เทศน์บนศาลา

ธรรมะระดับนึกคิด

๒๕ พ.ย. ๒๕๕๔

 

ธรรมะระดับนึกคิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะนี้มาจากไหน? ธรรมะนี้ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มาตรัสรู้ธรรม ธรรมะนี้มาจากไหน ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรม ธรรมะด้นเดาทั้งนั้นน่ะ ธรรมะของแต่ละสำนัก แต่ละผู้ปฏิบัติก็ด้นเดากันไป ใครจะด้นเดาได้ลึกกว่า เห็นไหม เป็นสันนิษฐาน “สันนิษฐานว่าเป็นธรรม” ใครสันนิษฐานได้ขนาดไหน สันนิษฐานนั้นคือเดา เป็นการด้นการเดาทั้งนั้นน่ะ

ทีนี้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เวลาไปศึกษาธรรมกับเขา ศึกษาธรรมเพราะว่าออกประพฤติปฏิบัติ นี่เขารับรอง เขาประกันขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สนใจเลย เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่สร้างบุญญาธิการมา ถ้าสร้างบุญญาธิการมามันมีหลักของใจ หลักของใจ “ไม่เชื่อใครทั้งสิ้น” ในเมื่อเขาบอก เขาเยินยอปอปั้นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความรู้เสมอเรา เป็นครูสั่งสอนได้เหมือนเรา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยเชื่อใครเลย ไม่เชื่อเพราะอะไร

เพราะเราทุกข์ของเราเอง เรารู้ของเราเอง ธรรมะเป็นอย่างนี้เหรอ เราประพฤติปฏิบัติกันมา แล้วหัวใจเรามันยังลังเลสงสัยอยู่ หัวใจเรายังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันยังมีสิ่งใดที่กีดขวางอยู่ในใจ สิ่งนี้เป็นธรรมเหรอ สิ่งนี้เป็นธรรม เป็นอรหันต์ๆ เจ้าลัทธิต่างๆ เขาก็ปฏิญาณตนว่าเป็นอรหันต์ทั้งนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับใครมา ไม่ฟัง ไม่ฟัง เพราะใจของตน ตนต้องเป็นผู้รู้ก่อน สุดท้ายแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้เองโดยชอบ

เวลาตรัสรู้เองโดยชอบ ชอบเพราะเหตุใด นี่ไง เวลามันพิจารณาไป เวลากิเลสมันขาดออกไปจากใจมันรู้เองขึ้นมา มันรู้ขึ้นมาจากความเป็นจริง เวลาคนอื่นไปอยู่กับเจ้าลัทธิต่างๆ เขายกยอปอปั้น เขาว่าเจ้าชายสิทธัตถะมีความรู้เหมือนเรา มีเสมอเรา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคนอื่นยกยอปอปั้น ไม่เชื่อ

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมามันล้างจิตใจสะอาด มันควักไส้ควักพุงออกทั้งหมด สิ่งใดที่เป็นความลังเลสงสัยมันก็ได้ทำลายเสียแล้ว สิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่เป็นอนุสัยอยู่ในหัวใจมันก็ได้ทำลายเสียแล้ว ทุกอย่างที่มันทำลายเสียแล้วนี่มันเห็นมันรู้ชัดของมันตามความเป็นจริงของมัน ถ้ามันรู้ตามความเป็นจริงมันจะไปถามใคร? มันไม่ถามใครอยู่แล้ว

“เสวยวิมุตติสุข” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุขอยู่ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาไปเทศน์ปัญจวัคคีย์นะ ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เองโดยชอบ

“ธรรมมาจากไหน ธรรมมาจากไหน” เวลาธรรม คนอื่นที่เขาจะค้นคว้ารื้อค้นของเขา ดูสิ ในเมื่อลัทธิศาสนาต่างๆ เขาก็ปฏิญาณตนทั้งนั้นว่าเป็นศาสดา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เชื่อ ไม่เชื่อ แต่เวลาเชื่อ เชื่อความเห็นของตัว เชื่อความเป็นจริงของตัว เชื่อความเป็นจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง นี่คือในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นผู้ที่รื้อค้นขึ้นมา

เวลาไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ ในเมื่อใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครยกยอปอปั้นขนาดไหนก็ไม่เชื่ออยู่แล้ว แล้วปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากมา ๖ ปี แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปฉันอาหารของนางสุชาดา นี่ปัญจวัคคีย์คอตกเลย อุปัฏฐากมาอยู่ ๖ ปี ทำทุกรกิริยา ทำทุกอย่างโดยความมั่นคงอาจหาญนี่ยังทำไม่ได้ แล้วผ่อนมาฉันอาหารของนางสุชาดา

ปัญจวัคคีย์ประชุมกันบอกว่า เหมือนคนที่เข้มแข็งแล้วกลับมามักมาก มักมากคือความอยู่สะดวกสบาย นี่ทิ้งไปเลยนะ ในเมื่อถ้าหัวใจเป็นแบบนั้นเขาจะเชื่อฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างใด

เวลาไปนะ ในเมื่อใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รู้ใจของปัญจวัคคีย์ว่าคิดอย่างใด ทีนี้เวลาไปเทศน์ธัมมจักฯ เวลาจะไปหาพวกนั้น เขานัดกันเลยว่าไม่รับ นัดกันเลยนะ แต่ในเมื่อด้วยความคุ้นชิน ด้วยอำนาจวาสนา ด้วยบารมี เวลาไปน่ะ สิ่งที่สัญญากันไว้ว่า

“ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานะ เห็นมาแต่ไกล เราไม่รับนะ เวลาอยู่ด้วยกันอุปัฏฐากมาตั้ง ๖ ปี ทำทุกรกิริยาขนาดไหนยังสำเร็จไม่ได้ แล้วเวลาไปฉันอาหารของนางสุชาดา ปัจจุบันนี้คงจะไม่มีพรรคมีพวก คงคิดถึงเรา ถึงได้เดินมาหาเราไง”

นี่ตกลงกันอย่างนั้นนะ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาใกล้ ด้วยสัญชาตญาณ ทุกคนจัดหมด ทุกคนต้อนรับหมด พอต้อนรับหมด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปจะเทศนาว่าการ พักแล้วเทศนาว่าการ นี่ไม่ฟัง ไม่ฟังไง ต้องคุยกันก่อนนะ

“เมื่อก่อนอยู่ด้วยกันมา ๖ ปีก็รู้นิสัยกันอยู่ ก็เห็นกันทั้งนั้นน่ะ เวลาว่ายังไม่เป็น ยังไม่ได้ ก็ไม่บอก แต่คราวนี้เราเป็นแล้วถึงได้บอก”

จะมาบอก นี่ให้ฟังธรรม พอฟังธรรม แสดงธรรมไป จิตใจคนพร้อมนะ นี่ธรรมมาจากไหน ฟังธรรม ธรรมมาจากไหน ธรรมมันต้องมีที่มาที่ไปสิ มันต้องเป็นความจริงสิ มันถึงเป็นของใจดวงนั้น ถ้าเป็นของใจดวงนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแก่ปัญจวัคคีย์

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

เพราะอะไร เพราะจิตใจมันพร้อม จิตใจมันแสวงหา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาปฏิบัติอยู่ ๖ ปี เที่ยวไปหาลัทธิต่างๆ ไปหาครูหาอาจารย์หาทุกอย่าง เขาไม่มี ในเมื่อครูบาอาจารย์เขาไม่มี สันนิษฐานได้ตื้นได้ลึกขนาดไหน เขาไม่มี เขาสอนมาก็สอนด้วยความไม่จริงไม่จังของเขานั่นล่ะ ทีนี้ คนที่มีจิตใจที่พร้อม จิตใจที่ขาวสะอาดไปศึกษากับเขานี่มันรู้ มันปฏิเสธ เพราะสิ่งที่มันไม่มี แต่เวลามันมีขึ้นมา มันมีขึ้นมาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันมีจริง มันมีจริงตามความเป็นจริงขึ้นมา

แล้วปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากอุปถัมภ์กันมาก็เตรียมความพร้อมอยู่นี่ ทำความสงบของใจต่างๆ ขออย่างเดียว ขอให้มีคนชี้ทาง ขอให้มีอริยสัจ ขอให้มีความจริงเท่านั้นจะเข้าได้ทันทีเลย แต่มันไม่มี เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับลัทธิต่างๆ ก็ไม่มี แต่เวลามี เวลาจะมีขึ้นจริงๆ ขึ้นมาก็มีขึ้นมาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง นี่มันมีจริงของมัน มันเป็นความจริงของมัน นี่เชื่อมั่นในตัวเอง พอเชื่อมั่นในตัวเอง เวลาไปแสดงธัมมจักฯ เพราะพระอัญญาโกณฑัญญะมีความพร้อมอยู่แล้ว

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

ไปเทศน์อนัตตลักขณสูตร เป็นพระอรหันต์หมดเลย นี่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

คำว่า “เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา” นี่มันมีจริงขึ้นมา ถ้าของมันมีจริงมันถึงเป็นความจริง

สมัยพุทธกาล เขาซื่อสัตย์ เขาพูดจริงทำจริง ฉะนั้น ในสมัยพุทธกาลนะ แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ ยสะ นี่พระอรหันต์ ๖๑ องค์

“เธอพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ เธออย่าไปซ้อนทางกัน”

โดยเผยแผ่ไปด้วยพระอรหันต์เพียวๆ ชัดๆ เวลาออกไปนี่มันเป็นธรรมชัดๆ ทุกคนได้ผลประโยชน์เต็มที่ไง ถ้าได้ผลประโยชน์เต็มที่ นี่ฟื้นฟู ศาสนาแผ่ไปกว้างขวางมาก แต่ด้วยพุทธศาสนา ศาสนาพุทธ ศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาพุทธไม่บีบบังคับใคร ไม่ขู่เข็ญให้เป็นความปรารถนา เป็นสิ่งที่เขาพอใจเท่านั้น ถ้าเขาพอใจ เขาจะประพฤติปฏิบัติ เขาอยากจะได้ความจริง นั่นก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าเขาไม่เชื่อไม่ศรัทธา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปล่อย

การฆ่าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือการไม่สนทนาด้วย คนๆ นั้นจะไม่มีโอกาส แต่ถ้าสนทนาด้วย นี่คือการแสดงธรรม คนนั้นจะมีโอกาส นี่พุทธศาสนา ศาสนาสะอาดบริสุทธิ์ คนจะเข้าถึงได้ ในเมื่อภาชนะ สิ่งที่จะเข้าถึงศาสนามันต้องมีคุณสมบัติ มันต้องมีความจริงขึ้นมามันถึงเข้าศาสนาได้ แต่ถ้าสิ่งนั้นมันไม่มีคุณสมบัตินั้น ไม่สมควรกับการบรรจุธรรม มันเป็นไปไม่ได้หรอก

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ เวลาเล็งญาณขึ้นมา พุทธกิจ ๕ เช้าขึ้นมาเล็งญาณเลยว่าใครจะสมควร แล้วอายุเขาสั้น เอาคนนั้นก่อน แบบองคุลิมาล องคุลิมาล ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ไปนะ ไปช้ากว่านั้น องคุลิมาลจะไม่มีโอกาส

ดูอย่างอชาตศัตรูสิ ในเมื่อไปเชื่อเทวทัต ได้ฆ่าพ่อแล้วหมดโอกาส ถึงจะทำบุญกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขนาดไหนก็ไม่มีโอกาส ในเมื่อทำปิตุฆาต ถ้าองคุลิมาลทำมาตุฆาต ถ้าได้ฆ่ามารดาก็จบเหมือนกัน

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งญาณแล้วไปเอาองคุลิมาลก่อน จนเทศนาว่าการ จนองคุลิมาลเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา องคุลิมาล เห็นไหม ด้วยการศึกษา ด้วยสัญชาตญาณของเขาเป็นคนดี เขาอยากได้วิชาการ แต่เพราะคบมิตรเทียม ไปคบครูบาอาจารย์ไม่ดี ในเมื่อครูบาอาจารย์ไม่ดี ทีแรกก็รักใคร่ ทำสิ่งใดศึกษาสิ่งใดก็มีแต่ปัญญาได้ทั้งนั้นน่ะ แต่ด้วยความอิจฉาของลูกศิษย์ด้วยกันเอง เป่าหูจนอาจารย์เชื่อไง พออาจารย์เชื่อก็อยากจะกำจัด แต่กำจัดด้วยตัวเองก็ไม่กล้า ก็ถึงให้ออกอุบาย ออกอุบายว่ามีวิชาการที่มีคุณค่ามาก ฉะนั้น สิ่งที่จะมาเรียนศึกษานี้ต้องเอานิ้วมนุษย์มา ๑,๐๐๐ นิ้ว

นี่ฆ่าอย่างเดียวเลย ต้องการให้นิ้วมือได้ ๑,๐๐๐ นิ้ว แล้วได้มา ๙๙๙ นิ้ว ขาดอีกนิ้วเดียว แม่มาเตือน คืนนั้นจะฆ่าแม่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเอาก่อน ไปเทศนาว่าการก่อน เวลาไปแล้วองคุลิมาลจะฆ่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเอานิ้วที่ ๑,๐๐๐ ฉะนั้น ด้วยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยฤทธิ์ ด้วยอำนาจวาสนา องคุลิมาลเขาก็มีคุณสมบัติของเขาที่เขาวิ่งเร็วกว่าม้า เขาวิ่งเร็วกว่า เขาจัดการได้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคลื่อนไปเขาวิ่งไม่ทัน เวลาองคุลิมาลจะทำร้ายใครนะ คนนี้พ้นไม่ได้ เพราะว่าเขามีคุณสมบัติของเขาอย่างนั้น ฉะนั้น เวลาเขาวิ่งทันใครทุกคนหมด เขาก็แปลกใจ ทำไมไม่ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความแปลกใจนะ ด้วยความแปลกใจถึงถามว่า

“สมณะหยุดก่อน สมณะหยุดก่อน”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจะช๊อต

“เราหยุดแล้ว เธอต่างหากไม่หยุด เราหยุดแล้ว”

“หยุดอย่างไร วิ่งขนาดนี้ยังไม่ทัน หยุดได้อย่างไร”

“หยุดทำความชั่วไง”

“หยุดทำความชั่ว” นี่องคุลิมาลได้สติ วางดาบเลยนะ

“หยุดทำความชั่วแล้ว เราหยุดทุกอย่าง เราไม่มีสิ่งใดในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว”

ถึงเอามาบวช แล้วมาประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง นี่เวลาเล็งญาณ ภาชนะที่จะประพฤติปฏิบัติให้ได้ตามความเป็นจริง

ฉะนั้น เวลาเราศึกษา ธรรมะก็เผยแผ่มา เผยแผ่มาจนกึ่งพุทธกาล แล้วเวลาก่อนหน้านั้น ด้วยความพูดถึงว่ามรรค ว่าผล เขาไม่เชื่อกันนะ เขาไม่เชื่อกัน ดูสิ ในทางนี้ ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์ก็ยังว่า “โลกนี้มาจากไหน มนุษย์นี้มาจากไหน” ยังเถียงกันไม่จบ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบมา ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว

ชีวิตนี้มาจากไหน จิตนี้มาจากไหน? ถ้ามันไม่จบ มันไม่จบเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะตรัสรู้ธรรมขึ้นมาได้อย่างใด ถ้าเรายังสงสัยอยู่ในเรื่องของจิต ในเรื่องของความรู้สึกนึกคิดในหัวใจของเรา เราจะเข้าใจเรื่องเป็นความจริงได้อย่างไร ที่เราทุกข์กันอยู่นี่เราทุกข์เพราะอะไรล่ะ? ก็เราทุกข์เพราะความลังเลสสงสัยเรานี่แหละ เราทุกข์เพราะความไม่รู้ของเรานี่แหละ มันทำให้เราทุกข์อยู่ เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบมา ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว แล้วเทศนาว่าการ พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลจนปัจจุบันที่ต่างๆ มา นี่จบมาตลอด แต่ด้วยคุณสมบัติของคน เวลาสังคมมันก็มีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญโดยธรรมดา ทีนี้คำว่า “สังคมเจริญแล้วเสื่อม” สังคมคืออะไร? คือมนุษย์ ดูสิ ภิกษุเรา ตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนปัจจุบันนี้ สงฆ์ไม่ขาดวรรคขาดตอน ถ้าสงฆ์ไม่ขาดวรรคขาดตอน จะบวชสงฆ์ขึ้นมาได้อย่างไร

ดูสิ เวลาชาวพุทธขึ้นมาให้ลูกบวชสืบต่อมา สืบต่อศาสนามา การสืบต่อศาสนาด้วยภิกษุ ภิกษุได้รักษาศาสนามาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ กว่าปี แต่เวลาสังคมที่เข้มข้น สังคมที่มีครูบาอาจารย์ สังคมที่มีนักปราชญ์ นักปราชญ์เช่นหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราเวลาเกิดมาในยุคในคราวใด ประพฤติปฏิบัติเข้าไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ เวลาสอนพวกเรา เวลาบอกทางพวกเรามันจะบอกได้ชัดได้เจน แต่ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจนปัจจุบันนี้ การประพฤติปฏิบัติอ่อนด้อยไป การอ่อนด้อยไป เห็นไหม ดูสิ เป็นวรรคเป็นตอน เวลามีผู้ที่มีบุญขึ้นมาเกิด เกิดช่วงหนึ่งก็มาพบพระพุทธศาสนา จะทำให้ศาสนาเจริญหนหนึ่ง มีคนเชื่อมั่น มีคนศรัทธา มีการกระทำ มีคนขวนขวาย

นี่ทางโลกเขาบอก “ขอโอกาส” คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็ขอโอกาสให้กับตัวเอง เวลาขอโอกาสให้กับตัวเอง เวลาศึกษามาจนศาสนามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดในพระไตรปิฎก มีชัดเจนมากว่า “กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง”

ในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครได้ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมขึ้นมา แสดงธรรมขึ้นมาจากธรรมในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่มันจะเป็นการเปิดทาง

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบอกว่า “ฟังเทศน์หลวงปู่มั่น นิพพานเหมือนหยิบเอาๆ เลย”

เพราะคนแสดงธรรมมันมีคุณธรรมในหัวใจ ธรรมนั้นแสดงออกมา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันก็ตามร่องตามรอยนั้นขึ้นไปเพื่อจะเข้าถึงมรรค ผล นิพพาน ทีนี้ เพียงแต่พอมันเผยแผ่กันมา นี่มันเผยแผ่กันมาจนจะไม่เชื่อกัน ฉะนั้น ในกึ่งพุทธกาล ในสมัยที่เราเกิดมา เราเกิดมาในกึ่งพุทธกาล ๒,๕๐๐ ปีนี่กึ่งพุทธกาล

ก่อนกึ่งพุทธกาล ดูสิ เวลาเขามาฟื้นฟูในศาสนากันว่า ศาสนา พระของเราจะทำตัวกันอย่างไร ฟื้นฟูขึ้นมา เรามองไปทางในโลก ในมหายาน ในสิ่งต่างๆ ที่ศาสนาเขาเจริญ เขาเจริญมาเหมือนกัน แต่เจริญของเขา เขาก็มีแนวคิด มีการกระทำแตกต่างกันไป แต่เขาก็มาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าถือเป็นพุทธศาสนาเหมือนกัน แต่ประเพณีวัฒนธรรมมันแตกต่างกัน

แต่ในเถรวาทของเรา เราประพฤติปฏิบัติกันตามความเป็นจริง แต่ทำไปแล้ว พอปฏิบัติไปแล้วมันก็...ดูสิ ในพุทธศาสนาเข้าไปเผยแผ่ในสังคมใด สังคมใดเป็นไสยศาสตร์ สังคมใดถือผี สังคมใด เห็นไหม ประเพณีพื้นถิ่น พุทธศาสนาเข้าไปเจือปนกับสิ่งนั้น สิ่งนั้นพอทำไปๆ แล้วอะไรเป็นพุทธ อะไรเป็นพราหมณ์ อะไรเป็นผี อะไรเป็นเปรต มันเจือปนกันไป ถ้าเวลาประพฤติปฏิบัติไป สิ่งที่เราไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราทำสิ่งใดของเราขึ้นมา

เรามีครูมีอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริงขึ้นมา ตามความเป็นจริงขึ้นมาจากไหน ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากอยู่ ๖ ปี ต่อสู้กับกิเลสของตัว ไปหาเจ้าลัทธิต่างๆ เพื่อประพฤติปฏิบัติ หาทางออก นี่สิ่งที่หาทางออก ออกไม่ได้ โลกเขาไม่มีอยู่แล้ว สิ่งที่นั่นยังไม่มีอยู่ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามารื้อค้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง มันเป็นความจริงขึ้นมาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง

นี่มันมีธรรมวินัยอยู่ มีการศึกษา ศึกษาขึ้นมา ศึกษาด้วยความไม่รู้ ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ศึกษาด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เวลาศึกษาก็ตีความกันไป ใครตีความกันไปจนมันแตกออกไปเป็นกลุ่มเป็นก้อน

แต่เวลาหลวงปู่มั่นขึ้นมาท่านบอกว่า นั่นเรื่องของเขา เราจะเอาตัวเราให้รอดให้ได้ เอาตัวเรารอดให้ได้ เพราะคนเราถ้าเกิดมา ถ้ามันมีหลักในหัวใจ มันจะคิดไง มันจะคิดว่าสิ่งที่เราศึกษา เราค้นคว้าอยู่นี่ ค้นคว้าเพื่อสิ่งใด เห็นไหม เวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครศึกษา ศึกษามาด้วยปริยัติ ด้วยความรู้ ด้วยว่าสิ่งนี้เป็นธรรม แล้วมันมีสิ่งใดในหัวใจล่ะ

เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นขึ้นมาประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริง การศึกษาก็คือศึกษา แต่เวลาประพฤติปฏิบัติมันต้องให้ตามความเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริงของครูบาอาจารย์เรา

เพราะถ้าเราศึกษามาแล้ว เราศึกษามามันก็หันรีหันขวาง ปริยัติก็คือปริยัติ การศึกษานะ เราหลีกไม่ได้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ขณะศึกษาเราก็ศึกษา ถ้าศึกษาแล้วเข้าใจไหม ยิ่งศึกษาแล้วเราเข้าใจไหม เวลาศึกษาเป็นแนวทาง ดูสิ เวลากรรมฐานของเรา หลวงปู่ฝั้นท่านบอกว่าพระกรรมฐานเรา เวลาเรียนปริยัติ เรียนมาเต็มที่แล้ว เรียนมาจากใคร? เรียนมาจากอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ให้มาแล้ว เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตอนบวช ให้กรรมฐาน ๕ ถ้ากรรมฐาน ๕

“บวชแล้วเธอจงเข้าป่า เธอจงถืออยู่เสนาสนะป่า แล้วเธอจงพิจารณาให้ทะลุ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ถ้าเธอทำสิ่งเหล่านี้ได้...”

นี่เราเรียนปริยัติมาแล้วเราทำกันได้ไหมล่ะ

เวลาเราปฏิบัติ เราบอกว่าไม่มีการศึกษา เรากลัวปฏิบัติแล้วมันจะผิดพลาด ศึกษา ถ้าปริยัติก็คือปริยัติ วิชาการที่เรารู้ก็คือเราเรียนรู้ แต่วิชาการเราเรียนมาแล้ว เราประกอบอาชีพ เราประกอบทำหน้าที่การงาน มันจะประสบความสำเร็จจริงอย่างนั้นหรือไม่ ถ้ามันประสบความสำเร็จอย่างนั้นจริง ดูสิ ใครเรียนมา วิชาการใดก็แล้วแต่ เวลาเขาทำอาชีพของเขา เขายังทำอาชีพทางอื่นไป นี่มันก็มีของเขาในทางโลกก็มีของเขาอยู่แล้ว

ทีนี้ในการศึกษาธรรมของเรา เราศึกษาธรรมมาแล้ว ว่าเรารู้เราเข้าใจ แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติกัน นี่ไง สังคมเวลามันอ่อนด้อยนะ สังคมเขาว่าอ่อนด้อย หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นของเราที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังเยอะมาก สังคมเขากึ่งพุทธกาล แล้วเขาอยู่กันสุขอยู่สบาย ศาสนาก็เป็นแค่ประเพณี ประเพณีไง ดูสิ เวลากฎหมาย กฎหมายที่เวลาเขาประชุมเสร็จแล้ว เขายกมือก็จบ ยกมือก็จบ เป็นตรายางเฉยๆ ศาสนาก็เป็นพิธีไว้ให้คนได้ทำบุญกุศล มันจะเหมือนกับศาสนาผีไปเลย เวลาถือผีขึ้นมาก็เอาเครื่องเส้นไปวางก็จบ นี่ก็เหมือนกัน พระก็อยู่กันเพื่อประเพณีวัฒนธรรม เพื่อไว้ให้ทำบุญกุศลเท่านั้นน่ะ แล้วบุญกุศลมันได้บุญกุศลจริงหรือไม่จริงก็อยู่ที่ว่าการกระทำว่าเนื้อนาบุญสะอาดบริสุทธิ์หรือไม่สะอาดบริสุทธิ์

ท่านออกประพฤติปฏิบัติมีแต่คนโต้แย้งทั้งนั้นน่ะ มันจะเป็นไปได้อย่างไร มนุษย์ด้วยกันจะชำระกิเลส มนุษย์ด้วยกันจะพ้นไปจากกิเลส จะพ้นจากพญามาร มันจะเป็นไปได้อย่างไร แต่ท่านก็สมบุกสมบัน ทั้งแรงเสียดสีของสังคม ทั้งการประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงในหัวใจของท่าน เพราะมันไม่มีใครบอก มันมีแต่ตำรานะ เราก็เรียนตำรากันมา เวลาท่านปฏิบัติของท่านจนท่านรู้เข้ามาเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปอยู่กับเจ้าลัทธิต่างๆ เห็นไหม เขาสนับสนุน เขาเยินยอขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิเสธหมด นั้นยังไม่มีธรรมนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามารื้อค้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ครูบาอาจารย์เราก็เหมือนกัน สมัยที่ออกประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ ใครก็เสียดสี ใครก็กีดขวางทั้งนั้นน่ะ จะทำสิ่งใดก็กลัวเกินหน้าเกินตา โดยธรรมชาติของมนุษย์ ผู้ที่มีอำนาจด้วย แล้วมีพระในใต้ปกครองมา จะแสดงศักยภาพที่ทำสิ่งใดแล้วให้เห็นว่ามันจะทำได้จริง “ผู้น้อย” ผู้น้อยแล้วปฏิบัติ แล้วผู้ที่มีอำนาจที่เขาควบคุม นี่สังคมโลกมันเป็นแบบนั้น

นี่จะพูดถึงว่ากว่าจะได้ธรรมะกันมา มันไม่ใช่ของง่ายๆ มันไม่ใช่ชุบมือเปิบหรอก มันต้องทำจริงทำจังขึ้นมามันถึงได้ความจริงขึ้นมา แล้วท่านทำของท่านนะ สังคมก็ไม่ยอมรับ ท่านก็ทำตามความเป็นจริงของท่าน แล้วใจของท่าน เวลาเป็นธรรมเป็นชั้นเป็นตอนมา เพราะท่านปรึกษากับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นลูกศิษย์เป็นอาจารย์กันมา แล้วยังเวลาศึกษาก็ยังศึกษากับเจ้าคุณอุบาลีในทางวิชาการ นี่ปรึกษาดูแลกัน ปฏิบัติขึ้นมา แก้ไขกันมา จนเป็นที่ยอมรับนับถือไง มันยอมรับนับถือขึ้นมา

ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราก็ฟังกระแสสังคมกัน กระแสสังคมบอกถ้าไม่มีการศึกษา ไม่มีการเล่าเรียน เราจะปฏิบัติกันได้อย่างไร คนบอกทุกคนว่าถ้าเราไม่รู้เส้นทาง เราไม่มีปัญญา เราจะปฏิบัติไปได้อย่างไร

แล้วปัญญาของใคร? ปัญญาที่เรามีกันอยู่นี้เป็นปัญญาโลกๆ นะ ปัญญาของโลกๆ ก็เป็นโลกียปัญญาไง ปัญญาเกิดจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ปัญญาเกิดจากหัวใจของเรานี่แหละ แล้วเราเอาปัญญาอย่างนี้ไปศึกษาธรรมะกัน พอศึกษาธรรมะกัน เราก็ถือตัวถือตน ถือตัวถือตนว่าตัวเองมีปัญญา ตัวเองศึกษาธรรมะมาต้องรู้จักธรรมะ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เวลาปฏิบัติไปนะ นี่มันตรึกในธรรม

คนเรานะ ถ้ามันเป็นความจริง ปฏิบัติจริงตามความเป็นจริง มันจะได้คุณธรรมจริงๆ ขึ้นมา แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นไป ดูสิ กระแสสังคมที่เขาปฏิบัติกัน เขาปฏิบัติกันอย่างไร? เขาปฏิบัติกันให้พอเป็นพิธีขึ้นมา พอเป็นพิธีใช่ไหม คนเรานะ ดูสิ เวลาเราทุกข์เรายากขึ้นมา เราก็เผลอ เราก็เรอ เราเผลอ เผลอกับอะไร? เผลอกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของเรา อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ความทุกข์ความยากมันก็บีบคั้นหัวใจเรา เราก็มีความทุกข์ของเรา เวลาเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันสะอาดบริสุทธิ์ใช่ไหม

ดูสิ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ธรรมเหนือโลก” สิ่งนี้ที่ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ มันชำระกิเลสในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ววางธรรมและวินัยนี้ไว้ แล้วเวลาถ้าเราศึกษาโดยทุจริต ศึกษาโดยคนโกง ศึกษาแล้วก็ศึกษาด้วยทิฏฐิมานะ ศึกษาด้วยความไม่เชื่อ ศึกษาแล้วก็ประพฤติปฏิบัติไม่มีการตรวจสอบ อย่างนั้นเขาก็ไม่ได้ผลของเขา

แต่ถ้าคน จิตใจเวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเชื่อมั่น แล้วเรามีความเคารพบูชา ทำแล้วมันก็ทำให้จิตใจสงบร่มเย็น ถ้าเวลาจิตใจสงบร่มเย็น เวลาเราปฏิบัติธรรม

“รู้รูป รู้การเคลื่อนไหว รู้ตัวทั่วพร้อม รู้ทุกอย่าง แล้วมันมีความสุข มีความสบาย ทำแล้วมันสบาย สบายๆ สบายทำอย่างไรต่อไป”

คำว่า “สบายๆ” อย่างนี้มันเป็นเรื่องโลกๆ ไง ถ้าจิตใจอ่อนแอ จิตใจไม่มีหลักมีเกณฑ์นะ พอปฏิบัติไปมันแค่มี “สบายๆ แล้วทำอย่างไรต่อไป มีอะไรอีกต่อไป”

มันไม่มีอะไร มันเป็นกิริยาเฉยๆ มันเป็นสัญญาอารมณ์ต่างหากล่ะ แต่เพราะมันมีคุณสมบัติกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือสัจจะ คือทฤษฎี ทฤษฎีนี้มีอยู่จริง ทฤษฎีนี้ชวนให้เราได้ตรวจสอบ ชวนให้เราพิสูจน์จริงๆ แล้วเราก็ได้พิสูจน์ตามแต่ที่เราได้ศึกษามา ได้จำมา มันก็เป็นแค่เราตรวจสอบทฤษฎี ทำตามทฤษฎี ด้วยกิริยาของใจเท่านั้นเอง แต่มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา มันไม่เป็นความจริงขึ้นมาหรอก

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมา มันมีการกระทำ มันมีจริง

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านปฏิบัติขึ้นมา ท่านมีคุณธรรมในหัวใจของท่านนะ เวลาท่านเทศนาว่าการ ดูสิ สิ่งที่ว่า ให้ธรรมได้แสดงออก การว่า “ให้ธรรมแสดงออก” คือบุคลาธิษฐาน เวลาครูบาอาจารย์ท่านจะเทศนาว่าการนะ ท่านเทศนาว่าการเพื่อยกตัวอย่างเป็นบุคลาธิษฐาน เป็นแบบเป็นอย่างเพื่อจะให้เราเข้าใจได้

ท่านก็บอกว่า “ในเมื่อถ้าเราไม่เชื่อในสัจธรรม เราให้เปรียบเทียบ ให้เวลามีจอกแหนที่มันปกคลุมในสระน้ำในแหล่งน้ำอยู่ ถ้าแหวกจอกแหนออกมันจะเห็นน้ำไหม”

นี้คือบุคลาธิษฐาน มันเป็นทางการแสดงออกของธรรม เสียงหรือกิริยาต่างๆ ก็แล้วแต่ ถ้าใจเป็นธรรม อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านมีธรรม คุณธรรมในหัวใจ มีความจริงในหัวใจ เทศนาว่าการออกมามันมีธรรมออกมา โดยบุคลาธิษฐานนั้นเพื่อให้ธรรมออก เป็นการแสดงออก เป็นสื่อ สื่อให้ธรรมได้แสดงออกไป

“ตัวสื่อ” ไม่ใช่ตัวจริง

“ตัวจริง” คือข้อมูลข้อเท็จจริงในสื่อนั้น สื่อนั้นคือเขาจะสื่อเรื่องอะไร

ฉะนั้น “แหวกจอกแหน” มันเป็นกิริยาเฉยๆ เป็นกิริยาให้แสดงออกว่ามันมีอยู่จริง

ดูสิ เวลาเราแหวกจอกแหนแล้วเจออะไร? เราก็เจอน้ำ นี่ไง น้ำมันมีอยู่จริงไง แล้วเวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านพูดถึงเทศนาว่าการ “แหวกจอกแหน” มันเป็นบุคลาธิษฐาน เป็นการแสดงออก เป็นสื่อของธรรมนะ ถ้าสื่อของธรรม สื่อแล้วมันมีธรรมออกมาจริงหรือเปล่าล่ะ

เหมือเช่นที่ว่าท่านบอกว่า “เราขุดคลองนะ ขุดคลองเพื่อจะเป็นทางให้น้ำเข้าไปสู่การเกษตรกรรม การคมนาคม” ขุดคลองแล้วมีน้ำหรือเปล่าล่ะ ถ้าขุดคลองแล้วท่านเปิด มันมีน้ำเข้ามา น้ำในคลองนั้นก็มีเพราะมันมีน้ำใช่ไหม แต่ถ้าเราขุดคลอง เราขุดแต่คลอง แต่ไม่มีน้ำล่ะ นี่ก็เหมือนกัน “แหวกจอกแหน” แหวกจอกแหนเพื่ออะไร แหวกจอกแหนทำไม แหวกอะไร แหวกอย่างไร

นี่ไง คำว่า “แหวกจอกแหน” แหวกจอกแหนของท่าน

เพราะหลวงตาท่านบรรลุธรรมมา ไม่ใช่การแหวกจอกแหน

เวลาท่านพิจารณาของท่าน อย่างเช่นนั่งตลอดรุ่ง ท่านพิจารณาของท่าน พิจารณาเวทนาของท่าน ท่านต่อสู้กับเวทนา ต่อสู้กับความทุกข์ความยากในหัวใจของท่าน ความบีบคั้นของเวทนา ท่านพิจารณาของท่าน โดยหลักธรรมของหลวงตา ท่านไม่เกี่ยวกับแหวกจอกแหน ไม่เกี่ยวกับแหวกน้ำมีน้ำ เพียงแต่ว่าท่านแสดงธรรมของท่าน ท่านแสดงธรรมของท่านเพื่อให้พวกเราได้เข้าใจถ้าเราเข้าใจ

ทีนี้ เราถ้าไม่เข้าใจล่ะ เราก็ไปจำกิริยามา พอเราไปจำกิริยามา เราก็ทำขึ้นมาให้มันเป็นไป ให้มันเป็นแบบนั้น แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงไหม

นี่ไง ที่ว่าเขาบอก “ปฏิบัติ ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาปฏิบัติขึ้นมาให้มันเป็นความจริงขึ้นมา นี่ต้องใช้ปัญญานะ พวกพุทโธ พวกพระป่า นั่งพุทโธๆ อยู่ในป่าในเขา ไม่มีปัญญา มันจะผ่านกิเลสไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่พวกเรานี่ใช้ปัญญา โอ้โฮ! เก่งมาก ใช้ปัญญา เพราะปัญญาทำให้ว่างหมดเลย ทำให้สะดวกสบาย ทำให้โล่งโถงไปหมดเลย แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ”

เพราะปัญญาอย่างนี้มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาเหมือนกับเราศึกษาเล่าเรียน เราตรึกในธรรม ดูสิ นักวิทยาศาสตร์เวลาเขาพิสูจน์ เขาทดลองวิทยาศาสตร์ เขาตรึกของเขา เขาทดสอบของเขา เขาใคร่ครวญของเขา เขาจงใจ เขาตั้งใจอยู่เฉพาะอย่างเดียว นี่ก็เหมือนกัน ในการที่ว่าเราศึกษาธรรม เราปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติอย่างนั้นเหรอ นี่ปฏิบัติแค่นั้นเอง ปฏิบัติ เห็นไหม

“เราจะรู้ตัวทั่วพร้อม เราจะรู้สิ่งใด นี่คือปัญญา” มันปัญญาอะไร? แล้วถ้าพูดถึงพระกรรมฐาน พระปฏิบัติ เขากำหนดพุทโธๆ หลับหูหลับตามันจะเกิดปัญญาได้อย่างใด นี่คนไม่เป็นนะ คนปฏิบัติไม่เป็น มันจะไม่ได้ข้อเท็จจริงสิ่งใดมา

ถ้าได้ข้อเท็จจริง เห็นไหม ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาหลวงตาท่านเทศนาว่าการ ท่านเทศน์ถึงบอกว่า ถ้าแหวกจอกแหนไปจะเจอน้ำนะ มันจะเห็นน้ำ มีแหล่งน้ำไหม ถ้ามันมีจริง นี่ไง มรรคผลมันมีอยู่จริง แต่เวลาท่านเทศนาว่าการกับพระนะ ท่านบอก

“แหวกจอกแหนแล้วทำลายจอกแหนอย่างไร อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นน้ำ”

จอกแหนนี่มันยังมีประโยชน์นะ เวลามีประโยชน์กับทางโลก เวลาเขาทำความสะอาดน้ำ ในสระ ในต่างๆ มันช่วยดูดธาตุเหล็ก มันช่วยดูดต่างๆ มันเป็นประโยชน์นะ จอกแหนมันยังเป็นประโยชน์กับแหล่งน้ำเลย แล้วคนที่ปฏิบัติ คนที่จะทำนี่มันจะมีประโยชน์กับตัวมันเองบ้างไหม มันจะมีหัวใจที่รู้ถึงสัจธรรมบ้างไหม มันจะรู้ความจริงบ้างหรือเปล่า ถ้ามันไม่รู้ความจริงขึ้นมาบ้าง

ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ หลวงตาท่านเทศนาว่าการ เพราะใจท่านเป็นธรรมนะ ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพราะท่านไม่ได้ประพฤติปฏิบัติโดยการแหวกจอกแหนหรอก ท่านประพฤติปฏิบัติโดยผ่านเวทนา ผ่านกาย ผ่านอสุภะ ผ่านจุดและต่อมของจิต แล้วท่านได้หลักเกณฑ์ของท่านตามความเป็นจริงของท่าน ในเมื่อความเป็นจริงของท่าน ท่านแสดงธรรมออกมา ไอ้นี่มันแค่สื่อไง มันเป็นสื่อที่จะได้แสดงธรรม มันเป็นกิริยาที่ให้ธรรมได้ก้าวเดินออกมา

ในเมื่อใจเป็นธรรม ถ้าใจเป็นธรรมนะ เวลาแสดงธรรมขึ้นมา มันแสดงธรรมมันก็เป็นบุคลาธิษฐาน ต้องแสดงให้ผู้ที่ได้ฟังได้เข้าใจว่าธรรมะมันคืออะไร แล้วธรรมะมันมีขั้นมีตอนของมัน ถ้าจิตใจเป็นธรรมนะ จะพูดสิ่งใดมันก็มีธรรมออกมาจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นมีธรรมอยู่ในใจดวงนั้น เวลาแสดงธรรมออกมาเพื่อให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

นี่ไง ที่หลวงตาท่านบอกว่า หลวงปู่มั่น เวลาท่านอยู่ที่หนองผือ เวลาแสดงธรรมขึ้นมา ผู้ที่ได้ฟังธรรม มรรค ผล นิพพานมันจะหยิบเอาๆ

หยิบเอาก็อย่างนี้ไง หยิบเอาก็ถึงว่าสิ่งที่มันเป็นกิริยา มันเป็นคำกิริยา มันไม่มีตัวจริง แต่เวลาธรรมในหัวใจมันมีความจริง พอมีความจริงขึ้นมาเขาจะสื่อออกมาเพื่อจะแสดงธรรมให้คนฟังธรรมเข้าใจ แล้วมีวิธีการที่จะเข้าไปสู่หัวใจดวงนั้น ถ้าหัวใจดวงนั้น เห็นไหม นี่มันเป็นสื่อเข้าไป มันเป็นกิริยาเฉยๆ แต่เวลาท่านบรรลุธรรม เวลาใจของหลวงตาท่านพูดของท่าน

นั่งตลอดรุ่งผ่านเวทนา

นั่งตลอดรุ่งพิจารณากาย

เวลาหลวงปู่มั่นให้ออกพิจารณาอสุภะ นั่นน่ะ ผ่านกามราคะ

แล้วเวลาท่านเจอจุดและต่อมของท่าน ท่านทำของท่าน

นี่ครูบาอาจารย์เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่พิจารณกายก็ต้องเห็นกายจริงๆ แล้วพิจารณากายตามแต่อำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล

แต่นี่บอกว่า “แหวกจอกแหน” แล้วแหวกอย่างไร แล้วแหวกไปเพื่ออะไร? มันเป็นคำกิริยา มันไม่มีเหตุมีผล ถ้ามันมีเหตุมีผล ทำอย่างไรต่อไป อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นจิต อะไรเป็นอริยสัจ อะไรเป็นสัจธรรม นี่มันถึงมีความจริงของมัน นี่พูดถึงว่าถ้ามันไม่มีความจริง

เวลาพิจารณาไป คนเรานะ ถ้าปฏิบัติ มันมีอำนาจวาสนา มันจะเป็นความจริง ถ้าไม่เป็นความจริงนะ ดูสิ แต่ละคน แต่ละยุค แต่ละสมัย นี่ก็เหมือนกัน อีกผู้หนึ่งก็เหมือนกัน

“พิจารณานะ ดูจิต กำหนดจิตเข้าไป พอกำหนดจิตเข้าไปถึงความว่าง พอจิตเป็นความว่างแล้วก็เอาความว่างนั้นไปทำลายความว่าง พอความว่างทำลายความว่าง เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย”

อย่างนั้นเวลาฝนตกมันก็เป็นพระอรหันต์หมดล่ะสิ เม็ดฝนตกลงมาเป็นพระอรหันต์ เห็นไหม เวลาอากาศมันแปรปรวนล่ะ เวลาอากาศมันหมุนไปล่ะ เวลามันบิกแบง กาแล็กซีกับกาแล็กซีชนกันล่ะ มันเกิดพระอรหันต์ขึ้นมาไหม?

ไม่มีหรอก มันมีไปไม่ได้ สิ่งนี้เป็นบุคลาธิษฐาน แล้วมันก็สร้างนะ

ถ้าใครฟังธรรมโดยจิตที่ไม่สะอาดบริสุทธิ์ โดยคิดแต่ของตัวเองว่าจะเอามรรคเอาผล เอามรรคเอาผลน่ะมันมีพล็อตเรื่องมาแล้ว มันเป็นสัญญาอารมณ์ ถ้าสัญญาอารมณ์มันหลอกตัวเอง พอหลอกตัวเองขึ้นมา แต่คนที่ฟังนะ ด้วยวุฒิภาวะที่อ่อนด้อย “กำหนดจิตจนว่าง พอจิตว่างแล้วก็เอาความว่างนี้ไปชนกับความว่าง เอาความว่างกับความว่างชนกัน”

พอชนกัน ชนแล้วเหลืออะไร ชนกันแล้วมีอะไรเกิดขึ้น อะไรมันเกิดขึ้น อะไรเป็นมรรค อะไรเป็นผล อะไรเป็นจิต อะไรเป็นดำริชอบ งานชอบ มันชอบตรงไหน มันชนกันมันชนกันอย่างไร

เด็กๆ เวลามันเล่นนะ มันเป่าฟองสบู่ แล้วฟองสบู่มันชนกัน แล้วมันได้อะไร? มันได้เด็กตบมือดีใจไง เด็กมันสนุกครึกครื้นของมัน นี่เวลาเอาฟองสบู่กับฟองสบู่ มันเป่าฟองสบู่ แล้วฟองสบู่ลอยไปชนกัน ฟองสบู่มันก็แตก แล้วมีอะไร?

“เอาความว่างกำหนดจิตจนเป็นความว่าง แล้วเอาความว่างไปชนกับความว่าง พอชนเสร็จแล้วบรรลุธรรม จนครูบาอาจารย์รับรอง รับประกัน”

ครูบาอาจารย์ท่านมีธรรมนะ ท่านรู้ทันหมดล่ะ เวลาพูดมันต้องพูดตอนที่ครูบาอาจารย์อยู่สิ เวลาครูบาอาจารย์ไม่อยู่แล้วมาพูดมันไม่มีประโยชน์หรอก นี่พูดถึง เห็นไหม เราจะบอกว่า โลกที่เขาทำกันน่ะ เวลาเขาทำกันนะ เขาทำด้วยวุฒิภาวะของเขา เขาอ่อนด้อยของเขา เขาทำของเขา เขาถึงไม่มีความจริงในหัวใจของเขา แล้วเขาบอกว่า “ว่างๆ ปฏิบัติแล้วสบายมาก มีแต่ความสะดวกมีแต่ความสบาย ใจนี่ชุ่มชื่นมาก”

ชุ่มชื่นเพราะมันมีสติปัญญาควบคุมเท่านั้น เพราะโดยธรรมชาติ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีสิ่งใดคงที่ สติก็เป็นอนัตตา สมาธิก็เป็นอนัตตา ในเมื่อเป็นอนัตตา แล้วบอกว่าถ้าเข้าเป็นอนัตตาคือไม่มีเหรอ

นี่เขาบอกว่า “สติเป็นอนัตตา”

เราบอกว่า “ไม่ใช่ สติไม่ใช่เป็นอนัตตา สติเป็นอนิจจัง เพราะมันแปรปรวนของมัน”

แต่ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา คือเราจะบอกว่า จะภาวนาดีขนาดไหนเดี๋ยวก็เสื่อม เป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันสบายๆ มันสบายตรงไหน? มันสบายเพราะเรามีสติปัญญา เราควบคุมมันอยู่เท่านั้นน่ะ แต่ถ้าถึงเวลาแล้ว เวลามันเสื่อม มันเสื่อมไป เดี๋ยวมันก็เสื่อม ถ้ามันไม่เสื่อมมันก็ไม่เจริญ มันไม่เจริญอยู่อย่างนั้น มันก็ได้แค่นั้น แล้วได้แค่นั้นแล้วได้ศาสนาสอนแค่นี้เหรอ ศาสนาสอนเท่านี้ใช่ไหม ศาสนาสอนบอกให้ชาวพุทธศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันก็เหมือนกับหัวชนภูเขาไว้อย่างนี้ สบายๆ อย่างนี้แล้วไม่มีความก้าวหน้าอย่างนี้ อย่างนี้เหรอ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้เหรอ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเข้าฌานสมาบัติกับอุทกดาบส อาฬารดาบส บอกว่า “มีความรู้เสมอเรา” เขาเข้าสมาบัติได้ กับไอ้สบายๆ นี่ต่างกันไหม เขาว่าเข้าสมาบัติได้ เขาบอกยังไม่ใช่เลย แล้วเวลากำหนดมรรคญาณขึ้นมาเวลาชำระกิเลส นี่มันชำระอย่างไร มันต้องมีเหตุมีผล มันต้องมีที่มาที่ไป

ถ้าครูบาอาจารย์ท่านมีธรรมในหัวใจ สิ่งที่จะยกเป็นบุคลาธิษฐาน สิ่งที่ให้ธรรมได้แสดงออก สิ่งนั้นคือธรรมทั้งหมด เพราะใจที่เป็นธรรม เพราะหัวใจที่เป็นธรรม หัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์ สิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์เป็นครูบาอาจารย์ของเราที่มีความเมตตาครอบโลกธาตุ พอมีความเมตตาครอบโลกธาตุ ต้องการให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ชาวพุทธ บริษัท ๔ ทั้งหมด ให้บรรลุธรรมให้หมด นี่ท่านพยายามแสดงสิ่งที่ความเป็นจริง สิ่งที่ให้พวกเราได้ก้าวเดิน สิ่งที่ให้เราได้มีโอกาส ฉะนั้น ถ้าใจเป็นธรรม การแสดงออกมา เพราะใจเป็นธรรม การแสดงออกมาโดยวิธีการ โดยกิริยาทั้งหมดก็เป็นธรรม

การแสดงออกมาที่ว่า หลวงตาท่านบอกว่า “แหวกจอกแหน” มันไม่ผิดของหลวงตาหรอก มันไม่ผิด แต่คนที่ไปจำมา แล้วทำกิริยาให้เหมือน มันมีเหตุผลอะไรรองรับความเป็นจริงอันนั้น เพราะถ้าบอกว่าเหมือนหลวงตา หลวงตาท่านก็พิจารณาเวทนา ท่านพิจารณาธาตุ ๔ ท่านพิจารณาอสุภะ ท่านพิจารณาจุดและต่อม ท่านไม่ได้แหวกจอกแหนตรงไหนเลย

แต่การที่ท่านบอก “แหวกจอกแหน” ให้เห็นภาพใช่ไหม เพราะเรา เราชาวพุทธ เราเป็นชาวไทย เราก็รู้จักห้วย หนอง คลอง บึง ในเมื่อที่ไหนมันมีห้วย หนอง คลอง บึง มันก็มีวัชพืช ในเมื่อเราแหวกวัชพืชออกมันก็เห็นน้ำ จริงไหม? ก็จริง ถ้ามันจริงขึ้นมามันก็ตอกย้ำไง ถึงว่านี่ไง บุคลาธิษฐาน

นี่ไง สิ่งที่จิตใจถ้าเป็นธรรม ท่านยกตัวอย่าง ยกบุคลาธิษฐานให้เราได้เห็นภาพชัดๆ นี่ธรรมเขาทำกันอย่างนี้ ถ้าธรรมกันอย่างนี้ ถ้าเป็นความจริงนะ มันต้องทำให้ได้เป็นอย่างนั้น ถ้าได้เป็นอย่างนั้นขึ้นมาแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อไป

ในเมื่อแหวกจอกแหนแล้วเห็นน้ำ แล้วเอาน้ำมาทำอะไร เอาจอกแหนไปทำอะไร แล้วทำอย่างใด ทำอย่างใดมันถึงเป็นการชำระกิเลส ทำอย่างใดที่ไม่เป็นการไม่ชำระกิเลส มันยังมีขั้นตอนของมันต่อไป ทำอย่างใดชำระกิเลส ทำอย่างใดไม่ได้ชำระกิเลส นี่มันมีวิธีการของมัน นี่ผู้รู้กับผู้รู้เขารู้กัน

แต่ถ้ามันไม่รู้ มันเอาแต่สิ่งนั้นมาพูดว่าเป็นความจริง ความจริงของใคร ถ้าความจริงของผู้ที่มีความเป็นจริงมันมีหลักมีเกณฑ์ แต่ถ้ามันเป็นความจริงของผู้ที่เลื่อนลอย เป็นความจริงของคนที่มันจำสิ่งนี้มา เป็นความจริงของผู้ที่เป็นการสร้างภาพ มันจะเลื่อนลอย มันจะไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันจะไม่มีเหตุมีผล มันพูดออกไปโดยตอบโจทย์ไม่ได้

แต่ถ้าผู้ที่เขามีคุณธรรมในหัวใจ เขาตอบได้หมด เขาตอบได้ มีที่มาที่ไป มีเหตุ มีผล มีการกระทำ ถ้าไม่มีเหตุ ไม่มีผล ไม่มีการกระทำ เวลากิเลสขาดดั่งแขนขาดมันเป็นอย่างใด ถ้ากิเลสมันไม่ขาดออกไปจากใจ เราจะประพฤติปฏิบัติกันทำไม เรามาปฏิบัติกันนี่ เรามาปฏิบัติกันทำไม?

เราก็หวังพ้นทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ถ้าไม่ได้พ้นทุกข์เราก็พยายามปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นอำนาจวาสนา ให้เป็นพันธุกรรมทางจิต มันจะเสริมสร้างของมัน มันจะมีหลักมีเกณฑ์ของมัน ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ของมัน เห็นไหม ฟังแล้วมันเข้าใจ มันจะไม่ให้ใครชักนำไปในสิ่งที่เลวทรามต่ำช้า เพราะการเลวทรามต่ำช้า จิตมันมีหลักมีเกณฑ์มันไม่ยอมรับ

แต่ถ้าจิตใจอ่อนแอ จิตใจเข้ากันโดยธาตุ มันจะไปตามนั้น ถ้าไปตามนั้นนะ นี่ไง เพราะเรามีเชื้ออยู่แล้วไง เรามีกิเลสอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว ทุกคนโดยสัญชาตญาณ ทุกคนต้องการให้มีคนประกันว่าเราปฏิบัติแล้วต้องได้ แล้วพอปฏิบัติแล้วต้องได้ แล้วได้อย่างใด นี่พอบอกต้องได้ แล้วเขาว่าต้องได้ แล้วได้อย่างไร?

ก็ได้อย่างที่ยกย่องเชิดชูกันโดยสัญญาอารมณ์ ไม่มีข้อเท็จจริงอะไรเลย ถ้ามีข้อเท็จจริง ใครจะต้องมายกย่อง ใครจะต้องมาเชิดชู ใครจะต้องค้ำประกัน มันก็เป็นความจริงของมันโดยตัวมันเองใช่ไหม ถ้ามันจะเป็นความจริง มันเป็นความจริงในตัวมันเอง

เวลาหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านพูดเลย

“แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่ตรงหน้าก็ไม่ถาม”

ถ้าถามมันก็เป็นการถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ

แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา แล้วความจริงมันเกิดอย่างไร?

ถ้าความจริงมันเกิดนะ เราจะต้องทำของเรา เราจะต้องทำความสงบของใจเราเข้ามา ถ้าใจเราสงบขึ้นมา พอใจสงบขึ้นมามันมีความสงบร่มเย็น คนเรานะ ถ้ามีความสงบร่มเย็น ใจมันเย็นขึ้นมา มันทำสิ่งใดมันก็จะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น ถ้าคนเราจิตใจเร่าร้อน จิตใจหงุดหงิด จิตใจต่างๆ คนหงุดหงิด ดูสิ นายช่างทอง หรือนักวิทยาศาสตร์ หรือผู้ที่เขาเย็บจักร ถ้าเขาหงุดหงิดเขาทำอย่างไร งานของเขาเสียหมดน่ะ เขาทำของเขาไม่ได้หรอก แต่ถ้าเขามีสติปัญญาของเขา เขามีความร่มเย็นเป็นสุขของเขา เขาทำงานของเขาออกมาสวยงามมาก นี้งานทางโลกนะ

แล้วถ้างานทางใจล่ะ งานในการประพฤติปฏิบัติล่ะ ถ้าจิตไม่สงบ เห็นไหม ปัญจวัคคีย์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ธัมมจักฯ “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

“รู้แล้วหนอ” เพราะเหตุใด?

“รู้แล้วหนอ” เพราะว่าอัญญาโกณฑัญญะ ปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี ได้ฝึกฝนมาพร้อม จิตใจสงบร่มเย็น แต่ไม่มีคนชี้ทางเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรม ธรรมยังไม่มี เวลาธรรมยังไม่มี เขาแสวงหากัน เขาพยายามของเขา เพราะธรรมมันไม่มีจริงๆ

แต่ในปัจจุบันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ๒,๐๐๐ กว่าปีก็ยังมีธรรมอยู่ “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับพระอานนท์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน

“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว เมื่อใดมันจะหมดยุคหมดคราวถึงเรื่องมรรคผล”

“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ เวลาเรานิพพานไปเราก็เอาธรรมของเราไป”

“ในเมื่อในโลกนี้ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย”

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

ครูบาอาจารย์เราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนะ แต่พวกเรา เราปฏิบัติสมควรแก่ธรรมหรือเปล่า ถ้ามันไม่สมควรขึ้นมา ว่า “แหวกจอกแหน ครูบาอาจารย์ก็แหวกจอกแหน”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเทศน์อริยสัจมา มันเป็นความจริงขึ้นมา มันก็เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าทำจริงน่ะ แต่ถ้ามันจริงหรือเปล่าล่ะ ถ้ามันจริงขึ้นมา ทำไมต้องไปอ้างคนโน้นอ้างคนนี้ล่ะ ทำไมไม่บอกวิธีการพูดถึงความจริงว่าอันใดมันเป็นกิเลส อันใดมันเป็นธรรม แล้ววิปัสสนาปัญญาที่มันแยกแยะ มันแยกแยะอย่างใด แล้วเวลามันรวมลง เวลามันสรุป

เวลาจิตเราสงบแล้วนะ ถ้าจิตมันสงบเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เวลาธรรมารมณ์ เวลาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของเรา เวลาเกิดขึ้นกับเรามันจะทำให้เราทุกข์เรายากมาก เวลาเราทุกข์กันอยู่นี่เราทุกข์เพราะอะไร? ทุกข์เพราะความคิดเราทั้งนั้นน่ะ ถ้าความคิดของเรามันทุกข์ขึ้นมา เวลาทุกข์เพราะความคิด ความคิดทำให้เราฟุ้งซ่านแล้ว ถ้าเราได้ทุกข์แล้ว เราได้เดือดร้อนแล้ว นี่ความคิดทำให้เราเดือดร้อน ฉะนั้น ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เราตามความคิดไป กำหนดพุทโธขึ้นมาจนความคิดมันสงบลง

ความคิดคืออะไร? รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา สังขาร เวลาเราพุทโธๆ ก็นึกโดยสังขารนี่แหละ ก็นึกด้วยความคิดนี่แหละ ความคิดที่ว่ามันคิดโดยให้ความเดือดร้อนในหัวใจของเรา นี่เรามีศรัทธา มีความเชื่อ เรามีความเชื่อมั่น จิตใจเราเป็นเอกภาพ มีความมั่นคง เรากำหนดพุทโธๆ ได้ ถ้ากำหนดพุทโธๆ ได้ จากความคิดที่มันทำให้เราเร่าร้อน ถ้ามันไปอยู่ที่พุทโธ พุทโธมันดึงไปหมดเลย เอาพลังงาน เอาตัวใจไปอยู่ที่พุทโธหมดเลย มันจะคิดเรื่องอื่นได้ไหม? มันคิดเรื่องอื่นไม่ได้เพราะมันอยู่ที่พุทโธอยู่แล้ว

ทีนี้พุทโธๆๆ ไปจน...พุทโธเป็นพุทธานุสติ ในเมื่อเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา พลังงานนี้ นาโน ความรู้สึกของใจ สิ่งที่ละเอียดที่สุด สิ่งที่เล็กที่สุด สิ่งที่จับต้องได้ยากที่สุด แต่เพราะเรามีสติ เรากำหนดพุทโธๆๆ นี่นาโน สิ่งที่เล็กที่สุด เรารวบรวมให้กระบวนการการก่อรูปของมันขึ้นมา พอจิตมันสงบขึ้นมา พอจิตมันสงบเข้ามา สงบเพราะอะไร?

สงบเพราะมันไม่ทุกข์ไม่ยาก สงบเพราะมันไม่คิดฟุ้งซ่าน แต่พอมันระลึกถึงพุทโธอยู่ สิ่งที่พุทโธ จนมันสร้างรูปขึ้นมา จนมันเป็นสัมมาสมาธิมันก็มีความร่มเย็นของมัน ถ้ามีความร่มเย็นของมัน ถ้าจิตกำหนดพุทโธขึ้นมา ถ้าเราเห็นกาย การเห็นกายมันก็แตกต่างหลากหลายวิธีการร้อยแปด การเห็นกายไม่มีสำเร็จรูป

ผู้ที่ปฏิบัติไม่เป็น แต่ด้วยมีจิตใจเป็นโลกไง พิมพ์หนังสืออสุภะนะ เอาภาพอสุภะแขวนกันไป ป้ายกันไป...มันอสุภะข้างนอกน่ะ มันเป็นรูปน่ารังเกียจจากภายนอก เขาเตือนกันว่าร่างกายมนุษย์ก็เป็นอย่างนี้ๆ แต่ถ้ามันเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้นไหม คนที่ทำอย่างนั้นน่ะมันฟ้องตัวเองนะ ฟ้องว่าตัวเองไม่มีกึ๋น

ถ้าตัวเองมีกึ๋นนะ ในวิสุทธิมรรค องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไปเที่ยวป่าช้า ขณะที่ไปเที่ยวป่าช้า ให้ไปเหนือลม เพราะไปใต้ลมกลิ่นมันจะแรง ให้ไปเหนือลม ถ้าผู้ที่ไปใหม่ๆ ห้ามไปดูซากศพใหม่ ให้ไปดูซากศพเก่าก่อน มันจะได้เห็นแล้วกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันจะได้ไม่กำเริบ

ถ้าดูซากศพ กำหนดให้เห็นภาพซากศพนั้น แล้วถ้าหลับตา ถ้าใครกำหนดพุทโธๆ แล้วจิตมันสงบแล้ว เขาให้รำพึงให้เห็นกาย ถ้าไม่เห็นกายให้ไปเที่ยวป่าช้า ให้ไปเห็นภาพซากศพด้วยตาเนื้อ พอหลับตาขึ้นมา หลับตาแล้วเห็นภาพไหม หลับตานี่ได้ภาพกายคตาสตินั้นไหม ถ้าได้กายคตาสติให้กลับไปที่พักของตัว แล้วให้เป็นอุคหนิมิต ให้ขยายเป็นวิภาคะ คือแยกส่วน ขยายส่วน

แต่ถ้าไม่ได้ แล้วต้องเดินไปเดินกลับ ท่านบอกว่า ถ้ามันเดินไปเดินกลับมันไกล ให้เอาซากศพนั้นมาไว้ที่ใกล้ๆ จะได้ไม่ต้องเดินไปไกล แต่ห้ามเอามือจับ “ห้ามเอามือจับ” ให้หาไม้ หาสิ่งใดคีบไป นี่คือว่าในวิสุทธิมรรค การคุ้นเคย กิเลสมันได้ช่อง กิเลสนี้ร้ายนัก เราไปคุ้นเคยกับสิ่งใดนะ พอเราเอามือจับนะ “อ้อ! ซากศพก็เป็นแบบนี้ ก็ไม่เห็นมีอะไรเลย” นี่มันหมดโอกาสคนๆ นั้นไปนะ ถ้าคนๆ นั้น เวลาเราเห็นซากศพ ถ้าเป็นศพคนอื่นเราก็ไม่เดือดร้อน ถ้าเป็นศพเราล่ะ

เวลาเราไปเห็นซากศพนั่นมันกายนอก ถ้ากายในขึ้นมาจิตใจมันจะเห็นกายของมัน ถ้าเห็นกายของมันแล้ววิภาคะ ขยายส่วน แยกส่วน แล้วเวลาจะกลับมาให้เอาไม้หนีบคีบมาไว้ข้างๆ แล้วให้ไปมอง “อย่าจับ” อย่าทำความคุ้นเคยกับมัน ให้มีระยะห่างไว้ แล้วพิจารณาให้มันเกิดขึ้นมา นี่ในวิสุทธิมรรคบอกไว้อย่างนี้

ฉะนั้น เวลาบอกว่าอสุภะ เห็นกาย ก็พิมพ์กันนะ เป็นภาพกายอย่างโน้น ภาพกายอย่างนี้ พิมพ์แล้วตัวเองได้อะไร? โดยทางโลกเขาบอกว่านี่เป็นบุญกุศลเพื่อประโยชน์คนโน้นคนนี้ แล้วประโยชน์กับเราล่ะ แล้วมันเป็นคุณหรือเป็นโทษกับการปฏิบัติ

ถ้าใครทำสัมมาสมาธิ แล้วจิตมันเห็นกายโดยตามความเป็นจริง มันจะมีคุณค่าขนาดไหน ถ้าจิตที่เห็นกายตามความเป็นจริงแล้วใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญด้วยมรรค ๘ นะ ด้วยความสมดุลของมัน เวลามันขาด เป็นพระโสดาบันนะ เวลาเห็นเอง รู้เอง นี่เป็นพระโสดาบัน

พิมพ์หนังสือเป็นหมื่นเป็นล้านไปแจกขึ้นไป แขวนไปเต็มไปหมดเลย แล้วได้อะไร ได้อะไร? นี่มันบอกถึงคนทำ มันบอกนี่คนทำรู้จริงหรือเปล่า ถ้ามันรู้จริงนะ มันว่าได้บุญ แต่มันทำให้คนคุ้นชิน ทำให้คนคุ้นเคย ทำให้คนขี้เกียจ ทำให้คนมักง่าย ทำให้คนสักแต่ว่าทำ ทำให้คน...นี่ไง ถ้ามันไม่เป็นนะ มันไม่เป็นก็คือไม่เป็นน่ะ แต่ถ้ามันเป็นนะ มันจะเป็นประโยชน์หมด ถ้ามันจะเป็นอสุภะ มันจะเห็นกายก็ให้เห็นตามความเป็นจริง

ถ้ามันเห็นตามความเป็นจริงขึ้นมามันจะเห็นที่ไหนล่ะ? มันก็เห็นที่จิต เวลาจิตมันสงบขึ้นมา มันจะรู้ขึ้นมา มันจะเห็นของมันขึ้นมา แล้วเวลาเห็นมันไม่มีสูตรสำเร็จ อยู่ที่มันจะเกิดแต่ละครั้งแต่ละคราวก็ไม่เหมือนกัน เวลาเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้ามีกำลังขึ้นมาเป็นสัมมาสมาธิมันก็แยกแยะได้อย่างไร ถ้ามันแยกแยะได้ตามความเป็นจริงขึ้นมามันก็ปล่อยวางของมัน ถ้าเวลามันปล่อยวาง นี่เป็นตทังคปหาน ถ้ามันปล่อยวางนะ ถ้ามันปล่อยวางแล้ว ถ้าเรารักษาไม่เป็น เราไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ ไม่มีข้อวัตรปฏิบัติ ไม่มีสิ่งให้เป็นเครื่องอยู่ ให้ใจเรามั่นคง...เสื่อมหมด

เวลามันเจริญแล้วก็เสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เวลาทำความสงบของใจ เวลาถ้าจิตมันเป็นสมาธิ เวลามันกว่าจะได้สมาธิขึ้นมา ถ้าได้สมาธิขึ้นมา ถ้ารักษาเป็น ชำนาญในวสี สมาธิมันอยู่กับเรา ถ้าอยู่กับเราแล้ว เวลาออกวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาคือออกเห็นกาย ออกพิจารณาขึ้นมา ถ้ามันไม่มีสติปัญญา มันออกพิจารณาขึ้นมามันได้ผลงาน พอได้ผลงานมันก็โลภ โลภก็อยากได้อยากทำจนลืมการทำความสงบของใจ พอลืมทำความสงบของใจ พอมันทำไปๆ พอสมาธิมันเริ่มเบาลง สิ่งที่รู้ที่เห็นนี่หายหมดเลย สิ่งที่รู้ที่เห็นเหมือนไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย

แต่ถ้าคนมันหลงนะ ด้วยกิเลสตัณหามันพอกพูนหัวใจมันจนพอกจนไม่เห็นสิ่งใดเลยมันก็เอาสัญญามาคิด มันเคยทำได้ เวลาจิตสงบแล้วมันเห็นกาย มันก็รู้ว่ามันเห็นกาย พิจารณาเห็นกายใช่ไหม พอจิตมันเสื่อมแล้วมันก็บอกว่า “ก็นึกกายขึ้นมาสิ ก็ดูกายขึ้นมา” แต่คุณธรรมไม่เหมือนกัน ปัญญาไม่เหมือนกัน โลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา

ถ้าไม่มีสมาธิ เป็นโลกียะหมด มันเป็นสัญญาอารมณ์หมด มันเป็นการจำมาทั้งหมด มันเป็นการสร้างภาพทั้งหมด มันเป็นพล็อตเรื่องที่ใจมันสร้างขึ้นมาหมด แล้วผลมันคืออะไรล่ะ? ผลของมันก็คือคว้าน้ำเหลวไง ผลของมันก็คือไม่มีสิ่งใดติดในหัวใจเลย

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยแนะคอยนำนะ ถ้าจิตมันเสื่อม มันต้องปล่อยวางการใช้ปัญญาทันที พอมันปล่อยวางการใช้ปัญญาทันทีปั๊บมันต้องกลับไปสร้างสมขึ้นมาให้จิตใจนี้มันสงบขึ้นมา ถ้าจิตใจมันสงบขึ้นมา มันจะกลับมาเห็นกายโดยข้อเท็จจริง ถ้าจิตไม่สงบขึ้นมามันเห็นไม่ได้

ดูสิ เวลาไฟฟ้าดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดใช้ไม่ได้หมดเลย ใช้ไม่ได้หมดเลยเพราะไฟฟ้ามันไม่มี เวลาจิตมันเสื่อมแล้วมันก็เหมือนไฟฟ้ามันดับหมดเลย แล้วเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดนะ คอมพิวเตอร์ทุกอย่างมันใช้ได้ไหม? ไม่ได้สักอย่างเลย เพราะไม่มีไฟ นี่เหมือนกัน ถ้าไม่มีไฟมันก็ต้องกลับไปเริ่มต้นที่เอาไฟมาให้ได้ก่อน ถ้าเอาไฟมาให้ได้ก่อนก็ต้องกลับมาทำความสงบของใจให้ได้ก่อน ถ้าไปทำความสงบของใจให้ได้มันก็มีไฟฟ้ามา ถ้าไฟเข้ามาปั๊บ พอเราต่อเข้าคอมพิวเตอร์เราได้ เราต่อเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเราได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าของเรามันก็ใช้ได้ต่อไป

นี่เหมือนกัน พอจิตมันเสื่อมหมดแล้ว จะไปแก้ที่คอมพิวเตอร์ จะไปแก้ที่ปลั๊ก...แก้จนตาย แก้ให้ตายไปก็ตายเปล่า ถ้าไม่กลับไปเอาพลังงานขึ้นมาก่อน ไม่กลับไปเอาไฟขึ้นมา ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านมา ท่านปฏิบัติมา ท่านรู้ทั้งนั้นน่ะ ทีนี้พอครูบาอาจารย์พูดสิ่งใดขึ้นไป พวกเราปฏิบัติไปก็ใจร้อน อาจารย์พูดอะไรก็ “แหม! ดุน่าดูเลย นู่นก็ยังไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้”

“นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้” เพราะอะไร เพราะกระบวนการมันล้มเหลวหมด กระบวนการที่เอ็งทำมานี่มันมีประโยชน์ขนาดนี้ แล้วเอ็งก็มักมากอยากได้ด้วยทิฏฐิมานะ คิดว่าตัวเองทำได้ ตัวเองทำได้ เวลามันล้มเหลวแล้วล้มไปหมดเลย แล้วพอกรรมฐานม้วนเสื่อนะ เอาขึ้นมาไม่ได้อีกแล้ว ถ้ามันเอาขึ้นมาได้นะ มันเจริญแล้วเสื่อม พอเสื่อมไปเราก็ต้องมีความมุมานะ มีความเข้มแข็ง

ถ้ามีความมุมานะ มีความเข็มแข็ง ทำใจเย็นๆ กลับไปกำหนดพุทโธ กลับไปทำความสงบของใจขึ้นมา ถ้าใจมันสงบขึ้นมานะ เราเคยเห็นกายแล้วใช่ไหม ถ้าใจมันสงบเข้ามา ถ้าจิตมันสงบ จิตมันมีหลักมีเกณฑ์มันจะรู้จะเห็นทันที ถ้าไม่รู้ไม่เห็น เราก็หาช่องทาง เราต้องกระเสือกกระสน เราต้องมีทางไปของเรา ถ้าเราไม่กระเสือกกระสน เราไม่ตั้งใจ ไม่จงใจทำของเรา ใครจะทำให้

ใจทุกดวงจะพ้นจากทุกข์ด้วยความเพียรของตัว ด้วยความเพียร ด้วยความวิริยะ ด้วยความอุตสาหะ ด้วยความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าทำความเพียรของตัว สักแต่ว่าทำ แล้วก็ให้คะแนนตัวเป็นสัญญาอารมณ์ไปทั้งนั้น แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เราเท่านั้นที่จะรู้ ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาท่านรู้หมด เพียงแต่ว่าบอกก่อนหรือควบคุมก่อน

ผู้ปฏิบัติมันอึดอัด เหมือนพ่อแม่สอนลูกเลย ลูกทุกคนจะบอกพ่อแม่จ้ำจี้จ้ำไช พ่อแม่จ้ำจี้จ้ำไช อยากจะไปหาเพื่อน เพราะเพื่อนคุยกันรู้เรื่อง แต่เพื่อนก็เพื่อน เพื่อนก็วุฒิภาวะสมองเท่ากัน ความรู้เท่ากัน โอกาสเท่ากัน มันจะไปรู้อะไรล่ะ ในเมื่อเพื่อนคุยกันมันก็ไปตามประสาโลก ประสาเด็ก มันจะรู้ธรรมะได้อย่างใด แต่โดยธรรมชาติ เด็กทุกคนก็ต่อต้านพ่อแม่ในใจ มีบ้างเป็นธรรมดา ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านรู้เรื่องอย่างนี้ ท่านก็พยายามประคับประคองเพื่อไม่ให้เสียหาย เพื่อไม่ให้เสียหายกับใคร? ก็ไม่ให้เสียหายกับบุคคลคนนั้น ไม่ใช่ให้เสียหายกับอาจารย์นะ ไม่ให้เสียหายกับบุคคลคนนั้น

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์จ้ำจี้จ้ำไชเพราะท่านรู้กระบวนการของมัน มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก สิ่งที่เป็นวัตถุ ข้าวของสิ่งต่างๆ เราทำของเราสำเร็จรูปแล้วเราวางไว้ที่ไหนมันก็จะอยู่ตรงนั้นตลอดไป เราเก็บรักษาไม่ดีมันก็สูญหายไป เราก็ไปทำใหม่ก็ยังได้เพราะมันเป็นวัตถุ แต่เรื่องของสติปัญญา เรื่องของจิตมันละเอียดอ่อนกว่านั้น ไม่ดูแลรักษา ไม่มีสติปัญญา มันไปหมดน่ะ

ฉะนั้น เวลามันไปหมดแล้ว ครูบาอาจารย์ของเราถึงต้องมีข้อวัตร ต้องหลีกเร้น ต้องคอยควบคุมดูแล ดูแลใจของเรานี่ไง ถ้าใจของเรามันเป็นประโยชน์ขึ้นมา เราดูแลใจ รักษาใจขึ้นมา เวลาถ้ามันเสื่อมแล้วมันก็เจริญขึ้นมา ถ้าเราเจริญขึ้นมาแล้ว พอเราเคยผิดพลาดใช่ไหม เวลาจิตใจมันดีขึ้นมา จิตเป็นสมาธิแล้ว พอเห็นกายขึ้นมา เห็นว่ามันได้มรรคได้ผล พิจารณาแล้วมันถอดมันถอน พิจารณาแล้วมีความสุข พิจารณาแล้วจิตใจมันเบา พิจารณาแล้วดีไปหมดเลย นี่เพราะเราได้ผิดพลาดมาแล้ว เราใช้แต่ปัญญา เราพยายามรีบด่วนได้ อยากได้ อยากเป็น อยากให้มันสมความปรารถนา เราทำงานโดยความผิดพลาดมา อันนี้มันสอน อันนี้มันเตือนเรา

ฉะนั้น พอจิตเราสงบแล้ว พอเราใช้ปัญญาของเรา พอใช้ปัญญา ใช้ได้แล้ว พอใช้ขึ้นมาได้นะ ไฟก็ดี คอมพิวเตอร์ก็ดี ทุกอย่างก็ดี ดีหมดเลย ดีหมด มันเรียบร้อยหมด ใช้งานได้ดีหมดเลย ใช้งานได้ดีแล้วเราก็ต้องคอยดูแลรักษาเครื่องของเรานะ เราต้องคอยดูแลรักษาไฟขึ้นมาให้ดีนะ แล้วคอมพิวเตอร์กับไฟมันเป็นวัตถุ มันเป็นสิ่งวัตถุที่เราควบคุมดูแลได้ง่าย

จิตใจมันดูแลได้ยาก เพราะจิตใจมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

เวลาทำงาน คนบอกว่า “ทำอย่างนู้นผิด ทำอย่างนี้ผิด” เราก็หงุดหงิด เห็นไหม

“แหม งานกำลังจะดีเลย ทำไมคนนู้นว่าผิด คนนี้ว่าผิด”

เวลาเราปฏิบัติไปกิเลสมันหลอกอย่างนี้ “อย่างนี้เป็นมรรคผล มีผลแล้ว อย่างนี้ไม่ใช่นะ” กิเลสมันคอยยุคอยแหย่ แล้วเราเห็นไหม เรารู้ไหม? เราไม่รู้หรอก ถ้าเราไม่รู้ไม่เห็น สิ่งนี้ในการกระทำเขาบอกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้ามันไม่มีชีวิต มันไม่มีกิเลสคอยยุมันมันยังต้องคอยดูแลกันขนาดนั้น แล้วจิตใจของเรามันมีกิเลสคอยแหย่คอยยุ คอยกระพือ คอยทำให้เสียหายตลอดเวลา ฉะนั้น เวลามันแหย่มา มันทำให้เราล้มเหลวนี่เราต้องไม่เชื่อ เวลาล้มเหลวแล้วเราเห็น ความล้มเหลวนี้เป็นเพราะอะไร? เพราะกิเลสมันบอก เพราะเราเชื่อมันไปแล้ว

ฉะนั้น เวลาพิจารณาใหม่ ถ้าสิ่งนี้มา...ไม่เอา

เวลาว่า “ไม่เอา” เราจะเอาสัจจะความจริง เราจะทำความสงบของใจให้ร่มเย็นของเรา แล้วเราพิจารณาของเรา ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงนะ จับกายให้ได้ จับเวทนาให้ได้ จับจิตให้ได้ จับธรรมให้ได้

แล้วกิเลสมันอยู่ไหน? กิเลสมันอาศัยกาย เวทนา จิต ธรรมเป็นเครื่องแสดงออก กิเลสมันอาศัยสิ่งนี้ อาศัยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ เป็นเครื่องแสดงออกไปทำตามความพอใจของมัน เวลาจิตเราสงบแล้ว เวลาเราจิตสงบเข้ามา พอสงบเข้ามา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาพิจารณาจิต เราใช้ปัญญา ปัญญาคือสังขาร สังขารนี้มีสัมมาสมาธิรองรับ ถ้ามีสัมมาสมาธิขึ้นมา มันรองรับขึ้นมานี่มันมีสัมมาสมาธิ เพราะตัวสัมมาสมาธิเป็นตัวกรอง กรองให้จิตใจนี้สงบร่มเย็น มีกำลังขึ้นมา พอมันมีสังขารขึ้นมา สังขารที่มีสัมมาสมาธิรองรับ พอสัมมาสมาธิรองรับ

เพราะมีสมาธิ “ศีล สมาธิ มันเกิดปัญญา” ปัญญานี้มันเกิดขึ้นมามันเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา ปัญญาไม่ใช่เกิดจากการศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ปัญญาไม่ได้เกิดจากฟังครูบาอาจารย์ ลอกเลียนแบบครูบาอาจารย์มาว่าเป็นเหมือนกัน เป็นของเรา อาจารย์ทำอย่างนี้ เราก็ทำอย่างนี้ให้เหมือนครูบาอาจารย์...มันไม่ใช่ รสนิยมไม่เหมือนกัน พฤติกรรมของจิตมันไม่เหมือนกัน กิเลสไม่เหมือนกัน

เวลากิเลสของครูบาอาจารย์ก็เป็นกิเลสครูบาอาจารย์ที่ท่านชำระแล้วสะอาดบริสุทธิ์ของท่านไปแล้ว แต่กิเลสของเรามันเกิดขึ้นมาในปัจจุบันนี้ สิ่งที่เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เห็นไหม กิเลสมันจะใช้สิ่งนี้ออกไปเพื่อความคิดเบี่ยงเบน คิดทำให้การปฏิบัติของเราล้มลุกคลุกคลาน

เรามีสติปัญญาขึ้นมา เราก็ใช้สิ่งนี้เหมือนกัน ใช้ปัญญา ใช้สังขาร ใช้ความคิดความปรุงความแต่ง แต่มีสัมมาสมาธิรองรับขึ้นมา ใช้พิจารณาแยกแยะกับมัน แยกแยะว่า นี่ไง อะไรเป็นกิเลส กิเลสมันใช้อะไร กิเลสมันแสดงตัวอย่างไร อะไรเป็นกิเลส นี่ไง จอกแหนแยกอย่างไร จอกแหนไม่มีชีวิต จอกแหนมีชีวิตที่ไหน น้ำมันก็ไม่มีชีวิต แล้วสิ่งที่มีชีวิต กิเลสที่มันมากับหัวใจ มันมาอย่างไร แล้วเวลามันพิจารณาของมันอย่างไร แล้วมันทำลายอย่างไร

นี่ไง เวลามันทำลายขึ้นมานะ พูดถึง แล้วอะไรมันเป็นกิเลส กิเลสอยู่ที่ไหน?

กิเลสมันอาศัยขันธ์ ๕ เวลาปุถุชนนะ

ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา นี่พูดถึงพระอรหันต์ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์เป็นภาระอย่างยิ่ง เวลาพิจารณาถึงที่สุดแห่งทุกข์ไปแล้ว ขันธ์ ๕ มันเป็นขันธ์ที่บริสุทธิ์ ขันธ์เป็นภาระ แต่ถ้าเป็นปุถุชน อย่างผู้ที่ปฏิบัติใหม่ “ขันธมาร” ขันธ์เป็นมาร เพราะอะไร เพราะกิเลสมารมันอยู่ที่หัวใจ มารมันอยู่ที่พลังงาน มารมันอยู่ที่ไฟฟ้า อยู่ที่ภพ ทีนี้พลังงานมันแสดงออก มันผ่านอะไรล่ะ? มันก็ผ่านขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่มันอาศัยสิ่งนี้เป็นเครื่องแสดงออกของมัน มันเป็นมาร มารมันคืออะไรล่ะ?

มารคือตัณหา ราคะ ความพอใจ ความผลักไส ความต่างๆ นี่เป็นตัณหา

แล้วตัณหามันอยู่อย่างนี้เราจะจับตัณหาอย่างไร ในเมื่อความคิดมันเป็นตัณหา แล้วเวลาถ้าจิตสงบ ตัณหามันก็สงบ ทุกอย่างมันสงบตัวลง ถ้ากิเลสไม่สงบตัว จิตมันจะสงบได้อย่างไร พอจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว เวลาถ้ามันใช้ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เพราะมันอยู่บนสัมมาสมาธิ พอขันธ์ ๕ มันอยู่บนสัมมาสมาธิ มันถึงเป็นมรรค มันถึงเป็นปัญญา มันถึงเป็นมรรคญาณที่มันจะชำระกิเลสไง

ทีนี้ พอชำระกิเลส พอมันใช้พิจารณาของมันไป พอพิจารณาของมันไปพลังงานมันเริ่มอ่อนลง การกระทำของเรามันชักเริ่มอ่อนลง พออ่อนลง กิเลสมันก็กระดุกกระดิก กิเลสมันก็ฟื้นตัวขึ้นมา กิเลสมันก็สอดเข้ามาไง สอดให้เราล้มลุกคลุกคลาน

“การต่อสู้กิเลส” กิเลสมันคืออะไร กิเลสมันอยู่ที่ไหน แล้วใครเป็นคนเห็นกิเลส แล้วใครเป็นคนฆ่ากิเลส แล้วกิเลสมันเป็นอย่างไร

แต่ถ้ามันตามความเป็นจริงมันจะรู้มันจะเห็นของมัน ถ้ารู้เห็นของมัน กายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมก็ได้ แต่ความว่าง ความว่างมันคืออะไร

“ความว่างชนความว่าง” นี่งง อะไรความว่างชนความว่าง?

ลูกโป่งชนลูกโป่งมันได้อะไรขึ้นมา กาแล็กซีชนกาแล็กซี ชนกันมันก็เกิดดาวดวงใหม่ แล้วความว่างชนความว่าง ชนแล้วกิเลสมันหลุดไปตรงไหน กิเลสมันขาดไปตรงไหน อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นธรรม แล้วความว่างชนความว่างไม่มีชีวิตน่ะ ความว่างมันความรู้สึกอะไร

“ความว่างชนความว่าง” คนปฏิบัติแล้วสบายๆ สบายแล้วได้อะไรขึ้นมา สบายๆ เดี๋ยวมันก็จะรอเสื่อมไง สบายๆ มันจะรอทุกข์รอยาก

ฉะนั้น มันต้องมีเหตุมีผลสิ พูดเป็นสูตร “ชุดความคิด” พอพูดแล้วเป็นชุดความคิด แล้วชุดความคิดนะ กาลเวลา เวลากาลเวลามันผ่านไป ชุดความคิดนี่เปลี่ยน คนเรานะ ถ้ามันไม่รู้จุดยืน ไม่รู้ความจริง ครูบาอาจารย์ของเรา จิตใจท่านมีคุณธรรม มีความจริงในหัวใจ พอมีความจริงในหัวใจ ท่านจะพูดสิ่งใดก็แล้วแต่นั้นเป็นทางผ่านของธรรม ท่านพูดสิ่งใด ธรรมที่ในหัวใจของท่าน ท่านจะแสดงธรรม ธรรมมันคืออะไรล่ะ

ดูสิ เวลานิพพานมันจบสิ้นไปแล้ว แล้วที่พูดออกมามันเอามาจากไหน?

นี่มันต้องมีสื่อ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา เวลา ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา แต่ด้วยปัญญาของท่าน ด้วยยกบุคลาธิษฐาน ยกตัวอย่าง ยกอุบาย ยกสิ่งที่ให้เราจับต้องได้ แต่เวลาเราทำไปแล้วมันจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ มันจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ แต่ไม่เป็นอย่างนั้นเพราะจิตใจเรารู้ได้ เราสงบเราก็รู้ว่าสงบ เวลามันพิจารณาไปเราก็รู้ว่าพิจารณา เวลาสงบขึ้นมานะ เวลาใครไม่เคยเป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิขึ้นมามันตื่นเต้นมาก อ๋อ! อ๋อ! อยู่อย่างนั้นนะ ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น ได้รู้ได้เห็น เห็นแล้ว โอ้โฮ! รู้แล้ว จับต้องได้แล้ว วันหลังอยากได้อีกเกือบเป็นเกือบตาย เพราะอะไร เพราะของมันมีค่ามาก

เวลาทำบุญกุศลขึ้นมา ความเข้าอกเข้าใจกันในบ้านของเรานั่นคือบุญอย่างมาก ถ้าเราเข้าอกเข้าใจเรื่องใจของเรายิ่งมีบุญเข้าไปใหญ่ นี่ในบ้านของเราเข้าอกเข้าใจกันไปหมดเลย แต่หงุดหงิด ทำอะไรก็ไม่ถูกใจสักอย่าง ไม่เคยทำอะไรแล้วพอใจเลย เห็นไหม นี่เราไม่เข้าใจกับเราเอง ในสังคม ในครอบครัวเราเข้าใจกัน แล้วเรายังเข้าใจความคิดเราอีก เรารู้ทันความรู้สึกของเราหมดเลย เห็นไหม นี่บุญกุศล บุญมันเกิด นี่เรื่องบุญนะ

แล้วเวลาจิตมันสงบขึ้นมา เราทำสัมมาสมาธิ จิตมันสงบขึ้นมา มันมีค่าขนาดไหน แล้วเวลามันเกิดปัญญาขึ้นมา เกิดอริยมรรคขึ้นมา ดูสิ โสดาปัตติมรรค มรรคมันเคลื่อนตัว ปัญญามันหมุนออกไป มันจะมีคุณค่ามากขึ้นมา เพราะเราแสวงหากันสิ่งนี้ งานของทางโลกเขา ดูสิ ดูที่ปรึกษากฎหมาย เวลาผู้ที่ลงทุนต่างๆ ต้องมีที่ปรึกษา จ้างเขามา จ้างเขามาให้ปัญญาไง เราทำสิ่งใดไปมันก็กลัวผิดกลัวพลาด ทำอะไรไปก็กลัวผิดทางกฎหมาย ต้องจ้างที่ปรึกษากฎหมาย จ้างบริษัทที่ปรึกษา จ้างหมดเลย จ้างมาให้บริษัทนี้เข้มแข็ง

แต่เวลาปฏิบัติไปจ้างใคร ไปจ้างที่ไหน จ้างครูบาอาจารย์มาสร้างสติให้ จ้างครูบาอาจารย์มาสร้างปัญญาให้ จ้างที่ปรึกษามาจะปรึกษาแล้วจะให้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาให้ได้เลย มันจะไปจ้างใครมา จ้างมาเดี๋ยวเวลาจะเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมาเป็นของผู้ชี้นำหมดนะ คนจ้างจะไม่ได้อะไรเลย

ฉะนั้น ถ้าเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา เราจะรู้ทันของเรา ถ้ารู้ทันของเราขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์นะ อย่าให้ทำสักแต่ว่าทำ จิตใจอ่อนด้อย แล้วเวลาทำขึ้นมานะ ไปเอาคำพูดของครูบาอาจารย์น่ะ...สาธุ นั่นเป็นธรรมหมดนะ คำว่า “เป็นธรรม” ท่านแสดงออกมาเพื่อเป็นประโยชน์กับพวกเราทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาทำไปแล้วเราไม่มีความจริงขึ้นมา แล้วไปยึดคำพูดของท่านเป็นรูปเลย เป็นสิ่งที่ว่าเราจะต้องทำให้เป็นอย่างนั้นๆ เลยน่ะ มันปิดโอกาสเรานะ ถ้าเราทำอะไรให้มันเป็นความจริงของเราขึ้นมาเถอะ จะพิจารณากายก็ได้ พิจารณาเวทนาก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาธรรมก็ได้ ขอให้มันเป็นของเราเถอะ

ถ้ามันเป็นของเรา สิ่งที่เป็นของเรา ดูสิ เวลาในวิสุทธิมรรค เวลาไปเที่ยวป่าช้า ไปเห็นกายนอก ไปเห็นสิ่งต่างๆ ขึ้นมาก็เพื่อจะเข้ามาชำระกิเลสในหัวใจของเราทั้งนั้นน่ะ ถ้าพอเราเห็นกายของเราล่ะ กายนอก-กายใน-กายในกาย

ในสังคมชาวพุทธเขาบอก “กรรมฐานชอบเล่นลิ้น กายนอก-กายใน-กายในกาย เวทนานอก-เวทนาใน มันจะมีที่ไหนในพระไตรปิฎกก็ไม่มี คิดกันขึ้นมาเอง”

ในพระไตรปิฎกนะ ท่านพูดเป็นแบบวิทยาศาสตร์ สูตรทฤษฎีมันต้องเป็นอย่างนี้ แต่เวลาพิจารณาไปแล้วมันมีโสดาบัน มีสกิทาคา มีอนาคา มรรคหยาบ-มรรคละเอียด ความหยาบ-ความละเอียดของเวทนาของคนมันไม่เหมือนกัน ความหยาบ-ความละเอียดของกายมันก็แตกต่างกัน ความหยาบ-ความละเอียดนะ เพราะความเห็นรูปภายนอก แล้วรูปภายในล่ะ แล้วรูปในจิตล่ะ...อู๋ย! ภาวนาไปน่ะ

แล้วเวลาในครูบาอาจารย์ของเรา เวลาท่านสนทนากัน ท่านจะพูดอย่างไรให้เข้าใจกัน คนที่ทำมาเหมือนกับนายช่าง นายช่างที่เขาอยู่ในโรงงาน ห้องไหนหับไหนเขาก็คุยกันรู้เรื่องหมด ไปอยู่ดูเครื่องที่ห้องนั้น ดูเครื่องที่ห้องนี้ เขารู้หมด นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติ มรรค ๔ ผล ๔ ถ้าผู้ปฏิบัติมาแล้วมันผ่านมรรคผ่านผลมา มันพูดมันจะเข้าใจได้

ทีนี้ การพูด การเข้าใจได้ นี่ไง กายนอก-กายในก็เป็นอย่างนี้ไง กายนอกก็โสดาบัน กายในก็สกิทาคา กายในกายก็อนาคา แล้วกายของจิตล่ะ นี่พิจารณากาย กายไหน เวลาพิจารณาเวทนา เวทนาไหน พิจารณาอย่างไร พิจารณาตรงไหน แล้วมันปล่อยวางตรงไหน มันปล่อยวางอย่างใด

บอกมา! มันมีไหม?

มันไม่มี แต่บอกว่าเหมือนครูบาอาจารย์นะ

มันเป็นศักยภาพของครูบาอาจารย์เรานะ ครูบาอาจารย์ของเรา อย่างเช่นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านใช้ชีวิตของท่านนะ หลวงปู่มั่นท่านเอาชีวิตของท่านเข้าป่าเข้าเขาประพฤติปฏิบัติมาเพื่อเป็นแบบอย่างของพวกเรา นี่ด้วยรูปกายของท่าน แต่ถ้าในหัวใจของท่าน ท่านประพฤติปฏิบัติมาจนท่านชำระกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนด้วยความบากบั่น เพราะกิเลสมันชักนำให้หลงผิด แล้วเวลาท่านต่อสู้กับท่าน ท่านทำของท่านขึ้นมา ด้วยรูปกายของท่าน การดำรงชีวิตของท่านเพื่อให้เป็นแบบอย่าง ให้พวกเราเอาเป็นแบบอย่าง มีคติธรรม มีแบบอย่างให้เราดำเนิน

เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาในหัวใจของท่าน ท่านทำความจริงของท่านขึ้นมา มันเป็นความจริงของท่าน แล้วเวลาท่านสั่งสอนขึ้นมา ท่านสมบุกสมบันแค่ไหน แล้วเพื่อใคร แล้วครูบาอาจารย์ของเรา ชีวิตของท่านทั้งชีวิตเลย ท่านทำให้เราดู ท่านปฏิบัติมาให้เราดู ให้เป็นเครื่องดำเนินของเรา ท่านใช้ชีวิตสุรุ่ยสุร่าย ชีวิตแบบพวกเราไหม แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านเก็บหอมรอมริบสติของท่าน ท่านจะไม่คลุกคลีกับใคร ท่านจะไม่ไปในสังคม ในที่รโหฐานท่านจะไม่ไป ท่านทำเป็นแบบอย่าง นี่คนมีธรรมเขาเป็นแบบนั้น มันแสดงออกไง

เหมือนหมอ หมอเขาจะไปที่ไหนเขาจะรักษาสุขภาพของเขา ที่ไหนมีเชื้อโรค ที่ไหนเป็นที่อันตราย หมอจะไม่ไปที่นั่น เพราะเขารู้ว่าเชื้อโรค พอเข้ามาแล้วการรักษานี้ลำบากมาก ยิ่งติดเชื้อในสมัยนี้ หมอกลัวมาก ทุกคนกลัวการติดเชื้อ เพราะการติดเชื้อเข้ากระแสเลือดแล้วจะเอาอะไรรักษามัน นี่ไง เขารักษา

ครูบาอาจารย์เราก็เหมือนกัน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านถนอมรักษาลูกศิษย์มากนะ เวลาไปก็ให้ไปป่าไปเขา อย่าเข้าไปในป่ามนุษย์ อย่าเข้าไปในสังคม ที่อโคจร ที่พลุกพล่าน ที่อโคจร ภิกษุไม่ควรไป ที่ที่ภิกษุควรไป ควรประพฤติปฏิบัติ ทำไมไม่ไป นี่ไง มันบอกถึงกึ๋น มันบอกถึงหัวใจอันนั้นน่ะว่าเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ถ้าหัวใจที่ไม่เป็นจริงมันละล้าละลัง มันห่วง ห่วงหน้าห่วงหลัง ห่วงอยากจะเข้าไปคลุกคลี อยากจะเข้าไปสังคม อยากไปหมด

แต่วิเวกไม่ไป แต่วิเวกไม่ไปนะ สัปปายะไม่ไปนะ สิ่งใดที่ไปแล้วเกิดประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งใดไปแล้ว หรือว่าเขาบอกว่าเขาบรรลุธรรมหมดแล้ว เขาสิ้นกิเลสกันหมดแล้วเขาถึงไม่ต้องไปสิ่งที่อย่างนั้นอีกเลยเหรอ

เวลาหลวงปู่ขาว หลวงปู่มั่นท่านไปสำเร็จที่เชียงใหม่ แล้วท่านจะละที่นั่นมา ท่านบอกเดินออกมาแล้วมันละล้าละลัง เห็นคุณของสถานที่ ย้อนกลับไปมอง เหลียวหลังกลับไปมอง เห็นคุณของมัน เห็นคุณของป่าเขา เห็นคุณของที่สงบสงัด เห็นคุณของการที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วได้คุณธรรมอันนี้มา ท่านจะออกมา ออกมาก็มาอยู่ป่านั่นแหละ เพียงเปลี่ยนสถานที่ท่านยังละล้าละลังกับสถานที่ที่มีคุณกับเรา

ฉะนั้น บอกว่า “เราบรรลุธรรมหมดแล้ว ไม่ต้องไปป่าไปเขาอีกแล้ว จะไปคลุกคลีอย่างไร จะเข้าไปสังคมใดใจฉันก็มั่นคง” นี่ไง มันถึงเป็นการว่าไม่รู้คุณ ไม่รู้คุณแม้แต่สถานที่ ไม่รู้คุณของเสนาสนะ ไม่รู้คุณของเสนาสนะป่า ไม่รู้คุณของครูบาอาจารย์ของเราที่วางรากฐานกันมา

ฉะนั้น ถ้าเป็นความจริง มันจะเห็นคุณไปหมดนะ เหมือนหมอจริงๆ หมอจะรู้เห็นเชื้อโรค เห็นสิ่งต่างๆ เห็นความเสี่ยงของคนไข้ เห็นความเสี่ยงของการดำรงชีวิตว่าไม่ควรเสี่ยงอย่างนั้น ทำให้ร่างกายเราเกิดอาพาธ แต่ถ้าเรารักษาร่างกายของเรา เราดูแลร่างกายของเรา เราจะไม่ต้องไปเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บแบบนั้น

จิตใจ ถ้าครูบาอาจารย์ของเราท่านดูแลรักษา ยิ่งครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นแบบอย่างของเรา แล้วท่านก็ล่วงไปล่วงไป แล้วผู้ที่อยู่นั้นมันมีอะไรขึ้นมาล่ะ จะทำให้เหมือนใช่ไหม มีแต่ความเหมือน แต่ไร้ซึ่งข้อเท็จจริง ไร้ถึงความเป็นจริงในหัวใจ “เหมือน” เหมือนโดยรูปแบบภายนอก หัวใจไม่มีความเป็นจริง ไม่มีคุณธรรมในใจนั้นเลย

ถ้ามีคุณธรรมในดวงใจนั้น การเทศนาว่าการ การแสดงธรรมน่ะ

ขุดคลองต้องมีน้ำ ขุดคลองเพื่อเป็นทางสัญจรของสังคม

ขุดคลองขึ้นมาเพื่อน้ำ เพื่อการเกษตร เพื่อการดำรงชีวิต เพื่อความเป็นอยู่ต้องมีน้ำ

ขุดคลองมีแต่ดิน ไม่มีน้ำ แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับใคร คลองนี้เอาไว้อวดใคร

แต่ถ้ามันมีน้ำ ในคลองนั้นมีน้ำ ไม่ต้องอวดใคร

แหล่งน้ำอยู่ที่ไหน ชีวิตมีที่นั่น ที่ไหนมีแหล่งน้ำ สังคมอยู่ที่นั่น สังคมเขาไปหาแหล่งน้ำนั้นเอง ไม่ต้องให้แหล่งน้ำวิ่งไปหาสังคม สังคมเขาจะมาหาแหล่งน้ำนั้นเพื่อประโยชน์กับสังคมนั้น เอวัง