เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๖ ต.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมเนาะ ฟังธรรมเพื่อเตือนไง สิ่งที่ฟังธรรม สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ฟังทุกวันเลย ฟังทุกวันก็ตอกย้ำ ตอกย้ำนะ เวลาฟังธรรมนี่ถ้าเป็นธรรมะ คำที่พื้นๆ คำที่เราได้ยินทุกวัน แต่ถ้าจิตใจเราเปิดกว้างขนลุกเลยนะ ขนลุกสะเทือนใจเลยนะ ถ้าธรรมสะเทือนใจเรา นั่นล่ะมันทำให้เราได้สำนึก ถ้ามีสำนึกปั๊บนี่คนเรามีสติ เห็นไหม

คนเราเกิดจากธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นธรรมะ ธรรมะเป็นธรรมชาติ เขาว่ากันอย่างนั้น ทีนี้ธรรมชาติกำลังแปรปรวนมาก แต่! แต่ดูนะคนดำรงชีวิตโดยอยู่กับธรรมชาติ เวลาไปอยู่ในป่า ในเขา คนที่หาของป่า เขาหาของป่าเขาดำรงชีวิตของเขาได้ เขาหาของป่าตามฤดูกาลของเขา เขารู้ว่าในป่าพื้นเพนั้นมันจะมีพวกผลิตผลในป่าอย่างไร

เขาหาของป่าของเขาตามฤดูกาล ถ้าฤดูกาลมันสมควรของมัน สมดุลของมันเห็ดมันก็ออก เห็ดออก พวกผักหวานออก อะไรออก เขาหาดำรงชีวิตของเขาอยู่ในป่า เห็นไหม นี่อาชีพของเขา เขาดำรงชีวิตของเขาได้ แต่! แต่เวลาเราจะดำรงชีวิตของเราในหัวใจ ถ้าในใจของเราเวลาฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลงไป ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป ความเห็นมันเปลี่ยนแปลงไป แต่ละฤดูกาลมันก็ไม่เหมือนกัน ความไม่เหมือนกันเพราะอะไร? เพราะฤดูกาลมันจะทำให้ปรับระดับสมดุลของธรรมชาติ

จิตใจของเรา เวลาความโลภ ความโกรธ ความหลง มันไม่สมดุล เห็นไหม ความไม่สมดุลในหัวใจของเราก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ แล้วถ้าเราถือพรหมจรรย์ เราอยู่ของเรานะ ชีวิตเราถือเนกขัมมะ ถือพรหมจรรย์ ชีวิตของเราอยู่ของเราคนเดียว นี่เราอยู่ของเราคนเดียวนะ เราอยู่ในสังคม แต่อยู่คนเดียวเราต้องรักษาชีวิตของเราไป แล้วประสบการณ์ชีวิตมันก็แตกต่างกันไป

ใครมีครอบครัว ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก หลาน นี่วุฒิภาวะของใจมันแตกต่างกันไป คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เวลาเด็กมันก็วุฒิภาวะของเด็ก ความเห็นของเขา วัยรุ่นอารมณ์มันจะรุนแรงมาก เวลาคนทำหน้าที่การงานขึ้นมาแล้ว เขาต้องสื่อสารกับสังคม ต้องอยู่ในสังคม เขาต้องปรับตัวของเขาเข้าสังคม ผู้เฒ่าผู้แก่หมดวัยทำงานแล้ว เห็นไหม นี่ความรู้ความแตกต่างกัน นี้พูดถึงในครอบครัวของเรามันมีความเห็นก็แตกต่างกัน

ในหัวใจเรา ประสบการณ์ของการภาวนานะ ถ้าจิตใจมันเริ่มสงบขึ้นมา มันไม่สงบจริงมันก็ยังเร่ร่อน พอความเร่ร่อนขึ้นมา นี่เวลาลมพายุมันมา เห็นไหม ดูสิมันกวาดทุกๆ อย่างที่ขวางหน้ามัน เวลาเราจะมาประพฤติปฏิบัติ เราจะยับยั้งมัน จิตใจมันเร่ร่อน พอเร่ร่อนมันก็หาเหตุหาผลของมัน หาเหตุหาผลของมันขึ้นมานะ นี่ไอ้นั่นจะเป็นอย่างนั้น ไอ้นี่จะเป็นอย่างนี้ ลังเลสงสัยไปหมดเลย ทำสิ่งใดก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เวลาพายุมันกวาดไปแล้ว สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่เขาอุตส่าห์สร้างกันมา นี่มันกวาดไปราบเป็นหน้ากลองเลย เวลาเราอยากจะภาวนาของเรา เราก็ตั้งใจของเรา เห็นไหม นู่นก็ดี นี่ก็ดี นั่นก็ขัดแย้ง หัวใจมันลังเลสงสัยไปหมดเลย เวลาอารมณ์มันผ่านพ้นไป โลกนี้ราบหมด หัวใจราบไม่มีสิ่งใด ไม่มีสิ่งใดคือไม่มีอะไรตกค้างในหัวใจเลย มันก็แห้งแล้งไง แต่ถ้าเราหลบ เวลาพายุอารมณ์ความรู้สึกที่มันรุนแรง เราลังเลสงสัยไปหมดเลย

เราพยายามฝืน เราตั้งสติของเรา หลวงตาท่านพูดบ่อยนะ สติ เห็นไหม “ฝ่ามือสามารถกั้นคลื่นของทะเลได้” คลื่นของทะเล ดูสิทะเลมันบ้ามันรุนแรงขนาดไหน? สตินี่ เราเห็นว่าสติเป็นของเล็กน้อย สตินี่ ดูสิเหมือนฝ่ามือมันจะกั้นคลื่นได้อย่างไร? คลื่นเวลามันมา ๓ เมตร ๔ เมตร แล้วฝ่ามือเราจะปิดไว้ได้อย่างไร?

นี้ความเปรียบเทียบให้เห็น นี่ฝ่ามือ เห็นไหม มันมีสติยับยั้งมัน ยับยั้งมัน มันก็ตั้งตัวของมันขึ้นมา ถ้าตั้งตัวของมัน จิตใจมันมีหลักมีเกณฑ์ของมันขึ้นมา พายุก็รุนแรง เราก็ต้องขัดขืน ต้องต่อสู้มัน แต่เวลากิเลสมันยุมันแหย่ การภาวนามันต้องมีความสุข มีความสงบระงับ เราไปฝืนมันอย่างนี้มันเป็นความทุกข์ มันเป็นความไม่จริงไม่จัง

นี่กว่าจะที่มันจะสุข มันจะสงบระงับมันต้องมีสิ่งใดยับยั้งมันก่อน สิ่งใดยับยั้ง เห็นไหม ดูสิโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มันก็แตกต่างกัน เวลาโสดาปัตติมรรค สิ้นสุดกระบวนการของมันแล้ว มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด ถ้าโสดาปัตติมรรค เวลาสิ้นสุดกระบวนการโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรคมันไม่เกิดขึ้น เราจะไม่เจริญก้าวหน้าไปเลย เราก็หมุนเวียนอยู่ในผลที่เราเคยได้นั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรามีสติปัญญาของเรา เราว่าสติปัญญาของเรามันเป็นปัญญาๆ เราไม่กล้ายับยั้งสิ่งใดเลย เราว่าปัญญาอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้.. ปัญญาของกิเลสไง นั่นเป็นอย่างนี้ นี่เป็นอย่างนี้ นี่เป็นอย่างนั้น ลังเลสงสัยไปหมดเลย แต่ถ้ามันยับยั้งของมันนะ ตอนนี้เราไม่ต้องการความลังเลสงสัย สิ่งที่ว่าเราเป็นปัญญาๆ มันเป็นเครื่องไง เป็นตัวโน้มนำนี่มันคิดสิ่งใดก็แล้วแต่ จิตใจมันก็พะวักพะวนไปกับสิ่งนั้น เราก็ว่าเป็นปัญญาๆ นะ

ปัญญาอย่างนี้มันทำให้เราฟุ้งซ่าน ปัญญาอย่างนี้มันโน้มนำให้จิตใจเราส่งออก เห็นไหม เราไม่ต้องการมัน เราไม่ต้องการ เราต้องการคำบริกรรมเฉยๆ เราต้องการสิ่งที่ยับยั้งมัน เราต้องการสติ สติที่กำหนดพุทโธชัดๆ ขึ้นมายับยั้งกับพายุอันนั้น มันพายุเริ่มอ่อนแรงลง อ่อนแรงลง นี่ฝ่ามือเราจะเด่นชัดขึ้น สติของเราจะเด่นชัดขึ้น ปัญญาเราจะเด่นชัดขึ้น มันจะเห็นประโยชน์ไง

ไม่ใช่ว่าเริ่มต้นจะตั้งใจก็ว่าอันนี้ก็เป็นทุกข์ อันนั้นก็เป็นทุกข์ ปฏิบัติมันต้องมีความสุข ความสุขมันก็นอนจมอยู่กับหัวใจ ไม่ต้องทำสิ่งใดเลย ลมมาก็ราบไปกับมัน สิ่งใดมาเราก็ยอมจำนนไปกับมัน เห็นไหม เราไม่ได้ยอมจำนนไปกับเขานะ เราจะต้องฝืน คนพอฝืนได้ พอฝืนชนะได้หนหนึ่งมันจะเห็นเลยนะ พายุคราวนี้ก็พัดไปแล้วหนหนึ่ง เดี๋ยวพายุลูกใหม่ก็มาอีก เดี๋ยวมันก็มาอีก เราก็ก่อร่างสร้างตัวของเรา พายุมันมา คราวนี้เรามีที่หลบ เรามีที่กำบังของเรา

พายุมามันก็หอบน้ำมา หอบดินโคลนมา ดินเลนมา มันเป็นปุ๋ย เป็นสิ่งต่างๆ จะให้พืชพันธุ์ของเราเจริญงอกงาม นี่เวลาพายุมามันก็เห็นนะ แต่ถ้ามันไม่มีสติปัญญานะ เวลาพายุมานะ มันกวาดไปเราก็เสียใจนั่งคอตกนะ แต่ถ้ามีสติปัญญาพายุมันพัดมานะ มันเหลืออะไรไว้? มันเหลือสิ่งใดไว้? มันตกค้างสิ่งใดไว้ เห็นไหม

พอมีสติ มีปัญญานะ มันจะเห็นคุณเห็นโทษของมัน ถ้าไม่มีสติปัญญานะมันเห็นแต่โทษ เห็นแต่ความล้มลุกคลุกคลาน เวลาเราล้มลุกคลุกคลานมีแต่ความเสียใจ มีแต่ความเศร้าใจทั้งนั้นเลย แต่ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา เห็นไหม มันพัดมามันก็เป็นธรรมดา

ไฟ! ไฟ เห็นไหม เวลาเขาใช้แสงสว่าง เขาใช้ความอบอุ่น เขาใช้ทุกอย่าง เวลาน้ำมาเขาตัดไฟทิ้งก่อนนะ ไฟมันช็อตตายหมดเลยนะ ความคิดที่เป็นประโยชน์ มันทำให้จิตใจเรา มันทำให้เราเป็นคนดีขึ้นมา ความคิดที่เป็นโทษ ความคิดที่ทำลายเรา ความคิดเหมือนกัน เห็นไหม ไฟรู้จักใช้ ถ้าใช้ดีมันเป็นประโยชน์ ถ้าใช้ไม่ดีนะมันก็เผาบ้านเผาเรือนเรา

ความคิดเรานะ ถ้าเรามีสติปัญญา เห็นไหม มีสติปัญญายั้งคิดมันก่อน ยับยั้งมันก่อน แล้วเวลาคิดขึ้นมานี่แยกมัน ดูแลมันๆ แล้วพอปัญญามันละเอียดเข้าๆ คำว่าละเอียดเข้า แต่บอกว่าโอ๋ย.. นี่ปัญญานะ เวลาละเอียด โอ๋ย.. มันลึกซึ้งๆ มันจะลึกซึ้งจนเราหยั่งคาดไม่ถึงเลยนะ เวลามันโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มันจะลึกซึ้งจนเราหยั่งไม่ถึงเลย จนมหัศจรรย์

ถ้าไม่มหัศจรรย์นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์นะ ปรารถนามา เตรียมพร้อมมาทุกอย่างเลย พอตรัสรู้ขึ้นมาทอดธุระเลย “สอนเขาไม่ได้หรอก เขารู้ไม่ได้หรอก เขารู้กับเราไม่ได้หรอก” จนทอดธุระนะ นี่ดูสิมันลึกซึ้งขนาดไหน?

แต่เวลาสอนก็ต้องสอนกันอย่างนี้ สอนสิ่งเปรียบเทียบ เห็นไหม เหมือนตุ๊กตาเลย แล้วตุ๊กตามันกินไม่ได้ ตุ๊กตาเขาเอาไว้ให้เด็กมันเล่น ตุ๊กตานี่ผู้ใหญ่เขาไม่เล่นหรอก แต่ไอ้ผู้ใหญ่โง่ยิ่งกว่าตุ๊กตานั้นอีก ไม่รู้เรื่องสิ่งใดเลย แต่มันว่ามันรู้นะ มันรู้นะ แต่เปรียบเทียบขึ้นมา ตุ๊กตานี่เขาเอาไว้ให้เล่น ให้เพลิดเพลิน

จิต! จิตที่มันหลงไปกับสิ่งต่างๆ มันไม่รู้จักสิ่งใดเลยนะ ก็เอาสิ่งนี้เทียบเคียง อารมณ์ เห็นไหม ดูปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ความคิดนี่ไล่ความคิดเข้าไป ถ้าบอกว่า เมื่อกี้บอกว่าห้ามใช้ความคิด ความคิดมันเป็นตัวโน้มนำให้เราส่งออก แล้วเวลาใช้ปัญญาอบรมสมาธิให้ใช้ความคิดล่ะ? ใช้ความคิดถ้าเรามีสติ ใช้ความคิด เห็นไหม มันโน้มนำ มันส่งออก เราพิจารณาให้เห็นโทษของมัน พอเห็นโทษของมันมันก็ปล่อยนะ

คิดอย่างนี้ทุกข์ คิดอย่างนี้ยาก คิดกี่ร้อยกี่พันหนแล้ว ถ้าไม่คิด ไม่คิดเหลืออะไร? ไม่คิดเหลืออะไร? อ้าว.. มันเหลืออะไรล่ะ? เหลือที่มันรับรู้ รับรู้เดี๋ยวก็คิดต่อ นี่ถ้ามันไล่เข้ามาเรื่อยๆ เพราะน้ำท่วมนะ เวลาเขากั้นเขื่อนมันกัดเซาะเขื่อนพังหมดเลย นี่ปัญญาอบรมสมาธิก็ความคิด ความคิดก็เหมือนกระแสน้ำนั้น แล้วเราใช้สติปัญญาไล่ต้อนมันเข้ามา พยายามสร้างเขื่อนนั้นกักเก็บมันไว้ ถ้ากักเก็บไว้มันไม่กัดเซาะ

ถ้าเราสร้างเขื่อนใหม่ๆ มันต้องกัดเซาะทั้งนั้นแหละ เรากั้นชะลอน้ำไว้ แต่ยังกั้นไม่ได้ แต่เวลาเรากั้นได้ เรากักเก็บได้มันก็ล้น นี่มันสงบเล็กสงบน้อย สงบต่างๆ เราก็ใช้ปัญญาของเราเห็นโทษของมัน เห็นเวลาน้ำมันไหล มันกัดเซาะสิ่งต่างๆ มันทำเขื่อนทำทุกอย่างพังทลายไปหมดเลย แต่ถ้าเราเห็นความรุนแรงของมัน เห็นไหม

อ๋อ.. ความคิดอย่างนี้ แต่ก่อนความคิดเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา ฟุ้งซ่านก็เป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเราหมดเลย แต่พอเรามายับยั้งเราเห็น น้ำล้นฝั่ง น้ำกัดเซาะ อืม.. เราก็คิดไม่ดีได้เนาะ เราคิดแล้วก็ให้ความทุกข์เนาะ เราคิดถึงสิ่งไม่เป็นประโยชน์เลยเนาะ เห็นไหม มันเห็นโทษของมัน พอเห็นโทษมันก็แยกแยะ แยกแยะปัญญาอบรมสมาธิ พอสมาธิมันดีขึ้น แล้วพอจิตมันสงบมา จิตเห็นอาการของจิต

จิตเห็นความคิดนะ นี่เราเป็นความคิด เราแยกแยะความคิด รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันโน้มนำจิตนี้ให้ไป เวลามันปล่อยวางขึ้นมา เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง มันสักแต่ว่า นี่จิตก็เป็นจิต พอจิตเป็นจิต จิตเวลามันสงบพอสมควรแล้วมันจับของมันได้ พอจับของมันได้นี่จิตเห็นอาการของจิต มันก็เกิดปัญญาที่ว่าขณะที่เราใช้ปัญญา การใช้ปัญญามันเป็นคราว เป็นกาล

เริ่มต้นต้องจิตสงบก่อน จิตสงบมันจะเป็นประโยชน์หมด ถ้าจิตไม่สงบนะ ถ้าความคิดเป็นเรา แล้วก็บอกว่านี่ปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้อะไร.. การปฏิบัติถ้าไม่ได้อะไร ก็ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจะปรินิพพาน คนไปกราบไหว้บูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียนมหาศาลเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“อานนท์ เธอบอกเขาเถิด ปฏิบัติบูชาเราดีกว่า อย่าบูชาเราด้วยอามิสบูชาเลย”

อามิสบูชาคือดอกไม้ ธูป เทียน สิ่งที่เป็นวัตถุ แต่ถ้าปฏิบัติบูชา เห็นไหม แล้วเราบอกเวลาปฏิบัติไม่ได้สิ่งใดเลย ไม่ได้สิ่งใดเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาตรงนี้นะ ปรารถนาให้เราปฏิบัติบูชา เพราะการที่ปฏิบัติบูชานี่เราได้ฝึกหัดจิตใจของเรา

คนที่ได้ฝึกหัด ได้แข่งขัน คนๆ นั้นจะมีโอกาส คนที่ไม่ได้ฝึกหัดเราก็ดูเขาเล่นกีฬาไปทั้งหมด เราก็มีความสนุกสนานไปกับเขา เราก็เป็นเจ้าของทีมกีฬานั้น เราก็มีส่วนร่วมในกีฬานั้น เราก็ดีใจไปกับเขา ก็ดีใจไปกับเขาตลอดเลย แต่ไม่ได้ลงแข่งขันซักที แต่ถ้าเราปฏิบัติบูชาเราได้แข่งขัน ธรรมกับกิเลสมันแข่งกันในหัวใจของเรา ถ้าธรรมกับกิเลสมันแข่งในหัวใจของเรา เห็นไหม เราได้แข่งได้ขัน เรามีโอกาสนะ

การปฏิบัติบูชานี่เราได้ปฏิบัติ เราได้นั่งสมาธิ ได้ภาวนา มันจะได้หรือไม่ได้เราก็ลงแข่งขัน แพ้ก็ได้ลงสนาม แพ้ก็ได้ลง ถ้าจิตมันสงบขึ้นมานี่ฐีติจิต กรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน เราจะเห็นฐานที่ตั้งแห่งการงาน.. นี่เราทำกัน เราคิดไป คิดแล้วไปที่ไหนล่ะ? เห็นไหม ใบไม้ตกลงแผ่นดิน ใบไม้ตกลงในทะเล ความคิดตกลงที่ใจ กรรมดี กรรมชั่วตกลงที่ใจ นี่ตกลงที่ใจๆ แต่ไม่เคยเห็นใจ

แต่ถ้าใจมันสงบ เห็นไหม นี่กรรมฐาน สมถกรรมฐาน นี่สัมมาสมาธิ พอเห็นฐานที่ตั้ง นี่เราแข่งขันไปแข่งในสนาม เขามีสนามเขาถึงแข่งขันกัน อันนั้นเป็นตุ๊กตา เป็นการเปรียบเทียบ แต่ถ้าเราเจอสนามนะ ภวาสวะ ภพ ปฏิสนธิจิต นี่ตัวนี้ตัวมาเกิด แล้วตัวนี้เรามีสถานที่ สถานที่เจอตัวที่มาเกิด เจอภวาสวะ เจอภพ เราจะได้เริ่มทำสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานจะเกิดขึ้น งานระหว่างกิเลสกับธรรมจะเกิดขึ้นบนหัวใจนี้ ถ้าหัวใจนี้ได้พิจารณา ได้แก้ไข นี่มันจะชำระสะสาง

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “อานนท์ เธอบอกเขาเถิดให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด อย่าบูชาด้วยอามิสเลย”

ถ้าเราปฏิบัติไปแล้ว เราจะจับพลัดจับผลูมันก็ได้กระทำ ทำแล้วได้ผลไม่ได้ผลมันก็เป็นจริต เป็นนิสัย เป็นแนวทางของจิตดวงนั้น เพื่อโอกาสของจิตดวงนั้น แต่ถ้าเราทำได้ผล ได้ผล เห็นไหม สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน แล้วได้แต้มด้วย แล้วชนะด้วย เห็นไหม มันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ

นี่พูดถึงฟังธรรม! ฟังธรรม สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง แต่นี้ฟังทุกวัน พูดทุกวัน นี่สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังตอกย้ำนะ เออ.. วันนี้ฟังแล้วมันสดชื่น วันนี้ฟังแล้วมันจืดๆ โอ๋ย.. มันเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เพราะจิตใจเรามันไม่พร้อมไง ถ้าเราปรับพื้นที่ดี หว่านข้าวไปนะข้าวมันจะงอกงาม ถ้าพื้นที่เต็มไปหมดป่ารกชัฏ เวลาหว่านข้าวไป ข้าวมันก็ไปค้างอยู่บนใบหญ้า มันไม่ลงถึงพื้นดิน มันก็งอกเงยขึ้นมาไม่ได้

ธรรม! ธรรมเวลาหว่านออกไป จิตใจใครได้เปิดรับ จิตใจใครได้ประโยชน์ นี่เมล็ดข้าวเราลงสู่ดิน มีน้ำ มีอากาศ มันมีมันก็เจริญงอกงามของมัน นี่เวลาฟังธรรม เห็นไหม ธรรมมันเข้าถึงใจของเรามันก็สะเทือนใจ วันนี้ข้าวมันตกบนหญ้า มันไม่เข้าถึงใจเลย จืดชืด น่ารำคาญ พูดทุกวัน..

นี่การแสดงฤทธิ์ที่สำคัญที่สุดคือบันลือสีหนาท บันลือสีหนาทคือราชสีห์มันคำราม ธรรมที่ออกมาจากหัวใจของครูบาอาจารย์นี่บันลือสีหนาท สิ่งนี้คือฤทธิ์ในธรรม ฤทธิ์ของธรรมคือการแสดงธรรม ฤทธิ์ที่เขาแสดงกันนั้นมันฤทธิ์ของโลก ฤทธิ์ของโลก เห็นไหม อภิญญาต่างๆ ฤทธิ์ของโลก ฤทธิ์ของพลังงาน เดี๋ยวนี้คอมพิวเตอร์ทำได้ทุกอย่าง ทำได้ดีกว่าด้วย แต่ถ้าฤทธิ์ของใจ ฤทธิ์ของธรรมคือการบันลือสีหนาท คือการแสดงธรรม! เอวัง