ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้เองเห็นเอง

๕ ธ.ค. ๒๕๕๔

 

รู้เองเห็นเอง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๗๒๑. ไม่มี

ข้อ ๗๒๒. ไง

ถาม : ๗๒๒. เรื่อง “เรียนถามเรื่องการพิจารณากายครับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมมาถึงจุดที่ว่ารู้กาย รู้ว่ากายในจิตมันมีอยู่ และใช้กายนี้เป็นประธานในการสร้างและรับอารมณ์ให้จิตรับรู้ ในกระบวนการการทำงานต่อเนื่องและสร้างทุกข์ และวัฏฏะแห่งการเปลี่ยนแปลง แต่ผมก็พอรับมือกับมันได้ กล่าวคือผมก็ทำความสงบเข้ามา แล้วพิจารณากายในนิมิต แล้วมันก็ถอดถอนสิ่งที่ยึดว่ากาย (ที่สร้างขึ้นและจิตยึดไว้เป็นเรา) ผลก็คือทุกอย่างเงียบหมด เหมือนวิบากกรรมที่จะมาทำให้จิตนี้มีลักษณะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปในอารมณ์ มันมาไม่ถึงจิต ที่มันมาไม่ถึงเพราะไม่มีตัวที่เป็นเรามารองรับอารมณ์นั่นเอง

กรรมใหม่ๆ ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีเราไปเป็นประธานในการสร้างกรรม สงบมาก โล่งมาก เพราะไม่มีอะไรเกิดดับในจิตนั้น ไม่มีอะไรทำให้จิตเปลี่ยนแปลงขึ้นลง แต่สักพักก็จะคลายออก ผมก็พิจารณาซ้ำเข้าไปใหม่ ผลก็เหมือนๆ เดิมที่เล่าให้ฟังขั้นต้นครับ จึงกราบถามหลวงพ่อว่า

๑. ผมจะทำแบบนี้ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ หลวงพ่อคิดว่าดีไหมครับ คือผมนึกอะไรเรื่องการพิจารณามากไปกว่านี้ไม่ออก แต่ถ้าจะทำการพิจารณากายซ้ำๆ แบบนี้ จะถูกต้องดีงามหรือไม่ครับ

๒. สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีเราในจิต ทุกอย่างสงบในจิตเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงเลย ไม่ว่าเกิดหรือดับ มันมีความสุขมาก เหมือนกับสิ่งที่จิตค้นหาและอยากได้มาแสนนาน ขอบังอาจถามเกินภูมิธรรมของตัวเองสักหน่อยเถอะครับ เพราะอยากทราบว่าสิ่งนี้มันใกล้เคียงกับบางส่วนของนิพพานบ้างหรือไม่ครับ กราบขอบพระคุณ

หลวงพ่อ : อันนี้คือการภาวนานะ การภาวนาเริ่มต้นทุกคนจะล้มลุกคลุกคลาน แต่การภาวนา คำถามนี่คนถามเขาถามมาหลายครั้ง แล้วถามมานี่มันก้าวเดินมา พอก้าวเดินมา การภาวนาอย่างนี้ การพิจารณากายแล้วมันปล่อยวางนี่ถูกต้อง เพราะการพิจารณานะ คนเราเวลาจิตมันสงบแล้วมันถึงจะพิจารณาได้

ทีนี้พอพิจารณาไปแล้วพอมันปล่อยวาง การปล่อยวางนี่มีความสุข มีความสงบอย่างนี้ แต่การปล่อยวาง เห็นไหม โดยการภาวนาของเรานะ ถ้าใครภาวนาเป็นแล้ว พอภาวนาไปแล้ว พิจารณากายแล้วปล่อยกาย พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาแล้วมันก็สรุป มันปล่อยวาง ปล่อยวางทุกคนจะเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา ความจริงมันไม่ใช่

มันไม่ใช่เหมือนกับว่าถ้าเราทำความสงบของใจ ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้าจิตไม่สงบพวกเราจะฟุ้งซ่านมาก พวกเราจะมีความขัดแย้งในหัวใจมาก แต่เมื่อใดถ้าจิตมันสงบแล้ว เราก็มีความสุขของเรา ถ้ามีความสุขของเรา พอมีความสุขๆ ถ้าทุกคนมีความสุขแล้วมันก็เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เดี๋ยวสุขบ้าง เดี๋ยวไม่สุขบ้าง แล้วพอมันไม่สุขขึ้นมามันก็มีความขัดข้องใจ พอมีความขัดข้องใจก็อยากจะชำระสะสางให้มันเสร็จสิ้นกันไป ถ้าเสร็จสิ้นกันไป จิตสงบแล้วต้องใช้ปัญญา จิตสงบแล้วใช้ปัญญาคือใช้วิปัสสนา

ถ้าวิปัสสนานี่ เห็นไหม กิเลสมันจะขาดได้ด้วยการใช้ปัญญาเท่านั้น แต่การใช้ปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิมันจะใช้ปัญญาเป็นโลกียปัญญา คือปัญญาตัวตน ปัญญาเข้าข้างเรา เรานี่เราคิดเอง เราสร้างภาพเอง เราจินตนาการเอง เราทำเอง ผลที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากความรู้ ความเห็นของเรา แต่ความรู้ ความเห็นของเราในกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันไม่เป็นมรรค ไม่เป็นมรรคเพราะว่าจิตยังไม่สงบ แต่พอจิตสงบแล้ว เวลาจะไปพิจารณามันพิจารณาไม่ได้ มันพิจารณาไม่เป็น มันขึ้นต้นไม่ถูก พอความขึ้นต้นไม่ถูกมันก็ละล้าละลังๆ ว่าจะทำอย่างใด? จะทำอย่างใด?

ทุกคนถามตรงนี้มากว่านี่พอจิตสงบแล้วทำอย่างไรต่อ? จิตสงบแล้วจะทำอย่างไร? นี่ถ้ามันพิจารณาไม่ได้ เขาเรียกว่าภาวนายังไม่เป็น ถ้าพอจิตสงบแล้วนะ พอมันน้อมไปเห็นกาย น้อมไปเห็นกาย จิตสงบแล้วรู้จักจับเวทนาได้ การจับเวทนานะเวลานั่งสมาธิมันเกิดเวทนา พอเกิดเวทนาเราก็ต่อสู้กับเวทนา เราใช้ปัญญาต่อสู้กับเวทนา พอมันปล่อยเวทนาอันนี้เป็นสมถะไม่ใช่เป็นวิปัสสนา

เป็นสมถะไม่เป็นวิปัสสนาเพราะอะไร? เป็นสมถะเพราะจิตเรามันไม่มีรากฐาน พอไม่มีรากฐาน พอมันเจอสิ่งใดมันก็หวั่นไหวไปหมด พอหวั่นไหวไปหมด พอมันเกิดอาการเจ็บปวด อาการขัดข้องใจมันก็ดิ้นรนไปหมด พอดิ้นรนไปหมด ถ้าเรามีศรัทธา เรามีความมั่นคงของเรา พอมีความมั่นคงของเรา เราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญในเวทนานั้น พอมันปล่อยเวทนานั้นมา

เวทนามันคืออะไร? เวทนาคือจิตมันรับรู้ จิตมันรับรู้ก็เหมือนความคิดฟุ้งซ่าน ความคิดฟุ้งซ่าน นี่มันฟุ้งซ่านไปเพราะอะไร? เพราะมันเสวยอารมณ์ แต่เราพุทโธ พุทโธจนมันปล่อยวางเข้ามา หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา จนมันปล่อยวางเข้ามามันก็เข้าสู่สมถะ เวลาเวทนา จิตถ้ามันยังไม่มีรากฐานเลย มันพิจารณาเวทนามันก็พิจารณามาเพื่อเป็นสมถะ เพื่อความปล่อยวาง การปล่อยวางนั้นมันปล่อยวางแบบสมถะ มันไม่ได้ปล่อยวางแบบวิปัสสนา

พอมันพิจารณาเวทนา มันปล่อยวางๆ ปล่อยวางจนจิตมันมั่นคง จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน ทีนี้พอมันจับเวทนานะ พอจิตมันสงบแล้วมันจับเวทนามันคนละเรื่องกัน เพราะการจับเวทนาครั้งแรก การจับเวทนาครั้งแรกก็เหมือนเราไปเที่ยวป่าช้าครั้งแรก ไปเห็นกายครั้งแรก มันปล่อยเข้ามาเป็นสมถะ จากการวิปัสสนาครั้งแรก กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาเวทนา พิจารณากายถ้ามันปล่อยเข้ามาเป็นสมถะ สมถะคือมันปล่อยเข้ามา

พอจิตมันสงบแล้ว พอมันจิตสงบแล้วมันออกไปเห็นกาย เห็นกาย ถ้ามันเห็นกายโดยจิตมันจะขนพองสยองเกล้า ถ้ามันเห็นกายโดยเวทนา ถ้าจิตเห็นเวทนา จิตเห็นกายมันขนพองสยองเกล้า ถ้าจิตเห็นเวทนาล่ะ? เห็นเวทนามันจับเวทนาได้ พอมันจับเวทนาได้ ดูสิเหล็กร้อนๆ เวลาเขาจะตีเหล็กเขาต้องเผาให้มันแดงใช่ไหม? เขาเอามือจับไหม? ไม่ เขาเอาคีมจับนะ เขาเอาคีมจับจับมาทำไม? จับมาตี ตีให้มันเป็นมีดไง ตีให้เป็นมีด ตีให้เป็นวัตถุที่เราต้องการ

เวลาเหล็กมันไม่ร้อน เหล็กมันเป็นเหล็กดิบๆ เห็นไหม เราจับด้วยมือก็ได้ มันไม่มีความร้อนกับเรา แต่เราก็ตีมันไม่ได้ ถ้าตีมันก็แตก แต่ถ้าเหล็กนั้นเราเอาเผาไฟ พอเผาไฟมันแดงขึ้นมาเขาเอาคีมคีบออกมา คีบมาก็วางบนทั่ง พอวางบนทั่งเขาก็ตีด้วยค้อน ตีให้มันเป็นมีด ตีให้มันเป็นเข็ม ตีให้มันเป็นอะไรก็ได้ เวทนาโดยปกติ เห็นไหม เรานั่งปกติแล้วมันเวทนาเจ็บนู่น เวทนาเจ็บนี่มันดิบๆ ไง มันเป็นเหล็กดิบๆ ที่เราก็จับได้ จับด้วยมือได้ แต่พอจิตมันสงบแล้ว จิตสงบคือมันมีตบะธรรม มันมีกำลังของมัน นี่พอมีกำลังของมันมันจะไปจับเวทนา

พอจับเวทนา เหล็กร้อนๆ เหล็กร้อนๆ เห็นไหม จิตจับเวทนา กับที่เราจับเวทนามันคนละเรื่องกันไง พอจิตสงบ พอจิตมันปล่อยเวทนาเข้ามาเป็นสมถะ พอมันจับเวทนาใหม่ เหล็กแดงๆ นี่เหล็กแดงๆ หมายความว่าจิตเวลามันจับเวทนา มันรู้ว่าเวทนา มันจับเวทนาเหมือนกับหมอวิเคราะห์โรค เขาจะดูโรค โรคเป็นอะไรก็เพาะเชื้อ เขาจะตรวจโรคว่าโรคอะไร?

จิตเวลามันจับเวทนาโดยวิปัสสนานะ มันจับเวทนา เห็นไหม เวทนาสักแต่ว่าเวทนา อ้าว แล้วเวทนามันเกิดจากอะไร? มันเกิดจากอะไร? เวทนาเป็นอย่างไร? มันจะแยกแยะของมัน นี่แยกแยะอันนี้มันเป็นวิปัสสนา เหมือนเหล็กร้อนๆ แล้วเราเอาคีมคีบไปบนทั่ง แล้วเราตีด้วยค้อน ตีด้วยค้อนให้มันขึ้นรูปเป็นรูปอะไรก็ได้

เวทนาถ้าเราใช้เวทนาพิจารณามันไป มันจะแยกแยะ นี่เวทนามันคืออะไร? เวทนามันคือนามธรรม ถ้าจิตมันโง่ มันไปจับอะไรมันก็เกิดความไม่พอใจของมัน ถ้ามันแยกแยะเข้าไป มันแยกแยะเข้าไปมันก็เป็นวิปัสสนา แต่เวทนาครั้งแรกทำไมมันเป็นสมถะล่ะ? เวทนาครั้งแรก นี่เวทนามาจากไหนล่ะ? มันไม่มีอะไรมาเลย แล้วจิตเรารับรู้ จิตเรารับรู้ว่ามันมีเวทนา เราก็ใช้ปัญญามันปล่อยเข้ามา

พอปล่อยเข้ามา เห็นไหม ปล่อยเข้ามันก็เป็นสมถะ คือจิตมันสงบ จิตมันเป็นสมาธิ แล้วจิตออกรู้เวทนาอีกคราวหนึ่ง อีกคราวหนึ่งเพราะจิตมันสงบ มันก็เหมือนกับตบะธรรมมันก็แผดเผาให้เวทนานี่มันจับ มันมีจิตกับเวทนา แต่เวลาเราพิจารณาเวทนาครั้งแรกมันไม่รู้อะไรเป็นอะไรเลย ไม่รู้ว่าเป็นอะไรเลย พอมันปล่อยเวทนาเข้ามา มันปล่อยๆ ใคร่ครวญเข้ามา จิตมันก็มั่นคงของมันใช่ไหม? จิตมันก็มีหลักเกณฑ์ของมัน พอจิตมีหลักเกณฑ์ของมัน พอมันจับเวทนาอีก คีมคีบเวทนา นี่มันจับเวทนาได้ชัดเจน ได้แยกแยะ

ฉะนั้น เวลาพิจารณาพอมันปล่อยวางๆ นี่พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าจิตมันพิจารณาเวทนา ถ้าพิจารณาไม่เป็น เวลาพิจารณาไม่เป็นนะมันล้มลุกคลุกคลาน แล้วเริ่มต้นไม่ถูก แต่ถ้ามันเริ่มต้นถูก ถ้าจิตมันสงบ เวลาจิตมันสงบ เห็นไหม สงบจากกาย เวทนา จิต ธรรมเข้ามาเป็นสมถะ พอจิตเป็นสมถะ จิตมีกำลังแล้ว จิตออกใช้ปัญญา ออกใช้ปัญญาไปนี่ พิจารณากายๆ ก็ปล่อยวางเข้ามา พอปล่อยวางเข้ามา เห็นไหม พอปล่อยวางเข้ามาอย่างนี้

พอปล่อยวางเข้ามาๆ นี่อารัมภบทนะ ผลของมันคือมันเงียบสงบ จนไม่มีใครรับรู้อารมณ์ พอมันเงียบ ถ้ามันเงียบขึ้นมา เห็นไหม นี่ถ้าเราพิจารณาเป็นสมถะ เวลามันปล่อยวางเข้ามา นี่ปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเป็นสมถะ แต่ถ้าเราไปใช้พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เราจับสติปัฏฐาน ๔ ได้ เวลามันพิจารณาไปมันออกรู้ ออกทำงาน พอออกทำงานมันมีการแยกแยะ มีการแยกแยะมันพิจารณาของมันแล้วมันถอดถอนไง มันถอดถอนว่า มันมีความรู้สึกว่าเบาขึ้น ดีขึ้นๆ

ฉะนั้น เวลาถ้ามันเงียบขึ้นมา มันไม่มีอะไรรับรู้อารมณ์ มันต้องทำบ่อยๆ อันนี้พูดถึงอารัมภบทนะ จิตมันไม่มีเกิดดับ เวลาสงบมาก เวลามันสงบมาก โล่งมาก เพราะมันไม่มีอะไรเกิดดับ พอไม่มีอะไรเกิดดับเพราะปัญญาของเรามันยังไม่เท่าทัน ไม่มีอะไรเกิดดับแล้วมันไปไหน? หลวงตาสอนว่าเวลาเราใช้ปัญญาขึ้นไป เราใช้ต่อสู้กับกิเลส

ถ้ากิเลสนะ ถ้าจิตใจเรามีสติปัญญา เรามีสติ เรามีสมาธิมั่นคง กิเลสมันฉลาดมันจะหลบไง มันจะหลบเราหามันไม่เจอหรอก ที่มันเงียบๆ เงียบๆ อยู่นี่ นี่มันหลบ พอมันหลบขึ้นมาเราก็ต้องดึงออกมา ต้องดึงออกมา อย่างเช่นเราพิจารณาขันธ์ ๕ พิจารณาขันธ์ ๕ จนปล่อยวางหมดเลย พอปล่อยวางหมดเลยนะ พิจารณาขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราพิจารณามันปล่อยวางหมดเลย ปล่อยวางหมดเลยมันก็คือรูป

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราพิจารณาขันธ์ ๕ จนมันปล่อยวางหมดแล้ว แล้วที่มันเฉยๆ นิ่งๆ อยู่มันเป็นรูปไหม? ถ้ามันไม่เป็นรูปเรารู้มันได้อย่างไร? แต่มันไม่เคลื่อนไหวไง พอไม่เคลื่อนไหวมันก็เกิดว่าไม่มีการเกิดดับ ไม่มีการเกิดดับมันมีของมันอยู่ พอมีของมันอยู่ ไอ้นี่มันมีของมัน ฉะนั้น สิ่งที่ภาวนามานี่ได้ผลมาตลอด เห็นไหม ที่ว่าสงบมาก โล่งมาก มีความสุขมาก แล้วพอมีความสุขมากเราก็ต้องพิจารณาซ้ำ จนถึงขนาดนะ

หลวงตาเวลาท่านพิจารณาอสุภะ เห็นไหม พิจารณาอสุภะจนมันปล่อยวางหมดเลย พอมันปล่อยวางหมดเลยท่านบอกว่า

“ปล่อยวางที่ไม่มีเหตุมีผลอย่างนี้ไม่เอา”

พอไม่เอาท่านก็ไปเอาสุภะมาแนบไว้กับจิต เอาสุภะนะ เหมือนกับเรานี่ เราบอกว่าเราไม่เป็นโรคเลยนะ เราก็เอามือของเราไปควานในเชื้อโรค มันก็เป็นโรคขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน พอมันเป็นอสุภะนี่คือธรรม อสุภะเพราะจิตมันสงบแล้วถึงเป็นอสุภะ มันพิจารณาอสุภะแล้วก็ปล่อยวางหมด พอปล่อยวางหมดมันก็ไม่มีเหตุมีผลไง ท่านเอาสุภะมาแนบไว้กับจิต แล้วให้มันแนบอยู่อย่างนั้นแหละ พอท่านไม่บังคับไว้นะมันจะหลุดทันทีเลย มันจะไม่อยู่ เพราะเราฝึกหัดจนชำนาญ เอามาแนบไว้จน ๓ วัน พอวันที่ ๓ มันขยับให้เห็นตัว อันนี้ก็เหมือนกัน เวลามันไม่มีสิ่งใดเลยในหัวใจ มันสงบนิ่งหมดเลย นี่เอากาย เอาอะไรต่างๆ เอามาให้มันดูไง เอามาให้มันเห็นนะ ให้มันรับรู้ของมัน รับรู้ของมัน มันก็มีของมัน นี่พูดถึงอารัมภบทนะ

ฉะนั้น คำถามที่ ๑. ถามว่า

ถาม : ถ้าผมทำแบบนี้ ทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ หลวงพ่อคิดว่าดีไหมครับ?

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ว่าดีไหมครับ ต้องทำด้วย ต้องทำนะ ต้องทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทีนี้พอทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลาเราทำ เห็นไหม เวลาคนเราถ้าเป็นความผิด ความชั่วทุกคนจะเห็นง่าย แต่ความดี ความติดคนไม่เห็นนะ ความดีนี่คนไม่เห็น เวลาชั่วนี่เห็นง่ายๆ เลย แต่เวลาดีไม่เห็น ดีก็ติดนะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพิจารณาไปแล้วมันปล่อยโล่งหมด มันว่างหมด นี่ดีไหม? ดี แล้วมันฆ่ากิเลสหรือยัง? เออ (หัวเราะ) มันต้องถามคนปฏิบัติ ถ้าถามเราไม่ได้ เพราะเราเป็นบุคคลที่ ๓ เราไม่ใช่คนทำ ถ้าถามเรา เราก็บอกว่ามันก็ยังอยู่นั่นไง มันยังไม่ได้ถอดถอน เห็นไหม ฉะนั้น ติดมันอาศัยความดีเดินนะ แต่เดินไปแล้วมันจะเป็นอย่างนี้

ฉะนั้น เราจะต้องขุดคุ้ย พยายามขุดคุ้ย พิจารณากายซ้ำ ถ้ากายแบบนี้ไม่ได้ก็พลิกกลับ นี่พลิกข้างนอก ข้างใน เวลากิเลสมันขาดนะ ขาดทั้งข้างนอก และขาดทั้งข้างใน แต่เวลามันยังอยู่ ข้างนอกมันปล่อยวาง แต่มันหลบมาอยู่ข้างใน ถ้ามันหลบมาอยู่ข้างใน เห็นไหม ดูสิเรามองออกไปเราเห็นคนอื่นหมดเลย แต่ไม่เห็นเราหรอก เพราะสายตาเราส่งออกหมด แต่ถ้ามีกระจกเมื่อไหร่นะ เออ หน้ากูเป็นอย่างนี้เว้ย ถ้ามีกระจกนะมันจะเห็นเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน กิเลสมันหลบอยู่ข้างในใช่ไหม? เราก็พิจารณาของเรา ไอ้ที่ว่า

ถาม : ๑. ถ้าผมทำแบบนี้ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ หลวงพ่อคิดว่าดีไหมครับ? คือผมนึกอะไรเรื่องการพิจารณามากไปกว่านี้ไม่ออก

หลวงพ่อ : มากไปกว่านี้เราก็ไปคิดอยู่ นี่คำว่ามากไปกว่านี้ หรือว่ามันพิสดารกว่านี้ เราก็คิดว่ามันจะเคล็ดลับ ความจริงเคล็ดลับมันไม่มี เคล็ดลับนี้ไม่มีหรอก เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่มีกำมือในเรา” คือแบหมดเลย เคล็ดลับมันไม่มี ทีนี้พอเคล็ดลับไม่มี เราคิดว่ามี พอเราคิดว่ามีนะ เห็นไหม เขาบอกว่า “ผมทำมากไปกว่านี้ไม่ได้”

คือว่ามันจะมีสิ่งใดที่มากไปกว่านี้ ตรงนี้แหละกิเลสมันพลิก มันพลิกเลย มันพลิกว่าทำมาแค่นี้แล้ว แค่นี้ก็คือแค่นี้ แล้วมันจะทำอย่างไรต่อไป? ความจริงที่ทำมาแค่นี้ก็ถูกแล้วไง คือถูกแล้ว เห็นไหม เราติดเชื้อไฟ เราเผาขยะรักษาไฟไว้ ไฟที่เผาขยะไปมันจะมีไฟอะไรเผาขยะอีกล่ะ? ก็ไฟเผาขยะนี่แหละ แต่รักษาไฟไว้ ไฟมันจะเผาขยะไปจนกว่าขยะมันหมด แต่พอเผาขยะไปพักหนึ่งนะ อืม มันไม่หมดสักที สงสัยมันจะมีไฟชนิดหนึ่งเผาขยะมั๊ง?

นี่กิเลสมันพลิกอย่างนี้ไง นี่ไงเราบอกว่าเวลากิเลสมันหลอก มันหลอกอย่างนี้ นี่เวลาทำถูกต้องดีงามแล้ว ถูกต้องดีงาม ศีล สมาธิ ปัญญาไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ เวลาภาวนาด้วยปัญญา นี่โลกียปัญญาคือปัญญาที่เรามีความขยันหมั่นเพียรกันนี่โลกียปัญญา ปัญญาคือเจตนาอยากจะทำ เจตนาที่ดี ความคิดที่ดีเป็นโลกียปัญญา แต่เวลามันภาวนาไปแล้วมันเกิดภาวนามยปัญญา มันไม่ใช่เจตนาที่ดีอะไรทั้งสิ้น มันเกิดจากการภาวนา มันเกิดจากสัจจะ อย่างเช่นพระอาทิตย์ขึ้น เราไม่ต้องปฏิเสธเลยว่าเที่ยงวันอุณหภูมิมันจะสูงขนาดไหน? พอพระอาทิตย์ขึ้นนะ อุณหภูมิมันต้องขึ้นแน่นอนอยู่แล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราใช้ปัญญาของเราเข้าไป พอเราใช้ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาที่มันเกิดจากการภาวนาขึ้นไปแล้วมันจะเป็นมรรคของมัน มันจะเป็นสัจธรรมของมัน ถ้าสัจธรรมของมันนะทำถูกต้องเข้าไป ขยันหมั่นเพียรเข้าไป ทำแล้วทำเล่านะ มันไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ แต่ แต่มันต้องขยัน ขยันแล้วทำต่อเนื่อง

ในพระไตรปิฎกทุกข้อพระพุทธเจ้าบอกเลยนะ การปฏิบัติของคนที่มันไม่ได้ผลเพราะขาดการปฏิบัติสม่ำเสมอ ในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า “ขาดการปฏิบัติสม่ำเสมอ” เพราะความเสมอต้นเสมอปลายนี่ไง นี่เวลาทำซ้ำๆ เรื่อยๆ ด้วยความเสมอต้นเสมอปลาย มันก็เหมือนเราจุดไฟเผาขยะ เรารักษาไฟของเราให้เสมอต้นเสมอปลาย มันจะเผากองขยะนั้นหมดไป

นี่ก็เหมือนกัน เราขยันหมั่นเพียรเข้าไป ทำเข้าไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ขยันหมั่นเพียรเข้าไป แต่ แต่บางทีมันก็เบื่อ บางทีมันเบื่อ ถ้ามันพิจารณาไม่ได้บางทีมันเบื่อ มันเบื่อเพราะอะไร? มันเบื่อเพราะทำแล้วมันไปเข้าทางกิเลสหมดไง แต่ถ้ามันถูกทางนะมันไม่เบื่อ เพราะ เพราะเวลาถ้าพอจิตสงบ ทำสมถะ เพราะเวลาใช้กำลังมากแล้วต้องกลับมาทำความสงบ พอมันสงบมันก็มีความสุข

มันมีความสุขอยู่แล้ว แล้วมีความสุข พอพิจารณาเข้าไปนะ พอพิจารณาเข้าไปเพราะเราทำเป็นแล้วนะ พอพิจารณากายเป็น มันพิจารณาเป็นของมัน พอพิจารณาเป็นของมันไป เราทำความสงบแล้วมีความสุข ความสุขเพราะเรามีสินค้า เรามีต้นทุน เพราะเรามีหลักของใจ คือเรามีสมาธิ แต่เวลาเราไปวิปัสสนานะ นี่หลักของใจ สินค้าเราได้ขายออกไป เราได้ผลกำไรตอบแทนเข้ามา ตอบแทนกลับมา

เวลาวิปัสสนาไป พอเวลากิเลสมันขาดไง เวลามรรคญาณนี่มรรคมันเกิด ศีล สมาธิ ปัญญามันเกิด มันเกิดมันเกิดในอะไร? คือพิจารณากาย กายคืออะไร? กายคือสิ่งที่อวิชชา ความไม่รู้มันอาศัยกาย อาศัยกาย เวทนา จิต ธรรมเป็นที่อยู่อาศัย พอเราพิจารณาไปเหมือนสินค้ามีการกระทำ พอมีการกระทำ พอมันปล่อยวางขึ้นมา เห็นไหม มันได้ผลตอบแทน เราขายสินค้าไปแล้วเราได้ผลกำไรกลับมา ผลกำไรคือว่าพิจารณาแล้วมันปล่อย พอมันปล่อย แต่ถ้ามันไม่ปล่อย คำว่าเบื่อๆ เพราะมันไม่ปล่อย เบื่อเพราะมันทำแล้วไม่ได้ผล

ไอ้คำว่าเบื่อนะ แต่ถ้าภาวนาเป็นแล้วมันจะไม่มีเบื่อ เพราะเรามีเหตุ มีผล มีหลัก มีเกณฑ์ว่าต้องทำแบบนั้น ทำแล้วมันจะได้ผลตอบแทนอย่างนั้น แล้วทำต่อไปมากเข้าๆ จนมีความชำนาญขึ้นมานะ ชำนาญในวสี ทำแล้วทำเล่าๆ พอทำแล้วทำเล่า ถึงที่สุดแล้วเวลามันขาด นี่เวลามันขาด มันจะมีเวลามันขาดไง ถ้ามันขาดแล้วมันจะบอกว่าไม่เงียบๆ ไม่สงบนิ่งอยู่อย่างนั้น ไม่มี นั่นคือภพ นั่นคือตัวตนของมัน แต่ถ้าพิจารณาไปแล้วมันจะทำลายหมดเลย

เวลาหลวงตาท่านพูด เห็นไหม “พิจารณากาย เวลามันขาดนะเป็น ๓ ทวีป”

กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยกกันเป็น ๓ ทวีปเลย แยกออกไปหมดเลย แล้วกลับมาต่อกันอีกไม่ได้เลย แล้วจิตรวมลง พอจิตรวมลง นี่ยถาภูตัง พอจิตรวมลงมันเกิดญาณทัศนะ ญาณทัศนะว่า อืม อันนี้ใช่ อันนี้ไม่โดนหลอก โดนหลอกมาพอแรงแล้ว อันนี้เป็นความจริง ฉะนั้น ให้ขยันหมั่นเพียร แล้วมันไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ไง เพราะเขาถามว่า

ถาม : ผมนึกเรื่องอะไรที่พิจารณามากไปกว่านี้ไม่ได้ ฉะนั้น การพิจารณากายซ้ำๆ แบบนี้ถูกต้องหรือไม่

หลวงพ่อ : นี่ไม่ต้องไปคำนวณ ไม่ต้องคำนวณว่ามันจะมีอะไรพิสดารไปกว่านี้ ถ้าเราทำของเรามาถูกทางแล้วนะ ทำไปเรื่อยๆ มันมีแต่ว่าหยาบ แล้วมีความชำนาญขึ้นมันจะละเอียดๆ พอยิ่งละเอียดเข้าไป เหมือนตาข่าย เห็นไหม เหมือนตะคัดที่เขาดักปลา ถ้าตะคัดมันใหญ่ ปลามันยังมีผ่านไปได้บ้าง ถ้าตะคัดมันละเอียดขึ้นๆ ปลาเล็ก ปลาน้อยมันติดหมดแหละ

ทีนี้พอมันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า กายเล็กกายน้อย เส้นขน รูขุมขนเขาพิจารณาหมดนะ ขยายส่วน แยกส่วน วิภาคะ พอมันเต็มที่ มันอยู่ที่อำนาจวาสนานะ ถ้าอำนาจวาสนาคนสร้างมา พิจารณาไม่กี่ครั้งมันก็เป็นไป แต่ถ้าบางคนไม่มีอำนาจวาสนา ต้องทำแล้วทำเล่าๆ พอทำแล้วทำเล่า จิตใจเกิดพละ เกิดกำลังขึ้น เกิดความมั่นคงขึ้น สถานะของจิตที่จะรองรับอริยภูมิ ถ้าสถานะของจิตเราอ่อนแอ สถานะของจิตเราไม่เข้มแข็งนะ มันเหมือนกับคนทำสับปลับ คนสะเพร่า คนไม่ละเอียด เห็นไหม บางคนละเอียดรอบคอบ บางคนทำงานสักแต่ว่าทำ นี่มันอยู่ที่จริตนิสัย

ฉะนั้น จริตนิสัยอย่างไรก็แล้วแต่ เราจะพิจารณาของเรา เราก็ทำของเราบ่อยครั้งเข้าจนจิตมันละเอียดรอบคอบ มันต้องละเอียดรอบคอบ พิจารณารอบคอบ เวลามันขาด มันขาดโดยชอบ ภาวนานี่ความชอบธรรมมันจะเกิดขึ้น ฉะนั้น ต้องทำซ้ำๆ

ถาม : ๒. สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีเราในจิต ทุกอย่างสงบในจิตเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงเลย ไม่ว่าจะเกิดหรือดับมันมีความสุขมาก

หลวงพ่อ : ความสุขนี้สาธุ ความสุขนี่มันเป็นผลอยู่แล้ว ถ้าจิตสงบก็มีความสุข การพิจารณาก็มีความสุข แต่ให้มันค้นคว้าต่อไปไง ต้องการให้ค้นคว้าต่อไป ต้องการพิจารณาต่อไป

ถาม : นี่มันมีความสุขมาก เหมือนกับสิ่งที่จิตค้นหามานานแสนนาน ขอบังอาจถามว่า สิ่งนี้มันใกล้เคียง

หลวงพ่อ : มันต้องใกล้เคียงเข้าไปแล้วแหละ แต่คำว่าใกล้เคียงกับพาดกระแสมันต่างกัน ใกล้เคียงก็ใกล้เคียง เห็นไหม นี่คำว่าใกล้เคียงของเรานะเหมือนกับทางโลกที่เขาว่ากัน ธรรมะเป็นความว่าง ทุกอย่างเป็นความว่าง นิพพานคือความว่าง แล้วเราก็บอกว่าใจเราเป็นความว่าง

ถ้ามันใกล้เคียง อากาศมันก็ใกล้เคียงนิพพาน เพราะอากาศมันก็ว่าง ยิ่งอวกาศยิ่งว่างใหญ่ แต่อากาศ อวกาศมันไม่มีชีวิตนะ แต่ของเรานี่เพราะเป็นความว่างมันเป็นทฤษฎี มันเป็นรูปแบบที่เราสร้างกันได้ แต่ถ้าเป็นความจริงของมัน เพียงแต่คำว่าความว่าง ความว่างคือความปล่อยวาง ไม่มีสิ่งใดในนั้น มันถึงเปรียบเทียบอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นความจริงมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าพาดกระแสแล้ว ถ้าพาดกระแสมันก็ใกล้เคียงขึ้น ทีนี้เพียงแต่ว่านี่เป็นความสุขไง เป็นสิ่งที่ค้นหามานานแสนนานแล้วเพิ่งมาพบเข้า

แต่นานแสนนาน นี่นานแสนนาน ก่อนสมัยพุทธกาลมีแต่ฤๅษีชีไพรเขาเข้าฌานสมาบัตินะ เหาะเหินเดินฟ้านะ หรือว่าเข้าสมาบัติแล้วอยู่ในความว่าง นี่นานแสนนานเขาก็มีของเขานะ ถ้าจิตมันสงบอย่างนั้น แต่นี้เราพิจารณาของเราด้วย พิจารณาของเรา เพราะเราเป็นชาวพุทธ แต่การพิจาณาถ้ายังไม่สิ้นสุด มันก็มีกิเลสมันทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน ทำให้เราเบี่ยงเบนได้ ฉะนั้น ให้รักษาให้ดีๆ แล้วทำของเราไปเรื่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ ถ้าความสุขที่เกิดขึ้น เห็นไหม

“สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี สุขใดเท่ากับเราสร้างอำนาจวาสนาในหัวใจไม่มี”

ฉะนั้น เวลาทุกข์เราก็ทุกข์มาก เวลานั่งสมาธิภาวนากันนี่ เราล้มลุกคลุกคลานกันมาก เรามีความทุกข์ยากมาก นี่เวลาเดินจงกรมนะ มีพระหลายองค์มากเดินจนฝ่าเท้าแตก คือเลือดซิบๆ เลยล่ะ นี่เราลงทุนลงแรงขนาดนั้น แต่เวลาจิตมันสงบขึ้นมา จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันก็นี่ไงคุ้มค่าไง แล้วคุ้มค่าแล้วมีค่ามากด้วย มีค่ามากกว่าการลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น

ฉะนั้น ถ้ามันเป็นความสุขนี่ก็สาธุ ปฏิบัติมันต้องสุข แต่เวลาทุกข์ ถามทุกข์มาพอสมควรแหละ เวลาทุกข์ยากมันก็ต้องขวนขวายกัน แต่ถ้ามันเป็นความสุขนี่เป็นความจริงอันหนึ่งนะ

ฉะนั้น ที่เขาว่า

ถาม : อยากถามว่าสิ่งนี้มันใกล้เคียงบางส่วนของนิพพานหรือไม่?

หลวงพ่อ : ถ้าเป็นสมาธิ คำๆ นี้เวลาเขาไปพูดกัน แล้วเราพยายามจะโต้แย้งตลอด เขาบอกว่านิพพานของคนมีกิเลสเอย นิพพานของอะไรเขาก็เปรียบเทียบๆ เอาไง ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับครูบาอาจารย์บางองค์ อย่างเช่นหลวงตาท่านบอกว่าท่านสงสารพวกเราไง ท่านอยากให้เรามีความสุข ท่านบอกว่า “นิพพานของพวกเราก็คือการนอนหลับสนิทนั่นล่ะ นอนหลับลึกๆ นั่นล่ะเหมือนกับนิพพาน” นี่หลวงตาท่านพูดนะ

ไอ้นี่ก็บอกว่านี่ใกล้นิพพานหรือยัง? ขนาดคนนอนหลับลึกๆ มันยังนิพพานของคนมีกิเลสเลย แล้วนี่ปฏิบัติแล้วมันใกล้นิพพานหรือยัง? ทุกคนก็อยากรู้จักนิพพาน หลวงตาบอกว่า “ถ้าถึงนิพพานแล้วจะไม่ถามอะไรทั้งสิ้น” เวลาเรายังไม่ได้ทุกคนจะพูดถึงนิพพานๆๆ แต่พอมันไปถึงนิพพานจริงไม่พูดถึงนิพพานอีกเลย เงียบ ไม่พูด เพราะมันพูดอะไรไม่ถูกไง

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้เราปฏิบัติของเราไป ถ้าเขาถามว่า

ถาม : มันถึงบางส่วนของนิพพานหรือไม่?

หลวงพ่อ : ถ้าพูดการให้กำลังใจ อย่างว่าเนาะมันสะดุด มันไม่อยากจะพูด ฉะนั้น ให้เข้มแข็ง แล้วปฏิบัติไปอย่างนี้ ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่ามันเป็นสิ่งที่มีความสุขมาก เป็นสิ่งที่ค้นหานานแสนนาน อันนี้เราคุ้มค่าแล้วล่ะ ฉะนั้น คุ้มค่า แต่ถ้ามันเป็นผลที่มันเป็นความจริงขึ้นมามันจะคุ้มค่ากว่านี้ แล้วจะดีกว่านี้มากเนาะ อันนี้เขาปฏิบัติแล้วเขาได้ผล มีความสุขนะ

แล้วอันนี้เขาถามมา อันนี้น่าฟัง

ถาม : ๗๒๔. เรื่อง “กราบเท้าขอบคุณครูบาอาจารย์ครับ”

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพสุดใจ จริงๆ ผมก็ไม่ได้มีคำถามอะไรมาก แต่อยากจะขอบคุณครูบาอาจารย์อย่างสุดจิตสุดใจจริงๆ ผมเคยมีโอกาสไปกราบหลวงพ่อเมื่อปลายเดือนมีนาคม ปี ๕๓ โดยมีคนพามา หลวงพ่อแนะนำผมสั้นๆ ว่าให้ไปฟังเทศน์ทางอินเตอร์เน็ตเอา ตอนนั้นผมภาวนายังไม่เป็น เพราะเพิ่งเริ่มฝึกฝนเอาจริงเอาจังมาไม่นาน แต่กิเลสมันก็หลอกเต็มเหนี่ยวว่าแบบนี้ใช่ แบบนี้ใช่ ตอนแรกก็ภูมิใจเต็มภาคภูมิว่าเราก็ทำได้ แต่จากนั้นกลับมาภาคใต้ผมเริ่มฟังเทศน์ของท่านอาจารย์ เลยรู้ว่าหลอกตัวเองมาโดนตลอด มันหลอกเอาหน้าด้านๆ

ผมก็พยายามฝึกฝนมาเรื่อยๆ เริ่มจากทาน ศีล ภาวนา แต่ล้มลุกคลุกคลานมาก จะเอาศีลให้จริงจังก็โดนมันหาข้ออ้างฟาดล้มทุกที หลังๆ แพ้มันบ่อยเข้าเริ่มทนไม่ไหว ไม่มีศักดิ์ศรีจริงๆ เลยเอาจริงเข้า ฝึกฝนอดนอนผ่อนอาหาร ใช้หลักของหลวงพ่อในการภาวนา ที่ได้ผลจริงๆ คือ “จับให้มั่น คั้นให้ตาย”

ช่วงแรกจิตลงได้รับความสงบดี พอหลังๆ มันเสื่อม ภาวนาอย่างไรก็ไม่สงบ แต่ก็ได้หลักของหลวงพ่ออีก “ใช้ปัญญาไล่ต้อนเข้าไป” เพราะมันรู้ตัวแล้วมันดิ้นไม่ยอมลงเลย ทุกวันนี้ก็ใช้คำบริกรรมกำกับให้ใจมีหลัก แต่พอมันไม่ยอม ก็ใช้ปัญญาไล่ต้อนก็ได้ผลจริงๆ หาทางออกมาเป็นปีๆ ครับ

ช่วงแรกจิตใจไม่สงบ ท้อมาก แต่ก็มีคำหลวงพ่ออีก “เอากันตามความเป็นจริง เอาแต่ปัจจุบันเป็นหลัก” แต่กิเลสมันก็ย้อนเรื่อย พอใช้ปัญญาตามเจอมันก็ดับ ทำไปเรื่อยๆ ฟังเทศน์อบรมใจไปด้วย เมื่อไม่นานมานี้เลยเริ่มจับหลักติดขึ้นมา พอจิตสงบก็ออกใช้ปัญญา ผมพิจารณากายกับเวทนาเป็นหลัก โดยเฉพาะเวทนาจะชัดมาก สะเทือนใจจริงๆ ก็ทำซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ อย่างที่หลวงพ่อแนะนำ

แรกๆ เบื่อมาก เพราะจิตมันไม่สงบจริง มันปลอมๆ ไปเห็นแค่สัญญานึกเอา ไม่สะเทือนถึงใจมันก็เบื่อ แต่พอทำตามคำแนะนำหลวงพ่อมันก็เห็นจริงขึ้น ครั้งแรกมันชัดสะเทือนใจจริงๆ เมื่อจิตสงบมีกำลังมากก็ออกพิจารณา แต่เวลาจิตมันปล่อยเวทนามันปล่อยชั่วคราว แล้วก็ไปจับเอาอีก เวลาปล่อยเหมือนน้ำที่สูบลงท่อ แล้วมันก็จะดันน้ำออกมาอีก พอรู้สึกเหนื่อยก็กลับมาพุทโธต่อ ไม่ทราบว่าทำแบบนี้ไปเรื่อย มาถูกทางไหมครับ?

แต่ครั้งแรกออกจากสมาธิหอบเลยครับ เหมือนเพิ่งออกกำลังกายเสร็จ ย้อนนึกกลับไป ถ้าไม่ได้กราบครูบาอาจารย์วันนั้น ไม่มีเทศน์ครูบาอาจารย์เป็นทิศทางของผม มันยังหลอกตัวเองไปวันๆ เลยเขียนมาเพื่อกราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างสุดขั้วหัวใจ ผมอยากบวชมาก แต่พ่อแม่ไม่อนุญาตครับ

วันก่อนฟังเทศน์ “ชีวิตรันทด” ผมว่าพระท่านไม่รันทดเลย เพราะท่านได้ทำเต็มภูมิกำลัง น่าจะเรียกว่า “ชีวิตที่ไพบูลย์” มากกว่า แต่ที่รันทดคือคนที่อยากจะออกปฏิบัติ แต่ไม่สามารถออกมาทำได้เต็มกำลัง นี่สิชีวิตรันทดจริงๆ กราบขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างสูงครับ

หลวงพ่อ : เพราะวันนั้นพูดเรื่อง “ชีวิตรันทด” ไง มันสะเทือนใจเขามาก เขาบอกว่า “ชีวิตไม่รันทดหรอก เป็นชีวิตที่ไพบูลย์ต่างหาก ชีวิตที่รันทดคือผู้ที่อยากออกปฏิบัติ แล้วไม่สามารถออกได้เต็มกำลังสิครับ นี้คือชีวิตรันทดจริงๆ” นี่คือชีวิตเขา

ฉะนั้น เราจะย้อนกลับมาพูดถึงคำถามของเขาไง นี่เขาบอกเลย เห็นไหม กราบขอบพระคุณเท่านั้น จริงๆ คือไม่มีคำถามอะไรหรอก แต่มันมี มันมีอยู่ตรงไหน? มันมีอยู่ตรงที่ว่า ถ้ามันปฏิบัติไปโดยตัวเอง โดยที่ว่าตัวเราเองไม่มีสิ่งที่เปรียบเทียบ นี่เขาบอกเอง

“มันหลอกซะเต็มเหนี่ยว”

มันหลอกหมายถึงว่าเวลาเขาปฏิบัติกัน ก็นี่ที่ว่าเราโดนหลอกกันๆ นี่ว่างๆ ว่างๆ นิพพานเป็นความว่าง สิ่งใดเป็นความว่าง แล้วเราก็สร้างความว่างกัน เราว่างจริงหรือเปล่า? โดนหลอกทั้งนั้นแหละ เรารู้ว่าโดนหลอก แต่คนถ้าโดนหลอกมันไม่ยอมรับว่าโดนหลอก เราถึงใช้อุบายไง เวลามีพวกคณะทัวร์มา เห็นไหม เขาบอกว่ามันว่างๆ แล้วทุกคนถามว่าทำอย่างไรต่อไป? เพราะทุกคนอยากทำต่อไง ว่างแล้วก็อยากให้มันเป็นผล แต่ว่างแล้วมันก็ไม่รู้อะไรใช่ไหม? นั่นล่ะคือโดนหลอกแล้ว แต่ แต่เขาไม่ยอมรับว่าโดนหลอก แต่นี่ผู้ถามเขาเขียนเอง

“มันหลอกเสียเต็มเหนี่ยว มันหลอกตัวเองหน้าด้านๆ”

นี่เขาเขียนเองนะ มันหลอกเอาจนหน้าด้านๆ แต่เวลาคณะทัวร์เข้ามานะ เขาโดนหลอก แต่เขาไม่ยอมรับว่าโดนหลอก เราเลยถามเขา เราใช้อุบาย เป็นคณะเลยเราบอกว่า

“โยม สมมุติว่าให้โยมนึกพุทโธโยมนึกได้ไหม?”

“ได้ค่ะ”

ถ้าได้ค่ะนี่มันว่างอย่างไรล่ะ? ก็มันยังนึกได้ อ้าว ก็มันว่างๆ มันนึกพุทโธไม่ได้เลย มันปล่อยวางหมดเลย นึกก็นึกไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้มันว่างหมดเลย เราก็ใช้อุบายนะ สมมุติว่า สมมุติว่าให้นึกนึกได้ไหม? คือได้ ก็มันนึกได้อยู่แล้ว แต่ตัวเองทำลืมไปซะ กลัวมันไม่ว่างไง ก็ปล่อยไปหมดเลย ปล่อยทุกอย่างหมดเลย ปล่อยให้มันว่าง ก็ว่าง

นี่หลอกตัวเอง หลอกตัวเอง แล้วตัวเองไม่ยอมรับว่าตัวเองหลอกตัวเอง แล้วเราก็รู้อยู่ แต่ถ้าบอกว่าเอ็งหลอกตัวเอง เอ็งทำไม่ถูกนะมันจะเกิดทิฐิ ยึดเข้าไปอีกว่าหลวงพ่อนี่ลำเอียง หลวงพ่อพูดไม่ตามความเป็นจริง เวลาคนๆ นั้นก็ว่าใช่ เวลาพวกหนูก็ว่าไม่ใช่ พวกหนูปฏิบัติดี๊ดี ว่างหมดเลยนะ นึกพุทโธก็นึกไม่ได้ แต่หลวงพ่อไม่ยอมรับ แต่เวลาคนอื่นเขาพุทโธไม่ได้นี่หลวงพ่อยอมรับว่าคนนั้นเขาภาวนาถูก แต่พวกหนูผิดหมดเลย

เราก็ใช้อุบาย เห็นไหม “สมมุติว่าให้นึกพุทโธได้ไหม?”

ตอบพร้อมกันเลย “ได้ค่ะ” (หัวเราะ)

เพราะเขาไม่รู้ว่าเขาโดนหลอกไง พอได้ค่ะ ได้ค่ะก็ไม่ว่างจริงน่ะสิ ได้ค่ะก็ซุกไว้ใต้พรมน่ะสิ ถ้าเรายังนึกได้อยู่นั่นไม่ใช่นะ เพราะว่ามันไม่นึกเองไง มันไม่ยอมนึก มันไม่ยอมนึก ไม่ยอมคิด ถ้ามันไม่ยอมนึก ไม่ยอมคิด พุทโธนี้มาจากไหน? องค์ของสมาธินะ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ ตรงนี้สำคัญมาก วิตกกับวิจาร ถ้าเราไม่วิตกขึ้นมาพุทโธมีไหม? เรานั่งกันอยู่เฉยๆ มีพุทโธไหม? ไม่มีหรอก แต่เรานึกพุทโธสิ นึกนี่วิตกขึ้นมาแล้ว วิตก แล้วพอพุทกับโธก็วิจาร

ฉะนั้น เวลามันนึกขึ้นมา มันนึกขึ้นมาจากอะไร? นึกขึ้นมาจากจิต ถ้าจิตไม่นึก จิตมันไม่ปรุงแต่งขึ้นมามันก็ไม่มี พอไม่มี พอนึกพุทโธ พุทโธไป พุทโธ เห็นไหม มันเกิดจากจิต ถ้ามันพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ พอมันสงบขึ้นมามันสงบมาที่ไหน? มันก็สงบเข้ามาที่จิต ถ้ามันสงบเข้ามาที่จิต จิตนึกได้ไหม? นึกไม่ได้แล้ว เพราะอะไร? เพราะมันสงบเข้ามาที่ตัวมัน แต่ถ้ามันพูดเลื่อนลอยมันไม่ได้นึกพุทโธที่จิตนะ

มันเลื่อนลอย พุทโธ พุทโธ พุทโธสักแต่ว่า มันไม่ได้เกิดจากจิต มันไม่ได้เกิดจากความตั้งใจไง มันไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ มันไม่ได้เกิดจากความจงใจ มันเกิดจากการทำกันแบบให้มันพ้นๆ ไปวันๆ หนึ่ง ให้มันพ้นจากความรับผิดชอบไป พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธก็โธ โธ โธ โธไหน? โธไม่มีหลัก โธไม่มีพื้นฐาน พุทโธเลื่อนลอย พอมันเริ่มจางหายไป มันก็หายไปในอากาศเลย แต่ตัวจิตนี้ขวางอยู่เต็มๆ เลย แล้วเราบอกให้นึกได้ไหม? ได้สิ เพราะอะไร? เพราะมันยังไม่นั่งหลับไง มันยังมีสติอยู่

ถ้าให้นึกพุทโธได้ไหม? ได้ ถ้านึก นึกก็วิตกไง นึกก็วิตกขึ้นมาไง ถ้ามันไม่วิตกมันก็ไม่มีไง แล้วก็บอกว่างๆ ไง นี่โดนหลอกแล้วไม่ยอมรับว่าโดนหลอก กิเลสตัวเองหลอกตัวเอง แล้วตัวเองไม่ยอมรับว่ากิเลสตัวเองหลอกตัวเอง แต่ผู้ถาม เห็นไหม เพราะเขาได้เปรียบเทียบ เขาบอกเลยบอกว่า

“นี่มันหลอกเอาซะเต็มเหนี่ยว เราก็ภูมิใจว่าเราทำได้ เราก็ภูมิใจอยู่ว่าเราทำได้ แต่พอกลับมาฟังเทศน์หลวงพ่อเลยรู้ว่าหลอกตัวเองมาโดยตลอด มันหลอกเอาหน้าด้านๆ พอผมรู้ตัวผมก็พยายามปฏิบัติ”

นี่แสดงว่าเขามีบุญอยู่ ถ้าเขามีบุญนะ เราทำเองปัจจัตตัง นี่สิ่งที่ฟังธรรม เห็นไหม นี่ผลของการฟังธรรม ถ้าฟังธรรมนะ สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำ แก้ความสงสัยของตัวเอง ถ้ามันฟังธรรมจนจิตผ่องใส จิตผ่องใสถ้ามันเป็นความจริง นี่อานิสงส์ของการฟังธรรม ถ้ามันมีอานิสงส์ของการฟังธรรม มันจะเกิดผลประโยชน์อย่างนี้ แต่เวลาเราฟังธรรมเราจะขี่ธรรมไง เอาธรรมะมาขี่ เพราะเราฟังธรรมแล้วเรารู้ไง เราเก่ง เรารู้ไปหมดเลย ธรรมะนี่รู้หมดเลย มันจะขี่ไป มันไม่ใช่มีอานิสงส์ของการกระทำ ถ้ามีอานิสงส์ของการกระทำ เห็นไหม

นี่เขาว่า “เลยรู้ตัวว่ามันหลอกเอาหน้าด้านๆ” แล้วก็ฝึกฝนมา พอฝึกฝนมาเขาก็อาศัย เขาจับหลักได้ เวลาล้มลุกคลุกคลานเขาบอกว่ามันมีอยู่คำเทศน์ของเราที่เขาซึ้งใจ

“จับให้มั่น คั้นให้ตาย”

จับให้มั่น คั้นให้ตาย พุทโธ พุทโธนี่จริงจังกับมัน ทำจริงๆ ทำจังๆ ถ้าพุทโธไม่ได้ก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มีสติปัญญาจริงจังกับมัน ทำจริงได้จริง คนจริงทำ ผลจะได้ผลจริง คนโลเลจะได้ผลของความโลเล แต่พวกเราก็บอกว่าทุกคนทำจริงหมดแล้ว เหนื่อยหนักสาหัสสากรรจ์หมดเลย ทำไมยังไม่ได้ผลล่ะ? มันต้องได้ผล จะได้ผลช้าหรือเร็ว เพราะว่าปฏิบัติยากรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ง่าย เห็นไหม มันปฏิบัติของมันไป อันนี้อันหนึ่ง

ทีนี้พอภาวนาเข้ามา นี่สิ่งต่างๆ เวลาใช้ปัญญาไล่เข้าไปมันรู้ตัวของมัน เวลารู้ตัวแล้วมันดิ้น มันไม่ยอมลง แสดงว่ามันไม่ยอมลงนี่กิเลสมันต่อต้าน ถ้ากิเลสต่อต้าน เรามีความตั้งใจ เราทำของเรามันก็เป็นประโยชน์กับเรา ทำมาเป็นปีๆ นะ เขาทำมาเป็นปี นี่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ ฟังธรรมมันจะได้ประโยชน์อย่างนี้ นี่พูดถึงว่าเวลาพวกเรานี่นะ เวลาเราไปโดนใครหลอก หรือโดนใครเขาคดโกงเราจะเสียใจมาก ทุกคนจะเสียใจมาก แต่หลวงตาบอกว่าคนที่โกงที่สุดคือตัวเราเอง

ท่านบอกนะ เวลาเอาเงินไปเก็บซ่อนไว้ที่ไหนเราก็เก็บซ่อนไว้เอง เวลาเราจะใช้เราก็ไปเอามาเอง เวลาเราทำอะไรนี่เราทำเองทั้งนั้นแหละ ไอ้ตัวเราเอง คดโกงตัวเราเองนี่สำคัญมาก ฉะนั้น ถ้าเรามีสติ มีปัญญาเราต้องแก้ตรงนี้ เราเสียใจนะถ้าใครมาเบียดเบียนเรา ใครมาคดโกงเราเราจะเสียใจมาก แต่เวลาเราคดโกงเรา คดโกงเพราะมันไม่เป็นความจริง มันไม่เป็นธรรมไง แต่ถ้าเป็นธรรมมันจะคดโกงเราไม่ได้ แล้วถ้ามันเป็นธรรม มันแยกแยะมันเป็น เห็นไหม

นี่ทำซ้ำๆ ซากๆ ถ้ามันยังไม่เป็นมันก็เกิดความเบื่อหน่าย ถ้าความเบื่อหน่าย ถ้ามีความจริงอยู่มันจะได้ไหม? อันนี้เป็นความจริงเพราะอะไรรู้ไหม? เพราะว่าอย่างว่านี่เขาบอกเขาออกบวชไม่ได้ เขาปฏิบัติไม่ได้เพราะพ่อแม่เขาไม่อนุญาต ที่ไม่อนุญาตด้วยอันนี้มันเป็นอานิสงส์ อานิสงส์เพราะเราอยากได้ไง เราอยากได้ด้วยสถานะแบบนี้ เพราะเรามีสถานะแบบนี้ เราต้องปฏิบัติแบบนี้

ฉะนั้น สิ่งที่ทำไปก็ได้ สิ่งที่ทำอาชีพ หน้าที่การงานของเราเราก็ทำ ถ้าเราปฏิบัติได้เราก็ปฏิบัติของเราไป ถ้าเราปฏิบัติของเราไป โลกก็ได้ ธรรมก็ได้ โลกเราก็เอาของเรา ธรรมเราก็เอาของเรา ถ้ามันทำได้จริงนะ

ถาม : เวลาฟังเทศน์หลวงพ่อแล้วแรกๆ สะเทือนใจมาก

หลวงพ่อ : สะเทือนใจมาก ถ้าเป็นธรรมหลวงตาจะบอกว่า

“ถ้ามันเป็นธรรมนะมันจะมีธรรมออกมา ฟังแล้วมันมีเนื้อหาสาระ แต่ถ้ามันไม่มีธรรมออกมานะ ถ้าเรามีธรรม เราฟังแล้วเรากลับได้ประโยชน์กว่า ถ้าฟังไปแล้วมันจะเป็นประโยชน์อย่างนั้นแหละ”

ฉะนั้น อันนี้อันหนึ่งนะ แต่อีกอันหนึ่งที่เป็นความจริง

ถาม : ครั้งแรกออกจากสมาธิหอบเลยครับ

หลวงพ่อ : นี่เวลาทำงานนะ เวลาจิตสงบแล้วมันจะมีความสุข แต่ถ้าออกใช้ทำงานแล้วนะมันเหนื่อยมาก มันเหมือนกับผู้บริหาร ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย ผู้รับผิดชอบองค์กร เขาจะมีความวิตกกังวลมาก เพราะเขาต้องรับผิดชอบหมด นี่รับผิดชอบหมดนะ อย่างที่ว่าดูจิตๆ ดูจิตโดยแบบว่าถ้าเขาเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย เขาดูเฉยๆ ดูแลกบัตร ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ แต่ถ้าเขาเป็นผู้อำนวยการนะ เขาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนั้น เขาเป็นเจ้าของบริษัทนั้น เขาซีเรียสมาก นี่เขาเหนื่อยมาก

การดูจิตๆ ดูแบบผู้รักษาความปลอดภัย หรือดูแบบเจ้าของบริษัท เจ้าของบริษัทนะเขาต้องดูแล เขาต้องรับผิดชอบนโยบาย เขาต้องรับผิดชอบเรื่องบุคลากร เขาต้องรับผิดชอบเรื่องทุน เขารับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่าย เขารับผิดชอบหมดเลย การดูแบบนั้น อย่างนั้นถึงเป็นการดูจิตแท้ แต่ถ้าการดูจิตแบบแลกบัตร หน้าที่ยื่นบัตรไปยื่นบัตรมา ไม่มีความรับผิดชอบอะไร มันไม่เหนื่อย มันรู้ไง มันเหมือนกับผู้ใหญ่เขาคุยกัน เขาคุยถึงเรื่องงานเขาจะรู้ว่าผู้ใหญ่คุยกัน เด็กคุยกันก็คนละเรื่อง

ฉะนั้น ถ้าผู้ใหญ่คุยกัน มันออกจากสมาธินี่หอบเลย หอบเพราะมันมีงาน มีการกระทำของมันออกมา นี่ถ้าคนทำงานแล้วมันจะรู้อย่างนี้ คนทำงานนี้เหนื่อยมากนะ การภาวนาต่อสู้นี่ลงทุนลงแรงมาก ฉะนั้น คนเข้าใจผิด เข้าใจผิดว่าพระนี่สบ๊าย สบาย กินเสร็จแล้วก็อยู่เฉยๆ ลองนั่งสมาธิสิ บังคับใจให้อยู่กับตัว โอ้โฮ งานแสนยาก แล้วพอเอาใจอยู่กับตัวได้นะ ถ้าออกใช้ปัญญานี่งานยากกว่านั้นอีก ถ้างานยากกว่านั้น “งานชำระกิเลส” หลวงตาบอกว่า

“ถ้ายังไม่ได้ทำอย่าเพิ่งคุยนะว่างานอย่างอื่นมันหนักหนาสาหัสสากรรจ์ งานนี้สาหัสหนักกว่า”

ถ้าเขาทำอย่างนี้มันถูกต้องของเขา เพราะเวลาคนทำไปแล้วมันจะออกมาจากประสบการณ์ ออกจากสมาธินี่หอบมาก แล้วเวลาฟังเทศน์ไปมันยังหลอกไปเป็นวันๆ มันยังหลอกอยู่เรื่อยไปนะ เพราะกิเลสอย่างหยาบก็หลอกอันหนึ่ง กิเลสอย่างกลางก็หลอกละเอียดเข้าไป กิเลสละเอียดนี่นะมันหลอกจนเราไม่รู้ตัวเลยล่ะ

หลวงตาท่านบอกว่าอย่างนี้นะ เพราะเวลาท่านศึกษาใหม่ๆ ท่านบอกว่า “อวิชชามันต้องเป็นยักษ์ เป็นมารไง” เวลาเข้าไปเจออวิชชาจริงๆ ท่านบอกว่ามันเป็นเหมือนนางสาวจักรวาลเลยล่ะ มันเป็นสิ่งที่เราคาดหมายผิดหมดเลย เราว่าอวิชชามันก็เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ใครเข้าไปเจอมันก็ต้องวิ่งหนี ใครเข้าไปเจอมันก็ต้องไม่ไปยุ่งกับมัน แต่พอเข้าไปเจอมันจริงๆ ท่านบอกเลยนะ ไปนอนอยู่แทบเท้ามันเลยล่ะ ยอมรับมันนะ ไปสาธุกับอวิชชา

นี่ไงเราคาดไม่ถึงหรอก ฉะนั้น คำว่าโดนหลอกๆ มันจะโดนหลอกตลอดไปถ้ายังมีกิเลสอยู่นะ ฉะนั้น เราเผชิญหน้าแต่ละชั้นแต่ละตอน เผชิญหน้าการพิจารณากายก็เผชิญหน้ากับมัน กิเลสอย่างหยาบๆ เราก็เผชิญหน้ากับมันด้วยสุดความสามารถของเรา เวลามรรคญาณมันรวมตัว มันสมุจเฉทปหานไปแล้วนะมันก็จบไป นี่มรรคหยาบ

พอมรรคละเอียดขึ้น เราก็ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบมากขึ้นไปมากกว่านั้น แล้วกิเลสละเอียดกว่า ปัญญาเราก็ละเอียดขึ้นไป นี่พอมันชำระกิเลส สกิทาคามีจบไปแล้วนะ นี่มรรค ๔ ผล ๔ เห็นไหม มรรคที่ ๑ มรรคที่ ๒ หมดแล้ว เวลาอนาคามรรค มรรคที่ ๓ พอมรรคที่ ๓ เวลามันละเอียดเข้าไปนี่ยิ่งละเอียดเข้าไป ทีนี้มันเป็นโทสะ โมหะที่มันสุมอยู่ในใจ เวลามันชำระกันไปแล้วมันก็จบกันไปแล้ว พอจบไปนี่ว่างหมดเลย

หลวงตาบอกว่า “มันว่างข้างนอก ว่างหมดเพราะมันเป็นขันธ์”

มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นขันธ์ของมนุษย์ไง พอมันเป็นตัวจิต จิตเดิมแท้ผ่องใส นี่มันว่างข้างนอก ข้างในยังไม่ว่าง พอข้างในไม่ว่าง พอเข้าไปข้างในมันแทบจะไม่ใช่การหลอกเลย มันเป็นตัวเราเองเลยล่ะ ขยับก็เรา เรากับเราเลยล่ะ พอเรากับเรา นี่เราจะผิดตรงไหน? เราจะผิดอะไรล่ะ? ใครจะผิด มันไม่ผิด มันไม่มีอะไรผิด ไม่ได้ทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ นี่ผิดได้อย่างไร? ผิด เพราะอยู่เฉยๆ ยังมีตัวตนอยู่ไง

นี่ภวาสวะ ภพ สถานที่ กิเลสสวะ อวิชชาสวะได้ฆ่าไปแล้ว เหลือแต่ภวาสวะ ภพชาติ เพราะตายตอนนี้ไปเกิดบนพรหม ไม่ได้ทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ นี่ไม่ทำอะไรเลยคือตัวมัน แล้วค่อยๆ ชำระมัน อย่างนี้พอมันฆ่าจบ นี่คือจบ ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันยังหลอกเป็นวันๆ ไป มันหลอกมาเรื่อยๆ มันจะหลอกไปเรื่อยๆ แต่ปัญญาเราก็ชนะขึ้นไปเรื่อยๆ เท่าทันไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าไปถึงมันเรื่อยๆ

สุดท้ายเขาบอกว่าชีวิตเขานี่รันทด เราให้มองย้อนกลับนะ เราให้ย้อนกลับไปถึงอย่างคนที่มีสถานะทางสังคมที่ดี เรามองไปคนที่ต่ำต้อยกว่าเราสิ เราก็เห็นว่าเขาต่ำต้อยกว่าเรา นี่ก็เหมือนกัน สถานะของเรา เห็นไหม เราเป็นชาวพุทธ เรามีศรัทธาความเชื่อ เราย้อนกลับไปคนที่เขาไม่เชื่อสิ คนที่เขาไม่เชื่อ เขาบอกคนที่มาวัดนี่โง่มากเลย เวลาทั้งวันๆ ไม่เอามาทำมาหากิน ไปทำไมไปวัด ไปให้เสียเวลา

เขาว่าคนไปวัดนี่นะ ไอ้พวกนี้พวกว่างงาน ไม่มีงานทำ ไม่รู้จักทำมาหากิน ไปวัดไปวา นี่ไงเขาว่าเขาฉลาดนะ เวลาเขามองมาเขาก็คิดกับเราอย่างนี้ เห็นไหม รันทดไหม? ชีวิตเขารันทดแต่เขาไม่รู้ตัว เขาบอกว่าคนที่ไปวัดนี่นะ พวกนี้ไม่รู้จักทำมาหากิน วันๆ ไปแต่วัด แต่เวลาคนที่มาวัด เรามาปฏิบัติแล้วเราก็มีเป้าหมายของเรา คือเราก็อยากจะได้ศีล สมาธิ ปัญญาของเรา เราก็พยายามของเรา เราก็น้อยใจว่าเราทำไม่ได้ แล้วเราย้อนกลับไปดูไอ้คนที่มันไม่เชื่อสิ มันมองพวกเรา พวกที่มาวัดนี่คือพวกไม่ทำกิน พวกที่ไม่รู้จักค่าของเวลา เอาเวลาไปสูญเปล่า แต่ไม่รู้หรอกเขามานั่งสมาธิอย่างไร?

นี่ใครรันทดกว่าใคร? ชีวิตใครรันทดกว่าใคร? ชีวิตเรารันทด เรารู้ว่าเรารันทด ชีวิตเขานี่เขายิ่งกว่ารันทดอีก เพราะอะไร? เพราะเขาเกิดเป็นมนุษย์ เขาได้บุญกุศลของเขา แล้วเขาใช้ภพชาติของเขาให้หมดไป ถ้าเขาทำดีของเขาเขาก็ได้เกิดเป็นมนุษย์อีก ถ้าเขาทำไม่สมกับเป็นมนุษย์ เขาก็เกิดเป็นอะไรต่อไป?

เขาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว เขาใช้เวลาของมนุษย์ให้หมดไปโดยเปล่าประโยชน์ แล้วต่อไปเขาจะเกิดเป็นอะไรต่อไป? แต่ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์ เราทำคุณงามความดีของมนุษย์ เราจะเกิดเป็นมนุษย์อีก แล้วถ้ามนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์แล้วมีศรัทธา มีความเชื่อของเรา แล้วเราปฏิบัติของเรา เราจะไปไหนล่ะ? เราจะทำอะไรของเราไปล่ะ? ถ้าเราทำของเราจนกิเลสในหัวใจเราหมดสิ้นไป เห็นไหม เราจะพ้นจากทุกข์

ฉะนั้น คำว่ารันทดนี่นะ ชีวิตรันทดวันนั้นเราพูด เราก็เห็นสงสารกับชีวิตเขา ว่าชีวิตเขาเป็นอย่างไร? ชีวิตมันน่ารันทด แต่ถ้ามันทำแล้วมันก็พ้นไป ชีวิตนี้มันน่ารื่นรมย์ ชีวิตนี้เพราะเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เกิดมาแล้วได้มีโอกาส ไม่อย่างนั้นต้องเกิดแน่นอน เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมมันยังไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติเหมือนมนุษย์เราเลย แต่นี้พอเรามีโอกาสแล้วทำไมเราไม่เอาล่ะ? นี่เราจะเอาหรือไม่เอา? แต่ถ้าเราเอาเราก็ได้ ถ้าเราไม่เอาเราก็ใช้ชีวิตของเราไปเปล่าประโยชน์

ฉะนั้น การเกิดเป็นมนุษย์มีค่า ฉะนั้น มีค่าด้วย แล้วเรามีสติปัญญาของเราอยู่แล้ว แล้วเราได้ปฏิบัติอยู่แล้ว ใช่เราพูดเรื่องชีวิตรันทด แต่เวลาเทียบเคียงแล้วนี่ เราน้อยเนื้อต่ำใจบอกชีวิตของเรารันทดกว่า แต่ถ้าเรารันทดกว่าแล้วมองคนที่เขาไม่สนใจ เขาจะรันทดกว่าเราไหม? แล้วมองสิ่งที่คนไม่เข้าใจเลยเขาจะรันทดกว่าเราไหม? ถ้าเขารันทดกว่าเรา เห็นไหม เราก็เอาสิ่งนี้มาเพื่อเป็นกำลังใจ

การปฏิบัตินี้ต้องอาศัยกำลังใจมากนะ อาศัยกำลังใจ อาศัยความเข้มแข็ง หลวงตาท่านบอกว่าหลวงปู่ขาว เวลาท่านตั้งใจของท่านขึ้นมานะ ท่านบอกเลยว่า “กำลังใจของท่านเคี้ยวเพชรแหลกหมด” เพชรนี่กัดแหลกหมดเลย แล้วท่านเข้มแข็งมาก ท่านปฏิญาณตนว่า

“ออกจากบ้านท่าน ออกมาปฏิบัติ ออกไปหาหลวงปู่มั่น ถ้าไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จะไม่เหลียวหน้ากลับมาเหยียบบ้านตัวเองอีกเลย”

แล้วท่านปฏิบัติกับหลวงปู่มั่นจนสิ้นกิเลส แล้วท่านก็กลับไปบ้านท่าน เห็นไหม นี่ด้วยความมั่นคง ฉะนั้น มันต้องอาศัยกำลังใจ อาศัยความมั่นคง หลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่ขาวบ่อย เรื่องนี้ เรื่องว่าท่านเคี้ยวเพชรแหลกหมด คือว่าสัจจะของท่านมั่นคงมาก สัจจะของท่าน กำลังใจของท่าน ทำให้ท่านพ้นกิเลสได้

นี่ก็เหมือนกัน เราเห็นชีวิตแล้วเราก็เทียบเคียงเอา เพื่อสร้างกำลังใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง