ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กิเลสหลบซ่อน

๑๕ ต.ค. ๒๕๕๔

 

กิเลสหลบซ่อน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอาอันนี้ก่อนเลย ข้อ ๖๕๘. เนาะ

ถาม : ๖๕๘. เรื่อง “พิจารณาจิตโดยเปรียบเทียบกับกาย เพื่อชำระกระบวนการของกิเลส”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ผมภาวนามา ๑ เดือนก่อนส่งคำถาม มีคำถามเรียนหลวงพ่อว่า กิเลสตัวที่สั่นคลอนภพไหวๆ ไม่มีนิมิตกายให้พิจารณาหรือครับ ซึ่งหลวงพ่อก็ได้ตอบปัญหาในแง่คิดให้แก่ผม ซึ่งได้แง่คิดหนึ่งคือลองพิจารณาเปรียบเทียบกับกาย กระผมลองปฏิบัติแล้วเกิดผลดี ขอบคุณอย่างยิ่ง

กล่าวคือ ในขั้นแรกผมปฏิบัติลองผิดลองถูกหลายอย่าง เรียกได้ว่าล้มลุกคลุกคลาน หาทางออกไม่ได้ ไม่เจอก็ว่าได้ แต่มีวันหนึ่งได้มีความคิดเข้ามาในขณะพิจารณาว่าลองพิจารณาจิตเปรียบเป็นกาย ผมก็เลยพิจารณาจิตที่ตั้งอยู่ระหว่างกลางอกเปรียบเทียบกับกายเลยครับ พบว่ามันมีส่วนเหมือนกันมาก คือทั้งกายและจิตมีสิ่งที่ผ่านเข้า แล้วทิ้งสิ่งที่ไม่ดีไว้ภายในกายและจิตเหมือนกัน

ขอพูดเฉพาะเรื่องจิตนะครับ จิตของมนุษย์นี้ ด้วยการที่จิตผ่านกาลเวลามานาน มีสิ่งที่เป็นของเสียอยู่ในเนื้อจิตเดียวกัน สิ่งที่ไม่ดี (อันที่จริงสิ่งที่เราคิดว่าดีมันก็ไม่ดี เพราะตัวมันก็สร้างให้เกิดความเกิดดับ ทำให้ภพกระเพื่อมเป็นทุกข์เช่นกัน)

สิ่งที่เก็บไว้ในจิต ไม่ว่าเราจะคิดว่ามันดีหรือไม่ดีนี่เอง เมื่อถึงเวลาที่สมควรจะมีสิ่งใดไปแตะ ส่วนมากจะมีลักษณะเป็นการตั้งคำถาม เป็นการต้องการความจำเป็นในภพที่ตนอยู่ และเปิดสิ่งนี้ออกมา แล้วจิตเสวยเป็นกระบวนการที่เร็วมาก แล้วจะเกิดการผลักดันอยู่ที่กลางอก แล้ววงจรแห่งบาปและกรรมจะเริ่มไปแล้วก็เก็บไว้ที่จิตอีก มีลักษณะที่เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันไม่มีวันจบ เป็นวัฏฏะหลอกล่อ และขังจิตไว้ให้ร้อนรน เต็มไปด้วยความเดือดร้อนตลอดไปนานแสนนาน อยู่ในลักษณะที่หาทางออกไม่ได้ จึงขอความเมตตาถามคำถามว่า

๑. หากเวลาที่สิ่งนั้นมันเปิดออกมามันมีเราเป็นประธานแห่งเรื่องราวต่างๆ ผมไล่พิจารณาให้มากที่สุดในทุกครั้งที่มันเปิดออก ตามกำลังสติปัญญาที่ผมมี ผมว่ามันไร้สาระ เรื่องที่เราว่าดีสุดๆ มันก็เป็นที่พึ่งให้แก่จิตที่ต้องเดินทางต่อไปนานแสนนานไม่ได้

อย่ายึดไว้เลย อย่างไรก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อมันเกิดมันก็ต้องสลายไปในทุกครั้ง จะเร็ว จะช้าก็แล้วแต่กรณีที่สำคัญ คือมันสลายไปแน่นอน ตัวเราก็เป็นกายอันไม่มีอยู่แล้ว จิตมันก็ไม่เป็นเรา เพราะมันก็มีกระบวนการทำหน้าที่ของมันไป แต่ที่ผมสนใจคือมันนำให้เราไปเกิดในภาวะหน้าที่ในสมมุติบัญญัติที่ถูกต้อง บังคับให้ทำหน้าที่นั้นตลอดกาล จิตมันก็ไม่นิ่งรวมเป็นหนึ่ง เพราะความวุ่นวายจากการทำภาระหน้าที่ในสมมุติบัญญัตินั้น

เรียนถามหลวงพ่อว่า ถ้าผมแก้สิ่งนี้ที่เป็นเนื้อเดียวกับจิตและรอจังหวะโอกาสที่จะเปิดออกมา เพื่อหลอกจิตให้ต้องคิดและเป็นตัวต้นเหตุในวงจรขันธ์ ๕ ทำงานไป ผมแก้ไขพิจารณาไปเรื่อยๆ หลวงพ่อว่าทำแบบนี้จะจบสิ้น เสมือนผู้รับเหมาก่อสร้างตึก ที่อาคารก่อสร้างตึกเสร็จสิ้น

๒. เมื่อผมแก้ไขสิ่งที่จะถูกเปิดออกจากจิตไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าพลังงานตัวนี้ซึ่งมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เพราะมันเป็นสถานที่หนึ่งที่ต้องต่อสู้ระหว่างสิ่งที่เราจะทำให้เกิดวัฏวน กับสติสัมปชัญญะแย่งกันครองพลังงานตัวนี้ ถ้าผมแก้ตรงนี้ไปเรื่อยๆ สติสัมปชัญญะจะยึดครองจิตมากขึ้นไปเรื่อยๆ เรียนถามหลวงพ่อว่ามีโอกาสเป็นไปได้ไหมครับว่า สติสัมปชัญญะจะครองจิต ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

หลวงพ่อ : เราจะเริ่มต้นตั้งแต่อารัมภบทนี่ก่อน อารัมภบทนี่นะ เวลาพิจารณามาอย่างนี้มันถูกต้องหมดแล้ว ทีนี้คำว่าถูกต้องหมดแล้ว เห็นไหม นี่กิเลสมันหลบซ่อน ถ้ากิเลสมันหลบซ่อน อย่างเช่นทำความสงบของใจ เราทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบแล้วเราออกพิจารณามันจะเป็นมรรค มันจะเป็นวิปัสสนา ถ้าเป็นวิปัสสนา พอเราทำสิ่งใดไปแล้วจิตมันจะหลบซ่อน ทีนี้คนไม่เข้าใจนะ อย่างเช่นการพิจารณากาย พอพิจารณากายแล้วมันปล่อย พิจารณากายเสร็จแล้วมันปล่อย พอมันปล่อยแล้วเราทำอย่างไรต่อไป?

พอปล่อยแล้วนะ ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยจนมันละเอียด จนจับสิ่งใดไม่ได้เลยเราจะหาอะไรไม่เจอนะ นี่กิเลสมันหลบซ่อน เวลาภาวนาไปนะ เวลาภาวนาเริ่มต้นจากทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบได้เราจะมีความสุข มีความสุขแล้วเราก็เงอะๆ งะๆ นะ เพราะอะไร? เพราะมันใช้ปัญญาไม่เป็น แต่พอใช้ปัญญาเป็นขึ้นมา พอใช้ปัญญาเป็นแล้ว พอพิจารณาแล้วมันก็ปล่อยหมดนะ ปล่อยโล่งหมดเลย พอโล่งหมดเราก็งงนะ เราก็ยังงงว่าแล้วทำอย่างไรต่อไป มันก็โล่งๆ นี่มันต้องมีสติ

ทีนี้คำว่ามีสติ มีปัญญา ต้องมีสตินิดหนึ่ง ไม่นิดหนึ่งน่ะมีสติเต็มที่เลย แล้วพยายามพิจารณาซ้ำไง คำว่าซ้ำนี่ซ้ำในอะไร? ในเมื่อพิจารณากาย กายมันปล่อยแล้ว พอกายมันปล่อยแล้วเราตั้งสติไว้แล้วใช้ความสงบของใจ พอตั้งสติไว้เดี๋ยวจะเห็นกาย เห็นกายแล้วจับ ถ้าไม่เห็นเราต้องขุดคุ้ยเลย พอขุดคุ้ยแล้วปล่อยๆๆ ปล่อยจนว่างหมด ว่างหมด พอว่างหมดขนาดไหนนะ นี่มันว่างหมด ที่หลวงตาว่า “มันว่างข้างนอก ข้างในมันไม่ว่าง”

มันว่างหมดเพราะมันปล่อยอารมณ์หมด แล้วตัวมันล่ะ? ตัวมันยังมีอยู่ เห็นไหม มันปล่อยมาว่างหมด โดยนี่มันจะหลบซ่อน ถ้าหลบซ่อนนะเราต้องตั้งใจให้ดีเลย แล้วพอมันขยับ ขยับก็จับ พอมันปล่อยว่างหมดนะมันก็เหมือนไม่มีอะไรเลย เพราะมันว่างข้างนอก แต่จริงๆ คือตัวจิตทั้งตัวเลยมันยังอยู่ของมันอยู่ แต่มันหลบไง

มันเหมือนกับเรานี่ เราพยายามจะให้เป็นตะวันเที่ยงวัน คือไม่ให้มีเงาออกไปจากตัวเราเลย แล้วก็บอกว่าไม่มี นี่มันหลบซ่อนแล้วมันยังหลอกอีกนะ ว่างหมดนะ ถ้าคนแบบว่าสะเพร่าจะบอกว่านี่โสดาบัน แล้วพอพิจารณาซ้ำๆ บอกว่านี่สกิทาคามี นี่อนาคามี ทั้งๆ ที่ว่ามันยังไม่ทำอะไรเลยนะ นี่กิเลสมันหลอก

เวลาเราภาวนานะ เวลาเราหยาบๆ เราภาวนาล้มลุกคลุกคลานมากเลย เราต้องอดนอน ต้องผ่อนอาหาร ต้องต่อสู้เพื่อให้ธาตุขันธ์มันเบา พอจิตมันเบา พอจิตมันเป็นอิสระมันก็เป็นสมาธิ พอมันเป็นสมาธินะ พอเป็นสมาธิเราออกใช้ปัญญา เวลาออกใช้ปัญญาพิจารณาไปๆ มันก็ปล่อยหมดเลย แต่มันมีอะไรต่อไปล่ะ? มันมีอะไรต่อไป

ฉะนั้น เวลาเราทำความสงบของใจ เห็นไหม เวลาเราจะเอาชนะตนเอง เราจะอดนอนผ่อนอาหารเพื่อให้จิตมันเบา ขันธ์มันเบา เพื่อจะให้จิตมันสงบ เวลาเราภาวนาขึ้นมา เราใช้ปัญญาแล้วพิจารณาไป เวลามันปล่อยวางหมดเลย แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไปล่ะ? เราจะทำอย่างไรต่อไป ถ้ามันเสื่อมนะ หมายถึงว่าจิตมันถอย พอจิตมันถอยนะมันถอยออกมา พอมันถอยออกมาปั๊บนะมันออกมาเป็นความปกติ เป็นจิตสามัญสำนึกนี่มันรู้ อย่างนี้มันจับต้องได้

แต่เวลามันปล่อยเข้ามา ปล่อยจนมันสะอาดนะ ปล่อยจนมันเริ่มคล่องตัว มันไม่ได้ถอดถอน มันปล่อยมาเพราะมันใช้ปัญญาเข้ามา แต่กิเลสมันหลบซ่อนเข้าไป แล้วมันก็ใช้ธรรมของพระพุทธเจ้า หรือใช้ปัญญาของเราบอกว่าว่างๆๆ กิเลสเวลามันเสื่อมนะ เวลามันเสื่อม มันถอยออกมานะมันก็เป็นสามัญสำนึกนี่ไง ถ้าออกมาเป็นสามัญสำนึกปั๊บมันก็จับได้ จับความคิดได้ จับอะไรได้ แต่มันหยาบ

นี้พอเราพิจารณา พิจารณาทิ้งสิ่งที่หยาบๆ สิ่งที่เป็นสามัญสำนึกนี่ทิ้งมาๆๆ ทิ้งมา จิตมันก็ละเอียดขึ้นๆ แล้วมันก็ไปหลบซ่อนอยู่ในจิต มันว่างข้างนอก เห็นไหม ตัวมันไม่ว่าง ทีนี้ตัวมันไม่ว่างปั๊บ ที่เราว่าต้องสังเกตไง สังเกตเวลามันขยับ ที่ไหนมีความรู้สึก กาย เวทนา จิต ธรรม

จิต! จิตที่มีความรู้สึก ตัวจิตมันมีความรู้สึกอยู่ แต่เวลามันพิจารณานี่มันปล่อยเลย มันปล่อยมาเป็นตัวมันเอง มันว่างมาหมดเลย แล้วมันก็เฉยอยู่อย่างนั้นแหละ มันจะหลบมันไว้ แต่ถ้ามันขยับนะเห็นเลย ถ้าสติ ถ้าสมาธิดีจับได้ แต่ถ้าสมาธิเสื่อมนะ สมาธิเสื่อมหรือมันอ่อนลง มันเริ่มอ่อนลง มันก็เป็นอารมณ์ความรู้สึก อย่างนี้เราจับได้ง่ายไง

เราจะบอกว่าเวลาพิจารณาไปแล้ว นี่ถ้าพิจารณาไปนะ พิจารณาเริ่มต้นล้มลุกคลุกคลานมา แต่พอเราพิจารณาได้ พิจารณาจนกิเลสมันเริ่มยุบยอบลง มันเริ่มเบาบางลง เบาบางลง แต่เวลามันจะสรุป เห็นไหม นี่ถ้าเป็นบุคคล ๘ จำพวก โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตมรรค อรหัตผล

สกิทาคามรรค สกิทาคาผล ระหว่างผลไง ระหว่างผล ถ้าระหว่างผลมันต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในโสดาบันก็เป็นโสดาบัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สกิทาคาก็เป็นสกิทาคา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อนาคาก็เป็นอนาคา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อรหันต์ก็เป็นอรหันต์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ในขั้นของโสดาบัน

ฉะนั้น เวลามันปล่อยมานี่มันปล่อยมา ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ มันเหลือไว้ ๑ เปอร์เซ็นต์ที่หลบซ่อน ๙๙ แล้วนะไม่ครบ ๑๐๐ แต่เวลาเสื่อมนะ จากเปอร์เซ็นต์เดียวนี่นะ มันขยายมาเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย แต่เวลาไล่เข้าไป เวลาไล่เข้าไปไล่อย่างนี้ ไล่จับไปเรื่อยๆ เห็นไหม ๕๐ ๖๐ ๗๐ ๘๐ ๘๐ ๙๘ ๙๙ แต่มันยังไม่ครบ ๑๐๐ ไง

นี่ทางวิทยาศาสตร์เขาถึงบอกว่า ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดสะอาดบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เขาบอกนะ มีแต่ ๙๙.๙๙ ทองคำบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไม่มี มี ๙๙.๙๙ นั่นล่ะ มันมีจุดหนึ่งว่ายังมีอยู่ ตรงนั้นแหละกิเลสมันซ่อนอยู่ แต่ถ้าเป็นธรรมนะล้านเปอร์เซ็นต์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้วนะ ถ้ามันไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มันสะอาดไม่ได้ ฉะนั้น มันขาดไม่ได้ ถ้ามันขาดนะ ถ้ามันขาดคือมันจบ แต่ถ้ามันไม่ขาดมันจะไปสงบอยู่ที่นั่น

ฉะนั้น ไอ้ตรงนี้ที่บอกว่ามันพิจารณา มันเป็นภาพนิมิต มันสั่นคลอน สิ่งที่พิจารณาซ้ำนี่ต้องซ้ำ ภาพนิมิตมันจะมีนิมิตก็ได้ ไม่มีนิมิตก็ได้ต้องจับของมันไว้ การลองพิจารณาเปรียบเทียบ เปรียบเทียบแล้วรื้อคุ้ยมันออกมา คุ้ยมันออกมา ถ้าคุ้ยออกมานะ โดยการกระทำถ้าพิจารณานะซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ถ้าเราอยู่ทางโลก เวลาเรามาพิจารณามันต่อสู้กันได้

แต่เวลาพอทำงาน เวลาเราทำงานเราต้องออกมาทำงาน ต้องอะไรนี่ เห็นไหม ทางของคฤหัสถ์กับทางของนักบวช แล้วทางของนักบวชนะ ถ้าอย่างนี้ปั๊บ อ้าว ไปอยู่วัด ๑๐ วัน ไปอยู่วัดเดือนหนึ่ง ไอ้เดือนหนึ่งหรือ ๑๐ วันนั้นนะมันก็จวนเจียนๆ เต็มที จวนเจียนเต็มทีแล้วมันต่อเนื่องไง การต่อเนื่อง อันนี้มันก็ย้อนกลับมาภาวะของใจ ใจเข้มแข็ง ใจอ่อนแอ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดันให้ได้ ถ้าดันได้มันก็ไปได้ คำว่าดันคือว่าต่อเนื่องๆ ไป ไม่ให้มันมา

ถ้าเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา กุปปธรรมเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม มันเป็นกุปปธรรม เวลาดีนี่ดีมากๆ เลย เวลาเสื่อมนะ เวลาเสื่อม เพราะฟังจากคำถามในเว็บไซต์นี่แหละ บอกว่าเมื่อก่อนดีอย่างนู้น เมื่อก่อนดีอย่างนี้ เดี๋ยวนี้นะกลับมาปฏิบัติใหม่ พอถึงเวลาแล้วมันขาดช่วงไป มันท้อถอย ท้อถอยแล้วก็เลิกไป แล้วกลับมาปฏิบัติใหม่

เพราะคนถามเข้ามาในเว็บไซต์พอสมควร เมื่อก่อนนะผมก็เคยปฏิบัติมา ๑๐ ปีที่แล้ว ๕ ปีที่แล้ว เขียนมาเยอะมากเลย แล้วผมก็เลิกไป แล้วพอฟังเทปหลวงพ่อ โอ้โฮ มันคึกคักๆ กลับมาปฏิบัติใหม่ นี่เวลามันถอย มันถอยอย่างนั้นนะ ฉะนั้น นี่อารัมภบท

ฉะนั้น เข้าคำถามเขาถามว่า

ถาม : ๑. หากเวลาที่สิ่งนั้นมันเปิดออกมา..

หลวงพ่อ : เห็นไหม หากเวลาที่สิ่งนั้นมันเปิดออกมานี่เราเห็นมัน นี่มันเปิดออกมา แต่ถ้าจิตเราดี สิ่งนั้นมันเปิดออกมา มันมีอยู่แล้วไง มันมีอยู่แล้ว แต่บางทีมันหลบซ่อน มันหลบซ่อน มันไม่แสดงตัว ถ้ามันแสดงตัว ก็มันเปิดออกมามันแสดงตัว ถ้ามันแสดงตัวนะ แล้วการแสดงตัว กิเลสหรือสิ่งที่มีชีวิต อย่างเรานี่ เราดำน้ำอยู่ใต้น้ำโดยที่ไม่มีออกซิเจนนะ เราอยู่ได้กี่นาที

เราดำน้ำนี่ เราดำอย่างไรก็ต้องโผล่ กิเลสถ้ามันอยู่ในใจเรา ถ้ามันมีมันต้องโผล่ มันต้องออกมาให้เราเห็น แต่นี้เพียงแต่ออกให้เราเห็น ถ้ามันหลบซ่อนใช่ไหม? มันก็ออกมาให้เห็นว่านี่เป็นธรรมะนะ อันนี้มันไม่ใช่กิเลสนะ เวลามันโผล่มานี่มันจะโผล่มาบอกว่านี้ธรรมะนะ นี้ธรรมะนะ

กิเลสมันร้ายมาก เพราะมันรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ เพราะกิเลสนี่ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” ฉะนั้น เราทำอะไรอยู่กิเลสมันรู้ พอกิเลสมันรู้ เห็นไหม เวลาถ้ามันฉลาดกว่าเรา เวลามันโผล่มา บอกว่าอันนี้เป็นธรรมนะ อันนี้เป็นคุณประโยชน์นะ แต่ถ้ามันโผล่มาที่เราเห็น นี่มันแสดงตัวโดยข้อเท็จจริง ถ้ามันแสดงตัวโดยข้อเท็จจริงเราจับเลย

ฉะนั้น เวลาถ้ามันจะเป็นธรรมหรือเป็นอะไรนี่เราต้องพิจารณาของเรา จริงหรือ? สติปัญญาจับไว้ จริงหรือ? ถ้าเป็นธรรม เป็นธรรมเพราะอะไร? ถ้าเป็นกิเลส เป็นกิเลสเพราะอะไร? ทำไมถึงเป็นกิเลสล่ะ? เราพิจารณากิเลส เราพิจารณาไปเต็มที่แล้วจับกาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาเต็มที่แล้ว มันปล่อยแล้ว มันปล่อยไปแล้วมันจะเหลือกิเลสอยู่อีกหรือ?

อ้าว ก็ข้างนอกมันว่างไง ถ้าไม่ใช่เป็นกิเลส ทำไมสิ่งนี้นี่มันคืออะไร? แล้วมันกระทบเราอย่างไร? ถ้าสิ่งนี้มันกระทบอยู่มันก็ต้องมี ถ้ามีก็พิจารณามัน จับมาพิจารณาเลยถ้ามันโผล่มานะ แล้วทำซ้ำอย่าประมาท อย่าประมาทว่าสิ่งนี้ได้ทำแล้ว สิ่งนี้รู้แล้ว สิ่งที่รู้แล้วรู้อย่างหยาบ ยังไม่รู้อย่างละเอียด ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทีนี้กระบวนการของมันบอกว่า

ถาม : ถ้าทำอย่างนี้ เรียนถามหลวงพ่อว่า ถ้าผมแก้สิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกับจิต แล้วรอจังหวะโอกาสที่มันเปิดออกมา เพื่อมาหลอกจิต

หลวงพ่อ : มันหลอกอยู่แล้ว แล้วถ้าเป็นวงขันธ์ ๕ ถ้าเราพิจารณาขันธ์ ๕ เห็นไหม พิจารณาขันธ์ ๕ จนขันธ์ ๕ มันแยกออก นี่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วมันเหลืออะไร? พอมันเหลืออะไร ในขันธ์ ๕ มีขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในรูปคืออารมณ์ความรู้สึก รูปคือความกระทบที่รู้ นั่นล่ะคือรูป ในรูปมันก็มีเวทนา ถ้าไม่มีเวทนาเรารู้ว่ารูปได้อย่างไร?

ในรูปก็มีขันธ์ ๕ ในเวทนาก็มีขันธ์ ๕ ในเวทนาเป็นเวทนาเพราะอะไร? เป็นเวทนาเพราะพอรับรู้ เห็นไหม รับรู้คือวิญญาณ แล้วถ้าสังขารไม่ปรุงมันจะเป็นเวทนาได้อย่างไร? นี่ขันธ์ละเอียดมีมันซ้ำเข้าไป แยกเข้าไปๆ ตามเข้าไปเรื่อยๆ พอแยกเป็นขันธ์ ๕ แล้วไม่มีอะไร คนปฏิบัติเป็นอย่างนี้จริงๆ นะ พอแยกขันธ์ ๕ แล้ว

“อ้าว หลวงพ่อขันธ์ ๕ แยกแล้ว ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕”

“แล้วเป็นอย่างไรต่อไป?”

“ไม่รู้”

พอแยกขันธ์ ๕ แล้วนะ ขันธ์ ๕ มันไม่ทำงาน ขันธ์ ๕ มันไม่รวมตัวกัน อารมณ์กับความรู้สึกเต็ม แต่สามัญสำนึกไม่มี ไม่มีแล้วที่รับรู้อยู่นี้คืออะไร? นี่ถ้ามันจับได้มันก็แยกซ้ำ แยกซ้ำเข้าไป เพราะแยกขันธ์ ๕ แล้ว แยกแล้วนะ ในขันธ์ ๕ ในรูปมันก็มีขันธ์ ๕ ในเวทนาก็มีขันธ์ ๕ ในสัญญาก็มีขันธ์ ๕ ในสัญญา ขันธ์ละเอียดกับขันธ์หยาบมันซ้อนกันอยู่ ถ้าไม่อย่างนั้นมันเป็นสัญญาขึ้นมาไม่ได้

แต่เวลาเราแยกออกแล้ว แยกขันธ์ ๕ ออกไปแล้วนะ เราแยกเป็นส่วนๆ เลย รูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ แยกออกจากกันเลย มันไม่ใช่ไม้ ๕ ท่อนมากองทับกัน ไม้มันเป็นไม้ใช่ไหม? แต่ขันธ์ ความรู้สึกนี่มันเป็นนามธรรม มันเหมือนน้ำ น้ำอยู่ในภาชนะเดียวกัน เราแบ่งแยกได้ไหมว่าน้ำนี่เป็น ๕ ส่วน มันก็อยู่ในภาชนะเดียวกันนั่นล่ะ แต่ถ้าสีล่ะ? สิ่งที่เจือปนในน้ำ เออ มันแยกได้

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เจือปน สิ่งต่างๆ ที่เจือปนในน้ำ นั่นล่ะคือกิเลสของเรา แต่ตัวน้ำมันคือตัวจิต ตัวจิตก็คือตัวพลังงาน ถ้ามันแยกออกไป มันพิจารณาออกไป มันซ้ำๆ ไป นี่มันทำของมันได้

ถาม : ถ้าผมทำอย่างนี้ แก้พิจารณาไปเรื่อยๆ แบบนี้จนจบสิ้นได้ไหม?

หลวงพ่อ : ได้

ถาม : เหมือนผู้รับเหมา

หลวงพ่อ : ใช่ ผู้รับเหมาทำงานไป เราทำต่อเนื่องกันไป ฉะนั้น เวลาสิ่งใดที่เป็นประสบการณ์นะ ไอ้กรณีนี้มันเป็นอย่างนี้ อย่างกรรมฐาน เห็นไหม กรรมฐานก็ต่อสู้เต็มที่เลย ทีนี้ถ้าเป็นปริยัติ ปริยัติคือว่าเราเรียนมา พอเราเรียนมาแล้ว พอความรู้มันกว้างขวางกิเลสมันอาศัยสิ่งนั้นแหละ ความรู้นี่เป็นวิชาการ กิเลสพาใช้ ก็ใช้วิชาชีพนี้เพื่อประโยชน์กับตัว ธรรมพาใช้ ก็ใช้วิชาชีพนี้เพื่อประโยชน์กับสังคม เพื่อประโยชน์เราด้วย เพื่อประโยชน์ต่างๆ ด้วย

นี่สิ่งที่เรียนมา สิ่งที่เป็นปริยัติเรียนมา ถ้าเราใช้เพื่อการฆ่ากิเลสก็ได้ แต่ถ้ากิเลสมันเอาสิ่งนี้มาใช้เพื่อประโยชน์ของมัน เราก็เสียรู้มันเหมือนกัน ฉะนั้น พอยิ่งเรารู้มากขนาดไหน กิเลสมันก็ยิ่งมีช่องทางออกหากินได้มากเท่านั้น

ฉะนั้น ต้องใช้ปัญญามากขึ้น ยิ่งอย่างไรก็ต้องใช้ปัญญามากขึ้น ต้องวางให้ได้ วางความรู้ไว้ก่อน ให้มันเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงมันก็เป็นวิปัสสนา ถ้ามันเป็นสัญญา สัญญาก็คือจำมา คือกิเลสพาใช้หมด นี่ฉะนั้น ตรงนี้เราต้องกลับมาที่สัมมาสมาธิ คือพักกำลังใจนี้ให้ได้

นี่ข้อที่ ๑

ถาม : ถ้าทำแบบนี้จะจบสิ้นเหมือนผู้รับเหมาใช่ไหม?

หลวงพ่อ : ใช่! แล้วทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตั้งสติไปเรื่อยๆ แล้วผู้รับเหมา เห็นไหม เวลาเสร็จงานแล้ว โครงสร้างเสร็จแล้ว เขาต้องตกแต่งภายใน งานตกแต่งภายใน งานตกแต่งนะ งานกว่าที่เราจะเก็บรายละเอียดนี่อู้ฮู ลงทุนมากกว่านะ แพงกว่าโครงสร้างอีก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาโครงสร้างเสร็จแล้ว ทุกอย่างเสร็จแล้วเรามีสมาธิแล้ว มีปัญญาแล้ว แต่ไอ้เก็บรายละเอียดนี่อู้ฮู ตรงนี้ก็ไม่ได้ดั่งใจ ตรงนี้ก็ไม่ได้ดั่งใจ นี่ตรงนี้ต้องมีสติ มีปัญญาดีๆ แล้วไล่เข้าไป ไล่เข้าไป มันอยู่ที่การสืบต่อนะ การสืบต่อ การทำต่อเนื่อง

ถาม : ๒. เมื่อผมแก้ไขสิ่งที่เปิดออกในจิตไปเรื่อยๆ รู้สึกพลังงานตัวนี้ซึ่งมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา และมันเป็นสถานที่หนึ่งที่ต่อสู้กันระหว่าง (เห็นไหม) เป็นสถานที่หนึ่งที่ต่อสู้กันระหว่างสิ่งที่ทำให้เกิดในวัฏฏะและสติสัมปชัญญะ

หลวงพ่อ : นี่กิเลสกับธรรมมันทำงานแข่งกัน กิเลสก็ทำงานของมัน ธรรมะของเราก็ทำ เห็นไหม กิเลสมันก็ต้องแยก สติสัมปชัญญะนี่คือของเรา แต่เวลากิเลสมันทำงานก็ทำในวัฏวนนั่นแหละ

ถาม : ถ้าผมแก้ไปเรื่อยๆ ใช้สติสัมปชัญญะไปเรื่อยๆ จะยึดครองจิตนี้ได้ไหม?

หลวงพ่อ : เราจะบอกว่าอย่างนี้นะ นี่ด้วยคำถามบอกว่า

“เราใช้สติสัมปชัญญะด้วย อย่างนี้สติสัมปชัญญะจะไปยึดครองไหม?”

นี่เหมือนกับเราถือมีดอยู่เล่มหนึ่ง เราถืออาวุธชิ้นหนึ่ง อาวุธอะไรก็ได้ จะไปทำลายคนอื่นเราทำลายด้วยอะไร? อาวุธที่ใช้แล้วก็คือจบนะ สติสัมปชัญญะทุกอย่าง มรรค ๘ มันเป็นเครื่องดำเนิน มันไม่ใช่ความจริง มรรคนะ สติ สมาธิ ปัญญานี่เหมือนรถ รถพาเรามาส่งถึงที่แล้วนะ เราถึงที่ รถก็จอดอยู่นั่น

ศีล สมาธิ ปัญญามันเป็นมรรคญาณ มันเป็นญาณ มันเป็นพาหะที่พาจิตเราไปถึงที่สุด ฉะนั้น เราจะต้องทิ้งมันอยู่นะ สิ่งนี้เราจะต้องทิ้งมันอยู่ สิ่งนี้ถึงที่สุด เห็นไหม ดูสิเวลาหลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ท่านบอกว่าท่านใช้ปัญญา ใช้ปัญญาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุด พอถึงที่สุดนะปัญญาก็จบสิ้น ปัญญาสิ้นสุด กิเลสสิ้นสุด ทุกอย่างสิ้นสุดจบหมด

อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเป็นสติสัมปชัญญะ เป็นต่างๆ เป็นสติสัมปชัญญะ อันนี้มันเป็นเครื่องดำเนินไปเรื่อยๆ แต่ถึงที่สุดแล้วพวกนี้จะหยุดหมด แล้วมันจะเกิดธรรม เห็นไหม ธรรมธาตุ ธรรมธาตุคือผลตอบรับ พวกศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเครื่องดำเนินให้เราไปถึงที่สุด

ฉะนั้น เครื่องดำเนินสำคัญไหม? เครื่องดำเนินสำคัญ ถ้าเราไม่มีรถ ไม่มีรา ไม่มีพาหะเราจะไปถึงที่ได้ไหม? เราไปถึงที่ได้ แต่ถ้าไปถึงที่ได้แล้วสิ่งที่ดำเนินมาเราจะไปได้ไหม? เรือแพ ถึงที่แล้วเราจะปล่อยเรือแพไว้ที่แม่น้ำ เราจะขึ้นจากแม่น้ำ นี่ก็เหมือนกัน เราทำของเราไป

นี่สิ่งที่ว่า “สติสัมปชัญญะจะครองจิต ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไหม?”

ถ้าถึงที่สุดแล้วนะสติก็คือสติ ทุกอย่างเขาว่าสติเป็นสมมุติ เขาว่าตายห่าเลยนะ เขาบอกว่าสติเป็นสมมุติ ทุกอย่างเป็นสมมุติ โอ้โฮ มันเป็นปรมัตถ์นะมึง มันเป็นสมมุติหรือ? (หัวเราะ) เวลาถึงที่สุดแล้วพวกนี้เป็นเครื่องดำเนินทั้งหมด พอถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจว่าสิ่งที่เป็นเครื่องดำเนินนี่เป็นตัวจริง เห็นไหม เราจะไม่ทำงานให้มันเจริญขึ้นไปอีก เราถือว่านี่คือเป้าหมาย

ฉะนั้น สิ่งใดก็แล้วแต่ เราไม่ยึดเอาสิ่งใดเป็นเป้าหมาย ทุกอย่างเป็นเครื่องดำเนินทั้งหมด แล้วให้มันตอบมาตามความเป็นจริง นี่สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง ให้สิ่งนั้นตอบสนองมาเลย ให้มันเป็นจริงขึ้นมาต่อหน้าเราเลย อย่ายับยั้ง อย่ายั้งมือ อย่าทำอะไร เพราะยั้งไว้ไม่ได้ ต้องไปทั้งหมด ไปทั้งหมดเพราะอะไร? เพราะ ๙๙.๙๙ เออ ไอ้จุดหนึ่งนั่นล่ะ เดี๋ยวมันคลายตัวออกมานะล้มหมดเลย ฉะนั้น ใส่ไปเต็มที่เลย สติสัมปชัญญะทุกอย่างเต็มที่ไปเลย ไม่ยับยั้งอะไรไว้เลย ปล่อยเต็มที่เลย

เวลาขั้นของปัญญา เห็นไหม หลวงตาบอกขั้นของปัญญาไม่ต้องยับยั้ง ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต ขั้นของสมาธิ จำนวนที่น้ำล้นฝั่งมันได้แค่นั้น ขั้นของสมาธิคือว่ามันล้นภาชนะ สมาธิคือสมาธิ คือไม่ได้มากกว่านั้นว่าอย่างนั้นเลย สมาธิคือสมาธิ แต่ถ้าขั้นของปัญญาแล้วมันจะไปได้กว้าง กว้างเพราะอะไร? เพราะเวลาผู้ที่สำเร็จมรรคผลแล้วนี่ อำนาจวาสนาบารมีคนไม่เหมือนกัน แต่ความสะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน อำนาจวาสนาบารมีไม่เหมือนกัน เพราะว่าจิตนี้มันได้สร้างอำนาจวาสนามาแตกต่างกัน

คำว่าสร้างวาสนามาต่างกัน วาสนาใหญ่ วาสนาเล็ก วาสนาใหญ่ก็ต้องชำระล้างใหญ่ วาสนาเล็กก็ต้องชำระล้างเล็กไง ถ้าวาสนาชำระล้างเล็ก พอมันสะอาดบริสุทธิ์แล้วนะก็สะอาดบริสุทธิ์เฉยๆ แต่ว่าสิ่งที่เป็นบารมีมันไม่เท่าไร แต่ถ้าอำนาจวาสนาใหญ่ต้องล้างใหญ่ ต้องทำใหญ่เลย แต่พอสำเร็จแล้วนะ โอ้โฮ มันมีอภิญญา มันรู้วาระจิต มันรู้ไปหมดเลย

ฉะนั้น ตรงนี้ ตรงที่แบบว่าวาสนาเล็ก วาสนาใหญ่นี่อีกอย่างนี้ บารมีใหญ่ บารมีเล็ก เห็นไหม ถ้าบารมีกว้างขวาง ทำเสร็จแล้วจิตนี้จะมีคุณภาพสูงมากในเรื่องอนาคตังสญาณ ในเรื่องรู้วาระจิต ในเรื่องสร้างประโยชน์ แต่ถ้าบารมีเล็กนี่สร้างประโยชน์ได้น้อย แต่! แต่สะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน รู้อริยสัจ รู้ความจริงเหมือนกัน แต่อำนาจวาสนานี้ใหญ่หรือเล็กมันสร้างประโยชน์แตกต่างกัน

นี่พูดถึงประโยชน์นะ นี้บารมีใหญ่ก็ต้องสร้างมามาก ต้องเหนื่อยมาก เวลาภาวนาแล้วงานก็มาก กิเลสมันสะสมไว้เยอะ ก็รู้มาเยอะ ก็ต้องต่อสู้เยอะหน่อย ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ถึงบอกให้ทุ่ม ๑๐๐ ไปไง เทียบกันไม่ได้นะ ทำไมคนๆ นี้เขาทำขนาดนี้แล้วเขาสำเร็จ เราทำมากกว่าเขา ๒ เท่าแล้วนะ ๓ เท่าแล้วนะ อู๋ย ทำมากกว่าเขาตั้งเยอะแล้วนะ ๑๐๐ เท่า ๑,๐๐๐ เท่า ของใครของมันไง

ฉะนั้น เวลาใช้ขั้นของปัญญาเราถึงบอกว่าเต็มที่ไปเลย เพราะถ้าบอกว่าสติสัมปชัญญะมันจะแย่งครองกัน สติสัมปชัญญะจะครอง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราทำเต็มที่

นี่พูดถึงถ้าทำแล้วจะเป็นประโยชน์ไหม? เป็นแน่นอน! จบได้

ทีนี้อันนี้นะ อันนี้ข้อต่อไป

ถาม : ๖๕๙. เรื่อง “ฝันที่เป็นธรรม”

หลวงพ่อ : เขาถามมาโดยที่เขาบอกว่าเขาไม่มีปัญหาหรอก แต่เขาอยากถาม (หัวเราะ) ฟังนะ เขาบอกอันนี้ไม่เป็นปัญหาหรอก เขาเขียนมาบ่อย ของเขาไม่เคยเป็นปัญหาเลย แต่อยากถาม

ถาม : นมัสการหลวงพ่ออย่างยิ่ง โยมได้รับฟังคำตอบเป็นคุณค่าของพุทโธ ให้ระลึกถึงพระแล้ว ทุกคำพูดของหลวงพ่อเป็นกำลังใจให้โยมอย่างสูง ขอกราบขอบพระคุณมากค่ะ โยมได้ฟังเรื่องความฝันมาหลายครั้ง เป็นความจริงที่ว่าความฝันนั้นยากที่จะอธิบาย และจะหาหลักฐานพิสูจน์ไม่ได้ แต่ถ้าเราสามารถเก็บเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์จากความฝันนั้นได้ ความฝันนั้นมีคุณค่าต่อเจ้าของ

ความฝันของโยมเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันมานาน โยมได้รู้จักพระกรรมฐาน ตั้งแต่ยังไม่สนใจปฏิบัติภาวนาก็จากความฝัน คือฝันเห็นพระ ๒ รูปอยู่หน้าถ้ำบนเขา โดยโยมฝัน โยมรู้เองว่าชื่อ ๒ ชื่อ โยมเอาไปเล่าให้คนที่เคยบวชฟังเขาบอกว่า “มีจริงๆ หลวงปู่... กับครูบาอาจารย์นั้น” แต่โยมก็ไม่ได้สนใจ เพราะไม่รู้จักพระทั้ง ๒ องค์นั้น

โยมยังฝันแบบโลกๆ สนุกสนาน หาประโยชน์ไม่ได้ แต่หลังจากที่เริ่มปฏิบัติภาวนา ความฝันก็เริ่มเปลี่ยนไป เป็นความฝันที่ให้สติ ให้ข้อคิด ให้กำลังใจในการปฏิบัติมากขึ้น โยมเคยฝันถึงคนที่กำลังจะตายด้วยความทุรนทุราย มันสะเทือนใจมาก ได้แต่ถามตัวเองว่าเขาทำอะไรไว้หนอจึงทรมานอย่างนั้น?

โยมเข้าไปจับแขนของเขา มันก็เกิดการพิจารณาขึ้นมาว่าร่างกายนี้ยังอุ่น เพราะยังมีลมหายใจ แต่เมื่อลมหายใจหมดลงก็จะแข็งและเย็นชืด ไม่ผิดกับท่อนไม้ แล้วแขนข้างนั้นก็แสดงอาการนั้นให้ได้สัมผัส โยมกระซิบบอกให้เขาทำใจให้สงบ อย่าห่วงอะไรเลย ปล่อยวางทุกอย่างเสีย ขอให้ไปได้แล้ว

แม้จะเป็นแค่ความฝัน แต่ถ้าเราพิจารณาให้ถูกต้อง เรื่องในสิ่งที่ดีงาม ความฝันนั้นก็คงไม่ได้ไร้สาระจนเกินไป อย่างก่อนที่หลวงตาจะละสังขาร ๒ ปี โยมฝันว่ามีผู้ปฏิบัติธรรมนุ่งขาวห่มขาวท่านหนึ่งมาบอกโยมว่า หลวงตาท่านเป็นพระอรหันต์ ฝันแบบนี้แหละทำให้ใจของเราชุ่มชื่นและมีกำลังใจ

ที่เขียนมานี้ก็ดูจะไม่เป็นคำถามอีกแล้ว แต่โยมอยากฟังคำสอนและธรรมะจากหลวงพ่อ เพราะหลวงพ่อมักจะพูดถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่โยมไม่มีโอกาสได้กราบในชีวิตนี้ แต่ได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน และพยายามปฏิบัติตามท่านนั้น

หลวงพ่อ : นี่คำถามเหมือนไม่เป็นคำถาม แต่อยากถาม อยากเกี่ยวโยงไง นี่เขาพูดถึงพระ ๒ องค์นั้นเขาพูดถึงหลวงปู่ขาว เขาฝันเห็น ทีนี้ความฝันคนเรานี่ เห็นไหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้พูดแล้ว (หัวเราะ)

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “จิตหนึ่งเกิดในวัฏฏะ” เห็นไหม วัฏฏะวนเราเกิดตายๆ มามหาศาลเลย เกิดตายนะ จิตหนึ่งถ้าเราเอาซากศพที่เราเคยเกิดเคยตาย โลกนี้ยังน้อยไป ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาฝัน เขาบอกเขาฝันถึงครูบาอาจารย์ ฝันต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นเลยนะ แต่จิตใจทำไมมันยังซาบซึ้ง จิตใจทำไมมันเกี่ยวพัน จิตใจทำไมมันรู้สึกว่ามันใกล้ชิดล่ะ?

นี่เราเคยเกิดเคยตาย ไม่รู้ชาติใดชาติหนึ่งที่เคยเกิดเคยตายร่วมกันมา แต่เวลาเกิดในปัจจุบันนี้ เวลาเกิดตายแล้วนะ คนที่มีสติสัมปชัญญะนะ ถ้าเขาระลึกอดีตชาติได้เขารู้ของเขานะ แต่เขาไม่แสดงตัวหรอก เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเรารู้ของเรา แต่เขาไม่รู้กับเราหรอก คนที่เขาไม่รู้กับเรา เราไปพูดเนี่ย

อ้าว แล้วถ้ามันเป็นธรรมนะ อย่างเช่นหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบท่านนิมิตว่าคู่บารมี ที่ว่ามาเกิดเป็นไก่ มาเกิดเป็นไก่นะ แล้วหลวงปู่ชอบท่านก็ไม่เชื่อ พอบอกท่านไม่เชื่อใช่ไหม? ไม่เชื่อพรุ่งนี้เช้าลองดูนะออกบิณฑบาตจะมาแสดงตัว พอท่านออกไปบิณฑบาตนะมีแม่ไก่มันเดินมานะ แล้วมันมาจิกจีวร ฉับ! ฉับ! ฉับ! เลยนะ นี่เชื่อไม่เชื่อล่ะ? ฉะนั้น นี่หลวงปู่ชอบท่านพูดอย่างนั้น

นี้พูดถึงเราไง สมมุติถ้าเรานี่ บอกว่าอดีตชาติคู่บารมีของเราเกิดเป็นสัตว์เราจะพูดกับใครล่ะ? แล้วมันมีประโยชน์อะไรล่ะ? โอ๋ย ถ้าบอกว่าเป็นเศรษฐีนีอย่างนี้ บอกว่าโอ๋ย เป็นคู่บารมี โอ๋ย อยากจะอวดเลย นี่ๆ คู่บารมี เห็นไหม แต่ถ้าบอกว่าคู่บารมีเป็นไก่ เป็นแม่ไก่ มันไม่พูดให้ใครฟังเลย เงียบ เพราะแม่ไก่เราไม่ได้ประโยชน์อะไรกับมันไง อย่างดีมันก็ไข่ให้กิน แต่ถ้าเป็นเศรษฐีนีนะ ถ้าเป็นคู่บารมีกับเรา มันคนละเรื่อง (หัวเราะ)

ฉะนั้น ถ้าบอกว่าระลึกอดีตชาติได้นี่ มันจะอดีตชาติอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นความจริง พระที่มีคุณธรรมนะ มีนะเราไม่อยากพูดออกมาเพราะอยู่ในวงกรรมฐาน หลวงตาบอกว่า “ครอบครัวกรรมฐาน” ครูบาอาจารย์ของเรานี่ท่านสงสัยสิ่งใดในเรื่องอภิญญา ในเรื่องของโลกที่เขาทำกันนะ ท่านตรวจสอบหมดแหละ แล้วท่านไปทำของท่านอยู่คนเดียวไม่มีใครเห็นหรอก เว้นไว้แต่! เว้นไว้แต่บางคราวคนเขาไปแอบดู แอบเห็นเข้า อันนั้นมันช่วยเหลืออะไรไม่ได้ แต่ความจริงเขาไม่เอามาพูดกันหรอก

นี่พูดถึงคนที่เป็นความจริงนะ เพราะความจริงเราจะยึดได้อย่างไรในเมื่อเราก็ตายไปแล้ว แล้วเรามาเกิดเป็นพระขี้ครอกอย่างนี้ แล้วเราจะไปเป็นอดีตชาติกับใคร? แต่ถ้าจิตมันสัมผัสไป เราก็รับรู้ไว้ในใจ แล้วมันก็สังเวชไง สังเวชว่านี่ชาติที่แล้วเกิดเป็นอย่างนั้น ชาติที่แล้วเกิดเป็นอย่างนี้ ตอนนี้มาเกิดเป็นพระขี้ครอกทุกข์ๆ ยากๆ อยู่นะ มันก็ยิ่งสะเทือนใจ มันเป็นธรรม เห็นไหม คือถ้ารู้สิ่งใด รู้ขึ้นมาเพื่อสอนตัวเองไง เรารู้แล้วก็เก็บไว้

หลวงปู่มั่นรู้เยอะมาก แล้วท่านไม่พูดให้ใครฟัง เพราะพูดแล้วนะ อย่างเช่นหลวงปู่มั่นท่านได้ประสบการณ์อันเดียว อันเดียวตอนที่อยู่ถ้ำสาริกา หลวงตานั่นน่ะท่านมีครอบครัวมาก่อน แล้วเวลากลางคืนท่านคิดถึงครอบครัว เห็นไหม คิดแล้วคิดเล่า คิดจนสว่างเลย หลวงปู่มั่นท่านอยากจะเตือนไง เช้าขึ้นมาไปบิณฑบาตนะ “อ๋อ.. หลวงตา แต่งงานกับอดีตสีกานี่แต่งกี่รอบ แต่งทั้งคืนเป็นอย่างไร?” สั่นจนหนีไปเลยนะ

คนๆ หนึ่งอยากบอก อยากเตือน อยากช่วยเหลือ อยากช่วยยับยั้งความคิดเพื่อประโยชน์ คนที่บอกบอกเพื่อประโยชน์ เพื่อให้เขาได้มีสติ ให้เขาได้ยั้งคิด เพราะความคิดอย่างนั้นมันเผาลนตัวเอง คนๆ หนึ่งเขามาบอกมาเตือน ด้วยความละอาย ด้วยความละอายคิดแบบโลก เช้าขึ้นมาเก็บของหนีไปเลย ไม่กล้าอยู่อีกเลย เห็นไหม

คนๆ หนึ่ง หลวงปู่มั่นท่านเพื่อประโยชน์ ท่านเตือนเพื่อประโยชน์ เพื่อให้เขาได้สติ ให้เขายับยั้งความคิดของเขา แต่ผู้ที่รับความรู้ความเตือนอันนั้น เหมือนคนไข้ เวลาหมอให้ยาแล้วกลับเป็นผล เป็นโทษ ท่านเลยสังเวชใจ ตั้งแต่นั้นมาท่านจะไม่ค่อยพูดเรื่องนี้ จะพูดก็ดูแล้วดูอีก แล้วดูอย่างเช่นหลวงตาท่านบอก หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ บอกว่าท่านนี่ถ้าอยากรู้อะไรท่านเป็นคนหัวดื้อ คือต้องเอาให้ได้

ถ้าสงสัยกับหลวงปู่มั่นนะ วันนี้ถามอย่างหนึ่ง ถ้ายังไม่ตอบอาทิตย์หน้าถามใหม่ อาทิตย์ต่อไปก็ถาม อาทิตย์ต่อไปก็ทำเข้าไป ก็ซอกแซกเข้าไปถาม หลวงตาท่านก็นักล้วงความลับ ท่านก็ไปล้วงเอาจากหลวงปู่มั่น เรื่องอะไรสงสัยนะเอาแล้ว ไม่มีใครตอบได้เท่าหลวงปู่มั่น วันนี้ไปนวดเส้นก็ต้องถาม ถ้าไม่ตอบคราวหน้านวดเส้นก็ถาม ถามซอกถามแซกนะเดี๋ยวก็ได้ ฉะนั้น สิ่งนี้มันมีเยอะ แต่เพียงแต่ว่าเขาไม่พูดกันไง

ทีนี้พูดถึงความฝันนะ ความฝันนี่มันเป็นเรื่องส่วนตัว มันต้องมีอะไรเกี่ยวพันกันมา พอความเกี่ยวพันกันมา ฝันแล้วมันก็เตือนสติเรานั่นล่ะ อะไรก็เตือนสติได้ เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้อดีต อนาคต มันมีมากไปหมดเลย แต่ปัจจุบันชีวิตเรา นี่ปัจจุบันชีวิตเราต้องแก้ที่นี่ ฉะนั้น คนที่บารมีใหญ่ เห็นไหม ความฝันต่างๆ แต่คนบารมีปานกลางก็เล็กหน่อย แต่บางคนนะมันตรงข้ามเลย บางคนตรงข้ามว่าไม่มีฝันเลย ไม่มีฝัน ไม่ฝันเลย มันอยู่ที่เวรกรรมของคน ฉะนั้น ถ้าความฝันเป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์

ฉะนั้น บางคนนะความฝันเขาไม่มี แล้วอีกอย่างหนึ่งตอนนี้วิทยาศาสตร์ ทุกอย่างต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น วิทยาศาสตร์เขาพยายามพิสูจน์ เห็นไหม พิสูจน์ว่าความฝันเกิดจากเส้นประสาท เกิดจากกระบวนการของสมอง สมองมันทำงานผิดปกติ เวลาหลับไปแล้วสมองมันก็ไม่ได้หลับ นี่ไอ้เราก็ไม่กล้าพูดว่าฝันแล้วนะ (หัวเราะ)

ฝันแล้วจะไปพูดกับคนอื่นว่ากูไม่ได้ฝันนะ เพราะเดี๋ยวสมองกูผิดปกติก็ไม่กล้าพูดอีก พอวิทยาศาสตร์มันเจริญขึ้นมานะ ไอ้ความจริง ไอ้สิ่งที่เป็นธรรมนี่ไม่กล้าแอะเลยนะ ขายขี้หน้าเขาอีกนะ แต่เวลาไอ้ขี้โม้นี่ไปโม้เรื่องร้อยแปดพันเก้า ก็โม้กันไปจนศาสนาอยู่ไหนก็ไม่รู้ นี่พูดถึงเอาความพอดีไม่ได้ไง ถ้าเอาความพอดีไม่ได้ เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา เราดูแลของเรา

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ที่มีสตินะ ใครมาถามปัญหาเรื่องฝัน เรื่องนิมิต เรื่องต่างๆ นี่รับรู้ไว้ แล้วเป็นประโยชน์ไหม? ถ้าเป็นประโยชน์ก็พูดเพื่อแค่นั้นไง พูดเพื่อให้คนที่ถามนี่ ๑. หมดความลังเลสงสัย ๒. อย่าให้ตื่นกลัว ความฝันเวลาตื่นกลัวแล้วนี่ไม่กล้าทำอีกไง พอไปเจอสิ่งใดแล้วนี่มันแหยง แล้วคนๆ นั้นจะไม่ได้ประโยชน์

ฉะนั้น ถ้าคนๆ นั้นมันตื่นกลัว เราต้องพยายามบอกว่าอย่าตื่นกลัว สิ่งนั้นเป็นสมบัติของเรา แล้วเราแก้ไขให้สิ่งนั้นเป็นปกติ แต่ถ้าเขาเป็นประโยชน์ของเขา เอาตรงนั้นน่ะยุเลย อย่างเช่นหลวงตาท่านฝันแล้วไปพูดให้หลวงปู่มั่นฟัง หลวงปู่มั่นบอก “เออ! มันเป็นคติ เห็นไหม ท่านจะต้องอย่างนี้แหละ ท่านต้องลำบากก่อน”

นี่หลวงปู่มั่นท่านเอาความฝันของหลวงตาแล้วยุเลยนะ หลวงตาบอกว่าเหมือนหมาตัวหนึ่ง เจ้าของยุนี่มันคึกใหญ่เลย มันคึกใหญ่เลยนะ นี่ถ้าครูบาอาจารย์เป็นประโยชน์ ท่านเอามาเป็นประโยชน์ เห็นไหม ยุหมาให้มันคึก คึกแล้วมันจะได้ต่อสู้ ได้เข้มแข็ง

ฉะนั้น ของแบบนี้ “วิปัสสนาธุระ คันถธุระ”

คันถธุระคือการปกครองทางวิทยาศาสตร์ การปกครองโดยธรรมและวินัย วิปัสสนาธุระ วิปัสสนาญาณ นี่ปัญญาญาณ ภาวนามยปัญญา ปัญญาการฆ่ากิเลส จิตใจของคนแต่ละคนผ่านวัฏฏะมามหาศาล บางคนบารมีใหญ่โตมาก อย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์เป็นอาจารย์หลวงปู่มั่นนะ แต่หลวงปู่เสาร์แก้หลวงปู่มั่นไม่ได้ เห็นไหม แม้แต่หลวงปู่มั่นเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เสาร์ อาจารย์ว่า

“เออ อย่างนี้เราไม่เคยมีหรอก ท่านต้องแก้ตัวท่านเอง”

เวลาหลวงปู่เสาร์ท่านสอนหลวงปู่มั่นนะ เวลาไปถามปัญหา หลวงปู่เสาร์บอกว่า

“อืม ท่านบารมีใหญ่ ท่านต้องแก้ตัวท่านเอง เราแก้ท่านไม่ได้หรอก”

หลวงปู่มั่นท่านก็ต้องไปหาของท่านเอง แก้ของท่านเอง แก้ของท่านเสร็จแล้วท่านถึงมาแก้หลวงปู่เสาร์ นี่เรื่องอำนาจวาสนาบารมีของคนมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วคนที่มีอำนาจวาสนามันก็จะรู้จะเห็นของมันไป แล้วครูบาอาจารย์ต้องทัน ทีนี้ครูบาอาจารย์ทัน ต้องแก้ไขตรงนี้ไง

ฉะนั้น ของอย่างนี้มันมีประจำ อย่างเช่นว่าจิตสงบแล้วเป็นนิมิตๆ มันผิดๆ ถ้ามันผิด เวลากินอาหารเข้าไป เห็นไหม คนแพ้อาหารนะ อาหารชนิดเดียวกัน คนหนึ่งกินแล้วอร่อย คนหนึ่งกินแล้วอุดมสมบูรณ์ อีกคนหนึ่งกินอาหารชนิดเดียวกันเลยแล้วแพ้ อ้าว บอกมาสิมันแพ้เพราะอะไร? ก็อีกแล้ว มันแพ้เพราะเลือดมันไม่ดี มันก็ว่ากันไป

นี่ก็เหมือนกัน จิตเหมือนกัน กำหนดพุทโธเหมือนกัน กำหนดภาวนาเหมือนกัน ทำไมจิตหนึ่งลง จิตหนึ่งไม่ลง ทำไมจิตหนึ่งต้องการอย่างไร? นี่ครูบาอาจารย์ถ้าวิปัสสนาธุระมันเป็นอย่างนี้ ถ้าคันถธุระนะต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ไง คันถธุระต้องตัดสินเลย เป็นกฎหมายเลย แต่วิปัสสนาธุระเขาจะดูเข้าไปในใจ แล้วใจนี้มันเป็นจริงไหม? มันมีนิมิตจริงหรือเปล่า? มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?

ถ้ามันไม่มี ไม่มีแต่เขามีโอกาส เขาทำของเขาไปมันก็ต้องส่งกันไป วิปัสสนาธุระถึงต้องติดครูบาอาจารย์ไง ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ เป็นคนบอก นี่สำคัญมากเลย คันถธุระมันก็เหมือนระบบ เหมือนโรงพยาบาล เหมือนเทคโนโลยี วิปัสสนาธุระก็คือหมอ หมอเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีนั้น เทคโนโลยีมันจะมารักษาคนได้ไหม?

นี่คันถธุระ วิปัสสนาธุระมันก็เป็นอย่างนั้นไป แต่เดี๋ยวนี้มันหมดไปแล้ว ก็ไม่ต้องพูดถึงมัน เฮ้อ! มันเรื่องของโลกเนาะ

ถาม : ลูกขอถามว่าเวลาภาวนาจิตสงบ พอใกล้จะละเอียดรวมลง สักพักจิตมันจะเฮือกขึ้นมา จะเป็นอย่างนี้บ่อยมากค่ะ อย่างนี้หนูควรแก้อย่างไร?

หลวงพ่อ : ถ้าจิตมันละเอียดลงได้ ถ้ามันเฮือกเราก็ตั้งสติให้ดี เฮือกครั้งแรกนี่นะ ความจริงเฮือกครั้งแรกหรือเฮือกใหม่ๆ มันไม่เป็นโทษหรอก นี้เพียงแต่พอมันเฮือกขึ้นมาแล้วนี่ ความสนใจของเรา เพราะความสนใจเราไม่อยากให้มีเฮือก อยากให้มันสงบเรียบๆ ไป ทีนี้พอมันเฮือกขึ้นมาปั๊บมันก็เกิดการกระเทือน พอเกิดกระเทือนอันนี้มันไม่ต้องการ เห็นไหม

ความไม่ต้องการ วิภวตัณหา ไม่ต้องการให้เกิด ทีนี้พอไม่ต้องการให้เกิดมันก็เหมือนตัณหา ตัณหาคืออยากได้ วิภวตัณหาคือปฏิเสธ พอเราปฏิเสธว่าไม่อยากได้สิ่งนี้ การปฏิเสธนั้นไม่อยากได้แต่มันมี มันก็เลยกลายเป็นติดโดยไม่รู้ตัว พอติดไม่รู้ตัว แล้วพอภาวนาไปมันก็จะเกิดอย่างนี้ เพราะมันเป็นวิภวตัณหา เอาอีกแล้ว มาอีกแล้ว เอาอีกแล้วๆ มันเป็นอย่างนี้ไง ถ้าเป็นอย่างนี้ปั๊บเราต้องค่อยๆ แก้

ถ้าเรากำหนดพุทโธนะ จิตมันสงบเราก็สงบไป แล้วพยายามอย่าไปนึกถึงมัน ถ้ามันจะเฮือก จะอะไรนี่ เออ เฮือกเบาๆ หน่อย เฮือกแล้วก็แล้วกันไป ค่อยๆ เจือจานไปอย่างนี้ เพราะมันเป็นวิภวตัณหา มันเป็นความติด มันเป็นความติดจากภายใน พอเป็นความติดจากภายในเราก็แก้อย่างนี้

ไอ้นี่เฮือกนะ บางคนนั่งๆ ไปกลืนน้ำลาย อึ๊ก เท่านั้น! เดี๋ยวก็กลืนอีก อึ๊ก ยิ่งลึกเข้าไปใหญ่ แค่กลืนน้ำลาย แค่น้ำลายแตกจากลิ้น นี่มันเป็นอย่างนั้นแหละ แต่ธรรมดามันก็มีอยู่แล้ว น้ำลายก็มีอยู่แล้ว ลิ้นก็มีอยู่แล้ว ปกติก็มีอยู่แล้ว แต่เพราะความฝังใจ วิภวตัณหามันปฏิเสธไม่อยากให้มีไง เวลาปฏิบัติทุกคนอยากให้เรียบง่าย ทุกคนอยากให้ดีหมดเลย แล้วพออะไรมันสะดุดใจ นี่กิเลสมันร้ายอย่างนี้ พอสะดุดใจเท่านั้นแหละ หมับ! เสร็จเลย แผ่นเสียงตกร่อง แล้วคราวนี้กว่าจะเกลื่อนออกหา

แผ่นเสียงนี่นะเวลามันตกร่อง ร่องมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เขาจะแก้ให้มันดีขึ้นมา โอ๋ย ค่อยๆ แต่ง ค่อยๆ แต่ง จิตนี่ถ้าพอมันจับหมับ มันก็ค่อยๆ แต่ง ค่อยๆ แต่ง จนกว่ามันจะออกหมด ค่อยๆ แต่งไป แต่ถ้าเราไม่เข้าใจ เห็นไหม ไม่ต้องการๆ เวลาแผ่นเสียงมันตกร่องนะ เราจะเอาค้อนทุบเลยมันแก้ได้ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ไม่ต้องการ ไม่อยากได้ ก็เหมือนเรายิ่งไปเจาะจง ยิ่งจะต้องการให้มันไม่มี แผ่นเสียงมันยิ่งร่องใหญ่ขึ้นไป ร่องใหญ่ขึ้นไป เขาค่อยๆ เกลื่อน เขาไม่ใช่เอาค้อนทุบ ไอ้นี่แผ่นเสียงตกร่องเอาค้อนทุบเลย แตกหมดนะ

นี่ก็เหมือนกัน พอมันเป็นแล้วไม่อยากให้เป็น ไม่อยากให้เป็นๆ นี่มันเหมือนค้อนทุบ ยิ่งไม่อยากให้เป็นมันก็ยิ่งเป็นใหญ่เลย เพราะอะไร? เพราะมันเป็นนามธรรม เป็นความยึดมั่น แต่ถ้าฟังธรรมวันนี้ เห็นไหม พอเข้าใจแล้วนะ ถ้ามันจะเฮือก อืม ค่อยๆ อ้าว เฮือกก็แล้วไป อ้าว ยังไม่มา ไม่มาก็ไม่จำเป็น เดี๋ยวๆ มันจะเฮือก มันยังไม่ได้เฮือก เดี๋ยวจะเฮือกนั่นล่ะ แล้วมันก็ล่อกันอยู่อย่างนั้นแหละ พอถ้าเฮ๊อะ! นี่เสียท่าทุกทีเลย โอ้โฮ กิเลสนี่ร้ายนักนะ

นี่การปฏิบัติ ถ้าใครมีอาการแบบนี้ค่อยๆ ไป แล้วพอพ้นจากอาการแบบนี้มันก็ไปติดอาการอันใหม่ เพราะว่าคำว่าติดอาการนะ จิตนี่มันเป็นยางเหนียว มันพร้อมจะติดอยู่แล้ว แต่ว่าไม่รู้จะติดในกิริยาอย่างใด ฉะนั้น พอติดกิริยาอย่างใดปั๊บเราก็เอากิริยาอย่างนั้นมาเป็นตัวตั้ง พอมันพ้นจากกิริยาอย่างนี้มันก็ไปติดกิริยาอย่างใหม่ อย่างใหม่ เพราะกิเลสมันเป็นแบบนี้ เราก็ค่อยๆ แก้ไขมันไป ค่อยๆแก้ไขไป ทำไป

นี่เวลาภาวนาไปอุปสรรคจะเป็นอย่างนี้ เวลาไม่ภาวนานะ จะนอนเล่นตีแปลงอย่างไร โอ๋ย มีแต่ความสุข ไม่มีอะไรเลย พอภาวนาปั๊บเป็นอย่างนี้เลย เหมือนเด็ก เด็กถ้าปล่อยมันเล่นตามสบายไม่เป็นไร เด็กพอบอกว่า อ้าว ทำการบ้าน โอ้โฮ มันร้องไห้แล้ว ทำการบ้านอีกแล้ว แต่ถ้ามันเล่นตามสบายไม่เป็นไรเลย

ไม่ภาวนา โอ๋ย ทำอย่างไรก็ได้ พอภาวนามีปัญหาแล้ว จิตเป็นอย่างนี้ เวลาเริ่มภาวนาจะมีปัญหาแล้ว ไม่ปัญหาใดก็ต้องปัญหาหนึ่ง มีแล้ว แต่ถ้าไม่ภาวนานะ สบาย อยู่ได้ เหมือนเด็กปล่อยมันตามสบายเลย พอบอกว่าเอากระเป๋ามาทำการบ้าน โอ้โฮ งอแงแล้ว นี่ไงเพราะเราจะเป็นคนดีเป็นอย่างนี้ ความดีถึงทำยาก ความดีทำยาก

ฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องความจริง จะบอกว่ามันเป็นความจริงอันหนึ่ง ฉะนั้น มีสิ่งใดเกิดขึ้นในจิตของเรา มันเป็นประสบการณ์ไง เหมือนลูกเสือไปเข้าค่าย พอเข้าค่ายมันมีประสบการณ์ มันแก้ไขของมันไปได้ ลูกเสือไม่เคยเข้าค่ายเลย มันก็ยังไม่รู้ว่าเราจะเจอประสบการณ์สิ่งใด เห็นไหม

มาปฏิบัติก็เหมือนกัน มาฝึกจิต เอาจิตมาเข้าค่าย พอจิตมันเข้าค่ายนี่มีอะไรเป็นอุปสรรค นี่มันเป็นประสบการณ์แล้วแก้ไขไป แต่ถ้ายังไม่เคยปฏิบัติเลย ยังไม่เคยเข้าค่ายเลย ก็คิดว่าตัวเองทำได้ทุกอย่าง แต่พอเข้าค่ายแล้วจะรู้เลยว่า โอ้โฮ กลางคืนนี่มันน่ากลัวผีเนาะ โอ้โฮ มันจะรู้เลย โอ้โฮ อย่างนี้มันน่ากลัวเนาะ แต่ถ้ายังจินตนาการอยู่ยังไม่รู้

จิต! ถ้าไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดเลย เราจะไม่รู้เลยว่าเราจะแก้ไขอย่างใด? เราจะมีอุปสรรคอย่างใด? เราจะมีอะไรกีดขวางเรา ทีนี้พอเราไปแก้ไขแล้วเราจะรู้เลย แล้วสิ่งนี้สิ่งที่เราเข้าไปประสบการณ์มันคืออะไร? ก็นี่ไงพันธุกรรมทางจิต จิตมันสร้างของมันมา ใครสร้างสิ่งใดมา สิ่งนั้นจะต้องออกมาโดยธรรมชาติของมัน เพราะ! เพราะเราจะไปล้างจิตเรา ล้างหัวใจให้เราสะอาด สิ่งใดที่มีอยู่ในใจนั่นล่ะมันจะแสดงตัวออกมา

ฉะนั้น มันก็อยู่ที่คน อยู่ที่วาสนาของคน คนทำสิ่งใดมา ถ้าคนทำดีมานะมันจะราบรื่น แต่ถ้าคนทำสิ่งใดมา เราก็ทำของเรามาพอสมควร ไปภาวนาเมื่อก่อน ภาวนาใหม่ๆ อยู่ในป่า นั่งทีไรนะจะนกเอย จะสัตว์อะไรเอยมันจะมาที่เราหมดเลยนะ พระองค์อื่นไม่โดน มีแต่เรานี่โดน อะไรก็แล้วแต่จะมาอยู่ที่เราหมดเลย

จนไปด้วยกัน จนพระบอก “ไอ้หงบนั่งนี่” แล้วเขาไปนั่งข้างบนนะ ช้างทั้งฝูงเลย นั่งขวางมันเลยนะ ไอ้เขาก็ไปอยู่ข้างบนหมด เรานั่งอยู่นี่มันเป็นทางมา ที่ถ้ำยาว นี่ครูบาอาจารย์ก็หลบไปข้างหมดเลย แล้วมันมาอย่างนี้เราก็นั่งนะ อู้ฮู นั่งด้วยทิฐิเฉยๆ ไม่รู้อะไรเลย จนเช้าขึ้นมา พอเช้าขึ้นมาลุกมานะ พอลุกมาเราก็ไปบิณฑบาตมาฉันกัน พระที่เป็นหัวหน้าพาไปก็บอกว่า

“โอ้โฮ เมื่อคืนนอนไม่หลับเลย”

“ทำไมล่ะ?”

“กลัวไอ้หงบมันโดนช้างเหยียบ”

ไอ้คนที่นั่งอยู่นี่ไม่รู้เรื่อง นั่งอยู่ด้วยความซื่อว่านั่งนี่ ไอ้คนที่เขารู้นะ เพราะทางช้างผ่านมันจะลงมาทางนี้ แล้วเราไปนั่งขวางมันนะ ด้วยความไม่รู้เรื่อง เพราะตอนนั้นยังไม่มีประสบการณ์ แล้วพอฉันข้าวเสร็จก็ไปดู ขี้มันเต็มไปหมดเลยนะ มีแต่รอยขี้ช้างใหม่ๆ แต่มันไม่มานะ มันไม่มา

นี่ด้วยความไม่รู้นะ ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ แต่ถ้ามันมีประสบการณ์มันรู้ขึ้นมา นี่ใครทำมาก ทำน้อย เราทำของเรามานะ ฉะนั้น คนอื่นเขาไม่โดนกันเพราะเขารู้แล้วเขาหลบเขาหลีก ไอ้ด้วยความไม่รู้เราก็ไปเผชิญมา เผชิญมาเรื่องสัตว์ เรื่องเสือ เสือก็เจอ เจอมาทั้งนั้นแหละ เพราะไปด้วยกัน ไปหาความจริงกัน

เวลาไปกับพระนี่ไปหาความจริงกัน ไปหาความจริงกัน คือเข้าป่าไปเอาความจริงกัน ไม่ใช่ไปโกหกหลอกลวง ไม่ใช่ภาวนาโกหก ไม่ใช่ธุดงค์โกหก ธุดงค์ไปเอาศักยภาพการธุดงค์มา เราไปด้วยกัน ไปด้วยกันจะไปชำระล้างตัวเอง ไปเผชิญความจริงกันมา แล้วเอามาพิสูจน์กัน ไม่ใช่ธุดงค์โกหก เที่ยวหลอกลวงเขา เขาไปว่าออกจากป่ามาเพื่อจะมาโกหกกัน ไม่ใช่อย่างนั้น

ฉะนั้น สิ่งนี้เจอมาเยอะ ฉะนั้น พอเวลาโยมเจอเราถึงเข้าใจ เราถึงเข้าใจ แล้วค่อยๆ มันจะเฮือกอย่างนี้ นี่เรายังบอกเลย เราทำดีทำไมมันเฮือกล่ะ? ถ้าเฮือกนี่ถ้าคิดถึงการแพทย์นะ เฮือกแสดงว่าขาดน้ำ กินน้ำแล้วมันไม่ดี หรืออะไรต่างๆ นะ ถ้าการแพทย์เขาพิสูจน์กันด้วยสรีระ พิสูจน์กันด้วยเทคโนโลยีใช่ไหม? แต่ถ้าธรรมะพิสูจน์ด้วยความรู้สึก พิสูจน์ด้วยใจ พิสูจน์ด้วยกรรม พิสูจน์กันที่ความรู้สึกไง

ความรู้สึกนี่ ถ้าพูดถึงมันไม่ใช่ร่างกาย มันเป็นความรู้สึก ฉะนั้น ความรู้สึกไอ้เรื่องกรรมมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เรื่องใจ เรื่องนิมิต เรื่องต่างๆ ฉะนั้น วิทยาศาสตร์กับธรรมะ เขาว่าธรรมะไม่เป็นวิทยาศาสตร์หรือ? มันเหนือวิทยาศาสตร์ มันรู้ดีกว่านั้นอีก ฉะนั้น ค่อยๆ แก้ไขไปแล้วมันจะจบเนาะ เอวัง