เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๘ ธ.ค. ๒๕๕๔

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ วันพระ วันโกน เห็นไหม วันพระ วันโกน สมัยโบราณเขาหยุดให้คนทำบุญกุศล เพราะว่าบุญกุศลเป็นสิ่งที่คนปรารถนา สิ่งที่ปรารถนาเพื่อความสุข ความร่มเย็น ถ้าไม่มีความสุขความร่มเย็น ความสุขความร่มเย็นเกิดจากในหัวใจของเรามันมีน้ำอมตธรรมคอยหล่อเลี้ยง ถ้าไม่หล่อเลี้ยงมันร้อนนะ

ดูเครื่องสิ เครื่องเวลาถ้าขาดน้ำมันเครื่อง เครื่องจะติดหมดเลย นี้มันต้องเครื่องหล่อเลี้ยงมัน บุญกุศลทำให้จิตใจเราร่มเย็นเป็นสุขบ้าง คำว่าร่มเย็นเป็นสุขบ้างนะมันอยู่ที่จริตนิสัย เพราะเราทำบุญกุศลแล้วเราก็เรียกร้อง นี่ทำดีทุกอย่างเลยทำไมชีวิตมันไม่ราบรื่น? ชีวิตไม่ราบรื่น นั้นเป็นสิ่งที่เราคาดหมาย ความคาดหมาย ความตั้งใจ ความจริงใจของเรา เราทำเพื่อบุญกุศลของเรา ฉะนั้น ทำเพื่อบุญกุศลของเรา ทำเพื่อประโยชน์

ทีนี้ประโยชน์ของเรา ประโยชน์อย่างเริ่มต้นผู้ที่เข้าวัดใหม่ๆ มันก็มีความเก้อๆ เขินๆ แต่คนเข้าไปจนคุ้นชินแล้วนี่จะทำได้ด้วยสะดวกใจ ความสบายใจ แล้วเวลาไปวัดเขาบอกว่าต้องให้ศีลก่อน ต้องมีทาน มีศีล มีภาวนา ถ้ามีศีล พูดถึงเรื่องศีล ทำไมพระเราไม่พูดถึงเรื่องศีลเลย เรื่องศีล เหมือนเวลาเราเป็นชาวพุทธ ศีลนี่เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว คำว่าเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เห็นไหม แต่ก่อนนี่ เวลาเราไปไหนลุกนั่งๆ เขาให้ศีลไปทุกเที่ยวๆ แต่ครูบาอาจารย์ของเราบอกว่า

“ศีลมันมีอยู่แล้ว ศีล ๕ ศีรษะ ๑ แขน ๒ เท้า ๒ เป็นศีล ๕”

ศีล ๕ คือความปกติของใจ ถ้าความปกติของใจ ศีลคือการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าศีลเราขอเอาๆ นะ คืออาราธนาศีล อาราธนาศีลเราก็ภูมิใจว่าเราได้ศีล เรามีศีลของเรา แต่เราไม่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันก็ไม่เป็นของเรา ถ้าเป็นของเรา เห็นไหม ศีลคือความปกติของใจ ถ้าเราไม่มุสา เราไม่ลักของใคร เราไม่ทำสิ่งต่างๆ ไม่ดื่มสุราเมรัย นี่ศีลของเราสมบูรณ์

ถ้าศีลของเราสมบูรณ์มันเกิดจากไหนล่ะ? มันเกิดจากการละเว้น อาราธนาศีล วิรัติเอา แล้วอธิศีล ศีลมันเกิดได้ตั้งหลายแนวทาง แต่เราบอกว่าต้องทำพิธีกรรมก่อน ต้องขอศีลก่อน เพราะเราปล่อยวางศีลกัน เราถึงร่อนเร่กัน เขาบอกชาวพุทธเรานี่ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ แต่ถ้ามันมีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม เราพูดเรื่องศีล คนถ้าฟังธรรมนะ ไปวัดคุยแต่เรื่องศีล นี่พื้นฐานของศีล มันเหมือนสอนเด็กๆ เด็กเราก็รู้อยู่แล้วใช่ไหม? แต่ของว่าสอนเด็กๆ นี่ผู้ใหญ่ทำไม่ได้ไง

ผู้ใหญ่ทำไม่ได้คือผู้ใหญ่ละเว้นไม่ได้ งดเว้นสิ่งนั้นไม่ได้ ถ้างดเว้นสิ่งนั้นได้เป็นพื้นฐาน เพราะพื้นฐานนะ ศีล สมาธิ ปัญญา เราอยากให้มีความร่มเย็นเป็นสุขนะ เราทำบุญกุศลของเราแล้ว แล้วชีวิตทางโลกเรามีปัญญาของเรา เราก็เข้าใจชีวิตของเราแล้ว ถ้าเราเข้าใจชีวิตของเราแล้ว เห็นไหม สิ่งที่เราจะประพฤติปฏิบัติกันมา เรามานี่เรามาเพื่อตั้งใจ ตั้งใจเพื่อบำเพ็ญตบะธรรม ถ้ามีตบะมันจะแผดเผานะ ธรรมะมันจะแผดเผากิเลสของเรา ถ้ามันแผดเผากิเลสของเรา เราตั้งใจของเรา

นี่เราว่าเราเข้าใจแล้วเรื่องสัจธรรม เราศึกษามาแล้วเรื่องปริยัติ นี้ปฏิบัติมันยังไม่เกิดขึ้น ถ้าปฏิบัติมันเกิดขึ้น เราต้องตั้งสติของเรา พอตั้งสติของเรา เรากำหนดคำบริกรรมของเรา นี่ว่าทำไมต้องมีคำบริกรรมด้วยล่ะ? ทำไมมันปล่อยเฉยๆ ไม่ได้ เห็นไหม ก็เหมือนกัน ทำไมต้องขอศีลด้วยล่ะ? ถ้าไม่ขอศีลจะเป็นศีลขึ้นมาไหม? มันต้องขอศีลขึ้นมา

นี่เราต้องขอ แต่ขอจนเราเข้าใจแล้วไง ว่าศีลนี่เราขอแล้วถ้าเราไม่ปฏิบัติ ศีลมันก็ยังไม่เป็นศีล แต่ถ้าเราละเว้นของเรา ศีลมันจะเป็นศีลขึ้นมาโดยวิรัติเอาเลย ศีลมันจะเกิดขึ้นมาโดยตัวของมันเอง แต่สิ่งที่อาราธนาขอศีลมันเป็นพิธีกรรม มันเป็นศาสนพิธี พิธีของชาวพุทธเราไง

นี่ชาวพุทธเราเร่ร่อน ชาวพุทธเราไม่มีสิ่งใดเป็นบรรทัดฐานเลยหรือ? ชาวพุทธ เห็นไหม เช้าขึ้นมาทำบุญตักบาตรนะ เห็นพระมาใส่บาตรไป ถ้าพระสำรวมระวังขึ้นมาเราก็มีความชุ่มชื่นในหัวใจ ถ้าพระเขาไม่สำรวมระวังขึ้นมา นี้เราทำบุญไปเพื่อใคร? ทำบุญเพื่อใคร?

แต่พระเขาต้องมีนิสัย คำว่าขอนิสัยนี่เป็นพระบวชใหม่ เขาเรียกว่า “นวกะ” นวกะก็เหมือนกับเด็กน้อย เด็กน้อยยังไม่เข้าใจสิ่งใด มันก็ทำอะไรผิดพลาดมีอยู่บ้าง แต่ถ้า ๕ พรรษาขึ้นไป นี่ ๕ พรรษาขึ้นไปเป็นผู้ที่ฉลาด เขาเรียกว่าไม่ต้องขอนิสัย ได้นิสัยแล้ว ได้นิสัยก็คือบรรลุนิติภาวะ บรรลุนิติภาวะขึ้นมา ทำผิดทำถูกขึ้นมานี่เราไปติเตียนกันที่นั่น

ฉะนั้น เราเห็นว่าสิ่งที่กิริยาสำรวมระวังเราก็มีความชุ่มชื่นของเรา เราทำบุญของเราไป นั่นเป็นเรื่องของทานใช่ไหม? นี่พอเวลาเราทำทานขึ้นมา เราชาวพุทธขึ้นมาก็มีทานของเรา พอมีทานขึ้นมาแล้วเรามีการศึกษาของเรา เราเข้าใจเรื่องสัจธรรมของเรา แต่ทำไมชีวิตมันยังหงอยเหงาอยู่ล่ะ? ชีวิตทำไมไม่มีสิ่งใดเป็นหลักประกันล่ะ? ถ้าชีวิตมีหลักประกันขึ้นมา เห็นไหม นี่เราเริ่มมีสติของเรา สิ่งที่เราจะยับยั้ง ยับยั้งคือว่าเครื่องมันร้อน ถ้าเครื่องมันร้อนต้องหยุดเครื่อง หยุดเครื่องเพื่อเราจะบำรุงรักษา

จิตใจมันเร่าร้อน จิตใจมันมีการกระทำของมันตลอดเวลา เห็นไหม จิตใจนี่มันมีกิเลสขับดันตลอดเวลา เราจะยับยั้งมันอย่างไร? นี่จะความดีความชั่วของใครมันเป็นของคนอื่นนะ แต่ถ้าเป็นความดีความชั่วของเรามันเป็นของเรา ถ้าความเร่าร้อนในหัวใจมันแผดเผาหัวใจของเรา ถ้าศีลในตำรับตำรา ศีลในหนังสือมันก็เป็นชื่อของศีล มันยังไม่มีศีลขึ้นมา สมาธิก็ไม่มี สติก็ไม่มี มันเป็นชื่อทั้งนั้นแหละ นี่พิธีกรรมมันก็เป็นแบบฝึกหัด แต่จิตใจเรามันร่มเย็นขึ้นมาไหมล่ะ?

นี่มันมีแบบฝึกหัด มันมีสิ่งที่เราเข้าใจสิ่งนั้นมันก็เป็นประโยชน์กับเรา แต่ถ้าเรามีคำบริกรรม ทำไมต้องมีคำบริกรรมด้วยล่ะ? คำบริกรรมขึ้นมา เพราะจิต เห็นไหม จิตมันมียางเหนียว สิ่งใดจะเกาะมันไปทุกเรื่อง ดูสิความคิดอะไรเกิดขึ้นมาจากหัวใจ มันเสวยไง คือว่ามันคิดร่วมไปกับเขาเลย แต่ถ้ามันมีคำบริกรรม มีคำบริกรรมพุทโธ พุทโธของเรานี่ให้มันเกาะที่นี่ไว้ คือไม่ให้มันเสวยสิ่งที่มันพอใจของมัน

นี้คำบริกรรมเพื่อให้จิตมันเกาะ ถ้าจิตไม่เกาะมันเร่ร่อน... ก็ไม่ต้องเกาะ เห็นไหม ดูสิกำหนดว่างๆ มันก็ว่างๆ ว่างๆ อยู่อย่างนั้น ว่างๆ อย่างนั้นเหมือนกับถ้าเราไปวัด ไปวัดก็ต้องมีกฎกติกาก็ลำบาก อยู่บ้านมันก็มีแต่ความขัดข้องหมองใจ เราก็ไปเร่ร่อนของเรา วันๆ หนึ่งเราก็สบายใจ

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ แล้วมันจะเอาอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ของมันล่ะ? แต่ถ้ามันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน เห็นไหม มันก็ต้องกำหนดพุทโธ พุทโธให้มันเกาะไว้ ไม่ใช่ให้มันเร่ร่อน อยู่บ้านก็อึดอัดขัดข้อง ไปวัดหรือก็มีแต่กฎกติกา อู๋ย ยุ่งไปหมดเลย คนยุ่งนี่แหละมันจะเป็นคนดี คนยุ่งเพราะอะไร? เพราะยุ่งแล้วมันจัดความยุ่งยากให้เรียบร้อย มันก็เรียบร้อยขึ้นมาได้ คนไม่ยุ่งเลย ไม่เอาอะไรเลย ไม่สนใจสิ่งใดเลย ก็มันว่างๆ อยู่แล้ว กำหนดว่างมันก็ว่าง ว่างแล้วมันก็ไม่ต้องทำอะไร มันก็ว่างของมันอยู่แล้ว

นี่ก็ว่าไปวัดทำไมไม่ขอศีล ทำไมเขาไม่ให้ศีล? วัดปฏิบัติเขาโตกันแล้ว ศีล ๕ เด็กมันก็ท่องได้ ผู้ใหญ่มันก็ท่องได้ มันก็ไปปฏิญาณตนเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราทำของเรามันก็เป็นขึ้นมาได้ แต่ถ้าหัวใจของเรามันเป็นไปไม่ได้ เพราะหัวใจของเรา นี่สิ่งที่เป็นพิธีกรรมมันเป็นข้อเท็จจริง มันเป็นพิธีเฉยๆ ที่จบก็คือจบใช่ไหม? แต่ความคิดให้มันจบมันไม่จบ นี่กิเลสที่มันเร่าร้อนอยู่ในใจ บอกให้มันเลิกมันไม่เลิก

สิ่งที่มันไม่เลิก เห็นไหม มันไม่ใช่เลิกเฉพาะภพชาตินี้นะ มันจะไม่เลิกตลอดไป เกิดตายๆ ไปอย่างนี้ มั่งมีศรีสุข มีทุกอย่างพร้อมสะดวกสบายหมดมันก็เผาใจ ทุกข์จนเข็ญใจ มีทุกข์ขนาดไหนมันก็จะเผาไปอย่างนั้นแหละไม่มีวันจบ จบไม่มี แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เห็นไหม

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดบนหัวใจของเราไม่ได้เลย”

จบตั้งแต่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์แรก เทศน์ธรรมจักรขึ้นมา พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม นี่มันจบอย่างนั้น แล้วเราเป็นชาวพุทธ เราบอกว่าไปวัดก็ไม่เห็นมีศีลไม่เห็นมีธรรมอะไรกันเลย ไปถึงก็ถวายพระ พระก็ตักเอาๆ พระฉันแล้วพระก็กลับกุฏิเลย โอ๋ย นี่พระขี้เกียจไง แล้วจะให้พระทำอะไรล่ะ? จะให้พระไปค้าขายใช่ไหม?

งานของพระงานของเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เพื่อเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา แล้วพระที่เขาทำใจของเขาได้ เขามีข้อเท็จจริงในหัวใจของเขา เขาจะเอาสิ่งนี้มาเผื่อแผ่เรา ถ้าเราไม่สร้างพระขึ้นมา ไม่มีสิ่งนั้นขึ้นมา แล้วมันจะมีพระขึ้นมาได้อย่างใด? ถ้าพระในหัวใจมันเกิดขึ้นมา นี่มันมีความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา เพราะหมอจะรักษาคนไข้ ถ้าหมอไม่มีการศึกษามา หมอจะเอาอะไรมารักษาคนไข้

พระจะรักษาคน พระจะดูแลคน ถ้าพระยังเอาหัวใจของตัวเองไว้ไม่อยู่ ยังไม่รู้ว่าเหนือ ใต้ ออก ตก มันไปทางไหน จะเอาอะไรไปบอกเขา ถ้าบอกเขานะก็ตาบอดคลำช้าง อ้าว ทำไมพูดอย่างนี้ล่ะ? อ้าว ก็ในตำราบอกไว้ว่าอย่างนี้ ก็ตำราบอกว่าอย่างนี้ แล้วเป็นอย่างไร? ก็เป็นตำรามันบอก อ้าว แล้วตำราว่าอย่างไร? ตำรามันก็ว่าอย่างนี้ คือคนพูดก็ไม่รู้ คนฟังก็ไม่รู้ ไอ้ไม่รู้กับไม่รู้มันก็งงกันไปใหญ่เลย แต่ถ้าเวลาพระฉันแล้ว พระกลับไปนั่งสมาธิภาวนาของท่าน นั่นแหละท่านจะเปิดหัวใจของท่าน ท่านจะรู้เหนือ ใต้ ออก ตก ของท่าน แล้วจะบอกเข็มทิศชี้แนวทางของเรา

นี่ถ้าเราไปวัดนะ ถ้าพระเขาฉันแล้วเขาไปนั่งสมาธิภาวนา เขาไปวิเวกอย่างนั้น นั่นคือถูกต้องของเขา นั่นคือถูกต้องของเขานะ เพราะหน้าที่ของพระ เราหน้าที่ของโยมใช่ไหม? หน้าที่ของเรา เราปรารถนาบุญกับท่าน นี่การให้ทานคือการให้ชีวิต การดำรงชีวิต ปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัย ๔ เครื่องดำรงชีวิต ดำรงชีวิตไว้ทำไม? ดำรงชีวิตไว้เพื่อสิ่งใด? ถ้าดำรงชีวิตเพื่อประโยชน์ เพื่อประโยชน์มันก็ได้ประโยชน์ขึ้นมา ถ้าดำรงชีวิตไว้เพื่อเหตุใด? นี่ไงถ้าเราเสียสละทานของเราขึ้นมา แล้วเราได้ฟังธรรม เราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา เพื่อหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรานะ หัวใจของเราเราอยากทำบ้าง

พระเจ้าพิมพิสาร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัติใช่ไหม? นี่เข้าใจว่าโดนปฏิวัติมา ให้กองทัพครึ่งหนึ่งให้ไปเอาเงินคืน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าไม่ใช่ ออกมาเพื่อแสวงหาโมกขธรรม พระเจ้าพิมพิสารขอสัญญาไว้ข้อหนึ่ง

“ถ้าได้โมกขธรรมแล้วขอให้มาสอนด้วย”

ขอให้มาสอนด้วย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว เวลากลับมาจะสอนพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารมีอาจารย์อยู่แล้ว อาจารย์ของพระเจ้าพิมพิสารเป็นชฎิล ๓ พี่น้อง เขาบูชาไฟ เห็นไหม บูชาไฟ แล้วบูชาไฟนี่มีอายุมาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทรมานก่อน ไปเทศน์ปัจญวัคคีย์ ไปเทศน์ยสะ แล้วนี่เวลาบอกว่าให้เผยแผ่ธรรมนะ บอกว่าภิกษุทั้งหลาย ๖๑ องค์รวมทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“ภิกษุทั้งหลาย อย่าไปซ้อนทางกัน ๖๑ องค์ให้ไปแตกต่างกัน อย่าซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก เขาต้องการความร่มเย็นเป็นสุข”

นี่เผยแผ่ธรรมไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาราชคฤห์ มาทรมานชฏิล ๓ พี่น้องก่อน นี่ ๑,๕๐๐ หรืออย่างไรนี่แหละได้เป็นพระอรหันต์หมด แล้วพระเจ้าพิมพิสารจะมาหาอาจารย์ของตัว เวลานั่งอยู่ด้วยกันนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอายุน้อยกว่าแต่นั่งอยู่ข้างบน แล้วชฏิล ๓ พี่น้องนั่งอยู่ข้างล่าง ทีนี้พระเจ้าพิมพิสารไปนี่แปลกใจ จะไปหาอาจารย์ของตัว แล้วละล้าละลังเพราะว่าจำไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกชฏิล ๓ พี่น้องว่าเป็นหน้าที่ของเธอ

ชฏิล ๓ พี่น้องนะ ออกมาเหาะขึ้นไปบนอากาศ ลงมาถึงก็กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา” เหาะขึ้นไปบนอากาศลงมากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เป็นศาสดาของเรา” พระเจ้าพิมพิสารมั่นใจ เข้าไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบันนะ

เวลาเป็นพระโสดาบันขึ้นมา นี่มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา แต่เวลาปกครองขึ้นมา พระเจ้าพิมพิสารขอร้องไว้ ขอไว้ว่าถ้าได้ทำแล้วให้กลับมาสอนด้วย สิ่งที่ได้นี่ได้จากภายใน ได้จากการกระทำ ได้จากการกระทำมันจะเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมา มันต้องมีมรรคญาณ ปัญญาที่เกิดขึ้น ที่เราใช้ปัญญากันอยู่นี่ ที่เราเข้าใจว่าเรามีปัญญากันอยู่นี้ เวลาศึกษาขึ้นไปเขาเรียกปริยัติ ปริยัติหมายถึงว่าเป็นวิชาชีพ ถ้าทางปฏิบัติเขาเรียกว่า “โลกียปัญญา” ปัญญาของโลก

ปัญญาของโลก เห็นไหม มนุษย์เกิดมามีชีวิต ชีวิตนี่คือภวาสวะ คือภพ ภพนี่คือโลก โลกเพราะอะไร? เพราะความคิด ความรู้สึกนึกคิดทุกอย่างเกิดจากตรงนี้ เกิดจากปฏิสนธิจิต ถ้าปฏิสนธิจิตนี่มันเกิดจากที่นี่ ทีนี้พอปฏิสนธิจิตมันมีอวิชชา เพราะถ้าไม่มีอวิชชาก็เกิดไม่ได้ สิ่งที่เกิดได้เพราะมีแรงขับ แรงขับสิ่งนี้มันจะเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ฉะนั้น ปัญญาที่เกิดที่นี่ ปัญญาของพรหม ปัญญาของเทวดา ปัญญาของใครนี่เรียกว่าโลกียปัญญา ปัญญาในวัฏฏะ ปัญญาในการเวียนว่ายตายเกิด ปัญญาที่อยู่ในวัฏฏะนี้

ฉะนั้น เวลาเราพุทโธ พุทโธ พุทโธเพื่อความสงบของใจมันจะยับยั้งสิ่งนี้ ยับยั้งอวิชชา ยับยั้งความไม่รู้ในตัวของมันเอง พอมันเข้าไปสมาธิ เอ๊อะ เอ๊อะนี่แหละ ไม่ใช่ว่าไม่ต้องกำหนดก็ได้มันว่างอยู่แล้ว.. มันว่างอยู่แล้วมันอวกาศ ในตุ่มในไหไม่มีน้ำมันก็ว่าง มันไม่มีชีวิต ไม่มีจิตใจ ไม่มีความรับรู้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่จิตมันเกิดมันตาย มันมีความทุกข์ มันมีความสุข มันมีความยับยั้งของมัน ถ้ามันว่างขึ้นมาต้องตัวมันว่าง! ถ้าตัวมันว่างมันจะรู้ว่าเจ้าของว่าง เราว่างเองมีสติพร้อม ความว่างของเราเรารู้ตัวไหม?

ว่างๆ ว่างๆ แต่เราไม่รู้จักอะไร ว่างๆ ว่างๆ เหมือนกับเราฟังเขาเล่าว่า แล้วเราไม่เคยได้สัมผัส เราไม่มีความรู้สึกสิ่งใดๆ เลย แต่ถ้าจิตมันว่างของมันเอง เห็นไหม นี่มันว่าง นี่ไงว่างก็คืออวิชชามันสงบตัวลงชั่วคราว ถ้าอวิชชาสงบตัวไม่ได้ ว่างไม่ได้ คนเราว่างไม่ได้อยู่นี่เพราะอีโก้ ความรู้สึกเรามันขวางอยู่มันว่างไม่ได้ จะพุทโธขนาดไหน จะคิดขนาดไหนก็มีเราอยู่ๆๆ มันขวางอยู่ แต่ถ้าตัวตนมันยุบยอบลง มันยอมรับขึ้นมา เวลามันเป็นนี่พุทโธ พุทโธ จนพุทโธไม่ได้เลยนะ เอ๊อะ เอ๊อะ เอ๊อะ นั่นล่ะคือสัมมาสมาธิ

ถ้าสัมมาสมาธิ เวลาปัญญาเกิดขึ้น ปัญญานี้เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ในพุทธศาสนา ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ต้องการนักต้องการหนา ต้องการนะ เวลาใครมาทำบุญนะอนุปุพพิกถา พูดถึงเรื่องของทาน เรื่องของการเสียสละ เสียสละได้บุญแล้วจะไปเกิดบนสวรรค์ เกิดบนสวรรค์แล้วให้ถือเนกขัมมะ คือว่าเราไม่ต้องการสิ่งนั้น เราต้องการเอกัคคตารมณ์ พอจิตมันพร้อมควรแก่การงานพระพุทธเจ้าถึงเทศน์อริยสัจ

อริยสัจมันคืออะไร? ทุกข์ ทุกข์เราก็ไม่ต้องการมีความทุกข์ แล้วไม่ต้องการมีความทุกข์ทำไมมันทุกข์ล่ะ? แล้วทุกข์มันคืออะไร? เห็นไหม

“ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ”

สมุทัยคือตัณหาความทะยานอยาก อยากให้ทุกข์หาย อยากไม่ให้มีทุกข์ มันไปละที่เหตุ ผลอันนี้จะไม่มีทันที แต่นี้มันเป็นผล ทุกข์เป็นวิบาก แต่มันต้องมีที่มาของมันสิ ทำไมมันถึงทุกข์? เพราะมันมาบนภวาสวะ มันมาบนความรู้สึกนึกคิดนั่นน่ะ ถ้าปัญญามันเข้าไป เห็นไหม นี่ปัญญาในพุทธศาสนา ปัญญาสอนที่นี่ ปัญญาให้เรารู้จักตัวของเราก่อน เรารู้จักเรื่องในบ้านของเรา ในครอบครัวของเรา ถ้าเรารู้จักเรื่องในบ้านของเรา ในครอบครัวของเรา เราจะบริหารจัดการเรื่องในบ้าน ในครอบครัวของเราให้สงบร่มเย็น

ถ้าเรารู้จักหัวใจของเรา เราหาหัวใจของเรา นี่ไงสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานของชาวพุทธไง พระพุทธเจ้าสอนที่นี่ ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ไม่ให้เชื่อเทวดา อินทร์ พรหม ไม่ให้เชื่อใครเลย ไม่ให้เชื่อทั้งสิ้น ให้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้เห็นจริงตามข้อเท็จจริง แล้วเวลาข้อเท็จจริงมันเข้าไปชำระสะสางกัน นี่มันจะสะสางกันที่นี่ ถ้าสะสางกันที่นี่ เห็นไหม นี่ไงไปวัดต้องขอศีลไหม?

เวลาฟังธรรม นี่ฟังธรรมเพื่อเป็นวิหารธรรม เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขนี่ฟัง แต่ฟังเพราะเรารู้แล้ว แต่ถ้าเรายังไม่รู้นะ เราก็พยายามใช้ปัญญาติดตามไป ถ้าติดตามไป เห็นไหม เหมือนจูงมือนะ คนตาบอดมีคนจูงไปมันไปได้ คนตาบอดไม่มีคนจูงนะมันจะหันรีหันขวาง ครูบาอาจารย์ที่แสดงธรรม ธรรมนั้นมันจะจูงหัวใจเข้าไปสู่สติปัญญาของเรา เข้าไปสู่ความรู้สึกนึกคิด ไม่ใช่ไปหาข้างนอก หาข้างนอกตะครุบเงาไม่มีวันจบ แต่ถ้าเข้าสู่ใจของตัวแล้วค้นหาใจของตัวจะจบสิ้นกระบวนการของมัน

นี่สุขมันเกิดที่นี่ เราทำบุญเพื่อเหตุนี้ เราทำบุญแล้วเราฟังธรรมของเรา แล้วใช้ปัญญาของเรา ใคร่ครวญของเรา ให้เกิดเป็นปัญญาของเรา แล้วจะชำระกิเลสของเรา เอวัง