เทศน์เช้า

กฐินวัดป่าสันติพุทธาราม

๒๙ ต.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์กฐิน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้เราจะทอดกฐินนะ วันกฐินเป็นความเชื่อของสังคมชาวพุทธ เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้เอง เพราะมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เวลาสมัยพุทธกาล เหมือนปัจจุบันนี้เวลาเราเคารพบูชาอาจารย์องค์ใด เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราก็อยากจะหาอาจารย์องค์นั้นเพื่อจะปรึกษาธรรมะ

ในสมัยพุทธกาล พระปฏิบัติทุกองค์เวลาออกพรรษาแล้วจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าใน ๑ พรรษา เราปฏิบัติมามีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง มีสิ่งใดควรจะเติมเต็ม จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเวลาออกพรรษาแล้ว เวลาพระไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันหน้าฝนไง ลุยน้ำไป ผ้าเก่า ผ้าขาด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นแล้วถึงได้อนุญาตให้มีคราวกรานกฐิน พอมีกฐินขึ้นมา กฐินก็คือกฐิน

กฐิน เห็นไหม คนเรานะ ในศาสนามีรูปธรรมและนามธรรม มีกายและใจ สิ่งที่เป็นร่างกาย จิตใจ ร่างกายนี่มันเป็นสิ่งที่ว่าวิบาก วิบากหมายถึงว่าเวลาเราเกิดเป็นมนุษย์เพราะบุญพาเกิด ทีนี้บุญพาเกิด บุญพาเกิดแต่ละคน นี่สูง ต่ำ ดำ ขาว อำนาจวาสนา สรรพสิ่งต่างๆ มันไม่เหมือนกันเพราะมันเป็นเรื่องของบุญ บุญกุศลมันขับมา แต่ขับมาในสถานะว่าเราเกิดเป็นมนุษย์มีค่าเท่ากัน

เราเกิดมาเป็นมนุษย์มีร่างกายและจิตใจเหมือนกัน เรามีปากมีท้องเหมือนกัน เราต้องใช้ปัจจัย ๔ เหมือนกัน เราเป็นญาติกันโดยธรรม คือเสมอภาคในการเกิด แต่มันไม่เสมอภาคในเรื่องของกรรมไง ไม่เสมอภาคในเรื่องของกรรม ทำไมปฏิภาณไหวพริบ เชาว์ปัญญาของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน นี่ไงร่างกาย เวลาเกิดมาแล้วมีร่างกายและจิตใจ เวลาร่างกายเกิดมา เห็นไหม เกิดเป็นมนุษย์แล้วได้พบพระพุทธศาสนา มีศาสนาเพราะเหตุใด?

มีศาสนาเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาถึงมีศาสนา ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะไปรื้อค้นอยู่ก็ยังไม่มีศาสนา นี้พอไม่มีศาสนาขึ้นมา เห็นไหม รื้อค้นทุกข์ยากขนาดไหน? ฉะนั้น เวลาลูกศิษย์ลูกหาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเห็นแล้ว ประสาเราว่าพ่อแม่ก็สังเวชไง สังเวชแล้วก็อนุญาตให้ เพราะว่าไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ขอไม่ได้! บอกไม่ได้! เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์หมด

ฉะนั้น เวลาเข้าพรรษามันเป็นหน้าที่ เวลางานกฐินเป็นหน้าที่ เพราะชุมชนใดมีพระจำพรรษา ๕ องค์ขึ้นไป เราควรมีกฐินเพื่อให้พระได้มีผ้า ได้เปลี่ยนผ้า ได้ต่างๆ สิ่งสำคัญมันคือผ้าผืนนั้น ผ้าที่กรานกฐินนั้น ฉะนั้น สิ่งที่ว่า นี่พอเราเห็นว่าเป็นบุญกฐินเราก็ตั้งใจ เพราะว่าในบุญกฐิน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ พูดถึงเวลาดูแลพระให้ได้แค่ ๑ เดือน ไม่ใช่ให้ขอเขาไปทั้งปีทั้งชาติ ขอเขาไป ไปยุ่งกับเขา ไปคลุกคลีกับเขานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเน้นที่หัวใจอย่างเดียว

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิด เห็นไหม ตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์ ตรัสรู้ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น เน้นที่หัวใจ เน้นที่การประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติคลุกคลีไม่ได้ ถ้าคลุกคลีไปแล้ว อย่างเช่นหมา เวลามันหยอก มันเล่นกัน เดี๋ยวมันก็กัดกัน การคลุกคลีนั่นแหละมันจะเกิดการกระทบกระเทือนกัน ฉะนั้น ไม่กระทบกระเทือนกัน ท่านถึงให้สงบสงัด ให้หลีกเร้น ให้วิเวก

ฉะนั้น ในการประพฤติปฏิบัติท่านให้หลีกเร้นภายใน ๑ เดือน ฉะนั้น พอ ๑ เดือนมันก็เลยเป็นประเพณีของเรามา เห็นไหม ต้องมีกฐิน ต้องมีกฐิน คำว่าต้องมีกฐินนะ ถ้าไม่มีพระจำพรรษา ๕ องค์ขึ้นไป มันก็มีกฐินไม่ได้ คำว่ามีกฐินไม่ได้เพราะมันไม่ใช่สงฆ์ กฐินเป็นสังฆะ สังฆะคือสาธารณะ เป็นของสาธารณะ เวลาเรากล่าวคำถวายกฐิน

“ผ้านี้เหมือนลอยมากลางอากาศ ตกลงอยู่ท่ามกลางสงฆ์ แล้วสงฆ์นี้จะมอบให้ใคร?”

แล้วสงฆ์มอบให้ใคร? ต้องมอบให้ผู้ที่ฉลาด ฉลาดหมายถึงว่าสามารถกะ ตัด เย็บ เนา ย้อม มีมาติกา ๘ ถ้าไม่มีมาติกา ๘ ไม่ใช่กฐิน

คำว่ามีมาติกา ๘ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านฉลาดมาก เป็นนักปราชญ์มาก แม้แต่จะให้ผ้าพระใช้นะ แต่ก็ยังมีอุบาย มีอุบายว่าให้สังคมนั้น สงฆ์ในกลุ่มนั้นต้องสามัคคีกัน ถ้าไม่สามัคคีกัน เย็บผ้าภายใน ๑ วันเสร็จเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเย็บด้วยมือ คำว่าเย็บด้วยมือต้องเย็บด้วยกัน ถ้าพระไม่สามัคคีกัน พระไม่ร่วมกันทำ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เย็บคนเดียวไม่ได้ เย็บคนเดียวมันไม่เสร็จ แต่สมัยนี้มันได้เพราะมันมีจักร มันมีต่างๆ

นี่แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตให้มีกฐินแล้ว มีกฐินเพื่อประโยชน์นะ ก็ยังซ่อนไว้ ซ่อนเงื่อนไว้ว่าต้องมีความสามัคคีกัน ต้องทำให้มันถูกต้อง เห็นไหม นี่ผ้านี้ลอยมากลางอากาศ ตกลงอยู่ท่ามกลางสงฆ์ แล้วสงฆ์จะมอบให้ใครเป็นผู้กรานกฐิน เป็นผู้ที่ดูแลผ้านั้น ถ้าดูแลผ้านั้นเพื่อประโยชน์ เพื่อความสามัคคี เพื่อความร่วมมือกัน นี่ถ้าความร่วมมือกัน ถ้าสงฆ์ต้องมีจำพรรษา ๕ องค์ขึ้นไป แล้วเวลากล่าวอุปโลกน์ว่าให้ผู้ใดเป็นผู้ครองกฐิน แล้วนี่ผู้ที่กรานกฐิน ผู้ที่รับกฐินนั้นได้บุญร่วมกันไป

ภิกษุจำพรรษา ๑ เดือน ไปด้วยการไม่บอกลา รัตติเฉทล่วงราตรี ถ้าล่วงราตรี ภิกษุจำพรรษาที่ไหน? คำว่านิสัยนะ วินัยนี่ละเอียดมาก เพียงแต่พวกเราทำจนเคยชิน กฐินก็ทำจนเคยชิน เพราะกฐินก็คือกฐิน กฐินนะเราจะบอกว่า เดี๋ยวเราจะสรุปว่ากฐินมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ไง ถ้าไม่มีมันก็ไม่มีอะไรเสียหาย แต่มันขัดจากบุญกุศลของเรา แต่ถ้ามีนะ ถ้ามีกฐินก็ทำให้มันถูกต้อง

ถ้ามันถูกต้องขึ้นมา เห็นไหม นี่ต้นไม้มันก็มีกระพี้ มีเปลือก มีแก่นทั้งนั้นแหละ ต้นไม้ไม่มีเปลือกมันก็อยู่ไม่ได้หรอก ในเรื่องของทาน ศีล ภาวนา ทานก็คือทาน แต่ถ้าทานมันถูกต้องดีงามขึ้นไปนี่เราฉลาดขึ้น ดูสิมนุษย์กับสัตว์ต่างกันตรงไหน? เวลาสัตว์มันก็ดำรงชีวิตเหมือนกัน มันก็สืบพันธุ์เหมือนกัน นี่มนุษย์ต่างกับสัตว์ตรงไหน? ต่างกับสัตว์ตรงมีศีลธรรม ชาวพุทธกับลัทธิต่างๆ ต่างกันตรงไหน? ต่างกันตรงที่ว่าเราเข้าใจได้

นี่เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เราจะต้องแก้ไขในหัวใจของเรา เราจะแก้เรื่องกิเลสของเรา เราจะไม่อ้อนวอนใคร เราไม่ต้องการให้ใครมาตัดสิน เราไม่ต้องการให้ใครมาช่วยเหลือเจือจานทั้งนั้น แต่เรามีครูบาอาจารย์ขึ้นมา ครูบาอาจารย์ของเราเป็นผู้ชี้นำ

ฉะนั้น นี่มนุษย์ต่างกับสัตว์อย่างใด? ถ้าเราจะทำกฐินให้มันถูกต้องดีงาม มันต่างกับที่เราทำสักแต่ว่าทำ ทำให้มันจบๆ กันไปไง แต่เวลาบุญก็อยากได้บุญเยอะๆ นะ ว่าต้องได้บุญอย่างนั้นๆ คิดจินตนาการกันไป แต่ถ้ามันทำไม่ถูกต้อง นี่ถ้ามันทำถูกต้องมันก็ได้บุญไป เห็นไหม ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ถ้าพูดถึงโยมต้องอยากทอดกฐินเพื่อบุญกุศล แต่ถ้าไม่มีพระก็ทำไม่ได้

ฉะนั้น เวลามีพระขึ้นมาแล้วมันเกี่ยวเนื่องกันระหว่างโลกกับธรรม ระหว่างกายกับใจ ถ้าระหว่างกายกับใจนะ สิ่งนี้ถ้ามันส่งเสริมกัน มันจุนเจือกัน มันก็จะได้ประโยชน์ไปทั้ง ๒ ฝ่าย เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ดูสิประเพณีวัฒนธรรมของพระให้บิณฑบาต กฐินนี่ทำได้ใน ๑ เดือนนะ แต่ถ้าเราทำบุญกุศลของเรา เราตักบาตรได้ทุกวัน

ถ้าเราไม่ได้ตักบาตร เราสวดมนต์ เราอนุโมทนากับเขาก็ได้ ถ้าเราไม่มีสิ่งใดที่จะเสียสละได้เลย เราก็เสียสละความรู้สึกนี่แหละ อารมณ์ความรู้สึกนี่แหละ เราอนุโมทนาไปกับเขา คือเห็นใครทำคุณงามความดี เรามีความชื่นใจ เรามีความพอใจ อันนี้คือบุญนะ! บุญก็แค่เราชื่นใจไปกับเขา เราน้อมหัวใจเรา คิดดี คิดบวกนั่นแหละคือบุญ แต่ถ้าคิดลบ คิดลบนี่อกุศล อกุศลมันเป็นต่างๆ

ฉะนั้น สิ่งที่เรานี่ ๑ เดือนภายในกฐิน แต่ถ้าเราตักบาตรของเราทุกวัน เราทำของเราทุกวันนะ อันนั้นตักบาตร เพราะว่าตักบาตร เราดูแลพระ ดูแลสงฆ์ เราได้เพิ่มบุญของเราทุกวัน นั้นเป็นบุญกุศลนะ แต่ถ้าเป็นเรื่องกฐินมันมีเข้าไปในวินัย ภิกษุล่วงราตรีได้ภายใน ๑ เดือน ถ้าเราจำพรรษา ๑ เดือนนะ ถ้าได้กฐินเราทิ้งผ้าครองได้ ผ้า ๓ ผืนนี่ พระต้องถือผ้าครอง ผ้าครองนี่สังฆา จีวร สบง เวลาอรุณขึ้นจะขาดจากเราไม่ได้ ให้ถนอมรักษา ให้ดูแลรักษา

เรามีบริขาร ๘ เวลาบวชพระ เข็มกับด้ายสำคัญมาก เห็นไหม บริขาร ๘ มีเข็มกับด้าย มีกล่องเข็มกับด้าย แล้วก็ธมกรก เพราะเวลาผ้าขาด เราได้ปะ ได้ชุนของเรา ถ้าไม่ปะ ไม่ชุนนะ มันขาดแค่เม็ดถั่วเขียวผ่านได้ นั่นแหละขาดครอง ขาดครองหมายถึงว่า เวลาห่มผ้าเหมือนกับไม่ได้ห่ม ถ้าไม่ได้ห่มเราจะเป็นอาบัติตลอด ถ้าไม่เป็นอาบัติ เห็นไหม ภิกษุจะห่มผ้ายืมไม่ได้ ห่มผ้าของคนอื่นไม่ได้ ต้องพินทุ อธิษฐานเป็นของบุคคลคนนั้น บุคคลนั้นเป็นผู้ห่มเอง

นี่สิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้เพื่อให้ฝึกสติ เพื่อให้พระฝึกสติ มีสติกับบริขารของตัว ถ้าบริขารก็คือเครื่องดำรงชีวิตนี่แหละ ถ้าเรื่องดำรงชีวิตของเรา เรามีการดำรงชีวิต ชีวิตเราอยู่แล้ว เห็นไหม เรายังมีสติ เอาธรรมและวินัยเป็นสติ เป็นที่ให้จิตเกาะสิ่งนี้ไว้ เราฝึกหัดของเรา เราค้นคว้าหาของเรา เพื่อจะพัฒนาใจของเรา

เราเกิดเป็นมนุษย์เราต่างกว่าสัตว์ เวลาเรามาเป็นชาวพุทธ เราก็เป็นชาวพุทธที่ว่าเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราไม่ใช่ทำเป็นประเพณีวัฒนธรรม เวลาทำนี่มันเป็นประเพณีไหม? เป็น มันเป็นประเพณีทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่เป็นประเพณี คนเราเกิดมามีร่างกายไหม? ต้องมี ถ้าไม่มีร่างกาย จิตใจมันจะสถิตอยู่บนอะไร? แต่ถ้าจิตใจมันสถิตอยู่บนร่างกายนั้น ถ้าจิตใจมันออกจากร่างนั้นไป ร่างกายนั้นก็ไม่มีชีวิต

ประเพณีวัฒนธรรมเป็นรูปธรรม นี่ถ้ามันเป็นรูปธรรมขึ้นมา นามธรรมล่ะ? ความรับรู้สึก รูปธรรมนี่เราทำ ถ้าคนที่มันต่ำ เห็นไหม เขาทำรูปธรรมนั้นให้ครบสูตร เวลาปฏิบัติให้ครบสูตร ปฏิบัติให้สมบูรณ์ แล้วว่าจะได้ธรรมๆ แล้วมันได้ไหมล่ะ? มันไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำถ้ามันทำด้วยหัวใจนะ คนที่ทำด้วยหัวใจ คนที่ทำด้วยความซาบซึ้งนี่บุญมหาศาล แต่คนที่สักแต่ว่าทำ เอ๊ะ กฐินมันเป็นอย่างไร? เขาทำกันเพื่ออะไร? ไปดูเขาทำ เห็นไหม กุศลทำให้เกิดอกุศล อกุศลทำให้เกิดกุศล

กุศลหมายถึงว่าตั้งใจทำดีต่างๆ ตั้งใจแล้ว แล้วพอไปแล้วไม่ได้ดั่งใจซักอย่าง ขัดอกขัดใจไปหมดเลย อกุศล

อยากจะไปดูซิว่าเขาทำกันอย่างไร? ผิดถูกอย่างไร? ไปเห็นแล้วมันซาบซึ้งขึ้นมานะ จากอกุศลนะ จากจะไปดูว่าเขาทำอย่างไร? ไปดูแล้วมันซาบซึ้ง มันเป็นกุศลขึ้นมาแล้ว เห็นไหม นี่ทำไมจิตใจมันเปลี่ยนแปลงได้ล่ะ?

จิตใจที่มันเปลี่ยนแปลง ธรรมและวินัย ประเพณีวัฒนธรรม นี่พระพุทธเจ้าวางไว้ เหมือนกับการพัฒนาของสังคม สังคมการพัฒนามันไม่เท่ากัน สังคมมันต้องพัฒนา ใครพัฒนามากกว่า จิตใจของคนมันพัฒนาไม่เท่ากัน นี่มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด เวลาจิตใจมันมีสติ มีปัญญาเข้ามาแล้ว เห็นไหม ทุกคนจะบอกว่าเราเป็นคนดีแล้วทำไมต้องไปวัด ดีของใคร? ดีของใคร?

นี่ที่เถียงกัน ที่มีปัญหากันในโลกนี้ก็เพราะความดีทั้งนั้นแหละ ทุกคนก็ว่าถูกต้องดีงามหมด แล้วก็เอาความดีเถียงกันว่าใครเป็นคนใจดีกว่ากัน ความดีแบบหยาบๆ นะ นี่เกิดเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ ถ้าเป็นอริยทรัพย์แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรเลย มีอริยทรัพย์ ดีกว่าสัตว์ ดีกว่าทุกๆ อย่าง ดีกว่าเทวดา อินทร์ พรหม เทวดา อินทร์ พรหม เขาไม่มีร่างกายของเขา คำว่าไม่มีร่างกาย เหมือนกับคนเราอยู่แต่สุขไง นี่มีแต่ความสุขของเขา มีแต่ความสะดวกสบายของเขาก็เพลิดเพลิน เพลิดเพลินก็หลงใหลไปชีวิตหนึ่ง พอหมดอายุขัยก็คอตก

แต่มนุษย์เรานี่นะ ถ้าพ่อแม่ไม่เลี้ยง ถ้าเราไม่มีหน้าที่การงาน เราจะเอาอะไรอยู่ เอาอะไรกิน ไอ้ที่เอาอะไรอยู่ เอาอะไรกิน มันเตือนสติตลอดเวลาไง มนุษย์นี่มีทุกข์ มันมีสิ่งบีบคั้นตลอด ถ้ามีสิ่งบีบคั้นตลอด แล้วพอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง ทุกข์นี้เกิดขึ้น ทุกข์นี้ตั้งอยู่ แล้วทุกข์นี้ดับไป นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรเลย โลกนี้นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรเลย แต่เพราะเราพอใจใช่ไหม? ถ้าเราถึงว่าเรามีความสุข

นี่สัจจะมันเป็นแบบนี้ แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์มันมีทุกข์เป็นสัจจะความจริงอยู่แล้ว แล้วเราศึกษาศาสนา บอกว่าทุกข์ควรกำหนด ทุกคนจะพ้นจากทุกข์ พ้นจากทุกข์ ปฏิเสธทุกข์ มันพอใจมันก็เป็นความสุข ถ้ามันไม่พอใจล่ะ? สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ฉะนั้น มนุษย์เรามีร่างกายและจิตใจ ถ้ามีร่างกายและจิตใจ การเกิดเป็นมนุษย์นี่เกิดโดยอำนาจวาสนา เกิดโดยบุญกุศล เรามีบุญกุศลกันหมดแล้ว เราเกิดมานี่เพราะเราเป็นมนุษย์ เราถึงมีหน้าที่การงาน เรามีทุกอย่างก็เพราะเราเป็นมนุษย์ พอจิตออกจากร่างไป มันเป็นท่อนไม้มันจะเหลืออะไรกับเรา ตำแหน่งก็คนอื่นมาเป็นต่อ สมบัติก็มอบไว้ให้กับโลก มีอย่างเดียวคุณงามความดีติดกับใจนี้ไป

ฉะนั้น เวลาที่จิตใจมันสูงส่งขึ้นมา เวลามาทำบุญกุศลเพราะมันเปิดใจอันนี้ มันมีความเข้าใจ มันซาบซึ้งในหัวใจอันนี้ ถ้าหัวใจซาบซึ้ง ทำด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ ปฏิคาหก ผู้ให้ ให้ด้วยความบริสุทธิ์ สิ่งที่เราหามา หามาด้วยความบริสุทธิ์ ขณะให้ ให้แล้วมีความสุข ผู้รับ ผู้รับมีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง สิ่งที่ได้รับมาแล้วเป็นประโยชน์กับเขา นี่ปฏิคาหก ถ้าปฏิคาหกมันเกิดขึ้น มันส่งต่อกันมันจะเป็นประโยชน์มหาศาลเลย นี้พูดถึงแค่ทานนะ “ทาน ศีล ภาวนา”

นี่เรื่องของทาน เห็นไหม ถ้าเรื่องของศีลล่ะ? ถ้าไม่มีพระ ไม่มีภิกษุ ไม่มีสังฆะ เราจะทำบุญกันที่ไหน? นี่พ้นจากพุทธศาสนาไม่มีการทำบุญ เพราะนี่มันก็เป็นการให้ทานกันทั้งนั้น แต่บุญกุศลมันเกิดเพราะอะไรล่ะ? นี่ผู้ทรงศีล ศีลมันคืออะไร? อะไรคือศีล? อะไรคือการภาวนา?

ถ้าภาวนา เรามาทำบุญกุศลกันนี้เพื่อเราจะมาสร้างสามเส้า ทาน ศีล ภาวนา นี่สิ่งที่ว่าเตาสามเส้าเราตั้งสิ่งใดมันก็มั่นคงใช่ไหม? ทาน ศีล ภาวนา มหายานเขาบอกว่าทานไม่จำเป็น ไม่ต้องทำอะไรเลย นี่ภาวนาไปเลย พอภาวนาไปมันมีศีลกับปัญญา เวลาตั้งขึ้นไปแล้วมันคลอนแคลน เห็นไหม มันคลอนแคลนหมายถึงว่า เวลาทำสิ่งใดไปแล้วมันไม่มั่นคง เวลาทำสิ่งใดไปแล้วมันไม่มีฐาน

แต่ถ้ามีทานขึ้นมานี่ มีทานเพราะอะไร? มีทานเพราะว่าเราเสียสละทาน ทีนี้มีการเสียสละมันเปิดอะไร? ความตระหนี่ถี่เหนียวในหัวใจมันเปิดออก ถ้ามันเปิดออก ดูนะ จิตใจของคนที่เป็นจิตใจสาธารณะ เห็นคนอื่นเขาเอารัดเอาเปรียบกัน เห็นคนอื่นเขาไปทำลายสมบัติที่เป็นสาธารณะ เราบอกทำไมคนนี้คิดได้อย่างนั้น? แต่ทำไมจิตใจเขาทำได้ล่ะ?

จิตใจที่เป็นสาธารณะ เห็นไหม พอเวลาจิตใจถ้ามันมีทาน เวลามันเสียสละขึ้นมามันเปิด สมบัติของคน เราอาบเหงื่อต่างน้ำหาสมบัติมาเป็นของเราไหม? เป็น แล้วอยู่ดีๆ เราจะยกให้ใครโดยไม่มีเหตุผลเป็นไปได้ไหม? ไม่ได้หรอก เพราะว่าคนที่จะมีฐานะได้เขาต้องรู้จักประหยัดมัธยัสถ์ ครอบครัวใดรู้จักซ่อมแซม รู้จักถนอมรักษาเครื่องใช้ไม้สอยในครอบครัวนั้น ครอบครัวนั้นจะยั่งยืน ครอบครัวใดสุรุ่ยสุร่าย ใช้ของฟุ่มเฟือย ใช้ของโดยที่ไม่รู้จักเก็บรักษา ครอบครัวนั้นจะมีแต่เสื่อมไปเป็นธรรมดา

ฉะนั้น คนที่จะมีฐานะเขาต้องรู้จักประหยัด รู้จักมัธยัสถ์ รู้จักรักษาทรัพย์ของเขา แล้วเขาหาทรัพย์ของเขามา เขาจะสุรุ่ยสุร่ายมันเป็นไปได้อย่างใด? มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ทำไมเขาเสียสละล่ะ? เขาเสียสละเพราะจิตใจเขานี่ไง เห็นไหม จิตใจ นี่มนุษย์ต่างจากสัตว์อย่างใด? จิตใจของคนมันต่างกันตรงไหน? ถ้ามันต่างได้มันก็เสียสละของมันได้ ถ้ามันเสียสละของมันได้ เห็นไหม เพราะอะไร? เพราะเขาเห็นคุณค่ามากกว่านั้น คุณค่าเสียสละสิ่งนี้ไป ผู้ให้ ให้ด้วยหัวใจที่มันเบิกบาน ผู้ให้ๆ แล้วถ้าผู้ให้ไปแล้ว หัวใจมันพัฒนาขึ้นไป นี่ให้อย่างไรก็ได้

“เสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ เสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เสียสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม”

ครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติฟากตายนะ เวลาปฏิบัติเวลามันจะตายนะ อะไรตายก่อนขอดู พอเราบอกว่าเราจะตายนะ ดูสินั่งภาวนากัน เห็นไหม บอกว่าพรุ่งนี้จะไปทำงานก็ลุกแล้ว บอกว่าพรุ่งนี้มันจะไม่มีเวลาก็ลุกแล้ว แต่เวลาครูบาอาจารย์นะ ถ้ามันจะตาย อะไรตายก่อน? เวลาตายมันเป็นอย่างไรขอดู ถ้าสติมันพร้อมอยู่กับจิตมันจะตายไปไหน? การตายเหมือนกับจิตเคลื่อนออกจากร่าง เวลาจิตมันเคลื่อนเพราะมันมีสติมันถึงเคลื่อนใช่ไหม? ถ้ามันมีสติอยู่จิตมันเคลื่อนไหม?

นี่อิทธิบาท ๔ ผู้ใดมีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ จะอยู่อีกกี่ปีก็ได้ เพราะมันรั้งใจตัวนี้ไม่ให้มันเคลื่อนออกจากกายได้ ถ้ามันไม่เคลื่อนมันก็ไม่มีวันตาย แต่ถ้ามันปล่อยให้เคลื่อนนะ ไม่ใช่ว่าไม่ให้เคลื่อนนะ ผู้ที่มีธรรมเขาอยากได้ไปด้วย เขาจะรั้งไว้ทำไม? แต่ผู้ที่รั้งไว้ก็รั้งไว้เพื่อประโยชน์กับโลกเท่านั้นแหละ

ฉะนั้น ถ้าจิต เห็นไหม นี่เวลาจิตที่มันเป็นสาธารณะ เวลามันพัฒนาของมันไปแล้ว มันเป็นสาธารณะของมัน มันจะเป็นประโยชน์กับมัน ถ้าเป็นประโยชน์นะ เวลาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าจิตออกจากร่างมันจะมีอะไรสิ่งใดเหลือล่ะ? ฉะนั้น ถ้ามันพัฒนาขึ้นมามันเป็นประโยชน์กับใจดวงนี้ ถ้าใจดวงนี้ การภาวนา เห็นไหม นี่ถ้าเขารู้จักถนอมรักษา เขารู้จักประหยัดมัธยัสถ์ของเขา แล้วจิตใจเขาเป็นสาธารณะขึ้นมา เขาเสียสละของเขา เขาเห็นประโยชน์มากกว่านั้น ประโยชน์สิ่งที่ดีกว่า มรรคหยาบ มรรคละเอียด

แม้แต่โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรคมันก็แตกต่างกัน คนไม่เคยภาวนาจะไม่รู้หรอกว่ามรรค ๔ ผล ๔ มันเป็นอย่างใด? มรรค ๔ ผล ๔ ทำไมมันถึงเป็นมรรค ๔ ผล ๔ ล่ะ? แล้วมรรค ๔ ผล ๔ มันก็มีแต่ชื่อ มีแต่ในตำรา มรรค ๔ ผล ๔ ก็กางตำราแล้วก็ปากเปียกปากแฉะ แล้วมันได้สิ่งใดมา?

มันไม่มีสิ่งใดมาเพราะหัวใจมันไม่มีหิริ มันไม่มีโอตตัปปะ เห็นไหม ถ้าไม่มีโอตตัปปะ การกระทำ พฤติกรรมสิ่งที่ทำออกไปมันก็ห่างจากธรรมและวินัย แต่ถ้าคนมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมามันจะห่างจากธรรมวินัยไม่ได้ เพราะการห่างจากธรรมวินัยนะ หลวงตาท่านพูดบ่อย

“เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปแล้วแสดงธรรม”

เวลาพูดนะ พูดธรรมะพระพุทธเจ้าทั้งนั้นแหละ แต่มันเหยียบข้ามธรรมของพระพุทธเจ้าไปไง เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปแล้วแสดงธรรม ถ้ามันแสดงธรรม ธรรมมันคืออะไร? ถ้าธรรม ธรรมมันมาจากไหน? ถ้าธรรมมาจากไหนมันต้องมีที่มาที่ไป ถ้ามีที่มาที่ไป เห็นไหม นี่เวลาว่าทาน ศีล ภาวนา สิ่งนี้มันเป็นพาหะ มันเป็นวิธีการที่เข้าสู่เป้าหมาย ถ้ามันเข้าสู่เป้าหมายแล้ว นี่วิธีการของคน ดูสิเรากินข้าวกัน แต่ละคน นิสัยใจคอ การดื่ม การกินมันไม่เหมือนกันซักคนเลย แต่ผลของมันกินเพื่ออะไร? กินเพื่ออิ่มหนำสำราญ

การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน วิธีการมันแตกต่างกัน แต่ที่หมาย เป้าหมาย มันอันเดียวกัน ถ้ามันถึงเป้าหมายอันเดียวกันมันก็ถูกต้อง ถ้ามันไปถึงเป้าหมาย เป้าหมายมันแตกต่างกัน ที่มาก็แตกต่างกัน แล้วไปถึงเป้าหมายก็แตกต่างกัน แล้วนิพพานของใครล่ะ? ธรรมะของใคร? ธรรมะของใคร? มันต้องผิดคนหนึ่งแน่นอน

แต่ถ้ามันมีเหตุมีผลของมัน เห็นไหม นี่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา วิธีการ ถ้าวิธีการมันถูกต้อง เป้าหมายมันก็ถูกต้อง ถ้าวิธีการมันไม่ถูกต้อง วิธีการไม่ถูกต้องมันขาดอะไรไป? ดูสิในการศึกษานะ เวลาเราส่งหน่วยกิต ถ้าเวลาหน่วยกิตเราส่งไม่ครบมันผ่านไม่ได้

มรรค ๘ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ ความระลึกชอบ งานชอบนี้สำคัญมากนะ เพราะงานอย่างหยาบ งานอย่างละเอียด เราจะเถียงกันประจำนะว่าต้องใช้ปัญญาๆ การใช้ปัญญา ถ้าเราไม่มีจิตใจเราจะเอาอะไรใช้ปัญญา ซากศพมันใช้ปัญญาได้ไหม? เด็กมันใช้ปัญญาอะไรของมัน

นี่การใช้ปัญญา ปัญญาที่ใช้กันในโลกนี้เขาเรียกว่าโลกียปัญญา ปัญญาของโลก ใครมีการศึกษามาทางวิชาการอย่างใด ก็มุมมองนั้นแหละมองศาสนา การมองศาสนาจากมุมของตัว ถ้าจากมุมมองของตัวมันก็เหมือนกฎหมาย กฎหมาย เห็นไหม แม้แต่เรียนกฎหมายด้วยกันก็ตีความกฎหมายแตกต่างกัน มุมมองทางวิชาการมองมาเรื่องศาสนา แล้วมามองศาสนาก็มีรสชาติ มีความดูดดื่มแตกต่างกัน

ความแตกต่างกัน จริตนิสัยมันแตกต่างกันก็ไม่สำคัญ สำคัญที่เวลาทำไปแล้ว เวลามันไปถึงสัมมาสมาธิมันเป็นสากลเหมือนกัน ถ้าเวลาจิตมันเป็นสากลเหมือนกัน พอจิตมันออกไปวิปัสสนา เห็นไหม ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม นี่พูดปากเปียกปากแฉะ เวลาว่าสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ มันก็พูดได้ กาย เวทนา จิต ธรรม ใครก็มี ใครก็รู้ แต่มันเป็นโลกียะ มันเป็นโลก

ดูสิทางการแพทย์เขาหากินกับอะไร? ก็หากินกับกายมนุษย์ เขาผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะทุกวันเขาได้อะไรขึ้นมา เขาได้ตังค์ แต่ของเราเราพิจารณากายของเรา ถ้าจิตเราสงบเข้าไปแล้ว เราพิจารณามันเห็นอย่างใด? มันไปถอดถอนอย่างใด? การศึกษา ศึกษามาเพื่อรู้ เพื่อทิฐิ เพื่อความชัดเจนทางวิชาการ การศึกษาทางธรรม การวิปัสสนา วิปัสสนาชัดเจนในการปล่อยวาง ชัดเจนในการสลัดทิ้ง ชัดเจนในการเป็นอิสระ ชัดเจนในการคืนสู่ตัวมันเอง ชัดเจนของมัน เห็นไหม

นี่ไงเวลาเราใช้ปัญญาๆ มันเป็นโลกียปัญญา จะมีการศึกษานะ จะกี่ประโยคก็แล้วแต่ จะมีความรู้มากน้อยขนาดไหนโลกทั้งนั้น โลกคือเกิดจากความคิด ความคิดเกิดจากภวาสวะ ภวาสวะคือภพ คือฐีติจิต คือจิตเดิมแท้ จิตที่พาเกิดพาตายอยู่นี่ ถ้าไม่มีจิต ไม่มีตัวพลังงาน ทุกอย่างไม่มี ทุกอย่างมีเพราะมีจิต ทุกอย่างมีเพราะมีภพ พอมีภพขึ้นมา ความนึกคิดก็เกิดขึ้น แล้วไอ้ตัวภพคือตัวไม่รู้ตัวมันเองอยู่แล้ว คือตัวอวิชชา

อวิชชาคือไม่รู้ตัวเองแต่มีพลังงานนะ เหมือนไฟฟ้า มันจะดูดคนอื่นตายหมดเลย แต่ตัวมันเองก็พลังงานไฟเฉยๆ แต่มันดูดคนอื่นตายหมดเลย อวิชชามันกลืนกินความคิด มันครอบงำทุกคนหมดเลย ครอบงำแม้แต่ความคิดตัวเอง แล้วพอไปศึกษาธรรมะก็อู้ฮู ธรรมะว่าง ร่มเย็น เมื่อก่อนเป็นคนโทสะ เมื่อก่อนเป็นคนไม่ดี เดี๋ยวนี้ดีมหาศาล ดีเพราะมันเอากิเลสซ่อนไว้ มันยังไม่มีใครไปจี้ใจดำไง พอจี้ใจดำ ไอ้ที่ว่าดีๆ นั่นแหละมันจะออกมาหมดเลย แต่ถ้าเราฝึกหัดนี่คือโลกียปัญญา ถ้าเป็นโลกุตตระล่ะ?

โลกุตตรปัญญานะ พวกเรานี่พยายามทำความสงบของใจ การใช้ปัญญาใคร่ครวญในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในขันธ์ ๕ ในความรู้สึกนึกคิด นี่โลกียะหมด เพราะความคิดที่ออกมาเราตะครุบเงา ตะครุบความคิดเราให้ได้ พอเราตะครุบความคิดเราได้ เราใช้ปัญญาไตร่ตรองความคิด คิดดี คิดชั่วต่างๆ เห็นไหม มันปล่อย มันปล่อย มันปล่อย

มันปล่อยนี่มันกลับไปสู่ตัวมัน เพราะมันคลายออกมาด้วยสารพิษ คลายออกมาด้วยความเป็นพิษ พอสติปัญญาไล่เข้าไปมันสงบลงๆ สงบไปสู่ตัวมัน เพราะมันได้ล้างสารพิษนั้นออก พอออกไปมันก็เป็นสัมมาสมาธิ แล้วพอมันเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีสติปัญญา ไม่มีอำนาจวาสนา มันก็ว่าสัมมาสมาธิคือนิพพาน ความว่างเป็นนิพพาน นิพพานเป็นความว่าง โอ้โฮ เป็นความว่างมันเวิ้งว้าง แล้วใครเป็นคนเวิ้งว้างล่ะ? ไม่รู้ ไม่รู้ แต่ถ้าจิตมันออกนะ มันออกรู้ของมันใช่ไหม? มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

เห็นกายนะ จิตสงบจิตเห็น ไม่ใช่ตาเนื้อเห็น ไม่ใช่สมองเห็น ไม่ใช่สมองเทียบค่า แต่เวลาฝึกหัดมันก็ต้องใช้อย่างนี้มาก่อน แต่พอไปเห็นจริงมันขนพองสยองเกล้า มันสะเทือนหัวใจมาก พอมันสะเทือนหัวใจ นี่ไงเวลาหมอเขาเห็นนะ ด้วยความชำนาญการ แพทย์ศัลยกรรมที่ชำนาญ เขาผ่าตัดสมองเขาชำนาญของเขามาก แล้วคนอื่นทำไม่ได้ถ้าเขาไม่มีทางวิชาการของเขา เขามีความชำนาญของเขาเพราะว่าเขามีประสบการณ์ของเขา เขาทำแล้วทำเล่า นั่นเขาได้อะไรขึ้นมา เขาได้ประสบการณ์ของเขา

แต่เวลาจิตมันเห็นกายนะ เวลามันเป็นไตรลักษณ์นะ มันพิจารณาของมัน มันปล่อยของมันไปนะ มันปล่อยของมัน มันปล่อยเพราะอะไร? ปล่อยเพราะกำลังของปัญญา กำลังของสมาธิมันปล่อยออกไปจากจิต พอมันคลายออกไปจากจิต จิตมันเป็นอิสระเข้ามาอีก เห็นไหม นี่โลกุตตรปัญญา ถ้าโลกุตตรปัญญา มันเห็น มันการกระทำ นี่สิ่งที่ทำขึ้นมามันทำมาจากไหนล่ะ? มันทำมาจากฐีติจิต มันทำมาจากจิต มันไม่ใช่ทำมาจากสมอง ไม่ใช่ทำมาจากประสบการณ์ ไม่ใช่ทำมาจากโลกียปัญญา มันทำมาจากโลกุตตรปัญญา แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ? มันเป็นอย่างไร?

นี่พูดถึงการกระทำนะ เพราะถ้ามีพระ พระที่มีการประพฤติปฏิบัติ นี่กรรมฐานของเรามีครูมีอาจารย์ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเราจะกลั่นกรอง ครูบาอาจารย์ของเราจะคอยสั่งสอน ครูบาอาจารย์คอยดูแล ดูแลมาเพื่อให้เป็นศาสนทายาท เวลาเรามีกฐินกัน นี่เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะมีกฐินก็ได้ หลวงปู่มั่นเข้าใจว่าท่านไม่เคยมีกฐินเลย แต่ผ้าป่ามีคนไปถวายท่านอยู่ แต่ถวายเป็นของใช้ในสงฆ์ แต่ท่านไม่มีกฐิน เพราะ เพราะหลวงปู่มั่นท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ ท่านเป็นผู้วางธรรม วางข้อวัตรปฏิบัติ ท่านจะทำเป็นตัวอย่าง

กฐิน ครูบาอาจารย์ของเรานะ ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมี แต่พอมีมา มีมา มีเพราะทางโลกเขามี ฉะนั้น เวลาถ้ามีกฐิน มีต่างๆ เราก็พยายามจะบีบรัดไว้ให้มันเรียบง่าย ให้มันเป็นธรรมที่สุด ฉะนั้น โลกต้องการความสะดวก โลกต้องการความพอใจของตัว ฉะนั้น โลกกับธรรมอยู่ด้วยกัน เกี่ยวเนื่องกัน โลกร้อนเป็นไฟ โลกนี้ร้อนอยู่เป็นนิจ

โลกนี้ เห็นไหม ในสโมสรสันนิบาตมีแต่ความว้าเหว่ มีแต่ความทุกข์ยาก โลกก็อยากมีที่พึ่ง แล้วไปพึ่งที่ไหนล่ะ? ไปพึ่งมันก็ต่างคนต่างตาบอด แล้วต่างคนต่างก็คลำช้างมาเถียงกัน แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่เป็นโลกมันเป็นอจินไตย โลกนี้เป็นอจินไตย หมายความว่ามันจะมีของมันอยู่อย่างนี้ โลกนี้เป็นอจินไตยด้วย โลกนี้เป็นอนิจจังด้วย

แล้วในปัจจุบันนี้ประเทศชาติของเรากำลังเกิดภัยพิบัติ ในหัวใจทุกคนมีแต่ความเศร้าหมอง ความเศร้าหมอง เพราะเราเห็นสัตว์ที่มันทุกข์ยากเราก็ยังเศร้าหมอง แล้วเราเห็นมนุษย์ด้วยกันทุกข์ยาก ทำไมเราจะไม่สะเทือนใจ ถ้าเราสะเทือนใจ ถ้าคนมีความคิดนะ นี่เขาว่าพุทธศาสนามันต้องปกป้อง พุทธศาสนาต้องดูแล พุทธศาสนาต้องเสกเป่าไม่ให้มีภัยพิบัติเกิดมาในประเทศชาติเลย

ครูบาอาจารย์นะ ผู้มีศีลอยู่ที่ใด ที่นั่นจะมีความร่มเย็นเป็นสุข แต่ขณะที่ทุศีล การทำลายกันต่างๆ นี่กรรมให้ผล ถ้ากรรมให้ผล ฉะนั้น ถ้าเราเห็นว่าในปัจจุบันนี้เรามีแต่ความเศร้าหมอง เรามีแต่ความทุกข์ในหัวใจ เห็นไหม เราเห็นแล้วทุกคนก็ต้องสะเทือนใจ ทุกคนก็ต้องสะเทือนใจ มนุษย์เกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม มีปาก มีท้อง แล้วเวลาในปากนี้ มันไม่มีอาหารเข้าไปมันจะทุกข์ยากไหม?

ถ้าเราช่วยเหลือได้ เราจะช่วยเหลือด้วยรูปธรรม ถ้าเราช่วยเหลือด้วยรูปธรรม คือสิ่งที่มีเรามีสิ่งของ แต่ไปไม่ถึง เราก็ต้องมีหัวใจ เห็นไหม เราระลึกถึงความดีต่อกัน เราช่วยเหลือเจือจานกัน เราพยายามจะดูแลกัน ถ้าคำว่าดูแลนะ ดูสิผู้ที่เขาเป็นผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย ผู้ที่รับนโยบาย เวลาไปทำต้องทำงานมากน้อยขนาดไหน?

ผู้ที่มีธรรมในหัวใจ นี่เข้าใจในโลกนี้ เข้าใจโลกนี้นะ เข้าใจในใจของเรา แล้วเข้าใจเรื่องของโลก แล้วถ้าเข้าใจเรื่องของโลกเราจะช่วยเหลือกันอย่างใด? ช่วยแบบธรรมไม่ใช่ช่วยแบบโลก ช่วยแบบโลก ดูสิเอาหน้าเอาตา เอาแก่งแย่งชิงดี เห็นไหม ช่วยแบบโลก ถ้าช่วยแบบธรรมนะ คนที่ได้รับความช่วยเหลือยังไม่รู้ตัวว่าได้รับความช่วยเหลือเลย หลวงตาท่านไปช่วยเหลือใคร ท่านไม่ให้ใครรู้ว่าท่านช่วยเหลือใครเลย คนที่รับความช่วยเหลือจากท่าน ยังไม่รู้ว่าของสิ่งนี้มาจากใคร

นี่การช่วยเหลือโดยธรรม เขาไม่ช่วยเหลือกันโดยการแก่งแย่งชิงดีกัน แต่การช่วยเหลือในโลก เห็นไหม เขาเศร้าหมองอยู่แล้ว เขาทุกข์อยู่แล้ว เราจะช่วยเหลือเขานี่เป็นธรรม เราต้องรู้สิว่าที่ใดควร และที่ใดไม่ควร ที่ใดช่วยเหลือแล้วมันได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ ถ้าได้ประโยชน์แล้วเราก็จะช่วยเหลือเจือจานเขา ถ้ามันเป็นธรรม

นี่พูดถึงเราจะทอดกฐินกัน เราปรารถนาบุญกุศลกัน นี่สิ่งที่เป็นบุญกุศลนะ บุญกุศลของผู้เสียสละ เห็นไหม เราได้ฟังธรรมมันก็จะเตือนเราแล้วล่ะ แล้วเราทำของเราไป สิ่งนี้มันเป็นของสาธารณะ ของสงฆ์ทั้งหมด แล้วสงฆ์ก็จะเจือจานกัน เจือจานกัน

ฉะนั้น สิ่งที่เราจะรู้ได้ ไม่รู้ได้ ศีล! ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่ออยู่ด้วยกันนานๆ จะรู้นิสัยใจคอกัน ธรรม! ธรรมจะรู้ได้ต่อเมื่ออ้าปาก ถ้าอ้าปากมามีแต่ลม มันไม่มีธรรมหรอก ถ้าอ้าปากมามันมีเนื้อหาสาระ อันนั้นมันถึงมีธรรม ธรรมมันคือเนื้อหาสาระ ข้อเท็จจริงในอริยสัจ ในสัจจะความจริง ใครจะทำปีนี้ ชาติหน้า พระศรีอริยเมตไตรย จะพระพุทธเจ้าองค์ไหน มันก็อริยสัจอันเดียวกัน! ธรรมคือธรรม ไม่พ้นไปจากไหนหรอก

ฉะนั้น เราทำใจเราให้ร่มเย็น สิ่งนี้มันเป็นกาลเป็นเวลาเราก็ดูแลกันไปนะ นี่พูดถึงกฐินไง แล้วถ้ากฐินนี่มีหรือไม่มีก็ได้ ถ้าไม่มีนะตำรวจไม่จับหรอก ไม่มีกฐินตำรวจไม่จับ แต่ถ้ามีกฐิน เพราะ เพราะว่าครูบาอาจารย์เป็นหลักเป็นชัย เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เราก็อยากได้บุญได้กุศล อยากได้สิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่างที่ว่า “ใจถึงใจไง” อยากได้ช่วยเหลือเจือจานกัน

ถ้ามี มีก็คือมี ไม่มี ไม่มีก็ไม่เป็นไร ไม่ปรับอาบัติ ไม่มีอาบัติ ไม่มีโทษ ไม่มีภัยใดๆ เลย ถ้าไม่มีกฐินก็คือไม่มีกฐิน ไม่มีกฐินเราก็อยู่ได้ มีกฐิน เห็นไหม มีกฐินมันก็เป็นแบบว่ายกเว้นจาก ๓ เดือนเป็น ๔ เดือน เรื่องผ้า เรื่องราตรี เรื่องต่างๆ มันมีข้อยกเว้นธรรมวินัย มันจะเข้าไปถึงเนื้อไง ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา เราทำบุญกุศลแล้วได้ยกเว้นจากธรรมวินัย

เหมือนกับเราบวชพระ เอาลูกมาบวช เห็นไหม พอลูกเป็นศาสนทายาท เราก็เป็นญาติกับศาสนา อันนี้พอทอดกฐินแล้วมันก็เกี่ยวเนื่องกับธรรมวินัย แต่ถ้าเวลาเราทำของเราปกติมันก็เป็นเรื่องปกติไปใช่ไหม? มันก็มีผลขึ้นมา มีผลขึ้นมาเราก็ทำของเรา แต่ แต่ไม่ต้องไปซีเรียส ไม่ต้องไปยึดติด ทำสิ่งใดก็ได้ ฉะนั้น ทาน ศีล มันก็ต้องภาวนา

หลวงตาบอกว่า “จะทำบุญมากมายมหาศาลขนาดไหน ถึงที่สุดต้องภาวนา”

ถ้าใครไม่ภาวนาก็ไม่พ้นทุกข์ เห็นไหม เราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยภาวนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์

“อานนท์ เธอบอกเขานะ จงบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติบูชาเถิด อย่าบูชาเราด้วยอามิสเลย” เอวัง