เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๒ ธ.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราชาวพุทธนะ เราอยากเรียกร้องหาความเป็นธรรม ทุกคนอยากหาความเป็นธรรม ทุกคนรักความเป็นธรรม เวลาเรามองไปทางโลก เห็นไหม ถ้ามีการกดขี่กัน มีการเอารัดเอาเปรียบกัน เรารู้สึกว่าหงุดหงิด เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เราอยากให้มีความเสมอภาค ให้ทุกอย่างให้มีความเห็นอกเห็นใจต่อกัน นี่พูดถึงความเป็นธรรมนะ

แต่ถ้ามีการกดขี่ มีการแก่งแย่งกัน มีการทำร้ายกัน อันนั้นเพราะมันเป็นความกระทบกระเทือนของเขาไง ในใจของเขาถ้าเขาคิดอย่างนั้น การแสดงออก เห็นไหม นี่การแสดงออกของเขามันก็ออกมาจากความรู้สึกนึกคิดของเขา นี้พูดถึงความเป็นธรรมข้างนอก ความเป็นธรรมข้างนอก ถ้าเราเป็นรัฐบุรุษผู้ปกครอง เขาก็ต้องพยายามปกครองให้มันมีความสงบร่มเย็น ถ้ามีความร่มเย็น นี่ปกครองโดยกฎหมาย ปกครองโดยความเป็นธรรม

ถ้าที่ไหนมีความเป็นธรรมนะ สังคมจะมีความร่มเย็นเป็นสุข แต่! แต่ชนหมู่มากมันก็มีเรื่องเป็นธรรมดา วุฒิภาวะแต่ละคนไม่เหมือนกัน เถียงกันเรื่องความเป็นธรรม แต่ความเป็นธรรมของใครล่ะ? เห็นไหม เด็กๆ ก็มีวุฒิภาวะอย่างหนึ่ง พอคนที่วัยทำงานก็มีวุฒิภาวะอย่างหนึ่ง คนที่ผ่านประสบการณ์มามากก็มีวุฒิภาวะอย่างหนึ่ง ความเห็นก็แตกต่างกัน นี่ความเป็นธรรมข้างนอก

เราเรียกร้องความเป็นธรรมๆ แต่เราไม่เรียกร้องความเป็นธรรมให้เราเองไง นี่ถ้าเราเรียกร้องความเป็นธรรมนะ ดูความรู้สึกนึกคิดของเราสิ บางอย่างเรารู้ว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง แต่ทำไมมันคิดขึ้นมาล่ะ? อย่างนี้เป็นธรรมไหม? ถามตัวเองอย่างนี้เป็นธรรมไหม? เรารู้อยู่นะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ว่า

“สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

นี่ความสงบร่มเย็นในหัวใจ สุขอื่นใดไง สุขทางโลกเราต้องแสวงหา เราต้องขวนขวาย เราต้องทำให้ได้ความเป็นสุข ดูความสงบสุขในบ้านเราสิ นี่เราไปทำงานมาจากไหนก็แล้วแต่ ถ้าในบ้านเราร่มเย็นเป็นสุขนะ เราอยากกลับบ้าน แต่ถ้าในบ้านเรามีแต่ความขัดแย้งนะ เราไปทำงานแล้วไม่อยากกลับบ้าน เสร็จงานแล้วก็อยากอยู่ที่ทำงาน ไม่อยากกลับบ้าน เพราะในบ้านเรามันไม่มีความร่มเย็นเป็นสุข

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าในหัวใจเราไม่มีความร่มเย็นเป็นสุข บ้านของเรา หัวใจของเรา ถ้าเราเรียกร้องความเป็นธรรม เราเรียกร้องความเป็นธรรมที่นี่ แล้วความเป็นธรรมที่นี่มันยั่งยืนนะ ความเป็นธรรมจากข้างนอกเราเรียกร้องขนาดไหน เราไปจัดการให้เขาแล้วนะ เดี๋ยวเขาก็มีปัญหากันอีก ความเป็นธรรมจากข้างนอกเพราะวุฒิภาวะเรื่องของกรรมนะ เรื่องของกรรม เรื่องของความเห็นของคนมันจบไม่ได้หรอก ปัญหาสังคมไม่มีวันจบ เพียงแต่ว่ามันเป็นคราวเป็นกาลเท่านั้นแหละ

แต่ปัญหาของเรามันจบ ถ้าปัญหาของเราจบ เห็นไหม เราเรียกร้องความเป็นธรรมให้เรา ถ้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้เรา เวลาเราทำคุณงามความดีขึ้นมากิเลสมันสอดแล้ว เราเสียเปรียบเขา เราทำแล้วไม่ทันสังคม สังคมเขาไปถึงไหนแล้ว เราจะไม่ทันสังคมที่ไหน? เราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนะ ดูสิเขาว่าโลกนี้เจริญๆ เราจะล้าหลังหรือ? เราจะไม่ทันโลกหรือ? นี่แล้วมันเจริญ แล้วเจริญไปไหนล่ะ? มันเจริญไปที่ไหน?

โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ มันไม่มีทางคงที่ได้หรอก นี่มีคราวขึ้นและมีคราวตกต่ำเป็นธรรมดา เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ดูสิดูโลกเรา เห็นไหม ดูประเทศชาติต่างๆ เดี๋ยวก็รุ่งเรือง เดี๋ยวมันก็มีปัญหามันไปตลอดแหละ แต่ถ้าความเป็นธรรมในหัวใจของเรานะเรารักษาของเรา ถ้ามันจะเป็นธรรมอย่างไรล่ะ? จะเป็นธรรมอย่างไร? ถ้าเป็นธรรมนะ เราเข้าข้างตัวเองเราก็ว่าเป็นธรรม

ทุกคนนะ ความดีของเรา มุมมองของเรา เราว่าสิ่งนั้นถูกต้องหมดแหละ แต่ความถูกต้องอันนั้น ถ้าความถูกต้องมันก็ต้องคงที่ของมัน ต้องดีเป็นความจริงสิ แต่นี้มันไม่เป็นความจริง มันก็เป็นอนิจจัง ความคิดเราก็เป็นอนิจจัง ความคิดของเรา เห็นไหม ถ้าเรายังเข้าใจผิดอยู่ เราเข้าใจสิ่งใดที่ผิดอยู่ ความคิดของเราเราก็ผูกมัดกับความคิดนั้น แต่ถ้าเมื่อไหร่มีปัญญาขึ้นมา เราแยกแยะขึ้นมา ความคิดสิ่งนี้เราเข้าใจผิด เราก็ปล่อยวางได้

เราบอกว่าสิ่งนี้เข้าใจผิด เราจะเอาความที่ถูกต้อง ถูกต้องนะ นี่ถ้ามันมีปัญญาขึ้นมามันก็รักษาหัวใจของเราขึ้นมา เห็นไหม นี่ความเป็นธรรมของเรา เราจะรู้ของเราได้ เวลาคำว่าปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เรารู้ของเรานะ นี่เราว่ามนุษย์เป็นสัตว์มหัศจรรย์ คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง ความรู้สึกนึกคิดเราพูดออกไปไม่ได้ นี่มรรยาทสังคมไม่ให้เราพูดตามที่เราพอใจ ที่เรามีความรู้สึกนึกคิด เราจะพูดอย่างนั้นพูดไม่ได้มันเสียมรรยาทสังคม นี่ด้วยความฝึกฝนๆ จนคิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง

ทีนี้ถ้ามันซื่อสัตย์กับเราล่ะ? ถ้ามันซื่อสัตย์กับเรานะเราพูดออกไป แต่เราพูดออกไป ในทางธรรม เห็นไหม ดูสิอย่างเช่น นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ แต่ก็มีครอบครัวไป เวลาออกจากบ้านพ่อสอนไว้เลยนะ

“ไฟในอย่าให้ออก ไฟนอกอย่าให้เข้า”

แต่งงานออกไปไง ในครอบครัวอย่าเอาไปพูดข้างนอก เรื่องข้างนอกก็ไม่เอามาพูดในบ้านของเรา มันจะสร้างแต่ปัญหาเดือดร้อนไปทั้งนั้นแหละ ไฟในไม่ให้ออก ไฟนอกไม่ให้เข้า คติธรรมของเราชาวพุทธนี่นะ ส่วนใหญ่มาจากพระไตรปิฎกทั้งนั้นแหละ

นี่ไฟในไม่ให้ออก ไฟนอกไม่ให้เข้า สิ่งนี้มันเป็นความเป็นอยู่ของครอบครัวใช่ไหม? ในครอบครัวของเรามันก็มีปัญหาไปทั้งนั้นแหละ ไฟในไม่ให้ออก ไฟนอกไม่ให้เข้า แล้วเวลาบอกว่าเรียกร้องความเป็นธรรม ขอให้ซื่อสัตย์ ต้องพูดความเป็นจริง พูดความจริง อย่างนั้นความจริงเราก็ต้องโพนทะนากันหมดเลยหรือ? เราต้องโพนทะนาในบ้านเราใช่ไหม?

นี้พูดถึงหยาบละเอียดไง แต่ถ้าในหัวใจของเราล่ะ? ในหัวใจของเรา เราพูดกับเราเองนะ เราพูดกับเราเอง เห็นไหม เราตั้งสัจจะอย่างใด? เราตั้งสัจจะ เรามีเป้าหมายอย่างใด? ถ้าเรามีเป้าหมายอย่างใดนะ เวลาพูดออกไปสิพูดไม่ได้เลยนะ พอบอกว่าเรามีเป้าหมายอยากจะพ้นจากทุกข์ อยากไปนิพพาน โอ้โฮ จะไปขนาดนั้นเชียวหรือ? เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ ไม่มีแล้ว หมดยุคหมดกาลแล้วนะ เราจะต้องไปต่อสู้กับไอ้แรงเสียดสีสังคมนั้นอีกมหาศาลเลย

เราตั้งใจจะไปนิพพาน เราไม่บอกใคร เราตั้งสัจจะของเรา เรามีเป้าหมายของเรา เราซื่อสัตย์กับเรา ไฟในไม่ให้ออก ไฟนอกเข้ามานะมันเผาผลาญตายเลยนะ ถ้าเราตั้งใจนะ แม้แต่วงการพระ พระนี่เวลาพูดกัน จะเอาอย่างนั้นเชียวหรือ? แต่เวลาทำไปแล้วนะมันทำได้ ถ้ามันทำได้เราตั้งเป้าหมายของเรา พอตั้งเป้าหมายว่าสูงส่งเกินไป สูงส่งเกินไปจนเราทำไม่ได้ ที่ไหนมีทุกข์ นี่ถ้าเรากำจัดทุกข์นั้น ผลของมันไง ที่ไหนมีทุกข์?

นี่บอกสมัยพุทธกาล เห็นไหม มรรค ผล นิพพาน มีในสมัยพุทธกาล ปัจจุบันนี้ไม่มี ปัจจุบันนี้มนุษย์เราทุกข์อยู่ไหม? เวลาเราเกิดมาเราทุกข์ไหม? ถ้าเราเกิดมาทุกข์นะ นี่ธรรมะมันแก้ทุกข์นี้ แล้วทุกข์ควรกำหนด ทุกข์อย่างไร? นี่เราบอกว่าทุกข์ๆๆ เราทุกข์ ที่ว่าเราเป็นความทุกข์ คนเกิดมานะ จะมั่งมีศรีสุข ทุกข์จนเข็ญใจนั้นเป็นอำนาจวาสนา แต่โดยสัจธรรมทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์ทั้งนั้น แม้แต่มั่งมีศรีสุขขนาดไหนนะ นี่มันไม่เคยอิ่มเต็มหรอก มันไม่เคยอิ่มเต็ม มันเรียกร้องๆ นะ

เรามีพระเพื่อนองค์หนึ่ง เขาเป็นชาวฝรั่งเศสนะ พ่อแม่นี่มีฐานะมาก เขาบอกเขาเกิดมานี่ เขาพูดกับเราทีแรกบอกว่านิ้วเขานิ้ววิเศษ ลูกชายคนเดียว ชี้สิ่งใด นี่อยากได้อะไรได้หมด ในโลกนี้ถ้าเขามีกัน มีทั้งนั้นเลย อยากๆๆ อยากจนถึงที่สุดอยากทำอะไรรู้ไหม? ไม่รู้ว่าอยากอะไร? แต่อยาก แต่ไม่รู้อยากอะไร? ก็อยากฆ่าตัวตาย พออยากฆ่าตัวตายนี่พ่อมาเห็นเข้า พ่อมาเห็นเข้าบอกอย่าทำอย่างนี้นะ ให้เงินไปเที่ยวรอบโลก ให้เงินมาแล้วไปเที่ยวรอบโลก อย่าทำตัวเองนะเพราะมีลูกชายคนเดียว

พอมาถึงนี่มาที่อินเดีย พอมาอินเดียนะเขาบอกว่า ถ้าเอ็งมาเมืองไทยนะ เวลาเงินหมดนะให้เข้าวัด พอมาเมืองไทยนี่เงินเขาหมดเขาเข้าวัด เข้าวัดก็ไปศึกษา ศึกษาแล้วก็บวชไง เห็นไหม พอบวชแล้วนี่พ่อมาเยี่ยม พ่อมาเยี่ยมตลอด นี่เขาพูดให้เราฟัง มาเจอกันเขาบอกว่านิ้วนี่เหมือนนิ้ววิเศษ ชี้สิ่งใดได้อย่างนั้น อยากได้ทุกอย่าง ในโลกเขาที่มี ยาเสพติดทุกอย่างเสพหมด เพราะมันมีความอยากตลอดเวลา แต่มันไม่รู้อยากอะไร? สุดท้ายแล้วอยากฆ่าตัวตาย เห็นไหม อยากฆ่าตัวตายก็กำลังจะฆ่าตัวตาย พ่อแม่เห็นเข้าพอดี พ่อขอร้องบอกอย่าทำอย่างนี้ อย่าทำอย่างนี้ ให้เงินไปเที่ยวรอบโลกเลย

นี่คนที่ว่ามั่งมีศรีสุขขนาดไหน ว่ามีความสุขๆ ถ้าไม่มีธรรมะในหัวใจนี่ทุกข์ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ามีธรรมะในหัวใจ เห็นไหม นี่เรียกร้องความเป็นธรรมๆ ความเป็นธรรมข้างนอกนะ ถ้าเราช่วยเหลือได้เราก็อยากช่วยเหลือ ทุกคนอยากช่วยเหลือทั้งนั้นแหละ ทุกคนอยากสร้างบารมี ทุกคนอยากเห็นความสงบร่มเย็นของสังคม แต่บางอย่างเราอธิบายให้เขาเข้าใจไม่ได้หรอก เราอธิบายให้เขาเข้าใจไม่ได้ จริตนิสัยเป็นแบบนั้น

ดูคนโทสจริต มีสิ่งใดกระทบก็โกรธหมด คนโลภะนะ เวลามันโลภของมัน อย่างใดมันก็จะเอาของมัน ไม่มีเหตุไม่มีผล แต่ถ้ายิ่งคนหลงนะ มันก็จะเชื่อเขาไปง่ายๆ ตลอด สอนเถอะ จ้ำจี้จ้ำไชอย่างไรก็สอนไปเถอะ มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ แต่ถ้าเขามีสติของเขา เขาได้พัฒนาของเขา เขานั่นแหละจะแก้ตัวเขา แต่เรานี่เราก็พยายามเทียบเคียง เราพยายามบอกเขา นั่นเป็นการบอกเขา นี่เราพูดถึงความเป็นธรรมข้างนอก

ความเป็นธรรมข้างนอก ทุกคนอยากให้เป็นธรรม ไม่ใช่ว่านี่พอพูดถึงศาสนานะ เขาบอกว่าศาสนานี่เห็นแก่ตัว ทุกคนอยากพ้นจากทุกข์ ทุกคนอยากพ้นจากทุกข์ ไม่ยอมช่วยเหลือสิ่งใดเลย เราช่วยเหลือนะ แต่ช่วยเหลือนะดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมตตา นี่รื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่ช่วยเหลือแล้วเราไม่เดือดร้อนในหัวใจไง แต่ถ้าเราช่วยเหลือแล้วว่าต้องเป็นอย่างนั้น เป็นวิทยาศาสตร์นะ ต้องเป็นอย่างนั้นๆ เราพูดแล้วเขาต้องใจอย่างนั้น เรานี่แบกโลกแล้วเราทุกข์มาก

ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าเขามีความผิดมีความพลาดเราก็บอกเขา ถ้าเขาทำได้ เห็นไหม ถ้าเขาทำไม่ได้ก็ต้องบอกซ้ำ ถ้า ๒ หน ๓ หนนี่มันไม่ฟังกันแล้ว ถ้ามันไม่ฟังกัน โลกเป็นแบบนั้น นี่พูดถึงความเป็นธรรมข้างนอก แต่ความเป็นธรรมข้างในในหัวใจนี้สำคัญมาก ถ้าความเป็นธรรมในหัวใจของเรา เราเรียกร้องความเป็นธรรม เราจะต้องมีเหตุมีผลถึงจะได้ธรรมมา ถ้าได้ธรรมมา ดูสิเราตั้งสติ ถ้าเราตั้งสติ เห็นไหม เราตั้งสติเพื่อรักษาหัวใจของเรา เราตั้งสติก็เพื่อเรา เรามีสมาธิก็เพื่อเรา ถ้ามีสมาธิขึ้นมาเพราะจิตมันสงบเข้ามาแล้วนี่ เราจะมองเหตุการณ์นั้นออก

ที่เราวินิจฉัยสิ่งใดไม่ถูก เพราะว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะเราเป็นปัญหานั้น เราอยากให้ปัญหานั้นหายไป เราก็เป็นปัญหานั้น เราวาง เห็นไหม เราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบเข้ามา เราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหานั้น ถ้าเราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหานั้น ปัญหานั้นเป็นปัญหาเล็กน้อยมาก แต่ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้นนะทุกข์ยากไปหมด แล้วแก้ปัญหานั้นนะ แก้ผิดแก้พลาดไปตลอด นี่มันถึงไม่เป็นธรรมไง

แต่ถ้าเป็นธรรม เห็นไหม เราวางปัญหานั้นไว้ ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามาจะเห็นปัญหานั้น ถ้าจิตมันสงบนะ พอจิตสงบขึ้นมาแล้ว ปัญหานั้น นี่ถ้าจิตสงบแล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาถ้ามันย้อนกลับมาด้วยในสติปัฏฐาน ๔ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม นี่ความเป็นธรรมมันจะเกิดกับเราแล้ว

ถ้าความเป็นธรรมมันจะเกิดขึ้น สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด เพราะเรามีความเห็นผิด เวลาทำวัตร นี่เวลาเราขอขมาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่กาเยนะ วาจายะ เห็นไหม ด้วยกาย ด้วยวาจาที่เราเห็นผิดจากธรรม เห็นผิดจากธรรม เพราะเราเห็นผิด เราเห็นผิด ความเป็นธรรมนี่ ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติมันก็แปรปรวนอยู่อย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเรารู้สัจธรรมๆ เราเห็นผิดไปทั้งนั้นแหละ ถ้ามันเห็นถูกขึ้นมา เห็นถูกมันเห็นอย่างไร? ถ้าเห็นถูกมันเห็นอย่างไร? เห็นถูกมันเห็นว่าสิ่งใด พอมันจับต้องสิ่งใดได้มันพิจารณาด้วยปัญญา พอพิจารณาด้วยปัญญา เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบมันเห็นกายนะ เวลามันพิจารณาด้วยปัญญานะ มันคงที่อยู่ไม่ได้หรอก

สิ่งที่มันคงที่ เพราะของคงที่มันไม่มี สิ่งที่คงที่ไม่มี เห็นไหม เห็นนิมิต เห็นภาพต่างๆ มันคงที่ไหม? เวลามันเห็นนี่มันมาจากไหน? เวลาพิจารณาแล้วมันพิจารณาไปอย่างไร? แล้วมันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นไตรลักษณ์ไป พอเป็นไตรลักษณ์ไป นี่บอกว่าปล่อยวางๆ มันหลุดจากมือเราไป ของที่เราจับอยู่แล้วมันหายไปจากมือนี่เราตกใจตาย

นี่ไงเราว่าต้องเป็นไตรลักษณ์ๆ จะบังคับให้มันเป็นแล้วมันเป็นไหม? แต่ถ้ามันเป็นจริงๆ ขึ้นมาเราบังคับมันไม่ได้ พอบังคับมันไม่ได้ พอมันเห็นจริงขึ้นมามันผงะเลยนะ พอผงะในหัวใจนะ นี่มันไม่ใช่อย่างที่เราคิด อย่างที่เรารู้สึกนึกคิด เห็นไหม จิตใต้สำนึกมันมีความผูกมัดของมัน แต่เวลามันไม่เป็นจริงมันปล่อยของมันๆ นี่ตทังคปหานมันปล่อยบ่อยครั้งเข้า ต้องขยันหมั่นเพียรๆ ถึงที่สุดนะความเป็นจริงมันเป็นความเป็นจริง

นี่เรียกร้องความเป็นธรรม ถ้าความเป็นธรรมนะเป็นธรรมต่อหน้าไม่มีใครเถียงมันได้ ไม่มีสิ่งใดที่เราจะโต้แย้งได้เลย เวลามันขาดขึ้นมาแล้วนี่อะไรไปโต้แย้ง ไม่มีสิ่งใดโต้แย้งได้เลยนะ อกุปปธรรม สิ่งที่เป็นอกุปปธรรม ทำไมมันถึงเป็นอกุปปธรรมล่ะ? โลกนี้ไม่มีสิ่งใดคงที่ นี่มันเป็นอนิจจังทั้งหมด แต่เป็นอกุปปธรรมมันคงที่ ทำไมมันคงที่ได้ล่ะ? นี่สิ่งนี้มันคงที่ได้ เห็นไหม นี่ไงที่เราเรียกร้องหาความเป็นธรรมๆ ธรรมมันอยู่ที่นี่ไง

นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก เธอจงอย่าได้ติดในบุคคล อย่าได้ติดในสิ่งใด ให้มีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด ไม่มีสิ่งใดเป็นที่พึ่งเลย ไม่ควรพึ่งใคร ไม่ควรพึ่งใครทั้งสิ้น ขอให้มีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด แล้วธรรมมันอยู่ที่ไหนล่ะ? เราจะพึ่งธรรมๆ ธรรมมันอยู่ที่ไหน? แต่เวลามันเป็นขึ้นมา เห็นไหม ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าเข้าป่าเข้าเขาไป ธุดงค์ไป นี่ไปหาธรรมๆ หาที่ไหนๆ นะ?

เราเข้าไปภูเขา ภูเขามันก็เป็นป่าเขา มันมีธรรมอยู่ที่ไหนล่ะ? แต่เราเข้าป่าเข้าเขาไปเป็นชัยภูมิ ไปฝึกเรา เห็นไหม ถ้าบอกว่าเข้าป่าเข้าเขาไป แล้วบอกว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ สัตว์ป่ามันอยู่ในป่ามาทั้งชีวิตมันไม่เห็นเป็นสิ่งใดขึ้นมาเลย เพราะมันเป็นสัตว์ มันไม่มีสมอง มันไม่มีปัญญาที่จะรื้อค้นของมัน แต่เรามีสัจจะของเรา เราตั้งใจของเรา อยู่บ้าน อยู่วัด อยู่กุฏิแล้วมันขี้เกียจขี้คร้าน เราก็ไปของเรา ไปเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

สัปปายะ สิ่งที่มันเผชิญสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา มันทำให้เราตื่นตัวตลอดเวลา การตื่นตัวมันก็มีสติปัญญาของมันขึ้นมา แล้วมันได้เหตุได้ผลของมันขึ้นมา เห็นไหม เราไปเอาเป็นชัยภูมิเพื่อฝึกใจเรา พอจิตมันสงบที่ไหน มันเป็นสมาธิที่ไหน มันเป็นปัญญาที่ไหน เราคิดถึงสถานที่นั้นนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ ครูบาอาจารย์เราท่านเป็นที่ไหน? เป็นที่ไหนไง นี่สถานที่นั้นเราเคยได้ประโยชน์มา มันจะฝังใจๆ แล้วมันไปหาก็หาธรรมในหัวใจนี่แหละ พอมันเจอขึ้นมาก็เจอในหัวใจของเรานี่แหละ

นี่จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เราเรียกร้องความเป็นธรรม ต้องเรียกร้องให้เราด้วย เกิดมาในโลก เราเกิดมาแล้วเป็นมนุษย์ต้องมีหน้าที่การงาน ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย นี้เป็นธรรมดา แม้แต่บวชพระขึ้นมา พระก็ต้องมีปัจจัย ๔ การมีปัจจัย ๔ เพื่อสิ่งใด? เพื่อดำรงชีวิตไว้ ดำรงไว้ทำไม? ดำรงชีวิตไว้รอวันตายหรือ? ดำรงชีวิตไว้เพื่อค้นหาความดีของเรา ดำรงชีวิตไว้เพื่อให้จิตใจมันได้สัมผัสธรรม ถ้ามันได้สัมผัสจริงๆ นะ มีสติเราก็รู้ว่าสติเป็นอย่างนี้ ตำราชื่อบอกว่าเป็นสติ แต่ตัวจริงมันเป็นแบบนี้ ตำราบอกว่าสมาธิเป็นแบบนั้น เวลาจิตมันสงบเข้ามาสมาธิเป็นแบบนี้

เวลาปัญญาบอก ปัญญา เห็นไหม ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เวลามันเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา เราจะรู้เลยว่าภาวนามยปัญญาเป็นอย่างนี้ โลกียปัญญาเป็นอย่างนี้ ปัญญาที่เราศึกษากันนี่โลกียปัญญาเพราะมันปัญญาเกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากภพ เวลาภาวนามยปัญญามันเกิดจากไหนล่ะ? มันเกิดจากจิตสัมมาสมาธิที่จิตมันสงบแล้ว พอจิตสงบแล้วมันไม่มีกิเลสตัณหาเข้ามาบวกกับความรู้สึกนึกคิดของเรา พอมันเกิดขึ้นมานี่มันจะเอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ

ความเอ๊ะนะ ถ้าเอ๊ะมันก็ปล่อย ทำไมเราปล่อยความรู้สึกนึกคิดเราไม่ได้? ทำไมเราปล่อยความรู้สึกนึกคิดไม่ได้? สิ่งที่ว่าไม่ดีๆ เราก็รู้ว่าไม่ดี เห็นไหม นี้คือไม่เป็นธรรมไง ไม่ดีก็ยึดไว้ ไม่ดีก็ปล่อยไม่ได้ แต่ถ้าพอมันจิตสงบแล้วมันเป็นภาวนามยปัญญาขึ้นมานี่ มันเอ๊ะแล้วมันปล่อยๆ ของมัน นี่เราเรียกร้องความเป็นธรรม เราจะต้องทำสิ่งที่มันเป็นสัจธรรม สิ่งที่มันเป็นธรรมขึ้นมา แล้วมันก็จะเป็นธรรมจริงๆ

แต่สิ่งที่เป็นโลก เป็นโลกเป็นการคาดการหมาย การจินตนาการไปนี่มันไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมเพราะว่ามันไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา มันไม่เป็นความจริง มันเอนเอียงไปทางอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยคทำตนให้ลำบากเปล่า กามสุขัลลิกานุโยคคือความพอใจของเรา คือความสุข มันไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าเมื่อไหร่มันลงมัชฌิมาปฏิปทา นั้นมันจะเป็นธรรม

สิ่งที่เป็นสัจธรรม เห็นไหม มรรคสามัคคีรวมลงแล้วมันเป็นประโยชน์กับเรา เราจะได้ธรรมจริงๆ เพราะเราเรียกหาอยู่ เราปฏิบัติอยู่ มันก็เป็นสมความปรารถนาของเรา ถ้าเราทำจริงแล้วได้ความจริง

ฉะนั้นเราถึงต้องเข้มแข็ง งานของโลกนะ งานอาบเหงื่อต่างน้ำเราว่างานเป็นความทุกข์ เรานั่งสมาธินี่นั่งเฉยๆ แต่งานภายในหัวใจมันฟุ้งซ่านมาก เวลาเขาอาบเหงื่อต่างน้ำนะ เขาแบกของหนัก แต่จิตใจของเขา เขาไม่กระวนกระวายนะ เขาก็มีความสุขของเขา ไอ้เรานี่นั่งเฉยๆ นั่งนิ่งๆ แต่เราทำงานภายใน งานเพื่อจะค้นคว้าหาใจของตัว เป็นชัยภูมิ เป็นสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานจะเกิดต่อเมื่อจิตสงบ จิตสงบแล้วใช้ปัญญาไป พอมันเกิดการกระทำ เกิดมรรคญาณขึ้นมา แล้วเราจะเข้าใจเรื่องศาสนา เข้าใจเรื่องการทำงานไง ว่าการภาวนานี้มันทุกข์ยากแค่ไหน? ไม่ใช่เพ้อเจ้อ จินตนาการกันไป

แต่ถ้าทำเป็นความจริงขึ้นมานะ นี่เวลาเขาอาบเหงื่อต่างน้ำอย่างหนึ่ง เวลาเราทำงานขึ้นมาเราจะมีภาระรับผิดชอบอย่างหนึ่ง แล้วถ้าผลประโยชน์มันเกิดขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น เอวัง