ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ซ้ายหรือขวา

๒๘ ม.ค. ๒๕๕๕

 

ซ้ายหรือขวา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๗๗๐. เนาะ

ถาม : ๗๗๐. เรื่อง “เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ ผลคือการทำลายโครงสร้างอันประกอบขึ้นมาเป็นจิตใช่ไหมครับ?”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ คนเราอาศัยอยู่บนโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ผมจึงไม่กล้าที่จะประมาท และอยากปฏิบัติให้ก้าวหน้า เลยขอโอกาสเรียนถามหลวงพ่อ

กระบวนการการทำงานของขันธ์ ๕ ที่ทำงานตลอดเวลา ผลคือจิตไม่พ้นออกไปจาก ๓ ภพ แต่ถ้าเราพิจารณาจิตที่อยู่กลางอก แล้วดูกระบวนการว่าเราทุกข์เร่าร้อนเพราะเราคิด เราคิดเพราะเวลาจิตรับรู้อะไรใหม่ จิตจะทวนไปหาข้อมูลที่เป็นสัญญาในใจ ซึ่งล้วนเป็นบาดแผลที่อยู่ในจิต แล้วปรุงความคิดออกไป จิตก็งับความคิดเหมือนปลาติดเบ็ดทันที

แต่ผมเอะใจว่าทำไมเรื่องเดียวกัน สัญญาในใจของคนก็แตกต่างกันไป ๑๐๐ คนก็ ๑๐๐ อย่าง จับสัญญา พิจารณาสัญญาว่ามันไม่ได้เป็นจริง และมันเป็นโทษ พอปลงใจจิตมันสงบลง ไม่มีอดีต ปัจจุบัน อนาคตก็ไม่มีใคร ขณะเดียวกัน การพิจารณาจิตที่อยู่กลางอกของผม เมื่อผมเหนื่อยเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ทำงานจนล้า ผมจะกำหนดลมหายใจชัดๆ ที่ปลายจมูก แต่ด้วยจริตของผมชอบแฉลบออกไปเห็นนิมิต เช่น หญ้า รั้ว ถนนที่อยู่หน้าบ้าน ผมก็ปัดทิ้งไป แต่ถ้าเป็นกายผมก็พิจารณาต่อ

ครั้งหนึ่งปรากฏกายของผมซึ่งป่วยมาก บวมฉุ น้ำหนักขึ้นประมาณ ๒๐-๓๐ กิโล ใกล้ตาย ผมเข้าพิจารณาดู พอรู้ว่าเป็นกายเราจิตตกใจมาก ปล่อยกาย จิตก็ลงไม่มีอดีต อนาคต และไม่มีใครที่คอยชื่นชมความสำเร็จ ขอถามหลวงพ่อว่า

๑. เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ แม้วิธีปฏิบัติต่างกันมาก สุดท้ายก็เหมือนกันคือทำลายส่วนหนึ่งของกระบวนการขันธ์ แล้วจิตก็ทำงานไม่ได้ เช่นเจโตวิมุตติทำลายการยึดติดของจิต จิตก็ทำงานออกมาเป็นความคิดไม่ได้ หรือปัญญาวิมุตติก็ทำลายโดยเห็นโทษของสัญญาที่ไม่ใช่ของจริง แต่เป็นสมมุติบัญญัติ แล้วเกิดโทษมาก เพราะจิตจะเวียนไป ๓ ภพ จิตที่ทำงานออกมาเป็นความคิดไม่ได้เช่นกัน ถูกต้องไหมครับ?

๒. การทำลายบางส่วนในกระบวนการของจิต เช่นสัญญาในแบบปัญญาวิมุตติ หรือกายในแบบเจโตวิมุตติไปเรื่อยๆ แล้วจิตสงบลงไม่มีอดีต อนาคต ปัจจุบันไม่มีใครชื่นชมผลงาน แต่ก็รับรู้ได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น เช่นนี้มีโอกาสจบงานเหมือนผู้รับเหมาสร้างโรงงานเสร็จแล้ว เก็บสตางค์ได้ก็จบงาน หากดำเนินการพิจารณาไปในแนวนี้จะมีโอกาสจบงานไหมครับ?

๓. หากเราทำความสงบ แล้วพิจารณาจิตอยู่กลางอกที่เปรียบเสมือนจิตที่เป็นรูปธรรม เราจึงสามารถแยกแยะได้ว่ากระบวนการของมันเป็นอย่างไร? แต่ถ้าเราทำความสงบเข้าไปอีกในจิต แล้วรำพึงอยากเห็นเข้าไปในจิต มีสิ่งเล็กๆ ที่สว่างจ้าตัวนี้เป็นตัวสร้างเชื้อไขแห่งความชอบ ไม่ชอบ เป็นพันธุกรรมของจิตใช่ไหมครับ แล้วต้องทำลายตัวนี้ด้วยหรือไม่ หรือเพียงแต่ทำลายกระบวนการของจิตให้ไม่สมบูรณ์ เช่นการทำลายกายแบบเจโต ทำลายสัญญาแบบปัญญาก็พ้นจากจิตไปได้ด้วย กราบขอบพระคุณ

หลวงพ่อ : นี่การภาวนานะ การภาวนา ถ้าภาวนาไม่เป็นมันก็จับหลักจับเกณฑ์ไม่ได้ แต่ถ้าภาวนาเป็นแล้วมันต้องขยันหมั่นเพียรไป แต่ความขยันหมั่นเพียรไป ส่วนใหญ่แล้วคนถาม ถามแบบวิทยาศาสตร์ คือถามแบบโลก ถามแบบโลกหมายความว่า ถ้าทำงานเสร็จกระบวนการอย่างนี้จบแล้วๆ มันควรจะจบสิ้นไป แต่ถ้าเป็นทางธรรม กระบวนการนี่มันจะเป็นกระบวนการเดียวกัน อย่างเช่นอาหาร อาหารการกินของแต่ละชนเผ่า แต่ละวัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกัน แต่เขากินอาหารเหมือนกันเพื่อดำรงชีวิตไง

ในการประพฤติปฏิบัติมันก็เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัตินะ การปฏิบัติแล้วมันก็เหมือนการกินอาหาร ถ้าการกินอาหารแล้ว พอการกินอาหารเสร็จแล้วเราก็ว่าเราจบแล้ว แต่ขณะในความเป็นมนุษย์นะ เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์เราต้องมีอาหารการกินตลอดอายุขัย ตายไปเกิดมาก็ต้องมีอาหารการกินตลอดไปนะ อาหารการกินคือดำรงชีวิตไง แต่ถ้าในการปฏิบัติ แบบวิทยาศาสตร์ใช่ไหม? เราทำจบแล้วมันก็คือคำว่าจบ พอจบแล้วเราก็บอกว่ากระบวนการของมันจะเป็นอย่างไร? คือเราจบแล้วเราจะเก็บล้าง แล้วจะไม่ให้มีอะไรอีกเลย

กรณีอย่างนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัตินะ นี่มันอยู่ที่จริต อยู่ที่นิสัย ในการประพฤติปฏิบัติทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้คนอิดหนาระอาใจ บางคนเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายว่าเราปฏิบัติแล้วทำไมต้องทำอย่างนั้น ทำไมต้องทำอย่างนี้ ทำไมมันไม่เห็นจบสิ้นกระบวนการเหมือนที่เราเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ ทางโลกไง งานทางโลกถ้าจบแล้วก็คือจบแล้ว แต่งานทางธรรมทำไมมันไม่จบสักที?

งานทางธรรมนี่คือจบ ทางโลกต่างหากที่ไม่จบ แต่เวลาทางโลกมันจบ จบเพราะอะไร? จบเพราะมันเป็นวรรค เป็นตอนไง อย่างเช่นทำตรงนี้เสร็จแล้วเราว่าเสร็จ แต่มันเสร็จไหมล่ะ? เพราะคนยังมีชีวิตอยู่ต้องมีอาหารการกินตลอดไป ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยอยู่ ไม่มีวันจบหรอก คือมันต้องเริ่มต้นใหม่ๆ อยู่อย่างนั้นแหละ แต่ในการปฏิบัติ เราบอกปฏิบัติจบแล้วเราอยากให้จบ พออยากให้จบแล้ว พอปฏิบัติแล้ว พิจารณากายไปแล้วปล่อยแล้ว พิจารณาจิตแล้ว พิจารณาแล้วมันก็ควรจะจบๆ

การพิจารณา เห็นไหม หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่า เวลากำหนดให้ดูกาย ให้จิตให้อยู่ในกาย ท่านบอกให้จิตอยู่ในกายนะ เราอยู่ในกายโดยรอบ อยู่ในรอบของกายเป็นชั่วโมงๆ ท่านบอกนี่เป็นสมถะ เห็นไหม เป็นสมถะ แต่เราบอกถ้าเราพิจารณาแล้วมันปล่อยแล้ว มันไม่มีอดีต อนาคตแล้วเราควรทำอย่างไรต่อไป? ควรทำอย่างไรต่อไปเราต้องมั่นใจของเรา เราต้องมั่นใจของเราแล้วเราภาวนาซ้ำไปเรื่อยๆ ไง

พอซ้ำไปเรื่อยๆ คำว่าซ้ำไปเรื่อยๆ นะ อย่างคนนี่ คนทำงานที่เหนื่อยล้ามาก เวลาทำงานมันจะละล้าละลัง เพราะเราเหนื่อยล้ามาก เราไม่มีกำลัง การภาวนามันต้องทำความสงบของใจ แล้วใจนี่ไปสงบ คือเราจะบอกว่างานที่มันละเอียดมาก ละเอียดจนเราทำอะไรนี่มันอยากให้จบ มันไม่อยากให้เราต้องมาเสี่ยงภัย มันจะจับพลัดจับผลู คือว่ามันจะเสื่อม มันจะไม่ได้ผล มันทำให้เราละล้าละลังตลอด เราก็อยากให้จบ

ทีนี้อยากให้จบ ทุกคนก็อยากให้จบ แต่ แต่มันเป็นที่วาสนาไง ถ้าวาสนาของคนมีวาสนามาก เวลาขิปปาภิญญามันพิจารณาแล้วมันไปเลยนะ พั่บขาดเลย อะไรเลย แต่ของเรามันพิจารณาแล้วมันปล่อยๆ พอมันปล่อยแล้วแต่มันไม่ขาด พอคำว่าไม่ขาดเราก็ต้องพิจารณาซ้ำ พยายามซ้ำ ทำซ้ำขยันหมั่นเพียร

คำว่าขยันหมั่นเพียรนะ มันปล่อยขนาดไหนนะอย่าทิ้ง อย่าชะล่าใจ ส่วนใหญ่แล้วคนเราพอมันปล่อยมันจะมีความสุข โดยธรรมชาตินะคนปล่อยแล้วมันจะมีความสุขมาก พอความสุขมาก สิ่งที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นใช่ไหม? เราว่าสิ่งนี้มันเป็นธรรมๆ แต่ถ้าเราประมาท เราไม่ดูแลนะมันจะเสื่อม พอเสื่อมแล้วเราถึงรู้ตัว พอรู้ตัวเราจะกลับมาทำใหม่เราก็ต้องเริ่มต้นแบบนี้ พอเริ่มต้นแบบนี้มันก็เลยเป็นความทุกข์ไง

แต่ถ้ามันกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มเราก็ต้องสังเกต เราต้องดูแลของเรา ทีนี้เข้าด้ายเข้าเข็มแล้ว บางทีมันก็ถอย มันก็ละล้าละลังเหมือนกัน ถอยเหมือนกัน เราก็ดูแลรักษาของเรา ทำอยู่อย่างนี้ เพราะมันเป็นจริตนิสัย เป็นอำนาจวาสนาของจิตแต่ละดวง ฉะนั้น แต่ละดวง เวลาพิจารณาไปแล้ว มันปล่อยแล้ว เห็นไหม มันปล่อยแล้ว คำว่าสมถะ เราเริ่มต้นจากหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า

“กำหนดดูกาย ให้จิตอยู่ในกายมันเป็นสมถะ”

คำว่าสมถะของท่านคือว่าเวลาเรากำหนดอยู่ในกาย ท่านบอกเอง ท่านบอกว่าถ้าจิตนี่เราระลึกถึงข้อมือ เราระลึกถึงจากข้อนิ้วมือ มาข้อมือ มาข้อศอก มาหัวไหล่ วนเข้าไปบนกะโหลกศีรษะ แล้ววนออกไปอยู่ในลำตัว ท่านบอกถ้าวนอยู่อย่างนี้ได้มันก็เหมือนกับเราพุทโธได้ คำว่าพุทโธได้ เราพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธเราต่อเนื่องนะ เราคุมจิตเราอยู่เราจะมีความพอใจนะ แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธแล้วมันแฉลบออก แฉลบไปแฉลบมา เราก็อืม มันหงุดหงิด

กำหนดดูกาย ให้จิตอยู่ในกาย ถ้ากำหนดตามข้อมือ ข้อศอก หัวไหล่ กะโหลกศีรษะ เห็นไหม ไปทางซ้าย ทางขวา ถ้ามันอยู่ของมันได้อย่างนี้ ท่านบอกว่าถ้าเป็นชั่วโมงๆ นี่คือสมถะ คำว่าสมถะคือจิตมันไม่แส่ส่าย แล้วถ้ากำหนดดูต่อไป กำหนดดูต่อไปเรื่อยๆ จิตนี้ให้อยู่ในโครงสร้างของร่างกาย ถ้าจิตมันเห็นกาย เห็นกายเป็นกระดูก เห็นกระดูกชัดๆ จะเป็นใส จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ นี่เห็นอย่างนั้นมันสะเทือนหัวใจมันถึงจะเป็นวิปัสสนา

ถ้าวิปัสสนานะ อันนี้ก็เหมือนกัน ในการที่ว่าเราพิจารณาแล้ว พอพิจารณาในขันธ์ ๕ ในขันธ์ ๕ ต่างๆ แล้วมันปล่อยไปแล้วเหลือดวงจิต เห็นไหม เหลือสิ่งที่ว่า เขาบอกขันธ์ ๕ มันปล่อยไปแล้วมันเป็นจุด มันเป็นต่อม มันเป็นดวง นี่เวลามันปล่อยสิ่งต่างๆ เข้ามา เหมือนกับเราหยิบของอยู่ พอเราวางสิ่งของนั้นมันก็เหลือมือเรา ความรู้สึกเราไปคิดสิ่งใดอยู่ พอปล่อยความรู้สึกนึกคิดนั้นมันก็เข้ามาอยู่ตัวเรา เข้ามาตัวเราเราก็พิจารณาซ้ำ พิจารณาในตัวเรา ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างละเอียด มันต้องพิจารณาทั้งนั้นแหละ

พอบอกเราปล่อยขันธ์ ๕ เห็นไหม นี่เขาบอก

ถาม : กระบวนการ เวลาเราทำงานมาตลอด คือจิตมันไม่พ้นออกไปจาก ๓ ภพ เราพิจารณาของเราอยู่แล้ว อยู่กลางหน้าอก ในกระบวนการเรารู้ทุกข์ รู้ยาก พอเราคิดเรื่องความรับรู้อะไรใหม่ จิตมันจะไปหาข้อมูลที่เป็นสัญญาในใจ ซึ่งล้วนเป็นบาดแผลที่อยู่ในจิต นี่พอจิตมันระงับความคิดมันก็ติดเบ็ดไป

หลวงพ่อ : สิ่งต่างๆ อย่างนี้ เราจะบอกว่าเวลาเขาปล่อยแล้ว เห็นไหม ปล่อยขันธ์ ๕ พอปล่อยขันธ์ ๕ การปล่อยของคนนะมันปล่อย พอมันปล่อยเข้ามามันมีสิ่งใดอยู่ เราบอกว่าเราปล่อยแล้ว มันไม่มีอดีต ไม่มีอนาคตนั่นแหละคือตัวมัน นั่นแหละคือตัวภพ พอตัวภพเราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่ปล่อยขันธ์ ๕ เข้ามาเหลือแต่ภพ ถ้าภพพิจารณาซ้ำไปอีก แล้วการพิจารณานี่พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อความดีของเรา

แล้วอย่างที่ว่านี่ เวลาความแตกต่างของคน เห็นไหม ๑๐๐ คนก็ ๑๐๐ อย่าง การจับสัญญาพิจารณาต่างๆ มันไม่เหมือนกัน พอมันไม่เหมือนกันเราถึงบอกว่าให้มันหลากหลาย การพิจารณาแบบว่าเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติมันแตกต่างหรือมันเหมือนกันอย่างใด? ถ้ามันแตกต่างหรือมันเหมือนกันอย่างใด ถ้าจะเป็นเจโตวิมุตติ เห็นไหม กำหนดพุทโธ พุทโธนี่เจโตวิมุตติ ถ้าเจโตวิมุตติมันจะเห็นกายของมัน แล้วการเห็นกายโดยปัญญาก็มี ในปัญญาวิมุตติเห็นกายโดยปัญญาก็มี

ฉะนั้น ที่บอกว่าถ้ากำหนดพุทโธ พุทโธแล้วจะเกิดนิมิตๆ เขาจะใช้ปัญญาขนาดไหน ถ้าจิตเขามีนิมิตเขาก็จะเห็นนิมิตของเขาเหมือนกัน แล้วการเห็นนิมิต เห็นนิมิตแล้วนิมิตมันจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ คนเห็นมันจะรู้ นี่ถ้ามันเห็นแล้วมันทำให้เราฟุ้งซ่าน เห็นแล้วทำให้เราตื่นเต้น เห็นแล้วทำให้เรากระเพื่อมมันจะเห็นไปทำไม? แต่ถ้าสิ่งใดมันเข้ามา เห็นแล้วก็วางได้ ถ้าเรามีสติปัญญาเราวางได้ ถ้าเราควบคุมงานได้มันก็วางได้

ฉะนั้น การวางได้ สิ่งที่ว่าจะเป็นเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ มันเป็นเหมือนกับแขนซ้ายและแขนขวา ทางซ้ายและขวา ซ้ายและขวามันออกไปจากไหน? ก็ออกไปจากร่างกายนี้ ออกไปจากแขนซ้ายและแขนขวา คำว่าแขนซ้ายและแขนขวามันเป็นการทำงาน ฉะนั้น เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ กรณีอย่างนี้เราบอกว่าถ้าเราเปิดกว้าง เราให้การกระทำมันหลากหลาย คนเรามันมีการกระทำที่หลากหลาย มันไม่คับแคบ

ถ้าเราเจาะจงหรือมันคับแคบใช่ไหม? นี่ถ้ามันเจาะจง แล้วสิ่งที่ว่ามันคับแคบ ถ้ามันทำประโยชน์สำเร็จมันก็ดีสิ นี้มันเจาะจง มันคับแคบมันมีอยู่ช่องทางเดียว พอช่องทางเดียว ทำสิ่งใดไปแล้ว กิเลสมันหลบหลีกไปเราตามมันไม่ทัน ถ้าเราให้มันมีหลากหลาย การหลากหลาย พิจารณาไปแล้ว สุดท้ายถ้าจบมันก็เป็นอริยสัจอันเดียวกัน ถ้ามันเป็นอริยสัจมันจะปล่อยเข้ามาๆ ถ้าเป็นอริยสัจ พอปล่อยเข้ามาแล้ว สิ่งที่เป็นภพกลางอกมันก็เป็นขันธ์เหมือนกัน ถ้าพิจารณาไปนะ

ทีนี้เราพิจารณาไปแล้ว กิเลสมันอยู่ในหัวใจเรามันเกี่ยงงอน มันเกี่ยงงอน มันสวมรอยไง อ้าว นั่นคือขันธ์ นี่คือภพ นั่นคือเขา นี่คือเรา นั่นคือกิเลส นี่คือธรรม มันไปสงวนธรรมไว้ไง แล้วธรรมนี้ใครเป็นคนบอกล่ะ? ใครเป็นคนบอกไว้ ฉะนั้น ในการปฏิบัติมันต้องสงวนสิ่งใดไม่ได้เลย ขันธ์ก็ต้องพิจารณามัน ภพก็ต้องพิจารณามัน อะไรที่จับต้องได้ในหัวใจต้องพิจารณาทั้งหมด ไม่มีการสงวนรักษาสิ่งใดไว้ ว่าสิ่งนั้นเป็นแง่บวก สิ่งนั้นเป็นแง่ลบ มีสิ่งใดเราต้องพิจารณาทั้งหมด พิจารณาทั้งหมดแล้วไม่ปล่อยวางทั้งสิ้น มันต้องตั้งใจทำ ตั้งใจของเราให้มันเป็นประโยชน์กับเรานะ

ฉะนั้น คำถาม

ถาม : ๑. เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ แม้มีวิธีปฏิบัติแตกต่างกัน แต่สุดท้ายก็เหมือนกัน คือมันทำลายส่วนหนึ่งของกระบวนการของขันธ์ ๕ แล้วจิตมันก็ทำงานไม่ได้ เช่นเจโตวิมุตติมันทำลายการยึดติดของกายของจิต จิตก็ทำงานออกมาเป็นความคิดไม่ได้ หรือปัญญาวิมุตติก็ทำลายโดยเห็นโทษของสัญญาที่ไม่ใช่ของจริง แต่เป็นสมมุติบัญญัติ แล้วเกิดโทษมากเพราะจิตจะเวียนไปใน ๓ ภพ จิตก็ทำงานของมันออกไปเป็นความคิดไม่ได้ เช่นนั้นถูกต้องไหมครับ?

หลวงพ่อ : นี่พูดถึง “เจโตวิมุตติ กับปัญญาวิมุตติ” ฉะนั้น ถ้ามันพิจารณากายมันเห็นกาย เห็นไหม นี่การปฏิบัติที่ว่าเห็นกาย เคยเห็นกายที่มันบวมฉุต่างๆ คือการเห็นรอบหนึ่งก็เป็นอดีต อย่างเช่นเราเปรียบเทียบเหมือนอาหาร ในชนเผ่าแต่ละชนเผ่า อาหารของเขา วัฒนธรรมของเขา อาหารของเขา เขาก็ดำรงชีวิตของเขา

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราเคยเห็นกายมันก็เป็นชนเผ่าหนึ่งนะ เพราะว่าเราคิดว่าเราพิจารณากายแล้ว พิจารณากายเห็นสิ่งนั้นแล้วเราวางไว้ อย่างเช่นตอนนี้การท่องเที่ยว เขาจะท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เขาจะท่องเที่ยวในชนเผ่า เขามีวัฒนธรรมประเพณี เราจะไปเที่ยว เราไปเที่ยวเราก็เคยไปเที่ยว เราเคยได้กินอาหารนั้น เราก็ไปเห็นร่างกายนี้มันฉุ มันบวม นี่เรากินอาหารนั้น แต่เราไปเที่ยวชนเผ่าอื่น เราก็ไปเห็นชนเผ่าอื่น อาหารการกิน วัฒนธรรมของเขาก็อีกชนเผ่าหนึ่ง เราก็ได้กินอาหารชนเผ่าที่ใหม่กว่า นี่เป็นปัญญาวิมุตติที่จะพัฒนาจิตต่างๆ

ฉะนั้น สิ่งที่กินมาแล้วก็คือมาแล้ว การพิจารณากายอย่าไปละล้าละลัง นี่ให้เป็นปัจจุบัน อะไรที่เกิดขึ้นปัจจุบันเอาตรงนั้น สิ่งที่ปัจจุบันนะ เพราะ เพราะถ้าเราคิดว่าเราเคยพิจารณากายมาแล้ว แล้วเราจะพิจารณาซ้ำๆๆ นี่เหมือนช่องทางเดียว แล้วกิเลสมันก็เบี่ยง เห็นไหม มันก็บังเงา มันก็ไปอยู่ในที่หลบใหม่ สิ่งใดที่จับต้องได้ อย่างเช่นในปัจจุบัน เวลาพิจารณาถึงขันธ์ ๕ มันปล่อยหมดแล้ว เหลือแต่ภพๆ แล้วเราจะทำอย่างไรกับภพ? จุดนั้นน่ะทำไมเราไม่พิจารณา? เอามาพิจารณาก็ได้ นี่มันไม่มีสิ่งใดเลย เวลามันละขันธ์ ๕ ไปแล้ว มันไม่มีผู้รับรู้ ไม่มีสิ่งต่างๆ ไม่มีผู้รับรู้แล้วเหลืออะไร?

นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับโมฆราช เห็นไหม

“เธอจงพิจารณาโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ”

ไอ้ภพนั่นแหละ ไอ้ผู้รู้นั่นแหละ ฉะนั้น ไอ้ผู้รู้ สิ่งที่มีอยู่ ถ้าเราพิจารณาภพ พิจารณาสิ่งนั้นได้มันก็ออกมาพิจารณา คำว่าพิจารณาเพราะกิเลสมันอยู่ที่นั่น เวลาพิจารณาเราก็แยกแยะมันว่าอะไรมันคือกิเลส อะไรมันคือสิ่งที่ครอบงำ อะไรเป็นพื้นฐาน? นี่พิจารณาแล้ว ถ้าพิจารณาได้มันก็พิจารณาได้ ถ้ามันไม่พิจารณา มันบอกว่ามันพิจารณาไม่ได้ มันทำอะไรไม่ได้ เราไปประมาทตัวเราเองไง ถ้าเราทำได้เราก็ต้องทำได้

ถ้าทำได้ เวลามันปล่อยไปแล้วนะ นี่สิ่งที่ว่าเป็นเจโต เห็นไหม เห็นกาย พิจารณากายแล้วมันปล่อยแล้ว นี่พอพิจารณาไปอีกมันก็จะเห็นอีก แต่เห็นเป็นส่วนอื่น เห็นเป็นขน เห็นเป็นผม เห็นเป็นเล็บ เห็นเป็นกระดูก เห็นเป็นต่างๆ เห็นเป็นร่างกายทั้งตัวก็ได้ เพราะมันเห็นแต่ละหนมันไม่เหมือนกัน พิจารณาเป็นความรู้สึก เป็นความนึกคิดก็ได้ นี่มันจะเป็นเจโตหรือเป็นปัญญา อันนี้มันเป็นชื่อ แต่ในขณะที่เราทำ ถ้ามีสติปัญญามันมรรค ๘ อันเดียวกัน

ถ้ามันมรรค ๘ อันเดียวกัน เพียงแต่ว่าถ้าเป็นทางปัญญา เห็นไหม ทางปัญญามันก็ทำให้กิเลสมันอ้างหลอกไม่ได้ว่าถ้าเป็นพุทโธ พุทโธ จิตสงบแล้วพิจารณามันไม่มีปัญญา เราใช้ปัญญาออกนำ ถ้าปัญญาออกนำ มันใช้ปัญญาไปก่อน เวลามันเคลียร์ไป มันจับต้องสิ่งใด มันพิจารณาไป เวลามันปล่อยเข้ามา มันก็เข้าสู่ความสงบด้วย สู่ปัญญาด้วย สู่ความสงบด้วยเพราะอะไร? เพราะมันต้องมีกำลังของมัน ถ้าไม่มีกำลังมันจะลงสงบไม่ได้ ถ้าไม่มีปัญญามันก็พิจารณาไม่ได้

นี่มันก็เป็นมรรค ๘ เหมือนกัน ถ้าเป็นเจโตวิมุตติมันใช้กำลัง ใช้พุทโธ พุทโธ กำลังของสมาธิมันนำไปก่อน พอนำไปก่อน พอมันไปเห็นกาย เห็นต่างๆ พิจารณาแล้ว เราจะบอกว่าซ้ายหรือขวา พอมันพิจารณา เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติมันก็อันเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่มันเปิดกว้างให้เราพิจารณาไป ทีนี้เพียงแต่มันเป็นการยืนยันไง เวลาคนปฏิบัติทั่วไป เห็นไหม เขาจะอ้างบอกว่าถ้าพุทโธ พุทโธแล้วมันเป็นสมถะ มันจะไม่มีปัญญา เราก็บอกนี่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติใช่ไหม? ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติก็ปัญญานำ

เพียงแต่เอาชื่อ เอาชื่อธรรมะมาอ้างอิง ไม่ให้คนภาวนาไม่เป็นมาใช้สัญญาอารมณ์ ใช้สิ่งที่เป็นธรรมะมาสมอ้าง มาสมอ้างว่าอย่างนี้ใช่ อย่างนี้ไม่ใช่ ถ้าเขาไม่มีความเป็นจริงของเขา เขาสมอ้างนะ อ้างธรรมะไง อ้างธรรมะว่าอันนี้เป็นปัญญาๆ สมถะไม่มีปัญญา เขาสมอ้างเอา ถ้าคนไม่เป็นมันสมอ้าง พอสมอ้างขึ้นมา คนปฏิบัตินี้ก็ละล้าละลังไง

ฉะนั้น มันถึงเอาชื่อ เอาชื่อว่าเป็นปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติมาป้องกันการสมอ้างของคนที่ปฏิบัติไม่เป็น มันมาสมอ้างให้พวกเรารวนเร ฉะนั้น พอรวนเรแล้ว เราอย่าให้กิเลสมันสมอ้างว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ หน้าที่ของเราคือปฏิบัติ หน้าที่ของเราคือทำตามความเป็นจริง เอาความจริงนะ นี่มันเป็นซ้ายหรือขวา เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติมันก็อันเดียวกันนั่นล่ะ อย่าให้กิเลสเอาสิ่งนี้มาเป็นสิ่งล่อให้เราไม่แน่ใจ

ถาม : ๒. การทำลายบางส่วนในกระบวนการของจิต เช่นสัญญาในแบบของปัญญาวิมุตติ หรือกายในแบบเจโตวิมุตติไปเรื่อยๆ จนจิตสงบ ไม่มีอดีต อนาคต ปัจจุบัน ไม่มีใครชื่นชมผลงาน แต่รับรู้ได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น เช่นนี้มีโอกาสจบงานหรือไม่ เหมือนผู้รับเหมาก่อสร้างทำงานเสร็จแล้วเก็บสตางค์

หลวงพ่อ : นี่ไอ้นี่ จบงานได้ จบงานได้ด้วยความละเอียดรอบคอบของเรา ถ้าเราละเอียดรอบคอบ เราจะบอกว่าการปฏิบัติมันถึงที่สุดได้ มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตังหมายความว่าสิ่งที่เราปฏิบัติมา เห็นไหม เวลาเราปฏิบัติมา คนที่ปฏิบัติจะรู้เลยว่า สิ่งที่เราปฏิบัติอยู่เราจะพูดกับโลกเขาไม่ได้เลย โลก คนที่ไม่เคยปฏิบัติ พอพูดเรื่องผี พอพูดเรื่องผี เขาบอกคนเห็นผีคนนั้นเป็นคนผิดปกติแล้ว

ทีนี้พอจิตมันสงบขึ้นมา ถ้ามันเห็นหรือมันรู้อะไรของมัน มันอยู่ที่จริตนะ จริตนิสัย ถ้าเขาสืบต่อสัมพันธ์ได้ เขาเห็นของเขาได้ ถ้าเขาสืบต่อสัมพันธ์ไม่ได้มันก็เป็นความรับรู้ได้ เขาเชื่อได้ เขาเชื่อได้เพราะอะไร? เขาเชื่อได้เพราะถ้าจิตเขาสงบไปเขาจะเห็นจิตของเขา ถ้าเห็นจิตของเขา เขาจะเห็นว่าจิตวิญญาณมันเป็นแบบนี้ คนภาวนานี่นะ จิตกับกายมันเป็นคนละส่วนกัน มันเป็นคนละเรื่องกัน แต่มันอยู่ในที่เดียวกัน

นี่กายกับจิตอยู่ด้วยกัน แต่มันเป็นคนละส่วนกัน คนละส่วนกันหมายถึงว่าถ้าเราพิจารณา เห็นไหม พอจิตมันสงบแล้วมันจะเห็นเรื่องของจิต พอจิตเข้าอัปปนาสมาธิมันสามารถละกายได้เลย คือมันวางกายได้ไง มันวางกายได้ มันสักแต่ว่ารู้ ขณะสมาธิ ถ้าเข้าอัปปนาสมาธิจะรู้ได้ว่าจิตกับกายมันแยกกันได้ มันปล่อยวางได้ แต่เวลาเราศึกษามา เราก็ได้ศึกษามาว่าจิตกับกาย จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว จิตสั่งกายก็ทำ อันนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ผู้ที่หู ตาสว่าง ผู้ที่เข้าใจได้แจ่มแจ้ง ท่านอธิบายในเชิงของวิทยาศาสตร์ได้ชัดเจนมาก

แต่ของเรานี่เราไม่มีพื้นฐานของความรู้จริง แต่เราอาศัยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นวิทยาศาสตร์แล้วมาศึกษา พอศึกษาแล้วมันก็เชื่อครึ่งหนึ่ง เชื่อคือเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นอย่างนั้นจริง แต่จิตใต้สำนึกมันก็ละล้าละลัง มันเชื่อลงไม่ได้หรอก มันเชื่อลงไม่ได้เพราะมันมีกิเลส กิเลสมันเชื่อไม่ได้ พอมันเชื่อไม่ได้มันก็ละล้าละลัง ละล้าละลังของมันอย่างนั้น เห็นไหม

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเราปฏิบัติไป เห็นไหม ถ้าคนที่ปฏิบัติแล้วได้ผลตามความเป็นจริง มันจะพูดกับเขาได้แบบว่ามีสติ พูดไปแล้วมันจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ มันไม่อยากพูดกับใครเลยล่ะ ไม่อยากพูดกับเขา กรณีอย่างนี้เอามาเปรียบเทียบได้ ขณะที่เราปฏิบัติไป จิตเราสงบ แล้วจิตเราได้พิจารณา มันแตกต่างกับโลกแล้ว งานของธรรมมันแตกต่างกับโลกแล้ว

ฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติต่อไป โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค มันก็แตกต่างกันอีก โสดาปัตติมรรคนี่เรื่องหยาบ สกิทาคามิมรรคละเอียดกว่านั้นอีก แล้วมรรคของโสดาบันไปชำระกิเลสของสกิทาคามีไม่ได้ มรรคของโสดาบันก็ชำระของโสดาบัน นี่มันหยาบๆ ไง พอละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปกว่านี้ นี่มันแค่นี้มันยังงงนะ แล้วถ้าต่อไปล่ะ? โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรคมันแตกต่างกันอย่างใด?

ถ้ามันไม่แตกต่างนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านคุยธรรมะกัน เวลาท่านธัมมสากัจฉา เวลาท่านถามธรรมกัน เห็นไหม อย่างเช่นหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่แหวน ท่านบอกว่า อ้าว คำถามแรก นี่ไงคำถามแรก พอหลวงปู่แหวนท่านตอบคำถามแรก ๑๐ กว่านาที ถูกต้อง นี่พอถ้ามันถูกต้องมันมีช่องทางแล้ว เหมือนคนน่ะ คนเราเคยไปในสถานที่ใดจะบอกสถานที่ถูก พอบอกสถานที่ถูกปั๊บ ถามคำถามที่ ๒ ผลัวะ หลวงปู่แหวนท่านตอบอีกเป็น ๔๐ กว่านาที ทีนี้อธิบายเลย

คนตอบนะท่านก็ตอบถึงธรรมะ ท่านดูว่าคนฟังเป็นไหม? ตอบว่าคนฟังรู้ไหม? ถ้าคนฟังรู้ คนฟังถามถูก พอคนถามถามคำถามที่ ๒ ไป พอถามถูกทีนี้ท่านขยายความ ท่านไปจนถึงที่สุดเลย แล้วพอพูดจบแล้วนะบอกหลวงตาด้วย

“มหามีอะไรให้ค้านมา ถ้ามีอะไรผิดให้บอกมา”

“โอ๋ย ผมไม่ค้านหรอกครับ ผมหาฟังธรรมะแบบนี้ หาธรรมะจริงๆ ที่มันออกมาจากใจที่มันรู้จริง”

นี่ ๒ องค์ท่านสนทนาธรรมนะ ท่านรื่นเริงในธรรม ท่านมีความสุขของท่าน ธรรมะกับธรรมะมันถึงกัน เห็นไหม นี่ถ้าผู้ที่มีคุณธรรม ผู้ที่ปฏิบัติธรรม เวลาพูดธรรมะ เวลาธรรมะมันจะเข้าถึงธรรม ทีนี้เราปฏิบัติแล้วเราก็เข้าใจได้ เราเข้าใจได้ว่าเราพูดกับโลกเขาไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเราพูดกับครูบาอาจารย์ หรือพูดกับผู้ที่ปฏิบัติด้วยกันมันก็จะเข้าใจกันได้

นี่พูดถึงในการเปรียบเทียบนะ ทีนี้ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่ผู้ปฏิบัติไง ย้อนกลับมาที่คำถาม คำถามบอกว่าเราพิจารณาไปแล้วมันเป็นสัญญา นี่มันเป็นสัญญาแบบปัญญาวิมุตติหรือเจโตวิมุตติ ถ้ามันพิจารณาไปไม่มีอดีต อนาคตแล้ว เห็นไหม นี่แล้วมันจะเสร็จงานอย่างนี้ได้ไหม? มันจะเสร็จงานมันก็เหมือนกับเวลาทางโลก ทางวิทยาศาสตร์ที่เขาคุยกัน เวลาเราปฏิบัติล่ะ? เวลาเราปฏิบัติเราจะคุยกับเขาได้ไหม? ไม่ได้ เพราะเขารู้กับเราไม่ได้

อันนี้ก็เหมือนกัน นี่เวลาบอกว่าพิจารณาไปแล้ว เราก็เห็นปัญญาวิมุตติ เห็นเจโตวิมุตติ เห็นกาย พิจารณากาย เห็นขันธ์ พิจารณาขันธ์ แล้วถ้ามันละเอียดไปกว่านี้ล่ะ? มันจะละเอียดไปกว่านี้ไง นี่เรารู้ได้แค่นี้ไง เรารู้ได้แค่นี้แต่มันยังไปได้อีก มันยังไปได้อีก ถ้ามันยังไปได้อีก ไปได้อีกหมายถึงว่ามันยังมีเป้าหมาย มันยังเดินต่อไปได้

ถ้าเดินต่อไปได้ เห็นไหม นี่เราพิจารณาแล้ว เราทำแล้ว ถ้ามันไม่ได้นะเราวางเลย แล้วเรากลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ปัญญาอบรมสมาธิ กลับมาทำความสงบของใจให้มั่นคง แล้วพิจารณาใหม่ๆ พิจารณาซ้ำ เหมือนคนทำงาน คราวนี้เราทำงานเสร็จแล้ว แต่ผลตอบรับมันไม่ได้ เราก็พิจารณาของเราว่ามันเป็นเพราะอะไร? แล้วเดี๋ยวเราก็ทำงานอีก ถ้าทำงานจนถึงที่สุดผลมันตอบรับได้

คำว่าผลตอบรับได้นะ “สัมปยุต วิปปยุต” สัมปยุตนะ ผลมันตอบรับ พอมันสัมปยุตเข้าไปกลืน เห็นไหม นี่มรรคสามัคคีมันจะสัมปยุตเข้าไป พอสัมปยุตเข้าไปมันทำลาย เวลามันคลายตัวออกนี่วิปปยุต นี่ไงยถาภูตัง เกิดญาณทัศนะต่างๆ มันจะรู้ของมัน ถ้ารู้ของมัน

นี่เราจะบอกว่า เขาถามว่า

ถาม : ถ้าทำแบบนี้งานจะจบไหม?

หลวงพ่อ : ถ้าทำแบบนี้ นี่ทำแบบนี้ที่ทำมา ทำมาแล้วก็ได้แค่นี้ไง แต่มันก็ต้องเพิ่มขึ้นไปอีก เพิ่มความชำนาญ เพิ่มสติ เพิ่มสมาธิเข้าไป ทำแล้วทำเล่า ทำแล้วทำเล่า งานนี่จบได้แน่นอน เพราะงานมันจบได้แน่นอน เพียงแต่ว่าคนมันจะทำต้องยืดเยื้อ หรือถ้าทำแล้วกระชับสั้นขนาดไหนอยู่ที่ความละเอียดรอบคอบ ถ้ามันมีความละเอียดรอบคอบ เห็นไหม เราซ้ำของเราไป การซ้ำของเราไปนะ

คนปฏิบัติ เวลาทำทาน ทำบุญกุศล ได้บุญกุศลมา เวลาอยากมีปัญญามาเขาต้องนั่งสมาธิ พอนั่งสมาธิแล้วเราต้องใช้ปัญญา ปัญญาที่เราใช้ปัญญาใคร่ครวญอยู่นี้ นี่อันนี้บุญกุศลมหาศาล คำว่ามหาศาล เห็นไหม ทำให้เราเข้าใจธรรมะ ทำให้เราเข้าใจเรื่องจิตของเรา ทำให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ เลย แต่ทำไมมันไม่ขาดล่ะ? มันไม่ขาด ถ้ามันไม่ขาดเพราะว่าสัมโพชฌงค์ พละไง กำลังของใจ ถ้ากำลังของใจ สถานะที่จิตจะรับ ถ้าจิตจะรับ สิ่งที่เราทำอยู่นี่เรารู้ เราเห็น เราเข้าใจของเรา จิตเราพัฒนาขึ้นมากไหม? แล้วเราจะเอาความรู้ ความเห็นของเราไปพูดกับทางวิทยาศาสตร์ ทางโลกเขาเชื่อเราไหม?

ถ้าเขาไม่เชื่อเรา แสดงว่าจิตใจเขาอ่อนแอกว่าเราเยอะมาก พละกำลังของใจเขาไม่มีเลย เขามีแต่เรื่องทางวิทยาศาสตร์ เรื่องโลกียะ เรื่องสิ่งที่อ้างอิงทางวิทยาศาสตร์เขารับรู้ได้ เขายอมรับได้ แต่พอย้อนกลับมาธรรมะ พอพูดเรื่องที่เราปฏิบัติ เรื่องที่เราพบเห็นมาให้เขาฟังเขารับไม่ได้ เพราะให้เขาปีนบันได ให้เขาพยายามส่งเสริมกำลังใจ พละของเขาให้สูงส่งขนาดไหนเขาก็รับรู้ไม่ได้ แต่ถ้าเขามาปฏิบัติปั๊บ ถ้าเขามีกำลังของเขา เขาจะเริ่มปฏิบัติ เขาจะต้องลงทุนลงแรงปฏิบัติมาให้ได้จุดที่เรารู้อยู่นี้ นี่กำลังของเขาอ่อนไง

เราจะบอกว่าในเมื่อพละกำลังของเราไม่พอ เราพิจารณาแล้วมันไม่ขาด แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ? เราจะยกให้เห็นว่าสิ่งที่ทางโลกเขาไม่มีกำลังของเขา เขายังรับรู้สิ่งนี้ไม่ได้เลย แต่ถ้าเขาจะรับรู้สิ่งนี้ได้เขาก็ต้องปฏิบัติแบบล้มลุกคลุกคลานที่เราทำมาไง เราทำของเรามา เห็นไหม จากที่ว่าเราเริ่มต้นจากว่าเรามีศรัทธา แล้วเราทำของเรา แล้วจิตเราสงบ พอจิตสงบเราก็ตื่นเต้น พอเราพิจารณาของเราเราก็ยิ่งตื่นเต้น ก็ต้องทำแบบนี้ มันก็ทำแบบนี้เข้าไป

นี่เราสร้างความรับรู้ เราสร้างกำลัง สร้างสถานะของเราแล้ว แล้วข้างหน้าล่ะ? ข้างหน้า เห็นไหม นี่ข้างหน้ามันยังไม่มีสิ่งรองรับไง เราก็ทำจากตรงนี้ ตรงนี้คือว่าที่เราพิจารณาอยู่นี่ พอพิจารณาแล้วมันปล่อยหมด ปล่อยหมดก็รอบหนึ่ง แล้วถ้ามันจับต้องได้เดี๋ยวขันธ์ก็เกิดอีก ทีนี้พอเราปล่อยหมดแล้วใช่ไหม? เราว่าขันธ์ ๕ คือเราพิจารณาแล้ว มันปล่อยแล้วเหลือแต่ภพๆ เหลือแต่ภพ นี่เวลาพิจารณาไปด้วยกำลัง ขันธ์มันก็สงบตัวลง เดี๋ยวพอกำลังคลายออกขันธ์มันก็กลับมาอยู่อย่างเดิม

ขันธ์มันเกิดจากภพ นี่ขันธ์มันเกิดจากภพ ถ้าพิจารณาขันธ์ก็เท่ากับพิจารณาภพ เพราะพิจารณาขันธ์ ขันธ์มันสืบต่อถึงภพ นี่ถ้าสืบต่อถึงภพ พิจารณาซ้ำๆ ไปเถอะ พิจารณาขันธ์ ๕ พิจารณากายซ้ำเข้าไปๆ มันก็มาจากภพนั่นแหละ แล้วพอมันละเอียดเข้าไป นี่คือการสร้างพละ สร้างกำลัง สร้างสถานะที่มันจะรองรับไง ถ้าสถานะของคนมีกำลังพอมันจะรองรับสิ่งๆ นี้ได้ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ แล้วซ้ำเมื่อไหร่มันจะจบล่ะ? แล้วถ้าไม่ทำมันจะถอย มันจะเสื่อมไปหมด แล้วทำอย่างไรล่ะ?

นี่ตอนนี้เรามาถึงกึ่งกลาง ถ้าเราจะเดินหน้าเราจะได้เข้าไป เราถอยไป เรากลับไปสู่สถานะก่อนที่เราปฏิบัติ เพราะนี่สิ่งที่เป็นอยู่นี้มันคือกำลังของใจนะ ใจมันปฏิบัติ ใจมีกำลังของเรามันพิจารณาเข้ามาอย่างนี้ แต่ถ้ามันเดินหน้าไป แล้วเราใช้สติปัญญาของเราไป สติปัญญาที่ทำอยู่ ที่ทำมาแล้วนี่ปัญญามันจะเกิด คำว่าปัญญามันจะเกิดมันจะมีเชาวน์ปัญญาที่เป็นแง่มุมไง ว่าเราจะพิจารณาภพอย่างใด?

นี่เวลาพิจารณามันต้องได้เดี๋ยวนั้น เวลาจิตมันสงบแล้วมันเป็นภพ ไม่รับรู้อะไรเลย ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีปัจจุบัน แต่มีเพราะมันรับรู้ไง ไอ้ตัวรับรู้นั่นน่ะทวนกระแสเข้ามา ละเอียดเข้ามามันก็จับตรงนั้นได้ ถ้าจับตรงนั้นมันก็พิจารณาซ้ำ ซ้ำมันก็เท่ากับดึงภพออกมาตีแผ่ ดึงภพออกมาพิจารณา มันต้องทำลายหมด ทำลายขันธ์ ๕ ทำลายภพ ทำลายทุกอย่างเลย

ทีนี้มันทำลายภพ ทำลายกายมันเป็นทางธรรมะ เป็นธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไง มันมีตำรารองรับ มันมีวิทยาศาสตร์รองรับ ทีนี้ภพมันทำอย่างไรมันทำไม่ได้ พอทำได้เดี๋ยวก็รู้ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้ แล้วละเอียดไป อ๋อ แล้วมันก็บังไปเรื่อยๆ ซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไปแหละ ถ้ามันเป็นจริงนะ มันเป็นจริงมันจะวิปยุตและสัมปยุต ยถาภูตัง มรรคสามัคคี มรรคสามัคคีมันจะเป็นตามนั้น แล้วจะเข้าใจได้เลยว่าเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ

ทีนี้พอคำว่าเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ เห็นไหม คือว่ามันเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า มันเป็นซ้ายและขวา นี่เจโตวิมุตติด้วยกำลังของสมาธินำ ปัญญาวิมุตติด้วยกำลังของปัญญานำ แต่มันก็จะแยกแยะได้กว้างขวางกว่านี้เยอะมาก เพียงแต่ว่าเอามาป้องกันไม่ให้คนสมอ้างว่าคนปฏิบัติไม่มีหลักการ ไม่มีพื้นฐาน ไม่มีอะไรอ้างอิง ทำกันไปแบบเชื่อๆ ตามกันไป แต่มี มีครูบาอาจารย์ มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ แล้วมีผู้ปฏิบัติปฏิบัติมา แต่มันอยู่ที่จริตนิสัยของคนว่าจะทำได้มาก ได้น้อยแค่ไหน แล้วจะมีช่องทางแค่ไหนจะผ่านพ้นอย่างนี้ไป

นี้ป้องกันการเสียดสี การถากถางของผู้ที่ไม่เชื่อ การถากถางของผู้ที่ไม่ปฏิบัติ ให้ผู้ปฏิบัตินี้คลอนแคลน ฉะนั้น เราถึงเอาสิ่งนี้ป้องกันไม่ให้คนสมอ้างเข้ามาทำลายผู้ปฏิบัติเท่านั้น

ถาม : ๓. หากเราทำความสงบแล้วพิจารณาจิตที่อยู่กลางอก ก็เปรียบเสมือนจิตเป็นรูปธรรม เราจึงสามารถแยกแยะได้ว่ากระบวนการของมันเป็นอย่างใด แต่ถ้าเราทำความสงบเข้าไปอีกในจิต แล้วรำพึงอยากเห็นเข้าไปในจิต สิ่งที่เล็กๆ แต่สว่างจ้าตัวนี้เป็นตัวสร้างเชื้อไขแห่งความชอบ ไม่ชอบในพันธุกรรมของจิตใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : มันมาจากภพ มันมาจากจิต มันมาจากพื้นฐาน พื้นฐาน เห็นไหม จิตหนึ่ง เวลาสงบเข้ามาแล้วเป็นจิตหนึ่ง เวลาจิตหนึ่งแล้วเราก็ต้องให้จิตหนึ่งออกฝึกหัด ออกทำงาน เช่นออกพิจารณานี่แหละ

ฉะนั้น คำที่ว่า “จิตมันเข้าไปถึงเป็นสิ่งเล็กๆ เป็นสว่างจ้า”

จิตนี่นะมันหดลงเล็กก็ได้ มันขยายใหญ่ก็ได้ ถ้าขยายใหญ่ เห็นไหม จิตผู้ที่ปฏิบัติใหม่เวลาขยายใหญ่ นี่ขยายใหญ่ครอบโลกธาตุ จิตนี้ใหญ่ออกไปครอบสามโลกธาตุเลยล่ะ แต่ถ้าเวลาเล็กเข้ามา เล็กอย่างกับปลายเข็ม เวลาจุดมันเล็กนะ มันขยายออกก็ได้ หดสั้นเข้ามาให้เล็กก็ได้ ทีนี้ถ้าหดสั้นเข้ามาเล็กเราก็ว่าเล็ก นี่สิ่งที่ว่า จิตที่เวลาพิจารณาไปแล้วจิตมันหดสั้นเข้าไปจนจิตเล็กๆ แล้วสว่างจ้า ลองกำหนดจิตสว่างจ้าแล้วขยายตัวออกสิ มันก็สว่างขยายตัวครอบโลกธาตุ

ฉะนั้น “สิ่งนี้เป็นพันธุกรรมของจิตใช่ไหม?”

นี่สิ่งนี้พันธุกรรมคือจริตนิสัย คือความเคยชิน พันธุกรรมของมัน แต่ตัวจิตคือตัวพลังงาน จิตหนึ่งเหมือนกัน จะพิจารณาทางไหนก็แล้วแต่ มันเกิดจากภพ ภวาสวะ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ถ้าเข้าไปถึงตรงนั้นแล้วมันไปถึงตรงนั้น เพียงแต่ว่าพันธุกรรมมันเป็นเล่ห์กล กิเลสของแต่ละคน กิเลสอย่างหนา กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างละเอียด มันแล้วแต่จริตนิสัยของเขามันแสดงตัวออกอย่างใด

ฉะนั้น ถ้าเราพิจารณาของเราเข้าไป เห็นไหม พอจิตมันสงบเข้าไปสว่างจ้า นี่มันเข้าไปถึงสว่างจ้า แล้วเราก็ทำอะไรไม่ถูก พอทำไม่ถูกก็ตั้งสติ แล้วนี่ฟังเทศน์วันนี้ นี่คำถามวันนี้ แล้วพอมันเกิดสิ่งใดเราตั้งสติไว้ แล้วเราใคร่ครวญของเรา มันสว่างใครเป็นคนเห็นมันล่ะ? มันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเลย มันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น สิ่งที่มันตื่นเต้นคือปัญญาต่างหากล่ะ

เวลาปัญญาที่เราใคร่ครวญมัน เห็นไหม เวลาปัญญาที่มันมีสัมมาสมาธิมันเป็นมรรค ๘ งานชอบ เพียรชอบ แล้วมันพิจารณาในขันธ์ ๕ พิจารณาในกาย อันนั้นแหละน่าตื่นเต้น ตื่นเต้นเพราะอะไร? ตื่นเต้นเพราะมีการแยกแยะ มีการเปรียบเทียบ มีการปะดาบกัน คมดาบ ดาบนี่หลวงตาบอกว่า “ปัญญาเหมือนดาบเพชร” มันฟาดฟันกิเลส อันนั้นแหละน่าตื่นเต้น เวลาใช้ปัญญาเข้าไปแล้วมันแยกแยะ อันนั้นแหละน่าตื่นเต้น แต่พอมันวางแล้วมันถึงหดสั้นเข้ามาเป็นจุด เป็นสว่าง เป็นต่อม เป็นอะไรนี่ ไอ้นั่นมันเป็นที่หลบซ่อน

ฉะนั้น ถ้าเราจับสิ่งนั้นได้เราใช้ปัญญาใคร่ครวญอีกๆ มันมีของมันนะ เวลามันหลบซ่อนนี่นะ เห็นเป็นแสงสว่างนี่ยังดี บางองค์นะ เวลามันหลบซ่อน อย่างเช่นหลวงตาท่านพิจารณาอสุภะ เห็นไหม พิจารณาๆ จนหายหมดเลย แล้วบอกว่านี่หมดแล้วเป็นอนาคามี หลวงตาท่านบอกว่า “หมดแบบไม่มีเหตุ ไม่มีผลอย่างนี้ไม่เอา อย่างนี้ไม่เอา” ท่านถึงไปเอาสิ่งสวยงาม สุภะไง เอาสิ่งที่ชอบใจเอามาแนบไว้เลย แนบไว้ก็ไม่มี มันบอกไม่มี เห็นไหม ไม่มีๆๆ

ท่านบอกแนบไว้ถึง ๓ วัน ๓ วันพอมันแนบไว้กับจิต พอจิตมันออกรับรู้ไง มันมีอาการรับรู้ไงว่าชอบใจ พอใจไง ท่านเลยบอกว่า “ไหนว่าไม่มีไง” นี่เขาหากันขนาดนั้น นี่เวลามันไม่มีมันหายไปเลย มันไม่มีเลย ไอ้นี่มันสว่างจ้า โอ๋ย เห็นๆ เลยสว่างจ้า ไหนว่ามันไม่มีไง? มันมีอะไรของมัน เราก็พิจารณาของมัน นี่ค่อยๆ

ปัญญานะ ปัจจุบันธรรมเป็นของแต่ละดวงจิต ถ้าดวงจิตดวงนั้นมีกิเลส ดวงจิตดวงนั้นก็ต้องพิจารณาของดวงจิตดวงนั้น แล้วดวงจิตดวงนั้นเข้าใจ เห็นจริงตามนั้น ก็แก้กิเลสของดวงนั้น เราจะไปเอาดวงจิตของครูบาอาจารย์ เอาดวงจิตของคนอื่นที่พิจารณาแล้ว เอามาเป็นผลงานของเรามันไม่มีหรอก ยิ่งพูดขยายความไปเท่าไร ยิ่งภาวนายากขึ้นเท่านั้น มันยิ่งรู้มากเท่าไร กิเลสมันยิ่งหลบซ่อนมากเท่านั้น

นี่ขนาดมันไม่รู้นะ มันไม่รู้มันก็ว่านี่มันเป็นแสงสว่างจ้า มันเป็นอะไร มันเป็นพันธุกรรม นี่ใช้ปัญญาเทียบเคียงไป เทียบเคียงไป แล้วเราพิจารณาของเราไป พิจารณาของเราไป แล้วมันจะเป็นปัญญาของเราเอง

นี่พูดถึงว่า

ถาม : ในเมื่อสิ่งที่เป็นเล็กๆ สว่างจ้าตัวนี้เป็นตัวสร้างเชื้อไขแห่งความชอบและไม่ชอบ เป็นพันธุกรรมของจิตใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ใช่ ใช่ทั้งนั้นแหละ ฐีติจิตมันมาจากนั่นทั้งหมด

ถาม : แล้วต้องทำลายตัวนี้ด้วยหรือไม่? หรือเพียงแต่ทำลายกระบวนการของจิตให้ไม่สมบูรณ์ เช่นทำลายกายแบบเจโต ทำลายสัญญาแบบปัญญา ก็พ้นจากจิตไปได้แล้ว

หลวงพ่อ : มันทั้งใช่และทั้งไม่ใช่ ทั้งใช่หมายความว่าต้องทำลายตัวนั้นด้วย ทั้งไม่ใช่ เพราะตัวนั้นเวลาขยายออกมามันก็เป็นสัญญากับเป็นกายนี่แหละ เพียงแต่ว่ามันหดสั้นเข้าไป หรือมันขยายตัวออกมา นี้เพียงแต่มันหดสั้นและไม่สั้น

นี่ทั้งใช่และทั้งไม่ใช่ ทั้งใช่หมายถึงว่ามันต้องพิจารณาทั้งกายด้วย พิจารณาทั้งขันธ์ด้วย แล้วพิจารณาทั้งจุดนั้นด้วย ต้องพิจารณาหมด ถ้าพิจารณาหมด เห็นไหม เพียงแต่เวลาพิจารณาไปแล้วมันเปลี่ยนแปลงไง เวลามันแสดงตัวออกมามันก็แสดงตัวออกมาเป็นขันธ์ มันแสดงตัวออกมาเป็นกาย เวลามันแสดงตัว เวลามันไม่แสดงตัวมันก็หดสั้นเข้าไป แต่ในตัวมันมันก็เป็นน่ะ มันเป็น ทีนี้ในตัวมัน นี่เวลาผู้ปฏิบัติถึงบอกว่ามันไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย

มันไม่มีอะไรเลย ใช่มันปล่อยวางเข้ามาแล้ว นี่สุขควรเสวย ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ เวลามันสุขล่ะ? สุขเราก็อยู่กับสุข เพราะเราปฏิบัติมาด้วยความทุกข์มาก เวลามันปล่อยวาง มีความสุขเราก็อยู่กับความสุข นี่พอความสุขมันก็อนิจจัง เดี๋ยวมันก็ไปเราก็พิจารณาซ้ำ พอมันปล่อยวางแล้ว พอมันคลายตัวออกมา มันทำงานได้ก็ทำต่อไป พอมันพิจารณาไป พอมันปล่อยมันมีความสุข มันปล่อย มันชุ่มชื่นเราก็อยู่กับความชุ่มชื่น อยู่กับความสุข พอมันคลายตัวออกมา เราพิจารณาซ้ำเข้าไป พิจารณาทั้งหมด

ถาม : ต้องทำลายตัวนั้นด้วยหรือไม่

หลวงพ่อ : ต้อง! ต้องทำลายตัวนั้นด้วย ต้องทำลายกายด้วย ต้องทำลายสัญญา ต้องทำลายทุกๆ อย่าง การทำลายคือการใช้ปัญญา พอปัญญามันเข้าไปแยกแยะคือมันเป็นไตรลักษณ์ เห็นไหม นี่เพราะไตรลักษณ์ มันเป็นไตรลักษณ์ กระบวนการของมันคลายตัวออก นี่ไตรลักษณ์มันเปลี่ยนแปลง พอเห็นการเปลี่ยนแปลงนั่นแหละเห็นไตรลักษณ์ พอเห็นไตรลักษณ์มันก็ปล่อย ถ้ามันเป็นจริงนะ แต่เห็นโดยสัญญามันไม่ปล่อย

ถ้าเห็นโดยความเป็นจริงมันก็ปล่อย พอปล่อยแล้วมันก็เหลือที่ว่านี่ เหลือจุด เหลือสว่าง นี่ถ้ามีความสุขก็อยู่กับมัน แล้วพิจารณาซ้ำ พิจารณาซ้ำเข้าไป ทำลายเข้าไป ไม่ต้องไปตั้งชื่อไง พอตั้งชื่อว่าพิจารณากายเป็นเจโต เพราะพิจารณากายโดยใช้ปัญญาก็มี พิจารณาสัญญาจนเป็นปัญญา พิจารณาสัญญา ถ้าจิตมันสงบเข้ามาโดยเจโตมันพิจารณาสัญญาก็ได้

ฉะนั้น เจโตหรือปัญญา มันเป็นซ้ายหรือขวา นี่สุดท้ายมันก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพียงแต่เวลาปัญญามันใช้แล้วมันใช้ปัญญาอ้างอิง ใช้สิ่งใดไปก็ทำสิ่งนั้นไป เพื่อประโยชน์กับการปฏิบัติ แล้วขยัน ต้องขยันนะ คำว่าขยันของเรานี่ทำบ่อยครั้งเข้า เพราะมันเป็นงานของจิตใช่ไหม? งานของจิตจะอยู่ที่ไหน จะอย่างไรก็ทำได้ ถ้ายิ่งมีเวลายิ่งดี ยิ่งมีเวลาปฏิบัติส่วนตนมันภาวนาดี แต่ขณะที่ทำงานเราก็ดูแลของเราไป แล้วขยันต่อเนื่องๆ

เพราะ เพราะการที่เราปฏิบัติมาได้อย่างนี้ มันก็เป็นการยืนยันอยู่แล้วว่างานของใจ งานของการภาวนา เห็นไหม งานของผู้ที่ปฏิบัติจะรื้อภพ รื้อชาติ เราได้รับรู้รสเพราะเราพิจารณาขันธ์เป็น พิจารณาขันธ์เป็น พิจารณากายเป็น พิจารณาทุกอย่างเป็น นี่มันยืนยันอยู่ว่ามรรค ผลมี แล้วการกระทำมันไปได้มี ถ้าไปได้มีเราจะทำของเราได้ ถ้าทำของเราได้เราจะไม่ละล้าละลังไง

แล้วไม่ต้องมาห่วง ไม่ต้องมาห่วงเรื่องชื่อ เรื่องเสียง ไม่ต้องไปให้ชื่อ ให้นามมัน พอเดี๋ยวปัญญามันเกิดขึ้นมาเราค่อยมาตรวจสอบทีหลัง เวลาทำงานนี่ทำเต็มที่เลย แล้วเราค่อยมาเปิดบัญชี จะจดบันทึกสิ่งใดก็มาทำทีหลัง ขณะปฏิบัติไม่ต้องไปห่วง เต็มที่ไปเลย นี่ไม่ต้องเป็นเจโตหรือปัญญา ทำได้เต็มที่ ถึงที่สุดแล้วมันจะฆ่ากิเลสได้ แล้วมันจะเป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตังกับใจดวงนั้น เอวัง