ต้นบัญญัติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ข้อ ๖๖๙. ข้อ ๖๗๐. มันไม่มีนะ
ข้อ ๖๗๑. นี่ข้อ ๖๗๑. เขายกเลิก ถามมา แล้วก็เขียนมาข้อ ๖๗๒. เรื่อง ยกเลิกข้อ ๖๗๑.
ข้อ ๖๗๓. ข้อ ๖๗๔. ไม่มี
ถาม : ๖๗๕. เรื่อง เรียนถามเรื่องเกี่ยวกับความสุขในชีวิต
กราบนมัสการหลวงพ่อ ความเห็นของผม
หลวงพ่อ : นี่ความเห็น เดี๋ยวฟังดูนะมันแทบจะไม่มีเนื้อหาสาระเลย แทบจะเป็นน้ำท่วมทุ่ง ไม่มีอะไรเลยนะ แต่เขาถามมา ตอบไปให้มันเป็นนั่นไป ให้หมดหน้าที่กันไป เขาบอกว่าเขาเห็นเรื่องการกิน การกินอาหารมันก็สักแต่ว่า มันไม่เป็นกิเลสอะไรเลย แล้วเขาก็พูดถึงการถือศีล ๘
ถาม : ผมเกิดผิดศีล ๘ เห็นไหม การผิดศีลคือการล่วงพรหมจรรย์ ไม่ใช่อยู่ในการประพฤติปฏิบัติส่วนพรหมจรรย์แล้ว แต่อยู่ในใจของผู้ประพฤติ แต่ในการทำหน้าที่แห่งชีวิตเป็นไปไม่ได้หรือไม่ครับ แม้ว่าการประพฤติดังนี้แล้ว จะไม่ได้ประกอบด้วยกิเลส คือตัณหาในใจอย่างตัวผมที่ผมเป็น
อย่างการรับประทานอาหาร ผมมีความสุขได้ ผมอร่อยกับอาหารได้ แต่ผมไม่ติดยึด ทานอย่างไรก็ได้ ไม่ทานก็ได้ แต่ถ้าเหนื่อยอาจจะทานเยอะเพื่อประทังความหิว ความกระหาย หรืออย่างเรื่องอื่นๆ แต่ผมสามารถมีความสุขได้ แต่ผมไม่ได้ยึดติดเช่นกันครับ ผมรู้สึกผ่อนคลายในการเสพสุขพวกนี้ โดยไม่ได้เป็นทาสความสุขทางสัมผัสในพวกสิ่งนี้เลยครับ แต่ไม่ได้ประมาท
แต่อย่างเรื่องการล่วงพรหมจรรย์ เช่นการใกล้ชิดหญิง-ชาย ยอมรับว่ายังมีการยึดติดครับ แต่ก็เริ่มพิจารณาสางปมออกมาได้เรื่อยๆ ครับ จนเริ่มแยกออกระหว่างการล่วงพรหมจรรย์และกิเลสตัณหาได้ เริ่มเห็นว่ากิเลสของการล่วงนั้นคืออารมณ์ส่วนใดเป็นหัวโจก ความคิดอะไรที่เป็นต้นเหง้า ส่วนอารมณ์ที่เนื่องเข้าไปอีกในส่วนลึกอาจจะยังไม่ถึง แต่ผมเริ่มเจอหัวโจกของมันแล้วละครับ
พอถึงจุดนี้ผมสงสัยว่า เราแยกแยะการล่วงพรหมจรรย์ เปรียบเหมือนการทานอาหาร หรือการทำหน้าที่ในชีวิตแล้ว กล่าวคือมิได้เป็นกิเลสในใจแล้ว มิได้เป็นทาสแห่งการล่วงพรหมจรรย์ แล้วคำถามคือ
๑. เราสามารถประพฤติล่วงพรหมจรรย์ได้ โดยที่ไม่ได้เป็นทาสแก่กิเลสในใจเหมือนการทานอาหาร ดังนี้แล้วสามารถเป็นไปได้จริงไหมครับ คือไม่ได้เป็นทาสการล่วงพรหมจรรย์ จัดเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งเท่านั้น
หลวงพ่อ : นี้พูดถึงเวลาเราจินตนาการไง นี่ตอบแล้วนะ (หัวเราะ) นี่เขาพูดถึงการจินตนาการ เห็นไหม เวลาเราจินตนาการ เพราะเราจินตนาการ พอเราจินตนาการเราเข้าใจได้ เพราะอย่างธรรมะนี่เวลาเราฟังนะ เมื่อก่อนเราฟังธรรมะในภาคปริยัติ ในตำรา เมื่อก่อนเวลาพระเทศน์ต้องถือใบลาน ถ้าใครไม่ถือใบลานถือว่าอวดเก่ง แต่พอครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศน์นะ เวลาท่านเทศน์ครูบาอาจารย์เราก็ถือใบลาน ถือใบลานไว้เฉยๆ แต่ท่านใช้หัวใจท่านเทศน์
ถ้าใช้หัวใจท่านเทศน์ ท่านมีประสบการณ์ของท่าน ท่านมีความรู้ของท่าน พอท่านเทศน์ออกมาเรื่องใกล้ตัวเรานี่แหละ เรื่องความกิน ความอยู่นี่แหละ แต่พอท่านพูดนี่เราเห็นจริงตาม พอเราเห็นจริงตามเราก็มีปัญญาของเราขึ้นมา พอมีปัญญาขึ้นมา ปัญญาเราตามไปไง เราก็คิดว่าเรื่องกินอาหาร เรื่องต่างๆ นี่ได้ เรากิน เราเสพสุขได้ แต่เราไม่ติด เราไม่เป็นทาสของมัน
นี่พูดแต่ปากไง พูดแต่ปากเพราะอะไร? เพราะคนเราไม่ทุกข์นะ คนไม่ทุกข์ ไม่ยาก ไม่อด ไม่อยาก ถ้าใครอดอยากนะ เวลาเราไม่มีจะกินไปอยู่ในป่านะ อะไรมันก็มีประโยชน์ไปหมดแหละ แต่นี้เพราะอะไร? เพราะเราหาได้ง่าย เราหาได้ง่ายอย่างนี้ เราก็คิดว่าเราไม่ติด เราไม่ติด เราไม่ติดเพราะว่าเราคิดของเราว่าเราไม่ติดไง แต่ถ้าเวลามันไม่มีล่ะ? คนไม่อด ไม่อยาก ไม่ทุกข์ ไม่ยาก ฉะนั้น เวลาเราอดอยากนะ แล้วเรานั่งพิจารณาดูมัน เราจะรู้เลยว่าเราติดหรือไม่ติด ไอ้ที่พูดว่าไม่ติดๆ มันพูดที่ปาก มันยังไม่เป็นความจริงหรอก
ฉะนั้น พอเราได้ยินครูบาอาจารย์เราเทศนาว่าการเราก็จินตนาการได้ เราจินตนาการได้แต่ไม่เป็นจริง ไม่เป็นจริง! ถ้าเป็นจริงนะ เวลามันแบบว่าเราฉันอาหารใช่ไหม? เวลาเรากินข้าวโดยที่ว่าเราไม่ติดมัน ถ้าเราไม่ติดมัน เห็นไหม นี่เวลาถ้าเราผ่อนอาหารล่ะเราจะติดหรือไม่ติด? เราจะเห็นต่อเมื่อเราขาดแคลน เราจะเห็นต่อเมื่อเวลาเราเข้าที่อัตคัด เราจะรู้ เราจะเห็นเลย
แต่นี้เพราะมันมีของมันมหาศาล เราตุนของเราไว้ เราไม่ติดในอาหารหรอก เพราะในตู้เย็นเราเต็มตู้เย็นเลย เราไม่ติดอาหารหรอก เพราะอาหารเราเต็มโกดังเลย มันก็ไม่ติดน่ะสิ แต่เวลามันไม่มีสิมันจะติดหรือไม่ติด? อ้าว ลองไม่มีสิ อ้าว โกดังก็ไม่มี ตู้เย็นก็ไม่มี ทุกอย่างไม่มีเลย ดูซิมันจะติดหรือไม่ติด
นี่พูดถึง เราจะบอกว่าโดยธรรมชาติ ในปัจจุบันนี้เขาจะบอกเลยว่า ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ทุกคนเป็นห่วงนะ เป็นห่วงว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เราก็ถามกลับว่า
ชีวิตประจำวันมันมีความสำคัญขนาดนั้นเชียวหรือ? ชีวิตประจำวันนี้มันเหนือธรรมะเชียวหรือ?
ธรรมมันเหนือทุกๆ อย่าง ธรรมมันเหนือโลกนะ ชีวิตประจำวันก็คือชีวิตประจำวัน แต่ถ้าปฏิบัติธรรมมันปล่อยวางได้หมดเลย ถ้ามันปล่อยวางได้หมด ถึงเวลามันเป็นจริงขึ้นมาแล้วนะ นี่มันเปลี่ยนแปลงชีวิตไปหมดเลย
ทีนี้ชีวิตประจำวัน เราเอาชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้ง แล้วปฏิบัติธรรมนี่ เห็นไหม ธรรมะก็เป็นอย่างนั้น คือเอาธรรมะมาเป็นฐานหนุนชีวิตประจำวัน หนุนตัวเองไง นี่คืออะไร? นี่คืออัตตานะ นี่คือทิฐินะ นี่คือตัวตน ตัวตนใหญ่กว่าธรรม แต่ถ้าธรรมมันใหญ่กว่า ตัวตนมันไม่มี มันสลายหมดนะ มันสลายตัวตน สลายทุกอย่างหมด
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่บอกว่าปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน อย่างอื่นปฏิบัติไม่ได้ อย่างนี้ปฏิบัติได้ พอปฏิบัติได้ขึ้นมา เห็นไหม นี่ทานอาหารก็ไม่เป็นกิเลส สรรพสิ่งก็ไม่เป็นกิเลส โอ้โฮ รู้ทันไปหมด เราบอกว่าทำความสงบของใจยังทำไม่ได้เลย ถ้าใจมันสงบมานะ สิ่งเรื่องนี้มันจะเข้าใจ ถ้าใจสงบนะ แล้วอย่างที่ว่าอันนี้มันเป็น
เราจะบอกว่าปัญญาในพุทธศาสนามันมีอยู่ ๓ ขั้นตอน สุตมยปัญญาคือปัญญาการศึกษา การเล่าเรียน นี่การศึกษา การเล่าเรียนคือสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา เห็นไหม จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ โดยไอน์สไตน์ไปพูดไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะจินตนาการของไอน์สไตน์นะ ไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาบอกว่า จินตนาการก็คือจินตนาการ
นี่ภาวนามยปัญญา ปัญญาสำคัญกว่าจินตนาการ จินตนาการก็คือจินตนาการ จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ก็ความรู้แบบโลกไง เห็นไหม สุตมยปัญญานี่ปัญญาการศึกษา ถ้าจินตนาการมันกว้างขวางกว่า แต่จินตนาการมันได้ประโยชน์อะไรล่ะ? จินตนาการนี่เพียงแต่ว่ามันเปิดโอกาสให้จิตมันได้ออกสำรวจ ออกค้นคว้า จินตนาการไง จินตนาการไปแล้วเพราะอะไร? เพราะจินตนาการเราไม่รู้ จินตนาการไป คาดหมายไป จินตนาการไป เดาไป ด้นไป จินตนาการไป
ฉะนั้น ปฏิบัติธรรมโดยจินตนาการไง จินตนาการในธรรมะไง อืม อาหารก็ไม่ติด โอ้ เราก็ไม่เป็นทาสมัน ไม่เป็นทาสสิเพราะเราพอใจ แต่ถ้ามันไม่มีจะกินนะ มันติดนะไม่มีอาหาร ไม่มีแล้วมันก็จะติด นี่เราจินตนาการอาหารมันก็ไม่มาหรอก อาหารมันต้องขวนขวายหามาเอง แล้วหามาเองเราติดหรือไม่ติดล่ะ? เราจะบอกว่านี่โดยพื้นฐาน
ฉะนั้น สิ่งที่ปฏิบัตินะ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ถ้าภาวนามยปัญญามันเกิด มันเกิดเพราะอะไร? สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เป็นโลกียปัญญา โลกียปัญญาเกิดจากภพ ภพคืออะไร? ภพคือตัวฐีติจิต ภพคือตัวที่ตั้ง ความคิดเกิดบนอะไร? ดูสิคอมพิวเตอร์มันเกิดบนอะไร? ซอฟแวร์ ฮาร์ดแวร์ ถ้าไม่มีซอฟแวร์มันจะมีไหม? เวลาเราเล่นคอมพิวเตอร์มันจะทำงานไหม? มันไม่มีทางหรอก
ซอฟแวร์มันก็คือสัญญาไง ข้อมูลเดิมไง ถ้าไม่มีมันจะออกมาได้อย่างไร? นี่แล้วความคิดมันเกิดจากอะไร? ความคิดเกิดจากอะไร? ความคิดเกิดจากภพ เกิดจากชีวิตมีพุทธะ มีเรา ความคิดถึงเกิด แล้วความคิดเกิดบนอะไร? เกิดบนภวาสวะ ภวาสวะมีอะไร? มีอวิชชา อวิชชานี่พอมันเกิดขึ้นมามันก็เป็นโลกียะ โลกียะคือโลก คือเรา คือตัวตน คือสิ่งที่จินตนาการได้ไง นี่โลกียปัญญา
ถ้าโลกุตตรปัญญาล่ะ? ถ้าจิตมันไม่สงบนะโลกุตตรปัญญาเกิดได้อย่างไร? เพราะโลกุตตรปัญญามันจะพ้นจากโลก มันจะเหนือโลก โลกุตตระจะพ้นจากโลก ถ้าพ้นจากโลก ปัญญาที่มันย้อนกลับ ปัญญาที่มันเกิดขึ้นมา ปัญญาอย่างนี้เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้นมาเป็นโลกียะหมด เกิดจากสัญชาตญาณ เกิดจากจินตนาการ เกิดจากภพ เกิดจากพลังงาน เกิดจากเรา เกิดจากจิต
ปัญญาเกิดจากจิตนี้โลกียะหมด ปัญญาของกิเลส พอกิเลสมันจินตนาการมา มันก็ใช้ปัญญานี้ออกไป นี่สิ่งที่จินตนาการเป็นโลกียปัญญามันเป็นจินตนาการในธรรมของพระพุทธเจ้าไง แล้วธรรมของพระพุทธเจ้ามันก็มา จะว่ามีบุญก็ยังมีบุญอยู่นะ ยังได้คิด ได้ค้นคว้า แต่ถ้าทำความสงบของใจแล้ว ถ้าจิตมันสงบนะ ถ้าจิตไม่สงบสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโลกียะหมด ตัวจิตสงบมันจะทำให้ตัวเกิดโลกุตตระ
โลกุตตระคือปัญญาเหนือโลก ปัญญาที่พ้นจากโลก ปัญญาที่พ้นจากโลกต้องเกิดจากสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิแก้กิเลสไม่ได้ ตัวกรรมฐาน สมถกรรมฐานตัวฐาน ตัวฐานก็คือตัวภพ ตัวสถานที่ ตัวเริ่มต้นของความคิด ความคิดเกิดจากฐานนี้ ถ้าไม่มีฐานนี้ความคิดมาจากไหน? พอเกิดเข้าไปสู่สัมมาสมาธิ เข้าไปสู่ฐาน สมถกรรมฐาน แล้วถ้าเกิดปัญญา เห็นไหม เกิดปัญญาสู่ฐาน ใครเป็นคนเห็นฐาน? ใครเป็นคนสร้างฐาน? ใครเป็นคนจัดการฐาน?
สติปัญญา! สติปัญญามันจัดการ เวลาปัญญาเกิด เกิดจากสติปัญญา เกิดจากสติปัฏฐาน เกิดจากสมถกรรมฐาน มันจะเป็นโลกุตตรปัญญา ถ้ามีสมาธิแล้วมันออกใช้เป็นนะ ถ้าใช้ไม่เป็นนะมันก็ไม่เกิด สมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ สมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ถ้าไม่ฝึกหัด ถ้าสมาธิเกิดปัญญาได้ ฤๅษีชีไพรเขามีสมาธิอยู่แล้ว แต่เป็นมิจฉา
แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำสมาธิขึ้นมาแล้วออกฝึก พอจิตสงบนะ อานาปานสติกำหนดลมหายใจเข้าออกๆ พอจิตสงบแล้วบุพเพนิวาสานุสติญาณ ข้อมูลเดิม เห็นไหม ข้อมูลเดิมคือตั้งแต่พระเวสสันดรมา บุพเพนิวาสานุสติญาณอันนี้เป็นอดีต นี่เวลาดึงกลับมา ดึงกลับมาสู่สมถกรรมฐาน สู่ฐานที่ตั้ง สู่ฐีติจิต
นี่มันยังไม่มีปัญญาเกิดขึ้น มันก็รู้ไปในอนาคต จุตูปปาตญาณ จิตนี้ตายแล้วจะไปเกิดอย่างนั้นๆ เห็นไปหมดเลย มันก็ไม่ใช่อีก อดีต อนาคตไม่ใช่อีก ดึงกลับมาอยู่ปัจจุบัน พออยู่ปัจจุบันนี่มาเกิดมรรคญาณแล้ว เกิดอริยสัจ เกิดสัจจะความจริงขึ้นมาแล้ว กลับมาล้าง ล้างตัวภพนี่แหละ ล้างภวาสวะนี่แหละ กลับมาล้างตัวเอง เห็นไหม พอล้างตัวเองขึ้นมา นี่ไง! ถ้าล้างตัวเองเพราะอะไร? เพราะมีสัมมาสมาธิ เพราะมีจิตสงบ
จิตพอสงบแล้ว ทำงานยังไม่ถูกก็ไปอดีต อนาคต พอกลับมาสู่มรรคญาณของตัวเอง แล้วทำลายตัวเอง เห็นไหม นี่ไม่มีสมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ ไม่ได้หรอก! ตัวสมาธิก็แก้กิเลสไม่ได้หรอก! แต่เป็นข้อเท็จจริง ต้องมีสมถกรรมฐาน ต้องมีสัมมาสมาธิ แล้วมันจะแก้มัน
นี้พูดถึง ถ้าทำแบบนี้มันถึงจะเป็นการปฏิบัติไง แต่นี้เขาบอกว่าอาหารก็ไม่เป็นโทษ พรหมจรรย์ก็ไม่เป็นโทษ อะไรก็ไม่เป็นโทษ.. ไม่เป็นโทษก็ไม่เป็นโทษน่ะสิ ไม่เป็นโทษมันก็ไม่มีโทษกับเรา ถ้าไม่มีโทษกับเรานะ
รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร
รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เพราะมีตัณหาความทะยานอยากถึงตามเสียงไป เห็นไหม เสียงไพเราะ เสียงเพราะพริ้ง กลิ่นหอม กลิ่นไม่หอม เสียงดี รูปดี นี่พอใจ ไม่พอใจ นี่มันเป็นแค่นี้แหละ แล้วพอเรารู้ทัน รู้ทันมันก็จบ
รูป รส กลิ่น เสียงไม่ใช่บ่วงของมาร ไม่ใช่พวงดอกไม้แห่งมาร ถ้ามันเป็นพวงดอกไม้มันก็ฉุดกระชากลากใจไป รู้ทันมันก็จบ จบแล้วทำอย่างไรต่อ? จบแล้วมันก็ไม่มีโทษไง ทุกอย่างมันก็จบสิ้นไง มันก็กลับไปเป็นธาตุ เป็นวัตถุไง ก็ทำคนๆ หนึ่งให้เป็นวัตถุไง สิ่งที่เป็นวัตถุมันไม่มีชีวิต จิตใจเรามีชีวิต จิตใจเรามีคุณค่า แล้วเราก็ทำให้จิตใจเราเป็นวัตถุธาตุอันหนึ่งเท่านั้นหรือ? แต่ถ้ามันมีสติปัญญา เห็นไหม มันจะเอาวัตถุธาตุ สิ่งที่มีชีวิตนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา
นี่พูดถึงในการปฏิบัติไง เพียงแต่ว่าพอพูดอย่างนี้ปั๊บเขาก็บอก นี่ไงก็มีปัญญาแล้ว นี่รู้เท่า รู้ทัน รู้การเคลื่อนไหว รู้พร้อม รู้สติพร้อม คอมพิวเตอร์มันรู้ดีกว่านี้อีก คอมพิวเตอร์นะเขาสร้างภาพ เห็นไหม เขาจะทำอะไรเขาสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ สร้างภาพขึ้นมาแล้วเพื่อทำการวิจัย คอมพิวเตอร์มันดีกว่าเราเยอะเลย มันสร้างประโยชน์กับสังคม มันสร้างอะไร? แล้วเราจะสร้างอะไรกับเราล่ะ? เราจะทำอะไรกับเราบ้างล่ะ?
นี่ถ้าทำนะ เราจะบอกว่าต้องมีสติปัญญามากกว่านี้ เรื่องอย่างนี้มันจินตนาการกันได้ นี่มันจินตนาการได้ แล้วพูดถึง เห็นไหม เขาบอกว่า
ถาม : ข้อ ๑. เราสามารถประพฤติล่วงพรหมจรรย์ได้ โดยที่ไม่เป็นทาสแก่กิเลสในใจ
หลวงพ่อ : ไม่มีหรอก มีแต่พระสุทินน์ไง พระสุทินน์เป็นพระอรหันต์ พระสุทินน์ตอนยังไม่เป็นพระอรหันต์ พระสุทินน์มีภรรยาแล้ว พอบวชก็ละวางครอบครัวออกมา ทีนี้พ่อแม่ก็มาขอร้อง ภรรยาเก่าก็มาขอร้อง ขอร้องแบบว่าอยากจะมีผู้สืบสกุล ตอนนั้นพระพุทธเจ้ายังไม่บัญญัติธรรมวินัยไง พระสุทินน์ก็บอกว่าให้พร้อมนะ ให้ระดูพร้อม คือว่าให้ทุกอย่างพร้อมแล้วให้พามา พอเสร็จแล้วก็พาอดีตภรรยามาหาพระสุทินน์ พระสุทินน์ก็มีเพศสัมพันธ์ พอมีเพศสัมพันธ์ไปเสร็จแล้วก็ตั้งครรภ์
พอตั้งครรภ์ขึ้นมา พระสุทินน์ก็นั่งภาวนา เห็นไหม นี่จะล่วงพรหมจรรย์โดยที่ไม่เป็นโทษได้ไหม? พระสุทินน์ก็นั่งวิตก วิจาร ซูบผอมไปหมดเลยไม่สบายใจ ตัวเองทำอะไร มันรู้ว่าทำไปแล้ว มันก็รู้สึกว่ามันละอายแก่ใจ สุดท้ายแล้วพวกพระเขาอยู่ด้วยกันเขาว่า เอ๊ะ พระสุทินน์เมื่อก่อนก็ดูร่างกายสมส่วนดี ทำไมตอนนี้พระสุทินน์ซูบผอมจนเส้นเอ็นขึ้นหมดเลย พูดซักไปซักมาพระสุทินน์เขาก็บอกว่า นี่ทุกข์มากเลย ทุกข์มากเพราะมีเพศสัมพันธ์กับอดีตภรรยา
โอ๋ย พระเขาตื่นเต้นกันใหญ่ พระเขาวิจารณ์กันใหญ่เลย แล้วพระก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เรียกพระสุทินน์มา
สุทินน์เธอทำอย่างนั้นหรือ?
ครับ ผมทำอย่างนั้นครับ
สุทินน์เธอรู้ไหมว่าสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เธอเป็นโมฆะบุรุษ เธอทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีงาม
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยบัญญัติล่วงละเมิดเป็นปาราชิก นี่พระสุทินน์เป็นต้นบัญญัติ พอต้นบัญญัติไม่เป็นอาบัติ ฉะนั้น พอไม่เป็นอาบัติปั๊บ สุดท้ายแล้วพระสุทินน์ปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์หรือเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจ แต่ตอนนั้นยังไง ตอนนั้นยังไม่บัญญัติธรรมวินัย ทีนี้พ่อแม่
นี่เพราะยังไม่มีบัญญัติธรรมวินัย ก็ยังไม่มีข้อห้าม พอไม่มีข้อห้าม พวกพระเราจะไม่รู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ไง เรายังไม่รู้อะไร แต่ถ้าเป็นพระที่มีอริยภูมิแล้วจะรู้ แต่นี่ยังไม่มี พ่อแม่ก็มาขอร้อง ภรรยาก็มาขอร้อง สุดท้ายแล้วพระสุทินน์จะปฏิบัติได้หรือไม่ได้ไม่รู้ แต่ลูกชายได้ เพราะลูกชาย นี่เกิดเป็นลูกชายด้วยนะ พ่อแม่ก็เลยตั้งชื่อว่า ไอ้พืช
พืชไง ชื่อพืช พืชพันธุ์ ได้มาจากพระสุทินน์ แล้วไอ้พืชนี่เป็นพระอรหันต์ ไอ้พืชนี่พอโตขึ้นมาคนล้อเลียน พอคนล้อเลียนก็ละอายใจ ละลายใจก็เลยขอแม่ออกบวช พอออกบวชไอ้พืชก็เป็นพระอรหันต์ นี่อยู่ในพระไตรปิฎก
นี้พูดถึง การล่วงพรหมจรรย์ โดยที่ยังไม่มีธรรมวินัยมันก็ไม่รู้ แต่ถ้ามีธรรมวินัยแล้ว นี่เขาถามไง เขาถามว่า
ถาม : เราสามารถประพฤติล่วงพรหมจรรย์ โดยที่ไม่เป็นทาสแก่กิเลสในใจ เหมือนกับทานอาหาร
หลวงพ่อ : คือทานอาหาร เขาว่าทานอาหารแล้วเขาไม่ติดไง ฉะนั้น ก็ล่วงพรหมจรรย์โดยที่เราไม่ติดไง (หัวเราะ) จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ? ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันก็ดีน่ะสิ ตอนนี้พระเขาอยากเป็นอย่างนี้กันเยอะนะ (หัวเราะ) มันไม่จริงหรอก
นี่เราคิดของเราเอง เห็นไหม เราคิดว่าอะไรก็ไม่เป็นโทษๆ เหมือนกับเราไม่รู้ ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นโทษหรือไม่เป็นโทษ อย่างเชื้อโรคนี่เราไม่รู้หรอก แต่ทางการแพทย์เขารู้นะ แล้วทางการแพทย์เขาฉลาดด้วย เขาเอาสิ่งนั้นกลับมาทำวิจัย แล้วเอามาทำเป็นวัคซีนได้ด้วย เชื้อโรคนี่เขาเอามาทำวัคซีน เขาเอามาดัดแปลงของเขา เขามาทำทางการวิจัยของเขา เขาทำวัคซีนได้ด้วย
อันนี้ก็เหมือนกัน เราคิดของเราไปเอง ถ้ามันเป็นจริงนะพระพุทธเจ้าไม่บัญญัติไว้หรอก ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ ถ้าในพระไตรปิฎกเริ่มมาตั้งแต่พระสุทินน์ พระสุทินน์เป็นต้นบัญญัติ ก็เลยพระสุทินน์ไม่เป็นอาบัติ ตั้งแต่นั้นมาเป็นหมดแหละพรหมจรรย์นี่ พรหมจรรย์เป็นหมด แล้วมันเป็นเรื่อง แม้แต่ภิกษุนะ ภิกษุชักสื่อให้ผู้หญิงกับผู้ชายแต่งงานกัน เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุพูดให้ครอบครัวเขาที่ดีกันแตกแยกกัน เป็นอาบัติสังฆาทิเสส
แม้แต่ไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของสังคม ภิกษุนี่ไปจัดการให้เขาชอบกัน ให้เขารักกัน ชักสื่อ ภิกษุชักสื่อให้เขาได้เป็นคู่ครองกัน เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุไปพูดให้คู่ครองเขาแตกแยกออกจากกัน เป็นอาบัติสังฆาทิเสส เป็นอาบัติหมดแหละ
นี่พูดถึงเขาถามไง เพราะต่อไปนะ เวลาเราบอกว่านู่นก็เป็นสมมุติ นี่ก็เป็นสมมุติ วินัยก็เป็นสมมุติ เป็นสมมุติตามข้อเท็จจริง ผู้ที่ใจเป็นสติวินัย เป็นวิมุตติแล้ว พ้นจากสมมุติไป สิ่งนี้เป็นสมมุติ เป็นสมมุติคืออะไร? คือกฎหมาย กฎหมายคือธรรมวินัยจะไม่มีโทษ
อย่างเช่นพระจักขุบาล พระจักขุบาลนะ เวลาท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว แล้วหลานไปจูงกลับมา เป็นพระอรหันต์เขาก็สร้างกุฏิไว้ให้ เพราะว่าท่านนั่งพิจารณา นี่เป็นโรคตาก็ให้หยอดตา เขาบอกว่าถ้าไม่หยอดตาจะตาบอดนะ ท่านก็ไม่สน บอดก็คือบอด วันนั้นตาบอดท่านเป็นพระอรหันต์เลย แต่เป็นสุกขวิปัสสโก นี่พระอรหันต์จะเดินกลับบ้านไม่ได้ ให้หลานไปเอากลับมา พอเอากลับมาเสร็จแล้ว ทางญาติพี่น้องเขาก็สร้างกุฏิไว้ให้ ทำราวไว้ให้เดินไง
ฉะนั้น คืนนั้นฝนตกรุนแรงมาก แมลงมันมาเต็มไปหมดเลย แล้วท่านเดินจงกรมอยู่ พอท่านเดินจงกรมอยู่ท่านก็เหยียบแมลงตายไง เพราะตาท่านไม่เห็น ฉะนั้น เช้าขึ้นมา พระภิกษุมาจากต่างถิ่น เขาก็เดินดูตามกุฏิ ไปเห็นรอยแมลงตาย ไปฟ้องพระพุทธเจ้าบอกว่า พระจักขุบาล เวลาตาดีก็ขี้เกียจ เวลาตาบอดก็ทำขยัน นี่เหยียบสัตว์ตายเต็มไปหมดเลย จะปรับอาบัติไง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เธอพูดอย่างนั้นไม่ได้ พระจักขุบาลนี้เป็นสติวินัย เป็นปาปมุต พระจักขุบาลเป็นปาปมุตคือไม่เป็นอาบัติ
เราตีความว่าปาปมุตเป็นอย่างไร? เขาบอกว่าปาปมุตคือว่าฉันไม่ทำอาบัติเลย ปาปมุตก็คือว่าเป็นพระพุทธรูป นี่แข็งไปเลยนะ ไม่ขยับเลยเพราะไม่เป็นอาบัติ เพราะขยับมันเป็นอาบัติไง แต่ถ้าเป็นปาปมุต เห็นไหม พระจักขุบาลเหยียบสัตว์ตายเป็นปาปมุต ไม่เป็นอาบัติ นี่ไงที่ว่าอาบัติเป็นสมมุติๆ พระพุทธเจ้าเป็นคนบัญญัติเอง พระพุทธเจ้าเป็นคนชี้เองว่าพระจักขุบาล การเหยียบสัตว์ตาย
ถ้าพูดถึงพวกเรานี่นะ ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ทำพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ถ้าเป็นปาปมุตมันไม่มีอาบัติ อย่างเช่นหลวงปู่ตื้อเรา เห็นไหม หลวงปู่ตื้อเป็นของจริง แล้วเป็นของจริง นิสัยท่านองอาจกล้าหาญมาก ฉะนั้น เวลาทำสิ่งใดผิด หลวงปู่มั่นท่านจะบอกว่า ใครอย่าไปเอาอย่างหลวงปู่ตื้อนะ หลวงปู่ตื้อท่านได้คุยกับเราแล้ว ใครอย่าเอาอย่างนะ ใครห้ามเอาอย่างนะ แต่เวลาหลวงปู่ตื้อท่านก็ไม่เอ็ดนะ เพราะเป็นอย่างนั้น ท่านเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้น ไอ้ที่บอกว่าล่วงพรหมจรรย์ ล่วงพรหมจรรย์มันไม่มีหรอกว่าเป็นอาบัติไม่เป็นอาบัตินี่ ที่ว่าสิ่งนี้เป็นสมมุติ ไม่เป็นสมมุติ คำว่าสมมุติๆ ถ้าผู้เป็นอย่างนั้นแล้ว สิ่งนี้เป็นสมมุติ สมมุติบัญญัติ แต่ถ้าเราก็เป็นสมมุติ เราก็สมมุติกันอยู่ เราเป็นคนนี่ก็สมมุติว่าเป็นคน ตายไปแล้วก็เป็นเปรต เป็นพรหมนี่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่นี้เป็นสมมุติอยู่ ชีวิตนี้เป็นสมมุติ ทีนี้สมมุติมันก็ต้องมีเครื่องหมาย
ในธรรมของพระพุทธเจ้านี่นะ ธรรมวินัยเป็นวิธีการ วิธีการทำไปสู่เป้าหมาย ทีนี้วิธีการ กฎหมายธรรมวินัยเป็นวิธีการ แล้วถ้าเราปฏิเสธวิธีการเราจะถึงเป้าหมายได้ไหม? เราปฏิเสธวิธีการ ปฏิเสธการกระทำหมดเลยเราจะสู่เป้าหมายได้อย่างไร? ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นสมมุติๆ นี่คือวิธีการ รถเป็นสมมุติไหม? รถนี่เวลาขายแล้วเป็นของเราหรือเปล่า? ไม่เป็น ตอนนี้เป็นของเราหรือเปล่า? เป็น เป็นของเรา เราก็ต้องใช้มันใช่ไหม?
นี่ก็เหมือนกันธรรมและวินัย ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นสิ่งให้เราก้าวเดิน เป็นสิ่งให้เราฝึกฝน แล้วจะบอกมันเป็นสมมุติไหม? สมมุติมันก็เป็นความจริง สมมุติก็ต้องให้เราทำ สมาธิก็เป็นสมมุติ ทุกอย่างเป็นสมมุติ สมมุติจริงๆ นะ เพราะมันเกิดดับ สิ่งที่เกิดดับคือสมมุติ มันเกิดขึ้นมาแล้วมันก็เป็นอนิจจัง มันก็เปลี่ยนแปลง มันก็เป็นสมมุติ แต่สมมุติถ้าเรายังใช้อยู่ เป็นประโยชน์อยู่ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา
ฉะนั้น คำถามนี้แบบมันแปลกไง บอกว่า
ถาม : ถ้าเราสามารถล่วงพรหมจรรย์ได้โดยที่ไม่เป็นทาสแก่กิเลสในใจ
หลวงพ่อ : มันจะทำให้เราไปปฏิเสธวิธีการไง แล้วถ้าวิธีการมันเป็นไปมันจะเสียหาย มันจะเสียหาย ฉะนั้น สิ่งที่เวลาปฏิบัติใหม่ อย่างเช่นอาหารเราไม่ติดเราก็ไม่เป็นโทษ มันเป็นจริต โทสจริตนี่นะ เขามีความหลงใหลกันเราก็เฉย แต่ถ้าเขามาแหย่เรานี่ขึ้นทันทีเลย ไอ้พวกโลภะ เวลาเขายุให้โกรธมันก็ไม่โกรธ แต่มันจะเชื่ออะไรไปทุกอย่างเลย มันโลภะมันหลง
นี่โทสะ โมหะ ยิ่งโมหะ โลภะ มันเป็นจริตไง ถ้ามันไม่ตรงกับกิเลสเราเราก็ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร แต่ถ้าตรงกับกิเลสเราไม่ได้เลย พออะไรแหย่หน่อยเดียวนี่ออกเลยแหละ ฉะนั้น ถ้ามันมีมันก็ยังจะออกอยู่ ฉะนั้น ถ้ามันมี ธรรมของพระพุทธเจ้าให้ชำระสะสาง ไม่ใช่ให้ไปกลบเกลื่อนมัน หรือไปซุกไว้ใต้พรม นี่ในการปฏิบัตินะ
ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่าเราสามารถล่วงพรหมจรรย์ได้โดยที่ไม่เป็นทาส มันไม่มีหรอก ไม่มี เว้นแต่เราจะล่วงพรหมจรรย์ได้ โดยความเป็นจริงเราก็ต้องเข้มแข็ง เราก็ต้องต่อสู้ เราก็ต้องตัดทอน ตัดทอนกำลังของมันไง ตัดทอนกำลังนะ ถ้ามันปึ๋งปั๋งนักก็ไม่กินข้าว อดมันให้ตายไปเลยนะ พออดให้มันตาย พอมันจะตายมันไม่คิดหรอก มันเฉย มันยอมแพ้ เออ ไม่คิดแล้ว (หัวเราะ) ถ้ามันอดให้ตายนี่
ฉะนั้น อดนอนผ่อนอาหารมันถึงผ่อนคลายได้หมด ถ้าอดนอนผ่อนอาหารแล้วนะ ของอย่างนี้ โทษนะ ในทางโลก กามคุณ ๕ สิ่งที่เป็นคุณกับโลก แต่เป็นโทษกับพรหมจรรย์ เพราะพรหมจรรย์ นี่สิ่งที่เป็นพรหมจรรย์ เห็นไหม ต้องบอกว่าใช้ที่ไหน? ใช้อย่างใด? เหตุการณ์อย่างนี้ ทางฆราวาสเขาไม่ผิด เหตุการณ์อย่างนี้ทางพระผิด เหตุการณ์อย่างนี้ทางพระถูก เหตุการณ์อย่างนี้ทางฆราวาสเขาทำไม่ได้ สิ่งนี้มันอยู่ที่ว่ามรรคหยาบ มรรคละเอียด
ฉะนั้น ค่อยๆ ศึกษาไปนะ อย่าเพิ่งมั่นใจ อย่าเพิ่งเชื่อ เห็นไหม กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์พูด ไม่ให้เชื่อแม้แต่พระสงบพูด พระสงบพูดก็อย่าเพิ่งเชื่อ ไปทดสอบก่อน อย่าให้เชื่อ อย่าเชื่อ ถ้าใครเชื่อโง่นะ ต้องกลับไปทดสอบ จริงหรือเปล่า? ที่พูดนี่จริงหรือเปล่า?
พระพุทธเจ้าบอกไว้ กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น แล้วเราทดสอบ เราพิสูจน์ของเรา แล้วเราทำของเรา อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งเชื่อ ถ้าเชื่อนี่พระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วยเลย พระพุทธเจ้าโต้แย้งด้วยนะ พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อ
อันนี้ ข้อ ๖๗๖. ไม่มีนะ
ข้อ ๖๗๗. อันนี้ถามแล้วนะ อันนี้เป็นการปฏิบัติเหมือนกัน อ่านให้หมดเลย แล้วเราจะบอกว่าตั้งใจปฏิบัตินะ แล้วไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องเสียใจ แล้วไม่ต้องโลเล สิ่งที่เราพูดนี่คือว่าเราพูด สิ่งที่ผู้ปฏิบัตินี้ก็ปฏิบัติไปให้เป็นตามความเป็นจริง ไม่ต้องโลเลนะ เพราะเขาถามย้ำมาอีกแล้ว เขาถามมาบ่อย
ถาม : ๖๗๗. เรื่อง ขอกราบเรียนถามรายละเอียดครับ
หลวงพ่อครับ ผมมีความเคารพและศรัทธาในคำสอนของหลวงพ่ออย่างสุดจิตสุดใจ ผมไม่มีความลังเลสงสัยในคำแนะนำของหลวงพ่อเลยครับ
หลวงพ่อ : เราก็อยากจะพูด เพราะในภาคปฏิบัติมันต้องใช้เวลาพอสมควร ฉะนั้น คำพูดนี่ พูดพอเตือนสติแล้วก็หยุดนั่นแหละ เราอย่าสงสัย แล้วอย่าไปให้มันเป็นนิวรณ์ แล้วเราปฏิบัติไป จับประเด็นเฉยๆ ความเข้าใจเราเข้าใจอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องห่วง ฉะนั้น เวลาเขาถามมานี่ เหมือนกับว่าในเมื่อเรามีความเห็นต่างกัน แล้วพยายามจะปรับความเข้าใจเข้าหากัน ทางโลกเขาทำกันอย่างนั้น แต่ทางธรรมไม่ต้อง ถ้าเราเข้าใจแล้วเฉยเลย แล้วเราปฏิบัติของเราไป
นี่คำถามนะ
ถาม : หัวข้อที่ ๑. จากคำถามของผมเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ผมได้กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า เมื่อผมเห็นจิตที่นึกพุทโธ พุทโธตั้งมั่น และเป็นแท่งๆ นิ่งๆ ได้บ่อยๆ ผมจึงเห็นว่าอาการของจิตที่ยิบๆ ยับๆ มีลักษณะคล้ายเมฆหมอกขนาดใหญ่ เมื่อผมดูเหตุ ดูผลของอาการยิบๆ ยับๆ ผมจึงได้ความรู้ขึ้นมาว่า การที่คนเรามีความพอใจ ไม่พอใจ หรือเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นเพราะว่าเวลาเรารับรู้สิ่งต่างๆ จะมีอาการของจิต อาการยิบๆ ยับๆ คล้ายเมฆหมอกขนาดใหญ่เคลื่อนตัวมาปกคลุมจิต แล้วถ้ามีความนึกคิดปรุงแต่งตามอาการยิบๆ ยับๆ อาการยิบยับเหล่านั้นก็จะกลายเป็นความพอใจ ไม่พอใจ เป็นสุข เป็นทุกข์เกิดขึ้นตามมา
การที่ผมเห็นเหตุและผลของอาการของจิตที่ยิบๆ ยับๆ แล้วเป็นสุข ไม่เป็นสุข เป็นตามอาการของจิต ทำให้ผมปลอดโปร่งโล่งใจดีมากครับ จากคำตอบของหลวงพ่อในวันที่ ๒๔ กันยายน หลวงพ่อบอกว่า
ถ้าผมภาวนาตามที่เล่ามานี้ไปนานๆ ผมอาจจะติดสุขในการภาวนาก็ได้
ซึ่งหลวงพ่อได้แนะนำต่อมาว่าให้ผมใช้ปัญญาออกมาทำงาน โดยแยกแยะดูความเป็นขันธ์ ๕ ว่าอาการยิบยับเป็นรูปอย่างไร? เป็นเวทนาอย่างไร? เป็นสัญญาอย่างไร? เป็นสังขาร เป็นวิญญาณอย่างไร? เพราะฉะนั้น ผมถึงได้เปรียบเทียบอาการยิบยับของอาการขันธ์ ๕ มาให้หลวงพ่อตรวจสอบ ตามคำถามที่ส่งไปในวันที่ ๒๖
หลวงพ่อ : (หัวเราะ) อันนี้เขาจะเรียนหนังสือแล้วมั๊ง
ถาม : หัวข้อที่ ๒. หลวงพ่อบอกว่า เวลาทำความสงบให้ทำความสงบให้เต็มที่ เวลาเจริญปัญญาก็ออกเจริญปัญญาให้เต็มที่ ตรงนี้หลวงพ่อหมายความว่า เวลาทำความสงบให้ผมดูจิตที่ตั้งมั่นเป็นแท่งๆ นิ่งๆ โดยไม่ต้องดูอาการของจิตที่ยิบๆ ยับๆ ถึงแม้ว่าผมจะเห็นอาการยิบๆ ยับๆ ได้ ผมก็ไม่ต้องดูอาการยิบๆ ยับๆ ใช่ไหมครับ แล้วเวลาออกเจริญปัญญาก็ให้ดูเหตุ ดูผลของอาการยิบๆ ยับๆ โดยที่ผมไม่ต้องดูจิตที่ตั้งมั่นเป็นแท่งๆ นิ่งๆ ถึงแม้ว่าผมจะเห็นจิตที่ตั้งมั่นเป็นแท่งๆ นิ่งๆ ได้ ผมก็ไม่ต้องดูจิตที่เป็นแท่งๆ นิ่งๆ ใช่ไหมครับ
ถ้าคำแนะนำของหลวงพ่อมีความหมายแบบนี้ ผมสามารถปฏิบัติได้ครับ
หลวงพ่อ : ใช่!
ถาม : แต่ถ้าให้ผมดูจิตที่ตั้งมั่นเป็นแท่งๆ นิ่งๆ โดยที่ไม่มีอาการยิบๆ ยับๆ เกิดขึ้น แบบนี้ผมปฏิบัติไม่ได้ เพราะว่าถ้าผมมีจิตที่สงบและตั้งมั่นเป็นแท่งๆ นิ่งๆ ได้เมื่อไหร่ ผมจะเห็นอาการยิบๆ ยับๆ ได้เมื่อนั้น หรือว่าถ้าให้ผมดูอาการของจิตที่ยิบๆ ยับๆ โดยที่ไม่ได้มีจิตที่สงบตั้งมั่นเป็นแท่งๆ นิ่งๆ แบบนี้ผมปฏิบัติไม่ได้ เพราะว่าถ้าจะให้ดูอาการยิบๆ ยับๆ ผมก็จะต้องมีจิตที่สงบและตั้งมั่นเป็นแท่งๆ นิ่งๆ เสียก่อนครับ
เนื่องจากการใช้คำพูดมาอธิบายความรู้สึกในใจ อาจจะมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ผมจึงจำเป็นต้องเข้ามาสอบถามรายละเอียด ถ้าผมใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ผมกราบขอขมาหลวงพ่อด้วยครับ ผมขอกราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูง
หลวงพ่อ : เราเข้าใจว่าการปฏิบัตินะ หลวงตาท่านปฏิบัติจนโลกนี้ราบหมด แล้วไปรายงานหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอก ถูกต้อง ใช่แล้ว พอหลวงปู่มั่นว่าใช่แล้ว แล้วพอหลวงตาท่านอยากได้อีก ท่านก็ไปหาหลวงปู่มั่นอีก หลวงปู่มั่นบอกว่า มันก็เป็นหนเดียวแหละถ้ามันสมุจเฉทปหาน มันก็มีหนเดียวแหละ เราก็มีหนเดียวเหมือนกันที่ถ้ำสาริกา เหมือนกัน
ฉะนั้น พอเหมือนกันปั๊บ ว่ามีหนเดียว ก็มีแล้วหนเดียวก็เลยติด นี่พูดถึงหลวงปู่มั่นนะ แต่คำถามนี้ยังไม่ถึง เดี๋ยวจะมั่ว คำถามนี้ไม่ใช่อย่างนั้น เพียงแต่เรายกตัวอย่างให้เห็นว่า เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านไปถามหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านก็บอกว่าสิ่งที่ปฏิบัตินี้มันถูกต้อง พอถูกต้องแล้ว มันจบสิ้นกระบวนการก็จบสิ้นแล้ว ก็ต้องปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆ แต่ด้วยความเข้าใจว่ามีหนเดียว
นี่ตรงนี้หลวงตาท่านติดอยู่ถึง ๕ ปี พอติดเข้าไปแล้ว เวลาทำข้อวัตรกัน เห็นไหม เพราะเวลาเรื่องส่วนตัวนะ ระหว่างหลวงตากับหลวงปู่มั่นเหมือนพ่อกับลูก รักมาก หลวงปู่มั่นรักหลวงตามาก เพราะหลวงตาท่านรับผิดชอบทุกๆ อย่างแทนหลวงปู่มั่น ท่านกตัญญูของท่าน ท่านรักของท่าน ท่านถนอมของท่าน หลวงปู่มั่นท่านมีคุณธรรมในหัวใจสูงส่ง แต่ในเมื่อท่านชราภาพมาแล้ว การปกครองพระเยอะๆ การรับผิดชอบมันเป็นเรื่องที่ว่าคนเฒ่า คนแก่ มันเป็นภาระมาก
หลวงตามารับผิดชอบตรงนี้ ทีนี้ความผูกพัน ความรักส่วนตัวนี่รักกันมหาศาลเลย ฉะนั้น เวลาพูดถึงธรรมะ เห็นไหม พอพูดถึงบอกว่า มันก็มีหนเดียวแหละ นี่พออย่างนั้น หลวงตาท่านติดตรงนี้ถึง ๕ ปีแน่ะ พอถึง ๕ ปีนะ เวลาหลวงตาท่านมาใกล้ๆ นะ
มหา จิตเป็นอย่างไรล่ะ?
ดีครับ จิตว่าง ดีครับ จิตยอดเยี่ยม ดีครับ สุดยอด
ดีครับ ดีครับ ตลอดเลย ๕ ปี กว่าหลวงปู่มั่นจะบอกว่า
ไอ้นั่นน่ะมันสุขแค่เศษเนื้อติดฟัน ไอ้ดีครับๆ นั่นน่ะ
เราจะบอกว่าแม้แต่หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ หลวงตาท่านเป็นอริยบุคคลที่ได้อุปัฏฐากดูแลกันมาอยู่ นี่ ๕ ปีไม่ได้ขยับไปไหนเลย ติดอยู่ ๕ ปี เรายกตรงนี้ขึ้นมาให้เห็นว่าในการปฏิบัตินะ เวลาถ้ามันติด มันขัด เราจะแก้ไขเรานี่มันใช้เวลามากนะ เวลาคนปฏิบัติกว่าจะแต่ละขั้น แต่ละตอนที่มันจะผ่านไป มันจะพิสูจน์ในใจของมัน แล้วมันจะมีสิ่งต่างๆ ที่ว่าเราไม่รู้ไม่เห็น มันเป็นความมหัศจรรย์ มันเป็นที่เราคาดไม่ถึง
เราก็อ่านตำรามานะ โอ้โฮ นิพพานคือว่าง พอไปนั่งปั๊บมันก็นึกให้ว่าง โอ๋ย ว่างหมดเลย มันก็นิพพานแล้ว นิพพานดิบๆ นิพพานนึกว่าว่าง เราไปอ่านตำรานะ นิพพานคือความว่าง เป็นเมืองแก้ว ว่างไปหมดเลย เราก็นั่งนะ ว่าง ว่าง มันก็ว่างจริงๆ แหละ แล้วเราเป็นนิพพานไหมล่ะ? มันก็ไม่เป็น มันก็ไม่เป็นหรอก แต่มันว่าง นี่ไง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าในภาคปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านผ่านอย่างนี้มา
เราจะพูดนะ แล้วเราจะบอกว่าจะไม่ให้เขียนมาแล้วล่ะ ถ้าจะเขียนมาต้องเขียนเรื่องใหม่แล้ว ไอ้ยิบๆ ยับๆ นี่มันซ้ำแล้วซ้ำอีก เราบอกมาตั้งแต่ต้น เราบอกมาตั้งแต่ต้นนะ บอกว่าอาการที่มันเกิดขึ้น เดี๋ยวมันจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ กิเลสนี่นะวันนี้มันหลอกท่านี้ พรุ่งนี้มันจะหลอกเรื่องใหม่
วันนี้มันจะหลอกเราอย่างนี้นะ เวลาหลอกเรา มันก็หลอกว่าอาหารนี่ไม่กินแล้วเราจะตายนะ คนเกิดมาก็ต้องกินอาหารนะ เราก็ต้องกินอาหารให้อิ่มหนำสำราญเลย แล้วเราจะไปปฏิบัตินะ พอไปปฏิบัติมันก็สัปหงกโงกง่วง เราก็รู้ว่า อ๋อ อาหารกินแล้วมันง่วง เราก็ผ่อนอาหารนะ เห็นไหม มันก็บอกเลยนะ เออ ถ้าปฏิบัตินะได้นอนดีๆ นอนตื่นขึ้นมาแล้วมันจะปฏิบัติดีนะ อ้าว เราก็ไปนอน พอนอนตื่นขึ้นมา อืม มันก็ง่วงต่อ เราก็นอนๆ เราก็ว่า เออ การนอนนี่ก็ผิดเนาะ อ๋อ เราก็รู้ทัน พอรู้ทันมันก็ปล่อยเนาะ มันก็ไปหลอกอีกนั่นแหละ
เอ้ย เดินจงกรมมากๆ นะ เดินจงกรมกลางแดดเลย ด้วยวิกฤติมันจะดีเนาะ เราก็เชื่อมัน เราก็ไปเดินตากแดดอีกนะ ตากแดดมันก็ได้แต่เหงื่อ พอตากแดดจนผิวดำเลย จนหน้าดำเลยนะมันบอก เออ ตากแดดก็ไม่ได้สมาธิเนาะ ก็ผิดอีก! กิเลสมันหลอกทีละชั้น ทีละชั้นขึ้นไป เห็นไหม มันละเอียดไปเรื่อยๆ มันหลอกเราไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ไอ้ที่ยิบๆ ยับๆ เดี๋ยวมันจะหลอกเรื่องอื่นไปเรื่อยๆ
ทีนี้คำว่าหลอกนี่ พระสงบไม่ได้แช่งนะ พระสงบพูดเรื่องจริง เราจะบอกว่ากิเลสนี่มันร้อยสันพันคม เดี๋ยวพอมันเปลี่ยนจากยิบๆ ยับๆ เป็นอย่างอื่นก็บอก โอ้โฮ นี่ไงแช่งกัน จากยิบๆ ยับๆ ก็เป็นอย่างอื่นอีกแล้ว มันยังจะเป็นอย่างอื่นไปอีกเยอะมาก ฉะนั้น พอเยอะมาก ที่เราพูดนี่เราพูดเพื่อจะให้ใช้ปัญญาแล้วก้าวล่วงพ้นมันไป ก้าวพ้นความสงสัยอันนี้ไป
นี่คำแนะนำของเราคือว่าให้ปฏิบัติไป แล้วก้าวพ้นมันไป ก้าวพ้นสิ่งที่กิเลสมันหลอกลวงเป็นขั้นเป็นตอนไป ไม่ต้องไปยึดติด ไม่ต้องไปห่วงว่าอาจารย์พูดผิด หรือเราเข้าใจผิด คำพูดคือคำพูด มันเป็นโลกธรรม ปฏิบัติเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง ปฏิบัติไปมันจะรู้จริง ไอ้ที่เราไม่พูดอะไรออกมาชัดเจน เพราะเราเห็นใจผู้ปฏิบัตินะ เราปฏิบัติมาก่อน ครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติมาก่อน
การปฏิบัติมานี่นะ มีอะไรสะกิดไม่ได้ คนนี่นะ ถ้าไม่ได้ปฏิบัตินั่งคุยกันนี้ไม่เป็นปัญหานะ พอลองได้ปฏิบัติสิ คนที่นั่งอยู่นี่ เขานั่งคุยกันนี่โกรธตายเลย ถ้าพอปฏิบัติปั๊บนะ ใครมาส่งเสียงดังก็ แหม มันฉุน ใครมาทำเสียงข้างๆ ก็โกรธเขา แต่ถ้าเรานั่งคุยกันนี่ แหม สนุกครึกครื้น ยิ้มแย้มแจ่มใส พอคนหนึ่งปฏิบัติ คนหนึ่งไม่ปฏิบัตินะผิดใจกันแล้ว
ไอ้คนปฏิบัติ นั่งก็ต้องการความสงบ ไอ้คนนั่งข้างๆ ก็แหม เพื่อนฝูง เพื่อนสนิท ทำอะไรก็ได้ มันทำเสียงดังใส่เขา นี่มันจะมีปัญหากระทบกระเทือนกันไปตลอด มันมีความขัดแย้งไปตลอด เพราะภาคปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่ผ่านอย่างนี้มาท่านจะเข้าใจ
ฉะนั้น สิ่งที่อธิบายนี่เราดีใจตั้งแต่ทีแรก ว่าจากที่เราปล่อยใจเราเร่ร่อนใช่ไหม? เราก็กำหนดพุทโธ พอกำหนดพุทโธแล้วจิตมันก็ตั้งมั่นเป็นแท่งๆ นิ่งๆ แล้วมันก็เห็นอาการยิบๆ ยับๆ นี่มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตังกับจิตดวงนั้น จิตดวงใดปฏิบัติ จิตดวงนั้นจะรู้จะเห็นเอง จิตดวงใดได้สัมผัส จิตดวงนั้นจะเป็นประโยชน์กับจิตดวงนั้นเอง พอจิตดวงนั้นปฏิบัติแล้วไม่เป็นประโยชน์ เราก็ แหม
ทีนี้พอไปๆ มาๆ นี่เลยกลายเป็นปริยัติไปเลย จะต้องมาถกวิชาการกันเลย ยิบๆ ยับๆ นี่จะให้รู้ เราจะบอกว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เป็นเรื่องที่แทบจะไม่เป็นเรื่องอะไรเลย มันเป็นเรื่องที่จิตมันไปสัมผัสแล้วมันติดอยู่ คืออาการยิบๆ ยับๆ อาการรับรู้นี่ เหมือนเรานั่ง บางคนนั่ง เห็นไหม มีคนนั้นสะกิดตรงนั้น มีคนนี้สะกิดตรงนี้ เวลานั่งก็เอียงอย่างนู้น เอียงอย่างนี้ มันเป็นเรื่องพื้นฐาน
ปฏิบัติเข้าไปแล้ว เริ่มต้น พอเริ่มจะเอาจริงเอาจังมันเป็นอย่างนี้แหละ จิตมันจะออกรับรู้ จิตมันพยายาม เหมือนกับโปฐิละ โปฐิละเรียนตำรามานี่รู้ไปหมดทุกอย่างเลย มีลูกศิษย์ ๕๐๐ อู้ฮู สอนทางวิชาการนี่เก่งมาก ไปกราบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า
โปฐิละใบลานเปล่ามาแล้วหรือ? โปฐิละใบลานเปล่ากลับแล้วหรือ?
น้อยใจนะ โอ้โฮ เรียนจบวิชาการมาขนาดนี้ ลูกศิษย์ลูกหาตั้ง ๕๐๐ ไม่ชมสักคำ มีแต่ใบลานเปล่าๆ เสียใจ แต่ก็อยากปฏิบัติ พอปฏิบัติทิ้งแล้วไปหาพระธรรมกถึกไง เสร็จแล้วอาจารย์บอกว่าจะสอนได้หรือ? เห็นไหม ให้ลูกศิษย์นี่เป็นสามเณรน้อย สามเณรสอนกลับมาตรงนี้ นี่จะยกกลับมาตรงนี้ไง
ให้เปรียบร่างกายเหมือนจอมปลวก แล้วปิดรูทวารทั้ง ๕ รู เปิดรูใจไว้คอยจับเหี้ยตัวนั้น เหี้ยที่มันอยู่ในจอมปลวกนั้นน่ะ
นี่ก็เหมือนกัน เราพุทโธ พุทโธเราจะจับจิตเรา เหี้ยตัวนั้นก็คืออวิชชา คือพญามาร มันอยู่ที่หัวใจเรา เราจะจับจิตดวงนั้น แล้วเราจะจับจิตดวงนั้น พอจับเหี้ยตัวนั้นได้แล้วเราก็พิจารณาว่าเหี้ยนี่มันให้โทษกับเราขนาดไหน? มันทำร้ายเราขนาดไหน?
นี่ก็เหมือนกัน เราพุทโธ พุทโธไป พอมันเริ่มเห็นยิบๆ ยับๆ เราก็ เออ เราก็ เออ ปิดทวารทั้ง ๕ เปิดรูทวารไว้ ๑ รูคือจิต คือความรับรู้สึก แล้วเราพยายามพุทโธจับมันไว้ ถ้าจับได้ก็เป็นประโยชน์ไป มันจะเป็นประโยชน์ไป ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องกังวลนะ ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องห่วง
ถาม : หลวงพ่อครับ ผมเคารพศรัทธาในคำสอนของหลวงพ่อสุดจิตสุดใจ ผมไม่มีความลังเลสงสัยในคำสอนหลวงพ่อเลยครับ เนื่องด้วยคำพูดอธิบายความรู้สึกในใจอาจจะมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ผมจึงจำเป็นต้องมาสอบถามในรายละเอียด ถ้าผมใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม ผมกราบขอขมาหลวงพ่อด้วยครับ
หลวงพ่อ : ไม่ต้องสอบถาม สอบถามนี่ คนที่จะเป็นอาจารย์ คนที่จะตอบ มันจะแบไต๋ทั้งหมด มันก็เปิดเหมือนกับแบให้กิเลสมันรู้ด้วย ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านจะบอก ท่านจะบอกแนวทาง แล้วพอเราเข้าไปสัมผัสเราจะ เอ๊อะ! อ๋อไง ถึงหนองอ้อ ถึงอ๋อแล้วนี่จะรู้ชัดมาก รู้ชัดนั้นจะเป็นสมบัติของคนๆ นั้น ถ้าอาจารย์ไปเปิดหมดนะ นี่ก็เป็นอย่างนี้นะ นี้เป็นอย่างนี้ มันยิ่งหายิ่งไม่เจอหนองอ้อ ยิ่งหายิ่งไปไกล ยิ่งบอกยิ่งออกทะเล ยิ่งออกมหาสมุทรไปเลย ยิ่งออกยิ่งไปโลกพระจันทร์แล้ว
นี่ครูบาอาจารย์ท่านจะมีอะไรของท่านอยู่ ถ้าท่านเป็นอาจารย์จริงๆ นะ ถ้าไม่ใช่จานกระเบื้องนะ ถ้าจานกระเบื้องเขาเอาไว้รองน้ำไว้กันแมลงขึ้นตู้กับข้าว ไอ้จานอย่างนั้นเขาเอาไว้รองตามโต๊ะ รองกันยุง กันมด แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์จริงๆ นะท่านจะชักนำเรา ท่านจะดึงหัวใจเราขึ้น
ฉะนั้น เราจะบอกว่าอย่าตกใจ ถ้าอาจารย์ไม่พูดเหมือนเรา อะไรเหมือนเรา แล้วเราจะกังวลใจ มันทำให้การปฏิบัติเราไม่ราบรื่น เราจะบอกว่าใจเย็นๆ นะ แล้วปฏิบัติไป เรานั่งอยู่นี่ เราไม่หนีไปไหนหรอก ไม่ต้องห่วง แล้วปฏิบัติไป อย่ากังวล อย่ากังวล แล้วปฏิบัติไป เดี๋ยวมันจะพ้นเรื่องอย่างนี้ไปทั้งหมด
ฉะนั้น สิ่งที่ว่ายิบๆ ยับๆ แล้วมันออกรู้
ถาม : สิ่งที่หลวงพ่อบอกว่า
เวลาออกเจริญปัญญา ก็ให้ผมดูเหตุ ดูผลของอาการยิบๆ ยับๆ โดยที่ไม่ต้องดูจิตที่ตั้งมั่นนิ่งๆ ถึงแม้ว่าผมจะเห็นจิตที่ตั้งมั่นนิ่งๆ ได้ ผมก็ไม่ต้องดูจิตที่ตั้งมั่นนิ่งๆ
ถ้าคำแนะนำของหลวงพ่ออย่างนี้ แบบนี้ผมสามารถทำได้
หลวงพ่อ : นั่นแหละทำได้ ทำอย่างนั้นจริงๆ เลย เวลาเรากำหนดพุทโธก็ให้จิตสงบ เวลาเราออกใช้ปัญญาก็ใช้ปัญญาให้เต็มที่ไปเลย ทำอะไรให้จริงๆ จังๆ เราทำอะไรให้จริงๆ จังๆ เราได้ผลประโยชน์ตอบสนองจริงๆ จังๆ แล้ว เราจะถึงหนองอ้อ เราจะสัมผัส เราจะเป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน ถ้ารู้จำเพาะตนแล้วนะ ไอ้ที่เขียนถามเรามา เขียนถามเรามานี่จะอายเลยล่ะ ไม่น่าถามเลย (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ถามใหญ่เลย จะถามให้รู้มันไม่รู้หรอก แต่ถ้าปฏิบัติรู้ มี ถ้าถามให้รู้ไม่มีหรอก ไม่มี แต่ถ้าปฏิบัติรู้ มี
ฉะนั้น ปฏิบัติให้จริงๆ จังๆ นะ ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องคิดมาก แล้วไม่ต้องคิดว่าจะให้เหมือนกัน ไม่ต้อง พระอรหันต์แต่ละองค์ เอตทัคคะ ๘๐ องค์ มีแต่พระอานนท์ได้ถึง ๕ เอตทัคคะ อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอันดับ ๑ แล้วก็เป็นพหูสูต พระอานนท์ได้หลายทาง แต่องค์อื่นแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน
เราจะบอกว่าพระอรหันต์แต่ละองค์ก็ไม่เหมือนกัน ปฏิบัติมาก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเหมือนกันนะ องค์หนึ่งต้องเป็นก็อปปี้อีกองค์หนึ่ง ไม่มี แม้แต่ปฏิบัติพิจารณากายเหมือนกันก็ไม่เหมือนกัน เหมือนกับคนกินอาหาร คนกินอาหารรสชาติแตกต่างกัน อยู่ที่ความจริตชอบ ไม่ต้องตกใจ เรื่องกรรมฐานไม่ต้องให้เหมือนกันเปี๊ยะ อู๋ย ดีเอ็นเอต้องเหมือนกันเลย ไม่ให้ต่างกันเลย ไม่มีหรอก ไม่มี ไม่ต้องตื่นเต้นนะ
แหม วันนี้พูดเยอะเพราะอะไร? เพราะกลัวมาอีก กลัวเขียนซ้ำมาอีก ไม่ต้องเขียนนะ ตั้งใจปฏิบัติไปเลย ถ้าเขียนมานะ นี่ครั้งที่แล้วไม่อยากจะพูดชัดเจนไง อยากจะให้รู้เอง อยากจะให้รู้เอง ฉะนั้น จะพูดให้เหมือนกันไม่มีหรอก ไม่มี
อย่างเช่นผู้หญิงกับผู้ชายแตกต่างกันตรงไหน? ไม่แตกต่าง จิตนี้ไม่มีเพศ นางอุบลวรรณาก็เป็นพระอรหันต์ ภิกษุก็เป็นพระอรหันต์ เวลาถึงจิตสงบแล้ว จิตสงบเพศหญิง จิตสงบผู้หญิง จิตสงบผู้ชายมีไหม? ก็ไม่มี จิตสงบก็คือจิตสงบนะ เวลาสงบแล้วนะไปสู่ที่เดียวกัน ไม่มีเพศแล้ว ฉะนั้น ไม่ต้องตกใจ นี่แต่ตอนนี้มี (หัวเราะ) ผู้หญิงกับผู้ชายต้องห่างๆ กันนะ ยิ่งพระยิ่งอย่าเข้ามาใกล้ ตอนนี้มี แต่ถ้าจิตสงบแล้วไม่มี ลงไปอยู่ที่เดียวกัน เห็นไหม
ฉะนั้น มันไม่มี ยิ่งสิ้นกิเลสแล้วเหมือนกันหมดเลย ไม่มี ฉะนั้น ไม่ต้องตกใจ นี้เพียงแต่ว่าด้วยความเข้าใจไง เราเข้าใจนะ เราเข้าใจว่าโยมนี่นะเชื่อมั่นเรา แล้วก็อยากจะให้เราเห็นดีเห็นงามด้วย เราเห็นดีเห็นงามแล้วแหละ แต่นี้เห็นดีเห็นงามมันต้องทำให้จริงขึ้นมา ไม่ต้องว่าเห็นดีเห็นงามแล้ว พูดสีเหลืองก็ต้องสีเหลืองด้วยกัน พูดสีแดงก็ต้องสีแดงด้วยกัน เดี๋ยวนี้เขากำลังจะสมานฉันท์ เหลืองกับแดงเขากำลังจะรักกัน ไม่ต้องแยกจากกันแล้ว
ฉะนั้น ไม่ต้องห่วงนะ เอาแค่นี้พอเนาะ เอวัง