วิตกจริต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
มันข้อ ๗๔๓. ไม่มี ข้อ ๗๔๔. นะ
ถาม : ๗๔๔. เรื่อง เด็กกับผู้ใหญ่ ใครจะภาวนาง่ายกว่ากัน
หลวงพ่อ : เรื่องเด็กกับผู้ใหญ่นะ แล้วอารัมภบทไปยาวมาก อารัมภบทไปยาวมากเลย แล้วถามว่า
ถาม : ๑. บ้างก็ว่าเด็กภาวนาง่าย เพราะเขายังใสเป็นผ้าขาว ไม่ค่อยคิดเยอะเหมือนผู้ใหญ่
๒. บ้างก็ว่าเด็กเขาภาวนานานๆ ได้เพราะเขายังเล็ก ไม่เจ็บ ไม่ปวดมากเหมือนเราเป็นผู้ใหญ่ เท่าที่ฟังมาหนูเห็นว่าเขาก็ปวดขา ปวดหลังอยู่ แต่หนูก็บอกเขาว่า
ถ้าใจอยู่ที่พุทโธ พุทโธจริงๆ แล้วจะทนได้ (นี่เขาพูดนะ)
หลวงพ่อ : นี่คำถามมันมากไปหมดเลย แล้วคำถามนี่ คำถามก็คือคำถาม ทีนี้เราจะบอกว่าเวลาความคิดของคนมันอยู่ที่ความคิด ฉะนั้น ถามว่า
เด็กกับผู้ใหญ่ ใครจะภาวนาได้ง่ายกว่ากัน?
โดยธรรมชาติของเด็ก เด็กที่แบบว่ายังเล็กอยู่เขาจะภาวนาของเขาได้ง่าย แต่ถ้าเด็กที่เขาไม่ภาวนาล่ะ? เด็กที่เขาไม่ภาวนา เขาจะภาวนาไม่ได้เลย จะบอกว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ไม่ได้ เพราะจิตนี้มันไม่มีอายุ คำว่าจิตนี้ไม่มีอายุนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา อายุ ๓๕ ปี พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอายุ ๓๕ ปี นี่ ๓๐ กว่าปี พอ ๓๐ กว่าปีเผยแผ่ธรรมไป พราหมณ์อายุมากๆ เขาไม่ยอม เพราะโดยประเพณีของพราหมณ์นี่นะ พราหมณ์อ่อนกว่าต้องกราบพราหมณ์ที่แก่กว่า เขาถืออาวุโสไง
ฉะนั้น พราหมณ์ที่อ่อนกว่าต้องกราบพราหมณ์ที่แก่กว่า แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอายุแค่ ๓๕ แล้วพราหมณ์ที่อายุ ๗๐-๘๐ พราหมณ์อายุเกือบ ๑๐๐ ทำไมพระพุทธเจ้าไม่กราบเขาก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ากราบใครไม่ได้เลย ท่านกราบใครไม่ได้ ท่านกราบใครไม่ได้เพราะว่าถ้ากราบใครแล้วหัวคนนั้นจะแตกเป็น ๘ เสี่ยง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพอกราบไม่ได้ แต่พราหมณ์ก็บอกว่าเด็กไม่เคารพผู้ใหญ่ เด็กไม่เคารพผู้ใหญ่
เราจะบอกว่าเวลาโลกเขามอง เขามองเด็ก มองผู้ใหญ่ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนะ เวลาพราหมณ์แก่เวลาตายไป ตายไปแล้วถ้ามีบุญนะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ อายุ ๑๐๐ กว่าปี เวลามาเกิดใหม่อายุเท่าไร? มันก็ทารก พอทารกขึ้นมามันก็ต้องมาต่อ ทีนี้ใครจะแก่กว่าใครล่ะ? นี่ใครจะแก่กว่าใคร? แต่เราไปบอกว่าเด็กกับผู้ใหญ่ เด็กภาวนาง่าย ผู้ใหญ่ภาวนายาก อ้าว ผู้ใหญ่ต้องทำมาหากิน ผู้ใหญ่ต้องมีความรับผิดชอบ นี้พูดถึงผู้ใหญ่ทางโลกนะ พูดถึงโลก ไม่ได้พูดถึงธรรมเลย
ถ้าธรรมนะ เด็กจิตที่ดี เป็นเด็กก็เป็นเด็กที่ดี ในสมัยพุทธกาลนะสามเณร ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ คำว่าพระอรหันต์ไม่มีเด็ก ไม่มีผู้ใหญ่นะ เพราะคำว่าพระอรหันต์จิตนั้นต้องตรัสรู้ธรรมด้วยมรรคญาณ ทำลายกิเลสหมด อายุ ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี กี่ปีก็แล้วแต่ เวลาถ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา บรรลุธรรมขึ้นมาก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกันด้วยมรรคญาณ เด็กอายุ ๗ ขวบ ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ต้องมรรคญาณเหมือนกัน ต้องชำระกิเลสเหมือนกัน มันมีเด็ก มีผู้ใหญ่ตรงไหนล่ะ? มันมีตรงไหนเป็นเด็ก ตรงไหนเป็นผู้ใหญ่ มันไม่มีตรงไหนเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่เลย
ถ้าปัญญารอบ เห็นไหม มรรคสามัคคีมันรอบมันสมุจเฉทปหาน มันชำระกิเลสได้ทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ ทีนี้เราไปติดกันตรงนี้ไง แล้วทีนี้ใครเป็นเด็ก ใครเป็นผู้ใหญ่ นี่ลูกที่มันอายุน้อยๆ วุฒิภาวะมันดีกว่าแม่มันได้ไหม? แม่มันอายุมหาศาลเลย แต่แม่มัน นี่ถ้าพูดประสาเรา แม่เซ่อกว่าลูกก็เยอะแยะไป ลูกว่าเด็กๆ นี่แหละมันฉลาดกว่าแม่มันก็ยังมี แม่มันแก่เพราะอายุไง แต่ถ้ามันไม่มีปัญญาล่ะ? มันก็เซ่อกว่าลูกมัน
คำว่าเซ่อนะ เวลาเซ่อหรือฉลาดกว่าลูก เราเลี้ยงดูลูกเรานะ ในมหายานนะ พวกลามะ ดาไลลามะองค์ปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน นี่เวลาเขาเกิดนะ ประวัติของเขา เขาเกิดที่ชายแดน เกิดติดกับเมืองจีน แล้วพระเขาก็หากัน เพราะว่าในมหายาน ในลัทธิของทิเบตเขาพุทธภูมิ คำว่าพุทธภูมิเขาจะไม่ตรัสรู้ธรรม เขาจะเกิดมาสร้างบุญญาธิการ นี่อธิษฐานว่าตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน? แล้วเขาก็จะตามหากัน ตามหากัน
นี่อายุ ๒ ขวบ ๓ ขวบเขาก็เริ่มไปดูแล้ว พอเริ่มไปดูนะเขาจะเอาของใช้เดิมไปให้เด็กดู กับของที่วางรวมๆ กัน เขาจะหยิบของ เขาจะจำของเขาได้ เขาจะหยิบออกมา แค่หยิบจำได้นะ พอจำได้แล้วทำอย่างไรต่อไป? ก็เล่นเหมือนเด็กอย่างเดิมไง เขาแค่จำได้ของเขา แต่เขาจะจำคนได้ อย่างคนที่คลุกคลีกันมา เขาจะเข้าไปหา เด็กคนนั้นจะลูบหัว ลูบหัวเสร็จแล้วทำอย่างไรต่อ? ลูบหัวเสร็จแล้วก็เล่นเป็นเด็กไง
ฉะนั้น พอเขาไปได้เด็กคนนี้มาปั๊บ เขาก็ต้องเอาเด็กมาที่ลาซา มาทำไมรู้ไหม? มาศึกษา เขาจะจ้างเป็นกรรมการพี่เลี้ยง มีพระลามะ ๓-๔ องค์เป็นพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงเสร็จแล้ว เด็กคนนี้ก็ต้องเริ่มทำการศึกษา ศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม คือทางธรรมเขาจะสอนเรื่องธรรมะ แล้วเขาจะโต้ ทิเบตเขาจะตบมือ แล้วก็ถามธรรมะให้ตอบได้ เหมือนกับเราสอบปากเปล่า เวลาเราสอบปากเปล่าเขาจะมีคติธรรมใช่ไหม? แล้วเราเข้าใจเราก็จะตอบ
ฉะนั้น เวลาเขาจะฝึกพวกนี้เขาจะฝึกมา แล้วเขาจะให้ศึกษามา แล้วเขาจะถามปากเปล่าฝึกปฏิภาณ ต้องหัดตอบ หัดอะไร นี่ไงดาไลลามะองค์ปัจจุบันนี้แหละ เขาก็ไปเอามาจากเด็กๆ แล้วเขาก็มาฝึกๆ ทั้งๆ ที่ว่าเป็นองค์เดิมนะ เป็นองค์เดิมตายไปแล้วมาเกิดใหม่ องค์เดิมตายแล้วไปเกิดใหม่ นี่ใครเป็นเด็ก ใครเป็นผู้ใหญ่? เราจะบอกว่าถ้าพ่อแม่ไม่เซ่อนะ ลูกนะ ลูกเล็กๆ นี่นะเขาก็ต้องฝึกฝนไปตามเด็กนั่นแหละ แล้วเราจะคาดหวังอะไร?
เด็กนะเราก็ปูพื้นฐานแบบเด็กๆ ไง ถ้าเด็กเขาดีของเขา เราปูพื้นฐานของเขาไว้ เขาโตขึ้นมาเขามีวุฒิภาวะ เขาศึกษา เขาใฝ่ดีเขาก็จะเป็นคนดีมา แต่เราบอกว่าเด็กดีกว่าผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ดีกว่าเด็ก แล้วเด็กจะเป็นพระอรหันต์เดี๋ยวนั้นเลย ไม่ใช่ เด็กนี่เขาศึกษาแล้วนะ เขาก็ต้องศึกษาสูงขึ้นไป เขาก็ต้องมีเพื่อนของเขา เขาก็ต้องมีสังคมของเขา เขาก็ต้องโตขึ้นมาของเขา
นี่ผู้ใหญ่ก็ต้องมีสังคมของผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่จะพาเด็กเข้าสังคม เขาควรมีกาลเทศะ เด็กมันควรอยู่แค่ไหน? ไม่ใช่ว่าลูกของเราเป็นคนดี มันต้องให้ลูกเราเข้าสังคมได้ พอเข้าสังคมได้นะ นี่เข้าสังคมที่เราดูแลอยู่ใช่ไหม? แต่ถ้าเราปล่อยลูกเราขาดไปเลย คบเพื่อน เพื่อนก็พาไปสู่เพื่อนของเขา นั่นก็สังคมอีกสังคมหนึ่ง นี่สังคมของเขา ถ้าพ่อแม่ไม่เซ่อนะพ่อแม่ก็ดูแลตามนั้น
ฉะนั้น จะบอกว่า เด็กกับผู้ใหญ่ ใครจะปฏิบัติง่ายกว่ากัน?
นี่มันอยู่ที่พันธุกรรม พันธุกรรมถ้าเขาสร้างของเขามานะ มีสิ่งใด ว่านี่คนที่มีจิตใจเป็นธรรม เห็นไหม ธรรมะเป็นธรรมชาติ เขาเห็นสิ่งใดนะ เห็นคนทะเลาะกันก็เป็นธรรมนะ เวลาพระไปบิณฑบาต ถ้าครอบครัวไหน ในครอบครัวเขาจะการทะเลาะเบาะแว้งกัน นี่เทศน์กัณฑ์หนึ่งแล้ว
นี่ผลของการครองเรือน ครองเรือนมันทุกข์อย่างนี้ มันลำบากอย่างนี้ มันจะหมางใจกันอย่างนี้ มันจะกระทบกระเทือน นั่นแค่กัณฑ์หนึ่งนะ ถ้าใครมีปัญญา ไปบิณฑบาตเขามีความสุขของเขา นี่ไงความสุขอย่างนี้ทำให้ติด เห็นไหม ครอบครัวเขามีความสุขกัน เขาอบอุ่นกันนะ แต่มันเป็นอย่างนั้นได้ตลอดไปไหม? เพราะอะไร? เพราะชีวิตมันต้องพลัดพราก
นี่เวลาไปบิณฑบาต หลวงตาจะบอกว่าเวลาพระไปบิณฑบาตให้เดินจงกรมไป เวลาเห็นสิ่งใดปัญญามันจะเกิดตลอด ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมันก็ทำให้เราเป็นคนดี ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ ใจเราเป็นธรรมมันก็เป็นธรรมชาติ แต่ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติไม่ต้องทำอะไรเลยนะ อย่างนั้นอากาศมันก็เป็นพระอรหันต์ เพราะอากาศมันก็เป็นธรรมชาติ มันก็แปรปรวนหมด ทุกอย่างสิ่งมีชีวิตมันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ธรรมะเป็นธรรมชาติหรือ?
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีปัญญานะ ฉะนั้น เรื่องเด็ก เรื่องผู้ใหญ่ มันเป็นการวิตกจริต ถ้าเราวิตกจริตจนเกินไป สิ่งที่มันจะเป็นธรรมชาติ การเติบโตโดยสมดุลของมัน ในเมื่อการเกิด เห็นไหม การเกิดเป็นอริยทรัพย์อยู่แล้ว แล้วเกิดขึ้นมาแล้วอยู่ที่พันธุกรรมของเขา กัมมะพันธุ กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กัมมะปฏิสะระโณ กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย นี่ในเมื่อจิตถ้ามีกรรมดีของเขา เขาจะส่งเสริมสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีขึ้นมา แล้วถ้าสิ่งที่ดีแล้วนี่สิ่งแวดล้อมคือครอบครัว พ่อแม่ พ่อแม่เราจะถนอม จะรักษา จะดูแลส่งเสริมกันอย่างใด?
หน้าที่เราอยู่ตรงนี้ หน้าที่ของเรา เราส่งเสริม เขามีกรรมของเขามา เราก็มีกรรมของเรามา ทุกคนมีกรรมมาด้วยกันทุกๆ คน แล้วถ้ากรรมดีก็ส่งเสริมในสิ่งที่ดี แล้วถ้ากรรมที่มันมีปัญหากันมา ทุกคนจะทำความดี ตอนนี้เรามีสติเราก็ทำความดีนะ แต่เวลาเราขาดสติล่ะ? เวลาเหตุความจำเป็นขึ้นมาล่ะ? คนเรามีกรรมดีและกรรมชั่วมาทุกๆ คน คนเรามันมีโอกาสให้ทำผิดพลาดได้ เพราะเรามีกิเลสอยู่ ฉะนั้น เวลากรรมชั่วมามันต้องให้ผลแน่นอน แต่ให้ผลในทางไหนล่ะ?
ให้ผลในทางทะเลาะเบาะแว้งกันไง ให้ผลโดยการคุยกันไม่เข้าใจไง ให้ผล นี่พ่อแม่คนไหนบ้างไม่รักลูก พ่อแม่คนไหนไม่ปรารถนาดีกับลูก แล้วไปฟังเด็กมันพูดสิ แม่ไม่รัก แม่ไม่รัก คำก็แม่ไม่รัก สองคำก็แม่ไม่รัก เด็กมันก็คิดประสาเด็ก พ่อแม่ก็คิดประสาพ่อแม่ แต่ถ้ามันมีบุญกุศลมาด้วยกันนะ มันจะเข้ากันได้ มันจะคุยกันรู้เรื่อง ฉะนั้น กรรมดี กรรมนี่ ถ้ากรรมมันไม่มาตัดรอนซะ กรรมไม่มาทำให้มันบิดเบือนไป ทุกคนก็ปรารถนาดีทั้งนั้นแหละถ้าเราเกิดมาดี ถ้าเกิดมาดีนะ
นี่วิตกจริตเกินไป เด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็เป็นผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่ที่ดี ผู้ใหญ่ไม่วิตกจริต ไม่ทำจนมันเสียหายไป นี่เรื่องของเด็กก็เป็นเรื่องของเด็ก เรื่องการฝึกหัดให้เด็กภาวนา เดี๋ยวนี้นะ โรงเรียนอนุบาลเขาจะมีกิจกรรมของเขา เอาเด็กนั่งสมาธิ ๕ นาที ๑๐ นาที เห็นไหม นี่เขาก็ทำดีของเขา เขาก็ทำของเขา เด็กที่ให้ภาวนามันก็ดีของมันอยู่แล้วไง แต่นี้พอภาวนาเข้าไปแล้ว เอาล่ะ เด็กกับผู้ใหญ่ใครภาวนาดีกว่ากัน มันเรื่องอะไรเนี่ย? มันเรื่องอะไร? มันเรื่องอะไรกัน?
เด็กคนไหน จิตหนึ่ง จิตใครจิตมัน ในการภาวนานะ จิตของเราก็คือจิตของเรา จิตของเขาก็คือจิตของเขา ถ้าจิตของเขานี่เราส่งเสริม เห็นไหม ถ้าเราทำดีของเรา ลูกของเรา ครอบครัวของเราต่างคนต่างเป็นคนดี ไม่เป็นภาระสังคม ต่างคนต่างมีความสุขในหัวใจ ทุกคนก็มีความสุขแล้ว ทุกคนก็พอใจแล้ว มันจะมีอะไรมากไปกว่านั้น เพราะ เพราะสิ่งนั้นเป็นของสมมุติทั้งหมด
ของสมมุติคือมันมีจริงนะ ของสมมุติคือนี่ตำแหน่งหน้าที่การงาน ทรัพย์สมบัตินี่สมมุติทั้งนั้นแหละ มันมีจริงของมัน ถ้ามีจริงของมัน คำว่าสมมุติคือว่ามันต้องพลัดพรากกันไง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง วันหนึ่งต้องพลัดพรากแน่นอน เราไม่พลัดพรากจากเขา เขาก็พลัดพรากจากเรา นี่สมมุติไงมันไม่จริง แต่สิ่งที่เป็นความจริงล่ะ? สิ่งที่เป็นความจริงคือปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกไง จิตที่มันรู้จริงเป็นจริงเพราะมันอยู่ที่จิต มันไม่พลัดพรากหรอก มันไปกับเรา
กรรมดี กรรมชั่วมันไปกับเรานะ มันพลัดพรากไหม? ไม่ แต่สมมุติมันพลัดพรากนะ มันไว้ที่นี่ เพราะมันเป็นวัตถุธาตุ มันไปกับเราไม่ได้ แต่ความกังวลสิไปกับเรา นี่มันเป็นสมมุติ ฉะนั้น สิ่งที่เป็นสมมุติ โลกนี่มันต้องพลัดพรากแน่นอน ฉะนั้น ถ้าสิ่งที่ไม่พลัดพรากเราทำของเรา เห็นไหม เราติดกังวลกันมากเกินไป ถ้าติดกังวลกันมากเกินไป ถ้ามันดับเดี๋ยวนั้นนะมันยิ่งยุ่งใหญ่
ในพระไตรปิฎกมีสามี ภรรยาคู่หนึ่ง สามีกับภรรยารักกันมาก ดีกันมาก แล้วสามีเป็นปัจจุบันทันด่วนเสียไป แต่พอเสียไปนี่ด้วยความรักนะ ความรักภรรยามาก มาเกิดเป็นสุนัขในบ้านนั้น ฉะนั้น ด้วยความรัก พอมาเกิดมันคนละชาติหรือยัง? คนละชาติแล้ว แต่อยู่ในภพนี้ เห็นไหม คือว่าภรรยายังเป็นมนุษย์อยู่ สามีตายไป แล้วมาเกิดเป็นสุนัขอยู่ในบ้านนั้น
ด้วยความรักของสุนัขนั้น มันมีความผูกพันกับภรรยาเดิม แต่ภรรยาเดิมไม่รู้เรื่อง ไปไหนสุนัขนั้นจะเดินตามไปด้วย เพราะมันรักของมัน เหมือนกับสุนัขที่มันรักเจ้าของมาก พอไปไหนมันไปด้วย แล้วมันก็แปลกด้วยนะ ชาวบ้านเขาล้อเลียน ล้อเลียนว่าผู้หญิงคนนี้มีสามีเป็นสุนัข ด้วยความอายชาวบ้านมาก อาย ด้วยความอาย ทั้งๆ ที่เขาว่าของเขา ก็ปากของเขา เดินลงไปในแม่น้ำนะ แล้วกดสุนัขนั้นตาย ด้วยความอายไง กดสุนัขนั้นจมน้ำตายเลย
นี่ภรรยาเดิม สามีนั้นตายไป มาเกิดเป็นสุนัขในบ้านนั้นแล้วยังรักภรรยาเดิมอยู่นะ แต่ภรรยาอายชาวบ้านที่เขาล้อเลียน นี่ไปแม่น้ำสุนัขก็ตามไป กดๆ กดจนสุนัขนั้นตาย พอสุนัขนั้นตายนะ ความจริงอย่างนี้มันต้องโกรธนะ ก็ยังไม่โกรธยังรักอยู่ ยังรักมาก กลับมาเกิดเป็นตุ๊กแกอยู่ในบ้านนั้น
อันนี้อยู่ในธรรมบท ธรรมบทนี่มันแบบว่าเอามาจากพระไตรปิฎก นี่ด้วยความผูกพัน เห็นไหม สิ่งที่เป็นความผูกพันในเรื่องของเวร ของกรรม ฉะนั้น ถ้าเราศึกษา เราเป็นชาวพุทธนะ เราศึกษาเรื่องความเกิด ความตาย สิ่งนี้เราไม่วิตกวิจารจนเกินไป แต่หน้าที่ก็คือหน้าที่ หน้าที่ของแม่กับหน้าที่ของลูกมันก็คือหน้าที่ แต่ทำไมต้องไปวิตกขนาดนั้นล่ะ?
เวลาบอก อู้ฮู พอภาวนาขึ้นไปก็ต้องทำวิจัยเลยนะ ว่าเด็กกับผู้ใหญ่ใครจะภาวนาดีกว่ากัน แล้วถ้าเด็กเป็นพระอรหันต์มันจะเป็นอย่างใด? แล้วผู้ใหญ่เป็นพระอรหันต์จะเป็นอย่างใด? ก็เลยไม่เห็นได้อะไรเลย มันไม่ได้อะไรเลย มันไม่ได้ภาวนาไปทำวิจัยอยู่นั่น เก็บสถิติใหญ่เลยนะ ไปหาสถิติว่าเด็กมันภาวนากี่คน ผู้ใหญ่ภาวนากี่คน แล้วผู้ใหญ่ภาวนาแล้วได้อย่างไร? แล้วเด็กภาวนาแล้วได้อย่างไร? มันวิตกจริตจนเกินไป ฉะนั้น สิ่งที่ทำก็คือทำ
ฉะนั้น ถ้าว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ภาวนาดีกว่ากัน มันอยู่ที่บุญกรรม เด็กบางคนก็ภาวนาดี แต่ภาวนาดีนะ ถ้าภาวนาต่อเนื่องไปนะ ดูสิอย่างเช่นในสมัยพุทธกาล ในสมัยปัจจุบันยังไม่เคยเห็นว่าเด็ก ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ แต่ในสมัยพุทธกาลนี่หลายองค์มาก เด็กสามเณร ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลนะ แล้วว่าอายุมากกว่านั้น สูงมากกว่านั้นเป็นพระอรหันต์เยอะแยะไปหมดเลย เพราะว่าเขาสร้างบุญ สร้างกุศลของเขามา
นี่ของเรา ถ้าเรามีลูกของเรา ถ้าหัดให้ภาวนา ภาวนาคือว่าพันธุกรรมดี คือจิตดี ให้คิดแต่เรื่องดีๆ คนดีคิดเรื่องดี ทำที่ดี ให้รู้จักเสียสละ ให้รู้จักรักเพื่อน ให้รู้จักไม่เอาเปรียบคนอื่น นี่เราสอนเรา ถ้าไม่รู้จักเอาเปรียบคนอื่น รู้จักเสียสละ รู้จักรักเพื่อนนะ เขาจะมีความสุขของเขา แต่ถ้าพูดถึงถ้าให้แข่งขันๆ มีแต่การช่วงชิง เขาจะมีความทุกข์ของเขา เพราะอะไร? เพราะเขาถือว่าเขาต่ำต้อยกว่าคนอื่น เขาน้อยกว่าคนอื่น เขาต้องพยายามถีบตัวเขาขึ้นมา
แต่ถ้าเขารู้จักเสียสละ เขารู้จักรักเพื่อน เขาเป็นผู้ที่พอในหัวใจของเขา เขาเป็นผู้สละของเขา เขาจะไม่มีความทุกข์ของเขานะ ในใจของเขาจะไม่มีความทุกข์มากจนเกินไป แต่ถ้าพูดถึงเราจะแข่งขัน เราจะเอาให้ทัดเทียมคนอื่น เราจะเป็นคนขาดแคลนตลอดเวลา เราต้องแสวงหาตลอดเวลา เราจะทุกข์มาก แต่ถ้าจิตใจที่เขามีหลักมีเกณฑ์ของเขา นี่สอนให้เขารู้จักรักเพื่อน สอนให้เขารู้จักเสียสละ สอนให้เขา นี่ถ้าเขาไม่มีก็ให้ เห็นไหม เราให้เขาไป แล้วเขาให้คนอื่น
บางคนนะ มีลูกบางคนเขามาบอก บอกเวลาลูกเขาไปโรงเรียนนะ กลับมาถึงบ้านมีแต่กระเป๋าเปล่าๆ เลย ให้เขาหมดเลย แม่ก็ซื้อให้ใหม่ แม่ก็ซื้อให้ใหม่ จนแม่บอกว่าลูกฉันไม่ใช่พระเวสสันดรนะ ให้ก็ควรให้ แต่มันก็ต้องมีของตัวเองบ้างสิ ให้จนหมดนะ ให้จนหมดเลย กลับมานี่แม่ต้องซื้อให้ทุกวันเลย แล้วไปมันก็จะให้แต่เขาๆ ทั้งยางลบ ซื้อใหม่ ซื้อใหม่บ่อย จนบอกว่าลูกเป็นพระเวสสันดรหรือ? ลูกทำไมให้เขาขนาดนั้น?
ถ้าเด็ก เห็นไหม เด็กบางคนมันอยู่ที่ใจของเขา ถ้าเด็กมันให้แล้วเราก็ให้ใหม่ ถ้าเขาไม่อยากให้เราให้เขาก่อน แล้วสิ่งที่เขาให้เขาไปแล้วเราให้ต่อ นี้พูดถึงเราฝึกลูกของเราไง การฝึกนะ เหมือนกับอนาถบิณฑิกเศรษฐีฝึกลูก อนาถบิณฑิกเศรษฐีนะ เวลาเขาจะสร้างวัดเขาเอาเงินปูเลย ฉะนั้น เวลาลูกเขาเห็นมันก็แบบธรรมดาสมบัติของพ่อนะ ถ้าพ่อเสียก็เป็นสมบัติของลูกใช่ไหม? แล้วพ่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลูกมันก็เสียดาย
ฉะนั้น เวลาอนาถบิณฑิกเศรษฐีถึงให้ลูกไง จ้างลูก ลูกต่อต้านไง มีความต่อต้าน มีแรงต่อต้าน ไม่เชื่อ ไม่ไปหาพระพุทธเจ้า อนาถบิณฑิกเศรษฐีบอกจ้างให้ไปฟังเทศน์ พอฟังเทศน์เสร็จก็มาเอาค่าจ้าง เวลาฟังเทศน์เสร็จก็มาเอาค่าจ้าง เพราะได้สตางค์ไม่ใช่ไปฟังเทศน์ เพราะพ่อจ้างก็อยากได้สตางค์ก็ไป สุดท้ายพ่อเห็นว่าไปแล้วดีขึ้น ดีขึ้นก็บอกว่าต่อไปนี้นะจะให้อีก ๒ เท่า คือว่าให้ฟังเนื้อความไงว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอะไรด้วย ไปแล้วนี่ก็ให้ส่วนหนึ่ง แล้วถ้าจำได้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร แล้วมาบอกพ่อนี่พ่อจะให้อีก ให้เพิ่มอีกเท่าหนึ่ง
ฉะนั้น พอฟังเทศน์เขาก็เริ่มตั้งใจฟังว่าพระพุทธเจ้าพูดเรื่องอะไรไง ทีนี้พอพระพุทธเจ้าพูดธรรมะมันเข้าถึงหัวใจ บรรลุเป็นพระโสดาบัน พอบรรลุเป็นพระโสดาบัน กลับไปบ้านพ่อก็รอเอาสตางค์ให้อยู่นะ ไม่กล้ามาเอาสตางค์ เวลาเดินมานี่แบเลย จะทวงเอา ๒ เท่า ๓ เท่าเลย พอใจบรรลุธรรมขึ้นมา ไม่กล้าไปเอาสตางค์เพราะคิดได้ไง
พอคิดได้มันสะเทือนใจมากนะ บอกโอ้โฮ พ่อเลี้ยงมาจนป่านนี้นะ เลี้ยงมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย นี่สิ่งใดไม่รู้ก็อุตส่าห์ให้ไปศึกษา แล้วพอไปศึกษา พอมันบรรลุธรรมขึ้นมานี่เห็นคุณไง แต่เดิมจะเอาสตางค์นะ มองเห็นสตางค์เป็นใหญ่ ยังมองข้ามพ่อข้ามแม่ พ่อแม่ต้องให้สตางค์ พ่อแม่ต้องให้สตางค์ แต่พอบรรลุธรรมขึ้นมามันมีความละอายใจ ละอายใจว่าพ่อรักขนาดนี้ พ่อใช้อุบายให้เราเป็นคนดีได้ขนาดนี้ วันนั้นพ่อเรียกให้มาเอาสตางค์ ไม่กล้า อาย อายพ่อมาก
นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นพ่อ เป็นแม่ เราจะไปคิดอย่างนี้ เราฝึกของเราไป ไปเทียบเคียงอย่างอื่นมันไม่เป็นประโยชน์หรอก หัวใจเรากับหัวใจของลูกก็เท่านั้นแหละ ถ้าลูกมันดีขึ้นมามันก็เป็นความดีขึ้นมา ฉะนั้น ถ้าลูกเป็นความดีเราจะไปแก้สิ่งใดได้ล่ะ? นี่อย่าวิตกจริตจนเกินไป วิตกจริตจนเกินไป ความรักระหว่างพ่อแม่ ว่าไม่มีเป็นไปไม่ได้มันต้องมี แต่มันก็รักให้ถูกทางใช่ไหม? รักแล้วไม่ใช่เอาไฟมาเผาตัวเองไง
ที่ไหนมีรักที่นั่นมีทุกข์ เพราะรักมากก็เลยทุกข์มาก แต่ที่ไหนมีเมตตาการุณย์นะไม่มีความทุกข์ เรามีเมตตา เรามีการุณย์ของเรา ลูกของเรา ถ้ารักนี่มันผูกพันขึ้นมา แล้วก็บอกว่าต้องเป็นอย่างนั้นๆ นี่ทุกข์ตายเลย ถ้ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น กรรมมันเป็นอย่างนั้น เราจะบิดเบือนให้มันเป็นอย่างที่เราพอใจมันเป็นไปได้อย่างไร? เห็นไหม นี่ที่พ่อแม่ทุกข์ๆ ทุกข์เพราะอะไรล่ะ? ก็อยากจะให้ลูกเป็นหมอ อยากให้ลูกเป็นหมอ แล้วลูกมันก็เรียนไม่ไหว นี่เป็นหมอสิพ่อแม่ทุกข์ตาย
เขาจะเรียนอะไรก็ตามแต่เขาเรียน ให้เขามีความสุขเถอะ เขาเรียนอะไรก็ได้ ถ้าเขาประกอบสัมมาอาชีวะได้ เขายืนในสังคมได้ เราก็สาธุแล้วล่ะ ให้เขามีความสุข ไม่ใช่ทุกข์กันไปทั้งแม่ ทั้งลูก ไอ้ลูกก็เครียด ไอ้แม่ก็ทุกข์ แล้วก็บอกว่ารักกันมากๆ แล้วความรักทำไมทำให้ทุกข์ขนาดนี้ล่ะ? แต่ถ้าความเมตตาของเรานะ เราทำของเราให้ดี ไม่ต้องไปทุกข์ขนาดนั้น
นี่เขาบอกว่า เด็กกับผู้ใหญ่ ใครภาวนาได้ดีกว่ากัน? แล้วก็พูดไปร้อยแปดพันเก้าเลย นี่เราถึงบอกว่าเพราะเราวิตกวิจารไปทุกเรื่อง ฉะนั้น สิ่งที่โลกมีก็มี เหมือนกับที่ว่าการศึกษา การศึกษาในปัจจุบันนี้ของประเทศไทยนะ เขาบอกว่าศึกษามาแล้วไม่ได้ใช้ เด็กนี่นะเวลาไปโรงเรียนแบกตำรากันไปจนกระดูกโครงสร้างของร่างกายเสียหมดไง แล้วเรียนอะไรมา? แล้วเรียนมาแล้วได้อย่างไร?
นี่ก็เหมือนกัน นี่พูดร้อยแปดไปหมดเลย แต่จริงๆ แล้วเรื่องความรู้สึกของตัวเองยังไม่เข้าใจเลย ถ้ามีความรู้สึกของเรา เราเข้าใจตัวเองของเรา ๑. เราไม่เป็นภาระกับตัวเราเอง ๒. ไม่ต้องไปเป็นภาระใครอีกแล้ว เป็นภาระใครแล้วยุ่งไปหมดเลย นี่วิตกจริต มันจะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ ถ้ามันดีก็คือดีของมันแหละ จะเอาวัยวุฒิมาวัดไม่ได้
วัยวุฒิ คุณวุฒิ ถ้าเอาวัยวุฒิมาวัดเด็กหรือผู้ใหญ่ แล้วเด็กมันจะดีอย่างนั้นตลอดไปหรือ? มันเป็นไปไม่ได้หรอก เด็กมันต้องโตไปเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเด็กมันดีมันก็คือดี แล้วถ้ามันดีขึ้นมานะมันอยู่ระหว่าง ชีวิตทั้งชีวิตเราจะประสบสิ่งใดบ้าง ถ้ามันประสบสิ่งที่ดี เราทำสิ่งที่ดีมันก็ดีไป แล้วเวลามันคบเพื่อนล่ะ? ถึงเวลามันเปลี่ยนแปลงได้ เขาถึงบอก เห็นไหม
ขอให้มีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีบุคคลเป็นที่พึ่งเลย
เพราะบุคคลมันเปลี่ยนแปลง อารมณ์มันเปลี่ยนแปลง ให้ฟังเหตุและผล ไม่ใช่ฟังอารมณ์ของคน แต่คำว่าเป็นธรรมๆ เวลาหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ สิ่งที่ว่าเป็นอารมณ์ๆ มันมีคุณธรรมอยู่แล้ว อารมณ์นั้นคือการแสดงออกของธรรม นี่มันกลับกันไง มันพลิกกลับตลอด อารมณ์ความรู้สึกมันเป็นอารมณ์ทั้งนั้นแหละ แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ออกมานั่นเป็นอารมณ์หรือเปล่า?
น้ำก็คือน้ำ น้ำสะอาดกับน้ำเสีย ถ้าน้ำเสียมีแต่กลิ่นเหม็น แล้วไม่ให้ประโยชน์อะไรเลย แต่น้ำสะอาดไม่มีกลิ่นเหม็น นี่ถ้ามันมีกลิ่น มันก็กลิ่นน้ำสะอาดนั่นล่ะ แล้วมันยังมีคุณสมบัติมาก นี่อยู่ที่จังหวะนะ เวลาพูดออกมาเป็นทางโลกมันมีปัญหาทั้งนั้นแหละ ปัญหามันจะเกิดถ้าเราไม่เข้าใจมันนะ ปัญหาเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเราดูแล้วมันไม่ใช่เป็นปัญหา มันเป็นปัญหาจากคนถามต่างหาก คนถามมีปัญหาก็เลยเอาประเด็นขึ้นมาว่าเป็นปัญหา
ทางกฎหมายนะ เด็กอายุไม่ถึงกี่ขวบที่กฎหมายเขาไม่มีผล เด็กทำผิดก็ไม่มีผลทางกฎหมายนะ เพราะเด็กมันเล็กเกินไปจนจะดำเนินทางกฎหมายได้ แล้วเราจะไปตั้งธงให้เราทุกข์ร้อนทำไม? เราไม่ต้องตั้งธงขนาดนั้น การเกิดมันก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว นั้นพูดถึงปัญหาเด็กและผู้ใหญ่เนาะ จบ
อันนี้ปัญหาเดี๋ยวนี้เลยเนาะ ปัญหาเดี๋ยวนี้ นี่มัน ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ คำถาม ถ้า ๖ คำถามแล้วนี่มันเป็นเราไปแยกปัญหาเอง ถ้าเราไม่แยกปัญหาเองนะ เพราะอะไร?
ถาม : ๑. เคยบริกรรมพุทโธจนจิตสงบ ลองหัดพิจารณากายแล้วไปต่อไม่ได้ จึงใช้ปัญญาอบรมสมาธิจนมันปล่อยแล้วพิจารณาจิตจะสามารถไปต่อได้ ถ้าต่อไปไม่ได้ค่อยกลับมาภาวนาพุทโธ ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิก่อน แล้วพิจารณา กาย เวทนา ธรรม สามารถทำใด้เหมือนพิจารณาจิตไหม?
หลวงพ่อ : กรณีอย่างนี้ เวลาเราปฏิบัติไปแล้วมันติดขัดไปหมด คำว่าติดขัดไปหมดมันติดขัดที่ไหน? มันติดขัดที่กิเลสไง พอเวลามีกิเลสอยู่ กิเลสพาให้ติดขัด แล้วติดขัดขึ้นมาเขาต้องมีอุบาย นี่เราจะบอกว่าโดยสามัญสำนึกของเรากิเลสมันจะก้าวไปข้างหน้าเราหนึ่งก้าวตลอดเวลา เราตามไม่ทันนิดเดียว กิเลสมันจะอยู่ข้างหน้าเราตลอดเวลา แล้วเราตามไม่ทัน
ฉะนั้น พอเราพุทโธ พุทโธ เห็นไหม แล้วพิจารณากายต่อไปไม่ได้ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้วพิจารณาได้ การใช้ปัญญามันก็ปัญญาจากพุทโธนั่นแหละ ฉะนั้น ไอ้กรณีอย่างนี้มันอยู่ที่อุบายไง แล้วอุบายนี่ถ้าซื่อบื้อนะมันใช้ไม่ได้ ซื่อบื้อก็หมายถึงว่าทำซ้ำทำซากอยู่กรณีเดียว หลวงตาท่านจะบอกว่าบางทีกิเลสมันสงสารนะ มันบอกว่า เฮ้ย มึงใช้ปัญญาซะบ้างสิ ทำไมมึงให้กูขี่คอตลอดเวลา
นี่ไงเวลาเราพิจารณาไปเราก็พลิกแพลงบ้างสิ จนกิเลสมันก็เบื่อไง โอ้โฮ ทำไมให้ขี่คอได้ตลอดเวลาเลย กิเลสมันก็เหมือนเราจับปลาเนาะ ถ้าปลาเป็นมันยังดิ้น มันยังหลบให้เราตะครุบนะ ไอ้ปลาตายมันไม่ไปไหนเลย จับก็ง่าย อะไรก็ง่าย ทำไมเอ็งเป็นปลาตายๆ เลยล่ะ? เอ็งเป็นปลาเป็นหน่อยสิ จะจับก็วิ่งหนีซะหน่อย ยังดิ้นรนซะหน่อยนะ ให้ได้ตะครุบมันก็ยัง เออ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราใช้พุทโธหรือใช้อย่างนี้มันเป็นหลักใช่ไหม? มันเป็นหลักว่าสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน นี่ถึงเวลาทำไป ถ้าไม่มีสมถะมันเกิดวิปัสสนาไม่ได้ ถ้ามีวิปัสสนาไปแล้ว เราใช้ปัญญาไปมากขึ้นจิตมันต้องเสื่อมแน่นอน มันต้องกลับไปสมถะ ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่ามันต้องเดินไปคู่กัน
นี่คนมี ๒ เท้า สมถะกับวิปัสสนามันจะไปคู่กัน ทำความสงบของใจ ใจสงบแล้วก็ใช้ปัญญา พอปัญญามันเริ่มจะเดินไม่ได้เราก็กลับไปทำความสงบของใจ นี่จะบอกว่านะเวลากินข้าวใช่ไหม? เรากินข้าวนะ จับช้อนอย่างนี้นะ ต้องเอาเข้าปากอย่างนี้นะ มันก็ไม่ใช่ใช่ไหม? มันก็อยู่ที่ว่าเราจะกินข้าวอย่างใด? เรากินด้วยอะไร?
นี่ก็เหมือนกัน ในจังหวะที่เราภาวนาไปมันเป็นประโยชน์หรือมันไม่เป็นประโยชน์ มันไม่มีอะไรตายตัวไง มันไม่มีอะไรตายตัว คำว่าไม่มีอะไรตายตัวนะ มันอยู่ที่จริตของคนหนึ่ง จริตของคน แล้วก็(โทษนะ)กิเลสหยาบ กิเลสบางอีกอย่างหนึ่ง ถ้ากิเลสมันหยาบ จริตของคนทำอย่างนี้ ทำซ้ำทำซากมันไม่ได้ แต่ถ้าคนกิเลสมันบางใช่ไหม? ทำเหมือนกันแต่ได้ ดี ไปแล้ว
นี่มันไม่เหมือนกันตรงนี้ไง แล้วในคนๆ เดียว คราวนี้ทำได้ คราวหน้าทำไม่ได้ อ้าว ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ? อ้าว คราวนี้ทำได้สิ ทำได้เพราะว่าอะไร? เพราะว่ามันยังใหม่สด ของใหม่ ของสดนี่ กิเลสมันยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรไง พอทำอย่างนี้ แหม นิ๊งเลย ทำแล้วเรียบไปเลย กิเลสมันรู้แล้ว คราวหน้ามึงทำมานะ กิเลสบอกว่าเสร็จกู มันดักหน้าเลย เห็นไหม ไปไม่รอดแล้ว นี่คนๆ เดียวนั่นแหละ
กิเลสนะคือความไม่รู้ในหัวใจของเรา เราทำอะไรมันก็ไปกับเราตลอด เห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าเยาะเย้ยมารไง
มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดในหัวใจเราไม่ได้เลย
แต่นี่มันอยู่กับใจของเรา เราคิดอะไรนี่กิเลสมันคิดด้วย มันรู้ทันหมดเลย เพียงแต่มันยังสดใหม่ คำว่าสดใหม่ เราทำนี่เพราะกิเลสมันยังไม่เคยสัมผัส ยังไม่มีใครเคยสัมผัสเลย พอเราตั้งพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันสงบได้ เพราะกิเลสมันยังไม่รู้ทัน แต่ลองสงบแล้วนะมันเป็นความสุขของเรานะ นี่เพราะเราสัมผัสใช่ไหม? สันทิฏฐิโกเราสัมผัสเรารู้เอง กิเลสมันก็รู้ด้วย พอกิเลสมันรู้ด้วย คราวหน้านะเล่ห์กลมันมาแล้ว
คนๆ เดียวนั่นแหละ ฉะนั้น บอกคราวนี้เราทำได้แล้ว คราวหน้าต้องทำได้อีกสิ ต้องทำอย่างนี้ต้องได้อีกสิ นี่ไงวิทยาศาสตร์ นี่เป็นโลกไง โลกคือวิทยาศาสตร์เป็นทฤษฎี แต่เวลากิเลสมันมีการฉ้อฉล กิเลสมันอยู่กับเรา กิเลสมันมีเล่ห์เหลี่ยม กิเลสมันมีชีวิต มันพลิก มันแพลง มันหลอก มันล่อ ฉะนั้น เราบอกเราอยากฆ่ากิเลสๆ แล้วกิเลสมันเป็นอย่างไรล่ะ? ทีนี้พอเราทำความสงบแล้วเราก็ต้อง อืม
ไอ้กิเลสมันก็อาศัยความรู้สึกนึกคิดเรานี่แหละ แล้วก็ทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน นี่ขันธ์ ๕ นะ ขันธ์ ๕ เห็นไหม ถ้าพระอรหันต์ขันธ์ ๕ เป็นภารา หเว ปัญจักขันธา ขันธ์เป็นภาระ ขันธ์ไม่มีกิเลส ขันธ์สะอาดบริสุทธิ์มีไหม? นี่ขันธ์สะอาดบริสุทธิ์ ความคิดที่สะอาด ความคิดที่ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม แต่ถ้าเป็นปกติเรามีกิเลสไหม?
มี ความคิดมันมีปนมาด้วย กิเลสมันปนกับความคิดเรามาด้วย พอกิเลสกับความคิดปนมาด้วยใช่ไหม? เราใช้ปัญญาๆ อยู่นี่ เพราะ เพราะจิตไม่สงบ ถ้าจิตมันสงบ เห็นไหม พอกิเลสมันสงบตัวลง สงบตัวลงมันก็เป็นธรรม เป็นธรรมอยู่พักหนึ่ง แต่พอจิตมันเริ่มผ่อนคลาย สมาธิมันเริ่มผ่อนคลายออกมา นี่ไอ้มาร ไอ้กิเลสมันชักเข้มแข็งขึ้น พอเวลาความคิดมันบวกมาแล้วๆ นี่มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนั้น
ฉะนั้น เวลาถามมาอย่างนี้ แล้วให้ตอบไปนะ มันก็เหมือนถามว่ากระดาษแผ่นนี้สีขาวหรือสีดำ? เออ มี ๒ สีนะ กระดาษแผ่นนี้สีขาวหรือสีดำ นี่คือสีขาว สีขาวเราก็ต้องไปทำให้สีขาวตลอดไป แล้วสีดำล่ะ? กระดาษนี้เป็นสีดำหรือสีขาว นี้พอกระดาษมันสีขาว พอเขียนไปแล้วมันก็เป็นสีดำ ถ้าเป็นสีดำ แล้วทำอย่างไรให้มันเป็นสีขาวล่ะ? กระดาษมันเป็นวัตถุที่เป็นไปไม่ได้ แต่จิตได้ เดี๋ยวคิดดี เดี๋ยวคิดชั่ว คิดดี ขาว คิดชั่ว ดำ แล้วเราคิดชั่วเราจะแก้ไขอย่างไร? จิตมันแก้ไขได้
ฉะนั้น ถึงบอกว่า นี่ถ้าพูดตอบตามวิทยาศาสตร์เลยก็ขาวหรือดำ แล้วแก้อย่างไรล่ะ? แล้วจะแก้อย่างไร? แต่ถ้าเป็นใจนะเราค่อยๆ พิจารณาของเรา แก้ไขของเราไป จะขาว จะดำ นี้ข้อ ๑.
ถาม : ๒. ตอนนี้เริ่มปฏิบัติใช้ปัญญาอบรมสมาธิเลยไม่ได้ ต้องใช้พุทโธก่อน พอเกิดความคิดหรืออารมณ์ขึ้นมากระทบจึงใช้ปัญญาอบรมสมาธิ สติไล่ตามความคิดนั้นไป บางครั้งเริ่มปฏิบัติโดยใช้พิจารณาจิตเลย สามารถทำต่อไปได้ แต่มันเป็นสัญญา คือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ
หลวงพ่อ : ค่อยๆ ทำไป เราจะพูดอย่างนี้ เราจะพูดว่าถ้าเราพุทโธได้ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่คือสมาธิอบรมปัญญา แต่พุทธจริตส่วนใหญ่คนชอบใช้ความคิด เพราะความคิดมันมีกับเราอยู่แล้ว ฉะนั้น เวลาใช้ความคิดแล้วนี่รู้สึกว่ามันเป็นการเป็นงาน รู้สึกว่ามันมั่นคง ทำแล้วมันดี อย่างนี้เขาเรียกพุทธจริต ต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้าศรัทธาจริตมีความเชื่อมั่นของเรา เราใช้พุทโธ พุทโธไป คือมันไม่มีอะไรตายตัวไง ถ้าเราพุทโธได้เราก็พุทโธของเราไป พุทโธแล้วมันก็จับหลักไว้ แต่ถ้ามันทำแล้วมันเลื่อนลอย มันไม่มีสิ่งใดหยิบจับเต็มไม้เต็มมือ ถ้าเราใช้ความคิด ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเราก็ใช้ไป
เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอมีความคิดปั๊บ เราใช้สติตามความคิดไป หาเหตุหาผลของมันจนความคิดมันหยุดได้ พอหยุดได้เราก็พุทโธต่อเนื่องกันไป คือมันใช้ต่อได้ คือกรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบ ๔๐ วิธี เราใช้วิธีใดก็ได้ อย่างเช่นขับรถ เห็นไหม ขับรถเราจะเอามือใส่เกียร์ก็ได้ เราจะใช้นิ้วก็ได้ ใช้อะไรก็ได้ให้มันเป็นประโยชน์ คือว่าให้มันทำแล้วประสบความสำเร็จเป็นใช้ได้
นี่ก็เหมือนกัน กรรมฐาน ๔๐ ห้อง เราทำอย่างไรก็ได้ขอให้มันใช้ได้ ฉะนั้น บอกว่าต้องทำนี่ก่อนๆ มันเป็นสูตรเกินไป ถ้ามันเป็นสูตรเกินไปนะกิเลสมันก็หัวเราะแล้ว เดี๋ยวเราก็ทำสูตรนี้ เดี๋ยวเราก็ทำสูตรนี้ แล้วกิเลสมันรู้ทันหมดเลย เราทำอะไรก็แล้วแต่ต้องไม่ให้กิเลสมันรู้ทัน คือเราทำให้ได้สมประโยชน์กับเราก่อน สงบไปแล้วกิเลสมันมาไม่ทัน พอมันคลายตัวออกมาแล้วทำไม่ค่อยได้ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง
ทำไปแล้วพอกิเลสมันรู้ตัว กิเลสมันก็ต้องขวาง เพราะกิเลสนะมันอาศัยหัวใจเราเป็นที่อาศัย เราไปเกิดเป็นพรหมก็มีกิเลส ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เป็นมนุษย์มีกิเลสหมด ฉะนั้น กิเลสเป็นนามธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา พญามารคอตกเลย คอตกเลยนะเพราะมันไม่มีที่อยู่ แล้วมันไม่ต้องการให้จิตนี่พ้นจากความควบคุมของมัน ฉะนั้น มีสิ่งใดแล้ว เล่ห์เหลี่ยมของมันต้องเต็มที่ของมัน
ดูสิเราต้องหาบ้าน หาเรือนกันนะ เราโตขึ้นมานี่ โดยธรรมชาติของมนุษย์เลยอยากมีบ้านหลังแรก รถคันแรก ต้องมีบ้าน มีรถ มีทุกอย่างให้พร้อม เพราะเราก็อยากมีที่อยู่ของเรา แต่เวลากิเลสมันอาศัยใจคนเป็นที่อยู่ อาศัยใจของสัตว์โลกเป็นที่อยู่ ฉะนั้น เราจะทำลายบ้านมันยากมาก ฉะนั้น ยากอย่างไรก็ทำได้
ฉะนั้น เราต้องใช้สติปัญญา อย่าเพิ่งท้อถอยนะ เริ่มต้นมันเป็นอย่างนี้แหละ เหมือนคนทำงานยังไม่เป็น เหลียวซ้ายแลขวามันยุ่งยากไปหมดเลย แต่ถ้าคนทำงานเป็นแล้วนะ เหลียวซ้ายแลขวาจับให้เข้าที่ได้หมดเลย พอภาวนาเป็นไปแล้วนะ อู้ฮู ควบคุมมันได้เลย พอภาวนาเป็นแล้วควบคุมได้ รู้จังหวะ รู้หนัก รู้เบา อะไรควรหนัก อะไรควรเบา ถ้าภาวนาเป็นแล้วนะมันจะทำได้ ถ้าถึงตอนนั้นนะมันจะสะดวกกว่านี้ แต่เริ่มต้นก็ต้องลำบากอย่างนี้เป็นธรรมดา
ถาม : ๓. เมื่ออารมณ์มากระทบจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แต่ก็เอาการพิจารณาที่หลวงพ่อเทศน์สอนมาช่วย
หลวงพ่อ : ได้ทั้งนั้นแหละ อะไรที่เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ไปหมดแหละ
ถาม : (นี่เขาบอกว่า) อารมณ์ที่กระทบมันเร็วยิ่งขึ้น ควรจะทำอย่างไร?
หลวงพ่อ : อารมณ์ที่กระทบเร็วขึ้น ถ้าพูดถึงสติมันดีขึ้นอยู่หมด แต่ถ้าสติเราอ่อนปั๊บนะความคิดมันจะเร็ว แต่ถ้าสติเราทันนะความคิดก็จะช้าลงๆ คือจะบอกว่าสตินี่ทันทุกอย่างเลยนะ ทันความคิด ถ้าไม่ทันความคิด มันหยุดความคิดไม่ได้
นี่สติทัน สมาธิทัน ที่ว่าความคิดนี้เร็วมากๆ ถ้ามีสติ มีทุกอย่างพร้อมทันหมด แล้วยิ่งพอมันละเอียดเข้าไปกว่านี้ ความคิดจะเร็วกว่านี้ เพราะกิเลสมันละเอียดกว่านี้ มันต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมมากกว่านี้ มันก็จะเป็นมหาสติถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ นะ มันจะเกิดเป็นมหาสติ สติที่ดีกว่านี้อีก แล้วมันจะทันไปหมด ไม่ต้องไปตกใจไง เวลาทำอย่างนี้เราก็ห่วงแล้ว อู้ฮู ข้างหน้าจะลำบากกว่านี้ ไม่ต้อง ค่อยๆ ทำไป นี่ค่อยๆ สะสมไป มันจะดีของมันไปเรื่อยๆ ถ้าเราทำไป
เวลางานทางโลกเรายังทำตลอดชีวิตนะ ในการภาวนานี่เราทำของเราไป เรารู้ของเราไป เราเห็นของเราไป มันเป็นประโยชน์กับเราไปเรื่อยๆ
ถาม : ๔. ระหว่างที่ใช้ปัญญาอบรมสมาธินี้จะยืนรำพึงอย่างเดียว จะเดินจงกรมหรือพุทโธไม่ได้ใช่ไหมครับ เคยทำแล้วใจมันฟุ้งซ่าน
หลวงพ่อ : ได้ คำว่าระหว่างใช้ปัญญาอบรมสมาธินี่จะยืนรำพึงก็ได้ ไอ้อย่างนี้นะ อิริยาบถ ๔ อิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน มันอยู่ที่ความถนัด บางคนนั่งสมาธิได้ทั้งวันทั้งคืน พระบางองค์ในสมัยพุทธกาลนอนนะ นอนภาวนาก็มี แต่น้อยมาก นี่นั่ง นอน ยืน แล้วก็เดินจงกรม มันอยู่ที่ความถนัด ดูสิอย่างเช่นอาจารย์สิงห์ทอง หลวงปู่เจี๊ยะก็ชม หลวงตาก็ชมว่าเดินจงกรมเก่งมาก เดินจงกรมจนทางเป็นร่องเลย เห็นไหม ท่านถนัดในทางเดินจงกรม บางองค์ถนัดในทางยืน
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เรายืนรำพึงมันเป็นกิริยาของเรา ถ้าเราทำของเราก็ทำได้ ทำไม่ได้เราก็เปลี่ยนแปลงของเรา หาสมดุลของเรา ไม่ใช่ว่าเอาความพยายามของเราไปบวกกับกิริยา เอากิริยานี่มันเป็นการฝึกฝนมาเพื่อเราจะควบคุมใจของเรา อย่างเช่นนั่งสมาธิ เดินจงกรม เห็นไหม เราทำเพื่อใจสงบ เราทำเพื่อเกิดปัญญา เราไม่ใช่เอาทางจงกรม ถ้าเอาทางจงกรมนั้นคนเดินนะ ดูสิคนเขาเดินมากกว่านั้นอีก
ถาม : ๕. การปฏิบัติระหว่างเอาสติจดจ่อกับงานนั้นอย่างเดียวใช่ไหมครับ เพราะเคยใช้ปัญญาไปด้วยจะทำได้ช้าลง การปฏิบัติระหว่างวัน
หลวงพ่อ : สติจ่อไป มันอยู่ที่เราสติจ่อก็ได้ ได้ทั้งนั้นแหละ คำว่าได้ เราจะบอกว่านี่อันนี้ก็จะเป็นวิตกจริตอีกแหละ วิตกจริตเกินไปก็ทำให้เรามีปัญหา ถ้าเราไม่วิตกจริตเกินไปจะไม่มีปัญหาอะไร แล้วถ้ามันไม่ได้ก็คือไม่ได้ มันไม่ได้ก็คือมันไม่ได้อยู่แล้ว ถ้ามันทำอะไรได้มันก็ได้ของมัน ถ้าไม่ได้ปั๊บเราก็หาวิธีการของเราไป
ถาม : ๖. หลวงพ่อเทศน์เรื่องปัญญาอบรมสมาธิในถาม-ตอบ และเทศน์บนศาลา แต่เทศน์บนศาลานั้นหยุดก่อน สามารถเทศน์อีกได้ไหมครับ?
หลวงพ่อ : ก็เทศน์อยู่นี่แล้วไง ก็ถามมาเทศน์ได้ทั้งนั้นแหละ คำว่าเทศน์ได้มันอยู่ที่เหตุผล การเทศน์หรือการสอนมันอยู่ที่เหตุปัจจัย หมายถึงว่าคนถาม ถ้าคนถามนะอย่างเช่นปัญหาที่แล้ว เห็นไหม นี่ไปถามเรื่องวัย ก็พูดไปประสาโลก ถ้าเวลาคนถาม คนเริ่มทำสมาธิได้ เราก็บอกสมาธิจะเป็นอย่างนี้ สมาธิจะเป็นอย่างนี้
เวลาได้ขึ้นมาแล้ว เพราะคนได้สมาธิแล้วมันก็ อืม ปลื้มใจนะ แต่พูดกับใครไม่ถูกไง เอ๊ะ มันเป็นอย่างไร? ก็บอกนี่สมาธิมันจะมีความอบอุ่นของใจ สมาธิจะมีหลักใจ เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น จิตมีหลักมีเกณฑ์ นี่สมาธิเป็นอย่างนี้ ผลของมัน สิ่งที่เราได้สัมผัสขึ้นมา นี่เราได้ดื่มกิน เราได้สัมผัส สิ่งนี้จะบวกในใจของเรา ถ้าเกิดปัญญา อ้าว ปัญญาจะเกิดอย่างนี้ เกิดปัญญาแล้วต้องฝึกฝนขึ้นไป มันอยู่ที่ผู้ถามไง ว่าผู้ถามเขามีปัญหาแค่ไหน? ถ้าปัญหาพื้นฐานก็ตอบพื้นฐาน ถ้าปัญหาของเขาละเอียดขึ้นไปๆ
นี้พอละเอียดขึ้นไป เวลาคนภาวนาก็คิดว่าคำถามนี่เป็นสูตรสำเร็จ พอสูตรสำเร็จเราคิดว่าเราจะทำอย่างนั้นหรือ? ไม่ใช่หรอก คำถามนี่มันอยู่ที่ผู้ถามมีปัญหามากน้อยแค่ไหน? แล้วบางทีนี่ทำความสงบไม่ได้เลย ทำความสงบไม่ได้เลย นี่ถ้ายังไม่ได้เลยมันก็เหมือนพื้นฐานใช่ไหม? อย่างเราป่วยไข้ แต่หาสมุฏฐานของโรคไม่ได้ แล้วจะรักษากันอย่างไร? นี่ไม่สบายๆ แต่เป็นอะไร? ไม่รู้ ไม่สบายแต่ไม่รู้เป็นอะไร? ถ้าไม่รู้ก็ต้องหามันเป็นอะไร? มันเป็นอะไร?
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าภาวนาแล้วไม่ได้ๆ ทำไมถึงไม่ได้ ถ้าไม่ได้ก็ค่อยๆ หาไป แต่ถ้าพอรู้ว่าโรคอะไร? พอโรคอะไรก็แก้ไขตามโรคนั้น โรคอาการมากน้อยแค่ไหน? ถ้าอาการมากเราก็แก้ไขไป ฉะนั้น สิ่งที่เราฟังๆ มา โดยประเด็นนะฟังมาแล้วถ้าเป็นธรรมนะเราฟังไว้เป็นคติธรรม แต่เวลาปฏิบัติเราไม่เป็นอย่างนั้นหรอก เรากล้าพูดนะไม่เป็นอย่างนั้นหรอก มันจะเป็นอย่างที่เราเป็นนั่นล่ะ ไม่มีทางเป็นอย่างนั้นหรอก
คนเรานี่เขาเป็นโรค เราจะเป็นโรคเหมือนเขาได้อย่างไร? ที่อยู่ก็ไม่เหมือนกัน เราอยู่บ้านเรา เขาอยู่บ้านเขา นี่สมุฏฐานหรือสิ่งที่เป็นเชื้อโรค เห็นไหม นี่เขาเป็นโรคฉี่หนูๆ ก็เขาลุยน้ำ ไอ้เราไม่ได้ลุยน้ำเราเป็นโรคฉี่หนูได้อย่างไร? ฉะนั้น สิ่งที่มันไม่เหมือนกัน ฟังแล้วเป็นคติเฉยๆ ถ้าเราทำแล้วดูที่ใจเรานี่มันดีไหม? มันเป็นไปได้ไหม? ตรงนี้สำคัญที่สุด เรียกปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ธรรมดูแลใจเรา เพื่อประโยชน์กับเรา
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าให้หลวงพ่อเทศน์อีกได้ไหม? ไอ้นี่เวลาฟังเทศน์ เห็นไหม มันก็คิดว่ามันเข้าใจ มันก็ดี ฉะนั้น พอหมดเทปแล้วนี่อยากจะฟังต่อ แล้วจะเอาที่ไหนอีกล่ะ? แต่ถ้ามันฟังต่อนะก็ไปฟังอย่างอื่น ฟังที่อื่นค้นหาไป
ฉะนั้น สิ่งที่ฟังเทศน์ เวลาฟังเทศน์นะมันมีคนชี้นำทาง เหมือนกับเราไปไหนมีคนนำทาง เวลาไม่มีใครนำทางนะเราต้องเดินของเราเอง เราจะต้องหาทางของเราไปเอง เห็นไหม ฟังเทศน์มีประโยชน์ตรงนี้ เหมือนกับมีคนนำทาง มีคนนำทางเราไปตลอด ฉะนั้น ถ้ามีคนนำทาง ไปไหนก็ไปได้ ไปไหนก็ไปได้ แต่เวลาให้เดินไปเองนะ อืม ไม่รู้จะไปทางไหน หาทางไปไม่เจอ
ฉะนั้น เวลาฟังเทศน์มีประโยชน์มาก แต่คนมันไม่คิดกันอย่างนั้นนะ ใช่มีคนนำทาง เราก็เดินตามทางนั้น แต่เรายังเดินเองไม่ได้เราก็พยายามฝึกฝนของเรา ถ้าวันไหนเราเดินเองได้นะ นั่นล่ะเป็นธรรมแท้ๆ เวลาเราพูดถึงธรรมนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นธรรมสาธารณะ เป็นของสาธารณะ เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นี่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา เป็นผู้ที่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ววางธรรมวินัยไว้เป็นสมบัติสาธารณะ นี่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระสงฆ์เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ จะเป็นฆราวาส เป็นคฤหัสถ์นะ เป็นฆราวาสนี่เป็นหญิง เป็นชายก็แล้วแต่ แต่ถ้าจิตใจนี้ปฏิบัติธรรมจนเป็นพระโสดาบันเขาก็เรียกว่าพระสงฆ์ สงฆ์มันเป็นอริยสงฆ์ในหัวใจไง
นี่พระสงฆ์ เห็นไหม พระสงฆ์ที่ปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่เป็นพระสงฆ์ขึ้นมา นี่สิ่งนี้เป็นธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะส่วนบุคคลเพราะเกิดจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นถึงเป็นพระสงฆ์ แต่ถ้ามันยังไม่เกิดกับใจดวงนั้น เห็นไหม นี่สิ่งที่เป็นสมถะที่เราศึกษากันมันเป็นสาธารณะ ไม่ใช่ของเรา แต่ถ้าเป็นของเรา สติก็เป็นของเรา สมาธิก็เป็นของเรา ปัญญาก็เป็นของเรา แล้วศีล สมาธิ ปัญญา นี่มรรคสามัคคี สมุจเฉทปหาน เวลากิเลสขาดเป็นโสดาบันขึ้นมานี่เป็นสมบัติส่วนบุคคล สมบัติส่วนตน
นี่สันทิฏฐิโก ปัจจัตตังมันเป็นแบบนี้ไง ถ้ามันเป็นส่วนตน ส่วนบุคคล เราปฏิบัติขึ้นมาเป็นของเราขึ้นมา ฉะนั้น ถ้าเราเป็นอย่างนี้แล้วเราไม่ต้องการคนนำทางแล้ว เห็นไหม เราจะไปของเราเอง เราจะทำของเราเอง ฉะนั้น สิ่งที่ฟังเทศน์เป็นการชี้นำ
หลวงตาบอกว่า การปฏิบัติที่สำคัญที่สุดคือการฟังเทศน์
ในวงกรรมฐาน เวลาอาจารย์เทศน์มันเห็นช่อง เห็นทาง มันจะไปได้เลยนะ แต่พอเทศน์จบแล้วมันก็ไม่รู้จะไปอย่างไรเหมือนกัน นี่เราก็พยายามหาทางของเราไป เห็นไหม นี่คือการฟังเทศน์ ไม่ใช่มีผลเสียหรอก แต่เราก็ต้องฝึกฝนขึ้นมาจนกว่าเราจะทำของเราได้ มันจะเป็นประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง