เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๔ ธ.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันเป็นประสบการณ์นะ หลวงตาบอกว่า “ถ้าหัวใจมีธรรม จะปิดจะเร้นขนาดไหน เวลาแสดงออกมันออกมา แต่ถ้าไม่มีนะอย่างไรมันก็ไม่ออก” ถ้ามันไม่ออกขึ้นมา เห็นไหม มันฟังมันเข้าใจได้ ฉะนั้น การฟังธรรมความดูดดื่มของใจ ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเราใช่ไหม? นี่เวลาหาครูบาอาจารย์แก้ใจไง เวลาเรื่องแก้หัวใจนะ หลวงตาท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นท่านพูดเวลาท่านเทศน์นะ

“การแก้จิตนี้แก้ยากนะ ให้หมู่คณะปฏิบัติมา ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ”

คำพูดนี้เราเอามาใช้ประจำเลย เพราะมันกินใจมาก ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ เหมือนเราเจ็บไข้ได้ป่วยไปหาหมอ แล้วหมอไม่มีเราจะให้ใครแก้ แต่ถ้ามีหมอ หมอจะแก้นะ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยเราไปหาหมอ

นี่ก็เหมือนกัน การแก้จิตแก้ยากนะ ให้ปฏิบัติมา แก้จิตแก้ยากนะ แต่ถ้ามันไม่มีจิตให้แก้ล่ะ? คำว่าไม่มีจิตให้แก้ ทั้งๆ ที่เรามีอยู่นะ เรามีความรู้สึกนึกคิด เรามีหัวใจอยู่ แต่คำว่าไม่มีจิตให้แก้ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเราผิดอะไร? เราก็ไม่รู้ว่าเรามีอะไรให้แก้ เราไม่มีอะไรให้แก้ พอเราไม่มีอะไรให้แก้ เหมือนคนไม่ป่วยไปหาหมอ หมอก็ไล่กลับหมดแหละ เวลาเราไม่ป่วยนะ เราเข้าไปโรงพยาบาลหมอจะถามว่ามาทำไม? แต่ถ้าคนป่วยมานะ ยิ่งคนฉุกเฉินมาเขาเปิดห้องไอซียูรับเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติ เราจะแก้จิตๆ เราจะเอาอะไรไปแก้ เราไม่มีอะไรให้แก้เพราะเราไม่ภาวนา ไม่มีอะไรให้แก้เพราะเราไม่สนใจตัวเราเอง ถ้าเราสนใจตัวเราเองนะ เห็นไหม ทุกคนน้อยเนื้อต่ำใจว่าเราเกิดมามีแต่ความทุกข์ความยาก แต่ความจริงเรามีความทุกข์ความยากจริงไหม? ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์สมบัติมีค่ามากที่สุด คำว่ามนุษย์สมบัตินี้มีค่ามากนะ เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เห็นไหม ทรัพย์สมบัติมีเท่าไหร่ก็เป็นของเรา แต่เวลาเราตายไปทรัพย์สมบัตินั้นเป็นของใคร? มันเป็นสมบัติสาธารณะใช่ไหม?

การเกิดมาเป็นมนุษย์ เวลาเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วเราทำหน้าที่การงานประสบความสำเร็จ นี่หน้าที่การงานของเรา เราประสบ เห็นไหม เขาว่าคนจะดีหรือไม่ดีเขาดูที่ผลของการทำงาน ถ้าคนทำงานดี นี่สิ่งนี้เป็นเครื่องแสดงออก ถ้าแสดงออกนะ ถ้าใจดีทุกอย่างมันจะดีไปหมด แต่ถ้าใจไม่ดีนะทุกอย่างจะกีดขวางไปหมดเลย ถ้าทุกอย่างกีดขวางไปหมด นั่นล่ะเราเริ่มจะบังคับตัวเราตรงนั้นแหละ ถ้าเราบังคับตัวเรา พอบังคับเข้ามานี่แก้จิต เราบังคับอย่างไร? เราจะเอาอะไรไปถามครูบาอาจารย์ ว่านี่เราทำอย่างไร ถ้าเราก็ไม่เคยปฏิบัติเลยเราจะเอาอะไรไปถามครูบาอาจารย์ของเรา เราเอาอะไรไปถาม ยิ่งตอบมาก็งงนะ

เราอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านพูดอยู่ เวลาคนมาถามว่าเวทนาคืออะไร? สัญญาคืออะไร? ศัพท์ก็ยังไม่รู้เลย เวลาไปถามหลวงตาว่าเวทนาคืออะไร? ท่านโยนไม้ให้เลยนะ ให้ไม้นี่เคาะตัวเอง ถ้าเคาะตัวเองนั่นคือเจ็บไง เวทนาคือความสุข ความทุกข์ ในหัวใจของเรา มันมีเวทนากาย เวทนาจิต เวทนากาย เห็นไหม ดูสิเวทนาของร่างกาย นั่งนานๆ ไปก็เมื่อย ไม่กินอาหารมันก็หิว แต่เวลาจิตนะไม่ต้องทำอะไรเลย มันเผาลนอยู่อย่างนั้นแหละ เวลาจิตนะมันเศร้าหมอง มันทุกข์ยาก มันไม่มีอะไรกระเทือนมันเลยทำไมมันเวทนาล่ะ?

นี่เวทนากาย เวทนาใจนะ ถ้าเวทนาของร่างกายเรารับรู้กันได้ทั้งนั้นแหละ แล้วเวทนามันคืออะไรล่ะ? นี่เวทนามันก็คือเวทนา แต่ถ้าเราจับของเราไม่ได้ใช่ไหม? เห็นไหม เวลาเราศึกษาธรรมะๆ กัน ธรรมะนี่ศึกษาธรรมะได้แต่ชื่อของมัน รู้ศัพท์หมดเลย เรียนจบมา ๙ ประโยครู้ทุกอย่างเลย แต่ไม่รู้จักทุกข์ของตัวเอง ไม่รู้จักค้นคว้าค้นหาในใจของตัวเอง แต่รู้หมด วิชาการนี่รู้หมด ทุกอย่างรู้หมด แต่หาตัวไม่เจอ ถ้าหาตัวไม่เจอนะแก้อะไร?

คนป่วยไม่รู้ว่าตัวเองป่วย แล้วไปหาหมอว่าอาการแบบใด? ไม่รู้ ไปหาหมอหมอต้องถามอาการ อาการมันป่วยเป็นอย่างไร? แล้วรักษาตามอาการนั้น แต่ถ้ามันรักษาตามอาการนั้น นี่พฤติกรรมของความเป็นอยู่ของเรา เห็นไหม มันทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ดูแลหัวใจของเรา เราเกิดเป็นมนุษย์นี่สิ่งที่มีค่าที่สุดคือชีวิตของเรา แล้วนี่เราบอกว่าปัจจุบันนี้เรามีศรัทธาความเชื่อมาก แล้วเราทำสิ่งใดแล้ว เวลาเราจะไปปฏิบัติต่อไปข้างหน้า เวลาเราตายปั๊บเกิดในสถานะใหม่ พอเกิดสถานะใหม่ จิตดวงนี้แหละแต่เกิดในสถานะใหม่ เกิดสถานะใหม่นี่อยู่ที่เวรกรรมแล้ว เชื่อหรือไม่เชื่อ?

มันมีนะ เวลาพระในสมัยพุทธกาล เห็นไหม จูฬปันถก เวลาพี่ชายบวชเป็นพระอรหันต์ พอบวชเป็นพระอรหันต์ นี่ซึ้งในธรรมะมากไปขอน้องชายมาบวช น้องชายก็มาบวชด้วย แล้วพี่ชายก็พยายามสอนไง นี่สอนอย่างไรก็ไม่ได้ แม้แต่ท่องนะ ท่องคาถาๆ เดียวก็ท่องไม่ได้ จนสุดท้ายพี่ชายเป็นพระอรหันต์ไง บอกว่าไปสึกเถอะ สอนอย่างไรก็สอนไม่ได้ พอเวลาจะไปสึกพระพุทธเจ้าไปยืนรออยู่หน้าวัดไง

“จูฬปันถกเธอจะไปไหน?”

“จะไปสึก”

“ทำไมถึงไปสึกล่ะ?”

“พี่ชายให้ไปสึก”

“เธอบวชเพื่อใครล่ะ?”

“บวชเพื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

“นั่นไงบวชเพื่อเราไม่ใช่บวชเพื่อพี่ชาย ดังนั้นมานี่ๆ ให้เอาผ้าขาวไปลูบไง ให้ลูบผ้าขาวนะ ขาวหนอ ผ้าขาวหนอๆ”

คนมีวาสนานะ นี่ผ้าขาวหนอๆ นี่ลูบผ้าขาวไปเรื่อยๆ ลูบผ้าขาวไปเรื่อยๆ แล้วผ้าขาวเอามือลูบมันจะขาวได้ไหม? มันก็ต้องดำเป็นธรรมดา พอมันเริ่มเห็นผ้าขาวมันมีความสกปรกมันสะเทือนใจมาก สะเทือนใจมาก เป็นพระอรหันต์เลย ลูบผ้าขาวจนเป็นพระอรหันต์นะ นี่แล้วเขาไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเพราะเหตุใด? นี่เป็นเพราะเหตุใดลูบผ้าขาวก็เป็นพระอรหันต์ คนที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ต้องมีอำนาจวาสนามาก ทำไมท่องคำเดียวเท่านั้นทำไมท่องไม่ได้

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “สิ่งที่เป็นลูบเป็นผ้าขาวเพราะเขาเคยเป็นกษัตริย์ แล้วเวลาออกตรวจพลสวนสนามเอาผ้าเช็ดนะ เช็ดหน้า พอเช็ดหน้าเห็นฝุ่นมันเป็นกรรมฐานที่ติดใจมา แต่ที่ว่าท่องอะไรไม่ได้เลยๆ มีอยู่สมัยหนึ่งเขาบวชเป็นพระ แล้วมีพระท่องปาติโมกข์ แล้วท่องผิดท่องถูกก็ไปหัวเราะเยาะเขา”

นี่ไงบุญกรรมมันให้ผลมาๆ เห็นไหม ให้ผลมาถือว่าไปดูถูก นี่ถ้าเป็นภาษาปัจจุบันก็ไปว่าเขาโง่นั่นแหละ ไปดูถูกคนโง่ พอเกิดอีกชาติหนึ่งตัวเองท่องไม่ได้เลย นี่เอามาเปรียบเทียบว่าเราก็ตั้งใจอยู่ ว่าเราเกิดมาแล้วพบพุทธศาสนา เราประพฤติปฏิบัติแล้วตายไปก็จะปฏิบัติต่อๆ สิ่งที่เป็นเวรกรรมที่ทำมา ถึงเวลานั้นมันจะเป็นประโยชน์ไหม?

ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ถ้าเรามีศรัทธา มีความเชื่อของเรา เราขวนขวายของเรา เราทำของเรา นี่เราทำบุญกุศลมากน้อยขนาดไหน แต่ถึงที่สุดแล้วต้องมีการภาวนา การภาวนา เห็นไหม เวลาครูสอนสอนขนาดไหน มันก็เป็นสัญญาความจำได้หมายรู้ เป็นวิชาการ แต่เราจะประสบความสำเร็จเพราะการประพฤติปฏิบัติของเรา

ใจก็เหมือนกัน ใจก็เหมือนกันนะ เราศึกษามาขนาดไหน? เรารู้นี่เป็นสัญญาทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ามันจะเป็นความจริงขึ้นมามันต้องประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ใจมันรู้ขึ้นมาเอง เวลาเป็นสมาธิมันเป็นสมาธิของมัน เวลาเกิดปัญญาขึ้นมานะ ถ้าใครเกิดปัญญาขึ้นมานะมันจะเข้าใจหมดไง ว่าโลกียปัญญาเป็นอย่างใด? แล้วจะเข้าใจว่าโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่ชำระกิเลสมันเป็นแบบใด

โลกียปัญญา สิ่งที่เขารู้ทางวิชาการที่ว่าเป็นปัญญาๆ มันโลกียปัญญา ปัญญาวิชาชีพ ดูสิดูนักกฎหมาย เวลาเขาวิเคราะห์กฎหมายของเขาลึกซึ้งจนเราคิดไม่ถึง เราคาดไม่ได้เลย แต่นั่นก็วิชาชีพของเขา เห็นไหม แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมานะ เวลาจิตมันสงบเข้ามา แล้วมันออกไปใช้ปัญญา พอออกใช้ปัญญามันไปเห็น ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร

สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง เห็นไหม ถ้าเราไปรู้ของมัน เรารู้เท่าของมัน เวลามันปล่อยวางของมัน มันจะซึ้งใจมาก มันจะซึ้งใจมาก แล้วปัญญาอย่างนี้มันส่งต่อกันไม่ได้ มันส่งต่อกันไม่ได้เพราะมันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตังเพราะอะไร? เพราะกิเลสของใคร คนนั้นเป็นคนชำระกิเลสนั้นเอง จิตของใคร คือจิตดวงนั้นต้องชำระจิตดวงนั้นเอง

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยมา เห็นไหม มันเป็นทฤษฎี เป็นสัญญา มันจำมาทั้งหมดนะ หลวงตาบอกว่า

“แม้แต่ปลวกมันกินไปทั้งเล่มมันก็ไม่เป็นพระอรหันต์หรอก”

นี่เราอ่าน เราศึกษามา เราว่าเรารู้ๆ ปลวกมันกินเข้าไปเลยนะ กินกระดาษนั้นเข้าไปเลยมันยังรู้เองไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาแล้วนี่มันเป็นชื่อ มันเป็นทฤษฎี แต่ถ้ามันจะเป็นความจริงขึ้นมาเราต้องตั้งสติของเราขึ้นมา พอตั้งสติขึ้นมา เวลาเรามานั่งภาวนากัน เราเดินจงกรมขึ้นมามันก็ทุกข์มันยาก มันทุกข์มันยากเพราะใครล่ะ? มันทุกข์มันยากเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เห็นไหม เวลาเดินจงกรม ๒ ก้าวมันอยากให้จิตสงบ เดินไปอีก ๒ ก้าวมันจะบอกว่าพิจารณาให้เป็นพระอรหันต์

เพราะมันคาดหมาย มันหวังผลไง มันหวังผลของมัน มันทุกข์ตรงนี้ไง ทุกข์ตรงที่ทำก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร? เพราะเราคาดหมายผลไว้หมดแล้ว เราหลอกตัวเอง แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรา เห็นไหม อยากในเหตุ คืออยากในการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา จะได้หรือไม่ได้ก็ไม่สน เหมือนกับเราต้มน้ำ หน้าที่เราคือรักษาไฟไว้ น้ำมันจะเดือดหรือไม่เดือดมันหน้าที่ของอุณหภูมิความร้อนนั้น พอตั้งน้ำไปก็อยากให้น้ำเดือด แต่ไฟก็ไม่ดูนะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาก็อยากได้อย่างนั้น อยากได้อย่างนั้น เราต้มน้ำนะเราต้องหาฟืนมา แล้วเราต้องรักษาไฟของเรา เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนานี่เรารักษาใจของเรา ตั้งสติไว้แล้วให้มีคำบริกรรมไว้ คำบริกรรมให้จิตมันเกาะไว้ ถ้าถึงเวลานะ ถ้าอุณหภูมิมันเป็นไปได้มันต้องเป็นไป มันต้องเป็นไป มันต้องสงบของมันได้ แต่นี้เพราะเราปรารถนา เราต้องการของเรามันก็เลยทุกข์ไง

เวลามันทุกข์ขึ้นมา ทำแล้วไม่ได้ผล มันคิดแบบวิทยาศาสตร์ เวลา ๑ บวก ๑ ต้องเป็น ๒ เดินจงกรมต้องได้สมาธิ เพราะเราสร้างเหตุเราต้องได้สมาธิ นี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นเรื่องโลก เห็นไหม แต่ถ้าเป็นเรื่องการปฏิบัตินะมันมีกิเลสไง มันมีความคาดหมาย มีความคาดหวัง มีความจินตนาการ มันชักให้เรือเสียหมดเลย แต่ถ้าเราปล่อยหมดเลย เห็นไหม เรารักษาแต่เหตุของเรา เรามีคำบริกรรม เราตั้งสติของเรา นี่มันจะรักษาความตั้งมั่นของเรา เราปฏิบัติของเราไปถึงจะได้ประโยชน์ขึ้นมา

นี่ไงถ้าสิ่งนี้มันเป็นไปได้ การแก้จิตๆ มันแก้กันที่นี่ นี่คนภาวนาแล้วมันถึงจะมีการแก้ไขกัน ถ้าคนไม่ภาวนา เห็นไหม เราทำบุญกุศลของเรา ทำทานของเรา ทำทานของเราเป็นอามิส สิ่งที่เป็นอามิส เสียสละแล้วมันต้องได้บุญมาแน่นอน บุญคือความสุขใจนะ ทำแล้วสบายใจ ทำแล้วพอใจ เราเป็นผู้เสียสละ เราเป็นผู้ให้ดีกว่าเราเป็นผู้รับ

เรามีชีวิต เรามีโอกาส เราได้กระทำของเรา สิ่งนี้นี่เป็นระดับของทาน เรื่องของการสร้างบารมี แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่บารมีมันจะไปเกื้อหนุนพันธุกรรมของจิต เวลาปฏิบัติไปแล้วนะ ลายนิ้วมือ นี่พิมพ์ลายนิ้วมือมันจะไม่เหมือนกัน เวลาภาวนาแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน นี่มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของจิตที่มันสร้างมา ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ง่าย มันมีสิ่งที่มันสร้างบารมีของมันมา พันธุกรรมของจิต

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติแล้วนี่ต้องให้ตามความเป็นจริงของเรา อย่าไปคาดหมายว่าจะเหมือนคนนั้น จะเหมือนคนนี้ ครูบาอาจารย์ท่านทำแล้วประสบความสำเร็จของท่าน อันนั้นเป็นคติธรรม เป็นคติ เป็นแบบอย่างที่ท่านทำมาแล้ว เราพยายามเอาท่านเป็นตัวอย่างเพื่อความเสริมกำลังใจของเรา แต่ถ้าเวลาเป็นจริงมันต้องเป็นจริงของเรา เวลาเงินในกระเป๋าเรา เป็นของเราเราพอใจใช่ไหม? เงินในกระเป๋าคนอื่นก็เป็นเงินของเขา แต่เงินของเราต่างหากถึงจะเป็นประโยชน์กับเรา ฉะนั้น เราปฏิบัติต้องให้เป็นความจริงของเรา

ฉะนั้น ทำบุญกุศลเราทำเพื่อเรา บุญกุศลคือความสุขใจ พอความสุข เห็นไหม พอมีความสุขใจมันมีพื้นที่ไง นี่ชัยภูมิของการประพฤติปฏิบัติ ชัยภูมินะ เวลาปฏิบัติเราต้องสัปปายะ ๔ สถานที่เป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ นั่นเป็นสัปปายะในชัยภูมิ ในสถานที่ ชัยภูมิของใจ

ถ้าใจมันปรับหัวใจของเรา ทำทานจิตใจมันปลอดโปร่งโล่ง นี่ภาวนาได้ แต่เวลาเรามีความตึงเครียดในหัวใจเราก็อยากภาวนา แต่ไปภาวนาแล้วสิ่งที่ตึงเครียดนั้นมันก็จะชักนำให้เป็นอย่างนั้นไป แต่ก็ภาวนาเพื่อยับยั้งกัน ดึงกัน ดีกว่าปล่อยให้มันฟุ้งซ่านไป แต่ถ้าชัยภูมิมันนุ่มนวล ชัยภูมิมันสะอาดบริสุทธิ์นะภาวนาง่าย แต่ถ้าวันไหนกระทบรุนแรงนะเราก็ต้องใช้สติ ใช้คำบริกรรมที่เร็วขึ้น รุนแรงขึ้น

นี่ถ้ามันสกปรกมาก น้ำทำความสะอาดก็ต้องมาก ถ้ามันสกปรกน้อย น้ำก็น้อย เห็นไหม คำบริกรรมก็เหมือนกัน ถี่ขึ้น เร็วขึ้น หรือปานกลาง หรือช้าลง หรือนุ่มนวล อยู่ที่ผลกระทบ อยู่ที่หัวใจของเรา นี่เวลาปฏิบัติมันมีประสบการณ์ มันมีพันธุกรรมของมัน เรียบง่าย เข้มแข็ง เข้มข้น แล้วแต่จริตของแต่ละบุคคล แต่ถ้าทำแล้วผลมันก็คือผลนะ เวลาสงบแล้วสงบอันเดียวกัน ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าจิตสงบ

“สุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

แม้แต่เวลาเราสุขใจ เรามีความสุข มีความพอใจของเรา แต่ถ้าจิตสงบนะมันสุขในตัวของมันเอง ไม่ได้สุขด้วยอามิส นี่การพอใจมันต้องมีสิ่งที่เสพมันถึงพอใจใช่ไหม? แต่ถ้ามันสงบในตัวมันเอง เห็นไหม มันลึกลับกว่านั้น ลึกลับกว่าความสบายใจๆ ที่เขาว่ากัน นี่ทำแล้วสบายใจๆ นอนเฉยๆ ก็สบายใจ แต่ถ้าเป็นสติขึ้นมานี่มันตั้งมั่นของมัน มีหลักมีเกณฑ์ของมัน แล้วมันไม่สั่นไหวไปกับสังคม ไม่เป็นเหยื่อของใคร มันจะมีหลักในหัวใจ แล้วพอใช้ปัญญาขึ้นไป เกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา แล้วชำระกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

นี่สมบัติของมนุษย์ไง การเกิดเป็นมนุษย์นี้มีค่ามาก หาสมบัติทางโลกก็ได้สมบัติทางโลก หาสมบัติทางธรรมก็ได้สมบัติทางธรรม หาสมบัติทางโลก อาบเหงื่อต่างน้ำ ทุกข์ยากมาเพื่อประดับสถานะทางสังคม หาอริยทรัพย์ หาความสงบของใจ หาสติปัญญาในหัวใจขึ้นมา เพื่อรักษาใจให้ใจมั่นคงขึ้นมา ให้ใจมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เห็นไหม เราเกิดมาหลวงตาสอนว่า

“คนเกิดมามี ๒ ตา ตาหนึ่งคือหาทางโลก ตาหนึ่งคือหาทางธรรม”

ฉะนั้น ถ้าเราหาทางโลกแล้วเราก็ต้องหา เพราะเราต้องดำรงชีวิต ถ้าหาแล้วดำรงชีวิตมันก็เท่านี้แหละ ดำรงชีวิต จะมั่งมีศรีสุข ทุกข์จนเข็ญใจก็ปัจจัย ๔ เหมือนกันนี่แหละ แต่ถ้าอีกตาหนึ่งหาสมบัติทางใจนะ แล้วถ้าหาสมบัติทางใจได้ ทรัพย์นี้ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ไม่มีใครมาแย่งชิง ไม่เสียเปรียบใคร ไม่มีใครฉ้อโกงได้ มันเป็นสมบัติของใจดวงนั้น เห็นไหม

ลืม ๒ ตา หาสมบัติของโลกด้วย แล้วหาสมบัติของใจด้วย มันจะเป็นประโยชน์กับการเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เราไม่เสียชาติเกิด เอวัง