เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๓ ต.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เห็นไหม เวลาเขาพูดกันว่า “อย่าตระหนกนะ มันจะเมตรถึงเมตรครึ่งนะ อย่าตระหนก” แล้วบอกไม่ให้ตระหนกนะ แต่เวลามันท่วมมาทำอย่างไร? นี่เพราะอะไร? เพราะมันไม่มีความสัตย์ความจริง ถ้ามันมีความสัตย์ความจริงนะ เวลาพูดมันจะมีแต่คนเชื่อถือ นี่เป็นผู้นำ แต่พูดไม่มีใครเชื่อถือมันน่าคิดนะ

ความสัตย์ คนเราต้องมีความสัตย์ ถ้าไม่มีความสัตย์แล้ว เวลาคำพูดไปมันไม่มีค่าหรอก เห็นไหม เวลาถือศีล ๕ นี่มุสา ถ้ามีการมุสาแล้วจบนะ ไปไหนมา? ไปธุระ ธุระอะไรล่ะ? ไปไหนมา? ไปธุระ โกหกกันทุกวัน โกหกซ้ำโกหกซาก โกหกกันอยู่อย่างนั้นแหละ โกหกจนเป็นความเคยชิน

เราบอกศีล ๔ มีศีล ๕ นะ โดยธรรมชาติมีศีล ๕ ถ้ามีศีล ๕ กฎหมายนี่แทบจะไม่ต้องใช้เลย ศีลธรรม เห็นไหม เวลาเข้มแข็งขึ้นมายิ่งกว่ากฎหมายนะ ดูสิประเพณีวัฒนธรรมในพื้นถิ่น ถ้าเราไปสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องในท้องถิ่นนั้น ในชุมชนนั้นนะ เราจะอยู่ในชุมชนนั้นแทบไม่ได้เลย เพราะเราอายเขา นี่ศีลธรรม ถ้ามีศีล ๕

นี่ก็เหมือนกัน บอกอย่าตระหนกนะ อย่าตระหนกนะ แต่คนตื่นหมดเลย คนตื่นเพราะคนมันไม่เชื่อถือ ถ้าคนไม่เชื่อเพราะอะไรล่ะ? มันต้องย้อนกลับมาดูเราสิ ต้นไม้ชาติ ต้นไม้ชาติถ้ามันแข็งแรงนะมันจะเจริญงอกงาม ต้นไม้ชาติบางกิ่งแข็งแรง บางกิ่งเน่า บางกิ่งตาย นี่ทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ? เพราะต้นไม้ชาติไง นี่ชาติ เห็นไหม

สมัยที่ผ่านมานะ เมื่อก่อนเราเด็กๆ ราชประชานุเคราะห์นี่แข็งมาก ราชประชานุเคราะห์นะ มีภัยพิบัติที่ไหนเขาจะช่วยเหลือได้หมดเลย ราชประชานุเคราะห์นี่ แล้วปล่อยไว้ ดูสิดูดกินกัน น้ำเลี้ยงต้นไม้ดูดกินกัน ดูดกินกันจนต้นไม้นั้นมันอ่อนแอ พอต้นไม้อ่อนแอ แล้วใครมาก็จะพัฒนาๆ พัฒนาในอะไร? พัฒนาของใคร? สัจจะมีไหม? ถ้าสัจจะมันมี เห็นไหม ผู้นำต้องมีสัจจะ พูดสิ่งใดต้องเป็นสิ่งนั้น

ความเสมอต้นเสมอปลาย ถ้าความเสมอต้นเสมอปลายมันไม่มีแล้วใครจะเชื่อถือล่ะ? สิ่งที่มันเกิดขึ้น ภัยพิบัติมันเป็นภัยพิบัติ แต่เราทำสิ่งนั้นได้หรือเปล่า? นี้ภัยพิบัติส่วนภัยพิบัตินะ แต่จะทำสิ่งใดก็แย่งชิงกัน จะเอาหน้าเอาตากัน ทุกคนจะเอาหน้าเอาตา แล้วเวลามันเกิดทุกข์ยากขึ้นมา แล้วใครล่ะ? ใครมันเกิดทุกข์ยากขึ้นมา? นี่ตาดำๆ ทั้งนั้นนะ

ฉะนั้น เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

เราไม่ประมาทเลินเล่อกัน เรามีสติปัญญาของเรา เรารักษาตัวเรา อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนคนนั้นเราพึ่งตัวเองได้ สังคมนั้นจะร่มเย็นเป็นสุข สังคมนั้นเกิดมาจากใคร? สังคมนั้นเกิดจากมนุษย์นี่แหละ เห็นไหม

นี่ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่ ในสโมสรสันนิบาตนะ ในการคลุกคลีกัน ในการอยู่ร่วมกัน แต่จิตลึกๆ มันว้าเหว่ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าเรามี อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนมีหลักใจของตน มันจะมีสิ่งใดนะเรามีสติปัญญาของเรา เราควบคุมของเราได้ มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นภัยธรรมชาติ แล้วภัยธรรมชาตินี่ ใช่ เวลาคนทุกข์คนยากนะ เวลาคนสิ้นไร้ไม้ตอก มันก็ต้องทุกคนให้ลมหายใจนะ

นี่ถ้าเราเจือจานกัน คนสิ้นไร้ไม้ตอกก็มี คนที่พึ่งตัวเองได้ก็มี คนที่มีกำลังใจจะช่วยเหลือคนอื่นก็มี นี่สิ่งนี้ถ้ามันพูดกันด้วยน้ำใสใจจริงมันฟังกันได้หรอก แต่นี้สิ่งที่เขาไม่เชื่อฟังเพราะอะไรล่ะ? เพราะข้อมูลเท็จ พูดแล้วไม่เป็นความจริงซักอย่างหนึ่ง บอกว่าไม่เป็นไรๆ แล้วมันจะตายทุกที แล้วใครเชื่อใคร? นี่คนที่กำลังจะช่วยคนอื่นเขาจะกล้าช่วยไหม? คนที่จะช่วยตัวเองได้เขาจะช่วยตัวเองไหม? แล้วคนที่ง่อยเปลี้ยเสียขาเขาจะทำอย่างใด?

นี่ทุกข์ ทุกข์ด้วยกันนะ เราอยู่กับครูบาอาจารย์ เห็นไหม เราอยู่กับหลวงตานะ เรานี่เป็นคนโดนด่าเอง พอได้สิ่งใดมาเราเห็นว่ามันเป็นของเล็กน้อย อย่างเช่นพระ ๑๐ องค์ ได้ปลามา ๕ ตัว เราก็แจกไปเลย ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ท่านเรียกไปด่าเลย บอกว่าต้องหักครึ่งหนึ่ง ของสิ่งใดมาเราต้องคำนวณให้ได้เท่ากัน แล้วคนแจกถ้าแจกไม่เท่ากันโดนทันที

มี มีด้วยกัน กิน กินด้วยกัน ทุกข์ ทุกข์ด้วยกัน แล้วมันไว้ใจกัน มันไว้ใจกัน มันเคารพกัน มันเชื่อกัน พอมันเชื่อกัน ทำสิ่งใดนี่ซ้ายหัน ขวาหันได้ทั้งนั้นแหละเพราะมันลงใจ ถ้าใจมันเปิด ใจมันให้ มันจะมีสิ่งใดบ้างที่ทำไม่ได้ แต่ถ้าใจมันไม่เชื่อล่ะ? ใจมันไม่เชื่อ มันเป็นไปไม่ได้

ต้นไม้ชาติ! ต้นไม้ชาติคือชาติของเราไง นี่แล้วน้ำเลี้ยง เห็นไหม ถ้าน้ำเลี้ยงมันไปทั่วต้นไม้นั้น มันจะทำให้ต้นไม้นั้นแข็งแรง นี้ต้นไม้นั้นซีกหนึ่งตาย ซีกหนึ่งเป็น แล้วมันจะอยู่กันอย่างไรล่ะ? ต้นไม้ซีกหนึ่งนะ โอ้โฮ เขียวชอุ่มเลย อีกซีกหนึ่งแห้งตายเลย แล้วใครไว้ใจใครได้? มันไม่ไว้ใจกันเพราะเหตุนั้นนะ

ถ้ามันมีความสัตย์ เห็นไหม นี่ความสัตย์ เราถึงต้องตั้งสติของเรา ตั้งสติของเรานะ เราช่วยเหลือตัวเราก่อน ถ้าเราช่วยเหลือตัวเราก่อน แล้วเราช่วยเหลือใครได้เราก็จะช่วยเหลือคนนั้น ถ้าเราช่วยเหลือไม่ได้ นี่สภาวะกรรม กรรมมันเป็นส่วนรวม เวลาคนๆ หนึ่งมีบุญวาสนามาก แต่เวลาเป็นผู้นำนี่มันทอนลงไป ทอนลงไป เพราะทุกๆ คนมันมีความเห็นแตกต่าง มีความเห็นต่างๆ แต่ถ้าเรามีความสัตย์เราพูดความจริงกับเขา

ถ้าพูดความจริงนะ คนที่เขาเห็นแก่ตัวเขาแสดงออก เห็นไหม ทุกคนเห็นหมดนะ ทุกคนเขามองออก ทุกคนเขามองเห็น คนนั้นเป็นคนผิด เดี๋ยวสังคมลงโทษเอง สังคมจะบีบคั้นเขา เขาอยู่ในสังคมนั้นไม่ได้ แต่ถ้าเราพูดความสัตย์ แต่พูดความสัตย์แล้วเราเสียเปรียบหรืออะไร คำว่าเสียเปรียบ เสียเปรียบอะไร? เราพูดความสัตย์ ความจริง เห็นไหม

“ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรม”

เวลาปฏิบัติธรรม ถือศีล ๕ ศีล ๕ บุญไม่เห็นให้ซักทีหนึ่ง ทำบุญกุศลขนาดนี้ไม่เห็นได้บุญซักทีเลย นี่กลิ่นของศีลหอมทวนลมนะ กลิ่นของศีล กลิ่นของธรรม เห็นไหม ถือศีล ๕ ถ้าศีล ๕ ดูพระเราสิ ถ้าศีล ๘ พระเราฉันมื้อเดียว ฉันมื้อเดียวแล้วยังอดอาหาร นี่พระมันฉันไม่ครบ อดอาหารตลอด ถ้าเรามีศีลมีสัตย์ของเรา เห็นไหม สีเลนะสุคะติง ยันติ สีเลนะโภคะสัมปะทา นี่โภคะมันเกิดนะ ความประหยัดมัธยัสถ์ โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่มี ทุกอย่างก็ไม่มี ถ้ามันมีโภคะมันมา

นี่ไงถ้ามีศีลมีธรรม เห็นไหม ธรรมะย่อมคุ้มครอง ผู้ใดมีศีลมีสัตย์ ธรรมะจะคุ้มครองคนนั้น แต่เราบอกว่าคนที่มีศีลมีสัตย์เป็นคนเซ่อ คนเซ่อกับคนซื่อต่างกันนะ คนซื่อสัตย์ คนมีสัจจะนั้นอย่างหนึ่ง คนเซ่อ เซ่อเพราะมันไม่มีปัญญาเลย ถือศีลจะสักไว้หน้าผากเลย ฉันถือศีลนะ ไปที่ไหนนะฉันเป็นคนมีศีลนะ ทุกคนต้องหลบให้ฉันนะ ฉันถือศีลนะ มันทิฐิทั้งนั้นเลย! ถือศีลต้องมาบอกใคร? ถือศีลก็อยู่ในหัวใจของเรานะ

มีคนคิดคนปฏิบัติมากนี่ไม่คิดเนื้อสัตว์ ไปถึงก็ประกาศเลยว่าไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ถ้าคนเขาปฏิบัตินะ เขาไม่กินเนื้อสัตว์ เราได้ข่าวว่าหลวงปู่ผาง! หลวงปู่ผางท่านไม่กินเนื้อสัตว์นะ หลวงปู่ผาง ขอนแก่น ท่านไม่กินเนื้อสัตว์นะแต่ไม่มีใครรู้ ใครจะใส่อาหารมาท่านไม่เคยพูดเลย หลวงปู่ผางท่านไม่กินเนื้อสัตว์หรอก แล้วเวลาใส่ไปในบาตร ไม่เคยพูด ไม่เคยบอกใครเลย ท่านฉันของท่านเอง ท่านคัดเลือกของท่านเอง

ศีลมันอยู่กับเรา! ความดีมันอยู่กับเรา! ทำไมต้องไปประกาศให้ใครรู้? เพราะคำว่าประกาศให้ใครรู้ เห็นไหม ทำดีต้องได้ดีไง พอทำดีแล้วต้องให้คนอื่นรับรู้ ดีคือดี ถ้าทำดีแล้วมันดีในตัวมันเอง นี่ถ้าดีในตัวมันเอง เรามีศีลนี่ความเสมอต้นเสมอปลาย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ใครจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ เพราะในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเป็นแว่นแคว้น เป็นประเทศเล็กๆ ประเทศเล็กๆ เขาจะมีปัญหาขัดแย้งกัน ใครจะทำสิ่งใดจะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อชาตศัตรูจะไปรบลิจฉวี นี่ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“รบแพ้หรือชนะ?”

“แพ้เด็ดขาด”

“แพ้เด็ดขาดเพราะเหตุใดล่ะ?”

“เพราะว่าเขาสามัคคีกัน”

นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์นะ เราเคยบอกเขา เขาปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย นี่เวลาประชุมหมั่นเพียรประชุมพร้อมกัน เลิกประชุมพร้อมกัน นับถือผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่เขามีประสบการณ์เป็นผู้นำนี่นับถือเขา ประสบการณ์เขาจะคอยบอกกัน แล้วมาประชุมในสภาว่ามันเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ นี่ความสามัคคี รบเท่าไหร่ก็แพ้ อชาตศัตรูส่งพราหมณ์ไปยุแหย่ให้แตกแยก แล้วเข้าไปรบไง

เราจะบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่กษัตริย์ในสมัยพุทธกาลเชื่อถือมาก แล้วทำสิ่งใดต้องปรึกษา ไปพึ่งบุญองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านพูดนะท่านไม่พูดตรงๆ หรอก เพราะ! เพราะพูดไปมันมีฝ่ายได้และฝ่ายเสีย เวลาทำไปนะ เช่นเวลาเขาถือศีลกันนะ หมาบ้า เขาบอกหมาตัวนี้บ้า พอบอกหมาบ้า เขาจะฆ่าหมาบ้าทันที แต่ถ้าคนมีศีลนะ หมาตัวนี้ไม่ปกติ หมาตัวนี้ต้องจัดการ หมาตัวนี้ต้องดูแลให้ดี

คนมีศีลนะไม่พูดให้คนที่นั่นถึงกับทำลายกัน ทำให้เสียชีวิต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พูดอย่างนั้น ฉะนั้น เวลาไปถามนี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพูดเป็นอุบาย เป็นอุบายเพราะว่าธรรมเป็นธรรมไง นี้ความเป็นธรรม เห็นไหม ทำไมกษัตริย์เชื่อถือมากล่ะ? เชื่อถือเพราะท่านพูดจริงตลอด ท่านรู้ของท่านจริง ท่านทำของท่านจริง ความเชื่อถือมันจะตามมา

นี่ก็เหมือนกัน บอกว่าอย่าตระหนก อย่าตระหนก ฟังแล้วมันสังเวช บอกว่าอย่าตระหนกนะ! เมตรครึ่งๆ อย่าตระหนกนะ! ก็บอกเขาไปสิ มันจะเป็นอย่างไรก็บอกเขาไป แล้วเราต้องช่วยเหลือเจือจานกันอย่างใด? อย่าตระหนกๆ ก็โกหกไปเรื่อยล่ะ โกหกไปเรื่อยแล้วบอกอย่าตระหนก! อย่าตระหนก!

ต้นไม้ชาติ.. ต้นไม้ชาติมันต้องมีน้ำเลี้ยงนะ ถ้าไม่มี ความจริงก็คือความจริง ถ้าความจริงเป็นความจริงขึ้นมาได้ เราเกิดมาแล้วเจอสภาคะ เราเปลี่ยนแปลง เห็นไหม นี่สิ่งที่เป็นความจริง อนิจจังไง สิ่งที่ไม่แน่นอน ความไม่แน่นอนของมัน เราถึงต้องมีสติปัญญาของเรา เรายับยั้งของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ เกิดมาแล้วคือการเกิดแหละ เกิดมาแล้วเจอสภาวะแบบนั้น เราเกิดมาแล้วมันเป็นประสบการณ์ของชีวิต ถ้าชีวิตนี้มันมีประสบการณ์ แล้วเราจะเชื่อใครหรือไม่เชื่อใคร เราใช้ปัญญาของเรา

เรามีปัญญาของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เราพึ่งเรา เราใช้ปัญญาของเรา เราแก้ไขเรา แล้วถ้าคนมีปัญญาด้วยกัน คนมีสังคมด้วยกัน เห็นไหม สังคมนั้นมีแต่คนดีๆ นี่อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา เราจะไม่คบคนพาล เราจะคบแต่บัณฑิต แล้วบัณฑิตมันหาได้ง่ายไหมล่ะ? ดูหัวใจเราสิ หัวใจเราเวลามันคิดชั่ว คิดทางเบียดเบียนมันคิดได้ตลอดไปเลย แต่มันคิดไปทางบุญล่ะ? มันคิดได้ยาก เห็นไหม

ฉะนั้น ขนาดเราจะ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เราจะพึ่งเราเอง ความคิดเรามันยังควบคุมได้ยากเลย เพราะมันมีอวิชชา อนุสัยมันนอนมากับใจ ฉะนั้น เราต้องยับยั้งของเราด้วย เราดูแลใจของเรา ดูข้างนอกแล้วดูข้างใน เขาบอกไม่ตระหนกเราก็ไม่ตระหนก แต่เราก็ไม่เชื่อใครเลย เพราะคำพูดเขาเชื่อไม่ได้ สิ่งที่เขาทำไม่เคยทำให้เป็นความจริงเลย ฉะนั้น เราจะดูใจเรา เราดูใจเราแล้วเราช่วยตัวเรา เราอยู่ในสังคมนั้น มันเป็นคราวเป็นกาลที่เกิดขึ้น เราจะต้องเอาตัวเราให้รอดให้ได้

นี่ฟังธรรม! ฟังธรรมเพื่อประโยชน์นะ ประโยชน์กับเรา ตั้งใจของเรา เพื่อประโยชน์กับหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรา เห็นไหม นี่สิ่งนี้มันซับๆ ไป ซับๆ ไป สิ่งที่ว่าพันธุกรรมทางจิต พันธุกรรมทางจิตที่เขาสะสมกันมา พันธุกรรมนี้รักษาไว้ เราตัดแต่งของเรา เรารับรู้ของเรา ใจหยาบ ใจละเอียดนะ คนหยาบๆ มันคิดละเอียดไม่เป็น มันจะเอาเห็นแก่ตัวทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าคนละเอียดนะมีความละอาย มีหิริ มีโอตตัปปะ จะทำสิ่งใดนี่ยอมเสียเปรียบๆ

ยอมเสียเปรียบด้วยความรู้นะ ไม่ใช่ยอมเสียเปรียบด้วยความโง่เขลา ยอมเสียเปรียบด้วยความว่าเรารู้ คำว่าเสียเปรียบนี้เสียบเปรียบเพราะเรารักษาธรรมของเราไง ให้กิเลสมันได้เหยียบย่ำ ให้กิเลสมันได้แสดงตัวออกของมัน แล้วเรารักษาใจของเรา เห็นไหม

นี่ถ้าเรามีธรรมในหัวใจ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วเราจะมีธรรมในหัวใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง