เทศน์บนศาลา

ธรรมะจารีต

๑๒ ต.ค. ๒๕๕๔

 

ธรรมะจารีต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม วันนี้วันออกพรรษานะ วันออกพรรษาเป็นประเพณี เห็นไหม วันสารท วันออกพรรษา วันต่างๆ เป็นประเพณีการทำบุญกุศล ประเพณีวัฒนธรรม ถ้าเราถือประเพณีวัฒนธรรม มันสวยงาม เวลาคนเขามองมา เวลามีการท่องเที่ยว ฝรั่งเขามา เขามาเที่ยววัดเที่ยววา เขาเห็นแล้วมันเป็นของที่เขาแปลกประหลาด ที่บ้านเมืองเขาไม่มี แต่ของเรานี่เราคุ้นชินกัน เราคุ้นชินกันเรื่องประเพณีวัฒนธรรม

ถ้าประเพณีทำให้เราทำบุญกุศลเป็นเรื่องดีไหม?...ดี เป็นเรื่องดีเพราะมันมีความสวยงาม ทำให้ครอบครัวอบอุ่น ทำให้ความเป็นไปในสังคมมันร่มเย็นเป็นสุข ความร่มเย็นเป็นสุขเพราะอะไร เพราะการคิดดีต่อกัน การช่วยเหลือเจือจานกันมันเป็นเรื่องความดีทั้งนั้นน่ะ นั้นถึงเป็นประเพณีวัฒนธรรม

ฉะนั้น วันนี้วันออกพรรษา มันก็เป็นประเพณีการทำบุญกุศลอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นประเพณี เราทำบุญกุศลแล้ว เราคิดว่าเราทำแล้วจบ...มันก็ไม่จบนะ นี่ประเพณีวัฒนธรรมมันเป็นเครื่องที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นอริยทรัพย์ แล้วเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนให้ทาน ศีล ภาวนา ให้มีทำทานการเสียสละต่อกัน มีศีล คือความปกติของใจ เราไม่เบียดเบียนใคร เรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา “ทาน ศีล ภาวนา” ภาวนาเพื่อความมั่นคงของเรา ภาวนาเพื่อให้จิตใจมันฉลาด อย่าให้มันหลงตามความรู้สึกนึกคิดของเราไปเอง นี่ถ้าจิตใจเราทำได้อย่างนี้

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนานี่เป็นของที่ประเสริฐ ประเสริฐเพราะว่าเกิดมาในชาตินี้เราก็อยู่ด้วยการพึ่งพาอาศัย เวลาเราตายไป ตายไปก็แล้วได้ทำบุญกุศลไว้ นี่จะเชื่อ-ไม่เชื่อก็แล้วแต่ว่าชาติหน้ามีหรือไม่มี แต่ถ้าทำคุณงามความดีไว้ ถ้ามันมีมันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้ามันไม่มี ไม่มี จากปัจจุบันทำความดีก็เป็นคนดี เห็นไหม สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเรา นี้คือวัฒนธรรม

แต่นี้เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เสวยวิมุตติสุขอยู่ แล้วว่าจะออกโปรดสัตว์จะทำอย่างไร เทวดามาถวายบาตร ๔ ใบนะ เล็งญาณว่าตถาคต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละองค์ ท่านทำอย่างใด ท่านบอกว่าให้มีบาตรแล้วออกบิณฑบาต นี่อธิษฐานบาตร ๔ ใบให้เหลือใบเดียว ออกบิณฑบาตเป็นวัตร บิณฑบาต นี่ภิกขาจาร

สิ่งที่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำ มันเป็นจารีตประเพณี ถ้าเป็นจารีตประเพณี ทำสวดต่อๆ กันมานะ แต่ตั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเล็งญาณว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่แล้วมาท่านทำอย่างใด จะทำให้เหมือนกัน เห็นไหม อธิษฐานบาตรให้เป็นใบเดียว ถึงว่าประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกบิณฑบาตเป็นวัตร ทำต่างๆ วันเป็นวัตร นี่วางธรรมและวินัยไว้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่สิ้นกิเลส ถึงจารีตประเพณี เป็นผู้ใช้จารีตประเพณีเพื่อประโยชน์กับศาสนา แต่พวกเรา เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เพราะเรามีกิเลส เราไม่เข้าใจสิ่งใดเลย เราก็ว่าเราพยายามทำตามประเพณี ถ้าเราทำตามประเพณี “จารีต” เห็นไหม “ธรรมะจารีต” เราทำตามจารีต ทำตามจารีต “ทำตาม” นี่จารีตประเพณีใช้เรา

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ใช้จารีตประเพณีเพื่อดัดแปลง เพื่อแก้ไขให้คนทุกคนมีคุณธรรมในหัวใจ การใช้จารีต จารีตเพื่อทะลุเข้าไปถึงสัจจะความจริง แต่ของเรา เราถือตามประเพณีกัน แล้วประเพณีใช้เรา เราทำเพื่อประเพณี ทำเพื่อว่าจะปฏิบัติให้สิ้นสุดแห่งทุกข์ แล้วมันเป็นไปจริงไหมล่ะ มันเป็นไปไม่จริงเพราะว่ามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันแตกต่างกันไง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ พระเจ้าสุทโธทนะให้คนไปนิมนต์ นิมนต์ให้ไปโปรดพ่อ เวลาไปนะ ไปถึงแล้วไปเทศนาว่าการ...ด้วยความเข้าใจของโลกนะ พระเจ้าสุทโธทนะก็ว่าลูกชาย เช้าขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบิณฑบาต เวลาออกบิณฑบาต พระเจ้าสุทโธทนะเป็นกษัตริย์ เพราะว่า พูดถึงศาสนาพุทธยังไม่เผยแผ่ไปกว้างไกล ก็คิดตามประสาโลกว่าโลกเป็นใหญ่ โลกเป็นใหญ่กับธรรมเป็นใหญ่ ถ้าโลกเป็นใหญ่ เป็นถึงกษัตริย์ แล้วลูกกษัตริย์ ลูกชายของกษัตริย์ เจ้าชายกำลังจะเป็นกษัตริย์

นี่ออกบวชก่อน ออกไปค้นคว้าอยู่จน ๖ ปี จนได้สำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนเทศนาว่าการ จนเขาร่ำลือว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เทศนาว่าการเผยแผ่ธรรมอยู่ ส่งคนไปนิมนต์ ส่งคนไปนิมนต์บ่อยครั้งมาก จนถึงที่สุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาโปรดพ่อ เช้าขึ้นมาก็เข้าใจว่าโลกเป็นใหญ่ ก็ว่าพ่อกับลูก พ่อต้องมีศักยภาพมากกว่า

เช้าขึ้นมาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบิณฑบาต...ด้วยความคิดของโลกนะ ไปยืนขวางทางนะ เสียใจมาก เสียใจว่าทำไมลูกต้องมาทำให้พ่อขายหน้าขนาดนี้ ทำไมต้องมาขอเขากิน นี่มาถึงบ้าน มาถึงราชวัง อาหารทุกอย่างในราชวังมีเหลือเฟือ ทำไมต้องมาขอเขากิน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “นี้เป็นจารีตประเพณีของพระพุทธเจ้า”

เพราะพ่อไม่นิมนต์ พ่อไม่นิมนต์ให้ฉัน เพราะไม่บอก จะไปฉันได้อย่างไร พ่อไม่นิมนต์ แต่ถ้านิมนต์ก็นิมนต์ไปฉันก็จะฉัน แต่นี่ไม่นิมนต์ให้ฉันก็ต้องออกบิณฑบาต

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ใช้จารีตประเพณีเพื่อดัดแปลงหัวใจของสัตว์โลก

เราเป็นสัตตะผู้ข้อง เราโดนจารีตประเพณีใช้เรา

เวลาประพฤติปฏิบัติกันสักแต่ว่าทำ ทำให้มันเป็นประเพณี เวลาเขาทำกัน ทำทุกอย่างให้ตามประเพณี แล้วตามประเพณีแล้วมันได้อะไรขึ้นมาล่ะ แต่ถ้าเป็นวัฒนธรรมประเพณีวัฒนธรรมที่สังคมโลกนะ ประเพณีวัฒนธรรมหมายถึงว่าสิ่งที่เป็นจารีตประเพณี เห็นไหม ดูจารีตของคนโบราณนะ เขาทำอย่างไรมา เขาทำตามๆ กันมา แล้วถ้าใครทำผิดจากจารีตประเพณีนั้นไป สังคมจะติเตียน แล้วจะอยู่สังคมนั้นไม่ได้

เวลากฎหมายนะ ถ้าเราผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่เขาจับเราไปไต่สวนแล้วผิดแล้วให้ลงโทษตามกฎหมายนั้น นี่พูดถึงกฎหมายนะ แต่จารีตประเพณีไม่ต้องมีใครจับ ในเมื่อสังคมเขาทำกันอยู่แบบนั้น แล้วเราไปทำแตกต่างกับเขามันจะอยู่กับเขาไม่ได้ นั้นถึงทำตามจารีต จารีตน่ะมีอำนาจบังคับ จารีตมีอำนาจให้สังคมนั้นร่มเย็นเป็นสุข นี้เป็นเรื่องโลกนะ

“โลกเป็นใหญ่” กับ “ธรรมเป็นใหญ่”

ถ้าโลกเป็นใหญ่นะ ทำตามจารีตประเพณี ฉะนั้น เวลาเราเกิดมา เราอยู่ในสังคมชาวพุทธ เราอยู่ในสังคม เราเห็นสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข เราพอใจไหม เราเห็นสังคมที่ดีงาม สังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข เป็นเรื่องของโลกไง เราเกิดมากับโลก เราเกิดมาก็เป็นโลก เราเกิดมามีพ่อมีแม่ เราเกิดมามีครอบครัว มีตระกูล เราเกิดมาอยู่ในสังคม

ถ้าสังคมร่มเย็นเป็นสุข สมณะชีพราหมณ์ก็ได้ภาวนานะ สมณะชีพราหมณ์ นี่สังคมร่มเย็นเป็นสุข สังคมเป็นสัมมาทิฏฐิ สังคมดี สมณะชีพราหมณ์อยู่สุขสบาย สมณะชีพราหมณ์มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าสังคมนี้มีแต่ความขัดแย้ง สังคมมีต่างๆ เห็นไหม สังคมก็ไม่มีความร่มเย็นเป็นสุข สมณะชีพราหมณ์ก็อยู่ด้วยมีนิวรณธรรมในหัวใจ

ฉะนั้น สิ่งที่ดีงามมันดีงามของโลก โลกเป็นแบบนี้ เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะปฏิบัติเพื่อใคร ถ้าเราปฏิบัติเพื่อเราใช่ไหม เราปฏิบัติธรรมตามจารีต “ธรรมะจารีต” ตามจารีตประเพณี เห็นเขาภาวนาก็ภาวนากับเขา แล้วภาวนาขึ้นมาแล้วนะ เวลาภาวนาขึ้นมาก็ว่าต้องใช้ปัญญา ด้วยความ...

ถ้าว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้จารีตประเพณีเพื่อดัดแปลงสัตว์โลกนะ แล้วเราไปศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่จารีตประเพณีใช้เรา ใช้เรานะ เราด้วยความไม่เข้าใจเลยใช้เรา เราก็คิดว่าเวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “การชนะกิเลส การจะฆ่ากิเลสต้องฆ่าด้วยปัญญา” เราก็ว่าเรามีปัญญากัน เราประพฤติปฏิบัติกันด้วยสติปัญญาของเรา สติปัญญาของเรานี่จารีตประเพณีใช้เรา ปฏิบัติไปแล้วดีไหม?...ดี

สังคมแม้แต่เขามีประเพณีวัฒนธรรมยังเป็นสิ่งที่ดีงามเลย แล้วเราปฏิบัติจะดีไหม?...ก็ดี

“ปฏิบัติแล้วเป็นคนดี ปฏิบัติแล้วสะดวกสบาย เมื่อก่อนเป็นคนที่โกรธมาก เมื่อก่อนเป็นคนที่เจ้าอารมณ์มาก เมื่อก่อนมีความทุกข์มาก เดี๋ยวนี้ไม่มีเลย”

จริงหรือ? จริงหรือ?

ดูสิ ดูตอนนี้นะ เวลาน้ำท่วมขึ้นมา โดยการป้องกัน โดยการสิ่งที่กรมชลประทานต่างๆ เขาป้องกันของเขา เขาก็ต้องสร้างเขื่อนกั้นของเขา บังคับให้น้ำไปทางไหนก็แล้วแต่ แล้วเขาก็บอกว่า “เอาอยู่ รับประกันได้ เราทำได้ดีมาก รับประกันได้ สบายใจได้ ทางหน่วยงานนี้เอาอยู่ทั้งนั้นน่ะ” แล้วถึงเวลาแล้วมันอยู่ไหมล่ะ เวลาถึงเวลาแล้ว เวลามันพังขึ้นมา มันพังขึ้นมามันท่วมไปทั้งหมด สิ่งนั้นจะไปเรียกร้องเอาความเสียหายจากใคร แต่ความจริงเรียกร้องเอาเสียหายได้นะ แต่นี่เขาสังคมชาวพุทธใช่ไหม เราเสียสละต่อกัน เราอะลุ่มอล่วยต่อกัน ก็สังคมที่ดีงาม

แต่ความจริงนะ เวลาเราประพฤติปฏิบัติไป เห็นไหม “เมื่อก่อนเป็นคนโกรธมาก เดี๋ยวนี้ไม่โกรธเลย” มันก็เหมือนว่าเราสร้างเขื่อนกั้นไว้ เราบอกว่า “เราป้องกันแล้ว เป็นคนดีๆ” เวลากิเลสมันเกิดขึ้นมา เวลาตัณหาความทะยานอยากมันเกิดขึ้นมันล้นฝั่ง มันอะไรจะไปป้องกันมันได้ ถ้ามันไม่มีการประพฤติปฏิบัติ

นี่ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วสิ้นกิเลสแล้ว ถึงใช้ประเพณีวัฒนธรรมนั้น จารีตนั้นเพื่อเป็นการดัดแปลงหัวใจสัตว์โลก แต่พวกเรา หัวใจนี่มันกิเลสทั้งนั้น กิเลสมันท่วมท้นตาย จะท่วมหัวใจตายอยู่แล้ว แล้วก็บอกว่าป้องกันได้ ทำได้ ทำได้ นี่เวลาปฏิบัติก็ปฏิบัติ “โอ๋ย! มีความว่าง มีความสุข มีความพอใจ”...กิเลสมันจะท่วมตายยังไม่รู้จักกิเลสมันจะท่วมตาย

นี่ไง จารีตประเพณี เราทำตามประเพณี มันจะเป็นความจริงไหมล่ะ แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ เห็นไหม เป็นความจริง เวลากิเลสมันล้นฝั่งมา กิเลสมันรุนแรงมา เราทำอย่างใด นี่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าปฏิบัติอย่างนี้มันปฏิบัติตามข้อเท็จจริง เราเป็นกรรมฐาน คำว่า “พวกเราเป็นลูกศิษย์พระป่ากรรมฐาน” เขาปฏิบัติกันมาตามความเป็นจริง เขาไม่เชื่อใครหรอก นี่กาลามสูตรยังไม่ให้เชื่อใครเลย แล้วนี่เขามาประกันนะว่าเขาป้องกันไว้แล้ว เขาทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว นี่รับประกันได้ วางใจได้ ทุกอย่างวางใจได้

เวลามันแตกมา เวลามันท่วมท้นมา...วางใจอะไรได้ล่ะ วางใจอะไรได้ แล้วทำอะไรได้ล่ะ ก็มองตากันเฉยๆ น่ะ นี่เวลามันเสียหายไปแล้วก็มีแต่ความเสียใจกัน นี้เหมือนกัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราเป็นชาวพุทธ “ธรรมะจารีต” ทำให้มันครบสูตร เวลาตายไปน่ะ แล้วเวลาไปตายไปจะรู้เลยว่ามันมีอะไรติดหัวใจไปบ้าง เวลาตายไป สิ่งว่าว่างๆ สิ่งที่มันมีความสุข มันจะมีอะไรติดหัวใจนี้ไปเพื่อเป็นสมบัติของใจดวงนี้

ถ้าไม่มีอะไรติดไป...นี่ไง ชีวิตตายเปล่าไง การปฏิบัติมันตายเปล่า ตายเพราะอะไร เพราะทำตามจารีตประเพณี ไม่ใช่ทำตามเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริง เวลาครูบาอาจารย์ของเราบอกว่า ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันจะสงบได้นะ มันจะรู้รอบตัวมัน ถ้าเราจะทำสิ่งใดมันต้องมีเรา มีตัวจิตเป็นผู้กระทำ ถ้าไม่มีตัวจิตเป็นผู้กระทำ เราจะไม่รู้สิ่งใดเลย

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ปฏิสนธิจิต” ปฏิสนธิจิตมันเกิดมาจากไหน นี่ถ้าเราไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เลย เราจะไม่รู้เวลาเราเกิด เราเกิดมาจากไหน ทุกคนสงสัยมากว่าเวลาเกิดนี่เกิดมาจากไหน เรามานั่งอยู่นี่มานั่งอยู่ทำไม แล้วเวลาตายแล้ว ตายแล้วจะไปไหน เกิดก็ไม่รู้จักที่มาของตัวเอง เวลาตายไปแล้ว ตัวเองก็ไม่มีที่มา นี่ไง อวิชชาทั้งนั้น กิเลสมันท่วมท้น มันเหยียบทับดวงใจของเราทั้งนั้น

แล้วปฏิบัติไป ไม่ต้องไปศึกษาเรื่องนี้เลย “ศึกษา มีปัญญา รู้เท่าทัน รู้ต่างๆ มีแต่ความว่าง มีความพอใจ นี่ใช้ปัญญาไปหมด” แล้วบอกว่าปฏิบัติต้องไม่มีความอยากด้วยนะ ถ้ามีความอยากแล้วนั่นปฏิบัติไม่ได้ นี่มันทำตามจารีต

แล้วเวลาทำตามจารีตแล้วนะ เวลายังบอกด้วยว่า “ถ้าเวลาทำอย่างกรรมฐานไม่มีการศึกษา ไม่มีการทดสอบ แล้วมันจะปฏิบัติได้อย่างใด อย่างเขา เขามีทางคือศึกษา มีการศึกษา มีการศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...” มันก็เหมือนไอ้กั้นเขื่อนนั้นไง เวลาน้ำมามันก็ต้องกั้นเขื่อน ทำกำแพงไว้ กั้นเขื่อนไว้เพื่อจะบังคับน้ำให้มันไหลไปตามทางน้ำ แล้วมันจะไม่ล้นเข้ามา

นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ บอกไว้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นกิเลสแล้ว แล้วเอาจารีตประเพณี จารีตมาฝึกฝนเรา เราต้องฝึกฝน เราต้องมีทักษะของเรา เราจะป้องกันของเรา เราจะทำความเข้มแข็ง กั้นเขื่อนนั้น กั้นน้ำนั้นไม่ให้ท่วมท้นหัวใจเราได้อย่างไร ถ้าเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา สติมันจะยับยั้งอย่างไร ถ้ามายับยั้ง มันจะบังคับน้ำไม่ให้ล้นฝั่งมาได้อย่างไร มันทำของมันใช่ไหม แต่นี่บอกว่าถ้าทำแล้ว พอศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพุทธพจน์ แล้วห้ามก้าวล่วง ต้องทำอย่างนั้น

เวลาน้ำ โดยธรรมชาติของมัน มันไหลลงสู่ที่ต่ำ แล้วน้ำ ถ้ามันมีจำนวนมากขึ้นมา สิ่งใดจะไปขวางมันได้ การขวางนะ นี่เราถึงการประพฤติปฏิบัติเหมือนกัน ถ้าใครมีสติมีปัญญา ความคิดที่มันรุนแรงในหัวใจ กับความคิดที่มันไม่รุนแรงในหัวใจ มันแตกต่างกันอย่างใด นี่ตามข้อเท็จจริง ถ้าเราปฏิบัติ เราทำความสงบของใจ ถ้าเรามีสติปัญญา แล้วจิตใจเรามันไม่มีสิ่งใดกระทบรุนแรง เราตั้งสตินะ แล้วบริกรรมนะ ไม่ต้องรุนแรงนัก นี่พอนุ่มนวล จิตใจมันก็ลงได้ แต่ถ้าวันไหนจิตใจเราโดนกระทบสิ่งใดที่มันรุนแรง จิตใจมันกระเทือนในหัวใจนะ ถ้าใจมันคิดแต่เรื่องที่บาดหมาง เรื่องที่ฝังลึกในหัวใจที่มันเจ็บแสบปวดร้อน วันนั้นน่ะอารมณ์ขุ่นมัวมาก

นี่ไง จำนวนน้ำมันได้สะสม จำนวนน้ำมันมีมากขึ้น มวลน้ำมีมาก ความมีสะสมมาก กำลังของมัน แรงดันของมันต้องมีมาก สิ่งใดจะขวางมันไม่ได้เลย ถ้าสิ่งใดขวางนะ...แหลก แหลกหมด ถ้าจิตใจของเรา ถ้ามันมีอารมณ์ที่ขุ่นมัว ที่มันกระทบรุนแรง เราก็ต้องมีคำพุทโธที่ชัดเจน เราจะต้องมีสติปัญญา เราต้องใช้สิ่งต่างๆ ที่เราจะต้องเอาให้อยู่ให้ได้ ถ้าเราเอาให้อยู่ได้

ตามข้อเท็จจริง มันมีสิ่งที่กระทบรุนแรงและกระทบนุ่มนวล ความเป็นไปของใจ เห็นไหม ฉะนั้น สิ่งที่เราจะตั้งสติต่อสู้ เราก็ต้องมีสติ แล้วทำตามเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน

“แต่ถ้าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องใช้ปัญญาๆ”

แล้วปัญญามันมาจากไหน? แล้วว่าการเคลื่อนไหวของเรา สิ่งนี้ นี่ไง มันทำตามประเพณี แล้วสรุปแล้วมันได้สิ่งใดมา...มันไม่มีข้อเท็จจริงเลย

แต่ถ้าเราทำความจริงของเรานะ เราจะตั้งสติของเรา ถ้าเราใช้คำบริกรรมของเรา ถ้าเราทำตามความเป็นจริงของเรา ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา ต้องให้มันเป็นจริงขึ้นมา ถ้าจิตมันเป็นจริงขึ้นมา มันจะรู้รอบตัวของมันเอง จิตมันจะรู้รอบตัวของมัน มันจะทำประโยชน์เพื่อตัวของมัน ถ้ามันจะทำประโยชน์เพื่อตัวของมัน สิ่งนี้ที่มันจะกระทำ นี่เพราะมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เราจะชำระกิเลส

เราไม่ใช่ฟังมา “สัญญา” ความจำได้หมายรู้ ฟังเขาว่า เขาจะป้องกันให้ เขาจะดูแลให้ เขาจะจัดการให้ ทุกอย่างน่ะ แล้วเราก็ทำตามเขา จบแล้ว...ดีๆ มันสบาย แต่พอเวลาเราทำความจริงจัง เราจะป้องกันของเราเอง เวลาน้ำมารุนแรง เขาจะต้องหาทางป้องกันของเขา...เหนื่อยไหม?...เหนื่อย เราต้องหาอุปกรณ์ของเรามาเพื่อยับยั้ง ทำสิ่งใดเพื่อกั้นไม่ให้น้ำนั้นท่วมท้นเราได้

นี่ไง เวลาทำขึ้นมา สติมันก็ต้องเป็นสติของเรา คำบริกรรม จิตใจที่เราจะให้มันสงบเข้ามาได้ มันต้องมีสติของมัน มันต้องมีกำลังของมัน มันจะทำของมัน ถ้ามันทำขึ้นมาแล้ว เราดูแลของเราได้ เราป้องกันของเราได้ ถ้าเราป้องกันของเราได้ จำนวนน้ำถ้ามันไหลผ่านไปแล้วมันก็จบ มันก็จบ จิตใจ ถ้ามันมีสติมีปัญญาของเรา สิ่งที่กระทบรุนแรงในหัวใจที่มันให้ผลกับเรา มันผ่านไปแล้วมันก็จบ

“สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา”

“สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา” ความรู้สึกนึกคิด ความต่างๆ ในหัวใจเรามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความเป็นอยู่ของเราก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างเรา เราเกิดมาตั้งแต่เป็นทารก เราก็เกิดมามีอายุขัย แล้วเราก็จะต้องแก่เฒ่าไป แล้วเราต้องตายเป็นธรรมดา แล้วเราทำสิ่งใดเป็นประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับโลกก็คือประโยชน์กับโลก ประโยชน์กับโลกคือการดำรงชีวิตอยู่

“เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ พบพระพุทธศาสนา เราได้ทำคุณงามความดีแล้ว”...ทุกคนจะคิดอย่างนี้ ทุกคนว่า “เราก็เป็นคนดีแล้ว” นี่ไง วุฒิภาวะของจิตมันมีเท่านี้ นี่ว่าทำดีแล้ว ทำดีของเราด้วยเต็มไม้เต็มมือของเราแล้ว ก็เหมือนจารีตประเพณีไง เราเกิดเป็นชาวพุทธ พบพระพุทธศาสนา แล้วเราได้ทำบุญกุศลแล้ว นี่ไง ทำบุญกุศลแล้วเท่านี้หรือ นี่ฆราวาสธรรม พอฆราวาสธรรม พอเราเห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสาร เราก็ต้องมีสติปัญญาของเรามากขึ้น เราถึงได้เสียสละ เราถึงได้เสียสละมาเพื่อบำเพ็ญกุศล บำเพ็ญ ปฏิบัติความเพียรของใจเรา ถ้าปฏิบัติความเพียรของใจเรา

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

ทำทานร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับจิตสงบหนหนึ่ง...ใครมีสมาธิ

ทำทานร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง

ใครมีศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับทำความสงบของใจได้หนหนึ่ง

ใครทำความสงบร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับเกิดปัญญาหนหนึ่ง

“ปัญญา” ปัญญาที่เราใช้ภาวนามยปัญญา กว่าจิตมันจะมีสงบได้ จิตมีกำลังได้ แล้วถ้ามันเกิดปัญญาที่เข้ามาแยกแยะ ชำระกิเลส หนหนึ่งๆ ทำทานร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง แล้วเราคิดดูสิว่าเรามาทำความเพียรกัน มันมีคุณประโยชน์แค่ไหน

เวลาความรู้สึกนึกคิดเราเกิดดับ พยับแดดนะ เกิดนี่เร็วมาก แว็บ! มันให้ผลแล้ว เวลามันผ่านไปแล้ว เรายังตามไม่ทัน ถ้ามันมีปัญญาไล่ความคิดเราทัน สิ่งที่เกิดกับใจเรานี่ สิ่งที่มีคุณค่าที่สุด ความรู้สึกเราไง มีค่ามาก มีค่า แต่สิ่งที่มีค่านี้ เวลามาปฏิสนธิจิตขึ้นมาเป็นมนุษย์แล้ว พลังงานนี้เสวยอารมณ์ เสวยความคิดโดยสัญชาตญาณ โดยสัจธรรม โดยข้อเท็จจริงของการเป็นมนุษย์ที่มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันทำงานของมันอยู่อย่างนี้

แล้วเรามาเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา มันก็เป็นอย่างนี้ แล้วมันก็มีประเพณีวัฒนธรรมว่าในการทำบุญกุศลได้ทำคุณงามความดีแล้ว ได้ทุกอย่างเป็นคนดีแล้ว ทำได้จบกระบวนการแล้ว แล้วจะเอาอะไรกันอีก

แต่เพราะถ้าคนจิตใจที่มั่นคง จิตใจที่เห็นคุณค่า จิตใจที่เห็นคุณค่าว่าสิ่งนี้มันเป็นจารีตเป็นประเพณีที่ทำกันมา แล้วสิ่งที่เหนือนั้นล่ะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้จารีตประเพณีเพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์นะ แต่เราให้จารีตประเพณีหลอกใช้เรา “หลอกใช้เรา” หลอกใช้ให้ชีวิตนี้ “ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” หลอกใช้ให้ชีวิตนี้สิ้นอายุขัยไป

แต่เพราะถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เราจะฝืนน่ะ ทวนกระแสแล้ว เราจะฝืนนะ เราจะฝืน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้จารีตประเพณีเพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ แล้วเราเป็นสัตตะผู้ข้อง เราจะทวนกระแส ทำให้มันผ่าน ทะลุผ่านประเพณีวัฒนธรรมนี้เข้าไป ประเพณีวัฒนธรรมนี่หล่อหลอมให้เราเป็นชาวพุทธ แต่ในการประพฤติปฏิบัติมันต้องทะลุผ่านเข้าไป ไปสู่ข้อเท็จจริง ถ้าสู่ข้อเท็จจริง นี่ปริยัติ-ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติขึ้นมามันจะมีข้อเท็จจริงของมัน ถ้าข้อเท็จจริงอันนี้เกิดขึ้นมา เรามีสติปัญญาของเรา เราแก้ไขของเรา เราแก้ไขหัวใจของเรา ถ้าแก้ไขหัวใจของเรา เวลามันเป็นจริงขึ้นมานี่

เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจนสิ้นกิเลสนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เหมือนเสา ๘ ศอก ฝังดินลงไป ๔ ศอก พ้นจากดิน ๔ ศอก จะลมจะหวั่นไหว ลมพัดขนาดไหน ฝนตกรุนแรงขนาดไหน เสานั้นจะไม่หวั่นไหวเลย จิตใจของเรานะ ถ้าเวลาประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว นี่มันมีข้อเท็จจริง นี่ไง ถึงบอกว่าเป็นผู้ใช้ประเพณีวัฒนธรรมรื้อสัตว์ขนสัตว์

ถ้าจิตใจมันเข้มแข็ง จิตใจมันรู้จริงตามความเป็นจริง มันจะหวั่นไหวไปกับสิ่งใด

แต่ในปัจจุบันของเราปฏิบัติ ถ้าเราไม่รู้สิ่งใดเลย แล้วเราไปศึกษาประเพณีวัฒนธรรม เราศึกษาแล้วเราหวั่นไหวไหม?...หวั่นไหวไปหมด เราจะไม่รู้ข้อเท็จจริงสิ่งใดเลย คำว่า “สมาธิๆ” สมาธิมันก็เป็นแต่ชื่อ เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีแต่ชื่อ นี่เหมือนกัน ประเพณีวัฒนธรรม วันออกพรรษา วันสารท วันตรุษ ถึงเวลาเราก็ทำ ถึงเวลาเราก็ทำ “ถึงเวลา” รอเวลา รอเวลา

แต่เวลาคนจะเป็นจะตายนี่มันมีเวลาไหม

เวลาเกิดมันมีตกฟากวันไหน

เวลาตายนี่ใครกำหนดเวลาตายได้ แล้วถ้ามันตายไปแล้วเราจะได้สิ่งใดมา

แต่ถ้าเราจะต่อสู้กับการเกิดและการตาย ทุกวินาทีที่เรามีสติอยู่นี่เรากำหนดเราได้ เราจะเคลื่อนไหว เราจะทำสิ่งใดนะ เรามีสติปัญญาใช่ไหม ลมหายใจเรามีตลอดเวลา ถ้ามีสตินะ ลม เวลาพายุมานะ เวลาพายุ เวลาลมรุนแรงมา มันทำลายบ้านเรือนไปหมดน่ะ แต่ถ้าเวลาเราร้อน อากาศร้อน มีลมพัดมาเราก็พอใจ มันร่มเย็น

ลมมันก็คือลม มันไม่มีจิตไปจับต้อง ลมมันก็คือลม

แต่ขณะที่ลมหายใจของเรา เรามีจิตของเรา เพราะลมที่เราหายใจเข้าและหายใจออกมันออกซิเจนเข้าไปฟอกโลหิตของเรา เข้าไปเลี้ยงสมองของเรา มันเข้าไปให้ร่างกายให้ชีวิตเราอยู่ได้ ฉะนั้น ลมเข้ากับลมออกมันให้ชีวิตเรา ลมเข้ากับลมออกมันมีประโยชน์กับเรา แล้วลมเข้า-ลมออก นี่เจ้าของจิต ถ้าเรารู้กำหนดลมเข้าและลมออก มันก็เป็นอานาปานสติ นี่มันมีสติปัญญาขึ้นมา ลมเข้าและลมออก หายใจอยู่นี่เป็นทางโลกเพื่อการดำรงชีวิต เพื่อมีชีวิตอยู่

แต่ถ้าเรามีสติปัญญา สิ่งที่มีชีวิตอยู่...เราเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา เราได้มีโอกาสทำคุณงามความดี แล้วคุณงามความดีที่เราได้ทำอยู่นี่ เห็นไหม วันนี้วันออกพรรษา เราทำมาทุกอย่าง เสียสละ เราทำทานเราก็ทำแล้ว เวลาเรามาจำศีล มาภาวนา เราก็ได้ทำแล้ว ถ้าได้ทำแล้ว เราจะตั้งสติเพื่อสิ่งใด ถ้าทำคุณงามความดีเพื่อเข้าไปสู่ข้อเท็จจริง สู่ความรอบรู้ในใจของตัว

ถ้ามันเข้าไปสู่ความรอบรู้ในใจของตัว นี่เราตั้งสติของเรา เราทุกคนที่ภาวนามานะ ใจเคยเป็นสมาธิ ใจเคยมีหลักมีเกณฑ์แล้วมันเสื่อมไป แล้วเรารักษาไว้ได้ยาก เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติธรรมดาของจิต จิตมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ การเจ็บไข้ได้ป่วย เวทนาเดี๋ยวก็มากับเรา เดี๋ยวเรามีสติปัญญา เวทนาก็หายไป นี่มันเป็นเรื่องปกติเรื่องธรรมดา

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ จิตใจเคยมีหลักมีเกณฑ์ แล้วพอมันเสื่อม พอมันรักษาไม่ได้ ทุกข์ น้อยใจ เห็นไหม นี่มันเป็นเรื่องจารีตประเพณีเป็นผู้ใช้เรา แล้วเวลาเราทำสิ่งใดแล้ว กิเลสมันยังใช้ซ้ำใช้ซ้อน เราเสียรู้กิเลสของเราซ้ำซ้อนไป มันท่วมท้นหัวใจของเรา ถ้าเราเคยทำความสงบของใจได้ แล้วเรารักษาไว้ไม่ได้ อันนี้มันก็เป็นวาสนา มันเป็นความชำนาญ ชำนาญในวสี ชำนาญในการรักษา ในเมื่อเรายังรักษาไม่ชำนาญ

ในเมื่อจิตมันไม่รอบรู้ตัวของมัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติ ดูสิ ดูว่าปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ปัญญาจะรอบรู้ในตัวของมัน ถ้าปัญญารอบรู้ในตัวของมัน มันจะเป็นประโยชน์ขึ้นมา เราจะทำสิ่งใดก็ได้ เราจะทำสิ่งใดเพื่อประโยชน์กับเรานะ

ในเมื่อสังคมโลก โลกความเป็นอยู่ในสังคม ทำสิ่งใดมันจะต้องอยู่กับสังคม จารีตประเพณีกับสังคมต้องไปด้วยกัน เวลาประพฤติปฏิบัตินะ เราปฏิบัติของเรา เราก็อยู่ในจารีตประเพณีนี่แหละ เวลาพระ พระก็มีศีลมีธรรมอยู่ร่วมกัน แต่เวลาปฏิบัติมันเป็นเรื่องเอกเทศ เวลาปฏิบัติเป็นเรื่องเอกเทศในหัวใจ เพราะหัวใจ ความรู้สึกนึกคิดเป็นของเรา อารมณ์ความรู้สึกในใจของเรา ใครจะรู้กับเราได้ ฉะนั้น สิ่งที่จารีตประเพณีมันเป็นส่วนของสังคม

แต่เวลาเราปฏิบัติมันเป็นส่วนของธรรม ส่วนของธรรมคือส่วนที่ในหัวใจของเรา ถ้าเรามีสติ มีปัญญา เรารักษาของเรา ถ้ามันสงบของมัน มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน เราออกฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าออกหัดฝึกใช้ปัญญา “ทาน ศีล ภาวนา” สิ่งที่ว่าสิ่งที่มันมีภาวนามยปัญญา ถ้ามีภาวนามยปัญญานะ มันจะทำให้เราตื่นตัว ทำให้เราตื่นตัวนะ แล้วภาวนามยปัญญาเกิดมาจากไหนล่ะ ภาวนามยปัญญาเกิดจากการกระทำ เกิดจากการฝึกหัด นี่มันไม่มีสิ่งใดที่มันจะเป็นสูตรสำเร็จ แล้วที่มีมาแล้ว

สิ่งที่เป็นสูตรสำเร็จที่ทำกันด้วยการก๊อปปี้มา การก๊อปปี้สิ่งต่างๆ มา ที่ว่าเวลาธรรมะจารีต เขาบอกว่า “เขาต้องใช้ปัญญา แล้วปัญญาเขานี่ต้องก๊อปปี้มาเลยจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” นี่เป็นเรื่องโลกๆ หมด เป็นเรื่องของจารีตประเพณีหมด

แต่ถ้าเวลาเราทำความสงบของใจเข้ามา แล้วถ้าใจมันสงบนะ พอมันออกหัดออกฝึกหัดใช้ปัญญา การออกฝึกหัดใช้ปัญญามันเกิดจากการฝึกหัด เกิดจากความเป็นจริง ถ้ามันเกิดจากการฝึกหัด เกิดจากความเป็นจริง มันจะเป็นสมบัติของใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นเป็นคนที่ฝึกหัดทำได้ขึ้นมา นี่มันเป็นความจริงขึ้นมามันจะมีความพอใจไหม ถ้ามีความพอใจ มันตื่นเต้นไหม

แต่ถ้ามันไปก๊อปปี้มา ก๊อปปี้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย “ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น”...เวลาน้ำนะ เวลาน้ำจำนวนไม่มาก แล้วไหลไปตามแม่น้ำลำคลอง มันจะไม่กระทบกระเทือนใคร แต่ถ้าน้ำมันหลากจนท่วมท้นไปหมด มันจะกระทบกระเทือนคนไปหมด นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเราก๊อปปี้มา เราควบคุมได้ เราควบคุมได้ เวลามันหลากมา มันเอาไว้ไม่อยู่หรอก เวลาเอาไม่อยู่นะ

เพราะเวลาปฏิบัติขึ้นไป สิ่งที่ปฏิบัติ...เวลาเราจะจับลูกเสือ มันอยู่กับแม่มัน แล้วลูกเสือเราเอามาใช้ประโยชน์ เราจะทำสิ่งใด เวลาเราจะคุ้ยหากิเลสของเรา กิเลสที่มันอยู่ในใจของเรา เราไม่เคยจับลูกเสือ เราไม่เคยหาแม่เสือ นี่สักกายทิฏฐิ อุปาทาน กามราคะ อวิชชา...มันมีแต่เสือตัวใหญ่ๆ คอยตะปบหัวใจอยู่

แต่เราก็บอกว่าเราก๊อปปี้มาน่ะ “เสือ” เราก็คิดเหมือนกับเสือกระดาษ เสือกระดาษเราเห็นได้หมด เวลาวิจัยได้หมด เสือมันมีนิสัยอย่างใด เสือมันเป็นนักล่า ใครจะเป็นเหยื่อมันบ้าง อาหารของเสือจะเป็นอย่างไร...รู้ไปหมดน่ะ แต่เวลาเราไปเจอเสือจริงๆ เสือที่มีชีวิตมันจะตะปบหัวเรากินน่ะ สิ่งนั้นเผชิญหน้ากับมัน มันแตกต่างกันอย่างใด

นี่เหมือนกัน เวลาสิ่งที่เราศึกษาธรรมะมา ศึกษามาตามการวิจัยอย่างนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นธรรมะจารีตไป ถ้าเป็นธรรมะจารีตไป ถ้าเราศึกษาเรื่องเสือ เราเข้าใจไหม พวกนี้คุยเก่งมากนะ คนที่ทำวิจัยเรื่องเสือจะพูดเรื่องเสือเก่งมากเลย แต่เราเป็นนายพราน เราเข้าป่า เราเข้าไปอยู่กับเสือ แล้วเสือนี่มันต้องกินอาหารมัน แล้วเราเข้าไปเพื่อจะบอกว่าให้เสือ จะไปจำกัดเสือให้เสือไม่กินเนื้อสัตว์ เราจะทำอย่างไร

กิเลสก็เหมือนกัน เวลากิเลสของเรานี่นะ เวลามันกัดกินเรา เราไม่รู้ตัวเลย กัดกินจนหมดแล้วนะ อื้ม! ชุ่มชื่น มีความสุข...สิ่งนั้นมันเป็นไปได้เพราะว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ไง เวลาถ้าอายุขัยจบสิ้นนะ จิตออกจากร่างไป ดี-ชั่วจะชัดเจนมาก แต่ตอนนี้นะ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เขาบอกไม่เห็นเป็นความจริงเลย นี่คนทำชั่วมหาศาล ทำไมเขายังอยู่สุขสบาย

สถานะของมนุษย์ เราทำคุณงามความดีมา เราถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ พอเกิดเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา สถานะของการเกิดตั้งแต่ปฏิสนธิจิตนั่นน่ะ ปฏิสนธิจิต เพราะมันเกิดมาตามกรรมดีกรรมชั่ว เวลาเกิดมาแล้ว สถานะมันจะรองรับไว้

ชีวิตนี้ทั้งชีวิตมันจะเป็นทุกข์ ไฟเผาไหม้จิตใจทุกข์ตรมขนาดไหน ก็ชีวิตหนึ่ง

มันจะมีความสุข สร้างบุญกุศลมา จิตใจปลอดโปร่ง จิตใจคิดแต่คุณงามความดี ก็ชีวิตหนึ่ง

แต่เวลาสิ้นชีวิตปั๊บ จิตนี้ต้องไปตามกรรม อันนั้นมันจะพิสูจน์สิ่งที่ว่าเราได้ชำระกิเลส-ไม่ชำระกิเลส แล้วทำคุณงามความดี-ความชั่ว เราจะเห็นตอนนั้นน่ะ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริง เพราะเราคิดโดยกิเลสไง เราคิดโดยความน้อยเนื้อต่ำใจ เราทำคุณงามความดีขนาดนี้ ทำไมเราไม่ประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่น...กรรมนะ กรรมเก่า-กรรมใหม่

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาประพฤติปฏิบัติอยู่ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติไปมหาศาลเลย ทำมามหาศาล ทำมาขนาดไหนมันถึงส่งต่อๆ มาเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างแต่คุณงามความดีมา คุณงามความดีมาตลอด แล้วคุณงามความดีน่ะสร้างจนจิตใจเข้มแข็ง เวลาออกไปประพฤติปฏิบัติ ออกประพฤติปฏิบัติไปหาเจ้าลัทธิต่างๆ

“ไม่เชื่อๆๆ”

แม้แต่อาฬารดาบสเลย รับประกันเลยบอก “เป็นศาสดาเหมือนเรา”

“ไม่เชื่อ” เพราะอะไร เพราะจิตใจเข้มแข็ง จิตใจมีหลักการ

ฉะนั้น เวลาพวกเรา เวลาปฏิบัติ เราก็มีความสนใจในศาสนา เรามาประพฤติปฏิบัติกันเพราะเราเชื่อมั่นของเรา แต่เวลากิเลสมันกระดิกตัวขึ้นมาเราก็น้อยใจ นี่ทำดีขนาดนี้มันไม่เห็นได้ดี เวลานั่งประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเขาก็นั่ง เราก็นั่ง ทำเหมือนกัน นี่ไง ก๊อปปี้ นี่ประเพณี เห็นเขานั่งก็นั่ง เห็นเขาเดินก็เดิน เขานั่ง แล้วมันสมดุลไหม

บางคนนะ ถนัดนั่ง นั่งแล้วจิตใจดี จิตใจสงบดี พอไปเดินแล้วฟุ้งซ่าน บางคนนะ นั่งแล้วไม่ดี มันหงุดหงิด แต่ถ้าเดินนะ เดินได้ทั้งวันเลย นี่การนั่งและการเดิน อยู่ที่จริตของเขา แล้วเรา “เรา” เราจะกินอาหาร มันก็ต้องอาหารที่เราพอใจสิ เห็นเขากินดีอยู่ดีก็จะไปอยู่ดีเหมือนเขา นี่ไง น้ำท่วมอยู่นี่ เห็นเขาอยู่บ้านสวยงามก็อยากอยู่กับเขา โบราณเราอยู่กันอย่างไรไม่คิด ของมันใกล้เกลือกินด่าง โบราณของเรามันของไม่ดีทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเป็นของยุคใหม่ดีไปทั้งนั้นน่ะ แล้วก็จะไปซ่อมอยู่อย่างนั้นน่ะ เพราะว่าเราไม่รู้ว่าเราควรทำอย่างใด ฉะนั้น เวลาเห็นเขานั่ง-เขาเดิน เขานั่ง-เขาเดิน แล้วเราก็นั่ง-เดินเหมือนเขา เราก็ทำเหมือนเขาเลย ทำมากกว่าด้วย แต่ทำไมมันไม่ได้ผล มันไม่ได้ผล

จิตใจ สิ่งที่กระทำนี่เป็นจารีตประเพณีของการปฏิบัติ เวลาหลวงปู่มั่นนะ เวลาพระ ท่านสอนพระนะ “ให้มีข้อวัตรติดหัวมันไป ให้มีข้อวัตรติดหัวมันไป” นั่นก็คือจารีตไง ข้อวัตรปฏิบัติ ข้อวัตรกรรมฐาน มีข้อวัตรเพื่อจะเป็นเครื่องอยู่ของใจ ถ้าใจมีเครื่องอยู่แล้ว จารีตนั้นเพื่อเราจะฝึกหัด พอฝึกหัดขึ้นมา จากจารีต เราไม่ให้จารีตใช้เรา เราจะใช้เขา นี่จิตใจที่มันดิ้นรน จิตใจที่มันไม่มีเครื่องอยู่ มันก็อาศัยข้อวัตรนี่อยู่ อาศัยที่นี่เป็นเครื่องอยู่ ถ้ามีเครื่องนี้อยู่แล้ว สิ่งนี้มันจะดิ้นรน

เวลาทุกข์นะ เวลาเราเกิดบาดแผล เราต้องรักษาแผลเรา เลือดโชกเลย แต่เวลาเรารักษาบาดแผลเราล่ะ รักษาแผลเราเพื่อให้แผลนั้นหาย “จิตใจ” จิตใจที่มันหงุดหงิด จิตใจที่กิเลสมันท่วมท้น มันไม่ยอมทำสิ่งใดเลย มันจะหงอยเหงาของมัน มันจะคึกคะนองของมัน มันจะดิ้นรนของมัน ก็มันมีบาดแผลรุนแรง บาดแผลรุนแรงก็ต้องรักษามัน รักษามันด้วยสิ่งใด รักษามันด้วยข้อวัตรไง บังคับ บังคับ บังคับให้จิต ถึงเวลาต้องทำข้อวัตรตามนั้น ถ้าทำข้อวัตรตามนั้น มันมีที่เกาะ มันมีที่อาศัย

หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่า “ให้มันมีข้อวัตรติดหัวมันไป” ก็คือจารีต จารีตประเพณี ประเพณี อริยประเพณี แต่เวลามีข้อวัตรขึ้นมาแล้วฝึกหัดใจ ฝึกหัดใจ ถ้าเราจะฝึกหัดใจจนมันจะข้ามพ้นเป็นผู้ใช้จารีต หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราเป็นผู้ใช้จารีตนี้ฝึกหัดลูกศิษย์ลูกหา ถ้าฝึกหัดลูกศิษย์ลูกหา ถ้าจิตใจของเรา ถ้ามันยังไม่เข้มแข็ง จิตใจเรายังพึ่งตัวเองไม่ได้ เราก็ใช้จารีตประเพณีฝึกหัดตัวเรา เราทำเราก็ทำตามความเป็นจริงของเรา จากเขาเดินจงกรม เขานั่งสมาธิ เราก็เดินจงกรมนั่งสมาธิ เรายืนภาวนาก็ได้ เรายืนภาวนา เราพิสูจน์ใจของเรา ถ้าใจของเรามันสงบลง มันมีหลักเกณฑ์ลง นี่เราจะเริ่มเป็นข้อเท็จจริงขึ้นมา

ถ้าข้อเท็จจริงขึ้นมาจากใจเราแล้ว มันมีกำลังนะ “สุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” พอจิตมันสงบขึ้นมามันมีกำลังของมัน “ศีล สมาธิ ปัญญา” พอมีความสงบ เราฝึกหัดปัญญา ปัญญาเราจะฝึกหัด ปัญญาเกิดจากการฝึกหัด โดยความรู้สึกนึกคิด โดยสัญชาตญาณ

เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก๊อปปี้มา น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา “พอจิตมันสงบแล้วนะ เดี๋ยวกิเลสมันก็จะวิ่งเข้ามาให้พิจารณามัน”...เราไปคิดกันอย่างนั้น นี่ไง เวลาน้ำมา ฤดูกาลมา น้ำมันก็ต้องไหลไป เราพ้นฤดูกาลไปแล้ว เดี๋ยวเราก็อยู่สุขสบาย ถ้าถึงฤดูกาลที่ดี มันไม่กระทบกระเทือน มันก็เป็นไป ถ้ามันมีมวลน้ำมาก มันก็กระเทือนเรา

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเดี๋ยวจิตมันดี เดี๋ยวน้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา เดี๋ยวปลามันจะวิ่งมาชนเรา...เป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่มีหรอก ฉะนั้น พอมันไม่มี แล้วทำไมเวลาเขาใช้ปัญญาขึ้นไป เขาพิจารณาของเขา พิจารณาธรรมะแล้วทำไมเขาโล่ง เขาว่างน่ะ นี่ไง นั่นมันก็จารีตไง ทำตามนั้นให้ครบกระบวนการนั้น แล้วมันก็เป็นความพอใจในความดำรงชีวิต ชีวิตของเรา เราก็ยังมีความสุข มีความสบาย มีความพอใจของเรา เราประพฤติปฏิบัติตามจารีตแล้วมันก็เป็นตามที่ความรู้สึกนึกคิด เพราะกิเลสมันหลอกเรา กิเลสมันให้เราทำตามนั้น แล้วมันก็บังเงาไว้ในใจของเรา มันไม่ได้ชำระสะสาง ไม่ได้ทำสิ่งใดเลย เพียงแต่สร้างอำนาจวาสนามาเป็นชาวพุทธ แล้วปฏิบัติให้ครบตามประเพณีเท่านั้น

แต่ถ้าเราเอาตามความเป็นจริงนะ เอาตามความเป็นจริงที่เราปฏิบัติโดยกรรมฐาน โดยครูบาอาจารย์ของเรา ที่หลวงปู่มั่นท่านสั่งสอนมา ท่านให้ทำความจริงของเรา เราทำตามจริงๆ แล้วมันเห็นคุณค่าจริงๆ จิตมันเห็นคุณค่านะ ถ้าเรามีข้อวัตรเข้ามา เราทำของเรา เรามีเครื่องอยู่ เรารู้ของเรา มีเครื่องอยู่

ถ้าจิตมันเริ่มสงบเข้ามา เราจะรู้ว่ามันสงบ เพราะว่ามันมีเครื่องอยู่แล้ว มันทำจนมันมีความชำนาญของมัน มีความชำนาญน่ะมันจะรักษาใจได้ พอรักษาใจได้ มีกำลังขึ้นมา พอมันใช้ปัญญาขึ้นมา มันเป็นอย่างนั้นไหม มันเป็นอย่างที่ว่าจิตสงบแล้วกิเลสมันจะมาชนน่ะ...พอเราทำไปแล้วมันไม่เป็นแบบนั้น พอไม่เป็นแบบนั้นเพราะอะไร ไม่เป็นแบบนั้นเพราะจิตเดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย สงบ พอจิตมันมีกำลังมันสงบได้บ้าง เวลามีสติปัญญา เราก็สบาย

แต่พอมันไม่สงบขึ้นมา หรือว่ามันฟุ้งซ่านขึ้นมา ทำไมมันเดือดร้อน ทำไมมันเดือดร้อน ก็เราก็ใช้ปัญญาอยู่ ปัญญาทำไมไม่เป็นอย่างนั้น นี่มันก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ พอวนเวียนอยู่อย่างนี้มันก็จะเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เดี๋ยวก็เจริญ เดี๋ยวก็เสื่อม แล้วเจริญแล้วเสื่อม แล้วมันมีสิ่งใดล่ะ มันมีสิ่งใด

เพราะอะไร เพราะเราไม่กล้า เราไม่กล้าใช้พลังงานของเรา ไม่กล้าใช้ใจของเราค้นคว้า ถ้าเราใช้ค้นคว้า พอจิตสงบแล้วออกหา ออกตรึก ออกโน้ม รำพึงขึ้นมาให้เห็นกาย ให้เห็นเวทนา ให้เห็นจิต เห็นธรรม พอเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันตื่นเต้น มันตื่นเต้น โอ๊ะ! โอ๊ะ! ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมไม่เหมือนกับตอนที่เรารอให้ปลามันมาชนเราเลย เราไม่รอให้กิเลสมันวิ่งเข้ามาให้เราจำกัดมันเลย...

มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

แต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้อย่างนั้นจริงๆ “พอจิตสงบแล้ว ให้หัดใช้ปัญญา มีปัญญาแล้วจะฆ่ากิเลส” แล้วเราก็ใช้ปัญญาๆ กันโดยจารีต เพราะปัญญาอย่างนี้เป็นโลกียปัญญา ปัญญาที่เราใช้กันอยู่นี่ เพราะปัญญานี่มันเกิดจากสัญชาตญาณ เกิดจากการเป็นมนุษย์ไง มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ พอเรามีความคิดอยู่แล้ว “ความคิด” คนมีการศึกษาและไม่มีการศึกษาก็มีความคิด

แล้วความคิดมันมาจากไหน?...ความคิดมันมาจากจิต

จิตมันคืออะไร?...จิตมันคือปฏิสนธิจิตที่อวิชชาครองมันอยู่

ทีนี้พอความคิดออกมามันก็คิด จะคิดธรรมะของพระพุทธเจ้า มันก็คิดออกมาโดยกิเลส กิเลสของเรานี่แหละ กิเลสของเรา ตัณหาความทะยานอยากของเรา คิดธรรมะพระพุทธเจ้า ตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้า มันก็มีกิเลสมา มันเป็นโลกียะเพราะมันเกิดจากกิเลส เกิดจากภวาสวะ เกิดจากภพ

แต่ถ้าว่าเราประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา เราทำความสงบของใจเข้ามา พอใจมันสงบ มันสงบเพราะอะไร เวลาเราฟุ้งซ่าน เวลาเรามีความทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร มีความทุกข์เพราะกิเลสมันล้นฝั่ง เราควบคุมไม่ได้ เราไม่มีสติปัญญายับยั้งของเรา นี่ไง เราทุกข์เพราะตรงนี้ไง แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา มีคำบริกรรมของเรา...คำบริกรรมอะไร? พุทธานุสติ มรณานุสติ สังฆานุสติ เวลาเราพุทโธๆ หรือเราใช้มรณานุสติ

เวลามรณานุสติ จิตใจมันสลดหดหู่ สลดนะ ว่าเราต้องตาย “ตายๆๆๆๆๆ” มันสลดหดหู่ กิเลสมันสลดหดหู่ใช่ไหม หดหู่มันก็สงบตัวลง พอสงบตัวลง จิตมันก็เด่นชัดขึ้นมา เด่นชัดขึ้นมา พอจิตมันเด่นชัดขึ้นมา นี่ไง พอเด่นชัดขึ้นมา จิตมันมีกำลังของมัน จิตมันมีอิสรภาพของมัน จิตมีอิสรภาพของมัน มันถึงน้อมไป น้อมไป น้อมไปให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เพื่อสิ่งใด?

เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เพราะมันวิปัสสนา มันเกิดการใช้ปัญญา ปัญญาที่เกิดจากจิตที่สงบ จิตสงบขึ้นมา แล้วออกใช้วิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาไป มันกลับมาทำอะไร มันกลับมารื้อถอน กลับมาถอดถอนความผูกพันของใจ นี่มันถอดถอน มันถอดถอนอะไร ถอดถอนอะไร

นี่จิตสงบแล้วจะเห็นตัวปลา กิเลสมันจะวิ่งเข้ามาชน...ไม่มี

แต่พอเราจะถอดถอนขึ้นมา เพราะจิต พอมันน้อมไปมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันสั่นไหวหัวใจ เพราะหัวใจนี่มันโดยจิตใต้สำนึก

เวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “คนเรามันก็เป็นอนิจจัง มันเป็นอนัตตา มันก็มีปัญญา”...นี่มันเป็นจารีตที่เราไปก๊อปปี้มา เราไปเป็นสัญญาอารมณ์ที่จิตใต้สำนึกที่มันศึกษา ศึกษาแล้วมีข้อมูลของเราไว้ ถ้าศึกษาแล้วมีข้อมูลของเราไว้ เวลาจิตเรามีการรำพึง มีการรู้สึกนึกคิดมันก็คิดอย่างนี้ คิดอย่างนี้แล้วก็ “จริง เอ้อ! จริงตามธรรมะพระพุทธเจ้า จริงหมดเลย”...นี่มันสิ่งที่ว่าจารีตครอบงำเรา

แต่เวลาเราใช้ปัญญาของเรา เราปฏิบัติของเรา พอจิตมันสงบ เราน้อมไป พอน้อมไป มันไม่ใช่จารีตนะ ถ้าเป็นจารีต เป็นธรรมะจารีต เป็นต่างๆ มันเป็นการก๊อปปี้ เป็นการทับซ้อน มันไม่เกิดความจริงขึ้นมา มันเห็นได้ มันเป็นไปได้ เพราะโดยสัญชาตญาณ โดยโลกียปัญญา แต่มันเป็นสัญญาอารมณ์

แต่เวลาเราพิจารณา พอจิตสงบแล้ว พอมันรำพึงไป มันเห็นสิ่งใด มันจับต้องได้ คำว่า “จับต้อง” มันมาสะเทือนหัวใจ

สิ่งที่เรารู้ สิ่งที่ความสัญชาตญาณมันเข้าใจ แต่มันไม่เป็นความจริง

แต่พอจิตมันสงบแล้วมันไปรู้ของมันน่ะ มันรู้โดยข้อเท็จจริง มันสะเทือนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต้นทางคือการรู้การเห็น ปลายทาง...เพราะความรู้เห็น เห็นมาจากไหน ก็เห็นมาจากจิต เห็นมาจากปฏิสนธิจิต เพราะจิตมันสงบ จิตมันสงบมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันออกไปจากปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตมันรู้มันเห็นของมันโดยตามความเป็นจริงของมัน

แต่โดยปัจจุบัน โดยสามัญสำนึกที่เรารู้กันอยู่นี่ เห็นไหม จิตอยู่ไหนก็ไม่รู้ แต่มีความคิด จิตอยู่ไหนไม่รู้ เพราะเราไม่เคยสงบของใจ คนไม่เคยทำสมาธิ จิตไม่เคยเป็นสัมมาสมาธิ ไม่รู้ว่าจิตอยู่ที่ไหน แต่มีความคิด พอมีความคิดขึ้นมา ความคิดเราคิดเรื่องอะไร ความคิดคิดเรื่องธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย”...นี่ก็เพ้อเจ้อกันไป เพ้อเจ้อเป็นนกแก้วนกขุนทองไง

แล้วเวลามันพิจารณาเป็นจารีตประเพณีแล้วมันปล่อย มันเข้าใจแล้ว...มีอะไร? นี่มันก็ว่างเปล่าไง มันเป็นสิ่งที่ไม่มีข้อมูลสิ่งใดให้หัวใจนี้ได้ศึกษาเลย

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจ พอใจมันสงบแล้ว ใจเป็นผู้รู้ เป็นผู้เห็น นี่ไง ตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง เพราะใจเป็นผู้รู้ ใจเป็นผู้เห็น ใจเป็นคนวิปัสสนา ใจเป็นคนกระทำ ผล เวลาทำสมาธินะ พอพุทโธๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอมันสงบ ใครเป็นสงบ เรารู้ว่าสงบ เรามีกำลังของเรา เราเข้าใจของเรา นี่มันเลยรู้รอบตัวของจิตนั้น มันมีความรู้รอบขอบชิด มันมีปัญญาของมัน มีการกระทำของมัน พอมันน้อมไปที่กาย น้อมไปที่เวทนา น้อมไปที่จิต น้อมไปที่ธรรม นี่ตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง มันถึงกันหมด มันเขย่า สั่นสะเทือน มันเขย่าหัวใจไปหมด ถ้ามันเขย่าหัวใจไปหมด เห็นไหม มันเขย่าหัวใจโดยข้อเท็จจริง โดยการฝึกหัด โดยการกระทำ โดยการกระทำมันก็เห็นกิเลส มันก็รู้จักกิเลส รู้จักการแยกแยะกิเลส

กิเลสมันคืออะไร?...กิเลสมันคือนามธรรม กิเลสมันมีชื่อว่ากิเลส แต่ตัวมันน่ะ ตัวมันเป็นอย่างไร ตัวมันก็คือสังโยชน์พร้อมเครื่องร้อยรัด เครื่องร้อยรัด เครื่องผูกมัด เครื่องผูกมัดใจ ใจนี่ผูกมัดมันไว้ ไอ้ใจโง่ๆ นี่หลอกมันไว้

นี่ไง “ธรรมะจารีต” ก็ว่า “ได้ทำแล้ว ได้ปฏิบัติแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่โกรธเลย เดี๋ยวนี้ไม่กินเหล้าเมายาเลย เดี๋ยวนี้เป็นคนดี๊ดีเลย”...แล้วได้อะไร ได้อะไรล่ะ? ก็ตายเปล่าไง

แต่ถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริง มันรู้ของมัน มันเห็นของมันนะ มันพิจารณาของมันนะ ธรรมสังเวชนะ มันเศร้าใจนะ เศร้าใจว่าเราเห็นผิด ที่เรารู้เราเห็นนี่ไม่เป็นความจริงเลย เวลาจิตมันสงบแล้วใช้ปัญญาแล้ว ถ้าปัญญามีกำลังขึ้นมา พิจารณาแล้วมันปล่อยนะ...อื้ม! นี่ความจริงเป็นอย่างนี้

สิ่งที่เรารู้เราเห็นมาน่ะไม่จริงเลย ศึกษามาขนาดไหนก็ไม่รู้อย่างนี้ ไม่เคยสะเทือนใจได้มากเท่านี้ ถ้ามันเป็นความจริงมันสะเทือนหัวใจนะ สั่นไหวตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง เป็นอันเดียวกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน

ความที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะว่าเป็น “มรรค” ความดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความระลึกชอบ สมาธิชอบ ความชอบธรรมด้วยการกระทำมันเป็นตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง สะเทือนหัวใจ สะเทือนหัวใจมาก พอสะเทือนหัวใจ นี่มันตทังคปหาน มันก็ปล่อย ความปล่อย เราทำสมาธิมา ทำความสงบของใจมา เราก็มีรสชาติ เราก็มีความสุข เรารู้ตัวเราได้ มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก

แล้วขนาดภาวนามาล้มลุกคลุกคลานนะ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็เจริญ เดี๋ยวก็เสื่อม กว่าจะทะนุถนอม กว่าจะกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูใจเรามา พอใจมันเจริญเติบโตขึ้นมา มันออกฝึกหัดใช้ปัญญาก็ล้มลุกคลุกคลาน ทำเป็น-ทำไม่เป็น คนฝึกหัด คนทำงานใหม่จะเข้าใจถึงว่าการทำงานของเรา ถ้าเราไม่เคยทำ แล้วงานนั้นเป็นงานที่วิชาชีพนะ งานอาชีพที่ว่ามีอาชีพที่ละเอียดลึกซึ้งน่ะ เราจะทำได้ยากมาก แต่เขาก็ฝึกจนทำกันจนได้

จิตใจเราก็เหมือนกัน เราอยากจะพ้นทุกข์ เราเกิดเป็นชาวพุทธ แล้วพบพระพุทธศาสนา มีประเพณีวัฒนธรรม แล้วก็พยายามจะฝึกหัดให้จิตใจของเรารู้รอบขอบชิด ทะลุวัฒนธรรม ทะลุประเพณีเข้าไป ไปสู่ข้อเท็จจริง พอไปสู่ข้อเท็จจริง ประเพณีกับข้อเท็จจริงแตกต่างกัน

“ประเพณีวัฒนธรรม” มีคุณประโยชน์อย่างหนึ่งเพื่อสังคม เพื่อโลก

การประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก การกระทำของหัวใจ ภาวนามยปัญญา สิ่งที่กระทำ มัชฌิมาปฏิปทา ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางธรรมและวินัยไว้นี้ ให้เราก้าวเดิน บัดนี้ มันได้เกิดขึ้น มันได้มีการกระทำ หัวใจมันได้มีการก้าวเดิน มันพิจารณาของมัน แล้วมันทำของมันน่ะ มันซาบซึ้ง ซาบซึ้ง มันเป็นความจริง มันไม่ใช่สัญญาอารมณ์ ไม่ใช่จารีตประเพณีทำให้ครบสูตรให้เป็นแบบเขา แล้วสิ่งนี้มันทำขึ้นมา ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแต่ละคน แต่ละองค์ที่ประพฤติปฏิบัติได้แต่ละคนน่ะ มันเป็นของทุกข์ของยาก มันเป็นของวิเศษ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ “แล้วจะไปสอนเขาได้อย่างไร” จนทอดธุระ เพราะโลกจะรู้กับเราไม่ได้

ตามความเป็นจริง การประพฤติปฏิบัติน่ะ เขาว่า “ของง่าย มันมีอยู่แล้ว ธรรมะมีอยู่แล้ว ทุกอย่างง่ายดายๆ”...มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ มันง่ายอย่างนั้นจริงๆ หรือ ถ้ามันง่ายอย่างนั้นน่ะ เขาก็เข้าห้างสรรพสินค้าน่ะ หยิบใส่ตะกร้า หยิบใส่ตะกร้าออกมาน่ะ รูดทีเดียวก็จบ มันเป็นอย่างนั้นหรือ...มันเป็นไปไม่ได้หรอก

สิ่งที่ว่าง่ายนั่นก็อย่างหนึ่ง สิ่งที่ทำเป็นประเพณีก็อย่างหนึ่ง แต่ของเรา ถ้าเรามีความเชื่อมั่นของเรา ถ้าเราทำจริงของเรา…ถ้าแบบมันจะเป็นง่ายอย่างนั้น ถ้าเราทำทุกข์ยากขนาดนี้ ถ้าเป็นง่ายอย่างนั้น การทำทุกข์ยากของเรามันก็ต้องประสบความสำเร็จสิ เพราะเราทำมากกว่าเขา เราก็ทำขนาดนี้ เราก็ปฏิบัติขนาดนี้ มันยังล้มลุกคลุกคลานขนาดนี้

แล้วถ้ามันทำง่ายๆ อย่างนั้น เรายิ่งไม่ได้สิ่งใดติดมือเราเลยเหรอ ขนาดลงทุนลงแรงขนาดนี้ มันยังไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือเราเลย แล้วถ้าเราทำแบบมักง่ายอย่างนั้นมันจะมีอะไรเป็นประโยชน์กับจิตใจเราล่ะ นี่ให้ปลุกปลอบหัวใจเราอย่างนี้ มันจะได้ไม่คอตกไง

ถ้าจิตใจเราเข้มแข็งดั่งกัดเพชรนะ เคี้ยวเพชรแหลกละเอียดเลย จิตใจดวงนั้นมันจะมีกำลัง จิตใจดวงนั้นจะมีความองอาจกล้าหาญในการเข้าไปเผชิญกับทุกข์ในการกระทำ เวลาเราตั้งสติ เวลาเราทรมานตนนี่มันทุกข์ไหม?...ทุกข์

งานของโลกเขาอาบเหงื่อต่างน้ำ เพื่อหาประโยชน์มาเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย

งานของเรา นั่งสมาธิภาวนา นั่งเฉยๆ นี่แหละ เหงื่อไหลไคลย้อย เดินจงกรมจนก้าวขาไม่ออก นี่มันทุกข์ไหม เวลาสิ่งที่มันทุกข์ มันเครียดในหัวใจไง มันวิตกกังวลน่ะ ดูสิ เวลาผู้ที่บริหารจัดการทางโลกนี่ผมขาวหมดเลย ร่างกายจะเสื่อมสภาพเร็วมาก เพราะอะไร เพราะเวลาใช้ปัญญา ใช้ความรู้สึกนึกคิด พลังงานจากภายใน การบริหารจัดการหัวใจ แล้วเวลาเราภาวนาของเรา เราต้องจัดการอย่างนี้ มันไม่เหนื่อยเหรอ มันไม่ทุกข์ยากเหรอ?...ทุกข์

แต่เราเห็นประโยชน์ของมัน เห็นการกระทำ เพราะแม้แต่คนเกิดแต่ละ ๑ คน กว่าจะเกิดมาได้ การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก แล้วเราเกิดมาแล้ว แล้วเราเห็นคุณค่า เรามีเห็นคุณค่าของธรรม แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา การเกิดมาเป็นมนุษย์ก็แสนยากอยู่แล้ว แล้วคนที่เขาไม่เชื่อกับคนที่เราเชื่อ คนที่เขาไม่เชื่อเขาใช้ชีวิตของเขา ใช้สุรุ่ยสุร่าย แล้วก็จะต้องตายไปแน่นอน คนเกิดมานี่ตายหมด แต่เราจะตาย เราก็ขอให้ได้พิสูจน์ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ขอให้ได้พิสูจน์ก่อน

แล้วถ้าพิสูจน์แล้ว ถ้ามีผลของใจขึ้นมา “ถ้ามีผลของใจขึ้นมา” เพราะปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ เวลาเกิดเป็นมนุษย์ การภาวนาก็ภาวนาเพื่อจิตดวงนี้ ปฏิสนธิวิญญาณ เวลาเราภาวนาถ้าจิตสงบ มันสงบร่มเย็น มันมีสมาธิ มันมีการปล่อยวางอารมณ์โลก

เวลาเราคิด เราคิดเรื่องโลกๆ คิดเรื่องบริหารจัดการทางโลกนี่เหนื่อยมาก เห็นไหม มันใช้พลังงานไปหมดเลย แล้วถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้คำบริกรรม บริกรรมจนจิตมันสงบ มันปล่อยโลกหมดเลย

“จิตนี้ไม่เป็นขี้ข้าของโลก จิตนี้เป็นสัมมาสมาธิ”

แต่ถ้าเราไม่ได้ฝึกหัด จิตนี้จะไปคลุกเคล้ากับอารมณ์โลก คลุกเคล้ากับเรื่องโลกๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลงไปตลอดชีวิต ไปตลอดเลย

เราเกิดเป็นมนุษย์ก็แสนยาก แล้วพอเราเกิดเป็นมนุษย์แล้วเราได้มาทดสอบ เราได้มาประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าเราทำความสงบของใจ...ใครทำความสงบของใจ ใจสงบเป็นสัมมาสมาธิได้ จะฝังใจดวงนั้นไปตลอด เพราะมันไม่มีซื้อขาย ไม่มีการเกื้อกูลเกื้อหนุนกัน จิตดวงใด ต้องจิตดวงนั้นเป็นผู้กระทำ

แล้วจิตดวงนั้น เราเกิดมาเป็นมนุษย์มีคุณค่ามากอยู่แล้ว แล้วคนที่เขาเกิดเป็นมนุษย์มีคุณค่า แต่เขาไม่สนใจ เขาไม่เชื่อของเขา เขาใช้ชีวิตของเขาไปหมดชีวิตหนึ่ง เพราะเขาเกิดเป็นมนุษย์ เพราะเขามีบุญของเขา เขาถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ แต่เขาใช้สมบัติของเขา “อริยทรัพย์” การเกิดเป็นมนุษย์ที่เป็นอริยทรัพย์ เขาใช้หมดไปทั้งชีวิตโดยที่เขาใช้บุญของเขาสร้างเข้ามา เขาใช้หมดไปโดยที่เขาไม่ได้ทำให้ประโยชน์เพิ่มพูนมากขึ้น

แต่ของเรา เราเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนาด้วย เราก็ต้องใช้ชีวิตแบบโลกนี่แหละ แต่เราใช้ชีวิตของโลกแล้ว แต่เรายังมีหัวใจ เรายังมีอำนาจวาสนาที่เราจะมาประพฤติปฏิบัติ เราจะเอาทรัพย์สมบัติภายในด้วย ถ้าเอาทรัพย์สมบัติภายใน เวลาทำความสงบของใจ มันเห็นต่างตรงนี้ไง ถ้ามันเห็นต่าง เห็นต่างหมายถึงว่า “ปฏิสนธิจิต” วิญญาณปฏิสนธิจิต เกิดมาแล้วก็หมุนกันไป

แต่จิตดวงนี้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พอเราใช้กำหนดพุทโธๆ ปัญญาอบรมสมาธิ พอมันเป็นสมาธิ มันปล่อยวางหมด เห็นไหม มันเป็นอิสระ อิสระชั่วคราว แล้วเวลาทำความสงบของใจมากขึ้นนะ ใจที่มันสงบมากขึ้นน่ะ มันสามารถวางกายนี้ได้เลย

จิต ถ้ามันสงบนะ จิตเป็นอัปปนาสมาธิ มันปล่อยวางได้หมด ปล่อยวางแม้แต่ความรู้สึกนึกคิดที่ออกรับรู้เรื่องอายตนะ อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่มันสักแต่ว่า เป็นอิสรภาพเลย ถ้าเป็นอิสรภาพ อัปปนา พอมันคายตัวออกมา คายตัวออกมารับรู้ เวลามันหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามาจนมันไม่รับรู้เรื่องร่างกายนี้เลย แต่เวลามันถอนออกมา มันเริ่มรับรู้ความรู้สึกตัวเราก่อน พอรับรู้ความรู้สึกตัวเรา นี่หูตามันก็รับรู้ภาพ รับรู้สิ่ง รับรู้เสียงได้ นี่กลิ่นต่างๆ ออกมารับรู้ ถ้ามันเป็นสมาธิ มันจะเป็นอิสระกับโลกชั่วคราว แล้วถ้ามันไปเข้าอัปปนาสมาธิ มันเป็นอิสระจากชีวิตเราเลย จากจิต จากร่างกายนี้เลย แล้วพอมันเข้าไปเป็นอิสระ มันมีกำลังของมัน

เวลาเราภาวนา เราภาวนาเพื่อจะแก้ไขปฏิสนธิจิตนี่แหละ ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ มันมีอวิชชาครอบงำมันอยู่ แล้วพอจิตสงบแล้วเราออกฝึกหัด ออกฝึกหัด ออกใช้ปัญญา การใช้ปัญญา เราต้องฝึกหัด ต้องใช้ปัญญา ต้องมีความเข้มแข็ง ถ้าเวลามันน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม วิปัสสนา ใช้ปัญญา ถ้าจิตมันเป็นอิสรภาพ จิตที่มันพ้นจากโลกมา เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา “ภาวนามยปัญญา” ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา

ไม่ใช่ปัญญาเกิดจากสัญญาที่เป็นจารีตประเพณี ปฏิบัติตามจารีตปฏิบัติให้ครบสูตร ท่องจำกันมา ท่องจำธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วใช้จินตมยปัญญาทำให้เห็นสภาพแบบนั้น ทำให้เกิดความปล่อยวาง ทำให้เกิดความว่าง ทำให้เกิดความเข้าใจ มันก็เป็นไปได้...แล้วได้อะไร ได้อะไร?

แต่ถ้าเราทำตามความเป็นจริงนะ ถ้าจิตมันเป็นสัมมาสมาธิ มันปล่อยวาง มันว่างของมันอยู่แล้ว แล้วพอฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญามันใคร่ครวญไป มันได้แก้ไขปฏิสนธิจิตนั้น มันได้แก้ไขดวงใจดวงนั้น ถ้าดวงใจดวงนั้นมันแก้ไข สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นผิด โดยจิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกมันเห็นผิด แต่โดยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ใช่ กายไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่กาย คนเกิดมาต้องตายหมด...ทุกคนรู้หมดน่ะ

แต่รู้แล้วได้อะไรติดไม้ติดมือไป ถ้ามันพิจารณาไปมันปล่อยนะ ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่า การปล่อยต้องขยันหมั่นเพียรนะ ถ้ามันสมดุล นี่ไง “มัชฌิมาปฏิปทา” ถ้าพิจารณาสมดุลมันก็ปล่อย ปล่อยนี่เรียกตทังคปหาน เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญา คือผู้ที่ปฏิบัติแล้วมีบุญกุศลมามาก ได้ปฏิบัติแล้วมีคุณธรรมในหัวใจมาก ขิปปาภิญญา ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เขาปฏิบัติของเขา แล้วรู้ง่าย นี่มันขาดไปเลย

แต่พวกเราเวไนยสัตว์ พวกเวไนยสัตว์คือทำความดีมา ทำความผิดพลาดมา ความชั่วมา มันมีสิ่งใดที่สะสมในใจ นี่พอพิจารณาไปแล้วมันวาง มันไม่ถึงกับขาด “มันวาง” นี่ตทังคปหาน มันวาง พอวางมันก็โล่ง มันก็ว่าง จิตถ้าเป็นสัมมาสมาธิ มันมีอิสรภาพ แม้แต่วางโลกได้ อิสรภาพชั่วคราว

เวลามันใช้ปัญญาขึ้นมา เวลามันปล่อย มันวางขึ้นมา มันถอดถอนด้วย ถอดถอนสิ่งที่จิตใต้สำนึกที่มันเคยรู้เคยยึดของมัน เวลาเห็นไหม มันวิปัสสนาไปมันเป็นไตรลักษณ์ มันแปรสภาพไปหมด เวลาพิจารณาโดยปัญญานะ พิจารณาไปแล้วมันมีสิ่งใดให้มันยึดมั่นถือมั่นได้ล่ะ มันก็ปล่อย เวลามันขาดนะ ถ้าพิจารณาด้วยปัญญา ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕

แต่ถ้าเราพิจารณากายนะ กายมันแปรสภาพของมันไป เวลามันปล่อย สภาพกายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยกออกจากกันไง เราเห็นภาพใช่ไหม เราเห็นภาพเป็นเรื่องพิจารณากายใช่ไหม เราพิจารณาไปแล้วมันเป็นไตรลักษณ์ใช่ไหม พอเป็นไตรลักษณ์ มันทำลายตัวมันเอง พอมันทำลายตัวมันเอง มันเหลือสิ่งใดล่ะ ถ้ามันเหลือสิ่งใด...เหลือความรับรู้อยู่

ผู้ที่ปฏิบัติบางคนพิจารณากาย เนื้อหนังมังสามันย่อยสลายไป พอเหลือกระดูก กระดูกมันย่อยสลายไป ทุกอย่างย่อยสลาย

แล้วเหลืออะไร?...เหลือหัวใจ เหลือสิ่งต่างๆ เหลือผู้รู้ ถ้าผู้รู้ยังไม่ได้ปล่อย ผู้รู้ยังไม่ได้ทำลาย เขาก็ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีครูบาอาจารย์เป็นคนคอยยืนยัน พอเราพิจารณาไปแล้วมันก็ปล่อย เห็นไหม ปล่อยหมดเลย ทุกอย่างปล่อยหมดเลย แต่ผู้รู้มันยังขวางอยู่นะ เราก็ “เอ...ทำไม นี่เราก็ปล่อยแล้ว มันก็ต้องเป็นโสดาบันสิ พอมันปล่อยแล้ว สักกายทิฏฐิมันก็ต้องไม่มีสิ”

นี่ไม่มีแล้วสงสัยทำไม

“ไม่มี มันต้องไม่มีสิ มันต้องปล่อยสิ มันต้องเป็นความจริงสิ”

เห็นไหม มันไม่ปัจจัตตัง มันไม่สันทิฏฐิโก มันไม่ดั่งแขนขาด

นี่ถ้ามันพิจารณาซ้ำพิจารณาซ้ำ พอมันปล่อยมันปล่อยหมด นี่แยกหมดเลย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์...กายเป็นส่วนกาย จิตมันก็แยกออกไป ทุกข์ก็แยกออกไป แยกออกไป แล้วผู้รู้ไง...รวมลง! มันรู้สิ่งใดขึ้นมา มันรู้ตามความเป็นจริงอันนี้ขึ้นมา นี่สัจจะความจริงมันเป็นแบบนี้ ถ้าสัจจะความจริงมันเป็นอย่างนี้นะ

นี่ไง ถ้าผู้ใดปฏิบัติถึงระดับนี้ได้ แล้วทำของเราไปนะ มันจะเข้าใจเลยว่าปฏิบัติตามจารีตนี้เป็นอย่างหนึ่ง เราปฏิบัติของเราอย่างนี้ ล้มลุกคลุกคลาน พยายามต่อสู้นะ เรามีครูมีอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ของเราท่านได้ทำของท่านมา แล้วเวลาทำขึ้นมามันมีหลักมีเกณฑ์ไง มีข้อเท็จจริง

จิตรอบรู้ ไม่ใช่ฟังเขาว่า ไม่ต้องให้กิเลสมาเป็นคนรับประกัน

“ได้ป้องกันแล้ว ได้ทำสิ่งดีๆ แล้ว ทุกอย่างรับประกันได้” แล้วเวลามันเสียหายขึ้นมา ใครรับประกัน เวลามันเสีย นี่มันต้องจับกิเลสนี่นะ ประหารชีวิต เพราะกิเลสมันหลอกเรา หลอกว่าทุกอย่างน่ะ “ชีวิตนี้ดีแล้ว ทุกอย่างดีแล้ว ทุกอย่างดีแล้ว” นี่มันหลอกเรามาตลอดเลย แต่เราประหารมันไม่ได้

แต่ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติ ฆ่ามันๆ การฆ่ากิเลสนะ การฆ่าความลังเลสงสัย การฆ่าความจินตนาการ การฆ่าการคาดการหมาย การฆ่าอย่างนี้เอาอะไรไปฆ่ามัน...เอาความจริง เอาภาวนามยปัญญา สิ่งที่เป็นความจริง ความจริงมันต้องไปลบล้างความจอมปลอม ลบล้างกิเลสที่มันหลอกลวงในใจ

ถ้ามันลบล้างนะ เวลามันขาด ขาดเพราะอะไร ขาดเพราะว่าภาวนามยปัญญา มัชฌิมาปฏิปทา มรรคสามัคคีรวมตัวแล้วสมุจเฉทปหาน มันขาดด้วยอะไร? ขาดด้วยมรรคญาณ นี่ไง ที่ว่าฆ่ากิเลสไง กิเลสเป็นอะไร กิเลสเป็นนามธรรมที่มันได้ฆ่าสิ่งที่ผูกมัดในใจ มันได้สมุจเฉทปหานไปแล้ว

นี่ความจริงอันนี้มันยืนยัน ยืนยันว่าสิ่งที่เราทำมา สิ่งที่เราเชื่อถือมาตลอดมามันไม่เป็นความจริงเลย มันเป็น “ธรรมะจารีต” จารีตที่ทำกันมา ถ้าเป็นความจริง เพราะมันมีความจริงมันถึงเปรียบเทียบ เพราะความจริงนี้มันถึงมีน้ำหนักมากกว่า ความจริงเป็นความจริงที่จริงแท้มากกว่า ความจอมปลอมมันก็รู้ถ้าความจอมปลอม

แต่ถ้าเราไม่ถึงความจริงขึ้นมา เราก็ลังเลสงสัย เราก็เหยียบเรือสองแคม จะไปทางไหนดี ไปทางความจริงมันต้องทุกข์ๆ ยากๆ ถ้าจะไปตามจารีต ก็ทำตามๆ กันไป ทำกันไป เห็นไหม เขาทำเราก็ทำตาม เขานั่งเราก็นั่ง เขานอนเราก็นอน เขาทำอะไรเราก็ทำ...แล้วมันได้อะไรขึ้นมา?

“มันก็สบาย”

“ก็สบาย...”

“อยาก” เห็นไหม คนมักง่ายมันจะได้ยาก คนสมบุกสมบันเอาตามความเป็นจริง ถึงมันจะทุกข์มันจะยาก แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ ฉะนั้น มันถึงไม่เป็นจารีต มันถึงเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงตามข้อเท็จจริงนั้น มันจะไปลบล้างความเป็นจารีตประเพณีนั้น ความเป็นจารีตนี่เรื่องของโลกเขานะ ถ้าความจริงนี่เป็นเรื่องของธรรม แล้วธรรมมันสถิตอยู่ในหัวใจดวงใด หัวใจดวงใดที่ประพฤติปฏิบัติจนได้มีคุณธรรมขนาดนี้ เขาจะยืนเด่น ไม่เกรงกลัวสังคมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะสังคมนั้นมันเป็นเรื่องหลอกลวง

แต่ถ้าจิตใจเราไม่มีความจริงขึ้นมา เราก็ล้มลุกคลุกคลานไปกับสังคมนั้น เพราะเราก็ไม่กล้า ไม่กล้าที่จะเอาสิ่งใดไปพิสูจน์กับสังคมนั้นว่าอะไรจริง อะไรเท็จ แต่ถ้ามันมีความจริงขึ้นมาในหัวใจแล้ว มันมีสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงในหัวใจ ถึงยืนเด่น แล้วเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น

ฉะนั้น ให้ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเรามีจิตใจฝักใฝ่กับการกระทำ เรามีจิตใจกับการฝึกหัด มันต้องให้เป็นความจริงขึ้นมา “ฝึกหัด” หัดให้ใจมันเข้มแข็ง หัดให้ใจมันมีปัญญาขึ้นมา ให้มันชำระกิเลสในหัวใจของเรา

ที่เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ พบพระพุทธศาสนาแล้ว เราจะเป็นศาสนทายาท ไม่เสียเปล่า เอวัง