เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๒ พ.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาฟังธรรมนะ สิ่งที่มันสะเทือนใจ คำว่าสะเทือนใจนี่ทำให้เราได้ยั้งคิด ถ้าเราไม่ได้ยั้งคิด คิดสิ่งใดเราจะถลำไปอย่างนั้นนะ ฉะนั้น ทำไมต้องฟังธรรม?

ถ้าฟังธรรม เห็นไหม สิ่งที่ได้ยินได้ฟังอยู่แล้วมันตอกย้ำไง ถ้าไม่ตอกย้ำ เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ เวลาเราออกไปธุดงค์ ออกไปวิเวกกลับมา หรือใครก็แล้วแต่ ถ้ามันหงอยเหงานะจะไปหาครูบาอาจารย์ ไปทำไม? ไปช็อตไง ไปฟื้นฟูไง ไปให้ท่านเอ็ดนั่นแหละ พอท่านเอ็ดขึ้นมามันทำให้เราตื่นตัว

นี่ก็เหมือนกัน สังเกตได้ไหม? ถ้าเรามีพ่อมีแม่อยู่เราอุ่นใจนะ ถ้ามีพ่อมีแม่อยู่ ทำสิ่งใดเราก็อุ่นใจ แต่ถ้าไม่มีพ่อไม่มีแม่แล้วนี่ เราจะต้องเป็นตัวของเราเองแล้วนะ ถ้าเราเป็นตัวของเราเอง เจอสิ่งใดขึ้นมาเราต้องปลอบใจเราเอง ไม่มีใครปลอบใจเราแล้วแหละ แต่ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเรามีความทุกข์ใจขึ้นมา เราไปหาพ่อหาแม่ อย่างไรพ่อแม่ก็ต้องปลอบใจเรา

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ถ้าเราเคารพท่าน เห็นไหม สิ่งใดมันเป็นที่พึ่งนะ หัวใจมันก็อบอุ่น แต่ถ้าไม่มีท่านแล้วนะ เราก็ต้องยืนโดยตัวของเราเอง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราโตขึ้นมา นี่ถ้าเรามีพ่อมีแม่ สิ่งที่ปลอบใจนั้นก็คือท่านแสดงธรรมนั่นล่ะ แสดงธรรม นี่ฟังธรรมตอกย้ำๆ แล้วมันจะฟังได้ไหม? เวลาในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม

“การฟังธรรมนี้แสนยาก”

การฟังธรรมนี้แสนยากเพราะอะไร? เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นั้นคืออะไร? นั้นคือโลกไง โลกคือทางวิชาการ โลกคือตรรกะ โลกคือปรัชญาที่โลกคิดกันได้ มันไม่เป็นธรรมตามความจริงขึ้นมาได้หรอก แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม แล้วเวลาแสดงธรรมนี่แสดงธรรมมาจากไหน? แสดงมาจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักรแล้ว พระอัญญาโกณฑัญญะนี่ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ นั่นล่ะผู้ที่สืบทอด เห็นไหม ถ้าผู้ที่สืบทอด ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรม อย่างเช่น พระสารีบุตรเป็นผู้ที่มีปัญญาเลิศที่สุด รองจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมแล้ว ถ้าใครฟังไม่เข้าใจก็ไปถามพระสารีบุตร พระสารีบุตรท่านจะขยายความนะ เวลาพระสารีบุตรเทศนาว่าการ คนฟังจากพระสารีบุตรก็ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่า

“พระสารีบุตรพูดอย่างนี้ถูกหรือเปล่า?”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเราเทศน์ เราก็เทศน์อย่างนี้”

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับรองพระสารีบุตรประจำ บอกว่า

“ถ้าเราแสดงธรรมเราก็แสดงอย่างพระสารีบุตรนั่นแหละ” เห็นไหม

สัจจะมีอันเดียว สัจจะมีหนึ่งเดียว นี่พระสารีบุตรเป็นผู้ที่มีปัญญาเลิศที่สุด ฉะนั้น สิ่งที่เวลาพระสารีบุตรเทศนาว่าการไปแล้ว คนฟังไม่เข้าใจก็ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาคนฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เข้าใจก็ไปถามพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ขยายความ

นี้มีอยู่ในพระไตรปิฎกนะ ไปเปิดพระไตรปิฎกดูสิ เวลาเทศน์แต่ละกัณฑ์ พระพุทธเจ้าเทศน์กับใคร? ถ้าพระพุทธเจ้าเทศน์กับพระสารีบุตร นั่นแหละธรรมล้วนๆ เลย ถ้าพระพุทธเจ้าเทศน์กับใคร? มีอยู่อันหนึ่ง เห็นไหม พระสารีบุตรที่ว่าไปเทศน์ฆราวาสมา แล้วไปบอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“วันนี้ได้ไปเทศน์สอนฆราวาสมา ฆราวาสเขาฟังแล้วเขาได้เป็นพระอนาคามี”

นี่ไงพระพุทธเจ้าบอกว่า “ทำไมเธอเทศน์ต่ำทรามขนาดนั้น? ทำไมเธอไม่เทศน์ให้เขาสิ้นสุดแห่งทุกข์ไป?”

พระอนาคามีนะ ดูสิ นี่เราจะบอกว่าถ้าเป็นพวกเรา พระอนาคามีนี่มันก็อู๋ย สุดขอบฟ้า เราได้โสดาบันเราก็ดีใจตายแล้ว อย่าว่าแต่ได้พระอนาคามีเลย พระโสดาบันก็เป็นสุดยอดของเราอยู่แล้วใช่ไหม? แต่เวลาพระสารีบุตรเทศน์ นี่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ พระสารีบุตรไปเทศนาว่าการจนฆราวาสเขาได้เป็นพระอนาคามี นี่ก็ไปรายงานผลงานไง รายงานผลงานกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่านี่ไปเทศนาว่าการมาจนฆราวาสเป็นพระอนาคามีนะ

พระพุทธเจ้าบอกว่า “เธอทำไมเทศน์ต่ำทรามขนาดนั้น? เธอทำไมไม่เทศน์ให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ให้พ้นไปล่ะ?” โอ๋ย ถ้าเป็นพวกเราก็ช็อกเลยนะ เอาผลงานไปเสนอ หงายท้องมาเลย

นี่ไง นี่พูดถึงนักปราชญ์กับนักปราชญ์คุยกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่นักปราชญ์นะ ผู้รู้จริงกับผู้รู้จริง เห็นไหม สิ่งนี้ถ้าเรามีอยู่ เรามีครูบาอาจารย์อยู่ เรามีพ่อแม่ของเราอยู่ เราก็อบอุ่นของเราอยู่ แต่เราก็ต้องขวนขวายนะ เราต้องพยายามทำของเราขึ้นมา พ่อแม่เรานะจะพอใจก็ต่อเมื่อลูกของเรายืนได้ในสังคม ลูกเราประสบความสำเร็จแค่นี้แหละ ลูกเราอยู่โดยมีความสุข พ่อแม่ก็พอใจแล้ว

นี่ถ้าพ่อแม่พอใจนะ เห็นไหม เวลาทางครู เขาบอกเขาเป็นเรือจ้างส่งลูกศิษย์ขึ้นฝั่ง ครูบาอาจารย์ของเราก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเรา นี่พ่อแม่ครูจารย์นะ ทั้งสั่ง ทั้งสอน ทั้งดู ทั้งแล ทั้งอบรม ทั้งบ่มนิสัย นิสัย เห็นไหม เราขอนิสัย เวลาเราไปนี่พระต้องขอนิสัย ถ้าได้นิสัยมา พระเราจะดีจะเลวนะ ตรงนี้สำคัญมาก สำคัญที่ว่าปฏิปทาเครื่องดำเนิน ถ้าขอนิสัยแล้ว ถ้าได้ขอนิสัย

ถ้าไม่ได้ขอนิสัยนะ เราเคยอยู่กับหลวงปู่ลี นี่เวลาหลวงปู่ลีท่านอยู่ มีพระมาอาศัยท่านเยอะมากเลย แล้วไม่ได้ขอนิสัย พอไม่ได้ขอนิสัย หลวงปู่ลีท่านเก็บบริขารท่านมาเลยนะ มาวางไว้ แล้วประชุมสงฆ์ แล้วก็เทศน์ไง

“พวกท่านมานี่พวกท่านไม่ขอนิสัย พวกท่านไม่ขอนิสัยผมก็สอนไม่ได้ ผมก็ดูแลไม่ได้ ฉะนั้น พวกท่านอยู่ซะผมจะไป”

เก็บบริขารแบกไปเลย โอ๋ย พระนี่ช็อกหมด เห็นไหม นี่ผู้ที่รู้ จิตใจที่เป็นธรรม ถ้าเราเป็นธรรมนะ เราอ่อนน้อมถ่อมตน เราขอนิสัยท่าน การขอนิสัยคือการเปิดโอกาสให้ท่านสั่งสอนเรา ถ้าไม่ขอนิสัย เวลาสั่งสอนไป นี่เวลาพูดเขาบอกว่าอย่างเรานี่ดื้อดึง ไม่เชื่อฟังครูบาอาจารย์ เราบอกว่าอาจารย์นี่เราเชื่อฟัง แต่เราไม่เชื่อฟังเอ็งน่ะ เพราะกูไม่ได้ขอนิสัยเอ็ง เอ็งไม่ต้องมาบอกกูหรอก กูฟังอาจารย์กู

นี่การขอนิสัยคือการเปิดให้ครูบาอาจารย์สั่งสอน นี่การขอนิสัย เราขอนิสัยแล้ว ถ้าขอนิสัยแล้วจะลงค้อน ลงดาบ จะลงไม้หน้าสาม เราก็รับกันได้เพราะเราขอนิสัย แต่ถ้าเราไม่ได้ขอนิสัยนะท่านจะเอ็ด จะว่าไป มันก็ไม่เต็มไม้เต็มมือนะ ฉะนั้น เวลาขอนิสัย นี่พระเราจะดีจะเลวถ้าขอนิสัย เราได้นิสัยมา

แต่ได้นิสัยมา ดูสิดูเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เห็นไหม พระอรหันต์ ๘๐ องค์เอตทัคคะเลิศคนละทาง คำว่าเลิศคนละทางนี่นิสัยแตกต่างกัน พระโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์เดช พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นผู้รู้ราตรีนาน พระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญา พระอุบาลีเป็นผู้ทรงวินัย เห็นไหม ถ้าพระมีปัญหาขึ้นมาจะตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ก็พระอุบาลีเป็นประธาน

นี่เลิศคนละทาง เลิศคนละทางคือจริตนิสัย เรียกว่าขอนิสัยๆ แล้วจะให้เหมือนกันนะ คำว่าขอนิสัยคือถ้าเรามีรูปแบบ เรามีครูบาอาจารย์เป็นคนชี้นำเรามา แต่นิสัยของเรา สันดานของเรา ความเป็นไปของเราที่เราสร้างสมมา มันก็เป็นนิสัยของเรา แต่นิสัยของเรานี่มันเป็นนิสัยของเรา กิเลสมันครอบงำอยู่ เห็นไหม

เวลาขอนิสัยครูบาอาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์เรามั่นใจของเราว่าท่านสะอาดบริสุทธิ์ พอท่านสะอาดบริสุทธิ์ ท่านจะสั่งสอนเรา ท่านเป็นแบบอย่างใช่ไหม? เราก็พยายามปรับของเรา ปรับเพื่ออะไร? ปรับเพื่อจะฆ่ากิเลส ปรับเพื่อจะให้สิ่งที่มันเห็นแย้ง สิ่งที่มันโต้แย้งในใจเรา ให้มันได้มีการบ่มเพาะด้วยมรรคญาณ ด้วยทำลายมัน พอทำลายมันเสร็จแล้ว พอทำลายเสร็จ

พระฉันนะเป็นผู้ที่เอาพระพุทธเจ้าออกบวช แล้วพระฉันนะนี่ถือตัวถือตนมาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน จะไปนั่งอยู่หน้ากุฏินะ ใครจะเข้าไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องผ่านเขาก่อนๆ นี่ผ่านเขาก่อนไง จนพระนี่เอือมระอากันไปหมดนะ ทีนี้เวลาเข้าไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านจะปรินิพพาน สั่งพระอานนท์ไว้ว่า

“ถ้าเรานิพพานแล้ว ให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ”

เพราะฉันนะถือตัวถือตน ดื้อดึงมาก ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นของตัวไง เพราะถือว่าเอาพระพุทธเจ้าออกบวช เห็นไหม เวลาบวชแล้วก็ไปนั่งเฝ้าอยู่หน้ากุฏิ ใครจะเข้าไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องผ่านพระฉันนะก่อน ทีนี้พอลงพรหมทัณฑ์ พอลงพรหมทัณฑ์เสร็จพระฉันนะเสียใจมาก

สมัยพุทธกาล เรื่องศีลธรรม จริยธรรม สูงส่งมาก ถ้าใครมีสิ่งใดเขาจะมีแบบว่าลงโทษโดยสังคม เขาจะเสียใจมาก พอเสียใจมากก็หนีไง หนีออกจากหมู่คณะไปเพื่อประพฤติปฏิบัติ เพราะว่ามาส่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบวช เห็นไหม บุญกุศลก็มี ประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ

นี่เวลาอยู่ด้วยกันตอนที่ยังทิฐิมานะอยู่ ถือตัวถือตนมากว่าพระพุทธเจ้าเป็นของเรา เพราะมีเราถึงมีพระพุทธเจ้า ใครจะมาหาพระพุทธเจ้าต้องผ่านเราก่อน นี่ถือตัวตนมาก แต่นี้ถือตัวตนด้วยทิฐิมานะ ฉะนั้น เวลาพระอานนท์ได้รับคำสั่งจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ลงพรหมทัณฑ์ พอลงพรหมทัณฑ์ ด้วยความเสียใจ เห็นไหม เพราะลงพรหมทัณฑ์ก็ขออำนาจต่อสงฆ์ ถ้าอยู่กรรมแล้วยอมรับความเป็นจริงก็เข้ากับสงฆ์ได้ แต่นี้ด้วยทิฐิมานะก็เข้าป่าไป เข้าป่าไปประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ พระฉันนะก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน พอเป็นพระอรหันต์นี่กลับมาหาพระอานนท์ บอกว่าจะมาให้ลงโทษ จะลงทัณฑ์แก้สิ่งที่ตัวเองมีโทษบาปไว้ พระอานนท์บอกว่าไม่มี จบแล้ว พอเป็นพระอรหันต์นะ พอจิตสิ้นกิเลสไปมันไม่มีสิ่งใดจะต้องแก้ไขอีกแล้ว

นี่ไงปาปมุตๆ เห็นไหม ที่ว่าเป็นปาปมุตๆ มันไม่มีโทษมีภัยกับจิตดวงนั้นอยู่แล้ว ฉะนั้น สิ่งที่ลงพรหมทัณฑ์ไป ขณะลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะยังมีทิฐิมานะอยู่ พระฉันนะเข้าป่าไปเพื่อปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว กลับมานี่พรหมทัณฑ์นั้นมันก็หมด มันไม่มีแล้ว ทุกอย่างไม่มีเลย นี่ไม่ต้องทำ เห็นไหม

ฉะนั้น จะบอกว่าเวลาเราขอนิสัยๆ กันอยู่นี่ เราขอนิสัยเพื่อจะมาดัดแปลงแก้ไขนิสัยของเรา แก้กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรา อยู่ที่ครูบาอาจารย์นั่นแหละเป็นแบบเป็นอย่าง แล้วเราพยายามดัดแปลงเรา ดัดแปลงเราไง ถ้าจะเอานิสัยเรา นิสัยเราก็ดื้อด้าน นิสัยเราก็เอาแต่ใจ นิสัยเรา เราว่าเราถูกทั้งนั้นแหละ

อ่านพระไตรปิฎกมาจนหัวผุหมดแล้ว พระไตรปิฎกท่องได้ทุกคำเลย สอนได้ทุกอย่าง บอกได้หมดเลย พระพุทธเจ้าบอกอะไรก็บอกได้ พระพุทธเจ้าพูดอะไรก็พูดได้ พูดได้หมดเลย รู้หมดเลยพระพุทธเจ้าพูดอะไร แต่กิเลสเต็มหัว เห็นไหม เพราะอะไร? เพราะไม่มีนิสัย ไม่มีการกระทำ ถ้าได้นิสัยขึ้นมา นี่พอมันดัดแปลงขึ้นมา พอดัดแปลงจบแล้ว ดูสิพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอัญญาโกณฑัญญะ ต่างๆ เอตทัคคะคนละทางๆๆๆ

นี่นิสัยเดิม ผู้ที่พ้นกิเลสแล้วดัดนิสัยได้ด้วยมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่โดยเลิศที่สุด เลิศทุกอย่าง เพราะสร้างบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ขณะที่บ่มเพาะมาขนาดนั้น ทำไมจะไม่เลิศขนาดนั้น สาวก สาวกะ เห็นไหม ดูสิสาวก สาวกะ ในพระไตรปิฎกบอกว่าอย่างน้อยแสนกัปถึงเป็นพระอรหันต์ได้ นี่แสนกัป แต่ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยมันแตกต่างกันเยอะมาก

ฉะนั้น มีที่แก้นิสัยได้องค์เดียว มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียว แม้แต่พระสารีบุตร เห็นไหม เวลาคนปรารถนามากว่าเป็นอัครสาวกเบื้องขวาต้องเนี๊ยบเลย ต้องเหมือนพระพุทธเจ้าหมดเลย ทีนี้เวลาได้รับกิจนิมนต์จะไปบ้านเขา ชาวบ้านเขาก็ โอ๋ย พระสารีบุตรมาวันนี้ต้องชื่นใจมาก พระสารีบุตรมานี่เป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นพระสารีบุตรกระโดดข้ามคลอง นี่มันไปตามร่องสวน กระโดดข้ามร่องสวน ใจตกหมดเลย ทำไมกิริยามารยาทเป็นอย่างนั้น? สุดท้ายจนทนไม่ไหวนะ ทนไม่ไหว พอเสร็จงานแล้วนี่มาส่งแล้ว ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“ทำไมพระสารีบุตรเป็นอย่างนั้น? ทำไมกระโดดข้ามคลอง?”

“เธออย่าว่าอย่างนั้น” พระพุทธเจ้ารับประกัน เห็นไหม

“นี่อัครสาวกเบื้องขวา กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจมันไม่มี แต่นิสัยของเขา ชาติหนึ่งเขาเคยเป็นลิงมา”

สิ่งที่เป็นลิงมา ชาติหนึ่งเคยเป็นลิงมา นี่มันมีฝังในหัวใจมา เป็นอย่างนั้นมา ดูสิ ดูพระที่ว่าสันตกาย เห็นไหม สงบเสงี่ยม เรียบร้อยมากเลย จนทุกคนเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์นะ ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ไม่ใช่ เมื่อ ๕๐๐ ชาติเขาเคยเกิดเป็นราชสีห์มา เกิดเป็นราชสีห์เขาสงบเสงี่ยมมาอย่างนั้นจนเป็นนิสัย ไปไหนสงบเสงี่ยม เรียบร้อยมาก แต่กิเลสเต็มหัวใจ! กิเลสเต็มหัวใจ เห็นไหม แต่เรากันแต่รูปแบบภายนอก

ฉะนั้น นิสัย คำว่านิสัย เราบอกถ้าขอนิสัยแล้วนะ พออยู่กับครูบาอาจารย์แล้วนะ เหมือนทองชุบเลย ไปขอนิสัยแล้ว แล้วนิสัยก็จะห่มตัวเราเลยมันก็ไม่ใช่ การขอนิสัย แค่ให้โอกาสว่าท่านสั่งสอนเรา ให้ท่านสับ ท่านโขก ท่านจะลงไม้หน้าสาม จะลงค้อนได้ทั้งนั้นแหละ เพราะเราเปิดโอกาสแล้ว เราขอนิสัย เราฝากตัวเป็นลูกศิษย์

นี่ไงการขอนิสัย แต่มันจะได้ผลมาไม่ได้ผลมา อยู่ที่การกระทำของเรา อยู่ที่มรรคญาณของเรา อยู่ที่ปัญญาของเรา เราจะทำของเราได้หรือไม่ได้มันอยู่ที่ปัญญาของเรา ถ้าได้ขึ้นมาครูบาอาจารย์ก็ปลื้มใจนะ เราพูดบ่อย เวลาคนถามว่า เห็นไหม เราพูดถึงหลวงตาเวลาขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นว่า “เออ จิตมันไม่ตาย ๕ อัตภาพเว้ย”

เราซึ้งใจ เพราะเวลาพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปลื้มใจมาก เพราะว่าเวลาแสดงธรรมไปแล้วมีคนมีดวงตาเห็นธรรม คือสงฆ์องค์แรกเกิดขึ้น นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแบบปลื้มใจ พอปลื้มใจนี่ว่าอัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ คือเราทำผลงานแล้วผลงานเราประสบความสำเร็จ

หลวงตาเวลาท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม บอกว่านี่นั่งไปตลอดรุ่ง พิจารณาเวทนา เวทนาหมดเลย จิตมันลงเต็มที่ขนาดนั้น นี้เวลาหลวงตาท่านรายงานนะ พอรายงานจบท่านก็ก้มหัวลงฟังเลยว่าหลวงปู่มั่นจะว่าอย่างไร?

“เอ่อ! จิตคนมันไม่ตาย ๕ อัตภาพ”

คือจิตคนมันเวียนตายเวียนเกิด มันไม่มีต้นไม่มีปลายใช่ไหม? แต่นี้มันได้หลักแล้ว มันไม่เกิดไม่ตาย มันไม่เคยตายมากไปกว่านั้นเว้ย นี่คือว่าหลวงปู่มั่นท่านปลื้มใจมาก ท่านดีใจมาก ท่านดีใจกับหลวงตาไง แล้วท่านก็บอกว่าไอ้ตาย ๕ อัตภาพมันเกี่ยวอะไรกับธรรมะล่ะ? ไม่ใช่ มันเป็นคำอุทาน หลวงปู่มั่นท่านอุทานออกมา ท่านปลื้มใจท่านก็อุทานออกมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม นี่ท่านก็อุทาน “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” นี่ท่านปลื้ม คำว่าปลื้มใจ สุขใจ ระหว่างครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์ที่ประสบความสำเร็จ มันดีใจ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับพระไตรปิฎกล่ะ? เขาบอกแล้วมันเข้ากับพระไตรปิฎกตรงไหน? มันเข้ากับข้อไหนๆ ไอ้ข้อนั้นมันเป็นทางวิชาการ แต่ไอ้ความสุขใจ ความปลื้มใจ อย่างนั้นมันเป็นผลสำเร็จ เป็นคำอุทาน เป็นความดีใจ ความดีใจเพราะประสบความสำเร็จ

นี่พูดถึงว่าครูบาอาจารย์นะ นี่หัวใจ เห็นไหม ศาสนทายาท สั่งสอนกัน ดูแลกัน เพื่อความมั่นคงของศาสนา ถ้าศาสนามันมั่นคงที่นี่ ทุกอย่างก็มั่นคง มั่นคงที่ไหน? มั่นคงที่หลักการ นี่ตัวบุคคลส่วนตัวบุคคล ระบบ ระบอบ ถ้ามั่นคงแล้วทุกอย่างมันจะมั่นคง ถ้ามั่นคงขึ้นมา นี่เรามีครู มีอาจารย์ เราขอนิสัยครูบาอาจารย์ แล้วครูบาอาจารย์ท่านมองนะ ท่านเฉยๆ นี่ท่านมีความสุขแล้วล่ะ ไม่ต้องไปออด ไปอ้อน ไปฉอ ไปเลาะ ไม่ต้องหรอก เราทำความดีนั่นแหละ ท่านเห็นแล้วท่านก็ อืม ท่านก็สุขใจของท่าน

จะบวชพระต้อง ๒๐ ปีขึ้นนะ คนอายุ ๒๐ ปีขึ้นไปจะเป็นเด็กๆ อยู่หรือ? ๒๐ ปีถึงบวชพระได้ แล้วพระบวชแล้วถ้าปฏิบัติขึ้นมา ในหัวใจมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันจะล้มลุกคลุกคลาน มันจะเหลวไหลขนาดนั้นเชียวหรือ? ถ้ามันไม่เหลวไหลมันก็ต้องมีหลักการ ถ้าไม่เหลวไหลครูบาอาจารย์ก็ปลื้มใจใช่ไหม? นี่ไงมั่นคง นี่มั่นคงที่นี่

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดกับพระ เห็นไหม

“นี่ให้มันฝึกมันหัดมัน เวลาไปจะได้มีข้อวัตรติดหัวมันไป”

ข้อวัตรคือวัตรปฏิบัติ คือการขอนิสัย ถ้ามีข้อวัตรติดหัวมันไป มันจะมีหลักมีเกณฑ์ของมัน จะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ไง ถ้าเขาสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ ใครสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ คนนั้นก็มีความสุข คนนั้นก็เป็นคนดี เห็นไหม

นี่ไงครูบาอาจารย์เวลาสอน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนนี่สอนเพื่ออะไร? รื้อสัตว์ขนสัตว์ไง ปลื้มใจเพราะสัตว์ตัวนั้น ใจดวงนั้น ผู้ปฏิบัตินั้นมันจะได้ผลของมัน ไม่ได้หวังผลอะไรเลย หวังผลที่ใจดวงนั้นมันได้ของมัน ใจดวงนั้นมีความสุขของมัน ใจดวงนั้นพ้นจากทุกข์ของใจดวงนั้น เอวัง