เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ธรรมะบอกว่า ความคุ้นเคยกัน การดูแลรักษากัน มันมีความคุ้นเคยกันนี่มันดีกว่าญาติ เวลาญาติ เห็นไหม พอญาตินี่เราเป็นญาติกันโดยสายเลือด แต่เราไม่เคยไปมาหาสู่กัน เราไม่เคยถามสารทุกข์สุขดิบกัน มันเลยกลายเป็นคนห่าง แต่ถ้าคน นี่คำว่าเพื่อน คำว่าหมู่คณะ คุ้นเคยกัน ดูแลกัน รักษากัน เวลาเราทุกข์เรายากมีคนมาดูแลเรา เราซึ้งในน้ำใจมาก การคุ้นเคยกันนี่ดีกว่าญาติ คำว่าญาตินะ ถ้าญาติด้วย คุ้นเคยด้วย ดูแลกันด้วย มันก็ต้องดีเป็นธรรมดา แต่ความผูกพัน นี่ค่าน้ำใจมีค่ามาก
คำว่าค่าน้ำใจ เห็นไหม ถ้าสิ่งนี้แล้วเรามีค่าน้ำใจ เรารู้จักหัวใจของเรา มันจะไม่มีสิ่งใดกีดขวางในใจ คำว่ากีดขวางในใจ ทิฐิ ความเห็นผิด ความต่างๆ มันอยู่ในหัวใจ นี่ความคุ้นเคยสำคัญกว่าญาติ แต่เวลาความคุ้นเคยของเรา สิ่งที่เป็นความผิดพลาดในหัวใจ ถ้าเราไปคุ้นเคยมัน ถ้าการคุ้นเคย การประพฤติปฏิบัติถึงว่าไม่ให้คุ้นเคยกัน ไม่ให้คลุกคลีกัน การคลุกคลีกัน การต่างๆ ทำให้เกิดความประมาท ถ้าเกิดความประมาทขึ้นมา เราจะไม่ดูแลว่ามันเป็นความจริงหรือเป็นความไม่จริงในหัวใจของเรา
ถ้าเราใช้ เห็นไหม เราไม่ประมาท เราตื่นตัวตลอดเวลา นี่เวลาปฏิบัติขึ้นมาต้องให้ตื่นตัว ถ้ามีสติยับยั้ง ยับยั้งสิ่งที่มันจะกลืนกินหัวใจของเรานะ คำว่ากลืนกิน เราเกิดทิฐิ เราเกิดความเห็น ความเห็น ย้ำคิดย้ำทำมันก็เป็นจริตนิสัย เพราะความย้ำคิดย้ำทำสิ่งนั้น พอย้ำคิดย้ำทำมันก็กลืนกินหัวใจ พอกลืนกินหัวใจเราไปเราก็มีมุมมองอย่างนั้นไง ถ้ามีมุมมองอย่างนั้นเราก็ใช้ชีวิตแบบนั้น พอใช้ชีวิตแบบนั้นไปมันจะถูกหรือผิดล่ะ? นี่เราก็ว่าถูกของเรา เพราะเราพอใจของเรา
จริตนิสัยของใคร สิ่งใดที่เกิดขึ้นตรงกับความเห็นของตัวก็ว่าสิ่งนั้นถูก แต่ความถูก ความผิดมันเป็นจริตนิสัย มันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง นี่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบได้ มันพิจารณาของมันได้ มันไม่ใช่ความพอใจของตัว ถ้าความพอใจของตัว มันก็บังคับความรู้ความเห็นของเราไปตามความรู้สึกของเรา แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา ความจริง เห็นไหม ความจริงมันเป็นสัจจะ สัจจะ อริยสัจจะ ถ้าอริยสัจจะมันจะพิสูจน์ได้ไง มันพิสูจน์ได้ ถ้ามันกรองได้ ดูสิสิ่งที่ว่าตะแกรง เครื่องกรองร่อนพวกสิ่งที่ละเอียดขึ้นมา เห็นไหม มันเจอสิ่งนี้มันจะผ่านสิ่งนั้นไป
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันผ่านจากปัญญาของเรา ผ่านจากศีล สมาธิ ปัญญาของเรา เห็นไหม มันกลั่นกรองหัวใจของเรา ถ้ามันกลั่นกรองหัวใจ นี่จิตดีกลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตที่เรากลั่นกรองมาจากอริยสัจ มันกลั่นกรองมาจากอะไร? นี่ทุกข์ ความจริงของมันอยู่แล้ว สมุทัย นี่ไงมุมมอง สมุทัย ความรู้ความเห็นของตน ตัณหาความทะยานอยากของตน นี่มุมมอง แล้วถ้าเกิดนิโรธ นิโรธเกิดจากไหน? เกิดจากมรรค ถ้ามรรคมันกลั่นกรองออกมามันจะเป็นความจริงของมัน
ถ้าเป็นความจริงแล้วนะ ความจริงมันมีหนึ่งเดียว จะพูดที่ไหน จะลุยไฟอย่างไร ความจริงก็คือความจริง แต่ถ้าความจริงมันไม่เกิดขึ้นมา ความจริงไม่เกิดขึ้นมามันก็เป็นสัญญาอารมณ์ คำว่าสัญญาอารมณ์ เห็นไหม เวลาเราพิสูจน์ขึ้นมา นี่สิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม แล้วเป็นธรรมจริงหรือเปล่าล่ะ? นี่เราไปคุ้นเคยก่อนไง แต่ถ้าเราไม่คุ้นเคย เราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป สังโยชน์มันจะขาดเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เห็นไหม สังโยชน์ ๓ ขาดไป กามราคะ ปฏิฆะอ่อนไป กามราคะ ปฏิฆะขาดไป
นี่สังโยชน์เบื้องบน สิ่งที่เป็นรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สิ่งที่เป็นราคะ ราคะที่ความคุ้นเคยของมัน คุ้นเคยมันไปนอนจมอยู่ นี่รูปราคะ อรูปราคะ ความรู้ความเห็นของเรา รูป อรูป ความเป็นไป อรูป อรูป ไม่มีรูป ไม่มีรูปแล้วมันตัณหาได้อย่างไร? มันเป็นราคะได้อย่างไร? ในเมื่อมันไม่มี มันเป็นอรูป ทำไมมันเป็นตัณหาล่ะ? ถ้ามันเป็นราคะ มันเป็นตัณหาราคะขึ้นมา จะพิจารณาอย่างไร?
ถ้าพิจารณาของมันไป เห็นไหม ถ้าพิจารณาไปมันปล่อยวางของมันไป มันถึงเป็นความจริงของมัน ถ้าเป็นความจริงของมัน นี่มันมีหนึ่งเดียว ความจริงนี่ถ้าเป็นสัจจะขึ้นมา ถ้าเราไม่คุ้นเคย ดูสิสิ่งที่ว่าไม่มีๆ เลย ไม่มีเลย อะไรคือมันไม่มีล่ะ? ถ้ามันพิจารณาของมัน มันแก้ไขของมัน มันจะเป็นประโยชน์กับจิตดวงนั้น นี่ถ้าเราไปคุ้นเคยก็นอนจมไง พอคุ้นเคยนะ อรูปราคะไม่มี หมดแล้ว หาอย่างไรก็ไม่เจอ มันไม่มี สิ่งต่างๆ ไม่มี แล้วถ้ามันไม่มี ทำไมมันมีการกระทบกันอยู่นั่น? มันไม่มีๆ
สิ่งที่ความไม่มี เห็นไหม นี่แล้วไปคุ้นเคยมันถึงไม่รู้จัก มันถึงไม่มีของมัน แต่ถ้ามันไม่คุ้นเคยนะ นี่มันไม่ใช่อันเดียวกันอยู่แล้ว มันไม่ใช่อันเดียวกัน สิ่งที่ไม่มีกับเรา มันกระทบกันมันถึงรู้ว่าไม่มี แล้วอะไรไม่มีล่ะ? แล้วพิจารณาไปแล้ว เวลามันสิ้นกระบวนการ นี่สังโยชน์เบื้องบนขาดไป แล้วมันมีสิ่งใดล่ะ?
พอมันมีสิ่งใด เห็นไหม คำว่าไม่มีๆ มันว่างหมดๆ มันว่างอย่างไร? นี่สิ่งนั้นมันเป็นสัจจะความจริง ถ้าเป็นสัจจะความจริงเพราะอะไร? เพราะสิ่งที่เราไปคุ้นเคยกับเขา เขาก็ครอบงำเอา แต่เวลาเป็นธรรมนะมันไม่ได้คุ้นเคยกับใคร มันไม่มีสิ่งใดครอบงำ สิ่งที่เวลาพระสารีบุตรพูดกับนางภิกษุณี
หนึ่งไม่มีสองมันคืออะไร?
หนึ่งไม่มีสอง เวลาเขาโต้ตอบปัญหากัน นี่เป็นนักบวชนอกศาสนา เขาโต้กับใคร ทุกคนแพ้มาหมดไง นี่เวลาเจอพระสารีบุตร เห็นไหม ตั้งประเด็นสิ่งใดมา พระสารีบุตรตอบได้หมดเลย แต่เวลาถึงคราวพระสารีบุตรตั้งประเด็นขึ้นมาบ้าง หนึ่งไม่มีสอง เขาตอบไม่ได้ หนึ่งไม่มีสอง พูดสิ่งใดมันมีของคู่หมด มันมีของคู่หมด นี่พอเป็นหนึ่ง หนึ่งไม่มีสอง เห็นไหม พอไปถึงที่สุด อยากรู้ไหม? อยากรู้ต้องประพฤติปฏิบัติ
นี่ถ้าหนึ่งไม่มีสอง เวลาพิจารณาไปแล้วมันเป็นธรรม คำว่าเป็นธรรมนะ เป็นธรรมนี่มันหนึ่ง มันไม่มีสอง มันจะไปคุ้นเคยกับอะไรล่ะ? แต่เวลามันเป็นธรรมจริงๆ ขึ้นมาแล้ว นี่เวลามันเป็นธรรม เห็นไหม ธรรมคือธรรม นี่ธรรมธาตุ ถ้ามันมีจิต จิตคือภพ ภพมันก็มีการกระทบ แต่ถ้ามันเป็นธรรมล่ะ? หนึ่งไม่มีสองคืออะไร? ตอบไม่ได้หรอก ตอบไม่ได้ แต่เวลาเขาประพฤติปฏิบัติไปแล้ว เวลาบอกถ้าอยากรู้ให้บวชเป็นภิกษุณี บวชเป็นภิกษุณีแล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พอสิ้นสุดแล้วเขาไม่เคยถามอีกเลยนะว่าหนึ่งมันคืออะไร? แต่เขารู้ เขารู้ของเขา หนึ่งเขาเข้าใจของเขา มันเป็นธรรม พอเป็นธรรมแล้วจบ พอจบแล้วมันกระทบกับสิ่งใดล่ะ? กระทบสิ่งใด?
นี่ไงถ้าเป็นความจริงแล้วมันมีอันเดียว มันไปคุ้นเคยกับใคร? มันไม่มีอะไรคุ้นเคยด้วย แต่ถ้าเรายังประพฤติปฏิบัติเริ่มต้น พอเราเกิดขึ้นมา เรามีอวิชชา ตัณหาความทะยานอยากมันถึงได้พาเกิด สิ่งนี้เราไม่ต้องปฏิเสธ เราปฏิเสธไม่ได้หรอก มันเป็นความจริงของมัน เห็นไหม ดูสิทางวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์กันว่าการเกิด เกิดมาจากไหน? ตายแล้วไปไหน? พิสูจน์ไปเถอะ พิสูจน์ไป พยายามค้นคว้ากันไป แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลาเราปฏิบัติเราตั้งใจของเรา
มันเกิดมาแล้ว มันเกิดมานั่งอยู่นี่ พอมันเกิดมานั่งอยู่นี่แล้วเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพ้นจากกิเลสไปได้อย่างไร? นี่ศึกษานั้นเป็นทฤษฎี โลกียปัญญา มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นเรื่องโลกๆ โลกก็คือการเกิด แล้วโลกก็คือเรา โลกก็คือโลกทัศน์ นี่พอมันพิจารณาของมันขึ้นไป มันพิจารณาของมัน เห็นไหม เวลาทำความสงบของใจแล้วพิจารณาของเรา ถ้าพิจารณาของเรา สิ่งที่เกิดมาแล้วมันมีของมัน มันมีของมันนะ มันมีปฏิสนธิจิต
เวลาจิตมันเกิดขึ้นมาแล้ว นี่ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ สิ่งที่มี เห็นไหม เวลาเกิดเป็นพรหม เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นต่างๆ เขาก็มีสถานะของเขา เขาไม่เหมือนมนุษย์เพราะเขาไม่มีกายเนื้อ เขามีกายทิพย์ของเขา เขามีสิ่งต่างๆ ของเขา เป็นพรหมเขาอยู่ของเขา นี่เขาก็มีอาหารของเขา มีความเป็นอยู่ของเขา ถ้าเขาประพฤติปฏิบัติของเขา เขาก็ต้องใช้จิตของเขาพิจารณาของเขา
แต่เวลาเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เห็นไหม ถ้าเราจะพิจารณาของเรา สิ่งที่มันเกิดมานี่อวิชชามันมีของมันอยู่แล้ว มันมีมันก็คุ้นเคยของมัน คุ้นเคยของมัน เพราะสิ่งนี้มันมีอำนาจเหนือเราไง มันถึงทำให้เรา นี่เราจะประสบความสำเร็จนะ จะทำสิ่งใดมันเป็นอนิจจังทั้งหมด เราต้องการสิ่งใดก็แล้วแต่ ประสบความสำเร็จแล้ว แล้วต่อไปคืออะไรล่ะ? มันจะเลี้ยงชีวิตอย่างไร?
นี่เพราะมันมีพร่องอยู่ จิตมันพร่องอยู่ มันไม่มีวันเต็มหรอก มันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติของเรา เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบเข้ามา นี่จิตสงบมันก็ปล่อยวางเข้ามาเป็นตัวมันเอง แต่มันยังไม่ชำระสิ่งใดเลย เดี๋ยวมันก็คลายตัวออกมาเพราะมันอยู่ของมันไปไม่ได้ นี่สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
มันเป็นสัจจะของมัน แล้วใครไปรู้ไปเห็นล่ะ? ถ้าใครไปรู้ไปเห็นนะ นี่เราไม่ได้ไปรู้ไปเห็น เรารู้ทางทฤษฎี เห็นไหม นี่มันเป็นสัญญาอารมณ์ ถ้ามันจำมามันก็เป็นอย่างนั้น เราก็สร้างอารมณ์ให้เป็นแบบนั้น พอเป็นแบบนั้นนี่ไม่ได้ทำสิ่งใดเลย ก๊อบปี้มามันสร้างอารมณ์ให้เป็นแบบนั้น แต่มันไม่ได้เป็นสิ่งนั้น มันสร้างอารมณ์ให้เป็นแบบนั้น แต่ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมามันไม่สร้างอารมณ์เป็นแบบนั้น มันมีสติ มันมีสมาธิ มันมีปัญญา มันเข้าไปจับต้องแล้วเข้าไปแยกแยะ สิ่งที่มันเป็นเนื้อเดียวกัน
คำว่าคุ้นเคย คุ้นเคยเพราะเราไม่รู้เรื่องเราถึงไปคุ้นเคยกับมัน ความคิด ความทุกข์ความยากนี่เราไปคุ้นเคยกับมัน เราไปยึดมัน เราพอใจมัน มันถึงสถิตบนหัวใจของเรา แต่พอทำความสงบของใจมันสลัด พอมันสลัดขึ้นมามันก็เป็นเอกเทศ มันไม่คุ้นเคยกับสัญญาอารมณ์อะไร แต่มันก็ยังไม่ได้สร้างโลกุตตรปัญญาขึ้นมา เวลามันใช้ปัญญาของมันพิจารณาของมันไป พิจารณาของมันไป พอมันแยกมันแยะของมันไป นี่ทิฐิ คำว่าทิฐิมันอยู่กับภพ มันอยู่กับใจ ถ้ามันแก้ไขของมัน เห็นไหม สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เวลาพิจารณาแล้ว อืม มันไม่เป็นอย่างที่เราคิด
พอรู้จริงเห็นจริงมันดั่งแขนขาด เวลามันขาดไปมันดั่งแขนขาด เห็นไหม พิจารณาอย่างนั้นมันดั่งแขนขาด มันขาดออกไปจากใจ นี่ความที่มันเป็นสัญญาอารมณ์มันมีธรรมรองรับแล้ว มันมีธรรมรองรับ มันพิจารณาของมันซ้ำๆ เข้าไป มันละเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันละของมันเข้าไป แล้วมันทำของมันเข้าไป พอพิจารณาเข้าไปมันสลัดเป็นชั้นเป็นตอน สังโยชน์ ๓ ตัว กามราคะ ปฏิฆะ พอกามราคะ ปฏิฆะขึ้นไปก็เป็นสังโยชน์เบื้องบน มันชำระล้างจนหมดจนสิ้น นี่มันจะไปคุ้นเคยกับสิ่งใด?
มันเห็นโทษมานะ การประพฤติปฏิบัติมันเห็นโทษไปหมดแหละ ฉะนั้น เวลามันขาดไปแล้ว สอุปาทิเสสนิพพาน อนุปาทิเสสนิพพาน นี่สะคือเศษส่วนที่ร่างกาย ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ในเมื่อชีวิตยังมีอยู่ สิ่งนี้มันเป็นภาระ ภารา หเว ปัญจักขันธา เป็นภาระรับผิดชอบไปเท่านั้น ถ้ารับผิดชอบ ถ้ามีสติปัญญามันรู้ทัน มันไม่ได้คุ้นเคย มันเป็นสิ่งที่เหลือ เวลาที่เหลืออยู่กับเวลาคนตายไป คนตายไปก็จบ สิ่งนี้กิเลสมันตายไปแล้ว แต่เวลาที่เหลืออยู่จะต้องถึงสิ้นอายุขัยมันไป ก็ดูแลกันไป
เพราะดูแลกันไป ครูบาอาจารย์ของเราสิ่งนี้ท่านรู้จริงเห็นจริงของท่าน ท่านถึงอธิบาย อธิบายบอกช่องทาง เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ก็ประสบการณ์ของจิตดวงนั้นแหละ จิตดวงนั้นได้สมบุกสมบันมาขนาดไหน? จิตดวงนั้นประพฤติปฏิบัติมา มันได้ผ่านขั้นตอนมาอย่างไร? มันพูดได้ตามความจริงอย่างนั้นแหละ เวลาตำราจำมา หรือสิ่งใดศึกษามานะ นี่เดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็ต้องไปค้นคว้า เดี๋ยวก็ต้องไปทบทวน แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงมันไม่ต้องทบทวน
ดูชีวิตวัยเด็กเราสิ เวลาเรามีปัญหาขึ้นมาในชีวิตวัยเด็กเรา มันฝังใจเราไหม? นี่สิ่งที่ฝังใจ ขนาดชีวิตกระทบอย่างนั้นมันยังฝังใจนะ แต่นี่มันประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจากข้างใน มันจะฝังใจอะไร? มันขาดเลย ถ้าบอกว่าเป็นแผลเป็นของใจก็ได้ แต่มันไม่ใช่เป็นอย่างนั้น เพราะถ้าเป็นแผลเป็นมันก็ยิ่งรักษายากเข้าไปใหญ่ แต่เป็นแผลเป็นคือว่ามันฝังกับใจ มันมาหมด นี่อริยสัจมันฝังกับใจ สิ่งนี้เป็นจริง แล้วเป็นจริงขึ้นมามันเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น
นี่ความคุ้นเคยสำคัญกว่าญาติ เพราะการคุ้นเคย การช่วยเหลือเจือจานกันทางโลกสำคัญมาก แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเราต้องปลีกวิเวกของเรา เราจะอยู่ของเรา รักษาใจของเรา ถ้ายิ่งสงบสงัดมันยิ่งเห็นการเคลื่อนไหว มันยิ่งมีการกระทำ นี่แล้วถ้าปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันอยากอยู่คนเดียว อยากปฏิบัติคนเดียว ถึงที่สุดแล้วนะ เพราะใจเป็นธรรมแล้ว เห็นไหม ร่มโพธิ์ร่มไทร นกกามันอาศัยได้ ทุกสิ่งอาศัยสิ่งนี้ได้
นี่สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาจากเรา บุคคล ๘ จำพวก เราเป็นบุคคลคนหนึ่งที่เป็นปุถุชน แล้วพัฒนาขึ้นไปมันเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล... นี่บุคคล ๘ จำพวก มันพัฒนาของมันขึ้นไปได้ จิตใจเราพัฒนาได้ เราตั้งใจอยู่นี่ เราจะพัฒนาใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง