เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒o ต.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ.. วันพระ วันโกน เห็นไหม ชาวพุทธนี่วันพระ วันโกน คือการตักตวงบุญกุศลใส่หัวใจ วันปกติคือวันทำหน้าที่การงานของเรา ในสมัยพุทธกาลนะมีคฤหัสถ์เขาจะออกบวช เขาจะออกบวชเขาคิดว่าจะผลัดกันนะ มีลูกไง แล้วว่าอยากให้ลูกทำงานสิ่งใด ทำงานอย่างนั้นก็ทุกข์ ทำงานอย่างนั้นก็ทุกข์ ให้เป็นนักคำนวณ เป็นต่างๆ นี่เขารักลูกเขา เขากลัวลูกเขายากลำบาก ฉะนั้น ให้มรดก ๒ พี่น้องนี่ต่างเกี่ยงกัน เห็นไหม ต่างเกี่ยงกันว่าใครจะดูแลรักษามรดก อีกคนอยากออกบวช ออกบวชเพื่ออะไร? ออกบวชเพื่อหาความจริงของเขา

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราอยู่กับโลกนะ โลกมีหน้าที่การงาน เราเกิดมานี่เดี๋ยวนี้โลกเจริญ พอโลกเจริญ การทำหน้าที่การงานของเราเพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัยเครื่องอาศัยเพื่อสิ่งใด? อาศัยเพื่อให้ดำรงชีวิต

ถ้าชีวิตอยู่ได้ ถ้ามีชีวิตอยู่ มีความรู้สึกอยู่ เห็นไหม คนๆ นั้นมีโอกาสไง แต่ถ้าเวลาคนตายไปแล้วนี่หมดสิทธิ์ เวลาคนตายไปเหลือแต่ซากศพ เวลาคนสลบไสลไปเราจะเตือนเขาได้อย่างไร? คนสลบไสลไปนี่เขานอนอยู่ เห็นไหม คนที่ไม่มีสติ คนที่สลบอยู่ ป้อนอาหารเขาไม่ได้สำลักตายนะ คนจะกินอาหาร คนจะแข็งแรง คนจะทำหน้าที่การงานเขาต้องมีสติของเขา

ในปัจจุบันนี้ เห็นไหม นี่วันพระ วันโกน ที่ว่าตักตวงบุญกุศลใส่หัวใจ แล้วเขาตักตวงเป็นหรือเปล่าล่ะ? ถ้าเขาตักตวงไม่เป็นนะ เขาไม่รู้จักบุญกุศล โดยธรรมชาติของมนุษย์บอกว่าเราเป็นคนดีแล้ว ทุกคนว่าเราเป็นคนดีแล้ว เราจะต้องไปวัดไปวาอีกทำไม? ถ้าไปวัดไปวา เห็นไหม ไปวัดไปวาเพื่อวัดหัวใจของตัวไง

ไปวัดนะเราก็มองกัน เพราะสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาอยู่โคนต้นโพธิ์ โคนต้นโพธิ์นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีวัตถุก่อสร้างสิ่งใดๆ เลย เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมานี่พระพุทธ พระธรรมเกิดขึ้น แล้วเวลาศาสนามันเจริญรุ่งเรืองมา ด้วยความศรัทธาความเชื่อของเรา เราต้องไปสร้างถาวรวัตถุกันเป็นศาสน-วัตถุ เราก็ว่าสิ่งนี้ไปวัดๆ แล้วไปวัดกันก็ไปสิ่งก่อสร้าง ไปถึงอารามที่อยู่อาศัยก็บอกว่าไปวัดกัน

แต่ถ้าเป็นกรรมฐานเรา เห็นไหม ไปวัดนี่ไปวัดหัวใจของตัว ไปวัดหัวใจของตัวนะ นี่มีสติไหม? ศีลเราครบสมบูรณ์ไหม? เรามีสมาธิขึ้นมานะ ถ้าเรามีวัตรปฏิบัติ นี่คือโอกาสไง เวลาโอกาสของเรานะ เวลาเราไปวัดไปวากัน เราจะมาประพฤติปฏิบัติกันเราก็วิตกกังวลนะ วิตกกังวลว่าเราจะประสบความสำเร็จไหม? เราอยากจะมีความสุขของเรา เราคาดเราหมายไปไม่ใช่ความจริงซักอย่างหนึ่ง

เวลาหลวงตาท่านพูดนะ เวลาท่านออกประพฤติปฏิบัติ ท่านบอกว่าท่านปฏิบัติไปนี่ทุกข์ยากมาก แล้วปฏิบัติไป เวลามันมีคุณธรรมขึ้นมาในหัวใจมันจะสะดวกสบายมากขึ้น มันจะสะดวกสบายมากขึ้น แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้นเลย มันตรงกันข้าม ตรงกันข้ามเพราะอะไร? เพราะถึงเวลาแล้วปฏิบัติไป นี่กิเลสอย่างหยาบๆ ใช่ไหม? กิเลสอย่างกลางใช่ไหม? กิเลสอย่างละเอียด กิเลสมันยิ่งละเอียดขึ้นไป เล่ห์เหลี่ยมมันยิ่งละเอียดขึ้นไปนะ

จนถึงที่สุด พอถึงที่สุดนี่จบสิ้นของกิเลสแล้ว อันนั้นแหละเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง เออ นั่นล่ะวิมุตติสุขมันเป็นอย่างนั้น แต่ขณะที่เราก้าวเดินไปนี่นะ มันจะมีอุปสรรค มันจะมีวิบาก มันจะมีผลของมัน ผลการกระทำที่เราทำกันมา มันจะเป็นขวากหนามขวางเราไปตลอดเลย ถ้ามันขวางไปตลอด นี่เราต้องสู้กับสิ่งนี้

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปนี่ ทุกคนคิดว่าปฏิบัติแล้วมันจะสะดวกสบาย ปฏิบัติแล้วมันจะมีความสุข ถ้าจิตสงบมีความสุขแน่นอน แต่ก่อนที่จะสงบ เราจะมีสิ่งใดทำให้จิตเราสงบได้ใช่ไหม? ถ้าเราวิตกกังวลไป เราคาดเราหมายไป มันไม่เป็นความจริงซักอย่าง ถ้าความจริงของเรา ความจริงของเราก็อยู่ที่เราตั้งสตินี่ไง

ถ้าเราตั้งสติของเรา เห็นไหม เราตั้งสติแล้ว จิตนี่มันเป็นสันตติ บอกว่าจิตเป็นดวงๆ ดวงๆ มันเป็นสันตติ สันตตินี่พลังงานมันเกิดตลอด เวลาพลังงานมันเกิดตลอด เราตั้งสติแล้วมันก็เกิดมาตลอด มันก็ขับเคลื่อนตลอด มันส่งออกตลอด โดยธรรมชาติของมันจิตมันส่งออก การส่งออกคือการออกรับรู้ ถ้าจิตไม่ออกรับรู้มันจะรับรู้ได้อย่างไร?

ธรรมชาติของมันส่งออกอยู่แล้ว พอธรรมชาติส่งออกเราก็ตั้งสติไง ตั้งสตินี่ทวนกระแส ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกทวนกระแส ทวนกระแสเราตั้งสติของเราไว้ เห็นไหม แล้วเรามีคำบริกรรมของเราไว้ เหมือนเด็ก เด็กเกิดมา คลอดใหม่มันต้องหัดคว่ำก่อน แล้วมันจะหัดนั่งของมัน นั่งเสร็จแล้วนะมันก็จะลุก หัดยืน แล้วก็หัดเดิน

จิตของคนทุกคน เห็นไหม ดูสิโดยวุฒิภาวะของสังคม สังคมเขาว่าเด็กนี้วุฒิภาวะมันอ่อนด้อย เด็กนี้มันไม่มีประสบการณ์ เด็กมันยังไม่รู้แบบเรา เรามีประสบการณ์ชีวิต คนเฒ่าคนแก่เราต้องมีประสบการณ์มากกว่าเขา ยิ่งอายุมากยิ่งมีประสบการณ์มาก ยิ่งเป็นคนไข้ ยิ่งมีโรคภัยไข้เจ็บเยอะ เพราะประสบการณ์ของใจที่มันซับสิ่งใดๆ มามันเหมือนกับคนไข้ ทีนี้คนไข้นี่ จิตเวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน ถ้าเราไม่มีคำบริกรรม เด็กมันจะหัดเดินมันต้องมีสิ่งใดเกาะเพื่อจะให้มันก้าวเดินไปได้

จิต! จิตถ้าเรามีคำบริกรรมของเรา เห็นไหม มรณานุสติ คิดถึงความตายๆ คิดถึงความตายนะมันเกิดธรรมสังเวช เกิดธรรมสังเวชเพราะเราจะตาย สิ่งที่เราแสวงหามา สิ่งที่เรากักตุนมามันจะเป็นประโยชน์กับใคร? นี่เราก็ห่วงชีวิตเรา ชีวิตเราต้องมั่นคง เราต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยเพื่อดำรงชีวิต เพื่อความมั่นคง แล้วถ้าเราตายลงเดี๋ยวนี้ แล้วสิ่งที่เป็นความมั่นคงในชีวิตเรานี่มันเป็นของใคร?

ถ้ามรณานุสติ ถ้ามันธรรมสังเวชมันจะสังเวช พอมันสังเวชขึ้นไป นี่สิ่งที่มีค่าที่สุดมันอยู่ตรงนี้ไง สิ่งมีค่าที่สุดคือความรู้สึกนี่ไง ถ้าความรู้สึกนะมีคำบริกรรม มีคำบริกรรมเพราะ! เพราะให้มันหัดเกาะไว้ก่อน ถ้าไม่เกาะไว้มันสันตติ มันออกหมด มันต่อเนื่องกันไป มันออกไปเรื่อยๆ ออกไปเรื่อยๆ ออกไปรับรู้โดยสัญชาตญาณของมันนั่นแหละ

นี่เกลือจิ้มเกลือ เห็นไหม เกลือจิ้มเกลือหมายถึงว่าจิตแก้จิต ถ้าจิตไม่แก้จิต ไม่มีใครแก้ให้ได้ จิตแก้จิต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใช่ไหม? ทีนี้เราจะปฏิบัติขึ้นมา เราจะล้มลุกคลุกคลาน เราจะเริ่มต้น นี่เริ่มต้นขึ้นมาเราก็วิตก วิจาร เราวิตกมากนะว่าเราจะไม่รู้ เราจะไม่เห็น เราจะไม่ได้ประสบความสำเร็จ เราวิตกไปหมดเลย เพราะ! เพราะเราศรัทธา เราเชื่อ

เราเชื่อมั่นในคุณธรรม เราเชื่อมั่นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เวลากราบพระ ว่ากราบถึงพระนี่กราบถึงปัญญาคุณ กราบถึงเมตตาคุณ กราบถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะเราเชื่อมั่นของเรา ถ้าเราเชื่อมั่นของเรา เราเชื่อมั่น เรามีศรัทธา ศรัทธานี่เป็นอริยทรัพย์ เป็นหัวรถจักร เห็นไหม หัวรถจักรมันจะดึงรถจักรคันนั้นไปตามราง

นี่ก็เหมือนกัน ศรัทธาของเรามันจะดึงหัวใจของเราให้มาค้นคว้า ให้มาศึกษา นี่ศรัทธาความเชื่อ ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ ความเชื่อเป็นอริยทรัพย์ ความเชื่อ ศรัทธามันจะดึงให้เรามาศึกษา ศึกษาแล้วเราทดสอบไหม? เราทดสอบ เราปฏิบัติไหม? พอเราปฏิบัติไป เห็นไหม ทดสอบ ตรวจสอบ ทดสอบ ตรวจสอบ การตรวจสอบนี่สำคัญนะ ถ้าตรวจสอบว่ามันเป็นจริง ไม่เป็นจริง ถ้ามันเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างใด? หัวใจนี้เป็นจริงอย่างใด?

นี่ไงตักตวงบุญใส่หัวใจของเรา แล้วตักตวงบุญเขาจะตักตวงสิ่งใดล่ะ? เห็นไหม เกิดมาเป็นชาวพุทธ นี่พุทธศาสนาทำบุญแล้ว ทำบุญก็ปีใหม่ วันเกิด ทำอยู่ ๒ หน นี่ทำบุญกุศล ทำอย่างนั้นมันก็เป็นการเสียสละถูกต้อง แต่การเสียสละของเรา การทำทานของเรา เห็นไหม การทำทานของเราเป็นประโยชน์กับเรามหาศาลเลย มหาศาลเพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้เราหามาด้วยน้ำพักน้ำแรง ของนี้หามาด้วยความทุกข์ความยากนะ เราควรจะเอาไว้ใช้สอยใช่ไหม? ใช้สอยเราก็ใช้สอยเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้นเอง

แต่ถ้าเราเปิดนะ เราเสียสละออกไป หัวใจมันได้เปิดออก เพราะการเสียสละนะใครเป็นคนเสียสละ? ถ้าไม่มีเจตนา ไม่มีความคิด ของนั้นมันไปได้ไหม? ไปดูโกดังสินค้าสิ ของมันเต็มโกดังเลยล่ะ มันรอให้น้ำท่วมนั่นไง พอน้ำท่วมแล้วมันก็เสียไปเปล่าๆ แต่ถ้าเราเสียสละไป สิ่งที่เราเสียสละไปมันเป็นวัตถุ แต่หัวใจที่เป็นความรู้สึกอันนี้ล่ะ? นี่ความรู้สึกอันนี้เปิดกว้างขึ้นไป เปิดกว้างขึ้นไป จิตใจจะเป็นสาธารณะ สาธารณะเพราะเหตุใด? สาธารณะเพราะเราเสียสละของเรา

นี่ชาวพุทธ เห็นไหม เสียสละๆ เสียสละเพื่ออะไร? นี่ใจที่เป็นทาน ใจที่เป็นทานมันรับฟังนะ ใจที่ไม่มีการเสียสละ มันจะยึดมั่นถือมั่นของมัน มันจะรู้ของมัน มันจะยึดมั่นของมัน ไม่มีเหตุผลตรงข้าม ไม่มีความเห็นต่าง ไม่ดูความเห็นต่าง ไม่มีความเห็นต่าง ไม่เคยคิดสิ่งใดเลย คิดแต่ทิฐิมานะของตัว ทิฐิ เห็นไหม ดูสิอัตตา อัตตาทิฏฐิของตัวว่าตัวรู้ ตัวเห็น ตัวฉลาด ตัวเก่ง เก่งไปหมดเลย เก่งโดยใต้อำนาจของกิเลสไง นี่ฉลาดในอวิชชาไง ฉลาดในความโง่ไง

อวิชชาคือความไม่รู้ แต่ตัวเองว่าตัวเองฉลาด ฉลาดอยู่ใต้โง่นั่นไง โง่มันควบคุมไว้แล้วก็ว่ามันฉลาด ฉลาดอะไรล่ะ? ฉลาดเอาตัวรอดไม่ได้ แต่พอเราทำความสงบของใจเราเข้ามา ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ นี่ไงสิ่งที่ว่าถ้ามันจะฉลาดมันไม่ใช่อยู่ใต้ความโง่ ความโง่คืออะไร? ความโง่คืออวิชชามันปกคลุมไว้ จิตใจมันถึงฟุ้งซ่าน จิตใจมันถึงสงบไม่ได้ จิตใจสงบขึ้นมา ถ้าสงบมันก็โล่ง มันก็โถง มันก็เปิดออก เปิดอวิชชาออก มันรู้ของมัน เห็นไหม

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

จิตใจพอสงบเข้าไปมันเห็นเงาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะจิตใจมันแค่สงบร่มเย็นเข้ามา ถ้ามันใช้ปัญญาของมันออกไป วิปัสสนาของมันออกไป เห็นไหม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต.. เห็นธรรมๆ ไง ธรรมมันคืออะไรล่ะ? ธรรมมันคืออะไร? สิ่งที่เราศึกษามามันคืออะไร? มันคือทฤษฎีทั้งนั้นเลย ถ้าไม่มีทฤษฎี พวกเรานี่โง่เง่ามากนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมเองโดยชอบ ไม่มีใครบอก ไม่มีใครสอน เพราะมันไม่มี ของเรานี่ตำราชัดๆ เลย เห็นไหม เวลาบอกปริยัติ นี่ปูนหมายป้ายทาง คือการชี้ทาง คือป้ายบอกทาง นิมิตคือเครื่องหมายบอกทาง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้เข้ามา ชี้เข้าไปที่ไหน? ชี้เข้าไปที่ไหน? เราไปค้นหากันที่ไหน?

พระออกธุดงค์ๆ นี่แบกกลด แบกบาตรเข้าป่าไปที่ไหน? ก็ไปหาหัวใจของตัว ไปที่ไหนพอแขวนกลดเสร็จแล้วนะ ออกบิณฑบาตมาก็พุทโธ พุทโธนี่แหละเพื่อควานหา อาศัยความสงบสงัดไง สัปปายะ สิ่งที่เป็นสัปปายะเพื่อค้นคว้าหาเราเข้ามา ถ้ามันหาเราเข้ามานะ เราค้นคว้าหาเราเข้ามา ถ้ามันเข้ามาสู่ตัวเรา เห็นไหม สู่ตัวเราๆ ถ้าใจมันสงบเข้ามาได้นี่มันเปิดออก มันเปิดออกเพราะเรามีศรัทธา เรามีความเชื่อ เรามีจิตใจที่เสียสละ เราจะพัฒนาของเรา

พอจิตใจมันมีอะไรขุ่นมัวขึ้นมา เห็นไหม นี่เวลาเสียสละวัตถุเราเสียสละได้ แต่สิ่งใดที่มันเป็นความรู้สึกนึกคิดที่มันขุ่นมัวในหัวใจของเรา เราเสียสละไม่ออก สิ่งใดที่มันยิ่งมีรสชาตินะ สิ่งใดที่ว่ามันกระเทือนหัวใจ นี่มันจะคิดแล้วคิดเล่า คิดให้น้ำตาตกในอยู่ตลอด มันก็ชอบคิดของมัน ทำไมมันสละไม่ได้? มันสละไม่ได้เพราะอะไร?

ตัณหา วิภวตัณหา.. ตัณหาคือแสวงหา อยากได้ อยากเป็น วิภวตัณหาคือไม่อยากได้ ไม่อยากได้นี่ผลักมันออก มันก็เป็น นี่มันตัณหาอันเดียวกัน เพียงแต่มันเข้าหรือออก ถ้ามันเข้าหรือมันออก นี่อารมณ์ที่มันผูกในหัวใจมันดูดดื่ม เห็นไหม มันฝังอยู่ในใจ แล้วแก้อย่างไร? นี่มีสติปัญญาไล่เข้าไป ถ้ามีสติปัญญาไล่เข้าไป ถ้าเป็นพุทโธนี่สมาธิอบรมปัญญา ถ้าเป็นปัญญาไล่เข้าไปเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาไตร่ตรอง ใคร่ครวญในธรรม ตรึกในธรรมนั่นแหละ ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กระทบเข้ามาในหัวใจของเรา นี่ทำไมธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าสิ่งนั้นเป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา

แล้วที่มันผูกมัด ผูกคิด เวลามันผูกพันที่มันคิดอยู่นี่มันเป็นอนัตตาไหมล่ะ? มันก็เป็นอนัตตา แต่ทำไมเราไม่รู้ล่ะ? อนัตตาทำไมสละออกไม่ได้ล่ะ? นี่สละออกไม่ได้ เพราะ! เพราะไม่มีการฝึกฝน แม้แต่พื้นๆ อย่างนี้ยังไม่รู้เรื่องเลย ถ้าไม่รู้เรื่องเลย แม้แต่พื้นๆ พื้นฐาน สมถกรรมฐาน ไม่มีฐานที่ตั้งแห่งการงานจะไปทำอะไรกัน? เวลาทำขึ้นมานี่ทำงานบนอากาศ ทำประโยชน์สาธารณะไง ทำแล้วตกเป็นของสาธารณะ สิ่งต่างๆ ที่เราทำมาเป็นของสาธารณะ เห็นไหม วัฏฏะ ผลของวัฏฏะ

นี่เวียนตายเวียนเกิดเป็นผลของวัฏฏะ วัฏฏะนี่วิบากกรรม วิบากกรรมนะ แล้วเราแก้อย่างไรล่ะ? กรรมคือการกระทำ นี่กัมมะพันธุ กัมมะปฏิสะระโณ กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นแดนเกิด กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมทั้งนั้นเลย แต่เราทำความดี กรรมดีเป็นที่พึ่ง พึ่งความดีไปก่อน ความดีนี่ทำให้เราเข้าไปสู่สัจจะความจริง ถ้าสู่สัจจะความจริง การกระทำอย่างนั้น นี่เป็นการกระทำ

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไม่ต้องวิตกวิจารนะ ธรรมอยู่ข้างหน้าที่เราจะเดินเข้าไปประสบนั้น แต่หน้าที่ของเราคือจะต้องก้าวเดินไป ถ้าหน้าที่ของเราก้าวเดินไปนะ เราตั้งสติของเรา เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ใครทำมากเท่าไหร่ได้เท่านั้น ใครทำนะ ใครเดินจงกรมได้มาก แต่จิตมันสงบมาก สงบน้อยมันเป็นประสบการณ์ทั้งนั้นแหละ เราเดินจงกรม ๗ วัน ๗ คืนจิตไม่เคยสงบเลย แล้วที่มันไม่ทำอะไรกัน มันจะสงบมันเป็นไปได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้! เราทำขนาดนี้ยังไม่ได้ แล้วเขาไม่ทำนี่ได้ไหม?

ถ้าเราทำอย่างนี้ไม่ได้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันได้ ให้มันได้หมายถึงว่ามันจะรู้ของมัน มันรู้ของมันนะ มันสัมผัสของมัน เห็นไหม เราไปเที่ยวนะ เราไปพักผ่อน เราไปเจอสิ่งใดที่มันฝังใจ นี่สิ่งนั้นดูดดื่มไหม? แล้วจิตมันเข้าไปสัมผัสธรรม เข้าไปสู่ความสงบมันจะดูดดื่มไหม? จิตถ้ามันได้สงบซักหนหนึ่งนะ ถ้ายังทำไม่ได้อีกนะ สิ่งนี้จะฝังใจไปตลอด นี่สิ่งนี้ฝังใจไปตลอด

แต่ถ้าทางโลกเราได้แต่ชื่อกัน ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา นี่พูดแล้วมันก็จืดๆ พูดแล้วมันเป็นนิทาน มันเป็นคำบอกเล่า แต่เราเข้าไปเจอ ไปสัมผัสของเราเอง เราจะไปเจอของเราเอง สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเรา แล้วทำไมมันไม่เป็นล่ะ? มันไม่เป็นเพราะ! เพราะมันผลัก วิภวตัณหา เห็นไหม นี่ตัณหาคือความแสวงหา แล้วถ้ามันผลักล่ะ? แล้วมันผลักเราจะเข้าไปได้อย่างไร?

เวลาปฏิบัติเราว่าทำคุณงามความดี ดูสิเราเจอคนทำคุณงามความดี เราก็อยากส่งเสริมใช่ไหม? เวลาเราทำความดีกิเลสมันก็ต้องส่งเสริมเรา แล้วมันส่งเสริมเราไหม? กิเลสนี่นะ พอเราจะไปโต้แย้ง ไปขัดแย้งกับมัน มันจะมีลูกล่อลูกชน มันจะมีมากกว่านี้นะ เวลาเราไม่ทำมันก็บอกว่าสิ่งนั้นไม่มี เวลาเราทำขึ้นมานะมันก็สร้างภาพขึ้นมา มันบังเงานะ กิเลสมันบังเงา

เวลาปฏิบัติขึ้นไปจะรู้ว่ากิเลสของเราเอง นี่พญามารมันร้ายกาจนัก ถ้ามันร้ายกาจนะ เราจะมีความรู้มากขนาดไหนมันจะครอบงำไว้ เห็นไหม ฉลาดในโง่ไง ฉลาดขนาดไหน โง่กับอวิชชาของตัวเอง จะฉลาดขนาดไหน ยอมจำนนกับทิฐิของตัวเองหมด แต่ถ้าเราเปิดมัน เราทำความสงบของใจ

ถ้าทำความสงบของใจ สมาธิเป็นสากลนะ สมาธิคือเปิดโอกาสให้ทุกๆ คนได้ใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญาเป็น สมาธิเปิดโอกาสให้ใช้ปัญญา แต่ถ้าใช้ไม่เป็น เห็นไหม สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ภาวนามยปัญญาเกิดไม่ได้ ไม่มี! สิ่งที่ใช้ปัญญากันนี้เป็นโลกียปัญญา เป็นตรรกะ ตรรกะ ปรัชญาฆ่ากิเลสไม่ได้! ไม่ได้! มันออกมาจากใจ ออกมาจากกิเลส ออกมาจากอวิชชา แล้วจะไปฆ่ามันเป็นไปไม่ได้!

แต่ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา นี่มันไม่ใช่ตรรกะนะ มันหลุดไม้หลุดมือนะ พอจิตสงบแล้ว พอไปรู้สิ่งใดนี่แวบ! หาย แวบ! หาย เพราะอะไร? เพราะความสงบฐานมันไม่พอ เหมือนเด็ก นี่เด็กยกของหนักไม่ได้ ถ้าเด็กมันฝึกหัดของมัน มันจะยกของหนักของมัน

ถ้าจิตสงบแล้วนะน้อมไปหากาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ แบบนี้ โดยจิตเห็นนี้ ถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง แต่นึกเอา คาดเอา อันนั้นเป็นสติปัฏฐาน ๔ ปลอม ที่เราว่าปลอม ปลอมคือสัญญา ปลอมคือการสร้างภาพ ปลอมคือความรู้สึกนึกคิด เป็นจริงไม่ได้ แต่! แต่การกระทำมันก็ต้องฝึกฝนมาจากของปลอมนั่นแหละ ฝึกฝน ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ ถ้าเราใช้สติปัญญาใคร่ครวญเข้าไปมันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

ถ้าสมาธิมันสงบเข้ามา ถ้ามันรู้จริงเห็นจริงนะ จิตดวงนั้นเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง กับสิ่งที่มันเป็นการสร้างภาพที่เรารู้มา เราเห็นมา จากสิ่งที่เป็นความจอมปลอมนั่นแหละ ถ้าคนรู้จริงเห็นจริงมันจะมาเทียบกันระหว่างจริงกับปลอม เพราะจิตมันเคยปลอมมาก่อน จิตมันเคยเห็นปลอมมาก่อน พอมันเห็นจริงมันรู้เลย อืม! อันนั้นปลอม อันนี้จริง มันจะรู้ของมัน

นี่ไง เวลาผู้ที่ปฏิบัติแล้ว เวลาจิตมันเป็นธรรมขึ้นมาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตรงหน้าก็ไม่ถาม ไม่ถามเพราะมันก็สัมผัสปลอมมาก่อน จิตดวงไหนไม่เคยเจอของปลอมมาก่อนมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราเกิดมากับสมมุติ เราเกิดมากับความจอมปลอมทั้งนั้นแหละ เราอยู่กับความจอมปลอมอยู่แล้ว แล้วพอเราไปเจอความจริงขึ้นมา ความจริงอันนั้นมันจะล้างความจอมปลอมอันนี้ไง ถ้ามันล้างความจอมปลอมอันนี้ แล้วเราพิจารณาไปๆ มันจะเป็นความจริงขึ้นมา นี่มันจะเป็นวิปัสสนา

นี่ไงวิปัสสนามันอยู่ที่นู่น ไม่ใช่ตรึกเอา นึกเอา วิปัสสนาๆ นี่มันวิปัสสนึก ถ้าวิปัสสนาขึ้นมาแล้วมันจะแก้ไขของมัน แล้วเป็นจริงขึ้นมา นั่นล่ะผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต มันเป็นความจริงอย่างนั้น

นี่เราจะตักตวงอย่างนี้ ถ้าเราตักตวงอย่างนี้ เห็นไหม เราทำทาน สิ่งที่เป็นวัตถุเขาสละกันได้ยาก ถ้าจิตใจเราสูงส่งเราสละของเราได้ง่าย เพราะเราฝึกใจเรามาแล้ว ถ้าคนที่ฝึกใจมาแล้วเขาจะเสียสละของเขาได้ง่าย ถ้าเสียสละง่ายมันก็เปิดประตูให้กว้างขึ้น เปิดหัวใจให้กว้างขึ้น ให้สิ่งที่ทำเข้ามาในหัวใจของเรา

แล้วเรามานี่เราจะมาตักมาตวงของเรา ตักตวงบุญกุศล วันพระ วันโกน ตักตวงบุญกุศลใส่หัวใจของเรา นี่เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์นะ

“อานนท์ เธอบอกเขาเถิด อย่าบูชาเราด้วยอามิสบูชาเลย บูชาด้วยปฏิบัติบูชาเถิด เพราะการปฏิบัตินั้นมันจะได้ความจริง การปฏิบัตินั้นจะเข้าไปสัมผัส” เห็นไหม

เราจะปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราจะปฏิบัติบูชาพุทธะในหัวใจของเรา ถ้าพุทธะ พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในหัวใจของเรามันตื่นขึ้นมา มันมีความรู้สึกของมันขึ้นมา มันตักตวงของมันขึ้นมา มันจะเป็นความจริงของมันขึ้นมา นี่ไงแล้วพอพุทธะอันนี้มันพ้นจากทุกข์ไป ใครเป็นคนพ้น? ก็จิตดวงนี้เป็นผู้พ้น จิตดวงนี้เป็นผู้พ้น จิตดวงนี้เวียนตายเวียนเกิดมาไม่มีต้นไม่มีปลายนะ เส้นทางที่จิตมันเดินมานี้มันยาวไกลนัก แล้วเราพยายามทำของเรา

ปัจจุบันนี้ เห็นไหม วัดก็มีให้ทำ ทางจงกรมก็มีให้ ที่เดินจงกรมก็มีให้ ทำไมเราไม่ขวนขวาย? เวลาทำงานทุกคนมีโอกาสเราจะรีบขวนขวาย นี้ทางจงกรมก็มี กุฏิให้นั่งสมาธิก็มี เอาให้ได้สิ เอาให้ได้ แล้วจะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง