เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วันนี้วันพระ อยู่กับหลวงตาท่านบอกว่า พระหัวโล้นๆ โยมหัวดำๆ จิตใจของโยมจะเสียสละนี้จิตใจต้องสูงกว่าสิ่งที่เราออกไปเสียสละ จิตใจที่สูงกว่า เห็นไหม พระหัวโล้นๆ เห็นสิ่งของแล้วนี่ตาลุกวาวๆ ฉะนั้น คำว่าตาลุกวาวๆ มันจะสะดุดไปหมด แต่ถ้าของสิ่งนี้มันเป็นการฝึก นี่พระหัวโล้นๆ เราเสียสละมาหมดแล้ว เครื่องยนต์กลไก สิ่งที่เป็นวัตถุเรามอบไว้กับโลก แล้วเราออกมาหาสัจจะความจริงของเรา ถ้าออกมาหาสัจจะความจริงของเรามันต้องอาศัยความจริง
ความจริง เห็นไหม เวลาประเพณีวัฒนธรรม คนเรามันหยาบนะ ถ้าคนมันหยาบเห็นแต่รูป เห็นแต่สิ่งที่เป็นวัตถุ ประเพณีวัฒนธรรมก็คือการกระทำ ถ้ามีการกระทำอย่างนั้นเป็นศาสนา แต่เวลาเรากำหนดของเราขึ้นมาเป็นนามธรรมในหัวใจ มันเป็นความรู้สึก ถ้าเป็นความรู้สึก แต่มันก็เริ่มต้นจากเรานั่งสมาธิ เดินจงกรม เริ่มต้นจากเราเสียสละทาน การเสียสละทานนั่นก็คือการภาวนาอย่างหยาบๆ เพราะว่าความขัดข้องหมองใจในหัวใจมันมี การเสียสละ เห็นไหม นี่ฝึกหัดหัวใจของมัน แต่มันฝึกหัดของมันไม่ได้ มันถึงต้องอาศัยวัตถุนั้นเป็นสิ่งที่ฝึกหัด
การฝึกหัดอาศัยวัตถุเป็นเครื่องเสียสละ ถ้าเสียสละนี่ทาน ศีล ภาวนา ถ้าทาน ศีล ภาวนา สิ่งที่มันจะละเอียดขึ้นไป ถ้าคนหยาบๆ มันก็ประเพณีวัฒนธรรม แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ ประเพณีวัฒนธรรมเป็นการแสดงออกของสังคม แต่ถ้าพูดถึงในการปฏิบัติ ปฏิบัติตามประเพณีๆ เอาประเพณีเป็นใหญ่ ประเพณีเป็นใหญ่ แล้วหัวใจไม่ต้องไปพูดถึงมันเลยหรือ? ใครทำให้เหมือนก็ได้นะประเพณีนี่ ใครจะจัดเรียงสิ่งของต่างๆ ให้เข้าที่ทำได้หมดแหละ แต่จิตใจคนหยาบละเอียดนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ
ถ้าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นไหม เราต้องมีสติ มีสติเพื่อจะเอาหัวใจของเรา ถ้าเอาหัวใจของเรา เราประพฤติปฏิบัติเข้าไป ถ้าเริ่มต้นปฏิบัติเราจะคิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนเราเกิดมาแล้วทุกคนกลัวผีทั้งนั้นแหละ ทุกคนกลัวผี กลัวโลกของจิตวิญญาณ กลัวการพลัดพราก ทุกคนกลัวไปหมดแหละ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจะตรัสรู้ขึ้นมาตรัสรู้เรื่องนี้แหละ
เวลาศาสนาสอนเรื่องการเกิดและการนี่แหละ สอนถึงความสุขความทุกข์ในหัวใจเรานี่แหละ แต่สอนความทุกข์ความสุขในหัวใจเรา แต่เวลาเราคิดกันเอง เห็นไหม เราปรารถนาสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ปรารถนาประสบความสำเร็จๆ ความสำเร็จอะไรมันจะมั่นคงกว่าความสำเร็จในหัวใจที่มันสิ้นกิเลสล่ะ?
นี่สิ่งใดในโลกนี้มันไม่มีสิ่งใดประสบความสำเร็จหรอก มันเป็นอนิจจังทั้งนั้นแหละ มันไม่มีอะไรคงที่หรอก มันเปลี่ยนแปลงทั้งนั้นแหละ แต่เราต้องการความเปลี่ยนแปลงนั้นให้เป็นคงที่ แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมคือความรู้สึกที่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันกลับคงที่ได้ ถ้ามันคงที่ขึ้นมา เห็นไหม กุปปธรรม อกุปปธรรม
กุปปธรรม มันสัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมที่เป็นอนัตตาๆ เราก็ว่าสภาวะนั้นเป็นอนัตตา ความรู้สึกนึกคิดทุกอย่างมันแปรปรวนตลอด ทุกอย่างมันเป็นอนัตตาหมดเลย แต่ แต่เวลาทำขึ้นไป นี่สัพเพ ธัมมา อนัตตานี่นะ อกุปปธรรมล่ะที่มันไม่เป็นอนัตตามันเป็นอย่างไร? ที่มันไม่เป็นอนัตตา พอมันไม่เป็นอนัตตาปั๊บมันเหนือกาลเวลา เหนือคำพูด เหนือทุกอย่าง ฉะนั้น พอเหนือทุกอย่างพระพุทธเจ้าถึงไม่บัญญัติไว้ไง
ทีนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่บัญญัติไว้ คนที่ไปรู้ความจริงอันนั้น มันรู้นี่ มันรู้ว่าอะไรที่ไม่เป็นอนัตตา แล้วไม่เป็นอัตตาด้วย มันไม่เป็นสิ่งต่างๆ ทั้งสิ้น แต่มันไม่เป็นอนัตตาก็แล้วกันน่ะ แต่ถ้ามันเป็นอนัตตาล่ะ? มันเป็นอนัตตาเพราะมันเป็นอยู่แล้ว ความเป็นอยู่แล้ว นี่สรรพสิ่ง เห็นไหม ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติมันแปรปรวนอยู่แล้ว การเกิดและการตายก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ความทุกข์ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ทุกอย่างมันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง สิ่งที่มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แล้วมันแปรปรวนไหมล่ะ? มันแปรปรวนอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครรู้มันไง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้จริงตรงนี้ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้จริง เห็นไหม ดูสิไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ทั้งหมด ศึกษานี่เขาจะมีวิชาการทางไหนไปศึกษามาทั้งนั้นแหละ มันไม่ใช่ทางทั้งนั้นแหละ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอานาปานสติ กำหนดจะให้หัวใจมั่นคง พอมั่นคงขึ้นมานี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ พอมั่นคงแล้วมันมีฤทธิ์ มีเดชของมัน มันรู้นะ รู้อดีตชาติ รู้ย้อนหลังอดีตไปหมดเลย มันไม่ใช่ จุตูปปาตญาณก็ไม่ใช่ เวลาอาสวักขยญาณ ชำระสิ่งที่เศร้าหมองในหัวใจ นี่เศร้าหมองผ่องใส สิ่งที่เป็นความว่าง
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์โมฆราช
เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิคนที่รู้ว่าว่าง
แต่เราบอกว่าว่างๆ ว่างๆ เขาก็ว่าง เราก็ว่าง ว่างจนไม่มีขื่อมีแป ว่างจนไม่มีหลักมีเกณฑ์ ว่างอะไรของมัน? แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกโมฆราชนะ
เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง
เราก็จินตนาการได้ทุกอย่างให้มันว่างหมดแหละ แล้วเรานี่ทุกข์น่าดูเลยล่ะ เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ ถอนไอ้คนรู้ว่าว่าง ถอนไอ้รู้สัจจะนั้นน่ะ ถ้าถอนอันนี้ไม่ได้ก็ไม่ได้ ถ้ากลับมาถอนอันนี้ได้ มันถึงต้องกลับมาถอนอันนี้
ฉะนั้น เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมะเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างมันแปรปรวน มันก็แปรปรวนจริงๆ นั่นแหละ แต่ไม่มีใครรู้มัน ทีนี้เรารู้นี่เรารู้ด้วยอะไร? เรารู้ด้วยคำบอกเล่าไง เรารู้ด้วยการศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เราไม่รู้จริงขึ้นมาไง พอไม่รู้จริงขึ้นมานี่หวั่นไหว เจอสิ่งใดก็หวั่นไหว แต่ถ้ามันรู้จริงขึ้นมา มันถอดถอนของมันขึ้นมาแล้วมันไม่มี
นี่ลมมันพัดไปในอากาศมันกระทบสิ่งใดบ้างล่ะ? มันไม่กระทบสิ่งใดเลย แต่ถ้าลมมันพัดไปในวัตถุเสียงจะดังมาก ลมพัดไปในสิ่งอะไร มันทำให้วัตถุนั้นล้มระเนระนาดไปหมดเลย นี่ถ้ามีตัวตนของเรา เห็นไหม
เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง
แต่ไอ้ตัวหวั่นไหวคือตัวเรา ไอ้ตัวที่รู้นี่ แต่ถ้าเราถอนอัตตานุทิฏฐิ นี่ลมพัดขึ้นมามันโดนอะไร? มันไม่โดนสิ่งใดเลย ถ้าไม่โดนสิ่งใดแล้วมันมาจากไหนล่ะ? มันมาจากการกระทำนะ มันต้องทำจริงทำจังขึ้นมา ไม่ใช่ว่าทำแกล้งๆ ลืมไป ปฏิเสธไปทุกๆ อย่าง แล้วว่ามันจะเป็นธรรมขึ้นมามันเป็นไปไม่ได้หรอก มันต้องจริงจังของมันขึ้นมา
คำว่าจริงจังอย่างนี้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานี้ นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ สร้างอะไรมา? ทำอย่างใดมามันถึงมาเป็นแบบนี้ แล้วถ้ามันเป็นแบบนี้ แล้วถ้ายังไม่สิ้นกิเลสไป นี่จุตูปปาตญาณ ทำดีก็ต้องได้ดีต่อไป เห็นไหม นี่อดีตมามาอย่างไร? คนที่อดีตมาดี คิดดีทำดี ทำดี ความดีก็ต้องตอบสนองไปเรื่อยๆ
นี่ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันเป็นสัจธรรม มันเป็นสัจจะ แล้วใครรู้จริงกับมันล่ะ? ถ้ารู้จริงขึ้นมา แล้วจะข้ามดีและชั่ว สิ่งที่ทำมาแล้วก็ไม่เอา อนาคตก็ไม่เอา แล้วไม่เอาทำไมถึงไม่เอาล่ะ? ถ้าไม่เอา ใครเป็นคนไม่เอาล่ะ? ถ้าไม่เอามันต้องรู้ต้องเห็นสิ ไม่เอามันไม่เอาอย่างไร? แล้วมันถอดถอนอย่างไร ถ้ามันยังถอดถอน
ไม่เอามันเป็นคำพูดนะ อย่างเช่นเราปฏิเสธนรก สวรรค์ เราปฏิเสธว่าไม่มี ชาติหน้าไม่มี เราปฏิเสธ เพราะเราปฏิเสธมัน แต่ถึงเวลาแล้วเราไปเผชิญกับสิ่งนั้นนะ นี่เวลาเราบอกว่าเราจะไม่คิดอย่างนี้เลย เราไม่อยากทำสิ่งนี้เลยเพราะเรารู้ว่ามันไม่ดี แต่เวลาความคิดมันเกิดขึ้นมานี่เราแก้อย่างใด? เราเผชิญมันอย่างไร?
นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิเสธว่าไม่มีๆ นี่แหละ ถ้าถึงเวลามันเผชิญแล้วจะทำอย่างใด? นี่ไงทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันมีของมัน สัจธรรมมันเป็นของมัน แล้วถ้าสัจธรรมเป็นของมัน ถ้ามันไปเห็นของมัน นี่เวลาปฏิบัติองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับมาที่นี่ แล้วถ้าแก้ไขที่นี่แล้วความหวั่นไหวมันไม่มี ถ้าความหวั่นไหวไม่มี มันมีข้อเท็จจริงของมันในการกระทำอันนั้น
ฉะนั้น เรามาทำบุญกุศลกัน นี่ธรรมะๆ ธรรมะอย่างนี้ เวลาธรรมะนี่คนพูดให้เหมือนไง ว่างๆ บอกว่ามันเป็นความว่าง นิพพานเป็นความว่าง นิพพานเป็นเมืองแก้ว เมืองแก้วเราก็เตรียมผ้าไปเช็ดก็แล้วกันแหละ เพราะแก้วเดี๋ยวก็เศร้าหมอง ถ้ามีสิ่งใดแล้วมันต้องเศร้าหมอง มันเศร้าหมองทั้งนั้นแหละ นี่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส
จิตผ่องใสคือว่าไม่มีกิเลส ตัวผ่องใส เห็นไหม ตัวผ่องใสเดี๋ยวก็เศร้าหมอง นี่เดี๋ยวก็ผ่องใส เดี๋ยวเราก็อารมณ์ดี เดี๋ยวเราก็อารมณ์ไม่ดี สิ่งนี้มันเป็นของคู่กันอยู่แล้วแหละ แล้วจะถอดถอนกันอย่างไร? จะทำอย่างไร? นี่ศาสนาของเรามันประเสริฐอย่างนี้ แต่ต้องให้มันประเสริฐจริงๆ ตามข้อเท็จจริงนั้น ถ้าเวรกรรมของเรานะ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สิ่งที่ทำมานี่คิดดี ทำดี เพราะสิ่งที่จิตใจมันดีของมัน แต่คิดดีทำดีขนาดไหนมันก็เศร้าหมอง
นี่ดูสิพลังงานใช้ขนาดไหนมันก็หมดของมัน การเศร้าหมองเราก็ต้องพยายามทำหัวใจให้เราผ่องแผ้ว ถ้าทำหัวใจให้ผ่องแผ้วเราก็ต้องมีสติ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ บอกพระอานนท์ นี่ประกาศเลย
ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ความประมาทเลินเล่อของเรา เห็นไหม
นี่ก็เหมือนกัน เดี๋ยวเศร้าหมอง เดี๋ยวผ่องใส ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมาเราก็ไม่ประมาท พอเราไม่ประมาทนะ การทำความผิดพลาดทางโลกนี่น้อยมาก สิ่งที่เราทำผิดพลาดเพราะเราประมาทกัน แล้วประมาทกันจนเป็นนิสัย จนเป็นความเคยชิน ประมาทเกินไป ไม่เป็นไรๆ ไง แต่ถ้าเราเป็นไร เราเป็นไรเราตั้งสติของเราขึ้นมา แล้วเราพยายามรักษาชีวิตของเราขึ้นมา นี่มันฝึกสติมาตั้งแต่นั่น ถ้าจะมานั่งสมาธิก็นั่งสมาธิได้ง่ายขึ้น
นี้พอนั่งสมาธินะ ปฏิบัติธรรมต้องมีความสุข ปฏิบัติธรรมต้องมีคุณงามความดี เรียกร้องเอา เรียกร้องเอา พอทำบุญขึ้นมานี่ว่าต้องร่ำรวย ต้องมีความพอใจ ต้องได้ทุกอย่างขึ้นมา เรียกร้องเอา ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตามเนื้อหาสาระ ตามข้อเท็จจริง เวลาปฏิบัติไป
ความสุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี
แต่มันสงบไหมล่ะ? ถ้ามันไม่สงบมันไม่สุขหรอก เห็นไหม นี่เวลาเราทุกข์เรายาก เราทุกข์เรายากเพราะตัณหาความทะยานอยาก แต่เรามีศรัทธา มีความเชื่อ เราอยากจะพ้นจากกิเลส เราอยากจะพ้นจากการเกิดและการตาย เรามานั่งสมาธิภาวนานี่ ทุกข์มากกว่าความทุกข์ในสังสารวัฏ ในสังสารวัฏคือความทุกข์ในสัจจะความจริงของมัน
แต่นี้เราจะแก้ทุกข์ เราจะแก้ทุกข์เราต้องมีสติ เราต้องมีความเพียร เราต้องมีความวิริยะอุตสาหะ กิเลสที่ความเคยใจอยู่แล้วนี่ ความสุขความทุกข์ที่เราพอใจของเรานี่มันอยู่กับเรา พอเราจะแก้ไขมัน เราจะต่อสู้กับมัน เห็นไหม มันจะเสริมมาเป็น ๒ เท่า ๓ เท่า ๒ เท่า ๓ เท่าด้วยจินตนาการ ด้วยตัณหา ด้วยแรงบวกของกิเลส ฉะนั้น พอแรงบวกของกิเลสเราจะฝืน คนถ้าไม่ตั้งใจจะทำความดีนะ นี่ปล่อยชีวิตไปวันๆ หนึ่งก็ไม่มีความหมายสิ่งใด พอเราเริ่มตั้งกติกากับเรามันหงุดหงิดไปหมดแหละ มันมีข้อจำกัดไปทุกเรื่องเลย
เวลานั่งสมาธิภาวนาก็เหมือนกัน เวลาเราตั้งสติขึ้นมามันต่อต้านแล้ว มันมีเหตุ มีความคิดขึ้นมาแล้ว ทำไมโลกนี้เขามีแต่ความสุขกันทั้งนั้น ทำไมเราต้องมาทุกข์ยาก ทำไมเราต้องมาบังคับตนเอง ทำไมเราต้องมาทำร้ายตนเอง คนอื่นเขามีแต่สติปัญญา เขามีแต่ความสุขในชีวิต เราเป็นคนที่ไม่มีปัญญา ทำร้ายตัวเอง ทำตัวเองให้ลำบากเปล่า ทำตัวเองให้ทุกข์ นี่มันยุมาแล้ว แล้วพอนั่งไป เห็นไหม โดยธรรมชาติของมัน ถ้าปัญญามีเท่านี้นะเดี๋ยวมันอึดอัดขัดข้อง แล้วทำสิ่งใดไปไม่ได้เลย แต่ถ้าคนมีศรัทธาความเชื่อนะ เรามั่นคงของเรา เราต่อสู้กับมัน
ทุกข์เพราะสังสารวัฏนั้นอย่างหนึ่ง ทุกข์เพราะความเพียรนะ ทุกข์นี้ควรกำหนด แต่พอเราเริ่มชนะซักหนหนึ่ง สุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี มันสงบของมันได้ ถึงที่สุดแห่งความทุกข์ ที่สุดแห่งเต็มที่ของมัน มันต้องปล่อยวางของมัน มันต้องจางคลายของมันแน่นอน ถ้าเราใช้ปัญญาของเราถึงที่สุดแล้วมันปล่อยวางของมัน มันสู้กับเราไม่ได้หรอก มันสู้ความจริงไม่ได้
หลวงตาบอกว่า กิเลสมันกลัวอย่างเดียวกลัวธรรมะ กลัวคนจริง กลัวคนทำจริง
กิเลสไม่กลัวคนเหลาะแหละ กิเลสไม่กลัวคนสะเพร่า คนขาดสติกิเลสไม่กลัว กิเลสกลัวคนมีสัจจะ กลัวคนมีสติ คนมีปัญญาที่จะต่อสู้กับมัน ถ้าเราถึงที่สุดแล้วมันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางนะ
สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี
ถ้าเราเคยทำได้เราก็ทำได้ แล้วคนที่มีอำนาจ สร้างอำนาจวาสนามา ทำสิ่งที่ดีมา คิดแต่สิ่งที่ดีมา สิ่งนี้ทำได้ง่าย แต่ถ้าเราสร้างอำนาจวาสนามาปานกลาง เราสร้างอำนาจวาสนามาด้อยค่า เวลาเราทำความเพียรของเรานะ นี่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ง่าย
มันมีของมันนะ คำว่ารู้ง่ายรู้ยาก มันก็เกิดจากการที่เราสะสมบารมีของเรานี่แหละ เกิดจากการที่เราทำของเรานี่แหละ เกิดจากเราฝึกใช้ปัญญาของเรานี่แหละ ถ้ามันทำขึ้นมาแล้วมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เราภาวนาเราก็มีโอกาสของเรา จะทำบุญมากน้อยขนาดไหนนะ ถึงที่สุดแห่งทุกข์ต้องมีการภาวนาเท่านั้น ถ้าเรายังไม่ได้ภาวนา เรากักน้ำไว้ เขื่อนกักน้ำไว้ ถ้ากักน้ำไว้ ไม่เอาน้ำนั้นมาใช้นะมันระเหยไปหมดแหละ
คุณงามความดีของเรา เห็นไหม ถึงที่สุดแล้วมันสิ้นถึงหมดไปมันก็เวียนไป นี่ชีวิตเป็นผลของวัฏฏะมันถึงหมุนเวียนของเรา เราตั้งสติ ความที่เป็นหมุนเวียนของเรา ในเมื่อเรายังต้องกำเนิดอยู่ ยังต้องเกิดอยู่ เราก็อาศัยบุญกุศลของเราเพื่อเป็นเสบียงของเราในการดำรงชีวิต แต่ถ้าเราทำถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้นะมันวางไว้ที่นี่
ชีวิตนี้มีค่า มีค่าเพราะเราเกิดมาแล้วเราได้ประพฤติปฏิบัติ แล้วเราได้รู้จริงของเรา ความรู้จริงของเรานะ นี่ความลับทางการค้า ความลับทางวิทยาศาสตร์ ความลับทางความมั่นคงเขาปิดกัน แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ไม่มีกำมือในเรา ท่านแบไว้หมดเลย ท่านบอกพวกเราหมดทุกอย่างเลย แต่พวกเราทำไม่ได้ ถ้าพวกเราทำได้นะ นี่เราพยายามตั้งสติของเรา
ทุกข์ยากไหม? ทุกข์ยาก เวลาเราทุกข์ยากนะ เวลาเราเกิดเราตาย ความบีบคั้นมันมากกว่านี้ แต่อันนั้นเพราะความจำเป็น ความจำเป็นเพราะเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ กิเลสมันหลอก มันจะหลบ มันจะเลี่ยงไง เพราะเราหลีกเลี่ยงได้ถึงไม่จริงจัง แต่ถ้าถึงเวลาความทุกข์ที่มันเป็นความจริงนะ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เราต้องเผชิญกับมัน ทุกข์ยากมาก อันนี้ทุกข์ยากเพราะเราอยากรู้จักมัน อยากรู้จัก
ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ละความทุกข์นี่ เราไปอยากรู้จัก เราอยากศึกษา อยากค้นคว้า ถ้าเราศึกษาค้นคว้ามันรู้ตามความเป็นจริงแล้วมันจะหลอกเราอีกไม่ได้เลย สิ่งนี้ก็เหมือนอากาศผ่านไปผ่านมา เห็นไหม ฤดูกาลมันก็ผ่านไปผ่านมา เราเข้าใจรู้จริงทุกอย่างแล้วเราจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจไปกับมัน
เกิดจากการฝึกฝน เกิดจากการกระทำนะ ชีวิตนี้มีค่ามีที่นี่ มีที่เรามีปัญญา เรามีสติปัญญา แล้วเราใคร่ครวญของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง