เทศน์เช้า วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ด้วยเจตนา ด้วยความหวัง เราก็ว่าเจตนาเราทำบุญกุศล เจตนาของเรา เห็นไหม แต่เจตนาของเรา เราอยู่ในที่รโหฐานของเรา อยู่ในบ้านของเรา มันเป็นบ้านของเรา เราทำจนเคยชิน พอความเคยชิน พอเราไปที่สาธารณะ ถ้าที่สาธารณะเป็นที่รวมของบุคคลต่างๆ ตรงนั้นมันเป็นที่ว่าเราจะต้องสำรวมกิริยาแล้ว เห็นไหม เวลาเราไปวัด เวลาหลวงตาท่านสอนพระนะ
ใครจะไปอยู่วัดป่าบ้านตาด ต้องถอดเล็บถอดเขี้ยวไว้ที่ประตูนะ อย่าเอาเข้ามาด้วย
ถ้าใครเอาเล็บเอาเขี้ยวเข้ามาด้วย มาอยู่ด้วยกัน ธรรมดาใช่ไหมเราก็หยอกกัน เราก็เล่นกันด้วยความคุ้นชิน พอมีเขี้ยวมีเล็บเดี๋ยวมันก็ตะปบกัน ท่านบอกว่าใครเข้ามาต้องเอาเขี้ยวเอาเล็บถอดไว้ที่ประตูนะก่อนเข้าวัดป่าบ้านตาด แล้วเข้ามาแล้วเรามาฝึกหัดของเรา
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพระจะเข้าไปยังต้องถอดเขี้ยวถอดเล็บ แต่ถ้าพูดถึงเราไปวัด เห็นไหม เราก็ต้องเคารพสถานที่ การเคารพสถานที่ คำว่า เคารพนั้นคืออะไร? เคารพนั้นคือกิริยามารยาท เห็นไหม นี่ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี กิริยามารยาทมันออกมาจากหัวใจ ถ้าหัวใจแสดงออกมา กิริยาแสดงออก เวลาพระเขาดูกัน เขาก็ดูกิริยานี่แหละ
หลวงตาท่านบอกว่า เวลาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นท่านจะตรวจสอบพระ ท่านตัดสบง ๕ ขันฑ์ แล้วก็ให้พระคนละขันฑ์ๆ ไปเย็บมา พอเย็บมาเสร็จแล้ว เย็บด้วยมือนะ เย็บมือเสร็จแล้วมาต่อกัน ท่านจะมองว่าใครมีสติแค่ไหนไง ใครมีสติ ใครมีความระวัง หลวงตาท่านบอกว่าท่านรู้ถึงอุบายของหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่า มีเท่าไหร่ใส่เต็มร้อย ท่านใส่เต็มที่เลย เพราะว่าท่านเย็บของท่าน
นี่เวลาเขาดูความประพฤติ ดูต่างๆ เขาดูกิริยามันออกมาจากใจ ถ้าออกมาจากใจ สิ่งนี้ข้อวัตรปฏิบัติ เวลาข้อปฏิบัติ เห็นไหม เรามีสำรวม กิริยาต่างๆ มันก็เป็นการแสดงออก การแสดงออกนี้มันคืออะไร? คือการกดทับไว้ใช่ไหม? ใช่ มันกดทับไว้ การกดทับไว้ ทำบ่อยครั้งเข้า ทำจนเป็นจริต จนเป็นนิสัย
คนทำบุญกุศลทำบุญกุศลจนเคยชิน ถ้าไม่ทำสิ่งใดจะขาดสิ่งใดไป แต่ถ้าเราไม่ทำสิ่งใดเลย ไม่ทำสิ่งใดมันก็เจอสิ่งที่ตรงข้ามนั่นแหละ ถ้าเราไม่ทำบุญกุศลเลย สิ่งที่เราแสวงหามามันก็ตระหนี่ถี่เหนียวอยู่ในหัวใจ มันจะเป็นยางเหนียว มันจะรัดในหัวใจนั้น แต่ถ้าเราเสียสละออกไป สิ่งที่เสียสละออกไปมันคืออะไร? คือวัตถุทาน แต่หัวใจมันได้คลายตัวออก ได้คลายตัวออก เห็นไหม
นี่ความสะดวกความสบายในหัวใจมันแตกต่างกัน นั่นคือบุญไง บุญคือกิริยาของใจ บุญคือกิริยาวัตถุ นั่นเวลาเราเสียสละความสะดวกสบายของเรา มานั่งสมาธิ ภาวนา นี่บุญกิริยาวัตถุ บุญที่เป็นอามิสเราเสียสละออกไป สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเกิดขึ้นจากความรู้สึกนึกคิดทั้งนั้น เกิดขึ้นมาจากศรัทธาทั้งนั้น ถ้าไม่มีศรัทธาสิ่งนี้ทำไม่ได้หรอก มันมีศรัทธาความเชื่อ เพราะเรามีความเชื่อ เรามีเป้าหมายของเราใช่ไหม? เป้าหมายสิ่งนั้นเรามาฝึกหัด
โลก เวลาเช้าขึ้นมาเขาออกกำลังกายกันเพื่อความแข็งแรง เพื่อสุขภาพร่างกายของเขา จิต จิตถ้าไม่เคยได้ทำสิ่งใดเลย มันจะอ่อนแอ มันจะกดทับในหัวใจของมัน ถ้าเรามีการเสียสละ มีการฝึกฝนของมัน เห็นไหม จิตมันจะเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าจิตมันเข้มแข็งขึ้นมา พอมันขยับขึ้นมา พอมันมีความรู้สึกนึกคิด นั่นคิดอะไร? สิ่งนั้นคิดถูก คิดผิด นั่นน่ะมันรู้ตามความคิดของตัวเองไปเพราะจิตมันเข้มแข็ง
ถ้าจิตมันอ่อนแอ พอเราคิดสิ่งใดไป นี่ว่าสังคมก็รังแกเรา คนนั้นก็รังแกเรา คนนี้ก็รังแกเรา เพราะจิตมันอ่อนแอ เห็นไหม ถ้าจิตมันเข้มแข็ง คิดสิ่งใดสิ่งนั้นเป็นความจริงไหม? นี่สังคมคือสังคม เราก็เป็นหน่วยของสังคม เราก็อยู่ในสังคมนั้น ถ้าทุกคนเป็นคนดี สังคมก็เป็นสิ่งที่ดีขึ้นมา สังคม เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้เลยนะ
มนุษย์โง่กว่าสัตว์
เวลาสัตว์ นี่ดูอย่างนก กา มันมีอิสรภาพของมัน มันบินไปไหนของมันได้ นั่นเป็นเรื่องของสัตว์ใช่ไหม? แต่เรื่องของมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม สัตว์สังคมเราอยู่ด้วยกันมันต้องมีกติกา พอเขียนกติกาขึ้นมา เห็นไหม แล้วเราก็ติดกติกาของเรา รอนสิทธิ์ๆ มันรอนสิทธิ์ไง รอนสิทธิ์บุคคลเพื่อสังคมไง รอนสิทธิ์สังคมเพื่อความสงบร่มเย็นของสังคมนั้น
ถ้ารอนสิทธิ์ เห็นไหม การรอนสิทธิ์ นี้เราอยู่ในที่รโหฐานของเรา นั่นก็เป็นสิทธิเสรีภาพของเรา นี้เราทำความสงบของใจเข้าไป ถ้าจิตมันสงบเข้ามา นี่ที่รโหฐานของจิต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ นี่หัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรคญาณมันเกิดขึ้นมาในหัวใจ ความรู้สึกนึกคิดมันใหญ่โตมากนะ
ดูสิค่าน้ำใจ ถ้าเรามีหัวใจเอื้ออาทรต่อกัน เรามีแต่ค่าน้ำใจต่อกัน ค่าน้ำใจนี้มีค่ามากนะ เอาเงินทองมาช่วยเหลือกัน แต่เขามองเราด้วยสายตา ด้วยความเอื้ออาทรนะ สิ่งนั้นมีค่ามาก ถ้าสิ่งนั้นมีค่ามาก นี่ค่าของน้ำใจ เห็นไหม แล้วค่าของน้ำใจ น้ำใจที่มันพัฒนาของมันไง ถ้ามันมีปัญญาของมัน ถ้ามีปัญญานะ เขาบอกว่านี่เวลาเราปฏิบัติกันเราก็ใช้ปัญญาไปเลยนะ ถ้าพุทโธ พุทโธอยู่มันไม่มีปัญญาหรอก มันเป็นสมถะ มันไม่มีปัญญา
ปัญญานั้นเป็นโลกียปัญญา ปัญญาที่ใช้อยู่นี่ ปัญญาที่เราคิดอยู่นี่ ปัญญาที่เราบริหารจัดการอยู่นี่ เห็นไหม ดูสิเราสั่งสอนลูกของเรา เราสั่งสอนญาติพี่น้องของเราให้เป็นคนดีๆ มันเป็นคนดีตามที่เราสั่งสอนไหมล่ะ? นี่มันเป็นบุญเป็นกรรมต่อกัน สิ่งนั้นเป็นบุญเป็นกรรมนะ สิ่งที่เราสั่งสอนนี่ก็คือปัญญานะ
นี่ประสบการณ์ของพ่อของแม่ ประสบการณ์ของปู่ ย่า ตา ยาย มีมหาศาลเลย ก็พยายามไง พยายามจะสั่งสอนลูกสั่งสอนหลานให้เป็นคนดี ขอให้เป็นคนดี แล้วถ้าเป็นคนดีขึ้นมาแล้ว ถ้าเขามีทรัพย์สมบัติ มีศักยภาพในสังคม อันนั้นมันเป็นความสามารถของเขา แต่เขาเป็นคนดีนี่พ่อแม่พอใจมากแล้ว เป็นคนดี เป็นคนที่มีความสุขในตัวเอง เห็นไหม นั้นเป็นสิ่งที่ถ้าเขาทำของเขาได้ พ่อแม่ก็มีความภูมิใจ นั่นคือโลกียปัญญา
ถ้าโลกุตตรปัญญาล่ะ? ถ้ามันมีความสงบของใจนะ ดูสิปัญญาเรามหาศาลเลย ปัญญาเราจะมีความรู้สึกความนึกคิดของเรามหาศาล นั่นมันเป็นวิชาชีพ เป็นอาชีพ ดูสิวิชาชีพของแต่ละบุคคล วิชาชีพนี่อาศัยวุฒิภาวะ อาศัยความรู้นั่นแหละเป็นการแสวงหาเพื่อประโยชน์การเลี้ยงชีวิต นั่นเป็นเรื่องของปัญญาทางโลกนะ แล้วปัญญาอย่างนี้ ถ้ามันคิดนะ คิดโดยที่ว่าเราเป็นคนดี คิดในแง่ดี เห็นไหม คนดีก็คิดในแง่ดี คิดในแง่ดีเราก็เป็นคนดีแล้ว แล้วก็บอกเราเป็นคนดีแล้วทำไมต้องไปวัดๆ ไปวัดไปทำไม? อยู่บ้านเมียก็เทศน์ทุกวัน ไปวัดไปให้พระเทศน์ซ้ำอีก
ไปวัด เห็นไหม สิ่งที่ว่าพระเทศน์ออกมาจากธรรม ออกมาจากใจ มันจะรู้นะ ว่าสิ่งที่ออกมานี่มันออกมาจากเปลือก ออกจากจิตที่ส่งออก จิตที่ส่งออกเวลาคิดออกไปนี่โลกียปัญญา เรื่องของโลกๆ ทั้งนั้นแหละ แต่พอเราพุทโธ พุทโธ จิตสงบเข้ามาแล้ว ถ้าจิตมันสงบนะ นี่เวลา มันเกิดโลกุตตรปัญญานะ มันพิจารณาไปนะเห็นเส้นขน เส้นผม มันสลดสังเวชนะ เห็นผิวหนัง เห็นต่างๆ มันสะเทือนใจ มันสะเทือนใจนะ
นี่เห็นชีวิต เราเกิดมาทำไม? เราเกิดมานี่เราเกิดมาทำไม? เราก็เกิดมาเพื่อสร้างบุญกุศล เกิดมาเพื่อบุญกุศล เพื่อความอยู่เป็นสุข เห็นไหม แล้วเป็นสุข ถึงที่สุดแล้วผลของมัน ผลของวัฏฏะมันเป็นจริงอย่างนี้ สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง
สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
สิ่งใดเป็นอนิจจัง โลกมันแปรสภาพเป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ แล้วทุกข์นี่ ทุกข์มันอยู่กับเราไหมล่ะ? ทุกข์มันเกิดกับเรามันก็ดับกับเรา แต่ไม่เป็นอนัตตาเพราะเราไม่มีสมาธิไง เราไม่มีสมาธิ เราไม่มีสติเห็นว่าความทุกข์ ความเปลี่ยนแปลงของเราเป็นอนัตตา พอเห็นเป็นอนัตตานะ แม้แต่ทุกข์ก็เป็นอนัตตา ถ้าทุกข์เป็นอนัตตา มันปล่อยทุกข์แล้วมันเหลืออะไร? แล้วมันเป็นอย่างใด?
นี่ถ้ามันมีสติปัญญานะ ถ้าเรามีจิตที่เป็นความสงบร่มเย็น มีสมาธิขึ้นมา มันจะรู้เท่าทันความคิดของตัว แต่ถ้าเราไม่มีสติปัญญา ความคิดกับเราเป็นอันเดียวกัน คิดสิ่งใดมันก็คิดอย่างนั้น ทำอย่างนั้น คิดอย่างไรก็ไปตามนั้น มันลากหัวใจนี้ไปทุกข์หมดเลย แต่พอมีสติ มีสมาธิขึ้นมานะ อ๊ะ คิดอะไร? คิดทำไม? เราก็คิดอีกแล้ว นี่ถ้ามีสตินะ เรามีสติมันยั้งคิดบ่อย ยั้งคิดบ่อย ความคิดนั่นล่ะมันเผาเรา
ครูบาอาจารย์บอกว่าไม่มีใครรังแกเรานะ นี่เด็กเล็กแดงเราก็บอกว่าพ่อแม่รังแกเรา สังคมรังแกเรา ไม่มีหรอก ตัวเองรังแกตัวเอง ความคิดเรารังแกเรา ความรู้สึกนึกคิดมันเบียดเบียนเรา ดูสิ เวลาคิดนี่คิดให้ทุกข์ทั้งนั้นแหละ แล้วคิดให้สุขได้ไหมล่ะ? คิดให้สุขนี่จับต้นชนปลายไม่ถูก อะไรมันสุขล่ะ? อะไรมันว่างล่ะ? พอว่างเดี๋ยวมันก็ทุกข์อีกแล้ว เออ ว่างจริงหรือเปล่า? เอ๊ะ ว่างนี่มันถูกหรือไม่ถูก
เวลาคิดเรื่องความว่าง คิดถึงธรรมะนี่เราคิดไม่เป็น แต่ถ้ามันคิดให้เจ็บช้ำน้ำใจมันคิดแล้วคิดอีก คิดอะไรที่เจ็บช้ำน้ำใจ คิดแล้วมันมีแต่ความทุกข์ร้อน คิดแล้วคิดเล่า คิดนี่พอใจจะคิด ถ้ามีสติขึ้นมานี่ยั้งคิดแล้ว คิดอย่างนี้คิดมาเท่าไหร่แล้ว เห็นไหม นี่ไงพอมีสติ มีสมาธิขึ้นมา มันจะเป็นโลกุตตระนะ เขาบอกพุทโธ พุทโธนี่ทำให้จิตสงบไม่มีประโยชน์ๆ เพราะคำว่าไม่มีประโยชน์ไง ฉะนั้น เขาใช้ปัญญาเขาถึงเป็นสัญชาตญาณไง เป็นตรรกะไง
เพราะตรรกะ เห็นไหม ดูสิธรรมะตรรกะ อธิบายนะเป็นตรรกะไง โอ๋ย ซาบซึ้ง มันเข้าใจได้ นี่ไงวุฒิภาวะโลกที่มันเข้าใจได้มันก็เข้าใจได้แค่นี้แหละ เข้าใจที่เวลาเขาอธิบายให้ฟังแล้วมันซาบซึ้งนั่นแหละ แล้วซาบซึ้งแล้วอย่างไรต่อไปล่ะ? ซาบซึ้งแล้วเดี๋ยวก็จะทุกข์ต่อไง ซาบซึ้งแล้วเดี๋ยวก็จะหัวทิ่มดินอยู่นี่ไง นี่ซาบซึ้ง แต่ถ้ามันมีสมาธิขึ้นมานะ เวลามันเกิดปัญญาขึ้นมานี่มันถอดถอนนะ มันสำรอกนะ มันคลายออกนะ มันคลายออก นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นี่ต้องใครเป็นพยาน? เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุธรรมขึ้นมา เห็นไหม อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีใจมากเลย เพราะมันสำรอกในใจอันนั้นไง ถ้าสำรอกในใจนั้นเป็นพยานต่อกันไง ถ้าเป็นพยานต่อกันเป็นสันทิฏฐิโก เป็นหัวใจนี้สำรอกออก คลายออก ใจนั้นมันรู้ขึ้นมา
ถ้าใจมันรู้ขึ้นมา นี่ไงโลกุตตรธรรม ธรรมอันนี้เป็นธรรมเหนือโลก เหนือทุกๆ อย่าง แล้วเหนือที่ไหนล่ะ? ก็เหนือในหัวใจที่ผู้รู้ เหนือในหัวใจดวงนั้น เห็นไหม ดูสิมันคิดซ้ำคิดซาก คิดเจ็บช้ำน้ำใจ มันคิดมาตลอด มันเหยียบย่ำมาตลอด เวลามันรู้ขึ้นมาแล้วมันเหนือไง เหนือความรู้สึกนึกคิดอันนั้น ความนึกคิดอันนั้นมันจะเข้ามาเหยียบย่ำหัวใจอันนี้อีกไม่ได้ไง ความรู้สึกนึกคิดที่มันเบียดเบียนหัวใจ ที่มันเหยียบย่ำหัวใจ มันจะเกิดอีกไม่ได้กับใจดวงนี้ ใจดวงนี้
แต่ถ้ามันเป็นโลก นี่ต้องคิดให้เหมือนกันนะ เวลาเป็นตรรกะ เห็นไหม จินตนาการได้ไหม? นี่มันเป็นอย่างนี้ ลองคิดตามสิ เอ่อ ใช่ โอ๋ย ว่างหมดเลย นี่เพราะอะไรล่ะ? เพราะขาดสัมมาสมาธิ พอมีสัมมาสมาธินะ ถ้ามีสัมมาสมาธินี่มันเกิดโลกุตตรปัญญา แล้วปัญญาที่เกิดโลกุตตรปัญญานี่ผลของมัน แล้วเรามาเทียบกับปัญญาที่เราเกิดปัญญาอบรมสมาธิ
ปัญญาอบรมสมาธิหมายถึงปัญญาที่เกิดจากสัญชาตญาณ ปัญญาที่เกิดจากจิต ปัญญาที่เกิดจากอวิชชา โดยธรรมชาติสามัญสำนึกของคน คนเกิดมามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ คนมานี้เรามีร่างกาย จิตปฏิสนธิในไข่ พอเกิดในไข่ ตัวจิตนั้นมันมีขันธ์ของมัน คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือไข่ คือนามธรรมที่เป็นความรู้สึกนึกคิด
ความรู้สึกนึกคิด นี่เราเกิดมาเป็นคนเราก็มีร่างกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็มีร่างกาย เกิดเป็นนรกอเวจี เกิดเป็นเทวดามันไม่มีร่างกาย แต่มีความคิด ถ้ามีความคิด เห็นไหม พอมันเกิดขึ้นมา นี่ความคิดมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นสัญชาตญาณ มันมีของมันอยู่แล้ว ความเจ็บปวด เจ็บช้ำน้ำใจ ความดี ความชั่ว ความสุข ความทุกข์ มันรู้โดยสัญชาตญาณของมันอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้มันรู้โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ ของสัตว์ ของนรกอเวจี แต่มันไม่รู้โดยความจริง ถ้ารู้โดยความจริง พอมันเห็นโทษของมัน มันถึงคลายออกๆ นี่สำรอก คลายออกๆ
ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิคืออะไร? สัมมาสมาธิคือชัยภูมิไง ชัยภูมิ เห็นไหม ดูสิเราจะทำการค้าเราต้องมีตลาดใช่ไหม? ชัยภูมิของการปฏิบัติ อันนี้มันชัยภูมิที่สมองไง เวลาความรู้สึกนึกคิดเกิดบนสมองนะ เกิดบนสังขารนะ แต่มันไม่มาเกิดบนจิตหรอก มันไม่มาเกิดบนจิตเพราะอะไร? เพราะมันหาจิตมันไม่เจอไง เพราะมันหาสมาธิของมันไม่เจอ เพราะมันหาฐี-ติจิตของมันไม่เจอ มันหาต้นขั้ว หาการเกิดและการตายไม่เจอ
อะไรเป็นการเกิดการตาย? นี่เวลาเราตายไป ซากศพก็ไปเผา แล้วใจมันไปไหนล่ะ? แต่ถ้ามันสงบเข้าไป สงบเข้าไปที่ฐีติจิต สงบเข้าไปที่ใจไง สงบเข้าไปที่ใจมันอยู่ที่นั่น ต้นขั้วมันอยู่ที่นั่น ความดีความชั่วมันอยู่ที่นั่น ทำคุณงามความดีทั้งหมดทั้งหลายมันก็ไปตกอยู่ที่นั่น ตกผลึกบนภวาสวะ บนภพ บนฐีติจิต
ความดีความชั่วของคน ความลับไม่มีในโลก ทำดีทำชั่วเท่าไหร่ เพราะใครเป็นคนทำ จิตเป็นคนทำ ภวาสวะ จิตมันสั่งให้ทำ จิตมันสั่งให้โกง จิตมันสั่งให้เสียสละ คำว่าสั่ง ใครเป็นคนสั่ง? ถ้าไม่มีสติปัญญา ไม่มีศรัทธามาใครเป็นคนสั่ง? ถ้ามีสติปัญญา นี่คนดี คิดดีได้ง่าย ทำดีได้ง่าย คนชั่ว คิดชั่วได้ง่าย มันสั่งให้ทำแต่ความพอใจของมัน ถ้ามีอวิชชาครอบหัวมัน เห็นไหม แต่ถ้าพอจิตมันสงบเข้ามา สงบเข้าไปถึงต้นขั้วนั้น สงบเข้าไปสัมมาสมาธินั้น
นี่ไงเขาว่า สมถะไม่มีประโยชน์ พุทโธ พุทโธ มันโง่เง่าเต่าตุ่น
โง่เง่าเต่าตุ่น ครูบาอาจารย์เรานี่พาลูกศิษย์รอดมามหาศาลเลย ไอ้ที่ว่าปัญญาๆ มันปัญญาของกิเลสไง ปัญญาของสัญชาตญาณ ปัญญาของอวิชชา ทั้งๆ ที่ตรึกในธรรมะของพระพุทธเจ้านะ ท่องธรรมะพระพุทธเจ้าปากเปียกปากแฉะเลยล่ะ ท่องจนปากเปียกปากแฉะ โอ๋ย วิเคราะห์ วิจัยได้หมดเลย แต่หัวใจไม่รู้อะไรเลย
ถ้ารู้... เขาต้องพูดออกมาด้วยความถูกต้อง ถ้ารู้ รู้ตัวเดียว ชัดเจนแจ่มแจ้ง เคลียร์ได้หมด
ถ้าไม่รู้... พระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้ แต่ฉันไม่รู้เรื่อง แต่พระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้ นี่ไงศึกษาตำรา
ธรรมะสาธารณะ สาธารณะคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้เป็นสาธารณะ แล้วพวกเรานี่พยายามศึกษากัน แต่ความรู้ส่วนตน ความดีความชั่วส่วนตน เวลาความดีความชั่วในหัวใจนี่เป็นของๆ เรา ส่วนตนไง ถ้าเกิดสมาธิก็สมาธิของเรา ถ้าเกิดปัญญาก็ปัญญาของเรา ถ้าชำระกิเลสก็ชำระกิเลสของเรา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานนะ พระอานนท์คร่ำครวญมาก
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปรินิพพานแล้ว เราก็ยังต้องการคนที่ชี้นำอยู่ แล้วเราไม่มีคนชี้นำเราจะทุกข์ยากขนาดไหน?
อานนท์ เรานิพพานไปเราก็เอาแต่ธรรมของเราไป เราไม่ได้เอาธรรมของใครไปทั้งสิ้นเลย
ของใครของมัน ธรรมะส่วนบุคคลมันจะรู้ขึ้นมาจากหัวใจ แล้วถ้ารู้จากหัวใจแล้วมันเป็นสัจธรรมอันเดียวกัน อันเดียวกันนะ ฉะนั้น ถ้า ๒ คนคุยธรรมะ ถ้ายังโต้เถียงกัน ต้องคนหนึ่งผิดเด็ดขาด เพราะมันไม่เป็นอันเดียวกันมันถึงโต้เถียงกัน ถ้าอันเดียวกันนะ สบตาก็รู้แล้วจริงหรือไม่จริง สบตามันก็เป็นธรรมแล้ว ถ้าเป็นธรรมขึ้นมามันจะเป็นความจริง
ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่มันเกิดขึ้นมาจากเรา เห็นไหม โดยวุฒิภาวะ เราเป็นเด็กกันมาก่อนนะ เราโตมาจากทารก แล้วเราก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เด็กก็คือเด็ก เด็กนี้ไม่ถือสา แต่พอเราจะฝึกหัดเด็ก เราก็อยากให้เด็กเป็นคนดีใช่ไหม? ถ้าเป็นคนดีนี่ให้เขารู้สัมมาคารวะต่างๆ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วพวกเราโตขึ้นมาแล้วเราจะรักษาหัวใจของเรา แล้วทำเพื่อคุณงามความดีของเรา
นี่ฟังธรรม ธรรมะ สัจธรรม จะแสดงเมื่อใด จะพูดเมื่อใด มันจริงทุกที่ ทุกเวลา อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ไม่มีสถานที่ ที่ไหนก็จริงถ้ามันจริง ถ้าไม่จริงที่ไหนมันก็ปลอมทั้งนั้นนะ ฉะนั้น ในหัวใจเรามีอวิชชา มีความจอมปลอมอยู่ เราต้องแก้ไขของเรา เพื่อคุณงามความดีของเรานะ เกิดมาแล้วมีโอกาส ชีวิตนี้ เห็นไหม การทำมาหากิน สัมมาอาชีวะนี่เราต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่หัวใจของเราล่ะ มันยังไปอีกนะ
เราเกิดมาพบพุทธศาสนา พุทธศาสนา นี่ศาสนานี้เลิศมาก ศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาทางโลกคือปัญญาที่ทำให้เรามาทำบุญกุศลกันอยู่นี้ ให้มีศรัทธา มีความเชื่อ ให้มันเชื่อมั่น แต่ปัญญาที่จะแก้กิเลสมันเป็นอีกปัญญาหนึ่ง มันละเอียดกว่านี้ มันต้องลึกลับกว่านี้ เพราะกิเลสนี่มันอยู่ในจิตใต้สำนึก มันดำดินมา ดำในหัวใจเรามา แล้วเราจะเข้าไปชำระมัน เราจะเอาปัญญาตื้นๆ พื้นๆ อย่างนี้ไปต่อต้านมันไม่อยู่หรอก แต่ถ้าจะเอาจริงเอาจังเราต้องปฏิบัติ
ดังนั้นความดีที่มีกว่านี้ยังมีอยู่ไง ความดีที่จะดีกว่านี้ ความดีที่เราจะขวนขวายมากกว่านี้ยังมีอยู่ แล้วเราทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง