ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

งานรื้อภพ

๑๒ ธ.ค. ๒๕๕๔

 

งานรื้อภพ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๗๓๖. ถึงข้อ ๗๔๑. เนาะ มันต้องข้อ ๗๔๐. ข้อ ๗๔๑. ไม่มีหมดเลย มันก็มาข้อ ๗๔๒. นะ

ถาม : ๗๔๒. เรื่อง “มีธรรมบางอย่าง ซึ่งผลของการพิจารณากายไปไม่ถึงหรือไม่ครับ”

หลวงพ่อ : การพิจารณากายที่ไปไม่ถึง มันต้องไปถึง เพราะการพิจารณากาย สติปัฏฐาน ๔ เป็นทางเดินขึ้นไป แล้วการพิจารณากายเป็นพื้นฐาน เป็นสิ่งที่เป็นหลักใหญ่ว่าอย่างนั้นเลย กาย เวทนา จิต ธรรม กายนี้เป็นหลักใหญ่ เพราะกายนี้แบบว่าเป็นพื้นดิน เป็นสถานที่ที่ทำได้ง่าย ถ้าเวทนามันเป็นนามธรรมแล้ว เห็นไหม กาย เวทนา จิต ธรรม นั้นเป็นนามธรรมหมด แต่กายนี่เป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่ายที่สุด

ฉะนั้น การพิจารณากาย พระอรหันต์พิจารณากายๆๆ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี หลวงปู่เจี๊ยะ นี่พิจารณากายชัดๆ แล้วพิจารณากายทุกขั้นตอน โสดาบันก็พิจารณากายเป็นโสดาบัน พิจารณากายซ้ำลงไปอีกเป็นสกิทาคา พิจารณากายซ้ำไปอีกเป็นอนาคา พิจารณากายซ้ำครั้งสุดท้ายเป็นพระอรหันต์ การพิจารณากายนี่แหละ แต่นี่การพิจารณากายที่มันเป็นธรรม หรือว่ามันยังมีกิเลสเจือปนอยู่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น คำถามนะ

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ผมส่งคำถามมาอีกแล้ว ก็เนื่องด้วยผมเป็นคนมีวาสนาไม่มาก และทำกรรมมาเยอะพอสมควร แต่ก็พอจะมีวิบากกรรมที่เป็นกุศล จึงได้เจอพุทธศาสนาที่กำลังรุ่งเรือง และได้เจอครูบาอาจารย์ที่รู้จริง ผมก็เลยอยากเร่งปฏิบัติให้มากที่สุด แม้ถูลู่ถูกังไปในทุกด้าน ก็พยายามอดทนและปฏิบัติเรื่อยๆ ครับ

หากหลวงพ่อจำได้ ผมเคยเล่าให้หลวงพ่อฟังว่าเมื่อจิตเห็นกายประกอบขึ้นจากดิน เห็นรั้ว เห็นถนนต่างๆ ประกอบขึ้นจากดิน จิตจะละทิ้งกายมาตั้งอยู่บริเวณกระดูกหน้าอกประมาณลิ้นปี่ครับ สิ่งนี้เป็นภพนะครับ สร้างนิมิตไม่ได้ และเปลี่ยนแปลงไปได้ในลักษณะที่แย่ลงๆ เมื่อผมพิจารณากาย กล่าวคือทำความสงบพอสมควรแล้วไล่วนเข้าไปภายใน พิจารณาไปแห้งๆ ฝืดๆ แบบนั้นแหละครับ เดี๋ยวถ้าอะไรลงตัวก็ปรากฏภาพกายของเราขึ้นมา เช่นจากด้านหลังของศีรษะ จ้องดูและพิจารณาไปสักพักตัวมันจะเริ่มเปลี่ยนไป

เช่นมีเหงื่อออก ผมที่ติดหนังศีรษะเริ่มแฟบลง และเป็นความเหนอะหนะ เริ่มมีความรู้สึกที่จะขยะแขยง มันก็เกิดความรู้สึกที่ภพที่เราใช้วิปัสสนา และก็เข้าไปสู่อีกภพหนึ่ง โล่งๆ เบาๆ สว่าง สงบ วันอื่นผมพิจารณากายอีก มันจะเข้าสู่ภพที่โล่งๆ ว่างๆ นี้ซึ่งมันไม่ดี เพราะมันเสื่อมลงสู่ภพที่ต่ำได้ และในภพที่มันต่ำนี้จะเปิดจังหวะให้พญามารกระโดดเข้ามาสวมในความคิด เกิดมีเรา ทำให้เกิดภพปั่นป่วนขึ้นลง และสร้างกรรมใหม่ได้ เป็นอย่างนี้ไม่มีวันจบ วนไปเรื่อยๆ มันไม่ดี

กราบขอเรียนถามว่า

๑. วันนี้ผมก็เริ่มตั้งภพโล่งๆ ว่างๆ ไว้ที่กลางหน้าอก แล้วลองฟังเทศน์ของหลวงพ่อกัณฑ์หนึ่ง ซึ่งคำเทศน์กล่าวไว้ตั้งแต่เบื้องต้นจนสุดในกัณฑ์นั้น ปรากฏว่าภพโล่งๆ ว่างๆ มันเป็นแค่ผลที่ส่งออกมาจากจุดเล็กๆ ที่อยู่ประมาณลิ้นปี่ใช่ไหมครับ?

๒. ถ้าข้อ ๑ ผมพิจารณาถูก ภพมันหดเข้าไปแล้วสบายกว่าภพที่โล่งๆ ว่างๆ เพราะไม่เป็นภาระที่ต้องคำนึงรักษาหวงแหนมันมาก แล้วผมควรพิจารณาอย่างไรต่อไป ทราบว่ามันไม่ดี แต่มันก็หดเข้าไป

หลวงพ่อ : เริ่มต้นเราจะพูดอย่างนี้ก่อนนะ การพิจารณากาย การพิจารณา เวลาเราทำความสงบของใจก่อน ถ้าใจสงบแล้ว ถ้าเราพิจารณาของเราไปมันจะเป็นวิปัสสนา แต่ถ้าจิตเรายังไม่สงบ การพิจารณากายเป็นสมถะ การพิจารณากายนี่เป็นสมถะ

ฟังนะ เวลาคนเขาสอนเรื่องการภาวนา เขาสอนให้เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เขาให้ท่องเอา เห็นไหม บางคนสอนให้ท่องเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วกับที่เราท่องพุทโธ พุทโธมันอันเดียวกัน อันเดียวกัน เพราะเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจนี่เป็นคำบริกรรม ฉะนั้น การพิจารณากายโดยที่จิตเราไม่สงบเขาเรียก “กายนอก”

กายนอก การพิจารณากาย นี่การพิจารณากายเป็นสมถะไม่ใช่วิปัสสนา เพราะการพิจารณากายเราเห็นถึงที่สุดของการไม่เป็นปกติของกาย เห็นกายที่เป็นไตรลักษณ์ เห็นกายที่มันเปลี่ยนแปลง เราจะรู้สึกความสงบระงับ เพราะว่าสิ่งนี้มันเป็นอนิจจัง สิ่งนี้มันไม่คงที่ สิ่งนี้เป็นสิ่งหลอกลวงเรา สิ่งนี้เป็นสมมุติ ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ปั๊บมันจะปล่อย ถ้ามันปล่อยเข้ามานี่เขาเรียกว่าสมถะไง

ถ้าสมถะ เพราะถึงที่สุดแล้วมันปล่อย ปล่อยมันคืออะไรล่ะ? ปล่อยก็เหลือตัวเราไง เหลือผู้ที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ นี่สิ่งที่เหลือมา เราพิจารณากายนี่แหละมันจะเป็นสมถะ แต่พอจิตมันสงบแล้วนะ พอจิตมันสงบมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน พอมันเห็นกายอีกรอบหนึ่ง เห็นกายรอบใหม่ เห็นกายนี้จะเป็นวิปัสสนา เห็นกายเป็นวิปัสสนาเพราะเหตุใด? เห็นกายเป็นวิปัสสนาเพราะว่ามันมีจิตเป็นผู้รู้ การเห็นกายครั้งแรกนี่จิตเราไม่มี

ใครว่าไม่มี? มี จิตเรามีแต่เราไม่รู้จัก จิตเราไม่มีหมายถึงว่าเราไม่มีสมาธิ เราไม่มีหลักเกณฑ์ พอไม่มีหลักเกณฑ์ปั๊บเราก็ไปพิจารณากาย พิจารณากายก็เหมือนคนที่ไม่มีหลักฐานสิ่งต่างๆ อย่างเช่นเราไม่มีหลักฐาน ไม่มีเอกสาร เราจะไปติดต่อทำนิติกรรมไม่ได้ เราจะไปติดต่อทำนิติกรรมเราต้องมีเอกสารของเรา เราต้องมีทะเบียนบ้าน มีสำเนาทุกอย่างพร้อมใช่ไหม? เราถึงไปติดต่อทำหลักฐานทางนิติกรรมได้

จิต จิตถ้ามันพิจารณากายมันไม่มีเอกสารอะไรเลย มันไม่รู้จักตัวมันเองทั้งสิ้น มันก็พิจารณากายของมันไป พิจารณากายไปมันก็เหมือนกับไปหาเอกสารไง แล้วได้เอกสารมาแล้วเราจะไปทำนิติกรรม ถ้าเราพิจารณากายอยู่ พิจารณากาย พอจิตมันสงบ มันพิจารณาแล้วมันจะปล่อยเข้ามาๆ ถ้ามันปล่อยเข้ามา นั่นล่ะคือตัวของมัน ฉะนั้น ตัวของมันเรียกว่า “สมาธิ” นี่สมาธิ

คำว่าสมาธิ ถ้าเราใช้คำว่า “สมาธิ” กับโยมใช้คำว่า “ภพ” ถ้าใช้คำว่าภพปั๊บ เห็นไหม ภพนี่มันละเอียดกว่านี้เยอะนะ ถ้าใช้คำว่าภพ แต่ถ้ามันเป็นปัญญาของเรา เราอ้างชื่อนี้มันก็ใช้ชื่อนี้ อย่างเช่นคำว่า “อวิชชา” ทุกคนบอกว่าอวิชชานั่นก็เป็นอวิชชา อวิชชาเป็นอย่างไร? เราไม่เคยเห็นตัวมันนะ แต่เราอมุมานเอา เราอนุมานเอาไงว่าอวิชชาคือความรู้เป็นอย่างนี้ๆ เราอนุมานเอา เรายังไม่เคยเห็นตัวมัน แต่ถ้าวันใดไปเห็นตัวอวิชชานะ โอ้โฮ โยมจะอึ้ง ทึ่งเลยล่ะ

ถ้าใครเห็นอวิชชาจริงนะ เพราะคนที่เห็นอวิชชาได้ต้องพระอนาคามี พระอนาคามี พอจิตสงบแล้วนี่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส พระอนาคามีเท่านั้นจะเป็นผู้เห็น พระอนาคามียังไม่เห็นเลย เพราะอนาคามีหลงว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ ถ้าพระอนาคาหลงอยู่ ในอนาคาจะไม่เห็นภพของตัวเอง แต่ถ้าเป็นอรหัตมรรคไง ถ้าอรหัตมรรคเห็น จุดและต่อม จุดและต่อมคือภวาสวะ คือภพ คือภพ คือจิตเดิมแท้ แต่นี้มันจิตเดิมแท้ไหม? ของเรานี่เป็นจิตเดิมแท้ไหม?

ของเรานี่นะ อย่างเช่นไข่ เราจะเปรียบว่ามีไข่แดง ไข่ขาว มีเปลือกไข่ ความรู้สึกนึกคิดเรานี่เป็นเปลือกไข่นะ แล้วนี่ไอ้ภพคือไข่แดง ฉะนั้น เราใช้คำว่าไข่แดงๆ ใช้คำว่าภพ ฉะนั้น พอใช้คำว่าภพปั๊บเราก็จะตั้งสมุฏฐานที่ผิด พอตั้งสมุฏฐานที่ผิดมันก็งงๆ อยู่เหมือนกัน ถ้าเราตั้งสมุฏฐานที่ถูก จิตสงบคือสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเกิดจากจิต

ถ้าสัมมาสมาธิเกิดจากจิต สิ่งที่เกิดจากจิต นี่มันเกิดจากจิต เพราะจิตมันสงบแล้วเราใช้พิจารณาของเราไป ถ้าพิจารณาไป ตรงนี้เขาเรียกสมาธิคือตัวจิต ถ้าตัวจิตขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบแล้วเราออกวิปัสสนา วิปัสสนาถ้ามันเห็นกาย เห็นกายนะ การเห็นกาย การพิจารณากายครั้งแรกเป็นสมถะ เป็นสมถะ เพราะเราพิจารณาแล้วนี่ มันก็พิจารณากายโดยสามัญสำนึกที่อารมณ์ความรู้สึกเราเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วเห็นกายนะ ถ้าเห็นกายทุกคนจะหวั่นไหว

การเห็นกายมันจะหวั่นไหว ถ้าหวั่นไหว เราพิจารณาพอมันหวั่นไหว มันหวั่นไหวเพราะอะไร? มันหวั่นไหวเพราะว่ามันจับขโมยได้ไง มันจับคนหลงผิดได้ มันจับตัวเราได้ แต่ธรรมดาเราพิจารณากายของเรา เราก็พิจารณากายไง เราทำความดีด้วย เราเป็นคนดีด้วย เราเป็นนักปฏิบัติด้วย เราเป็นศากยบุตรนะ เราเป็นพุทธชิโนรสนะ เราเป็นธรรมทายาทนะ เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้านะ อู๋ย มันให้ค่าตัวมันเองสูงมาก แต่พอมันพิจารณาไปมันปล่อยเข้ามาๆ

พอมันพิจารณา เพราะพิจารณาโดยสามัญสำนึกนี่ไง พอปล่อยเข้ามานี่พิจารณากายจะเป็นสมถะ พอจิตมันสงบแล้ว พอจิตสงบ พอสมถะมันปล่อยบ่อยครั้งๆ พอพิจารณากายคราวนี้ นี่แหละศากยบุตรจะเกิดตรงนี้ พอจิตสงบ พอมันเห็นกายมันขนพองสยองเกล้า มันสะเทือนใจไง มันสะเทือนใจเพราะอะไร? มันสะเทือนใจเพราะมันสะเทือนความรู้สึก เพราะความรู้สึกอันนี้มันหลงผิด ถ้าสะเทือนใจความรู้สึก เราพิจารณาซ้ำแล้วๆ มันก็ปล่อย

ถ้าพิจารณาปล่อย คำว่าปล่อยเราคิดทางวิทยาศาสตร์ ทำงานเสร็จแล้วก็คือเสร็จ เรากินข้าวเสร็จแล้วเราเก็บสำรับแล้ว มื้อนี้เรากินอิ่มแล้วใช่ไหม? นี่เราล้างเก็บเรียบร้อยแล้วมันต้องจบสิ นี่ทางนี้มันจบ แต่การพิจารณาโดยวิปัสสนาไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น พอเราพิจารณาจบ นี่พิจารณาแล้วมันปล่อยใช่ไหม? มันปล่อยแล้ว นี่สิ่งนี้มันเกิดจากวิปัสสนา วิปัสสนาคือมันปล่อยแล้วมีความสุขมาก มีความพอใจมาก แต่ แต่มันยังไม่เสร็จงานหรอก มันยังไม่เสร็จงาน ไม่เสร็จงานเราพิจารณาซ้ำ

ถ้าจิตสงบนะ มันรำพึงถึงกาย กายก็จะเกิดอีก หรือถ้าสิ่งที่มันยังมีกายอยู่ ถ้ายังมีอยู่ ถ้ายังมีอยู่ เห็นไหม พิจารณาซ้ำลงไปตรงนั้น นี่พิจารณาซ้ำไปตรงนั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันจะปล่อยอย่างนี้ แล้วถ้าปล่อยอย่างนี้นะเราจะเทียบได้เลย ถ้าในการภาวนานะ ในการภาวนาเราพิจารณาเราใช้ปัญญา พอใช้ปัญญา พอปัญญาเราพิจารณาแล้วนี่ พอถึงที่สุดแล้วมันจะปล่อย มันครบวงรอบของมัน มันปล่อยๆ มันปล่อยนี่เขาเรียก “ตทังคปหาน” ไง

มันปล่อย แล้วปล่อยแล้วมีความสุข มีความรื่นเริงมาก ทุกอย่างมีคุณค่ามาก แต่มันยังไม่ถึงที่สุดไง มันยังไม่ถึงที่สุด ถ้ามันถึงที่สุด นี่ไงที่เขาถามว่ามันยังมีอยู่ ยังมีอยู่ มันยังมีอยู่ สิ่งที่มีอยู่ นี่ดีนะ ดีที่ว่ามันมีอยู่เราเป็นสุภาพบุรุษ เรายอมรับความมีอยู่ไง แต่ถ้ามันเป็นกิเลสนะว่าไม่มี ว่างหมดนะ ปล่อยหมดแล้วๆ ปล่อยหมดแล้ว ทีนี้ก็จะบังคับเอามรรค เอาผลแล้ว

ก็ทำทุกอย่างพร้อมไง ทำแล้ว ทำครบกระบวนการ เหมือนเรานี่เป็นหนี้ แล้วเราได้ใช้หนี้เขาไปแล้ว ทำไมเจ้าหนี้บอกว่ายังไม่บอกว่าเราปลดหนี้แล้วล่ะ? ทำไมเราใช้หนี้ไปแล้ว ใช้หนี้ไปแล้วทำไมเรายังเป็นหนี้เขาอยู่อีกล่ะ? อ้าว คนใช้หนี้แล้วก็ต้องจบสิ นี่พิจารณาแล้วปล่อยแล้ว ปล่อยแล้วทำไมมันยังมีอะไรอยู่ล่ะ? การใช้หนี้เขาต้องใช้เจ้าหนี้นะ เราใช้หนี้เอาเงินไปให้คนอื่น เราไม่ได้ไปคืนเจ้าหนี้ เจ้าหนี้เขายังไม่ได้รับคืนหนี้ เขาไม่ยอมรับรู้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน นี่เวลามันพิจารณามันปล่อยแล้วๆ ปล่อยแล้วมันยังไม่มัชฌิมาปฏิปทา คำว่ามัชฌิมาปฏิปทานะ เวลาปล่อยบ่อยครั้งๆ เข้า นี่ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เราเริ่มทำทางวิทยาศาสตร์ เราพิสูจน์ เห็นไหม นี่บางทีเราก็ประสบความสำเร็จ บางทีมันก็ขัดแย้ง บางทีมันไม่สะดวก เอ๊ะ มันเป็นเพราะอะไร? เราก็ฝึกบ่อยครั้ง เรามีความชำนาญ เราทดสอบ เราทบทวนของเราไปเรื่อย มันจะมีความชำนาญไปเรื่อยๆ

การพิจารณากายมันปล่อย มันปล่อยก็จริง แต่มันมีกายอีกไหม? มี แม้แต่การพิจารณากายนะ การพิจารณากายนี่ ถึงพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในวงจรหนึ่งนะ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในโสดาปัตติมรรค ในสกิทาคามรรค ในอนาคามรรค ในอรหัตมรรค แต่เวลามันขาดมันมีหนึ่งเดียว ถ้ามันขาดมันสมบูรณ์ของมัน กระบวนการของมันมัชฌิมาปฏิปทา มรรคสามัคคีรวมลงแล้วมันจะขาด พอมันขาดนี่เป็นโสดาบัน

ในกระบวนการของโสดาบันมันซ้ำมากี่หนก็แล้วแต่ ในกระบวนการโสดาบันก็จบไปแล้ว นี้การพิจารณากายในขั้นของโสดาบัน ทีนี้การพิจารณากายในขั้นของสกิทาคา ก็พิจารณากายซ้ำอีก พอจิตมันสงบแล้วมันก็จับกายได้อีก แต่กายอันนั้น นี่มันเหมือนกับทางเชื้อโรค เชื้อโรคมันคนละตัวกัน ในเมื่อเชื้อโรคมันคนละตัวกันใช่ไหม? ในโสดาบันนี่มันสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด ในสกิทาคามันอุปาทาน อุปาทานในกามราคะ ปฏิฆะอ่อนลงไง

ถ้าในอนาคา นี่ปฏิฆะ กามราคะ เห็นไหม เชื้อโรคมันคนละตัวหมดเลย ถ้าเชื้อโรคมันคนละตัว ยามันก็คนละชนิด ถ้าเชื้อโรคคนละตัว ยามันคนละชนิด แต่นี้ยาที่เริ่มละเอียดกว่า ยิ่งอรหัตมรรค ยิ่งพิจารณากายในอรหัตมรรคนะ นั่นยายิ่งละเอียดสุดเลย ฉะนั้น การพิจารณากายมันยังไปได้อีกมากมายมหาศาล

ฉะนั้น การพิจารณากายถ้ามันปล่อยขนาดไหน ปล่อยก็คือปล่อย แต่ก็ต้องพิจารณาซ้ำ ซ้ำอีก ซ้ำที่กาย จับกายมาพิจารณาซ้ำ ถ้ามันมีอยู่จับมาพิจารณาซ้ำ ทีนี้มันเบื่อ เออ ถ้ามันเบื่อ ถ้ามันเบื่อนะ เวลาคนเขาเบื่อ เวลาเขาแบบว่าพิจารณาแล้วๆ นี่เบื่อเพราะกิเลส กิเลสมันบังเงา คำว่าบังเงามันเข้ามาแอบอิงกับความรู้สึกของเรา เข้ามากับใจของเรา เห็นไหม มันสวมรอย มันสวมรอยว่านั่นทำแล้ว นั่นดูแล้ว นี่กิเลสมันจะสวมรอย หลวงตาใช้คำว่า “กิเลสบังเงา”

นี่มันบังเงาเข้ามากับเราไง มันเข้ามากับเรา มันอ้างอิงกับเรา ทำให้เราไขว้เขว ทำให้เราออกนอกลู่นอกทาง ฉะนั้น ถ้าเรามีหลักของเรา พิจารณาซ้ำแล้วนะถ้าเบื่อ พอเบื่อปั๊บ เวลามันจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เราพิจารณากายแล้วนี่เราพิจารณาเวทนาก็ได้ เรากินข้าวแล้ว เราบอกเรากินข้าวๆ เราไม่กินของหวาน เราไม่ชอบของหวานก็แล้วแต่ แต่ถ้าเขาให้ของหวานมาก็กินได้ แล้วถ้ากินข้าวเสร็จแล้วจะกินน้ำก็กินได้ มันจะเป็นไรไป กินข้าวก็กินของหวานได้ กินข้าวก็กินน้ำได้ กินข้าวก็กินอะไรก็ได้

ฉะนั้น ถ้าเวลาพิจารณากายไปแล้ว พิจารณาไปถ้ามันเบื่อใช่ไหม? สิ่งใดเกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งใดสิ่งหนึ่ง คำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต หรือธรรมารมณ์ อะไรก็ได้ จับพิจารณา อย่างพิจารณากายนะ เวลาพิจารณากายนี่ถนัด งานที่ถนัดมันทำได้ถนัดมาก แต่พอมันพิจารณาไปแล้วมันเบื่อ มันต่างๆ พอมันเกิดเวทนา จับเวทนาแล้วมันทำไม่สะดวกเลย แต่ แต่ก็เป็นการฝึกใจ เหมือนนักกีฬา เวลาเขาไม่ได้แข่งเขาต้องรักษาความฟิตของเขา เขาต้องซ้อมตลอดไง ถ้าเขาปล่อยให้ร่างกายเขาจนขาดความฟิตนะ พออย่างนั้นเสร็จแล้วเขาจะกลับมาเล่นกีฬาอีกไม่ได้เลย

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันพิจารณากายอยู่นี่มันเบื่อของมัน แต่ถ้ามันเกิดเวทนาเราก็พิจารณาได้ เรารักษาให้จิตของเราเข้มแข็ง รักษาให้จิตของเรามันพิจารณาเป็นอยู่ รักษาจิตของเราให้มันพิจารณาของมัน แล้วพอมันเจอสิ่งใด สิ่งใดสิ่งหนึ่ง อะไรที่เกิดเป็นปัจจุบัน นั้นเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าเราจะไปเอาสัญญามา เอาอะไรมา อันนั้นมันเป็นการฝึกใจ เป็นการฝึกวิธีการ

ฉะนั้น พิจารณากายไม่ใช่ว่าต้องพิจารณากายอย่างเดียว อย่างอื่นทำไม่ได้ พิจารณากายมันเป็นเอกไง เอกวิชาใด ถ้าเอกทางนี้ แต่อย่างอื่นเราก็ต้องเรียนด้วย ไม่ใช่เรียนเอกแล้วเรียนวิชาเดียว ไม่ใช่ นี่เอก เวลาเรียนเราเอกอะไรล่ะ? เอกภาษา เอกอะไร? ถ้าเอกนั้นเราใช้ทางนั้น แต่เราก็เรียนวิชาอื่นประกอบด้วย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราพิจารณากายแล้ว มันพิจารณาแล้วมันปล่อย มันเบื่อเราก็พิจารณาของเรา

นี้พูดถึงว่าการพิจารณากายมันจะไปถึงที่สุด ไปถึงธรรมได้ไหม? ได้ การพิจารณากาย แต่ แต่ไม่ใช่ความเข้าใจของเราไง เราพิจารณากายจบแล้ว แล้วทำไมมันไม่เป็นล่ะ? แล้วถ้าพิจารณากายต่อไปมันจะเป็นอย่างไรอีกล่ะ? พิจารณากายนะ โสดาบันนะ จบกระบวนการของมัน ถ้าพิจารณาต่อไป พอพิจารณาโสดาบันจบแล้ว ต้องทำให้จิตสงบลึกมากขึ้น แล้วลึกมากขึ้นเราก็จับกายอีก จับกายอีกกายมันก็เป็น

พิจารณาไปแล้วนะมันจะคืนสู่สถานะ คืนสู่แยกสู่ เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟมันจะแยกออกหมดเลย ถ้าแยกออกหมดเลยนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แยกแล้วแยกเล่า แยกแล้วแยกเล่าจนกว่ามันจะสมุจเฉท ถ้าสมุจเฉทปั๊บมันเป็นตทังคปหานไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราพิจารณาแล้วปล่อยๆ มันเป็นตทังคปหาน มันเปลี่ยนแปลง

คำว่าเปลี่ยนแปลง หมายถึงว่าเหมือนกับกิเลสมันก็สงบตัวลง กิเลสมันก็หลบเฉยๆ มันหลบ มันหลีกนะ เวลากำลังเราพอ กำลังต่างๆ กิเลสมันหลบ มันหลีก แล้วมันก็หลบหลีกอยู่ข้างๆ เรานี่แหละ เพราะมันหลบมันหลีกอยู่ คำว่าหลบหลีกอยู่มันอยู่ไหนล่ะ? มันก็อยู่กับเราใช่ไหม? ฉะนั้น ถึงว่ามันมีอะไรๆ อยู่นะ เขาบอกมันมีอยู่ รู้อยู่ว่ามี แต่ทำไมมันทำไม่ได้ล่ะ?

ทำไม่ได้เพราะเราอ้าง เราอ้างว่าเราทำงานแล้ว เราอ้างว่าเราทำงานเสร็จแล้ว คนทำงานเสร็จแล้วต้องทำอะไรซ้ำอีกล่ะ? แต่ถ้ามันทำงานแล้ว ใช่เราทำงานอยู่ เรากำลังทำงานอยู่ เรากำลังทดสอบอยู่ กำลังตรวจสอบอยู่ แต่มันยังไม่ได้วางบิล ยังไม่ได้เก็บสตางค์ ไม่ได้ ทำเสร็จแล้วต้องส่งลูกค้า ลูกค้ารับสินค้านั้นแล้ว พอใจในสินค้านั้น แล้วเราวางบิล เขาได้จ่ายเงินทุกอย่างพร้อมแล้ว เออ จบ ของส่งแล้ว เก็บสตางค์แล้ว นี้ของก็ยังไม่ได้ส่ง ทำเสร็จแล้วน้ำท่วมอีก ของเสียอีกยุ่งเลย

ทำของเสร็จแล้วเราต้องเก็บของไว้ให้ดีเพื่อจะส่งลูกค้า ส่งลูกค้าเสร็จแล้ววางบิล พอใจไหม? พอใจวางบิล วางบิลแล้วจ่ายสตางค์มา พอจ่ายสตางค์มาแล้วจบ นี้เราทำเสร็จแล้ว เราทำสินค้าเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งใครเลย ยังไม่ได้ส่งใครเลย เราต้องรักษาสินค้าของเราให้ดี ถ้าสินค้าของเราชำรุดเสียหาย ส่งไปนะลูกค้าเขาไม่ยอมรับสินค้านั้น

การพิจารณากาย พิจารณาแล้ว ใช่ ปล่อยวางแล้ว ใช่ แต่ยังไม่ได้ส่งให้ใครเลย เราพิจารณาเอง เราส่งเอง แหม เราทำของเอง ใครมาติของเราไม่ดีไม่ได้นะ ใครมาติไม่ได้เลย ของเราต้องดี เรียบร้อย ของเราดีหมดเลยเพราะเราทำเอง แต่ยังไม่ได้ส่งใคร นี้พูดถึงเวลาส่งกันทางโลกนะ แต่ถ้าเป็นทางธรรม อริยสัจ สัจจะมีหนึ่งเดียว มรรคสามัคคีมีอันเดียว จะเหมือนกันหมด

นี่ไงเกิดในธรรม เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ นี่เจ้าชายสิทธัตถะ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ธรรมเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ขณะที่ยังไม่สมุจเฉท มรรคญาณยังไม่วงรอบ เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ นี่การเกิดเป็นมนุษย์ แล้วมนุษย์เกิดในธรรม เกิดเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จิตเรานี่ เราปฏิบัติอยู่ เหมือนเจ้าชายสิทธัตถะ ๖ ปีเราละล้าละลังอยู่นี่ สมบุกสมบันอยู่นี่ นี่เราทำของเราอยู่ แต่ถ้ามันขาดผลัวะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักร เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรมนะ

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลื้มใจมาก เวลาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการขึ้นไป พอพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม สงฆ์องค์แรกเกิดแล้วไง เราก็ทำได้ ลูกศิษย์ก็ทำได้ ไม่ใช่ว่าเราทำได้เราก็ภูมิใจ เราทำได้ๆ เราทำได้แล้วคนอื่นล่ะ? คนอื่นจะทำอย่างไร? เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะทำได้เป็นองค์แรก โอ้โฮ พระพุทธเจ้านี่ปลื้มใจมากนะ อุทานเลยล่ะ อุทานเลย

ฉะนั้น ถ้าเวลามันเป็น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นอย่างนี้ พระอัญญาโกณฑัญญะก็เป็นอย่างนี้ นี่อัญญะโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ รู้อะไร? รู้แบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ไง แต่นี้เรารู้แบบโลกรู้ไง เพราะเรายังเป็นเราอยู่ เรายังเป็นมนุษย์อยู่ เจ้าชายสิทธัตถะเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นมนุษย์ เวลาเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ธรรมเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราซ้ำ เราหมั่นเพียรของเรา เราทำของเราๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ นั่นเจ้าชายสิทธัตถะสร้างบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วเราล่ะเราสร้างมาเท่าไร? เราสร้างมาเท่าไร? ถ้าเราสร้างขึ้นมา คำว่าถ้าเราสร้างมาน้อย เราก็ไม่สนใจในการปฏิบัติ นี่เราสนใจ แล้วเราปฏิบัติขึ้นมาเราเห็นผลด้วยนะ ถ้าคนปฏิบัติ อย่างคนขับรถ ถ้าคนขับรถไม่เป็นมันออกรถไม่ได้ แล้วก็นี่เก้ๆ กังๆ อยู่ในรถ ปี ๒ ปีมันก็เบื่อ แต่ถ้าคนขับรถนะ เอารถนี้ออกไปได้ รถมันไปได้ทั้งหมดแหละ

จิต จิตถ้าเราเริ่มทำความสงบของใจ แล้วใจมันเป็นสมาธิ แล้วมันออกใช้ปัญญาได้ เหมือนกับเราขับรถออกไปได้ ถ้าเราขับรถออกไปได้ เห็นไหม แต่มันถึงเป้าหมายหรือยังล่ะ? เราก็ต้องสนใจของเรา เราต้องรักษาของเรา ถ้าเราทำของเราไป นี่มันต้องเป็นไปได้ นี่พูดถึงการพิจารณากายนะ

การพิจารณากาย พิจารณากายอย่างเดียวนี่แหละเป็นพระอรหันต์เลยล่ะ แต่เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ฉะนั้น เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แล้วมีอุปสรรค นี้อุปสรรคขั้นนี้นะ อุปสรรคขั้นต่อไปละเอียดกว่านี้ ยิ่งเป็นอสุภะนะ กามราคะนี่พิจารณากายเหมือนกัน พิจารณากายทำไมเป็นอสุภะล่ะ? แล้วนี่กายของจิต จิตอย่างไร? อุปมาถ้าจิตมันเป็นกายอย่างไร? มันต้องจับประเด็นได้ ถ้าจับประเด็นไม่ได้คือไม่เห็นกิเลส แต่ถ้าเห็นกิเลส เห็นไหม นี่ขุดคุ้ยหากิเลสให้ได้ ถ้าหากิเลสเจอมันจะทำของมันได้

ฉะนั้น การพิจารณากายเป็นไปไม่ถึง ที่ว่าถึง-ไม่ถึง นี่ถึง พิจารณาได้ ถึง แล้วอย่างพิจารณากายมันเหมือนกับการฝึกใจเรา กายนี้เหมือนกับหิน แล้วมีด เวลาเขาลับคมมีดเขาลับด้วยหินนั้น หินลับมีด ไอ้นี่ก็เหมือนกัน กายนี้ให้จิตมันลับ จิตพิจารณากาย จิตฝึกฝนกับกาย จิตมาฝึกฝน มาพิจารณากาย มาแยกแยะที่กายนี้ เพราะนี่มีดลับกับหิน หินลับมีด กายนี้เหมือนหิน มีดเหมือนจิต มีดลับที่หินนั้น แล้วมีดคมกล้าขึ้นมาเพราะได้ลับกับหินนั้น

จิต จิตพิจารณากายๆ ใช่กายเป็นภพ กายเป็นวัตถุ กายเป็นสมมุติ พิจารณาแล้วมันจะได้สิ่งใดขึ้นมา ก็ได้ความฉลาดไง ได้ความฉลาด ได้ญาณทัศนะ ยถาภูตัง ญาณทัศนะ เห็นไหม ยถาภูตังคือมันปล่อย เกิดญาณหยั่งรู้ว่าปล่อย เกิดญาณหยั่งรู้ว่าขาด นี่มันเกิดของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ฉะนั้น ที่ถามว่า

ถาม : แม้แต่ถูลู่ถูกังไปทุกด้าน ก็พยายามอดทนและปฏิบัติไปเรื่อยๆ”

หลวงพ่อ : อันนี้เป็นวาสนานะ วาสนา ถ้าใครทำได้อย่างนี้มันจะมีประโยชน์มาก ฉะนั้น กลับมาตรงนี้ก่อน อารัมภบทก่อน เดี๋ยวเข้าปัญหานะ นี่ที่ว่า

ถาม : จิตนี้เห็นกายประกอบขึ้นจากดิน จิตเห็นกายประกอบขึ้นจากดิน เห็นรั้ว เห็นถนน

หลวงพ่อ : นี่เวลาประกอบขึ้นจากดิน เราพิจารณาสิ พิจารณารั้วคืนสู่ดิน พิจารณาๆ เห็นไหม ถนนคืนสู่ดิน สิ่งที่ประกอบขึ้นมันประกอบขึ้น แต่ถ้าเวลามันกลับไปสู่ล่ะ? กลับไปสู่สถานะของมัน นี่สิ่งที่มันเกิดขึ้นมาเราพิจารณาได้ อย่างนี้เราพิจารณากายโดยปัญญานะ คือเราพิจารณากาย กายนี้ประกอบไปด้วยสิ่งใด กายประกอบด้วยเซลล์ ด้วยกระดูกต่างๆ มันประกอบกันขึ้นมา ประกอบขึ้นมามันต้องอาศัยอาหาร นี่พิจารณามันสู่สถานะของมันอย่างไร? นี่โดยใช้ปัญญา

แต่ถ้าพิจารณากายโดยเจโตนะ พิจารณากายจนจิตมันสงบ มันเห็นกาย มันเห็นเป็นวัตถุเลย เป็นนิมิตเลย เป็นภาพกาย เป็นภาพอวัยวะต่างๆ เวลาจิตมันมีกำลัง เห็นไหม ด้วยกำลังของสมาธิมันจะย่อยสลาย มันจะแปรสภาพเลยนะ ถ้ามันผุ มันพัง มันเน่า มันเปื่อยมันจะเห็นชัดๆ เลย ถ้าเห็นชัดๆ แล้วมันแปรสภาพให้เห็นเลย ถ้ามันเห็นอย่างนั้น นี่ถ้าเห็นอย่างนั้นอุคหนิมิต วิภาคะ คือนิมิตนี้มันแปรสภาพ นี่ถ้าแปรสภาพปั๊บมันสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนหัวใจมากแล้วมันจะปล่อยเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา อันนี้พูดถึง

นี้เพียงแต่เขาบอกว่า

ถาม : เวลารั้วประกอบขึ้นจากดิน เห็นเป็นถนน เห็นเป็นดินต่างๆ เวลาจิตทิ้งกายแล้วเขามาสู่บริเวณหน้าอกที่เป็นลิ้นปี่ สิ่งนี้เป็นภพ

หลวงพ่อ : ถ้าคิดว่ามันเป็นภพก็ได้ เป็นสมาธิก็ได้ นี่สิ่งที่เป็นสมาธิ เห็นไหม แล้วมันสร้างนิมิตได้ คำว่าสร้างนิมิต ถ้าสร้างนิมิต นิมิตออกไปมันก็เป็นภาพ แล้วนิมิตนี่สภาพมันก็แย่ลงๆ ถ้าแย่ลงนะ เวลาเราปฏิบัติ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค

เวลาปฏิบัติ นี่เป็นกามสุขัลลิกานุโยคมีความสุข อัตตกิลมถานุโยคนี่แย่ลงๆ อัตตกิลมถานุโยคทำให้ตนลำบาก มีความลำบาก มีความขัดเคือง มีความต่างๆ นี่พอเวลากิเลสมันสอด นี่คือโดยหลัก คือชื่อ นี่คือโดยหลัก แต่เวลามันแสดงออก เห็นไหม แสดงออกที่ว่าพอมันเป็นนิมิตแล้วมันจะแย่ลงๆ มันจะสร้างภาพให้เรา

นี่ไงโดยที่มันเป็นจริงกับเรา เป็นจริงกับเรามันแสดงภาพออกไปอย่างนั้น มันแสดงภาพในทางต่ำลงๆ ไปเรื่อยๆ ถ้ามันต่ำลงไปเรื่อยๆ ถ้าเรามีสตินะ เรามีสติ มีสมาธิใช่ไหม? เราคุมได้ เราคุมจิตเราได้ หนึ่งถ้าบอกว่าไม่ให้เห็นเลยก็ได้ ถ้าเห็นสิ่งนั้นเราไม่รับรู้ก็ได้ ถ้าเราไปรับรู้ใช่ไหม? มันก็เหมือนเขื่อน ถ้ามันมีรอยตามด มีรอยแตก รอยร้าว เดี๋ยวเขื่อนมันก็แตก ก็พัง

จิต จิตเวลาภาวนาขึ้นมาแล้ว พิจารณากายแล้วมันปล่อยเราก็มีความสุข แต่ถ้ามันเกิดนิมิต แล้วมันแบบแย่ลงๆ มันก็เหมือนเขื่อน เหมือนตามด เราจะบอกว่าเวลาเราภาวนานี่นะ ถ้าจิตมันเป็นธรรมนะ จิตมันมีเกิดปัญญา เกิดสมาธิ เกิดปัญญาขึ้นมานี่เขาเรียกธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม สติธรรม มีธรรมอย่างหยาบ มีธรรมอย่างละเอียดมันจะส่งเสริมให้จิตนี้เข้มแข็ง แต่ถ้ามันเป็นกิเลสล่ะ? กิเลสมันก็ยุ มันก็แหย่ กิเลสมันก็สร้างภาพ สร้างภาพให้เกิดการกระทบกระเทือน นั่นมันเป็นเรื่องของกิเลสนะ

เวลากิเลสมันสร้างภาพ มันให้เห็นว่าทำแล้วมันจะท้อถอย ทำแล้วนี่เข็นครกขึ้นภูเขา เข็นขึ้นไปแล้วครกก็กลิ้งเรา ทำอะไรมันทุกข์มันยากไปหมดเลย นี่กิเลสมันเริ่มทอนไง มันเริ่มทอน ถ้าเริ่มทอนเราไม่คิดตามมันก็ได้ เราตัดทิ้งเลย อะไรที่มันทำให้เราเสื่อมถอย อะไรที่ทำให้เราละล้าละลังเราปัดทิ้งเลย เราเอาแต่สิ่งที่มันเป็นประโยชน์ คิดในเชิงบวก คิดในแง่บวกขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์กับเราขึ้นมาเรื่อยๆ อันนั้นที่ว่าเราดูแลใจของเราขึ้นมา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : เวลาจิตมันสงบไปแล้ว สิ่งที่มันเกิดขึ้น รู้สึกว่าสิ่งที่มันเป็นภพที่เราใช้วิปัสสนา

หลวงพ่อ : นี่สิ่งที่เป็นภพนี่นะมันเป็นพื้นฐาน ถ้าเป็นสมาธิใช่ไหม? สมาธิคืออะไร? สมาธิคือทำให้จิตสงบ จิตสงบแล้วถึงเป็นสมาธิ ทำความสงบบ่อยครั้งเข้าๆ จนเป็นสมาธิ ความที่จิตนี้สงบ ถ้าจิตสงบได้ สิ่งที่เป็นความฟุ้งซ่าน สิ่งที่กิเลสมันยุมันแหย่อยู่ นี่มันยุแหย่ไม่ได้ ถ้ามันยุแหย่ได้มันก็ขัดเคือง เวลาทำสมาธิ นั่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ ทนแล้วทนอีกก็ไม่ได้ นี่ความขัดเคืองมันเป็นสมาธิไม่ได้ แต่ถ้ามันพุทโธ พุทโธจนร่มเย็นเป็นสุข

พุทโธเพราะอะไร? เพราะพุทโธนี่กินอาหารแล้ว กินอาหารที่ไม่เป็นพิษ นี่ดื่มน้ำแล้ว ดื่มน้ำก็เสร็จแล้ว กินอาหารเสร็จแล้วเราก็เก็บสำรับเก็บล้าง เห็นไหม นี่ทำอะไรมันสะดวกสบาย ทำอะไรมันถูกต้องดีงามไปหมดเลย จิตมันก็เริ่มเห็นคุณงามความดี จิตมันก็เริ่มสงบเข้ามา ความสงบของจิต ถ้าจิตมันสงบเข้ามา นี่กิเลสมันสงบตัวลง พอกิเลสสงบตัวลง เพราะมีสัมมาสมาธิ เวลาออกวิปัสสนามันถึงเกิดปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิมันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากกิเลสตัณหามันบวก กิเลสตัณหานี่มันบวก

ฉะนั้น เวลาออกวิปัสสนาให้มีสมาธิ เห็นไหม นี่คำว่าใช้ภพวิปัสสนาก็ได้ แต่ความจริงมันเป็นสมาธิออกวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาขึ้นมา นี่จากภพหนึ่งเข้าสู่ภพหนึ่ง ตรงนี้มันนี่ สู่ภพหนึ่ง เพราะมันปล่อยวาง มันโล่ง มันว่าง นี่มันภพหนึ่ง ภพหนึ่ง เพราะมันว่างใช่ไหม? มันว่างเราก็อยู่กับความว่าง ถ้าเราใช้ปัญญา พอมันปล่อยแล้วนะเราอยู่กับความว่าง ถ้ามันอยู่ไม่ได้กำหนดพุทโธไว้

อย่างเช่นเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญามีสติตามความคิดไป พอตามความคิดมันปล่อย มันปล่อยแล้วทำอย่างไรต่อ? ถ้ามันทรงตัวไม่ได้เราก็พุทโธไว้สิ พุทโธ เวลาเราพุทโธมันขัดข้อง ถ้าคนที่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาชนนี่ส่วนใหญ่แล้วใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คือใช้ปัญญา พุทโธ พุทโธมันไม่มีปัญญา มันใช้พุทโธอย่างเดียวมันไม่ยอมรับ จิตมันไม่ยอมรับ แต่ถ้าใช้ปัญญานี่เก่ง ชอบ ชอบใช้ปัญญา

ถ้าใช้ปัญญาแล้วพอมันหยุดล่ะ? หยุดแล้วทำอย่างไรต่อ? หยุดแล้วทำอย่างไรต่อ? มันจะทรงตัวได้อย่างไร? จิตมันจะเกาะอะไร? ถ้าจิตมันเกาะอะไร มันก็กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม พุทโธเกาะไว้ ถ้ามันจะคิดใช้ปัญญาไล่ต่อ ถ้ามันจะคิดใช้ปัญญาไล่ต่อ หมายถึงว่าปัญญาอบรมสมาธิต่อไป พอมันหยุด ถ้ามันหยุดได้ ถ้าไม่ได้ก็กำหนดพุทโธไว้ ถ้ามันคิดเอาต่อ ทำอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิมันจะมั่นคงขึ้น

ฉะนั้น คำว่าพอจิตสงบแล้วมันเป็นภพ แล้วใช้วิปัสสนา จากภพหนึ่งเข้าสู่ภพหนึ่ง เข้าสู่ความโล่งๆ ว่างๆ นี่เราทรงพุทโธไว้ เราโล่งๆ ว่างๆ นี่ทรงพุทโธไว้ ฉะนั้น พุทโธไว้เพื่อให้มันเข้มแข็งไง ถ้าสมาธิมั่นคงเป็นเอกัคคตารมณ์ มันตั้งมั่นมีกำลัง นี่ถ้ามีกำลัง มันทำสิ่งใดมันก็ถูกต้องดีงาม แต่ถ้ามันไม่ตั้งมั่น เราคนอ่อนแอ ดูสิเวลาโครงสร้างของบ้าน โครงสร้างที่มันไม่แข็งแรง เวลาสร้างบ้านขึ้นไป ลมพัดมันก็จะล้มอยู่แล้ว

นี่ถ้าจิตมันไม่มีกำลัง เราไปวิปัสสนา ปัญญามันไม่คมกล้า กายเป็นหิน จิตเป็นมีด ลับไปที่กาย ยิ่งลับมันยิ่งคม ถ้ายิ่งคมนะ ออกมาฟันสิ่งใดมันก็ขาด ถ้าเราเข้าสู่สมาธิไว้ นี่ฉะนั้น ถ้าบอกว่าจิตมันว่างๆ จิตมันสู่ภพว่างๆ มันมีสิ่งที่ไม่ดี มันสู่ที่ต่ำ เห็นไหม แล้วมารมันก็จะกระโดด มารกระโดดใส่ นี่ถูกต้อง

มารกระโดดใส่อยู่แล้ว มารมันพยายามจะทำให้เราอ่อนแอ เหมือนเชื้อโรค ถ้าร่างกายอ่อนแอ โรคภัยไข้เจ็บมันจะแสดงตัวทันที เห็นไหม นี่พอร่างกายอ่อนแอ มารมันก็กระโดดใส่ มันก็เจ็บไข้ได้ป่วย มันก็เป็นเชื้อโรค แต่ถ้าร่างกายแข็งแรง ร่างกายแข็งแรง ทุกอย่างสุขภาพเราดี เชื้อโรคมันแสดงตัวไม่ได้ เพราะเรามีภูมิคุ้มกัน

จิต ถ้าเราพยายามรักษาให้มันมั่นคงของเรา แล้วทำงานเป็นกิจจะลักษณะ เวลาเราทำความสงบของใจ หน้าที่การงานก็คือหน้าที่การงานของเรา ถ้ามันสงบ เราทำความสงบเฉยๆ แต่พอเรามาวิปัสสนา หรือพอเริ่มภาวนา พอเราเริ่มภาวนา เรามีเวลานี่เอากันเลย แต่ขณะที่เราทำงานอยู่เราก็ใช้จิตแค่ให้มันมีความสงบก็พอ นี้พูดถึงว่าให้มันเป็นกิจจะลักษณะ

ฉะนั้น นี่อารัมภบททั้งหมดเลยนะ นี่มาเข้าข้อที่ ๑.

ถาม : ๑. วันนี้ผมก็ตั้งภพโล่งๆ ว่างๆ ไว้ที่กลางหน้าอก แล้วก็ฟังเทศน์หลวงพ่อกัณฑ์หนึ่งที่เทศน์ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ปรากฏว่าโล่งๆ ว่างๆ จิตมันก็เป็นแค่ผลที่ส่งออกมาจากจุดเล็กๆ ที่อยู่ประมาณลิ้นปี่ใช่ไหมครับ?

หลวงพ่อ : โล่งๆ ว่างๆ เพราะเวลาฟังเทศน์ เวลาฟังเทศน์เหมือนกำหนดพุทโธ ถ้าเรากำหนดพุทโธ นี่คำบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม จิตมันเกาะที่พุทโธไว้ ฉะนั้น เวลาฟังเทศน์ นี่มันรับฟังเสียงนั้นไว้ พอฟังเสียงนั้นไว้ มารมันก็กระโดดใส่ไม่ได้ พอมารกระโดดใส่ไม่ได้ เห็นไหม ไอ้ที่ภพโล่งๆ ว่างๆ มันก็ไม่แปรปรวน พอไม่แปรปรวนนี่เราว่ามันเล็กลงๆ สิ่งนี้คือเราเกาะเสียงนั้นไว้ไง เราเกาะธรรมไว้ ในเมื่อฟังเทศน์ เห็นไหม

ฟังเทศน์นะหลวงตาพูดประจำ “การฟังเทศน์เป็นการปฏิบัติชั้นหนึ่ง”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ เทวดา อินทร์ พรหมสำเร็จเป็นแสนๆ เวลาฟังเทศน์นะ เวลาพระที่วัชชีบุตร ที่ว่าน้ำจากก้นขัน แล้วแตกแยกไป เห็นไหม เวลารวมขึ้นมา ทำสามัคคีอุโบสถ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์เป็นพระอรหันต์หมดเลย ทีหนึ่ง ๕๐๐ ๑,๐๐๐ พระพุทธเจ้าเทศน์ทีไรเป็นพระอรหันต์เป็นร้อย เป็นพันนะ

นี่ไงฟังเทศน์สำคัญ แต่ แต่เทศน์นั้นจะต้องมีหลักเกณฑ์ เทศน์นั้นจะต้องเทศน์จากเป็นธรรม แต่ถ้าจิตเราสงบแล้วไปฟังเทศน์ที่แบบว่ามันไม่มีจริง บางทีนะถ้าจิตมันไม่มีธรรมอยู่ พูดออกมามันไม่จริง พอไม่จริง มันเหมือนแผนที่ที่ชี้ไปทางที่ถูก เราฟังอย่างไรเรายิ่งงงนะ เราจะเดินป่า แล้วเราก็เข้าใจว่าป่าต้องเดินอย่างนี้ แต่พอฟังเทศน์บอกว่าที่กลับมันเป็นคนละเรื่องเลย เอ๊ะ เราก็พอคร่าวๆ อยู่นั่น ป่านี้เราก็เคยผ่านอยู่นะ ทำไมเวลาฟังเทศน์บอกเลยว่าเข้าคนละทาง ออกคนละทาง มันยิ่งงงนะ

ฉะนั้น สิ่งที่ฟังเทศน์แล้วมันเป็นประโยชน์ คือว่ามันสงบ มันเป็นจุดเล็กๆ นี่มันสงบเข้าไป คำว่าจุดเล็กๆ หรือภพนั้น ถ้าอย่างนี้เราจับประเด็นนี้ก็ได้ เราจับประเด็นนี้ เห็นไหม เราใช้ปัญญาอย่างไร? นี่สิ่งนี้ถ้ามันอยู่ ความจริงไอ้ตัวภพ ไอ้ตัวจุดเล็กๆ มันต้องเอามาใคร่ครวญ ถ้าถึงใคร่ครวญนะ ถ้ามันขยายออกมามันก็ใหญ่ หดเข้าไปมันก็เล็ก

ฉะนั้น คำว่าขยายเข้ามาหรือหดเข้าไป นั่นล่ะคือตัวมันทั้งนั้นเลย นั่นล่ะคือตัวกิเลสมันอยู่ตรงนั้นแหละ กิเลสมันสร้างที่ของมัน แล้วมันก็อยู่ในเหลือบ อยู่ในมุม อยู่ในหัวใจเรานี่แหละ ฉะนั้น มันก็หลบหลีกไป หลบหลีกมา แต่เราไปถนอมมันไง มันเป็นภพ มันเป็นเรา ไม่กล้าทำลายไง มันต้องทำลาย เอามันมาดู เอาจุดเล็กๆ เอาภพนั้นแหละมาดูว่าภพนั้นมันคืออะไร?

เวลาหลวงตาท่านสอนนะ ท่านสอนการพิจารณากาย เวลาพิจารณาไปแล้วนะ เวลาพิจารณากาย เวลามันแยกออก เห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยกออกเป็น ๓ ทวีป ภพนี่เวลามันแยกออกไง ภพนี่มันแยกออกเลย อะไรที่เป็นกาย? อะไรที่เป็นจิต? อะไรที่เป็นทุกข์ พอมันแยกออกไปแล้ว ทวีปนี้แยกออกจากกัน ห่างกันจนมันต่อกันไม่ได้

จิตรวมลง เราจะบอกว่าภพก็ไม่มี เวลาถึงที่สุดแล้วมันจะไม่มีอะไรเหลือเลย ถ้ามีสิ่งใดเหลือคือเราไปสงวนรักษาไว้เองไง เราไปสงวนรักษาว่าอันนี้เป็นของเรา อันนู้นไม่ใช่ของเรา อันนู้นเป็นกิเลส ความคิดต่างๆ เป็นมาร ทุกอย่างเป็นมารไปหมดเลย แต่อันนี้เป็นคุณงามความดี นั่นล่ะคือตัวพญามารใหญ่เลย มันอยู่ตรงนั้นเลยล่ะ ไอ้ที่ว่าเป็นมารๆ มันเป็นแค่เงา ไอ้ที่ว่าเป็นมารๆ นั่นล่ะมันเป็นเสนามารต่างหากล่ะ ไอ้ตัวภพนั่นล่ะคือตัวมาร

ฉะนั้น ถ้าพิจารณาไปแล้ว ตรงนี้มันจะทำลายออก เวลามันแยกออกแล้วจะไม่มีเหลืออะไรเลย จะไม่มีอะไรเลย ถ้ามีอยู่ ตรงนั้นแหละคือตัวกิเลส ฉะนั้น ตัวภพนะเราพิจารณากาย ถ้าพิจารณากาย ไอ้ภพนี่พิจารณา พอพิจารณามันก็ปล่อยเข้ามาที่ภพ ถ้าภพออกพิจารณาปล่อยมาที่ภพ ถ้ามันละเอียดขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วถ้ามันเห็นจุดและภพ เอาภพนั่นล่ะ เอาตัวภพนั่นล่ะ เพราะตัวภพก็เป็นอนิจจัง ดูสิแผ่นดินนี้ก็เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง แล้วภพมันไม่เป็นอนิจจังหรือ? ภพมันเป็นอะไร?

นี้เราไปบอกว่าเป็นภพไง ภพคือเรา ภพคือคงที่ไง พอคงที่นะ โอ้โฮ ให้มันหลอกอยู่ตั้งนาน ให้มันหลอก (หัวเราะ) นี่จับมันมา จับมาพิจารณา อะไรก็ต้องพิจารณาหมด ไม่มีสิ่งใดเว้นไว้ได้เลย จะไม่มีอะไรเว้นไว้ได้เลย ไม่มี สิ่งใดมีอยู่ สิ่งนั้นคือกิเลส สิ่งใดที่มีอยู่ สิ่งใดที่จับต้องอยู่ทั้งนั้น ทั้งนั้น ฉะนั้น ไล่เข้าไป ไม่ใช่ว่าเราไล่มาทั้งหมดแล้ว เห็นไหม ในเชิงอุปมาอุปมัยของหลวงตา นี่เข้าไปในที่บ้าน อู๋ย บ้านนี่ว่างหมดเลย ว่างนี่ก็เราเข้าไปเห็น เราไปยืนขวางอยู่มันว่างได้อย่างไร?

นี่ก็เหมือนกัน ไม่มีสิ่งใดเลย แต่มีไอ้ภพนี้อยู่ มันก็ขวางอยู่ ฉะนั้น ต้องพิจารณาทั้งหมด แล้วพิจารณาไป มันต้องเสมอภาคไง มันต้องเสมอภาค ต้องมีความเป็นธรรม ต้องมีความเสมอภาคหมด กิเลสมันก็เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งเป็นอนิจจัง สัพเพ ธัมมา อนัตตา แม้แต่ธรรมะก็เป็นอนัตตา เขาว่านะ ธรรมะเป็นอนัตตา ขณะที่มันทำ สิ่งที่มันเป็นอนัตตากับสิ่งอนัตตามันจะเข้ากัน อย่างเช่นน้ำ สิ่งที่ละลายได้ ผสมน้ำมันจะละลายไปกับน้ำ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นกิเลสอยู่นะ สัจธรรมนี่เหมือนน้ำเข้าไปชำระล้าง ถ้ามันชำระล้างได้มันต้องละลายออกไป มันต้องสะอาดออกไป มันต้องทำลายออกไป ถ้ามันทำลายออกไป เห็นไหม สัพเพ ธัมมา อนัตตา มันทำลายชำระล้างกันหมดเลย แล้วมันเหลืออะไรล่ะ? นี่ไงสิ่งที่เป็นอกุปปธรรม สิ่งที่คงที่มี แต่คงที่แบบเหนือโลก คงที่แบบเอาออกมาอธิบายไม่ได้ คงที่อย่างนี้เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก

ฉะนั้น จะจุดเล็ก จุดใหญ่ เราสงวนไว้ไม่ได้ มันไม่ใช่เหมือนกระเป๋าสตางค์นี่เนาะ ต้องมีกระเป๋าไปเก็บสตางค์ไง สตางค์ต้องใส่กระเป๋า ฉะนั้น กระเป๋าของเราทำลายไม่ได้ เดี๋ยวไม่มีกระเป๋าไปใส่สตางค์ ทำลายหมดแหละ ไม่ต้อง เขาใช้เครดิต เขาใช้เครดิตได้หมด กระเป๋าก็ไม่เอา เครดิตมันไม่มีตัวตนนะ เครดิตนี่แบงก์ก็ไม่ต้อง คุยกันด้วยปากเปล่าเลย ตัวเลขเท่าไรว่ามา ตัวเลขเท่าไรได้หมดเลย

ฉะนั้น ไม่ต้องไปห่วงกระเป๋า แหม กลัวไปเก็บสตางค์ไม่ได้ ต้องถือกระเป๋าไว้ ในกระเป๋าโล่งไม่มีอะไรเลยนะ เป็นภาระรุงรัง ฉะนั้น จะอย่างใดต้องจัดการหมด นี้ข้อที่ ๑.

ถาม : ข้อที่ ๒. ถ้าข้อ ๑ ผมพิจารณาถูก ภพมันหดเข้ามาแล้วมันก็สบายกว่าภพที่โล่งๆ ว่างๆ เพราะไม่เป็นภาระที่ต้องคำนึงรักษาสงวนมันมาก แล้วผมควรพิจารณาอย่างไรต่อไป ทราบแต่ว่ามันไม่ดี แล้วมันก็หดเข้ามา

หลวงพ่อ : นี่ถูกต้องแล้วแหละ ถูกต้องหมายถึงว่าพอพิจารณาซ้ำๆ นี่เวลาพิจารณาเอง ตัวเราเองนะ ทุกคนมีอวิชชาคือความไม่รู้ ฉะนั้น พอความไม่รู้ ไปศึกษาธรรมะก็ศึกษาด้วยความไม่รู้ ทั้งๆ ที่ว่าศึกษาธรรมะแล้วว่าเข้าใจ นี่ศึกษาด้วยความไม่รู้

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติเอง จะภพน้อย ภพใหญ่ เราพิจารณาของเราไปนั่นแหละ แต่พอมาฟังเทศน์ เห็นไหม ฟังเทศน์นี่เขาจะบอกเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา นี่เราเกาะธรรมะเข้าไป เราเกาะธรรมะเข้าไป นี่มารมันแสดงออกมาไม่ได้ พอมันเกาะธรรมะเข้าไป เกาะธรรมะเข้าไปมันไม่มีเหตุผลคัดค้าน พอไม่มีเหตุผลคัดค้านมันก็ละเอียดขึ้นไปๆ นี่มันก็เลยดีขึ้น

คำว่าดีขึ้น เห็นไหม นี่ข้อ ๒. เขาว่า

ถาม : เวลาพิจารณามันหดเข้าไปๆ มันสบายกว่าภพที่โล่งๆ ว่างๆ

หลวงพ่อ : โล่งๆ ว่างๆ มันก็บอกใช่ไหม? อย่างเช่นการภาวนา ทุกคนบอก อู๋ย ปัญญามันละเอียดมากๆ ยัง ละเอียดกว่านี้อีกเยอะ

นี่ก็เหมือนกัน มันโล่งๆ ว่างๆ มันละเอียดเข้าไป ยัง ยังมีละเอียดกว่านี้อีก เพราะถ้ามันไม่ละเอียดกว่านี้ มันทำไมต้องมีสติ เวลาละเอียดเข้าไปแล้วทำไมต้องเป็นมหาสติ ทำไมสตินี่ทำไมมันจับไม่ได้? สติมันจับอยู่อย่างนี้ แต่ถ้าละเอียดเข้าไปแล้วมันต้องเป็นมหาสตินะ พอมันผ่านขั้น ๒ แล้ว ขึ้นไปขั้น ๓ ขั้น ๔ มันจะเป็นมหาสติแล้ว พอจากมหาสติมันจะเป็นสติอัตโนมัติเลย เป็นมหาสติยังไม่พอ สตินี่มันจะตามตลอดเลย นั่นล่ะเวลามันขึ้นไปแล้วนะ

ฉะนั้น มันยังละเอียดกว่านี้ แต่นี้เพียงแต่ว่าพออย่างนี้เราก็ว่าเราละเอียดแล้ว เพราะอะไร? เพราะเหมือนกับทักษะของนักกีฬา เห็นไหม นี่ประสบการณ์กี่ปีๆ ทักษะเขาไม่เคยเล่นเกมใหญ่ๆ เขายังกระดูกคนละเบอร์เลย แต่ถ้าพวกนี้เขาผ่านกีฬาระดับโลกมาแล้ว กระดูกเขากับไอ้พวกกีฬาฝึกใหม่นี่คนละเรื่องเลย กระดูกมันคนละชั้นเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติขึ้นไป มันละเอียดเข้าไปๆ เราจะรู้เลยว่ากระดูกมันคนละชั้นเลย ฉะนั้น สิ่งที่ละเอียดแล้ว ถ้าเราอยู่ในระดับนี้ ทักษะเราอย่างนี้ ประสบการณ์เรา อายุการใช้งานเราแค่นี้ เราฝึกของเราไป ชั่วโมงบินเรายังไม่ถึง ถ้าชั่วโมงบินเราถึงนะ ชั่วโมงบินเราถึงทันกันหมดแหละ ฉะนั้น ที่ว่าโล่งๆ ว่างๆ ไม่ต้องไปกังวล ถ้าชั่วโมงบินเราดีนะ เราปฏิบัติของเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ชั่วโมงบินมันจะมีของมันไปเรื่อยๆ มันตามทันหมดเลย พอมันตามทัน ถึงที่สุดมันเป็นไปได้

ฉะนั้น ที่ว่ามันว่างๆ แล้วมันไม่เป็นภาระ มันไม่ต้องดูแล นี่มันไม่ต้องมีภาระ ไม่เหลืออะไรไว้เลยล่ะ ถ้าเหลือไว้ นั่นล่ะคือตัวกิเลส ยิ่งบอกว่าไม่ต้องคำนึงรักษา ไม่ต้องหวงแหน หวงแหน หวงแหนอะไร? หวงแหนก็คือกิเลสไง ความหึง ความหวงนั่นล่ะตัณหาทั้งนั้น ไม่มีการหึง ไม่มีการหวง ทุบทำลายหมด ในมหายานบอก เห็นไหม “เจอพุทธะที่ไหน ต้องฆ่าพุทธะก่อน”

นี่เวลาพูดอย่างนี้ไปแล้วเถรวาทเรามันสะเทือนใจอยู่นะ เพราะเราเคารพพระพุทธเจ้า แล้วพอเจอพระพุทธเจ้าให้ฆ่าพระพุทธเจ้าก่อน ใครจะฆ่าลง? แต่พุทธะคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เบิกบานคือสว่างไสว ผู้เบิกบาน ผู้สว่างไสว สว่างไสวคืออวิชชา สว่างไสว เห็นไหม สว่างไสวนั่นล่ะปฏิสนธิจิต นั่นล่ะคือตัวเกิด วิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณคือตัวนั้น วิญญาณรับรู้เรานี่วิญญาณในขันธ์ ๕ นะ ปฏิสนธิวิญญาณคือภพ คือจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้นั่นล่ะคือตัวอวิชชา แล้วถ้าไปเจอพุทธะ เห็นไหม ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าไม่ทำลายอวิชชาจะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร?

ฉะนั้น ถ้าเจอพุทธะที่ไหน? ต้องฆ่าพุทธะที่นั่น นั้นระหว่างที่เราปฏิบัติอยู่นะ พอฆ่าเสร็จแล้วจะกลายเป็นพุทธะแท้ คือไม่เป็นภาระ ไม่หึง ไม่หวง ไม่ต้องรักษา ไม่ต้องเก็บงำ ไม่มีที่เก็บ ถ้ามีที่เก็บก็มีภพ นี่ไงถึงว่าพระอรหันต์ไม่มีจิต จิตก็คือภพ ถ้าพระอรหันต์มีจิตก็เกิดเป็นพรหม ถ้ามีอยู่ สิ่งที่มีอยู่มันต้องให้ค่า สิ่งที่มีอยู่มันต้องแสดงตัว แล้วถ้ายังมีอยู่มันจะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร? เพราะพระอรหันต์ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสิ่งใดๆ ในกามภพนี้ แต่มี (หัวเราะ) มีธรรมธาตุแบบหลวงตาว่าไง หลวงตาว่าเป็นธรรมธาตุ เป็นธรรมแท้ๆ

ฉะนั้น ทำไป สิ่งที่ทำมานั้นถูกต้อง นี่เพราะว่าเวลาเราพูด เราก็เข้าใจที่เราพูด เวลาลูกศิษย์ฟังไป ลูกศิษย์ก็เข้าใจตามประสาลูกศิษย์รู้ไง ฉะนั้น คำพูดคำเดียวกันแต่ไม่เหมือนกัน ทีนี้เวลาเราพูดเราก็เข้าใจว่าพิจารณาซ้ำๆ ซ้ำเพื่อจะทำลายทุกๆ อย่าง แต่คนฟังว่าพิจารณาแล้วจะต้องมีสิ่งที่เหลือ เพราะกลัวว่าตัวเองจะไปยืนบนอากาศ กลัวบ้านน้ำท่วม กลัวไม่มีบ้านอยู่ไง ก็รักษาบ้านไว้ กลัวบ้านน้ำท่วม

ทุกคนกลัวบ้านน้ำท่วม แต่คนไม่มีบ้านไม่กลัวน้ำท่วม เพราะไม่มีอะไรให้ท่วม (หัวเราะ) แต่คนมีบ้าน กลัวนักกลัวหนากลัวน้ำท่วม แต่คนไม่มีบ้านนอนโคนไม้ ไม่มีบ้านให้น้ำท่วม เอวัง