ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จิต-รู้

๑๖ ต.ค. ๒๕๕๔

 

จิต-รู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๖๖๐. เขาขอยกเลิกไง เดี๋ยวพูดแล้วอาจจะพูดนิดหน่อย

ข้อ ๖๖๑. อันนี้มันพูดถึงโดยทั่วไปนะ

ถาม : หัวหน้างาน กับเพื่อนหัวหน้างานไม่ชอบ ทำให้จิตนี้เครียดมาก

๑. หัวหน้างานไม่ชอบ ต่อให้ขยันอย่างไรก็ไม่มีการสนับสนุน

หลวงพ่อ : อันนี้โดยทั่วไปนะ โดยทั่วไป ทีนี้โดยทั่วไป ถ้าเรายังอ่อนแอกันอยู่ เราก็คิดว่าสิ่งใด เราไปที่ไหนจะมีคนชอบไปหมดไง แต่โดยธรรมชาติของวิทยาศาสตร์เขาก็รู้อยู่แล้วว่าเหรียญมันมี ๒ ด้าน คนเรามีทั้งดีและชั่ว ฉะนั้น สิ่งที่อารมณ์ความรู้สึกกระทบมันมีอยู่แล้ว แล้วคิดว่าส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้หมดเลยล่ะ หัวหน้างานไม่ชอบ ทุกอย่างไม่ชอบ แต่มันต้องใช้กาลเวลา มันต้องใช้การพิสูจน์ไง

นี่เขาถามมา

ถาม : โยมจะทำใจอย่างไร? และควรทำสมาธิกี่นาทีวันละกี่ครั้ง? เพื่อให้จิตมีกำลัง และสามารถรองรับอารมณ์สิ่งต่างๆ ที่มากระทบได้

หลวงพ่อ : อารมณ์สิ่งต่างๆ มันก็อย่างว่าแหละ อยู่ที่ว่าเราจะมีสติแค่ใด? ถ้าเรามีสติ เรานั่งสมาธิมาก แต่เวลากระทบรุนแรงนี่มันแบบว่าเรารับได้แค่ไหนไง ถ้าเรารับได้มันก็จบได้ ถ้าเรารับได้ คนอื่นที่เขามองอยู่นะ เขาก็มองแบบว่าเหมือนกับเราไม่มีปัญญา ให้เขารังแกอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเขารังแกอยู่อย่างนั้น เวลาคนอื่นเขามองดูอยู่เขาจะรู้ คนเขาเห็น เขาเข้าใจได้

ฉะนั้น เรื่องการกระทบกระทั่งกันในสังคมมันมีอยู่แล้ว แม้แต่พระพุทธเจ้านะ เวลาพระพุทธเจ้าท่านพูดถึง เวลาสอนพระ พระพุทธเจ้าสอนพระว่า

“เวลาเธอโดนโลกธรรมรุนแรงขนาดไหนให้นึกถึงเรา”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเผยแผ่ธรรมอยู่ นี่เขาจ้างคนมาด่านะ แต่สมัยนั้นก็ยังด่าที่ว่าหัวโล้นอะไรนี่ มันก็ไม่ด่ารุนแรงขนาดนี้นะ แต่พระพุทธเจ้าก็ยังมีไง แล้วเวลาพระพุทธเจ้าท่านสะเทือนมาก จนพระอานนท์ เห็นไหม สิ่งที่ว่าเขาจ้างคนมาด่า พระอานนท์บอกว่า “ให้หนีเถิด ให้หนีเถิด” พระพุทธเจ้าถามว่า “ถ้าหนีไปข้างหน้า แล้วข้างหน้าเขาด่าอีกจะว่าอย่างไร?”

นี่ในเมื่ออยู่กับสังคมมันต้องเกิดอย่างนี้อยู่แล้ว ฉะนั้น เพียงแต่พอเกิดกับเราเราก็สะเทือนใจ พอเราสะเทือนใจเราคิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์ด้วย แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีฤทธิ์ด้วย ทำอะไรก็ได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ทำเลย เว้นไว้แต่! เว้นไว้แต่เวลาท่านแสดงแล้วคนๆ นั้นได้ประโยชน์ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทำตรงนั้นเวลาจะทรมานไง

คำว่าทรมานคือทรมานจิตให้มันคลายทิฐิ นี่ท่านจะทำ แต่ถ้าทำแล้วมันไม่เป็นประโยชน์นะท่านจะไม่ทำ ฉะนั้น เวลาเราเจอแรงเสียดสี แรงกระทบในสังคม เราก็ต้องมีหลักเกณฑ์ตรงนี้ไง เราต้องมีหลักเกณฑ์ของเรา เราไม่ได้ดั่งใจเราหรอก เราหวังอย่างนั้นไม่ได้ แต่! แต่ถ้าเราไปเจอคนที่ดี หัวหน้าที่ดี เห็นไหม

กรณีอย่างนี้มันก็จะย้อนกลับมาที่หลวงตาพูด หลวงตาท่านบอกว่า “ผู้นำสำคัญนัก” ฉะนั้น ถ้าผู้นำไม่เป็นที่ไว้วางใจ สิ่งที่ท่านจะมาช่วยชาติมันก็คงจะสำเร็จได้ยาก ฉะนั้น เวลาท่านออกมาท่านถึงได้ยืนยันเต็มที่ไง

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ กรณีที่ว่าผู้นำหาได้ยาก แล้วเราต้องมีผู้นำ เว้นไว้แต่เราทำธุรกิจส่วนตัวของเรานั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเจออย่างนี้ปั๊บ จะบอกว่ามันไม่มีใครบันดาลให้ได้ ไม่มีใครบันดาลให้ได้ เราเจออย่างนี้ปั๊บ เราเจอของเรา เราก็เจอของเรา แต่มันเป็นเวรกรรม ถ้าเป็นเวรกรรมนะ ในเมื่อเราเจออย่างนั้นเราจะต้องอยู่ในสังคม เราหาทางของเรา ให้หาทางออกของเรา

ถาม : หัวหน้างานไม่ชอบ ทำให้จิตนี้เครียดมาก

หลวงพ่อ : การทำงานก็เครียดอยู่แล้วนะ คนเกิดมามันก็มีทุกข์อยู่แล้ว ฉะนั้น เวลาเขาทำสิ่งใดก็เป็นผลของเขา เราทำของเราได้ ถ้าเราทำของเราได้เราก็จะผ่อนคลายของเรา อันนี้ผ่านเนาะ

ข้อ ๖๖๒. ข้อ ๖๖๓. ไม่มี

ข้อ ๖๖๔. เป็นคำขอยกเลิก

อันนี้สิ ข้อ ๖๖๕.

ถาม : ๖๖๕. เรื่อง “การกำหนดพุทโธกับการกำหนดลมหายใจ”

ขณะที่นั่งสมาธิกำหนดคำบริกรรมพุทโธนั้น พอทำไปสักพักหนึ่งเกิดความคิดขึ้นมาว่า พุทโธ พุทโธที่ผมกำหนดอยู่นั้น จิตรับรู้เหมือนเป็นเสียงที่เราพูดว่าพุทโธ พุทโธภายในใจ บางครั้งก็เป็นโทนเสียงของตัวเอง บางครั้งก็เป็นโทนเสียงของพระอาจารย์ หรือเป็นโทนเสียงที่ไม่ใช่ของเรา อยากเรียนถามอาจารย์ครับว่าจริงๆ แล้วสิ่งนั้นเป็นอะไร? เป็นสัญญาของเสียงหรือเป็นพลังงานของจิต

คือถ้าเป็นพลังงานเสียงทั่วไป ก็ต้องเป็นสิ่งที่กระทบหูแล้วเข้าสู่จิต อันนี้ไม่มีสิ่งใดกระทบ แต่รู้สึกเหมือนได้ยิน จึงคิดว่าการกำหนดคำบริกรรมเป็นการสร้างสิ่งบางอย่างขึ้นมา สิ่งนั้นไม่ใช่จิต ซึ่งการสร้างพลังงานเสียงอย่างคำบริกรรมนี้ ก็เหมือนกับการสร้างพลังงานที่เป็นภาพอย่างการเพ่งต่างๆ

และบางครั้งขณะนั่งสมาธิได้พบว่า มันจะมีเสียงที่ส่งออกไปนู่น นี่ เป็นภาพและเสียงเมื่อเรากำหนดคำบริกรรมเป็นเสียงพุทโธ พุทโธในใจ สิ่งที่ส่งออกไปเป็นเสียงอื่นๆ นั้นหายไป เหลือแต่เสียงพุทโธ แต่สังเกตได้ว่ายังมีจิตที่ส่งออกเป็นภาพอยู่ ไม่หายไปเสียที หรือต้องรอให้หายไปเอง แต่เมื่อลองกำหนดถึงภาพเช่นนั้น ภาพพระต่างๆ จิตที่ส่งออกชนิดที่เป็นภาพอื่นๆ นั้นหายไปเร็วกว่า การกำหนดด้วยเสียงก็ยังไม่เคยมีจิตส่งออกที่เป็นกลิ่น นั้นแสดงว่ากลิ่นไม่ใช่พลังงานใช่ไหมครับ

ซึ่งคิดว่าต่างจากการกำหนดความรู้สึกลมหายใจที่ปลายจมูก สิ่งนั้นคือความรู้สึก เป็นความรับรู้ของจิตเลยใช่ไหมครับ? ไม่ต้องสร้างสิ่งใดขึ้นมา จึงอยากเรียนถามอาจารย์ว่า สิ่งที่กระผมคิดขณะที่ทำสมาธินี้ถูกไหมครับ?

ถามว่าจริงๆ แล้วจิตส่งออกเป็นพลังงานต่างชนิดกันหรือไม่ครับ? เช่นภาพกับเสียง ถ้ามันต่างกัน จำเป็นหรือไม่ครับที่ต้องให้แยกกัน จากตำราเขาบอกว่า กรรมฐานนั้นมีหลายวิธีที่ทำให้จิตสงบเหมือนกัน แต่อยากถามว่าถ้าอย่างนั้น จิตสงบจากคำบริกรรม ก็เป็นการสงบจากการสร้างพุทโธ กับคำบริกรรมก็เป็นการสงบจากการสร้างพุทโธ ต่างจากจิตสงบที่กำหนดจิตรับรู้ที่ปลายจมูกตรงๆ ผมคิดว่าไม่ได้สร้างอะไร คือกำหนดที่จิตเลยหรือไม่ครับ? ผมคิดอย่างนี้ถูกและมีประโยชน์อันใดไหมครับ? กระผมมีปัญญาน้อย (นี่เขาถามปัญหาของเขานะ)

หลวงพ่อ : ฉะนั้น เริ่มต้นตรงนี้ก่อน คำถามนะ เวลากำหนดพุทโธ พุทโธไปแล้วมันมีเสียง เสียงสิ่งใดก็แล้วแต่ เวลาเรากำหนดถ้ามีเสียงกำหนดพุทโธ พุทโธ จนว่าพุทโธนี้เป็นเสียง ไอ้นี่แบบว่าเวลามันเริ่มล่อกแล่ก ถ้าเรากำหนดพุทโธของเราไปเรื่อยๆ กำหนดพุทโธของเราไปเรื่อยๆ แล้วอยู่กับสิ่งนั้นไป โดยข้อเท็จจริงมันจะพุทโธ พุทโธ มันจะละเอียดเข้าไปๆ ละเอียดมากจนเป็นแว่วๆ แว่วๆ จนพุทโธไม่ได้เลย อันนั้นมันเป็นข้อเท็จจริง

แต่! แต่เวลาเราพุทโธ พุทโธไป เห็นไหม ขณะที่พุทโธไป นี่จิตของคนไม่เหมือนกัน มันพุทโธ พุทโธ พุทโธไปมันมีเสียงซ้อนเข้ามา เช่นได้ยินเสียง ได้ยินต่างๆ จิตมันรับรู้ มันทำหลายหน้าที่ ถ้าจิตมันทำหลายหน้าที่ขึ้นไปมันก็เริ่มสับสน ถ้าเริ่มสับสนขึ้นไปเราก็สับสน พอเราสับสนขึ้นไปเราก็ใช้ปัญญาไตร่ตรองหาทางออก พอใช้ปัญญาไตร่ตรองหาทางออก เราก็ใช้ปัญญาว่าใคร่ครวญว่านี่จะเป็นพุทโธ หรือจะเป็นเสียง หรือจะเป็นคำถามที่ถามมาอยู่นี้

ถ้ามันเป็นเสียงที่กระทบหู นี่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องมีอาการกระทบ แต่ใจไม่ต้องมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องมีสิ่งกระทบมันถึงมีความรู้สึก ผิวหนังถ้ามีสิ่งใดมากระทบมันจะมีความรู้สึกดีอย่างไร? ไม่มี เห็นไหม นี่อายตนะทั้ง ๕ มันเป็นใหญ่แต่ละอย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กายมันเป็นอายตนะทั้ง ๕ อายตนะภายนอก อายตนะภายในกระทบกัน

จิต! จิตมีอะไรกระทบ จิตมันรับรู้ได้หมด ทีนี้เสียงต่างๆ บอกว่าทำไมเวลาเสียงมันต้องกระทบ มันถึงจะมีเสียงขึ้นมา ถ้าเสียงไม่มีกระทบสิ่งนั้นมันคืออะไร? มันคืออุปาทานหรือเปล่า? มันเป็นสิ่งต่างๆ หรือเปล่า? ตา หู จมูก ลิ้น กาย อายตนะทั้ง ๕ นะ อายตนะทั้ง ๖ ใจด้วย แต่อายตนะทั้ง ๕ มันเป็นใหญ่เฉพาะทาง ใหญ่เฉพาะสัมผัส ใหญ่เฉพาะกลิ่น ใหญ่เฉพาะเสียง นี่มันใหญ่เฉพาะทาง

นี่เสียงให้จมูกรับรู้ไม่ได้ เสียงให้ลิ้นรับรู้ไม่ได้ เสียงต้องหู เห็นไหม หูรับรู้เสียง นี่อายตนะทั้ง ๕ กระทบอายตนะทั้ง ๕ ฉะนั้นเราเอาสิ่งนี้ไปเทียบเคียงในใจ อายตนะภายนอก อายตนะภายใน อายตนะภายใน เสียง เห็นไหม นี่เวลาเราคิดเรื่องสัญญา เรื่องคำพูดต่างๆ เราก็รู้อยู่มันมีอะไรกระทบล่ะ? มันไม่มีอะไรกระทบทำไมมันเกิดจากใจล่ะ?

ใจมันรับรู้ได้หมด ใจไม่ต้องมีข้อมูล ไม่ต้องมีสิ่งใดกระทบ มันคิดของมันเองได้ เห็นไหม ฉะนั้น เรากำหนดพุทโธ พุทโธมันเป็นภายนอกกับภายใน ถ้านี่เราคิดแบบวิทยาศาสตร์ใช่ไหม? ถ้าเป็นเสียง เสียงต้องมีการกระทบสิ ทำไมถ้าไม่มีกระทบ เวลาเราพุทโธ พุทโธทำไมมันมีเสียงซ้อนมาล่ะ? แล้วเป็นเสียงนู้น เสียงนี้ นี่จิตมันรับรู้ จิตมันล่อกแล่กของมันเอง ถ้าจิตมันล่อกแล่กของมันเอง จิตเป็นผู้รู้ จิตสำคัญมาก

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา นี่ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ใจเป็นทุกๆ อย่างเลย ทีนี้พอใจเป็นทุกๆ อย่าง ใจเป็นทุกๆ อย่างใช่ไหม? แต่มันอายตนะภายนอก อายตนะภายใน ภายนอกรับรู้สิ่งภายนอกทั้งหมดเลย แล้วภายในล่ะ? ภายในล่ะ?

นี้ภายในนะ เวลาครูบาอาจารย์ของเราจิตสงบไปแล้วมันระลึกอดีตชาติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าระลึกอดีตชาติ นี่ไม่มีต้นไม่มีปลาย แล้วใจมันเก็บข้อมูลได้มากขนาดไหน? ใจมันเก็บข้อมูลทุกภพ ทุกชาติเอาไว้ในใจเลยล่ะ ฉะนั้น เวลาภาวนาเข้าไป นี่แรงต่อต้าน แรงต้านที่ว่ามันจะสงบหรือไม่สงบ

ถ้ามันสงบของมันขึ้นมา ถ้าจิตสงบนะ จิตสงบ จิตเป็นสมาธิ ถ้าลงสมาธิ ถ้ามีอำนาจวาสนา จิตดวงนั้นสร้างกำลังของมันมา มันย้อนอดีตชาติได้ ยิ่งกว่าคำถามที่ถามมาเรื่องว่า “มันเป็นพุทโธ มันเป็นเสียง มันเป็นอะไร? จิตมันรับรู้อย่างไร?” ยังแตกต่างกันเยอะมาก นี่พูดถึงคนที่มีปัญหามากกว่านี้ยังมี นี่ปัญหาแค่นี้ ปัญหาแค่นี้เพียงแต่ว่าเราจะหาทางออกใช่ไหม?

ทีนี้อารัมภบทมาบอกว่า “ถ้าอย่างนั้น ทำไมมันพุทโธ พุทโธยังไม่ได้กลิ่นเลย”

คนที่ได้กลิ่นเยอะมาก เวลาพุทโธ พุทโธไปกลิ่นหอมมาเป็นแบบกลิ่นดอกไม้ไทย กลิ่นเหม็นเหมือนซากศพ กลิ่นลอยมา เดี๋ยวจะได้กลิ่น คนได้กลิ่นเยอะนัก นี่ยังไม่ครบสูตร เดี๋ยวจะได้กลิ่นอีก (หัวเราะ) เราจะบอกว่าของอย่างนี้มันเป็นของหยาบๆ แต่ของหยาบๆ คนไม่เคยทำมันเป็นของหนักมาก เห็นไหม เหมือนเด็ก เด็กไม่เคยทำสิ่งใดให้เด็กรับภาระหนักไม่ได้

จิต! จิตที่ยังไม่เคยพัฒนาเลย จิตยังไม่ภาวนาเลย แต่! แต่มีการศึกษานะ ปริยัติเราศึกษากันหมดแหละ เราก็เทียบเคียง สิ่งที่มีปัญหาอยู่นี้ เห็นไหม เพราะจิตเราไม่เป็นเอกภาพ ศรัทธาไม่เชื่อมั่น ศรัทธาไม่คงที่ ศรัทธาไม่คงที่ พอทำเข้าไปแล้วมันคิดออกทางนู้น คิดออกทางนี้ ฉะนั้น เวลาปริยัติเรียนมาแล้วต้องวางไว้ แล้วเวลาปฏิบัติเอาให้จริงจัง เอาให้จริงจัง พอจริงจังเข้าไปแล้วนะ นี่ให้จริงจัง ถ้ามันแฉลบ มันจะแล่บออก เห็นไหม จะรู้นู้น รู้นี้ เราพุทโธไว้ชัดๆ ไม่ให้มันแฉลบ

แฉลบไปนี่ ดูสิเวลาเอาภาชนะใส่น้ำไว้ ต้องการตักน้ำให้เต็มภาชนะนั้น แต่มันรั่ว มันแตกซึม เราใส่ไปเถอะมันไม่เต็มหรอก พุทโธ พุทโธ พุทโธไปนี่มันรั่วออกหมด มันรั่วออกหมด เห็นไหม รั่วออกตามรู ตามสิ่งภาชนะที่แตก นี่รั่วออกไปรับรู้ไง รั่วออกไปได้ยินเสียงไง รั่วออกไปว่ามันเกิดพลังงานสิ่งใด มันรั่วออกหมดเลย เพราะมันไม่เป็นเอกภาพ ถ้ามีศรัทธาคงที่เราทำเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ

นี่พูดถึงว่า “มันเป็นพุทโธหรือมันเป็นลมหายใจ”

การกำหนดพุทโธกับการกำหนดลมหายใจ ฉะนั้น การกำหนดลมหายใจอีกเรื่องหนึ่งนะ จะบอกว่าถ้ากำหนดลมหายใจที่ปลายจมูก นี่ความรู้สึกมันไม่ใช่จิต เขาบอกว่าพุทโธสร้างขึ้น ทุกอย่างสร้างขึ้น คำบริกรรมสร้างขึ้น แล้วลมหายใจนี่ เวลาเราไม่กำหนดลมหายใจ ลมหายใจมีไหม? มี แล้วเวลาเรากำหนดลมหายใจ เราสร้างลมหายใจขึ้นมาหรือเปล่า? ไม่ได้สร้าง มันมีของมัน

พุทโธนี่ คำบริกรรมนี่เรานึกขึ้นมาใช่ไหม? ใช่ แต่มันเป็นชื่อ แต่ความจริงธาตุรู้เรามีไหม? ความรู้สึกเรามีไหม? พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะก็คือพุทโธ คือตัวใจไง พอเวลามันพุทโธ ชื่อของมันกับตัวมันรวมเป็นอันเดียวกัน เหมือนลมหายใจที่ปลายจมูก เราไปรับรู้นะมันถึงมี เราก็เข้าใจ เห็นไหม เข้าใจว่าอายตนะภายนอก อายตนะภายใน เราเข้าใจว่าลมหายใจ ตัวกำหนดรู้เราไม่ได้สร้าง ถ้าไม่ได้สร้าง สติมันจะพร้อมมาได้อย่างไร?

นี่สิ่งที่เราตั้งสติต่างๆ เวลากำหนดพุทโธเราก็สร้างเหมือนกัน แต่เวลามันพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธไม่ได้เลย เห็นไหม มันสร้างไหม? มันสร้างไหม? ถ้ามันสร้างขึ้นมามันก็เป็นสัญญา แต่ถ้ามันเป็นความจริงล่ะ? แต่อันนี้มันเป็นกรรมฐานไง มันเป็นคำบริกรรมที่จะย้อนเข้าไปสู่จิต ทีนี้ว่าส่งออกๆ โดยธรรมชาติมันส่งออกอยู่แล้ว ความคิดคือการส่งออก การพูดก็ส่งออก ถ้าไม่มีใจ ไม่มีข้อมูลจะพูดออกมาได้อย่างไร?

การขยับตัวของจิตคือส่งออกหมด การกำหนดพุทโธมันก็ส่งออก แต่ธรรมชาติที่มันส่งออก เรากำหนดพุทโธนี่เป็นคำบริกรรมให้มันเกาะไว้ พอเกาะไว้ใช่ไหม? พอเกาะไว้มันหดสั้นเข้า หดสั้นเข้า หดสั้นเข้ามาจนเป็นของคู่มันถึงกระทบกัน สัญญาอารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกกับจิตมันกระทบกัน พออารมณ์ความรู้สึก จากอารมณ์มันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป จนอารมณ์กับจิตเป็นอันเดียวกัน นี่คือสัมมาสมาธิ จิตหนึ่ง จิตหนึ่ง เห็นไหม มันเป็นสัมมาสมาธิ

ฉะนั้น ที่พูดนี้พูดโดยหลักนะ แต่ไม่ได้คัดค้านใคร เพียงแต่ว่าใครทำสิ่งใด แล้วทำสิ่งนั้นแล้วประสบความสำเร็จ คือทำแล้วมันดี คือของคนๆ นั้น ของคนๆ นั้น คนเรานี่จะชอบอาหารเหมือนกัน รสนิยมเหมือนกัน ไม่มี คนๆ หนึ่งต้องการสิ่งใด ทำสิ่งใด มันไม่เหมือนกัน ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ขอให้ทำแล้วได้ประโยชน์แค่นั้นพอ ใครทำอะไรก็ได้ให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นประโยชน์ เท่านั้นแหละ ไม่ต้องไปให้มันเหมือนหมด

ฉะนั้น สิ่งที่ทำมานี่มันเป็นประโยชน์ก็คือเป็นประโยชน์ ถ้ามันมีความสงสัยก็ให้มันสงสัย ความสงสัย ไม่ใช่มันสงสัยหรอก ความสงสัยทำให้เราส่งออก ทำให้เราไขว้เขว ฉะนั้น เราตั้งใจพุทโธไว้ พุทโธจนกว่ามันจะสงบลง ถ้ามันกำหนดลมหายใจดีก็ลมหายใจดี

ถาม : จึงอยากเรียนถามอาจารย์ว่า

หลวงพ่อ : เรากลับไปเห็นว่าไอ้คำถามนี่ อารัมภบทมันดีกว่าคำถามไง ฉะนั้น

ถาม : จึงอยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า (นี่คำถามเพิ่งมา คำถามว่า)

๑. จริงๆ แล้วจิตส่งออกนั้นเป็นพลังงานต่างชนิดกันหรือไม่ครับ เช่นภาพกับเสียง ถ้ามันต่างกัน จำเป็นหรือไม่ที่เราต้องแยกจากกัน?

หลวงพ่อ : มันต่างกันอยู่แล้ว มันต่างกัน อย่างเช่นคำว่าอายตนะ นี่ภาพ เห็นไหม ภาพคือตารู้ ตาเห็น เสียงคือหูได้ยิน ฉะนั้น สิ่งที่มันต่างกันนี่มันต่างกัน แต่เรารับรู้พร้อมกันไง รับรู้เรื่องนั้นๆ มันเร็วมากใช่ไหม? แล้วนี่จิตสงบเป็นพลังงาน ตัวพลังงานคือตัวจิต ตัวพลังงานคือความรู้สึก ฉะนั้น สิ่งที่ส่งออกไป ความคิดมันสำเร็จรูปแล้ว มันคิดรอบแล้วเราถึงจะรู้ว่าเราคิด ฉะนั้น ถ้าเราพุทโธก็เป็นพุทโธ ถ้าเราเห็นภาพสิ่งต่างๆ เราไม่ให้จิตรับรู้ ให้รู้หนึ่งเดียว มันถึงจะเป็นสมาธิได้ดี

ฉะนั้น ถ้าพุทโธก็พุทโธเลย ไม่ก็ปัญญาอบรมสมาธิเลย ใช้ความคิดไล่ความคิดเลย ถ้าเสียงล่ะ? เสียงกำหนดเราพุทโธอยู่แล้ว ไอ้นี่มันอายตนะแต่ละอย่าง มันรับรู้สิ่งของมันตามธรรมดาของมัน ฉะนั้น

ถาม : ตามตำราบอกว่ากรรมฐานมีหลายวิธี ทำจิตให้สงบเหมือนกัน แต่อยากถามว่าถ้าอย่างนั้นจิตสงบ คำบริกรรมก็จะสงบจากการสร้างพุทโธ

หลวงพ่อ : การสร้างพุทโธ คำว่าสร้างหรือเป็นเองนี่มันเป็นสิ่งที่เป็นโวหาร พูดขึ้นมาให้ตัวเองติดไง บอกเราสร้างขึ้นมา ถ้าเราสร้างขึ้นมาก็เป็นสมมุติ เราสร้างขึ้นมามันเป็นของหยาบ เราสร้างขึ้นมาก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี ฉะนั้น เราจะไม่สร้างอะไรเลย ถ้าไม่สร้างอะไรเลยก็เป็นขี้ลอยน้ำเลย คือไม่มีอะไรเลย แล้วไม่มีอะไรเลยก็เป็นพระอรหันต์เลย เพราะมันว่างอยู่แล้ว (หัวเราะ) ไม่ทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ ก็ว่างอยู่แล้ว ก็เป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว

นี่เพราะเราคิดแบบโลกมันก็วนอยู่อย่างนี้ ฉะนั้น ถ้าพุทโธเป็นการสร้าง สร้างก็คือสร้าง ก็เหมือนเรานี่ เขาบอกว่าเวลาปฏิบัติแล้วต้องเป็นปรมัตถ์หมดเลย ปฏิบัติแล้วต้องเป็นธรรมหมดเลย ถ้าใครมีความอยากอยู่ปฏิบัติไม่ได้

ก็เหมือนกัน เหมือนกันที่ว่าถ้าเราปฏิเสธชีวิตเรา ชีวิตเราก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง การเกิดมานี้ก็เกิดมาด้วยสมมุติทั้งนั้นแหละ ปฏิเสธเรา แล้วเวลาไปดูสมบัติก็ไปดูสมบัติของเศรษฐีคนอื่น แล้วบอกว่าเราอยากเป็นเศรษฐี อยากเป็นเศรษฐี อยากเป็นเศรษฐีเราก็ต้องสร้างของเราขึ้นมา สร้างขึ้นมาจนเราเป็นเศรษฐี เป็นเศรษฐีแล้วมันเป็นการสร้างไหมล่ะ?

เศรษฐีคือการสร้าง สร้างคือการทำงาน เวลาผลตอบมาเป็นเงินทองเราต้องสร้างไหมล่ะ? มันมาจากเพราะงานเรา พุทโธ พุทโธนี่จะเป็นการสร้างก็จะสร้างฐานะ ก็จะสร้างใจขึ้นมา สร้างก็ไม่เป็นไร เพราะคำว่าสร้าง หรือสมมุติ หรือมันเป็นเรื่องโลกทำให้คนภาวนาไม่กล้าทำ เออ ถ้ามันเป็นโลก เออ จริงเนาะ มันก็เป็นกิเลส ถ้ามันเป็นพุทโธมันเป็นสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมามันก็ไม่ใช่ของจริง

นี่ก็เลยเดินกันไม่ได้เลย ทำอะไรก็ไม่ได้เลย จะทำอะไรก็บอกว่ามันไม่ดี มันผิดไปหมดเลย อย่างนั้นเราไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ เออ พออยู่เฉยๆ ก็ว่างหมดเลย ว่างแบบนี้มันไม่มีอะไรเลย มันเป็นมิจฉา ไม่มีสติ ไม่มีความรับรู้ แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธจนมันว่างโดยตัวมันเอง เห็นไหม แล้วว่างอย่างนี้มันอยู่ไม่ได้หรอก เดี๋ยวมันก็คลายออก มันจะอยู่คงที่ของมันไม่ได้

มันมีเพราะอะไร? มีเพราะคำบริกรรม มีเพราะจิตเราสาวเข้าไปหาตัวมันเอง แล้วสุดท้ายพลังงานมันก็ต้องไหลออกมาเป็นธรรมดา พอไหลออกมาก็เป็นความคิดธรรมดา นี่เราก็ทำสติกลับไปสู่พลังงานนั้นอีก พลังงานเฉยๆ นั่นล่ะคือสมาธิ แต่ความคิดไม่ใช่พลังงาน พลังงานมันเสวยอารมณ์แล้ว มันครบสูตรมันแล้ว แต่ถ้าเป็นพลังงานเฉยๆ เป็นสัมมาสมาธิ นี่มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนจะเป็นอย่างนั้น

เพราะ! เพราะเราเป็นมนุษย์ใช่ไหม? มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ นี่เวลาโดยธรรมชาติของคน เวลามันเหม่อ เฉยไม่ได้คิดอะไรเลย พลังงานนั้นก็ไม่มีสติ มันขาดสติไง มันก็เหมือนกับที่ว่าอยู่เฉยๆ แล้วว่าง สังเกตได้ไหมเวลาคนเหม่อ มันอยู่เฉยๆ มันไม่รับรู้อะไรเลยเพราะมันเหม่อ แล้วเป็นอย่างไรต่อไปล่ะ? แล้วพอเราบอกว่าเราปล่อยให้ว่างหมดเลย มันเหมือนกับคนเหม่อ คนละเมอ อ้าว แล้วได้อะไรล่ะ? ก็ว่างไง

นี่มันถึงเป็นมิจฉา มันขาดสติ แต่พอพุทโธมันสร้าง มันสร้างมันก็ต้องคือสร้าง ก็สร้างน่ะทำไม? ก็สร้าง แต่สร้างขึ้นมาแล้ว พอสร้างขึ้นมามันรับรู้ เราสร้างของเรา เราทำงานของเรา แล้วเราได้ผลตอบแทนของเรา มันเป็นอย่างไร?

สมาธิเป็นสมาธินะ สมาธิที่จิตเป็นสมาธิก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่พูดนี้เพราะว่ามันมีกระแสการปฏิบัติเขาจะตำหนิตรงนี้มาก ว่าเป็นการสร้างขึ้นมา เป็นสมมุติ เป็นโลก มันไม่เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมเป็นอย่างไรล่ะ? เป็นธรรมก็เหมือนกับเหม่อลอย ตาลอยๆ เออ นี่เป็นธรรม ไม่ต้องมีอะไรเลย ตาขวางๆ เป็นธรรม ไม่ใช่! ต้องมีสติพร้อม พอสติมันดีขึ้นมามันก็จะเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้น

ถาม : คำบริกรรมที่เป็นความสงบ เป็นการสร้างพุทโธจากจิตที่สงบ ที่กำหนดจิตที่รู้ปลายจมูกตรงๆ ผมคิดว่าไม่ได้สร้าง

หลวงพ่อ : เห็นไหม ไม่ได้สร้างอย่างไร? กำหนดที่ปลายจมูกมันก็สร้าง กำหนดลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ ก็สร้างทั้งนั้นแหละมาจากจิต แต่ว่ามันหยาบ ละเอียดไง เขาบอกว่าถ้ากำหนดพุทโธมันเป็นการสร้าง ถ้ากำหนดปลายจมูก กำหนดลมหายใจที่ปลายจมูกนี้มันไม่ได้สร้าง

อ้าว อย่างนั้นมนุษย์นี่ ร่างกายนี้ใครสร้างมา? กรรมมันสร้างมานะ กรรมมันสร้างมา ร่างกายนี้ใครสร้างมา? เราไม่ได้สร้างมันมีอยู่แล้ว แล้วพุทโธล่ะ? พุทโธก็เราเป็นคนนึกขึ้นมา มันก็ต่อจากสิ่งที่มีอยู่แล้วนี่ไง ก็นึกขึ้นมาจากใจ นึกขึ้นมาจากกาย นี่มันก็นึกพุทโธมาเหมือนกัน

อันนี้มันเป็นความเข้าใจเนาะ ที่เราพูดไปก็พูดเพื่อประโยชน์ทั้งนั้นแหละ แล้วใครจะคิดอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ

ถาม : คือกำหนดที่จิตเลยหรือไม่ครับ ผิด ถูกอย่างใด?

หลวงพ่อ : ทำของเราไป แล้วฝึกหัดสมาธิไป ทำไปนะ ทำไปจนกว่าจะเข้าใจได้ ถ้าเข้าใจได้มันก็จบนะ เพราะเขาถามมาอย่างนี้

ถาม : กระผมปัญญาน้อย แล้วก็เพิ่งหัดทำสมาธิ ตอบคำถามตัวเองไม่ได้เสียทีครับ อยากทราบคำตอบเพื่อเลือกทางทำสมาธิ ขออาจารย์ชี้แนะด้วย

หลวงพ่อ : เราพูดนี่เพราะความที่สงสัย หรือการที่เราศึกษามา เวลาเขาสั่งสอนมาเขาสั่งสอนกันอย่างนั้น เขาสั่งสอนกัน บอกกันเลยบอกว่า

“พุทโธนี่มันเป็นสมถะ มันไม่มีปัญญา มันเป็นเรื่องของโลก มันใช้ปัญญาไปเลย”

เพราะคนอยากใช้ปัญญาไปเลย เห็นไหม ก็ลืมบ้าน ลืมที่เกิด ลืมถิ่นกำเนิด ลืมทุกอย่างเลย แล้วบอกว่าจะใช้ปัญญาไปเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“เราเกิดที่ไหน? ถิ่นกำเนิดเราอยู่ที่ไหน? เราต้องรู้จักรากที่มาของเรา”

ฉะนั้น กำหนดพุทโธ พุทโธของเราก็เพื่อเข้าไปหารากเหง้าของเรา รากเหง้าคือฐานของความคิด รากเหง้าคือหัวใจของเรา ฉะนั้น เรากำหนดพุทโธ พุทโธเขาบอกว่ามันเป็นสมถะ มันไม่มีปัญญา เราจะกลับสู่ถิ่นกำเนิด เราจะกลับสู่รากเหง้า แล้วเราจะเอารากเหง้าเรานี่ชำระล้าง เราจะเอารากเหง้าของเราแก้ไขของเรา

ฉะนั้น เราทำตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา”

สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เขาบอกสมถกรรมฐานไม่มีประโยชน์ คนที่ปฏิเสธรากเหง้า แล้วบอกว่าตัวเองเป็นคนดี ตัวเองจะไปสร้างเมือง สร้างฐานของตัวเองใหม่ ถ้ามันสร้างได้ขึ้นมาก็สร้างได้ นี่ทางโลกสร้างได้เพราะอะไร? เพราะว่ามันเป็นการสร้างทางวัตถุ สร้างทางโลกมันสร้างได้ แต่ถ้าเป็นทางนามธรรม เป็นทางธรรมสร้างไม่ได้ ไม่ได้เพราะว่าอะไร? เพราะไม่มีถิ่นกำเนิด ไม่มีพื้นที่ ไม่มีสิ่งต่างๆ ไม่มีรากเหง้าของตัวเอง ตัวเองไม่มีรากเหง้า ไม่มีวัฒนธรรมสิ่งใดเลย มันจะรู้ความจริงขึ้นมาได้อย่างไร?

นี่พูดถึงข้อเท็จจริงนะ แต่เวลาคำสอนทางโลก คิดแบบทางโลก แล้วโลกเชื่อกันไง บอกว่าสิ่งนั้นมันเป็นโลก มันเป็นสมมุติ มันไม่เป็นความจริง มันไม่เป็นประโยชน์ ใช้ปัญญาไปเลย ปัญญาก็เลยตัดรากตัดเหง้าตัวเอง หลักลอย ก็เลยกลายเป็นคนตาขวาง คนเหม่อลอยไป นั้นเป็นเรื่องของโลกเขานะ

ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ ปฏิบัติใหม่ก็ตั้งใจทำให้ดีนะ ทำให้ดี แล้วถ้ามีปัญหาแล้วค่อยคุยกันใหม่ ถ้าผู้ที่ปฏิบัติใหม่ พูดไปเดี๋ยวก็จะบอกว่า โอ้โฮ หลวงพ่อนี่ดุมากเลย ไม่ดุนะ อยากให้คนภาวนาแล้วดี

ข้อต่อไป ข้อ ๖๖๖.

ถาม : ๖๖๖. เรื่อง “มารผจญ (ต่อ)” (เรื่องมารผจญตอบไปแล้ว)

ต่อจากคำถามเรื่อง “มารผจญ” ที่ถามอาจารย์เมื่อวันที่ ๑๖ ที่หนูถามว่า “เจอวัดที่ดี แล้วครูบาอาจารย์เป็นอย่างนั้น” ฉะนั้น หนูอยากถามว่าเราจะแยกแยะระหว่างกิเลสกาม และกรรมเก่าได้อย่างไร?

หลวงพ่อ : นี่เพราะว่าเขาแยกไม่ออกไง สิ่งที่ตอบไปแล้วบอกว่ามันเป็นกิเลสก็ได้ มันเป็นกรรมก็ได้ ทีนี้ถามกลับมาต่อ เออ ถามกลับมาแล้ว (หัวเราะ) บอกว่า

“แล้วกิเลสกามกับกรรมเก่ามันแยกกันอย่างไร?

กิเลสกามมันเกิดจากกรรม ทีนี้คำว่ากรรมเก่า ทุกคนมีกรรมหมดนะ ทุกคนมีกรรม แต่ทำไมไม่บอกว่ากรรมดีล่ะ? นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างแต่กรรมดีๆ กรรมดีสร้างแต่สิ่งที่ดีๆ ฉะนั้น คำว่ากรรมนี่นะ มันหมายถึงว่ามันไม่มีเหตุผลไง เหตุผลในปัจจุบันนะ แต่ถ้าคนมีการกระทำจะรู้ที่มาที่ไป

คำว่าเหตุผลปัจจุบัน พอเราเจอสิ่งใดมันจะชอบเลย หรือเจอสิ่งใดจะเกลียดเลย คนที่มีกรรมต่อกัน เพราะไม่เคยรู้จักกันมาเลย ทำไมเจอกันแล้วมันไม่ชอบ ทำไมเจอกันแล้วมันชอบ อันนั้นเป็นคำว่ากรรมเก่า

แล้วคำว่ากิเลสกามล่ะ? กิเลสกามมันคือปัจจุบัน พอชอบ พอชอบแล้วมันก็เร่งเร้าผูกมัดกันไป แต่กิเลสกามมันเกิดจากความชอบและไม่ชอบ เกิดจากกรรม ฉะนั้น เวลาแก้เขาก็แก้ที่นี่ เวลาแก้นะมันก็แก้ไปด้วยกันนั่นล่ะ เพียงแต่ว่าเวลากรรมนี่คือว่าเราพยายามแก้ แล้วแก้ไม่หวาดไม่ไหว

คนเรามีกรรมทุกคนนะ กรรมเก่า กรรมใหม่มีทั้งนั้นแหละ นี่พอกรรมเก่า กรรมใหม่ กรรมเก่ามันมีมา เพราะกรรมเก่ามันบวก กรรมเก่ามันมาดี คนนั้นภาวนาง่าย คนนั้นเป็นคนที่ดี คนนั้นทำอะไรประสบความสำเร็จ กรรมเก่ามันเป็นลบ คนนั้นทำอะไรสิ่งใดมันมีการลบ พอมีลบแล้วนี่เราจะทำอย่างไรให้มันเป็นบวกล่ะ?

ในปัจจุบันนี้เราทำให้มันเป็นบวก ถ้าเป็นบวกเราก็ต้องฝืนทน เราฝืน เราหาเหตุผลไง เหตุผลว่าสิ่งนี้ไม่ดี สิ่งที่ไม่ดีมันผิดเราทำทำไม? สิ่งที่ไม่ดีมันผิด แต่เราห้ามใจเราไม่ได้ เราห้ามไม่ไหว เห็นไหม นี่คำว่ากรรมเก่า กรรมเก่ามีทุกคนนะ แต่กรรมมันมีกรรมดีและกรรมชั่ว แล้วเราจะแยกบอกว่าอันนี้เป็นกรรมเก่านะ แล้วถ้ากรรมเก่ามันเป็นดีมาใช่ไหม? อันนี้เป็นกรรมใหม่จะทำไม่ดีก็ได้หรือ? มันไม่ใช่!

กรรมเก่า กรรมใหม่มันเกี่ยวเนื่องกัน เพราะกรรมเก่ามันส่งมาเป็นกรรมปัจจุบัน ถ้ากรรมปัจจุบันส่งมาเป็นกิเลสกาม พอกิเลสกาม เราก็บอกว่าสิ่งที่เป็นกิเลสกามมันก็ผิดอยู่แล้วใช่ไหม? มันก็ผิดอยู่แล้ว ถ้ามันผิดอยู่แล้วเราทำทำไม? ถ้าเราทำทำไม เราก็หาเหตุผลอย่างนั้น บอกว่านี่มันเอาไม่ลง มันทำไม่ได้ เราก็ต้องหาทางแก้ทั้งนั้นแหละ ถ้าเอาไม่ลงนะมันก็ผูกมัดไปเรื่อย ถ้าเอาไม่ลงเราจะสร้างกรรมนะ ถ้าเอาไม่ลงเราจะทำอย่างไรต่อไปล่ะ? เราจะทำอย่างไรต่อไป?

เราจะทำอย่างไรต่อไปมันก็เผาเราหนึ่งนะ แล้วเราต้องการสิ่งนั้นหรือ? ฉะนั้น มันต้องหักห้ามของมัน จะบอกว่ากรรมเก่า คำว่าไม่มีเหตุผลมันรุนแรง เหตุผลไปแก้มันไม่ได้ ฉะนั้นวางไว้ แต่กิเลสกามเราแก้ได้ เรามีปัญญาได้ เราแยกแยะได้ มันผิดถูกเราแยกแยะได้ พอแยกแยะแล้วนี่ ถ้าแยกแยะได้มันก็เท่ากับไปแก้กรรมเก่า ถ้าแยกแยะได้มันก็หมดความผูกพัน พอหมดความผูกพันกรรมเก่ามันก็เบาไป

แล้วถ้าเป็นกรรมดีล่ะ? กรรมดีก็มาส่งเสริมกัน เห็นไหม ฉะนั้น กรรมดีมาส่งเสริมกัน แล้วอย่างที่ว่าอดีตชาติ กรรมเก่าๆ มันมีมาทุกคนแหละ เพราะทุกคนที่เกิดขึ้นมานี่มันมาจากกรรมทั้งนั้น แต่มีมากมีน้อย แล้วถ้ามีมากมีน้อย ปัจจุบันเรามีสติปัญญา มีสติสัมปชัญญะเราจะยับยั้งสิ่งนี้ เราไม่ให้สิ่งนี้มันเพิ่มมากขึ้น แล้วเราสร้างคุณงามความดีของเราไป

ฉะนั้น จะบอกว่าอย่างเช่นที่เขาพูด เห็นไหม เขาเรียกว่าอะไรนะ เขาเรียกว่า “คู่ครอง” เขาว่าเป็นคู่ครอง อดีตชาติมีกรรมร่วมกันมา ทีนี้มาเกิดในชาติปัจจุบันนี้มาแต่งงานกัน ว่าอย่างนั้นเลยนะ ถ้าแต่งงานก็แสดงว่าต้องรักกันตลอดสิ ทำไมมันแฉลบล่ะ? ทำไมมันแฉลบ? อ้าว ทีนี้มันก็ไม่จริงได้

ฉะนั้น คำว่าแฉลบนี่นะ ต่อไปอนาคตคือว่ามันไปแล้วมันจะแก้ไขไปเรื่อยๆ เราบอกว่านี่เป็นกรรมเก่า นี่เป็นความผูกพัน เดี๋ยวไปเจอคนใหม่มันจะไปชอบคนใหม่อีกนะเนี่ย ถ้าไปชอบคนใหม่ แล้วลืมกรรมเก่าอันนี้แล้วหรือ? เดี๋ยวจะลืมกรรมเก่าแล้ว แล้วจะไปเจอกรรมใหม่อีกนะ

ฉะนั้น ถ้าเรามีเหตุผล เราจะยับยั้งทุกๆ อย่าง ไม่ให้สิ่งนั้นมาทำลายหัวใจของเรา ถ้าเรามีความรู้สึกอย่างนี้ แล้วเราก็ว่านี้เป็นกรรมเก่ามันส่งเสริม อันนี้มันจะกระตุ้นนะ กระตุ้นให้เราทำลึกเข้าไปอีก ฉะนั้น อย่างไรเราต้องยับยั้งหมดแหละ กรรมเก่า กรรมใหม่ ถ้าการพยายามมานี่คือการมาลบล้างกรรม ที่ว่าแก้กรรมๆ “แก้กรรมที่ดีที่สุดคือพุทโธ พุทโธนี่แหละแก้กรรม”

พอจิตมันสงบแล้วเราใช้ปัญญา นี่แก้กรรมได้วิธีนี้วิธีเดียว เพราะอะไร? เพราะมันไปล้าง พอมันสะอาดบริสุทธิ์หมดนะ พอสะอาดบริสุทธิ์หมด จิตดวงนั้นใครตามไม่ทันแล้ว เวรกรรมจากจิตดวงนั้นไม่มี แต่สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่นี่ เพราะว่าการเกิดในชาติปัจจุบัน เกิดมาเป็นมนุษย์มันมีกรรมสร้างมา เห็นไหม กรรมมันสร้างมา แล้วมันเหลือเศษส่วนแล้ว จิตดวงนั้นพ้นไปแล้ว

ใครจะฆ่า ใครจะแกง ใครจะติฉินนินทา ใครจะทำร้ายนะ จิตดวงนี้ไม่เคยผูกอาฆาต ไม่เคยมีความพยาบาทกับใคร เพราะมันพ้นจากกิเลสหมดแล้ว แต่สิ่งที่เป็นเศษกรรมชาตินี้ยังอยู่ สิ่งที่มันเหลืออยู่ ฉะนั้น ใครจะมากระทบ

อย่างเช่นพระโมคคัลลานะนี่เป็นพระอรหันต์นะ เขามาฆ่า ๓ หน เหาะหนีๆ ตลอด แต่สุดท้ายแล้วมาพิจารณา เอ๊ะ มันเพราะอะไร? อ๋อ เคยทำกับแม่ไว้ไง แต่จิตดวงนั้น เวลาเขามาทุบครั้งที่ ๔ ให้เขาทุบจนตายเลย พอตายแล้วนี่ด้วยฤทธิ์ เห็นไหม รวมร่างกายนี้ ไปลาพระพุทธเจ้า ลาพระพุทธเจ้าเสร็จเหาะกลับมาที่เดิม คลายฤทธิ์ออก นี่ร่างกายก็เละอยู่อย่างนั้น โดนเขาทุบ

นี่ไง เพราะคำว่าใช้ฤทธิ์รวมร่างกายนี้ไปลาพระพุทธเจ้า เห็นไหม นี่ถ้าพูดถึงคนที่ยังมีกิเลสอยู่ โดนทุบ โดนอะไรไปมันทำเรื่องอย่างนั้นไม่ได้ มันทำจิตอย่างนั้นไม่ได้ ฉะนั้น จิตดวงนั้นถึงตามไม่ทัน แต่ร่างกายนั้นทัน ร่างกายนั้นทันเพราะอะไร? ทันเพราะสอุปาทิเสสนิพพาน เพราะว่ามันเกิดมาจากกรรมเก่า กรรมที่ในชาติปัจจุบันนี้ พระโมคคัลลานะเคยทำกับแม่ไว้ แต่มันจบตรงนั้นแล้ว จบตรงที่เป็นพระอรหันต์ จิตดวงนั้นจบ แต่ร่างกายมันยังไม่จบ เพราะร่างกายนี้เป็นเศษส่วน เป็นสิ่งที่ว่าภพชาติมันยังเกี่ยวเนื่องกันได้ มันยังจับต้องได้ ยังเห็นได้

ฉะนั้น กรรมเก่า กรรมใหม่ แล้วจะบอกอะไรเป็นกิเลสกาม อะไรเป็นกรรมเก่า? โฮ้! พูดนี่มันก็แบบว่า พูดเสร็จแล้วคนฟังยิ่งงงเข้าไปใหญ่เลย แล้วจะแยกอย่างไรล่ะ? เพียงแต่ว่าเราตั้งสติแล้วสู้ สู้แล้วแก้ไขไป พูดถึง วันนั้นพูดไปเรื่องกรรม บอกว่ามันมีกรรมกันมา มันถึงได้เกี่ยวเนื่องกัน ถ้าไม่มีกรรมกันมามันก็จบไป

อันนี้เรื่องหนึ่งนะ จบ! อันนี้ซ้ำกันเลย เหมือนกันเลยนะ

ข้อ ๖๖๗. ไม่มี

ถาม : ๖๖๘. เรื่อง “พระที่ขาดความสำรวม” (เขาว่าอย่างนี้นะ)

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) นี่ก็กรรมอีกแล้ว นี้เรื่องจริง มันแบบว่ามีคนเขามาถาม บอกว่า

“หลวงพ่อตอบทุกวันๆ เอาที่ไหนมาตอบ ที่ตอบนี่หลวงพ่อตอบเองหรือ?”

มันไม่ใช่นะ เขาเขียนมาเราก็ตอบเขาไป ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราตอบไป ทีนี้สังคมของชาวพุทธมันก็มีบริษัท ๔ มีพระสงฆ์ กับมีอุบาสก อุบาสิกา ทีนี้การที่อยู่ร่วมกันมันก็ต้องมีปัญหากระทบกระทั่งกันบ้าง ถ้ากระทบกระทั่งกันบ้าง ถ้าเราไม่ได้พูดอะไรเลย พวกที่มีปัญหาเขาก็หาทางออกไม่ได้ ฉะนั้น เวลาเขามาในเว็บไซต์ เขาเจอเขาก็ถามมากันใหญ่เลย เราก็เลยกลายเป็นว่า พระทั้งหมดบอกไอ้หงบนี่ขายพระกิน

ไม่ใช่! เหตุมันเกิดแล้ว เราไม่ได้ขายพระนะ ทีนี้เพียงแต่เราแก้ไขให้สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์นะ นี่ฟัง

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ หนูมีปัญหายุ่งยากใจ ในพฤติกรรมที่ขาดความสำรวมระวังของพระรูปหนึ่งที่มาจากต่างถิ่น เพิ่งมาจำพรรษาที่วัดที่หนูศรัทธาเลื่อมใสในพรรษานี้เอง ทุกวันโกน วันพระ หนูจะพาแม่ไปถือศีล ปฏิบัติธรรม ท่านเจ้าอาวาสและพระรูปอื่นๆ ท่านก็ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แต่หนูกลับพบปัญหากับพระรูปหนึ่ง เนื่องจากท่านมาเกาะแกะหนู และชอบมาเฝ้าแอบดูหนูจนหนูภาวนาไม่ได้ ซึ่งหนูลำบากใจมาก

พอทราบความรู้สึกของท่าน ทำให้หนูไม่อยากไปวัด ไม่อยากใส่บาตร ไม่อยากเห็นหน้าอีก หนูอดทนภาวนาไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ จิตใจมันไม่เจริญ จิตใจเป็นทุกข์ ภาวนาให้ท่านเลิกคิด อีกจิตหนึ่งอดติงไม่ได้ในความไม่สำรวมของท่าน หนูเกรงว่าจะเป็นบาปตกถึงตัวเอง หนูเข้าวัดเพื่อหาบุญ หากุศล แต่กลับเจอพระแบบนี้หนูควรทำอย่างไรดีคะ?

หลวงพ่อ : นี่พระขาดความระวัง เห็นไหม ฉะนั้น พระจากต่างถิ่นมา อันเมื่อกี้นี้ นี่กรรมเก่า อันนี้หนูไม่รู้เรื่องเลย หนูไม่ต้องการเลย แต่กรรมกลับวิ่งมาหาหนูเอง หนูก็ทุกข์ แล้วหนูจะทำอย่างไร?

เรามีสติของเรา เดี๋ยวเขาก็ไป ถ้าเขาไม่ไปเราก็ไม่ยุ่งกับเขา ตบมือข้างเดียวไม่ดังหรอก เราอย่าไปยุ่งกับเขา เราไม่ยุ่งกับเขานะ ฉะนั้น ในสังคม เห็นไหม เมื่อก่อนนะมันมีคนไปหาหลวงตา เขาไปศึกษาประวัติหลวงปู่มั่น แล้วศึกษาในสายพระป่า ไปหาหลวงตาบอกว่า

“อู้ฮู หนูนี่ศรัทธาสายหลวงปู่มั่นมากเลย หนูเคารพบูชาพระสายหลวงปู่มั่นมากเลย”

หลวงตาท่านพูดนะเราฟังอยู่ “เรามั่นใจว่า” นี่หลวงตาพูดนะ!

“เรามั่นใจว่า ในสายของหลวงปู่มั่นมีทั้งพระดีและพระไม่ดีเหมือนกัน”

ในสายหลวงปู่มั่น ในสายพระป่า ฉะนั้น เราจะบอกว่าในสังคมพระมันก็ต้องมีอย่างนี้ มีดีและไม่ดีปนกัน ฉะนั้น เราแสวงหาบุญของเรา เราก็หลบไม่ยุ่งกับเขา ไม่ยุ่งกับเขา แล้วเราอยู่ของเราไป เราภาวนาของเราไป ถ้าพาแม่ไปเราก็หลบหลีกของเรา คือตั้งสติแล้วหลบหลีกเอา

เราเป็นคนฉลาดใช่ไหม? เราเป็นคนฉลาด มันเหมือนกับเราเลี้ยงเด็ก เราเลี้ยงเด็ก เราคอยดูเด็กนี่มันตกไปที่จะเกิดอุบัติเหตุ เด็กที่จะมีปัญหาเราคอยดูแลเด็กของเรา ถ้าเด็กของเราดีเราก็ปล่อยเด็กของเรา ฉะนั้น อันนี้ก็เหมือนกัน เราดูแลใจของเรา เราไม่ยุ่งกับเขา เราจะดูแลใจของเรา เรื่องของเขาเป็นเรื่องของเขา เราดูแลเด็กของเรา ถ้าประสบอุบัติเหตุ เด็กเราจะเป็นอันตราย เราคอยคุ้มครองเด็กเราเลย

ใจของเรา เราก็คุ้มครองใจของเรา คุ้มครองใจของเรา เรื่องของเขาเป็นเรื่องของเขา นี่แล้วถ้าเขามาเราหนีอย่างเดียว เราหนีอย่างเดียว แล้วถ้ามันถึงเวลาแล้ว ถ้าเราไม่ยุ่งกับเขา ต้องให้เขาเลิกไป เพราะอย่างนี้มันเป็นความรู้สึก อาบัติคือการแสดงออก ถ้าอาบัตินะ อาบัติทางกาย แต่ความรู้สึก ความคิดไม่มีอาบัติ แต่ถ้าคนมันมีความละอายนี่มันรู้ได้ เป็นอาบัติได้

ฉะนั้น พระขาดความสำรวม เราก็หลบหลีกอย่าไปยุ่งกับเขา ทีนี้ถ้าเราจะไปเรียกร้อง จะไปฟ้องฝ่ายปกครอง จะไปฟ้องอะไรนี่มันก็ต้องมีหลักฐาน มันก็ต้องมีอะไร แล้วฝ่ายปกครองเขาก็ต้องเตือนของเขา แต่จะไปฟ้องใครล่ะ? เราจะไปฟ้องใคร? แม้แต่ในปัจจุบันนี้เขามีพระวิญญู พระตำรวจคอยจับพระที่บิณฑบาตผิดเวลา มันก็ยังหลบหลีกทำกันอยู่อย่างนี้ นี่แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ?

เพราะคนที่จิตใจสูงส่ง มีความละอายเขาก็ไม่มาทำอย่างนี้ คนที่มีจิตใจต่ำต้อยเขาก็มาทำอย่างนี้ แล้วศาสนานี่ เห็นไหม เขาบอกว่าพระทองคำนะ ใครไปขุดเจอพระทองคำก็ไปถวายวัด ใครไปเจอพระแตกหัก พระที่ใช้ไม่ได้ก็ไปถวายวัด จิตใจของคน คนที่ประเสริฐ คนที่ดีมากก็มาบวชพระเพื่อจะพ้นจากทุกข์ คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ไม่มีทางไปก็มาบวชพระ แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ?

เราก็ดูแลของเรา เราดูแลของเรา นี้สังคมเป็นอย่างนั้น ฝ่ายปกครองเขาก็หนักใจนะ ฝ่ายปกครองเขาก็หนักใจ นี่พูดถึงว่า “พระที่ไม่สำรวมระวัง” เนาะ พระไม่สำรวมระวังก็จบไปเนาะ

ฉะนั้น เอาคำตอบสุดท้าย

ถาม : ขณะที่จิตละเอียดเข้า ละเอียดเข้า สุดท้ายแล้วมันจะปล่อยลมหายใจจนโล่ง เบา และหนูจะพยายามยกจิตให้พิจารณา แต่มันจะไม่คิด ไม่ทำอะไรเลยค่ะ มันจะดับไป หนูจึงได้แต่กำหนดพุทโธให้รู้ว่าจิตโล่งสบาย แต่พิจารณาไม่ได้ สุดท้ายเวทนาก็ตามมา

หลวงพ่อ : อันนี้ค่อยๆ ทำไป เราจะบอกว่านะถ้ามันโล่ง มันสบายนี่อย่าทิ้งพุทโธ ถ้าเรากำหนดพุทโธได้นะ เราจะบอกว่าพุทโธนี่อย่าทิ้ง เหมือนกับคำถามแรก คำถามแรกที่ว่า “กำหนดพุทโธกับกำหนดลมหายใจ” เรากำหนดพุทโธของเราไว้ กำหนดพุทโธของเราไว้ มันจะละเอียดอย่างไรนะเรากำหนดพุทโธไว้

เหมือนการนับตังค์ เขาบอกว่าตอนนี้มีกองเงินอยู่มหาศาลเลย ใครนับได้เท่าไรให้คนนั้น นับๆๆ แล้วเราก็หยุดไหมล่ะ? ใครจะหยุดบ้าง? กองเงินนี่กองเท่าภูเขาเลย เขาบอกใครนับได้เท่าไรให้เท่านั้น เราจะทำอย่างไร? เราก็นับใหญ่เลย นับจนกว่าเราจะพอ แต่นี้เรานับไป ๒ ใบ ๓ ใบเราก็หยุด นับไป ๒ ใบ ๓ ใบเราก็หยุด จริงไหม? เราอยากจะได้แบงก์กองทั้งกองนี้เลย เราก็ต้องนับเต็มที่เลย นับๆๆๆๆ แบงก์เท่าไร เราจะขนแบงก์นี้กลับบ้านเรา

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธมันคือนับแบงก์นั่นแหละ พุทโธ พุทโธ พุทโธมันนับแบงก์ไปเรื่อยๆ นะ ยิ่งนับได้เท่าไร ยิ่งได้มากเท่านั้น ทีนี้พูดถึงนับแบงก์มันเห็นเป็นตัวแบงก์ แต่พุทโธ พุทโธนี่ มันเบาสบายก็เพราะพุทโธ พอจิตเริ่มเบา เริ่มสบาย คนเรามันตื่นเต้น แล้วมันจะหยุดพุทโธ พอหยุดพุทโธมันก็ไม่ไปตลอดรอดฝั่งไง

ถึงมันจะเบา มันจะสบายขนาดไหน มันเบาสบายเพราะเหมือนเรานี่นับแบงก์ได้ ๒ ใบนะ ๒,๐๐๐ นี่ ๒,๐๐๐ วันนี้สบายแล้ว ๒,๐๐๐ พอใช้แล้ว มันก็สบายแล้ว นับไปให้เป็นแสน เป็นล้านสิ เป็นแสน เป็นล้านมันใช้ไปถึงปีหน้า ชาติหน้าไง นี้ก็นับไปๆ พุทโธ พุทโธไป พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ เพราะเบาสบายก็พุทโธ

ฉะนั้น เราบอกว่าจะยกขึ้นวิปัสสนาอะไรนี่เพราะเราคิดไง เราคิดว่าเรานับแบงก์แล้วนะ เราจะได้แบงก์ทั้งหมดเลยมันไม่ใช่ นี่ก็เหมือนกัน เรานึกว่าเบาสบายแล้วจะพิจารณา แต่พิจารณานี่เราคิดเรื่องอะไรก็ได้คิดไปเลย ถ้าจะพิจารณานะ แต่ถ้าพิจารณาออกมา แต่ตอนที่เราพุทโธอยู่มันไม่ใช่ กำลังมันไม่พอหรอก

เราจะบอกว่ามันยังพิจารณาไม่ได้! เงิน ๒,๐๐๐ จะไปซื้อรถเบนซ์มันเป็นไปไม่ได้ รถเบนซ์คันเท่าไร? ๒,๐๐๐ วางดาวน์ยังไม่พอเลย นี่พอจิตมันเริ่มโล่งสบายๆ จะพิจารณา เราคิดของเราเองไง เราคิดของเราเองว่าเงิน ๒,๐๐๐ จะไปดาวน์รถเบนซ์ เขามาก็บอกว่าเบนซ์อะไร? เบนซ์พลาสติกนี่ได้ คันละ ๒-๓ บาท

เฮ๊อะ! ถ้ามันเบาสบายอย่างไรก็แล้วแต่เราคิดของเราเองไง เพราะเราสุข พอจิตเราสงบแล้วเราก็สุขนะ เราก็มีความสุข อ๋อ สุขอย่างนี้เอง น่าจะวิปัสสนาแล้ว น่าจะอะไร นี่เราคาดหมายไง แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ พอจิตมันสงบใช่ไหม? มีกำลัง พอมันโน้มไปที่กายเห็นทันทีเลย เห็นทันทีเลย คือมันพอไง

อย่างเช่นเรานี่ เรามีเงินมากเลย เราไม่ต้องไปซื้อรถเบนซ์นะ เซลล์ขายรถเบนซ์มันจะมาหาเราที่บ้านเลย เอากี่คัน? เอากี่คัน? นี่ถ้าเรามีตังค์นะ ไอ้คนขายรถเบนซ์มันวิ่งมาหาเราเลยล่ะ เอากี่คัน? เอากี่คัน? เพราะมันรู้ว่าเรามีตังค์

จิต! ถ้ามันสงบมีกำลัง มันน้อมไปนะ มันรู้มันเห็นของมัน มันรู้มันเห็นเลย แต่ถ้าจิตมันยังไม่มีกำลังนะ พอเราน้อมไปมันไม่มีนะ กลับมาพุทโธได้ กลับมา เงินเอ็งยังไม่พอ เอ็งยังไม่มีตังค์หรอก เอ็งซื้อรถเบนซ์ไม่ได้ เอ็งยังซื้อรถเบนซ์ไม่ได้ แต่! แต่ถ้าเรายังไม่มีตังค์ เงินล้านจะซื้อรถเบนซ์เราก็ยังหาไม่ได้ รถเบนซ์เราไปดูเราก็อยากได้ ถ้ายังไม่ได้เราก็ต้องฝึกหัดใช้ปัญญาไปก่อน เพราะทุกคนจะถามว่า “แล้วเมื่อไหร่จิตมันจะสงบล่ะ? แล้วเมื่อไหร่จะได้ใช้ปัญญาล่ะ? ก็บอกให้ใช้ปัญญา นี่แล้วมันจะใช้ปัญญา”

จิตสงบแล้วใช้ปัญญาได้ ฝึกหัดใช้ได้ ถ้าใช้แล้วมันจะกลับมาพุทโธได้ง่ายขึ้น เพราะคำว่าพุทโธ พุทโธใช่ไหม? เงิน ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ อืม ก็ใช้ประโยชน์แล้ว พอมันไปทำอะไรไม่ได้ กลับมา อ้าว นับใหม่ เป็น ๓,๐๐๐ ๔,๐๐๐ ๕,๐๐๐ เราจะหาของเรา คือประสบการณ์ที่ล้มลุกคลุกคลานมันจะกลับมาสอนใจเรา ภาคปฏิบัตินี่นะ เราทำได้ดีมันก็จะดี ถ้าทำแล้วมันไม่ดี ไม่ดีเพราะอะไร? แล้วมันเคยได้ดีมันดีเพราะอะไร? มันต้องฝึกหัดไปอย่างนี้แหละ

ฉะนั้น เวลาพระเราปฏิบัติ เห็นไหม เราปฏิบัติตลอดชีวิต ล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้มาเยอะ พอล้มลุกคลุกคลานเราก็ทำ ล้มลุกคลุกคลานเราก็เปลี่ยน ล้มลุกคลุกคลานเราก็หาทางออก เราก็แก้ไขของเรา ฉะนั้น เวลาพุทโธ พุทโธไปแล้ว พอจิตสงบ เบาสบายแล้ว จะพิจารณาแล้วมันพิจารณาไม่ได้ มันก็ไม่ได้อยู่แล้ว

ทีนี้โดยหลัก โดยทฤษฎีเป็นอย่างนั้น จิตสงบแล้วพิจารณา พิจารณาจะเป็นขั้นตอนอย่างนั้นๆ แต่คนที่จะทำมันต้องมีพื้นฐาน มันต้องมีกำลังพอ แล้วกำลังของแต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกัน มันอยู่ที่จริตไง จริตคนพิจารณาอย่างนี้ จริตของคนเป็นอย่างนี้ แค่นี้ก็พอ แต่ถ้าราคะจริตนี่อย่างนี้ไม่พอ โทสจริตยิ่งไม่ได้ใหญ่เลย ถ้าโลภะล่ะ? โลภะนี่มันหลงตลอด แล้วทำอย่างไร?

จริตของคนมันไม่เหมือนกัน ทีนี้จริตคนไม่เหมือนกัน แม้แต่จริตเดียวกันนะ เวลาคราวนี้พอพิจารณาได้ คราวหน้าไม่พอ คราวหน้าไม่พอแล้วเพราะกิเลสมันรู้ทันแล้ว แม้แต่คนๆ เดียวกัน บางทีก็พอ บางทีก็ไม่พอ แล้วถ้าอารมณ์ล่ะ? อ้าว วันนี้อารมณ์รุนแรง วันนี้อารมณ์ไม่รุนแรง

นี่พูดถึงการพิจารณา ทีนี้เราเข้าใจว่ามันเป็นสเต็ปไง อ๋อ ถ้าจิตสงบแล้วต้องพิจารณา มันก็เหมือนสูตรเลข หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง สองบวกสองก็ต้องเป็นสี่สิ ทีนี้หนึ่งบวกหนึ่งแล้วลบไม่เป็น แล้วมันเป็นเท่าไร? มันก็เหลือศูนย์ไง เพราะมันทำอะไรไม่ได้เลย เราจะบอกว่าจิตนี้เป็นนามธรรม ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีการกระทำว่าต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ มันจะเป็นปัจจุบัน แล้วปัจจุบันทำอย่างไรให้เป็นไปตามนั้น? ให้เป็นไปตามนั้นแล้วฝึกหัดของมันไป

ฉะนั้น ให้พิจารณา ใช่ ให้พิจารณา ทีนี้คำว่าพิจารณา ให้พิจารณาโดยการฝึกหัดใช้ปัญญาก็ได้ ตรึกในธรรมนี่แหละ ชีวิตนี้คืออะไร? ชีวิตนี้ทุกข์เป็นอะไร? เกิดมาทำไม? แล้วถ้ามันเศร้าสลดใจก็กลับมาพุทโธใหม่ นี่ทำอย่างนี้ พอจิตละเอียดเข้าไปนะ พอมันจับจิตได้ จับอาการได้นะเดี๋ยวมันจะดีกว่านี้

ฉะนั้น คำว่าจิตสงบแล้วพิจารณาใช่ไหม? ใช่!

แต่ถ้ามันยังพิจารณาไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้ แต่ถ้าพิจารณาได้นะ ขิปปาภิญญา เวลาจิตสงบปั๊บจับพิจารณาได้ ขาดผลัวะ! ผลัวะ! ไป จิตดวงนั้นมีบุญมาก

มันก็มี ขิปปาภิญญา ตรัสรู้ง่าย ทำได้ง่าย สะดวกนี่มี! ถ้ามีแสดงว่าเขาต้องสร้างบุญของเขามาเยอะมาก แต่ถ้าเรายังทำของเราไม่ได้ เราก็ต้องสมบุกสมบันไป เขาเรียกว่า “เวไนยสัตว์” เวไนยสัตว์หมายถึงว่าคนยังใฝ่ในการปฏิบัติ แล้วพอปฏิบัติได้ เวไนยสัตว์คือคนชั้นกลาง เวไนยสัตว์คือคนชั้นกลาง ขิปปาภิญญาคือคาบช้อนเงินช้อนทองมา นี่พวกนั้นพวกขิปปาภิญญา เวไนยสัตว์นี่คนชั้นกลาง

คนรากหญ้านะต้องขวนขวาย ต้องทุกข์ยาก คนรากหญ้าคือคนที่ไม่สนใจไง ไม่สนใจศาสนาไม่สนใจอะไรเลย พวกนี้พวกรากหญ้า แย่มาก ไม่ใช่แย่มากด้วยที่มันอะไรนะ มันแย่มากเพราะใจเขาแบบว่า เหมือนกับว่ามันมีธรรมอยู่แล้ว มีทรัพย์สมบัติอยู่แล้ว ไม่ขวนขวาย ไม่ทำ ไม่เอาไง เขาไม่เอาเขาเอง แต่เวไนยสัตว์ คนชั้นกลางเรายังกระเสือกกระสน เรายังมีโอกาส แต่พวกที่คาบช้อนเงิน ช้อนทองนั่นก็วาสนาของเขาเนาะ เราก็ไม่อิจฉาเขาหรอก ปล่อยเขาไป เราทำของเรานี่แหละ

เหมือนกับที่ว่านี่นะเราเคยคิด สมมุติว่าคนนั้นเขาเป็นพระอรหันต์ๆ ให้เราเอาไหม? ในใจบอกว่าไม่เอา อยากได้ของตัวเอง ของคนอื่นไม่เอา อยากเป็นเอง ถ้าอยากเป็นเองเราก็ต้องทำของเราเอง เราจะทุกข์ จะสุขเราก็ขอทำของเราเอง ของคนอื่นก็เรื่องของเขา

ฉะนั้น ถ้าเขาคาบช้อนเงินช้อนทองก็เรื่องของเขา เราต้องทำของเราเอง ฝึกไป หัดไป มันธรรมดานี่แหละ ก็ต้องสงสัยเป็นธรรมดา พอสงสัยแล้วเราก็เข้มแข็งของเรา เราทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง