เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๗ พ.ย. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม เรามาทำบุญกุศลนะ เวลาเสียสละมันเป็นบุญกุศล เวลาบุญกุศลเราเสียสละเป็นวัตถุ เวลาเราไปทำบุญกุศลแล้วเราได้ไปวัดไปวา หลวงปู่ฝั้นบอกว่า

“ไปวัดใจ”

วัดใจนะ เวลาคนถามว่า “เวลาอยู่ในชีวิตประจำวันนี่ทำอย่างใด?”

ท่านบอกว่า “นั่งรถเมล์ หายใจเข้าให้นึกพุท หายใจออกให้นึกโธ อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ”

การหายใจ นี่ทางวิทยาศาสตร์เราหายใจเพื่อดำรงชีวิต ถ้าขาดออกซิเจนการหายใจชีวิตนี้ก็อยู่ไม่ได้ อันนี้เป็นอาหารอันหนึ่งของร่างกาย แต่เวลาเรากำหนดพุทโธ สิ่งนี้มันเกี่ยวเนื่องกัน ถ้าเกี่ยวเนื่องกันเราทำบุญกุศล เพราะจิตของเรานี่ผลของวัฏฏะ เห็นไหม แต่ถ้าเรามีปัญญา ฟังธรรมนี่มันเตือนเรานะ เตือนเราให้เรามีสติปัญญา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เห็นไหม

“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ความไม่ประมาท พิจารณาสังขารมี ๒ อย่าง สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง กับสังขารร่างกาย สังขารร่างกายนี่ทุกคนรู้ได้เห็นได้ แต่สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง เราบอกว่าความคิด เห็นไหม เวลาเราฟุ้งซ่าน เวลามีความทุกข์นี่ความคิดบีบคั้นเรา ความคิดบีบคั้นเรา ร่างกายมันแปรสภาพไป เวลามันเสื่อมสภาพไปเป็นธรรมชาติของมัน

แต่เวลาความคิด นี่ความคิดว่าร่างกายแปรสภาพไป เราไม่อยากให้มันเป็นไปตามสภาพนั้น เราต้องการให้มันเป็นไปตามความพอใจของเรา เห็นไหม ความคิดซ้อนเข้าไป ถ้าความคิดซ้อนเข้าไป ดูความเจ้าเล่ห์ของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก กิเลสมันเจ้าเล่ห์มาก มันเจ้าเล่ห์กับความรู้สึกนึกคิดของเรา เราบอกว่าเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ เราคิดสิ่งใดต้องเป็นวิทยาศาสตร์

ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์นะ แล้วความคิดมันเป็นวิทยาศาสตร์กับเราไหม? ความคิดมันซื่อตรงกับเราไหม? ถ้าความคิดมันซื่อตรง ทำไมมันมีเล่ห์กลของมันล่ะ? เล่ห์กลของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เห็นไหม เบียดเบียนตนแล้วก็เบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนตนก่อนนะ หลวงตาท่านบอกว่า

“หูกับปากอยู่ใกล้กัน”

หูกับปากอยู่ใกล้กัน เห็นไหม คนพูดเองหูเราไม่รำคาญ แต่คนอื่นเขารำคาญ นี่คนอื่นเขารำคาญ ข้างนอกเขารำคาญ นี่ความรำคาญของเขา เวลาว่าการสะเทือนกัน มันสะเทือนกัน มันเบียดเบียนตนก่อนไง เบียดเบียนตนนี่หูกับปากมันอยู่ด้วยกัน แต่คนพูดไม่รู้เรื่อง คนพูดไม่ได้ยินว่าตัวเองพูดสิ่งใด แต่คนข้างเคียงเขาได้ยิน พอได้ยินนี่เบียดเบียนตนแล้วเบียดเบียนผู้อื่น

เบียดเบียนตน ตนไม่เข้าใจว่าเบียดเบียนตน แต่เบียดเบียนผู้อื่น ผู้อื่นเขาเข้าใจได้นะ ผู้อื่นเขารับแรงกระทบนั้นได้ แต่ตัวเองไม่ได้รับแรงกระทบ เห็นไหม นี่เบียดเบียนตน เบียดเบียนตนเพราะตนไม่รู้ว่าเบียดเบียนตนถึงได้เบียดเบียนผู้อื่น แต่ถ้าตนรู้ว่าเบียดเบียนตน เวลามันเสวยอารมณ์ มันเริ่มขยับ

“อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า”

เพราะพระอริยเจ้านิ่งอยู่นั่นล่ะมันคือสัจธรรม เวลาขยับมันส่งออกแล้ว มันขยับ พอมันขยับคือมันส่งออก แต่ถ้าขยับแล้วมันเป็นประโยชน์ เห็นไหม ดูสิหลวงปู่มั่นเวลาเทศนาว่าการนะ น้ำไหลไฟดับเลย น้ำไหลไฟดับ แล้วคนที่ต้องการสภาวะแบบนั้น ต้องการการชี้นำ ต้องการการเตือนสติ ต้องการการบอกทาง นี่เขาจะได้ประโยชน์ของเขามาก

ถ้าเป็นประโยชน์ พระอริยเจ้าท่านจะทำเพื่อประโยชน์อันนั้น แต่ถ้าพูดออกไปหรือสะเทือนสิ่งใดไปมันไม่เป็นประโยชน์ เห็นไหม ไม่เบียดเบียนตนไง เบียดเบียนตนหลวงตาบอกว่า

“ความคิดนี่เหมือนขอนไม้ เราไปแบกขอนไม้ทีละขอนนี่หนักไหม?”

ความคิดเหมือนขอนไม้ จิตมันต้องแบกความคิดมันถึงจะแสดงออกมา จิตมันจะเสวยอารมณ์ จิตมันพุ่งออกไป นี่เบียดเบียนตนไง แต่เวลาขอนไม้เราอยากแบก เราชอบแบก เราชอบคิด เราชอบนึก เราชอบความฟุ้งซ่าน เราชอบความทุกข์ เราแบกขอนไม้กัน เราแบกความหนักหน่วงในหัวใจ แต่ไม่รู้ว่าแบก เห็นไหม ดูความเจ้าเล่ห์ของมันสิ

นี่เวลาสุนัขจิ้งจอกนะ เราว่าสุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ แต่ความเจ้าเล่ห์ของมัน มันเจ้าเล่ห์เพื่อดำรงชีวิตนะ มันเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันเป็นสัญชาตญาณของมัน มันเป็นธรรมชาติของมัน ของสุนัขจิ้งจอก สุนัขจิ้งจอกมันต้องหาอยู่หากินของมันด้วยปัญญาของมัน แต่เราว่าสุนัขจิ้งจอกมันเจ้าเล่ห์ นี่ความเจ้าเล่ห์ของมัน มันก็เจ้าเล่ห์เพื่อดำรงชีวิตนะ แต่เวลากิเลสมันเจ้าเล่ห์ เห็นไหม มันเจ้าเล่ห์กับเรา มันเจ้าเล่ห์ มันหลอกลวงเรา มันเบียดเบียนในความรู้สึกของเรา มันเจ้าเล่ห์ไหม? ถ้ามันเจ้าเล่ห์ เราจะทำสิ่งใดเพื่อจะตรวจสอบมันล่ะ? เพื่อความเข้าใจสิ่งนี้ได้

ความเข้าใจสิ่งนี้ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม นี่ได้ทำลาย เห็นไหม

“เราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา”

ฟองไข่ ไก่ตัวแรกที่มันเจาะฟองอวิชชาออกมา ความอวิชชาออกมามันครอบลูกไก่นั้นไว้ แต่เราไม่รู้ไม่เห็น เราไม่เห็นไก่ของเรา เราไม่เห็นลูกไก่ของเรา เราไม่เห็นไข่ด้วย แล้วเราจะไปเจาะอะไร? ถ้าเรายังไม่มีความสงบของใจ เราไม่เห็นความรู้สึกนึกคิดของเรา เราจะไม่เห็นความเจ้าเล่ห์ของมันเลย แต่ถ้าเรามีความสงบของใจ เราควบคุมใจของเราได้ เวลาจิตใจเราสงบร่มเย็น เห็นไหม นี่ไงวิทยาศาสตร์เป็นแบบนี้

บอกว่าธรรมะเป็นวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างต้องเป็นวิทยาศาสตร์ นี่การเกิด การตาย เรื่องจิตวิญญาณต้องพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์สิ ถ้าวิทยาศาสตร์ ถ้าจิตมันสงบเข้าไปนี่เป็นวิทยาศาสตร์ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เพราะตามข้อเท็จจริงของมัน ตามข้อเท็จจริงของใจ จิตมันสงบเข้ามาได้ แต่นี้มันสงบเข้ามาไม่ได้ เห็นไหม เพราะความเจ้าเล่ห์ ความเจ้าเล่ห์มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์เพราะอะไร? ไม่เป็นวิทยาศาสตร์เพราะมันมีตัณหาความทะยานอยากไง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์เพราะมันหลอกลวงไง แล้วมันเป็นนามธรรม

แล้วบอกว่าธรรมะเป็นธรรมชาติๆ ธรรมชาติ เราก็รู้ธรรมะ เราก็ศึกษาธรรมะหมดแล้วล่ะ สรรพสิ่งเป็นธรรมชาติหมดแหละ เป็นธรรมชาติต่อเมื่อหัวใจที่สิ้นกิเลสแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านมองเป็นธรรมชาติ เพราะสิ่งนั้นไม่ให้ผลกับใจดวงนั้นไง ใจดวงนั้นเข้าใจสภาวธรรมทั้งหมด เข้าใจสภาวะความเกิดและความตาย เข้าใจรู้แจ้งหมด เห็นไหม สิ่งนั้นไม่มีการกดถ่วงใจดวงนั้น มันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ของเราเป็นอย่างนั้นไหมล่ะ? เวลาจะพลัดพรากกันไปนี่เสียอกเสียใจจนหัวใจจะหลุดออกไปจากอก

เวลาสิ่งใดกระเทือนเรา เห็นไหม เป็นธรรมชาติไหม? เป็นธรรมชาติเราก็ว่านี่โลกธรรมไง เป็นเรื่องธรรมดา ทำไมมันวูบวาบล่ะ? ทำไมมันเสียใจล่ะ? มันถึงไม่เป็นธรรมชาติไง ไม่เป็นธรรมชาติเพราะมันมีอวิชชา ไม่เป็นธรรมชาติเพราะมันมีตัณหาความทะยานอยาก มันคาดหมาย มันคาดหวัง มันต้องการ มันต้องให้เป็นไปตามความพอใจของมัน มันไม่เป็นธรรมชาติเพราะเหตุนี้ไง แต่ถ้ามันเป็นธรรมชาติเพราะว่าจิตมันเป็นธรรมชาติ มันเป็นวิทยาศาสตร์ถึงว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

พิสูจน์ได้ ตั้งสติไว้ แล้วเรามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม เราควบคุมใจของเราได้ ถ้ามันสงบเข้ามา นี่ไงวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เกิดแล้ว แล้วจะทดสอบอย่างไร? จะทดลองอย่างไร? ถ้าจิตมันสงบแล้วเราใช้ปัญญาอย่างไร? ถ้าเราใช้ปัญญาขึ้นมา เห็นไหม เราจะเห็นว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาตรงนี้ปัญญาเกิดจากภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากธรรมจักร ไอ้ปัญญาอย่างเรานี่มันปัญญาขี้โกงไง ปัญญาเจ้าเล่ห์ไง

นี่เวลาจะปฏิบัติธรรมนะ ทุกคนอยากปฏิบัติธรรม เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม? เราเชื่อมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม? เราเชื่อมั่นในมรรค ผล นิพพานใช่ไหม? เราก็อยากจะพ้นจากทุกข์ใช่ไหม? เราก็อยากปฏิบัติกันใช่ไหม? แล้วได้ไหมล่ะ? นี่มันเจ้าเล่ห์ไง หนาวนักก็ไม่ทำงาน ร้อนนักก็ไม่ทำงาน อ้างเล่ห์ไง เดี๋ยวพรุ่งนี้ เดี๋ยวมะรืนนี้ เดี๋ยวนั่งแล้วมันจะเป็นนู่นเป็นนี่

นี่ไงความเจ้าเล่ห์ของมัน เห็นไหม ถ้ามันเป็นความเจ้าเล่ห์มันก็ไม่เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ถ้ามันจะเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เรารักษาของเรา เราทำของเรา ถ้ามันเริ่มสงบเข้ามา ถ้ามันสงบได้ มันสงบได้นี่มันรู้ได้ มันพิสูจน์ได้ เหมือนวิทยาศาสตร์ที่เขาทดสอบได้

นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นวิทยาศาสตร์ แต่เราทดสอบมันไม่ได้ มันเป็นวิทยาศาสตร์ แต่มันโดนพญามาร โดนอวิชชาครอบงำหัวใจเราไว้ แล้วมันขับไสไป แล้วเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราก็เชื่อมั่นของเราใช่ไหม? เราเชื่อมั่นของเรา เราเชื่อมั่นของเรา แล้วเราจะทำของเราให้ได้

ความเชื่อ ความศรัทธา ความเชื่อทำให้เรามาทดสอบ ความเชื่อทำให้เราพยายามค้นคว้าของเรา แต่ความเชื่อมันยังไม่เป็นความจริงขึ้นมา ถ้าความจริง ถ้าวิทยาศาสตร์เป็นความจริง นี่นักวิทยาศาสตร์ เห็นไหม ทางทฤษฎีเขาก็รู้หมดแหละ แต่เราทดสอบออกมาทำค่าให้เราเห็นได้ไหม? ถ้าทำค่าให้เราเห็นมันก็เป็นอย่างนั้น แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เราทดสอบหรือยังล่ะ? มันเป็นทฤษฎีที่เราเชื่อตามทฤษฎี แต่นักวิทยาศาสตร์ที่เขาทดสอบแล้วเขารู้ของเขา เขาเชื่อมั่นของเขา เพราะเขาทำของเขา ต่อหน้าของเขา

ในการถ้าจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม มันก็สงบต่อหน้าเรา แล้วมันสงบต่อหน้าเรา นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ธรรมะมันเป็นที่นี่ มันเป็นสันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโกรู้จำเพาะตน รู้จำเพาะในความรู้สึกนั้น ความรู้สึกนั้นทุกข์ ก็ความรู้สึกนั้นรู้ว่าทุกข์ ความรู้สึกนั้นสุข ก็ความรู้สึกนั้นรู้ว่าสุข ความรู้สึกนั้นปล่อยวาง ก็ความรู้สึกนั้นปล่อยวาง แล้วความรู้สึกนั้นมันมีปัญญาขึ้นมา เห็นไหม พอมีปัญญาขึ้นมามันจะลากให้ความรู้สึกนั้น คือภวาสวะ คือภพนั้น คือจิตวิญญาณนั้น ปฏิสนธินั้นให้กำจัด ให้การไกล่กรอง การฟอกใจ ที่ใจมันสะอาดๆ สะอาดอย่างไร? ใจมันสะอาดอย่างไร? แล้วใจดวงนี้สะอาดไหมล่ะ?

นี่ถ้าเราเป็นปัญญาชนนะ เป็นผู้ที่จิตใจเป็นสาธารณะ เขาว่าใจเขาสะอาดนะ เราไม่มีเล่ห์กลในใจเราเลย เราอยู่เพื่อสังคม เราทำเพื่อสังคม แล้วมันสะอาดจริงไหมล่ะ? จิตใจเขาเป็นสาธารณะไง แต่ภวาสวะ ภพ อวิชชาสวะ คืออวิชชาความไม่รู้ กิเลสสวะ กิเลสคือตัณหาความทะยานอยาก ภวาสวะคือภพ ภพไง ปฏิสนธิจิตคือตัวภวาสวะ นี่ฐีติจิต จิตเดิมแท้นี่แหละ เห็นไหม ความคิดมันเกิดบนอะไร? ภพชาติมันเกิดบนอะไร? มันเกิดบนภพนี่แหละ บนสถานที่ตั้งของจิตนี่แหละ

ฉะนั้น บอกว่าจิตเป็นสาธารณะ จิตเป็นสาธารณะ ตัวจิตนั้นแหละคือตัวกิเลส จิตเป็นสาธารณะ ความเป็นสาธารณะคือสติปัญญาที่เราอยากเป็นสาธารณะ แต่ตัวมันเองยังเกิดยังตายอยู่ ตัวมันเองยังมีสถานะที่จะต้องกำจัด ต้องชำระล้างอยู่ เห็นไหม ถึงจิตเป็นสาธารณะ เราบอกนี่เป็นจิตสะอาด ทุกคนก็ว่าเป็นจิตสะอาด เขาสะอาดบริสุทธิ์ เขาไม่เคยคิดชั่วเลย

ใช่ ไม่เคยคิดชั่วเลย นี่ไงที่เราบอกปัญญาของโลก นี่โลกียปัญญา แต่ถ้าปัญญาในพุทธศาสนามันต้องเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดธรรมจักร เกิดมรรคญาณ ญาณมันหยั่งรู้หยั่งเห็นนะ หยั่งเห็นถึงในหัวใจ ดูสิ ดูปัจจุบันเวลาเราทำสมาธิ เวลาจิตมันใช้ปัญญาส่งออก ส่งออกมันก็ส่งออกเป็นอดีต-อนาคตไปแล้ว แต่พอมันเข้าไปถึงตัวจิต ฐีติจิต จิตเดิมแท้ แล้วจิตเดิมแท้มันทำงานในตัวมันเอง มันเป็นปัจจุบันในตัวมันเอง แล้วมันทำลายภวาสวะ ภพ มันกลืนกินตัวมันเองอย่างไร? มันทำลายตัวมันเองอย่างไร?

ถ้ามันทำลายตัวมันเองไปแล้ว นี่มันไม่มีสถานะในกามภพ รูปภพ อรูปภพ มันเป็นวิมุตติ มันเป็นสัจธรรมที่เที่ยงตรง มันถึงว่าสรรพสิ่งนี้เป็นธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติหมดเลย เป็นธรรมชาติต่อเมื่อสิ้นกิเลส แต่เรากิเลสทั้งตัวมันเป็นธรรมชาติได้อย่างไร? ธรรมชาติก็คือการเกิดไง ธรรมชาติของวัฏฏะไง มันไม่ใช่สัจธรรมแท้ไง นี่มันธรรมะด้นเดาไง นี้เราต้องแก้ไขของเรา เราทำของเรา เห็นไหม เพราะความฉ้อฉล เพราะความเจ้าเล่ห์ ความเจ้าเล่ห์ของอวิชชานะ เพราะมันไม่รู้ เพราะความไม่รู้ ไม่รู้มันก็เจ้าเล่ห์ แต่ถ้ามันรู้จริงมีวิชาขึ้นมาแล้วมันทดสอบแก้ไขแล้วด้วยสติปัญญา ด้วยข้อเท็จจริงมันหาทางออกไม่ได้ มันหลบ

นี่กิเลสกลัวธรรมะ คือกลัวเหตุและผล ถ้าเหตุและผลเข้าไปกางด้วยเหตุและผล มันต้องยอมรับเหตุและผล ทีนี้การยอมรับนี่เราคุยกัน เห็นไหม เราเซ็นสัญญากันยังโกงกันเลย เราเซ็นสัญญาตกลงกันแล้วนะ ฟ้องศาลกันนี่โกงกันตลอดเลย นี่ไงตกลงกันแล้ว เหตุและผล ลงเอยกันแล้ว เซ็นสัญญาแล้ว ยังจะต้องไปฟ้องศาลกันอยู่ แต่ถ้าเวลาธรรมจักรมันขึ้นมา มันด้วยเหตุและผลได้ไกล่กรองขึ้นไป มันกลืนกินตัวมันเอง มันทำลายตัวมันเอง มันเป็นปัจจุบันนั้น ไม่มีอดีต อนาคต ไม่ต้องตกลงอะไรกันแล้ว

เหตุ เห็นไหม นี่เหตุปัจจัยทำให้มันสิ้นไป พอสิ้นไปมันจบแล้วมันจะไปฟ้องร้องเอากับใคร มันไม่มีสิ่งใด ไม่มีที่มา ไม่มีที่ไป ไม่มีอะไรทั้งสิ้น จะไปฟ้องร้องกับใคร? นี่ไงภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากภายใน เวลาเกิดจากโลกุตตรธรรม เกิดจากสัมมาสมาธิ เกิดจากจิต แต่ในปัจจุบันนี้ปัญญาเกิดจากสมอง มนุษย์เป็นสัตว์มหัศจรรย์ คิดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง แล้วก็พูดอย่างหนึ่ง คิดนี่ฉ้อฉลเขานะ แต่พูดอ่อนหวานมาก เวลาทำก็หลอกลวงเขา

นี่ไงมันเป็นความจริงไหมล่ะ? มันเป็นความจริงไหม? แต่ถ้ามันเป็นมนุษย์มหัศจรรย์นี่จิตสงบไม่ได้ เพราะมันฟุ้งซ่านมาก เพราะเราคิดอย่างหนึ่ง แล้วเราทำอย่างหนึ่ง มันขัดแย้งกันแล้ว นี่ถ้ามนุษย์มหัศจรรย์จิตสงบไม่ได้ แต่ถ้าเป็นมนุษย์ที่ซื่อสัตย์ มนุษย์ที่มีเหตุมีผล จิตมันจะสงบเข้ามา สงบเข้ามาโดยข้อเท็จจริงของมัน แล้วเวลามันเป็นขึ้นมานี่เป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่ใช่มนุษย์มหัศจรรย์ คิดอย่างใดทำอย่างนั้น คิดอย่างใดพูดอย่างนั้น ซื่อตรงกับตัวเอง แล้วตัวเองนั้นใช้สติปัญญาของเรา

นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ แต่ต้องสะอาดบริสุทธิ์ด้วยการกระทำ ไม่มีสะอาดบริสุทธิ์ด้วยความรู้สึกนึกคิด มีการกระทำ กระทำที่ไหน? กระทำด้วยจิต ดูผู้ที่เขากำหนดนโยบายใช่ไหม? เขาใช้ความรับผิดชอบของเขา เขาเครียดมาก แต่คนอาบเหงื่อต่างน้ำนะ ทำงานเสร็จเขาก็ไปนอนสบายของเขาแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันถึงที่สุดของภายในนะ นี่งานของจิต งานของจิตคืองานที่ว่าทำความสงบอย่างไร? ใช้ปัญญาอย่างไร? งานที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ แต่ แต่เป็นงานรื้อภพรื้อชาตินะ นั่งนิ่งๆ นั่งสมาธิเฉยๆ นี่แหละ เวลาปัญญามันหมุนนะ เวลาใช้ปัญญาออกมาจากสมาธินี่เหนื่อยหอบนะ การทำงานในหัวใจ

นี่มันต้องมีเหตุมีผล ต้องมีการกระทำ จะเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันต้องมีเหตุ มีผล ไม่ใช่ลอยมาจากฟ้า ไม่มีเหตุมีผลเป็นอะไรไม่ได้หรอก มันต้องมีเหตุมีผลของมัน แล้วเหตุผลนั้นต้องตามความเป็นจริงด้วย แล้วตามความเป็นจริงนะ ความจริงมีหนึ่งเดียว ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง เวลาสนทนาธรรมกันนี่มันจะไปไหนไม่ได้หรอก มันจะลงทางเดียวกันถ้าเป็นความจริง

“เอตัมมังคลมุตตมัง ธรรมนี้เป็นมงคลอย่างยิ่ง”

เวลาสนทนาธรรมเป็นมงคลกับการที่เราชำระกิเลส เป็นมงคลกับการชี้ทางชีวิตของเรา เห็นไหม นี้คือธรรม นี่ฟังธรรม ฟังธรรมแล้วจะได้ประโยชน์กับความรู้สึกนึกคิด กลับไปไตร่ตรอง ในกาลามสูตรบอกว่าไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์พูด แล้วนี่ก็ไม่ให้เชื่อเราพูด กลับไปคิดไตร่ตรองว่าเราพูดถูกหรือพูดผิด เอวัง