไม่ใช่อยู่ที่ว่าบวชก่อน-บวชหลังแล้ว มันอยู่ที่อำนาจวาสนาบารมี อยู่ที่ความเป็นจริงในหัวใจน่ะ ถ้าอยู่ที่ความเป็นจริงในหัวใจ เวลาทำขึ้นมามันเห็นผลของมัน พอเห็นผลของมัน นี่สิ่งที่เราได้ประสบเราพบเห็นในใจของเรา แล้วใจของคนอื่นจะรู้ได้ไหม ในใจของคนอื่นเราก็รู้ได้ นี่เรารู้ได้หมดน่ะ ว่าสิ่งอื่น การแสดงออก ถ้าจิตใจมันเป็นแบบนี้ จิตใจเรามีความสงบอย่างนี้ เรารักษาใจเรามาอย่างไร เรารักษาใจอย่างไร เราตั้งสติอย่างไร เราตั้งสติแล้วมันมีคุณประโยชน์ขึ้นมาได้อย่างไร เราเห็นนะ

แล้วทีนี้เราย้อนออกไปดู เวลาเราอยู่ในหมู่คณะ เวลาเราดูครูบาอาจารย์เราสิ เวลาครูบาอาจารย์...เวลาอยู่ที่บ้านตาดนะ หลวงตาท่านพูดประจำ เวลาท่านพูดนะ บอกหมู่คณะเพื่อแบ่งเบาภาระท่านนะ ท่านบอกว่า ให้หมู่คณะสอนกันสิ ให้คุยกัน ให้บอกกัน ให้เตือนกัน ให้เตือนกันนะ เตือนกันบอกกัน นี่ประเพณีวัฒนธรรม ข้อวัตรปฏิบัติไง

วัฒนธรรมในองค์กร บอกกัน เตือนกันสิ

แต่เวลาปฏิบัติ เวลาจะเอาความจริงภายในนะ ท่านเตือนนะ ท่านบอกว่า

“หมู่คณะ อย่ามองกันด้วยการจับผิดนะ ถ้าจะมองกันด้วยความจับผิด มันมีผิดทุกวันน่ะ มันมีผิดตลอดเวลาน่ะ ฉะนั้น ถ้าจะมองตัวอย่างที่ดีให้มองตัวท่าน”

ท่านพูดเอง “ให้มองตัวท่านเลย เอาท่านน่ะ”

นี่ไง “ให้มองตัวท่าน” เพราะว่าท่านมั่นใจว่าในหัวใจของท่านมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าในหัวใจท่านมีหลักมีเกณฑ์ การแสดงออกมา ถ้าใจคนมีธรรมในหัวใจนะ เวลาแสดงออกมาน่ะ มันแสดงออกมาจากธรรมอันนั้นน่ะ มันมีธรรมออกมาด้วย

ดูสิ ดูธรรมสังเวชสิ เวลาเกิดสิ่งที่เป็นการกระทบกระเทือนกัน มันสะเทือนหัวใจ มันสังเวช มันมีธรรมออกมานะ “ธรรมสังเวช” เวลาคนที่เขากระทบกระเทือนกันมันมองแล้วมันสังเวชใจน่ะ แต่เขาไม่รู้ คนที่กระทำไม่รู้สิ่งต่างๆ นี่ธรรมสังเวช

ฉะนั้น เวลาสิ่งที่ว่า “อย่ามองกันนะ ให้มองตัวท่าน ให้มองตัวท่าน”

ก็ดูการเคลื่อนไหว ดูสติของท่าน ดูความเป็นไปของท่าน เวลาท่านสั่งเราไง นี่ไง ถ้าพูดถึงว่าเวลา “หมู่คณะให้เตือนกันนะ ให้บอกกันนะ” เราบอกกันด้วยข้อวัตรปฏิบัติ เราบอกสิ่งที่เป็นวินัย เป็นสิ่งข้อบังคับ สิ่งที่ข้อวัตรปฏิบัติให้เป็นเครื่องดำเนินของเรา

แต่เวลาจิตมันภาวนามันไปอีกเรื่องหนึ่ง เวลาจิตเข้ามาภาวนาน่ะมันเป็นของมันขึ้นมา จิตมันเป็นขึ้นมา เราเห็นขึ้นมา แล้วเราจะดูใจของเรา แล้วเวลาเราดูการเคลื่อนไหว เพราะการรักษาใจรักษายาก ทีนี้ครูบาอาจารย์บอกว่า “อย่ามองกันนะ อย่ามองกันนะ ให้มองท่านเป็นตัวอย่าง” ก็มองตรงนี้ไง มองท่านเป็นตัวอย่างเพราะการแสดงออกของท่านน่ะมันเป็นความจริง การแสดงออกมาจากใจที่เป็นธรรม มันมีความจริงทั้งนั้นน่ะ

ถึงจะด่าก็ด่าจริงๆ ถึงจะชมก็ชมจริงๆ...ด่าจริงๆ ด่าเรื่องอะไร ด่าเพราะว่าพวกนั้นน่ะจะลุยไฟอยู่ จะทำความผิดอยู่น่ะ เวลาท่านด่า ท่านด่าเพื่อให้เราพ้นจากผิดน่ะ

คำว่า “ด่า” แต่ถ้าเป็นธรรม นั่นน่ะท่านแสดงธรรม

ในกรรมฐานเราบอกว่า “ฟ้าผ่า” เวลาฟ้ามันจะผ่านี่นะ มันต้องมีเหตุผลไง เหตุผลว่าพวกนั้นจะทำผิด พวกนั้นจะทำแล้ว สิ่งใดทำแล้วจะให้ผลเป็นความผิดกับผู้นั้น...ฟ้าผ่าทันที ฟ้าผ่าเพื่ออะไร เพื่อเตือนสติ เพื่อให้ใจดวงนั้นไม่สร้างเวรสร้างกรรม

เราบอกว่า “ไม่ผูกเวร” ถ้าใจมันไม่ผูกเวร มันก็จะไม่สร้างเวรสร้างกรรม

แต่ถ้าใจมันผูกเวร มันมีความผูกทิฏฐิมานะ ผูกสิ่งที่เศร้าหมองไว้ในใจ ถ้าใจมันผูกเวรผูกกรรม มันจะสร้างผลกระทบกระเทือนต่อไป ฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านฟ้าผ่าทันที ผ่ามาเพื่ออะไร ผ่ามาเพื่อให้ใจที่มันผูกเวรผูกกรรม สร้างเวรสร้างกรรมน่ะ ให้มันระงับซะ ถ้ามันระงับขึ้นไป มันจะไม่สร้างเวรสร้างกรรมให้กับใจดวงนั้น

“ใจดวงนั้น” ภวาสวะ-ภพ เกิดตายๆ เกิดในวัฒนธรรม วัฒนธรรมถ้ามันดี มันก็เป็นวัฒนธรรมที่มันห่อหุ้มมา แต่ใจนั้นเวลามันเกิดตายๆ เกิดตายไปเจอวัฒนธรรมที่ดี แล้วเราเกิดในวัฒนธรรมที่ดี เราก็แปลกใจนะ “เอ๊ะ! เราก็เกิดมาดี ทำไมจิตใจเราเป็นแบบนี้ เราก็เกิดมาดี ทำไมเราภาวนาไม่ได้ ภาวนาไม่เป็นอย่างที่เราปรารถนา นี่มันเป็นเพราะเหตุใด มันเป็นเพราะเหตุใด”

เราก็รื้อค้นหาไม่เจอไง ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์น่ะฟ้าผ่ามา มันผ่ามาเพื่ออะไรล่ะ?

แต่เราไม่ได้มองตรงนี้หรอก “โอ้โฮ! เวลาคนอื่นผิดก็ไม่เห็นว่าเลย เวลาเราผิดมาว่าเอาๆ น่ะ”

การว่านั้นน่ะ ถ้าครูบาอาจารย์ใจเป็นธรรมนะ มันเป็นธรรมทั้งนั้นน่ะ แล้วสิ่งที่เป็นธรรม เราไม่รู้ไม่เห็นเลยนะ พอเราไม่รู้ไม่เห็นน่ะ มันก็สะเทือนใจ มันก็ทำให้จิตใจเรานี่เสียหาย ถ้าจิตใจเราเสียหายนะ ถ้าไม่เสียหาย...ในปัจจุบันนี้ ปัจจุบันนี้ถ้าเราตั้งสติ เราภาวนาของเรา จิตใจมันควรจะพัฒนาขึ้นไป ฉะนั้นเวลาจิตใจเราเสื่อมถอย จิตใจเรามันดื้อด้าน พอดื้อด้านขึ้นมา พอใจมันหยาบ อารมณ์โลกนี่อารมณ์หยาบๆ สิ่งที่อารมณ์หยาบๆ มันไปชอบอารมณ์ที่หยาบๆ ที่ผูกโกรธ ที่ทำแล้วเหยียบย่ำคนอื่น ที่ทำแล้วทำลายกัน...ไม่มีประโยชน์สิ่งใดๆ เลย เห็นไหม

พอจิตใจมันเสื่อมถอยนะ พอมันด้านแล้วมันก็ไปเอาสิ่งนั้นมาเป็นเพื่อน เป็นมิตร สิ่งที่มันคบกัน แต่ถ้าจิตใจมันดีนะ เวลาเราภาวนาเราตั้งสติปัญญาของเราขึ้นมา จิตใจมันดีขึ้นมา จิตใจเจริญ จิตใจงอกงามนะ มันจะชอบสิ่งที่สงบ สงัด วิเวก สิ่งที่ครูบาอาจารย์ทำในสิ่งที่เป็นธรรม

สิ่งที่เป็นธรรมหมายถึงว่า “มักน้อย สันโดษ”

มักน้อย สันโดษ ในอารมณ์

มักน้อย สันโดษ ในการคลุกคลี

มักน้อย สันโดษ ในการพูดคุย

มักน้อย สันโดษ ในการแสวงหาที่จะให้ผู้อื่นเดือดร้อน

...ครูบาอาจารย์ไม่ทำให้เราเดือดร้อน ไม่ทำสิ่งต่างๆ ไม่ทำให้เราเดือดร้อน ท่านอยู่ของท่านนิ่ง เห็นไหม ความนิ่งของใจน่ะ แล้วสิ่งนั้นถ้าจิตใจมันดี จิตใจมันเจริญงอกงาม มันจะคบสิ่งนี้ คบบัณฑิต คบธรรม นี่ถ้าจิตใจมันดี

ถ้าจิตใจมันเสื่อมถอยนะ มันคบอารมณ์โลกๆ อารมณ์หยาบๆ แล้วว่าสิ่งนั้น เวลามันเสื่อมถอย มันคบเพื่อน คบมิตร คบมิตรคือจิต พลังงานคือตัวภวาสวะ คบความคิด ความคิดที่มันเสวย ความคิดที่มันเป็น เห็นไหม แล้วมันก็ทุกข์ก็ยากไป

นี่ ๑ พรรษาผ่านไป การกระทำของเราขึ้นมาก็เพื่อจะกลั่นกรองหัวใจของเรา เพื่อทำให้เราดี เราต้องทำใจของเรา ถ้ามันเป็นการโดยสังคมโลก เขาขอโทษขอโพยกัน ถ้าคนๆ นั้นเขาสำนึกผิด นั้นเขาขอโทษขอโพยกัน แต่ถ้าคนสำนึกผิดแต่ไม่กล้าพูดออกมา เห็นไหม เราจะทำเป็นปวารณา “เราจะไม่ผูกโกรธกัน ไม่ผูกเวรผูกกรรม”

ผูกโกรธนะ ผูกโกรธไปแล้วมันโกรธ ผูกโกรธสิ่งที่เป็นยาพิษมันก็จะเผาลนหัวใจนั้นไป นี่เก็บไว้ในใจ ซ่อนไว้ลึกๆ แล้วเวลามันคายพิษออกมามันก็มีอารมณ์ แต่ถ้าเราไม่ผูกโกรธ เราไม่ซ่อนสิ่งใดไว้ในใจ เราไม่มีสิ่งที่ใดๆ เป็นพิษอยู่ในหัวใจของเรา เหมือนกับหัวกลอย ถ้าเก็บมาสดๆ เอาไปกิน เอาไปทำอาหารนะ...ตายนะ ตาย แต่หัวกลอยเขาได้มานะ เขาจะไปแช่น้ำไว้ให้ล้างพิษ พอล้างพิษจน ๒ วัน ๓ วัน จนพิษมันเจือจางลง จนพิษมันไม่มีถึงกับเป็นโทษ เขาเอามาทำอาหารกินได้นะ

หัวใจของเรา เราจะให้เป็นหัวกลอยที่มันมีสารพิษตกไปในใจ หรือเราจะชำระล้างมัน เราจะแช่ไว้โดยศีล โดยธรรม เพื่อให้มันเจือจางลง เจือจางลง เจือจางไป จนเอามาเป็นอาหารได้ เอามาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้...อันนี้คิดไม่ได้นะ ถ้าเป็นอาหารไม่ได้ คิดทีไรก็เจ็บทุกที คิดทีไรก็เขย่าหัวใจทุกที เห็นไหม มันเป็นสารพิษตกอยู่ในใจ

แต่ถ้าเราใช้ธรรมวินัย เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้การแก้ไข จนมันไม่มีสารพิษในใจ นี่มันพอเป็นอาหาร อาหารคืออะไร อาหาร เห็นไหม เวลาจิตมันเสวยอารมณ์ เวลาจิตสงบแล้วเสวยอารมณ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณาเป็นรูปกาย เป็นนิมิต เป็นต่างๆ เสวยอารมณ์ นี่คืองานไง

เวลามันกินอาหาร เวลาเราทำหน้าที่การงาน เวลาจิตมันออกวิปัสสนา ออกแยกแยะ ออกค้นคว้า ออกค้นคว้ามาเพื่อประโยชน์กับใจ

“ใจ” ใจมันโง่เง่าเต่าตุ่น มันมีอวิชชาคือความไม่รู้ในใจ แล้วเพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์นี่มีค่ามาก แล้วออกมาเป็นนักบวช ออกมาเป็นพระเป็นเจ้า เป็นนักรบที่จะสู้กิเลส เห็นไหม พอจิตมันสงบขึ้นมา จิตใจที่มันโง่นัก นี่มันโง่นัก มันไม่เข้าใจสิ่งใดเลย ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษามาจน...พระไตรปิฎกอ่านจน ๔ รอบ ๕ รอบ อ่านค้นคว้าจนพระไตรปิฎกทะลุหมดแล้ว แต่จิตใจมันยังโง่อยู่เลย มันไม่รู้สิ่งใดเลยนะ

เวลาจิตมันสงบแล้วให้มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แล้วใช้ปัญญาแยกแยะ เป็นปัญญาค้นคว้า เป็นปัญญาพิจารณาของมัน ถ้าพิจารณาของมัน...สิ่งที่ศึกษาพระไตรปิฎกมา ๕ รอบ ๑๐ รอบ อ่านจนพระไตรปิฎกทะลุไปเลยน่ะ มันก็เป็นสัญญา มันก็เป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นสิ่งที่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ศึกษามา จำมา เป็นเพื่อประโยชน์กับเรา เป็นปูนหมายป้ายทางเพื่อจะดำเนิน

แต่นี่เราจำพรรษามา เราพิจารณาของเรามาจนจิตมันสงบแล้ว เวลาออกใช้ปัญญา ออกพิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม พิจารณาแยกแยะของมัน เห็นไหม พอพิจารณาไป มันไม่มีอะไรจะจับต้องได้เลย มันเป็นไตรลักษณ์ มันทำลายตัวมันเองทั้งหมดเลย ทุกอย่างไม่มีอะไรจะจับต้องได้เลย

ของ-วัตถุมันต้องมีที่ตั้ง สิ่งใดก็แล้วแต่มันต้องตั้งอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แล้วที่ตั้งไม่มีนี่ ของสิ่งใดไปวางบนอากาศได้ล่ะ พอวางบนอากาศมันก็ตกลงดินหมดน่ะ นี่เหมือนกัน เวลาทิฏฐิมานะ เวลาความทุกข์ ความไม่เข้าใจต่างๆ มันบอก มันรู้ๆ คิดดูสิ มันนึกว่ามันจะสร้างภูเขาบนอากาศไง มันจะสร้างบ้านอยู่บนก้อนเมฆ มันจะทำไร่ไถนาบนก้อนเมฆนะ จะเป็นเทวดา เห็นเทวดาเขาอยู่ก้อนเมฆตามจิตรกรรมฝาผนัง เขียนรูปเทวดาอยู่บนก้อนเมฆ โอ้โฮ! มีความสุขนะ ไอ้นี่มันก็จินตนาการเลยนะ โอ้โฮ! ธรรมะนะ ว่างนะ อยู่บนก้อนเมฆ จะเป็นฐานที่อยู่ของตัว...มันจินตนาการไปทั่ว ไม่มีอะไรจริงสักอย่าง

แต่เวลาเราใช้ปัญญาพิจารณาของมันไป มันเป็นไตรลักษณ์ ไม่มีอะไรเลย...ก้อนเมฆอยู่ไหน ก้อนเมฆมันก็แปรปรวน ภาพสิ่งใดๆ มันก็แปรปรวน ไม่มีอะไรคงที่สักอย่างหนึ่ง...พิจารณาไป พิจารณาสิ่งไม่คงที่ มันเป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด มันไม่มีสิ่งใดเลย แล้วมันเหลืออะไร พอมันปล่อยหมด มันเหลือใคร

มันเหลือ “จิตที่รู้” จิตที่พิจารณามาแล้วน่ะ มันมีปัญญาขึ้นมา มันพัฒนาการของมัน มันพิจารณาของมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะเป็นความรู้จริงขึ้นมานะ ไม่ใช่อ่านพระไตรปิฎกจนทะลุ อ่านหมด เข้าใจหมด พระไตรปิฎกรู้หมดเลย แต่ไม่รู้เรื่องตัวเอง ไม่รู้เรื่องจิตของตัว

ถ้าจิตของตัว นี่เราบวชเป็นพระ เป็นนักรบ เป็นนักวิปัสสนา เราออกมาเป็นนักบำเพ็ญต่างๆ เราพิจารณาของเรา พิจารณาไปๆ มันเป็นไตรลักษณ์ จับต้องสิ่งใดไม่ได้ แล้วจับต้องสิ่งใดมันเป็นไตรลักษณ์หมดเลย แล้วจิตมันไปอยู่ไหน จิตมันก็จับต้องทำลายตัวจิตหมดเลย แล้วมันมีอะไรเหลือ แล้วมันเหลืออย่างไร แล้วมันเหลืออยู่บนอากาศเหรอ นี่ความรู้ที่รู้จริงมันอยู่บนอากาศไหม มันอยู่บนที่ไหน อะไรรองรับมันไว้อยู่ วัตถุตั้งอยู่บนอากาศไม่ได้ ความรู้มันตั้งอยู่บนอะไร สัจธรรมในหัวใจนี้มันตั้งอยู่บนอะไร แล้วมันจริงขึ้นมา

มันเป็นจริงขึ้นมาจากการกระทำ จากความเป็นไป ฉะนั้น ๑ พรรษาผ่านไป วันนี้เดี๋ยวเราจะปวารณากัน ปวารณากันด้วยเราอยู่ด้วยกันมา ด้วยความกระทบกระเทือน รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดีไง เวลาเราพูดถึง สิ่งที่เราทำทั้งต่อหน้าและลับหลัง ตั้งใจก็ดี ไม่ได้ตั้งใจก็ดี อาจจะกระเทือนกันได้ ถ้ามีสิ่งใดกระทบกระเทือนกัน ขออโหสิกรรมต่อกัน “ขออโหสิกรรมต่อกัน” ไม่ผูกโกรธ ไม่จองเวร

“เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” เราจะไม่จองเวรจองกรรมต่อใครต่อกัน เราต่างคนต่างมา ต่างคนต่างพยายามหาทางออก นี่เรามาอยู่ด้วยกันด้วยถูกจริตถูกนิสัยกัน ขออยู่ด้วยกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขนี้เพื่อจะพยายามค้นคว้าหาข้อเท็จจริงในหัวใจ ในภวาสวะ ในภพ ที่ไหนมีภพที่นั่นมีกิเลส

“กิเลสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ”

กิเลส เราเข้าใจได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี

อวิชชา มันก็เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งที่ไม่รู้

ภวาสวะ-ภพ สถานที่ที่ว่าจิตรับรู้นี่มันก็เป็นอาสวะอันหนึ่ง

ถ้าที่ใดมีภพ ที่นั่นมีกิเลส เพราะมีสถานที่ตั้ง เห็นไหม ที่ว่าไม่มีสิ่งใดตั้งบนอากาศ แต่มันมีภวาสวะ-มีภพ กิเลสก็ตั้งอยู่ที่นั่น แล้วเราใช้สติปัญญาของเรา ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราจะภาวนาเข้ามา เราจะถึงที่สุดเข้ามาทำลายภวาสวะ ทำลายภพทั้งหมด เพื่อประโยชน์กับเรานะ

ฉะนั้น สิ่งที่เรามาอยู่กัน ๑ พรรษานี้ ถ้าเราไม่ผูกเวรต่อกัน มันก็ไม่จองเวร ไม่มีสิ่งใดกระทบกระเทือนต่อกัน เรามาอยู่ด้วยกันเพราะว่าผลของวัฏฏะ เหมือนกับสวะในน้ำ น้ำมันพัดไป พัดไป นี่ก็เหมือนกัน เรามาด้วยความรู้สึกนึกคิด ด้วยการชักนำของเพื่อนฝูง ด้วยการชักนำของพ่อแม่ ด้วยการชักนำของใคร เห็นไหม เหมือนสวะมารวมกัน มาอยู่รวมกัน มากองกันอยู่ที่นี่ ถ้ากองกันอยู่ที่นี่ แล้วเราอยู่ร่วมกันเป็นสิ่งที่มีชีวิต ไม่ใช่สวะ นั้นผลของวัฏฏะ

เราเกิดมาด้วยเวรด้วยกรรม “ผลของวัฏฏะ” มันพัดเรามาให้มาอยู่ด้วยกัน แล้วเรามาอยู่ด้วยกัน ๑ พรรษา สิ่งใดที่กระทบกระเทือนกัน เราถึงจะต้องให้อภัยต่อกัน

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เวลาออกพรรษาแล้วโดยปกติพระต้องลงอุโบสถ ต้องสวดปาฏิโมกข์เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของสังฆะนั้น แต่ถ้าเป็นวันออกพรรษาให้ทำปวารณา ให้แทนอุโบสถ

การปวารณา การเห็นโทษ การไม่ผูกเวรผูกกรรม มีคุณค่ามากขนาดนั้น เพราะในอุโบสถนั้นก็เพื่อความสะดวก ความสะอาดของสงฆ์นั้น

มหาปวารณา นี่แทนอุโบสถเลย ถ้าแทนอุโบสถ มันถึงมีคุณค่ามาก

ฉะนั้น เราจะทำปวารณากันเพื่อประโยชน์นะ เพราะวันนี้วันอุโบสถ แต่วันนี้เพราะเราอยู่มา ๑ พรรษา แล้ววันนี้มันจะเป็นวันปวารณา ปวารณาเพื่อจะให้ไม่มีเวรมีกรรมต่อกัน เอวัง