เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๔ ม.ค. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ธรรมดาเนาะ ใครมีความสัมพันธ์ เด็กเป็นความปรารถนาดีของสังคม สังคมก็ต้องปรารถนาอย่างนั้น วันนี้เป็นวันของเขา แต่การเกิดนะทุกคนต้องผ่านประสบการณ์อย่างนี้มาทั้งหมดแหละ การเกิด เห็นไหม การเกิดเป็นมนุษย์นี้มีอริยทรัพย์ เพราะมันมีปัญญา มีโอกาสนะ แต่เวลาเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็ทุกข์ยากมาก

คำว่าทุกข์ยาก เกิดมามีโอกาสได้ทำคุณงามความดี ได้รู้จักชีวิตของเรา การทำคุณงามความดีอย่างหนึ่ง แต่การทำคุณงามความดี เราก็ปรารถนาให้คุณงามความดีนี้เพื่อตอบสนองกับความเป็นอยู่ของเรา เราอยากมีความสุขกันทุกคนแหละ ทุกคนเกิดมาปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ แต่เวลาความสุขความทุกข์ในหัวใจนี่สำคัญมาก เพราะ เพราะถ้ามีความกดดันในใจมากขนาดไหน มันจะมองสิ่งใดว่าเป็นบวกกับเป็นลบไปหมดเลย

ถ้ามองสิ่งใดเป็นบวกเป็นลบหมด เรานี่เป็นความทุกข์ เห็นไหม เวลามีความทุกข์จริงๆ ภูเขาเลากา สรรพสิ่งทั้งหลายจะให้ความทุกข์เราไม่ได้ ถ้าหัวใจเราไม่ทุกข์ไปกับเขา แต่หัวใจเราข้างในมันอมทุกข์อยู่แล้ว นี่ลมพัดใบไม้ไหวมันก็เป็นความทุกข์ มันเป็นความทุกข์เพราะอะไร? เพราะความรู้สึกนึกคิดของเรามันไปแบกหาม ถ้าความรู้สึกเรามันไม่ไปแบกหาม

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเกิดมาแล้ว หน้าที่การงานนั้น การกระทำนั้นเราปรารถนาความสุขของเรา แต่ความสุขนั้น ปรารถนาความสุขอย่างนั้น มันเป็นสิ่งที่เป็นอามิส ทำบุญกุศลกันอยู่นี้ก็เพื่อเหตุนั้น การสร้างบุญกุศลของเราขึ้นมาเพื่อความสุข สมความปรารถนาของเรา แต่สมความปรารถนาของเรา สิ่งในโลกนี้มันเป็นอนิจจัง มันแปรปรวนของมันอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่เป็นที่พึ่งของเรา ในโลกนี้มันไม่มีสิ่งใดเป็นที่พึ่ง มันเป็นที่อาศัย ความอาศัยดำรงชีวิตนี้เพื่อประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าคนที่มีหูมีตานะ แต่ว่าการประพฤติปฏิบัติของเรา เห็นไหม เราปรารถนาความสุขทางโลกมหาศาลขนาดนี้เรายังไม่มีความสุขเลย แล้วเรามาทรมานตนอยู่ที่วัด เรามาทรมานตน เรามาบำเพ็ญเพียร มันจะมีความสุขขึ้นมาได้อย่างไร?

โลกเขามองว่าความสุขของเขาคือความสมความปรารถนาในโลก ในปัจจัยเครื่องอาศัยนั้น เขามีสิ่งนั้นสมบูรณ์เขาว่าเป็นความสุขของเขา แต่ความสุข เห็นไหม ความสุขของผู้ที่มีความสงบระงับ ที่มีการปล่อยวางอันนั้นมา ความสุขที่ละเอียดกว่านั้นเขามองเห็นของเขาไม่ได้ แต่คนถ้ามีปัญญาขึ้นมานี่เขาศึกษาของเขา เขาจะแสวงหาสิ่งนี้ ถ้าแสวงหาสิ่งนี้ เราเกิดมามีหน้าที่การงาน เราเกิดมามีความรับผิดชอบ เราก็ต้องทำหน้าที่ของเรา

หน้าที่ของเราคือทางโลกนี่ไง ทางโลกนี่ปัจจัยเครื่องอาศัย ความเป็นอยู่ของตระกูล ของครอบครัวของเรา นี่เราก็แสวงหาของเรา แสวงหาแบบนี้แสวงหามาด้วยคนอิ่มเต็ม แสวงหามาด้วยเป็นหน้าที่ หน้าที่เรานะ หน้าที่ไม่ใช่กิเลส แต่ถ้าแสวงหาด้วยความบกพร่อง แสวงหาด้วยตัณหาความทะยานอยาก สิ่งนี้มันก็กดทับหัวใจของเรา หน้าที่การงานมันก็บีบคั้นเรา มันเป็นหน้าที่การงานมันก็ต้องแบกหามภาระอยู่แล้ว แต่ถ้ามันมีความสงบระงับ เรามีปัญญาของเรา เห็นไหม

ดูสิเวลาเราจะหาความสงบของเราขึ้นมา เราก็ต้องเดินจงกรม นั่งสมาธิ นี่เป็นหน้าที่หรือเปล่า? มันเป็นงานหรือเปล่า? มันก็เป็น เป็นเพื่ออะไร? เป็นเพื่อความสงบระงับไง แต่โลกในปัจจุบันนี้ เวลาเขานั่งสมาธิภาวนาเขาจะไปมองที่กิริยาอันนั้น ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความสุขความทุกข์ไหม? สิ่งนั้นเป็นความสุขความทุกข์ไหม? เขาไม่มองผลของมันไง

ผลของมัน นี่เวลาบริหารจัดการ เราทำหน้าที่การงานของเราเสร็จแล้วเราก็มีความสุข ความสงบของเรา เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาจนจิตเราสงบเข้ามา ผลของการกระทำอันนั้น เห็นไหม นี่ความสงบระงับ

“ความสุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

ทีนี้ความสุขไม่มีนี่ ความสุขนี้มันก็เป็นอนิจจัง สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมนี้เป็นอนัตตา มันแปรปรวนทั้งนั้นแหละ สิ่งที่แปรปรวน เวลาคนเข้าไปประสบ ไปพบเห็นครั้งแรกมันก็มีความตื่นเต้น มีความดีใจ อยากได้อีก แสวงหาอีก เห็นไหม ตัณหาซ้อนตัณหา หน้าที่การงานของเรา เราทำหน้าที่การงานจนประสบความสำเร็จ อันนี้มันเป็นเพราะเหตุปัจจัย แต่พอเราประสบความสำเร็จแล้วเราก็อยากได้อย่างนั้นมากขึ้นๆ นี่ตัณหาซ้อนตัณหา

เวลาเราภาวนามันสงบระงับขึ้นมาเราก็พอใจของเรา พอเราพอใจของเรา เราอยากได้ๆ คำว่าอยากได้ขึ้นมา คำว่าอยากได้ อยากนี้เป็นอารมณ์ความรู้สึก แต่ถ้าเรานั่งสมาธิภาวนาของเรา ถ้าเรามีเหตุปัจจัยสมควรกับมัน มันก็มีความสงบระงับของมัน เห็นไหม คนทำแล้ว นี่พอความอยากได้ อยากให้เป็นไปมันก็มีความทุกข์มากขึ้น มากขึ้นเพราะมันไม่สมความปรารถนา แต่ถ้าเราวางสิ่งใดทั้งหมด แล้วเราทำตามความเป็นจริงของมัน

“นี่ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ถ้าเหตุมันสมดุลของมัน มันต้องให้ผลตามสัจจะของมัน เป็นความจริงของมันอยู่แล้ว ทีนี้ความจริง แต่เรามีความอยาก มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจเป็นตัวขับไส เป็นตัวขับดัน ความขับดันนี้มันจะไม่สมความปรารถนา เราถึงต้องมีปัญญา ต้องมีสติ เห็นไหม มีสติ มีปัญญาของเราใคร่ครวญของเรา แล้ววางของเราให้ได้ ถ้าวางของเรานะ นี่ชำนาญในวสี ในการเข้าและการออก

การเข้าออกจากสมาธิ เห็นไหม ถ้าเป็นสมาธิ ในปัจจุบันนี้จิตใจเราเป็นสมาธิไหม? จิตใจของเรามีความรู้สึกนึกคิดอยู่ มันมีความสงบระงับด้วยกิริยา มันก็เป็นสมาธิแบบปุถุชน แต่พอมีคำบริกรรมขึ้นมา จิตของมันนี่เนื้อของใจ พอเข้าไปถึงพลังงาน พลังงานนั้นมันจะสงบเข้ามา ระงับเข้ามา มันแตกต่างกัน พอมันแตกต่างกัน นี่หน้าที่การงาน เราเกิดมานี่หน้าที่การงานของโลก เรารู้จักตัวตนว่าเราเกิดเป็นมนุษย์ไง

นี่เราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีอริยทรัพย์ ทรัพย์อันนี้ ถ้าเราใช้ปัญญาเป็นโลกียปัญญา ปัญญานี้เป็นวิชาชีพ เป็นหน้าที่การงานของเรา เป็นการดูแลชาติปัจจุบันนี้ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาเข้าไปจะหาความจริงจากภายใน ถ้าหาความจริงจากภายใน เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นความสงบระงับจากภายใน นี่หน้าที่ของโลกเราก็รู้จัก หน้าที่ของเรา ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราจะแสวงหาหน้าที่การงานของเรา

หน้าที่การงานของเรา เห็นไหม ถ้ามันสงบระงับเข้ามา มันเกิดสงบระงับเข้ามา มันเป็นสมาธิเข้ามา แล้วมันมีปัญญาขึ้นมา ภาวนามยปัญญามันจะเกิดขึ้น ถ้าภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น ถ้าเราทำเป็นนะ ถ้าทำไม่เป็นมันไม่เกิด มันเป็นสัญญาอารมณ์คือการเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบเราได้ข้อมูลจากสิ่งใดมา เราฟังของครูบาอาจารย์มา เราศึกษาเล่าเรียนมา สิ่งนั้นมันเป็นสัญญา คำว่าสัญญาก็เป็นจากโลก เป็นจากจิตที่มันมีกิเลสนี้

พอจิตสงบเข้ามา เห็นไหม สิ่งนี้พอสงบเข้ามา สงบเข้ามันเหลอหลา คำว่าเหลอหลาคือมันไม่รู้สิ่งใดเลย แต่มันมีสตินะ ถ้ามันจะเหลอหลา คนเหลอหลาคือคนไม่รู้สิ่งใดเลย นี่มันสงบเข้ามา มันเหลอหลาหมายถึงว่า มันเข้าไปถึงสงบระงับแล้วมันทำอย่างไรต่อไป? มันทำอย่างไรต่อไป? ทำสิ่งใดไม่ถูกมันถึงต้องฝึก คำว่าฝึกนะ นี่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า

“จิตสงบแล้ว ถ้าไม่ฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาจะเกิดเองไม่ได้ ปัญญาจะเกิดเองไม่ได้”

คนเรานี่นอนหลับ ทำงานมาเหนื่อยยากมาก พอเรานอนพักพอมันหลับไป คนหลับไปจะทำสิ่งใดได้ นี้คนหลับนะ แต่สมาธิมันไม่ใช่หลับ ถ้าเป็นสมาธิมันก็เป็นสมาธิเข้ามา แต่มันเป็นการพักผ่อน พอพักผ่อนเพื่อให้จิตใจมีกำลังขึ้นมา แล้วมันต้องออกทำงานของมัน

ถ้าออกทำงานของมัน เห็นไหม นี่หน้าที่การงานของโลก เราก็อาบเหงื่อต่างน้ำขึ้นมาเพื่อความเป็นอยู่ของเรา เพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย เพื่อดำรงชีวิตนี้ เพื่อสถานะทางสังคม แต่เวลาจิตมันสงบเข้ามา ถ้าหน้าที่การงานอันหนึ่ง มันเป็นงานถอดถอนความที่ไม่รู้ของเรา ความไม่รู้ในตัวตนของเราไง

ชีวิตนี้มาจากไหน? ทำไมมันเป็นอย่างนี้? ความทุกข์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ความทุกข์เกิดขึ้นมาแล้วทำไมมันเผาลนหัวใจ แล้วความสุขเราปรารถนาแล้วทำไมไม่สมความปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นมาแล้วมันก็จางไป ความปรารถนาขึ้นมา นี่มันหมุนเวียนของมันอย่างนั้นน่ะเป็นเพราะอะไร? มันเป็นเพราะอะไร? พอปัญญามันเกิดขึ้นมันจะเห็นของมัน มันจะแก้ไขของมันไง

ถ้ามันแก้ไขของมัน เห็นไหม นี่สิ่งใดที่มันขาดตกบกพร่อง สิ่งใดที่แสวงหาแล้วมันไม่ได้ดั่งใจ สิ่งใดที่มันเผาลนอยู่มันเป็นอวิชชา พลังงานมันเผาในตัวมันเองมันเป็นอย่างไร? พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก คำว่าพิจารณาซ้ำ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรล่ะ? มันเกิดขึ้นมาเพราะมันต้องมีที่กำเนิด มันต้องมีที่เกิด มันต้องมีการเผาลนของมัน การเผาลนนี่มันส่งออก พลังงานมันทำงานของมัน มันเสวย

คำว่าเสวย นี่ความรู้สึกนึกคิดมันกินของมัน มันเสวยอารมณ์ของมัน มันกินอาหารที่ดี มันกินพุทโธ นี่มันตรึกในธรรม เห็นไหม มันก็เป็นการปล่อยวาง เป็นการจางคลายของมันออกมา แต่ถ้ามันกินโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก สิ่งนั้นบาดหมางใจ สิ่งนั้นบาดหมางใจ มันก็กินของมัน นี่เราใช้ปัญญาแยกแยะเข้ามา อันนี้มันคืออะไร?

อันนี้มันคืออะไร เห็นไหม นี่เสวยอารมณ์ๆ สัญญาอารมณ์ สังขารปรุงแต่ง สิ่งต่างๆ มันเสวยออกไป นี่สัญชาตญาณเป็นอย่างนี้ จิตมันเป็นอย่างนี้ นี่โดยสื่อสาร การทำงานของมันเป็นแบบนี้ แต่พอมีปัญญาเข้ามาใคร่ครวญ สิ่งที่แบบนี้มันก็แยกออก มีที่มาที่ไป สิ่งเทคโนโลยีเราถอดออก เพื่อจะทำความสะอาดล้างมัน นี่มันเกิดอย่างไร? สัญญามันเกิดอย่างไร? นี่สังขารปรุงอย่างไร? แล้ววิญญาณรับรู้ให้มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกขึ้นมาเป็นอย่างไร?

อารมณ์ความรู้สึกมันก็เป็นตัวตน มันเป็นตัวตน เห็นไหม เพราะมันเป็นรูป รูปคือความรู้สึกนึกคิด ถ้าความรู้สึกนึกคิด ดูสิความรู้สึกนึกคิด ดูทางการแพทย์เขา เวลาคลื่นไฟฟ้าเขาจับคลื่นหัวใจ เขาจับต่างๆ มันยังมีการแสดงออกของมันได้ นี่พูดถึงเขาใช้เทคโนโลยีเข้ามาจับนะ แต่เราใช้สติปัญญาเราจับ สติปัญญามันเสวยอารมณ์ เสวยแล้วมันมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร? มันเสวยแล้วมันเจ็บปวดแสบร้อนอย่างไร? แล้วถ้าเป็นธรรมล่ะ เป็นธรรมมันพอใจอย่างไร? มันพอใจเดี๋ยวมันก็ดับ พอมันเกิดแล้วมันก็ดับ เกิดแล้วมันก็ดับ ดับอย่างไร?

ถ้าเราบอกเกิดดับๆ เกิดดับไฟฟ้ามันก็เกิดดับ ถ้าบอกเกิดดับ เปิดไฟปิดไฟมันก็ดับ แต่มันดับแล้วมันก็เท่านั้นแหละ แต่ถ้าเราใช้ปัญญาใคร่ครวญของเราล่ะ? มันเกิดดับ มันเกิดดับเพราะความไม่รู้ เราไม่รู้ มันเป็นสัญชาตญาณมันไม่รู้ แล้วสัญชาตญาณมันเผาลนอย่างไร? มันแยกแยะของมัน พอเรารู้เท่ามันปล่อยหมด เห็นไหม พอมันปล่อยหมดมันเข้าใจ

พิจารณาซ้ำ พิจารณาซากจากตทังคปหานคือปล่อยวางชั่วคราว พอปล่อยวางมันก็มีความสงบระงับ มันมีความร่มเย็นเป็นสุขมาก อยากได้อีกมันก็ทำไม่ได้ ก็ฝึกฝนเข้าไปเรื่อยๆ จนชำนาญ ชำนาญในวสี ชำนาญในการใช้ปัญญาในการถอดถอน ปล่อยบ่อยครั้งเข้าๆ นี่ถ้าตทังคปหานจนมันสมุจเฉทปหาน ถ้ามันสมุจเฉทมันขาดพั่บ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ คือความคิด เห็นไหม ที่มันเสวยอารมณ์ เสวยขันธ์ ๕ ๆ อยู่เนี่ย นี่เวลาสัญญาอารมณ์ สัญชาตญาณที่มันเสวยอยู่ พอเวลามันขาด พอมันขาดไปแล้วสติมันทัน ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ จากเดิมที่มันสืบต่อกันโดยที่เราไม่มีสติยับยั้งได้ แต่พอเราเข้าใจได้ เรามีเซฟทีคัทในบ้านของเรา เราตัดไฟได้ เรามีคัตเอ้าท์ของเรา เรากดคัตเอ้าท์มันก็ทำงาน เราดึงออกมันก็ไม่ทำงาน

นี่สติปัญญามันทันขนาดนั้นนะ พอมันทันขนาดนั้น มันขาดแล้ว ถ้ามันขาด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันปล่อยวางหมด นี่เป็นอกุปปธรรมไง สิ่งที่เป็นอกุปปธรรมที่มันไม่มีการแปรปรวน เห็นไหม สัพเพ ธัมมา อนัตตา กุปปธรรม สัพเพ ธัมมา อนัตตา อกุปปธรรมไม่ใช่อนัตตา มันเป็นจริง ธรรมที่เป็นจริงๆ ที่มันเกิดขึ้นมา แล้วมันเป็นจริงแล้วมันควบคุมของมันได้

นี่สิ่งที่เราแสวงหา เราเกิดเป็นมนุษย์ไง ทรัพย์อันนี้เราแสวงหาได้นะ เราแสวงหาด้วยการประพฤติปฏิบัติของเรา ทรัพย์ทางโลก เห็นไหม หน้าที่การงานของเรา ปัจจัยเครื่องอาศัยนี่ทรัพย์ทางโลก ทรัพย์ทางโลกเราหามาใช้อาศัยในชาตินี้ แต่ถ้าทรัพย์อันนี้มันเกิดขึ้นนะ อกุปปธรรม นี่ถ้ามันเกิดขึ้นในหัวใจ เราเกิดเป็นมนุษย์ ทุกคนเกิดมาเป็นเด็ก เป็นเด็กขึ้นมาแล้วพัฒนาขึ้นมา เราเคยผ่านชีวิตนี้มา

การเกิดเป็นเด็กไร้เดียงสานะ น่ารัก น่าใคร่ แต่ชีวิตนี้ไร้เดียงสาไม่ได้ ชีวิตเราต้องเติบโตขึ้นไป เราต้องมีปัญญาของเรา ปัญญาของเราจะแยกแยะดูแลรักษาใจของเรา ถ้าเรามีปัญญาขึ้นมา เราจะไม่เป็นเหยื่อของโลกนะ เราไม่เป็นเหยื่อของสังคม ใครจะมาหลอกลวง ใครจะชักนำเราไม่ได้หรอก เรามีปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน “กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น” เชื่อเหตุ เชื่อผล เชื่อความจริงในใจของเรา

เราแยกแยะของเรา เราพิจารณาของเรา พอมันเป็นอกุปปธรรม เห็นไหม อกุปปธรรม มันมีคัตเอ้าท์ของมันนะ มันจะไม่ให้คิดก็ได้ มันจะให้คิดก็ได้ พอสติมันทัน มันจะคิดหรือไม่คิดก็ได้ นี่ถ้าไม่คิดนะมันก็เก้อๆ เขินๆ นะ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันอยู่ของมันอย่างนั้นแหละ แต่ไฟฟ้ามันไม่ทำงาน มันไปไม่ได้ ความคิดไปไม่ได้หรอก ความคิดไปได้เพราะเราเผลอ

คำว่าเผลอคือทางโลกใช่ไหม? แต่นี่มันฉลาดแล้ว แล้วมันได้ทำลายของมันแล้ว เราจะให้คิดก็ได้ ต้องให้คิด ให้คิดเพื่ออะไร? ให้คิดเพื่อจะคุยกัน ให้คิดเพื่อจะสื่อสารกัน แต่ถ้าเราอยู่ของเรา เราไม่ให้คิดก็ได้ คิดให้มันเหนื่อยล้าทำไม? หลวงตาท่านพูดคำนี้ เวลาท่านบอกว่าพอมันวิมุตติไปแล้วนะ

“นี่เวลาคิดเหมือนกับมาแบกหามท่อนซุง”

ความคิด ความรู้สึกนี่หนักหนาเหมือนแบกท่อนซุง แล้วคนจะแบกท่อนซุงไหม? ท่อนซุงมันหนักใช่ไหม? ถ้าเราไม่แบก เราปล่อยเราก็ว่าง สบาย ท่อนซุงก็กองอยู่นั่น คือความคิดมันกองอยู่ข้างนอกไม่เกี่ยว แต่นี้เราไม่ใช่ท่อนซุงนี่ แวบๆๆ มันยิ่งกว่าแสง มันไว แวบๆๆ เราไม่เห็นหรอก เราไม่ทัน แต่คนถ้ามันขาดไปแล้วนะ เราต้องไปแบกไปหามมันนะมันถึงเป็นความคิดขึ้นมา ถ้าเราไม่ไปแบกหามความคิดมันก็ไม่เกิดขึ้น นี้ถ้าเป็นความจริง

นี่เราเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม นี่วันนี้วันเด็ก เด็กเขาเกิดมาแล้วเขาพัฒนาของเขา ทางโลกของเขา เราก็เป็นเด็กมาก่อน เด็กเราก็เป็นมาแล้ว ผู้ใหญ่เรากำลังเป็นอยู่นี่ แล้วเราก็อยากปรารถนาความเป็นจริง ความเป็นจริงในศาสนา พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจธรรม ถ้าสัจธรรมเราค้นได้ เราเป็นไปได้ นี่มันครอบคลุมสามโลกธาตุนะ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ที่จิตมันไปเกิด เราเข้าใจหมดแล้ว เราวางไว้ตามความเป็นจริง

วัฏฏะ วิวัฏฏะ จิตใจนี้สำคัญมาก นี่เพราะการเกิด เขาบอกว่าการเกิดนี้เป็นความทุกข์มาก เขากลัวการเกิด แต่การเกิดเป็นมนุษย์มันต้องเกิดในวัฏฏะแน่นอน การเกิดเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ การเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา แล้วเราได้ประพฤติปฏิบัติของเรา อันนี้มันจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าเราขึ้นไปอีก เราเกิดมาแล้วใช้ประโยชน์ เราได้สัมผัสของเรา จะเป็นประโยชน์กับเรานะ

นี่เราเป็นมาแล้วทุกๆ อย่าง แต่เรายังไม่มีธรรมะในหัวใจ เราจะต้องขวนขวายของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง