เทศน์บนศาลา

อายุธรรม

๒๓ ม.ค. ๒๕๕๕

 

อายุธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจนะ เราภาวนากันมาทั้งวันทั้งคืนแล้ว เราตั้งใจมาเพื่อความสงบระงับของใจเรา ถ้าความสงบระงับนี้ ถ้าเรายังรักษาตัวเราไม่ได้ มันต้องมีพี่เลี้ยง มันต้องมีครูบาอาจารย์ มันต้องมีที่พึ่งอาศัย ถ้าไม่มีที่พึ่งอาศัย ดูสิ นักกีฬาแต่ละคนที่เขาจะเข้มแข็งขึ้นมาได้ เขาอยู่ที่การฝึกฝนของเขา ทีนี้ การฝึกฝนของเขา เขาก็ต้องมีอำนาจวาสนาของเขาด้วย คืออย่างเช่น ช้างเผือก ช้างเผือกเขาเอามาฝึกฝน คนนั้นอาจจะเป็นนักกีฬาที่ดีได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ไปไม่รอดเหมือนกัน ไปไม่รอดว่าเรามีแววว่าช้างเผือก เพราะเขามีแมวมองไปดู แต่เวลามาฝึกแล้ว เห็นไหม เพราะระยะเวลา ระยะเวลาที่จะฝึกฝนขึ้นมา ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ประสบการณ์ต้องมีนะ

นี่ก็เหมือนกัน เราจะมาฝึกหัวใจของเรา ถ้าเราจะมาฝึกหัวใจของเรา เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา ศาสนาพุทธ ศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาพุทธจะทำให้เราพ้นจากทุกข์ได้ ศาสนาพุทธนะ แต่นอกนั้นในลัทธิศาสนาต่างๆ การกระทำของเขา เขาเชื่อสิ่งที่เขาเชื่อให้สิ่งนั้นเป็นผู้ชี้นำเขา แต่พุทธศาสนา ไม่ใช่

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ไว้ในพระไตรปิฎกอยู่แล้ว “ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์สอน ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อการประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา”

แต่ถ้าไม่ให้เชื่อเลยแล้วเราจะทำอย่างไรกัน ถ้าไม่ให้เชื่อ ตัวเราเองเราก็เอาตัวรอดไม่ได้ ถ้าเอาตัวเองไม่ได้เราถึงต้องมีศรัทธาความเชื่อ ศรัทธา พอศรัทธา พอเราศรัทธาแล้วเราเอามาพิจารณาของเรา ถ้าพิจารณาของเรา พอเราฟังธรรมะ เราฟังครูบาอาจารย์มา เราศึกษาของเรามา มันก็มีความลังเลสงสัยเป็นธรรมดา เป็นธรรมดาเพราะเรามีกิเลส มีอวิชชา มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ความลังเลสงสัยนั้นวางไว้ แล้วเรามีความมั่นคงของเรา มีสติปัญญาของเรา แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติด้วยสิ่งที่เราอาศัยสิ่งที่ว่าครูบาอาจารย์ของเรา พี่เลี้ยงของเรา เพื่อประคับประคองใจของเราขึ้นไป

ถ้ามันเกิด มันเกิดได้นะ ความมันเกิดได้ ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาสร้างบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ เกิดมาในวัฏฏะ เกิดแล้วเกิดเล่า เพื่อพัฒนาให้หัวใจนี้มีเชาวน์มีปัญญา มีหลักมีเกณฑ์ เราก็เหมือนกัน จิตทุกดวงเกิดตายๆ ทั้งนั้น ธรรมชาติของจิตนี้มหัศจรรย์มาก มันต้องเกิดต้องตายของมันเพราะในเมื่อมันมีสถานะของมัน มันมี

สสารที่มีชีวิตคือธาตุรู้ ธาตุรู้ ปฏิสนธิจิต เราว่า จิตนี้คืออะไร ความรู้สึกเป็นอะไร นั้นคือความรู้สึกนึกคิดของเรา เพราะเราสนใจจะค้นคว้า เพราะเรามีพื้นฐานของศาสนา มีพื้นฐานของเรื่องจิตวิญญาณ แต่เวลาเราค้นคว้าไปขนาดไหนก็ค้นคว้าโดยสัญชาตญาณ โดยความรู้สึกนึกคิด เราจะรู้ตามความเป็นจริงไปไม่ได้

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาตรัสรู้ธรรมนี่รู้เท่าตามความเป็นจริง แต่ก่อนหน้านั้น ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สร้างสมบุญญาธิการเป็นพระโพธิสัตว์ขึ้นมา ได้รับการพยากรณ์มาว่า ต่อไปจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อสมณโคดม

ฉะนั้น การสร้างสมบุญญาธิการอันนี้ขึ้นมา การเวียนตายเวียนเกิดยังนับอายุของศาสนาไม่ได้ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษามา เกิดมาแล้วมีเชาวน์มีปัญญา เวลาเกิดที่สวนลุมพินี เห็นไหม “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” ขณะเกิดนะ เกิดใหม่ๆ ปฏิญาณตนเลยว่า “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” ทั้งๆ ที่ว่ายังเป็นเด็กอยู่

แล้วเวลาพัฒนาการขึ้นมา พ่อแม่ดูแลเลี้ยงดูมา ศึกษาตำรามา ศึกษาวิชาการมาเพื่อจะเป็นกษัตริย์ ทุกอย่างพร้อมหมด แต่เวลาถึงที่สุดแล้วออกบวช พอออกบวชขึ้นมา ออกบวชประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จิตมันยังไม่มีอายุธรรม มันเป็นอายุของโลกไง อายุของโลกคือผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะคือการเกิดและการตาย การเกิดและการตายในวัฏฏะ

จะเท้าความให้เห็นว่าจิตที่มันจะมา มันจะมาที่เราจะประพฤติปฏิบัติกันอยู่ เราจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง คำว่า “ปฏิบัติ” ปฏิบัติธรรม เพื่อจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง เอาอะไรเป็นหลักเกณฑ์ ถ้าหลักเกณฑ์ของเรา ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติมาเป็นพระโพธิสัตว์ หลักเกณฑ์อยู่ที่ไหน นี่มันยังไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ เพราะมันยังไม่เข้าสู่ธรรม ถ้าไม่เข้าสู่ธรรม ดูสิ ขวนขวาย ค้นคว้า มีการกระทำขึ้นมา การกระทำในหัวใจนะ

เราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาก็เพื่อความสงบระงับของใจ ถ้าใจมันสงบระงับได้แล้ว เรามาพิจารณาของเราด้วยภาวนามยปัญญา อย่างนี้มันถึงจะทำให้เราพ้นจากทุกข์ ให้เราพยายามพิจารณาของเรา แก้ไขของเรา แก้ไขในเรื่องจิตใจของเรา ถ้าเราแก้ไขเรื่องจิตใจของเรานะ เห็นไหม ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา สิ่งที่สัมผัสธรรมได้คือความรู้สึกนึกคิด คือความรู้สึกของใจเป็นความรู้สึกนึกคิด อย่างอื่นสัมผัสธรรมไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดที่สัมผัสธรรมได้นอกจากหัวใจ

ถ้าหัวใจเราจะสัมผัสธรรมได้ เพราะหัวใจเรา เห็นไหม ปฏิสนธิจิตมาเป็นมนุษย์ พอเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา นี่ไง อำนาจวาสนาของการเกิดเป็นมนุษย์ เพราะเกิดเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา เราถึงได้มีวุฒิภาวะ มีจิตใจของเราที่เราจะมาฝึกฝนของเรา ถ้าเราฝึกฝนนะ เราประพฤติปฏิบัติของเราเพื่อคุณงามความดีของเรา ทุกคนอยากจะประสบความสำเร็จ ทุกคนอยากจะมีคุณธรรมในหัวใจ แต่การกระทำนั้น ถ้ากระทำโดยสุขเอาเผากิน โดยความมักง่าย เราจะไม่ได้สิ่งใดติดไม้ติดมือเราไป แต่เราปฏิบัติของเราด้วยสติปัญญา ด้วยความละเอียดรอบคอบของเรา

เวลาเราปฏิบัตินะ ถ้าจิตเราไม่สงบ สิ่งถ้าไม่สงบ แล้วเวลาจิตเราไม่สงบ มันก็เหมือนกับจิตของเรามันแหวกว่ายไปในโอฆะ มันมีแต่ความบีบคั้น มันมีแต่ความรู้สึกนึกคิดที่มัน...เพราะถ้า คำว่า “ความรู้สึกนึกคิด” มันนึกคิดมาจากไหน พอนึกคิดมามันต้องมีที่มา ที่มาคือปฏิสนธิจิต ที่มาคือฐีติจิตที่มันถูกครอบคลุมด้วยอวิชชา สิ่งที่เป็นอวิชชามันไม่รู้ตัวของมันเองอยู่แล้ว ความรู้สึกนึกคิดนี้มันก็มีแต่ความเจ็บปวดแสบร้อนทั้งนั้นน่ะ คิดดีคิดชั่วมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่มันมีความวิตกกังวลอยู่ในหัวใจของมันอยู่แล้ว

ฉะนั้น โอฆะ ที่ว่า นามรูป รูปนาม ต่างๆ นามรูป มหาภูตรูป พูดถึงร่างกาย พูดถึงสิ่งที่เป็นวัตถุ ถ้าเป็นรูป รูปของจิต ความรู้สึกนึกคิด สัญญาอารมณ์ คนจับต้องไม่ได้ถ้าจิตมันยังประพฤติปฏิบัติไม่ถึงวาระของมัน มันจะรู้เห็นของมัน เป็นไปไม่ได้ ถ้ารู้เห็นไปไม่ได้ เหมือนเราพูดสิ่งใดเราก็ต้องสมมุติบัญญัติ สมมุติขึ้นมา สมมุติให้เห็นเป็นสิ่งที่เราสื่อสารกัน ถ้าเราสื่อสารกัน ถ้าจิตมันยังทรงตัวมันไม่ได้ มันก็เกลือกกลั้วอยู่ในโอฆะ อยู่ในอารมณ์ความรู้สึกของเรานั่นน่ะ อยู่ในวัฏสงสาร ฉะนั้น เราพยายามประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ถ้าจิตมันมีความสงบร่มเย็นได้ อย่างเช่น พยับแดด

“อายุธรรม” อายุของมัน อายุของสมาธิ อายุของสติปัญญามันมีเท่านั้นเองหรือ มันพยับแดด มันไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเลย มันไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดในธรรมเลยนะ ถ้ามันไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเลย มันก็อยู่โดยสัญญาอารมณ์ อยู่โดยสัญชาตญาณของเราที่เราศึกษาธรรมะกันอยู่นี้ไง นี้คือโลกียปัญญา

สิ่งที่เป็นโลก เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราเกิดมาในโลก เราเกิดมานี่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ สิ่งที่เราเกิด จิตมันต้องเกิดแน่นอนอยู่แล้ว ไม่มีเว้นวรรค มันจะเกิดของมันโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาตินะ โดยธรรมชาติคือสิ่งที่มันมีอยู่ โดยที่มันต้องขับไสมันไป แต่โดยกรรมล่ะ? โดยกรรมที่มันเกิดสูงเกิดต่ำ เกิดมาแล้ว ดูสิ ในชาติหนึ่งของเรามันยังมีคราวหนึ่งที่เรามีความสุขร่มเย็น มีคราวหนึ่งเราตกทุกข์ได้ยาก “มีคราวหนึ่ง” เห็นไหม ในชีวิตเราชีวิตหนึ่งนี่แหละ มันจะมีลุ่มๆ ดอนๆ

แล้วทีนี้พอจิตมันเกิดในวัฏสงสารมันก็เวียนตายเวียนเกิดไปธรรมชาติของมัน สิ่งที่ธรรมชาติของมัน สิ่งนี้ผลของวัฏฏะ ในวัฏฏะที่จิตมันต้องเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ที่ความมหัศจรรย์ของมัน แต่เวลามาเกิดเป็นมนุษย์ ดูสิ อารมณ์หนึ่งก็ชาติหนึ่ง ความรู้สึกหนึ่งมันเสวยอารมณ์ ความรู้สึกมันก็เกิด ๑ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดมันเกิดแล้วมันก็ดับ มันก็เกิดเรื่องใหม่ มันก็เกิดเรื่องใหม่ นี่ถ้าเราศึกษาธรรมขึ้นมาเราก็เห็นของเรา เราก็เข้าใจของเราได้

ถ้าเข้าใจของเราได้นี่โลกียปัญญา ปัญญาของโลกไง ปัญญาที่เราสื่อสารกัน ปัญญาที่เราศึกษากัน ศึกษาแล้ววาง ศึกษาแล้ววางไว้ให้มันเป็นความจริงขึ้นมา แต่เวลาเราศึกษาเราไม่วาง พอศึกษาแล้วไม่วาง เราก็ตรึกในธรรมใช่ไหม เราใช้ปัญญา เราใช้ปัญญาแยกแยะ

เราทุกข์เพราะอะไร? เราทุกข์เพราะการเกิด แล้วเราไม่เกิด แกล้งลืมมันก็ไม่เกิด จิตมันก็ไม่มี ทุกอย่างมันก็ไม่มี...นี่มันเป็นสัมภเวสีนะ จิตนี้มันเป็นสัมภเวสีเลย จิตนี้ไม่มีสิ่งใดจับต้องได้เลย สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นอะไรเลย มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกเรื่องโลกๆ แล้วเราก็คิดเปรียบเทียบว่ามันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น พอเป็นอย่างนั้นแล้วมันได้อะไรสิ่งใดขึ้นมา

คำว่า “สัมภเวสี” สัมภเวสีคือจิตที่มันแสวงหาที่เกิด มันเกิดในสถานะของสัมภเวสี ก็จิต คือกรรม กรรมนะ กรรมรุนแรงมาตัดรอน แต่อายุขัยเขายังไม่ถึงที่ว่าเขาจะเสวยภพ เขาจะเป็นสัมภเวสี แล้วถ้าจิต เวลาเราตรึกในธรรม เรารู้สึกนึกคิด เหมือนกับสัมภเวสี มันจะแสวงหาสิ่งใดล่ะ

เพราะมันตรึกในธรรมใช่ไหม พิจารณาเรื่องของธรรมะ แต่มันเป็นธรรมจริงหรือเปล่าล่ะ? มันเป็นธรรมไม่จริง เพราะอะไร เพราะเราเป็นมนุษย์ เราเป็นโลก เราเป็นโลกียะ โลก สุตมยปัญญา ศึกษาเล่าเรียนแล้วเราก็ศึกษาใคร่ครวญของเราอยู่อย่างนี้ ถ้าศึกษาใคร่ครวญมันก็เป็นความรู้สึกของโลก นี่โลกียปัญญา แล้วเราก็ศึกษาแล้ว แล้วสิ่งใดต่อไปล่ะ

บางทีมันซาบซึ้งนะ จิตใจของเราถ้ามีสติปัญญา มีความสงบระงับ ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า มันตื่นเต้น มันตื่นเต้นนะ โอ้โฮ! พระพุทธเจ้าละเอียดอ่อนมาก พระพุทธเจ้ารู้จบกระบวนการ รู้นะ เป็นผู้สั่งสอนเทวดา สั่งสอนพรหม เข้าใจเรื่องนี้หมดเลย ทึ่งมากเลย ทึ่งมาก

สิ่งที่ศึกษานี่โลกียะ แล้วมันก็หมุนอยู่ในโลกนี้ มันไม่มีธรรม มันไม่มีความเป็นจริงขึ้นมา แต่พอเราตั้งใจของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา คำว่า “จะประพฤติปฏิบัติ” คืออยากได้ อยากได้ความเป็นจริง อยากได้รู้จริง สิ่งใดที่มันเป็นพิษเป็นภัยในใจของเรา เราจะสำรอกคายออก แต่การคายออกต้องความเป็นจริงของใจนั้น แต่ศึกษาธรรมะนี่เป็นศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมและวินัย แต่ศึกษาโดยเรา ศึกษาโดยโลกไง แล้วมันจะเกิดสิ่งใดล่ะ?

มันถึงไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด มันถึงเป็นสัมภเวสี จิตนี้ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด มันก็ไม่มีอายุของมัน แต่มันมีอายุทางโลก “อายุทางโลก” หมายความว่า เราเกิดชาติหนึ่ง เรามีอายุขัยชาติหนึ่ง มันก็ต้องตายไปจากโลกไง เกิดเป็นมนุษย์ พอถึงหมดอายุขัยก็ตายไป ก็ไปเกิดตามเวรตามกรรม นี่ไง มันมีอายุขัยของโลก แต่มันไม่มีอายุขัยของธรรม

ถ้าอายุขัยของธรรม สิ่งที่ศึกษานี้เป็นธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีสิทธิจะเป็นสมบัติของเรา ถ้าเป็นสมบัติของเรา เราอยากได้สมบัติของเราล่ะ พอเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเราอยากได้สมบัติของเรา เราถึงต้องทำขึ้นมาไง เวลาเราเกิดมา เราเกิดมาจากพ่อจากแม่ พ่อแม่มีเพศสัมพันธ์กัน แล้วปฏิสนธิจิตมันมาเกิด นี่เราเกิดจากพ่อจากแม่ เกิดจากวัฏฏะ เกิดจากเวรจากกรรม

แต่ถ้าเกิดจากธรรมล่ะ ถ้าเกิดเป็นธรรม ธรรมที่มันเกิดขึ้นมา สติเราก็ต้องตั้งขึ้นมาเอง เรากำหนดพุทโธๆ เราก็ต้องทำของเราขึ้นมาเอง พุทโธขนาดไหน นี่ไง เปลี่ยนจากสัญญาอารมณ์ เปลี่ยนจากโลกเป็นธรรม เป็นธรรมโดยบังคับจิตให้มันทำ ถ้าบังคับจิตให้มันทำ จิตมันทำงานของมันโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว

สิ่งที่ไม่ตรงตามความรู้สึกนึกคิด สิ่งที่ไม่ต้องการให้มันเกิดการเผาลนหัวใจ ต้องการให้มันเกิดแต่ความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา ทำไมมันไม่เป็นอย่างที่ปรารถนาเลย ทำไมหัวใจมันเร่าร้อนนัก ทำไมหัวใจเรามันดื้อนัก ทำไมหัวใจของเรา ทำไมเราควบคุมมันไม่ได้ เราทำให้มันอยู่ในอำนาจเราไม่ได้เลย

นี่ไง เพราะมันมีอวิชชา มันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มันจริตนิสัยของคน โทสจริต โมหจริต มันรุนแรงของมัน ถ้ามันรุนแรง นี่เราต้องการสมบัติของเรา เราต้องการ เราศึกษาแล้วนี่เป็นปริยัติ ปริยัติคือธรรมและวินัย แต่เวลาถ้าเป็นความจริงที่เราจะถอดถอนพิษไข้ของเรา เราจะต้องทำของเรา พอเริ่มทำเราก็ต้องเริ่ม ต้องมีการกระทำ แต่การกระทำนะ ทำตามความเป็นจริงนะ เราตั้งสติของเรา เราใช้คำบริกรรมของเราก็ได้ โดยปัญญาอบรมสมาธิก็ได้

ถ้าเราทำของเราไป เราทำของเรา สิ่งที่มันเสวย สิ่งที่มันเป็นสัญชาตญาณของเรา มันเป็นเรื่องโลกๆ ก็สัญชาตญาณนี่แหละ ความรู้สึกนี้แหละ แต่เรามีสติปัญญาของเราบังคับ บังคับให้กำหนดพุทโธๆ มันจะดื้อ เห็นไหม ช้างเผือก แมวมองเขาไปดูช้างเผือกนะ ว่าเด็กคนนี้ บุรุษผู้นี้มีพรสวรรค์ มีสิ่งที่เป็นได้ แล้วมาฝึก ถ้ามาฝึกนะ ถ้าเด็กคนนั้น บุรุษผู้นั้นเขามีความปรารถนา เขามีความตั้งใจ เขามีพรสวรรค์อยู่แล้ว แล้วเขาตั้งใจของเขา เขาฝึกของเขา เขาทำของเขาเพื่ออนาคตของเขาเอง เขาทำของเขา เขาจะรักษาของเขาเอง

แต่ถ้าเอามาฝึก เขามักง่าย เขาอยากได้ด่วนได้ คนๆ นั้น พื้นฐานของเขาจะไม่มั่นคง เขาจะไปไม่ได้ กำหนดพุทโธ เด็กคนนั้น บุรุษคนนั้น เหมือนจิตของเรา เด็กคนนั้น บุรุษคนนั้น ดูสิ เรื่องการฝึกซ้อม เรื่องการขยันหมั่นเพียร ถ้าเขามีนิสัย เขาเป็นไปได้ ถ้าเขาไม่มีนิสัย มันเป็นไปไม่ได้ จิตเหมือนกัน จิตเรากำหนดให้พุทโธๆ เราพยายามบังคับให้เขามากำหนด ให้จิตนี้กำหนดพุทโธ เพื่อพุทธานุสติ ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นธรรม เป็นสิ่งเชิดชูศาสดาของเรา

ถ้าจิตของเราสงบ มีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่มันเศร้า มันเฉา มันหงอย มันเหงา มันเบิกบานที่ไหน ทำไมมันไม่เบิกบาน กำหนดพุทโธแล้วทำไมไม่เบิกบาน พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานมันต้องเบิกบาน ทำไมมันไม่เบิกบาน? เบิกบานนี่มันเป็นตามข้อเท็จจริง แต่ขณะนี้มันเฉา มันเหงา มันหงอย เพราะมันยังไม่ได้สัมผัส มันไม่รู้จริงของมัน มันก็เลยไม่มีผล ไม่มีรสของธรรม

ถ้ามีรสของธรรม เห็นไหม มันได้สัมผัส พุทโธๆ เราบังคับ เราดูแลของเราไป พอจิตมันสงบ จิตเริ่มสงบ พอจิตสงบขึ้นมา แวบ ชั่วแวบ พอมันสงบสักพักมันก็คลายตัวออก นี่การฝึกฝน การกระทำของเรา อายุขัยของมัน อายุของธรรมชั่วพยับแดด ชั่วฟ้าแลบ มันไม่มั่นคงของมันเลย แต่เราฝึกฝนของเราบ่อยเข้า เรามีสติปัญญาของเรา เรามีความตั้งใจของเรา

สิ่งใดมันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นของแสลง เป็นสิ่งที่ว่ามันทำให้ใจฟุ้งซ่าน สิ่งใดที่ทำให้เราบังคับไม่ได้ สิ่งใดที่ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ถ้ามันมีกำลังของมันเกินไป เราจะกำหนดพุทโธของเราขึ้นมา พลังงาน ดูสิ พลังงานที่มีอำนาจมากกว่า มันทำให้เราง่วงหงาวหาวนอน มันทำให้วิตกกังวล มันทำว่า ทำไมมันเป็นอย่างนั้น ทำไมปฏิบัติมันยากขนาดนี้ งานอย่างใดๆ เราก็ทำมาหมดแล้ว ทุกอย่างเราก็ทำได้ ทำไมเราเอาใจของเราไว้ไม่ได้

ถ้าเรามีสติปัญญาอย่างนี้ คอยหาทางออก ถ้ามันหาทางออกนะ เรามีสติปัญญา พยายามใช้ปัญญาตะล่อมใจของตัวเอง แล้วเรามีสัจจะ แล้วเรามีการกระทำของเรา แล้วเราค้นคว้าของเรา จากที่ว่ามันสงบได้ยากเย็น จากที่มันสงบไม่ได้เลย บางทีสงบไม่ได้เลยนะ แล้วสงบอย่างไรก็ไม่รู้ แล้วถ้ามันสงบขึ้นมามันก็เป็นส้มหล่น

คนเราเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ทุกคนได้ทำกรรมดีและกรรมชั่วมา ถ้าใครมีกรรมดีกรรมชั่ว สิ่งที่เป็นคุณธรรมของเรา เป็นกรรมดีของเราขึ้นมา เวลาพุทโธๆ ไป มันเป็นไปเอง เราพุทโธๆ อยู่แล้วมันเป็นไปเองอย่างไร? เวลามันพุทโธๆ อยู่ เวลาส้มมันหล่นมันเป็นไปได้ แต่เราไม่ได้บริหารจัดการ คือเราไม่ได้ควบคุม ไม่ได้ดูแล เราไม่รู้จักเหตุรู้จักผล การควบคุมของเรา การสืบต่อของเรา เราจะทำต่อไป มันจะเข้าออกไม่เป็นไง

ถ้าเข้าออกไม่เป็น พอมันวูบ มันเป็นไป “อืม! เราได้สมาธิแล้ว” ก็ชั่วฟ้าแลบ แล้วมันก็คลายตัวออกมา แล้วเราคิดว่าเราได้สมาธิแล้วเหรอ อายุของสมาธิมีแค่ชั่วฟ้าแลบแปล๊บแค่นี้เหรอ แล้วมันจะเดินต่อไปอย่างไร มันจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ถ้ามันจะเดินหน้าต่อไปนะ เราจะต้องพยายามหาทำความสงบของใจ เพราะมันยืนยันว่ามันเคยสงบ พอมันเคยสงบแล้ว สิ่งที่ไม่สงบเพราะเหตุใด เราหาทางของเรา เราพิจารณาของเรา ถ้าเราทำของเรา มีสงบบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า คำว่า “บ่อยครั้งเข้า” ถ้ามันสงบบ่อยครั้งเข้า ถ้ามันไม่สงบ เราใช้ปัญญาซะ ถ้ามันไม่สงบนะ เราต้องการแต่ความสงบ คือต้องการสมาธิอย่างเดียว แต่เราก็จะต้องให้มันสงบก่อนถึงใช้ปัญญา

แต่ถ้ามันยังไม่สงบแล้วมันดื้อ จิตมันดื้อ ทุกอย่างมันดื้อ เราใช้ปัญญา เกิดมาทำไม งานที่ทำมา ทุกอย่างก็ทำมาแล้ว งานต่อไปเราจะทำมันก็ทำเพื่อดำรงชีวิตนี้ แล้วชีวิตนี้ จะรักขนาดไหน จะหวงแหนขนาดไหน จะดีขนาดไหน มันก็ต้องพลัดพรากทั้งนั้น “ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” จะช้าจะเร็วเท่านั้น

ฉะนั้น สิ่งที่เราแสวงหา เราทำมาเพื่อเรา มันก็ต้องพลัดพรากสักวันหนึ่ง แล้วมันพลัดพรากไปแล้วมันมีสิ่งใดที่มันจะเป็นสมบัติ มีสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ นี่เตือนตัวเอง ถ้ามันเตือนตัวเอง สิ่งที่ทำก็ทำมาแล้ว สิ่งที่เราจะทำความสงบของใจ ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ยังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เราจะมีโอกาสอยู่ ถ้ามีโอกาสอยู่ เราก็หาอุบาย หาวิธีการ จิตใจนี้มันดื้อนัก กิเลสนี้มันครอบงำเราอยู่ในอำนาจมันมาตลอด แล้วอยู่ดีๆ มันจะปล่อยให้เราประพฤติปฏิบัติไป

ในทางโลก เด็กคนไหนดี เด็กคนไหนมีการศึกษาดี เราทุกคนนะ เราอยากจะส่งเสริมให้เด็กคนนั้นให้ไปสู่เป้าหมาย ให้ไปสู่สิ่งที่สูงสุดของเขา เราอยากช่วยเหลือ เราอยากจะเจือจานทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ทุกคนต้องทำด้วยตัวเอง พอทุกคนต้องทำด้วยตัวเอง มันไม่มีใครส่งเสริมใครได้ มีแต่เราให้โอกาสกัน เราช่วยเหลือเจือจานกัน เราเป็นหมู่คณะกัน เราจะเปิดโอกาสให้ แล้วเขาจะทำของเขา

ถ้าเขาทำของเขาขึ้นมา เราทำของเรา รักษาใจของเรา ฝึกฝนให้มันมีความชำนาญ ให้อายุมันยืนขึ้น สมาธิ ๕ นาที ๑๐ นาที เวลาครูบาอาจารย์เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ เวลาเข้าไปถึง ใช้สติปัญญา เวลามันเข้ามาถึงอัปปนาสมาธิ ลงทีหนึ่ง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงนะ นี่อายุของสมาธิ มันมี ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง พอมันคลายตัวออกมา อัปปนาสมาธิก็ออกมาอุปจาระ ออกมาขณิกะ พอออกมาแล้วเราก็ฝึกฝนใช้ปัญญา สิ่งนี้มันเป็นพื้นฐาน

พื้นฐานว่า ถ้าการกระทำของเรา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา การฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาในอุบายวิธีการที่เราจะทำความสงบของใจ ปัญญาเราพิจารณาตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้จิตใจนี่ฝึกหัด ให้จิตใจนี้มันใช้ปัญญาเป็น ถ้ามันใช้ปัญญาเป็นนะ มันออกทางปัญญา มันจะออกเป็นโลกุตตรปัญญา

ปัญญาที่มันเกิดขึ้นโดยส้มหล่น ปัญญาที่มันเกิดขึ้นเอง ที่ว่า มันเคยเป็น มันเป็นมาแล้ว แล้วมันจะอยู่กับเรา...มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นมาแล้วมันก็ผ่านมาแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้ว สิ่งที่เป็นอดีตมา เห็นไหม เราเคยมีเงินทองกันมา แล้วเราใช้จ่ายไปหมดแล้ว เราบอกว่าเรายังมีเงินอยู่ได้ไหม เงินมันหมดไปแล้วมันก็คือหมดไปใช่ไหม สิ่งนี้เราจะต้องดำรงชีวิตอยู่ เราก็ต้องหาเงินขึ้นมาเพื่อเอาเงินนี้ดำรงชีวิตต่อไป

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบร่มเย็นมาแล้ว ถ้าเราไม่รักษามันก็เสื่อมหมด ถ้าเรารักษาไว้ รักษาไว้เพื่ออะไร เงินทองเรารักษาไว้เพื่ออะไร? รักษาไว้เพื่อจะดำรงชีวิต รักษาไว้เพื่อจะจับจ่ายใช้สอย เพื่อชีวิตนี้เจริญรุ่งเรืองขึ้นไป

จิตใจ ถ้ามันสงบระงับแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา การฝึกหัดใช้ปัญญา คือถ้าจิตมันสงบ เหมือนคนที่มีเงินแล้วเราจับจ่ายใช้สอยมันก็เป็นประโยชน์ขึ้นมา คนที่ยังไม่มีเงิน เราอยากจับจ่ายใช้สอย แต่เราไม่มีเงิน เราก็ต้องกู้ยืมเขา เราก็ต้องใช้ของคนอื่นไปก่อน แต่ถ้าเรามีของเราขึ้นมา เราใช้ของเรา

การใช้ของคนอื่นไปก่อน ดูสิ เราฟังธรรมครูบาอาจารย์ เราเอาสิ่งนั้นเป็นตัวตั้ง เป็นประเด็นขึ้นมาแล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา นี่เราก็ใช้ของครูบาอาจารย์ไปก่อน

เขาบอก มันเป็นสัญญา

สัญญาก็เป็นสัญญา ไม่เป็นสัญญาเลยเราจะฝึกหัดใช้ปัญญาได้อย่างไร ปัญญาที่เป็นปัญญาทางธรรมนะ ปัญญาทางธรรมที่มันจะเกิดขึ้นมา เราคาดหมายไม่ได้หรอก สิ่งที่เราคาดหมาย

ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะถึงจะเป็นสัจจะความจริง

ผู้ใดด้นเดาธรรม ผู้ใดคาดหมายธรรม แล้วเราใช้ปัญญานี่เราก็คาดหมาย อยากเป็นอย่างนั้นๆ เราคาดหมายไปหมด เพราะเราปฏิบัติไม่เป็น พอปฏิบัติเป็นนะ พอมันปฏิบัติเป็น ถ้ามันเป็นของมัน เราจะฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญามันเกิดขึ้น พอปัญญามันเกิดขึ้น พอเกิดขึ้นนี่มันซาบซึ้ง

“รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” เวลารสของมัน รสของธรรมที่เราใช้ปัญญาขึ้นมา พอเราซาบซึ้งขึ้นมา นี่ไง โลกุตตรปัญญา ปัญญาเราต้องฝึกหัดใช้ปัญญา พอการฝึกหัดใช้ พอมันใช้ปัญญาเป็น มันเห็นคุณค่าของมัน แล้วมันก็ถ้าเห็นคุณค่า กลับมาทำความสงบของใจ แล้วกลับไปฝึกหัดใช้ปัญญา นี่อายุของสมาธิมันก็จะรักษาได้มากขึ้น

“อายุธรรม” อายุของสมาธิ พอสมาธิมันพิจารณาของมันไป มันจับต้องของมันได้ มันจะเข้าสู่มรรค พอเข้าสู่มรรค มรรค ผล นิพพานมันเกิด อายุของธรรมนะ นี่ถ้าอายุขัยของมันมี อายุขัยของมันสั้นนัก แต่ถ้ามันไม่เกิดเลยมันก็ไม่มีอายุของมันเลย มันไม่มีอายุคือว่า ดูสิ เวลาสมาธิเราลงมากน้อยแค่ไหน แล้วเกิดใช้ปัญญาขึ้นมา พิจารณาของมันไป การใช้ปัญญาพิจารณาไปมันมีการขวนขวายนะ ถ้ามันไม่มีการขวนขวาย ไม่มีการกระทำ มันก็อยู่ในที่เดิมของมัน

จิตใจเราจะพัฒนามากขึ้น ถ้าจิตใจพัฒนามากขึ้น มันพิจารณาของมันไป พิจารณาของมันคืองาน ถ้ามีงานทำ เวลามีงานทำ เราปฏิบัติของเราเป็น ถ้าจิตมันสงบแล้วมันพิจารณาของมัน มันจะพิจารณาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ความเห็นนะ ความเห็นตามความเป็นจริง แล้วถ้าเราไม่เห็นตามความเป็นจริงล่ะ เราจะเห็นได้อย่างไร?

สิ่งที่เรายังไม่เห็นตามความเป็นจริง เราเห็นของเราอยู่นี่มันก็เหมือนกับเรากำหนดพุทโธ ถ้าเรากำหนดพุทโธ เราพุทโธๆ เริ่มต้นพุทโธ จิตใจมันไม่อยากทำ มันไม่ยอมทำหรอก เพราะมันเป็นของแสลงกับกิเลส แต่ถ้ามันเป็นความรู้สึกนึกคิดของเราโดยธรรมชาติ คิดเรื่องสัญญาอารมณ์ คิดเรื่องโลกๆ นี่มันพอใจจะคิด เพราะสิ่งนี้มันคุ้นเคยกัน พอมาพุทโธๆ นี่มันต่อต้าน มันไม่ต้องการ เพราะว่ามันไม่มีรส ไม่มีชาติ คำว่า “ไม่มีรส มีชาติ” คือมันยังไม่เป็นธรรม

แต่ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมา “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง”

รสของความสงบ รสของความสุข “สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

ฉะนั้น สิ่งที่พอมันพิจารณาไป มันกำหนดของมันไปจนมันเป็นตามความเป็นจริงขึ้นมา มันถึงเกิดรสขึ้นมา แต่เดิมมันก็ต่อต้าน มันก็คัดค้านทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น เวลาปัญญา ถ้ามันเห็นตามความเป็นจริง พอจิตสงบแล้ว พอจิตเห็นกายตามความเป็นจริง “เห็นกาย” เรากำหนดพุทโธก็ได้ พิจารณากายก็ได้ กำหนดเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้คือการกำหนด คือการเอาสิ่งนี้

จิตใจนี้มันดื้อนัก จิตใจนี้มันต้องมีพี่เลี้ยง จิตใจมันต้องมีคนดูแล เราก็เอาสติกับพุทโธนี่เป็นผู้ดูแล พอดูแลขึ้นมาจนมันตั้งมั่นได้ มันมีอายุขัยของมัน อายุขัยของมันมีสั้นนัก เราก็เสริมขึ้นไป ถ้าพุทโธมากขึ้น ตั้งสติมากขึ้น ถ้าจิตมันลง มันต้องลงมากขึ้นๆ อายุมันจะยืนขึ้น พออายุยืนขึ้น เราก็เอาสิ่งนั้นมาพิจารณาให้ได้มากขึ้น

การพิจารณา เวลาพิจารณาในเวทนา พิจารณาจิต พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาอย่างไร เวลาพิจารณากาย กำหนดพิจารณากาย พิจารณากายโดยสามัญสำนึก พิจารณากาย เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ กำหนดพุทโธๆ นี่เป็นสมถะ คือพิจารณาเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขไง พิจารณาสิ่งที่เป็นโลกๆ นี่ไง พิจารณาจิตที่มันดื้อดึงนัก จิตที่มันเสวยอารมณ์ที่มันคิดแต่โดยสัญชาตญาณของมัน มันเคยทำแต่ตามใจตัวของมัน

เราเปลี่ยนแปลง ฝึกหัดใจของเรา ฝึกหัดใจของเราให้มันมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าเราฝึกหัดใจของเราให้มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา พอมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันมีสัมมาสมาธิขึ้นมา แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา พอฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาระหว่างสมถะกับวิปัสสนามันแตกต่างกันอย่างไร เวลาสิ่งที่เป็นสมถะ กำหนดพิจารณากายขนาดไหนก็เพื่อความสงบระงับ ถ้ามันสงบระงับขึ้นมา มันเกิดในธรรม

ถ้าเกิดในโลก อยู่กับโลก ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เกิดมาที่สวนลุมพินี “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” นี่ยังไม่ได้เกิดอะไรเลย แต่ก็มีแรงปรารถนา มีสิ่งที่มีเป้าหมาย แต่เวลาออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนถึงที่สุด อานาปานสติ กำหนดความสงบของใจ มันก็เข้าไปรู้ถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณ กำหนดให้มันละเอียดเข้าไปมันก็เป็นจุตูปปาตญาณ นี่อายุของสมาธิ อายุของจิตที่สงบ แต่มันยังไม่เข้าถึงอาสวักขยญาณ

เวลาเข้าถึงอาสวักขยญาณ ทำลายกิเลสปั๊บ มันพ้นไปเพราะมันเป็นวิมุตติ มันไม่มีอายุขัย

สิ่งที่เป็นวิมุตตินะ พ้นจากวัฏฏะ พอพ้นจากวัฏฏะ อายุมาจากไหน มันไม่มีอายุนับแล้ว

แต่ถ้ายังมีอายุคือการก้าวเดินไป “อายุ” หมายความว่า สิ่งที่เราจะทรงได้มากน้อยแค่ไหน แล้วการทรง ทรงเพื่อสิ่งใด ทรงสมาธิ มีสติ ทรงสติไว้ สมาธิไว้ แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาเพื่ออะไร? เพื่อจะก้าวเดินให้เป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป จนกว่ามันจะพ้นจากโลก พ้นจากวัฏฏะ พ้นจากสิ่งที่จิตนี้มันมีเวรมีกรรมที่จะต้องชดใช้กัน แต่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อจะรื้อจะถอน ความรื้อถอนนี่มันมีระดับของมันไง

ถ้าจิตมันไม่เคยผ่าน จิตมันไม่เคยเป็นของมัน มันจะไม่มีสิ่งใดมารองรับข้อเท็จจริงของจิตดวงนี้ ถ้าจิตดวงนี้ ถ้าไม่มีข้อรับรองจิตดวงนี้ จิตดวงนี้ก็ไม่รู้สิ่งใด ถ้าจิตไม่รู้สิ่งใด มันก็จะหมุนเวียนไปในวัฏฏะ เพราะไม่มีใครจะไปบังคับบัญชา ไปบริหารจัดการมันได้ แต่ที่เรามาประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี่ เราตั้งสติอยู่ แล้วเรากำหนดพุทโธอยู่นี่ไง ก็เพื่อจะบริหารจัดการ เพื่อจะจิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตนี้กลั่นออกมา

แล้วอริยสัจมันคืออะไร อริยสัจมันอยู่ในตำราใช่ไหม อริยสัจมันอยู่ที่ครูบาอาจารย์ใช่ไหม อริยสัจอยู่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม เราไม่มีอริยสัจขึ้นมาเลยเหรอ ถ้าเราจะมีอริยสัจขึ้นมา เราก็ต้องทำความสงบของใจเราเข้ามา ถ้าใจเราสงบเข้ามา มันเกิดสัจจะความจริง จิตนี้ถ้าไม่มีกิเลสมันครอบงำอยู่ เวลาเราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา มันจะเกิดความจริงขึ้นมา

ถ้าเกิดความจริงขึ้นมา เวลาเราจิตสงบแล้ว พยายามรำพึงไปที่กาย ถ้าเห็นกายจริงนะ แต่ขณะที่จิตที่มันไม่สงบ จิตที่เป็นสามัญสำนึก เรานึกเรื่องกายเราก็นึกได้ เรานึกได้ เรานึกได้อยู่แล้ว แต่การนึกอย่างนี้ นึกให้เห็นกาย นี่ที่ว่ามันเป็นสมถะ แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันรำพึงไปที่กาย มันไม่ใช่นึก ถ้ามันนึกขึ้นมา พอมันนึกขึ้นมามันเป็นเรื่องสมถะ เป็นเรื่องของโลก มันเป็นโลกียะไง

แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา มันไม่ได้นึก มันรำพึง พอรำพึงเกิดขึ้น เกิดขึ้นจากจิตที่มันมีฐานของมัน มันมีฐานของมันคือมันมีสัมมาสมาธิที่เป็นฐาน คือมันมีทุน มีทุนเป็นของตัวเอง มีทุกอย่างเป็นของตัวเอง นี่ไง อริยสัจเกิดตรงนี้ไง วิปัสสนามันเกิดตรงนี้ ถ้าเกิดตรงนี้พิจารณาไป พิจารณาแล้วมันปล่อย นี่มันมีการขวนขวาย มันมีการกระทำอาบเหงื่อต่างน้ำ พออาบเหงื่อต่างน้ำ มันจะยกจิตนี้ขึ้นสู่สภาวะ ถ้ายกขึ้นสู่สภาวะ

ดูสิ ดูจิตที่มันเป็นสามัญสำนึก เวลาจิตสงบเข้ามา ระหว่างความสงบกับไม่สงบมันแตกต่างกัน เวลาจิตมันวิปัสสนาไป มันเป็นโสดาปัตติมรรคแล้ว ถ้าโสดาปัตติมรรค พิจารณาแล้วมันก็ปล่อย ถ้าจิตมีกำลัง แล้วมีปัญญา จิตมีกำลังคือมีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิมันไม่เกิดปัญญา ถ้ามันเกิดปัญญามันจะเป็นสัญญา สัญญาคือโลก สัญญาคือสามัญสำนึก สัญญาคือสิ่งที่เกิดจากอวิชชา เกิดจากกิเลส เกิดจากการศึกษานี่แหละ เกิดจากที่เราศึกษามา

แต่เพราะมันยังมีอวิชชา มีความไม่รู้อยู่ มันก็ยึดมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นความรู้ของมัน พอมันยึดมั่นว่าเป็นความรู้ของมัน พอจิตพิจารณาไปแล้ว ในเมื่ออวิชชาพาพิจารณามันจะปล่อยวางอะไร พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าจนเหนื่อยจนล้า จนเอ๊ะ! มันไม่เห็นมีอะไรเลย เอ๊ะ! ปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้ผลอะไรเลย? มันจะได้ผลอะไรล่ะ มันปฏิบัติโดยกิเลส มันก็ได้ผลโดยกิเลสหลอกไง

แต่พอถ้ามีครูบาอาจารย์คอยเตือน ๑ ถ้ามีสติปัญญาจนรู้เท่าว่าเราปฏิบัติมาโดยกิเลสมันหลอกมา เพราะเราปฏิบัติมาโดยที่ไม่มีผู้ชี้นำ ไม่มีใครคอยประคอง จนกว่าจะรู้ได้ รู้ได้เราก็ปล่อย ถ้าปล่อยแล้วเราทำความสงบของใจเราเข้ามา สิ่งที่เราพิจารณาไปแล้วมันทั้งเหนื่อยทั้งล้า แล้วไม่ได้ประโยชน์สิ่งใดเลย แต่พอเราปล่อยแล้วเราทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบเข้ามาแล้ว ถ้าเรารำพึงไปที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรมโดยเห็นตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริงมันสะเทือนหัวใจ

“รู้” รู้ได้ด้วยความเป็นจริงเลย มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกทั้งนั้นล่ะ ถ้าพิจารณาอย่างนี้ พอมันรู้จริงเห็นจริง มันพิจารณาแล้วมันสะเทือนใจ มันสะเทือนใจแล้วมันถอดถอนความยึดมั่นในใจ พอมันพิจารณาแล้วมันปล่อย พอมันปล่อย นี่ไง ที่ว่าเป็นตทังคปหาน

พิจารณากายแล้วทำอย่างไรต่อไป พอพิจารณากายแล้วมันปล่อยแล้ว ปล่อยแล้วเป็นอย่างไร ปล่อยแล้ว...นี่อายุของมัน อายุของการทำงาน อายุของโสดาปัตติมรรค ถ้ามันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าอายุของธรรมเกิดกับเราแค่นี้ แล้วเราก็ไม่มีใครคอยบอก แล้วเราก็พิจารณาของเรา แล้วเราว่ามันจะเป็นธรรม แล้วพอมันขาดสติหรือทำงานของเรา เรารักษาของเราไม่ดีมันก็เสื่อมหมด

พอเสื่อมหมด นี่จากอายุมันก็ตาย ธรรมก็ตายไปจากใจ พอตายไปจากใจมันก็เป็นสามัญสำนึกเหมือนเดิม เป็นปุถุชนนี่แหละ เป็นเรื่องของสามัญสำนึก ถ้าเรามีสติปัญญา เราก็รื้อฟื้นในความสงบเข้ามาอีก แล้วพิจารณาซ้ำ เพราะเราเคยผิดพลาดใช่ไหม ใครเคยผิดพลาดจะรู้ รู้ว่าถ้าพิจารณาอย่างนี้มันจืดๆ มันเรื่องสามัญสำนึก มันก็เรื่องปกติ แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว พอไปเห็นกายมันขนพองสยองเกล้า มันไม่ใช่สามัญสำนึกหรอก มันสะเทือนไปทั้งใจเลย

ถ้าเราเจริญแล้วเสื่อมใช่ไหม พอมันเสื่อมแล้วเราก็ฟื้นฟูให้กลับมาให้มันเจริญขึ้นมา เจริญมันก็พิจารณาซ้ำเข้าไปอีก พอซ้ำเข้าไปก็เกิดในธรรม นี่อายุของธรรมเกิดอีก แต่เกิดในโสดาปัตติมรรค พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ จนถึงที่สุดมันขาด

พอมันขาด สิ่งที่ขาดแล้ว อายุธรรมนี้จะเป็นโสดาบัน โสดาบันนี้ไม่มีวันเสื่อม ถ้าโสดาบันนี้ไม่มีวันเสื่อม มันจะคงที่ของมัน แต่คงที่ อายุของโสดาบันสูงสุด ๗ ชาติ ถ้า ๗ ชาติ จะถึงที่สุด ถ้าถึงที่สุดคือเข้าสู่วิมุตติ อายุของมันจะอยู่สูงสุด ๗ ชาติ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเราต่อไป เราปฏิบัติต่อไป นี่อายุของธรรมมีโสดาบันรองรับ ถ้ามันจะเสื่อมมามันก็เสื่อมมาที่โสดาบัน มีอกุปปธรรมนี้รองรับ

แต่ถ้ามันเจริญต่อไปล่ะ ถ้ามันเจริญต่อไปนะ เราทำความสงบของใจมากขึ้น พอจิตสงบมากขึ้น อายุของมันจะมีอีกแล้ว อายุคือการขวนขวาย คือการกระทำ ถ้ามีการกระทำขึ้นไปนะ เรามีการกระทำของเรา เราปฏิบัติของเราขึ้นไป เราจะต้องมีสติ เราต้องมีปัญญาของเรา แยกแยะของเรา การหมั่นเพียร ความเพียรของเรานะ ถ้าเราทำสิ่งใด ใครทำแล้วทำซ้ำทำซาก กิเลสมันรู้ทัน พอกิเลสมันรู้ทันนะ มันก็ทำให้เราล้มลุกคลุกคลานนะ

คำว่า “ล้มลุกคลุกคลาน” ดูสิ เราให้อาหารสัตว์ใช่ไหม แล้วเราหลอกล่อ เราไม่ให้อาหาร สัตว์นั้นจะไม่ได้อาหารนั้น นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติของเรา เราว่าเราปฏิบัติธรรม “กิเลส” กิเลสมันหลอกมันล่อว่าสิ่งนี้เป็นธรรม มันจะล้มลุกคลุกคลาน ถ้าล้มลุกคลุกคลานนะ เราจะต้องตั้งสติให้มั่นคง แล้วเราจะหาของเรากินเอง เราไม่ให้กิเลสมันหลอกมันล่อ ถ้าเราจะหาอาหารของเราเอง จิตเราสงบแล้วเราจะควบคุม แล้วพิจารณาของเราเอง

ถ้าพิจารณาของเราเอง ถ้ามันเป็นธรรม มันเป็นธรรม มันจะมีการขวนขวาย มีการกระทำของมันขึ้นไป ถ้าเป็นธรรมของมันนะ มันพิจารณาแล้วพิจารณาจากตามความเป็นจริง มันก็จะปล่อยเหมือนเดิม คำว่า “ปล่อยเหมือนเดิม” เหมือนการทำงาน ทำงานสิ่งใดก็แล้วแต่ ทำจบแล้วเราก็ทำซ้ำ ทำจบแล้วเราก็ทำซ้ำ นี้คือความชำนาญ ถ้าใครมีผู้ชำนาญการ ทำเสร็จแล้วจะประสบความสำเร็จ

แต่ถ้าไม่มีผู้ชำนาญการ จะล้มลุกคลุกคลานนะ เราก็จะหาความบกพร่องของเรา สิ่งใดที่มันทำแล้วมันไม่ได้ประโยชน์ มันบกพร่องสิ่งใด คำว่า “บกพร่องสิ่งใด” เวลางานเราก็ดูเนื้องานใช่ไหม แต่เวลาปฏิบัติเราต้องดูที่หัวใจของเรา ทำไมหัวใจของเรามันปฏิบัติแล้วมันมีความขัดแย้งอย่างใด

ฉะนั้น เวลาคนที่ว่าภาวนาเป็น กับภาวนาไม่เป็น ภาวนาไม่เป็นนะ เราจะไม่รู้เหตุรู้ผล แล้วเราเหมือนกำปั้นทุบดิน เราจะต้องการ เราต้องการแล้วเราเรียกร้องสิ่งที่เราปรารถนา แต่มันไม่สมความเป็นจริง แต่ถ้าภาวนาเป็น เพราะเราล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่ต้น แล้วเราพิจารณากายมาจนแบบว่าอายุของธรรม อายุของโสดาบันมันเป็นความจริงกับใจดวงนั้น

สิ่งที่ล้มลุกคลุกคลานมา กว่าที่มันจะสมุจเฉทปหานให้เป็นโสดาบัน สิ่งนี้เป็นการฝึกฝนมา เพราะสิ่งนี้เป็นการยืนยันว่าเราภาวนาเป็น เราภาวนาเป็นคือเรามีประสบการณ์อันนี้มา ถ้าประสบการณ์อันนี้ เราเคยล้มลุกคลุกคลานมา เคยผิดมา ถ้าผิดมา ถ้าผิดแล้วไม่รักษามันจะเสื่อมหมด

ถ้าเสื่อมหมด เราอยากได้ความจริงเราก็ต้องพยายามรักษาใจของเราให้เข้มแข็งขึ้นมา พอเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว เราจะพิจารณาไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่ามันจะขาด พอมันขาดไปแล้วมันถึงเป็นธรรมที่เรามีในหัวใจนี้ ถ้าธรรมที่มีในหัวใจนี้ สิ่งนี้เป็นการยืนยันกับใจดวงนี้ว่า สิ่งถ้ามันจะเป็นธรรม มันสิ่งที่เป็นตทังคปหานมันปล่อยวางขนาดไหนมันก็ไม่ใช่ผล แต่ถ้ามันขาดแล้ว สังโยชน์ขาดไป นี่มันเป็นผล นี่คือภาวนาเป็น

ถ้าภาวนาเป็น พอเรามาพิจารณาขั้นต่อไป สิ่งที่ว่าอายุของมันอีก ๗ ชาติ เราจะทำให้สมความปรารถนาในชาตินี้เลย ถ้าสมความปรารถนาชาตินี้ เราพิจารณาของเราไปๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะภาวนาเป็น สิ่งที่เราผ่านมาแล้วมันจะเป็นประสบการณ์ที่เราจะเอามาแยกแยะใช้ประโยชน์ พอใช้ประโยชน์ เราก็พิจารณาซ้ำ หาอุบาย เพราะกิเลสที่มันละเอียดขึ้นนะ กิเลสที่มันละเอียดขึ้นมันจะหลอกลวงเราจนเราทันมันไม่ได้

แต่ถ้าเราฝึกฝนไป เราปฏิบัติของเราไป เรามีครูบาอาจารย์ของเราไป เราศึกษาของเราไป ศึกษานะ ศึกษาเพราะเราจะฟัง เวลาฟังเทศน์ไง ฟังเทศน์ว่าครูบาอาจารย์ท่านอธิบายของท่าน แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมาท่านก็มีอุบายของท่าน สิ่งที่เราทำของเรา ถ้าเราทำของเราขึ้นมาเป็นจริง งานของเราก็คืออุบายของเรา สิ่งที่เราทำเป็น สิ่งที่เราทำถูกต้อง มันต้องเกิดกับเรา

ถ้าเกิดกับเรา เราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เวลามันขาดนะ โลกนี้ราบหมด ถ้าโลกนี้ราบหมด สิ่งที่พอราบหมด ถ้าอายุของสกิทาคามี กับอายุของโสดาบัน ถ้าโสดาบันเกิดในวัฏฏะมันจะอีก ๗ ชาติ แต่ถ้าเราพิจารณาใช้เวลาเท่าไร เวลาตั้งแต่เป็นโสดาบันจนกว่าพิจารณาจนถึงเป็นสกิทาคามีแล้วเป็นผล มันรวม ขาด โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง มันอายุเท่าไร นี่ไง ครูบาอาจารย์ท่านมีตรงนี้นะว่า ท่านเป็นโสดาบันเมื่อไร เป็นสกิทาคามีเมื่อไร แล้วถ้ามีครูบาอาจารย์ขึ้นไป มันมีครูบาอาจารย์คอยบอกคอยสอน มันจะต่อเนื่องกันไป

แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยบอกคอยสอน การติดอยู่ระหว่างสกิทาคามีถึงอนาคามีนี่กี่ปี กี่เดือน ถ้าเป็นขิปปาภิญญานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาไปศึกษามา ๖ ปี แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองล่ะ เวลาประพฤติปฏิบัตินั่งคืนเดียว ขิปปาภิญญา เวลาบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ เวลาอาสวักขยญาณ

“อายุ” เห็นไหม ขิปปาภิญญาคือมันตรัสรู้ทีเดียวจบเลย แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา เวไนยสัตว์ อายุของมัน ถ้าอายุของมัน ๑ ปี ถ้าอายุของมัน ๒ วัน ๓ วัน นี่จากโสดาบันเป็นสกิทาคามี แล้วจากสกิทาคามีนี้ขึ้นไปล่ะ

แล้วเวลามันติดนะ “เวลาติด” หมายถึงว่า เราประพฤติปฏิบัติไป เราเข้าใจว่า ถ้าคนยังไม่วิมุตติ ขณะที่ก้าวเดินอยู่นี่มันจะให้ค่าของมันโดยกิเลสมันหลอกว่านี่คือนิพพาน ถ้าว่านี่คือนิพพาน เราจะก้าวเดิน เราเชื่อในความรู้ของเรา แต่มันไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริงเพราะกิเลสในหัวใจของเรา เราจะรู้จริงไม่ได้ เรารู้จริงไม่ได้เพราะมันมีกิเลสที่ละเอียดกว่ามันครอบงำเราอยู่ มารที่ละเอียดกว่า

เวลามาร มีหลานของมาร มีลูกของมาร มีพ่อของมาร มีปู่ของมาร มารยิ่งละเอียดเข้าไป มันยิ่งเล่ห์กลมันยิ่งละเอียดใหญ่ พอละเอียดใหญ่ เรารู้ไม่ได้ พอเรารู้ไม่ได้เราจะติด ถ้าเราติดนะ มีครูบาอาจารย์ก็เป็นวาสนา ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ ใครมีวุฒิภาวะ มีการศึกษา แล้วมีฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ ถ้ามรรค ๔ ผล ๔ มันถึงจะสิ้นกิเลส ไอ้นี่มันมรรคกี่ขั้นตอนล่ะ ถ้ามีสติปัญญานะ มันจะค้นคว้าของมัน ถ้ามีการค้นคว้าของมัน

อายุของสกิทาคามี ถ้าเข้าใจว่าเป็นนิพพาน มันจะแช่อยู่อย่างนั้น แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์เอาออกได้นะ จากสกิทาคามีมันจะขึ้นสู่อนาคามี ถ้าขึ้นสู่อนาคามีจะขึ้นอย่างไร สิ่งที่ขึ้นอนาคามี พอขึ้นอนาคามีนะ ถ้าเราเป็นสกิทาคามี เราติด มันจะไม่มีอนาคามรรค เพราะมันติดอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าจะขึ้นมันก็ต้องใช้มหาสติ-มหาปัญญา ถ้ามหาสติ-มหาปัญญา มันทำอย่างไรมันจะเป็นมหาสติ-มหาปัญญาขึ้นสู่กามราคะ

เวลาจิตมันเกิด จิตนี้มันดื้อนัก เวลาปฏิบัติเริ่มต้นมามันก็ดื้อมาตลอด แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เวลามันละสักกายทิฏฐิ เราก็รู้จริงของเรา นี่อายุของมันอีก ๗ ชาติ แต่ถ้าเราปฏิบัติไป โดยบางองค์แค่ ๒ วันผ่านแล้ว บางองค์นะติดอยู่นี่เป็นปี บางองค์ไม่ได้เลย แต่ถ้าเป็นโสดาบันก็จะอยู่อย่างนี้ตลอดไป นี่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยบอกนะ

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยบอก อายุระหว่างโสดาบัน-สกิทาคามีมันใช้เวลาเท่าไร แล้วเวลาขึ้นสกิทาคามีแล้วมันจะไปต่อไหม ถ้าไม่ไปต่อก็เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นนิพพาน ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ เวลามันออกค้นหา ออกค้นหาในอะไร? ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ในกาย ถ้ากายก็เป็นอสุภะ ถ้าเป็นจิต มันก็เป็นกามฉันทะ ถ้ากามฉันทะ ถ้ามันพิจารณาของมันไปนะ อายุระหว่างสกิทาคามีถึงอนาคามีมันจะใช้เวลาเท่าไร

“ใช้เวลา” ถ้ามันใช้เวลา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขิปปาภิญญานี่ไปทะลุหมดเลย ชั่วที่จิตมันเข้าไปอาสวักขยญาณทำลายหมดมันก็จบสิ้นไป นี่ขิปปาภิญญา แต่เวลาก้าวเดิน เวไนยสัตว์ที่มันก้าวเดินแต่ละขั้นแต่ละตอน อายุของมัน ถ้ามันมีอายุของมัน มันมีการกระทำของมัน มันมีเหตุมีผลของมัน มันจะเข้าใจตามความเป็นจริงของมัน ถ้าไม่มีอายุของมัน นี่มันเกิดมาจากไหนล่ะ?

มันไม่เกิดมาจากสิ่งใด ถ้าไม่เกิดมาจากสิ่งใด มันไม่เกิดมา ไม่มีความจริงในหัวใจดวงนั้น แต่ความรู้สึกนึกคิดของกิเลสมันสุกเอาเผากิน มันไม่เป็นประโยชน์กับใคร มันไม่เป็นประโยชน์กับผู้ที่ปฏิบัตินั้น แล้วมันก็ไม่เป็นประโยชน์กับศาสนาด้วย มันไม่เป็นประโยชน์กับศาสนา เพราะถ้าจิตดวงนั้นไม่มีอายุงาน ไม่มีการกระทำ แต่มันมีการศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ศึกษากับครูบาอาจารย์มา มันเป็นสัญญาอารมณ์ทั้งนั้น

แต่ถ้าจิตดวงใดมันมีอายุงานของมัน มันมีการกระทำของมัน มันผ่านขั้นตอนของมันขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนของมันขึ้นไป ถ้ามันผ่านเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป อายุระหว่างสกิทาคามีถึงอนาคามีพิจารณาอย่างไร พิจารณาแล้วมันมีเหตุมีผลขนาดไหน ถ้ามันมีเหตุมีผลของมัน มันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ มันจะละเอียดเข้ามา ละเอียดมาก สิ่งที่ว่าละเอียดนี้ จิตถ้าเป็นสติมันก็เป็นมหาสติ ถ้าเป็นปัญญามันก็เป็นมหาปัญญา ปัญญาที่มันเกิดขึ้น

ดูสิ เวลาจิตมันดื้อ จิตเรามันดื้อ จิตเราพิจารณามันยังลงไม่ได้ แล้วมันพิจารณาของมันไม่ได้เลย แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านพิจารณาขึ้นไปแล้วมันเป็นมหาปัญญาได้อย่างไร เวลาปัญญาโดยสามัญสำนึกมันยังทำให้เราหาทางออกไม่ได้เลย แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วมันมีเหตุมีผล มีเหตุมีผลให้จิตนี้อยู่ในอำนาจ พอจิตนี้อยู่ในอำนาจขึ้นมามันมีความสงบระงับ

พอมันพิจารณาไปมันก็เป็นความจริงขึ้นมา พอปัญญามันเป็นปัญญาของจิตดวงนี้ จิตดวงนี้ฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธิ ปัญญาเกิดจากงานชอบ เพียรชอบ มันก็เป็นมรรคขึ้นมา มรรคขึ้นมามันก็พิจารณาของมันขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แล้วแต่ว่าใครมีความชำนาญ ใครมีการกระทำ ใครมีความขวนขวายได้มากน้อยแค่ไหน แล้วผลตอบสนองจากจริตนิสัย จากอำนาจวาสนา

เวลาของจิตแต่ละขั้นตอนจะยาวจะสั้นอยู่ที่ความสามารถ อยู่ที่การกระทำ ถ้าการกระทำมันจะรู้มันจะเห็นของมัน เช่น เวลาเป็นโสดาบันขึ้นมา เวลาเป็นมันเป็นอย่างไร เป็นเมื่อไร เป็นอย่างไรมันต้องรู้ของมัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาโคนต้นโพธิ์ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ยังรู้ที่ล่ะ

จิตของเราก็เหมือนกัน เราเป็นโสดาบันที่ไหน แล้วอายุของมันอีกกี่เดือน อีกกี่วัน อีกกี่ปี เราประพฤติปฏิบัติต่อไป แล้วไปได้สกิทาคามีที่ไหน พอได้สกิทาคามีที่ไหน อายุของมัน ถ้าได้สกิทาคามี ถ้าติดก็ไม่ก้าวเดิน ถ้ามันก้าวเดินขึ้นไป พิจารณาเป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะมันละเอียดอ่อน มันเป็นมหาสติ-มหาปัญญา เราก็พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ มันละเอียดเข้ามาถึงตัวมันเอง แล้วมันกลืนถึงตัวมันเองก็ทำลายตัวมันเอง พอมันทำลายตัวมันเอง นี่อายุของอนาคามี

พอมันเป็นอนาคามีขึ้นมาแล้ว ถ้ามันต่อเนื่องไปมันเป็นประโยชน์มากนะ แต่การต่อเนื่องขึ้นไป การก้าวเดิน อายุของอนาคามี จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ สิ้นกิเลส มันติดมากน้อยแค่ใด สิ่งที่คำว่าติดนะ เราคิดว่าเราปฏิบัติไปแล้ว ใครว่าปฏิบัติ นี่พอมันได้แล้วมันจะได้ของมันไปเป็นแบบอัตโนมัติไม่มีหรอก สิ่งที่นี่ไม่มี

เวลาสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ เวลาหลวงตาท่านปฏิบัติขึ้นมา แล้วท่านเห็นโทษของมัน เวลาท่านไปเป็นโรคเสียดอกอยู่ที่อำเภอบ้านผือ เพราะขณะจิตที่มันจับจุดและต่อมได้แล้วนะ คำว่า “จับจุดและต่อมได้” คือว่าอายุของอนาคามีมันเริ่มโดนมาร์คไว้กับที่แล้ว เพราะว่าพอจับได้นี่เป็นอรหัตตมรรค ถ้าอรหัตตมรรค อายุระหว่างอรหัตตมรรคกับอรหัตตผล จนกว่าจะเป็นวิมุตติมันต้องใช้เวลาเท่าไร

ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านจับจุดและต่อมได้ แล้วท่านออกวิเวกอีก ๘ เดือน ออกมาวิเวกที่บ้านผือ เวลาเป็นโรคเสียดอกขึ้นมา ท่านบอกว่า “เรายังไม่อยากตาย เรายังไม่อยากตาย เพราะมันยังค้างอยู่” แล้วท่านพูดนะ ถ้ามันตายก็รู้ด้วยว่าไปเกิดที่ไหน คือไปเกิดบนพรหม เพราะเป็นอนาคามี

“รู้” จิตใจที่รู้นี่มันรู้ แล้วรู้แล้วอยากขวนขวายไป แต่เวลาอยากขวนขวายไป กิเลสที่มันเป็นปู่ อวิชชาคือปู่ เป็นพ่อใหญ่ เป็นปู่ที่เป็นอุบายความแนบเนียนมาก นี่พูดถึงหลวงตา ผู้ที่รู้

เวลาหลวงปู่คำดีท่านก็รู้ ท่านรู้ว่ามันยังมีทางไปอีก แต่พอมีทางไปอีก แต่จะทำอย่างไรล่ะ มันจะทำอย่างไรถึงจะเป็นประโยชน์ แล้วก็ขณะที่ในวงกรรมฐาน ในวงปฏิบัติเขาจะรู้กันว่าผู้ใดมีอำนาจวาสนา ผู้ใดเคยปฏิบัติไปนี่ฟังเทศน์รู้กัน ฉะนั้น ท่านถึงออกไปที่กลางแจ้ง แล้วจุดธูป ปักธูปขอให้หลวงตามาช่วยแนะนำบ้าง

หลวงตาท่านก็ไป หลวงตาท่านไปหาหลวงปู่คำดี แล้วท่านไปอธิบายให้หลวงปู่คำดีฟัง

“อ้อ รู้แล้วๆ” ท่านรู้อยู่แล้วว่าท่านอายุขัยที่จะก้าวเดินต่อไป รู้ว่าทางมันต้องไปอีก คือว่าไม่ติด แต่จะทำไปมันไม่มีใครบอกทางเดิน คำว่า “บอกทางเดิน” มันละเอียดจนไปไม่ถูก แต่เวลาพอหลวงตาท่านไปบอกนะ “รู้แล้วๆๆ”

แต่หลวงปู่บัว เวลาหลวงปู่บัว หลวงตาท่านไปงานศพแม่อาจารย์สิงห์ทองที่ป่าแก้วชุมพล เวลาท่านคุยกับหลวงปู่บัว

“อ้าว! ว่ามา”

ท่านก็บอก อายุของอันนี้เป็นอย่างนี้ อายุนี้ผ่านมาแล้ว อายุตั้งแต่นี้มาผ่านเป็นชั้นเป็นตอนแล้ว

“แล้วต่อไปล่ะ”

“ต่อไป...ก็เท่านี้”

เราจะบอกว่า เวลาหลวงตาท่านยังผ่านไปไม่ได้ แล้วเวลาท่านบอกท่านตายไปท่านก็จะไปเกิดบนพรหม ไม่อยากตาย อยากไปให้ได้ แต่เวลาหลวงปู่คำดีนะ ท่านรู้ว่าท่านจะไปแต่ไปไม่ได้ ท่านจะให้หลวงตาไปชี้นำ แต่หลวงปู่บัวนะ ท่านบอกว่ามันไม่ไปแล้ว ไม่ต้องไป นี่คือสิ้นสุดแล้ว หลวงตาบอก “โอ้ย! มันยังไปได้อีก”

ถึงบอก ครูบาอาจารย์ เวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันมีเหตุมีผล จริตนิสัยของจิตมันไม่เหมือนกัน ถ้านิสัยของจิตไม่เหมือนกันนะ ถ้ามีอำนาจวาสนามันจะขวนขวาย แล้วมันจะมีการกระทำ ถ้ามีอำนาจวาสนา หลวงปู่คำดีท่านมีอำนาจวาสนาว่าต้องไปอีก แต่จะไปอย่างใด แต่หลวงปู่บัวนะ ท่านบอกว่าไม่ต้องไปแล้ว จบแล้ว แต่หลวงตาบอกต้องไปอีก

เวลาสิ่งที่ไปอีก แต่ถึงที่สุดแล้ว ครูบาอาจารย์ของเราทั้ง ๓ องค์นี้ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่สุดยอด เป็นพระอรหันต์ในสมัยปัจจุบันแน่นอน นี่ผ่านพ้นจากกิเลสไป แต่การผ่านพ้นนี่อายุของการกระทำ สัมผัสแล้วมีการแนะนำกัน มีการก้าวเดินต่อเนื่องกันไป ถ้าการก้าวเดินต่อเนื่องกันไป ถึงที่สุดพอผ่านไป พิจารณาอรหัตตมรรค สิ่งที่หลวงตาท่านบอกหลวงปู่คำดี บอกหลวงปู่บัวเพราะอะไร

เพราะท่านได้ทำของท่าน ถ้าท่านไม่ทำของท่าน ท่านจะเอาสิ่งใดมาบอกหลวงปู่คำดี มาบอกหลวงปู่บัว แต่เพราะท่านทำของท่าน แล้วท่านทำของท่านแล้ว แล้วผู้ที่เดินตามมันก็เดินตามไปเหมือนกัน พอตามไปมันตรวจสอบกัน มันก็จบเหมือนกัน ถ้าจบไปแล้วมันพ้นออกไปเป็นวิมุตติแล้ว มันพ้นจากวัฏฏะ มันไม่มีอายุ มันพ้นไปไม่มีการนับเพิ่มขึ้นหรือนับถอยหลัง แต่ขณะที่ก้าวเดินมันมีของมัน ถ้ามีของมัน การกระทำอย่างนี้ พอมันทำตามความเป็นจริง นี่อายุของธรรม อายุระหว่างที่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ใครมีเหตุ มีผล มีการกระทำ นี่สืบต่อกันได้ถ้ามันสืบต่อถึงที่สุด

แต่ถ้ามันไม่มี ดูสิ ทางโลกเขา เวลาโรงงานที่ผลิตสินค้าให้แบรนด์ของคนอื่น ถ้าเขาจ้างเราทำ เราก็มีโอกาสได้ทำ ถ้าเขาจ้างนะ ถ้าเจ้าของแบรนด์นั้นเขาเลิกจ้าง โรงงานนั้นจะทำให้ใคร ถ้าโรงงานนั้น ถ้ามันผลิตสินค้าก็ต้องผลิตสินค้าของแบรนด์ตัวเอง นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราทำแบรนด์ของตัวเองก็ต้องทำสิ่งที่เป็นยี่ห้อ เป็นสินค้าของโรงงานนั้น แต่การจ้างผลิต เราทำตามที่เขาสั่ง

ในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นธรรม ถ้าตัวเองไม่มีคุณธรรม ถ้าตัวเองไม่มีอายุงาน อายุงานที่ตั้งแต่การกระทำขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ถ้ามีอายุงาน คนทำงานเป็น คนมีอายุงานเขาต้องบอกได้ เขาต้องทำได้ เขาต้องเป็นที่พึ่งของหมู่คณะได้ แต่ถ้าเขาไม่มีอายุงานของเขา มันเป็นโรงงานรับจ้างผลิต ถ้าโรงงานรับจ้างผลิตให้ใคร ถ้าผลิตให้ใคร ผลิตให้ครูบาอาจารย์องค์ไหน?

ก็จำของเขามา จำของเขามา จำของครูบาอาจารย์มา แล้วก็บอกว่าเราเป็นผู้ผลิต มันจะผลิตขึ้นมาจากไหนล่ะ ก็สินค้าไม่ใช่ของเอ็ง ถ้าสินค้าของโรงงานนั้น โรงงานนั้นก็มีสิทธิเสรีภาพการฝึกทำสินค้านั้นใช่ไหม แต่ถ้าเขารับจ้างผลิต นี่รับจ้างผลิตเพราะเป็นธุรกิจนะ แต่ถ้าไม่มีธุรกิจล่ะ

ธรรมะมีธุรกิจไหม? ธรรมะไม่มีธุรกิจหรอก ธรรมะไม่มีโลก ธุรกิจคือโลก ถ้าธุรกิจเป็นโลก โลกจะเข้ากับธรรมไม่ได้ แต่เราเกิดในโลก แล้วปฏิบัติธรรมมันจะย้อนกลับสู่โลก พอย้อนกลับสู่โลก โลกเป็นใหญ่ ถ้าโลกเป็นใหญ่มันก็ชักนำให้เป็นกระแสของโลกไป แต่ถ้าเราปฏิบัติเป็นกระแสของโลก เราจะได้ความจริงขึ้นมาไหมล่ะ

เราจะปฏิบัติเพื่อความจริงของเรานะ ถ้าเราปฏิบัติความจริงของเรา เราต้องมีสติ มีปัญญาของเรา เราพิจารณาของเราว่ามันเป็นความจริงอย่างนั้นไหม เป็นความจริงอย่างที่เขาพูดๆ กันไหม ถ้ามันไม่เป็นความจริงอย่างที่พูดๆ กัน ถ้าเราไม่ปฏิบัติ เราไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราจะเอาสิ่งใดไปกรองสิ่งนั้น

ถ้ากรองสิ่งนั้น ในการประพฤติปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ บอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ท่านเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น เราต้องประพฤติปฏิบัติเอง นี่คือการกระทำของเรานะ แต่ถ้าเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องกาลามสูตร อย่าให้เชื่อ อย่าเชื่อว่ามันเข้ากับเราได้ อย่าเชื่อว่ามันน่าจะเป็น อย่าเชื่อว่าโรงงานนี้ผลิตสินค้าของผู้อื่น นี่มันต้องเป็นโรงงานนั้นผลิตสินค้าของโรงงานนั้น แล้วโรงงานของเราล่ะ

โรงงานคือหัวใจของเรา เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ยมารนะ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมานะ มารนี้คอตก ลูกสาวพญามาร ความโลภ ความโกรธ ความหลง นางตัณหา นางอรดีไปเห็นพ่อเศร้าใจ “พ่อทุกข์เรื่องอะไร”

“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพ้นจากมือเราไป”

“พ่อให้สบายใจได้ เดี๋ยวเราจะไปเกลี้ยกล่อมเอง”

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ยมารนะ “เรือน ๓ หลัง ความโลภ ความโกรธ ความหลง เรือนยอดของเรือน ๓ หลังรวมกัน เราได้หักเรือนยอดนั้นแล้ว เราได้หักเรือนยอดความโลภ ความโกรธ ความหลง” นี่คือรูป เรือนยอดคืออวิชชา เรือนยอดคือพ่อพญามาร แม้แต่เรือนยอดเราก็ได้หักลงแล้ว โรงงานนั้นมันจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งที่ก่อร่างสร้างตัว โรงงานในหัวใจของเราไง

ความโลภ ความโกรธ ความหลงมันฟูขึ้นมา มันกระทุ้งขึ้นมา เรายอมจำนนหมด เรายอมจำนน เรามีแต่ความทุกข์ความร้อน แล้วเวลาเรือนยอดของมัน พอเรือนยอดของมัน “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองด้วยอุปกิเลส” ความโลภ ความโกรธ ความหลงเรายังเห็นกันชัดๆ เวลาความโกรธเกิดขึ้น ความหลง คนหลงงมงาย ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่เรือน ๓ หลังที่มันทำให้เราทุกข์ยากอยู่นี่ เวลามันรวมยอด เรือนยอดของเรือน ๓ หลัง

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส”

“ความผ่องใส” ความผ่องใส เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พอจิตสงบขึ้นมาก็บอกว่า “ใสๆ” ใสอย่างนั้นใสโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก กิเลสคือกิเลสอย่างหยาบๆ เวลาใส จิตสงบเข้ามามันก็ใส ใสโดยที่มันไม่ได้ชำระกิเลสสิ่งใดๆ เลย เวลาจิตของเราสงบขึ้นมานะ จิตที่มีอำนาจวาสนามันจะผ่องใส มันจะเห็นเป็นความว่างหมด ถ้าจิตที่ไม่มีอำนาจวาสนา จิตที่มันเป็นกลางๆ จิตสงบธรรมดา ไม่เห็นสิ่งใดเลย

ฉะนั้น มันผ่องใสหรือมันไม่ผ่องใส มันผ่องใสโดยกิเลสทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเวลาพิจารณาไปจนหักเรือนยอดความโลภ ความโกรธ ความหลง กามราคะ ปฏิฆะ สิ่งต่างๆ ถ้าเราหักหมดแล้ว อายุของอนาคามี ระหว่างอายุของอนาคามีกับอรหัตตมรรค สิ่งที่อรหัตตมรรค ถ้ามันได้ขวนขวายขึ้นไปพิจารณาในความผ่องใสนั้น ถ้าพิจารณาในความผ่องใสนั้น ถ้าความผ่องใสนั้น เวลาระหว่างอนาคามีกับอรหันต์นี่เราใช้เวลาเท่าไร ถ้าเราใช้เวลาเท่าไร

บางคนติดอยู่กี่ปี ถ้าติดอยู่ “ติดอยู่” หมายถึงว่ายังไม่รู้ไม่เห็น ถ้าติดอยู่คือยังจับอวิชชาไม่ได้ พอเริ่มจับอวิชชาได้นั้นคือเวลาของอนาคามีมันเริ่มจะโดนลบออกแล้ว ถ้ามันพิจารณาของมันไป ถ้ามันยังจับไม่ได้ อายุของอนาคามีมันจะคงที่ของมัน ถ้าตายระหว่างนั้น

เราไม่อยากตาย ไม่อยากตาย เพราะตายแล้วเราต้องเกิดบนพรหม ถ้าตายระหว่างที่ว่ายังประพฤติปฏิบัติ ยังไม่หักเรือนยอด ถ้าไม่หักเรือนยอด เวลาตายไปก็ไปเกิดบนพรหม ถ้าเกิดบนพรหมมันต้องใช้เวลาอายุของพรหมเท่าไร

นี่ไง เวลาเป็นโสดาบัน อายุของโสดาบัน ๗ ชาติ แต่ถ้าอายุของพรหม พอเกิดบนพรหมแล้วมันจะสุกของมันไป มันจะสิ้นสุดของมันไป ถ้าสิ้นสุดของมันไป นี่เวลาที่เกิดบนพรหม กับเวลาที่ปฏิบัติอยู่ ดูสิ ดูอายุขัยของเรา ๑๐๐ ปี แล้วเราปฏิบัติขึ้นไปนี่กี่ปี อายุของแต่ละขั้นตอนมันใช้เวลากี่ปี ฉะนั้น เวลาสิ่งที่ว่า พอถ้ามันจับได้ “จับได้” หมายถึงว่า ขุดค้น

เวลาหลวงปู่บัวท่านบอก “ไม่มี” เพราะท่านไม่สนใจ ท่านบอก “ไม่มี นี่คือนิพพาน จบแล้ว”

แต่หลวงปู่คำดีท่านบอก “ต้องไปอีก แต่ยังค้นหาไม่ได้” จุดธูปเลย “ให้มหามาช่วยที”

เวลาหลวงตาท่านบอกว่า “ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนั้น”

“อ๋อ! รู้แล้วๆ”

พอรู้แล้ว หลวงตากลับ ท่านก็พิจารณาของท่านต่อไป ถ้าท่านจับได้ เห็นไหม อายุของอนาคามีมันจะสรุปลงแล้ว อายุของพรหมจะจบ เวลาเราพิจารณาเข้าไป ถ้าพิจารณามาถึงกามราคะ ถ้ากามราคะ พอฆ่ากามราคะ เราจะไม่เกิดบนกามภพ

กามภพตั้งแต่เทวดาลงมา อายุ ๗ ชาติ อายุขัยของโสดาบัน มันก็เกิดในวัฏฏะ เกิดตั้งแต่มนุษย์นี้ขึ้นไป ไม่เกิดลงอบายภูมิ แต่เวลานั่น ๗ ชาตินะ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป สิ่งที่เป็นอายุของพรหม ถ้ามันพิจารณาไปถึงกามราคะ ตรงนี้จิตที่ถ้าตายแล้วจะมาเกิด กามราคะขาด ไม่เกิดกามราคะ เวลาเกิด เกิดเป็นพรหม

แต่พิจารณาซ้ำล่ะ ซ้ำเพื่อจะให้มันจบไง ถ้ามันจบแล้ว พอจบแล้วเป็นวิมุตติ ถ้าเป็นวิมุตติแล้วไม่มีเวลา ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ไม่มีสิ่งใด พูดเป็นสิ่งใดไม่ได้ ไม่มีสิ่งที่กล่าวถึง และพูดถึงสิ่งนั้นไม่ได้ แต่สิ่งที่พูด ผู้ที่เป็นอย่างนั้นเขารู้ได้ ถ้าเขารู้ไม่ได้ ทำไมครูบาอาจารย์ท่านถึงสอนกันได้ ทำไมหลวงปู่มั่นท่านถึงสอนลูกศิษย์ลูกหาของท่านได้

คำว่า “สอนได้” เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีก ๔๕ ปีนั่นคืออะไร สิ่งนั้นมันคืออะไร แม้แต่ไม่มีกาล ไม่มีเวลาต่างๆ แต่สิ่งที่สั่งสอนอยู่กำลังชักนำสิ่งนั้นขึ้นไป ชักนำหัวใจที่มันดื้อ สิ่งที่หัวใจที่มันไม่สนใจ หัวใจที่มันทำสิ่งใดไม่ได้ ให้มันย้อนกลับมา ให้มันพัฒนาหัวใจของมัน ถ้าพัฒนาหัวใจของมัน

“ธรรมทายาท” ถ้าธรรมทายาทเกิดขึ้นจะชำระความโศก ชำระความเศร้า ชำระความหงอยเหงาจากใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นไม่มีความโศก ไม่มีความหมกมุ่นในหัวใจ ถ้าไม่มีสิ่งใดๆ เลย เห็นไหม เป็นธรรมธาตุ เพราะว่าถ้ามีสิ่งใด สิ่งความเศร้าความโศกมันจะอยู่บนสิ่งใดล่ะ? มันอยู่บนภพ ฐานที่ตั้ง ที่ใดมีจิต ที่นั่นมีภพ นี่กิเลสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ ภวาสวะนี่มันเป็นภพ แล้วภพของมนุษย์ ภพของโลก เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ภพของเทวดามันเป็นอย่างใด แล้วภวาสวะ ภพของใจ ใจที่มันมีสถานะ ถ้าที่ไหนมีสถานะ สิ่งนั้นน่ะความโศก ความเศร้ามันอยู่บนนั้น

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” แต่มันมีความโศก มีความเศร้า มีความหงอยเหงาในหัวใจนั้น เพราะมันผ่องใส มันก็คู่กับความเศร้าหมอง แต่ถ้ามันทำลายความผ่องใส ทำลายความเศร้าหมอง ทำลายทุกอย่างหมดแล้ว ทุกอย่างมันตั้งอยู่บนอะไร มันไม่มีสถานที่ตั้งให้กับอารมณ์ความรู้สึกของสิ่งใดทั้งสิ้น อารมณ์ความรู้สึกนี้มันเป็นสัญญาอารมณ์ เป็นเรื่องของโลก

แต่ถ้ามันทำลายจนหมดแล้ว มันไม่มีสิ่งใดในนั้นเลย เห็นไหม มันถึงไม่มีอายุขัย ไม่มีที่มาและที่ไป แต่มีของมันอยู่ จิตใจ ใจมันไม่เคยตาย จิตนี้เป็นเรื่องมหัศจรรย์นัก ถ้าไม่ได้ชำระสะสางมัน มันไม่มีวันจบสิ้น มันจะเวียนตายเวียนเกิดไม่มีที่สิ้นสุด

เวลาบุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่มีต้นไม่มีปลาย” นี่พุทธวิสัยนะ มันไม่มีต้นไม่มีปลาย มันจะหมุนเวียนของมันไปตลอด นี้ถ้าไม่ได้การประพฤติปฏิบัติ ไม่มีการแก้ไข แต่เราเกิดเป็นชาวพุทธแล้วเรามีอำนาจวาสนา เราสนใจของเรา เราจะมาแก้ไขของเราไง จิตนี้เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์นัก ไม่มีต้นไม่มีปลาย มันจะเกิดของมันตลอดไป

แต่เวลาเรามาชำระสะสางด้วยมรรคญาณ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยมรรค มรรคคืออะไร? มรรคคือสิ่งที่เป็นความรู้สึกของใจ ความรู้สึกนะ สติ สมาธิ ปัญญาเกิดจากจิตทั้งนั้น เป็นเรื่องนามธรรมทั้งหมด จิตนี้เป็นนามธรรม อาศัยมรรคญาณ สิ่งเป็นนามธรรม

เวลาจิตมันเป็นโทษนะ มันเป็นเรื่องของกงจักร ความรู้สึกนึกคิดเหมือนกงจักร กงจักรมันทำลายไปทุกอย่าง “ธรรมจักร” มรรคญาณ ธรรมจักรมันจะหมุนกลับไง ปัญญาของเราจะหมุนกลับเข้าไปชำระล้างในหัวใจของเรา ถ้ามันชำระล้าง มรรคญาณทำลายอวิชชา ทำลายความไม่รู้ของมันด้วยวิชชา ด้วยสัจธรรม ด้วยมรรคนี่คือวิชชา พอทำลายแล้วมันรู้ทำลายตัวเอง ทำลายเริ่มต้นจากโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีขึ้นมา รู้ทุกอย่างหมด ปล่อยวางมาทั้งหมด สุดท้ายแล้วทำลายตัวมันเอง พอทำลายตัวมันเอง ความเศร้า ความหงอย ความเหงา ความผ่องใส ความเศร้าหมอง ไม่อยู่บนอะไร ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีสิ่งใดเลย ไม่มีกาล ไม่มีเวลา

มารมองไม่เห็น พญามารนะคอตก ลูกพญามารก็หาไม่เจอ บุคลาธิษฐานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการไว้ ถ้าใครภาวนาแล้วรู้เห็นแล้วมันจะเป็นแบบนั้น ถ้ามันเป็นแบบนั้น นี่อายุของธรรมมันมีเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมานะ ถ้าจิตมันไม่เคยเป็นสมาธิ จิตมันไม่เคยเป็นคุณธรรม มันจะไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด มันจะเป็นสัมภเวสี

แต่ถ้าจิตมันได้ผุดได้เกิด เกิดในสมาธิ เกิดในปัญญา เกิดแล้วฝึกหัดค้นคว้า พอฝึกหัดค้นคว้า ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ มันจะรวมกัน มรรคสามัคคี นี่ฝึกหัดจนมันสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว หนึ่งเดียวมันยังมีตัวตน เวลามันสมุจเฉทปหาน สัมปยุตเข้าไป วิปยุตคลายออก แล้วมันทำลายเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปจนถึงที่สุดนะ นี่มันมีการกระทำ มีความเป็นไป เราจะฝึกฝนของเรา

นี่ฟังธรรม การฟังธรรมในภาคปฏิบัติ เวลาหลวงตาท่านบอกว่า “สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในการปฏิบัติคือฟังธรรม” เพราะฟังธรรมภาคปฏิบัติมันมีเหตุมีผล มีข้อเท็จจริง มีการกระทำ อย่างเช่นที่ว่า มีอายุ มีประสบการณ์ มีการกระทำต่างๆ แล้วเราฟังแล้วเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ถ้าเราเข้าใจ เราจะต้องปรับพื้นหัวใจของเรา นี่ถ้าไม่เข้าใจ จริตนิสัย เราจะออกช่องทางไหน เอาสิ่งนี้เป็นบรรทัดฐาน

ฟัง ถ้าเข้าใจ สิ่งนี้มันเป็น...จิตนี้มันดื้อนัก มันต้องมีพี่เลี้ยง มันต้องมีที่พึ่งอาศัย ฟังธรรมนี้เป็นที่พึ่งเป็นที่อาศัย แต่ถ้ามันไม่ตรงจริต มันไม่ทำสิ่งใด สิ่งนี้ร่มโพธิ์ร่มไทร เราอาศัยร่มโพธิ์ร่มไทร แต่เราก็หาอยู่หากินของเราเอง หาอาศัยแต่ร่มเงา แล้วหาสิ่งที่ให้มันตรงกับจริตของเรา ถ้ามันตรงจริตของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา มันจะเป็นสมบัติของเรา เอวัง