เทศน์พระ

ทางออก

๒๔ ธ.ค. ๒๕๕๔

 

ทางออก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม อากาศเย็น อากาศสบาย ถ้าอากาศสบาย ไม่มีความตึงเครียด อากาศดี เห็นไหม เวลาพระกรรมฐานเราหน้าที่ภาวนาดีที่สุดคือหน้าหนาว อากาศเย็น แต่หน้าร้อนเวลาอดอาหารก็เพลียมาก เวลาทำสิ่งใดแบบว่าต้องใช้พลังงานมาก ถ้าหน้านี้ภาวนาดี

ถ้าการภาวนาดี ทางโลกเขาก็มีความสุขกัน ถ้าโดยปกติ ถ้าไม่เกิดน้ำท่วม เวลาปีใหม่ เวลานักขัตฤกษ์ สังคมไทยจะมีความร่มเย็นเป็นสุข สังคมไทยจะมีความรื่นเริง แต่เมื่อมาเกิดอุทกภัย เขาก็รื่นเริงอยู่ แต่มันมีสิ่งใดความฝังในหัวใจ นี้พูดถึงทางโลก

นี้เราเป็นทางธรรม โลกเขายังมีความสุข เขายังมีมหรสพสมโภช ดูสิ เวลาอ้างเล่ห์ เห็นไหม ร้อนนักไม่ทำงาน สิ่งใดไม่ทำงาน นี่ที่ไหนมีมหรสพสมโภช เราเห็นแล้วเราก็มี ปมในใจมันมี พอปมในใจมันมี มันจะแบบว่าเรานี่ด้อยค่า สังคมเขามีความร่มเย็นเป็นสุข ทำไมเราเหมือนกับคนแห้งแล้ง คนมีความทุกข์ความยาก นี่จิตใต้สำนึกมันจะมีความรู้สึกนึกคิดของมัน โลกเขามีความสุขกัน เราก็มีความสุขถ้าเรามีสติมีปัญญาของเรา

แต่ถ้าเราไม่มีสติมีปัญญาของเรานะ เวลามันอั้นตู้ เวลาคนหาทางออก คนเราเวลาทุกข์จนเข็ญใจ ถ้ามีทางออก เขาจะมีความพ้นทุกข์ เขาจะโล่งอกของเขา นี่ก็เหมือนกัน เราเห็นภัยในวัฏสงสารนะ แล้วเราพยายามจะหาทางออกกันอยู่ ถ้าเรามีทางออกได้ เห็นไหม ทางออกทางโลกมันไม่มี ทางออกทางวัฏฏะ วัฏฏะมันเวียนไปอย่างนี้ เราจะออกจากวัฏฏะไปไม่ได้

“วัฏฏะ-วิวัฏฏะ” วิวัฏฏะเห็นไหม ถ้าจิตมันไม่หมุนเวียนไปกับโลก นี่ทางออกมันอยู่ที่นี่

แต่วิวัฏฏะ เราจะออกจากวัฏฏะ จะหาทางออกอย่างใด จะหาทางออกกันอยู่ เพราะเรามีบุญกุศลไง คำว่า “มีบุญกุศล” มีบุญมากๆ เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี่มีบุญมาก มีบุญมากแล้วแถมเรายังมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำอีกนะ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ชี้นำ เห็นไหม ดูสิ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านไม่มีครูบาอาจารย์ของท่านนะ หลวงปู่มั่นท่านมีเจ้าคุณอุบาลีกับครูบาสีทา ที่ครูบาอาจารย์ท่านพูดถึงบ่อย

ครูบาสีทาหมายถึงว่า ท่านมีอายุพรรษามากกว่าหลวงปู่มั่น แล้วธุดงค์ไปด้วยกัน เวลาธุดงค์ไปด้วยกัน เวลาไปอยู่คนละหมู่บ้านต่างๆ เวลาภาวนาไปต่างคนต่างปรึกษาหารือกัน นี่ปรึกษาหารือกันนะ นี่ถ้าเราไม่มีคนชี้ทาง เราจะเอาทางที่ไหนมาออก จะหาทางออก ออกทางไหน?

คนเรา ดูเด็กสิ เวลาเด็กบ้านแตก เวลาเขาไม่ยอมรับพ่อแม่ของเขา เขาหนีออกจากบ้านไป เขาคบเพื่อนไง เพื่อนพากันไป นี่สอนเด็ก เด็กคุยกับเด็ก เด็กหาทางออก เห็นไหม มันมีทางออกไปไหนล่ะ? มันออกไปไม่ได้ แต่ผู้ใหญ่ล่ะ ถ้าผู้ใหญ่นะ พอเวลาเขาหาทางออกของเขา เขามีสติปัญญาของเขา เขาจะเอาตัวเขารอดได้ ว่าสังคมเขาจะเอาเราจริงหรือเปล่า มันมีเล่ห์เหลี่ยมซับซ้อนขนาดไหน ถ้าซับซ้อนขนาดไหน เราจะมีสติปัญญาของเรา

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจของเรา เราจะหาทางออกของเรา เราจะต้องมีสติมีปัญญาของเรา ถ้ามีสติปัญญาของเรา เราจะยับยั้งเราได้ว่าเราก็เคยใช้ชีวิตแบบนั้นเหมือนกัน ชีวิตแบบโลกนี่เราใช้ชีวิตมาแล้วล่ะ ชีวิตอย่างนี้เราก็เคยสัมผัสมา มันไม่เห็นมหัศจรรย์ตรงไหนเลย

แต่เวลาถ้าเรามาเป็นนักบวชของเรา แล้วจิตใจเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ นี่มันก็คิด “เขาอยู่กันอย่างนั้น เขามีความสุขของเขาอย่างนั้น เราเป็นคนทุกข์คนยาก เราไม่มีสิ่งใดสมความปรารถนาเลย”

“สมความปรารถนา” มันก็แค่ลมเพลมพัด โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ที่ไหนมีงานมหรสพสมโภช มีความรื่นเริง มันก็ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็เลิกแล้ว นี่มันเป็นพยับแดด มันไม่มีสิ่งใดเป็นแก่นสารเลย ถ้าไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร เราก็ได้สัมผัสมาแล้ว แต่ถ้าเราไม่เคยได้สัมผัสมา เราไม่เคยได้อยู่ชีวิตแบบโลกมาสิ เราก็สงสัยว่าเขาทำกันอย่างไร นี่เขาทำกันอย่างนั้นเราก็ได้สัมผัสมาแล้ว มันก็ไม่เห็นมีอะไรมันจะมีจริงเลย ปีแล้วปีเล่า ปีแล้วปีเล่า มันก็ปีใหม่แล้วปีใหม่เล่าไปข้างหน้าเรื่อยๆ น่ะ

แล้วอายุที่ได้มาคือเวลาที่เราเสียไป ถ้าเราเสียไป เราได้สิ่งใดเป็นแก่นสารในหัวใจ? มันก็ได้แต่ความลังเลสงสัย ความเก้อๆ เขินๆ อยู่นี่ หาทางออกไม่ได้ เห็นไหม แต่เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา แล้วเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราถึงมาบวชเป็นพระ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เป็นพระผู้บำเพ็ญเพียรประพฤติปฏิบัติให้หัวใจเรามีหลักมีเกณฑ์

ถ้าหัวใจมีหลักมีเกณฑ์นะ ดูนักกีฬาสิ นักกีฬาที่เขามีการแข่งขัน เขาได้ความสด ถ้าใครมีความสดอยู่ เขาจะมีความสดชื่น เขาจะมีกำลังของเขา ยืนระยะได้มากกว่า นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เราเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา แล้วเราศึกษาของเรา เราเห็นภัยในวัฏสงสารของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา เราได้ไง เราได้สิ่งนี้มา เราได้โอกาสมา

แต่ทางออกจริงๆ อยู่ไหนล่ะ? ทางออกจริงๆ เราจะหาทางกันอยู่นี่ เราจะเอาหัวชนฝา แล้วจะดันให้ทะลุฝาไป นี่ฝามันยังทะลุได้นะ แม้แต่ภูเขาทั้งลูกระเบิดจนราบเดี๋ยวนี้ ภูเขาทั้งภูเขา เขาเอามาทำการก่อสร้าง เขาทำลายหมดน่ะ นี่แม้แต่ภูเขาเขายังทำลายได้เลย แต่เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่เป็นอวิชชาในหัวใจนี่มันจะไปหาที่ไหน มันจะรู้ที่ไหน มันจะทำอย่างใด

ทางออกอย่างนี้มันเป็นลิขสิทธิ์ ดูสิ สินค้าทางโลกเขา เราจะทำสินค้าของเขา เราต้องซื้อสิทธิของเขาเพื่อเราผลิตสินค้าสิ่งนั้น นี่ก็เหมือนกัน เราเห็นทางร่องรอยนี่เป็นทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บอกไว้ “ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ มรรคสามัคคี” ทางออกน่ะ หลวงปู่อ่อนท่านบอกว่า “มันตัน ๘ ทิศ มรรค ๘ มันตันหมดเลย”

สิ่งที่เรารู้มา สิ่งที่เราศึกษามา เราเข้าใจจริงแล้วหรือ เราว่ามีทางออก อย่างนี้คือกิเลสมันพลิกแพลง มันล่อหลอกให้เราหลงทางไป พอเราหลงทางไปเราจะเสียเวลาของเรา เหมือนกับคนโดนหลอกลวงไป พอหลอกลวงไป เราเชื่อตามเขาไป เราจะเสียเวลาของเรามาก เสียทั้งเวลา เสียทั้งชีวิต เสียทุกอย่างเลย นี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่เวลาศึกษา ศึกษานี่ศึกษาเป็นปริยัติ ศึกษามาเพื่อเป็นแนวทาง แต่มันเป็นความจริงแล้วหรือ มันเป็นความจริงแล้วหรือ มันจะเป็นทางออกได้จริงหรือ ถ้ามันทางออกได้จริง มันต้องเอาชีวิตเราออกมาได้สิ เอาชีวิตเรามีความร่มเย็นเป็นสุขสิ แต่ทำไมเราประพฤติปฏิบัติไปแล้วทำไมมันมืดแปดด้านอย่างนี้ล่ะ

ถ้ามันมืดแปดด้าน เราต้องหาความจริง ดูทางโลกเขานะ เวลาเขาอยู่ในที่มืด มันมีแสงสว่างอยู่ที่ปลายอุโมงค์ เขายังมีความหวังเลย มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เราจะทำลายอย่างไร เราจะเจาะผ่านทะลุเขานี้ออกไปจากสิ่งที่เราอยู่ในอุโมงค์นั้น อยู่ในความที่เราหลงทางได้อย่างไร นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราตั้งสติของเรา เราจะหาทางออกของเราให้ได้ แล้วทางออกทางโลกไม่มี

ทางออกทางโลก เห็นไหม ดูสิ คนเราอยู่ดำรงชีวิตของเขาทั้งชีวิตหนึ่ง แล้วเขาตายไป แล้วออกแล้วหรือนั่นน่ะ นี่มันไม่ได้ออก เพราะอะไร เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ เราเกิดมาจากไหน จุตูปปาตญาณตายแล้วไปไหน แต่เวลาทางวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์กันไม่ได้ คนเกิดมาจากไหน ตายแล้วไปไหน เขาพิสูจน์อย่างไรกัน แต่เราจะพิสูจน์ของเราไง เราจะพิสูจน์ในหัวใจของเรานี่ ถ้าเราพิสูจน์ในหัวใจของเราไม่ได้ เราจะแก้ความสงสัยเราไม่ได้ ทางออกมันออกไม่ได้ เพราะมันเกิดความพร่ามัว

ถ้ามันเป็นเทาๆ อยู่นี่ เราไม่รู้จะไปทางไหนเลย จะว่าไม่มีการศึกษา ว่าจะไม่รู้ ก็รู้ แล้วรู้อะไร? รู้ก็ไม่รู้ ไอ้ว่าไม่รู้ก็รู้ ไอ้รู้จริงๆ รู้ขึ้นมา รู้อะไร? ไม่รู้ นี่ไง มันพร่ามัวไปหมดน่ะ แล้วจะออกทางไหนกัน

สิ่งที่ศึกษามาเป็นแนวทางนะ ศึกษามาแล้วเราต้องพิสูจน์ พิสูจน์ด้วยการกระทำของเรานี่ไง เราตั้งสติของเรา ถ้าตั้งสติของเรา เราหาความจริงของเราให้ได้ นี่เราจะหาทางออก ออกทางไหน? ออกทางมรรคญาณ ออกทางหัวใจ ออกทางจิตที่รับรู้นี่ จิตที่ความลังเลสงสัย สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับเราเลย “สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์”

ศึกษามาเป็นทฤษฎีนี่เป็นประโยชน์ไหม เป็นปริยัติ ศึกษามานี่ศึกษามาแล้วงงไหม ศึกษาแล้วตะครุบเงาไหม ศึกษามาแล้วมันเป็นอย่างไร ศึกษามาแล้วนี่ อืม ศึกษามา แต่ถ้าเวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธินะ เราเอาสิ่งนี้เป็นประเด็น แล้วเราใช้ปัญญาของเราแก้ไขไป พอถ้ามันสรุปได้ มันปล่อยน่ะ ประเด็นนั้นก็ไม่มี ถ้าปล่อยเข้ามา ปล่อยประเด็นความรู้สึกนึกคิดเข้ามา แล้วจิตมันเหลืออะไร? นี่มันเหลือความจริงของมัน

ความจริงของมันคืออะไร ความจริงแท้มันคืออะไร? ความจริงแท้คือความมีสติมีปัญญารู้สึกตัวเอง แล้วเข้าใจหมด พอเข้าใจหมดแล้วทำอย่างไรต่อไป?

นี่ไง ถ้าจะหาทางออกนะ แสงสว่างจากปลายอุโมงค์มันอยู่ที่ไหน แสงสว่างปลายอุโมงค์ในหัวใจมันอยู่ตรงไหน แล้วหัวใจที่มันเข้าใจแล้วมันจะหาทางออกอย่างใด มันจะปฏิบัติของมันอย่างใด

ถ้ามันปฏิบัติขึ้นไปนะ เวลามันเป็นศีล สมาธิ ปัญญา “ศีล” ศีลคือความปกติของใจ “สมาธิ” คือจิตที่มันตั้งมั่น แล้วถ้ามันเกิด “ปัญญา” เห็นไหม เลี้ยงชีพชอบ มันเกิดปัญญาทางชอบธรรมของมันขึ้นมา ถ้าเปิดปัญญาทางชอบธรรมของมันขึ้นมา นี่ไง นี่สมบัติของเรา มันกลั่นออกมาจากอริยสัจ กลั่นออกมาจากจิต นี่จิตมันกลั่นความรู้สึกนึกคิดนี้ออกมา นี่สมบัติของเราไง สมบัติที่มันเกิดขึ้นมาเกิดขึ้นอย่างนี้ มันเกิดขึ้นมาจากหัวใจของเราที่มันมีการกระทำ

แต่ศึกษามา ศึกษาเป็นในแนวทาง ไม่ศึกษาจะเอาอะไรเป็นทางออก ถ้าไม่ศึกษา เห็นไหม เพราะมีการศึกษา เราถึงได้มาบวชเป็นพระเป็นเจ้ากัน ถ้าไม่มีการศึกษา เราก็ยังลังเลสงสัยใช่ไหม แล้วเราไม่รู้สิ่งใดเลย ความรู้ไง

นี่ไง ฆราวาสเขาเวลาเขาศึกษา เขาความทุกข์ความยาก เขาก็หวังนะ เวลาเขาคิด เห็นไหม ดูสิ เวลาเขาคิดหาทางออกกัน เขาก็อยากมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขาอิจฉานะ อิจฉาพระ อิจฉานักบวชของเรา อิจฉาผู้ที่กำลังต่อสู้นี่ แต่เขาอิจฉาคนทุกข์ไง เขาอิจฉาเรานี่เราก็ทุกข์น่าดูเลย เราก็ยังทุกข์ ยังหาทางออกไม่ได้ ถ้ามันหาทางออกไม่ได้ เพราะคนมองกันแต่รูปภายนอก ถ้ารูปภายนอก เราเป็นพระใช่ไหม เราพร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติใช่ไหม เราพร้อมที่จะออกเดี๋ยวนี้

“ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น” เวลามันสมุจเฉทปหาน มันขาด “ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น” มันพลิกคนๆ หนึ่งเป็นคนอีกคนหนึ่งเลย มันจะพลิกคนๆ หนึ่ง เห็นไหม ดูความไวของใจสิ ใจมันจะพลิกทันทีเลย นี่เขาเห็นเราพร้อมอยู่ แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมาเขาอิจฉาเรา เขาอยากได้สถานะแบบเรา แต่เราที่ปฏิบัติอยู่นี่ เรามีทางออกหรือยัง

ถ้าเรายังไม่มีทางออก เราจะหาอย่างใด? มันหาที่อื่นที่ไหนก็ไม่เจอนะ มันจะหาได้ในทางจงกรม ในการนั่งสมาธิภาวนา ดูสิ เวลาเราเย็บผ้ากัน เราจะเย็บที่ไหน? ต้องเย็บที่จักรใช่ไหม นี่เรามีจักรใช่ไหม เวลาจักรเราก็ต้องร้อยด้ายใช่ไหม พอร้อยด้ายเสร็จแล้วเราลองจักรว่าจักรมันเย็บแล้วมันปกติไหม ปกติเราจะเย็บผ้า นี่ไง เวลาเย็บผ้าต้องเย็บที่จักร

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะปฏิบัติ ปฏิบัติที่ไหน? ในทางสมาธิ ในทางจงกรม ในทางนั่งสมาธิภาวนา นั่งสมาธิภาวนาเพื่ออะไร เราไปนั่งสมาธิภาวนา ทางจงกรมเขาทำไว้เยอะแยะไป ดูสิ ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เขาทำดีกว่าด้วย เขาลงทุนมากกว่าด้วย แล้วเขาทำอะไร เขาให้รถวิ่ง รถวิ่งไปไหน? รถวิ่งไปที่เป้าหมายของเขา เขามีปลายทางที่ไหน เขาจะไปบ้าน ไปธุรกิจ เขาไปทำงานของเขา เขาก็ใช้บนถนนบนทางนั้น

แล้วทางเดินจงกรมของเราล่ะ ใครเป็นคนใช้? นี่พระเราไง นักปฏิบัติเราไง

นักปฏิบัติเราไปเดินจงกรม เดินเพื่ออะไรล่ะ? เราเดินเพื่อทางจงกรมเหรอ ดูสิ ถนนหนทาง รัฐบาลเขาทำไว้ยาวกว่านี้อีกด้วย เดี๋ยวนี้สายเอเชียเขาจะเป็นถนนเชื่อมต่อกันหมดเลย นี่รถวิ่งข้ามประเทศเลย แต่ในทางจงกรมของเราใครเป็นคนเดิน? พระเป็นคนเดินเหรอ พระอะไร พระชื่ออะไร แล้วพอเวลาจิตสงบมันมีชื่อไหม แล้วใครเป็นคนค้นคว้าค้นหา ถ้ามันค้นหาขึ้นมา เราทำของเรา เราตั้งใจของเรา เราแสวงหาทางออกของเราไง

ทางออกของเรามันอยู่ที่ในหัวใจนี้ แต่อาศัยการเคลื่อนไหว อาศัยถนนหนทาง อาศัยทางจงกรม อาศัยนั่งสมาธิภาวนา เพื่อเข้ามาหาหัวใจของเรา ถ้ามันหาหัวใจของเราเจอ “สมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน”

สมถกรรมฐาน เวลาเราศึกษากัน เราคุยกันนะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง แต่เราสนทนาเพื่อเหตุเพื่อผลเพื่อประโยชน์นะ เราสนทนาธรรมค้นคว้าหาทางออกกัน เวลาเราสนทนาเพื่อเป็นแนวทาง แล้วมันจะไปหยิบฉวยเอาทฤษฎี เอาความรู้ความเห็นของคนอื่น เป็นไปไม่ได้ เวลามันเกิดขึ้นมามันเกิดขึ้นกับเรา มันจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้ามันเกิดอีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม เราสนทนากัน สนทนาธรรม เราปรึกษาหารือกัน นี่เป็นมงคล เป็นมงคลนะ แต่อย่ามีทิฏฐิ อย่ามีมานะ แค่ลมพัดใบไม้ไหว

จิต เวลาเริ่มปฏิบัติขึ้นมา แค่อาการมันวูบวาบเท่านั้นน่ะ มันจะเป็นจริงเป็นจังมาจากไหน ดูสิ เวลาเขาหมักเหล้า เขาจะทำหมักเหล้าของเขา เขาจะต้องมีเวลาของเขา บ่มเพาะของเขา ยิ่งบ่มเพาะมากยิ่งมีอายุมาก ยิ่งมีราคามาก ยิ่งรสชาติดี ทุกอย่างดีไปหมดเลย หัวใจของเราเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันก็ต้องอาศัยการบ่มเพาะ อาศัยการประพฤติปฏิบัติ อาศัยประสบการณ์ของเรา

ไม่ใช่ลมพัดใบไม้ไหว “นี่เป็นธรรม นี่เป็นธรรม”

เวลาสะสมบุญญาธิการมานะ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะมีอำนาจวาสนานะ ใครจะส่งเสริม ใครจะเยินยอขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ฟังเลยนะ ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาใครมาเยินยอ เยินยอมันต้องมีอะไรแอบแฝงอยู่แล้ว เขาเยินยอทำไม ทำไมต้องมายกมายอกัน นี่ก็พูดความจริงสิ ความจริงเราเป็นนักบวช เราก็แสวงหาความจริงอยู่ ก็พูดความจริงสิ พูดความจริงมา ถ้าพูดความจริงมา เอ้อ! คนนี้เป็นคนตรง คนนี้เป็นคนที่มีเหตุมีผล

คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก? คนโง่มากกว่าคนฉลาด ขนโคกับเขาโคมันเป็นธรรมชาตินะ ดูสิ คนสร้างบุญญาธิการมาเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ มันมีน้อย แต่คนที่เป็นผู้ตามนี่มีเยอะ ทีนี้คนผู้ตามมีเยอะ เราศึกษาเข้ามามันศึกษาแบบคนผู้ตามมา มันจะมีประโยชน์สิ่งใดล่ะ แต่ถ้าผู้นำพูดสิ่งใดมามันสะกิดใจนะ ถ้ามันสะกิดใจเราจับสิ่งนั้นไว้ ถ้าจับสิ่งนั้นไว้เราประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าใจมันพัฒนาขึ้นมา มันก็เป็นประโยชน์ของมันขึ้นมา ถ้ามันพัฒนาขึ้นมามันมีหลักมีเกณฑ์แล้ว ฉะนั้น สนทนาธรรมเพื่อเหตุนี้ แต่ไม่ใช่สนทนาธรรมเพื่อว่าทฤษฎีนั้นถูก ทฤษฎีนั้นถูกมันก็เป็นทฤษฎีไม่ใช่ความจริง ทฤษฎีก็คือทฤษฎี

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ดูหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านพูด “แม้แต่อยู่ต่อหน้าก็ไม่ถาม” สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้นี่เป็นบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ๕,๐๐๐ ปี ใครจะพูดธรรมะ เพราะมันต้องได้ยินได้ฟัง ต้องได้ศึกษามา มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้นน่ะ แต่ของเรายังไม่มี แต่ของเรามีปฏิบัติขึ้นมาเป็นความจริงขึ้นมาแล้วน่ะ นี่ไง สิ่งที่ว่าทฤษฎีก็คือทฤษฎีไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือทฤษฎีในธรรมสาธารณะ เพราะเป็นบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมาคือความจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระอานนท์

“อานนท์ เราเอาแต่ธรรมของเราไปนะ เราไม่ได้เอาธรรมของใครไปเลย”

“ไม่ได้เอาธรรมของใครไป” คือโอกาสของพวกเราไง โอกาสของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้หยิบฉวยไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ปิดกั้นไว้ แต่เราต้องทำเป็นความจริงเราขึ้นมา ฉะนั้น ทฤษฎีที่เราคุยกัน เราปรึกษากันมาเป็นแนวทาง ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปมันต้องเป็นสันทิฏฐิโก มันต้องเป็นความจริงขึ้นมาจากหัวใจ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติขึ้นไป ลมพัดใบไม้ไหว จิตมันเป็นไปบ้าง จิตต่างๆ มันยังระยะทางอีกยาวไกล ดูสิ ถนนหนทางเขาเชื่อมต่อกัน เขาข้ามน้ำข้ามทะเล เขามีสะพานข้ามนะ เขาต้องข้ามไป ภูมิประเทศต่างๆ มันไม่เหมือนกัน จิตใจที่ภาวนาไปมันยังแตกต่างกันอีกมากนะ

ฉะนั้น เวลาเราทำสิ่งใดไป ลมพัดใบไม้ไหวน่ะจับไว้ เรารับรู้ไว้ แล้วเราทำของเราต่อไปเรื่อย ทำต่อไปเรื่อย เห็นไหม “ชำนาญในวสี” ถ้าเราไม่ชำนาญในวสีนะ จิตเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม มันเจริญแล้วเสื่อมมันยังดีน่ะ ถ้ามันไม่เจริญ มันไม่มีเลย แล้วเอาอะไรไปเสื่อม ถ้ามันเจริญแล้วเสื่อมนั่นคือธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา” แม้แต่สติปัญญาก็เกิดดับๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ มันเกิดขึ้นมาจากใจ ถ้าฝึกหัดเข้ามาจนเข้มแข็งขึ้นมา มันก็จะมีของมัน เห็นไหม สติมันก็มั่นคงของมัน ถ้ามีสมาธิขึ้นมาแล้วรักษาขึ้นมา มีสมาธิ เราก็ร่มเย็นเป็นสุข ถ้ามีสมาธิ เห็นไหม ดูคนมีหลัก ถ้าคนไม่มีหลักนะ ที่ไหนมีเสียงเพลงก็ไปที่นั่น ที่ไหนมีการเล่นฟ้อนรำก็ไปที่นั่น นั่นเพราะคนอ่อนแอ คนหวั่นไหว นี่มันคล้อยตามเขาไปหมดน่ะ

แต่ถ้าคนมันมีหลัก พอมีหลักมันก็ไม่คล้อยตามใครไป นี่จิตที่มันไม่ภาวนา จิตที่มันไม่มีหลักมีเกณฑ์ของมัน เห็นไหม นั่นอาการอย่างนั้น อาการอย่างนี้ มันคล้อยตามเขาไปหมด มันไม่มีหลักเลย แต่ถ้าชำนาญในวสี มันมีหลักของมัน ถ้ามีหลักของมัน

“รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

“เป็นบ่วงของมาร” มันหลอกมันล่อ

“เป็นพวงดอกไม้” มันบูชาไง มันยกยอสรรเสริญไง

เวลาภาวนา จิตวูบวาบขึ้นมาก็ “โอ้โฮ! เก่ง โอ้โฮ! สุดยอด โอ้โฮ! นิพพานเป็นอย่างนี้เอง” นี่มันเยินยอไปหมดน่ะ

“เป็นบ่วงของมาร” เวลาทำไม่ได้ดังใจนะมันรัดคอตายเลย “โน่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ดี ไม่มีอะไรสมใจสักอย่าง” นี่มันเป็นทั้งบ่วง เป็นทั้งพวงดอกไม้ นี่ถ้ามันไม่มีหลักมีเกณฑ์

ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ สิ่งนี้มันจะมาเยินยอ มาหลอกลวงหลอกล่อให้หัวใจเรามันคล้อยตามไปได้อย่างไร แต่โลกเขาเป็นแบบนั้น เพราะจิตใจนี้มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ถ้าเราคิด เราเห็น เราพอใจ เราว่าเราถูกต้อง มันเกิดทิฏฐิว่าอันนี้ใช่ อันนี้ใช่ ใครจะมาลบล้างสิ่งนี้ไม่ได้เลย สิ่งนี้เป็นความจริง นี่มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด

มรรคหยาบๆ ความรู้นี่มันแค่ลมพัดใบไม้ไหว มันมีอะไร ระยะทางมันยังไปอีกยาวไกล พอลมพัดใบไม้ไหว เกิดทิฏฐิมานะนะ “อย่างนี้จริง อย่างนี้จริง อย่างนี้จริง” แล้วมันจะไปไหน มันไปไหน? มันไปไหนไม่ได้เลย

นี่พอเจริญแล้วเสื่อม ให้มีเจริญขึ้นมา มันจะได้เสื่อม ไม่มีเจริญเลยแล้วมันจะเอาอะไรมาเสื่อม “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” ไก่มันเขี่ย มันไก่เขี่ย มันคุ้ยหาเศษอาหารนะ นี่มันเขี่ย ไก่มันเขี่ยเศษอาหาร ไอ้นี่ไก่เขี่ยเป็นร่องเป็นรอย “โอ้โฮ! อันนี้มันศิลปะนะ โอ๋ย! อันนี้มันสุดยอด” มันไก่เขี่ย มันยังไม่ได้เห็นเศษเมล็ดข้าวเลยน่ะ

“มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” ถ้า “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” มรรคหยาบๆ ของเรา แต่ให้มันมีเถอะ เพราะมันเป็นช่องทางทั้งนั้น ดูสิ เราอยู่ในบ้านเรา คนเขาอยู่ในบ้าน เวลาเขาจะออกรถเขาต้องถอยรถออกจากบ้านเขาขึ้นถนน ถ้าออกจากถนนหนทาง ขึ้นสายไฮเวย์เขาจะไปได้ไกลแล้ว นี่ก็เหมือนกัน จิตใจมันเริ่มจะขยับ มันนึกว่าอยากจะออกก้าวเดิน นี่ทางออก มันจะออกไปไหนถ้าเราบังคับ

สมัยโบราณ การคมนาคมเขาไปทางน้ำ ออกจากคลองเข้าแม่น้ำ ออกแม่น้ำลงทะเล ออกทะเลใหญ่ข้ามทวีป นี่เวลาเดินเรือ เห็นไหม เรือใหญ่เข้าคลองไม่ได้ เรือใหญ่ ดูสิ ท่าเรือน้ำลึก เรือใหญ่จะเข้ามาไม่ได้เลย ถ้าเรือเล็กก็ออกไปไม่ได้เลยเหมือนกัน ยิ่งออกไป ดูสิ ในมหาสมุทรคลื่นลมมันแรง มันไปไม่ได้หรอก มันจะออกไปไม่ได้ เรือเล็ก-เรือใหญ่ ออกน้ำลึก-น้ำตื้นได้แตกต่างกัน

จิตใจของเรา มรรคหยาบ-มรรคละเอียด เราดูแลจิตใจเรา จิตใจเรานะ มันจะพัฒนาขึ้น มันจะดีขึ้น มันจะเข้มแข็งขึ้น เข้มแข็งขึ้นมา เข้มแข็งขึ้นมา มันจะเป็นเรือใหญ่ ถ้าเรือใหญ่มันออกสู่ทะเลนะ มันจะได้สินค้า มันจะขนเสบียงสัมภาระได้มหาศาลเลย ไอ้เรือเอี้ยมจุ๊น ไอ้พายอยู่น่ะ ไอ้คนพายไม่เป็นมันก็วนอยู่นั่นน่ะ มันออกทะเล ออกเรือไม่ได้เลย อันนี้พูดถึงการคมนาคม

แต่เวลาหัวใจขึ้นมา ดูสิ เวลามรรคสามัคคี ธรรมจักร กงจักร โดยธรรมชาติของจิตมันเป็นกงจักร กงจักรมันทำลายไปหมดทุกอย่างเลย แต่ถ้าเป็น “ธรรมจักร” มันจะกลับมาทำลายกงจักร กลับมาทำลายกงจักรตรงไหน? กลับมาทำลายกงจักรตรงทิฏฐิมานะไง ตรงทิฏฐิมานะ ถ้าความทำลายทิฏฐิมานะนะ จากมิจฉาทิฏฐิ เห็นไหม มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด

“มรรคหยาบๆ “ แม้แต่รู้นี่ก็รู้หยาบๆ ความรู้หยาบๆ เห็นไหม ความรู้หยาบๆ เรายังตื่นเต้น มหัศจรรย์ขนาดนี้ ถ้ามันละเอียดขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เห็นไหม นี่ทางออกมันออกที่นี่ ทางออกมันอยู่ที่มรรคญาณ นี่ธรรมจักร สิ่งที่เป็นธรรมจักร จักรมันจะเคลื่อนไปอย่างไร มันจะหมุนไปอย่างไร ถ้ามันไม่เคลื่อน มันไม่หมุน ที่มันหมุนอยู่นี่มันเป็นกงจักรทั้งนั้นน่ะ กงจักรเพราะอะไร? กงจักรเพราะว่าโดยธรรมชาติของมันเป็นแบบนี้ โดยสัญชาตญาณของคนเป็นแบบนี้

มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ นาม-รูป เห็นไหม นามกับรูป รูปกับนาม มีนามกับรูป มหาภูตรูปก็คือร่างกาย แต่รูปอันละเอียด รูปจากภายใน รูปจากอารมณ์ความรู้สึกล่ะ? นี่เขาว่าเป็นรูป รูปมันถึงเป็นนาม นามก็เป็นความว่างของมัน มันเกิดดับๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ นี่พูดถึงรูปกับนาม มันเป็นช่องทางการก้าวเดินไปเท่านั้นเอง มันไม่มีสิ่งใดตกค้างเป็นความจริงเลย

ถ้าตกค้างเป็นความจริง เวลาปฏิบัติไป กุปปธรรม-อกุปปธรรม ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งที่เป็นขึ้นมา เห็นไหม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมเป็นอนัตตา มันเป็นอนัตตาของมัน ดูแบงก์ แบงก์เกิดมาจากอะไร? แบงก์เกิดจากกระดาษ กระดาษทั้งนั้นน่ะ เวลากระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษที่เขาใช้ไม่มีคุณค่าทางเป็นเงินนี่ มันใช้ไม่ได้ แต่เวลากระดาษที่เขาพิมพ์เป็นแบงก์ นี่ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา...นี่มันกระดาษอะไร อนัตตาน่ะอนัตตาอะไร? อนัตตาเพ้อเจ้อ อนัตตาอะไร เห็นเขาใช้เงินกันเป็นแบงก์เป็นกระดาษกันก็เอากระดาษของตัวเองจะไปใช้กับเขา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันไม่เข้าไปสู่ความจริงหรอก มันคนละมิติกัน

ดูสิ กระดาษที่มันพิมพ์ออกมาเป็นแบงก์ หรือว่ากระดาษที่เขาใช้เป็นการสื่อสาร กระดาษที่เขาใช้เอกสาร มันเป็นแบงก์ไปไม่ได้ นี่ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าจิตเรามันไม่สงบขึ้นมา มันไม่เกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าปัญญาขึ้นมา ที่ว่ากงจักรกับธรรมจักร ถ้ามันเป็นกงจักร ดูกระดาษโดยทั่วไปมันมีหมดนะ เขาแจกฟรีด้วย เขาแจกฟรี เขาแบบว่ามีการเกื้อหนุนกันเยอะแยะไปหมด นี่พูดถึงความเป็นโลก เห็นไหม เราเห็นคนทุกข์คนยาก เราก็เห็นใจนะ อยากช่วยเหลือเจือจานทั้งนั้นน่ะ

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่เขาเรียกเป็นปัจจัตตัง ความรู้เกิดจากภายใน ถ้าความรู้ของเรา เรามีอวิชชาเป็นพื้นฐาน คนเราไม่มีอวิชชานี่เกิดไม่ได้ สิ่งที่เกิดมานี่เหมือนกับคนมีเชื้อโรคในร่างกายเป็นพื้นฐาน เป็นพื้นฐานเลย คนเรามีเชื้อโรคในร่างกายนี้ เรื่องบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มี เป็นไปไม่ได้ มันจะมีเชื้อโรคของมัน มันจะมีความเสื่อมค่าของมันเป็นธรรมดา

ถ้าเป็นธรรมดา แต่เราก็อยู่กับมันน่ะ เราก็พัฒนาของเราขึ้นมา ในเมื่อร่างกายมีภูมิต้านทาน มันรักษาร่างกายได้ ร่างกายนี้ก็มีความอุดมสมบูรณ์ได้ ร่างกายมันก็สืบต่อได้ มันก็ดำรงชีวิตมาได้ มันก็อยู่โดยความเป็นอยู่ที่สามัญสำนึกมันอยู่ได้ คนมีอวิชชามันอยู่ในหัวใจมันมีของมันอยู่แล้ว ฉะนั้น สิ่งที่เกิดโดยธรรมชาติ เกิดโดยความรู้สึกนึกคิด มันเป็นกงจักรอยู่แล้ว ศึกษาธรรมะมาๆ ศึกษาธรรมะมาจากข้างนอก มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา

ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา ที่เราทนทุกข์กันอยู่นี่ คำว่า ทนทุกข์เลย โลกเขาทุกข์กันอยู่ มันเกิดมาเป็นมนุษย์ มันต้องเผชิญหน้า ไม่เป็นความจริง เราเห็นว่าความทุกข์ทางโลก เราถึงเสียสละมา เห็นไหม ดูสิ เขามีความร่มเย็นเป็นสุขกัน เขามีความชุ่มชื่นกัน นี่เราคิด แต่ทุกดวงใจว้าเหว่ ทุกดวงใจมีเผาลนทั้งนั้นน่ะ เราเห็นโทษของมันแล้ว เราถึงเสียสละขึ้นมาเพื่อเป็นนักรบ รบกับกิเลสเพื่อเป็นความจริง เป็นนักบำเพ็ญเพียร นักบำเพ็ญตบะธรรมที่จะต่อสู้กับกิเลส

ถ้าต่อสู้กับกิเลส อวิชชาไอ้ที่ว่าโรคภัยไข้เจ็บที่อยู่ในร่างกายนี่ ร่างกายกับจิตใจมันก็มีอวิชชาเหมือนกัน อวิชชามันเปรียบเหมือนร่างกายกับจิตใจ จิตใจมันก็เหมือนร่างกายที่มันก็มีเชื้อโรคของมัน เพราะมีเชื้อโรคขึ้นมามันมาเกิดไม่ได้ พอมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราศึกษาขึ้นมา เพราะเราตั้งใจของเราขึ้นมา เราตั้งใจ เราเห็นโทษของมัน เห็นไหม เราถึงเสียสละทางโลกมาเป็นพระ เป็นพระที่จะต่อสู้กับกิเลส

ทีนี้พอต่อสู้กับกิเลส ที่ว่ามันต้องบำเพ็ญเพียร มันมีความทุกข์ความลำเค็ญของเรา ความทุกข์ความลำเค็ญของเรา เพราะอะไร เพราะเราจะต้อนให้โรคภัยไข้เจ็บของเรา ให้เรารับรู้ให้เราเห็นได้

เวลาคนเขาไปหาหมอนะ เขาถามว่า “หมอ หายไหม”

“หมอ เป็นโรคอะไร”

นี่อยากรู้นักว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอะไรมันถึงเป็นอย่างนี้ แล้วมันจะหายหรือไม่หาย นี่เวลาไปหาหมอเราคิดอย่างนั้นน่ะ เราต้องถามหมอ ไปหาหมอคำแรกเลย “หายไหม เมื่อไร กี่วัน”

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติขึ้นมานี่ “กิเลสอยู่ไหน” ศึกษาธรรมมาตลอด พูดธรรมะปากเปียกปากแฉะ แต่ไม่รู้กิเลสมันอยู่ไหน อ้าว! มีแต่ทิฏฐินะ “อู๋ย! ธรรมะเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้” แต่ไม่รู้กิเลสมันอยู่ไหน ไม่รู้อะไรเป็นกิเลส แล้วมันจะไปออกได้อย่างไร ในเมื่อเรายังไม่รู้ถูกรู้ผิด เราจะออกได้อย่างไร

แต่ถ้าพอเรามีสติปัญญาของเรา เราหลีกเร้นมาจากโลกแล้ว เรามาปฏิบัติของเรา เราก็พยายามของเรา ดูสิ เวลาหน้า เห็นไหม มันเป็นคราว หน้าที่สัตว์มันออกเขาจะขึงตาข่าย จับแมงดา จับต่างๆ ตาข่ายของเขามันจะมาติด เขาจะเล่นไฟ เขาจะเอาไฟล่อมันมา เขาจะจับเป็นอาหารของเขา นี่เขายังมีวิธีการ มีการจับมาเพื่อเป็นอาหาร เพื่อเป็นการค้า เพื่อต่างๆ เห็นไหม แล้วเราจะจับกิเลสเรา เราเอาอะไรไปจับ มีแต่กิเลสมันจับเรา

นี่ไง โรคภัยไข้เจ็บ เชื้อที่อยู่ในร่างกายมันแสดงตัวออกมาก็เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าภูมิต้านทานมันอยู่มันก็ไม่แสดงตัว นี่เหมือนกัน เวลาเราว่าเราจะจับมัน มันจับเราทั้งนั้นน่ะ พอมันภาวนาก็ “อืม! ลำบาก ทุกข์ยาก” เราถึงบอกว่า โลกเขาทุกข์กันอยู่แล้ว เราเห็นว่ามันเป็นความทุกข์ เราถึงมาบำเพ็ญเพียรของเรา แล้วมันทุกข์ไหม? มันทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะเราจะเผชิญหน้ากับมันไง เราจะเผชิญหน้ากับมัน เราจะจับตัวมัน เราจะหาทางออก เราจะฆ่ามัน

ถ้าจะฆ่ามัน จะฆ่าใคร? จะฆ่ามัน มันอยู่ไหน จะฆ่าใคร?

“โอ๋ย! มันว่างๆ ภาวนาแล้วมันว่างๆ พอเดินจงกรมไปเข้าทางแล้วมันก็เป็นพระอรหันต์หมดเลย”

รถนะ เวลาในการคมนาคมของทวีประหว่างประเทศ เขามีด่านนะ ข้ามน่ะเขาต้องมีด่าน เขาต้องตรวจสอบนะว่าสินค้าบรรทุกมาถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง มันสำแดงกันไว้ว่าบรรทุกสิ่งใดมา แล้วบรรทุกมามันเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายไหม นี่เขายังต้องตรวจต้องสอบ

ไอ้นี่ว่า “ว่างๆ ว่างๆ” ขึ้นต้นแล้วไม่มีอะไรเลย มันว่างไปหมดเลย มันเป็นไปได้อย่างไร นี่ไง เราจะหาทางออก มันกลับไปจนตรอก จนตรอกจนมุมนะ โดยข้อเท็จจริง แต่โดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากว่า “อืม! นี่สุดยอด สุดยอด นี่ธรรมะเป็นอย่างนี้” เราเคลมกันไปเองนะ เราไม่เข้าถึงสัจธรรม เราเข้าถึงความเป็นจริงไม่ได้

แต่ถ้าเราเข้าความเป็นจริง นี่ไง มันถึงเวลาบอกว่า “นี่เป็นอัตตกิลมถานุโยค พวกนี้มันเป็นทุกข์นิยม แหม จะทำอะไรก็ต้องให้มันลำบากไปก่อน”...ไม่ใช่ลำบาก กิเลสต่างหากมันลำบาก เราตั้งใจของเราขึ้นมา เราจะเข้าไปหาโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ต้องไปถามหมอ เราจะหาของเราเอง เราจะรู้ของเราเอง แต่ถ้าเราไม่รู้ เราจะฆ่ามันอย่างไร เวลาคนเจ็บหายจากเจ็บนี่มันหายอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน เวลามันทุกข์ระทมในหัวใจ เห็นเขามีแต่ความสุขกันนี่เราทุกข์ๆ อยู่นี่ แล้วมันจะแก้อย่างไร มันจะแก้อย่างไร แล้วเอาอะไรไปแก้มัน

แต่ถ้ามันจิตสงบนะ พอจิตสงบ พอมันเห็นของมัน มันรู้ของมัน “อืม!”

ถ้าจิตมันไม่สงบ แล้วไม่มีหลักเกณฑ์นะ พิจารณาเหมือนกัน มันปล่อยมาเป็นสมถะ คำว่า “ปล่อยเป็นสมถะ” แล้วมันยังมีความเห็นผิดไง “อู้ฮู! ว่างเนาะ อู้ฮู! ดี๊ดีนะ อู้ฮู! อู้ฮู!” นี่ไง มันปล่อยมามันยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาความเห็นผิด แต่ถ้าเรามีสติ ความเห็นผิดนี้เราก็แก้ไข พอมันผิดบ่อยครั้งเข้ามันจะรู้ว่า อ๋อ ผิดเป็นอย่างนี้

มันพิจารณาแล้วมันปล่อยหมดเลย ว่างหมดเลย แต่ไม่รู้อะไรว่าง ใครว่าง ว่างอย่างใด ทำไมมันถึงว่าง แล้วว่างนี่มันรับรู้ความว่างอย่างไร มันไม่มีเหตุไม่มีผล ขั้นตอนมันไม่มี ขั้นตอนคือความรับรู้แต่ละเหตุการณ์มามันไม่ชัดเจน มันไม่แจ่มแจ้ง

อืม! เราต้องพิจารณาใหม่ พิจารณาซ้ำโดยสติปัญญาของเราแก้ไขของเรา

พอมันทำขึ้นไปนะ มันสงบ อืม! จิตมันสงบเนาะ มันสืบต่อทุกวินาที ทุกวินาทีไม่มีการขาดตอน แล้วมันสงบเข้ามันเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา อืม! มันรู้ของมันเนาะ อืม! ใช่ นี่จิตสงบเป็นอย่างนี้ อ๋อ!

แล้วพอออกใช้ปัญญา มันออกไปใช้ปัญญา ใช้ปัญญาในอะไร? ในสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดของใจ นี่ไง ที่ว่าเป็นไข้ๆ ไข้มันเป็นอย่างไร อะไรเป็นไข้ อะไรเป็นกิเลส แล้วจะฆ่ากิเลส กิเลสมันอยู่ที่ไหน เรารู้จักมันไหม ทุกคนจะบอกอยากจะพ้นทุกข์ ทุกคนอยากไม่มีความทุกข์ แล้วตัณหาความทะยานอยาก สมุทัยมันอยู่ไหน ไอ้ตัวยุตัวแหย่ ไอ้ตัวทำลาย ไอ้ตัวตั้งประเด็นขึ้นมาให้ล้มลุกคลุกคลานอยู่นี่มันอยู่ไหน เราเห็นมันไม่ได้ เราเจอมันไม่ได้ เราเห็นไม่ได้ เจอไม่ได้เพราะอะไร เพราะตัวมันเองมันคอยปลิ้นปล้อนหลอกลวง

นี้พอเรามีสติปัญญา เราใคร่ครวญมัน เราดูแลรักษาของเรา มันเห็นของมัน นี่ไง พอมันเห็นขึ้นมา มันสะเทือนหัวใจเลือนลั่นเลย อู้ฮู! อู้ฮู! เลยนะ พอสะเทือนขึ้นมา พิจารณาซ้ำพิจารณาซากขึ้นไป นี่มันยังมีทางออก ทางออกเพราะเรามีสติปัญญา เรามีสติยับยั้ง สิ่งใดที่มันล้มลุกคลุกคลานเราก็มีสติยับยั้งเพื่อจะทำให้มันมั่นคงขึ้นมา

สิ่งใดที่มันเตลิดเปิดเปิงว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนั้นลมพัดใบไม้ไหว ลมพัดใบไม้ไหวแล้วตื่นเต้นไปกับมัน กระต่ายตื่นตูมวิ่งไปกับมัน สิ่งนั้นเราก็ว่ามีสติปัญญายับยั้งว่า “มันยังไม่ใช่กาล มันยังไม่ใช่เวลา มันยังไม่ใช่เป็นเหตุเป็นผล เราไม่ต้องสั่นไหวไปกับมัน” นี่สิ่งที่ให้มา ถ้าปฏิบัติไม่ได้มันก็อั้นตู้ หัวนี่ชนภูเขา ไอ้พอมันพัดใบไม้ไหว มันเปิดช่องลมผ่านหน่อยเดียวมันก็ลอยลมไป ลอยลมไปจนไม่มีสติปัญญาอย่างนั้นเลยเหรอ นี่เราต้องมีสติปัญญาของเรา ยับยั้งของเรา แล้วดูแลของเรา

นี่เราจะหาทางออกกันนะ แล้วทางออกนี้ ทฤษฎีก็คือทฤษฎี ธรรมก็คือธรรม ทฤษฎีคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทฤษฎีชี้ไว้บอกไว้ ทีนี้ทฤษฎีเราศึกษามาแล้วเป็นสุตมยปัญญา เราศึกษามาแล้วเราแก้ไขของเรา เรามีสติปัญญาของเรา เวลามันเกิดจริงขึ้นมานะ ดูสิ เวลาทางโลกเขาทำธุรกิจของเขา เขากู้ธนาคารมาก่อน เวลาเขาไม่มีทุนเขาต้องกู้ธนาคารมาทำ พอทำเสร็จแล้วเขามีกำไรขึ้นมา พอเขามีใช้ทุนธนาคารได้ สินค้านั้น บริษัทนั้นเป็นของเขา

“ทฤษฎี” ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่คอยหนุนมา คอยชี้นำมา คอยให้หัวใจเราเห็นคุณงามความดี เห็นในเรื่องโลกกับธรรม โลกที่เราเกิดขึ้นมาบนโลกแล้วมันมีความยากอยู่นี่ แล้วก็เห็นธรรม ธรรมที่จะแก้ให้พ้นจากโลก เห็นไหม เราพิจารณาของเรา เราเห็นโทษของเราขึ้นมาแล้วเราก็พยายามศึกษาแล้วปฏิบัติขึ้นมา นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กู้ธนาคารมา นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ต้องเอามาเป็นพื้นฐานของเรา แล้วเราปฏิบัติของเรา แก้ไขของเรา ทำของเราขึ้นมา

เรารู้จริงขึ้นมานะ “อืม! ความจริงเป็นอย่างนี้ ความจำเป็นอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอย่างนั้น...ใช่” บอกอย่างนั้นเลยนะ พอมันรู้จริงขึ้นมา “เอ้อ! เอ้อ! มันเป็นอย่างนี้เนาะ มันเป็นอย่างนี้เนาะ” ไม่สงสัย

แต่ก่อนนะ “พระพุทธเจ้าบอกว่ามรรค ผล นิพพาน มี ทุกอย่างมี”

“จริงหรือเปล่าเนาะ เอ...สติเป็นอย่างไร สติ เอ้อ มหาสติเป็นอย่างไร”

แต่พอมาปฏิบัติไปมันรู้เองเห็นเอง มันปฏิบัติของมันขึ้นมานะ “อืม!”

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรายืมมา “ของยืม” ไม่ใช่ของจริง เรายืมมา เราไม่ยืมเลยเราก็ขึ้นมาไม่ได้ นี่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ตรัสรู้เองโดยชอบ ไอ้เราสาวก-สาวกะนี่ขนาดฟังมา ยืมมา ขนาดเอานั่งร้านมาค้ำไว้แล้วมันยังอยู่ไม่ได้เลยนี่ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอามาค้ำไว้ ยันไว้ แต่เราปฏิบัติเป็นความจริงเราขึ้นมา พอมันเป็นความจริงขึ้นมา “อืม!”

“นี่ทางออก” เราจะออกได้ทางนี้กัน เราจะมีทางออกนะ เรากำลังแสวงหาทางออกกันอยู่ ออกจากกิเลส ออกจากโลก ให้มันเป็นความจริงขึ้นมา ถ้ามันทุกข์มันร้อน เราก็พยายามตั้งหลักของเราขึ้นมา ถ้ามันเลยเถิด ลมพัดใบไม้ไหวน่ะคือเลยเถิด เลยเถิดมันไม่มีเหตุมีผล เราเลยเถิด เลยธงไป แล้วเราจะไปไหนกัน เราเลยธงไป เราจะไม่มีอะไรเป็นสมบัติของเรานะ เราจะต้องกลับมาเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุลตามความเป็นจริง ตามหลักเกณฑ์นั้น นี้จะเป็นทางออกของเรานักปฏิบัติ

โลกเขา นักขัตฤกษ์ของเขา เขาจะมีความสุขความรื่นเริงของเขา ให้เขามีความสุขเถิด เพราะว่าปีทั้งปีเขาทุกข์ยากมาพอแรงแล้ว ให้เขามีความสุขของเขา ไอ้เรานักปฏิบัติ เราดูทางโลก เราก็เคยสัมผัสชีวิตนี้มา มันเป็นสมมุติ มันเป็นของชั่วคราว มันเป็นเรื่องของวัฏฏะ มันเป็นเรื่องของกาลเวลา มันเป็นเรื่องของโลกที่เขาซ้ำซากกันอยู่อย่างนั้น เราเห็นผลอย่างนี้แล้วเราก็ตั้งใจของเรา

“สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

ความสว่างไสวขนาดไหน ความผ่องใสของเขาขนาดไหน เดี๋ยวมันก็เศร้าหมอง มันไม่เป็นความจริงหรอก เราหาความจริงของเรา หาทางออกของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ

“ทางออก” ทางออกนี้เป็นที่ครูบาอาจารย์ท่านคอยชี้นำเรา แล้วเราจะต้องเอาสิ่งนี้ แล้วเราตั้งประเด็นของเรา ตั้งธงของเรา แล้วเราปฏิบัติของเราให้เป็นสมบัติของเรา เกิดขึ้นมาในใจของเรา เอวัง