เทศน์เช้า วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เห็นไหม ทุกคนปรารถนาความสุขเกลียดความทุกข์ทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น เวลาศึกษาธรรมะขึ้นไปแล้วทุกคนว่าเข้าใจได้ ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เวลาตรัสรู้อยู่ในป่า อยู่โคนไม้ ความตรัสรู้ธรรมมันตรัสรู้ธรรมในหัวใจนั้น เวลาเราศึกษาธรรมะกัน เราบอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ เห็นไหม ต้นโพธิ์เลยกลายเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนา
ฉะนั้น เวลาเราพูดไปนี่เป็นกายภาพ แต่เวลาความเป็นจริงขึ้นมามันเป็นความรู้สึก ถ้าความรู้สึก เวลาตรัสรู้นี่ตรัสรู้ขึ้นมาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราศึกษาธรรมก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมเราว่าเราเข้าใจแล้ว เราเข้าใจแล้วเพราะว่าศึกษาโดยสุตมยปัญญา ในศาสนา เห็นไหม ต้องมีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ นี่เวลาปริยัติต้องศึกษา การศึกษาขึ้นมาทำให้เราทำได้ถูกต้อง
อย่างเช่นผู้มีศีล เวลาผู้มีศีลจะเข้าสังคมไหนมันจะองอาจกล้าหาญมาก แต่ศีล ศีลอะไร? นี่ศีลในพุทธศาสนา ศีลในลัทธิศาสนาอื่นๆ ความหมายของศีลก็แตกต่างกันไปนะ แต่ความหมายของศีลของเรา เห็นไหม นี่ศีล ๕ ปาณาติปาตาไม่ทำร้ายใคร ไม่ลักทรัพย์ ไม่พูดปด ไม่ต่างๆ คนไม่มีความโกหกมดเท็จในหัวใจ จะเข้าที่ไหนมันก็เข้าด้วยความองอาจกล้าหาญทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น ผู้มีศีลจะเข้าที่ไหนจะมีความองอาจกล้าหาญ
ในการศึกษาธรรมะ เห็นไหม พอเราศึกษาแล้วเราว่าเราเข้าใจ ถ้าเราเข้าใจแล้ว เวลาเราคุยธรรมะกัน ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง แต่เป็นมงคลต่อเมื่อเรามีเหตุมีผล แล้วเรายอมรับเหตุรับผล เหตุผลของใครมีคุณค่ามากกว่า เราต้องยอมรับด้วยเหตุผลอันนั้น เหตุผลอันนั้นทำให้เราแก้ไข
เวลาเขาบอกว่าต้องมีการศึกษาๆ ใช่ ต้องมีการศึกษา มีการศึกษานี้เป็นสุตมยปัญญา แต่เวลากิเลสของเรา กิเลสมันเป็นอนุสัย มันนอนเนื่องมากับจิตใต้สำนึก แล้วถ้าจิตใต้สำนึก เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เวลาคุยธัมมสากัจฉานี่เหตุผลของใคร?
ถ้าเหตุผลของใคร นี่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา จิตใจที่สูงกว่าจะดึงจิตใจที่ต่ำกว่า จิตใจที่สูงกว่ามันสูงกว่าตรงไหน? สูงกว่าเพราะเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปนี่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ผล แต่ละขั้นตอนมันแตกต่างกัน ดูสิเวลาคนมีการศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เห็นไหม ศาสตราจารย์ต่างๆ เขาต้องมีผลงานของเขา ถ้าเป็นศาสตราจารย์ไม่มีผลงานเขาจะให้เป็นศาสตราจารย์ได้อย่างไร?
ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าไม่มีเหตุมีผลขึ้นมามันจะเป็นธรรมะขึ้นมาได้อย่างไร? แต่การศึกษา เห็นไหม เวลาศึกษาเราว่านี่เราก็ศึกษาแล้ว เราทำวิทยานิพนธ์แล้ว ทำวิทยานิพนธ์นี้ไปค้นคว้าตามวิชาการตำราของคนอื่นเขา แต่สติตัวจริง สติเป็นเนื้อหาสาระข้อเท็จจริงในหัวใจ สติในตำรามันก็ชื่อว่าสติ สติเราก็พยายามจะทำให้เหมือนกัน เราก็จะทำให้เหมือน
ฉะนั้น เวลาเราเกิดขึ้นมา คนเราเกิดมานี่เกิดมาโดยกรรมนะ กรรมคือการกระทำ แต่คนจำได้แต่กรรมดีๆ ทั้งนั้นแหละ เราทำสิ่งใดไว้ ทุกคนบอกเลยทำบุญกุศลมหาศาลทำไมมันทุกข์ยากขนาดนี้? ทำดีมาขนาดนี้ ทำไมมันทุกข์ยากขนาดนี้ จำได้แต่สิ่งที่ดีๆ ไง แต่สิ่งที่เวลาเราทำเป็นบาปอกุศล เป็นสิ่งที่บาดหมางในหัวใจขึ้นมาเราจำสิ่งนั้นได้ไหม?
เวลาเราเกิดขึ้นมา สิ่งที่เป็นกรรมดี นี่กรรมดีเราเกิดมาเป็นมนุษย์ แต่กรรมสิ่งที่มันมาตัดทอนล่ะ? มันตัดทอนเรา เห็นไหม นี่กัมมะพันธุ กัมมะปฏิสะระโณ กัมมะเป็นเผ่าพันธุ์ กัมมะ เห็นไหม กรรมเป็นที่พึ่ง กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย การกระทำนี่กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย นี้อาศัยขึ้นมานี่โดยกรรม ถ้าโดยกรรมหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกเวลาท่านทำโครงการช่วยชาตินะ ผู้ที่มาฟังท่าน ผู้ที่ทำงานร่วมกับท่านมันเป็นสายบุญสายกรรม
นี่สายบุญสายกรรม กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กัมมะพันธุ กัมมะปฏิสะระโณ เรามีกรรม มีที่พึ่งอาศัย เรามีกรรมร่วมกันมา ถ้ามีกรรมร่วมกันมา นี่เพราะเป็นสายบุญสายกรรมกันมา ถ้าเป็นสายบุญสายกรรมกันมา สิ่งที่ทำขึ้นมานี่กรรม เห็นไหม นี่เข้ากันโดยธาตุ ถ้าคนเข้ากันโดยธาตุนะ ธาตุของใครเข้ากับแบบนั้น แต่นี้ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติ
ประเพณี อริยประเพณี.. ประเพณีวัฒนธรรม เห็นไหม ประเพณีที่เข้มแข็ง ที่ในสังคมนี่ประเพณีที่เข้มแข็ง เราไปทำสิ่งใดที่กีดขวางเขา นี่เขามองกันเลยนะ เอ๊ะ คนนี้ทำไมทำแตกต่างกับสังคมที่เขาประพฤติปฏิบัติกัน นี้ประเพณี
อริยประเพณี ประเพณีของพระอริยเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม เทวดามาถวายบาตร ๔ ใบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ดำรงชีวิตอย่างไร? นี่ไงกำหนดดู องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ปฏิบัติมาอย่างไร? นี่อธิษฐานบาตรให้เหลือใบเดียว ออกบิณฑบาตเป็นวัตร เห็นไหม
ออกบิณฑบาตเป็นวัตรเป็นประเพณีของพระอริยเจ้า นี่ความสะอาดบริสุทธิ์ของมัน ดูสิเราศึกษากันมา เราปริยัติเราศึกษากันมา เราบอกว่าเราต้องมีทานนะ โดยสังคม โดยทั่วไปบอกว่าถ้าเราไม่ทำบุญกุศล เราเกิดในภพหน้าชาติหน้าเรามีสิ่งใด เราจะขัดสน เราจะไม่มีความสุขความสมหวัง พอเราเชื่อปั๊บเราก็ทำบุญกุศลของเรา เราก็ตักบาตร เราก็ตั้งใจหุงหาอาหารมา แล้วนี่ข้าวปากหม้อเราจะใส่บาตรพระ
นี่พระ! พระเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาไม่มีอาชีพ เห็นไหม อาชีพภิกขาจาร พระไม่มีการทำมาค้าขาย พระไม่มีธุรกิจ พระไม่ทำสิ่งใดทั้งสิ้น งานของพระคืองานเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา งานของพระคืองานถากถางหัวใจ นี่เวลาผาล ผาลคือสติ ผาลคือปัญญานี่ไถลงไปในใจ พลิกฟื้นหัวใจขึ้นมา เห็นไหม นี่งานของพระคืองานนั่งสมาธิภาวนา งานของพระคืองานค้นคว้าในหัวใจ แล้วพระต้องมีเครื่องอยู่อาศัย มีปัจจัย ๔
ปัจจัย ๔ เห็นไหม เช้าขึ้นมาต้องออกบิณฑบาต การออกบิณฑบาตนี่ออกบิณฑบาตด้วยอริยประเพณี ประเพณีของพระอริยเจ้า ประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเพณีผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ประเพณีของครูบาอาจารย์เราทำมา นี่เราออกบิณฑบาตเป็นวัตร นี่บริษัท ๔ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากวินัยไว้กับบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ถ้าเมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ของเรายังไม่เข้มแข็ง ยังไม่แก่กล้า ยังไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ ตถาคตจะไม่ปรินิพพาน
จนวันมาฆบูชา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางศาสนาไว้จนเข้มแข็ง
บัดนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะปรินิพพาน
นี่ไงอุบาสก-อุบาสิกาเข้มแข็ง พอเข้มแข็ง นี่เช้าขึ้นมาเราหวังผลของเรา เราทำคุณงามความดีของเรา นี่ใส่บาตร เห็นไหม พระออกบิณฑบาตด้วยภิกขาจาร นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางประเพณีไว้ มันเกี่ยวเนื่องกัน นี่บริษัท ๔ มันเกี่ยวเนื่องกัน เพราะว่าเวลาเราเป็นอุบาสก อุบาสิกา เราก็พยายามหวังผลของเรา แต่อุบาสก-อุบาสิกาที่จะประพฤติปฏิบัติล่ะ?
นี่ถ้ามีความศรัทธา มีความเชื่อ เห็นไหม เราออกบวช ศรัทธาความเชื่อ ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ แต่ความเชื่อจะชักนำให้เข้ามาศึกษา ความเชื่อเป็นหัวรถจักร เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ฆราวาสธรรม สิ่งที่เป็นอริยทรัพย์ของคฤหัสถ์เขาคือความเชื่อ คือศรัทธา ถ้าไม่มีศรัทธาจะไม่มีการค้นคว้า ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการแก้ไข ไม่มีการศึกษา ไม่มีการค้นคว้า ไม่มีการรื้อค้น ศรัทธานั้นลากเข้ามาให้เราศึกษาธรรมะ เห็นไหม นี่อริยทรัพย์ของฆราวาสธรรมเขา นี่คือศรัทธาความเชื่อ ความเชื่อมันก็ต้องมีการตรวจสอบ มีการแก้ไข มีการประพฤติปฏิบัติ
ถ้าเรามีความเชื่อ ความศรัทธา เห็นไหม เราบวชเป็นพระ พอบวชเป็นพระขึ้นมามันมีโอกาสทั้งนั้นแหละ มันเป็นสิทธิเสรีภาพ มันเป็นความเสมอภาค ทุกคนมีโอกาสได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่เป็นพระเป็นเจ้า เห็นไหม เราปฏิบัติขึ้นมา นี่ความกังวลนะ ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านบอก เวลาไปอยู่ไหนก็ไปอยู่ในบ้านเล็กๆ ๒ หลัง ๓ หลังพออาศัยเลี้ยงชีพ อาศัยเลี้ยงชีพเท่านั้น
นี่คฤหัสถ์ของเรา เห็นไหม ดูสิเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พระเราไม่เคยมาฉันข้าวครบทุกวันเลย ทำไมเขาอดอาหารล่ะ? ทั้งๆ ที่สิทธิเสรีภาพมี บิณฑบาตมาก็ได้ฉัน เวลาได้อาหารมาแล้วก็ยังต้องพิสูจน์นะ เวลาจะฉันต้องปฏิสังขาโย พระถ้าเวลาฉันอาหารไม่ปฏิสังขาโย ไม่พิจารณาก่อนฉัน เป็นอาบัติทุกกฎ ปรับอาบัติทันทีเลย นี่เป็นประเพณี เห็นไหม ต้องพิจารณาว่าเราฉันแล้วเพื่อประโยชน์อะไร
เราฉันขึ้นมาเพื่อดำรงชีวิต เราฉันขึ้นมานะ แล้วเวลาฉันขึ้นมาแล้วนี่ธาตุขันธ์ เข้ากันโดยธาตุ ถ้าเข้ากันโดยธาตุ ถ้ามันชอบ ถ้าธาตุมันชอบ แล้วใจมันชอบไหมล่ะ? ธาตุขันธ์ทับจิต เวลาคนภาวนาไปแล้วนะ เวลาเรามีศรัทธา เรามีความเชื่อ เราศึกษาแล้ว นี่พอศึกษาขึ้นมา โดยทางโลกถ้าเรากินอิ่มนอนอุ่นคือความสุข เรามีความมั่นคงในชีวิตคือความสุข คือความมั่นคงในชีวิต แต่เวลามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ความมั่นคงของชีวิต ชีวิตมั่นคงตรงไหน?
คนเราเกิดมานี่ตายหมด เกิดมามีคุณงามความดีอะไรติดไม้ติดมือไป ถ้าความมั่นคงของชีวิต จิตเวลามั่นคงของชีวิตชาติหนึ่ง เวลาตายไปแล้วก็เวียนตายเวียนเกิด ผลของวัฏฏะ แต่จิตถ้าเวลามันพิจารณาของมัน มันแก้ไขของมันขึ้นมา เป็นโสดาบันอีก ๗ ชาติ เป็นสกิทาคามีอีกชาติเดียว แล้วเป็นพระอนาคามีไม่ต้องมาเกิดอีกแล้ว ถ้าเป็นพระอรหันต์มั่นคงไหม? จิตที่ไม่เวียนตายเวียนเกิด มั่นคงกว่าชีวิตเราที่เวียนตายเวียนเกิดนี้ไหม?
นี่ถ้าความมั่นคงของชีวิต ความมั่นคงของจิตที่มันพ้นจากกิเลสไปเขาทำอย่างไรของเขา เขามีสติปัญญาของเขา เห็นไหม สติปัญญาของเขา นี่การขบการฉันมันแค่รสชาติ แค่รสของอาหาร แต่รสของธรรม รสของสมาธิธรรม รสของสติ รสของปัญญาที่เห็นโทษของมัน พอเห็นโทษของมัน เวลาฉันอาหารเข้าไปแล้วไปนั่งสัปหงกโงกง่วง ในการปฏิบัติของเรา ทุกคนอยากได้สมาธิ อยากได้ปัญญา แล้วสมาธิ ปัญญามันมาจากไหน?
ทุกคนบอกว่าปฏิบัติอยากได้สมาธิ อยากได้ปัญญา แล้วอยากได้สมาธิ ปัญญาขึ้นมา กินเป็นหมูแล้วจะได้สมาธิหรือ? ความเป็นสมาธิ มีปัญญาขึ้นมาเขาต้องทอนใช่ไหม? นี่เห็นไหม เราเปิดโอกาส ทุกคนขอโอกาส ทุกคนอยากให้มีโอกาสในการแก้ไข ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่จิตใจมันเรียกร้องขอโอกาส แต่ด้วยความเซ่อ ด้วยความเซ่อของมัน เห็นไหม นี่ทับถมเข้าไปด้วยธาตุขันธ์ ธาตุขันธ์ทับลงไปในหัวใจ เราก็บอกเรากินอาหารเพื่อดำรงชีวิตๆ
ดำรงชีวิตนี้อย่างหนึ่งนะ ดำรงชีวิตนี่แค่พออยู่ได้ แต่ถ้ามันมากเกินไป เห็นไหม มันทับ พอมันทับขึ้นมามันก็ภาวนาไม่ได้ ฉะนั้น เวลาถ้าเราต้องการสมาธิ เราต้องย้อนกลับมาดูเริ่มต้นไง คือว่าโอกาสไง ทุกคนต้องการโอกาสใช่ไหม? เราก็ย้อนกลับมาว่าชีวิตนี้มันก็อยู่ได้แล้ว แล้วไขมัน แล้วสิ่งที่เป็นพลังงานที่มากเกินไป นี่ทางการแพทย์เขาก็รู้
เมื่อก่อนนะเวลาเราทุกข์เรายากกัน เด็กนี้เป็นโรคขาดอาหาร ในปัจจุบันนี้เราดูแลเด็กกันจนเด็กเป็นโรคอ้วน โรคขาดอาหารก็ให้เด็กขาดอาหาร โรคอ้วนมันก็เอาโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาสู่ร่างกายนั้น นี่ทางโลกเขายังพิสูจน์ได้ แล้วเวลาจิตใจ จิตใจถ้ามันปลอดโปร่ง ถ้ามันมีของมัน เห็นไหม นี่ถ้าเรามีสติยับยั้ง
ถ้าโลกเขาเป็นอย่างหนึ่ง ข้อมูลข่าวสารทางโลกเราต้องทันนะ ถ้าใครประกอบธุรกิจต่างๆ ข้อมูลข่าวสาร นั่นน่ะคือการแพ้ชนะกัน แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ข้อมูลข่าวสารทำให้จิตใจนี้ฟู ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องของโลกเขา ข้อมูลของเราสิเวลาหลวงตาท่านพูด เห็นไหม ได้ยินข้อมูลของพระอรหันต์สำเร็จที่นั่น มีแต่ข้อมูลของคนอื่น ข้อมูลของเราไม่มี แต่ถ้าเรามีสติ เรามีสมาธิ นี่ข้อมูลของเราเรารู้เอง ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก
ถ้าปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เห็นไหม ธาตุ ธาตุขันธ์นะ ธาตุขันธ์เป็นฝ่ายดี สัมมาทิฏฐิ สิ่งนั้นเข้ากันโดยธาตุ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ลูกศิษย์ของพระสารีบุตร นี่เข้ากันโดยธาตุ ลูกศิษย์ของพระสารีบุตรนี้ปัญญาหมดเลย ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะนี่ฤทธิ์หมดเลย ลูกศิษย์ของเทวทัตลามกหมดเลย
นี่ไงเพราะมันเข้ากันโดยธาตุ มันชอบ มันรู้มันเห็นแล้วมันดูดดื่ม แต่ถ้าธาตุมันเห็นนะ มันเห็นแล้วมันโต้แย้ง มันผลักไสนะ สิ่งนี้ไม่ใช่ สิ่งนี้ไม่ใช่ มันผลัก ธาตุมันไม่รับ นี่ธาตุเฉยๆ นะ แล้วถ้ามีปัญญาล่ะ? ปัญญามันยังแยกแยะของมันนะ นี่เข้ากันโดยธาตุ ทีนี้เข้ากันโดยธาตุ เราธาตุกิเลสหรือธาตุธรรมล่ะ? ถ้าธาตุธรรมเราก็ต้องแก้ไขนะ พอธาตุธรรมขึ้นมา เห็นไหม ปัญญาทางโลกเขารู้กับเราไม่ได้นะ
เราได้ยินบ่อย เขาพูดกันมากเลย ว่าเขาอยู่กันทางโลกมีความสุข พระอยู่โดยความสุขได้อย่างไร? อดๆ อยากๆ ทุกข์ๆ ยากๆ เขาให้มาแล้วยังมักน้อยสันโดษ ได้มาแล้ว สันโดษมาแล้วยังมักน้อยอีกเอาแต่พอประมาณ นี่เอาแต่พอประมาณ เราพูดบ่อยนะ คนจนผู้ใหญ่คือหลวงตาของเรา มีบริขาร ๘ เท่านั้น มีสมบัติส่วนตัวคือบริขาร ๘ แต่ท่านได้ช่วยเหลือเจือจานสังคม ช่วยเหลือเจือจานโลก แล้วได้ปลอบขวัญนะ ปลอบขวัญเวลาคนทุกข์คนยาก
เวลาคนจิตใจขวัญไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ท่านได้ปลอบขวัญ ท่านเป็นหลักชัยของเรา ท่านสร้างประโยชน์กับเรามหาศาล คนจนผู้ยิ่งใหญ่นะ ไม่มีสมบัติส่วนตัวเลย สมบัติส่วนตัวไม่มี แต่ทำเพื่อประโยชน์กับสังคม เห็นไหม นี่คนจนผู้ยิ่งใหญ่ แต่ท่านเป็นเศรษฐีธรรม หัวใจท่านเป็นธรรมใช่ไหม? ฉะนั้น สิ่งที่เป็นธรรมเรามองที่นั่น
เขาบอกว่าพระจะอยู่มีสุขๆ จะเป็นไปได้อย่างไร? อดๆ อยากๆ ทุกข์ๆ ยากๆ อยู่ก็ไม่มีความสุขอะไรเลย มันจะมีความสุขมาจากไหน?
สุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี
ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ สิ่งใดก็แล้วแต่มันเป็นภาระรุงรังทั้งนั้นแหละ สิ่งที่เราหามาต้องมีการบำรุงรักษา การบำรุงรักษานี่มันต้องใช้ต้นทุน ต้นทุนเราก็ต้องแสวงหา เราแสวงหามาเลี้ยงชีพก็ทุกข์อย่างหนึ่งแล้ว เรายังต้องแสวงหามาเพื่ออำนวยความสะดวก อำนวยความสบาย มันวุ่นวายไปหมดเลย แต่โลกเขาเป็นแบบนั้น
เราอยู่กับโลกนะเราไม่ปฏิเสธเขาหรอก ทุกคนปฏิเสธโลกไม่ได้หรอก พระบอกว่าพระไม่ต้องการสิ่งใดเลย ทำไมพระยังต้องอาศัยปัจจัย ๔ ล่ะ? เหมือนกัน เราไม่ใช่ว่าปฏิเสธสิ่งนั้น แต่เวลาพูดถึงธรรมะไง ธรรมะคือปัญญา ธรรมะคือมุมมอง ให้มีปัญญา ให้มีมุมมอง ว่าเรามองอย่างนั้นแล้วเราเป็นทาสมันไหม?
เราจะเป็นทาสเขา หรือเราจะเป็นเจ้านายเขา เราเป็นเจ้านายเขา เราใช้สอยเขาด้วยจิตใจที่มั่นคง เราเป็นทาสเขา เราใช้สอยแล้วเราก็พะว้าพะวง จิตใจอ่อนไหว จิตใจต้องหาสะสม จิตใจเป็นทุกข์เป็นยาก เห็นไหม เวลาธรรม ธรรมเป็นแบบนี้ ธรรมคือใช้ปัญญามองชีวิตอย่างใด? มองความเป็นอยู่อย่างใด? มองสิ่งต่างๆ อย่างใด? ถ้าจิตใจมันมีปัญญา มันมองแล้วเราจะไม่ตื่นเต้นไปกับเขา
อยู่กับโลกโดยไม่ติดโลก เอวัง